อธิบายเรื่องพระบาท

การที่นับถือรอยพระพุทธบาทเปนเจดียสถาน ดูเหมือนมูลเหตุจะเกิดขึ้นแต่ ๒ คติต่างกัน เปนคติของชาวมัชฌิมประเทศอย่าง ๑ เปนคติของชาวลังกาทวีปอย่าง ๑ คติของชาวมัชฌิมประเทศนั้น เดิมถือกันตั้งแต่ก่อนพุทธกาลว่าไม่ควรสร้างรูปเทวดาฤๅมนุษย์ขึ้นไว้เส้นสรวงสักการบูชา แลคตินั้นถือกันมาจนพุทธกาลล่วงหลายร้อยปีจึงได้เลิก เพราะฉนั้นพระเจดีย์ที่พวกพระพุทธสาสนิกชนสร้างเมื่อก่อน พ.ศ. ๕๐๐ จึงทำแต่พระสถูปฤๅวัดถุต่าง ๆ เปนเครื่องหมายสำหรับบูชาแทนองค์พระพุทธเจ้า รอยพระพุทธบาทเปนวัดถุอย่าง ๑ ซึ่งชอบทำกันในสมัยนั้น ทำเปนรอยพระพุทธบาททั้งซ้ายขวาบ้าง ทำเปนรอยพระพุทธบาทแต่เบื้องขวาบ้าง แต่ฝ่ายพวกที่ถือสาสนาพราหมณ์นั้น ชอบอ้างภูเขาฤๅสิ่งอื่นที่เปนเอง แต่รูปสัณฐานแปลกปลาด ว่าพระผู้เปนเจ้าได้บันดาลให้เปน โดยมีเรื่องตำนานอย่างนั้น ๆ เช่นที่เมืองคยามีที่ตำบลหนึ่งไม่ห่างจากตำบลพุทธคยาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นัก เรียกว่าตำบลคยาศิระ บนเนินเขาตรงนั้นเปนศิลาดำคล้ายรูปคนนอน แลบนศิลานั้นมีรอยเหมือนรอยเท้าคนอยู่รอย ๑ เขาอธิบายเรื่องตำนานว่า เดิมมียักษ์ร้ายตนหนึ่ง พระวิษณุเทพเจ้าเสด็จลงมาปราบ เมื่อจะฆ่ายักษ์นั้นทรงเหยียบตัวไว้แล้วตัดศีร์ษะเสีย แล้วบันดาลให้ตัวยักษ์แลรอยพระบาทกลายเปนศิลาปรากฎอยู่ รอยนั้นเรียกกันว่า “วิษณุบาท” นับถือเปนที่ศักดิ์สิทธิ์มีคนไปบูชาเนืองนิจจนบัดนี้ ที่ว่ามาเปนส่วนคติที่ถือกันในมัชฌิมประเทศ แม้ในพระบาลีก็หามีปรากฎอ้างว่าพระพุทธองค์ได้ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทประดิษฐานไว้ณที่แห่งหนึ่งแห่งใดไม่

ส่วนคติที่ถือกันในลังกาทวีปนั้น เปนการเกิดขึ้นชั้นหลัง อ้างว่าพระพุทธองค์ได้ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้ให้เปนที่สาธุชนสักการบูชา ๕ แห่ง คือที่เขาสุวรรณมาลิกแห่ง ๑ ที่เขาสุวรรณบรรพตแห่ง ๑ ที่เขาสุมนะกูฏแห่ง ๑ ที่เหมืองโยนกบุรีแห่ง ๑ ที่หาดในลำน้ำนัมทานทีแห่ง ๑ มีคาถาคำนมัสการแต่งไว้สำหรับสวดท้ายสวดมนต์อย่างเก่าดังนี้

สุวณฺณมาลิเก สุวณฺณปพฺพเต สุมนกูเฏ โยนกปูเร

นมฺมทาย นทิยา ปญฺจปาทวรํ อหํ วนฺทามิ ทูรโตฺ

รอยพระพุทธบาท ๕ รอยที่กล่าวนี้ เดิมชาวเรารู้แห่งแต่รอยที่เขาสุมนะกูฏ (เขาที่อังกฤษเรียกว่าอะดัมสปิก) อันอยู่ในลังกาทวีปแห่งเดียว พวกชาวลังกาอธิบายตำนานมีอยู่ในเรื่องมหาวงศ์ ว่าครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จเหาะไปยังลังกาทวีป ทรงสั่งสอนพวกชาวเกาะนั้นให้เกิดความเลื่อมใสแล้ว จะเสด็จกลับคืนไปยังมัชฌิมประเทศจึงทรงทำปาฏิหารย์ เหยียบรอยพระพุทธบาท (ใหญ่ยาวราวสักวา ๑) ประดิษฐานไว้บนยอดเขา สำหรับให้ชาวลังกาบูชาต่างพระองค์ แต่ฝ่ายพวกทมิฬที่ถือสาสนาพราหมณ์อ้างว่ารอยนั้นเปนรอยวิษณุบาท ต่างพวกต่างบูชาด้วยความเชื่อต่างกันมาจนทุกวันนี้ ส่อให้เห็นว่าน่าจะเปนเพราะพวกลังกาเอาคติของพวกที่ถือพระพุทธสาสนาในมัชฌิมประเทศกับคติของพวกที่ถือสาสนาพราหมณ์มาระคนปนกัน จึงเกิดคติที่อ้างว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้ ฝ่ายพวกที่ถือพระพุทธสาสนาตามลัทธิลังกาวงศ์ เช่นไทยเราแลพม่ามอญ แต่ก่อนมาย่อมเชื่อถือคติตามชาวลังกาก็พากันศรัทธาพยายามไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนะกูฏ จนถึงรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. ๒๑๖๓ - ๒๑๗๑) มีพระภิกษุสงฆ์ไทยพวกหนึ่งออกไปถึงลังกาทวีป จะไปบูชารอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนะกูฏ พระสงฆ์ลังกาถามว่ารอยพระพุทธบาทที่มีอยู่ ๕ รอยนั้น เขาสุวรรณบรรพตก็อยู่ในสยามประเทศ ไทยไม่ไปบูชารอยพระพุทธบาทณที่นั้นดอกฤๅ จึงต้องออกไปบูชาถึงลังกาทวีป พระภิกษุสงฆ์พวกนั้นนำความมาทูลพระเจ้าทรงธรรม จึงโปรดฯ ให้มีตราสั่งหัวเมืองให้เที่ยวตรวจค้นดูตามภูเขาว่าจะมีรอยพระพุทธบาทอยู่ณที่แห่งใดฤๅไม่ ครั้งนั้นผู้ว่าราชการเมืองสระบุรีสืบได้ความจากพรานบุณ ว่าครั้งหนึ่งไปไล่เนื้อในป่าที่ริมเชิงเขา ยิงถูกเนื้อเจ็บลำบากหนีขึ้นบนไหล่เขาเข้าเซิงไม้ไป พอบัดเดี๋ยวเห็นเนื้อตัวนั้นวิ่งออกจากเซิงไม้ไปเปนปรกติดังเก่า พรานบุณนึกหลากใจจึงขึ้นไปดูบนไหล่เขานั้น เห็นมีรอยอยู่ในศิลาเหมือนรูปเท้าคนขนาดยาวสักศอกเศษแลมีน้ำขังอยู่ในนั้น ก็สำคัญว่าเนื้อคงหายบาดแผลเพราะกินน้ำนั้น จึงตักเอามาลองทาตัวดู กลากเกลื้อนที่เปนอยู่ช้านานก็หายหมด ผู้ว่าราชการเมืองสระบุรีไปตรวจเห็นรอยมีจริงดังพรานบุณว่า จึงบอกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าทรงธรรมเสด็จออกไปทอดพระเนตรทรงพระราชดำริห์ว่า คงเปนรอยพระพุทธบาทตรงตามที่ลังกาบอกมาเปนแน่แท้ ก็ทรงพระโสมนัสศรัทธาด้วยเห็นว่าเปนบริโภคเจดีย์เนื่องชิดติดต่อถึงพระพุทธองค์ ประเสริฐกว่าอุเทสิกเจดีย์เช่นพระพุทธรูปแลพระสถูปเจดีย์ซึ่งเปนของสร้างขึ้นโดยสมมต จึงโปรดฯ ให้สร้างเปนมหาเจดียสถาน มีพระมณฑปสวมรอยพระพุทธบาท แลสังฆารามที่พระภิกษุสงฆ์อยู่บริบาล แลสร้างบริเวณพระราชนิเวศน์ที่เชิงเขาพระพุทธบาทแห่ง ๑ ที่ท่าเจ้าสนุกริมลำน้ำแห่ง ๑ สำหรับประทับเวลาเสด็จไปบูชา แล้วโปรดฯ ให้ช่างฝรั่ง (ฮอลันดา) ส่องกล้องทำถนนแต่ท่าเรือขึ้นไปจนเขาสุวรรณบรรพต เพื่อให้เปนทางมหาชนไปมาได้โดยสดวก แลทรงพระราชอุทิศที่โยชน์ ๑ โดยรอบรอยพระพุทธบาทถวายเปนพุทธบูชากัลปนาผลซึ่งได้เปนส่วนของหลวงในที่นั้น สำหรับใช้จ่ายในการรักษามหาเจดียสถานที่พระพุทธบาท แลโปรดฯ ให้บรรดาชายฉกรรจ์อันตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเขตรที่ทรงพระราชอุทิศนั้นพ้นจากน่าที่ราชการอื่น จัดให้เปนพวกขุนโขลนข้าพระปฏิบัติรักษาพระพุทธบาทแต่อย่างเดียว ที่บริเวณซึ่งทรงพระราชอุทิศนั้นก็ได้นามว่า เมืองปรันตปะ เรียกกันเปนสามัญว่าเมืองพระพุทธบาท แลเกิดเทศกาลมหาชนขึ้นไปบูชาพระพุทธบาทกลางเดือน ๓ ครั้ง ๑ กลางเดือน ๔ ครั้ง ๑ แต่นั้นมา

แท้จริงรอยพระพุทธบาทอันเปนที่มหาชนบูชาในประเทศนี้ มีมาก่อนรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมแล้วช้านาน แลมีอยู่หลายแห่ง ทำเปนรอยพระพุทธบาทขนาดต่างกัน ๔ รอย อุทิศต่อพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ เช่นที่เขาในแขวงนครเชียงใหม่ก็มี ทำเปนรอยพระบาททั้งซ้ายขวา เช่นศิลาแผ่นใหญ่ซึ่งเดิมอยู่ในเมืองไชยนาทเดี๋ยวนี้อยู่ในวัดบวรนิเวศ แลที่เรียกว่า “พระยืน” อยู่ในมณฑปใกล้พระแท่นศิลาอาสน์ก็มี ทำแต่รอยพระพุทธบาทขวาข้างเดียวนั้นมีมาก จะกล่าวถึงแต่แห่งสำคัญ คือที่พระเจ้าธรรมราชาลิไทยกระษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงทรงสร้างไว้บนเขานางทองในแขวงจังหวัดกำแพงเพ็ชร มีอักษรจารึกเปนรอยสำคัญรอยหนึ่ง อิกรอยหนึ่งจะเปนผู้ใดสร้างหาปรากฎไม่ เดี๋ยวนี้อยู่ที่วัดพระรูปตรงศาลากลาง จังหวัดสุพรรณบุรีข้าม พระบาทรอยนี้จำหลักบนแผ่นกระดานไม้แก่น ด้านหลังจำหลักรูปภาพเรื่องมารวิชัย แต่ตรงที่พระพุทธรูปทำเปนแต่พระพุทธอาสน์ หาทำพระพุทธรูปไม่ เปนเค้าเงื่อนข้อสำคัญแสดงว่ารอยพระพุทธบาทที่สร้างขึ้นในประเทศนี้ ชั้นเดิมถือตามคติชาวมัธยมประเทศ คือสร้างขึ้นเปนวัดถุที่บูชาแทนพระพุทธรูป มิได้อ้างว่าพระพุทธองค์ได้ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้ เพราะฉนั้นการที่พบรอยพระพุทธบาทณที่เขาสุวรรณบรรพตเมื่อรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม จึงเปนมูลเหตุให้คนทั้งหลายโดยมากเกิดเลื่อมใสศรัทธาโดยเชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาถึงประเทศนี้ ต่อมาก็เกิดเจดียสถานที่เชื่อถือกันว่าเปนพุทธบริโภคขึ้นอิกหลายแห่ง คือพระพุทธฉายแลพระแท่นดงรังเปนต้น แต่มหาชนเลื่อมใสศรัทธาที่พระพุทธบาท ยิ่งกว่าเจดียสถานแห่งอื่น ๆ ทั้งนั้น แม้พระเจ้าแผ่นดินซึ่งได้เสวยราชย์ณกรุงศรีอยุธยาต่อรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมมา ก็เสด็จไปทรงสักการบูชาแลสมโภชเปนนิจ บางพระองค์ก็ทรงปฏิสังขรณ์แลสถาปนาวัดถุสถานเพิ่มเติม มีปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๗๓ - ๒๑๙๘) โปรดฯ ให้แต่งธารทองแดงเปนที่ประพาศ แลสร้างพระตำหนักที่ประทับเวลาเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทขึ้นที่ธารทองแดงนั้น ขนานนามว่าพระตำหนักธารเกษมแห่ง ๑ ตกแต่งพระตำหนักที่ท่าเจ้าสนุก (แปลเปนเครื่องก่ออิฐถือปูน) แห่ง ๑ แลให้ขุดบ่อน้ำทำศาลารายตามริมถนนหลวง ทางขึ้นพระบาทสำหรับให้มหาชนไปมาได้อาศรัยทุกระยะ แลยังมีของโบราณซึ่งปรากฎอยู่ในบริเวณพระพุทธบาท มีเค้าเงื่อนว่าจะเปนของสร้างครั้งพระเจ้าปราสาททอง แต่มิได้ลงในหนังสือพระราชพงศาวดารก็อิกหลายสิ่ง คือพระวิหารหลวง แลกำแพงแก้วทำด้วยเครื่องศิลาอ่อน รอบชั้นทักษิณพระพุทธบาทเปนต้น ถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายน์มหาราช (พ.ศ. ๒๓๙๙) ปรากฎว่าโปรด ฯ ให้สร้างถนนเปนทางเสด็จพระราชดำเนินตั้งแต่เมืองลพบุรีไปจนถึงเขาสุวรรณบรรพตสาย ๑ ให้สร้างอ่างแก้วแลก่อกำแพงกันน้ำตามไหล่เขาชักน้ำฝนให้ไหลไปลงอ่างแก้วขังน้ำไว้ให้มหาชนบริโภคอย่าง ๑ ในรัชกาลสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ พ.ศ. ๒๒๔๖ - ๒๒๕๑) ปรากฎว่าทรงปฏิสังขรณ์พระมณฑป (พระมณฑปซึ่งสร้างครั้งพระเจ้าทรงธรรมทำเปนยอดเดียว สร้างมาได้ ๓๐ ปี เศษเห็นจะชำรุดซุดโซม) โปรด ฯ ให้เปลี่ยนเครื่องบนแปลงเปนพระมณฑป ๕ ยอด สิ่งอื่นทำนองก็จะปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม เพราะความกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าครั้งนั้นสมเด็จพระสังฆราช (ชื่อแตงโม เปนชาวเมืองเพ็ชรบุรี ที่เปนผู้สร้างวัดใหญ่ณเมืองเพ็ชรบุรีนั้น) ขึ้นไปช่วยปฏิสังขรณ์ จึงทรงมอบงานทั้งปวงให้สมเด็จพระสังฆราชเปนผู้อำนวยการดังนี้ แต่การปฏิสังขรณ์พระมณฑปครั้งนั้นค้างอยู่ถึงรัชกาลสมเด็จพระภูมินทราธิบดี (พระเจ้าท้ายสระ พ.ศ. ๒๒๕๑ – ๒๒๗๕) ทรงปฏิสังขรณ์ต่อมา ให้เอากระจกเงาแผ่นใหญ่ประดับฝาผนังข้างในพระมณฑป แลปั้นลายปิดทองประกอบตามแนวที่ต่อกระจก ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวความดังนี้ (เรื่องฝามณฑปพระพุทธบาทนี้ เมื่อพระมงคลทิพมุนี มุ่ย วัดจักรวรรดิราชาวาส เปนเจ้าน่าที่รักษาพระพุทธบาท ซ่อมฝาผนังข้างในพระมณฑปในรัชกาลปัจจุบันนี้ ได้กระเทาะปูนที่โบกฝาผนังออกโบกใหม่ เห็นอิฐที่ก่อผนังเดิมก่อเปนโค้ง แลมีรอยก่ออิฐอุดโค้งนั้นเสียทุกด้าน ข้อนี้น่าสันนิษฐานว่าพระมณฑปที่สร้างครั้งพระเจ้าทรงธรรมเห็นจะเปนมณฑปโถง จะมาก่อแปลงเปนโค้งเมื่อครั้งทำเครื่องบนใหม่ในรัชกาลพระเจ้าเสือ แลมาก่ออุดเปนฝาขึ้นเมื่อครั้งพระเจ้าท้ายสระทรงปฏิสังขรณ์ต่อมา จึงให้ประดับด้วยกระจกเงา) ในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๒ (พระเจ้าบรมโกษฐ์ พ.ศ. ๒๒๗๕ – ๒๓๐๑) ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวแต่ว่าทรงพระราชศรัทธาเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาททุกปี แลว่าครั้งหนึ่งจำเริญงาช้างต้นพระบรมจักรพาฬถึงไส้งา เกรงช้างจะเปนอันตราย จึงโปรดฯ ให้ทำเครื่องสดผูกช้างนั้นปล่อยถวายเปนพุทธบูชาที่พระพุทธบาทดังนี้ แต่สถานที่ต่าง ๆ ที่มีอยู่ณพระพุทธบาทส่อให้เห็นว่าจะได้ปฏิสังขรณ์ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ์อีกครั้งหนึ่ง มีสิ่งที่สร้างใหม่เล่ากันมาเปนแน่นั้น คือบานประตูพระมณฑปว่าสร้างเปนบานประดับมุกในครั้งรัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ์ทั้ง ๘ บาน ความที่แต่งพรรณาในฉันทบุณโณวาทที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ก็พรรณาสิ่งซึ่งมีอยู่ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ์ทั้งนั้น

ถึงรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ (พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร พ.ศ. ๒๓๐๑ – ๒๓๑๐) เมื่อพม่าเข้ามาตั้งล้อมกรุง ฯ ในปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ เดิมพวกจีนที่อยู่ในกรุง ฯ อาสาต่อสู้ข้าศึก จึงจัดให้กองจีนตั้งค่ายอยู่ณตำบลคลองสวนพลู ต่อมาจีนพวกนั้นคบคิดกันประมาณ ๓๐๐ คน คุมกันขึ้นไปยังพระพุทธบาท ไปเลิกทองคำที่หุ้มพระมณฑปน้อยอันทรงรอยพระพุทธบาทแลแผ่นเงินที่ปูลาดพื้นพระมณฑป เอามาเปนอาณาประโยชน์แล้วเลยเผาพระมณฑปเสียเพื่อจะให้ความสูญ พระมณฑปพระพุทธบาทก็เปนอันตรายยับเยิน ถึงครั้งกรุงธนบุรีเปนราชธานีติดการศึก ก็ไม่มีเวลาที่จะได้สร้างพระมณฑปพระพุทธบาทให้คืนดีดังแต่ก่อน มาจนถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรด ฯ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จขึ้นทรงอำนวยการปฏิสังขรณ์พระมณฑปพระพุทธบาทเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐ ให้พระยาราชสงครามเปนนายช่างปรุงเครื่องบนพระมณฑปขนขึ้นไปจากกรุงเทพ ฯ ครั้งนั้นกรมพระราชวังบวร ฯ ทรงพระราชศรัทธารับแบกตัวลำยองเครื่องบนตัว ๑ ทรงพระราชดำเนินตั้งแต่ท่าเรือขึ้นไปจนถึงพระพุทธบาทให้เปนเยี่ยงอย่างแก่ข้าราชการทั้งนายไพร่ที่ขึ้นไปทำการปฏิสังขรณ์ครั้งนั้น บานมุก ๘ บานพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็โปรด ฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ตามแบบอย่างที่พระเจ้าบรมโกษฐ์ได้ทรงสร้างไว้ยังปรากฎอยู่จนบัดนี้ แต่ฝาผนังข้างใน (พระมงคลทิพมุนี ว่าเมื่อกระเทาะปูนฝาผนังออก เห็นรอยถือปูนผนังเปน ๓ ชั้น ชั้นแรกถือปูนแล้วทาสีแดง ชั้นที่ ๒ ปิดทองทึบ ชั้นที่ ๓ เขียนลายทอง เขียนลายทองนั้นทราบได้แน่ว่าเขียนในรัชกาลที่ ๕ เนื่องต่อการที่เสด็จไปสักการบูชาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ จึงสันนิษฐานว่าครั้งปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ ๑ เห็นจะเป็นแต่ล่องขาด ไม่ได้คาดแผ่นกระจกเงาดังแต่ก่อนอิกต่อมา นอกจากพระมณฑปสิ่งอื่นที่ชำรุดซุดโซมก็ได้โปรดฯ ให้ซ่อมแซมเมื่อในรัชกาลที่ ๑ ทั่วไป เพราะฉนั้นในรัชกาลที่ ๒ ของที่ทรงบุรณะเมื่อรัชกาลที่ ๑ ยังบริบูรณ์อยู่ จึงไม่ปรากฎว่าได้มีการปฏิสังขรณ์อย่างใดอีก[๑]ในรัชกาลที่ ๓ ปรากฎว่าได้ทรงปฏิสังขรณ์เครื่องพระมณฑปใหญ่ แลมีเหตุไฟเทียนบูชาไหม้ม่าน แล้วเลยไหม้พระมณฑปน้อยที่สวมรอยพระพุทธบาท ต้องทำใหม่ แลบางทีจะปิดทองฝาผนังในคราวนี้ นอกจากนี้หาได้ทรงสร้างสิ่งใดไม่ กล่าวกันว่าเปนเพราะพระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเลื่อมใส ดำรัสว่าพระพุทธเจ้าได้ประทานพระธรรมเทศนา ในหัตถิโทปมสูตร สํยุตตนิกาย มหาวารวรรค (พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์น่า ๕๔) ว่าขนาดรอยเท้าสัตว์ทั้งหลายย่อมอยู่ในรอยเท้าช้างฉันใด เหมือนกับธรรมทั้งหลายก็ย่อมอยู่ในอัปมาทธรรมดั่งนี้ ถ้าพระพุทธองค์ได้ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้จริงไซ้ ก็จะทรงอุปมาว่า รอยเท้าสัตว์ทั้งหลายย่อมอยู่ในรอยเท้าของพระตถาคต เพราะรอยพระพุทธบาทนั้นใหญ่โตกว่า ๒ เท่ารอยเท้าช้าง เล่ากันมาดังนี้ แต่กรมพระราชวังบวร ฯ ในรัชกาลที่ ๓ นั้นทรงเลื่อมใสพระพุทธบาทมาก เมื่อเสด็จกลับจากปราบขบถเวียงจันท์ ทรงอุทิศถวายเครื่องสูงที่แห่เสด็จในการสงครามคราวนั้นไว้เปนพุทธบูชา แลทรงสร้างพระเจดีย์ตามแบบพระธาตุพนมไว้ด้วยองค์ ๑

ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ว่า ถึงข้อจริงเท็จในเรื่องตำนานพระพุทธบาทจะเปนอย่างไรก็ตาม พระพุทธบาทเปนมหาเจดียสถานอันประชาชนเลื่อมใสศรัทธามากมาแต่ในโบราณ แม้เปนอุเทสิกเจดีย์ก็ควรจะทำนุบำรุง จึงทรงบุรณะปฏิสังขรณ์ สิ่งที่ทรงสร้างใหม่ก็มีหลายสิ่ง คือพระมกุฎภัณฑเจดีย์ที่อยู่ใกล้พระมณฑปองค์ ๑ แลโปรด ฯ ให้สร้างเครื่องบนพระมณฑปใหญ่แลสร้างพระมณฑปน้อยเปลี่ยนของซึ่งสร้างครั้งรัชกาลที่ ๓ ให้งดงามมั่นคงกว่าเก่า ทั้งให้เปลี่ยนแผ่นเงินปูพื้นพระมณฑปเปนเสื่อเงิน แลทรงสร้างเทวรูปศิลาที่เขาตกด้วย ในรัชกาลที่ ๔ นั้น พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จขึ้นไปทรงนมัสการพระพุทธบาท แลทรงยกยอดพระมณฑปแลบรรจุพระบรมธาตุที่พระมกุฎภัณฑเจดีย์เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓

ถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท ๔ ครั้ง เสด็จชั้นก่อนมีทางรถไฟเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ ครั้ง ๑ เมื่อปีมแม พ.ศ. ๒๔๒๕ ครั้ง ๑ เมื่อทำรถไฟแล้วเสด็จพระราชดำเนินอิก ๒ ครั้ง ในรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวงแลซ่อมผนังข้างในพระมณฑปให้เขียนเปนลายทอง แลบันไดนาคทางขึ้นไปพระมณฑปนั้นเดิมเปนบันได ๒ สาย โปรดให้สร้างเติมอิกสาย ๑ เปน ๓ สาย แลหล่อศีร์ษะนาคด้วยทองสัมฤทธิที่เชิงบันได เติมของครั้งรัชกาลที่ ๑ ด้วย ต่อมาถึงตอนปลายรัชกาล เครื่องพระมณฑปชำรุดมาก ต้องรื้อของเดิมทำใหม่ทั้งหมด เทวรูปที่เขาตกซึ่งสร้างเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ก็ถูกไฟไหม้หักทำลาย โปรด ฯ ให้หล่อใหม่ ให้พระพุฒาจารย์ (มา) วัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อยังเปนที่พระมงคลทิพมุนี ตำแหน่งผู้รักษาพระพุทธบาท เปนนายงานทำการจนสำเร็จ ยังแต่จะยกพระจุลมงกุฎเหนือพุ่มเข้าบิณฑ์ยอดพระมณฑปสิ้นรัชกาลเสียก่อน ถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นไปยกยอดพระมณฑปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ แล้วโปรด ฯ ให้บุรณะปฏิสังขรณ์พระมณฑปต่อมาจนสำเร็จ เรื่องตำนานพระพุทธบาทมีดังแสดงมา

หนังสือบุณโณวาทคำฉันท์ที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ พระมหานาค บวชอยู่วัดท่าทราย ในพระนครศรีอยุธยาแต่งเมื่อในรัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ์ หนังสือเรื่องนี้นับถือกันมาว่าแต่งดีโดยกระบวรฉันท์อย่าง ๑ พรรณาว่าด้วยลักษณการสมโภชพระพุทธบาท ตามราชประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานีถ้วนถี่ดีด้วยอย่าง ๑ จัดว่าเปนฉันท์ตำราเรื่อง ๑ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี จึงโปรดให้พิมพ์ประทานตอบแทนผู้ถวายน้ำสงกรานต์ประจำ พ.ศ. ๒๔๖๖ นี้

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[๑] ในหนังสือพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ข้าพเจ้าได้กล่าวว่ามณฑปน้อยไฟไหม้ ได้ทรงสร้างใหม่ในรัชกาลที่ ๒ นั้นผิดไป มาได้หลักฐานภายหลังว่าไฟไหม้พระมณฑปน้อยต่อรัชกาลที่ ๓

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ