เพลงยาวเจ้าพระ
บทที่ ๑ ของเจ้าพระพระองค์ที่ ๑
๏ ได้ยลยุบลลักษณ์ในอักษร | |
ซึ่งพระหลานบรรหารพจน์เป็นบทกลอน | ก็อวยพรศรีสวัสดิ์ให้วัฒนา |
จงเชี่ยวชาญการกระวีวิธีปราชญ์ | เฉลียวฉลาดตรองตรึกที่ศึกษา |
ให้จะแจ้งทุกแห่งเห็นเจนจินดา | อย่าโรยราอุสาหะสละเพียร |
ซึ่งไม้ม้วนมีถ้วนยี่สิบสรรพ | กว่านั้นนับมลายล้วนไม่ควรเขียน |
อักษรสามตามตำหรับฉบับเรียน | ให้ชำเนียนชำนิชัดสันทัดแท้ |
ทั้งโทเอกเลขเจ็ดกับกากะบาท | ทัณฑฆาฏต่ายคู้รู้จงแน่ |
สำเนียงสูงต่ำนั้นอย่าผันแปร | ถ้าฉวยแชแล้วสิเชือนชักเปื้อนปน |
อันสามสอพ่อจงท่องให้คล่องไว้ | ชอบที่ใช้ตามบังคับไม่สับสน |
สังเกตผิดลิขิตเพี้ยนเขียนนิพนธ์ | นักปราชญ์ยลเย้ยสรวลจะชวนอาย |
แม้นจักทำโคลงสุภาพอย่าหยาบคิด | พึงพินิจจงชอบระบอบหมาย |
ข้างเอกไซ้ใช้ได้อักษรตาย | แต่ข้างฝ่ายโทนี้ไม่มีแทน |
จงหาโทแต่ที่สิ้นมลทินโทษ | จะอ้างโอษฐเขาคงชมคารมแม่น |
ถ้าโทเพี้ยนมักติเตียนว่าปราชญ์แกน | จะซ้ำแสนอัประมาณป่วยการทำ |
จงดำริห์ตริตรองให้ต้องแบบ | ยังอย่างแยบจะบอกพ่อที่ข้อขำ |
ทุกสิ่งสรรพ์พรรณนาอุส่าห์จำ | อย่าพลาดพล้ำสติเผลอเลินเล่อ เอยฯ |
พึง พ่อหน่อนเรศผู้ | ภาคิไนย นารถเฮย |
เรียน ลักษณอักษรไทย | ถ่องถ้อย |
เพียร เพิ่มเริ่มพจนไข | คำปราชญ์ เสนอนา |
รู้ รอบกอบกลร้อย | เรื่องอ้างทางเกษม ฯ |
บทที่ ๒ ของนายนาก ถวายเจ้าพระพระองค์ที่ ๓
๏ ขอนอบนบเคารพบาทพระจอมเศียร | |
ซึ่งผนวชในพรหมพรตกำหนดเพียร | จงทรงเรียนทางปราชญ์ชาติกระวี |
กระหม่อมเล่าเผ่าพงศ์หินชาติ | จะหมายมาดคู่พรหมไม่สมศรี |
ด้วยเป็นไพร่จะให้ตอบพระวาที | บาระมีเปนที่ยิ่งยังกริ่งครัน |
แม้นพระไทยใคร่ทรงดำรงเรื่อง | ที่ข้องเคืองโปรดให้อไภยฉัน |
ด้วยกลอนตอบชอบผิดต้องติดพัน | ซึ่งโทษทัณฑ์อนุญาตให้ขาด เอย ฯ |
บทที่ ๓ ของเจ้าพระพระองค์ที่ ๓ ตอบนายนาก
๏ สดับรศพจนาเลขาสนอง | |
แสนดีใจด้วยได้สมอารมณ์ปอง | แต่นอนตรองตรึกหามาช้านาน |
พอได้ฟังฝีปากนายนากกล่าว | เปนเรื่องราวรจนามาในสาร |
จึงค่อยเรืองปัญญาปรีชาชาญ | เดี๋ยวนี้พานจะยังอ่อนกลอนไม่ดี |
ถ้าเห็นผิดอยู่ตรงไหนอย่าได้นิ่ง | บอกตามจริงเถิดไม่รักถือศักดิ์ศรี |
อย่าเกรงกลัวโทษอันใดมิให้มี | จงบอกที่ผิดพลั้งมามั่ง เอย ฯ |
บทที่ ๔ ของนายนาก
๏ ยลลิขิตอิศรสารประทานแถลง | |
แสนเสนาะเพราะล้ำในคำแสดง | ประจักษ์แจ้งเห็นจริงทุกสิ่งอัน |
ซึ่งประทานโปรดอไภยไว้ธุระ | พระคุณจะใส่เกล้ากระหม่อมฉัน |
ทั้งผิดเพี้ยนให้ช่วยเปลี่ยนสารพัน | ฝ่ายโทษทัณฑ์มิให้มีดีจริงจริง |
กระหม่อมก็จะสนองลอองบาท | ที่พลั้งพลาดคงไม่คิดจะปิดนิ่ง |
เปนสัจจังดังสาราอย่าประวิง | ด้วยจะพิงพึ่งพระเดชเกษบุรี |
ซึ่งโปรดว่าฟังปากนายนากกล่าว | เปนเรื่องราวคำกลอนอักษรศรี |
จึงค่อยเปรื่องปรีชาชาญชำนาญดี | ที่ข้อนี้ฉันยังแคลงไม่แจ้งใจ |
ด้วยมิได้รับประชันกันบ้างเลย | พระแกล้งเย้ยเยาะเล่นฤๅเปนไฉน |
ยอมิหนำซ้ำถ่อมองค์ลงกะไร | น่าสงไสยอกฉันหวั่นหวั่น เอย ฯ |
บทที่ ๕ ของเจ้าพระพระองค์ที่ ๓
๏ พินิจสารนากทำคำอักษร | |
แสนเสนาะเพราะสนิทชิดทุกกลอน | ท่านสุนทรแพ้ชัดไม่ทัดคำ |
ซึ่งฝากกายหมายชิดไม่ปิดนิ่ง | ขอบคุณยิ่งถ้ามิตายหมายอุปถัมภ์ |
มีธุระสิ่งไรอย่าได้อำ | จะคงทำสนองไปมิได้เมิน |
ซึ่งว่าข้อจะยอหยันนั้นหาไม่ | ที่จริงในจิตรตั้งสั่งรเสริญ |
มิใช่ว่าจะเจรจาให้ล่วงเกิน | จะขอเชิญตอบสาราอย่าระแวง |
เปนเรื่องรศพจนามาอิกเถิด | จะได้เกิดปัญญาค่อยกล้าแขง |
ในใจเราเหมือนสารามาแสดง | อย่าได้แคลงทุกสิ่งครบจนจบ เอย ฯ |
บทที่ ๖ ของนายนาก
๏ สดับสารหวานแสนเสนาะหู | |
ช่างเพราะกลอนอักษรทำดังคำครู | ฉันขืนสู้คงจะแพ้แน่ในใจ |
เปนนักเลงคงอดเพลงอยู่ไม่รอด | จำต้องทอดทางไมตรีตามวิไสย |
ด้วยสารทรงจักรีมีเยื่อใย | เมตตาในกระหม่อมฉันไม่หันเมิน |
ก็สมจิตรที่คิดสามิภักดิ์ | พระคุณหนักยิ่งฟ้าเวหาเหิน |
ล้ำสมุทสุดดินสิ้นทั้งเนิน | เกือบสูงเกินพรหมแมนแดนอมร |
ขอพระเดชปกเกษเปนที่พึ่ง | อันคำซึ่งจะอุปถัมภ์นี้ใครสอน |
จึงพระองค์ทรงคิดลิขิตกลอน | ว่าสุนทรแพ้ฉันขันพอพอ |
หนึ่งธุระประสงค์คงจะได้ | พระโปรดให้เห็นจริงจริงเจียวหนอ |
คงผาศุกทุกวันคืนกลืนลูกยอ | ฉันร้อนคอขอษมาเสียเถิด เอย ฯ |
บทที่ ๗ ของเจ้าพระพระองค์ที่ ๓
๏ สดับถ้อยสุนทรอักษรแถลง | |
จะยอเล่นฤๅอย่างไรยังให้แคลง | ที่กล่าวแกล้งว่าทำเหมือนคำครู |
ไม่เวทนาบ้างเลยมาเย้ยเล่น | เหมือนหนึ่งเปนใบ้บ้าน่าอดสู |
มิใช่เราจะว่าเล่นจงเอ็นดู | มันไม่สู้ดีดอกบอกจริงจริง |
ซึ่งยกคุณของฉันนั้นชอบจิตร | แต่ว่าคิดยังไม่เห็นเปนที่ยิ่ง |
ปดกันไปแต่พอให้ใจประวิง | ยังคิดกริ่งตรองไม่เห็นจงเจรจา |
อันถ้อยคำนี้ใครมิได้สอน | แต่บทกลอนอย่างนี้ดีนักหนา |
จะเอาใครในกรุงศรีอยุธยา | เห็นจะหายากราวกับดาวเดือน |
ที่จะยอเย้ยหยันนั้นหาไม่ | จะหาใครใจที่จะดีเหมือน |
เช่นนี้ได้มาไว้เปนแม่เรือน | ให้ตักเตือนสารพัดจัดการงาน |
เปนความจริงทุกสิ่งอย่ากริ่งจิตร | ดังลิขิตรจนามาในสาร |
พอได้เล่นเปนสนุกศุขสำราญ | แก้รำคาญเคืองข้องที่หมองใจ |
ซึ่งกล่าวว่ากินลูกยอร้อนคอนัก | จะตวงตักน้ำผึ้งดีที่หวานใส |
เอายอที่เม็ดไม่มีสักสี่ใบ | ประเคนให้นากฉันทุกวัน เอย ฯ |
บทที่ ๘ ของนายนาก
๏ พินิจสารบรรหารเหตุพระเกษสยาม | |
ช่างพริ้งเพราะเหมาะใจได้เนื้อความ | ถูกต้องตามปุจฉาน่ายินดี |
ซึ่งตริตรึกนึกแหนงระแวงหวาด | ขอเบื้องบาทปกเกล้าอย่าเศร้าศรี |
ไม่ว่าเล่นเป็นสัจจังดังวาที | กลอนเช่นนี้ผิดสังเกตเหตุพึ่งเรียน |
ดูไวว่องไม่ข้องขัดหัดนิพนธ์ | ไม่เวียนวนบาทบทที่จดเขียน |
จึงได้ชมด้วยสมแบบทั้งแนบเนียน | อุส่าห์เพียรเถิดพระองค์คงจะรู้ |
ซึ่งอยากได้ไว้ฉลองลอองบาท | เดิมฉันมาดสิไม่พบประสบสู่ |
ครั้นได้ร่มโพธิ์เย็นท่านเอ็นดู | ถวายตัวอยู่นานลับนับหลายปี |
สุดจะคิดบิดเบือนให้เหมือนประสงค์ | ขอจอมพงศ์โมเลศเกษกรุงศรี |
โปรดอย่าเคืองข้องขัดตัดไมตรี | จงปรานีนึกว่าเป็นข้าลออง |
แม้นมีพระประสงค์ที่ตรงไหน | กระหม่อมไซ้จะรับแทนพระคุณสนอง |
กว่าจะม้วยชีวิตรคิดประคอง | พระจงตรองดูให้งามตามบุราณ |
ซึ่งสงไสยในคดีที่ว่ายิ่ง | เปนความจริงตามโลกโวหาร |
ว่าหญิงชายใดได้รับราชการ | ต่อโปรดปรานจริงจริงดอกจึงหยอกเอิน |
นี่บุญตัวฉันแท้แน่นักหนา | พระได้มาตอบสารจึงสรรเสริญ |
ทั้งมหาดเล็กเด็กชาไม่กล้าเกิน | กุศลเชิญชักมาน่ายินดี |
เหตุดังนั้นฉันจึงกล่าวว่าคุณยิ่ง | สัจจังจริงจอมเมืองอย่าหมองศรี |
จงแต่งตอบตามระบอบประเพณี | ได้เปรมปรีดิ์ผาศุกสนุกสนาน |
ซึ่งพระองค์ทรงประทานน้ำผึ้ง | กับสิ่งซึ่งยอหมดเม็ดฉันเข็ดหวาน |
ด้วยร้ายแรงแสลงยิ่งกว่าอ้ายตาล | รับประทานไม่สบายถวายคืน |
ด้วยของเสวยเคยฉันอยู่เปนนิจ | อย่าปลดปลิดให้เขาเฝ้าข่มขืน |
เชิญเสวยให้จุจุอายุยืน | ฉันนี้ขืนเข็ดขยาดไม่อาจ เอย ฯ |
บทที่ ๙ ของเจ้าพระพระองค์ที่ ๓
๏ ได้ฟังสารเพราะเหลือไม่เบื่อหู | |
ทั้งลายมือที่เขียนมาก็น่าดู | อาลักษณ์ผู้ที่ว่าดีไม่มีทัน |
ซึ่งกล่าวจริงทุกสิ่งยังกริ่งจิตร | ในใจคิดอยู่ว่าแกล้งจะเย้ยหยัน |
ฉวยลืมตัวสิเข้าไปหลายใบครัน | เที่ยววิ่งหันแล้วสิอายเขาตายจริง |
เปนสัจจังดังนั้นฤๅอย่าถือหนา | สาบาลมาให้สักใบอย่าได้นิ่ง |
จะเอาเปนหลักไหลได้อ้างอิง | แล้วอย่ากริ่งเลยว่าล้อเล่นต่อไป |
ขอโทษเถิดเกินไปไว้นิดหน่อย | หม่อมจงถอยเสียเถิดหนาอย่าสงไสย |
ซึ่งเปรียบว่าฉันนี้โตเหมือนโพธิ์ไทร | ก็ขอบใจเปนที่ยิ่งไม่กริ่งเลย |
อันวาศนาเรานี้พานมีน้อย | ต้องเศร้าสร้อยเหมือนเดือนตกนะอกเอ๋ย |
แสนระกำช้ำใจไม่เสบย | เอากรเกยนลาตคิดประดิษฐ์กลอน |
ค่อยสบายคลายในฤไทยหมอง | แต่ตรึกตรองศุภลักษณ์ในอักษร |
พอหายง่วงงุนเหงาที่หาวนอน | ธุระร้อนจึงช้ามาหลายวัน |
ที่ยอเม็ดหมดนี้มีจริงหนา | อยู่บ้านป่าบางยี่เรือจงเชื่อฉัน |
จะเอามาให้เห็นเปนสำคัญ | ไม่ปดกันเล่นดอกบอกตามจริง |
เรากินเบื่อเหลือเน่าเสียเปล่าเหม็น | มันแสนเข็ญเช่นกะยามหาหิงคุ์ |
นายนากกินเถิดแกแก้ลมวิง | ให้หนุ่มพริ้งขึ้นมาเที่ยวหาเมีย |
ได้รับมือกับนางนากฝีปากกล้า | ภรรยาจะขบเขี้ยวเคี้ยวกินเสีย |
จนหมดเนื้อแล้วยังเหลือแต่เลือดเลีย | กินเถิดเมียคงขยาดไม่อาจเกิน |
แม้นอ่านสารเสร็จสิ้นระบินเรื่อง | อย่าได้เคืองที่ข้อฉันสรรเสริญ |
ถ้าธุระสิ่งไรอย่าได้เมิน | ที่ตรงเกินนั้นอย่าเคืองเรื่องยอ เอย ฯ |
บทที่ ๑๐ ของนายนาก
๏ คลี่สารอ่านกลอนอักษรแถลง | |
ฟังเสนาะเพราะล้ำในคำแสดง | ประจักษ์แจ้งความจริงทุกสิ่งอัน |
ซึ่งประสงค์ตรงสัตย์จะจัดถวาย | แต่เกรงฝ่ายจอมเมืองจะเคืองฉัน |
ด้วยความสัตย์สิ่งอื่นสักหมื่นพัน | เห็นไม่ทันเหมือนจิตรอย่าปิดบัง |
เออพระองค์จะสงไสยไปไยเล่า | เชิญหน่วงเอาพระอารมณ์ให้สมหวัง |
แม้นทูลมาสารพัดไม่สัจจัง | ขอให้ชังเฉยฉันจนวันตาย |
แม้นว่าจริงเหมือนสิ่งซึ่งมาพึ่งภักตร์ | ขอให้รักฉันให้มากอย่าหากหาย |
ให้คิดสงสารซากที่ฝากกาย | อย่าเว้นวายห่วงฉันที่รัญจวน |
จนสิ้นดินสินธูชมพูทวีป | อย่ารู้รีบร้างโรยให้โหยหวน |
แม้นสมคิดค่ำเช้าทุกคราวครวญ | จะสงวนสัตย์ไว้ใต้ธุลี |
หนึ่งพระประภาษว่าวาศนา | ดังจันทราใกล้ดับลับแสงศรี |
เพราะพระองค์ยังเยาว์เบาโพธี | เมื่อบารมีแก่กล้าคงหล้าฦๅ |
เปรียบดังพืชเข้าปลูกที่หว่านไว้ | ยังไม่ได้สี่เดือนจะออกหรือ |
ถึงรดน้ำพูนดินจนสิ้นมือ | ก็คงชื่อสี่เดือนเหมือนประมาณ |
อย่าเสียพระไทยไตรตรึกนึกถวิล | คงจะภิญโญใหญ่ในสถาน |
จงอุส่าห์ศึกษาวิชาการ | ให้ชำนาญในกระบวนควรตระกูล |
หนึ่งยอไม่มีเม็ดเสด็จโปรด | ออกพระโอษฐ์ตรัสชมแก้ลมสูญ |
ทั้งกายแก่แปรเปนหนุ่มจำรูญ | บริบูรณ์ด้วยเนื้อหนังกำลังแรง |
เปนของดีวิเศษอยู่ในหล้า | พระเมตตาบอกเล่าเฝ้าแถลง |
ที่จริงจิตรยังคิดข้างเคลือบแคลง | จะต่อแย้งเรื่องเก่าเฝ้ารำพรรณ |
ดูเหมือนคนสิ้นปัญญาจะหาเรื่อง | ไม่ยักเยื้องย้ายว่าให้ขันขัน |
ขอประทานผ้าขี้ผึ้งสักหนึ่งอัน | ให้ห่อล่วมสลาฉันนั้นเถิด เอย ฯ |
บทที่ ๑๑ ของเจ้าพระพระองค์ที่ ๑
๏ แสนสงสารหลานรักเปนนักหนา | |
เห็นจริตนั้นก็ผิดกับกิริยา | ทั้งภักตราเศร้าศรีฉวีวรรณ |
น่าจะมีทุกข์นักแต่สักสิ่ง | จงแจ้งจริงอย่ารังเกียจเดียดฉัน |
ควรจะสั่งสนทนาปฤกษากัน | ไม่ควรพรั่นดอกพอไว้ฤไทยวาง |
เมื่อก่อนงานเห็นสำราญสำเริงเล่น | ทุกเช้าเย็นราตรีไม่มีว่าง |
ครั้นถึงวันมหรศพได้พบสุรางค์ | สาวสำอางอ่าองค์บรรจงกาย |
ล้วนแรกรุ่นดรุณราวคราวชัณษา | ฟื้นโสภาพักตร์เพี้ยนวิเชียรฉาย |
ดูอาการเห็นพานไม่สู้สบาย | ชรอยหมายมุ่งมาดสวาดิครวญ |
ถึงขึ้นมาเล่าก็ทำเหมือนจำชื่น | ไม่เริงรื่นหฤไทยว่าใจสรวล |
ซังตายเล่นเห็นเล่ห์ดูเรรวน | ประหนึ่งป่วนเปนจะสึกรำฦกวัง |
ซึ่งสัญญาอิกวษาจักทรงพรต | แล้วออมอดสืบไปไม่ได้มั่ง |
เอ็นดูสองอนุชาเชษฐายัง | อยู่ภายหลังจะโหยไห้อาไลยคนึง |
ด้วยเคยเล่นเจรจาเป็นผาศุก | ต่างจะทุกข์โศกสร้อยลห้อยถึง |
จงตรองตัดสลัดร้อนอาวรณ์รึง | อย่าด่วนดึงเด็ดเดี่ยวไปเดียวองค์ |
หนึ่งวิชาเล่าเรียนที่เพียรพาก | ก็ยังมากไม่เจนจบสบประสงค์ |
อุส่าห์ก่อนผ่อนรำพึงถึงอนงค์ | ไหนก็คงจะเสร็จสมอารมณ์ เอย ฯ |
อย่า รุมสวาดิเร้า | โรยศรี สลายแฮ |
ร้อน ราครมย์ฤดี | ดับบ้าง |
ผ่อน ทุกข์ผ่อนเทวศทวี | วายว่าง ถวิลนา |
คลาย คิดกระนิษฐ์ฤๅร้าง | รอดพ้นกลไฉน ฯ |
บทที่ ๑๒ ของเจ้าพระพระองค์ที่ ๓
๏ สงสารองค์โกเมศผู้เชษฐา | |
ด้วยร้อนรุ่มกลุ้มใจในอุรา | เพราะโรคาขุ่นข้องให้หมองใน |
ทั้งเจ็บปวดยวดยิ่งสิ่งสาหัส | ให้เบาขัดบุพโพคั่งลงหลั่งไหล |
จนผ้าเปื้อนประเปรอะเลอะเทอะไป | เพราะตามใจเร่งร้อนไม่ผ่อนเพลา |
ดังเรือดั้งคู่ชักหนักทุกเล่ม | ฝีพายเต็มกระทุ้งถี่ทุกฝีเส้า |
ไม่รอรั้งกำลังไล่มิได้เบา | สดุดสเด่าตอหลักจนหักค้าน |
แต่รักษาห้าหกเจ็ดแปดหมอ | เปนหลายหม้อยาย้ายก็หลายขนาน |
ถึงสี่เดือนเงือดงดอดมานาน | พยาบาลเป็นนิรันตร์ทุกวันมา |
เดี๋ยวนี้คลายก็ยังหายไม่สู้สนิท | เวียนแต่ผิดสำแดงครุ่นวุ่นรักษา |
กลับเปื่อยพังบังเหตุให้เวทนา | เพราะโรยยาก็ยิ่งเปนไม่เว้นวาย |
ถ้าแม้นไม่ไปวังยังอยู่วัด | จักบำบัดโรคร้อนค่อยผ่อนหาย |
งดไปวังเสียเถิดยังไม่เคลื่อนคลาย | อันภิปรายห้ามปรามด้วยความรัก |
ซึ่งพาทีชี้แจงสำแดงโทษ | อย่ากริ้วโกรธชอกช้ำว่าคำหนัก |
อันของดีนี้ควรสงวนนัก | อย่าให้หักบุบค้านเสียการ เอย ฯ |
บทที่ ๑๓ ของเจ้าพระพระองค์ที่ ๒
๏ สงสารองค์อนุชานักหนาหนอ | |
ดูจริตนั้นเห็นผิดติดข้างบอ | ทำอ้อต้อเกี้ยวเด็กเล็กเล็กชม |
ทัดบุหรี่สองหูดูฉุยฉาย | ตบแต่งกายแต่ล้วนสีอันดีห่ม |
ฝีปากกล้ามิใช่เบาเจ้าคารม | ทำสรวยสมใส่แหวนก้อยน้อยน้อยเดิน |
พระไทยหวังเจ้ามั่งก็ไม่ได้ | ความอึงไปแล้วก็หมางออกห่างเหิน |
กระดากกระดักกระเดื่องเฉยทำเลยเกิน | ครั้นเห็นเขาเล่าก็เมินไม่แลดู |
เดี๋ยวนี้จิตรคิดจะไปวัดน่าพระธาตุ | ที่ตำหนักสังฆราชเสด็จอยู่ |
ชะช่างหมายจะเล่นหลานเจ้าลำภู | น่าอดสูคนบ้าขายหน้า เอย ฯ |
บทที่ ๑๔ ของเจ้าพระพระองค์ที่ ๑
๏ น่าสมเพชเวทนานัดดาจ้าน | |
มาลอบเล่นกระดางลางเอาอย่างพาล | ทำอาการวิปริตผิดแต่ไร |
ไม่เอาเยี่ยงขัติยาบ้าอุบาทว์ | เกี้ยวสวาดิเรียนรู้แต่ครูไหน |
ฉวยฉายชื่อระบืออึงถึงกรมไกร | เป็นความใหญ่เห็นไม่มิดต้องพิดทูล |
แม้นทรงทราบเรื่องนี้คงมีโทษ | ไหนจะโปรดรำงับให้ดับสูญ |
จะกริ้วว่าทุจริตผิดประยูร | เสียสกูลอัปรยศปรากฎขจร |
ไปเที่ยวรักเขาทุกแห่งพึ่งแจ้งเหตุ | ทั้งเณรเนตรเณรมั่งใครสั่งสอน |
ยั้งดื้อดึงขึงขัดไม่ตัดรอน | จะผูกกรตียับให้อับอาย |
เขาร้องฟ้องมากมายเป็นหลายเรื่อง | จนขุ่นเคืองถึงข้างในไม่รู้หาย |
ไม่รักยศสงวนศักดิรักษากาย | ทำแต่ขายภักตราน่ารำคาญ |
ในวัดนี้แล้วมิหนำซ้ำวัดโน้น | ให้เขาโพนทนาเที่ยวว่าขาน |
ล้วนข้อขำระยำยับอัประมาณ | เหมือนประจานปวดเจ็บเหน็บสกนธ์ |
เมื่อความวัวยังไม่หายความควายเพิ่ม | ความต่อเติมความขุ่นวุ่นหลายหน |
จะภาคทัณฑ์ไว้สักครั้งระวังตน | เอาทานบนมิให้เล่นเช่นนั้น เอย ฯ |