อธิบายรามเกียรติ์บทละคร
พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ๑
บทละครความนี้เขียนไว้ในสมุดไทยดำ ตัวหนังสือเป็นเส้นทอง สร้างขึ้นด้วยความประณีตบรรจงมาก มี ๔ เล่มสมุดไทย แบ่งเป็นตอนไว้ ดังปรากฏในฉบับพิมพ์นี้ คือ
เล่ม ๑ ตอนพระมงกุฎ
เล่ม ๒ ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานรินจนท้าวมาลีวราชมา
เล่ม ๓ ตอนท้าวมาลีวราชพิพากษาความ จนทศกรรฐ์เข้าเมือง
เล่ม ๔ ตอนทศกรรฐ์ตั้งพิธีทรายกรด, พระลักษมณ์ต้องหอกกบิลพัสตร์ จนผูกผมทศกรรฐ์กับนางมนโท
ถ้าว่าตามลำดับเรื่องแล้ว ตอนพระมงกุฎควรจะอยู่หลังดังได้เคยคัดทำฉบับสำรองพิมพ์ใว้แต่ก่อน แบ่งตอนไว้เป็น ๕ ตอนคือ
(๑) ตอนหนุมานเข้าห้องนางวานริน
(๒) ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ
(๓) ตอนทศกรรฐ์ตั้งพิธีเผารูปเทวดา
(๔) ตอนพระลักษมณ์ถูกหอกกบิลพัสตร์
(๕) ตอนปล่อยม้าอุปการ
แต่ในการพิมพ์คราวนี้ ต้องการจะรักษารูปเดิมตามเล่มสมุดไทย ซึ่งเข้าใจว่าตอนพระมงกุฎนั้น ทรงพระราชนิพนธ์ก่อน เพราะในสมุดจดไว้เป็นเล่ม ๑ และมีข้อความเป็นตอนหนึ่งต่างหาก ไม่ติดต่อกับข้อความในอีก ๓ เล่มสมุด แต่ข้อความใน ๓ เล่มสมุดไทย คือตั้งแต่เล่ม ๒ ถึงเล่ม ๔ มีข้อความติดต่อกัน
เวลาที่ทรงพระราชนิพนธ์
ในบานแผนกมีบอกวันเวลาที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้หน้าต้นทุกเล่มว่า “วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้นค่ำหนึ่ง จุลศักราช ๑๑๓๒ ปีขาลโทศก” ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๑๓ ปีที่ ๓ ในรัชกาล ถ้าจะพลิกอ่านพระราชพงศาวดารในรัชกาลนี้ดู จะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้หนึ่งปี คือในปีฉลู พ.ศ.๒๓๑๒ ได้เสด็จไปราชการทัพเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่ปลายเดือน ๘ เสร็จราชการเมืองนครฯ ในเดือน ๑๒ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาธาตุเมืองนครฯ ให้ราชบัณฑิตจัดหาพระไตรปิฎกบรรทุกเรือเข้ามาจำลองไว้สำหรับพระนคร เสร็จกลับถึงกรุงธนบุรีเมื่อเดือน ๔ ปลายปี พ.ศ. ๒๓๑๒ ทรงจัดการพระศาสนา แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช จ้างช่างจารพระไตรปิฎกเสร็จแล้วจัดการฉลอง มีคำยอพระเกียรติไว้ในพระราชพงศาวดารว่า “จำเดิมแต่นั้นมาพระพุทธศาสนาก็ค่อยวัฒนาการรุ่งเรืองเฟื่องฟูขึ้นเหมือนแต่ก่อน และสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เจริญพระราชกฤดาธิคุณ ไพบูลย์ภิยโยภาพยิ่งขึ้นไป ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็ค่อยมีความผาสุกสนุกสบายบริบูรณ์ คงคืนขึ้นเหมือนเมื่อครั้งกรุงเก่ายังปกติดีอยู่นั้น”
ตามนี้จะเห็นได้ว่า ในการตีได้เมืองนครฯ ให้ผลสำคัญในทางวรรณคดี เช่นทางพุทธศาสนา เราได้พระไตรปิฎกมาไว้สำหรับพระนคร บางทีจะให้ผลสำคัญในวรรณคดีด้านอื่นๆ อีก เช่น นาฏยคดีซึ่งไม่ได้กล่าวในพระราชพงศาวดาร แต่มีกล่าวไว้ในจดหมายเหตุความทรงจำถึงเรื่องเจ้านครฯ กลัวพระเดชานุภาพหนีไปพึ่งเจ้าเมืองจนะหรือเทพา แล้วเจ้าเมืองจับตัวส่งมาว่า “พระฤทธิเทวา เจ้าเมืองรู้ว่ากองทัพยกติดตาม กลัวพระบารมี ส่งตัวเจ้านครกับพวกพ้องพงศ์พันธุ์ ทั้งละครผู้หญิง เครื่องประดับเงินทอง ราชทรัพย์สิ่งของ ส่งมาถวายพร้อม” เข้าใจว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีคงจะได้ตัวละครพร้อมทั้งบทมาจากเมืองนครฯ ในคราวนี้บ้าง เพราะเจ้านครพร้อมด้วยวงศ์วารบ่าวไพร่ก็ได้โปรดให้อพยพเข้ามาอยู่ในกรุงด้วย ซึ่งน่าจะเป็นเหตุให้ทรงสนพระทัยในนาฏยคดีประเภทนี้ จนถึงทรงพระอุตสาหนิพนธ์บทละครรามเกียรติ์ ความที่พิมพ์ในหนังสือนี้ขึ้นดังปรากฏวันเวลาในบานแผนก ภายหลังกลับจากเมืองนครศรีธรรมราชเพียงเดือนเดียว ซึ่งเป็นเวลาว่างจากงานพระราชสงครามในต้นปีนั้น เพราะในเดือน ๖ พ.ศ. ๒๓๑๓ นั้นเอง ก็ได้รับใบบอกกรมการเมืองอุทัยธานี เมืองชัยนาท บอกลงมาให้กราบทูลพระกรุณาเรื่องลามกกรรมของพวกเจ้าพระฝาง ซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือในเวลานั้น ครั้นทรงทราบก็ให้เตรียมงานพระราชสงครามเกณฑ์กองทัพ ถึงเดือน ๘ แรม ๑๐ ค่ำ ก็เคลื่อนทัพหลวงขึ้นไปจากพระนคร เมื่อตีเมืองสวางคบุรี และได้ช้างเผือกจึง “ให้รับละครผู้หญิงขึ้นไปสมโภชพระฝาง ๗ วัน แล้วเสด็จไปเหยียบเมืองพิษณุโลก สมโภชพระชินราช พระชินศรี ๗ วัน มีละครผู้หญิง” บางทีจะได้ใช้บทละครเรื่องรามเกียรติ์ที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นนั้นแสดงในงานสมโภชเหล่านี้บ้างก็ได้ น่าเข้าใจว่าบทพระราชนิพนธ์นี้ คงจะได้นำออกแสดงสมพระราชประสงค์หลายคราว ตลอดจนงานสมโภชพระแก้วมรกตเมื่อตอนปลายรัชกาล และงานอื่นๆ
สันนิษฐานลักษณะที่ทรงพระราชนิพนธ์
อนึ่งปรากฏในบานแผนกต่อมาว่า “พระราชนิพนธ์ทรงแต่งชั้นต้นเป็นปฐมยัง ทราม พอดี } อยู่” ต่อมามีบอกตอนในเล่ม ๑ ว่า “ตอนพระมงกุฎ ทรงแปลงใหม่” ซึ่งอาจหมายความว่า ตามวันเวลาที่กล่าวแล้วนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ความนี้ขึ้นเป็นชั้นต้น คือเป็นครั้งแรก แต่ยังคงจะไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงทรงหมายเหตุว่า “ยังทรามอยู่” แล้วต่อมาซึ่งอาจเป็นเวลาว่างพระราชกิจคราวใดคราวหนึ่ง จึงทรงพระราชนิพนธ์แก้ไขเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ โดยอาจทรงแก้ไว้ในพระสมุดเล่มนั้นเอง จึงมีบอกไว้ในเบื้องต้นว่า “ทรงแปลงใหม่” บางตอนอาจทรงพิจารณาเห็นว่าความขาดไป ก็ทรงพระราชนิพนธ์แทรกลงไว้เพื่อให้ความเต็มบริบูรณ์ ดังปรากฏในหน้า ๒๓ ถึงหน้า ๒๕ ในฉบับพิมพ์นี้ แต่ก็น่าจะทรงพิจารณาเห็นด้วยพระองค์เองว่า ยังนับว่าดีทีเดียวไม่ได้ จึงหมายเหตุไว้ข้างต้นเบื้องใต้หมายเหตุเดิมว่า “ยังพอดีอยู่” แล้วต่อมาในภายหลัง พวกอาลักษณ์นำเอาต้นพระราชหัตถเลขามาชุบลงไว้ตามที่ทรงแก้ไขใหม่ แต่ยังคงบานแผนกเดิมไว้ “ยัง ทราม พอดี } อยู่” ดังปรากฏในต้นฉบับสมุดไทยที่คัดมาทำต้นฉบับพิมพ์ในเล่มนี้ บอกเวลาชุบเส้นทองไว้ว่า “วันอาทิตย์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ จุลศักราช ๑๑๔๒ (พ.ศ. ๒๓๒๓)” เป็นตอนปลายรัชกาล บอกนามอาลักษณ์ผู้ชุบไว้ ๔ คนคือ นายถี อาลักษณ์ชุบเล่ม ๑, นายสัง อาลักษณ์ชุบเล่ม ๒, นายสน อาลักษณ์ชุบเล่ม ๓, และนายบุญจัน อาลักษณ์ชุบเล่ม ๔, บอกชื่อผู้ทานไว้ ๒ คนตรงกันทุกเล่ม คือ ขุนสารประเสริฐ และขุนมหาสิทธิ น่าเสียดายที่ไม่พบฉบับทรงเดิม
อนึ่ง ตอนที่ว่า “ทรงแทรก” นั้น ถ้าจะลองตัดข้อความตรง “ทรงแทรก” ออกเสีย สัมผัสกลอนก็ไม่กินกัน ไม่เหมือนกาพย์เห่เรือพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีบทแทรกเช่นนี้เหมือนกัน แม้ตัดออก ก็ยังสัมผัสกัน แต่ถ้าลองตัดออกตั้งแต่คำว่า “หณุมานมัดเอามงกุฎมา พาเข้าถวายฉับพลัน” (น. ๒๓) ออกจนตลอดบท “ทรงแทรก” (น. ๒๕) แล้ว ย่อมมีข้อความเรื่องพระลบติดต่อกัน แต่สัมผัสซ้ำ ทั้งนี้น่าจะแสดงว่านอกจาก “ทรงแทรก” แล้ว ยังทรงแก้ไขสัมผัสตามไปด้วย
ส่วนที่ว่า “ทรงแปลงใหม่” นั้น ถ้ามิได้หมายความว่าทรงแปลงบทพระราชนิพนธ์ของเดิม ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้ด้วยพระองค์เอง ดังหมายเหตุว่า “ยังทรามอยู่” เช่นกล่าวข้างต้นแล้ว บางทีอาจหมายความว่าได้ทรงแปลงบทละครเรื่องรามเกียรติ์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว เช่นจากบทที่ได้จากบทที่เหลือมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ได้
แต่จะเป็นบทพระราชนิพนธ์โดยเฉพาะหรือบท “ทรงแปลงใหม่” จากบทของเก่าซึ่งมีอยู่ก่อนก็ตาม ก็นับว่าเป็น “พระราชนิพนธ์” ในพระองค์อยู่นั่นเอง เพราะบอกไว้ชัดเจนในบานแผนกข้างต้นแล้ว แม้บทละครรามเกียรติ์ที่เรียกว่า “พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑” ก็ปรากฏว่ามิได้ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เอง หากแต่โปรดให้ขอแรงพระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการที่เป็นกวีสันทัดทางบทกลอนช่วยกันแต่งถวาย ทรงตรวจแก้ไข แล้วตราเป็นบทพระราชนิพนธ์ไว้เป็นต้นฉบับสำหรับพระนคร บทละครรามเกียรติ์ความที่พิมพ์นี้ จึงนับเป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งได้ทรงขึ้นโดยพระราชประสงค์ และตามพระราชอัธยาศัยโดยเฉพาะอย่างเท้จริง
เปรียบเทียบกับฉบับในรัชกาลที่ ๑
บทพระราชนิพนธ์ความนี้ ถ้าเทียบกับบทที่เรียกว่า พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ดูแล้ว อาจกล่าวได้ว่า มีความคล้ายคลึงกันหลายประการ ดังจะเห็นได้เช่น
(๑) ตอนพระมงกุฎประลองศิลป ยิงต้นรัง “ว่าใหญ่ถึงแสนวา” ในบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ก็ว่า “คณนาแสนอ้อมโดยประมาณ” และในบทพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนี้เอง ตอนต่อไปก็กล่าวถึงอีกว่า “แสนอ้อมโดยประมาณ”
(๒) ถ้อยคำบางคำที่ใช้ในบทกลอน ก็มีคล้ายคลึงกันเป็นส่วนมาก ดังจะยกมาเทียบให้เห็น เช่น
ตอนประลองศิลป
“ถูกรังต้นใหญ่สินขาด | ยับเยินวินาศดังฟ้าผ่า |
แล้วกลับต่อว่าอนุชา | น้องยาจะว่าประการใด” |
-กรุงธน
“ถูกต้นพฤกษาพระยารัง | ไม่ทนกำลังอยู่ได้ |
ข้นป่นลงด้วยฤทธิไกร | เสียงสนั่นหวั่นไหวทั้งธาตรี” |
-รัชกาลที่ ๑
ตอนหณุมานเกี้ยวนางวานริน
“เจ้าเอยเจ้าพี่ | มารศรีเสาวภาคย์อย่ากังขา” |
-กรุงธน
“เจ้าเอยเจ้าพี่ | มารศรีผู้ยอดพิสมัย” |
-รัชกาลที่ ๑
“พี่คือทหารพระรามา | พนิดาอย่าแหนงแคลงใจ |
ทรงนามชื่อหณุมาน | เป็นทหารห้าวแหงผู้ใหญ่ |
ฝ่ายอสูรยกออกไป | ชิงชัยต่อด้วยพระราชา |
พระองค์ทรงยิงศรผลาญ | สังหารมารหมู่ยักษา |
ถูกวิรุณจำบังอสุรา | ยักษาหลบหลีกหนีไป |
จึงให้พี่มาติดตาม | นางงามเจ้ารู้บ้างหรือไม่ |
มันไปแห่งหนตำบลใด | บอกให้หน่อยเถิดนารี” |
-กรุงธน
“ตัวพี่นี้คือหณุมาน | ยอดทหารพระนารายณ์รังสรรค์ |
มาตามสังหารกุมภัณฑ์ | ที่มันเบียดเบียนแดนไตร |
อันวิรุณจำบังยักษี | เข้ามาที่นี่หรือไม่ |
เจ้าจงบอกความแต่จริงไป | จะได้ช่วยทุกข์กัลยา” |
-รัชกาลที่ ๑
ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ
เมื่อนั้น | พระกอบกิจธรรมเป็นใหญ่ |
ครั้นจะแจ้งเหตุเภทภัย | จึ่งแถลงไขสองเสนา |
อันองค์อัชบาลเป็นสหาย | เพื่อนตายรักใคร่กูหนักหนา |
ร่วมชีพไว้วิญญาณ์ | ซึ่งลักษมณ์รามากูไม่รู้ |
ด้วยพึ่งใหญ่ค่อยจำเริญไว | ทางไกลต่างคนต่างอยู่ |
ช้านานไม่ได้ไปดู | สุริวงศ์ในกรุงอยุธยา |
ไฉนจึงมารุกราน | กรุงมารหมู่เมืองอักษา |
หรือจะเกี่ยวข้องกันด้วยสีดา | ว่ามาทั้งนี้กูเห็นจริง |
อันนอกกว่านี้ไม่มีใคร | จะทำฤทธิไกรสุงสิง |
หลานรักกูศักดิ์ยวดยิ่ง | กฤดาธิการมหึมา |
เห็นแต่ท่านท้าวอัชบาล | เป็นประธานสุริวงศ์นาถา |
เธอเป็นสหายรักกูมา | อนิจจานัดดามาผิดกัน |
จำกูจะไปเกลี่ยไกล่ | อย่าให้ขึ้งเคียดเดียดฉันท์ |
เป็นเพื่อนเผ่าพันธุมิตรกัน | โดยธรรม์ธรรมเนียมมีมา” |
-กรุงธน
เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชเรืองศรี |
ได้ฟังจึงกล่าววาที | ในที่ท่ามกลางคนธรรพ์ |
ซึ่งว่ารามลักษมณ์เป็นนัดดา | ท้าวมหาอัชบาลรังสรรค์ |
เห็นจริงด้วยเป็นวงศ์เทวัญ | จึงบุกบั่นมาได้ถึงเมืองมาร |
อันนอกกว่านี้ไม่มีใคร | ซึ่งเรืองฤทธิไกรห้าวหาญ |
เว้นไว้แต่เหล่าอัชบาล | จึ่งอาจผลาญสุริวงศ์พรหมา |
อันปู่เขากับกูเป็นสหาย | เพื่อนตายรักใคร่กันหนักหนา |
ก็สิ้นชีวาลัยไปเมืองฟ้า | แต่ลักษมณ์รามเกิดมากูไม่รู้ |
ด้วยพึ่งจะจำเริญวัย | ทางไกลต่างคนต่างอยู่ |
นานแล้วไม่ได้ไปเยี่ยมดู | สุริวงศ์ในกรุงอยุธยา |
อันเหตุซึ่งเกิดสงคราม | ลุกลามเคี่ยวเข็ญเข่นฆ่า |
เป็นต้นด้วยหญิงที่ได้มา | จึ่งพาให้ผิดใจกัน |
กูจะไประงับทั้งสองฝ่าย | ให้หายขึ้งเคียดเดียดฉันท์ |
จะว่ากล่าวเป็นกลางทางธรรม์ | ให้เป็นพันธุมิตรกันสืบไป |
-รัชกาลที่ ๑
ตอนท้าวมาลีวราชชมโฉมสีดา
เมื่อนั้น | พระทรงจตุศีลยักษา |
ครั้นเห็นนวลนางสีดา | เสน่หาปลาบปลื้มหฤทัย |
อั้นอัดกำหนัดในนาง | พลางกำเริบราคร้อนพิสมัย |
พิศเพ่งเล็งแลทรามวัย | มิได้ที่จะขาดวางตา |
ชิชะโอ้ว่าสีดาเอ๋ย | มางามกระไรเลยเลิศเลขา |
ถึงนางสิบหกห้องฟ้า | จะเปรียบสีดาได้ก็ไม่มี |
แต่กูผู้รู้ยศธรรม | ยังหมายมั่นมุ่งมารศรี |
สาอะไรกับอ้ายอสุรี | จะมิพาโคติกาตาย |
โอ้อนิจจาทศกรรฐ์์ | สู้เสียพงศ์พันธุ์ฉิบหาย |
ม้ารถคชพลวอดวาย | ฉิบหายเพราะนางสีดา |
ตัวกูผู้หลีกลัดตัดใจ | ยังให้หุนเหี้ยนเสน่หา |
ที่ไหนมันจะได้สติมา | แต่วิญญาณ์กูแดยัน |
ขวยเขินสะเทินวิญญาณ์ | กว่านั้นไม่เหลือบแลแปรผัน |
ไม่ดูสีดาดวงจันทร์ | พระทรงธรรม์เธอคิดละอายใจ |
บิดเบือนพักตร์ผินไม่นำพา | ขืนข่มอารมณ์ปราศรัย |
อัดอั้นอดยิ้มไม่ได้ | เยื้อนแย้มว่าไปแก่สีดา |
เจ้าผู้จำเริญสิริภาพ | ปลาบปลื้มเยาวยอดเสน่หา |
เจ้าเป็นเอกอัครกัญญา | หน่อนามกษัตราบุรีใด |
ทำไมจึ่งมาอยู่นี่ | สุริวงศ์พงศ์พีร์อยู่ไหน |
ลูกผัวเจ้ามีหรือไม่ | บอกไปให้แจ้งบัดนี้ |
-กรุงธน
เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชรังสรรค์ |
เห็นนางสีดาวิลาวัลย์ | งามดั่งดวงจันทร์ไม่ราคี |
มาตรแม้นถึงองค์พระอุมา | นางสุชาดาโฉมศรี |
นางสุจิตราเทวี | สุนันทานารีอรไท |
ถึงสุธรรมมานงคราญ | จะเปรียบงามเยาวมาลย์ก็ไม่ได้ |
ทั่วสวรรค์ชั้นฟ้าสุราลัย | ไกลกันกับโฉมนางสีดา |
กระนี้แลหรือทศกรรฐ์ | จะไม่ผูกพันเสน่หา |
พาโคตรวงศ์ในลงกา | แสนสุรโยธาวายปราณ |
แต่กูผู้ทรงทศธรรม์ | ยังหวาดหวั่นเคลิ้มไปด้วยสงสาร |
หากมีอุเบกขาญาณ | จึงประหารเสียได้ไม่ไยดี |
-รัชกาลที่ ๑
แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้ว เห็นข้อแตกต่างก็มีอยู่บ้างเหมือนกันเช่น
(๑) ข้อความบางตอนมีกล่าวถึงในบทพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ไม่มีกล่าวถึงในบทรัชกาลที่ ๑ เช่น เมื่อพระมงกุฎ พระสบ ประลองศิลป์ เกิดเสียงสนั่นหวั่นไหว ทำให้ตระหนกตกใจกันไปหมด ฉบับกรุงธนว่า พระฤษีกับนางสีดาตกใจออกไปติดตามพระมงกุฎ พระลบ ว่า
ฝ่ายพระฤษีสนั่นเสียง | สำเนียงกึกก้องเวหา |
ตกใจทั้งนางสีดา | ก็ลีลาออกตามกุมาร |
แต่ในบทรัชกาลที่ ๑ ว่า สองกุมารกลับมาเอง ไม่ได้ติดตาม อันกลอนวรรคหลังที่ว่า “ก็ลีลามาตามกุมาร” นั้น อาจเป็นอย่างที่เรียกว่ากลอนพาไปก็ได้ ซึ่งเป็นความเคยชินของกวีโดยมาก
(๒) ลำดับเรื่องก่อนหลังไม่เหมือนกัน คือ มีกล่าวสับหน้าสับหลังกันอยู่บ้าง เช่น ตอนพระมงกุฎถูกจับตัวได้ แล้วพระอินทร์ใช้ให้นางฟ้าชื่อรำภาลงมาช่วย หรือในกลอนที่ยกมาเปรียบเทียบกันให้ดูเป็นตัวอย่างนั้น ก็พอจะสังเกตเห็นข้อความสับหน้าสับหลัง แม้ในกลอนท่อนเดียวกันได้บ้าง ทั้งนี้ ก็อาจต่างกันได้ แม้กวีคนเดียวกัน แต่งคนละคราว ยังมีที่ลำดับเรื่องไม่ตรงครั้งก่อน
(๓) แม้เนื้อเรื่องตรงกัน แต่บทกลอนพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ยาวกว่าเพราะกล่าวลีลาศยืดยาวมาก เช่นกลอนในบทพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี บรรจุความเพียง ๑๑ หน้า (ตั้งแต่หน้าต้นถึงหน้า ๑๑ ในฉบับพิมพ์นี้) แต่บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ กล่าวกลอนยืดยาวตั้งเกือบ ๑ เล่มสมุดไทยหรือราว ๕๐ หน้า ถ้าจะเทียบให้ใกล้เคียงก็คือ ในบทพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กล่าวเพียง ๑๕๐ คำ (น.๑ -๑๑) แต่ในบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ แต่งขยายออกไปเป็น ๔๐๐ คำ ขอยกมาเปรียบเทียบให้เห็นเป็นบางตอนดังนี้
ตอนจับม้าอุปการฉบับกรุงธนว่า
ครั้นถึงซึ่งป่ากาลวาด | องอาจเที่ยวไพรพฤกษา |
เก็บผลไม้กินสองรา | พอเห็นมิ่งม้าพาชี |
จึงบอกเจ้าลบน้องยา | มาเราช่วยกันจับขี่ |
ฉบับรัชกาลที่ ๑ ขยายลีลาศออกไปว่า
เดินทางตามหว่างบรรพต | เลี้ยวลดชมสัตว์ที่ในป่า |
กาสรพาพวกเป็นหมู่มา | พยัคฆาหมอบมองมฤคี |
ฝูงกวางย่างเยื้องเล็มระบัด | สิงคนัดคะนองร้องมี่ |
เลียงผาเผ่นโผนโจนคีรี | นางชะนีโหยให้หากัน |
ระมาดลาดเลี้ยวกินหนาม | โตตามคู่วิ่งผกผัน |
คชสารกระหึมเรียกมัน | ฉมันเมียงเคียงคู่เป็นหมู่จร |
กระต่ายโดดโลดโผนโจนวิ่ง | คณาลิงเลียบไต่สิงขร |
กิเลนลงเล่นสาคร | ไกรสรจากถ้ำอำไพ |
คชสีห์เยื้องกรายร่ายเริง | โคคะนองลองเชิงขวิตไขว่ |
ยิ่งชมยิ่งเพลินจำเริญใจ | ก็เที่ยวเล่นอยู่ในพนาลี |
พระมงกุฎเหลือบเห็นอัสดร | ประดับเครื่องอาภรณ์จำรัสศรี |
หน้าดำกายขาวดั่งสำลี | สี่เท้าปากแดงรจนา |
เยื้องย่องทำนองเหมราช | ดูงามประหลาดเป็นหนักหนา |
จึงบอกพระลบอนุชา | สัตว์นี้จะว่าชื่อใด |
แต่เราพากันมาเที่ยวเล่น | จะเคยพบเคยเห็นก็หาไม่ |
น่าจะเป็นสัตว์บ้านเขาเลี้ยงไว้ | จึงผูกเครื่องอำไพดังนี้ |
อย่าเลยเราจะไล่สกัด | จับได้จะผลัดกันขี่ |
เที่ยวเล่นในกลางพนาลี | เห็นจะมีความสุขกว่าทุกวัน |
ว่าแล้วชักเอาเครือเขาได้ | ถือต้นปลายไว้ให้มั่น |
ขึงมาตรงหน้าม้านั้น | ช่วยกันเลี้ยวไล่เป็นโกลา |
ทั้งนี้ ก็ไม่เป็นข้อแปลกอันใด เพราะกวีอาจใช้ความคิดวาดมโนภาพให้วิจิตรพิศดารอย่างไรตามที่ต้องการได้ สุดแต่จะมีความมุ่งหมายเพียงไหน ดังตัวอย่างบทพากย์ตอนนางลอยของเก่า และบทพระราชนิพนธ์ทรงแปลงในรัชกาลที่ ๒ ข้างต้น บางทีจะเป็นเพราะทรงมีพระนิสัยฉับไว ไม่ชอบเยื้องกราย ทรงเห็นเป็นการยืดยาด จึงทรงมุ่งเอาแต่เนื้อความและเรื่องราวเป็นใหญ่ แต่คงมิได้ทรงอย่างแบบละครนอก เพราะทรงบทชมรถราชพาหนะ บททรงเครื่องอย่างแบบละครในไว้เหมือนกัน แต่บทในรัชกาลที่ ๑ สั้นกว่าก็มี ดังตอนท้าวมาลีวราชชมโฉมนางสีดา และตอนหณุมานเกี้ยวนางวานริน ดังยกมาให้ดูข้างต้น
ตามที่ยกมาเปรียบเทียบให้เห็นข้างต้นนี้ น่าจะเห็นได้ว่าเนื้อความตามท้องเรื่องรามเกียรติ์ในบทพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและรัชกาลที่ ๑ เหมือนกันเพียงไร ตลอดจนถ้อยคำที่บรรจุในบทกลอนเป็นส่วนมาก อาจเป็นว่าพวกกวีในสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่ได้รับหน้าที่แต่ง บางคนอาจนำเอาบทพระราชนิพนธ์ครั้งกรุงธนบุรี มาเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือฉบับทั้งสองนั้นอาจใด้ฉบับเดิมความเดียวกัน มาเป็นแบบเทียบแล้วเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมเอาใหม่ด้วยกัน ดังที่ปรากฏในฉบับครั้งกรุงธนว่า “ทรงแปลงใหม่” ก็ได้ เป็นอันไม่รู้ใด้แน่ในเวลานี้
มีข้อที่น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง คือในบทพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ออกนามนางมนโท ในที่หลายแห่งว่า “มนโทคิรี” ซึ่งแม้จะเพี้ยนไป ก็ยังมีสำเนียงใกล้กับในพากย์เดิมของเขาว่า “มนโททรี” อันแปลได้ว่า “มีท้องอันประดับแล้ว” แต่ในบทรัชกาลที่ ๑ เรียกแต่ว่า “มนโท” ตลอดไป
ลักษณะและนิสัยของตัวละคร
อันลักษณะของชาติ ย่อมฉายเป็นกระจกเงาอยู่ในวรรณคดีของชาติ นาฏยคดีของประชาชนก็เป็นส่วนหนึ่งแห่งวรรณคดีของชาติ เพราะฉะนั้นจึงย่อมจะฉายลักษณะของชาติให้เห็นเงาอันแจ่มใส ฉันใดก็ดี บทประพันธ์ของกวีใดก็ย่อมฉายให้เห็นอัธยาศัยและอารมณ์ของกวีนั้น ฉันนั้น ผู้ประพันธ์วรรณคดีเรื่องใดๆ ก็ตาม ถ้าจะสร้างตัวละครในเรื่องนั้นๆ ให้ใกล้ชิดกับความจริง จะต้องสร้างจากของจริง โดยได้เห็นได้รู้มา หรือมิฉะนั้นในคราวกล่าวถึงลักษณะนิสัยของบุคคลในเรื่องแต่ละราย ก็จะต้องทอดตนเองสร้างความรู้สึกให้ซึมซาบเป็นดุจหนึ่งทำหน้าที่ของตัวละครแต่ละตัวในเรื่องนั้นๆ ดังคำกล่าวที่ว่า วรรณคดีก็เหมือนความเป็นผู้ดี (เพราะ) ย่อมแล่นเข้าไปในเลือด (ประจำอยู่ในตัวของเรา) (Literature, like nobility, runs in the blood.-Haglitt) แม้ผู้อ่านที่จะให้ทราบซึ้งก็ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน จึงจะซึมทราบในรส อย่างสำนวนที่เรียกกันในการแสดงละครว่า “ตีบทแตก”
บทละครรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็มิได้เว้นจากคำที่กล่าวแล้วดังจะเห็นได้ในขณะที่อ่านพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ด้วยความพินิจพิเคราะห์ เราจะรู้สึกว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงสร้างลักษณะและนิสัยของตัวละครในเรื่องไว้ด้วยโวหารการประพันธ์ตามพระราชอัธยาศัยของพระองค์เป็นตอนๆ บางตอนก็แสดงถึงพระนิสัยที่ทรงเพลิดเพลินในทางธรรม เช่นทรงพระราชนิพนธ์บทท้าวมาลีวราช ก็มักจะทรงว่า พระกอบกิจธรรมเป็นใหญ่, พระทรงธรรมธิราชเป็นใหญ่, และพระทรงจตุศีลยักษา ฯลฯ และน่าจะได้ทรงนำเอากิจวัตรส่วนพระองค์มาประพันธ์ลงไว้เป็นบางตอน เช่นเล่าถึงพระอิศวรนั่งสนทนาธรรมกับพระฤๅษีว่า
วันหนึ่งจึงเธอออกนั่ง | ยังบัลลังก์รัตน์รังสี |
สนทนาไญยธรรมอันมี | กับพระนารอทฤษีมีญาณ |
อันย่อมแสดงถึงพระนิสัยที่ทรงใฝ่พระทัยในข้ออรรถธรรม เมื่อยามว่างก็ทรงพอพระทัยธรรมสากัจฉากับพระราชาคณะ หรือแม้นักบวชในลัทธิอื่น ดังปรากฏในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙ (น. ๙๑) ซึ่งชาวต่างประเทศจดไว้ว่า “เมื่อวันที่ ๒ เดือนเมษายน (พ.ศ. ๒๓๑๕) ได้มีพระราชโองการให้เราไปเฝ้าอีก และในครั้งนี้ใด้มีรับสั่งให้พระสงฆ์ที่สำคัญกับพระเจ๊กไปเฝ้าด้วย วันนั้นเป็นวันรื่นเริงทั่วพระราชอาณาเขต เพราะเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย พระเจ้าแผ่นดินกำลังทรงพระสำราญพระทัย จึงได้ลงประทับกับเสื่อธรรมดาอย่างพวกเราเหมือนกัน ในชั้นแรกได้รับสั่งถึงการต่างๆ หลายอย่างแล้วจึงได้รับสั่งถาม...” ด้วยพระทัยที่ทรงฝักใฝ่ในธรรม ได้ทรงวาดให้นางมนโทกล่าวปลอบทศกรรฐ์เป็นทางธรรมว่า
“พระจอมเกศเกล้าของเมีย | ปละอาสวะเสียอย่าหม่นไหม้ |
แม้จิตไม่นิทราลัย | หินมิตรภัยมีมา |
อันซึ่งความทุกข์ความร้อน | ตัวนิวรณ์จิตกิจฉา |
อกุศลปนปลอมเข้ามา | พาอุทัจจะให้เป็นไป |
ประการหนึ่งแม้มีเหตุ | เวทนาพาลงหมกไหม้ |
ฝ่ายซึ่งการแพ้ชนะไซร้ | สุดแต่ให้สร้างสมมา |
ถึงกระนั้นก็อันประเวณี | ให้มีความเพียรจงหนักหนา |
กอปรมนต์ดลทั้งอวิญญาณ์ | สัจจสัจจาปลงไป |
ล้างอาสวะจิตมลทิน | ให้ภิญโญสิ้นปัถมัย |
เมียเขาเอามันมาไย | ไม่ควรคือกาลกินี” |
ยิ่งตอนกล่าวถึงพระโคบุตรฤษีสอนทศกรรฐ์ ย่อมแสดงถึงพระปรีชาญาณ ที่ทรงทราบซึ้งในภูมิธรรมชั้นสูง คือทรงไว้ว่า
พระมุนีจึงว่าเวรกรรม | มันทำท่านท้าวยักษี |
อันจะแก้ไขไปให้ดี | ต่อกิจพิธีว่องไว |
จึงจะสิ้นมลทินหยาบหยาม | พยายามอนุโลมลามไหม้ |
ล้างลนอกุศลกุลใจ | เข้าไปในเชาว์วิญญาณ |
เป็นศีลสุทธิ์วุฒิ | หิริโดยตะทังคประหาร |
คือบาทแห่งโคตระภูญาณ | ประหารโทษเป็นที่หนึ่งไป |
แล้วจึงทำขึ้นที่สอง | โดยเนกขัมคลองแถลงไข |
ก็เป็นศิลาทับระงับไป | อำไพพิลึกโอฬาร์ |
อย่าว่าแต่พาลโภยภัย | ปืนไฟไม่กินนะยักษา |
ทั้งหกสวรรค์ชั้นฟ้า | จะฆ่าอย่างไรไม่รู้ตาย |
อย่าคณนาไปถึงผู้เข่นฆ่า | แต่วิญญาคิดก็ฉิบหาย |
จะทำอย่างใดไม่รู้ตาย | อุบายถอยต่ำลงมา |
อันได้เนกขัมประหารแล้ว | คือแก้ววิเชียรไม่มีค่า |
ทั้งฤทธิ์และจิตวิชชา | อีกกุพนามโนมัย |
กอปรไปด้วยโสตประสาทญาณ | การชาติหน้าหลังระลึกได้ |
ถึงนั่นแล้วอันจะบรรลัย | ไม่มีกะตัวถ่ายเดียว |
แต่โวหารการประพันธ์โดยส่วนรวมย่อมแสดงให้เห็นนิสัยห้าวหาญของตัวละครในเรื่อง อย่างที่เรียกว่า daring spirit โดยตลอดไป ไม่ว่าจะกล่าวถึงพระมงกุฎ พระลบ หรือหณุมาน, ทศกรรฐ์, พระราม ฯลฯ เช่น ในพระราชสาส์นที่จารึกผูกคอม้าอุปการของพระราม ก็ทรงใช้คำหนักๆ ว่า
ในลักษณะพระราชสาส์น | ว่าพระผ่านทศทิศทั้งสี่ |
แบ่งภาคจากเกษียรวารี | มีกมลจิตจินดา |
ให้ปล่อยมิ่งม้าอุปการ | ใครพานพะขี่จะเข่นฆ่า |
ที่อวดฤทธิ์ดีจงขี่ม้า | ผ่านฟ้าจะไปต่อตี |
ถ้าแม้นเป็นข้าอาณาจักร | ทักษิณประณตบทศรี |
เคารพอภิวันท์ธุลี | ปล่อยพาชีจรไคลคลา |
ดังนี้ ดูเป็นลักษณะเดียวกับพระราชสาส์นและศุภอักษรที่ทรงให้มีไปมากับกรุงศรีสัตนาคนหุตในรัชกาลนั้น อันแสดงถึงพระนิสัยที่กล้าได้กล้าเสีย ทรงยอมเสี่ยงภัยในคราวคับขัน อย่างที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร คราวทรงตีเมืองจันทบุรี ก่อนตีรับสั่งให้ทหารทุบหม้อข้าวหมด ไปหวังกินข้าวเอาในเมือง ถ้าตีไม่ได้ก็ให้อดตายเสียดีกว่า อันย่อมบ่งถึงพระนิสัยอย่างที่เรียกว่า ได้หมดหรือเสียหมด
แต่ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะไม่ทรงบทที่รู้สึกสนุกในอารมณ์ของพระองค์เสียเลย บางตอนเห็นเหมาะที่จะทรงหยอดโวหารการนิพนธ์ตามความรู้สึกสนุกในอารมณ์อย่างที่เรียกว่า sense of humour ได้ก็ทรงหยอดลงไว้ ดังกวีทั้งหลายชอบปฏิบัติกัน เช่น ตอนหณุมานเกี้ยวนางวานรินก็ทรงหยอดลงไว้ว่า
เจ้านี้ยศยิ่งยอดกัญญา | สาวสวรรค์ชั้นฟ้าไม่มีสอง |
อย่าแคลงพี่จะให้แจ้งน้อง | ขอต้องนิดหนึ่งนารี |
นี่แน่เมื่อพบอสุรา | ยังกรุณาบ้างหรือสาวศรี |
หรือว่าเจ้ากลัวมันราวี | จูบทีพี่จะแผลงฤทธา |
ตอนท้าวมาลีวราชปลอบทศกรรฐ์ ก็ทรงหยอดไว้ว่า
จงฟังคำกูผู้ปู่สอน | ให้ถาวรยศยิ่งภายหน้า |
จะทำไมกับอีสีดา | ยักษาเจ้าอย่าไยดี |
มาตรแม้นถึงทิพย์สุวรรณ | สามัญรองบทศรี |
ดังรือจะสอดสวมโมลี | ยักษีอย่าผูกพันอาลัย |
หนึ่งนวลนางราชอสุรี | ดิบดีดั่งดวงแขไข |
ประโลมเลิศละลานฤทัย | อำไพยศยิ่งกัลยา |
ว่านี้แต่ที่เยาว์เยาว์ | ยังอีเฒ่ามนโทกนิษฐา |
เป็นยิ่งยอดเอกอิศรา | รจนาล้วนเล่ห์ระเริงใจ |
ตอนทศกรรฐ์สนทนากับนางมนโทถึงเรื่องเผารูปเทวดา ก็ทรงหยอดอารมณ์สนุกลงไว้ว่า
ฝ่ายพี่จะปั้นรูปเทวดา | บูชาเสียให้มันม้วยไหม้ |
ครั้นถ้วนคำรบสามวันไซ้ | เทวัญจะบรรลัยด้วยฤทธา |
ไม่ยากลำบากที่ปราบ | ราบรื่นมิพักไปเข่นฆ่า |
พี่ไม่ให้ม้วยแต่นางฟ้า | จะพามาไว้ในธานี |
อนึ่ง จะสังเกตเห็นลักษณะกลอนในบทพระราชนิพนธ์โดยทั่วๆ ไป ทรงบรรจุคำที่เป็นธรรมดาสามัญเกือบตลอด เช่น ทรงบทของท้าวมาลีวราชว่า
เมื่อนั้น | พระบรมลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ |
ได้ฟังพ่ออ้ายอินทรชิต | บิดผันเสกแสร้งเจรจา |
และทรงบทของทศกรรฐ์บอกแย้งนางมนโทถึงความสงสัยว่าพาลี (ซึ่งตายแล้วยัง) กลับมาทำลายพิธีทรายกรดได้ ไม่ใช่หณุมานว่า
เกลือกเป็นอุบายถ่ายเท | เล่ห์กลพิเภกเดียรฉาน |
ผิดไปมิใช่หมุมาน | ก้านลำพญาพาลี |
ทั้งนี้แสดงถึงพระราชอัธยาศัยที่ฉับไวเปิดเผย พอพระทัยตรัสอย่างตรงไปตรงมา ไม่ชอบอ้อมค้อม แต่ที่ทรงรู้สึกสนุกใช้ศัพท์เล่นบ้างก็มี และดูเหมือนจะตั้งพระทัยทรงให้เหมาะแก่ตัวละครในท้องเรื่อง เช่นกล่าวถึงท้าวมาลีวราชทรงเครื่องว่า
เมื่อนั้น | พระทรงจตุศีลยักษา |
ทรงชำระสระสรงคงคา | ทรงกาสาวพัสตร์รูจี |
สอดใส่ชฎาประดับเครื่อง | เรื่อเรืองรุ่งรัศรังสี |
เปล่งปลั่งดั่งดาวโรหิณี | สีกรรจรแก้วแพรวตา |
ดั่งองค์อิศโรยโสธร | บวรลิขิตเลขา |
ผ่องผึ่งพึงพิศเจษฎา | ซากรสิกขาเพราพราย |
รวมความว่า ถ้อยคำสำนวนกลอนและโวหารการประพันธ์ ตลอดจนบทบาทของตัวละครที่ทรงบรรยายถึงในท้องเรื่องรามเกียรติ์ความนี้ ย่อมเป็นเสมือนกระจกเงาอันแจ่มใสฉายให้เห็นพระราชอัธยาศัยและพระอารมณ์ของพระองค์ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ว่า น่าจะทรงมีพระนิสัยเปิดเผยตรงไปตรงมา ชอบรวดเร็วฉับไวดังจะเห็นได้แม้จากการบรรจุหน้าพาทย์ ทรงกล้าได้กล้าเสีย ห้าวหาญเด็ดเดี่ยว ย่อมเสี่ยงภัยได้อย่างพระทัยเย็นแม้ในคราวคับขัน และในขณะเดียวกัน ก็ยังทรงสร้างอารมณ์ให้สนุกสนานประกอบกันไปกับการงานที่เอาจริงเอาจัง ทั้งแสดงถึงพระนิสัยที่ทรงพอพระทัยในการตรองตรีกนึกถึงอรรถธรรมในภูมิธรรมอันสูง ไม่ทรงยอมที่จะพอพระทัยอยู่แต่ในชั้นต่ำ คือถ้าได้ก็ต้องได้หมด หรือค่อนข้างมาก ถ้าเห็นไม่ได้ ก็ไม่เอาเสียเลยทีเดียว ดีกว่าที่จะพอพระทัยอยู่แต่เพียงนิดหน่อยหรือครึ่งๆ กลางๆ ดังจะเห็นได้ แม้จากรูปของกลอนและความยาวสั้นของบท น่าคิดว่า ช่างทรงมีพระนิสัยเหมาะแก่ลักษณะของผู้นำในเวลานั้นเสียจริงๆ ขอให้ท่านผู้อ่านลองพยายามทอดตนเองสร้างความรู้สึก ให้เป็นประดุจพระองค์ผู้ทรงนิพนธ์ได้ทรงปฏิบัติ ในขณะทรงพระราชนิพนธ์ จนเกือบจะเป็นหรือเป็นอย่างที่ว่า “แล่นเข้าไปในเลือด” ดังข้าพเจ้าได้กล่าวมาข้างต้น บางทีท่านจะมองเห็นพระนิสัยดังกล่าวแล้วกระมัง
กี อยู่โพธิ์
กรมศิลปากร ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๔
-
๑. ตัดตอนจาก “เล่าเรื่องหนังสือรามเกียรติ์” ใน กี อยู่โพธิ์, บทละครรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และ เล่าเรื่องหนังสือรามเกียรติ์, [กรุงเทพ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๖], ๑๓๒ - ๑๗๘. ↩