พุทธบูชาปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๘

ในกาลนั้นยังมีนางทาริกาผู้หนึ่งมีนามชื่อว่านางสุชาดา บังเกิดเปนธิดาแห่งเสนกุฎุมพี อันมีคฤหสฐานณบ้านเสนานิคม ตั้งอยู่ในที่บริเวณจังหวัดอุรุเวลาประเทศนั้น แลนางนั้นเมื่อมีวัยวัฒนาการขึ้นแล้ว จึ่งไปกระทำปณิธานปรารถนาทำบวงสรวงแก่เทพยดา อันสิงอยู่ณนิโครธพฤกษ์ต้นหนึ่งว่า “ถ้าข้าพเจ้าได้สามีอันประกอบด้วยบุญมัยสมบัติ มีชาติสกูลเสมอกัน กับข้อหนึ่งให้ได้บุตรชายในปฐมครรภ์ด้วย สำเร็จมโนรถทั้งสองประการดั่งนี้แล้ว ข้าพเจ้าจะกระทำอุปการกรรม กระทำบวงสรวงแก่พระองค์ด้วยวัตถุอันควรค่าได้แสนกหาปณะในปีนั้น” ครั้นจำเนียรกาลมาความปรารถนาแห่งนางนั้นก็สำเร็จ ดุจมนัศประสงค์สิ้นทั้งสองประการ ครั้นถึงณวันจาตุททสีสุกกปักข์วิสาขมาศมกฎสังวัจฉระสมัย นางนั้นปรารถนาจะกระทำพลีกรรมแก้บวงสรวงแก่เทพยดา ณนิโครธพฤกษ์ในเพลารุ่งขึ้นพรุ่งนี้ เปนเวสาขบุณณมีเพ็ญเดือน ๖ พอพระมหาสัตว์ทรงกระทำทุกรกิริยาครบ ๖ วัสสาบริบูรณ์ แต่ในกาลก่อนวันเพ็ญนั้น นางก็ใช้ให้บุรุษทาษกรรมกรทั้งหลาย เอาฝูงโคนมมาประมาณ ๑๐๐๐ ไปเลี้ยงในป่าชะเอมเครือให้บริโภคเครือชะเอมหวังจะให้น้ำนมนั้นมีรศหวาน แล้วจึ่งให้แบ่งโคนม ๑๐๐๐ นั้นกระทำออกเปนสองพวกๆ ละ ๕๐๐ จึ่งให้รูดเอาน้ำนมแห่งแม่โค ๕๐๐ นั้น มาให้แม่โคพวกหนึ่งอีก ๕๐๐ นั้นบริโภค แล้วให้แบ่งแม่โค ๕๐๐ พวกนั้นออกอีกเปนสองพวกๆละ ๒๕๐ เล่า ให้รูดเอาน้ำนมแม่โค ๒๕๐ พวกหนึ่ง มาให้แม่โค ๒๕๐ อีกพวกหนึ่งนั้นกิน แต่แบ่งลดกึ่งกันลงมาทุกชั้นๆ ให้แม่โคกินน้ำนมแห่งกันๆ ต่อๆ ลงไปจนตราบเท่า ๑๖ ตัวแบ่งออกเปนสองพวกๆ ละ ๘ ตัว ให้กินน้ำนมแห่งกันอีกเล่า เพื่อประโยชน์จะให้ขีรธารานั้นข้นมีรศหวานยิ่ง กอปด้วยโอชอันเลิดยังคงแต่โคนมอยู่ ๘ ตัวจัดไว้เท่านั้น ครั้นถึงเวลาราษตรีปัจจุสสมัยกาลรุ่งขึ้น จะเปนวันเพ็ญเดือน ๖ นางจึ่งให้คนไปจับแม่โค ๘ ตัวนั้นมาผูกไว้ แลลูกโคทั้งหลายกำดัดที่จะกินนมก็ไปยืนอยู่ในที่ไกล มิได้เข้ามาใกล้มารดาดูประหลาด จึ่งให้นำเอาภาชนมารอง หวังจะรูดน้ำนมใส่ลง ขณะนั้นอันว่าขีรวารีรศก็ไหลออกเองตกลง เต็มภาชนะอันรองรับนั้นเปนมหัศจรรย์ปรากฎ นางสุชาดาเห็นดั่งนั้นก็โสมนัศเข้ารับภาชนะซึ่งรองน้ำนมนั้นด้วยหัตถ์ตน แล้วเทลงในภาชนะใหม่ใส่ลงในกระทะตั้งขึ้นบนเตา แล้วก็ใส่ฟืนแลก่อเพลิงด้วยตน ปรารภเพื่อจะหุงมธุปายาศอันว่าฟองใหญ่ๆ ก็บังเกิดแต่น้ำนมเวียนเปนทักษิณวัฏทั้งสิ้น จะได้กระเซ็นตกลงยังพื้นแผ่นดิน มาตรว่าหยาดหนึ่งหามิได้ แลธุมาการที่เตาเพลิงนั้นจะได้บังเกิดขึ้นแต่ประมาณน้อยหนึ่งก็มิได้มี ในกาลนั้นท้าวจะตุโลกบาลทั้ง ๔ ก็มายืนอยู่รักษาซึ่งเตาเพลิงทั้ง ๔ ทิศ ท้าวมหาพรหมก็นำเอาทิพยเสวตรฉัตรมากางกั้น เบื้องบนภาชนะอันหุงมธุปายาศ สมเด็จอมรินทราธิราชก็ลงมาก่อไฟใส่ฟืน ฝูงเทพยเจ้าทั้งหลายในหมื่นโลกธาตุ ก็นำเอาซึ่งโอชอันเปนทิพย์มาใส่ลง ต่างองค์มาแวดล้อมสโมสรประชุมกันในที่นั้นจะประมาณมิได้ จึ่งมีคำอธิบายว่าในวันอื่นๆ กวลิงการาหารซึ่งเสวยนั้น แต่วันจะได้ตรัสกับวันปรินิพพาน เทพยเจ้านำเอาโอชอันเปนทิพย์มาประดิษฐาน ในภาชนะอันหุงซึ่งพระกระยาหารแปลกกว่าวาระอื่นๆ แลนางสุชาดาเห็นมหัศจรรย์ดั่งนั้น จึ่งกล่าวแก่นางบุณณทาษีว่า “ดูก่อนแม่ วันนี้เทพยเจ้าทั้งหลายเลื่อมใสยินดีด้วยเรายิ่งนัก ไม่เคยได้เห็นอัศจรรย์ดั่งนี้มีแต่กาลก่อน แต่จงออกไปพลันๆ ไปกวาดแผ้วภายใต้ต้นไทรที่สถิตย์เทพยดาของเรา” นางบุณณทาษีรับคำเจ้าของตนว่าสาธุ ก็เร่งรีบออกไปสู่นิโครธรุกขมูล แลเมื่อกาลราษตรีจาตทุทสีชุณหปักษ์ปัจุสสมัยนั้น สมเด็จพระพุทธางกุรราชทรงเสวยซึ่งปัญจมหาสุบิน ๕ ประการ แลข้อพระมหาสุบินเปนปฐมว่า “พระองค์เสด็จบันทมอุตตานภาพเหนือมหาปฐพีต่างที่พระยี่พู่ปูลาด มีพระยาเขาหิมวันตบรรพตปรากฎเปนพระเขนยหนุน พระอุตมังคศิโรตม์ และพระพาหาฝ่ายวามภาคพาดหยั่งลงไปในมหาสมุทข้างปาจิณทิศ พระพาหุประเทศทักษิณปรัศพาดหยั่งลงไปในมหาสมุทข้างปัจฉิมทิศาภาค พระยุคลบาทก็เหยียดหยั่งลงไปในทักษิณมหาสาครสมุท อันนี้เปนพระมหาสุบินนิมิตรข้อเปนปฐม แลพระมหาสุบินคำรบสองนั้นว่า ติณชาติหญ้าแพรกเส้นหนึ่งงอกขึ้นแต่พื้นพระนาภีแล้วเจริญสูงขึ้นไปจดคัคณาดลนภากาศ อันนี้เปนพระมหาสุบินนิมิตรคำรบสอง แลพระมหาสุบินนิมิตคำรบ ๓ นั้นว่า กิมิชาติหมู่หนอนทั้งหลายล้วนมีกายอันขาวมีศีศะอันดำ ไต่ขึ้นมาแต่ปลายพระบาทยุคลเต็มตลอดปกปิดเสียซึ่งลำพระชงฆ์ทั้งสิ้น จนตราบเท่ากระทั่งถึงพระชาณุมณฑล อันนี้เปนพระมหาสุบินนิมิตรข้อเปนคำรบสาม แลพระมหาสุบินคำรบ ๔ นั้นว่า มีสกุณชาติทั้งหลายสี่จำพวก พื้นแต่มีพรรณต่าง ๆ กัน เหล่าหนึ่งเหลือง เหล่าหนึ่งเขียว เหล่าหนึ่งแดง เหล่าหนึ่งดำ บินมาแต่จาตุทิศ ๆ ละอย่าง ๆ มาจับฟุบลงแทบพระบาทมูล แล้วก็กลายกลับเปนสีขาวไปทั้งสิ้นด้วยกัน อันนี้เปนพระมหาสุบินนิมิตรข้อคำรบสี่ แลพระมหาสุบินนิมิตรคำรบ ๕ นั้นว่า พระองค์เสด็จขึ้นไปจงกรมอยู่เบื้องบนยอดภูเขา อันอากูลไปด้วยกรีศ แต่กรีศจะได้ต้องติดพระบาทนั้นหามิได้ อันนี้เปนพระมหาสุบินนิมิตรคำรบ ๕ จึ่งมีอรรถาธิบายเปนข้อความทำนายพระสุบินว่า ซึ่งบันทมเหนือพื้นภูมิภาคนั้น เปนบุพพนิมิตรจะได้ตรัสพระสัมมาสัมโพธิญาณอันประเสริฐหาสิ่งจะเสมอมิได้ ซึ่งหญ้าแพรกงอกขึ้นจากพระนาภีสูงไปจดอากาศนั้น เปนบุพพนิมิตรที่จะตรัสเทศนาพระอริยมรรคมีองค์ ๘ แก่เทพยดาแลมนุษย์ทั้งปวง ซึ่งหมู่กิมิชาติไต่ขึ้นมาตามพระบาททั้งคู่ ปกปิดตลอดถึงพระชาณุมณฑลนั้น เปนบุพพนิมิตรที่หมู่คฤหัฐทั้งหลายอันนุ่งเสวตรพัตรจะเข้ามาสู่สำนักนิ์พระองค์เปนอันมาก แลจะบันลุแก่พระไตรสรณคมน์นั้น ซึ่งสกุณชาติทั้งหลายมีพรรณ ๔ ประการ บินมาแต่จาตุทิศถึงพระบาทมูลแล้วกลับขาวไปสิ้นนั้น เปนบุพพนิมิตรที่สกุลทั้ง ๔ มีขัติยสกุลเปนต้น จะออกจากฆราวาศมาบรรพชาในพระธรรมวินัยแลจะตรัสรู้ซึ่งวิมุติธรรมอันประเสริฐ ซึ่งเสด็จขึ้นไปจงกรมบนมหามิฬหบรรพต แลพระบาทมิได้แปดเปื้อนด้วยกรีศลามกนั้น เปนบุพพนิมิตรที่จะได้จะตุปัจจัยทั้ง ๔ แต่มิได้มีพระทัยปลิโพธเอื้อเฟื้อในปัจจัยทั้งปวง แลเมื่อพระมหาสัตว์ทรงเสวยพระมหาสุบินทั้ง ๕ อันบังเกิดเปนบุพพนิมิตรที่จะให้ถึงซึ่งวิเศษคุณดังพรรณามานี้ พอบันทมตื่น จึ่งเสด็จอุฏฐาการทรงนั่งบัลลังก์สมาธิแล้วจึ่งทรงดำริห์ว่า “ถ้าอาตมาอยู่ในกรุงกระบิลพัสดุ์ เบื้องว่าฝันดังนี้จะได้กราบทูลแก้ ซึ่งความฝันแก่พระราชบิดา ผิว่าพระมารดายังมีพระชนม์อยู่ จะได้กราบทูลแก่พระชนนี นี่พระมารดาของอาตมก็สิ้นพระชนม์แล้ว แลพระบิตุราชเล่าก็เสด็จสถิตย์ในที่อันไกล ทั้งเนมิตตกาโหราจาริย์ผู้ใดผู้หนึ่งมิได้มีในที่นี้ จะแก้สุบินให้ผู้ใดช่วยทำนายเล่า จำอาตมจักทำนายสุบินด้วยตนเองเถิด ลำดับนั้นก็ทรงพิจารณา ซึ่งปัญจมหาสุบินทั้ง ๕ ประการแล้วก็ทรงพยากรณ์ด้วยพระปัญญาของพระองค์ ถูกต้องเหมือนดุจคำวิสัชนาบุพพนิมิตรแห่งพระสุบิน อันว่ามาแล้วแต่หลังนั้นทุกประการ ลำดับนี้พระคัณฐรจนาจาริย์ก็กล่าวพระคาถา แปลเนื้อความก็ซ้ำดังหนหลัง เมื่อพระมหาสัตว์ทรงกำหนดพิจารณาพยากรณสุบินทั้ง ๕ แล้ว ก็ทรงดำริห์ว่า “อาตมนี้คงจะได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้าเที่ยงแท้” ครั้นล่วงสมัยราษตรีสุริยรังษีส่องสว่าง พระองค์ทรงชำระสริรกิจ คือบ้วนพระโอษฐสรงพระภักตรลงพระบังคน ก็เสด็จไปนิสัชนาการสถิตย์ณนิโครธรุกขมูลนั้นแต่เวลาเช้า ยังสกลมณฑลพฤกษ์พระไตรย์ให้ไพโรจจำรัสด้วยรัศมีอันออกจากพระสริรกายโอภาษปรากฎ ฝ่ายนางบุณณทาษีไปสู่ที่นั้นเห็นพระโพธิสัตวอันสถิตย์อยู่ณรุกขมูล ผันพระภักตร์ทอดพระเนตร์ไปฝ่ายปาจิณโลกธาตุ มีพระรัศมี ดังสีทองออกจากพระกายแผ่ส้านไปทั่วปริมณฑล สกลนิโครธพฤกษ์หาระหว่างมิได้ก็ดำริห์ว่า “วันนี้เทพยดาเจ้าลงจากพฤกษ์พระไทรย นิสีทนาการคอยจะรับพลีกรรมด้วยพระหัตถ์ จึ่งแสดงพระกายให้ปรากฎดังนี้” ก็มีความยินดียิ่งนัก รีบกลับมาเคหถานโดยพลัน แล้วก็บอกเหตุนั้นแก่นางสุชาดา ๆ ได้สดับก็โสมนัศจึ่งกล่าวว่า “จำเดิมแต่นี้ไป แม่จงตั้งอยู่ในที่เปนธิดาผู้ใหญ่ของอาตมา” แล้วก็ให้เครื่องประดับแก่นางบุณณทาษีสมควรแก่เปนธิดาของตน แล้วให้นางนั้นไปนำมาซึ่งถาดทองอันหนึ่ง มาล้างชำระให้หมดมลทินแล้ว ใส่ปายาศลงในถาดทองนั้นภอเต็มภอดีมิได้พร่องมิได้มีเศษ จึ่งเอาถาดทองอันอื่นมาปิดลงเปนฝาแล้วห่อหุ้มด้วยผ้าขาวบริสุทธิ แลนางสุชาดาก็ใส่อาภรณ์แต่งตนแล้วยกถาดทองทั้งสองนั้นขึ้นทูนบนเศียรเกล้าแห่งตน จึ่งลงจากเคหถาน พร้อมด้วยทาษีเปนบริวารตามมาเปนอันมาก ถึงพฤกษ์พระไทร ได้เห็นองค์พระมหาสัตว์ก็โสมนัศปรีดาโดยยิ่ง ด้วยสำคัญว่าเปนรุกขเทวดาโดยแท้ ตั้งแต่เห็นก็เดินยอบกายเข้าไปแต่ไกล ครั้นเข้าไปถึงที่ใกล้ก็ปลงถาดทองลงจากศีศะ แล้วเปิดถาดซึ่งปิดเปนฝานั้นขึ้น จึ่งจับเอาสุวรรณภิงคารคณฑีทอง อันใส่สุคนโธทกกอบด้วยสุมนะบุบผชาติ แล้วน้อมกายเข้าไปสู่สำนักนิ์พระมหาสัตว์ในขณะนั้น อันว่าบาตรดินอันเปนทิพย์ ที่ท้าวฆฏิการมหาพรหมถวายนั้นก็บันดาลอันตรธาน พระมหาบุรุษทัศนาการซึ่งบาตรบมิได้เห็นแล้ว ก็เหยียดพระทักษิณหัตถ์ออกรับน้ำทักษิโณทก แลนางสุชาดาก็หลั่งสุคนธวารีออกจากคณฑีทอง ให้ตกต้องในฝ่าพระหัตถ์พระมหาสัตวแล้ว ก็ยกซึ่งถาดทองรองมธุปายาศถวายวางลงบนพระหัตถ์ พระมหาสัตว์ก็ทอดพระเนตรดูนางสุชาดา ๆ ทราบซึ่งอาการอันนั้นจึ่งกราบทูลว่า “ข้าแต่พระเปนเจ้า ข้าพเจ้าถวายปายาศกับทั้งภาชนะทองอันรองใส่ พระองค์จงรับแล้วนำไปโดยควรแก่พระหฤทัยปรารถนา” แล้วถวายวันทนาการประณตทูลว่า ความมโนรถของข้าสำเร็จดุจใด สิ่งซึ่งพระหฤทัยประสงค์จงสำเร็จดุจนั้น” แล้วนางนั้นมิได้เอื้อเฟื้ออาลัยในสุพรรณภาชนะ อันควรค่าด้วยราคาถึงแสนกหาปณสู้เสียสละเล่ห์ประหนึ่งว่า ภาชนะดินอันเก่า ก้มเกล้าลงกราบบังคมลา แล้วพาทาษีบริสัชนิวัตรนิเวศน์แห่งตน ลำดับนี้พระคัณฐรจนาจาริย์จึ่งกล่าวสารพระคาถา อรรถาธิบายความก็เหมือนนัยหนหลัง ส่วนสมเด็จพระโพธิสัตวก็เสด็จอุฏฐาการจากอาศนะกระทำประทักษิณนิโครธตรุราชถ้วนตติยวาร แล้วก็ทรงถือถาดทองรองปายาศ เสด็จบทจรลีลาศไปสู่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรนที อันเปนที่ลงสรงสนานแห่งอดีตโพธิสัตว อันจะได้ตรัสในวันนั้นเหมือนกันทั้ง ๓ พระองค์ เสด็จลงสรงในท่าอันผาสุกสอาดแล้ว เสด็จขึ้นจากคงคานิสีทนาณที่แทบฝั่งตั้งพระภักตร์บ่ายไปฝ่ายบูรพทิศ แล้วทรงปั้นปายาศเข้าเปนปั้นๆ มีประมาณเท่าตาลสุกทุกๆ ปั้น ทั้งสิ้นศิริได้สี่สิบเก้าปั้นโดยกำหนด แล้วเสวยจนหมด สมควรเปนอาหารคุ้มไปได้ ๗ วัน ๗ หน แล้วทรงถือถาดทองอันรองปายาศ ซึ่งเสวยสิ้นแล้วพลางทรงพระอธิฐานว่า ถ้าอาตมจะได้ตรัสเปนพระบรมโลกนารถ ขอให้ถาดนี้จงเลื่อนลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป แม้ว่ามิได้สำเร็จประสงค์ก็จงลอยล่องลงไปตามกระแสชลไหล แล้วก็ทรงลอยถาดลงในอุทกะธารา ขณะนั้นอันว่าถาดทองเหมือนดังมีเจตนาจะแสดงซึ่งนิมิตรแก่พระโพธิสัตว์ อันจะได้ตรัสแก่พระสัพพัญญุตญาณ ก็บันดาลดุจสุวรรณ์วิหกหงษ์ลงเล่นสินธุวารี เลื่อนลอยทวนกระแสชลนทีขึ้นไปไกลประมาณ ๘๐ ศอก ถึงที่วนแห่งหนึ่งก็จมลงตรงเบื้องบนภพพิมานแห่งพระยากาฬนาคราช กระทบกับถาดอันเปนพุทธบริโภคแห่งพระสัพพัญญูทั้ง ๓ ในอดีต แสดงศัพท์สำเนียงเสียงกิริ ๆ แล้วลงประดิษฐานอยู่อโธทิศภาค ภายใต้ตั้งรองซึ่งถาดแห่งพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ นั้น ฝ่ายพระยากาฬภุชคินทร ได้ยินศัพท์สำเนียงแห่งถาดกระทบกระทั่งดังถึงพระโสตรทรงนิทรารมณ์ ก็ตื่นจากบันทมเสด็จอุฏฐาการดำรัสว่า “วันวารนี้พระชินสีส์อุบัติในโลกพระองค์หนึ่งแล้ว ซ้ำบังเกิดอีกพระองค์หนึ่งเล่า” ทรงพระโสมนัศเปรมปรีดิ์ เสด็จไปสู่ที่ถาดทองประดิษฐาน ตรัสโถมนาการสรรเสริญพระพุทธคุณ ด้วยสุนทรกถาคณนาด้วย ๑๐๐ บทเปนอันมาก ส่วนพระโพธิสัตว์ได้ทอดพระเนตร์เห็นนิมิตรดั่งนั้น ก็เข้าพระทัยแท้ว่า “จะได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้าหาสงไสยมิได้” ทรงพระโสมนัศเสด็จนิวัตตนาการสู่สาลวันป่าไม้รัง อันรุ่งเรืองดาดาดด้วยวิกสิตบุบผชาติชูชื่นเสาวคนธขจร มีอยู่แทบริมฝั่งเนรัญชรนทีธาร ก็เสด็จอยู่ทิวาวิหารในที่นั้น ทรงนิสีทนาการณภายใต้สาลพฤกษ์ต้นหนึ่ง มีสาขาแลใบอันชื่อชัฏร่มเย็นเปนที่สุขาภิรมย์ รโหถานสำราญระงับร้อนแลบุบผชาติเกสรสาลพฤกษ์ ก็หล่นลงจากขั้วตกต้องพระสริรกาย ภอเพลาสายัณห์ตระวันบ่าย ก็เสด็จบทจรจากสาลวันมีพรรณศิริวิลาศ อันงามปานประหนึ่งว่าพระยาคชสารซับมัน อันสัญจรจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว ดูพิลาศลานจิตรควรจะพิศวง มิฉะนั้นดุจพระยาไกรสรสีหราช อันทรงสุรเดชอำนาจลีลาศออกจากรัตนคูหา ออกสู่วนาดรหิมพานต์ มิฉะนั้นดุจฉัททันตเสวตรสาร สัญจรบำราศวนสณฑ์สาลวัน อันประดับด้วยดวงดอกเบ่งบานสถิตย์แทบฝั่ง ฉัททันตสระสฐานศถาพรภิรมย์ แลหมู่ไม้รังทั้งหลายล้วนมีฉายาอันร่มเรียงรายชายไปเบื้องบูรพทิศ เล่ห์ประหนึ่งว่ามีจิตรวิญญาณ อย่างจะเยื้อนทูลสารแถลงอนุสนธิว่า “ขอเชิญเสด็จจรดลไปในวันนี้ จะได้ตรัสแก่พระศรีสรรเพ็ชดาญาณ” กระทำอาการน้อมยอดทอดกิ่งก้าน อันกอบด้วยบุบผชาติแบ่งบานสักการบูชา ฝูงภุมราทั้งหลายบินวะวู่ว่อนเชยชาบรศเกสรสรรพกุสุมมาลีมีพรรณ ๕ ประการบันฦๅศัพท์ผสารสาธุการ พระกฤษดาธิคุณแห่งพระมหาบุรุษราชอันเสด็จลีลาศออกจากทิวาวิหาร จักบทจรสู่สฐานโพธิพฤกษมณฑลแลในพนสณฑ์เบื้องน่าแต่นั้น เปนที่พระมหาโพธิพฤกษสถิตย์ประดิษฐาน กอปด้วยศิริวิลาศโอฬารแลเล่ห์โมรฉัตรอันกางกั้นมิฉนั้นเปรียบปานดุจสัณฐาน แห่งไม้กัลปพฤกษ์ อันไพรบูลย์ด้วยพิพิธธวัชฉัตรวัตถาลงกร อันหมู่อมรสรรพสัตว์สักการบูชา สมเด็จพระมหาพุทธางกุระราช เสด็จลีลาศโดยลำดับสถลแถวทางอันกว้างได้ ๘ อุสุภ ซึ่งเทพยดาตกแต่งประดับไว้รับเสด็จ มีพระอาการองอาจปราศจากสดุ้งแด่ภัย ประดุจไกรสรมฤคินทรจรจับผันพระภักตร์บทจรโดยทิศเฉภาะพระมหาโพธิ์ ในกาลนั้นท้าวสหัมบดีพรหม ก็ทรงซึ่งทิพย์เสวตรฉัตรอันมีปริมณฑลกว้างได้ ๓ โยชน์มากางกั้นโดยเสด็จ สันดุสิตเทวราชแลสุยามเทวราชก็ทรงซึ่งทิพย์จามรแลวาลวิชนี อันมีสัณฐานใหญ่ได้ ๓ คาพยุตมาถวายรำพายพัดโดยอุภัยปรัศว์ทั้งซ้ายขวา สมเด็จอมรินทราธิราช ก็ทรงซึ่งทิพย์มหาวิไชยยุทธสังขทักขิณาวัฏอันใหญ่ได้คาพยุตหนึ่ง เบื้องว่าเป่าครั้งเดียวก็บันฦๅเสียงปรากฎไปถึง ๔ เดือน ดำเนินนำเสด็จเป่าไปในเบื้องน่า แลปัญจศิขรคนธรรพเทพบุตรก็ดีดพิณทิพย์มีสีเหลืองดุจผิวมตูมสุกใหญ่ประมาณ ๓ คาพยุต แห่เสด็จไปในบุรพภาควิถี พระยากาฬพาสุกรีก็แวดล้อมด้วยอเนกนางนาคมาณวิกาบริจาริกแปดหมื่นเปนบริวาร กล่าวถูติกถาโถมนาการสารนับด้วยพันบท ดำเนินตามเสด็จไปในเบื้องหลังทั้งท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ มีหัตถ์ถือทิพยฉัตรแห่ตามไป ฝูงเทพยดาทานพคนธรรพ์สุบรรณ์นาคทั้งหลายก็กระทำสักการบูชาด้วยสุคนธมาลาต่างๆ บ้างก็ประโคมทิพสังคีตนฤโฆสขานสุนทรศัพท์เสนาะสนั่นนฤนาท ฝูงเทพย์ทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุ ก็มาสโมสรประชุมชวนกันบูชาด้วยนานาทิพยดุริยดนตรี แลสุคนธวิเลปนะธงไชยธงปฎากอเนกอนันต์จักนับมิได้ อันว่าห่าฝนดอกไม้ทิพย์ก็ปวัตนาการในสถลสฐานทางเสด็จนองเนืองนิรันดร มิรู้ขาดทั้งดอกมณฑาปาริกชาติก็บันดาลตกลงบูชา แซ่ซร้องเสียงสุรคณานิกรกินรครุธภุชงค์ทั้งหลาย ถวายศัพท์สาธุการเอิกเกริกโกฬาหลนี่สนั่น ในกาลนั้นมีมหาพราหมณ์ผู้หนึ่งมีนามโสตถิยพราหมณ์ ถือซึ่งหญ้าคา ๘ กำดำเนินสวนทางมา ภอพบพระมหาบุรุษราชเจ้า ก็นำเอาหญ้าคาทั้ง ๘ กำนั้นน้อมเข้ามาถวายในระหว่างมรรคา สมเด็จพระมหาสัตว์ก็ทรงรับหญ้าคาทั้ง ๘ กำนั้นแล้ว ก็เสด็จไปถึงที่ใกล้โพธิพฤกษมณฑลสฐาน ก็เสด็จคมนาการกระทำประทักษิณทุมินทร อสัตถพฤกษ์สิ้นตติยวารกำหนดแล้ว เสด็จบทจรไปในทักษิณทิศาภาคแห่งพฤกษ์โพธิ ผันพระพักตร์ไปฝ่ายอุดรทิศสถิตย์หยุดยืนประดิษฐานทรงพระจินตนาการปรารภ เพื่อจะทอดซึ่งหญ้าคา ๘ กำกระทำเปนรัตนบัลลังก์ ลำดับนี้พระคัณฐรจนาจาริย์จึ่งกล่าวเปนสารพระคาถา อรรถาธิบายความก็เหมือนนัยดั่งพรรณามาแล้ว แต่พิศดารออกไปกว่าก่อนในขณะนั้นปฐพีด้านทักษิณสำแดงอาการปานประหนึ่งว่าจะกราบทูลให้ทราบว่า ภูมิสฐานที่นี้มิใช่ที่อันจะตั้งรัตนบัลลังก์ ก็บันดาลทรุดต่ำเอียงลง เล่ห์ประดุจกงจักรเกวียนอันบุทคลวางหงายไว้ แลมีคนขึ้นเหยียบข้างหนึ่งก็เอียงลงไปเหมือนดั่งนั้น จึ่งเสด็จไปฝ่ายข้างปัจฉิมทิศแลอุดรทิศ แผ่นดินก็บันดาลทรุดเอียงดุจนั้น ก็เข้าพระไทยว่าทิศทั้ง ๓ นี้มิใช่ที่ควรจะตั้งพระรัตนบัลลังก์ แห่งพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งปวง จึ่งเสด็จไปฝ่ายข้างบุรพทิศ ผันพระภักตร์มาสู่ปัจฉิมทิศที่สถิตย์แห่งพระมหาโพธิ แลที่อันนั้นก็ตั้งมั่นมิได้กัมปนาทหวาดไหว ก็เข้าพระไทยตระหนักว่าภูมิสฐานที่นี้ เปนที่ตั้งพระรัตนบัลลังก์แห่งพระสรรเพ็ชพุทธเจ้าทั้งปวงแต่ปางก่อน เปนที่อันขจัดเสียซึ่งมารพลแลสรรพเกลศปัจจามิตร ให้ปราชิตประไลยลาญ ปานประดุจกระทำซึ่งมหันตบรรพตให้วิจุณแหลกละเอียดเปนภัศมธุลี เมื่อทรงทราบฉนี้แล้วก็ทอดลงซึ่งติณกระลาปทั้ง ๘ พลางทางออกพระโอษฐทรงพระสัตยาธิษฐานว่า “ถ้าอาตมจะได้ตรัสแก่พระสัพพัญญุตญาณแล้ว ขอจงบังเกิดเปนรัตนบัลลังก์อะจลาอาศน์ปรากฎในที่นี้” ขณะนั้นอันว่าวชิรอาศน์บัลลังก์สมุชลิตพิพิธรัตนโอฬาร มีประมาณสูง ๑๔ ศอกก็อุบัติบังเกิดด้วยบุญญาภิสัมภารานุภาพแห่งพระโพธิสัตวปรากฎพร้อมในลำดับสัตยาธิษฐานก็น่าควรจะอัศจรรย์เปนมหรสพไนยนาเทพยทานพคนธรรพ์สุบรรณนาคนิกรคณากินร อันสโมสรสันนิบาตในตรุราชมณฑลประเทศที่นั้น สมเด็จพระมหาสัตว์ก็เสด็จขึ้นทรงนิสีทนาการสถิตย์เบื้องบนบวรสมุชลิตวชิรรัตนบัลลังก์อาศน์ บ่ายพระภักตร์ไปฝ่ายปราจิณโลกธาตุ แปรพระปฤษฎางค์ข้างพระมหาโพธิพฤกษ์ คู้เข้าซึ่งพระเพลาเปนบัลลังก์สมาธิตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติมั่นเฉภาะพระอนาปานสมาธิภาวนา แล้วออกพระโอษฐดำรัสพระสตยาธิฐานว่า “ถ้ากระมลสันดานแห่งอาตมาไม่พ้นอาสวะกิเลศกามคุณตราบใด ถึงแม้มาตรว่าหฤทัยแลเนื้อหนังทั้งเอ็นสมองอัฏฐิจะแห้งเหือดตลอดถึงเลือดแลมันข้นจนทั่วสริรกายอาตมก็มิได้ทำลายซึ่งสมาธิบัลลังก์อันนี้เลย คงจะเพียรให้บันลุเสวยพุทธาภิเศกสมบัติ บนวชิรบัลลังก์อาศน์อันนี้ให้จงได้” ตั้งพระทัยหมายมั่นพระสัพพัญญุตญาณ แลลำต้นพระมหาโพธิอันมีประมาณสูงได้ ๕๐ สอกถึงค่าคบนั้น ก็งามปานประหนึ่งว่ารชฎาขันธอันปราศจากราคี มีสาขาเปนพุ่มตลอดถึงยอดก็สูงได้ ๕๐ สอกเท่ากัน ครุวนาดุจฉัตรรัตนมณีกางกั้นองค์พระมหาบุรุษราช เบื้องบนทิศอากาศควรจะเกิดปีติโสมนัศแก่ผู้ได้ทัศนาการ แลหน่อแห่งพระมหาโพธินั้นมีพรรณแดงดุจแก้วประพาฬโอภาษ แลพิลาศสลับกับระเบียบแห่งไพโรจอร่ามงาม ดุจศรีสุวรรณ์พรรณพิจิตรเจริญไนยนา จึ่งมีคำปุจฉาว่าพระมหาสัตว์ทรงสละเสียซึ่งจักรวัตติสมบัติ อันจะมาถึงในที่สุด ๗ วันออกบรรพชา แลกระทำมหาปธานวิริยอันยากยิ่งเพื่อประโยชน์แก่สิ่งใด? วิสัชนาว่า พระองค์มีประโยชน์จะให้ได้ชัยชำนะแก่มารทั้ง ๓ คือ เกลศมาร ๑ มัจจุมาร ๑ เทวบุตรมาร ๑ จึ่งปุจฉาว่า จะให้ชัยชำนะแก่มารทั้ง ๓นั้น หวังประโยชน์อันใด? วิสัชนาว่า ด้วยมีประโยชน์จักยกขึ้นซึ่งฉัตรทั้ง ๓ ในพุทธเขตรทั้ง ๓ ประการ เพื่อจะถือเอาซึ่งพุทธสมบัติ. จึ่งปุจฉาว่า จะถือเอาซึ่งพุทธสมบัติเพื่อประโยชน์อันใด? วิสัชนาว่าจะถือเอาซึ่งพุทธสมบัติ หวังจะให้โอวาทานุศาสนแก่สัตวโลกทั้งปวง. จึ่งปุจฉาว่า จะสั่งสอนสัตว์ด้วยประโยชน์อันใด? วิสัชนาว่า จะให้สัตว์โลกได้ซึ่งญาณทัศนคือพระอรหัตต์. จึ่งปุจฉาว่า จะให้สัตว์ได้ญาณทัศนด้วยประโยชน์อันใด? วิสัชนาว่ามีประโยชน์จะให้สัตว์บันลุแก่อนุปาทิเสสะปรินิพพาน เหตุดั่งนั้นพระมหาบุรุษราชเจ้าจึ่งกระทำทุกรกิริยา หวังประโยชน์จะโปรดสัตว์โลกทั้งหลาย อันประพฤษดิตามโอวาทนั้น ให้บันลุอนุปาทิเสสปรินิพพาน แลยกขึ้นซึ่งเสวตรฉัตรทั้ง ๓ คือมานุสกเสวตรฉัตร ๑ ทิพย์เสวตรฉัตร ๑ วิมุติเสวตรฉัตร ๑ ในพุทธเขตรทั้ง ๓ คือชาติเขตรแลอาณาเขตร กับทั้งวิสยเขตร แลจะยุทธนาการกับพระยาวัสวดีรามาธิราชให้ปราชัยพ่ายแพ้ เพื่อจะถือเอาซึ่งพุทธสมบัติ เมื่อพระพุทธรักขิตาจาริย์ผู้รจนาคัมภีร์นี้ จะแสดงอรรถสืบต่อไปก็กล่าวพระคาถา แปลเนื้อความก็ดุจพรรณามาแล้วแต่หลัง แต่พิศดารออกไปแล้วกล่าวพระคาถาสำแดงมานุสกฉัตรก่อน แปลเปนใจความว่า พระพุทธบิดาถวายวันทนาประณตด้วยพระเศียรเกล้าสิ้นวารสองครั้ง แล้วถวายมานุสกราชสมบัติบูชาด้วยเสวตรฉัตรอันประเสริฐแล้ว พระผู้เปนเจ้าก็กล่าวพระคาถาสำแดงซึ่งทิพย์เสวตรฉัตร์ต่อไป แปลเปนใจความว่าท้าวสหัมบดีมหาพรหมกับเทพยดาแลพรหมทั้งปวง ถวายซึ่งทิพยสักการโดยวิสัยของตนแล้ว ก็บูชาด้วยเสวตรฉัตรแก้วอันเปนทิพย์กางกั้น กาลเมื่อเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรม แลกาลเมื่อเสด็จไปสู่ไม้พระมหาโพธิ กาลบัดนี้พระมหาสัตว์ทรงยกขึ้นซึ่งวิมุติเสวตรฉัตรด้วยพระองค์เอง แลพระองค์ถือเอาซึ่งพระพุทธสมบัติ พระคัณฐรจนาจาริย์จึ่งกล่าวพระคาถาสืบไปเปนใจความว่าพระมหาบุรุษทรงซึ่งนารายน์พลด้วยกำลังพระกาย ถึงซึ่งฝั่งแห่งพระบารมีพลคือกำลังพระสมดึงสบารมีบริบูรณ แลเสด็จไปสู่โพธิมณฑล เพื่อจะสำแดงพระบารมีพล อาจมีชัยชนะแก่สัตวโลกทั้งปวง มีอรรถาธิบายว่านารายน์พลนั้น คือกำลังพระกายได้ ๑๐ พันโกฎิกำลังกุญชรชาติ อาจสามารถจะครอบงำเสียซึ่งมารพลมากกว่าพันโกฏิ แลเสด็จเข้าไปทรงสถิตย์เหนืออปราชิตบัลลังก์ภายใต้ทุมินทรพฤกษมหาโพธิ เพื่อจะถือเอาซึ่งพระสัพพัญญุตญาณ อันอาจชำนะซึ่งสัตว์โลกทั้งปวงนั้น เมื่อพระคัณฐรจนาจาริย์จะสำแดงซึ่งนารายน์พลให้พิศดารสืบไปก็กล่าวพระคาถา อรรถาธิบายความว่า ด้วยกำลังคชสาร ๑๐ จำพวก คือกาฬวกะหัตถีสกูลได้แก่ปรกหัตถีทั้งปวง แลกายพลแห่งบุรุษ ๑๐ คน จึ่งเท่ากายพลแห่งช้างชาติกาฬวกะตระกูลช้าง ๑ แลกายพลแห่งช้างกาฬาวกะหัตถี ๑๐ ช้างจึ่งเท่ากายพลแห่งช้างชาติคังไคยตระกูลช้าง ๑ แลกายพลแห่งคังไคยหัตถี ๑๐ ช้างจึ่งเท่ากายพลแห่งช้างชาติบัณฑรตระกูลช้าง ๑ แลกายพลแห่งช้างบัณฑรหัตถี ๑๐ ช้าง จึ่งเท่ากายพลแห่งช้างชาติตามพหัตถีตระกูลช้าง ๑ แลกายพลแห่งช้างตามพหัตถี ๑๐ ช้างจึ่งเท่ากายพลแห่งช้างชาติบิงคละตระกูลช้าง ๑ แลกายพลแห่งช้างบิงคละหัตถี ๑๐ ช้างจึ่งเท่ากายพลแห่งช้างชาติคันธตระกูลช้าง ๑ แลกายพลแห่งช้างคันธหัตถี ๑๐ ช้างจึ่งเท่ากายพลแห่งช้างชาติมังคละตระกูลช้าง ๑ แลกายพลแห่งช้างมังคลหัตถี ๑๐ ช้าง จึ่งเท่ากายพลแห่งช้างชาติเหมตระกูลช้าง ๑ และกายพลแห่งเหมหัตถี ๑๐ ช้าง จึ่งเท่ากายพลแห่งช้างชาติอุโบสถตระกูลช้าง ๑ แลกายพลแห่งช้างอุโบสถ ๑๐ ช้าง จึ่งเท่ากายพลแห่งช้างชาติฉัททันตตระกูลช้าง ๑ แลกายพลแห่งช้างฉัททันต์ ๑๐ ช้างจึ่งเท่ากายพลแห่งพระโพธิสัตว์ในปัจฉิมภวิกชาติ ๆ ทรงพระกำลังพันโกฎิช้างนับโดยปรกติหัตถี ถ้าจะนับด้วยกำลังมนุษย์ก็ทรงพระกำลังถึง ๑๐ พันโกฎิบุรุษ แลพระกายพลแห่งปัจฉิมภวิกโพธิสัตว์นั้น ได้ชื่อว่านารายน์พลดุจพรรณามาฉนี้ แท้จริงเบื้องว่าหน่อพระชินศรีอาศรัยซึ่งพระกายพล เปนอันมากถึงเพียงนี้ ก็มิอาจสามารถจะกำหนดรู้แจ้งซึ่งกองทุกข์แลบมิอาจบันเทาเสียซึ่งสมุทัยคือตัณหา แลบมิอาจเจริญซึ่งพระอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ แลบมิอาจตรัสรู้มรรคผลพระอมตมหานฤพาน จะยังมารทั้ง ๓ ประการให้ปราชัยได้ แลพระญาณพลอันอื่นยังมีอีก ๑๐ ประการ กล่าวคือพระทศพลญาณ ๆ นั้น เปนอุดมพลโดยแท้ อาจสามารถจะกระทำซึ่งสิ่งทั้งหลายมีทุกข์ปริญญาเปนต้น แลอาจยังเกลศมารให้ปราชัยได้ อนึ่งพระอภิญญาพลมีอีก ๕ ประการ ก็ได้ชื่อว่าญาณพลอีกอย่างหนึ่ง คืออิทธิวิธิญาณ ๑ ทิพโสตญาณ ๑ บรจิตตวิชาญาณ ๑ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ๑ ทิพย์จักษุญาณ ๑ ทั้ง ๕ ประการนี้จัดเปนพระอภิญญาพล กับพระทศพิธบารมีพลทั้ง ๒ ประการด้วยกันนี้ อาจสามารถจะยังเทวมุตตมารให้ปราชัยได้ เบื้องว่าพระมหาบุรุษกอหด้วยพระกายพลแลพระบารมีพลดังนี้ เสด็จนิสัชนาการสถิตย์ณโพธิพฤกษมูลเพื่อจะให้บังเกิดพระสัพพัญญุตญาณ อันอาจครอบงำเสียซึ่งโลกทั้งปวง ครั้งนั้นเทพยดาทั้งหลายชวนกันชื่นชมโสมนัศ มีหัตถ์ทรงซึ่งเครื่องสักการบูชาต่างๆ เต็มตลอดตั้งแต่เมทนิดล จนตราบเท่าถึงพรหมโลกเปนที่สุด เทพยดาบางจำพวกก็ถือซึ่งธงไชย์แลธงปฎาก อันเปนทิพย์ดูเรียงเรียบเปนระเบียบไป บางจำพวกก็ถือซึ่งทิพย์กัททลีมีสัณฐานดังเสาต้ายรายเรียงเปนแถวถ่อง บางเหล่าก็ถือทิพยมาลาอันร้อยกรองเปนธูปสัณฐาน บางหมู่ก็ชูบุบผาลังการเปนสุพรรณภาชนถาดทอง บ้างก็ถือทิพย์กุสุมชาติอันร้อยกรองเปนรูปเหมฆฏบรรจง บ้างก็ถือทิพย์บุบผารจนาเปนรูปประทีปมีด้ำ ดูพิลาศหลากมากกว่าหมื่นแสน บ้างก็ถือทิพย์มาลีมีพรรณดังรูปแว่นอันส่องภักตรโอภาษพิสุทธิ บ้างก็ถือดอกพุทธ์พื้นทิพย์มาลา บ้างก็ถือดอกไม้ทิพย์เปนรูปสุวรรณมัจฉาทั้งคู่ บ้างก็เชิดชูทิพย์บุบผารจนาเปนรูปพัดวาลวิชนี และรูปสังขทักษิณาวัฏรูปขอรูปหม้อเต็มไปด้วยอุทกธารา บ้างก็ถือพวงสุพรรณหิรัญรัตนบุบผา มีประการนานาเนกจะนับมิได้ดูเดียรดาษเทพย์ทั้งหมื่นโลกธาตุ มาสโมสรประชุมชวนกันโสมนัศปรีดา กระทำสักการบูชาพระมหาสัตว์ เปนโกลาหลทั่วมงคลจักรวาฬมิได้เศษ

พุทธบูชาปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๘ จบ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ