อธิบายบทละครเรื่องระเด่นลันได

บทละครเรื่องระเด่นลันได ถ้าอ่านโดยไม่ทราบเค้ามูลก็คงจะเข้าใจว่า เป็นบทแต่งสำหรับเล่นละครตลก แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น หนังสือเรื่องระเด่นลันไดนี้ที่แท้เป็นจดหมายเหตุ หากผู้แต่งประสงค์จะจดให้ขบขันสมกับเรื่องที่จริง จึงแกล้งแต่งเป็นบทละครสำหรับอ่านกันเล่น หาได้ตั้งใจจะให้ใช้เป็นบทละครไม่

เรื่องระเด่นลันไดเป็นหนังสือแต่งในรัชกาลที่ ๓ เล่ากันมาว่าครั้งนั้นมีแขกคนหนึ่งชื่อลันได ทำนองจะเป็นพวกฮินดูชาวอินเดีย ซัดเซพเนจรมาอาศัยอยู่ที่ใกล้โบสถ์พราหมณ์ในกรุงเทพฯ เที่ยวสีซอขอทานเขาเลี้ยงชีพเป็นนิจ พูดภาษาไทยก็มิใคร่ได้ ห้ดร้องเพลงขอทานได้เพียงว่า “สุวรรณหงส์ถูกหอกอย่าบอกใคร บอกใครก็บอกใคร” ร้องทวนอยู่แต่เท่านี้ แขกลันไดเที่ยวขอทาน จนคนรู้จักกันโดยมาก ในครั้งนั้นมีแขกอีกคน ๑ เรียกกันว่าแขกประดู่ ทำนองก็จะเป็นชาวอินเดียเหมือนกัน ตั้งคอกเลี้ยงวัวนมอยู่ที่หัวป้อม (อยู่ราวที่สนามหน้าศาลสถิตยุติธรรมทุกวันนี้) มีภรรยาเป็นหญิงแขกมลายู ชื่อประแดะ อยู่มาแขกลันไดกับแขกประดู่เกิดวิวาทกันด้วยเรื่องแย่งหญิงมลายูนั้นโดยทำนองที่กล่าวในเรื่องละคร คนทั้งหลายเห็นเป็นเรื่องขบขันก็โจษกันแพร่หลาย พระมหามนตรี (ทรัพย์) ทราบเรื่องจึงคิดแต่งเป็นบทละครขึ้น

พระมหามนตรี (ทรัพย์) นี้ เป็นกวีที่สามารถในกระบวนแต่งกลอนแปด จะหาตัวเปรียบได้โดยยาก แต่มามีชื่อเสียงโด่งดังในการแต่งกลอนต่อเมื่อถึงแก่กรรมแล้ว เพราะเมื่อมีชีวิตอยู่ ไม่ใคร่พอใจแต่งโดยเปิดเผย หนังสือซึ่ง พระมหามนตรี (ทรัพย์) ได้ออกหน้าแต่งมีปรากฏแต่โคลงฤๅษีตัดตนบท ๑ กับเพลงยาวกลบทชื่อกบเต้นสามตอน (ซึ่งขึ้นต้นว่า “เจ็บคำจำคิดจิตขวย”) บท ๑ เท่านั้นที่พระมหามนตรี (ทรัพย์) มีชื่อเสียงสืบต่อมาจนรัชกาลหลังๆ เพราะแต่งหนังสืออีก ๒ เรื่อง คือ เพลงยาว แต่งว่าพระยามหาเทพ (ทองปาน) เมื่อยังเป็นจมื่นราชามาตย์ เรื่อง ๑ กับบทละครเรื่องระเด่นลันไดนี้เรื่อง ๑

เพลงยาวว่าพระยามหาเทพ (ทองปาน) นั้น เล่ากันมาว่าเป็นแต่ลอบแต่ง แล้วเขียนมาปิดไว้ที่ทิมดาบตำรวจในพระบรมมหาราชวัง ผู้อื่นเห็นก็รู้ว่าเป็นฝีปากพระมหามนตรี (ทรัพย์) แต่ไม่มีผู้ใดฟ้องร้องว่ากล่าว มีแต่ผู้ลอกคัดเอาไป (แล้วเห็นจะเลยฉีกทิ้งต้นหนังสือเสีย จึงไม่เกิดความฐานทอดบัตรสนเท่ห์) ด้วยครั้งนั้นมีคนชังพระยามหาเทพ (ทองปาน) อยู่มากด้วยกัน เพลงยาวนั้นก็เลยแพร่หลาย หอพระสมุดได้พิมพ์เพลงยาวนั้นไว้ในหนังสือวชิรญาณวิเศษเล่ม ๓ ประจำปีกุน จุลศักราช ๑๒๔๙ (พ.ศ. ๒๔๓๐)

ส่วนบทละครเรื่องระเด่นลันได เหตุที่แต่งเป็นดังอธิบายมาข้างต้น ถ้าท่านผู้อ่านสังเกตจะเห็นได้ว่าทางสำนวนแต่งดี ทั้งกระบวนบทสุภาพ แลวิธีเอาถ้อยคำขบขันเข้าสอดแซม บางแห่งกล้าใช้สำนวนต่ำช้าลงไปให้สมกับตัวบท แต่อ่านก็ไม่มีที่จะเขินเคอะในแห่งใด เพราะฉะนั้นจึงเป็นหนังสือซึ่งชอบอ่านกันแพร่หลาย ตั้งแต่แรกแต่งตลอดมาจนรัชกาลหลังๆ นับถือกันว่าเป็นหนังสือกลอนชั้นเอกเรื่อง ๑

บทละครเรื่องระเด่นลันไดนี้ มีผู้ได้เคยพิมพ์มาแล้ว แต่ฉบับที่พิมพ์มาแต่ก่อนวิปลาสคลาดเคลื่อน แลมีผู้อื่นแต่งแทรกแซมเพิ่มเติมอีกเป็นอันมาก จนวิปริตผิดรูปฉบับเดิม กรรมการหอพระสมุดฯ เห็นว่าบทละครเรื่องระเด่นลันไดนับว่าเป็นเรื่องสำคัญในหนังสือกลอนไทยเรื่อง ๑ ซึ่งสมควรจะรักษาไว้ให้บริสุทธิ์ จึงได้พยายามหาฉบับมาแต่ที่ต่างๆ สอบชำระแล้วพิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้

แต่เสียดายอยู่ที่บทตอนท้ายในเล่มนี้ ยังขาดฉบับเดิมอยู่สักสามฤๅสี่หน้ากระดาษ เนื้อเรื่องที่ขาดเพียงใดจะอธิบายบอกไว้ข้างท้ายเล่มสมุด เผื่อท่านผู้ใดมีฉบับบริบูรณ์ ถ้ามีแก่ใจคัดส่งมายังหอพระสมุดฯ ฤๅให้ยืมต้นฉบับมาให้หอพระสมุดฯ คัดได้ จะขอบพระคุณเป็นอันมาก

สภานายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๓

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ