คำนำ

บทละครเรื่อง “ระเด่นลันได” นี้ เป็นวรรณคดีสำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีเค้าโครงเรื่องมาจากชีวิตจริงของแขกขอทานชื่อ ลันได อาศัยอยู่ใกล้โบสถ์พราหมณ์ บริเวณหน้าวัดสุทัศนเทพวราราม ต่อมาแขกขอทานเกิดวิวาทกับแขกเลี้ยงวัวด้วยเรื่องแย่งหญิงสาว ผู้คนต่างเห็นเป็นเรื่องขบขัน พระมหามนตรี (ทรัพย์) ทราบเรื่องจึงนำมาแต่งเป็นกลอนบทละคร โดยใช้ถ้อยคำสำนวนล้อเลียนบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เนื่องจากปรากฏคำว่า “ระเด่น”“วงศ์อสัญแดหวา” “ตุนาหงัน” ตลอดจนการใช้คำราชาศัพท์อื่นๆ ทั้งที่ตัวละครในเรื่องเป็นเพียงสามัญชน นับเป็นเรื่องแปลกกว่าวรรณคดีเรื่องอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกัน และมีผู้นิยมอ่านแพร่หลายตลอดมา

ด้านประวัติการพิมพ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายไว้ในคำนำหนังสือบทละครเรื่อง “ระเด่นลันได” ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๓ ว่าเดิมเคยมีผู้พิมพ์บทละครเรื่องนี้มาก่อนแล้ว แต่หนังสือมีความคลาดเคลื่อนและแต่งแทรกเพิ่มเติมมาก กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณจึงได้ตรวจสอบชำระต้นฉบับใหม่ แล้วโปรดให้พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก ในงานยืนชิงช้า เมื่อปีวอก พุทธศักราช ๒๔๖๓ ต่อมามีผู้ขออนุญาตพิมพ์เผยแพร่อีกหลายครั้ง โดยในครั้งนี้ได้จัดทำตามฉบับ พ.ศ. ๒๔๖๓ โดยปรับอักขรวิธีบางส่วนให้ใกล้เคียงกับปัจจุบัน พร้อมทั้งนำ “อธิบายบทละคร เรื่องระเด่นลันได” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มาพิมพ์ไว้ต่อจากคำนำนี้

กรมศิลปากรหวังว่าหนังสือบทละครเรื่อง “ระเด่นลันได” จะอำนวยคุณประโยชน์ให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ผู้สนใจโดยทั่วกัน

อธิบดีกรมศิลปากร

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ