คำชี้แจง
๑การตรวจสอบต้นฉบับบทละครเรื่องรามเกียรติ์
พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
บทละครเรื่องรามเกียรติ์นี้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น เพื่อใช้เป็นบทสำหรับเล่นละครใน ตามแบบแผนของราชสำนักที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา นายกี อยู่โพธิ์
ตอนต้นเรื่องเป็นเส้นทองสร้างขึ้นด้วยความประณีตบรรจงมาก มี ๔ เล่มสมุดไทย แบ่งเป็นตอนไว้ ดังปรากฏในฉบับพิมพ์นี้คือเล่ม ๑ ตอนพระมงกุฎ เล่ม ๒ ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานรินจนท้าวมาลีวราชมา เล่ม ๓ ตอนท้าวมาลีวราชพิพากษาความจนทศกรรฐ์เข้าเมือง เล่ม ๔ ตอนทศกรรณ์์ตั้งพิธีทรายกรด พระลักษณ์ต้องหอกกระบิลพัสตร์ จนผูกผมทศกรรฐ์กับนางมนโท
เรื่องรามเกียรติ์ตั้งแต่ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานรินไปจนตอนผูกผมทศกรรฐ์กับนางมนโทนั้นมีเนื้อหาต่อเนื่องกัน แต่ตอนพระมงกุฎซึ่งเป็นตอนปลายของเรื่องรามเกียรติ์ ผู้ตรวจสอบในครั้งนั้นเข้าใจว่าทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นก่อนตอนอื่นในการพิมพ์เผยแพร่จึงจัดวางตอนพระมงกุฎไว้เป็นตอนต้นของหนังสือ และในการพิมพ์คราวต่อๆ มาก็จัดลำดับเนื้อหาตามฉบับพิมพ์คราวแรก
ราวพุทธศักราช ๒๕๕๗ ขณะนั้นผู้ตรวจสอบต้นฉบับดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ Mr. Jan Richard Dressler นักศึกษาปริญญาเอก สาขา Southeast Asian Studies มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้นำสำเนาเอกสารสมุดไทยดำเส้นทอง ซึ่งต้นฉบับเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดประจำรัฐแห่งกรุงเบอร์ลิน (Staatsbibliothek zu Berlin) ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มามอบให้ผู้ตรวจสอบ สรุปความเห็นเบื้องต้นว่า เป็นบทละครรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตอน “ศึกสัทธาสูร วิรุญจำบัง” ซึ่งเป็นเนื้อหาตอนก่อนหนุมานจะตามไปฆ่าวิรุญจำบังและพบกับนางวานริน แต่ช่วงเวลาดังกล่าวผู้ตรวจสอบมีภารกิจในหน้าที่เร่งด่วนจึงยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ กับวรรณคดีสำคัญของชาติเล่มนี้ได้ กระทั่งพุทธศักราช ๒๕๖๐ นางสาวสุธีรา สัตยพันธ์ นักอักษรศาสตร์ กลุ่มภาษาและวรรณกรรม สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับทุนการศึกษาไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ได้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารบทละครพระราชนิพนธ์ดังกล่าว มายังผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร และผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ได้มอบสำเนาเอกสารให้ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์พิจารณาตรวจสอบ เพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่ในวาระครบ ๒๕๐ ปีแห่งการสถาปนากรุงธนบุรี
สมุดไทยดำชุบเส้นทอง บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดประจำรัฐแห่งกรุงเบอร์ลิน เป็นเอกสารสำรับเดียวกับสมุดไทยดำชุบเส้นทอง บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีของหอสมุดแห่งชาติ เมื่อพิจารณาจากวันเวลาที่ปรากฏในบานแพนกและเนื้อเรื่องแล้ว สรุปได้ว่า บทละครพระราชนิพนธ์เรื่องนี้มีทั้งหมด ๕ เล่มสมุดไทย คือ สมุดไทยเล่ม ๑ หรือเล่มต้นอยู่ที่หอสมุดประจำรัฐแห่งกรุงเบอร์ลิน สมุดไทยเล่ม ๒ เล่ม ๓ และเล่ม ๔ อยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร สมุดไทยทั้ง ๔ เล่ม มีเนื้อหาต่อเนื่องกัน ดำเนินเรื่องตั้งแต่ศึกสัทธาสูร วิรุญจำบัง ไปจนถึงผูกผมทศกัณฐ์กับนางมณโฑ ซึ่งการตรวจสอบต้นฉบับครั้งนี้พิจารณาสอบทานจากสมุดไทยเส้นทองทั้ง ๔ เล่ม ส่วนสมุดไทยดำชุบเส้นทองเล่ม ๕ (ตอนพระมงกุฎ) ไม่พบต้นฉบับสมุดไทย การจัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ตอนพระมงกุฎครั้งนี้จึงจัดพิมพ์ตามฉบับที่อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ตรวจสอบไว้เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๔
การตรวจสอบต้นฉบับ “บทละครเรื่องรามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งแต่ตอนศึกสัทธาสูร วิรุญจำบัง ถึงตอนผูกผมทศกัณฐ์กับนางมณโฑ เพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่คราวนี้ใช้สำเนาเอกสารสมุดไทยจำนวน ๕ เล่มสมุดไทย ตามรายละเอียดดังนี้
สมุดไทย เล่ม ๑
สมุดไทยดำ ชุบเส้นทอง ถ่ายสำเนาจากหอสมุดประจำรัฐแห่งกรุงเบอร์ลิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สมุดไทยเล่มนี้ ปกหน้า ปกหลัง และด้านข้างปิดทองทึบ เป็นฉบับหลวงที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือประณีตยิ่ง
หน้าต้น มีข้อความระบุว่า
๏ วัน ๑ ๑+ ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๒ ปีขารโทศก พระราชนิพนทรงแต่งขึ้นต้นเปนประถม ยัง ทราม ภอดี } อยู่ ๚๛
หน้าปลาย มีข้อความว่า
๏ พระสมุด๑ หา ๒ ๏
๏ วัน ๑ +๘ ๑๒ ค่ำ จุลศักกราช ๑๑๔๒ ปีชวดโทศก ๛
๏ ข้าพระพุทธิเจ้านายเชดอาลักษณ
ชุบเส้นทอง ขุนสรปรเสิด ขุนมหาสิท } ทาน ๓ ครั้ง
สมุดไทย เล่ม ๒
สมุดไทยดำ ชุบเส้นทอง เอกสารเลขที่ ๕๓๐ หอพระสมุดฯ ซื้อจากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๙
หน้าต้น มีข้อความว่า
๏ พระราชนิพนเรื่อง หนุมานเกี้ยววานริน จนท้าวมาลีวะราชมา } ๒ หา ๓ ๚๛
หน้าที่ ๒ มีข้อความว่า
๏ วัน ๑ ๑+ ๖ ค่ำจุลศักราช ๑๑๓๒ ปีขารโทศก พระราชนิพนททรงแต่ง ชั้นต้นเปนประถมยัง ทราม ภอดี } อยู่ ๚๛
หน้าปลาย มีข้อความว่า
๏ ๒ หา ๓
๏ วัน ๑ +๘ ๑๒ ค่ำจุลศักราช ๑๑๔๒ ปีชวดโทศก ข้าพระพุทธิเจ้านายสังอาลักษณชุบเส้นทอง
๏ ข้าพระพุทธิเจ้า ขุนสรประเสริด ขุนมหาสิท } ทาน ๓ ครั้ง ๚๛
สมุดไทย เล่ม ๓
สมุดไทยดำ ชุบเส้นทอง เอกสารเลขที่ ๕๓๑ หอพระสมุดฯ ซื้อจากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๙
หน้าต้น มีข้อความว่า
๏ พระราชนิพนท ทรงแปลงใหม่
หน้าที่ ๒ มีข้อความว่า
๏ พระสมุดรามเกียรเรื่องท้าวมาลีวะราช พิภาคษาความ จนทศกรรเข้าเมือง } ๓ ๚๛
หน้าที่ ๓ มีข้อความว่า
๏ วัน ๑ ๑+ ๖ ค่ำจุลศักราช ๑๑๓๒ ปีขารโทศก พระราชนิพนททรงแต่งชั้นต้นเปนประถม ยัง ทราม ภอดี } อยู่ ๚๛
หน้าปลาย มีข้อความว่า ๏ ๚ สมุด ๓ หา ๔ ๚ ๚๛
สมุดไทย เล่ม ๔
สมุดไทยดำ ชุบเส้นทอง เอกสารเลขที่ ๕๓๒ หอพระสมุดฯ ซื้อจากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๙
หน้าต้น มีข้อความว่า
๏ พระสมุดรามเกียรเรื่อง ทศกรรฐต้งงพิทธีซายกรด พระลักษต้องหอกกระบิละพัด } จนผูกผม ๔ ๚๛
หน้าที่ ๒ มีข้อความว่า
๏ วัน๑ +๘ ๑๒ ค่ำ จุลราช ๑๑๔๒ ปีขารโทศก พระราชนิพน
ทรงแต่งชั้นต้น เปนประถมยัง ทราม ภอดี } อยู่ ๚๛
หน้าปลาย มีข้อความว่า
๏ วัน ๑ +๘ ๑๒ ค่ำจุลศักราช ๑๑๔๒ ปีชวดโทศก
ข้าพระพุทธิเจ้านายบุญจันอาลักษณชุบเส้นทอง
ข้าพระพุทธิเจ้า ขุนสรปรเสริด ขุนมหาสิท } ทาน ๓ ครั้ง ๚๛
สมุดไทย เล่ม ๕
สมุดไทยดำ ชุบเส้นหรดาล เอกสารเลขที่ ๕๓๓ สมบัติของหอพระสมุดฯ
หน้าต้น มีข้อความว่า
วัน ๖ +๗ ๑๑ ค่ำจุลศักราช ๑๑๔๒ ปีชวดโทศก
ข้าพระพุทธิเจ้านายบุญจันอาลักษณชุบ ขุนสรประเสริด ขุนมหาสิทธิ } ทาน ๓ ครั้ง ๚๛
๏ ข้างในทานกับฉบับข้างที่แล้ว ๓ ครั้ง ๚๛
เนื้อความพระราชนิพนธ์ในสมุดเล่มนี้เหมือนกับสมุดเล่ม ๔
สมุดไทยเล่ม ๑ เล่ม ๒ เล่ม ๓ และเล่ม ๔ ระบุวันเดือนปีที่ทรงพระราชนิพนธ์ตรงกันทุกเล่มคือ วันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้นค่ำ ๑ จุลศักราช ๑๑๓๒ (พุทธศักราช ๒๓๑๓) อันเป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ส่วนวันเดือนปีที่ชุบสมุดไทยนั้นต่างกัน คือ ฉบับชุบเส้นทองเล่ม ๑ เล่ม ๒ และเล่ม ๔ ชุบเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ แรม ๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๒ (พุทธศักราช ๒๓๒๓) ก่อนสิ้นรัชกาล ๒ ปี ส่วนสมุดเส้นทองเล่ม ๓ ไม่ปรากฏวันเดือนปีที่ชุบ สมุดไทยเล่ม ๕ ชุบเส้นหรดาล มีเนื้อความตรงกับสมุดไทย เล่ม ๔ สมุดไทยเล่ม ๕ นี้น่าจะเป็นฉบับต่างสำรับกับฉบับชุบเส้นทอง หลักฐานที่ระบุไว้ในสมุดไทยเล่ม ๕ นั้นแสดงว่า มีพระราชนิพนธ์ฉบับข้างที่อยู่ครบทุกเล่มก่อนที่จะมีฉบับชุบเส้นทอง
สมุดไทยเล่ม ๕ ซึ่งชุบเส้นหรดาลและมีเนื้อหาพระราชนิพนธ์ตรงกับสมุดไทยเล่ม ๔ ชุบเมื่อวันศุกร์ เดือน ๗ แรม ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๒ (พุทธศักราช ๒๓๒๓) ก่อนที่จะชุบฉบับเส้นทองและระบุว่า “ทานกับฉบับข้างที่แล้ว” ดังนั้นบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงน่าจะมี “ฉบับข้างที่” หรือฉบับหลวงส่วนพระองค์อยู่ก่อนที่จะชุบฉบับเส้นทองกับฉบับเส้นหรดาล ของหอสมุดแห่งชาติ ดังนั้นเอกสารฉบับชุบเส้นทองเล่ม ๑ ซึ่งเก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดประจำรัฐแห่งกรุงเบอร์ลิน จึงเป็นเอกสารสำรับเดียวกันกับฉบับชุบเส้นทอง เล่ม ๒ เล่ม ๓ และเล่ม ๔ ที่อยู่ในหอสมุดแห่งชาติ
นามอาลักษณ์ผู้ชุบเส้นทองคือ สมุดไทยเล่ม ๑ นายเชด สมุดไทยเล่ม ๒ นายสัง สมุดไทยเล่ม ๓ ไม่ปรากฏนามผู้ชุบและผู้ทาน แต่พิจารณาจากลายมือแล้วน่าจะเป็นบุคคลที่ชุบสมุดไทย เล่ม ๒ สมุดไทยเล่ม ๔ นายบุญจัน และสมุดเล่มไทยเล่ม ๕ ชุบเส้นหรดาลนายบุญจันเป็นผู้ชุบ ส่วนผู้ทานมี ๒ ท่าน คือ ขุนสรประเสริด (ขุนสรประเสริฐ) และขุนมหาสิท (ขุนมหาสิทธิโวหาร) นามของข้าราชการสังกัดกรมพระอาลักษณ์ที่ปรากฏหลายท่าน น่าจะได้รับราชการต่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เช่น พระอาลักษณ์บุญจัน ผู้แต่งโคลงธรรมสุภาษิตทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๑ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๘
เนื้อความในสมุดไทย “บทละครเรื่องรามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ตรวจสอบต้นฉบับคราวนี้ ประกอบด้วย
สมุดไทยเล่ม ๑ ศึกสัทธาสูร วิรุญจำบัง จับเรื่องตั้งแต่ทศกัณฐ์ใช้นนทจิตรกับนนทไพรี เป็นทูตไปเชิญสัทธาสูร เจ้ากรุงอัษฎงค์ และวิรุญจำบัง เจ้ากรุงจารึกให้มาช่วยรบกับพระรามและพลวานร เริ่มความในบทพระราชนิพนธ์ว่า
มาจะกล่าวบทไป | ถึงนนทจิตรยักษี |
กับอสูรนนทไพรี | สองศรีไปคนละพารา |
สัทธาสูรและวิรุญจำบังยกกองทัพมาถึงกรุงลงกา ทศกัณฐ์จัดเลี้ยงต้อนรับกองทัพสัมพันธมิตรอย่างเอิกเกริก สัทธาสูรยกทัพออกไปรบถูกหนุมานฆ่าตาย ฝ่ายวิรุญจำบังซึ่งยกเป็นทัพหนุนขี่ม้ากำบังกายเข้าเข่นฆ่าไพร่พลวานร พระรามแผลงศรเป็นข่ายเพชรล้อมไว้ วิรุญจำบังเห็นว่าตนเองจะพ่ายแพ้จึงผูกผ้าพยนต์ให้รบแทนตน แล้วหนีไปซ่อนกายในฟองน้ำที่มหาสมุทรเชิงเขาอังกาศ พระรามให้หนุมานออกติดตามได้พบกับนางวานริน ซึ่งเป็นนางฟ้าถูกพระอิศวรสาปให้ลงมาคอยบอกทางแก่หนุมาน กระทั่งหนุมานได้พบและเกี้ยวนางวานริน หมดความในหน้าสมุดสุดท้ายเป็นบทที่นางวานรินกล่าวเย้ยหยันหนุมาน คือ
ฉิฉะดูกรเจ้ายิ่งผู้ | ข้าต้องสาปอยู่พระคูหา |
แม้นดีจงมีเมตตา | ช่วยแก้ร้อนข้าอันราคี |
ให้คืนยังอิศวรบรมนาถ | คุงบาทรองเบื้องบทศรี |
ข้าจึงจะเห็นเป็นดี | ถ้าฉะนี้จะเชื่อวาจา |
สมุดไทยเล่ม ๒ หนุมานเกี้ยวนางวานรินจนท้าวมาลีวราชมา บทพระราชนิพนธ์ในหน้าสมุดแรก เป็นตอนนางวานรินกล่าวเย้ยหยันหนุมาน คำกลอนแรกรับสัมผัสกับคำกลอนสุดท้ายของสมุดไทยเล่ม ๒
ฝ่ายข้าก็เห็นสุดที่ | ฉิเจ้าคนดีมุสา |
อย่าโป้ปดคดคิดเจรจา | ไม่สบายวิญญาอย่ายายี |
ในที่สุดหนุมานได้นางวานรินเป็นภรรยา นางบอกทางให้หนุมานตามไปจนพบวิรุญจำบัง เมื่อสังหารวิรุญจำบังแล้วหนุมานก็ส่งนางวานรินกลับคืนสู่สวรรค์และนำศีรษะของวิรุญจำบังไปถวายพระราม
ครั้นทศกัณฐ์ทราบข่าวว่าสัทธาสูรและวิรุญจำบังพ่ายแพ้ถึงแก่ความตาย จึงให้นนยุเวกกับวายุเวกไปเชิญท้าวมาลีวราชมหาพรหมซึ่งมีศักดิ์เป็นอัยกาของตนและมีวาจาสิทธิ์ เพื่อขอให้สาปพระรามกับพระลักษณ์ให้พ่ายแพ้แก่ตน ท้าวมาลีวราชเป็นสหายกับท้าวอัชบาลอัยกาของพระราม เห็นว่าทั้งพระรามและทศกัณฐ์ต่างก็มีศักดิ์เป็นหลาน จึงเดินทางมาไกล่เกลี่ยตัดสินคดียังสมรภูมิ ให้เชิญพระรามมาไต่สวนคดีด้วย บทพระราชนิพนธ์ในสมุดไทยเล่ม ๒ หน้าสุดท้ายจบลงตอนที่ท้าวมาลีวราชถามพระราม ความว่า
ครั้นเห็นลักษ์รามเรืองไชย | ท้าวไทเพ่งพิจรณา |
องค์อัคคอ้อนแอ้นทั้งสอง | ผ่องแผ้วผิวนิลวัตถา |
เรืองรุทรสุดเลิศลักขณา | เหมือนมหาอัชบาลสหายกู |
จึงเอื้อนอรรถโองการปราศรัย | เหตุใดเวียงไชยเจ้าไม่อยู่ |
สมุดไทยเล่ม ๓ ตอนท้าวมาลีวราชพิพากษาความ จนทศกัณฐ์เข้าเมือง ความในบทพระราชนิพนธ์เริ่มคำกลอนแรกต่อเนื่องจากสมุดไทยเล่ม ๒ คือ
มาเที่ยวไพรไยทั้งคู่ | เกิดรบสู้กันด้วยอันใด |
เมื่อนั้น | พระรามสูริวงศ์เป็นใหญ่ |
จึงทูลแถลงแจ้งไป | ซึ่งมาอยู่ใบพนาลี |
ด้วยพระบิตุรงค์ทรงไชย | ให้สัตย์นางไกยเกษี |
ขอให้พระพรตผ่านบุรี | ให้ข้านี้บวชอยู่ไพร |
ท้าวมาลีวราชไต่สวนสอบถามความจากทศกัณฐ์และพระราม และให้นำนางสีดามาให้การด้วย เหล่าเทพยดาต่างให้การเป็นพยานว่าพระรามเป็นฝ่ายถูก ท้าวมาลีวราชจึงพิพากษาให้ทศกัณฐ์ส่งนางสีดาคืนแก่พระราม ทศกัณฐ์ไม่ยอมท้าวมาลีวราชจึงสาปให้พ่ายแพ้พระราม ทศกัณฐ์กลับเข้ากรุงลงกาปรึกษานางมณโฑคิดจะเอาชนะพระรามและแก้แค้นเหล่าเทวดาที่พากันเข้าข้างพระราม จึงตั้งพิธีชุบหอกกระบิลพัทและเผารูปเทวดาที่หาดทรายกรดเชิงเขาพระสุเมรุ
ความในสมุดไทยเล่ม ๓ หน้าสุดท้ายจบพระราชนิพนธ์ลงตอนที่ทศกัณฐ์และนางมณโทออกท้องพระโรงเตรียมสั่งให้เสนายักษ์ตั้งโรงพิธี
แก้วเอยเจ้าแก้วตา | มาไปพระโรงไชยศรี |
เรียกพลางทางพาจรลี | ออกที่พระโรงหมีช้า |
สมุดไทยเล่ม ๔ ตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด พระลักษณ์ต้องหอกกระบิลพัท จนผูกผม ความในบทพระราชนิพนธ์เริ่มคำกลอนแรกเมื่อทศกัณฐ์ออกท้องพระโรง เตรียมให้ตั้งพิธีที่หาดทรายกรด
จึ่งตรัสแก่หมู่อสูรราช | ประภาษแก่มารยักษา |
ทั้งพวกอำมาตย์เสนา | กูได้มหารูจี |
ท่านเร่งเกษมเปรมใจ | อย่าครั่นคร้ามขามใครยักษี |
อันลักษ์แลรามขุนกระบี่ | น่าที่จะม้วยพิราลัย |
ทศกัณฐ์ตั้งพิธีชุบหอกกระบิลพัทและเผารูปเทวดาที่หาดทรายกรดเชิงเขาพระสุเมรุ หากครบ ๓ วัน หอกกระบิลพัทจะมีอานุภาพมากและเทวดาจะพากันตายหมด พระอินทร์และเทวดาทั้งหลายพากันไปเฝ้าพระอิศวรขอให้ช่วยแก้ไข พระอิศวรจึงให้เทพบุตรพาลี เนรมิตกายเป็นพาลีทำลายพิธีของทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์สู้เทพบุตรพาลีไม่ได้ก็เสียพิธีหนีกลับเข้ากรุงลงกา
นางมณโฑคิดว่าพิเภกเป็นต้นเหตุของความพ่ายแพ้ บอกความลับของฝ่ายทศกัณฐ์แก่พระราม ขอให้ทศกัณฐ์กำจัดพิเภกก่อนจึงจะได้ชัยชนะพระราม ทศกัณฐ์ยกออกรบกับพระรามและหมายพุ่งหอกกระบิลพัทฆ่าพิเภก แต่พิเภกหลบอยู่ข้างหลังพระลักษณ์ หอกจึงพลาดไปต้องพระลักษณ์
พิเภกขอให้หนุมานไปเก็บยาแก้หอกกระบิลพัทซึ่งประกอบด้วย สังกรณีตรีชวา มูลโคอุสุภราช แม่หินบดยาที่พญากาลนาคเมืองบาดาล และลูกหินบดยาซึ่งทศกัณฐ์ทำเป็นเขนยรองบรรทมที่ปราสาทในกรุงลงกา
หนุมานเก็บยาทุกอย่างได้ครบ และลอบสะกดเข้าไปขโมยลูกหินบดยา ขณะที่ทศกัณฐ์กับนางมณโฑหลับสนิทด้วยอานุภาพมนตร์สะกด หนุมานผูกผมทศกัณฐ์กับนางมณโฑเข้าด้วยกันและสาปว่า จะแก้ได้ต่อเมื่อนางมณโฑชกศีรษะทศกัณฐ์ผมที่ผูกไว้จึงจะหลุดออกและเขียนวิธีแก้ไว้ที่หน้าผากของทศกัณฐ์ ครั้นรุ่งเช้าทศกัณฐ์ตื่นขึ้น เส้นผมติดกับนางมณโฑแก้ไขอย่างไรก็ไม่สำเร็จ จึงให้ไปนิมนต์พระฤษีโคบุตรอาจารย์ของตนมาแก้ไข พระฤษีเห็นข้อความบนหน้าผากจึงให้นางมณโฑชกศีรษะของทศกัณฐ์ ผมที่ผูกไว้ก็หลุดออก
จากนั้นพระฤษีทำพิธีลอยบาปสะเดาะเคราะห์ให้ทศกัณฐ์ และทศกัณฐ์ให้พระวิษณุกรรมมาซ่อมปราสาทที่ได้รับความเสียหายจากอิทธิฤทธิ์ของหนุมาน พระราชนิพนธ์ในหน้าสุดท้ายจบลงตอนที่
เทวานิมิตตามจิตไป | บัดใจก็แล้วทันที |
ครั้นเสร็จแล้วอำลา | เหาะมาฟากฟ้าราศี |
ฝ่ายทศกรรฐ์์อสุรี | มีมโนในนิ่งจินดา |
พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ตามที่ปรากฏในสมุดไทยทั้ง ๔ เล่มน่าจะจบเพียงเท่านี้เพราะหากมีเนื้อความต่อไปมักมีข้อความบอกตอนท้ายเล่มสมุดว่า “พระสมุด ๑ หา ๒” หรือ “สมุด ๓ หา ๔” แต่เมื่อหมดหน้าสุดท้ายเล่ม ๔ แล้ว ไม่ปรากฏข้อความใดๆ ที่แสดงว่ายังมีพระราชนิพนธ์เล่มต่อไปอีก
ประวัติเอกสารต้นฉบับสมุดไทยชุบเส้นทองเล่ม ๒ เล่ม ๓ และเล่ม ๔ ที่เก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ ระบุว่า สมุดไทยทั้ง ๓ เล่ม หอพระสมุดฯ ซื้อจากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๙ หม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ เป็นทายาทที่สืบเชื้อสายมาจากหม่อมเจ้าปิยภักดีนารถ สุประดิษฐ์ ซึ่งเป็นนักสะสมหนังสือเก่าผู้มีชื่อเสียงเกียรติคุณในสมัยรัชกาลที่ ๕ ประกอบกับหม่อมเจ้าปิยภักดีนารถ ทรงเป็นโอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย ซึ่งเป็นนัดดาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ดังนั้นต้นฉบับสมุดไทยพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ สำรับที่ชุบเส้นทองทั้ง ๔ เล่ม น่าจะเป็นของหม่อมเจ้าปิยภักดีนารถและเป็นสมบัติตกทอดมาในสายราชสกุลสุประดิษฐ์ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า สมุดไทยชุบเส้นทองเล่ม ๑ มีการซื้อขายไปก่อนที่หม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ ขายเล่มที่เหลืออยู่ให้แก่หอพระสมุดฯ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๙ สมุดไทยเล่มดังกล่าวจึงพลัดพรายไปอยู่ที่หอสมุดประจำรัฐแห่งกรุงเบอร์ลิน
ส่วนต้นฉบับสมุดไทยพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอน พระมงกุฎ เมื่อตรวจสอบคราวนี้ไม่พบต้นฉบับ จึงพิมพ์ตามฉบับที่อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ ตรวจสอบไว้ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๔
บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ตรวจสอบต้นฉบับคราวนี้ ได้ปรับปรุงอักขรวิธีบางส่วน เพื่อประโยชน์แก่นักเรียนนักศึกษา ทั้งนี้ บางส่วนได้คงอักขรวิธีไว้ตามเดิม เพื่อให้ผู้ศึกษาได้เห็นพัฒนาการของอักขรวิธีและการใช้คำ เช่น “พระลักษณ์” “สีดา” “ทศกัณฐ์” ในเอกสารต้นฉบับพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีใช้ว่า “ลักษ” “ษีดา” และ “ทศกรรฐ” เกือบทุกแห่ง ซึ่งหากเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ใช้ “ลักษณ์” “สีดา” และ “ทศกรรฐ์” เป็นส่วนมาก และหากเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ใช้ “ลักษมณ์” “สีดา” และ “ทศกัณฐ์” คำว่า “มิ” เช่น “มิได้” “มิใช่” ต้นฉบับใช้ว่า “หมีได้” หรือ “หมีใช่” เกือบทุกแห่ง หากปรับอักขรวิธีเป็น “มิ” แล้ว บางจุดมีสัมผัสสระกับวรรคหน้าจะทำให้เสียงสัมผัสเสียไป จึงคงไว้ตามเดิม เช่น
ลางบ้างก็ทูลเฉลย | ไม่เกรงเลยแค่หมู่กระบี่ศรี |
จะคาเขี้ยวเคี้ยวให้ธุลี | หมีให้เหลือเลยอย่าสงกา |
คำว่า “ชัย” กับ “ไชย” มีความหมายต่างกัน แต่ต้นฉบับชุบเส้นทองใช้ “ไชย” เกือบทุกแห่ง ในการตรวจสอบคราวนี้ใช้ “ชัย” กับบริบทที่ใช้กับคำกริยา หมายถึง “ชนะ” เช่น ชิงชัย เป็นต้น และใช้ “ไชย” ในบริบทที่ใช้กับคำนาม หมายถึง “ดี ประเสริฐ” เช่น บัญชรไชย วิมานไชย เป็นต้น
อนึ่ง ในการพิมพ์คราวนี้นำสำเนาเอกสารสมุดไทย ฉบับชุบเส้นทอง ทั้ง ๔ เล่มมาพิมพ์ไว้ด้วย เพื่อให้ผู้ศึกษาได้เห็นรูปแบบตัวอักษรและอักขรวิธีอันเป็นแบบแผนของราชสำนักสมัยกรุงธนบุรี และเป็นการรักษามรดกสำคัญของชาติให้คงอยู่สืบไป