คำนำ

คุณหญิง จำเริญ พิจารณาปฤชามาตย์ ผู้เปนเจ้าภาพงานศพ มหาอำมาตย์โท พระยาพิจารณาปฤชามาตย์ มานวธรรมศาสตร์สุปฤชา (สุหร่าย วัชราภัย) มาแจ้งความยังราชบัณฑิตสภาว่าปรารถนาจะพิมพ์หนังสือสำหรับแจกเมื่องานพระราชทานเพลิงศพสามี ขอให้ราชบัณฑิตยสภาช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้ พระยาพิจารณา ฯ เปนมิตรเก่าของข้าพเจ้าคนหนึ่ง ชอบกันมาตั้งแต่ยังเปนมหาดเล็กวิเศษในรัชชกาลที่ ๕ จนตลอดอายุ ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีด้วยได้มีโอกาสช่วยทำงานศพให้บ้างเล็กน้อย เสียดายอยู่หน่อยที่งานศพประจวบเวลาข้าพเจ้ามีกิจธุระอย่างอื่น ไม่สามารถจะแต่งหนังสือซึ่งเดิมได้จำนงสำหรับจะพิมพ์ในงานศพพระยาพิจารณาฯ ให้สำเร็จทันงานได้ จึงได้เลือกหนังสือเรื่องจดหมายเหตุของมองซิเออร์เซเบเรต์ราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้คุณหญิงจำเริญพิมพ์ตามประสงค์

อันหนังสือจดหมายเหตุเรื่องฝรั่งเศสซึ่งมีการติดต่อกับไทยนั้นมีมากมาย เริ่มแต่แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชลงมาจนตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร เปนหนังสือสัญญาบ้าง รายการบ้าง รายงานบ้าง คำสั่งบ้าง จดหมายบ้าง เก็บรวบรวมอยู่ในกระทรวงว่าการเมืองขึ้นของฝรั่งเศสก็มี ในกระทรวงต่างประเทศก็มี ในหอสมุดสำหรับเมืองก็มี ศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ เลขานุการราชบัณฑิตยสภา ได้ขอคัดสำเนามาไว้ในหอพระสมุด ฯ คราวออกไปเยี่ยมบ้านเรือนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ ราชบัณฑิตสภาเห็นเปนจดหมายเหตุที่ให้ความรู้ทางพงศาวดารอันเกี่ยวกับต่างประเทศเปนอย่างดี จึงได้จัดให้แปลขึ้นไว้เปนหนังสือสำรองพิมพ์เปนพวก ๆ เช่นจดหมายเหตุของพวกบาดหลวงฝรั่งเศสและของพวกพ่อค้าฝรั่งเศส รวมเรียกว่าประชุมพงศาดาร มีผู้ขออนุญาตพิมพ์ไปแล้วเปนลำดับ

เรื่องจดหมายของมองซิเออร์เซเบเรต์ ซึ่งเปนเอกอัครราชทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับกรุงสยามครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนี้มี ๓ ตอน มีผู้รับพิมพ์ไปแล้ว ๒ ตอน คือ ตอนมาถึงกรุงศรีอยุธยากับตอนจัดการกับไทย ตอนที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้เปนตอนที่สุดท้าย หมดเรื่องเพียงราชทูตฝรั่งเศสกลับไปกรุงปารีส ราชบัณฑิตยสภาขอขอบคุณท่านทั้งหลายที่ได้รับพิมพ์ตอนอื่น ๆ มา กับทั้งคุณหญิงจำเริญ พิจารณาปฤชามาตย์ ซึ่งได้รับพิมพ์ตอนท้าย เปนการเพิ่มให้สำเร็จการพิมพ์หนังสือนี้ตลอดเรื่อง ต่อนี้ไปจะได้กล่าวถึงประวัติพระยาพิจารณาปฤชามาตย์ ตามที่ข้าพเจ้าทราบ ประกอบกับที่เจ้าภาพจดมาให้โดยสังเขป

ประวัติพระยาพิจารณาปฤชามาตย์

มหาอำมาตย์ โท พระยาพิจารณาปฤชามาตย์ มานวธรรมศาสตร์ สุปฤชา (สุหร่าย วัชราภัย) ป.ม. ท.จ.ว. ท.ช. องคมนตรี เกิดในรัชชกาลที่ ๕ เมื่อวันศุกร์ ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๑๒ ที่บ้านเดิมริมถนนสีลม ในจังหวัดพระนคร

พระยาพิจารณาฯ เปนบุตร์หลวงอุปการโกษากร (เวท วัชราภัย) มารดาชื่อปั้น เปนสมาชิกในสกุลสูงศักดิ์ทั้งบิดาและมารดา นับทางฝ่ายบิดาพระยาพิจารณาฯ เปนเหลนเจ้าพระยาพลเทพ (หลง) ในรัชชกาลที่ ๔ นับทางฝ่ายมารดา พระยาพิจารณาฯเปนหลานเจ้าพระยาวิเชียรคิรี (เม่น) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลามาแต่ในรัชชกาลที่ ๔ จนถึงรัชชกาลที่ ๕ ด้วยเหตุนี้พระยาพิจารณาฯ จึงมีเครือญาติกว้างขวาง จนถึงเจ้านายมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เปนต้น และกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ก็ทรงนับว่าเปนพระญาติ ทางข้างฝ่ายมารดาก็เปนญาติเกี่ยวเนื่องกับพวกสกุลณสงขลาทั่วไป ควรนับว่าพระยาพิจารณาฯกอปด้วยชาติวุฑฒิเปนเบื้องต้น

ส่วนคุณวุฑฒิอันจำต้องเสาะแสวงเองนั้น พระยาพิจารณา ฯ อยู่ในรุ่นหลังของบุคคลจำพวกหนึ่ง ซึ่งเปนคนอาภัพแต่มีโอกาสพิเศษประกอบกัน บุคคลจำพวกนี้มีทั้งในราชสกุลและในสกุลขุนนาง ที่ว่าเปนคนอาภัพด้วยเกิดในสมัยบ้านเมืองเริ่มต้องการวิชชาความรู้ของชาวทวีปตะวันตก แต่ยังไม่ถึงสมัยเมื่อมีโอกาสอาจไปศึกษาวิชชาการได้ถึงต่างประเทศโดยสะดวก การศึกษาในประเทศ ของตนเองก็ยังฝึกสอนบกพร่องกว่าทุกวันนี้อยู่เปนอันมาก บุคคลจำพวกที่กล่าวมาได้วิชชาความรู้จากศึกษาสถานไม่เท่าใดนัก ต้องอาศัยพยายามศึกษาหาความรู้เอาเองเปนพื้น ผู้ใดไม่อุตสาหะพากเพียรก็มักตกอยู่ในฐานะเช่นว่า “อย่างเก่าก็ไม่ได้ อย่างใหม่ก็ไม่ดี” ดังนี้ ที่ว่ามีโอกาสพิเศษประกอบนั้น คือสมัยนั้นเปนเวลารัฐบาลเริ่มจัดการต่าง ๆ หันหาวิธีทวีปตะวันตก กำลังต้องการตัวคนที่ได้ศึกษาอบรมพอแก่การ แม้เพียงเหมาะแก่สมัยนั้นเปนอันมาก ผู้ที่ได้เล่าเรียนสำเร็จในศึกษาสถานมักหาตำแหน่งรับราชการได้ง่าย แต่ว่าผู้ที่ได้เลื่อนยศและตำแหน่งขึ้นถึงชั้นสูงในสมัยต่อมานั้น อาจกล่าวได้ว่าล้วนเปนผู้ซึ่งพยายามศึกษาหาความรู้เอาเองต่อมาในเวลาเมื่อเข้ารับราชการแล้วทั้งนั้น

พระยาพิจารณา ฯ ได้เริ่มศึกษาที่โรงเรียนหลวง ณ สวนนันทอุทยานตั้งแต่อายุได้ ๙ ขวบ เรียนภาษาไทยตลอดหลักสูตรซึ่งสอนในสมัยนั้น ภาษาอังกฤษก็ได้เรียน แต่จะรู้เพียงใดข้าพเจ้าหาทราบไม่ เมื่ออายุสมควรได้ถวายตัวเปนมหาดเล็กวิเศษตามประเพณีที่เปนบุตร์ข้าราชการตระกูลสูง แล้วเข้าเรียนภาษาบาลีในมหามกุฎราชวิทยาลัย จนอุปสมบทเปนพระภิกษุในสำนักสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ณวัดบวรนิเวศวิหาร สอบวิชชาที่ได้เรียนในมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ปริญญาชั้นนักเรียนตรีพิเศษ เมื่อลาสิกขาแล้วได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนที่นายรองเล่ห์อาวุธมหาดเล็ก โปรด ฯ ให้ไปมีตำแหน่งราชการในกระทรวงพระคลัง ฯ ชั่วคราว ในระวางนั้นทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเปนนายเสนองานประพาสหุ้มแพร เมื่อ พ,ศ, ๒๔๓๖ แล้วกลับไปรับราชการในกรมมหาดเล็กตามเดิม ต่อนั้นมาไม่ช้าเมื่อกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิเปนเสนาบดีกระทรวงยุตติธรรม ทรงเริ่มจัดการสอนกฏหมาย ก็ได้โอกาสเข้าศึกษาวิชชากฎหมายในนักเรียนจำพวกแรก มาจนสามารถสอบวิชชากฎหมายได้เปนเนติบัณฑิตสยาม เมื่อ พ,ศ, ๒๔๔๑ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิจึงกราบบังคมทูล ฯ ขอไปรับราชการในกระทรวงยุตติธรรม ได้เปนตำแหน่งเลขานุการของเสนาบดีเปนตำแหน่งแรก แล้วรับราชการในกระทรวงยุตติธรรมต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งและยศบรรดาศักดิ์สูงขึ้นโดยลำดับ จนได้เปนมหาอำมาตย์โท พระยาพิจารณาปฤชามาตย์ มานวธรรมศาสตร์สุปฤชา ตำแหน่งกรรมการศาลฎีกา แล้วออกจากราชการด้วยแก่ชรา ได้พระราชทานเบี้ยบำนาญจนตลอดอายุ

ตำแหน่งต่าง ๆ กับทั้งบรรดาศักดิ์ซึ่งพระยาพิจารณา ฯ ได้เปนเมื่อภายหลังเปนตำแหน่งเลขานุการของเสนาบดีกระทรวงยุตติธรรม และได้เลื่อนขึ้นโดยลำดับตามวัยวุฑฒินั้น พรรณนาแต่โดยย่อคือ

พ,ศ, ๒๔๔๒ เปนปลัดกรมอัยการอยู่ ๒ เดือน แล้วไปเปนอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลภูเก็ต

พ,ศ, ๒๔๔๓ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เปน พระสิริศาสตรประสิทธิ

พ,ศ, ๒๔๔๕ ได้เปนอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลอยุธยา

พ,ศ, ๒๔๔๙ เปนผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษ

พ,ศ, ๒๔๕๒ เปนผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์กรุงเทพ ฯ

พ,ศ, ๒๔๕๔ ได้รับพระราชทานยศเปนมหาอำมาตย์ตรี

พ,ศ, ๒๔๕๕ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เปนพระยาพิจารณาปฤชามาตย์ มานวธรรมศาสตรสุปฤชา

พ,ศ, ๒๔๖๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปนองคมนตรี และไปเปนกรรมการศาลฎีกาชั่วคราว แล้วเปนตัวกรรมการในศกนั้น

พ,ศ, ๒๕๖๗ เลื่อนยศเปน มหาอำมาตย์โท

ตำแหน่งพิเศษ

๑) เปนกรรมการสอบไล่วิชชานักเรียนกฎหมายแทบทุกคราว

๒) เปนกรรมการเนติบัณฑิตยสภา

๓) เปนมรรคนายกวัดสุทธิวราราม และเปนผู้อุปการะ โรงเรียนแห่งวัดนั้นด้วย

๔) เปนสมาชิกกิตติมศักดิ์แห่งสภากาชาดสยาม

เกียรติคุณของพระยาพิจารณา ฯ ซึ่งปรากฎแก่คนทั้งหลาย และสมควรยกย่องในส่วนปัญญาวุฑฒินั้นพรรณนาแต่โดยย่อก็คือ

๑) ได้เรียบเรียงหนังสือกฎหมายขึ้นใช้เปนบทเรียนของผู้ศึกษาวิชชากฎหมายและทนายความ คือหนังสือลักษณะผัวเมียและลักษณมรดก พ,ศ, ๒๔๖๑ หนังสือกฎหมายลักษณที่ดินเล่ม ๑ พ,ศ, ๒๔๖๒

๒) เปนอาจารย์สอนวิชชากฎหมายแก่นักเรียน ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนของกระทรวงยุตติธรรม จนมีผู้ที่เปนศิษย์สอบไล่ได้เปนเนติบัณฑิตไปแล้วก็มาก

ในส่วนอัธยาศัย เมื่อได้คุ้นเคยสมาคมกับผู้ใดไม่ว่าจะเปนชั้นบรรดาศักดิ์สูงหรือต่ำ ย่อมมีจรรยาอันสุภาพอ่อนโยนไม่ถือยศถือศักดิ์ จึงเปนที่ชอบพอรักใคร่ของผู้ที่ได้คุ้นเคยแทบทั่วไป และถ้าจะกล่าวว่าพระยาพิจารณา ฯ เปนผู้มีมิตรสหายหรือผู้ที่ชอบพอรักใคร่กว้างขวางอย่างยิ่งคนหนึ่งก็เห็นจะไม่ผิดห่างไกลนัก

พระยาพิจารณา ฯ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณต่าง ๆ เปนบำเหน็จความชอบและเปนเครื่องประกอบฐานันดรเปนลำดับมาดังนี้

เหรียญ

พ,ศ, ๒๔๓๕ เหรียญรัษฎาภิเษก

พ,ศ, ๒๔๔๐ เหรียญประพาสยุโรป

พ,ศ, ๒๔๕๐ เหรียญรัชชมงคล

พ,ศ, ๒๔๕๑ เหรียญรัชชมังคลาภิเษก

พ,ศ, ๒๔๕๔ เหรียญบรมราชาภิเษกรัชชกาลที่ ๖

พ,ศ, ๒๔๖๒ เหรียญจักรพรรดิมาลา

พ,ศ, ๒๔๖๖ เหรียญราชาภิเษก

พ,ศ, ๒๔๖๘ เหรียญบรมราชาภิเษกทองรัชชกาลที่ ๗

ตรา

พ,ศ, ๒๔๓๕ เบญจมาภรณมงกุฎ ชั้นที่ ๕

พ,ศ, ๒๔๓๖ เบญจมาภรณช้างเผือก ชั้นที่ ๕

พ,ศ, ๒๔๕๑ เลื่อนขึ้นรับจัตุรถาภรณมงกุฏ ชั้นที่ ๔

พ,ศ, ๒๔๕๓ เลื่อนขึ้นรับจัตุรถาภรณช้างเผือก ชั้นที่ ๔

พ,ศ, ๒๔๕๗ เลื่อนขึ้นรับตรีตาภรณมงกุฎ ชั้นที่ ๓

พ,ศ, ๒๔๕๘ เลื่อนขึ้นรับตรีตาภรณช้างเผือก ชั้นที่ ๓

พ,ศ, ๒๔๕๙ ทุติยจุลจอมเกล้าและพานทอง

พ,ศ, ๒๔๖๑ เลื่อนขึ้นรับทวีติยาภรณมงกุฏ ชั้นที่ ๒

พ,ศ, ๒๔๖๓ เลื่อนขึ้นรับทวีติยาภรณช้างเผือก ชั้นที่ ๒

พ,ศ, ๒๔๖๕ เลื่อนขึ้นรับประถมาภรณมงกุฏ ชั้นที่ ๑

พ,ศ, ๒๔๖๗ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ

พระยาพิจารณาปฤชามาตย์ ป่วยเปนโรคลำไส้พิการเรื้อรังมาช้านานจนถึงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ,ศ, ๒๔๗๐ เวลา ๒๐ นาฬิกา (๘ ล.ท.) ถึงอนิจกรรมที่บ้านถนนสีลม จังหวัดพระนคร คำนวณอายุได้ ๕๘ ปี ได้รับพระราชทานน้ำอาบศพของหลวง มีประโคมกลองชนะเขียว ๑๐ จ่าปี่ ๑ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานโกศประกอบศพตั้งบนชั้นประดับกระจก ๒ ชั้น มีฉัตรเบญจาตั้ง ๔ เปนเกียรติยศ

บุตร และธิดา

ที่เกิดแต่ อบ ภรรยา

๑, ธิดาชื่อ ถนอม เปนภรรยานายขวัญ จารุรัตน์ เจ้าของโรงพิมพ์พิศาลบรรณนิติ์

๒, ธิดาชื่อ เพิ่ม เปนคุณหญิงดำรงแพทยาคุณ (ชื่น พุทธิ แพทย์) จ,จ,

ที่เกิดแต่ นาค ภรรยา

๓, ธิดาชื่อ ระรวย เปนหม่อมห้ามในหม่อมเจ้าสมบูรณศักดิ์

ที่เกิดแต่ จำรัส ภรรยา

๔, ธิดาชื่อ เกษม เปนภรรยาหลวงสารนัยประสาสน์ (ธัญญา ณสงขลา)

๕, บุตรชื่อ กระแสร์ เปนเนติบัณฑิตสยาม เวลานี้ฝึกหัดราชการในกรมร่างกฎหมาย

ที่เกิดแต่ คุณหญิง จำเริญ พิจารณาปฤชามาตย์

๖, บุตรชื่อ ประพันธ์ เวลานี้ศึกษาวิชชาอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๗, ธิดาชื่อ ประไพ เปนภรรยาหลวงติรณสารวิศวกรรม (ตี๋ ศรีสุข)

๘, ธิดาชื่อ ประพา

๙, บุตรชื่อ ประพัทธ์ เวลานี้ศึกษาวิชชาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส

๑๐, ธิดาชื่อ ประพิทธิ

๑๑, บุตรชื่อ ประภาศ วายชนม์เมื่ออายุ ๑๕ ปี ภายหลังบิดาถึงอนิจกรรม

๑๒, บุตรชื่อ ประพจน์

๑๓, บุตรชื่อ ประพนธ์

๑๔, บุตรชื่อ ประพงศ

สิ้นประวัติพระยาพิจารณาปฤชามาตย์ เพียงเท่านี้

กรรมการราชบัณฑิตยสภาขออนุโมทนาในกุศลบุญราศีทักษิณานุปทาน ซึ่งคุณหญิงจำเริญ พิจารณาปฤชามาตย์ได้บำเพ็ญเปนปัตติทานมัย ด้วยความกตัญญูกตเวที ขอผลแห่งกุศลนี้จงสำเร็จเปนอุปถัมภกปัจจัยอำนวยผลสุขสวัสดิ์แก่ผู้มรณะ สมควรแก่คติอุปบัตินั้น ๆ เทอญ

วันที่ ๒๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๑

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นายกราชบัณฑิตยสภา

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ