เล่ม ๓
(เล่ม ๓ นี้เปนตอน ๑ ต่างหาก ความไม่ต่อเล่ม ๒)
ช้า
๒๖๒๓๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์เรืองศรี |
แต่เสวยสวรรยามากว่าปี | เมื่อเหตุจะมีถึงสีดา |
เสด็จเหนือแท่นแก้วแพรวพรรณ | ที่ท้องพระโรงคัลข้างน่า |
ตรัสประภาษราชการภารา | ด้วยพระอนุชาเสนาใน |
วันนั้นบันดาลให้ดลจิตร | พระทรงฤทธิ์คิดจะไปป่าใหญ่ |
ครั้นจะชวนนางสีดาพาไป | อรไทยเทวีก็มีครรภ์ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๒๖๒๔๏ จึ่งตรัสสั่งเสนาสามนต์ | ให้ตรวจเตรียมพหลพลขันธ์ |
เรากับอนุชาวิลาวรรณ | จะจรจรัลไปชมพนาวา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๖๒๕๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนีมียศถา |
รับสั่งบังคมแล้วออกมา | จัดแจงโยธาพลากร |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๒๖๒๖๏ เกณฑ์กระบวนถ้วนตามพยุหบาตร | อย่างประพาศหิมวามาแต่ก่อน |
พวกทหารสันทัดอัศดร | ฝึกสอนธนูยิงแม่นยำ |
กรมข้างขี่ช้างระวางเพรียว | แรงเรี่ยวควาญหมอถือขอคร่ำ |
ทหารทวนล้วนใส่เสื้อดำ | นั่งประจำตามกระบวนบาญชี |
ทนายปืนพื้นเสื้อสักลาด | เอวคาดคันชีบกำมหยี่ |
ตำรวจเรียงเคียงข้างรถมณี | ล้วนตะพายสายกระบี่บั้งทอง |
พรั่งพร้อมโยธาน่าหลัง | เตรียมรถพระที่นั่งทั้งสอง |
สารวัดเที่ยวตรวจทุกหมวดกอง | คับคั่งทั้งท้องสนามใน |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๒๖๒๗๏ เมื่อนั้น | พระหริวงษ์ทรงภพสบไสมย |
จึ่งชวนอนุชาคลาไคล | เสด็จไปสรงชลบนเตียง |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๒๖๒๘๏ พนักงานไขสุหร่ายสายสินธุ์ | น้ำดอกไม้เทศประทิ่นกลิ่นเกลี้ยง |
ทรงสุคนธ์ปนปรุงชมดเชียง | นางในหมอบเมียงอยู่งานพัด |
สอดใส่สนับเพลาเพราผจง | ภูษาทรงพื้นแดงแย่งครุธอัด |
ฉลององค์โหมดสุวรรณกระสันรัด | ชายแครงแกว่งกวัดสบัดปลาย |
ปั้นเหน่งเพ็ชรไพโรจน์โชติช่วง | ทับทรวงสร้อยสังวาลประสานสาย |
ทองกรแก้วกุดั่นพรรณราย | ธำมรงค์จำหลักลายลงยา |
ทรงมหามงกุฎบุษรัตน์ | กรีดพระหัดถ์ห้อยห่วงพวงบุบผา |
ต่างจับศรสิทธิฤทธา | เสด็จมาเกยสุวรรณทันใด |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
ร่าย
๒๖๒๙๏ ขึ้นทรงรถแก้วสุรการ | ทวยหาญกราบก้มบังคมไหว้ |
ให้คลายคลี่รี้พลสกลไกร | ตรงไปไพรวันอรัญวา |
ฯ ๒ คำ ฯ กราวนอก เชิด
ชมดง
๒๖๓๐๏ ครั้นถึงหิมวาพนาเวศ | ทอดพระเนตรชมพรรณพฤกษา |
ร่มรังบังแสงสุริยา | มรคารื่นราบดังปราบไว้ |
รุกขชาติดาษดกดอกดวง | เปนพวงพวงห้อยย้อยอยู่ไสว |
ปรางประยงคุ์ทรงผลทุกต้นไป | ลำไยร่วงหล่นลงบนทราย |
พวกทหารโน้มน้าวสาวกิ่ง | หักพวงช่วงชิงกันถวาย |
บ้างพบผึ้งร่วงมะม่วงทวาย | เก็บได้ให้นายเอาหน้าตา |
พระทรงฤทธิ์พิศพรรณมิ่งไม้ | แสนสำราญฤไทยมาในป่า |
แล้วให้เคลื่อนเลื่อนรถรอมา | ตามแนวมรคาพนาลี |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๒๖๓๑๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามเหษี |
ครั้นพระทรงศักดิจักรี | จรลีไปประพาศพนาวา |
นางสถิตย์แท่นแก้วแพรวพรรณ | ฝูงกำนัลแวดล้อมพร้อมหน้า |
เมื่อจะจากพรากพลัดภัศดา | ด้วยเวลาจำเภาะเจาะจง |
พเอิญให้อาวรณ์ร้อนฤไทย | คิดจะใคร่ไปชำระสระสรง |
จึ่งชวนสาวสุรางค์นางอนงค์ | ลีลาศลงสู่ท่าชลาไลย |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลงช้า
๒๖๓๒๏ ครั้นถึงฉนวนน้ำตำหนักแพ | สายกระแสชลเชี่ยวเลี้ยวไหล |
นางทรงผลัดภูษาผ้าสไบ | อรไทยลงสรงคงคา |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
พระทอง
๒๖๓๓๏ ชำระสระสนานนที | กรีดพระหัดถ์ขัดสีมังษา |
วักวารีลูบภักตรา | ชุ่มแช่กายาเย็นสบาย |
เหล่าพวกสาวสรรค์กำนัลนาง | ต่างต่างเล่นน้ำดำว่าย |
บ้างสัพยอกหยอกเพื่อนเหมือนชาย | ยิ้มพรายชายตาหากัน |
ลางนางบ้างชวนกันเล่นไล่ | คว้าไขว่เลี้ยวลัดสกัดกั้น |
บ้างเรื่อยร้องทำนองโอดพัน | เกษมสันต์ทุกหน้านารี |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลงฉิ่ง
ร่าย
๒๖๓๔๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงนางอดูลยักษี |
สิงสู่อยู่ในนที | อสุรีเปนวงษ์เจ้าลงกา |
รู้ว่าสีดายุพาพาล | มาสรงสนานวารินที่ตีนท่า |
มีความโมหันธ์ฉันทา | อิจฉาพยาบาทอยู่ในใจ |
กูจะให้สีดานารี | พลัดพรากสามีให้จงได้ |
คิดแล้วสำแดงแผลงฤทธิไกร | แหวกคงคาไลยขึ้นมา |
ฯ ๖ คำ ฯ คุกภาษ กราวใน
๒๖๓๕๏ ครั้นถึงจึ่งบังกายร่ายเวท | จำแลงแปลงเพศจากยักษา |
นิมิตรเหมือนกำนัลกัลยา | ก็ใส่ไคล้ไคลคลาเข้ามาพลัน |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ เพลง
๒๖๓๖๏ แกล้งทำกิริยาพาที | เหมือนหนึ่งทาษีอยู่ที่นั่น |
หยอกเอินเดินเคียงนางกำนัล | ใครใครไม่ทันสงกา |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๒๖๓๗๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดเสนหา |
ครั้นเสร็จสระสรงคงคา | ก็ลีลาเข้ายังวังใน |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๒๖๓๘๏ นั่งเหนือพระยี่ภู่ปูลาด | ตรัสประภาศพูดจาปราไส |
เล่าถึงทุกข์ยากลำบากใจ | เมื่ออยู่ในลงกาธานี |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๒๖๓๙๏ บัดนั้น | นางอดูลที่แปลงเปนทาษี |
คอยดูเห็นได้ท่วงที | จึ่งทูลเทวีไปทันใด |
เมื่อครั้งโฉมยงอยู่ลงกา | ได้เห็นอสุราฤๅหาไม่ |
เขาว่าน่ากลัวเปนพ้นไป | รูปร่างอย่างไรนางกัลยา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๖๔๐๏ เมื่อนั้น | นางสีดาได้ฟังไม่กังขา |
งวยงงหลงเชื่อวาจา | สำคัญว่าทาษีที่เคยใช้ |
จึ่งว่าทศกรรฐ์นั้นฤๅ | ยี่สิบมือสิบหัวตัวโตใหญ่ |
หูตาน่ากลัวเปนพ้นไป | หยาบคายร้ายใช่พอดี |
ว่าพลางหยิบกระดานชนวนมา | เขียนรูปพระยายักษี |
แล้ววางลงตรงหน้านารี | เช่นนี้และรูปอสุรา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๖๔๑๏ บัดนั้น | สาวสรรค์กำนัลในซ้ายขวา |
แทรกเสียดเบียดกันเข้ามา | ดูรูปเลขาพระยามาร |
ลางนางบ้างว่าน่ากลัว | เนื้อตัวหัวหูดูขันจ้าน |
แขนแมนมากมายพ้นประมาณ | เช่นนี้ขี้คร้านสมาคม |
ซื้อรู้สู้องค์พระจักรา | มอดม้วยมรณาก็สาสม |
ใครไม่ต้องจิตรคิดนิยม | ทั่วทุกสนมกำนัลใน |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๒๖๔๒๏ บัดนั้น | นางอดูลยินดีจะมีไหน |
จึ่งแกล้งกลับกลายหายไป | เข้าสิงในรูปทรงเจ้าลงกา |
ฯ ๒ คำ ฯ รัว
๒๖๔๓๏ บัดนั้น | ฝูงกำนัลตระหนกตกประหม่า |
เห็นนางนั้นหายวับไปกับตา | ประหลาดอยู่ดูน่าอัศจรรย์ |
ลางนางบ้างว่าผีหลอก | พูดไม่ออกความกลัวตัวสั่น |
บ้างหลับตาคว้ากอดเพื่อนกัน | อกใจไหวหวั่นพรั่นเต็มที |
ลางคนลนลานพานขี้ขลาด | ร้องกรีดหวีดหวาดอึงมี่ |
บรรดาเหล่าสาวสนมไม่สมประดี | กลัวผีปิศาจจะขาดใจ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๖๔๔๏ เมื่อนั้น | นางสีดาหวาดจิตรคิดสงไสย |
ชรอยยักษินีผีไพร | มาลวงให้เขียนรูปอสุรา |
แล้วกลับกลายหายไปกับไนยเนตร | จะมีเหตุแม่นมั่นพรั่นหนักหนา |
จึ่งตักน้ำในขันนั้นมา | กัลยาหยิบรูปมาลูบล้าง |
จะลบสักเท่าไรก็ไม่หาย | ยิ่งเห็นเส้นสายแจ้งกระจ่าง |
พวกเหล่าสาวสรรค์กำนัลนาง | ต่างต่างตกใจใช่พอดี |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๒๖๔๕๏ เมื่อนั้น | องค์พระอวตารชาญไชยศรี |
เที่ยวประพาศพฤกษาพนาลี | จนบ่ายชายสีรวีวร |
จึ่งให้กลับโยธาทวยหาญ | ข้ามธารผ่านเนินศิงขร |
เร่งรีบขับรถบทจร | คืนเข้านครอยุทธยา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๒๖๔๖๏ ครั้นถึงเกยแก้วแววไว | เสด็จลงจากพิไชยรัถา |
สอดฉลองพระบาทยาตรา | ลีลาเข้ายังวังใน |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๒๖๔๗๏ เมื่อนั้น | นางสีดานึกพรั่นหวั่นไหว |
จะลบลูบรูปเขียนสักเท่าไร | เส้นสายจะหายไปก็ไม่มี |
ครั้นรู้ว่าเสด็จกลับมา | กัลยาพากระดานชนวนหนี |
เอาซ่อนไว้ใต้แท่นพระจักรี | แล้วเทวีลีลาเข้าห้องใน |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๒๖๔๘๏ เมื่อนั้น | พระอวตารผ่านภพสบไสมย |
ครั้นถึงจึ่งขึ้นปราสาทไชย | ภูวไนยเปลี่ยนเปลื้องเครื่องทรง |
ปิศาจนั้นบันดาลดลจิตร | ให้ทรงฤทธิ์ลืมเลยเสวยสรง |
เสด็จยังแท่นสุวรรณบรรจง | เอนองค์ลงกับที่ไสยา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๖๔๙๏ บัดนั้น | สาวสรรค์กำนัลในซ้ายขวา |
ครั้นพระองค์ทรงฤทธิ์นิทรา | ก็เข้ามาหมอบกรานอยู่งานพัด |
ลางนางนวดฟั้นบั้นพระองค์ | บ้างประจงจับชักหักพระหัดถ์ |
พวกขับไม้ตีนม่านพานสันทัด | ก็ขับกล่อมจอมกระษัตริย์ให้นิทรา |
ฯ ๔ คำ ฯ กล่อม
ช้า
๒๖๕๐๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
บรรธมเหนือแท่นแก้วแววฟ้า | รูปภาพราพนาอยู่ใต้นั้น |
ปิศาจแสร้งแกล้งมายาอาเภท | ให้ภูวเรศวิปริตผิดผัน |
ดังเลือดไรกัดกายระคายคัน | ป่วนปั่นอารมณ์ไม่สมประดี |
จะนิ่งนิทราไปก็ไม่หลับ | แต่พลิกกลับสับสนอยู่บนที่ |
ให้ร้อนรนทั้งสกลอินทรีย์ | เหมือนถูกต้องกองอัคคีมีพิศม์ |
เจ็บแสบแทบประหนึ่งจะพองพัง | แต่ผุดลุกผุดนั่งคลั่งคลุ้มจิตร |
เหลือบเห็นนางในใช้ชิด | พระทรงฤทธิ์ยิ่งกริ้วโกรธา |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๒๖๕๑๏ เหม่เหม่ดูดู๋อีกำนัล | ชวนกันมานั่งลอยหน้า |
แกล้งแต่งจริตกิริยา | มาเย้ยเยาะข้าฤๅว่าไร |
ว่าพลางทางฉวยชักพระขรรค์ | จะพิฆาฏฟาดฟันให้ตักไษย |
กระทืบพระบาทตวาดไป | เลี้ยวไล่สาวสรรค์กัลยา |
ฯ ๔ คำ ฯ
สับไทย
๒๖๕๒๏ อีเอยอีกำนัล | แยบคายขยันหนักหนา |
ดูดู๋แกล้งพา | กันมายั่วเย้า |
ทาแป้งแต่งตัว | หวีหัวจับกระเหม่า |
ไม่อดสูดูเอา | ขืนเฝ้ากวนใจ |
ค้อนควักยักฅอ | เลียนล้อเล่นได้ |
แกว่งพระขรรค์ไชย | เลี้ยวไล่ฟาดฟัน |
ฯ ๖ คำ ฯ
รื้อ
๒๖๕๓๏ ผ่านเอยผ่านฟ้า | เปนไรมาเคืองขุ่นหุนหัน |
ไม่มีโทษทัณฑ์ | ไล่ฟันข้าไย |
เถียงพลางทางวิ่ง | ไม่นิ่งอยู่ได้ |
แล่นเลี้ยวหลีกไป | ตกใจเต็มที |
บ้างร้องหวาดหวีด | หน้าซีดคือผี |
กลัวไภยภูมี | หลบลี้หนีไป |
ฯ ๖ คำ ฯ
รื้อ
๒๖๕๔๏ อีเอยอีสาวสรรค์ | จะห้ำหั่นฟันเสียให้จงได้ |
โทษถึงบรรไลย | ยังไม่รู้ตัว |
เฝ้ามาหัวเราะ | เย้ยเยาะยิ้มหัว |
เอออะไรไม่กลัว | มึงยั่วเย้าใคร |
พระพิโรธโกรธขึ้ง | ดังหนึ่งเพลิงไหม้ |
เงื้อพระแสงแกว่งไกว | เลี้ยวไล่กำนัล |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๒๖๕๕๏ บัดนั้น | สาวสนมนารีไม่มีขวัญ |
วิ่งล้มประทะปะกัน | ความกลัวตัวสั่นไม่สมประดี |
สาวสรรค์กำนัลนางพนักงาน | สับสนอลหม่านอึงมี่ |
เหล่าพวกนั่งยามตามอัคคี | ต่างหนีกระจัดพลัดพราย |
หลวงแม่เจ้าเถ้าแก่จ่าโขลน | วิ่งโดนกันล้มผ้าห่มหาย |
อุตลุดฉุดมือเจ้าขรัวนาย | วุ่นวายวิ่งไขว่ไปมา |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๒๖๕๖๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วแววเวหา |
ไล่พวกสาวสรรค์กัลยา | ใครไม่อาจรอหน้าหนีไป |
พระหยุดนั่งยังเกยแก้วมณี | จะให้หายคลายที่หม่นไหม้ |
ยิ่งร้อนรุ่มกลุ้มกลัดในหัทไทย | ดังเปลวไฟลามลนสกลกาย |
อุส่าห์ฝืนขืนอารมณ์ข่มจิตร | ยิ่งแค้นคิดดาลเดือดไม่เหือดหาย |
กรกุมพระขรรค์แก้วแพร้วพราย | พระเนตรหมายมองดูหมู่กำนัล |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๖๕๗๏ เมื่อนั้น | นางสีดาตระหนกอกสั่น |
อยู่ในห้องมองเห็นพระทรงธรรม์ | คลั่งไคล้ไล่ฟันกำนัลใน |
นางประหวั่นพรั่นจิตรเปนหนักหนา | จะทัดทานภัศดาเห็นไม่ได้ |
คิดพลางทางสั่งสาวใช้ | เร่งไปเชิญพระลักษณ์มาบัดนี้ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๖๕๘๏ บัดนั้น | นางกำนัลประนตบทศรี |
คำนับรับราชเสาวนีย์ | มายังที่ตำหนักพระอนุชา |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๒๖๕๙๏ ครั้นถึงทูลแถลงแจ้งเหตุ | ว่าองค์ภูวเรศเชษฐา |
ให้คลุ้มคลั่งดั่งพิกลกิริยา | นางสีดาให้เชิญเสด็จไป |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๖๖๐๏ เมื่อนั้น | พระลักษณ์รัศมีศรีใส |
ครั้นแจ้งก็ตระหนกตกใจ | จึ่งคลาไคลไปเฝ้านางสีดา |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๒๖๖๑๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาเสนหา |
จึ่งตรัสบอกแก่องค์อนุชา | พระเชษฐานั้นผิดจริตไป |
ให้คลั่งเคลิ้มอารมณ์ไม่สมประดี | จะเข้าที่ไสยาก็หาไม่ |
ไล่พิฆาฏฟาดฟันกำนัลใน | ใครใครไม่หาญรอต่อพระภักตร์ |
ครั้งนี้พี่เห็นก็แต่เจ้า | จงไปเฝ้าเล้าโลมพระทรงศักดิ |
ให้เหือดหายคลายที่ละล่ำละลัก | ขอเชิญพระน้องรักเสด็จไป |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๖๖๒๏ เมื่อนั้น | พระลักษณ์กราบก้มบังคมไหว้ |
รับพระเสาวนีพี่สะใภั | แล้วออกไปเฝ้าองค์พระทรงฤทธิ์ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๒๖๖๓๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์จักรกฤษณ์ |
เหลือบเห็นอนุชาชาญชิต | ก็คืนคิดได้สมประดีมา |
จึ่งตรัสว่าวันนี้พี่ไสยาศน์ | วิปริตผิดประหลาดหนักหนา |
ให้คลั่งคลุ้มรุ่มร้อนในอุรา | ประหนึ่งว่าถูกต้องกองอัคคี |
น้องรักรีบร้นไปค้นดู | แคลงอยู่ฤๅอะไรอยู่ใต้ที่ |
แต่ก่อนไม่เคยเปนเช่นนี้ | เห็นทีจะมีเหตุเภทพาล |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๖๖๔๏ เมื่อนั้น | พระลักษณ์คำนับรับบรรหาร |
จึ่งชวนเหล่าชาวที่พนักงาน | รีบร้นลนลานเข้ามา |
ลดเลี้ยวเที่ยวทั่วมณเฑียรทอง | ถือเทียนเวียนมองส่องหา |
ขึ้นค้นบนพระแท่นแว่นฟ้า | เลิกผ้าลาดยี่ภู่ขึ้นดูพลัน |
ไม่เห็นเลขยันต์สำคัญมี | จึ่งค้นในใต้ที่ขมีขมัน |
แลเห็นกระดานชนวนนั้น | เขียนรูปทศกรรฐ์ซ่อนไว้ |
ชรอยรูปอสุราอาเภท | ให้เกิดเหตุลุกลามเปนความใหญ่ |
ใครหนออาจองทนงใจ | ไม่เกรงไภยสมเด็จพระนารายน์ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๒๖๖๕๏ คิดพลางทางหยบกระดานชนวน | เดินด่วนรีบพามาถวาย |
แล้วทูลแต่ต้นไปจนปลาย | บรรยายให้แจ้งกิจจา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๖๖๖๏ เมื่อนั้น | พระอวตารผ่านภพนาถา |
เห็นรูปทศกรรฐ์เจ้าลงกา | ให้เคืองขัดอัธยาพระภูมี |
จึ่งตรัสถามตั้งกระทู้ขู่ซัก | เหวยอีพวกพนักงานที่ |
คือใครเขียนรูปอสุรี | ไว้ใต้แท่นที่ให้ว่ามา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๖๖๗๏ บัดนั้น | เหล่าพวกงานที่ถ้วนหน้า |
ความกลัวพระราชอาญา | ตกประหม่าไม่เปนสมประดี |
ครั้นจะทูลแถลงให้แจ้งเหตุ | ก็เกรงองค์อัคเรศมเหษี |
แลดูตากันอัญชลี | มิรู้ที่จะว่าขานประการใด |
ครั้นกระทืบพระบาทตวาดซ้ำ | ยิ่งละล่ำละลักหลงใหล |
ให้การซัดเพื่อนเปื้อนไป | มิได้ออกอรรถตามสัจจา |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๒๖๖๘๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดาเสนหา |
เห็นพระพิโรธโกรธโกรธา | กัลยารำพึงคนึงคิด |
ครั้นจะนิ่งอยู่ฉนี้เล่า | พวกงานที่เขาจะได้ผิด |
โทษทัณฑ์นั้นถึงสิ้นชีวิตร | จะเปนเวรตามติดตัวไป |
แล้วคนทั้งปวงจะล่วงว่า | ติฉินนินทาหาควรไม่ |
คิดพลางทางเสด็จคลาไคล | ออกไปเฝ้าองค์พระสามี |
จึ่งถวายบังคมก้มเกษ | ทูลความตามเหตุถ้วนถี่ |
ซึ่งเลขารูปอสุรี | ข้านี้ลเมิดพระอาญา |
เดิมทีมีนางคนหนึ่ง | มาถามถึงทศภักตร์ยักษา |
วอนให้เขียนรูปเจ้าลงกา | ต่อหน้านักสนมกรมใน |
ข้าคิดว่ากำนัลไม่ทันรู้ | มันรบจะดูก็เขียนให้ |
บัดเดี๋ยวกลับกลายหายไป | ต่างตระหนกตกใจทุกนารี |
จะลบล้างเท่าไรก็ไม่หมด | ยิ่งปรากฎเปนรูปยักษี |
พอจวนเสด็จพระจักรี | จึ่งวางไว้ใต้ที่ไสยา |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๒๖๖๙๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วแววเวหา |
ได้ฟังถ้อยคำนางสีดา | พระผ่านฟ้าเคืองขุ่นฟุนไฟ |
ด้วยยักขินีนั้นบันดาล | จะถามซักสืบพยานก็หาไม่ |
กริ้วโกรธกระทืบบาทตวาดไป | ช่างกระไรสุดอย่างนางสีดา |
เปนถึงมเหษีมีศักดิ | กูลุ่มหลงจงรักหนักหนา |
ไม่รู้เท่าเจ้ากลมารยา | เศกแสร้งมุสาพาที |
ลอบเขียนรูปชู้ไว้ชมเล่น | ครั้นเห็นซัดเอาอีทาษี |
สารพัดชั่วช้ากาลี | เสียทีไปตามเอามึงมา |
อุส่าห์ปล้ำทำศึกปิ้มตัวตาย | กลับเปนแสนร้ายสองหน้า |
แม้นรู้ว่ารักอสุรา | กูจะรับกลับมาด้วยอันใด |
ว่าพลางทางสั่งพระลักษณ์ | อีสีดาชั่วนักไม่เลี้ยงได้ |
เร่งเร็วอย่าช้าจงพาไป | ฆ่าเสียแต่ในราตรี |
อย่าให้ทราบถึงสามพระมารดา | แหวะดวงจิตรมาให้พี่ |
จะดูใจอีกาลกิณี | เร่งรัดบัดนี้เอาตัวไป |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๒๖๗๐๏ เมื่อนั้น | พระลักษณ์กราบก้มบังคมไหว้ |
มิรู้ที่จะทัดทานประการใด | จนใจจำรับพระบัญชา |
จึ่งทูลเชิญนงลักษณ์อัคเรศ | พาไปลับเนตรพระเชษฐา |
ทุกข์ร้อนถอนฤไทยไคลคลา | พระลักษณ์นำหน้าจรลี |
ฯ ๔ คำ ฯ ทยอย
๒๖๗๑๏ ครั้นออกนอกปราการทวารวัง | จึ่งบังคมทูลนางโฉมศรี |
ซึ่งพระองค์ทรงสั่งให้ฆ่าตี | เพราะกรรมของเทวีได้ทำมา |
น้องรักจักทูลขอโทษ | เห็นยังทรงโกรธอยู่หนักหนา |
มิรู้ที่จะทานทัดขัดบัญชา | ว่าพลางโศกาอาไลย |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๒๖๗๒๏ เมื่อนั้น | องคภัควดีศรีใส |
จึ่งตรัสแก่อนุชายาใจ | ภูวไนยไม่โปรดปรานี |
ผิดแต่เขียนรูปทศภักตร์ | ใช่จะปลงจงรักยักษี |
พี่ทูลความตามเหตุที่เกิดมี | พระจักรีไม่ถามเอาความจริง |
สั่งให้พิฆาฏฟาดฟัน | สารพันว่าชั่วไปทุกสิ่ง |
ขัดสนพ้นที่จะท้วงติง | จะสู้นิ่งตายตามเวรา |
อันธรรมดาโลกทั้งหลาย | เกิดแล้วย่อมตายถ้วนหน้า |
ตรัสพลางทางถามอนุชา | เจ้าจะฆ่าฟันพี่ที่แห่งใด |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๖๗๓๏ เมื่อนั้น | พระลักษณ์เศร้าสร้อยลห้อยไห้ |
กรรแสงพลางทางทูลอรไทย | จะพาไปให้พ้นธานี |
ครั้นจะฆ่าพี่นางไว้กลางเมือง | ฝูงคนจะฦๅเลืองอึงมี่ |
อดสูไพร่ฟ้าประชาชี | ใครไม่รู้ชั่วดีจะนินทา |
ทูลพลางทางเช็ดชลเนตร | นำองค์อัคเรศเสนหา |
รีบเร่งออกจากทวารา | ไปตามมรคาพนาไลย |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๒๖๗๔๏ ครั้นถึงซึ่งป่ากาลวาด | รุกขชาติยางยูงสูงไสว |
จึ่งทูลเชิญเทวีพี่สใภ้ | เข้าหยุดยั้งต้นไม้ใกล้คิรี |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๖๗๕๏ เมื่อนั้น | นางสีดาสร้อยเศร้าหมองศรี |
นั่งลงทรงโศกโศกี | เทวีตรัสสั่งอนุชา |
วันนี้พี่จะลาเจ้าแล้ว | น้องแก้วผู้ยอดเสนหา |
เคยเปนเพื่อนทุกข์ยากลำบากมา | จะไม่ได้เห็นหน้ากันสืบไป |
โทษพี่นี้ผิดแต่นิดหนึ่ง | จะควรถึงมรณาก็หาไม่ |
แม้นชั่วช้าสามาญประการใด | ก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจน้องรัก |
ถึงจะม้วยบรรไลยก็ไม่ว่า | จะสู้ถือสัจจาให้ประจักษ์ |
จงฆ่าพี่เสียเถิดนะเจ้าลักษณ์ | อย่าหน่วงหนักชักช้าอยู่ว่าไร |
ฯ ๘ คำ ฯ
โอ้ปี่
๒๖๗๖๏ เมื่อนั้น | พระลักษณ์ทรงกรรแสงแถลงไข |
ทูลสนองเสาวนีพี่สะใภ้ | น้องมิได้นึกแหนงแคลงวิญญา |
ซึ่งพระองค์ครองสัตย์สุจริต | ก็แจ้งจิตรมาแต่หลังไม่กังขา |
ถึงทศภักตร์ลักไปไว้ในลงกา | ยังรักษาองค์ได้ไม่มลทิน |
ย่อมรู้อยู่ทั่วโลกธาตุ | ใครใครไม่อาจประมาทหมิ่น |
แม้นพิรุธทุจริตราคิน | ก็จะสิ้นชนมานเมื่อลุยไฟ |
ครั้งนี้เนื้อกรรมมาตามล้าง | ไม่พอที่พี่นางจะตักไษย |
สุดคิดที่จะฆ่าชีวาไลย | จนใจน้องนุชสุดปัญญา |
ขอเชิญโฉมยงองค์บังอร | ซอกซอนสัญจรไปในป่า |
ว่าพลางทางทรงโศกา | ชลนานองเนตรสังเวชใจ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
ร่าย
๒๖๗๗๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเศร้าหมองไม่ผ่องใส |
เห็นองค์อนุชาอาไลย | อรไทยปลอบพลางทางโศกี |
โอ้อนิจาเจ้าลักษณ์ | ขอบใจน้องนักซึ่งรักพี่ |
บัญชาใช้ให้ประหารชีวี | ควรฤๅมาปรานีจะปล่อยไป |
พ่อจะไปเฝ้าองค์พระทรงฤทธิ์ | เออจะเอาดวงจิตรที่ไหนให้ |
มาทำล่วงรับสั่งดังนี้ไซ้ | โทษไภยจะมีแก่น้องยา |
ซึ่งเจ้าเมตตาการุญ | บุญคุณอยู่พี่นี้นักหนา |
ไม่ขออยู่สู้ม้วยมรณา | เร่งฆ่าเสียเถิดบัดนี้ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๖๗๘๏ เมื่อนั้น | พระลักษณ์ทรงสวัสดิรัศมี |
จึ่งนบนอบตอบสนองเสาวนี | น้องจะมาฆ่าพี่เสียกลใด |
ประการหนึ่งพระองค์ทรงครรภ์ | แก่เดือนคืนวันเติบใหญ่ |
เอนดูนัดดายาใจ | ชายหญิงยังไม่ประจักษ์ตา |
มาทแม้นพระองค์ชีวงคต | โอรสก็จะม้วยสังขาร์ |
เชิญเสด็จไปตามเวรา | น้องรักจักลาเข้าธานี |
จะทูลแถลงแจ้งความตามจะโปรด | ถึงลงโทษก็จะรับใส่เกษี |
จะตายแทนนงลักษณ์ด้วยภักดี | น้องนี้ไม่เสียดายชีวา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๖๗๙๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาเสนหา |
เห็นพระลักษณ์ซื่อตรงคงสัจจา | มิได้พิฆาฏฆ่าชีวาไลย |
จำจะพูดลวงฬ่อพ้อตัด | ให้เคืองขัดฆ่ากูเสียจงได้ |
คิดพลางทางมีวาจาไป | เออไฉนฉนี้เล่าเจ้าลักษณ์ |
ตัวท่านสิเปนเพ็ชฌฆาฏ | ถือราชอาญาพระทรงศักดิ |
ขืนขัดพจนาดถ์บังอาจนัก | เยื้องยักแยบคายทำร้ายเรา |
เพราะเห็นเปนคนนักโทษ | สันโดษอยู่ในเนื้อมือเจ้า |
จึ่งแกล้งพูดไพเราะห์เพราะเพรา | ยั่วเย้าทอดสนิทมิดเม้น |
อันความคิดของเจ้าพอเข้าใจ | ด้วยท่าทางกลางไพรใครจะเห็น |
จะหน่วงไว้ให้ลำบากยากเย็น | ทำเล่นเช่นนี้ดีฤๅไร |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๒๖๘๐๏ เมื่อนั้น | พระลักษณ์ฟังนางสนองไข |
ให้คั่งแค้นแน่นทรวงดวงใจ | แล้วตริตรึกนึกในไปมา |
ธรรมดานารีกับบุรุษ | ย่อมเปนที่วิมุติกังขา |
ใครใครไม่แจ้งสัจจา | จะติฉินนินทาว่าร้าย |
จำเปนจะเข่นฆ่าอรไทย | ตัดความสงไสยเสียให้หาย |
คิดแล้วชักพระขรรค์อันเพริศพราย | มุ่งหมายจะพิฆาฏฟาดฟัน |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๖๘๑๏ แล้วคิดเมตตาปรานี | ภูมีมิได้ห้ำหั่น |
สงสารหลานรักที่ในครรภ์ | ทรงธรรม์ทรุดองค์ลงโศกี |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๒๖๘๒๏ ครั้นค่อยเหือดหายคลายเทวศ | จึ่งทูลองค์อัคเรศมเหษี |
ขอษมาลาโทษเทวี | อย่าให้มีเวราแก่ข้าไป |
โฉมยงจงอุส่าห์ตั้งจิตร | รักษาสัตย์สุจริตจงได้ |
แม้นม้วยชีวันบรรไลย | จะได้ไปสู่สวรรค์ชั้นฟ้า |
ว่าแล้วพระลักษณ์ชักพระขรรค์ | ยืนยันกระหยับเงื้อง่า |
เยื้องย่างสามขุมเข้ามา | คิดจะฆ่าทรามไวยเสียให้ตาย |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิดฉิ่ง โอด
๒๖๘๓๏ แขงใจหลับเนตรหวดลง | พระขรรค์ทรงหลุดพลัดพระหัดถ์หาย |
สำคัญว่าพี่นางวางวาย | ทอดกายเสือกซบสลบไป |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๒๖๘๔๏ เมื่อนั้น | นางสีดาไม่ม้วยตักไษย |
ลืมเนตรขึ้นเห็นพระขรรค์ไชย | เปนมาไลยสวมสอกัลยา |
เดชะสัตย์ซื่อตรงของนงคราญ | กับบุญญาธิการโอรสา |
พิฆาฏฟาดฟันไม่มรณา | จึ่งผินภักตราแลไป |
เห็นพระลักษณ์สลบซบนิ่ง | จะไหวติงกายาก็หาไม่ |
สำคัญจิตรคิดว่าบรรไลย | ทรามไวยพิไรร่ำโศกา |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
โอ้ปี่
๒๖๘๕๏ โอ้อนิจาเจ้าลักษณ์เอ๋ย | ไม่ควรเลยมาม้วยสังขาร์ |
เมื่อไปรณรงค์ในลงกา | ต้องเทพสาตราถึงห้าครั้ง |
ก็ไม่ม้วยอาสัญบรรไลย | พิเภกแก้ได้ดังใจหวัง |
ครั้งนี้ม้วยมุดสุดชีวัง | อยู่ยังกลางดงพงไพร |
ทำไฉนจึ่งองค์พระอนุชา | จะรอดชีพชีวาขึ้นมาได้ |
สุดคิดขัดสนเปนพ้นไป | อรไทยร่ำพลางทางโศกี |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
ร่าย
๒๖๘๖๏ เมื่อนั้น | พระลักษณ์ทรงสวัสดิรัศมี |
ค่อยฟื้นคืนได้สมประดี | เห็นพี่นางนั้นไม่บรรไลย |
จึ่งทูลถามไปด้วยใจภักดิ์ | ไฉนองค์นงลักษณ์ไม่ตักไษย |
พระขรรค์นี้มีฤทธิเกรยงไกร | ผู้ใดไม่หาญทานทน |
แม้นมาทจะฟาดฟันเหล็กเพ็ชร | ก็ขาดเด็ดกระเด็นไปเปนป่น |
เดชะบุญโฉมฉายไม่วายชนม์ | น่าฉงนสนเท่ห์หฤไทย |
บัดนี้พระขรรค์แก้วแพรวพราย | หลุดพลัดหัดถ์หายหาเห็นไม่ |
อันพวงบุบผามาไลย | ที่พระสออรไทยได้ไหนมา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๖๘๗๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาเสนหา |
จึ่งแถลงแจ้งความตามกิจจา | เมื่อองค์อนุชาฆ่าฟัน |
ก็สำคัญมั่นหมายว่าม้วยมิด | พี่ตั้งจิตรจงใจไปสวรรค์ |
เดชะความสัตย์อัศจรรย์ | จึ่งฟาดฟันไม่ต้องอินทรีย์ |
พระขรรค์บันดาลเปนมาไลย | ลอยมาสวมใส่พระสอพี่ |
ว่าพลางทางเปลื้องพวงมาลี | ยื่นให้พระศรีอนุชา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๖๘๘๏ เมื่อนั้น | พระลักษณ์ยินดีเปนหนักหนา |
รับดอกไม้มาจากสีดา | มาลากลายเปนพระขรรค์ไชย |
เห็นเปนมหัศอัศจรรย์ | บังคมคัลแล้วทูลแถลงไข |
อันความซื่อตรงพระองค์ไซ้ | หญิงใดไม่เปรียบเทียบทัน |
เปนสองครั้งทั้งลุยไฟถวาย | ก็ไม่วายชีวาอาสัญ |
ซึ่งพระเชษฐาให้ฆ่าฟัน | พระทรงธรรม์คลั่งคลุ้มกลุ้มใจ |
เชิญเสด็จไปตามกรรมก่อน | อย่าอาวรณ์ร้อนรนหม่นไหม้ |
น้องจะลาคืนเข้าเวียงไชย | มิให้ทันรุ่งราตรี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๖๘๙๏ เมื่อนั้น | นางสีดาสร้อยเศร้าหมองศรี |
กรรแสงพลางทางกล่าววาที | ตัวพี่นี้จะไปตามเวรา |
วิตกแต่อนุชาจะคลาไคล | กลับไปเฝ้าองค์พระเชษฐา |
เจ้าจะได้ดวงใจที่ไหนมา | ถวายพระผ่านฟ้าเปนสำคัญ |
พระองค์จะดำริห์ติโทษ | กริ้วโกรธเคืองขุ่นหุนหัน |
จะให้ลงอาญาฆ่าฟัน | จอมขวัญจะคิดอ่านประการใด |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๖๙๐๏ เมื่อนั้น | พระลักษณ์เศร้าสร้อยลห้อยไห้ |
โศกาอาดูรทูลไป | พระจะปรารมภ์ไยถึงน้องยา |
คิดพะวงสงสารแต่พระพี่ | จะจรลีองค์เดียวเปลี่ยวหนักหนา |
สิงสัตวเสือสีห์จะบีฑา | ท่าทางกลางป่าก็กันดาร |
จะผินภักตร์ไปพึ่งผู้ใดได้ | อาไศรยอยู่กินเปนถิ่นฐาน |
จะยากจนทนทุกข์ทรมาน | สงสารนฤมลเปนพ้นไป |
ว่าพลางทางถวายบังคมลา | ชลนาแถวถั่งหลั่งไหล |
มิใคร่จะจากมาด้วยอาไลย | จำเปนจำใจจรจรัล |
เดินมาสักประเดี๋ยวแล้วเหลียวหลัง | เห็นโฉมยงทรงนั่งกรรแสงศัลย์ |
สงสารนางพลางกลับมาฉับพลัน | ทรงธรรม์ทรุดองค์ลงโศกา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๒๖๙๑๏ ครั้นส่างโศกศัลย์กรรแสงไห้ | พระหัดถ์เช็ดชลไนยทั้งซ้ายขวา |
แขงขืนฝืนอารมณ์บังคมลา | เสด็จโดยมรคาพนาลี |
ฯ ๒ คำ ฯ ทยอย
โอ้ร่าย
๒๖๙๒๏ พระวิโยคโศกเศร้าถึงเยาวมาลย์ | สงสารสีดามารศรี |
จะเสด็จเดินดงพงพี | เทวีจะอาวรณ์ร้อนรน |
ไม่เคยกระตรกกระตรำลำบาก | พลัดพรากซัดเซระเหหน |
จะซูบผอมตรอมใจด้วยจำจน | ตรำฝนทนแดดเวทนา |
ร่ำพลางทางคิดถึงตัวเล่า | ทุกข์ที่จะไปเฝ้าพระเชษฐา |
ด้วยมิได้ดวงจิตรนางสีดา | จะเอาอะไรมาเปนสำคัญ |
ครั้งนี้ที่ไหนจะพ้นผิด | สุดคิดสุดที่จะผ่อนผัน |
ทุกข์ร้อนถอนใจจาบัลย์ | พระนั่งลงโศกศัลย์โศกา |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
ยานี
๒๖๙๓๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงองค์สหัสไนยไตรตรึงษา |
ทิพอาศน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา | กระด้างดังศิลาประหลาดนัก |
จึ่งส่องทิพเนตรสังเกตดู | ในทวีปชมพูรู้ประจักษ์ |
บัดนี้สีดากับพระลักษณ์ | ได้ความทุกข์หนักทั้งสององค์ |
จำกูจะไปช่วยแก้ไข | ให้พ้นโพยไภยดังประสงค์ |
คิดแล้วสำแดงฤทธิรงค์ | เหาะลงมาจากฟากฟ้า |
ฯ ๖ คำ ฯ กลม เชิด
ร่าย
๒๖๙๔๏ ครั้นถึงพ่างพื้นปัถพี | นิมิตรเหมือนมฤคีที่ในป่า |
นอนตายอยู่ชายพนาวา | คอยท่าพระลักษณ์จรลี |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๒๖๙๕๏ เมื่อนั้น | พระลักษณ์ทรงสวัสดิรัศมี |
ครั้นค่อยระงับดับโศกี | จึ่งจรลีมาตามมรคา |
เหลือบแลไปเห็นเนื้อทราย | นอนอยู่ริมชายพฤกษา |
พิศดูก็รู้ว่ามรณา | พระอนุชาชื่นชมสมคิด |
จึ่งชักพระขรรค์ออกฟันเนื้อ | แล่เถือแล้วล้วงเอาดวงจิตร |
จะเอาไปถวายพระทรงฤทธิ์ | แทนดวงจิตรชีวิตรนางสีดา |
ครั้นเสร็จเสด็จลงไปริมสระ | ชำระโลหิตติดหัดถา |
แล้วรีบดำเนินเดินมา | คืนเข้าอยุทธยาธานี |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๒๖๙๖๏ ครั้นถึงนัคเรศนิเวศน์วัง | ก็เยื้องย่างขึ้นยังปราสาทศรี |
เข้าไปเฝ้าองค์พระจักรี | ถวายดวงชีวีที่ได้มา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๖๙๗๏ เมื่อนั้น | องค์พระราเมศเชษฐา |
ทอดพระเนตรเห็นหัวใจมฤคา | สำคัญว่าดวงจิตรนางทรามไวย |
พระยิ่งคลั่งคลุ้มกลุ้มกลัด | เคืองขัดวิญญาอัชฌาไศรย |
จึ่งตรัสแก่พระลักษณ์ไปในทันใด | เจ้าเห็นเปนไฉนอนุชา |
แต่หัวใจมันยังวิปริต | เหมือนจิตรเดียรฉานที่กลางป่า |
กระนี้ฤๅจะไม่รักอสุรา | ชั่วช้าสารพัดผิดคน |
สาสมน้ำหน้าฆ่ามันเสีย | เลี้ยงไว้เปนเมียไม่เปนผล |
ว่าพลางทางเสด็จจรดล | เขาในไพชนต์มณเฑียรทอง |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
โอ้
๒๖๙๘๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเปลี่ยวเปล่าเศร้าหมอง |
ให้อาไลยในองค์พระน้อง | ฟูมฟองชลนาจาบัลย์ |
โอ้ว่าเจ้าลักษณ์น้องรักพี่ | ปานฉนี้จะวิโยคโศกศัลย์ |
เจ้าจะไปเฝ้าองค์พระทรงธรรม์ | ที่ไหนนั่นจะพ้นโพยไภย |
พระรามจะดูดวงจิตรพี่ | น่าที่น้องรักจะตักไษย |
แม้นเจ้าม้วยชีวันบรรไลย | พี่ก็ไม่ขออยู่สู้วายชนม์ |
ว่าพลางทางทรงโศกา | ชลนาหยัดย้อยดังฝอยฝน |
กอดเข่าเจ่าจุกทุกข์ทน | นฤมลไม่เปนสมประดี |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
ร่าย
๒๖๙๙๏ ครั้นค่อยคลายโศกศัลย์รัญจวน | จึ่งตรึกไตรใคร่ครวญถ้วนถี่ |
แม้นกูจะอยู่ในที่นี้ | เห็นทีจะม้วยมรณา |
จำจะเที่ยวไปให้พบปะ | องค์พระฤๅษีชีป่า |
พอเปนที่สำนักนิ์พึ่งพา | ตามประสายากเย็นเข็ญใจ |
คิดพลางย่างเยื้องจรลี | ออกจากที่ฉายาพฤกษาใหญ่ |
ไม่มีมรคาจะคลาไคล | อรไทยทรุดองค์ลงโศกี |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๒๗๐๐๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวสหัสไนยเรืองศรี |
ครั้นพระลักษณ์ลีลาเข้าธานี | จึ่งจำแลงอินทรีย์ด้วยศักดา |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๒๗๐๑๏ รูปทรงสุราฤทธิ์บิดเบือน | กลายเปนกระบือเถี่อนเหมือนหนักหนา |
เดินเดาะดัดดั้นอรัญวา | ไปยังนางสีดาด้วยพลัน |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๒๗๐๒๏ ครั้นถึงจึ่งทำเปนถามไถ่ | เหตุผลกลใดนางสาวสรรค์ |
มาอยู่เดียวเปลี่ยวใจในไพรวัน | โศกาจาบัลย์ด้วยอันใด |
ถิ่นฐานบ้านช่องของเจ้านี้ | อยู่ประเทศธานีบุรีไหน |
นามวงษ์พงษ์ประยูรอย่างไร | จะเที่ยวไปไหนนั่นกัลยา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๗๐๓๏ เมื่อนั้น | นางสีดาได้ฟังมหิงษา |
จึ่งบอกว่าน้องนี้ชื่อสีดา | เปนอรรคชายาองค์พระราม |
บัดนี้พระองค์ทรงพระโกรธ | ให้ลงโทษโรธทัณฑ์ไม่ไต่ถาม |
นางเล่าแถลงแจ้งความ | แต่ตามที่จริงทุกสิ่งไป |
พี่เอนดูด้วยช่วยเมตตา | ไม่มีที่พึ่งพาอาไศรย |
พระฤๅษีมุนีอยู่แห่งไร | จงพาไปให้ประสบพบพาน |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๗๐๔๏ เมื่อนั้น | มหิงษาได้ฟังก็สงสาร |
จึ่งว่าแก่โฉมยงนงคราญ | อย่ารำคาญเคืองข้องหมองใจ |
จะพาไปให้ประสบพบปะ | องค์พระดาบศจงได้ |
เจ้าเร่งตามมาจะพาไป | ประเดี๋ยวใจก็จะถึงกฎี |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๗๐๕๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
ได้ฟังมหิงษาพาที | นางเทวีค่อยสว่างส่างโศกา |
จึ่งเสด็จลีลาคลาไคล | เดินไปตามหลังมหิงษา |
แสงจันทร์ส่องสว่างที่นางมา | กระบือดำนำน่าจรจรัล |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๒๗๐๖๏ ด้วยเดชมัฆวานบันดาลดล | ย่อย่นหนทางผายผัน |
พอรุ่งรังษีรวีวรรณ | ก็ถึงอรัญกุฎี |
มหิงษาหายไปกับไนยเนตร | ก็สังเกตว่าท้าวโกสีย์ |
ช่วยนำมคราด้วยปรานี | เทวีชื่นชมสมคิด |
จึ่งเสด็จลีลาคลาไคล | เข้าไปใกล้อาศรมพระนักสิทธิ |
เห็นใบดาลบานประตูปิดมิด | ก็หยุดยั้งนั่งคิดอยู่ในใจ |
ไม่ได้ยินกริบเกรียบเงียบสงัด | พระอาจารย์จำวัดฤๅไปไหน |
นางแสร้งแกล้งทำกระแอมไอ | หวังจะใคร่ได้พบพระมุนี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๗๐๗๏ เมื่อนั้น | พระวัชมฤคฤๅษี |
ปลาดใจใครมาถึงกุฎี | พระมุนีเดินออกนอกประตู |
ทรุดนั่งลงที่หน้าศาลาไลย | หายใจหอบรวนอยู่เปนครู่ |
เหลียวซ้ายแลขวาป้องหน้าดู | ตาหูซมซานรำคาญใจ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๗๐๘๏ เมื่อนั้น | นางสีดานารีศรีใส |
จึ่งค่อยก้มกรานคลานเข้าไป | กราบไหว้วันทาพระอาจารย์ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๗๐๙๏ เมื่อนั้น | พระมุนีมีพรตห้าวหาญ |
นั่งพินิจพิศดูอยู่ช้านาน | พระทรงญาณยังแหนงแคลงใจ |
จึ่งปราไสเสียงสั่นงันงก | นี่ประสกฤๅสีกามาแต่ไหน |
ถิ่นฐานบ้านช่องอยู่แห่งใด | นามกรชื่อไรไปไหนมา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๗๑๐๏ เมื่อนั้น | นางสีดาอภิวันท์ด้วยหรรษา |
จึ่งแถลงแจ้งกิจพระสิทธา | ข้าชื่อสีดานารี |
เปนบาทบริจาพระราเมศ | ผ่านนิเวศน์อยุทธยากรุงศรี |
แรกเริ่มเดิมเหตุจะเกิดมี | ข้านี้ไปสรงคงคา |
ปิศาจแสร้งแปลงมาไม่สงไสย | สำคัญว่าสาวใช้ของข้า |
วอนให้เขียนรูปทรงเจ้าลงกา | ไม่รู้ว่าปัจจามิตรคิดร้าย |
จึ่งวาดรูปทศกรรฐ์ให้มันดู | สักครู่นางนั้นก็สูญหาย |
จะลบรูปลูบล้างลวดลาย | เส้นสายจะสูญไปก็ไม่มี |
พระรามรู้พิโรธโกรธนัก | แคลงว่าข้ารักยักษี |
มิได้ไต่ถามตามคดี | โดยที่ทศพิธราชธรรม์ |
ตรัสใช้ให้องค์อนุชา | พามาฆ่าเสียให้อาสัญ |
พระลักษณ์พิฆาฏฟาดฟัน | พระขรรค์นั้นกลายเปนมาไลย |
ก็เห็นสัตย์สุจริตของข้า | จึ่งขับไล่ให้มาในป่าใหญ่ |
ได้พบพระทรงญาณหลานดีใจ | จะขอพึ่งอยู่ใต้บทมาลย์ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เจรจา
๒๗๑๑๏ เมื่อนั้น | พระฤๅษีมีจิตรคิดสงสาร |
จึ่งว่าแก่โฉมยงนงคราญ | นี่หากบุญของหลานไม่บรรไลย |
ดูดู๋เปนได้ใจพระราม | เคลิ้มเขลาเบาความไม่ถามไถ่ |
นางก็ได้พิสูตรตัวลุยไฟ | มิได้ม้วยชีวันอันตราย |
ครั้งนี้นางผิดแต่นิดหนึ่ง | มาโกรธขึ้งฆ่าเมียเสียง่ายง่าย |
กูพลอยแค้นขัดใจไม่สบาย | เหลียวซ้ายแลขวาคว้าหาครก |
หยิบเภสัชจัดลงแล้วทรงตำ | เพ้อพร่ำพูดมากจนหมากหก |
สุ้งเสียงแสบสั่นงันงก | ดูประสกรามเปนได้เช่นนี้ |
เสียแรงรู้พระกำหนดกฎหมาย | เออโทษทัณฑ์ถึงตายแล้วฤๅนี่ |
จึ่งสั่งให้เข่นฆ่าราตี | เช่นนี้ฤๅว่าตระลาการ |
ชรอยเปนเคราะห์กรรมจำพลัดพราก | เองพ้นจากเบญเพศแล้วฤๅหลาน |
ว่าพลางทางหยิบเอากระดาน | มาคูณหารเดือนปีนางสีดา |
จึ่งประจักษ์แจ้งความตามสังเกต | จำเภาะต้องเนรเทศออกสู่ป่า |
แต่สิ้นเคราะห์ครั้งนี้แล้วสีกา | อยู่ด้วยกันกับตาอย่าทุกข์ร้อน |
ว่าพลางทางร่ายพระคาถา | บันดาลเปนภูษาผ้าผ่อน |
ทั้งเสื่อสาดสุจนี่ที่นอน | อาภรณ์เครื่องประดับฉับไว |
ฯ ๑๖ คำ ฯ ตระ เจรจา
๒๗๑๒๏ จึ่งว่าแก่สีดานารี | เข้าของเหล่านี้ตายกให้ |
แล้วจัดแจงอาศรมศาลาไลย | ให้นางอยู่หลังในใกล้กุฎี |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๒๗๑๓๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
อยู่ด้วยพระมหามุนี | มิได้มีโรคันอันตราย |
ปฏิบัติวัดถากพระนักสิทธิ | เช้าเย็นเปนนิจไม่เหนื่อยหน่าย |
ครั้นอ่อนสุริย์ฉันตวันชาย | โฉมฉายจับกระเช้าเข้าพงไพร |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลงช้า
สมิงทอง
๒๗๑๔๏ เที่ยวเก็บผลพฤกษาริมอาศรม | พลางชมดอกดวงพวงไสว |
โน้มกิ่งปริงปรางมะเฟืองไฟ | เก็บลูกสุกใส่กระเช้าน้อย |
ที่มือเอื้อมไม่ถึงพึ่งเหลืองห่าม | เอาไม้ง่ามเลี้ยวลอดสอดสอย |
นางเด็ดดอกบุบผาระย้าย้อย | หวังจะร้อยถวายพระนักธรรม์ |
แล้วมายังธารท่าชลาไลย | ตักทั้งน้ำใช้แลน้ำฉัน |
ครั้นสิ้นแสงสุริยาสายัณห์ | ก็จรจรัลเข้ามายังกุฎี |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลงฉิ่ง
ร่าย
๒๗๑๕๏ ถึงเวลาปรนิบัติเข้าเพล | เอาลูกไม้ประเคนพระฤๅษี |
แล้วนั่งโบกปัดพัดวี | ภักดีต่อองค์พระทรงญาณ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๗๑๖๏ เมื่อนั้น | พระมุนีปรีดิ์เปรมเกษมสานต์ |
รักษากิจพรตกรรมสำราญ | ไม่ต้องหาผลาหารลำบากกาย |
ยิ่งเมตตาการุญนางโฉมยง | เหมือนเชื้อวงษ์พงษ์พันธุ์สืบสาย |
ครั้นอยู่มาสักห้าเดือนปลาย | เห็นครรภ์นางโฉมฉายนั้นแก่นัก |
จึ่งว่ากล่าวห้ามปรามนางทรามไวย | แต่นี้ไปน้ำท่าเจ้าอย่าตัก |
ตาจะหามาเลี้ยงหลานรัก | เจ้าจงอยู่พิทักษ์รักษาครรภ์ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๒๗๑๗๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาสาวสรรค์ |
อยู่เย็นเปนศุขทุกนิรันดร์ | จนครรภ์นั้นถ้วนทศมาตรา |
ในเมื่อเวลาราตรีกาล | เยาวมาลย์จะประสูตรโอรสา |
ให้เจ็บปวดรวดร้าวทั้งกายา | ประหนึ่งว่าโฉมฉายจะวายปราณ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๗๑๘๏ เมื่อนั้น | พระนักธรรม์ครั้นเห็นก็สงสาร |
ฉวยโอเศกน้ำมนต์ลนลาน | หลงอ่านสุบินสิ้นสมประดี |
แล้วจับด้ายสายสิญจน์ขมีขมัน | เขียนกระดาษลงยันต์กันผี |
ทำมงคลตามกิจพิธี | พระมุนีเศกซ้ำละล่ำละลัก |
เขาออกลูกอย่างไรไม่เคยเห็น | หัวอกเต้นทึกทึกตึกตัก |
แต่เวียนปลอบเยาวมาลย์หลานรัก | อย่ากลิ้งเกลือกเสือกนักจงแขงใจ |
ยิ่งเห็นนางครางร้องพิไรร่ำ | หารู้ที่จะทำกะไรไม่ |
งกเงิ่นเดินมาเดินไป | หายใจกระหมอบหอบเต็มที |
ลงนั่งนับจับยามสามตา | ตามตำราเชื่อถือของฤๅษี |
จึ่งร้องบอกสีดานารี | คงจะคลอดวันนี้แล้วสีกา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
ยานี
๒๗๑๙๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงองค์เจ้าไตรตรึงษา |
ทิพอาศน์กระด้างดังศิลา | อินทราสงไสยฤไทยนัก |
จึ่งสอดส่องทิพเนตรสังเกตดู | ในชมภูแผ่นหล้าอาณาจักร |
ก็แจ้งว่าสีดานงลักษณ์ | จะประสูตรลูกรักในดงดาน |
จึ่งชวนเทพนารีทั้งสี่องค์ | ฝูงอนงค์ในทิพย์พิมานสถาน |
พร้อมทั้งเทพบุตรบริวาร | เหาะทยานลงจากฟากฟ้า |
ฯ ๖ คำ ฯ โคมเวียน
ร่าย
๒๗๒๐๏ ครั้นถึงศาลาอาศรม | ก็บังคมพระอาจารย์ฌานกล้า |
แล้วให้สี่องค์อรรคชายา | ช่วยถือครรภ์สีดานารี |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๗๒๑๏ เมื่อนั้น | นางสุธรรมามเหษี |
รับสั่งพระอินทร์ด้วยยินดี | เทวีเข้านั่งหนุนปฤษฎางค์ |
โฉมนางสุจิตราสุนันทา | กัลยาเคียงประคองสองข้าง |
สุชาดานั่งเป่าเกษานาง | ฝูงอัปศรสุรางค์ต่างแวดล้อม |
ครั้นเห็นนางเจ็บจวนป่วนปั่น | ก็ฝืนครรภ์ผันแปรให้กลมกล่อม |
คอยประโคมแตรสังข์พรั่งพร้อม | ทั้งยี่ภู่ผ้าอ้อมก็เตรียมไว้ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๒๗๒๒๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเจ็บหนักเพียงตักไษย |
สุดที่จะแขงขืนฝืนใจ | อรไทยไม่เปนสมประดี |
พอดาวเคลื่อนเลื่อนลับอัมพร | ทินกรอุไทยไขสี |
ได้ฤกษ์เพลานาที | เทวีประสูตรพระลูกยา |
ฯ ๔ คำ ฯ มโหรี เจรจา
๒๗๒๓๏ เมื่อนั้น | นางสุชาดาเสนหา |
รับองค์พระราชกุมารมา | เอาน้ำทิพธารามาลูบไล้ |
ชำระทั่วอินทรีย์ฉวีวรรณ | ผิวพรรณผุดผาดผ่องใส |
แล้วนางวางองค์พระดไนย | เหนือยี่ภู่ปูให้ไสยา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๗๒๔๏ เมื่อนั้น | จึ่งองค์เจ้าไตรตรึงษา |
เทพบุตรแลเทพธิดา | ต่างพิศภักตราพระโอรส |
ผิวพรรณกรรณเกษเนตรขนง | ทรวดทรงงามลม่อมพร้อมหมด |
ช่างเหมือนพระบิตุรงค์ทรงยศ | จะฦๅชาปรากฎทั้งแดนดิน |
ต่างองค์อำนวยอวยพร | ให้เรืองฤทธิรอนด้วยศรศิลป์ |
จงสังหารผลาญหมู่อสุรินทร์ | แล้วพระอินทร์คืนสถานวิมานฟ้า |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๒๗๒๕๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดเสนหา |
ครั้นเทเวศร์เหาะกลับไปลับตา | กัลยาเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจ |
จึ่งอุ้มองค์โอรสขึ้นใส่ตัก | พิศภักตร์ลักขณาน้ำตาไหล |
สลดจิตรคิดถึงยากไร้ | อรไทยโศกาจาบัลย์ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
โอ้
๒๗๒๖๏ โอ้ว่าลูกรักของแม่เอ๋ย | ทรามเชยพ่ออย่ากรรแสงศัลย์ |
คิดว่าม้วยด้วยแม่แต่ในครรภ์ | จะไม่เห็นเดือนตวันแล้วลูกยา |
เจ้าเกิดในป่าดงพงไพร | ได้ลำบากยากไร้อนาถา |
ลูกเอ๋ยเปนกำพร้าพระบิดา | สุริวงษ์พงษาไม่เห็นภักตร์ |
แม้นเกิดในเวียงไชยไอสูรย์ | จะสมบูรณ์พร้อมหมดด้วยยศศักดิ |
นี่มารดายากจนเปนพ้นนัก | ลูกรักอย่าลห้อยน้อยใจ |
ธำมรงค์วงเดียวติดมือมา | จะทำขวัญลูกยาอย่ารู้ไข้ |
ถอดแหวนผูกกรกุมารไว้ | ทรามไวยพิไรร่ำโศกา |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
ร่าย
๒๗๒๗๏ แล้ววางองค์พระโอรสราช | ให้ไสยาสน์ในอู่ภูษา |
นางจึ่งลุกเดินดำเนินมา | ยังพระสิทธาอาจารย์ |
ก้มเกล้าวันทาแล้วว่าไป | โปรดด้วยช่วยระไวระวังหลาน |
ข้านี้จะลาไปท่าธาร | อาบน้ำไม่นานจะกลับมา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๗๒๘๏ เมื่อนั้น | พระดาบศยิ้มพลางทางว่า |
ดาจะนั่งไกวเปลเห่ช้า | จงไปสรงคงคาให้สำราญ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๗๒๙๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
กราบกับบาทาพระอาจารย์ | แล้วนงคราญลีลาคลาไคล |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลงเร็ว
๒๗๓๐๏ ครั้นถึงท้องธารที่เชิงเขา | เห็นเหล่าวานรน้อยใหญ่ |
บ้างมีลูกเกาะกายต่ายไม้ | เผ่นโผนโจนไล่กันลงดิน |
ดูพลางนางว่าแก่วานร | เมื่อลูกเองยังอ่อนอยู่ทั้งสิ้น |
เอาเกาะหลังเกาะน่าหากิน | แต่ดิ้นดิ้นก็บอบหอบกาย |
กูเห็นเปนน่าสังเวช | ผิดเพศสิงสัตวทั้งหลาย |
เองช่างเฉาโฉดโหดร้าย | จะพาลูกมาตายเสียดังนี้ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๗๓๑๏ บัดนั้น | ลิงไพรได้ฟังนางโฉมศรี |
จึ่งร้องไปพลันทันที | อันลูกเต้าเรานี้อยู่กับตัว |
ดีกว่าที่ทิ้งไว้ภายหลัง | ถึงจะต้องระวังก็ยังชั่ว |
สารพัดศัตรูไม่สู้กลัว | แม้นตัวไม่ตายก็ไม่ทิ้ง |
เราเห็นว่าเจ้าอิกเฉาโฉด | กลับมาติโทษเขาทุกสิ่ง |
นี่ฤๅฉลาดประมาทลิง | เอาลูกอ่อนนอนนิ่งไว้กุฎี |
พระดาบศหลับตาภาวนาอยู่ | ไหนจะดูลูกชายนางโฉมศรี |
แม้นเสือสางกลางป่ามายายี | น่าที่จะกัดกินสิ้นชีวิตร |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๗๓๒๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเฉลียวเปลี่ยวเปล่าจิตร |
หยุดยั้งฟังลิงนิ่งคิด | น่าอดสูตูติดประมาทนัก |
คำบุราณท่านย่อมว่าอยู่ | มีผู้ทักท้วงให้หน่วงหนัก |
สดุ้งจิตรคิดถึงพระลูกรัก | นงลักษณ์รีบกลับมาฉับพลัน |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๒๗๓๓๏ ครั้นถึงศาลาที่อาไศรย | จึ่งอุ้มลูกสายใจแล้วรับขวัญ |
ลืมแถลงแจ้งองค์พระนักธรรม์ | ก็ผายผันไปท่าชลาไลย |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๒๗๓๔๏ ครั้นถึงท้องธารที่เชิงผา | ใต้ร่มพฤกษาโสกใหญ่ |
อุ้มองค์ลูกน้อยกลอยใจ | ลงไปสระสรงคงคา |
นั่งเหนือแผ่นพื้นรื่นราบ | แล้ววักน้ำอาบโอรสา |
ขัดสีฉวีวรรณกัลยา | ชุ่มแช่คงคาวารี |
ฯ ๔ คำ ฯ ลงสรง
๒๗๓๕๏ เมื่อนั้น | พระวัชมฤคฤๅษี |
ปลงอารมณ์ชมฌานโลกีย์ | อินทรีย์ไม่ไหวติงนิ่งเซา |
ลืมระวังหลานน้อยกลอยใจ | ครั้นคิดได้แลดูเห็นอู่เปล่า |
เอ๋เอออะไรมาใจเบา | ลูกเต้าเขาหายตายแล้วกู |
พระมุนีตีอกตกตลึง | นั่งอึ้งรำพึงคิดผิดอยู่ |
ฤๅยักขินีผีเสื้อศัตรู | มันลอบจู่มาจับพระกุมาร |
ฤๅเสือสางกลางป่าพนาวัน | มันคาบคั้นไปกินเปนอาหาร |
ลุกขึ้นเที่ยวค้นลนลาน | ไม่พบพานร่องรอยน่าน้อยใจ |
กลับมานั่งกอดเข่าเจ่าจุก | เปนทุกข์กลัวสีดาจะว่าได้ |
เสียแรงเขาออกปากฝากไว้ | กูเปนผู้ใหญ่ช่างชั่วนัก |
แม้นนางมาไม่เห็นพระลูกน้อย | จะเศร้าสร้อยโศกาเพียงอกหัก |
พ้นที่จะห้ามด้วยความรัก | เห็นนงลักษณ์จะม้วยมอดวอดวาย |
อย่าเลยจะตั้งพิธีการ | เขียนรูปกุมารที่สูญหาย |
ชุบขึ้นไว้แทนพระลูกชาย | อย่าให้ทันโฉมฉายมากุฎี |
คิดแล้ววาดรูปกุมารา | กับหนังพระยาราชสีห์ |
พิศดูเหมือนสิ้นทั้งอินทรีย์ | แล้วกองกูณฑ์อัคคีขึ้นทันใด |
ฯ ๑๖ คำ ฯ เจรจา
๒๗๓๖๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดพิศมัย |
ขึ้นจากธารท่าชลาไลย | อุ้มลูกคลาไคลไปกุฎี |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๒๗๓๗๏ ครั้นถึงอาศรมศาลา | กัลยาเห็นองค์พระฤๅษี |
ออกมานั่งมองกองอัคคี | เทวีจึ่งเข้าไปกราบกราน |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๗๓๘๏ เมื่อนั้น | พระดาบศสาลวนอลหม่าน |
ตั้งกิจพิธีตะลีตะลาน | เหลือบเห็นนงคราญอุ้มลูกมา |
หัวร่อพลางทางว่าไปทันใด | เอออะไรมาเล่นกันต่อหน้า |
เมื่อลูกใส่อู่ไว้ในศาลา | มอบหมายให้ตานี้ช่วยดู |
จะกลับมาพาไปก็ไม่บอก | ให้เที่ยวค้นจนออกอ่อนหู |
นึกว่ามอดม้วยด้วยศัตรู | จะนิ่งอยู่ก็คิดสังเวชใจ |
จึ่งต้องกองกูณฑ์พิธี | จะชุบลูกเทวีขึ้นไว้ใหม่ |
เมื่อลูกยังอยู่แล้วก็แล้วไป | สิ้นธุระจะได้ภาวนา |
น้อยฤๅน่าหัวร่อไม่พอที่ | ให้ตั้งกิจพิธีเล่นหนักหนา |
ว่าพลางทางหยิบเอาหนังมา | จะลบรูปเลขาไม่รอรั้ง |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๒๗๓๙๏ เมื่อนั้น | นางสีดาห้ามไว้ด้วยใจหวัง |
ขอพระองค์จงได้ยับยั้ง | อย่าลบรูปที่หนังเลยอาจารย์ |
ไหนไหนได้เขียนประดักประเคิด | ชุบขึ้นไว้เถิดเปนเพื่อนหลาน |
คนเดียวเปลี่ยวใจในดงดาน | พระทรงญาณได้เอนดูนัดดา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๗๔๐๏ เมื่อนั้น | พระฤๅษีเห็นชอบจึ่งตอบว่า |
แม้นจะรับเลี้ยงกุมารา | จะชุบให้กัลยาอย่าปรารมภ์ |
ว่าพลางทางโหมอัคคีพลัน | แล้วเคารพอภิวันท์พระสยม |
ม้วนหนังขึ้นถือมือประนม | โอมอ่านอาคมอันเชี่ยวชาญ |
เอารูปเหวี่ยงวางลงตรงกลางไฟ | ก็หวั่นไหวไปทั่วทิศาสานต์ |
บริกรรมซ้ำเป่าอัคคีกาล | บังเกิดเปนกุมารด้วยฤทธา |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๒๗๔๑๏ แล้วร่ายเวทสำหรับกับกองกุณฑ์ | พระพิรุณเซนซ่านฉานฉ่า |
จึ่งเข้าอุ้มองค์กุมารา | ส่งให้สีดาด้วยพลัน |
จงถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู | โฉมตรูอย่ารังเกียจเดียดฉัน |
นึกว่าบุตรกำเนิดเกิดในครรภ์ | จะได้เปนเพื่อนกันกับลูกยา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๗๔๒๏ เมื่อนั้น | นางสีดาแสนโสมนัศา |
ค่อยประคองสองราชกุมารา | พิศภักตร์ลักขณาละกลกัน |
ดูน้องงามสิ้นทั้งอินทรีย์ | ดูพี่พร้อมพริ้งทุกสิ่งสรรพ์ |
เสนหาดังดวงชีวัน | รับขวัญโลมลูบพระลูกยา |
แล้วนางก้มเกล้ากราบกราน | พระอาจารย์จงโปรดเกษา |
ได้ตั้งกิจพิธีเปนฤกษ์พา | จงให้นามนัดดาทั้งสองนี้ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๗๔๓๏ เมื่อนั้น | พระวัชมฤคฤๅษี |
พิเคราะห้ในลักขณาชตาปี | ให้ต้องที่อายุศม์บริวาร |
ซึ่งบุตรเทวีทั้งพี่น้อง | นานไปจะได้ครองราชฐาน |
จะให้นามตามวงษ์อวตาร | ด้วยบุญญาธิการนั้นมากมาย |
ให้พี่ชื่อพระมงกุฎไตรภพ | น้องชื่อพระลบฤๅสาย |
ปราศจากภยันอันตราย | จะเรืองฤทธิเลิศชายในโลกา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๗๔๔๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาเสนหา |
ก้มเกล้าเคารพพระสิทธา | ยินดีปรีดาในอารมณ์ |
แล้วชวนองค์โอรสทั้งสอง | อุ้มประคองเข้ามายังอาศรม |
ค่อยวางลูกจอมขวัญให้บรรธม | นางเชยชมกุมารสำราญใจ |
ลูกรักของแม่ไม่หลับนอน | จะชอ้อนวอนเที่ยวไปข้างไหน |
นิ่งเถิดแก้วตาอย่าร่ำไร | แม่จะกล่อมเจ้าให้ไสยา |
ฯ ๖ คำ ฯ
พัดชา
๒๗๔๕๏ เจ้านอนเสียเถิดทั้งพี่น้อง | จะร่ำร้องไปไยหนักหนา |
พ่ออย่ากรรแสงโศกา | จงนิ่งนิทราณสายใจ |
อย่าเฝ้าเร้ารบมารดา | ตื่นนอนพ่ออย่ารู้ร้องไห้ |
ขวัญเข้าเจ้าแม่ผู้เพื่อนไร้ | ต้องนอนในป่าดงพงพี |
แม่จะเก็บผลไม้ให้เสวย | ทรามเชยของแม่ทั้งสองศรี |
โพยไภยไข้เจ็บอย่ารู้มี | เทวีโลมลูบพระลูกยา |
ฯ ๖ คำ ฯ กล่อม
ร่าย
๒๗๔๖๏ ครั้นพี่น้องสององค์หลับใหล | ทรามไวยนั่งพิทักษ์รักษา |
โบกปัดพัดวีไปมา | ด้วยเมตตาลูกน้อยกลอยใจ |
ครั้นกุมารตื่นขึ้นค่อยประคอง | มิให้ลูกทั้งสองร้องไห้ |
อุ้มมาโสรจสรงคงคาไลย | ลูบไล้ขนงเนตรเกษกรรณ |
แล้วอุ้มขึ้นจากอ่างวางบนตัก | เชยชมลูกรักแล้วรับขวัญ |
จึ่งหยิบผลามาป้อนปัน | บำรุงเลี้ยงเที่ยงธรรม์ทุกเวลา |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๒๗๔๗๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองพระกุมารโอรสา |
ครั้นค่อยจำเริญไวยใหญ่มา | พูดจาฉอเลาะเราะราย |
วอนชนนีเสวยนม | เชยชมทุกเมื่อไม่เบื่อหน่าย |
พระมงกุฎนั่งแนบแอบกาย | หยิบหมากป้อนถวายแล้วขอชาน |
พระลบรบวอนจะนอนตัก | ซบภักตร์บังคมประสมประสาน |
แล้ววิ่งวางไปหาพระอาจารย์ | สองกุมารถาโถมเข้ากอดฅอ |
นั่งตักคนละข้างแล้วต่างว่า | ตารักข้ามากกว่าหนาตาหนอ |
รบให้พระนักธรรม์ปั้นวัวล้อ | หลานขอคนละตัวเถิดขรัวตา |
กอดจบลูบคลำทำเปาะเหลาะ | พูตออเซาะสรวลสันต์หรรษา |
เออนี่อะไรไอยกา | ตัวดำเหมือนคุลาน่าชัง |
ผมเผ้าเหาเล็นเหม็นสาบ | ช่างไม่อาบน้ำท่าเสียมั่ง |
หนวดขาวยาวยุ่งรุงรัง | น่าชังฉวยฉุดหลุดติดมือ |
แล้วทำบ่วงคนละอันควั่นปลายไม้ | ตาไปคล้องนกแก้วด้วยกันฤๅ |
หยอกเย้าเจ้าตาคร่ายื้อ | อึงอื้ออุตลุดในกุฎี |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เจรจา
๒๗๔๘๏ เมื่อนั้น | พระวัชมฤคฤๅษี |
รักใคร่หลานขวัญพันทวี | พระมุนีมิให้เคืองใจ |
นั่งหลาวว่าวกุลาน้อยน้อย | กะจ้อยร่อยน่ารักชักด้วยไหม |
ตัดว่าวปักเป้าปิดกระดาษไทย | ผูกปลายไม้ให้หลานฬ่อกัน |
แล้วแกะดินตินท่าน่าวัด | มาปั้นเปนรูปสัตวทุกสิ่งสรรพ์ |
ส่งให้สองนัดดาลาวรรณ | ตัวนั้นงามเหมาะเหมาะสิ้นที |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๗๔๙๏ เมื่อนั้น | พระกุมารพี่น้องสองศรี |
ได้ของเล่นหลายหลากมากมี | ยินดีปรีดาในอารมณ์ |
แล้วลาดาบศมาวิ่งเล่น | เพลาเย็นแดดบ่ายชายอาศรม |
แล่นไปหลังกุฎีที่จงกรม | พ่างพื้นรื่นรมย์โรยทราย |
เอาวัวล้อลากเล่นที่ลานวัด | จนรูปสัตวล้มคมำคว่ำหงาย |
ครั้นลมพัดเรื่อย ๆ เฉื่อยชาย | ก็ชักว่าวสาวสายป่านมา |
พระลบรบชวนเล่นไล่ | ซ่อนซุ่มพุ่มไม้แล้วไปหา |
สำรวลสรวลสันต์กันสองรา | ตามประสาทารกสำราญใจ |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลงฉิ่ง
๒๗๕๐๏ คิดคนึงถึงองค์พระอาจารย์ | จะเที่ยวเล่นอยู่นานก็หาไม่ |
ต่างองค์ทรงเก็บดอกไม้ | เข้าไปถวายพระสิทธา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๗๕๑๏ เมื่อนั้น | พระมุนีมีญาณฌานกล้า |
เห็นพี่น้องสองราชนัดดา | ชัณษาได้เจ็ดปีปลาย |
จำจะให้เรียนรู้วิชาการ | ตามวงษ์อวตารสืบสาย |
คิดพลางทางว่ากับหลานชาย | จะวิ่งเต้นเล่นสบายอยู่ทำไม |
วันพฤหัศวันนี้ดีนักหนา | ไอยกาจะสอนหนังสือให้ |
เจ้าจงพากเพียรเขียนอ่านไป | ตั้งใจอุส่าห์อย่าเกียจคร้าน |
เมื่อไรหลานอ่านหนังสือออกก่อน | จึ่งจะสอนวิชาชาติททาร |
ว่าพลางทางหยิบเอากระดาน | เขียนนอโมให้หลานเล่าไป |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๒๗๕๒๏ เมื่อนั้น | สองกุมารกราบก้มบังคมไหว้ |
ร่ำเรียนเขียนอ่านว่องไว | ไม่ทันไรรู้สิ้นสารพัด |
สวดหนังสืออื้ออึงทั้งพี่น้อง | สุ้งเสียงเคล่าคล่องไม่ข้องขัด |
อ่านโคลงพากย์ฉันท์สันทัด | อุส่าห์หัดเช้าเย็นไม่เว้นวัน |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๒๗๕๓๏ เมื่อนั้น | พระมุนีมีจิตรหฤหรรษ์ |
เห็นพระพี่น้องทั้งสองนั้น | อ่านหนังสือโคลงฉันท์ได้ชำนาญ |
จึ่งสั่งสอนตามสังเกตเวทมนต์ | อุปเท่ห์เล่ห์กลให้แก่หลาน |
ทั้งคาถาอาคมอันเชี่ยวชาญ | เขียนใบลานให้เล่าทั้งเช้าเย็น |
ขัดสมาธิ์เอออือถือไม้เรียว | ขู่ตวาดกราดเกรี้ยวเคี่ยวเข็น |
ไม่ให้หลบลี้หนีเร้น | สั่งสอนมิได้เว้นสักเวลา |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๒๗๕๔๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองพระกุมารโอรสา |
ตั้งใจพากเพียรเรียนวิชา | ปัญญาเคล่าคล่องว่องไว |
รู้จบไตรเพทเวทมนต์ | อุปเท่ห์เล่ห์กลก็จำได้ |
อุส่าห์สาธยายทุกวันไป | หวังจะให้แม่นยำชำนาญ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๗๕๕๏ เมื่อนั้น | พระฤๅษีปรีดิ์เปรมเกษมสานต์ |
ยิ้มแย้มแจ่มใสสำราญ | ด้วยหลานมีปรีชาปัญญาไว |
สารพัดลัทธิต่างต่าง | ไม่อำพรางพร่ำสั่งสอนให้ |
ครั้นเห็นหลานเล่าเรียนได้เจนใจ | จึ่งหยิบไม้ไผ่ป่ามาทั้งมัด |
เอามีดเกลาเหลาศรสองอัน | กับลูกนั้นห้าเล่มพอยิงหัด |
แล้วแนะทางธนูให้รู้ชัด | เจ้ายิงให้สันทัดทั้งพี่น้อง |
ว่าพลางทางหยิบธนูให้ | กับหลานน้อยกลอยใจทั้งสอง |
ไอยกาจะพาไปยิงลอง | แล้วย่างย่องนำน่าออกมาพลัน |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๒๗๕๖๏ ครั้นถึงที่จงกรมร่มไทร | ลงนั่งหอบหายใจตัวสั่น |
จึ่งให้สองนัดดาลาวรรณ | ยืนยันยิงธนูให้รู้ที |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๗๕๗๏ เมื่อนั้น | พระกุมารพี่น้องสองศรี |
ต่างองค์ขึ้นศิลป์ด้วยยินดี | น้าวหน่วงท่วงทีดังนารายน์ |
พระอาจารย์ผุดลุกขึ้นกุกกัก | เอาไม้ท้าวไปปักลงให้หมาย |
ทั้งสององค์ทรงศรเยื้องกราย | พาดสายหมายมุ่งแล้วแผลงไป |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๒๗๕๘๏ ศรทรงตรงถูกไม้ท้าวปัก | เห็นประจักษ์ทักแท้ไม่สงไสย |
พระกุมารสรวลสันต์สำราญใจ | แล้วยิงซ้ำไปให้ชำนาญ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๒๗๕๙๏ เมื่อนั้น | พระมุนีนั่งชมฝีมือหลาน |
มิเสียแรงร่ำเรียนวิชาการ | จนสิ้นพุงอาจารย์ไม่ช้าพลัน |
ตาจะตั้งกองกูณฑ์กระลากิจ | ชุบศรเรืองฤทธิ์ให้หลานขวัญ |
ว่าพลางทางลุกขึ้นงกงัน | กลับมายังอรัญกุฎี |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๒๗๖๐๏ นั่งเหนือแผ่นศิลาริมอาศรม | สังเกตดูฤกษ์ลมปัถวี |
จึ่งตั้งการทำกิจพิธี | กองกูณฑ์อัคคีขึ้นด้วยพลัน |
แล้วยืนสำรวมกายร่ายเวท | ตามลัทธิพรหเมศรังสรรค์ |
บันดาลเปนเทพเทวัญ | ชูศรสองอันขึ้นกลางไฟ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๒๗๖๑๏ พระดาบศชื่นชมภิรมยา | สมดังจินดาอัชฌาไศรย |
หยิบศรสองคันมาทันใด | เทพไทหายวับไปกับตา |
จึ่งส่งศรให้องค์พระมงกุฎ | กับพระลบแสนสุดเสนหา |
เอาไว้เปนคู่หัดถ์พระนัดดา | จงเรืองเดชเดชาในธาตรี |
สารพัดศัตรูหมู่ราย | ให้แพ้พ่ายฤทธิรอนด้วยศรศรี |
ปราบเข็ญเย็นทั่วธรณี | อย่ารู้มีอันตรายทั้งสองรา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๗๖๒๏ เมื่อนั้น | พระกุมารอภิวันท์ด้วยหรรษา |
คำนับรับคำพระสิทธา | ยินดีปรีดาเปนพ้นไป |
ต่างอวดศรศรีกันพี่น้อง | ถ้อยทียิ้มย่องผ่องใส |
แล้วลาอาจารย์ชาญไชย | วิ่งไปเฝ้าองค์พระมารดา |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๒๗๖๓๏ บังคมทูลแถลงแจ้งคดี | พระฤๅษีชุบศรให้ข้า |
เปนอาวุธสำหรับกายา | น่ารักหนักหนาพระชนนี |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๗๖๔๏ เมื่อนั้น | นางสีดาปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
รับขวัญลูกยาแล้วพาที | พระมุนีมีคุณเปนพ้นไป |
เมตตาสารพัดจะสอนสั่ง | อิกทั้งธนูศิลป์ก็ชุบให้ |
ลูกยาจะปรากฎยศไกร | ทั่วไปทุกประเทศธานี |
เหมือนองค์ทรงฤทธิ์บิดร | รุ่งเรืองฤทธิรอนด้วยศรศรี |
สังหารผลาญหมู่อสุรี | มอดด้วยชีวีทั้งลงกา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๗๖๕๏ เมื่อนั้น | องค์พระมงกุฎเชษฐา |
ทั้งองค์พระลบอนุชา | สำคัญว่าร่วมชนกชนนี |
ต่างชอ้อนนอนตักด้วยรักใคร่ | แล้วทูลความถามไปทั้งสองศรี |
พระมารดาจงแถลงแจ้งคดี | เดิมทีนั้นเปนประการใด |
ซึ่งว่าบิตุรงค์ลูกรัก | เปนปิ่นปักนัคเรศบุรีไหน |
นามวงษ์พงษ์ประยูรอย่างไร | สงไสยเปนพ้นพันทวี |
เหตุไฉนไยองค์พระมารดา | มาอยู่ด้วยไอยกาฤๅษี |
ไม่เนาในนัคราธานี | ลูกนี้ฉงนสนเท่ห์นัก |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๗๖๖๏ เมื่อนั้น | นางสีดานารีมีศักดิ |
ได้ฟังทั้งสองลูกรัก | นงลักษณ์สท้อนถอนใจ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
โอ้ชากุณ
๒๗๖๗๏ จะออกปากแถลงแจ้งเหตุ | ชลเนตรแถวถั่งหลั่งไหล |
สร้วมสอดกอดองค์โอรสไว้ | ทรามไวยพิไรร่ำรำพรรณ |
อันองค์สมเด็จพระบิตุเรศ | ทรงนามราเมศรังสรรค์ |
หน่อท้าวทศรถทรงธรรม์ | ครอบครองเขตรขัณฑ์อยุทธยา |
มีพระอนุชาสามองค์ | ล้วนทรงฤทธิไกรแกล้วกล้า |
เดิมแม่อยู่เมืองมิถิลา | แรกรุ่นชัณษาสิบห้าปี |
บิดาเจ้าไปยกศิลป์ไชย | จึ่งได้แม่มาเปนมเหษี |
มาอยู่อยุทธยาธานี | ไม่ถึงกึ่งปีหนาลูกยา |
นางไกยเกษีนั้นขอสัตย์ | จึ่งกำจัดบิดรไปเดินป่า |
แม่กับพระลักษณ์อนุชา | อุส่าห์ตามเสด็จด้วยภักดี |
อสุรีมีนามทศภักตร์ | มาลอบลักมารดาพาหนี |
ไปอยู่กรุงลงกาธานี | แม่นี้ทุกข์ทนเปนพ้นไป |
องค์พระบิดากับอาว์เจ้า | คุมเหล่าวานรน้อยใหญ่ |
ไปสังหารทศกรรฐ์บรรไลย | จึ่งได้มารดามานคร |
ก็อยู่เย็นเปนศุขเกษมสันต์ | จนแม่นี้มีครรภ์อ่อนอ่อน |
วันหนึ่งจึ่งองค์พระภูธร | บทจรไปประพาศพนาลี |
แม่ไปสรงวารินที่ตินท่า | ปิศาจแสร้งแปลงมาเปนทาษี |
มันเฝ้าวอนว่าพาที | ให้แม่นี้เขียนรูปเจ้าลงกา |
บิตุเรศพิโรธโกรธหนัก | ก็ลงแม่ว่ารักยักษา |
ตรัสใช้ให้องค์อนุชา | พามาพิฆาฏฟาดฟัน |
เดชะความสัตย์สุจริต | ชีวิตรมารดาไม่อาสัญ |
จึ่งได้มาพึ่งพักพระนักธรรม์ | นางรำพรรณให้ฟังแต่หลังมา |
ฯ ๒๒ คำ ฯ
ร่าย
๒๗๖๘๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองพระกุมารโอรสา |
ได้ฟังชนนีมีวาจา | เล่ามาแต่ต้นจนปลาย |
คิดถึงบิดาก็อาไลย | เปลี่ยวเปล่าเศร้าใจฤไทยหาย |
สงสารมารดาอยู่เดียวดาย | ฟูมฟายชลนาโศกาไลย |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๒๗๖๙๏ เมื่อนั้น | องค์ภัควดีศรีใส |
จึ่งปลอบลูกน้อยกลอยใจ | อย่าครวญคร่ำร่ำไรถึงบิดา |
ท่านเคืองขัดตัดขาดเสียแล้วพ่อ | แม่นี้ไม่ขอเห็นหน้า |
เจ้าอย่าหมายใจไปพึ่งพา | เราอยู่ตามประสายากไร้ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๗๗๐๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองกุมาราอัชฌาไศรย |
เห็นชนนีลห้อยน้อยใจ | ห้ามมิให้โศกศัลย์ถึงบิดา |
อุส่าห์ขืนกลืนกลั้นกรรแสง | เสแสร้งสรวลสันต์หันษา |
ชักชวนพูดเล่นเจรจา | กับมารดาผาศุกเหมือนทุกวัน |
แล้วบังคมก้มกราบลงกับตัก | ลูกรักจักลาไปไพรสัณฑ์ |
เที่ยวประพาศพฤกษาในอารัญ | สุริยาสายัณห์จะกลับมา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๗๗๑๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาเสนหา |
ลูบหลังทั้งสองพระลูกยา | กำชับกำชาด้วยปรานี |
เจ้าจะไปเล่นป่าอย่าประมาท | หมู่สัตวจัตุบาทเสือสีห์ |
ย่อมหยาบคายร้ายแรงราวี | ระวังองค์จงดีณลูกยา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๗๗๒๏ เมื่อนั้น | พระพี่น้องสององค์ก็หรรษา |
กราบบาทชนนีชุลีลา | มาสระสรงคงคาสาคร |
ทรงภูษาผ้าทิพบรรจง | ต่างองค์ทรงถือธนูศร |
ออกจากอาศรมสถานพระมารดร | บทจรเข้าในไพรพนม |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
ชมดง
๒๗๗๓๏ สององค์ลดเลี้ยวเที่ยวประพาศ | รุกขชาติดาษดื่นรื่นร่ม |
สาวหยุดย้อยรย้าน่าชม | เด็ดมาแซมผมให้น้องชาย |
ปริงปรางลางต้นผลดก | ตามประสาทารกก็ปีนป่าย |
เก็บได้ใส่ห่อผ้าสพาย | จะเอาไปถวายพระมารดา |
เห็นลิ้นจี่มีผลพวงห้อย | หยุดสอยเสวยพลางกลางป่า |
ร้อยลิ้นลมุดพุทรา | หล่นกลาดดาษดาอยู่บนดิน |
ต่างวิ่งชิงกันเก็บเสวย | แล้วล่วงเลยเดินไปในไพรสินธุ์ |
ครั้นถึงธารท่าวาริน | ก็อาบกินเย็นฉ่ำสำราญ |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลงฉิ่ง
ร่าย
๒๗๗๔๏ แลเห็นพฤกษาพระยารัง | สูงใหญ่ใบบังสุริย์ฉาน |
โตกว่าต้นไม้ในดงดาน | สองกุมารยืนแลอยู่แต่ไกล |
พระมงกุฎจึ่งว่าแก่พระลบ | เรามาพบพฤกษาสูงใหญ่ |
พี่คิดว่าจะลองศิลป์ไชย | ให้เห็นฤทธิไกรดังใจจง |
แม้นศรเรานี้มีศักดา | พฤกษาก็จะแหลกเปนผุยผง |
ว่าพลางทางขึ้นศรทรง | พาดสายหมายตรงแล้วแผลงไป |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิดฉิ่ง กราวรำ เจรจา
๒๗๗๕๏ ศรถูกพระยารังดังสนั่น | หักสะบั้นกลางต้นไม่ทนได้ |
ด้วยกำลังฤทธิรอนศรไชย | หวั่นไหวไปทั่วทั้งธาตรี |
สองกุมารชื่นชมโสมนัศ | ตบหัดถ์สรวลสันต์เกษมศรี |
แล้วพากันดั้นดงพงพี | มายังที่อาศรมศาลา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
ช้า
๒๗๗๖๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงพระรามเรืองฤทธิ์ทุกทิศา |
เสด็จออกว่าขานการภารา | พร้อมพระอนุชาเสนาใน |
ได้ยินเสียงวิปริตผิดประหลาด | กึกก้องกัมปนาทหวาดไหว |
สุธาธารสท้านสเทือนไป | ดังกรุงไกรจะเอียงคว่ำทำลาย |
ประชาชนพลเมืองทั้งนั้น | ต่างตระหนกอกสั่นขวัญหาย |
ไม่ประจักษ์เหตุผลต้นปลาย | พระนารายน์ฉงนสนเท่ห์ใจ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๒๗๗๗๏ จึ่งดำรัสตรัสถามโหราจารย์ | จะเกิดเหตุเภทพาลเปนไฉน |
เสียงสนั่นบันดาลดังนี้ไซ้ | ดีร้ายอย่างไรจะใคร่รู้ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๗๗๘๏ บัดนั้น | ปโรหิตโหรเถ้าเฝ้าอยู่ |
ทั้งพราหมณ์พฤฒามาตย์ราชครู | ที่รู้เค้ามูลก็ทูลไป |
ซึ่งเกิดการอัศจรรย์ดังบัญชา | จะมีในตำราก็หาไม่ |
แต่จดหมายเหตุสังเกตไว้ | เมื่อภูวไนยกับสามอนุชา |
ลองศิลป์ถวายพระบิตุราช | ก็ไหวหวาดทั่วทศทิศา |
ครั้งนี้เห็นจะมีผู้ศักดา | สำแดงเดชาเชี่ยวชาญ |
ขอให้แต่งราชสารศรี | ผูกพาชีเสี่ยงทายอธิฐาน |
ปล่อยพระยาม้าต้นอุประการ | แล้วแต่งทัพทหารตามไป |
ใครนับถือซื่อตรงต่อเบื้องบาท | พระนารายน์ธิราชเปนใหญ่ |
ให้เคารพบูชาด้วยมาไลย | โดยใจจงรักภักดี |
ใครทะนงองอาจอหังกา | เห็นอาชาแลวจับขับขี่ |
ผู้นั้นโทษถึงสิ้นชีวี | ให้โยธีจับมัดเอาตัวมา |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๒๗๗๙๏ เมื่อนั้น | พระอวตารผ่านภพนาถา |
จึ่งดำรัสตรัสแก่โหรา | ท่านว่านี้ชอบเราขอบใจ |
แม้นจะละมันไว้ให้เหิมฮึก | จะเกิดศึกเสี้ยนหนามสงครามใหญ่ |
จำจะต้องปราบปรามให้ราบไว้ | อย่าให้ทนงจิตรทำฤทธา |
แล้วมีบัญชาปกาสิต | สั่งพระพรตเรืองฤทธิ์ขนิษฐา |
อิกองค์พระสัตรุดอนุชา | ทั้งพระยาวายุบุตรวุฒิไกร |
ให้จัดแจงปล่อยม้าอุประการ | ตามคำโหราจารย์จงได้ |
น้องรักเร่งยกทัพไชย | ตามไปจับปัจจามิตรมา |
ว่าพลางอำนวยอวยพร | จงรุ่งเรืองฤทธิรอนแกล้วกล้า |
อันศัตรูผู้ที่อหังกา | ให้ย่อยยับอัปราด้วยฤทธี |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๒๗๘๐๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
คำนับรับพรภูมี | ชื่นชมยินดีเปนพ้นไป |
ต่างองค์ถวายอภิวาท | พระเชษฐาธิราชเปนใหญ่ |
แล้วชวนวายุบุตรวุฒิไกร | ออกไปจัดสรรดังบัญชา |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๒๗๘๑๏ จึ่งให้ผูกม้าต้นอุประการ | เครื่องอานภู่ดาววาวเวหา |
อาลักษณ์เชิญราชสารา | มาแขวนฅอพระยาพาชี |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๗๘๒๏ บัดนั้น | ปโรหิตโหราบดีศรี |
ราชครูหมู่มุขมนตรี | พราหมณ์ชีมาประชุมพร้อมกัน |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๒๗๘๓๏ จึ่งอ่านคำอธิฐานเสี่ยงทาย | ว่าองค์พระนารายน์รังสรรค์ |
ซึ่งทรงทศพิธราชธรรม์ | หมายมั่นจะบำรุงโลกา |
เดชะอธิฐานทุกสิ่ง | เปนความสัตย์ความจริงของข้า |
ขอจงองค์เทพเทวา | ช่วยชักนำอาชาคลาไคล |
ผู้ใดที่ทนงองอาจ | ทำให้โลกธาตุหวาดไหว |
ถึงจะอยู่ถิ่นฐานบ้านเมืองใด | ขอให้มโนไมยไปพบพาน |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๒๗๘๔๏ ครั้นเสี่ยงแล้วลั่นฆ้องสามที | ปล่อยพระยาพาชีห้าวหาญ |
ออกจากที่ประชุมโหราจารย์ | เดินผ่านไปตามมรคา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๗๘๕๏ บัดนั้น | หญิงชายชาวเมืองถ้วนหน้า |
รู้ว่าพระทรงศักดิจักรา | ให้เสี่ยงทายมิ่งม้าอุประการ |
ต่างหาธูปเทียนดอกไม้ | ออกไปบูชาทุกน่าบ้าน |
บ้างปูผ้าห่มก้มกราบกราน | ตามตลาดยี่สารทุกแห่งไป |
บ้างว่าเดชะพระนารายน์ | ขอจงจับคนร้ายมาได้ |
ให้สิ้นเสี้ยนศัตรูหมู่ไภย | เย็นใจไพร่ฟ้าประชาชน |
บรรดาเหล่าชาวเมืองมาคับคั่ง | บ้างยืนนั่งแลหลามตามถนน |
ต่างอำนวยอวยพรภูวดล | ดูพระยาม้าต้นจนลับตา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๗๘๖๏ บัดนั้น | มิ่งม้าอุประการหาญกล้า |
ทักษิณสามรอบภารา | แล้วตรงมากาลวาดพนาลี |
ฯ ๒ คำ ฯ พระยาเดิน
๒๗๘๗๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
ครั้นเสร็จปล่อยมิ่งม้าพาชี | ภูมีมาสรงคงคาไลย |
แต่งองค์ทรงใส่เครื่องประดับ | สำหรับรณรงค์ศึกใหญ่ |
จับศรศักดาคลาไคล | มาทรงพิไชยราชรถ |
ให้คำแหงหณุมานเปนกองน่า | ดำเนินนำโยธามาหมด |
เคลื่อนทัพสององค์พระทรงยศ | เดินสะกดรอยม้าอาชาไป |
ฯ ๖ คำ ฯ กราวนอก เชิด
๒๗๘๘๏ ครั้นถึงชายป่ากาลวาด | ให้หยุดราชรถทองผ่องใส |
จึ่งสั่งศรีหณุมานชาญไชย | จงตามรอยม้าไปให้ทันที |
เราจะพักพหลพลขันธ์ | ตั้งมั่นคอยท่าอยู่ที่นี่ |
แม้นประสบพบพวกไพรี | จงกลับมาแจ้งคดีด้วยพลัน |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๗๘๙๏ บัดนั้น | หณุมานฤทธิแรงแขงขัน |
รับสั่งสองพระองค์ทรงธรรม์ | ก็ผายผันมาตามพาชี |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๒๗๙๐๏ ลัดแลงแฝงพุ่มพฤกษา | มิให้เห็นกายากระบี่ศรี |
สกดรอยคอยดูท่วงที | หวังจะจับคนขี่อาชา |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๒๗๙๑๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงสององค์ทรงยศโอรสา |
อยู่ด้วยพระอาจารย์กับมารดา | ในอาศรมศาลาพนาลี |
ร่ำเรียนวิชาการชำนาญนัก | เรืองฤทธิ์สิทธิศักดิด้วยศรศรี |
ชันษาอายุได้แปดปี | ชนนีพิศวาศจะขาดใจ |
เคยไปเที่ยวประพาศพนาวัน | เก็บพรรณพฤกษาในป่าใหญ่ |
เมื่อวันจะมีเหตุเภทไภย | พเอิญให้อาวรณ์วิญญา |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๒๗๙๒๏ จึ่งบังคมทูลชนนี | ลูกนี้จะลาไปเล่นป่า |
พอบ่ายบังควรเวลา | จะกลับมาให้ถึงกุฎี |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๗๙๓๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดามารศรี |
รับขวัญลูกยาแล้วพาที | วันนี้แม่ประหลาดหลากใจ |
ผิดสังเกตเนตรขวาก็กระเหม่น | จะเคยเปนเช่นนี้ก็หาไม่ |
ลูกรักจักลาไปเล่นไพร | แม่ไม่ให้ไปแล้ววันนี้ |
จงเล่นอยู่แต่น่าอาศรม | ริมที่จงกรมพระฤๅษี |
สนุกกว่าป่าดงพงพี | สัตวร้ายราวีไม่บีฑา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๗๙๔๏ เมื่อนั้น | สององค์ทรงยศโอรสา |
ชนนีมิให้ไคลคลา | ก็โศกาอาดูรทูลไป |
ลูกจะใคร่เที่ยวเล่นเช่นวานนี้ | ลองศิลป์พระมุนีที่ให้ใหม่ |
ยิงรังดังลั่นสนั่นไพร | ไม้ไล่ล้มหักด้วยศักดา |
แม้นไดัไปเล่นเหมือนเช่นนั้น | จะชวนกันยิงอิกให้หนักหนา |
ว่าพลางกลิ้งเกลือกเสือกไปมา | โศกาอื้ออึงคนึงไป |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๒๗๙๕๏ เมื่อนั้น | พระมุนีหนวกหูไม่อยู่ได้ |
ลุกขึ้นเดินงกงันมาทันใด | เอออะไรสีกาว่าหลานกู |
ไม่เมตตาตามใจลูกน้อย | ให้ฤๅษีนี้พลอยรำคาญหู |
พูดจาเพ้อพำพร่ำพรู | หลงใหลไปขู่พระกุมาร |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๒๗๙๖๏ เมื่อนั้น | นางสีดานึกพะวงสงสาร |
มิรู้ที่จะขืนขัดทัดทาน | เห็นกุมารครวญคร่ำร่ำไร |
จำเปนจึ่งมีพจนาดถ์ | อนุญาตโดยดังอัชฌาไศรย |
ลูกรักจักลาไปเล่นไพร | ก็ตามใจแต่อย่าอยู่ช้านัก |
อัศจรรย์วันนี้วิปริต | แม่คิดวิตกเพียงอกหัก |
ลูบหลังสั่งสองพระลูกรัก | อย่าช้านักมากุฎีแต่วี่วัน |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๗๙๗๏ เมื่อนั้น | สองกุมารชื่นชมหฤหรรษ์ |
ยินดีที่จะได้ไปอรัญ | สำรวลสรวลสันต์ทั้งน้ำตา |
แล้วอำลาอาจารย์กับมารดร | ยอกรบังคมก้มเกษา |
ต่างองค์ทรงศรศักดา | ออกจากศาลาคลาไคล |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๒๗๙๘๏ เดินโดยมรคาพนาลี | มาถึงที่กาลวาดป่าใหญ่ |
ลดเลี้ยวเที่ยวชมมิ่งไม้ | แสนสำราญฤไทยเปนพ้นนัก |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๗๙๙๏ พระมงกุฎเหลือบแลแปรผัน | เห็นม้านั้นยืนอยู่ไม่รู้จัก |
ชี้พระหัดถ์ตรัสบอกพระน้องรัก | ประหลาดนักสัตว์นี้มันชื่อไร |
แต่ก่อนเก่าเรามาเที่ยวเล่น | จะเคยพบเห็นก็หาไม่ |
ผิดกับสัตว์ป่าพนาไลย | ชรอยเขาเลี้ยงไว้ในบ้านเมือง |
รูปร่างน่ารักเปนหนักหนา | กิริยาอาการก็พานเชื่อง |
ล้วนแก้วเก้าเนาวรัตน์รุ่งเรือง | ผูกเครื่องประดับมากับกาย |
อย่าเลยเราช่วยกันเลี้ยวไล่ | จับตัวให้ได้ดังใจหมาย |
วันนี้ขี่เล่นให้สบาย | ตวันบ่ายสักหน่อยจึ่งปล่อยมัน |
แล้วทิ้งเถาวัลย์มาทันใด | ถือต้นปลายไว้ให้มั่น |
ชักขึงพานน่าม้านั้น | เลี้ยวลัดสกัดกั้นกันไปมา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๒๘๐๐๏ ครั้นจับม้าได้ก็ยินดี | ถ้อยทีสรวลสันต์หรรษา |
เห็นกล่องแก้วมรกฏรจนา | ผูกฅอม้ามาเปนสำคัญ |
ประหลาดใจอะไรจะมีอยู่ | จึ่งแก้ออกดูขมีขมัน |
เห็นสาราจาฤกแผ่นสุวรรณ | ก็ทรงอ่านสารนั้นทันใด |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๒๘๐๑๏ ในสาราว่านารายน์แบ่งภาค | มาจากเกษียรสมุทใหญ่ |
ทรงนามราเมศเรืองไชย | สถิตย์ในกรุงศรีอยุทธยา |
ได้ยินสำเนียงเสียงสนั่น | ไหวหวั่นทั่วทศทิศา |
หลากใจไม่แจ้งกิจจา | จึ่งปล่อยม้าที่นั่งมาครั้งนี้ |
ถ้าผู้ใดไม่กระบถทษร้าย | ต่อพระนารายน์เรืองศรี |
จงแต่งเครื่องบูชาพาชี | ภักดีต่อองค์พระทรงธรรม์ |
แม้นใครจับขับขี่ร่วมอาศน์ | พระนารายน์ธิราชรังสรรค์ |
จะให้ลงอาญาฆ่าฟัน | ผู้นั้นโทษถึงมรณา |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๒๘๐๒๏ พระมงกุฎทรงอ่านสารจบ | จึ่งว่าแก่พระลบขนิษฐา |
สัตวนี้มีเจ้าของแล้วน้องยา | เขาเรียกมันว่าม้าอาชาไนย |
อันสาราว่าใครจับขับขี่ | จะสังหารชีวีให้ตักไษย |
กระบถทดโท่ไม่เข้าใจ | จับได้ก็จะขี่ให้สำราญ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๘๐๓๏ เมื่อนั้น | พระลบอนุชาจึ่งว่าขาน |
ในสาราว่าพระอวตาร | แล้วก็ผ่านกรุงศรีอยุทธยา |
ฤๅจะเปนเช่นชนนีบอก | พระรามคนนี้ดอกกระมังหนา |
น้องนึกพะวงสงกา | แล้วจะเปนบิดาดอกกระมัง |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๒๘๐๔๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎว่าไปดังใจหวัง |
วานอย่าออกชื่อพ่อไม่ขอฟัง | ท่านชิงชังมารดาให้ฆ่าตี |
ถึงจะเปนบิดาก็ทำไม | เมื่อเราไม่รู้จักมักจี่ |
ม้าฬาของใครก็ตามที | คงจะขี่ให้ได้แล้วไม่ฟัง |
อนุชาช่วยยุดฉุดให้มั่น | อย่าให้มันถอยน่าถอยหลัง |
แล้วเหยียบโกลนโผนเผ่นด้วยกำลัง | ขึ้นนั่งบนอานอาชา |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิดฉิ่ง เพลง
๒๘๐๕๏ ชักม้าลดเลี้ยวเที่ยวเล่น | ขับขี่ไม่เปนเต้นสามขา |
พระลบรบจะขี่ด้วยพี่ยา | วิ่งตามมิ่งม้าอาชาไป |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๒๘๐๖๏ บัดนั้น | คำแหงหณุมานทหารใหญ่ |
สกดรอยค่อยตามมโนไมย | แลไปเห็นสองพระกุมาร |
คนหนึ่งขี่ม้าคนหนึ่งตาม | งามงามทรวดทรงส่งสัณฐาน |
เหมือนลม้ายคล้ายองค์พระอวตาร | หณุมานนิ่งนึกตรึกไตร |
ฤๅกุมารทั้งสองนี้ลองฤทธิ์ | ทำให้ทศทิศหวาดไหว |
แล้วขึ้นขี่มิ่งม้าอาชาไนย | มิได้ยำเยงเกรงอาญา |
อย่าเลยจะจับไปถวาย | องค์พระนารายน์นาถา |
คิดพลางเผ่นโผนโจนมา | จับสองกุมาราด้วยฤทธิรอน |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๒๘๐๗๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎป้องกันด้วยคันศร |
ตีต้องกายาวานร | ล้มกับดินดอนด้วยศักดา |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๒๘๐๘๏ พระมงกุฎจึ่งว่าแก่น้องรัก | โอ้ลิงนี้อัปรลักษณ์นักหนา |
มันจัณฑาลทำเราไม่เข้ายา | ตายสมน้ำหน้าสาแก่ใจ |
แต่พี่แคลงวิญญาด้วยวานร | ได้ผ้าผ่อนเครื่องประดับมาแต่ไหน |
ฤๅจะเปนลิงบ้านเขาเลี้ยงไว้ | ใช้ให้ตามมากับพาชี |
ถึงเจ้าของรู้ไปจะโกรธา | ตามมาชิงไชยก็ไม่หนี |
แล้วตรัสชวนน้องรักผู้ภักดี | ผลัดกันควบขี่เที่ยวไป |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๘๐๙๏ บัดนั้น | หณุมานค่อยคืนฟื้นตัวได้ |
ยังมึนเมื่อยเหนื่อยหอบหายใจ | นั่งดัดหลังไหล่แล้วตรึกตรา |
ศรกุมารคันนี้มีฤทธิ์ | ตีกูแทบชีวิตรสังขาร์ |
ถึงต้องศรอินทรชิตฤทธา | ไม่ชอกช้ำกายาเหมือนอย่างนี้ |
จำจะแกล้งนิมิตรบิดเบือน | ให้เหมือนลิงป่าพนาศรี |
เข้าเล่นด้วยช่วยจูงพาชี | ถ้าได้ทีก็จะจับฉับไว |
ครั้งนี้เห็นสมอารมณ์หมาย | ด้วยแยบคายไม่พะวงสงไสย |
คิดแล้วยืนยันขึ้นทันใด | สำรวมใจจำแลงแปลงตน |
ฯ ๘ คำ ฯ ตระ
๒๘๑๐๏ รูปกายกลายกลับเปนลิงน้อย | กระจ้อยร่อยหงอยเหงาเกาขน |
รีบตามรอยม้าในอารญ | บ่าแบกพวงผลไม้มา |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๒๘๑๑๏ พลางชแง้แลดูพระกุมาร | เห็นขี่ม้ากล้าหาญนักหนา |
คิดขยาดหวาดหวั่นวิญญา | ชูผลพฤกษามาแต่ไกล |
แล้วแกล้งกล่าววาจาพาที | ข้านี้มีจิตรคิดรักใคร่ |
เหนพระองค์ทรงขับอาชาไนย | ควบมาควบไปในดงดาน |
มิ่งม้าตัวนี้น่าขี่เล่น | ดูเห็นเปนศุขสนุกสนาน |
พลางยื่นผลาผลลนลาน | เชิญเสวยหวานหวานสำราญใจ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๘๑๒๏ เมื่อนั้น | พระพี่น้องสององค์ไม่สงไสย |
ยิ้มพลางทางว่าไอ้ลิงไพร | ขอบใจเองนักที่ภักดี |
เอาลูกไม้มาให้ประดักประเคิด | เองเอาไว้กินเถิดกระบี่ศรี |
แล้วตรัสเล่าแถลงแจ้งคดี | ไอ้ลิงใหญ่เมื่อกี้จะจับกู |
มันกล้าดีก็ตีด้วยคันศร | เดี๋ยวนี้ยังนอนกลิ้งอยู่ |
เองนี้พูดจาน่าเอนดู | เที่ยววิ่งเล่นกับกูก็เปนไร |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๘๑๓๏ บัดนั้น | หณุมานผู้มีอัชฌาไศรย |
แกล้งทำเปนทีดีใจ | เสแสร้งใส่ไคล้เจรจา |
อันไอ้ลิงใหญ่ใจพาล | เปนลิงบ้านมิใช่ลิงป่า |
มันร้ายกาจรังแกแต่ไรมา | ตายสมน้ำหน้าข้าดีใจ |
ว่าพลางทางทำเปนเกรงกลัว | ค่อยย่องยอบตัวเข้ามาใกล้ |
เห็นสององค์เพลิดเพลินเมินไป | คิดเขม้นหมายใจเห็นได้การ |
ทำท่าทางจะโถมโจมจับ | แต่ขยับแล้วขยาดไม่อาจหาญ |
ครั้นได้ทีเผ่นโผนโจนทยาน | จับสองกุมารด้วยฤทธี |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๒๘๑๔๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎไม่ท้อถอยหนี |
รบรับวานรเอาศรตี | ถูกกระบี่ล้มลงสลบไป |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๒๘๑๕๏ เห็นลิงน้อยต้องศรนอนกลิ้ง | กลับเปนลิงเผือกโตก็จำได้ |
พระลบยืนอยู่ดินเอาศิลป์ไชย | หวดซ้ำร่ำไปไม่ปรานี |
พระมงกุฎจึ่งว่ากับน้องแก้ว | ไอ้ลิงนี้ตายแล้วเมื่อตะกี้ |
ยังรื้อทำมารยามาราวี | ช่วยกันทุบตีเสียให้ตาย |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๘๑๖๏ เมื่อนั้น | พระลบฉลาดเลี่ยงเบี่ยงบ่าย |
ชรอยไอ้ลิงนี้จะมีนาย | ใช้มาทำร้ายเราสองรา |
อย่าเพ่อฆ่ามันให้บรรไลย | มัดไปให้นายขายหน้า |
เห็นทีก็จะบอกกันออกมา | จึ่งค่อยฆ่าให้ม้วยเสียด้วยกัน |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๘๑๗๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎเห็นจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
จึ่งลงจากอาชาฉับพลัน | ทึ้งเอาเถาวัลมาทันใด |
ช่วยกันผูกรัดมัดไพล่หลัง | ชิงชังฉุดคร่าไม่ปราไส |
แล้วศักหน้าวานรด้วยยางไม้ | เปนอักษรสาปไปดังใจจง |
แม้นผู้อื่นหมื่นแสนจะแก้มัด | ถึงเชือกตัดอย่าให้ขาดโดยประสงค์ |
ถ้าเจ้าของลิงนั้นมั่นคง | แต่ลูบลงให้หลุดดังจินดา |
ครั้นสาปสรรเสร็จสรรพฉับไว | ตีซ้ำร่ำไปแล้วร้องว่า |
นายมุลมึงมีไปบอกมา | ต้านต่อฤทธากันกับกู |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๘๑๘๏ บัดนั้น | หณุมานอัปรยศอดสู |
ต้องมัดอกแอ่นไม่แหงนดู | อุส่าห์สู้แขงใจไคลคลา |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๒๘๑๙๏ เข้าในป่าชัฏลัดหลีกหลบ | กลัวจะพบผู้คนขายหน้า |
เดินพลางทางสบัดเถาลัดา | ด้วยฤทธาวายุบุตรวุฒิไกร |
เชือกเขากะจิริดนิดหนึ่ง | ดันดึงไม่ขาดหวาดไหว |
สุดรู้สุดฤทธิ์คิดจนใจ | ก็รีบไปยังองค์พระอนุชา |
ฯ ๔ คำ ฯ เตียว
๒๘๒๐๏ ครั้นถึงที่กองทัพยับยั้งอยู่ | ให้อดสูผู้คนเปนหนักหนา |
จึ่งเข้าไปเฝ้าสองพระน้องยา | ลุกล้มก้มหน้าลงโศกี |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๒๘๒๑๏ เมื่อนั้น | สองกระษัตริย์ทัศนากระบี่ศรี |
หลากจิตรอัศจรรย์พันทวี | จึ่งมีพจนาบัญชาไป |
ดูก่อนหณุมานชาญชิต | ผู้เรืองฤทธิ์ยิ่งยอดทหารใหญ่ |
เคยรบราญอสุรีมีไชย | โกฏิแสนแน่นไปไม่ต้านทาน |
เหตุไฉนไยนั่นครั้งนี้ | เหมือนไม่มีฤทธาศักดาหาญ |
ให้ใครเอาเชือกเขาเท่าสายพาน | ผูกรัดมัดท่านประจานมา |
จะดันดึงทึ้งเสียก็จะขาด | น่าอดสูประหลาดนักหนา |
เสียแรงที่เลื่องชื่อฦๅชา | ทำให้ขายบาทาพระนารายน์ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๘๒๒๏ บัดนั้น | หณุมานทูลแถลงแจ้งถวาย |
ครั้งนี้น่าอัปรยศอดอาย | ไม่ควรขายเบื้องบาทบทมาลย์ |
เดิมทีตามม้าคลาไคล | ดั้นดัดลัดไพรพฤกษาสาร |
ประเดี๋ยวใจไปประสบพบพาน | สองกุมารขี่ม้าพาชี |
ข้าถาโถมโจมจับด้วยศักดา | เพื่อนตีข้าสลบลงกับที่ |
ครั้นค่อยฟื้นคืนได้สมประดี | จึ่งแปลงเปนกระบี่พนาดร |
ชวนเล่นเห็นสนิทแล้วจะจับ | แต่กระหยับก็รันด้วยคันศร |
เปนสองครั้งดังชีวีม้วยมรณ์ | ล้มสลบซบซอนอยู่กลางไพร |
สองกุมารช่วยกันเข้าผูกมัด | รึงรัดแขนข้าไม่ปราไส |
แล้วพูดจาท้าถึงภูวไนย | ให้ตามไปต้านต่อฤทธา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๒๘๒๓๏ เมื่อนั้น | สองกระษัตริย์ขัดเคืองเปนหนักหนา |
หลากใจใครหนออหังกา | มัดหณุมานมาดังนี้ |
จึ่งเสด็จลงจากรถสุวรรณ | เข้าช่วยกันแก้มัดกระบี่ศรี |
ไม่เลื่อนหลุดจากแขนแน่นเต็มที | พระภูมีกริ้วโกรธพิโรธใจ |
จึ่งทรงเชือดฉะด้วยพระขรรค์ | เถาวัลจะขาดก็หาไม่ |
แล้วพินิจพิศดูทันใด | เห็นอักษรสาปไว้ที่หน้านั้น |
ต่างองค์ประจักษ์แจ้งไม่แคลงจิตร | สุดทีที่จะคิดผ่อนผัน |
จึ่งตรัสบอกหณุมานชาญฉกรรจ์ | เขาแช่งสาปสันเราจนใจ |
ต่อพระภุชพงษ์องค์นารายน์ | เปนเจ้านายท่านแท้จึ่งแก้ได้ |
เร่งเร็วอย่าช้าจงคลาไคล | กลับไปเฝ้าองค์พระทรงฤทธิ์ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๒๘๒๔๏ บัดนั้น | หณุมานเศร้าสร้อยลห้อยจิตร |
อัปรยศอดสูสุดคิด | ดังชีวิตรจะม้วยมรณา |
อนิจาครานี้ตัวกู | สุดรู้ซ้ำร้ายขายหน้า |
จะเหาะไปก็อายแก่เทวา | จะเดินทางพสุธาก็อายคน |
ครั้นนิ่งอยู่อย่างนี้ก็มิได้ | จำจะไปทูลแถลงแจ้งเหตุผล |
แล้วลาสองกระษัตริย์บัดดล | สำแดงฤทธิรณรีบมา |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๒๘๒๕๏ ครั้นถึงอยุทธยาธานี | เห็นภูมีออกขุนนางอยู่ข้างน่า |
จึ่งคุกข่าเข้าไปมิได้ช้า | นั่งก้มภักตราโศกาไลย |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๒๘๒๖๏ เมื่อนั้น | พระอวตารผ่านภพสบไสมย |
เห็นคำแหงหณุมานชาญไชย | ต้องผูกรัดมัดไพล่หลังมา |
พระเคืองขัดตรัสถามทันที | ว่าเหวยขุนกระบี่แกล้วกล้า |
เราใช้ให้ไปกับอาชา | ต้องมัดกลับมาด้วยอันใด |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๘๒๗๏ บัดนั้น | หณุมานทูลสนองแล้วร้องไห้ |
แจ้งความตามจริงทุกสิ่งไป | โดยได้รบสู้กับกุมาร |
อันพี่น้องสองศรีนั้นมีฤทธิ์ | สุดคิดที่จะรอต่อต้าน |
ตั้งแต่ข้ามาทำราชการ | เปนทหารอาสาฝ่าธุลี |
จะรณรงค์สงครามครั้งไร | ก็มิได้ขายเบื้องบทศรี |
มาแพ้ฤทธิ์ผิดพลั้งครั้งนี้ | ภูมีจงทรงพระเมตตา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๘๒๘๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
กริ้วโกรธดังไฟไหม้ฟ้า | จึ่งมีพจนาบัญชาการ |
ดูดู๋ไอ้ลูกกระจิริด | ทนงจิตรฮึกฮักหักหาญ |
ไม่เกรงกูผู้องค์อวตาร | ผูกมัดหณุมานประจานมา |
จึ่งพินิจพิศดูวานร | เห็นอักษรสาปไว้ที่แสกหน้า |
คิดพะวงสงไสยวิญญา | จึ่งเรียกมาอ่านดูด้วยพลัน |
ก็แจ้งว่าคำสาปหยาบคาย | พระนารายน์เคืองขุ่นหุนหัน |
เอาพระหัดถ์ลูบลงตรงเถาวัล | ที่ผูกพันก็เคลื่อนเลื่อนหลุดไป |
ฯ ๘ คำ ฯ รัว
๒๘๒๙๏ จึ่งดำรัสตรัสสั่งหณุมาน | ตัวท่านจงกลับไปทัพใหญ่ |
บอกสองน้องรักร่วมฤไทย | เร่งให้ไปจับกุมารมา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๘๓๐๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
นบนิ้วประนมบังคมลา | รีบมายังกองทัพฉับไว |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๒๘๓๑๏ ครั้นถึงจึ่งประนตบทบงสุ์ | สองกระษัตริย์สุริวงษ์เปนใหญ่ |
ทูลแถลงแจ้งความทั้งปวงไป | โดยไนยรับสั่งมาดังนี้ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๘๓๒๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองน้องนารายน์เรืองศรี |
ได้ฟังขุนกระบินทร์ก็ยินดี | จึ่งให้กรีธาทัพฉับไว |
คำแหงหณุมานเปนกองน่า | ดำเนินนำโยธาเข้าป่าใหญ่ |
เดินโดยมรคาพนาไลย | เร่งให้ขับรถบทจร |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๒๘๓๓๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎกุมารชาญสมร |
อยู่บนหลังม้าเห็นวานร | นำนิกรกองทัพกลับมา |
จึ่งชี้หัดถ์ตรัสบอกพระน้องชาย | สองคนโน่นนายกระมังหนา |
รี้พลเกลื่อนกลาดดาษดา | เห็นจะมาหักหาญราญรอน |
เราจะลองต่อสู้ดูเล่น | จะได้เห็นฤทธาศักดาศร |
ทำไมกับโยธาพลากร | จะม้วยมรณ์หมดสิ้นด้วยศิลป์ไชย |
อันนายกองสองราที่มานั้น | จะรบกันดูเล่นเปนไฉน |
ว่าแล้วลงจากมโนไมย | มิได้คร้ามครั่นหวั่นวิญญา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๘๓๔๏ เมื่อนั้น | สองกระษัตริย์สุริวงษ์นาถา |
ทอดพระเนตรเห็นสองกุมารา | นรลักษณ์ภักตราน่าเอนดู |
รูปร่างช่างเหมือนพระนารายน์ | งามลม้ายคล้ายกันทั้งคู่ |
สุริวงษ์พงษ์ไหนจะใคร่รู้ | มาเที่ยวอยู่ในอรัญบรรพต |
ฤๅหน่อเนื้อเชื้อกระษัตริย์ขัติยา | มาร่ำเรียนวิชาพระดาบศ |
คิดพลางทางสั่งให้เลื่อนรถ | ขึ้นไปน่าทศโยธี |
จึ่งมีสิงหนาทบรรหาร | ดูก่อนกุมาราทั้งสองศรี |
อันนามวงษ์พงษาแลธานี | อยู่ที่แว่นแคว้นแดนใด |
อหังกามาขี่พาชีชาติ | ร่วมอาศน์พระนารายน์เปนใหญ่ |
แล้วมัดหณุมานประจานไป | มิได้เกรงองค์พระทรงฤทธิ์ |
บัดนี้เรายกโยธาทัพ | จะมาจับตัวผู้ที่ทำผิด |
สังหารผลาญเสียให้ม้วยมิด | ลูกนิดเท่านั้นไม่คัณนา |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๒๘๓๕๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองกุมารหาญกล้า |
ยิ้มพลางทางมีวาจา | ทำไมมาล่วงถามนามวงษ์เรา |
พี่น้องของท่านไม่มีฤๅ | บอกชื่อเราบ้างเปนไรเล่า |
อย่าเจรจาจู่ลู่ดูเบา | พงษ์เผ่าย่อมมีอยู่เหมือนกัน |
ถึงเราเปนลูกเล็กเด็กน้อย | ก็ไม่ถอยหนีง่ายอย่าหมายมั่น |
ดูถูกลูกผู้ชายเช่นนั้น | ราวกันกับข้าไม่มีมือ |
อันอาชามาเที่ยวอยู่พงพี | ทำไมจับขี่ไม่ได้ฤๅ |
ธรรมดาม้าต้นย่อมปรนปรือ | ผูกถือเลี้ยงไว้ในธานี |
ถ้าไปจับม้าท่านถึงบ้านเมือง | จะหันหุนขุ้นเคืองก็ควรที่ |
นี่ปล่อยเปล่าเจ้าของก็ไม่มี | เราจึ่งขี่กัณฐัศว์อัศดร |
อันไอ้ลิงขาวบ่าวท่าน | ถึงสองครั้งจังฑาลเราก่อน |
ไม่หลาบจำจึ่งทำโทษกร | มัดมือวานรปล่อยไป |
แต่ไม่สังหารผลาญชีวี | เท่านี้บุญตัวเปนไหนไหน |
จะว่าเราผิดนั้นด้วยอันใด | คือใครก่อเหตุเภทพาล |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๒๘๓๖๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองกระษัตรากล้าหาญ |
ได้ฟังถ้อยคำสองกุมาร | พูดจาว่าขานคึกคัก |
เห็นจะเปนหน่อเนื้อเชื้อวงษ์ | เผ่าพงษ์กระษัตริย์สูงศักดิ |
ทั้งจริตกิริยาก็น่ารัก | ประหลาดนักฤๅลูกนางสีดา |
นิ่งคิดผิดไปมิใช่หลาน | นางก็ม้วยชนมานนานหนักหนา |
นึกฉงนสนเท่ห์ในวิญญา | จึ่งบัญชาตอบสองกุมารไป |
เราไต่ถามนามวงษ์จะใคร่แจ้ง | กลับแกล้งย้อนยอกหาบอกไม่ |
พูดจาอวดตัวไม่กลัวใคร | อาจองทนงใจใช่พอดี |
อักษรผูกม้ามาไม่เห็นฤๅ | ยังขืนดื้อเข้าจับขับขี่ |
ครั้นวานรตามมากลับฆ่าตี | ทำนี้ดีฤๅประการใด |
ไม่กลัวเกรงอาญาพระราเมศ | อันเรืองเดชฟากฟ้าสุธาไหว |
สังหารมารม้วยบรรไลย | อานุภาพปราบได้ทุกทิศ |
ตัวเปนลูกเล็กเด็กอมมือ | ควรฤๅอาจองทนงจิตร |
เหมือนแมงเม่าเข้ากองเพลิงพิศม์ | จะม้วยมิดไม่ทันพริบตา |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๒๘๓๗๏ เมื่อนั้น | สองกุมารยิ้มย่องแล้วร้องว่า |
น้อยฤๅนั่นสรรเสริญศักดา | ว่าฤทธายิ่งยวดอวดเรา |
เอออะไรนารายน์อวตาร | ปล่อยม้ามาพาลเอาผิดเขา |
ช่างไม่อดสูเลยดูเอา | เปนพงษ์เผ่าจักรพรรดิกระษัตรา |
แม้นมีศักดาอานุภาพ | ทำไมมิไปปราบยักษา |
มาจัณฑาลทำเราไม่เข้ายา | ใครเขาเปนข้าของพระราม |
เราอยู่แต่พี่น้องสองคน | ท่านยกรี้กรีพลมาเหลือหลาม |
จะรบราฆ่าฟันกันก็ตาม | ไม่หวาดหวั่นครั่นคร้ามขามฤทธิ์ |
ถึงเล็กกับใหญ่ทำไมกัน | สุดแต่เข้มแขงขันศักดิสิทธิ์ |
ดุจดังอัคคีมีพิศม์ | แต่นิดหนึ่งก็ไหม้ได้เหมือนกัน |
จงไต่ถามวานรดูก่อนฤๅ | เห็นฤทธีฝีมืออย่างไรนั่น |
กลัวเกลือกจะเปนเหมือนเช่นนั้น | จะพากันย่อยยับอัปรา |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๒๘๓๘๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองน้องนารายน์นาถา |
ได้ฟังคั่งแค้นวิญญา | โกรธากระทืบบาทตวาดไป |
ดูดู๋ลูกเล็กกะจิริด | ไม่คิดเจียมตัวกลัวผู้ใหญ่ |
โอหังบังอาจประมาทใจ | ดีแล้วจะได้เห็นกัน |
ว่าพลางทางมีบัญชา | ตรัสสั่งโยธาทัพขันธ์ |
เร่งให้หักโหมโรมรัน | จับสองกุมารนั้นมาบัดนี้ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๘๓๙๏ บัดนั้น | เสนานายทหารชาญไชยศรี |
คำนับรับสั่งพระภูมี | ก็ขับพลโยธีเข้าไป |
ปีกซ้ายปีกขวาน่าหลัง | พร้อมพรั่งโห่สนั่นหวั่นไหว |
ต่างต่างวางวิ่งเข้าชิงไชย | หมายใจจะจับสองกุมาร |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๘๔๐๏ เมื่อนั้น | พระพี่น้องสองรากล้าหาญ |
หลีกหลบรบรันประจัญบาน | ไม่ย่อท้อต่อต้านราญรอน |
เข้าโจมจับสัปรยุทธเหยียบบ่า | พระหัดถ์ขวาง่าเงื้อธนูศร |
รบรับจับกุมตลุมบอน | พลนิกรแตกพ่ายกระจายไป |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๒๘๔๑๏ เมื่อนั้น | สองกระษัตริย์ขัดเคืองอัชฌาไศรย |
เห็นรี้พลย่นย่อท้อใจ | มิได้ต่อสู้กับกุมาร |
พระพรตพิโรธโกรธนัก | ฉวยชักศรทรงแผลงผลาญ |
เหนี่ยวสายหมายลั่นมิทันนาน | เสียงสท้านสเทือนพสุธา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๒๘๔๒๏ ศรไชยกลายกลับฉับพลัน | เปนข่ายเพ็ชรเจ็ดชั้นแน่นหนา |
โอบอ้อมล้อมสองกุมารา | ด้วยฤทธาอานุภาพศรไชย |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๘๔๓๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎไม่พรั่นหวั่นไหว |
จึ่งขนศรแผลงพลันทันใด | เสียงสนั่นทั้งในแดนดง |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๒๘๔๔๏ ศรไชยไปทำลายข่ายเพ็ชร | ก็วินาศขาดเด็ดเปนผุยผง |
แล้วไปต้องงอนรถพระพรตทรง | คันธงหักพับลงฉับไว |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๘๔๕๏ เมื่อนั้น | สององค์ทรงโกรธดังเพลิงไหม้ |
ลงจากรถสุวรรณทันใด | เข้าชิงไชยกุมารต้านต่อยุทธ |
พระพรตกวัดแกว่งพระแสงทรง | โจมจับกับองค์พระมงกุฎ |
พระลบทรงศรสิทธิ์ฤทธิรุตม์ | จับกับพระสัตรุดวุฒิไกร |
กลอกกลับสัปรยุทธย้ายท่า | ขึ้นเหยียบบ่ากุมารไม่ทานได้ |
ผันผัดปัดป้องว่องไว | ถ้อยทีหนีไล่ไปมา |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๒๘๔๖๏ เมื่อนั้น | สองกุมารชาญไชยใจกล้า |
รับรองป้องกันกายา | สาตราไม่ต้องพ้องพาน |
ทั้งสองข้างต่างเข้าชิงไชย | ต่างไม่รู้ว่าเปนอาว์หลาน |
ถ้อยทีโรมรันประจัญบาน | หลีกหลบรบราญกันกลางแปลง |
พระมงกุฎสามารถอาจอง | ชักลูกศรทรงออกจากแล่ง |
พาดสายหมายเหนี่ยวด้วยเรี่ยวแรง | ผาดแผลงไปพลันทันใด |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๒๘๔๗๏ ด้วยเปนพงษ์พันธุ์จึ่งบันดาล | ศรไชยไม่สังหารให้ตักไษย |
กระทบถูกสองกระษัตริย์บัดใจ | ล้มลงสลบไปไม่สมประดี |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๒๘๔๘๏ บัดนั้น | พวกพลอลหม่านอึงมี่ |
ต่างตระหนกตกใจเต็มที | วิ่งหนีกระจัดพลัดพราย |
แล่นล้มประทะปะกัน | หน้าซีดตัวสั่นขวัญหาย |
อกใจทึกทึกนึกกลัวตาย | ไพร่นายแตกยับทั้งทัพไชย |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๘๔๙๏ บัดนั้น | คำแหงหณุมานทหารใหญ่ |
เห็นศรต้องสองกระษัตริย์สลบไป | พลไกรวิ่งพ่านพงพี |
ชิชะลูกเล็กกะจิริด | ศักดิสิทธิ์ฤทธิรอนด้วยศรศรี |
แต่กูหักหาญต้านต่อตี | ทั้งสองทีพ่ายแพ้แก่กุมาร |
ครั้งนี้ถึงบรรไลยจะไว้ยศ | ให้ปรากฎว่าชายชาติทหาร |
คิดแล้วเผ่นโผนโจนทยาน | เขาจับสองกุมารราญรบ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๒๘๕๐๏ เมื่อนั้น | พระพี่น้องสององค์ไม่หลีกหลบ |
ช่วยกันทันทีตีกระทบ | พระลบเหยียบเข่าขุนกระบินทร์ |
พระมงกุฎทยานเหยียบบ่า | พระหัดถ์ขวาง่าเงื้อธนูศิลป์ |
ตีต้องกายาวานรินทร์ | ล้มดิ้นหรบหรบสลบไป |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๒๘๕๑๏ เมื่อนั้น | สองกระษัตริย์ค่อยดำรงพระองค์ได้ |
ยังเจ็บปวดปิ้มชีวันจะบรรไลย | จึ่งแขงใจร่ายเวทวิทยา |
ลูบทั่วพระกายหายเปนปลิด | ถ้อยทีมีจิตรหรรษา |
จึ่งยืนขึ้นเหลือบแลไปมา | เห็นโยธาตื่นแตกเข้าพงพี |
แล้วทอดทัศนาเห็นวานร | ล้มสลบซบซอนอยู่กับที่ |
ชิชะลูกเล็กเด็กน้อยนี้ | มันมีฤทธิรณเปนพ้นไป |
จำจะแก้แค้นแทนทด | ให้ปรากฎยศเกียรติไว้จงได้ |
คิดแล้วพระพรตยศไกร | จึ่งจับศิลป์ไชยขึ้นเสี่ยงทาย |
ขอให้ศรแสงแผลงผลาญ | ให้ต้องสองกุมารดังใจหมาย |
ให้วายุบุตรตื่นฟื้นกาย | เสี่ยงแล้วลั่นสายแผลงไป |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๒๘๕๒๏ บังเกิดเปนวายุพัดพาน | หณุมานกลับคืนฟื้นตัวได้ |
ศรกระทบพระมงกุฎวุฒิไกร | ซวนไปไม่ยั้งยืนยัน |
วายุบุตรได้ทีตะลีตะลาน | กอดกุมารคนใหญ่ไว้ได้มั่น |
คว้าคนหนึ่งด้วยฉวยไม่ทัน | พัลวันเวียนระไวไปมา |
ได้แต่พี่ชายไว้คนเดียว | น้องหนีลดเลี้ยวเข้าในป่า |
จึ่งกู่ก้องร้องเรียกโยธา | ที่แตกตื่นคืนมาพร้อมกัน |
หณุมานเปรมปรีดิ์ดีใจ | พลไกรโห่ร้องก้องสนั่น |
สองกระษัตริย์ตรัสสั่งไปพลัน | จงผูกพันธนาอย่าปรานี |
แล้วสั่งให้พวกพลเที่ยวค้นหา | กุมาราเพื่อนกันที่มันหนี |
จับตัวให้ได้ในเดี๋ยวนี้ | อย่าให้ไพรีรอดไป |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๒๘๕๓๏ บัดนั้น | โยธีทั้งหลายนายไพร่ |
เข้าค้นทุกสุมทุมพุ่มไม้ | รกเรี้ยวที่ไหนก็ไม่เว้น |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๒๘๕๔๏ เทวัญบังตาโยธาหาญ | ค้นคว้าหากุมารไม่พบเห็น |
พอเวลาสายัณห์ตวันเย็น | พเอิญเปนหมอกมัวไปทั่วทิศ |
มืดมนท์พ้นที่จะเที่ยวหา | โยธาทุกคนก็จนจิตร |
จึ่งกลับมาเฝ้าองค์พระทรงฤทธิ์ | ทูลแถลงแจ้งกิจทั้งปวงไป |
ข้าดั้นด้นค้นคว้าหาจบ | จะพานพบกุมารก็หาไม่ |
ไพร่พลนิกรออกอ่อนใจ | จงทราบใต้บาทาฝ่าธุลี |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๘๕๕๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองน้องนารายน์เรืองศรี |
เคืองขัดอัศจรรย์พันทวี | ดูดู๋มันหนีไปแห่งใด |
จะค้นต่อไปจนได้ตัว | ก็มืดมัวจวนเย็นหาเห็นไม่ |
จึ่งให้เลิกโยธาคลาไคล | กลับไปอยุทธยาธานี |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๒๘๕๖๏ ครั้นถึงจึ่งหยุดจัตุรงค์ | เสด็จจากรถทรงทั้งสองศรี |
ยุรยาตรนาดกรจรลี | มายังที่พระโรงคัลทันใด |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๒๘๕๗๏ ก้มเกล้าเคารพอภิวาท | พระเชษฐาธิราชเปนใหญ่ |
แล้วทูลว่าข้ายกพลไป | ได้ชงไชยรบสู้กับกุมาร |
อันเด็กน้อยพี่น้องทั้งสองนั้น | ฤทธิแรงแขงขันห้าวหาญ |
รณรงค์โรมรันประจัญบาน | ต้านทานรบรับไม่อัปรา |
ตัวข้าทั้งสองก็ต้องศิลป์ | แทบจะสิ้นชีวังสังขาร์ |
เดชะพระเดชเดชา | ชีวาจึ่งไม่บรรไลยลาญ |
ข้าหักโหมโจมจับได้แต่พี่ | น้องหนีเข้าในไพรสาณฑ์ |
ให้ค้นคว้าหาจบไม่พบพาน | จงทราบบทมาลย์พระผ่านฟ้า |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๘๕๘๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
แจ้งว่าจับได้กุมารา | ยิ่งโกรธาพยาบาทชิงชัง |
มิทันได้ดำริห์ตริตรอง | ด้วยกรรมของกุมารแต่หนหลัง |
จะถามไถ่ให้การขี้คร้านฟัง | จึ่งตรัสสั่งมหาเสนาใน |
ไอ้เด็กน้อยองอาจประมาทหมิ่น | จะเปนเสี้ยนแผ่นดินไม่ไว้ได้ |
จงจองจำพันธนาพาไป | ทเวนให้รู้รอบภารา |
แล้วเอาขึ้นขาหย่างไว้กลางหน | อย่าให้คนดูอย่างไปข้างน่า |
ต่อครบคำรบสามทิวา | จึ่งค่อยฆ่าชีวันให้บรรไลย |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๘๕๙๏ บัดนั้น | จึ่งมหาเสนาผู้ใหญ่ |
รับรศพจนาแล้วคลาไคล | ออกไปสั่งกันดังบัญชา |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๒๘๖๐๏ บัดนั้น | องครักษ์จักรนารายน์ซ้ายขวา |
จองจำทำโทษกุมารา | แล้วพาตัวเที่ยวทเวนไป |
ข้างน่านั้นมีคนตีฆ้อง | มาตามท้องถนนหนทางใหญ่ |
สอนให้พระกุมารชาญไชย | ร้องไปตามโทษที่ถึงตาย |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๒๘๖๑๏ บัดนั้น | ประชาชนพลเมืองทั้งหลาย |
ชาวตลาดยี่สารร้านราย | หญิงชายไพร่ผู้ดีมียศ |
รู้ข่าวเขาทเวนกุมารมา | โทษที่ขี่ม้าเปนกระบถ |
ต่างคนบ่นเดือดไม่เงือดงด | จะดูหน้าคนคดประทษฐร้าย |
ทั้งชายหญิงวิ่งมาเห็นกุมาร | ต้องจองจำประจานก็ใจหาย |
ลูกเล็กกะจิริดคิดเสียดาย | จะวอดวายชีวาน่าปรานี |
บ้างว่าข้าเห็นประหลาดอยู่ | พิศดูรูปทรงส่งศรี |
ช่างเหมือนพระหริรักษ์จักรี | กุมารนี้ฤๅลูกนางสีดา |
บ้างว่าอายุยังเยาว์นัก | ไม่รู้จักหนักเบาเปนชาวป่า |
กำลังเล่นเห็นแต่จะขี่ม้า | ไม่ควรที่จะฆ่าให้วายปราณ |
บรรดาประชาชาวเวียงไชย | พเอิญให้เศร้าจิตรคิดสงสาร |
มีส้มสูกลูกไม้จะให้ทาน | ก็กลัวพวกนครบาลสุดใจ |
ทำมองเมียงเคียงคอยค่อยเดิน | เห็นผู้คุมเขาเมินแล้วยื่นให้ |
ชายหญิงวิ่งตามออกหลามไป | ด้วยรักใคร่เอนดูพระกุมาร |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เจรจา
๒๘๖๒๏ บัดนั้น | เหล่าพวกเพ็ชฌฆาฏอาจหาญ |
เที่ยวทเวนเวียนรอบขอบปราการ | ครั้นถึงที่สถานตะแลงแกง |
จึ่งเอากุมาราขึ้นขาหย่าง | ประจานไว้ที่กลางทางสามแพร่ง |
พวกถือดาบองครักษ์ฝักแดง | ระวังอยู่ตามตำแหน่งทุกหมวดกอง |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้
๒๘๖๓๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎกรรแสงเศร้าหมอง |
อยู่บนขาหยั่งนั่งหย่องยอง | เขาจำจองลำบากตรากตรำ |
แต่โศกาอาดูรภูลเทวศ | ชลเนตรหลั่งไหลพิไรร่ำ |
อกเอ๋ยโอ้ว่าเวรากรรม | จึ่งมาต้องจองจำเวทนา |
โอ้สงสารปานนี้พระแม่เจ้า | จะเปลี่ยวเปล่าเศร้าสร้อยลห้อยหา |
เวลาเย็นไม่เห็นลูกยา | จะโศกาครวญคร่ำร่ำไร |
นิจาเอ๋ยเคยอยู่สามคน | ตามประสายากจนในป่าใหญ่ |
ยามกินกินแต่ผลไม้ | แม่ลูกอาไศรยพระสิทธา |
โอ้ว่าอนิจาพระอาจารย์ | ไม่เห็นหลานปานนี้จะคอยท่า |
ได้สอนสั่งทั้งสองนัดดา | มิให้เคืองวิญญาอนาทร |
ยังไม่ทันที่จะแทนพระคุณ | ซึ่งการุญรักร่ำพร่ำสอน |
ครั้งนี้ชีวิตรจะม้วยมรณ์ | พระอาจารย์มารดรไม่เห็นใจ |
เมื่อลูกลามาแม่ก็ได้ห้าม | ไม่ฟังความจึ่งเกิดเหตุใหญ่ |
ถึงลูกม้วยชีวาไม่อาไลย | แต่อย่าให้เจ้าลบมรณา |
จะได้อยู่เปนเพื่อนพระแม่เจ้า | แต่พอคลายโศกเศร้ากรรแสงหา |
ร่ำพลางทางซบภักตรา | ฟูมฟายชลนาโศกาไลย |
ฯ ๑๖ คำ ฯ โอด
ร่าย
๒๘๖๔๏ เมื่อนั้น | พระลบหลบซ่อนอยู่พุ่มไผ่ |
เงียบเสียงผู้คนพลไกร | ทัพใหญ่ยกกลับไปลับตา |
ก็ออกจากดงดอนที่ซ่อนเร้น | แลหาไม่เห็นพระเชษฐา |
ได้แต่ศรศรีของพี่ยา | ก็ร้องไห้วิ่งมายังกุฎี |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๒๘๖๕๏ ครั้นถึงอาศรมสถานมารดร | ยิ่งโศกเศร้าเร่าร้อนหมองศรี |
วิ่งเข้ากอดบาทชนนี | โศกีกลิ้งเกลือกไปมา |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๒๘๖๖๏ เมื่อนั้น | นางสีดาตกใจเปนหนักหนา |
ปลอบพลางทางถามลูกยา | เจ้ากรรแสงโศกาด้วยอันใด |
ฤๅวิวาททุบตีกันพี่น้อง | บอกแม่เถิดอย่าร้องร่ำไห้ |
มาแต่คนเดียวแม่หลากใจ | พี่ยาอยู่ไหนไม่เห็นมา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๘๖๗๏ เมื่อนั้น | พระลบนบนิ้วเหนือเกษา |
ยิ่งสอื้นอาดูรทูลมารดา | ลูกพากันไปเล่นพนาลี |
พบม้าตัวหนึ่งนั้นปล่อยอยู่ | ไม่รู้ว่ากะไรก็จับขี่ |
มีวานรเผือกผู้พ่วงพี | เข้าจับลูกลูกตีถึงสองครั้ง |
แล้วมัดศอกศักหน้าปล่อยไป | บัดเดี๋ยวใจนำทัพมาคับคั่ง |
ลูกชวนกันสู้ดูกำลัง | กับตัวนายทัพทั้งสองรา |
เขาเรืองฤทธิรอนด้วยศรศรี | ต่อตีต้านทานกันหนักหนา |
บัดนี้เขาจับได้พี่ยา | ไม่ทราบว่าเปนตายร้ายดี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๘๖๘๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดามารศรี |
ได้ฟังดังจะสิ้นชีวี | ก็โศกีครวญคร่ำร่ำไร |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
โอ้
๒๘๖๙๏ โอ้ว่าลูกรักผู้เพื่อนยาก | เปนวิบากมาวิบัติซัดให้ |
เล่นอยู่ดีดีก็มีไภย | มาจากไปเปล่าเปล่าเจียวเจ้ากรรม |
สงสารด้วยเจ้ายังเยาว์อยู่ | ใครจะช่วยค้ำชูอุปก้มภ์ |
ปานนี้จะอดอยากตรากตรำ | เขาจะทำโทษทัณฑ์ฉันใด |
เห็นจะให้ห้ำหั่นฟันฆ่า | ไหนจะรอดชีวามาได้ |
นิจาเอ๋ยลูกน้อยกลอยใจ | ไม่เคยไกลมารดาสักราตรี |
ได้เห็นกันสองราประสายาก | ถ้าแม้นแม่ตายจากจะฝากผี |
ควรฤๅมาเปนเช่นนี้ | ชีวีแม่จะวายตายตาม |
เดิมห้ามมิให้เจ้าไปป่า | พร่ำว่าหลายครั้งไม่ฟังห้าม |
เห็นทีดีร้ายนี่พระราม | จะแจ้งความว่าแม่ยังไม่ตาย |
จึ่งแกล้งคิดอ่านพาลผิด | เพราะจิตรพยาบาทมาดหมาย |
นางครวญคร่ำร่ำรักลูกชาย | ทอดกายเกลือกกลิ้งนิ่งไป |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
ร่าย
๒๘๗๐๏ เมื่อนั้น | พระลบอกสั่นหวั่นไหว |
คิดว่าแม่ม้วยชีวันบรรไลย | ก็ร้องไห้ไปบอกพระมุนี |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๒๘๗๑๏ ผู้เปนเจ้าอาจารย์ช่วยหลานด้วย | พระมารดาข้าม้วยเปนผี |
บอกพลางสอื้นโศกี | ฉุดมือฤๅษีมาไปพลัน |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๘๗๒๏ เมื่อนั้น | พระดาบศตกใจไม่มีขวัญ |
ฉวยไม้ท้าวก้าวผิดอัฒจันท์ | เหยียบยันไม่สนัดพลัดตกตึง |
ร้องเรียกหลานน้อยให้คอยท่า | ช่วยพยุงจุงตาไปหน่อยหนึ่ง |
ลุกขึ้นเดินงันงกตกตลึง | มาถึงกุฎีนางสีดา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๒๘๗๓๏ เห็นบังอรซอนซบสลบนิ่ง | เอะดีร้ายตายจริงกระมังหนา |
เอารากไม้มาฝนบนศิลา | แล้วส่งให้หลานทาขาตะไกร |
พระลบเข้านวดฟั้นคั้นขยำ | ร้องเรียกหลายคำหาขานไม่ |
พระมุนีตระหนกตกใจ | หลงใหลเพ้อพำพร่ำพรู |
ฉวยเอาโอใหญ่ใส่น้ำ | ปากบ่นบริกรรมอยู่เปนครู่ |
แล้วพรมประปฤษฎางค์นางโฉมตรู | ก็ค่อยรู้สึกสมประดีกาย |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๒๘๗๔๏ พระฤๅษีดีใจหัวร่อร่า | ลมจับสีกากูแก้หาย |
เออทำไมมิเล่าเจ้าลูกชาย | ไปเที่ยวเล่นสบายอยู่แห่งไร |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๘๗๕๏ เมื่อนั้น | นางสีดากรรแสงแถลงไข |
ลูกข้ากองทัพเขาจับไป | สาเหตุสิ่งไรก็ไม่มี |
นางเล่าแต่ต้นจนปลาย | บรรยายคลายความถ้วนถี่ |
ช่วยดูเคราะห์หลานชายร้ายฤๅดี | เดี๋ยวนี้เปนกะไรไอยกา |
ถ้าลูกข้าตายจะตายด้วย | ไม่ขออยู่สู้ม้วยสังขาร์ |
ว่าพลางทางทรงโศกา | ดังจะสิ้นชีวาวายปราณ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๒๘๗๖๏ เมื่อนั้น | พระฤๅษีเศร้าจิตรคิดถึงหลาน |
ตกใจเต็มทีตะลีตะลาน | ฉวยกระดานดินสอมาทันใด |
จึ่งลงเลขขับไล่ไปมา | ไม่เห็นหนค้นหาแว่นตาใส่ |
คูณหารตามตำหรับฉับไว | เภทไภยทั้งปวงก็ล่วงรู้ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๒๘๗๗๏ จึ่งว่าพระมงกุฎบุตรสีกา | ชัณษาถึงฆาฏทายาดอยู่ |
เขาจองจำทำประจานหลานกู | ออกอ่อนหูแต่เห็นไม่เปนไร |
โชคประหัศห่วงปลอดไม่มอดม้วย | จะมีผู้ชูช่วยแก้ไข |
โยมอย่าอาวรณ์ร้อนใจ | คงจะกลับมาได้ในสามวัน |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๒๘๗๘๏ เมื่อนั้น | พระลบค่อยคลายหายโศกศัลย์ |
จึ่งกราบกรานมารดาด้วยพลัน | ลูกรักขออัญชลีลา |
จะติดตามเข้าไปในเมือง | ฟังเรื่องราวเหตุพระเชษฐา |
แม้นประสบพบพานพี่ยา | แล้วจะพากันกลับมาฉับไว |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๘๗๙๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเศร้าหมองไม่ผ่องใส |
ได้ฟังลูกยาจะคลาไคล | ทรามไวยหวาดหวั่นพันทวี |
สร้วมสอดกอดกุมารไว้บนตัก | ขอบใจเจ้านักที่รักพี่ |
จะไปตามเชษฐาถึงธานี | แม่นี้นึกประหวั่นพรั่นนัก |
จะเข้าไปในบ้านเมืองเขา | แต่ล้วนพวกเหล่าปรปักษ์ |
เจ้าอย่าดูถูกณลูกรัก | ศัตรูรู้จักมิเปนการ |
แม้นเขาซ้ำจับไปได้ด้วย | แม่จะม้วยชีวังสังขาร |
จงหยุดยั้งฟังคำทัดทาน | อยู่เพื่อนอาจารย์กับมารดา |
ลูกใหญ่ก็กำจัดพลัดพราก | จะซ้ำจากลูกน้อยเสนหา |
ว่าพลางทางซบภักตรา | โศกากอดลูกร่ำไร |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๒๘๘๐๏ เมื่อนั้น | พระดาบศบ่นออดทอดใจใหญ่ |
เห็นนางสีดาโศกาไลย | สงสารทรามไวยสุดปัญญา |
พระฤๅษีเศร้าสร้อยพลอยสอื้น | แขงขืนอารมณ์แล้วร้องว่า |
อย่าทัดทานหลานกูณสีกา | ให้ไปฟังข่าวมาจะได้รู้ |
ใครจะอาจทำไมนั้นไม่มี | ไปเถิดตามทีดีกว่าอยู่ |
ฤๅว่าโยมยังไม่ไว้ใจกู | มิเชื่อปู่จะประกันสัญญา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๘๘๑๏ เมื่อนั้น | นางสีดาได้ฟังไม่กังขา |
ค่อยระงับดับความโศกา | จึ่งสนองวาจาพระอาจารย์ |
ทั้งนี้สุดแต่ผู้เปนเจ้า | โปรดเกล้าโยมด้วยช่วยคิดอ่าน |
ข้ามิได้แขงขัดทัดทาน | ขอแต่หลานสองคนให้พ้นไภย |
แล้วโอบอุ้มโอรสกำสรดสั่ง | ลูบหลังลูบหน้าน้ำตาไหล |
ลูกน้อยของแม่ผู้ร่วมใจ | เจ้าไปอย่าประมาทอาจอง |
เร่งระมัดระวังกายา | ฟังคำแม่ว่าอย่าลืมหลง |
สอนพลางนางถอดธำมรงค์ | ยื่นให้องค์พระลบลูกชาย |
แหวนนี้มีฤทธิสิทธิศักดิ | อุส่าห์รักษาไปอย่าให้หาย |
ถึงต้องโทษทัณฑ์ไม่อันตราย | คงจะคลายเคลื่อนพ้นพันธนา |
ขวัญเข้าของแม่คิดแก้ไข | เอาแหวนนี้ไปให้แก่เชษฐา |
ก็จะไม่ม้วยมอดรอดชีวา | กลับคงคืนมาเห็นหน้ากัน |
ถึงมาทปัจจามิตรจะคิดแค้น | ตามมาหมื่นแสนก็ไม่พรั่น |
แคล้วคลาศปราศจากไภยันต์ | นางรำพรรณอวยไชยให้พร |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๒๘๘๒๏ เมื่อนั้น | พระลบรับคำที่ร่ำสอน |
แล้วลาอาจารย์กับมารดร | ยอกรอภิวันท์อัญชลี |
มือขวาคว้าศรสำหรับองค์ | บ่าแบกศรทรงของพี่ |
ออกจากที่อยู่พระมุนี | โศกีดำเนินเดินมา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๒๘๘๓๏ ครั้นถึงที่รบริมทางใหญ่ | ตามรอยพลไกรไปในป่า |
เทพไทไพรพฤกษ์นึกเมตตา | ช่วยย่นย่อมรคาคลาไคล |
เดินดัดลัดเลี้ยวประเดี๋ยวหนึ่ง | ก็มาถึงอยุทธยากรุงใหญ่ |
จึ่งหยุดอยู่แทบทวารเวียงไชย | แล้วตรึกไตรไปพลันด้วยปัญญา |
ครั้นจะตรงเข้าไปในเมือง | สืบสาวราวเรื่องพระเชษฐา |
กลัวเกลือกกองทัพที่กลับมา | รู้จักภักตราจะเสียที |
ถ้าเขาซ้ำจับกูไปด้วย | จะพากันมอดม้วยไม่พอที่ |
จำจะหยุดอยู่นอกธานี | ฟังคดีให้แท้แน่นอน |
คิดแล้วลงนั่งหยุดพัก | ที่สำนักไม้ไทรใบอ่อน |
คอยระวังฟังข่าวชาวนคร | จะผายผันสัญจรจำนรรจา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๒๘๘๔๏ บัดนั้น | หญิงชายชาวเมืองถ้วนหน้า |
เดินเหินเข้าออกไปมา | ตามทางทวาราธานี |
ต่างพูดกันว่าน่าสงสาร | เจ้ากุมารที่จับม้าขี่ |
รับสั่งให้ฆ่าเสียพรุ่งนี้ | ไม่พอที่จะตายวายชนม์ |
บ้างก็ว่าข้าจะไปดู | ไม่รู้ตำแหน่งแห่งหน |
บ้างพาทีชี้บอกตำบล | พูดพลางต่างคนเดินไป |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๒๘๘๕๏ เมื่อนั้น | พระลบได้แจ้งหาแคลงไม่ |
คิดถึงพี่ยายิ่งอาไลย | ก็ร้องไห้กลิ้งเกลือกเสือกโศกา |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
ยานี
๒๘๘๖๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวสหัสไนยไตรตรึงษา |
ร้อนอาศน์ประหลาดใจจินดา | จึ่งแลลงมาเมืองมนุษย์ |
เห็นพระหริวงษ์องค์อวตาร | ทำโทษทรมานพระมงกฎ |
แม้นกูมิช่วยจะม้วยมุด | น่าสงสารสุดแสนทวี |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๒๘๘๗๏ คิดแล้วมีพระบัญชา | แก่นางรำภาอับศรศรี |
เล่าเหตุให้ฟังสั่งคดี | บัดนี้พระรามฤทธิไกร |
ให้จองจำทำโทษพระมงกุฎ | จะรู้ว่าเปนบุตรก็หาไม่ |
น้องยามาอยู่นอกเวียงไชย | กลัวเขาเข้าไปไม่ถึงกัน |
เจ้าจงเอนดูกับกุมาร | ลงไปช่วยคิดอ่านผ่อนผัน |
แก้ไขให้พ้นจากโทษทัณฑ์ | จะได้รู้จักกันกับบิดร |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๘๘๘๏ เมื่อนั้น | นางรำภาวดีศรีสมร |
ก้มเกล้าดุษดีชลีกร | รับสุนทรเทวราชบัญชา |
จึ่งเหาะเหินเดินโดยอากาศ | จากวิมานมาศภูผา |
ผันผยองล่องลิ่วปลิวฟ้า | ตรงไปอยุทธยาธานี |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๒๘๘๙๏ ครั้นถึงจึ่งนิมิตรบิดเบือน | ให้เหมือนหญิงสาวชาวกรุงศรี |
เดินกระเดียดกละออมชลธี | จรลีลงมายังท่าน้ำ |
ฯ ๒ คำ ฯ รัว เพลง
๒๘๙๐๏ ถึงประตูดูไปเห็นพระลบ | กรรแสงซบภักตราครวญคร่ำ |
จึ่งเข้าไปใกล้แกล้งกล่าวคำ | นี่ใครทำไมเจ้าจึ่งโศกี |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๘๙๑๏ เมื่อนั้น | พระลบฟังวาจาผินหน้าหนี |
ร้อนตัวกลัวแกล้งพาที | ข้านี้อยู่บ้านนอกขอกนา |
ได้ยินข่าวเขาฦๅอื้ออึง | ว่ากุมารคนหนึ่งแกล้วกล้า |
ขี่ม้าพระที่นั่งอหังกา | บัดนี้ได้ตัวมาจึ่งมาดู |
เขาจำไว้ในเมืองมิได้เห็น | รูปร่างนั้นจะเปนอย่างไรอยู่ |
จะเข้าไปก็กลัวหลงประตู | แค้นใจไม่ได้ดูจึ่งโศกา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๘๙๒๏ เมื่อนั้น | นางรำภายิ้มพลางทางว่า |
อันนักโทษที่จับได้มา | หน้าตาก็ลม้ายกับเจ้านี้ |
จะไปดูทำไมมิใช่การ | แม้นว่ากุมารนั้นหลบหนี |
เขาจะจับเจ้าไปฆ่าราตี | ไม่พอที่ชีวันจะบรรไลย |
จงเร่งกลับไปเสียดีกว่า | เมตตาเจ้าดอกจะบอกให้ |
เรานี้จะมาตักน้ำไป | ให้ทานเด็กที่ได้เวทนา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๘๙๓๏ เมื่อนั้น | พระลบฟังนางทางว่า |
ซึ่งพี่ห้ามปรามความเมตตา | เอนดูน้องหนักหนาข้าขอบคุณ |
แต่ได้มาถึงนี่ยินดีด้วย | มีแต่แรงก็จะช่วยอุดหนุน |
ช่วยตักน้ำมาให้พอได้บุญ | แม้นการุญแล้วจงส่งหม้อมา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๘๙๔๏ เมื่อนั้น | นางเทพอัปศรเสนหา |
จึ่งส่งกละออมให้มิได้ช้า | โมทนาด้วยเจ้าจงรีบไป |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๘๙๕๏ เมื่อนั้น | พระลบผู้มีอัชฌาไศรย |
ฉวยกละออมใส่บ่าแล้วคลาไคล | ลงไปยังท่าชลธาร |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๒๘๙๖๏ จึ่งตักน้ำแล้วถอดธำมรงค์ | ใส่ลงในกละออมแล้วอธิฐาน |
ถ้าบุญของพี่ข้าจงบันดาล | แต่พอสรงชลธารพี่ตักไป |
ธำมรงค์ซึ่งใส่ไว้ในนี้ | จงสวมนิ้วดัชนีจงได้ |
อันเครื่องที่จำจองจำนองไภย | ขอจงให้หลุดเลื่อนเคลื่อนคลา |
ใครใครอย่าได้เห็นองค์ | ให้พเอิญเดินตรงมาพบข้า |
ครั้นเสร็จอธิฐานมิทันช้า | ยกกละออมขึ้นบ่าแบกไป |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๒๘๙๗๏ ครั้นถึงต้นไทรใกล้ประตู | เห็นนางคอยอยู่ไม่ไปไหน |
ส่งหม้อน้ำนั้นให้ทันใด | จะเอาไปให้ทานก็ตามที |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๘๙๘๏ เมื่อนั้น | นางเทพรำภามารศรี |
รับกละออมวารินด้วยยินดี | กระเดียดเดินเร็วรี่เข้าภารา |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๒๘๙๙๏ ครั้นถึงที่ประจานกุมารไว้ | เห็นนายไพร่พร้อมพรั่งนั่งรักษา |
ทำหลบเลี่ยงเมียงชม้ายชายตา | หันหลังหันหน้าอยู่ช้านาน |
แล้วมีวาจาว่าวอน | ด้วยคำสุนทรอ่อนหวาน |
นี่แน่ดูก่อนนครบาล | อันนักโทษที่ท่านตรากจำ |
ต้องแสงแดดกล้าร้อนรน | อยู่บนขาหยั่งแทบยังค่ำ |
หิวโหยกระหายหอบบอบช้ำ | จะขอให้ทานน้ำพอชื่นใจ |
พี่จงเมตตาการุญ | ส่วนบุญนั้นน้องจะแบ่งให้ |
เอนดูเด็กร้อนรนเปนพ้นไป | จำไว้ลำบากตรากตรึง |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๙๐๐๏ บัดนั้น | พัศดีได้ฟังทำตั้งปึ่ง |
บรรดาเหล่าบ่าวไพร่หัวร่ออึง | แลตลึงดูนางต่างพอใจ |
บ้างกล่าวแกล้งเย้าหยอกหลอกล้อ | ใครหนอแปลกหน้ามาแต่ไหน |
เปนพี่น้องของเด็กนี้ฤๅไร | จึ่งตักน้ำมาให้ช่างไม่กลัว |
จะทำคุณแก่คนโทษถึงตาย | กฎหมายห้ามอยู่ย่อมรู้ทั่ว |
ถ้าจะแบ่งบุญให้ไม่ปล่อยตัว | ลูกผัวมีฤๅไม่ให้การมา |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๒๙๐๑๏ เมื่อนั้น | นางรำภาทำสเทิ้นเมินหน้า |
ตอบคำนครบาลด้วยมารยา | อะไรนี่พูดจาน่าชัง |
อย่าพักหลอกลวงล้อฬ่อเลียม | อย่างธรรมเนียมน้องก็รู้อยู่มั่ง |
ข้ามิใช่บ้านนอกดอกชาววัง | ลูกผัวก็ยังไม่เคยมี |
ตั้งใจมาให้ทานพอเปนบุญ | ใช่จะคุ้นเคยรู้จักมักจี่ |
ผิดชอบอะไรเล่าแต่เท่านี้ | จะทำบุญแต่ละทีก็มีมาร |
ส่วนคนอื่นเขาให้ได้กลุ้มกลุ้ม | เหตุไฉนผู้คุมไม่ว่าขาน |
แกล้งจำเภาะเจาะจงจัณฑาล | เถิดขี้คร้านแล้วข้าจะลาไป |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๙๐๒๏ บัดนั้น | พัศดียิ้มแห้งแถลงไข |
ว่าหยอกดอกเจ้าอย่าถือใจ | จะด่วนไปไหนนั่นกัลยา |
ข้าขืนขัดศรัทธาเมื่อไรมี | ให้ทานเถิดตามทีพี่ไม่ว่า |
แล้วทำเปนแยบคายชายตา | เหลียวซ้ายแลขวาคว้าหมอนอิง |
แล้วเรียกบ่าวหยิบชุดมาจุดกล้อง | ทำทำนองเป้อเย้อเย่อหยิ่ง |
พูดพลางทางเล่นทางจริง | ต่างคนต่างชิงกันเกี้ยวพาน |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๙๐๓๏ เมื่อนั้น | นางรำภายิ้มพลางทางว่าขาน |
ไฮ้อะไรนี่น่าว่าคาญ | อย่าพักพูดเกี้ยวพานไม่พอใจ |
ว่าพลางทางสบัดเมินหน้า | ทำกิริยาแสนงอนค้อนให้ |
แล้วหลีกคนที่นั่งระวังระไว | เดินเข้าไปใกล้พระกุมาร |
ครั้นถึงจึ่งกระซิบพาที | พี่นี้มีจิตรคิดสงสาร |
ตั้งใจตักน้ำมาให้ทาน | หวังมิให้กุมารม้วยมุด |
เจ้าจงรับวารินกินอาบ | อานุภาพน้ำนี้เปนที่สุด |
ซึ่งพันธนาจำจองพระน้องนุช | จะลุ่ยหลุดจากกายกระจายไป |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๙๐๔๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎค่อยคลายหม่นไหม้ |
รับกละออมน้ำนั้นมาทันใด | แล้วกินอาบซาบไปทั้งกายา |
ฯ ๒ คำ ฯ รัว
๒๙๐๕๏ ธำมรงค์องค์พระชนนี | ก็สอดสวมนิ้วชี้เบื้องขวา |
ด้วยเดชะแหวนวิเชียรจินดา | บังตาใครใครไม่เห็นองค์ |
ฯ ๒ คำ ฯ รัว
๒๙๐๖๏ โซ่ตรวนขาดกระจายทำลายหลุด | พระมงกุฎชื่นชมสมประสงค์ |
จึ่งพินิจพิศดูธำมรงค์ | ก็รู้ว่าขององค์พระมารดา |
ชรอยว่าพระแม่รู้ความ | ให้เจ้าลบมาตามกระมังหนา |
นางนี้น่าจะพบพระน้องยา | จะเอาแหวนใส่มาในหม้อน้ำ |
คิดพลางทางว่ากับนารี | ครั้งนี้พี่มาช่วยอุปถัมภ์ |
จึ่งได้พ้นลำบากตรากตรำ | พระคุณล้ำล้นฟ้าธาตรี |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๙๐๗๏ เมื่อนั้น | นางเทพรำภามารศรี |
จึ่งค่อยกระซิบพาที | ข้านี้จะพาคลาไคล |
ว่าพลางนางนำกุมารา | ใครจะเห็นกายาก็หาไม่ |
ด้วยเดชะนางฟ้าสุราไลย | รีบไปพ้นพวกนครบาล |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๒๙๐๘๏ ครั้นถึงทวาราธานี | จึ่งมีวาจาว่าขาน |
จงออกไปทางประตูเถิดกุมาร | แล้วสาวสวรรค์บันดาลหายไป |
ฯ ๒ คำ ฯ รัว
๒๙๐๙๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎยินดีจะมีไหน |
รู้ว่านางฟ้าสุราไลย | มาแก้ไขให้พ้นพันธนา |
จึ่งรีบเดินออกนอกประตู | แล้วเหลือบแลดูทั้งซ้ายขวา |
เห็นองค์พระลบอนุชา | ต่างองค์ก็วิ่งมาหากัน |
พระมงกุฎกอดน้องร้องไห้ | ครวญคร่ำร่ำไรโศกศัลย์ |
เล่าความตามต้องโทษทัณฑ์ | รำพรรณกรรแสงโศกาไลย |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๒๙๑๐๏ เมื่อนั้น | พระลบซบภักตร์สอื้นไห้ |
ทูลแถลงแจ้งความทั้งปวงไป | โดยในเหตุผลแต่ต้นมา |
บัดนี้พระอาจารย์กับมารดร | ทุกข์ร้อนลห้อยคอยหา |
จะหยุดอยู่ทำไมให้ช้า | มาจะพากันกลับไปกุฎี |
เกลือกพวกปัจจามิตรมาติดตาม | จะเกิดการสงครามไม่พอที่ |
จงรีบไปให้พ้นไพรี | แล้วส่งศรศรีให้พี่ยา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๙๑๑๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎกุมารหาญกล้า |
คิดพลางทางตอบอนุชา | เจ้าว่านั้นก็ชอบท่วงที |
แต่ยังนึกน้อยจิตรเจ็บช้ำ | แค้นด้วยเขาทำโทษพี่ |
ครั้นจะรีบไปเฝ้าพระชนนี | เห็นทีเขาจะยกตามไป |
จะคอยอยู่ริมทางกลางดงดาน | รบราญต่อสู้ดูใหม่ |
ว่าพลางทางพากันคลาไคล | ตรงไปกาลวาดพนาวา |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๒๙๑๒๏ ครั้นถึงจึ่งหยุดสำนักนิ์นั่ง | ที่ร่มรังริมทางกลางป่า |
พยาบาทมาดหมายโกรธา | คิดแค้นคอยท่าจะชิงไชย |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๒๙๑๓๏ บัดนั้น | ฝ่ายผู้คุมทั้งหลายนายไพร่ |
ครั้นนักโทษกับนางนั้นหายไป | ต่างตระหนกตกใจวุ่นวาย |
บอกกันทุกคนลนลาน | วิ่งอึงอลหม่านกุมารหาย |
พวกบ่าวบ้างโกรธโทษนาย | ปล่อยหญิงคนร้ายเข้ามา |
บ้างค้นทุกถิ่นฐานบานช่อง | ใต้ถุนลุนล่องเที่ยวมองหา |
ที่รกเรี้ยวเที่ยวพิจารณา | ในอาวาศวัดวาก็เที่ยวค้น |
โรงช้างโรงม้าโรงรถ | หาหมดเที่ยวทั่วทุกแห่งหน |
บ้างถามไถ่ไพร่ฟ้าประชาชน | เสลือกสลนอลหม่านทั้งกรุงไกร |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๒๙๑๔๏ นอกเมืองในเมืองก็หาจบ | จะพบกุมาราก็หาไม่ |
ต่างปรับทุกข์กันพรั่นใจ | ครั้งนี้ที่ไหนจะพ้นตาย |
จำจะไปกราบเรียนท่านเสนี | ตามทีช่วยทูลขยับขยาย |
เดชะบุญจะรอดไม่วอดวาย | ว่าแล้วบ่าวนายก็รีบมา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๒๙๑๕๏ ครั้นถึงที่อยู่สุมันตัน | พร้อมกันกราบลงตรงหน้า |
แถลงเล่าเนื้อความตามสัจจา | โปรดด้วยช่วยชีวาข้าไว้ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๒๙๑๖๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนาผู้ใหญ่ |
ครั้นแจ้งก็ตระหนกตกใจ | จึ่งรีบไปยังท้องพระโรงธาร |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๒๙๑๗๏ ถึงถวายบังคมเคารพ | ทูลพระองค์ทรงพิภพราชฐาน |
อันนักโทษที่ให้ไปประจาน | นครบาลระวังนั่งกอง |
มีหญิงหนึ่งตักน้ำมาให้ | แล้วพากันหายไปทั้งสอง |
เห็นแต่โซ่ตรวนที่จำจอง | หลุดกองอยู่กับพื้นพสุธา |
พวกผู้คุมทั้งหลายนายไพร่ | แยกไปทุกตำบลค้นหา |
ไม่ประสบพบพานกุมารา | จงทราบใต้บาทาฝ่าธุลี |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๙๑๘๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์เรืองศรี |
ได้ฟังเสนาทูลคดี | ภูมีกริ้วกราดตวาดไป |
ดูดู๋ไอ้เพ็ชฌฆาฏราชมัน | ปล่อยคนสำคัญกูเสียได้ |
เมื่อมันทำละเลยให้เคยใจ | มุลนายเล่าก็ไม่กำชับ |
แต่ละคนไม่ชั่วเจ้าตัวเอก | โหยกเหยกนักหนาน่าเฆี่ยนขับ |
เร่งเร็วรีบรัดจัดกองทัพ | กูจะตามไปจับตัวมา |
เห็นทีมันจะไม่ไปไหนอื่น | ดีร้ายจะคืนออกไปป่า |
ไอ้ลูกเล็กเด็กน้อยอหังกา | ไว้ช้ามันจะกำเริบใจ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๙๑๙๏ บัดนั้น | เสนีตัวสั่นหวั่นไหว |
รับสั่งบังคมภูวไนย | ออกไปจัดพลลนลาน |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๒๙๒๐๏ ให้ผูกคชาม้ารถ | เตรียมโยธาทศทวยหาญ |
เลือกล้วนแขงขันประจัญบาน | เคยณรงค์รบราญชำนาญยุทธ |
บ้างสอดใส่เสื้อแดงแต่งตน | โพกประเจียดมงคลคาดตะกรุด |
ถือปืนนกสับคาบชุด | เครื่องสาตราวุธธงทวน |
สารวัดจัดทัพสับสน | เปนการร้อนรีบร้นโดยด่วน |
นายไพร่พร้อมพรั่งตั้งกระบวน | พอจวนเสด็จยาตรา |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๒๙๒๑๏ เมื่อนั้น | องค์พระราเมศเชษฐา |
จึ่งตรัสชวนสามพระอนุชา | ลีลามาสรงคงคาไลย |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๒๙๒๒๏ ไขสหัสธาราดังห่าฝน | ต้องสกนธ์ซ่านเซ็นเย็นใส |
ทรงสุคนธรศเร้าเอาใจ | สอดใส่สนับเพลาเพราผจง |
ภูษายกแย่งลายอย่าง | โจงกระหวัดไว้วางหางหงษ์ |
ลาดโหมดม่วงตองฉลององค์ | เกราะนวมสวมทรงสำหรับยุทธ |
ปั้นเหน่งเพ็ชรพรรณรายสายกระสัน | เจียรบาดคาดมั่นไม่เลื่อนหลุด |
ทองกรเก้าคู่ชมพูนุท | ทรงมหามงกุฎแก้วมณี |
ใส่ธำมรงค์รัตน์ตรัจเตรจ | ทับทิมเทศมรกฏสดสี |
ต่างจับศรสิทธิฤทธี | จรลีมายังเกยไชย |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
ร่าย
๒๙๒๓๏ สี่องค์ทรงรถพระที่นั่ง | ออกจากวังโห่สนั่นหวั่นไหว |
ให้เร่งโยธาคลาไคล | พลไกรเบียดเสียดเยียดยัด |
ฯ ๒ คำ ฯ กราวนอก
โทน
๒๙๒๔๏ รถเอยรถทรง | งอนรหงธงไชยไหวสบัด |
สารถีขี่ขับสันทัด | เทียมอัศวราชเรืองแรง |
สี่รถชักรีบไปตามกัน | ดุมหันผันผัดกวัดแกว่ง |
มยุรฉัตรพัดโบกใบแพลง | กลดกลิ้งบังแสงพระอาทิตย์ |
ทหารแห่ซ้ายขวาน่าหลัง | คับคั่งคึกคักอักนิษฐ |
ผงคลีบดบังมืดมิด | ชอุ่มมัวทั่วทิศทุกตำบล |
เสียงช้างม้าร้องก้องกึก | เสียงโห่อึกกระทึกทั้งไพรสณฑ์ |
ไม้ไล่แหลกลู่ด้วยผู้คน | รีบร้นเร่งรถจรลี |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๒๙๒๕๏ เมื่อนั้น | พระกุมารพี่น้องทั้งสองศรี |
หยุดอยู่ริมทางกลางพงพี | แลเห็นโยธีรี้พล |
พระมงกุฎจึ่งว่าแก่พระลบ | เราจะรบแก้มืออิกสักหน |
ตัวนายครั้งนี้ถึงสี่คน | พวกพลนับแสนแน่นนัน |
เราเปนหน่อเนื้อเชื้อชาย | ถึงมากมายเท่าไรก็ไม่พรั่น |
ว่าพลางทางออกไปยืนยัน | กางกั้นมรคาพนาไลย |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๒๙๒๖๏ บัดนั้น | โยธีทั้งหลายนายไพร่ |
เห็นกุมารยืนขวางทางไว้ | บ้างจำได้ร้องบอกกันออกอึง |
ด้วยเปนวงษ์พงษ์เผ่าอวตาร | ใครไม่หาญต้านต่อสักคนหนึ่ง |
ความกลัวจริงจริงวิ่งฮึงฮึง | อื้ออึงสับสนลนลาน |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๙๒๗๏ เมื่อนั้น | พระพรตเห็นพลอลหม่าน |
เหลือบเหลียวแลไปในดงดาน | เห็นกุมารพี่น้องสองรา |
จึ่งทูลพระหริรักษ์จักรี | อันเด็กน้อยนั้นหนีมาถึงป่า |
ได้ประสบพบกันกับน้องยา | ออกขวางน่าพหลพลไกร |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๙๒๘๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกเปนใหญ่ |
เห็นกุมารอาจองทนงใจ | ภูวไนยกริ้วโกรธโกรธา |
จึ่งมีสิงหนาทประกาศสั่ง | โยธีทั้งทัพหนุนทัพน่า |
เร่งหักโหมโจมจับกุมารา | สังหารชีวาให้วอดวาย |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๒๙๒๙๏ บัดนั้น | โยธีรี้พลทั้งหลาย |
ความกลัวอาญาพระนารายน์ | ไพร่นายต่างวิ่งเข้าชิงไชย |
พรั่งพร้อมล้อมน่าล้อมหลัง | กองทัพคับคั่งทั้งป่าใหญ่ |
โห่ร้องก้องดงพงไพร | พลไกรเข้ากลุ้มรุมรบ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๙๓๐๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎวุฒิไกรไม่หลีกหลบ |
ชิงไชยช่วยกันกับพระลบ | ตีตลบรบรับจับกุม |
โยธีรี้พลอลหม่าน | โถมทยานเข้าจับเปนกลุ่มกลุ่ม |
สองกุมารเงื้อศรกรกุม | ตีตลุมบอนบุกคลุกคลี |
โจนจับสัปรยุทธเหยียบบ่า | แกล้วกล้าองอาจดังราชสีห์ |
หักโหมโรมรันราวี | โยธีหนีหายกระจายไป |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๒๙๓๑๏ เมื่อนั้น | พระอวตารผ่านภพสบไสมย |
เห็นพวกพลแตกยับทั้งทัพไชย | พระกริ้วโกรธดังไฟไหม้ฟ้า |
สี่องค์ลงจากรถที่นั่ง | ด้วยกำลังแค้นขัดสหัสา |
เข้าโจมจับกับสองกุมารา | เงื้อง่าศรทรงยงยุทธ |
พระรามพระลักษณ์ฤทธิรงค์ | รุมจับกับองค์พระมงกฎ |
พระลบฤทธิไกรไวยวุฒิ | กับพระพรตพระสัตรุดยุทธนา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๙๓๒๏ เมื่อนั้น | สองกุมารชาญไชยใจกล้า |
หลีกหลบรบรับไม่อัปรา | ด้วยเทวาคุ้มครองป้องกัน |
ขึ้นจับลอยคอยทีจะพิฆาฏ | ไม่พลั้งพลาดผลัดเปลี่ยนเหียนหัน |
กลอกกลับสัปรยุทธเหยียบยัน | ไล่กระชิดติดพันกันไปมา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๒๙๓๓๏ เมื่อนั้น | สี่กระษัตริย์ขัดเคืองเปนหนักหนา |
เห็นฤทธีพี่น้องทั้งสองรา | แกล้วกล้าสามารถมากมาย |
องค์พระหริวงษ์ทรงศักดิ | ฉวยชักพรหมมาศพาดสาย |
น้าวศิลป์ฤทธิเรืองเยื้องกราย | มุ่งหมายแผลงผลาญกุมารา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๒๙๓๔๏ ศรทรงองค์พระอวตาร | ไม่สังหารพานองค์โอรสา |
กลายเปนเอมโอชโภชนา | ลอยมาตกลงตรงกุมาร |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๙๓๕๏ เมื่อนั้น | พระพี่น้องสองราจึ่งว่าขาน |
น้อยฤๅแกล้งแผลงศรรอนราญ | เปนเข้าของคาวหวานใส่พานมา |
สารพัดจัดแจงแต่งตั้ง | ให้เรากินมีกำลังกระมังหนา |
น่ากลัวฤทธิรณพ้นปัญญา | กุมาราเย้ยหยันขันจริงเจียว |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๒๙๓๖๏ แล้วองค์พระมงกฎก็ยุดศร | ยอกรขึ้นท้าวน้าวเหนี่ยว |
พาดสายหมายดูพริบตาเดียว | บัดเดี๋ยวก็ลั่นไปทันใด |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๒๙๓๗๏ ศรทรงวงเวียนเฉวียนฉวัด | ทักษิณสี่กระษัตริย์เปนใหญ่ |
แล้วกลายเปนพวงบุบผามาไลย | เข้าตอกดอกไม้บูชา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๙๓๘๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วแววเวหา |
เห็นกุมารผาดแผลงแสงศรมา | เปนพุ่มพวงบุบผามาไลย |
รณรงค์แต่ก่อนบห่อนเห็น | ฤๅจะเปนเชื้อวงษ์น่าสงไสย |
ยิ่งคิดยิงแหนงแคลงใจ | จำจะไต่ถามดูแต่โดยดี |
คิดพลางทางมีบัญชาการ | ดูก่อนกุมารทั้งสองศรี |
เรายงยุทธนาราวี | ถ้อยทีศรศิลป์ไม่กินกัน |
จงเปนมิตรไมตรีกันดีกว่า | กุมาราอย่ารังเกียจเดียดฉัน |
เราขอถามนามวงษ์พงษ์พันธุ์ | ผู้ใดนั้นเปนบิดามารดร |
ธนูศิลป์ศักดาวิชาการ | ใครเปนอาจารย์สั่งสอน |
จึ่งชำนิชำนาญราญรอน | อย่ายอกย้อนบอกเราให้เข้าใจ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๒๙๓๙๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎฟังความที่ถามไถ่ |
จึ่งปฤกษาน้องรักเห็นกะไร | จะด่วนบอกเขาไปเปนใจเบา |
จำจะพูดขืนขึงตึงไว้ก่อน | กลับย้อนซักไซ้ไต่ถามเขา |
ให้บอกนามกรมาก่อนเรา | จึ่งจะไม่โง่เง่ารู้เท่าทัน |
ว่าพลางทางร้องตอบไป | ข้าไม่รังเกียจเดียดฉัน |
ซึ่งไต่ถามนามวงษ์พงษ์พันธุ์ | จะบอกกันก็ได้เปนไรมี |
แต่ข้างผู้ใหญ่จำแจ้งก่อน | ถ้าท่านบอกนามกรเราสองศรี |
ข้าจึ่งจะแถลงแจ้งคดี | ถ้อยทีจะรู้จักตระหนักนาม |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๙๔๐๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทั้งสาม |
ฟังกุมารตอบถ้อยทำนองความ | ฉลาดล่วงท้วงถามชอบพระไทย |
มาทว่าแม้นมิบอกออกอรรถ | จะต่อนัดต่อแนงหาแจ้งไม่ |
จำจะบอกนามตามจริงไป | แล้วภูวไนยจึ่งบัญชา |
เราฤๅคือองค์อวตาร | มาสังหารผลาญหมู่ยักษา |
ทรงนามราเมศกระษัตรา | ผ่านกรุงอยุทธยาธานี |
มีพระอนุชาทั้งสาม | คนนั้นนามพระลักษณ์เรืองศรี |
นั่นชื่อพระพรตฤทธี | คนนี้ชื่อพระสัตรุดวุฒิไกร |
เราก็บอกออกนามตามจริง | ทำไมนิ่งอยู่หาบอกเราบ้างไม่ |
ทั้งสองเจ้าเผ่าพงษ์ผู้ใด | จงแจ้งไปโดยอรรถสัจจา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๒๙๔๑๏ เมื่อนั้น | สองพระองค์ทรงยศโอรสา |
ได้ยินออกนามพระรามา | สมคำมารดาที่บอกไว้ |
ก็ประจักษ์แจ้งจิตรว่าบิตุรงค์ | มิได้นึกพะวงสงไสย |
แต่ยังคั่งแค้นขัดใจ | ด้วยจับไปทารกรรมจำจอง |
ครั้งก่อนก็ให้ฆ่ามารดาเสีย | ไม่รักเมียเหมือนคนทั้งผอง |
พระมงกุฎดำริห์ตริตรอง | แล้วว่าแก่พระน้องร่วมฤไทย |
จำจะบอกให้เปนแยบแอบแฝง | เราจะแจ้งจริงจังยังไม่ได้ |
นิ่งคิดอิดเอื้อนเยื้อนตอบไป | จะบอกให้เหมือนกันดังสัญญา |
ตัวข้าชื่อมงกุฎไตรภพ | น้องนี้ชื่อเจ้าลบเสนหา |
องค์พระชนนีชื่อสีดา | ญาติวงษ์พงษานั้นไม่มี |
อันพระบิดาของข้าไซ้ | นามกรชื่อไรไม่รู้ที่ |
น้ำพระไทยใจคอใช่พอดี | ได้ผ่านศรีอยุทธยาถาวร |
ซึ่งศิลปศาสตร์สารพัด | พระวัชมฤคฝึกสอน |
อยู่ในกาลวาดดงดอน | ทุกข์ร้อนยากเย็นเข็ญใจ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๒๙๔๒๏ เมื่อนั้น | พระราเมศฟังคำซ้ำสงไสย |
นิ่งนึกรำพึงคนึงไป | คิดเฉลียวพระไทยถึงสีดา |
ฤๅองค์อัคเรศโฉมฉาย | ไม่วอดวายชีวังกระมังหนา |
คิดพลางทางผิดพระภักตร์มา | ถามองค์อนุชาชาญไชย |
ไฉนหนอเจ้าลักษณ์น้องรักพี่ | กุมาราว่าดังนี้น่าสงไสย |
อันสีดาทุจริตคิดนอกใจ | พี่สั่งให้ไปฆ่าเสียช้านาน |
เจ้าแหวะดวงหไทยมาให้พี่ | ว่าเทวีสุดสิ้นสังขาร |
เหตุไฉนพี่น้องสองกุมาร | จึ่งว่าองค์นงคราญเปนมารดา |
พี่คิดฉงนสนเท่ห์นัก | ฤๅน้องรักมิได้พิฆาฏฆ่า |
เจ้าจงแจ้งอรรถแต่สัจจา | ให้เชษฐาสิ้นแหนงแคลงฤไทย |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๒๙๔๓๏ เมื่อนั้น | พระลักษณ์กราบก้มบังคมไหว้ |
ทั้งกลัวพระจักรีทั้งดีใจ | จึ่งทูลไปตามจริงทุกสิ่งอัน |
เมื่อรับสั่งภูวไนยใช้ข้า | ให้ห้ำหั่นกัลยาให้อาสัญ |
ครั้นถึงป่ากาลวาดข้าฟาดฟัน | พระขรรค์นั้นกลายเปนมาไลย |
เห็นความสัตย์ซื่อตรงต่อทรงเดช | จึ่งปล่อยองค์อัคเรศไปป่าใหญ่ |
ข้าแหวะดวงจิตรกวางที่กลางไพร | มาแทนดวงหไทยนางเทวี |
ซึ่งข้าทูลเท็จไว้แต่ก่อน | พระภูธรจงโปรดเกษี |
ตามแต่ผ่านฟ้าจะปรานี | โทษข้าควรที่ม้วยชีวา |
ทูลพลางทางแลไปดูหลาน | ทั้งสงสารทั้งแสนเสนหา |
ยิ่งคิดถึงพระพี่สีดา | ชลนาคลอเนตรสังเวชใจ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๒๙๔๔๏ เมื่อนั้น | พระราเมศได้ยินสิ้นสงไสย |
วางศรเสียพลันทันใด | เขาใกล้กุมาราแล้วพาที |
จึ่งเจ้าเปนโอรสนางสีดา | พ่อผ่านอยุธยากรุงศรี |
มิใช่อื่นเลยเจ้าคือเรานี้ | เปนภัศดาสามีนางสีดา |
แต่คราวครั้งโฉมยงทรงครรภ์ | ก็พลัดพรากจากกันนานนักหนา |
ไม่รู้เลยว่าเจ้าเปนลูกยา | อนิจาพึ่งแจ้งประจักษ์ใจ |
มาหาพ่อขออุ้มสักหน่อยหนึ่ง | อย่าโกรธขึ้งเคืองขัดอัชฌาไศรย |
จะรับเจ้าเข้านิเวศน์เวียงไชย | จะอยู่ไยในป่าพนาลี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๙๔๕๏ เมื่อนั้น | สองกุมารเมียงเมินเดินหนี |
ยิ้มพลางทางตอบพระภูมี | อย่าพาทีลวงฬ่อพอเข้าใจ |
เมื่อกี้เข้ากลุ้มรุมกันจับ | จนหลีกหลบรบรับไม่ใคร่ไหว |
แล้วจะมาเสแสร้งแกล้งใส่ไคล้ | ปราไสพันผูกว่าลูกรัก |
จะว่าเปนบิดานั้นอย่าเลย | ใครเขาไม่เคยรู้จัก |
ข้าเข็ดอาญาหนักหนานัก | อย่ามาชวนชักไม่รักไป |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๙๔๖๏ เมื่อนั้น | พระรามความแสนพิศมัย |
ตามปลอบลูกน้อยกลอยใจ | เมื่อแรกชิงไชยไม่ทันรู้ |
คิดว่าข้าศึกฮึกหาญ | อหังการมาต้านต่อสู้ |
เดี๋ยวนี้มิใช่ศัตรู | เจ้าผู้ดวงจิตรของบิดา |
ซึ่งจับไปลงโทษโรธทัณฑ์ | จะทำขวัญลูกรักให้หนักหนา |
ใช่จะแสร้งเศกสรรจำนรรจา | สองราอย่าแหนงแคลงใจ |
อันนางสีดานารี | เดี๋ยวนี้อยู่ตำบลหนไหน |
เอนดูเถิดช่วยพาบิดาไป | ให้พบองค์อรไทยนางเทวี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๙๔๗๏ เมื่อนั้น | พระกุมารพี่น้องทั้งสองศรี |
ได้ฟังวาจาพาที | เดินหนีแล้วตอบคำไป |
อย่าพักพูดแยบแอบอ้าง | ว่าบ้างก็จะขัดอัชฌาไศรย |
ผัวเมียลูกเต้าไม่เข้าใจ | เราไม่รู้เห็นอย่าเจรจา |
พระองค์จงคืนเขาบุรี | ข้านี้ก็จะไปในป่า |
ว่าพลางทางชวนอนุชา | สองราเดินตรงเข้าดงดอน |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๒๙๔๘๏ เมื่อนั้น | องค์พระอวตารชาญสมร |
แลลับลูกยายิ่งอาวรณ์ | ในวิญญาเร่าร้อนถอนฤไทย |
สุดที่จะกลั้นกรรแสงเทวศ | ชลเนตรแถวถั่งหลั่งไหล |
จึ่งชวนอนุชาเสนาใน | รีบติดตามไปมิได้ช้า |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๒๙๔๙๏ เมื่อนั้น | สองกุมารลัดแลงแฝงพฤกษา |
เดินพลางทางเหลียวดูบิดา | เห็นตามมาก็รีบจรลี |
สี่กระษัตริย์ตรัสเรียกก็ไม่หยุด | ฉวยฉุดพระลบแล่นหนี |
ครั้นถึงแว่นแคว้นแดนกุฎี | แลดูพระมุนีแต่ไกล |
เห็นมายืนถือกราดกวาดวัด | ก็วิ่งเข้ากอดรัดด้วยรักใคร่ |
แล้วบอกว่าผู้คนเปนพ้นไป | เขาตามไล่หลานมาพระอาจารย์ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๙๕๐๏ เมื่อนั้น | พระมุนีสร้วมสอดกอดหลาน |
จูบข้างโน้นข้างนี้ตะลีตะลาน | มาได้ไม่วายปราณแล้วหลานกู |
พลางว่าไหนใครตามมา | อย่าตกใจเลยตาจะต่อสู้ |
แล้วแกว่งกราดต่างกระบองป้องหน้าดู | ถึงทั้งแก่ก็กูไม่เกรงใคร |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๙๕๑๏ เมื่อนั้น | พระอวตารผ่านภพสบไสมย |
เสด็จตามโอรสยศไกร | แลไปเห็นองค์พระสิทธา |
จึ่งผันภักตร์ดำรัสตรัสสั่ง | ให้หยุดยั้งพลนิกายซ้ายขวา |
พระหริวงษ์กับองค์พระอนุชา | ยาตราไปหาพระอาจารย์ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๒๙๕๒๏ เมื่อนั้น | พระนักสิทธิแค้นแทนหลาน |
ไม่ทันดูหูตาซมซาน | เดือดดาลตัวสั่นงันงก |
เจ้าเหล่านี้ข่มเหงไม่เกรงใคร | หลานกูไปทำไมกับประสก |
มันเที่ยวเล่นตามประสาทารก | ไล่ระเหินระหกมาว่าไร |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๙๕๓๏ เมื่อนั้น | องค์พระนารายน์เปนใหญ่ |
เห็นพระอาจารย์งุ่นง่านไป | ภูวไนยจึ่งแจ้งคดี |
อย่าเพ่อโกรธขึ้งอึงอื้อ | แปลกโยมไปฤๅพระฤๅษี |
ข้าชื่อว่าพระรามจักรี | เปนสามีสีดาทรามไวย |
แต่พลัดพรากเยาวมาลย์นานช้า | พึ่งพบลูกยาที่ป่าใหญ่ |
แจ้งว่าพระดาบศเลี้ยงไว้ | ก็ดีใจจึ่งติดตามมา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๙๕๔๏ เมื่อนั้น | พระมุนีร้องอ้อหัวร่อร่า |
พลางก้มมองป้องดูภักตรา | อนิจาพระรามไม่ทันรู้ |
เข้าลูบหลังลูบหน้าแล้วพาไป | ถึงศาลาไลยลงนั่งอยู่ |
ขัดสมาธิ์เอนอิงพิงประตู | เปนครู่เหนื่อยบอบหอบหายใจ |
แล้วบอกหลานรักทั้งสองศรี | อัญชลีสี่กระษัตริย์เปนใหญ่ |
องค์นี้บิดาเจ้าจงจำไว้ | สามกระษัตริย์ถัดไปนั้นเปนอาว์ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๒๙๕๕๏ เมื่อนั้น | พระทรงภพลบโลกนาถา |
พินิจพิศดูกุมารา | นรลักษณ์ภักตราละกลกัน |
แล้วเคารพนบนอบพาที | ถามพระมุนีขมีขมัน |
อันกุมารพี่น้องทั้งสองนั้น | เปนบุตรนางด้วยกันฤๅฉันใด |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๙๕๖๏ เมื่อนั้น | พระมุนีชี้แจงแถลงไข |
คนนี้ชื่อมงกุฎวุฒิไกร | เปนบุตรนางอรไทยในครรภ์ |
นั่นชื่อเจ้าลบกุมารา | รูปทรงโสภาคมสัน |
เราชุบให้เปนบุตรบุญธรรม์ | นางรักใคร่เหมือนกันกับลูกยา |
ทั้งสองกุมาราก็ชอบชิด | เหมือนพี่น้องสนิทเสนหา |
ซึ่งพระรามตามสองกุมารา | มีธุระกิจจาจะว่าไร |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๙๕๗๏ เมื่อนั้น | พระทรงสังข์ฟังแจ้งแถลงไข |
จึ่งเคารพนบนอบตอบไป | ชี้ชอบขอบใจพระอาจารย์ |
ซึ่งมีจิตรปรานีนางสีดา | เมตตาชุบเลี้ยงไปจนหลาน |
พระคุณล้ำดินฟ้าบาดาล | ควรเปนประธานในธาตรี |
นางพำนักพักพึ่งผู้เปนเจ้า | จึ่งตามมากราบเท้าพระฤๅษี |
จงโปรดด้วยช่วยว่าแก่เทวี | โยมนี้จะมารับกลับไป |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๙๕๘๏ เมื่อนั้น | พระมุนีกล่าวแกล้งแถลงไข |
จะรู้ที่ว่าขานประการใด | ตามแต่น้ำใจพระจักรี |
เปนธุระประสกกับสีกา | เออจะมาให้ร้อนถึงฤๅษี |
ใช่กิจผิดวิไสยจะพาที | จู้จี้ขี้คร้านรำคาญใจ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๙๕๙๏ เมื่อนั้น | พระอวตารกรานก้มประนมไหว้ |
อ้อนวอนพระมุนีพิรี้พิไร | ผู้เปนเจ้าจงได้ปรานี |
ช่วยเล้าโลมโฉมฉายให้หายโกรธ | ว่าโยมมาลุกโทษจนถึงนี่ |
นางจะตัดอาไลยไมตรี | ฤๅเทวีจะคิดบ้างอย่างไร |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๙๖๐๏ เมื่อนั้น | พระอาจารย์สงสารเสียไม่ได้ |
หัวเราะพลางทางตอบคำไป | รูปนี้ไม่ชำนาญการพูดจา |
แต่อ้อนวอนหลายหนจนใจอยู่ | จะไปบอกลองดูเหมือนอย่างว่า |
แล้วชวนพระกุมารทั้งสองรา | ไปกุฎีสีดาทันที |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๒๙๖๑๏ ครั้นถึงเข้าห้องในดังใจจง | แล้วนั่งลงตรงหน้ามารศรี |
พระมงกุฎกอดบาทพระชนนี | โศกีครวญคร่ำร่ำไร |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๒๙๖๒๏ เมื่อนั้น | นางสีดายินดีจะมีไหน |
ประคองกอดลูกน้อยกลอยใจ | ลูบไล้รับขวัญจำนรรจา |
เจ้าพลัดพรากจากไปหลายวัน | แม่สำคัญว่าจะไม่เห็นหน้า |
เปนบุญไม่มอดม้วยชีวา | เจ้ากลับมาแม่นี้ดีใจ |
เมื่อกองทัพจับเจ้าไปได้นั้น | เขาทำโทษโรธทัณฑ์เปนไฉน |
แม่นี้วิตกเปนพ้นไป | ด้วยเจ้าไม่เคยทุกข์ทรมาน |
น้อยฤๅเนื้อตัวมัวมอม | ซูบผอมผิดทรงน่าสงสาร |
ว่าพลางโฉมยงนงคราญ | สร้วมกอดกุมารเข้าโศกา |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๒๙๖๓๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎบังคมก้มเกษา |
ทูลแถลงแจ้งความกับมารดา | ตั้งแต่ต้นจนมาถึงไพรวัน |
ฝ่ายข้างพระรามตามมาพบ | ได้สู้รบยุทธแย้งแขงขัน |
ประหลาดด้วยศรศิลป์ไม่กินกัน | จึ่งถามวงษ์พงษ์พันธุ์พูดจา |
ต่างคนต่างบอกออกความ | พระรามว่าข้าเปนโอรสา |
ลูกแคลงใจไม่เชื่อว่าบิดา | จึ่งชวนน้องกลับมายังกุฎี |
บัดนี้สี่กระษัตริย์ทรงศักดิ | ก็ติดตามลูกรักมาถึงนี่ |
บอกพลางเหลียวดูพระมุนี | เห็นทำทีถลึงขึงตา |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๒๙๖๔๏ เมื่อนั้น | พระฤๅษีเถียงพลางทางว่า |
มันไม่เปนเช่นนั้นดอกสีกา | อันพระรามตามมาจะง้องอน |
ครั้นจะตามมาเองก็เกรงใจ | จึ่งใช้ให้ตามาว่าก่อน |
เธอจะรับกลับคืนไปนคร | จะเคืองขัดตัดรอนเปนอย่างไร |
เขาวิงวอนว่าต่อหน้าหลาน | ข้าก็คิดสงสารเสียไม่ได้ |
ซึ่งจะดีกันฤๅฉันใด | ก็ตามแต่น้ำใจของเทวี |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๙๖๕๏ เมื่อนั้น | นางสีดานบนอบตอบฤๅษี |
อันความแค้นของข้าครานี้ | สักแสนปีก็ไม่หายวายคิด |
เธอว่าหลานชั่วช้าให้ฆ่าฟัน | แต่กระนั้นที่ทำไม่หนำจิตร |
มาจับลูกไปสังหารผลาญชีวิตร | พระนักสิทธิย่อมทราบสารพัน |
นิมนต์กลับไปถามพระรามา | จะรับข้าคืนไปไยนั่น |
สิโกรธาว่ารักทศกรรฐ์ | จึ่งให้มาฆ่าฟันเสียกลางไพร |
จะรับไปไว้เปนมเหษี | ไม่อายชาวบุรีฤๅไฉน |
พระองค์จงช่วยซักไซ้ | เธอจะว่าอย่างไรก็ให้รู้ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๙๖๖๏ เมื่อนั้น | พระฤๅษีพลอยตอบว่าชอบอยู่ |
ให้ฆ่าเมียเสียได้ไม่เอนดู | ถึงใจกูก็แค้นเหมือนกัน |
จะออกไปซักไซ้ให้หนักหนา | ดูดู๋จะว่าอย่างไรนั่น |
ว่าพลางทางหยิบไม้ท้าวพลัน | ลุกขึ้นงกงันทันใด |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๒๙๖๗๏ ครั้นถึงจึ่งตั้งกระทู้ถาม | ดูก่อนพระรามเปนใหญ่ |
เดิมแคลงสีดาว่านอกใจ | จึ่งให้เข่นฆ่าราตี |
แล้วมิหนำซ้ำจับพระกุมาร | ไปจองจำทำประจานในกรุงศรี |
ว่าเขาคนชั่วช้ากาลี | จะมาดีด้วยกันฉันใด |
นางสั่งให้ถามซักให้หนักหนา | เออประสกจะว่าเปนไฉน |
เมื่อเจ้าทำต่างต่างทุกอย่างไป | เราพลอยน้อยใจด้วยเทวี |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๒๙๖๘๏ เมื่อนั้น | พระอวตารนบนอบตอบฤๅษี |
อย่าเพ่อโกรธโปรดเถิดพระมุนี | โยมนี้จะเล่าให้เข้าใจ |
อันองค์ภัควดีสีดา | ข้ารักดังดวงดาก็ว่าได้ |
เมื่อสั่งให้ฆ่าฟันนั้นไซ้ | เพราะคลั่งคลุ้มกลุ้มไปในวิญญา |
ก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจของเทวี | ไม่ควรที่จะถือโทษา |
ซึ่งจองจำทำโทษกุมารา | ก็เพราะว่าไม่รู้จักกัน |
ผู้เปนเจ้าช่วยจำคำของโยม | ไปเล้าโลมบังอรให้ผ่อนผัน |
ซึ่งข้าคิดผิดพลั้งแต่หลังนั้น | ก็มาขอโทษทัณฑ์กัลยา |
แต่นี้ไปจนตายวายชีวิตร | ถึงพลั้งผิดก็มิได้เอาโทษา |
แม้นทรามไวยไม่เชื่อวาจา | พระสิทธาจงให้สัตย์ปัฏิญาณ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๒๙๖๙๏ เมื่อนั้น | ฤๅษีหัวเราะร่าแล้วว่าขาน |
เอออะไรเปล่าเปล่าไม่เข้าการ | จะได้สบถสาบาลสนุกใจ |
รูปยังไม่ไว้ใจประสก | จะให้ไปตกนรกหมกไหม้ |
แต่บวชมากว่าร้อยปีไป | จะเคยสบถแทนใครยังไม่มี |
ฉวยจะกระไรไปข้างน่า | เขาจะได้นินทาว่าฤๅษี |
เปนแต่ช่วยพูดจาพาที | เพียงนี้พอจะรับคำนิมนต์ |
จะกลับไปกุฎีนางสีดา | วอนว่านงลักษณ์อิกสักหน |
ว่าประสกได้ทานบาดคาดบน | เห็นต่อจะชอบกลดอกกระมัง |
ว่าพลางทางลุกขึ้นนิ่วหน้า | แข้งขาเมื่อยขัดยืนดัดหลัง |
จ้องไม้ท้าวก้าวเดินเก้กัง | มายังกุฎีนางสีดา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
๒๙๗๐๏ ครั้นถึงจึ่งตรงเข้าห้องใน | ลงนั่งหอบหายใจอยู่ตรงหน้า |
แล้วว่าเหนื่อยเต็มทีแล้วสีกา | ต้องกลับไปกลับมาน่ารำคาญ |
เมื่อตะกี้รูปไปไต่ถาม | พระรามเขาว่าน่าสงสาร |
สารภาพรับผิดทุกประการ | ที่หักหาญทำโทษนางนงเยาว์ |
ด้วยคลั่งคลุ้มกลุ้มใจไม่ทันคิด | ซึ่งพลั้งผิดครั้งนี้เพราะผีเข้า |
มิได้รู้สึกตัวมัวเมา | ต่อจะจริงของเขาแล้วเทวี |
เธอวอนว่าถ้าดีด้วยกันใหม่ | จะทำทานบนให้นางโฉมศรี |
อันถ้อยคำว่ากล่าวคราวนี้ | เห็นจะดีจริงแล้วเยาวมาลย์ |
รูปคิดว่าถ้ากะไรก็ผ่อนผัน | กลับดีด้วยกันเสียเถิดหลาน |
ตาจะได้จำศีลบำเพ็ญฌาน | ป่วยการสวดมนต์ภาวนา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๒๙๗๑๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาเสนหา |
จึ่งว่าเอออะไรไอยกา | ขืนจะว่าไปได้ช่างไม่คิด |
เมื่อคราวเคืองพระองค์ให้ลงโทษ | ครั้นหายโกรธแล้วจะกลับมารับผิด |
นี่หากว่าไม่ตายวายชีวิตร | พระทรงฤทธิ์จึ่งกลับมาคืนดี |
ถ้าแม้นข้าอาสัญบรรไลย | ปานนี้จะไปอยู่เมืองผี |
อันใจหลานตัดขาดชาตินี้ | ไม่ขอเห็นกรุงศรีอยุทธยา |
พระองค์จงกลับไปชี้แจง | ให้แจงเหมือนคำของข้าว่า |
ซึ่งจะรับกลับคืนไปภารา | มิรู้ที่จะดูหน้าชาวธานี |
ถึงลำบากยากเย็นเข็ญใจ | ก็จะสู้อยู่ในพนาศรี |
เชิญพระหริรักษ์จักรี | ไปครอบครองบุรีให้สำราญ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๒๙๗๒๏ เมื่อนั้น | พระฤๅษีมิรู้ที่คิดอ่าน |
จึ่งว่าจริงอยู่เจ้าเยาวมาลย์ | เขาทำโทษกับหลานก็เหลือใจ |
แต่พลั้งผิดนิดหนึ่งก็ฆ่าฟัน | จะไปอยู่ด้วยกันกะไรได้ |
เออกูก็รู้เห็นด้วยเมื่อไร | ประเดี๋ยวเมียใช้ไปผัวใช้มา |
รูปจะช่วยว่ากล่าวเสียคราวนี้ | แล้วไปกฎีเสียดีกว่า |
ว่าพลางทางออกจากศาลา | งกเงิ่นเดินมาทันที |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๒๙๗๓๏ ครั้นถึงจึ่งนั่งลงบอกความ | ดูก่อนพระรามเรืองศรี |
นางสีดาเขาว่าไม่คืนดี | จะสู้ม้วยชีวีอยู่กลางไพร |
ความแค้นเขาว่ามาให้ฟัง | แต่รูปลืมเสียยังจำไม่ได้ |
ครั้นจะช่วยว่าขานประการใด | ก็กลัวเขาขัดใจไม่ต้องการ |
อันรูปนี้ขัดสนจนจิตร | มิรู้ที่จะคิดว่าขาน |
ตามแต่องค์พระอวตาร | จะคิดอ่านผ่อนผันฉันใด |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๙๗๔๏ เมื่อนั้น | พระราเมศฟังแจ้งแถลงไข |
ยิ่งแสนรันทดสลดใจ | พระทอดถอนฤไทยไปมา |
แล้วว่าพระอาจารย์จงโปรดก่อน | ซึ่งนางตัดรอนด้วยแค้นข้า |
พระองค์จงช่วยไปพูดจา | ว่าโยมแสนโศกาอาไลย |
แม้นมิได้พบองค์นงเยาว์ | จะคืนเข้าภาราก็หาไม่ |
ถึงนางมิดีด้วยก็ตามใจ | แต่ขอให้พบพูดสักสองคำ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๙๗๕๏ เมื่อนั้น | พระฤๅษีได้ฟังนั่งบ่นพล่ำ |
เมียแล้วผัวเล่าเจ้ากรรม | ยังค่ำกะตาน่าขัดใจ |
จะช่วยไปว่ากล่าวอิกคราวหนึ่ง | ทีหลังถึงวอนว่าหาไปไม่ |
แล้วผุดลุกกุกกักขึ้นทันใด | หายใจหอบรวนด่วนเดินมา |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๒๙๗๖๏ ถึงกุฎีที่อยู่นางโฉมยง | นั่งลงใกล้นางพลางว่า |
รูปไปบอกพระรามตามวาจา | เธอโศกาอ้อยอิ่งวิงวอน |
ถึงเจ้ามิดีด้วยก็ตามใจ | แต่ขอให้พบปากสักน่อยก่อน |
หาไม่ก็ไม่ไปพระนคร | บังอรจะคิดอ่านประการใด |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๙๗๗๏ เมื่อนั้น | นางสีดานารีศรีใส |
นิ่งนึกรำพึงคนึงใน | จะขืนขัดตัดไปก็ไม่ดี |
จำจะให้ไปเชิญเสด็จมา | พระจะว่าอย่างไรให้รู้ที่ |
คิดพลางทางตอบพระมุนี | อันใจของหลานนี้สิ้นอาไลย |
แต่เธอเฝ้าเร้ารบพระอาจารย์ | น่ารำคาญหารู้ที่คิดไม่ |
จะให้เธอเข้ามาว่ากะไร | ก็ตามแต่น้ำใจพระนักธรรม์ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๙๗๘๏ เมื่อนั้น | พระฤๅษีเห็นทีจะผ่อนผัน |
ตบมือหัวร่ององัน | เออกระนั้นเปนไรชอบใจกู |
ทีนี้สิ้นธุระปะปัง | จะได้ไปเอนหลังเสียสักครู่ |
ฉวยไม้ท้าวก้าวออกนอกประตู | มายังที่อยู่พระอวตาร |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๒๙๗๙๏ ครั้งถึงจึ่งแถลงแจ้งคดี | สมคเนคราวนี้แล้วหลาน |
รูปช่วยวอนว่าอยู่ช้านาน | ประเดี๋ยวนี้เยาวมาลย์ให้เข้าไป |
เร็วเร็วพระรามตามรูปมา | จะพาไปศาลาที่อาไศรย |
ว่าพลางทางนำภูวไนย | ตรงไปที่อยู่นางเทวี |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๒๙๘๐๏ ครั้นถึงหยุดยั้งบังประตู | กะทั่งไอให้รู้ถึงโฉมศรี |
แล้วเหลียวมาว่ากับพระจักรี | ตามทีเถิดประสกจะพูดจา |
ว่าพลางทางร้องเรียกหลาน | สองกุมารก็วิ่งออกมาหา |
ชวนว่ามาไปกับไอยกา | แล้วตรงมากุฎีที่สำนักนิ์ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๒๙๘๑๏ เมื่อนั้น | พระรามสุริวงษ์ทรงศักดิ |
เข้าไปใกล้องค์นงลักษณ์ | เห็นนางเมินภักตร์ไม่พาที |
นึกสเทินพระไทยด้วยได้ผิด | ไม่ทันคิดให้ฆ่ามารศรี |
จำจะต้องงอนง้อขอดี | จึ่งพาทีโลมเล้าเอาใจ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ชาตรี
๒๙๘๒๏ โฉมเอยโฉมเฉลา | ยุพเยาว์ยอดฟ้าจะหาไหน |
อย่าเพ่อเคืองขัดตัดอาไลย | ที่จริงใจจะเล่าให้เจ้าฟัง |
พี่รักนางพ่างเพียงชีวา | เปนเหตุเพราะเวราแต่หนหลัง |
พเอิญให้หุนหันไม่ทันยั้ง | มิใช่จะชิงชังโฉมตรู |
อันโทษพี่นี้ผิดเปนพ้นนัก | น้องรักขัดแค้นก็ควรอยู่ |
ได้ผิดพลั้งครั้งเดียวจงเอนดู | จะรับเจ้าเข้าไปสู่ภารา |
ทีนี้จนตายวายชีวิตร | ไม่ทำให้เคืองจิตรขนิษฐา |
ถ้อยยำคำมั่นพี่สัญญา | เจ้าอย่ากินแหนงแคลงใจ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๒๙๘๓๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเคืองแค้นค้อนให้ |
จึ่งสนองบัญชาว่าไป | ภูวไนยอย่าพักมาพาที |
เห็นแล้วว่ารักข้าหนักหนา | จึ่งด่าว่าสารพัดน่าบัดสี |
พาโลโกรธาให้ฆ่าตี | นี่หากว่าชีวีไม่มอดม้วย |
เดี๋ยวนี้เปนอย่างไรได้คิด | มารับผิดพาทีทำดีด้วย |
ล่อลวงให้หลงงงงวย | ช่างไม่ขวยเขินจิตรคิดละอาย |
ซึ่งจะรับกลับคืนไปบุรี | มลทินยังมีอยู่ไม่หาย |
ด้วยข้าเปนคนโทษโหดร้าย | เครื่องจะขายบาทาภูวไนย |
พระก็เปนปิ่นกระษัตริย์ทรงเดช | ใช่จะไร้อัคเรศพิศมัย |
จะหานางอื่นชมมีถมไป | จะรับเข้าไปไยเมื่อไม่ดี |
ฯ๏๐ คำ ฯ
โอ้โลม
๒๙๘๔๏ น้องเอยน้องรัก | อนิจาไม่ประจักษในใจพี่ |
ความสัตย์ทุกสิ่งจริงกระนี้ | ไม่ควรที่จะสลัดตัดเยื่อไย |
ถึงจะมีเมียใหม่ไม่เหมือนเจ้า | ตายแล้วเกิดเล่าไม่หาได้ |
เคยร่วมศุขร่วมทุกข์ร่วมใจ | ร่วมลำบากยากไร้ด้วยกันมา |
จงคิดถึงดวามดีของพี่บ้าง | พอจะกลบลบล้างโทษา |
ได้ผิดแล้วแล้วไปบ้างเถิดรา | ขอเชิญแก้วแววตาไปธานี |
ถ้าแม้นมิเปนใจไปด้วยกัน | เจ้าจงเอาพระขรรค์นี้ฟันพี่ |
ให้สิ้นบุญสิ้นกรรมกันวันนี้ | ก็จะลามารศรีบรรไลยไป |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๒๙๘๕๏ ทรงเอยทรงฤทธิ | ชะช่างฉลาดคิดแก้ไข |
น้อยฤๅนั่นน่าเชื่อเหลือใจ | ที่ไหนใครจะรู้เท่าทัน |
คิดคิดขึ้นมาแล้วน่าสรวล | จะสำรวลก็จะว่าเย้ยหยัน |
เมื่อแต่แรกโกรธาให้ฆ่าฟัน | จะว่าเพื่อนยากกันก็ไม่มี |
สารพัดตรัสว่าข้าชั่ว | เขาก็รู้อยู่ทั่วกรุงศรี |
แล้วจะมางอนง้อขอดี | ยังไม่หายคลายที่เจ็บใจ |
มิหนำซ้ำท้าให้ฆ่าฟัน | เห็นว่าทำทรงธรรม์นั้นไม่ได้ |
ถึงจะโกรธจะแค้นสักเท่าไร | ก็ต้องนิ่งอยู่กับใจจำจน |
ชาตินี้มีกรรมได้ทำมา | วาสนาอาภัพไม่เปนผล |
ผ่านฟ้าอย่าได้เปนกังวล | เสียดายไยกับคนเช่นนี้ |
สิ้นบุญกันแล้วก็แล้วไป | จะก้มหน้าอยู่ในพนาศรี |
สู้ตายวายวางชีวี | ไม่ขอคืนธานีอยุทธยา |
เชิญเสด็จภูวไนยไปเถิด | ให้เปรมปรีดิ์ประเสริฐเปนศุขา |
แต่โปรดด้วยช่วยทูลพระมารดา | ว่าข้าถวายบังคมไป |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
โอ้โลม
๒๙๘๖๏ น้อยเอยน้อยฤๅ | ยังจะถือโกรธขึ้งไปถึงไหน |
พี่วิงวอนว่าเจ้าสักเท่าไร | ควรฤๅอรไทยไม่เชื่อฟัง |
ต่อจะสิ้นรักใคร่อาไลยแล้ว | น้องแก้วจึ่งไม่คิดคืนหลัง |
ถึงเจ้าจะมิเข้าไปเวียงวัง | ขอแต่โอรสทั้งสองรา |
จะได้เชยชมพลางพอส่างโศก | ซึ่งวิโยคเยาวยอดเสนหา |
เมื่อยามทุกข์ขุกคิดถึงกัลยา | ได้เห็นหน้าลูกน้อยจะค่อยคลาย |
ฯ ๖ คำ ฯ
๒๙๘๗๏ ทรงเอยทรงศักดิ | พระอย่าพักกล่าวเกลี้ยงเบี่ยงบ่าย |
ลูกรักของข้าข้าเสียดาย | จะถวายพระองค์อย่าสงกา |
ด้วยพระโกรธาพยาบาท | หมายมาดเขม้นจะเข่นฆ่า |
เอาไปทำโทษทัณฑ์พันธนา | คิดคิดแล้วน่าน้อยใจ |
ลูกเล็กเด็กนิดหนึ่งเท่านี้ | จะมีความปรานีก็หาไม่ |
นี่เดชะบุญไม่บรรไลย | แม่ลูกจึ่งได้เห็นหน้ากัน |
ยิงมิหนำซ้ำติดตามมา | หมายจะจับฆ่าให้อาสัญ |
เมื่อเห็นอยู่ทุกสิ่งจริงอย่างนั้น | จะรู้แห่งให้ปันฉันใด |
ฯ ๘ คำ ฯ
๒๙๘๘๏ เมื่อนั้น | พระอวตารตอบคำแก้ไข |
โฉมเฉลาเจ้าว่าฉนี้ไย | อันลูกแล้วฤๅใครจะไม่รัก |
ซึ่งจับไปจองจำทำโทษกร | ด้วยแต่ก่อนนั้นมิได้รู้จัก |
สำคัญว่าข้าศึกฮึกฮัก | จึ่งได้หักหาญโหมโรมรัน |
ทีนี้รู้จักแจ้งไม่แคลงใจ | จะขอรับเข้าไปยังเขตรขัณฑ์ |
พอได้เฝ้าไอยกีทรงธรรม์ | สามวันจะมาส่งยังกุฎี |
จะให้ฤๅมิให้อย่างไรเล่า | นิจาเจ้าผินผันหน้าหนี |
พระเฝ้าอ้อนวอนนางไม่พาที | ก็โศกีร่ำไรไปมา |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๒๙๘๙๏ แล้วสท้อนถอนจิตรคิดคนึง | นางสีดาดื้อดึงหนักหนา |
จะงอนง้อเท่าไรไม่นำพา | กัลยาตัดรอนรำพรรณ |
จำจะไปว่ากล่าวพระมุนี | ตามทีให้ช่วยพูดผ่อนผัน |
คิดพลางย่างเยื้องจรจรัล | ไปยังบรรณศาลาพระอาจารย์ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๒๙๙๐๏ ลดองค์ลงนั่งน้อมประนต | สอื้นร่ำกำสรดสงสาร |
แล้วแถลงแจ้งความทุกประการ | ซึ่งเยาวมาลย์เคืองขัดตัดรอน |
จนแต่ขอโอรสก็ไม่ให้ | สุดใจสุดที่จะผันผ่อน |
ผู้เปนเจ้าโปรดด้วยช่วยว่าวอน | ให้บังอรอ่อนใจคืนดี |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๙๙๑๏ เมื่อนั้น | พระวัชมฤคฤๅษี |
เห็นพระรามโศกศัลย์พันทวี | ให้มีน้ำจิตรคิดเมตตา |
จึ่งว่าอย่าร้องไห้อายเขา | ไว้ธุระเราจะช่วยว่า |
แล้วผุดลุกขึ้นเดินออกมา | ร้องเรียกนางสีดาด้วยพลัน |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๙๙๒๏ เมื่อนั้น | นางสีดาได้ยินก็ผายผัน |
มาถึงอาศรมพระนักธรรม์ | ก็ถวายอภิวันท์ทันที |
ฯ ๒ คำ ฯ
๒๙๙๓๏ เมื่อนั้น | พระสิทธาว่าแก่นางโฉมศรี |
เอออะไรผัวเมียคู่นี้ | เฝ้ากวนกูจู้จี้รำคาญใจ |
จนป่วยการสวดมนต์ภาวนา | จะจำวัดจำวาก็ไม่ได้ |
หลานเอ๋ยอันจะขึงตึงไป | ก็เหมือนทำกรรมให้แก่กูนี้ |
ข้างนั้นเล่าเขาก็รับผิดหมด | จะขอแต่โอรสไปกรุงศรี |
ให้ไปบ้างมาบ้างเถิดตามที | แต่เพียงนี้เปนไรเล่าเจ้าสีดา |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๒๙๙๔๏ เมื่อนั้น | นางสีดาได้ฟังฤๅษีว่า |
ค่อยคลายที่แค้นขัดภัศดา | ให้นึกเวทนาอาไลย |
จึ่งนบนอบตอบคำพระอาจารย์ | พระคุณว่าแล้วหลานไม่ขัดได้ |
แล้วเรียกสองโอรสยศไกร | มาอภิวาทไหว้พระบิดร |
ฯ ๔ คำ ฯ
๒๙๙๕๏ เมื่อนั้น | สองราชกุมารชาญสมร |
ต่างองค์ดุษฎีชลีกร | กราบบาทบิดรด้วยพลัน |
แล้วทุกข์ที่จะจากพระมารดา | สองราร่ำไรโศกศัลย์ |
นวลนางสีดาก็จาบัลย์ | กอดลูกรักนั้นโศกาไลย |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๒๙๙๖๏ เมื่อนั้น | พระหริวงษ์ทรงภพสบไสมย |
จึ่งตรัสเรียกลูกน้อยกลอยใจ | มานั่งใกล้แล้วกล่าววาที |
อย่าร้องไห้ไปเลยลูกรัก | ดวงจักษุพ่อทั้งสองศรี |
จะพาเจ้าไปเฝ้าไอยกี | แม้นคิดถึงชนนีจึ่งกลับมา |
ว่าแล้วอำลาพระดาบศ | นบนิ้วประนตเหนือเกษา |
ตัวข้าจะคืนไปภารา | ขอฝากนางสีดาดวงใจ |
แล้วผินภักตรามาดูน้อง | พระทรงศักดิเศร้าหมองหม่นไหม้ |
ตรัสสั่งวนิดาด้วยอาไลย | ดวงใจค่อยอยู่จงดี |
ว่าพลางย่างเยื้องยุรยาตร | พาโอรสราชทั้งสองศรี |
ออกจากที่อยู่พระมุนี | มายังที่ประชุมโยธา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ทยอย
๒๙๙๗๏ ขึ้นบนบัลลังก์ที่นั่งรถ | กับองค์ทรงยศโอรสา |
ให้เลิกทัพกลับคืนไคลคลา | ไปยังอยุทธยากรุงไกร |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๒๙๙๘๏ ครั้นถึงเกยลาน่าปราสาท | จึ่งหยุดราชรถทองผ่องใส |
ตรัสสั่งสุมันตันทันใด | เร่งให้เตรียมการพิธี |
เราจะสมโภชพระลูกรัก | ให้ปรากฎยศศักดิทั้งสองศรี |
เครื่องเล่นสารพันบรรดามี | พรุ่งนี้ให้พร้อมกันทันเวลา |
แล้วตรัสเรียกโอรสยศยง | เสด็จลงจากราชรัถา |
พร้อมสามสมเด็จอนุชา | ไปเฝ้าพระมารดาทันใด |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๒๙๙๙๏ ครั้นถึงจึ่งถวายอัญชลี | องค์พระชนนีเปนใหญ่ |
แล้วเรียกสองโอรสยศไกร | เข้าไปใกล้องค์พระจักรา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๓๐๐๐๏ เมื่อนั้น | สามพระชนนีเสนหา |
เห็นพระรามกับสามอนุชา | พาสองกุมารมาอัญชลี |
คิดสงไสยไม่รู้ว่าเปนหลาน | จึ่งถามพระอวตารเรืองศรี |
เจ้ายกพวกจัตุรงค์ไปพงพี | พบไพรีฤๅไม่จะใคร่รู้ |
กุมารนี้ลูกใครที่ไหนเล่า | มานั่งเรียงเคียงเจ้าอยู่ทั้งคู่ |
น้อยน้อยโสภาน่าเอนดู | นี่อยู่แห่งใดเจ้าได้มา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๓๐๐๑๏ เมื่อนั้น | พระรามบังคมก้มเกษา |
จึ่งทูลว่าโอรสของลูกยา | ซึ่งเกิดกับนางสีดานารี |
แล้วแถลงแจงความแต่ต้นไป | จนได้พบองค์มเหษี |
ลูกง้องอนวอนว่าพาที | จะรับมาธานีก็มิมา |
จึ่งขอแต่โอรสทั้งสององค์ | นางโฉมยงจำใจให้ข้า |
คนนี้บุตรในครรภ์กัลยา | ชื่อว่ามงกุฎวุฒิไกร |
นั้นน้องชื่อลบกุมาร | พระสิทธาอาจารย์ชุบให้ |
นวลนางสีดายาใจ | รักใคร่เหมือนกันไม่ฉันทา |
ซึ่งลูกพามาถวายอัญชลี | พอสามพระชนนีได้เห็นหน้า |
ทูลพลางทางคิดถึงสีดา | พระผ่านฟ้าสท้อนถอนใจ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๓๐๐๒๏ เมื่อนั้น | พระชนนีได้แจ้งแถลงไข |
จึ่งเรียกสองนัดดายาใจ | ขึ้นไปบนแท่นรัตนา |
ต่างองค์สร้วมสอดกอดหลาน | ทั้งสงสารทั้งแสนเสนหา |
รับขวัญพลางทางเชยภักตรา | แล้วมีวาจาว่าไป |
พ่อดวงใจไนยนาของย่าเอ๋ย | กรรมสิ่งใดเลยมาซัดให้ |
พระบิดาของเจ้าเบาใจ | ให้ลอบไปฆ่าฟันกัลยา |
แล้วปกปิดกิติศัพท์ลับลี้ | ความนี้ไม่รู้ถึงหูย่า |
ได้ประจักษ์แจ้งการต่อนานมา | สำคัญว่าโฉมฉายวายชนม์ |
นิจาเอ๋ยสงสารมารดาเจ้า | จะเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจในไพรสณฑ์ |
หลานรักจงแถลงแจ้งยุบล | นางลำบากยากจนประการใด |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๓๐๐๓๏ เมื่อนั้น | สองกุมารทูลพลางทางร่ำไห้ |
มารดาข้าลำบากยากไร้ | อาไศรยอยู่ศาลาพระอาจารย์ |
เที่ยวเสาะสอยพฤกษาผลาผล | มาเลี้ยงกันตามจนในไพรสาณฑ์ |
ไม่มีศุขทุกข์ทนทรมาน | มิหนำซ้ำหลานก็จากมา |
ปานนี้สมเด็จพระมารดร | จะทุกข์ร้อนเศร้าสร้อยลห้อยหา |
ทูลพลางทางก้มภักตรา | คิดถึงมารดาโศกาไลย |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๓๐๐๔๏ เมื่อนั้น | พระไอยกีฟังแจ้งแถลงไข |
คิดถึงเทวีศรีสใภ้ | ต้องลำบากยากไร้ทรมา |
ต่างองค์สงสารแสนเทวศ | ชลเนตรพรั่งพรายทั้งซ้ายขวา |
พระรามกับสามอนุชา | ก็ทรงโศกาจาบัลย์ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๓๐๐๕๏ เมื่อนั้น | พระนารายน์คลายความโศกศัลย์ |
ครั้นบ่ายชายแสงสุริยัน | บังคมคัลลาองค์พระชนนี |
จึ่งกุมกรทั้งสองโอรสา | เสด็จมาปรางมาศปราสาทศรี |
ทั้งสามอนุชาธิบดี | ต่างองค์อัญชลีลามา |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๓๐๐๖๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนีมียศถา |
เตรียมการทำขวัญดังบัญชา | ในมหาโรงราชพิธี |
บ้างยกเศวตฉัตรดัดเพดาน | แต่งตั้งเครื่องอานพานบายศรี |
ทั้งโหราพฤฒามาตย์พราหมณ์ชี | เตรียมท่าพระจักรีพร้อมกัน |
ฯ ๔ คำ ฯ
๓๐๐๗๏ เมื่อนั้น | พระไอยกีปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
กับเหล่าสาวสนมกำนัล | ช่วยกันแต่งองค์พระกุมาร |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชมตลาด
๓๐๐๘๏ ขัดสีมลทินวารินรด | น้ำดอกไม้ใสสดสรงสนาน |
ลูบไล้เครื่องต้นสุคนธาร | นางอยู่งานรำเพยพัชนี |
พระไอยกีเข้าผัดภักตร์ให้ | นวลลอองอำไพผ่องศรี |
กันกวดกระหมวดมุ่นเมาฬี | ใส่เกี้ยวแก้วมณีเนาวรัตน์ |
ให้สองทรงสนับเพลาเพราพราย | เชิงงอนงามลายปลายสบัด |
ทรงภูษาพื้นขาวโขมพัตร | พี่เลี้ยงช่วยจีบจัดโจงประจง |
สร้อยนวมตาบประดับบานพับเพ็ชร | สังวาลแววแก้วเก็จก่องก่ง |
ทองกรเก้ารอบรูปภุชงค์ | ธำมรงค์เพ็ชรเรืองรูจี |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๓๐๐๙๏ ครั้นเสร็จทรงเครื่องเรืองรอง | จึ่งพาพระพี่น้องสองศรี |
มายังพระหริรักษ์จักรี | คอยเสด็จภูมีจะยาตรา |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลงเร็ว
๓๐๑๐๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วแววเวหา |
ครั้นจวนศุภฤกษ์เวลา | จึ่งพาสองโอรสยศไกร |
ทั้งสามสมเด็จพระมารดา | สุริวงษ์พงษาน้อยใหญ่ |
ตามกันลีลาคลาไคล | ออกไปโรงพิธีนี่นัน |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๓๐๑๑๏ ให้สองกุมารนั่งบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เสวตรฉัตรเฉิดฉัน |
พระวงษาเสนาทั้งนั้น | ถวายบังคมคัลพระจักรี |
ฯ ๒ คำ ฯ
สระบุโหร่ง
๓๐๑๒๏ ได้เอยได้ฤกษ์ | พระโหราให้เบิกบายศรี |
สังข์แตรแซ่สนั่นขึ้นทันที | แล้วตีฆ้องไชยมิได้ช้า |
สุมันตันนั้นเข้าไปจุดเทียน | ให้เวียนซ้ายส่งวงไปขวา |
ต่างคำนับรับกันเปนหลั่นมา | รอบมหาโรงราชพิธี |
เสียงโห่สนั่นลั่นก้อง | พิณพาทย์ระนาดฆ้องอึงมี่ |
ฝ่ายพวกขับไม้มโหรี | ก็บรรสานดีดสีนี่นัน |
ฯ ๖ คำ ฯ มโหรี
ร่าย
๓๐๑๓๏ ครั้นเวียนเทียนเสร็จเจ็ดรอบ | ตามระบอบชอบโชคทำขวัญ |
ปโรหิตดับเทียนแล้วโบกควัน | จุณจันทน์เจิมภักตร์กุมารา |
แล้วสมเด็จพระไอยกี | กับองค์พระจักรีนาถา |
จึ่งพาสองกุมาราให้ไคลคลา | ไปพลับพลาสุวรรณทันใด |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๓๐๑๔๏ ฝ่ายพวกโขนลครมอญรำ | มวยปล้ำกลางแปลงแทงวิไสย |
หกคะเมนมงครุ่มกลุ้มไป | เล่นน่าพลับพลาไชยประกวดกัน |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๓๐๑๕๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์รังสรรค์ |
ครั้นงานมโหรสพครบสามวัน | ก็เสร็จซึ่งทำขวัญพระโอรส |
ฝ่ายพระวงษ์พงษาก็คลาไคล | ต่างไปราชวังทั้งหมด |
องค์พระหริวงษ์ทรงยศ | ชวนโอรสเข้าสู่ปราสาทไชย |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๓๐๑๖๏ สถิตย์เหนือแท่นแก้วแพรวพรรณ | พระทรงธรรม์สท้อนถอนใจใหญ่ |
เสียงประโคมยามค่ำย่ำฆ้องไชย | ภูวไนยเข้าที่ไสยา |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้าหวน
๓๐๑๗๏ เอนองค์ลงเหนือแท่นทอง | กรตระกองกอดองค์โอรสา |
พระบรรธมนิ่งนึกตรึกตรา | ไม่พอที่สีดามาจำไกล |
อกเอ๋ยทำไฉนจะได้น้อง | มาร่วมห้องเชยชิดพิศมัย |
จนจะรับกลับคืนเข้าเวียงไชย | ทรามไวยก็สลัดตัดรอน |
นี่เนื้อเวรกรรมมาจำจาก | พลัดพรากโฉมฉายสายสมร |
จะเวียนไปงอนง้อขอโทษกร | ที่ไหนบังอรจะคืนดี |
จำจะคิดอุบายว่าวายชนม์ | ให้ร้อนรนรีบเข้ามาเผาผี |
แต่ตรึกไตรไปมาในราตรี | ภูมีไม่สนิทนิทรา |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๓๐๑๘๏ ครั้นรุ่งรางส่างแสงสุริยง | ไม่แต่งองค์ทรงผลัดภูษา |
จึ่งตรัสสั่งกำนัลกัลยา | ไปเชิญสามอนุชามาข้างใน |
ฯ ๒ คำ ฯ
๓๐๑๙๏ บัดนั้น | นางกำนัลรับสั่งบังคมไหว้ |
ลงจากปราสาทแก้วแววไว | ต่างไปเฝ้าพระอนุชา |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๓๐๒๐๏ ครั้นถึงจึ่งบังคมก้มกราน | แล้วว่าพระอวตารให้หา |
เชิญเสด็จขึ้นไปอย่าได้ช้า | ยังที่ไสยาภูวไนย |
ฯ ๒ คำ ฯ
๓๐๒๑๏ เมื่อนั้น | ทั้งสามกระษัตราอัชฌาไศรย |
ต่างองค์ทรงเครื่องอำไพ | แล้วคลาไคลไปเฝ้าพระจักรี |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลงช้า
๓๐๒๒๏ ครั้นถึงปราสาทแก้วแพรวพราย | เจ้าขรัวนายนำเข้าไปในที่ |
ต่างถวายบังคมคัลอัญชลี | คอยที่ทรงธรรม์จะบัญชา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๓๐๒๓๏ เมื่อนั้น | องค์พระราเมศเชษฐา |
ให้พี่เลี้ยงพาสองกุมารา | ไปเล่นที่ชาลาปราสาทไชย |
แล้วเรียกสามอนุชาเข้ามาชิด | พระทรงฤทธิ์เล่าแจ้งแถลงไข |
พี่จะลวงสีดายาใจ | ว่าบรรไลยล่วงชีพชนมาน |
โฉมยงคงจะเข้ามาธานี | เห็นทีจะสมจิตรที่คิดอ่าน |
จงเร่งทำพระเมรุเกณฑ์การ | ตามบุราณกระษัตราพิราไลย |
เจ้าแจ้งความแต่สามพระชนนี | นอกกว่านั้นอย่าให้มีใครสงไสย |
ที่คิดอ่านรู้เห็นเปนใจ | อย่าให้ใครพูดจาพาที |
ฯ ๘ คำ ฯ
๓๐๒๔๏ เมื่อนั้น | สามพระอนุชาเรืองศรี |
คำนับรับสั่งพระจักรี | แล้วออกมายังที่พระโรงไชย |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๓๐๒๕๏ จึ่งสั่งสุมันตันเสนา | อำมาตย์มาตยาน้อยใหญ่ |
บัดนี้พระองค์ทรงไชย | ภูวไนยเสด็จสวรรคต |
จงเร่งทำพระเมรุเกณฑ์การ | ทั่วทุกพนักงานทั้งหมด |
ทั้งกลางวันกลางคืนอย่าเงือดงด | กำหนดให้แล้วแต่สามวัน |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๓๐๒๖๏ บัดนั้น | สุมันตันตกใจไหวหวั่น |
ทั้งเสนาข้าเฝ้าเหล่านั้น | พากันตระหนกตกใจ |
ต่างคนแขงขึงตลึงนิ่ง | ที่สำคัญว่าจริงก็ร้องไห้ |
ที่รู้เชิงฉลาดคาดความไว้ | ก็เข้าใจไม่แจ้งให้แพร่งพราย |
แล้วบังคมทั้งสามกระษัตรา | ออกมาเร่งรัดบัตรหมาย |
ทุกกรมระดมเกณฑ์วุ่นวาย | ตัวนายนั่งบังคับให้จับการ |
บ้างวัดวาน่าที่เอาเชือกชัก | ทำกรุยปักเปนสำคัญปันด้าน |
ทั้งโรงเล่นเต้นรำประจำงาน | ทุกหมู่หมวดตรวจการวุ่นไป |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๓๐๒๗๏ บัดนั้น | เสนาข้าเฝ้าน้อยใหญ่ |
เร่งระดมสมนอกสมใน | บ้างลากไม้บ้างตั้งร่างร้าน |
บ้างติดตัวไม้ใส่เครื่องบน | เสียงคนโห่สนั่นขันกว้าน |
เร็วรวดประกวดกันทำการ | เสียงสิ่วเสียงขวานเปนโกลา |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๓๐๒๘๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนีมียศถา |
ครั้นพระเมรุเสร็จสรรพประดับประดา | จึ่งจัดที่ข้างน่าข้างใน |
แล้วเชิญโกษฐกุดั่นอันเรืองรอง | ตั้งบนเบญจาทองผ่องใส |
เสร็จแล้วเสนาก็คลาไคล | เข้าไปเฝ้าพระอนุชา |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ เจรจา
๓๐๒๙๏ เมื่อนั้น | สามพระองค์วงษ์นารายน์นาถา |
พากันลีลาศยาตรา | ไปเฝ้าพระเชษฐาธิบดี |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๓๐๓๐๏ ครั้นถึงบังคมก้มกราน | ทูลพระอวตารเรืองศรี |
ทำพระเมรุเกณฑ์กันทั้งธานี | บัดนี้แล้วเสร็จสำเร็จการ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๓๐๓๑๏ เมื่อนั้น | พระรามปรีดิ์เปรมเกษมสานต์ |
จึ่งสั่งเจ้าขรัวนายมิทันนาน | จงจัดนางพนักงานกำนัลใน |
ให้นุ่งขาวห่มขาวแล้วโกนหัว | แต่งตัวเปนนางร้องไห้ |
พระญาติวงษ์พงษ์พันธ์ทั้งนั้นไซ้ | ให้ออกไปที่พระเมรุรจนา |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา ปี่กลองโกนหัว
๓๐๓๒๏ สั่งเสร็จสระสรงทรงเครื่อง | รุ่งเรืองรยับจับเวหา |
ตรัสชวนทั้งสามอนุชา | เสด็จมาเมรุสุวรรณทันใด |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลงช้า
๓๐๓๓๏ ครั้นถึงจึ่งขึ้นบนบัลลังก์ | อันกำบังม่านทองสองไข |
ตรัสเรียกหณุมานชาญไชย | เข้ามาใกล้แล้วกระซิบพาที |
ท่านจงไปฬ่อลวงนางสีดา | ว่าแต่วันเรามาจากโฉมศรี |
ไม่มีศุขทุกข์โศกแสนทวี | บัดนี้สู่สวรรคาไลย |
เวลาบ่ายจะถวายพระเพลิงปลง | พร้อมพระวงษ์พงษ์พันธุ์น้อยใหญ่ |
พระชนนีให้เชิญอรไทย | เข้าไปให้ทันเวลา |
แล้วสองโอรสยศยง | ต่างองค์เศร้าสร้อยลห้อยหา |
ท่านจงคิดอ่านด้วยมารยา | พูดจาอย่าให้แหนงแคลงใจ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๓๐๓๔๏ บัดนั้น | หณุมานผู้มีอัชฌาไศรย |
รับสั่งบังคมลาคลาไคล | เหาะไปกาลวาดพนาวา |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๓๐๓๕๏ พอแลเห็นศาลาอาศรม | ลูกลมลงจากเวหา |
ทำหงอยเหงาเศร้าโศกโศกา | เดินเช็ดชลนามากุฎี |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๓๐๓๖๏ ครั้นถึงซอนซบอภิวาท | แทบบาทสีดามารศรี |
แสร้งสอื้นก้มหน้าไม่พาที | ขุนกระบี่เกลือกกลิ้งนิ่งไป |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๓๐๓๗๏ เมื่อนั้น | นางสีดาหลากจิตรคิดสงไสย |
เห็นหณุมานมาโศกาไลย | ตกใจเปนพ้นพันทวี |
จึ่งตรัสถามไปมิได้ช้า | ดูก่อนพระยากระบี่ศรี |
เหตุผลกลใดดังนี้ | ร้ายดีไม่แถลงแจ้งกิจจา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๓๐๓๘๏ บัดนั้น | หณุมานบังคมก้มเกษา |
สอื้นพลางทางทำมารยา | ฟูมฟายน้ำตาพาที |
อันองค์พระอวตารผ่านเกล้า | ตั้งแต่วันคืนเข้าไปกรุงศรี |
ทุกเช้าค่ำกำสรดถึงเทวี | ภูมีไม่ออกพระโรงไชย |
บรรธมอยู่แต่ในที่ไสยา | จะสรงเสวยโภชนาก็หาไม่ |
จนพระองค์ซูบผอมตรอมฤไทย | บัดนี้ภูวไนยทิวงคต |
สมโภชพระศพเสร็จเจ็ดวัน | สุริวงษ์พงษ์พันธุ์พร้อมหมด |
จะถวายเพลิงปลงพระทรงยศ | กำหนดในเวลาวันนี้ |
ทั้งสามสมเด็จพระมารดา | ใช้ข้ามาทูลบทศรี |
ขอเชิญโฉมยงจงจรลี | ไปดูเปลวอัคคีพระจักรา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๓๐๓๙๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาเสนหา |
ไม่แจ้งใจในกลมารยา | สำคัญว่าภูวไนยบรรไลยลาญ |
ตกพระไทยไหวหวั่นขวัญหาย | โฉมฉายกำสรดสงสาร |
ให้อาไลยในพระอวตาร | เยาวมาลย์ร่ำไรไปมา |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
โอ้
๓๐๔๐๏ โอ้อนิจาพระราเมศ | ดังฉัตรแก้วกั้นเกษเกษา |
ควรฤๅมาม้วยมรณา | ด้วยความโศกโศกาจาบัลย์ |
จะน้อยจิตรคิดโกรธโทษใคร | เพราะพระไทยเฉียวฉุนหุนหัน |
น้องผิดนิดหนึ่งเท่านั้น | ให้ฆ่าฟันทำได้เมื่อไม่คิด |
จึ่งกำจัดพลัดพรากจากจร | พระตามมาว่าวอนรับผิด |
โอ้พระหริวงษ์ทรงฤทธิ์ | อุส่าห์สู้ตามติดด้วยเมตตา |
คิดถึงความรักก็เหลือแสน | คิดถึงความแค้นก็หนักหนา |
ร่ำพลางทางทรงโศกา | ดังว่าชีวันจะบรรไลย |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
ร่าย
๓๐๔๑๏ นางระงับดับความโศกเศว้า | จำเปนจะเข้าไปกรุงใหญ่ |
ถวายพระเพลิงภูวไนย | ทั้งจะได้พบองค์พระโอรส |
คิดแล้วเสด็จไคลคลา | มายังศาลาพระดาบศ |
ก้มเกล้าอภิวันท์รันทด | พลางกำสรดโศกาพาที |
เล่าแถลงแจ้งความพระอาจารย์ | ตามคำหณุมานถ้วนถี่ |
ตัวข้าจะลาพระมุนี | ไปดูเปลวอัคคีพระนารายน์ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๓๐๔๒๏ เมื่อนั้น | พระฤๅษีฟังแจ้งก็ใจหาย |
มิได้รู้แยบยลกลอุบาย | คิดว่าพระรามตายวายปราณ |
ก็ตีอกผางผางพลางว่า | ไม่พอที่อนิจาน่าสงสาร |
ควรฤๅมามอดม้วยชนมาน | จะทำให้ลูกหลานกูกำพร้า |
วานซืนนี้ยังมาหาถึงวัด | อยู่หลัดหลัดก็สิ้นสังขาร์ |
เปนเหตุทั้งนี้เพราะสีดา | เราว่าให้ดีแล้วมิเอา |
จงระงับดับความโศกศัลย์ | รีบไปให้ทันเวลาเผา |
กูจะใคร่ไปด้วยนงเยาว์ | แต่ไม่มีใครเฝ้ากุฎี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๓๐๔๓๏ เมื่อนั้น | สีดาลาองค์พระฤๅษี |
โศกาพลางนางรีบจรลี | ออกจากกุฎีทันใด |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๓๐๔๔๏ บัดนั้น | หณุมานบังคมประนมไหว้ |
จึ่งทูลว่าถ้าเสด็จเดินไป | เมื่อไรจะถึงภารา |
ลำบากยากที่จะดำเนิน | ขอเชิญขึ้นเหนือฝ่ามือข้า |
จะเหาะด้วยกำลังฤทธา | พริบตาก็จะถึงกรุงไกร |
ว่าแล้วสำแดงศักดาเดช | เท่าท้าวพรหเมศสูงใหญ่ |
ช้อนโฉมสีดาทรามไวย | เหาะไปอยุทธยาธานี |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๓๐๔๕๏ ครั้นถึงบริเวณพระเมรุทอง | เสียงฆ้องกลองมหรสพอึงมี่ |
เชิญองค์สีดานารี | ลงสู่ที่ฉนวนกั้นชั้นใน |
ฯ ๒ คำ ฯ
๓๐๔๖๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเศร้าสร้อยลห้อยไห้ |
กลืนกลั้นชลนาคลาไคล | เข้าในพระเมรุรจนา |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๓๐๔๗๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระญาติพระวงษ์พงษา |
ทั้งเหล่าสาวสรรค์กัลยา | เห็นนางสีดาก็อาไลย |
พิศดูรูปทรงนงลักษณ์ | ซูบผอมผิวภักตร์หม่นไหม้ |
ต่างองค์สงสารทรามไวย | ก็ครวญคร่ำร่ำไรไปมา |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๓๐๔๘๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาเสนหา |
เห็นเขาเศร้าโศกโศกา | สำคัญว่าร่ำรักพระจักรี |
นางยิ่งอาดูรภูลเทวศ | ชลนานองเนตรนางโฉมศรี |
สอึกสอื้นฝืนใจจรลี | เข้ามาที่ม่านกั้นพรรณราย |
จึ่งนั่งลงตรงพระโกษฐแก้ว | บังคมแล้วจุดธูปเทียนถวาย |
ขอษมาลาโทษพระนารายน์ | โฉมฉายครวญคร่ำร่ำไร |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
โอ้ชากูณ
๓๐๔๙๏ โอ้พระหริวงษ์ทรงภพ | เลิศลบโลกาจะหาไหน |
พระคุณล้ำดินฟ้าสุราไลย | เคยได้ปกเกล้าเมียมา |
สิ่งใดมิให้ระคายเคือง | จนจากเมืองไปดำเนินเดินป่า |
เมื่อทศภักตร์ลักน้องไปลงกา | ก็หมายว่าไม่พบภูวไนย |
พระสู้ทำสงครามตามติด | ล้างเหล่าปัจจามิตรม้วยไหม้ |
พาน้องมาครองเวียงไชย | เสวยศุขอยู่ในสวรรยา |
เพราะอีปิศาจชาติทรลักษณ์ | ให้เขียนรูปทศภักตร์ยักษา |
จึ่งพลัดพรากจากเบื้องบาทา | พระตามไปวอนว่าโดยดี |
เปนเหตุทั้งนี้เพราะตัวน้อง | มิได้กลับมารองบทศรี |
พระจึ่งแสนโศกศัลย์พันทวี | จนภูมีสู่สวรรคาไลย |
เกิดมาชาตินี้ไม่มีศุข | ตั้งแต่ทุกข์ทนหม่นไหม้ |
จะอยู่ไยให้ช้ำระกำใจ | จะตายตามภูวไนยไปเมืองฟ้า |
ร่ำพลางนางทรงแสนเทวศ | ชลไนยนองเนตรทั้งซ้ายขวา |
ซบภักตร์ลงทรงโศกา | ปิ้มว่าจะสิ้นสมประดี |
ฯ ๑๔ คำ ฯ โอด
ร่าย
๓๐๕๐๏ เมื่อนั้น | พระหริวงษ์ทรงสวัสดิรัศมี |
แฝงม่านทองมองดูเทวี | เห็นโศกีครวญคร่ำร่ำไร |
พระพลอยสร้อยเศร้าด้วยเยาวมาลย์ | สงสารถ้อยคำที่ร่ำไห้ |
ยิ่งคิดแสนเสนหาอาไลย | เผยม่านทองสองไขออกไปพลัน |
ฯ ๔ คำ ฯ
๓๐๕๑๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาสาวสวรรค์ |
เหลือบแลเห็นองค์พระทรงธรรม์ | ตกใจไหวหวั่นพันทวี |
ให้คิดแค้นแน่นในฤไทยนัก | นงลักษณ์ลุกขึ้นเดินดำเนินหนี |
แล้วร้องว่าไปพลันทันที | เปนไฉนฉนี้ภูวไนย |
แกล้งทำมารยาพิรากล | ว่าล้มตายวายชนม์ก็เปนได้ |
ไม่อายแก่เทวาสุราไลย | จะเลืองฦๅอื้อไปทั้งธาตรี |
น้อยฤๅนั้นไพร่ฟ้าประชาชน | ฝูงคนคับคั่งทั้งกรุงศรี |
ทำการอื้ออึงถึงเพียงนี้ | เห็นดีแล้วฤๅพระจักรา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๓๐๕๒๏ เมื่อนั้น | พระรามความแสนเสนหา |
เดินตามทรามไวยไคลคลา | พลางมีวาจาว่าวอน |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชาตรี
๓๐๕๓๏ เจ้าเอยเจ้าพี่ | ทั้งนี้เพราะรักดวงสมร |
เมื่อตามไปงอนง้อขอโทษกร | บังอรก็สลัดตัดไมตรี |
พี่จึ่งคิดอ่านเปนมารยา | หวังว่าจะได้พบกับโฉมศรี |
ขอเชิญองค์นงลักษณ์ภัคินี | อยู่ครอบครองบุรีกับพี่ยา |
เจ้าจงเคลื่อนคลายหายโกรธ | ยกโทษข้าเถิดขนิษฐา |
ซึ่งได้ผิดพลั้งแต่หลังมา | สาวสวรรค์ขวัญตาอย่าถือใจ |
แต่ก่อนผลกรรมนำสนอง | จึ่งได้ความเคืองข้องหมองไหม้ |
บัดนี้สิ้นเวรกรรมที่ทำไว้ | เปนกุศลส่งให้เราแล้ว |
ตั้งแต่จะสบายวายทุกข์ | บริบูรณ์พูนศุขผ่องแผ้ว |
จะได้นิราศคลาศแคล้ว | น้องแก้วจะกินใจไปไยมี |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๓๐๕๔๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
ได้ฟังบัญชาพาที | ดำเนินเดินหนีแล้วตอบไป |
ซึ่งพระองค์ดำรัสตรัสมา | จะเชื่อฟังวาจานั้นหาไม่ |
สารพัดรู้อยู่ภูวไนย | พระวาจากับใจไม่เหมือนกัน |
อันตัวข้านี้อย่าป่วยปอง | ไม่ควรคู่อยู่ครองไอสวรรย์ |
เมื่อบุญน้อยแล้วก็แล้วกัน | เท่านั้นเถิดขอบังคมลา |
ว่าพลางนางเดินเมินเมียง | หลบเลี่ยงเลี้ยวซ้ายย้ายขวา |
หลีกออกนอกพระเมรุรจนา | หนีพระภัศดาสามี |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๓๐๕๕๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์เรืองศรี |
เห็นนางอรไทยไม่ไยดี | จึ่งวิ่งหนีกลับไปไพรวัน |
พระเร่งรัญจวนป่วนจิตร | ทรงฤทธิ์เลี้ยวลัดสกัดกั้น |
คว้าไขว่ไล่กระชิดติดพัน | จนอ่อนใจไม่ทันเทวี |
จึ่งตรัสเรียกสามพระอนุชา | ทั้งพระยาวายุบุตรกระบี่ศรี |
จงช่วยกันสกัดไว้บัดนี้ | อย่าให้เทวีหนีไป |
ฯ ๖ คำ ฯ
สับไทย
๓๐๕๖๏ ว่าเอยว่าแล้ว | พระจักรแก้วเลี้ยวลัดสกัดไล่ |
โอ้เจ้าดวงใจ | หนีไยกัลยา |
ฯ ๒ คำ ฯ
รื้อ
๓๐๕๗๏ เจ้าเอยเจ้าพี่ | มารศรีผู้ยอดเสนหา |
หยุดก่อนแก้วตา | อย่าเพ่อจรจรัล |
แม้นไม่ปรานี | พี่จะอาสัญ |
ว่าพลางทรงธรรม์ | กางกั้นกัลยา |
ฯ ๔ คำ ฯ
รื้อ
๓๐๕๘๏ พระเอยพระทรงฤทธิ์ | ถึงชีวิตรจะม้วยสังขาร์ |
ไม่ฟังบัญชา | ผ่านฟ้าสืบไป |
ความอายพ้นรู้ | หยุดอยู่ไม่ได้ |
ว่าพลางทางไป | ให้ไกลภูมี |
ฯ ๔ คำ ฯ
รื้อ
๓๐๕๙๏ ดวงเอยเจ้าดวงสมร | ฟังคำพี่ก่อนนางโฉมศรี |
ความรักเทวี | ดังดวงชีวัน |
ว่าพลางภูวไนย | ไล่นางสาวสวรรค์ |
กระชิดติดพัน | เวียนรวันไปมา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๓๐๖๐๏ เมื่อนั้น | สามพระอนุชาเสนหา |
ทั้งพระยาวายุบุตรผู้ศักดา | เห็นว่าไม่ทันเทวี |
ต่างเข้าช่วยกันกั้นกาง | สกัดนางสีดามารศรี |
ยืนขวางข้างโน้นข้างนี้ | มิให้นางเทวีหนีไป |
ฯ ๔ คำ ฯ
๓๐๖๑๏ เมื่อนั้น | องค์ภัควดีศรีใส |
เห็นสามกระษัตริย์สกัดไว้ | ยิ่งคิดแค้นฤไทยเทวี |
วิ่งพลางนางนึกอธิฐาน | มัสการเทวาทุกราษี |
เดชะสัจจาของข้านี้ | พระธรณีช่วยส่งลงไป |
ยังพิภพนาคาบาดาล | ให้พ้นพระอวตารจงได้ |
พอสิ้นคำรำพรรณทันใด | แผ่นดินแยกแทรกไปยังบาดาล |
ฯ ๖ คำ ฯ รัว
๓๐๖๒๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ฤทธิ์ล้ำสุริย์ฉาน |
เลี้ยวไล่ไม่ทันเยาวมาลย์ | นงคราญหายไปในสุธา |
ยิ่งโศกศัลย์รันทดสลดจิตร | สุดที่จะตามติดขนิษฐา |
พอสิ้นแสงสุริยนสนธยา | เสด็จมาปราสาทแก้วแพรวพรรณ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
โอ้ช้า
๓๐๖๓๏ เอนองค์ลงเหนือบรรจฐรณ์ | อาวรณ์วิโยคโศกศัลย์ |
คิดถึงมเหษีร่วมชีวัน | พระทรงธรรม์ครวญคร่ำร่ำไร |
โอ้อนิจาสีดาเอ๋ย | ไม่หายแค้นเคืองเลยจะทำไฉน |
เสียแรงเปนเพื่อนลำบากยากไร้ | แรมร้อนนอนไพรด้วยกันมา |
เมื่อไปอยู่ลงกาธานี | สิบสี่ปีก็ได้มาเห็นหน้า |
แล้วจากอกตกไปพนาวา | จนลูกยาอายุถึงแปดปี |
ก็ยังได้ไปพบเยาวมาลย์ | ที่สถานอาศรมพระฤๅษี |
เจ้าแทรกพื้นพสุธาไปครานี้ | สุดที่พี่จะติดตามไป |
พระยิ่งคิดอาดูรภูลเทวศ | ชลเนตรแถวถั่งหลั่งไหล |
กรรแสงทรงโศกาอาไลย | อยู่ในแท่นรัตน์รูจี |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด ตระ
ร่าย
๓๐๖๔๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
หนีพระหริรักษ์จักรี | แทรกพื้นปัถพีลงไป |
ถึงพิภพภาราบาดาล | เห็นภูมิฐานบ้านเมืองกว้างใหญ่ |
เสด็จโดยรัถยาคลาไคล | เข้าไปแทบท้องพระโรงธาร |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
ช้า
๓๐๖๕๏ เมื่อนั้น | ท้าววิรุณนาคาศักดาหาญ |
เวลาเย็นออกมาเล่นน่าพระลาน | พรั่งพร้อมบริวารวาสุกรี |
พอแลเห็นโฉมยงนงลักษณ์ | รู้จักว่าสีดามารศรี |
จึ่งชวนนางรัตนาเทวี | จรลีมารับฉับไว |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
ร่าย
๓๐๖๖๏ เชิญนางขึ้นนั่งบัลลังก์อาศน์ | แล้วถวายอภิวาทบังคมไหว้ |
จึ่งทูลถามไปพลันทันใด | เสด็จลงมาไยเยาวมาลย์ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๓๐๖๗๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
จึ่งตอบวาจาเจ้าบาดาล | เราหนีพระอวตารชาญไชย |
แล้วเล่าความแต่ต้นจนปลาย | โฉมฉายชี้แจงแถลงไข |
ซึ่งลงมาบาดาลนี้ไซ้ | จะอาไศรยท่านอยู่ในบุรี |
ฯ ๔ คำ ฯ
๓๐๖๘๏ เมื่อนั้น | ท้าววิรุณนาคราชเรืองศรี |
ทั้งนางรัตนาเทวี | อัญชลีแล้วทูลไปทันใด |
ซึ่งพระองค์ดำรัสตรัสมา | จะอยู่ยังภาราต่ำใต้ |
ขอสนองรองบาทอรไทย | สิ่งใดมิให้อนาทร |
ว่าแล้วพระยานาคา | เชิญองค์สีดาดวงสมร |
พร้อมเหล่าสาวสุรางคนิกร | บทจรเขายังวังใน |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๓๐๖๙๏ ครั้นถึงจึ่งให้โฉมตรู | ขึ้นอยู่ปราสาททองผ่องใส |
จัดแสนศฤงฆารโภไคย | สาวสรรค์กำนัลในนารี |
ทั้งเครื่องต้นเครื่องทรงต่างต่าง | ถวายนางสีดามารศรี |
แล้วองค์พระยานาคี | กลับไปยังที่ไสยา |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๓๐๗๐๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาเสนหา |
เนาในปราสาทแก้วแววฟ้า | ครั้นยามย่ำสนธยาราตรี |
ฝ่ายนางกำนัลพนักงาน | ก็บรรสานสังคีตดีดสี |
เสนาะเสียงพิณพาทย์มโหรี | นางขับข้างที่แท่นบรรธม |
บ้างถวายเครื่องอานอยู่งานพัด | ประฏิบัติใช้ชิดสนิทสนม |
แสนสำราญเริงรื่นชื่นชม | เปนบรมศุขทุกนาที |
ฯ ๖ คำ ฯ กล่อม
ช้าครวญ
๓๐๗๑๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์เรืองศรี |
ตั้งแต่นางสีดานารี | แทรกพื้นปัถพีหนีไป |
พระเนาในแท่นสุวรรณบรรจฐรณ์ | ยอกรก่ายภักตร์โหยไห้ |
คิดแสนเศร้าสร้อยน้อยฤไทย | ช่างกะไรกะนี้นางสีดา |
ถึงจะเคืองแค้นพี่ว่ามีผิด | ก็จะคิดถึงสองโอรสา |
นี่สลัดตัดได้ไม่เมตตา | เห็นสุดสิ้นเสนหาอาไลย |
โอ้สงสารปานนี้โฉมตรู | จะไปอยู่แห่งหนตำบลไหน |
ถึงจะคิดติดตามทรามไวย | ก็เห็นไม่คืนมาธานี |
เสียแรงพี่ดับเข็ญเย็นยุค | หวังได้ร่วมศุขเกษมศรี |
ควรฤๅเปนต่างต่างไปอย่างนี้ | ให้มีแต่ช้ำรกำใจ |
พระยิ่งโศกศัลย์รัญจวนจิตร | สุดคิดปิ้มเลือดตาไหล |
ร่ำพลางทางทรงโศกาไลย | อยู่ในแท่นรัตน์ชัชวาลย์ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
ยานี
๓๐๗๒๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงพระจอมไกรลาศราชฐาน |
เสด็จเหนือแท่นแก่วสุรการ | อยู่ท่ามกลางบริวารเทวา |
คิดถึงพระนารายน์วายุกูล | ไปล้างเหล่าประยูรยักษา |
เปนไฉนไม่แจ้งกิจจา | เจ้าโลกาจึ่งเล็งทิพญาณ |
เห็นพระหริรักษ์จักรี | โศกีกำสรดสงสาร |
เหตุด้วยสีดายุพาพาล | นางไปอยู่บาดาลแดนไตร |
จำจะช่วยดับร้อนผ่อนผัน | ให้สองศรีดีกันจงได้ |
ฤๅษีเทวาสุราไลย | จะได้พึ่งภูวไนยทั้งธาตรี |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๓๐๗๓๏ คิดพลางทางมีบัญชา | ให้ประชุมเทวาทุกราษี |
จะว่ากล่าวสีดานารี | กับพระจักรีให้ดีกัน |
แล้วดำรัสตรัสสั่งจิตุบท | จงนำรถพรรณรายผายผัน |
ไปรับพระหริวงษ์ทรงธรรม์ | ขึ้นมาเมืองสวรรค์ชั้นฟ้า |
จิตุราชนำราชรถทรง | ไปรับองค์สีดาเสนหา |
นางไปอยู่พิภพนาคา | ให้เร่งรีบขึ้นมาบัดนี้ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๓๐๗๔๏ บัดนั้น | ทั้งสองเทวราชเรืองศรี |
รับสั่งบังคมพระศุลี | มาจัดแจงตามมีบัญชาการ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๓๐๗๕๏ ครั้นเสร็จจึ่งนำรถทรง | ต่างองค์เคลื่อนคล้อยจากสถาน |
สำแดงฤทธิไกรไชยชาญ | เหาะทยานแยกกันไปทันที |
ฯ ๒ คำ ฯ พระยาเดิน
๓๐๗๖๏ จิตุราชนำราชรถมา | ถึงภาราบาดาลกรุงศรี |
ยุรยาตรไปหาท้าวนาคี | ยังที่ท้องพระโรงเรืองไชย |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๓๐๗๗๏ ขึ้นนั่งร่วมแท่นแก้วแพรวพรรณ | เทวัญจึ่งแจ้งแถลงไข |
บัดนี้พระอิศราบัญชาใช้ | มาเชิญองค์อรไทยนางสีดา |
ให้นงเยาว์ไปเฝ้าเบื้องบาท | ยังไศลไกรลาศภูผา |
จงนำเราเข้าไปอย่าได้ช้า | จะได้แจ้งกิจจาแก่ทรามไวย |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๓๐๗๘๏ เมื่อนั้น | ท้าววิรุณนาคาอัชฌาไศรย |
จึ่งนำเทวาคลาไคล | เข้าไปเฝ้าองค์นางเทวี |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๓๐๗๙๏ ครั้นถึงจึ่งถวายอภิวาท | จิตุราชกราบทูลนางโฉมศรี |
บัดนี้มีรับสั่งพระศุลี | ให้ข้านำรถมณีลงมา |
เชิญองค์อรไทยขึ้นไปเฝ้า | พระเปนเจ้าไกรลาศภูผา |
ให้ประชุมเทวัญทุกชั้นฟ้า | กัลยาจงแจ้งอย่าแคลงใจ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๓๐๘๐๏ เมื่อนั้น | องค์ภัควดีศรีใส |
ได้ฟังนั่งนึกคนึงใน | อรไทยคิดพะวงสงกา |
แม้นธุระสิ่งไรไม่มี | ที่ไหนพระศุลีจะให้หา |
เห็นจะให้ไปดีด้วยภัศดา | จึ่งลงมารับเราเพราะเท่านี้ |
จำจะไปให้ถึงที่เฝ้า | พระเปนเจ้าเทวาทุกราษี |
คิดแล้วกัลยาจึ่งพาที | กับพระยานาคีชาญไชย |
พระสยมภูวญาณผ่านเกล้า | ให้หาเราท่านเห็นเปนไฉน |
จะมีกิจกังวลกลใด | จำจะไปเฝ้าดูให้รู้การ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๓๐๘๑๏ เมื่อนั้น | ห้าววิรุณนาคากล้าหาญ |
ทูลสนองโฉมยงนงคราญ | ข้าเห็นการธุระจะมี |
จึ่งให้มาหาองค์อรไทย | เชิญเสด็จขึ้นไปเถิดโฉมศรี |
อันสาวสรรค์กัลยานาคี | กับข้านี้จะไปส่งนงคราญ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๓๐๘๒๏ เมื่อนั้น | นางสีดาปรีดิ์เปรมเกษมสานต์ |
เสด็จจากแท่นรัตน์ชัชวาลย์ | แสนสาวศฤงฆารก็ตามมา |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๓๐๘๓๏ ครั้นถึงเกยสุวรรณบรรจง | ขึ้นทรงพิไชยรัถา |
อันองค์จิตุราชเทวา | นั่งน่ารถทรงอลงกรณ์ |
ฝ่ายท้าววิรุณนาคี | กับพระมเหษีดวงสมร |
ก็พาเหล่าสุรางค์นางนิกร | ตามเสด็จบังอรขึ้นมา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๓๐๘๔๏ บัดนั้น | จิตุบทซึ่งนำรัถา |
ครั้นถึงกรุงศรีอยุทธยา | ก็เข้าในภาราธานี |
จึ่งพารถทรงลงประทับ | ไว้กับเกยแก้วมณีศรี |
เห็นพระหริรักษ์จักรี | เสด็จออกยังที่พระโรงไชย |
พร้อมพรั่งทั้งสามอนุชา | อำมาตย์มาตยาน้อยใหญ่ |
จิตุบทเทวาก็คลาไคล | เข้าในพระโรงรัตน์รูจี |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๓๐๘๕๏ ครั้นถึงจึ่งถวายอภิวาท | พระนารายน์ธิราชเรืองศรี |
ทูลแถลงแจ้งความตามคดี | โดยพระศุลีให้หาไป |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๓๐๘๖๏ เมื่อนั้น | พระหริวงษ์ทรงภพสบไสมย |
ได้ฟังประจักษ์แจ้งไม่แคลงใจ | ภูวไนยยินดีปรีดา |
พระจะใคร่ไปพบเยาวมาลย์ | ที่สถานไกรลาศภูผา |
จึ่งชวนทั้งสามอนุชา | เสด็จมาสระสรงคงคาไลย |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
โทน
๓๐๘๗๏ ต่างองค์ชำระสระสนาน | สุคนธารปนทองผ่องใส |
หอมหวนอวลอบตระหลบไป | สอดใส่สนับเพลาเชิงงอน |
ภูษายกลายอย่างต่างสีกัน | น้ำเงินตองท้องพันม่วงอ่อน |
ต่างใส่ฉลององค์อลงกรณ์ | อินท์ธนูงามงอนสบัดปลาย |
ชายไหวสุวรรณกุดั่นดวง | ทับทรวงสังวาลประสานสาย |
ทองกรเนาวรัตน์จำรัสราย | ธำมรงค์เพ็ชรพรายพราวตา |
ต่างทรงมงกุฎชฎาแก้ว | กรรเจียกจรเพริศแพร้วทั้งซ้ายขวา |
กรกุมศรสิทธิฤทธา | เสด็จมาเกยรัตน์รูจี |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
ร่าย
๓๐๘๘๏ พระรามสุริวงษ์ขึ้นทรงรถ | จิตุบทเทวาเปนสารถี |
สามพระอนุชาธิบดี | ต่างทรงรถมณีพรายพรรณ |
อันเหล่าท้าวพระยาวานร | ที่รุ่งเรืองฤทธิรอนแขงขัน |
ตามเสด็จพระองค์ทรงธรรม์ | เทวัญก็พาคลาไคล |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๓๐๘๙๏ ครั้นถึงเนินไศลไกรลาศ | สถานที่เทวราชเปนใหญ่ |
พอรถทรงองค์สีดาทรามไวย | มาถึงที่เนินไศลพร้อมกัน |
ฯ ๒ คำ ฯ
๓๐๙๐๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาสาวสวรรค์ |
ครั้นหยุดรถแก้วแพรวพรรณ | จึ่งเผยม่านสุวรรณออกทันที |
เห็นพระหริวงษ์ทรงฤทธิ์ | นางคิดแค้นนักผินภักตร์หนี |
ฝ่ายพวกพระยานาคี | ก็ถวายอัญชลีพระรามา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๓๐๙๑๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วแววเวหา |
เห็นองค์ภัควดีสีดา | จึ่งบัญชาพาทีด้วยดีใจ |
นิจาเจ้าพุ่มพวงดวงจิตร | ยังจะคิดโกรธขึ้งไปถึงไหน |
เจ้าโลกาหาพี่กับทรามไวย | แก้วตามาไปให้พร้อมกัน |
ว่าแล้วลงจากรถมณื | คอยทีโฉมฉายจะผายผัน |
ฝ่ายองค์สีดาลาวรรณ | ลงจากบัลลังก์รถบทจร |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๓๐๙๒๏ ครั้นถึงจึ่งตรงเข้าไปเฝ้า | พระปิ่นเกล้าไกรลาศศิงขร |
ต่างองค์ดุษฎีชลีกร | คอยสุนทรเทวราชบัญชา |
ฯ ๒ คำ ฯ
เอกบท
๓๐๙๓๏ เมื่อนั้น | พระสยมภูวนารถนาถา |
เห็นพระจักรีกับสีดา | ผ่านฟ้าสมถวิลยินดี |
จึ่งยิ้มเยื้อนเอื้อนโอษฐปราไส | ดูหม่นไหม้มัวหมองทั้งสองศรี |
นี่แน่นางสีดานารี | กับสามีโกรธกันด้วยอันใด |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๓๐๙๔๏ เมื่อนั้น | นางสีดาทูลแจ้งแถลงไข |
เดิมเมื่อทศภักตร์ลักไป | อยู่ในลงกาธานี |
พระรามตามไปรณรงค์ | สังหารโคตรวงษ์ยักษี |
เสร็จศึกสิ้นราชไพรี | จึ่งได้ข้านี้คืนมา |
เปนหญิงกริ่งเกรงจะสงไสย | ก็ลุยไฟให้สิ้นที่กังขา |
จึ่งได้ไปอยู่อยุทธยา | จนข้าน้อยนี้มีครรภ์ |
วันหนึ่งนั้นมีปิศาจ | บังอาจแปลงเปนนางสาวสรรค์ |
วานให้วาดรูปทศกรรฐ์ | พอเขียนแล้วนางนั้นก็หายไป |
พระรามโกรธขึ้งหึงษ์รูปยักษ์ | ว่าข้ากับทศภักตร์ยังรักใคร่ |
ให้พระลักษณ์อนุชาพาไป | ฆ่าเสียแต่ในราตรี |
เดชะความสัตย์มาช่วย | หาไม่จะม้วยเปนผี |
ซึ่งข้อเจ็บแค้นแสนทวี | เปนเหลือที่จะทูลพระบาทา |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
๓๐๙๕๏ เมื่อนั้น | พระสยมบรมนาถา |
ได้ฟังคดีนางสีดา | กล่าวโทษพระรามาถึงฆ่าฟัน |
ยิ้มพลางทางมีบัญชาถาม | ดูก่อนพระรามรังสรรค์ |
สีดาเขากล่าวโทษทัณฑ์ | จริงเหมือนอย่างนั้นฤๅฉันใด |
ฯ ๔ คำ ฯ
๓๐๙๖๏ เมื่อนั้น | พระรามทูลผันแปรแก้ไข |
อันนางสีดายาใจ | ข้ารักใคร่ดังดวงชีวี |
สู้ทำสงครามตามติด | เอาชีวิตรไปแลกนางโฉมศรี |
แต่ทำศึกอยู่สิบสี่ปี | ดังหนึ่งชีวีจะวายชนม์ |
ทั้งพี่ทั้งน้องต้องสาตรา | ปิ้มว่าจะวอดวายหลายหน |
ถ้านึกแหนงแคลงในนฤมล | จะสู้ทนทำสงครามตามไย |
ถึงเมื่อลุยไฟก็ได้ห้าม | นางกลัวความว่าเขาจะสงไสย |
ขอพิสูจน์ให้ยศปรากฎไว้ | จรึงฤๅไม่อย่างนี้นางสีดา |
ที่ข้อซึ่งว่าหึงษ์รูปยักษ์ | ให้พระลักษณ์ลงโทษโทษา |
ความนี้สุดแต่จะเมตตา | ด้วยว่าคลั่งคลุ้มกลุ้มฤไทย |
เห็นรูปปัจจามิตรคิดหุนหัน | ให้ฆ่าฟันโฉมยงเพราะหลงใหล |
เปนความสัตย์ความจริงทุกสิ่งไป | จงทราบใต้เบื้องบาทบทมาลย์ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๓๐๙๗๏ เมื่อนั้น | พระศุลีมีราชบรรหาร |
อันถ้อยคำสีดายุพาพาล | กับพระอวตารให้การมา |
ครั้นพินิจพิเคราะห์ดูภูมความ | ข้างพระรามนั้นผิดอยู่หนักหนา |
ซึ่งข้อฆ่าฟันกัลยา | ควรที่สีดาจะน้อยใจ |
แต่เธอคลั่งคลุ้มกลุ้มจิตร | จะยกโทษถึงอุกฤษฐ์ยังไม่ได้ |
แล้วก็แสนเสนหาอาไลย | มิใช่จะนึกแหนงแกล้งฆ่าฟัน |
ทั้งนี้เพราะเคราะห์กรรมจำเปน | จึ่งเกิดเข็ญเคืองขุ่นหุนหัน |
ทั้งสองเจ้าเรารักเสมอกัน | จะผ่อนผันเกลี่ยไกล่เสียให้ดี |
พระรามผิดทุกสิ่งก็จริงอยู่ | สีดาเอ๋ยเอนดูอย่าจู้จี้ |
จะมาทำอางขนางอยู่อย่างนี้ | เราขอโทษเสียทีเถิดสีดา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๓๐๙๘๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาเสนหา |
จึ่งทูลว่าซึ่งพระองค์ตรัสมา | ด้วยทรงพระเมตตาปรานี |
ที่เจ็บใจมิใช่แต่เท่านั้น | จะรำพรรณให้ทราบบทศรี |
เมื่อให้สังหารผลาญชีวี | ข้านี้ไม่ม้วยมอดรอดไป |
เดชะบุญพอพบพระสิทธา | เธอจัดแจงศาลาให้อาไศรย |
จึ่งได้คลอดบุตรสุดสายใจ | จนจำเริญไวยได้เจ็ดปี |
พระรามให้ไปจับตัวกุมาร | มาจองจำทำประจานในกรุงศรี |
แล้วจะเข่นฆ่าราตี | หากหนีมาได้จึ่งไม่ตาย |
ที่ทำแค้นเปนแสนสุดคิด | ยังเจ็บจิตรข้าอยู่ไม่รู้หาย |
จะทูลให้สิ้นเรื่องก็เครื่องอาย | หยาบคายสุดแค้นแสนทวี |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๓๐๙๙๏ เมื่อนั้น | พระรามทรงสวัสดิรัศมี |
ชิงตอบไปพลันทันที | ไม่พอที่จะกล่าวโทษทัณฑ์ |
เมื่อกุมารทั้งสองลองศิลป์ | แผ่นดินสเทือนเลื่อนลั่น |
คิดว่าพวกยักษ์มารชาญฉกรรจ์ | จึ่งให้ยกพลขันธ์ไปจับมา |
พี่จองจำทำโทษเพราะไม่แจ้ง | ใช่จะแกล้งฆ่าองค์โอรสา |
ต่อถามไถ่ได้รู้ว่าลูกยา | ก็ตามไปวอนว่าถึงกุฎี |
พี่ได้งอนง้อขอโทษเจ้า | จริงฤๅไม่เล่านางโฉมศรี |
ต่อหน้าอนุชาทั้งสามนี้ | พระมุนีขอความแก่ทรามไวย |
ข้อนั้นสิเสร็จกันแล้ว | ข้างน้องแก้วก็สิ้นสงไสย |
จึ่งได้ลูกยาพาไป | อยู่ในอยุทธยาธานี |
ควรฤๅรื้อยกโทษทัณฑ์ | มารำพรรณเติมต่อไม่พอที่ |
เปนความสัตย์ทุกสิ่งจริงอย่างนี้ | ขอพระศุลีจงเมตตา |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๓๑๐๐๏ เมื่อนั้น | พระสยมภูวนารถนาถา |
ฟังความพระรามกับสีดา | นิ่งนึกตรึกตราแล้วตรัสไป |
เหตุด้วยไม่ดำริห์ตริตรอง | ทั้งสองจึ่งได้ขัดอัชฌาไศรย |
จะพลอยให้เทวาสุราไลย | ร้อนใจไปทั่วธาตรี |
คิดเห็นเปนน่ารำคาญ | สงสารเศร้าหมองทั้งสองศรี |
ซึ่งเราให้หามาทั้งนี้ | หวังจะใคร่ให้ดีเสียด้วยกัน |
จะได้ช่วยดับเข็ญให้เย็นยุค | เสวยศุขอยู่ในไอสวรรย์ |
สิ้นเคราะห์เสียเถิดแต่เท่านั้น | จงอดอ่อนผ่อนผันกันสองรา |
แล้วดำรัสตรัสความถามเทเวศร์ | อมเรศทุกองค์จงปฤกษา |
ที่ข้อความพระรามกับสีดา | เทวาจะเห็นเปนอย่างไร |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๓๑๐๑๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงอินทร์พรหมบังคมไหว้ |
ปฤกษาพร้อมกันทันใด | จึ่งกราบทูลไปทันที |
พระรามก็นารายน์สุริวงษ์ | สีดาก็องค์พระลักษมี |
อวตารไปผลาญไพรี | เปนที่พักพึ่งทั้งโลกา |
ซึ่งจะมาเคืองขัดตัดรอน | นานไปจะร้อนทุกแหล่งหล้า |
สุรารักษ์นักสิทธิวิทยา | เบื้องน่าจะได้พึ่งผู้ใด |
ควรให้สองกระษัตริย์ผ่อนผัน | คืนดีด้วยกันจึ่งจะได้ |
อันเหล่าเทวาสุราไลย | เห็นพร้อมยอมใจกันอย่างนี้ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๓๑๐๒๏ เมื่อนั้น | พระปิ่นภพลบโลกทั้งสี่ |
ได้ฟังเทวาพาที | จึ่งมีพระราชบัญชา |
บัดนี้ฝูงเทพเทวัญ | พร้อมกันตริตรึกปฤกษา |
ให้สองศรีดีกันอย่าฉันทา | ถึงตัวข้าก็เห็นด้วยเช่นนั้น |
ฝ่ายข้างสีดายุพาพาล | จงคิดอ่านอดอ่อนผ่อนผัน |
ไม่ควรจะเริศร้างหมางกัน | ทั้งลูกเต้าเจ้านั้นยังรุงรัง |
เราว่าไว้ให้ดีโดยเห็น | พระรามอย่าเปนเช่นหนหลัง |
ชอบผิดจงระงับยับยั้ง | อดกลั้นกันมั่งจึงจะดี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๓๑๐๓๏ เมื่อนั้น | พระหริวงษ์ทรงสวัสดิรัศมี |
ชื่นชมสมถวิลยินดี | ก้มกราบพระศุลีแล้วทูลไป |
ซึ่งบัญชาปรานีให้ดีกัน | พระคุณนั้นหามีที่เปรียบไม่ |
อันนางสีดายาใจ | ข้ารักใคร่ดังดวงชีวา |
ทีนี้มิให้เยาวมาลย์ | รำคาญขัดเคืองไปเบื้องหน้า |
เปนถ้อยยำคำมั่นที่สัญญา | ต่อหน้าสุรารักษ์มัฆวาน |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๓๑๐๔๏ เมื่อนั้น | พระศุลีมีราชบรรหาร |
ดูก่อนสีดายุพาพาล | พระอวตารก็ได้ให้ทานบน |
เจ้าจงเคลื่อนคลายหายโกรธ | ยกโทษผัวรักไว้สักหน |
เหมือนเห็นแก่เทวาทั้งสากล | จะได้พ้นทุกข์ร้อนรำคาญใจ |
ได้พรากพลัดภัศดามาช้านาน | จะแต่งการอภิเศกเสียใหม่ |
ให้นักสิทธิเทวาสุราไลย | รู้ทั่วทั้งไตรโลกา |
ว่าพลางทางสั่งจิตุราช | จงไปเที่ยวประกาศทุกทิศา |
บอกคนธรรพ์นักสิทธิวิทยา | ว่าเราให้หามาบัดนี้ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๓๑๐๕๏ บัดนั้น | จิตุราชรับสั่งใส่เกษี |
ถวายบังคมคัลอัญชลี | สำแดงอิทธิฤทธีเหาะไป |
ฯ ๒ คำ ฯ กลม
๓๑๐๖๏ เที่ยวร้องป่าวเหล่าพวกพระดาบศ | ทุกไพรวันบรรพตที่อาไศรย |
วิชาธรคนธรรพ์ทั้งนั้นไซ้ | ก็บอกให้แจ้งความตามคดี |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๓๑๐๗๏ บัดนั้น | เหล่าพวกคณะพระฤๅษี |
แจ้งว่านางสีดานารี | จะคืนดีด้วยองค์พระทรงธรรม์ |
ต่างคนตบมือหัวเราะร่า | แลวห่มดองครองผ้าขมีขมัน |
ถือไม้ท้าวพัดขนนกงกงัน | รีบไปให้ทันเวลา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๓๑๐๘๏ บัดนั้น | วิชาธรคนธรรพ์ถ้วนหน้า |
จัดแจงแต่งองค์อลงการ์ | ต่างมาที่อยู่พระศุลี |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๓๑๐๙๏ ครั้นถึงจึ่งถวายบังคม | พระสยมภูวนารถเรืองศรี |
อันพวกคณะพระมุนี | ก็นั่งอยู่ตามที่อันดับกัน |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๓๑๑๐๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมรังสรรค์ |
เห็นนักสิทธิวิทยาคนธรรพ์ | มาพร้อมทั้งเทวัญจันทรี |
จึ่งกล่าวรศพจนาดถ์สุนทร | ดูก่อนท่านท้าวโกสีย์ |
จงเร่งแต่งการกิจพิธี | ในที่วิมานแก้วแพรวพรรณ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๓๑๑๑๏ เมื่อนั้น | สหัสไนยไตรตรึงษาสวรรค์ |
รับสั่งเจ้าโลกาพาเทวัญ | มาช่วยกันรีบรัดจัดการ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๓๑๑๒๏ ตั้งแท่นที่นั่งบัลลังก์รัตน์ | ปักมหาเสวตรฉัตรฉายฉาน |
โขมพัตรดัดดานเพดาน | ห้อยพวงแก้วประพาฬพรรณราย |
กลดสังข์ตั้งเรียงเคียงคั่น | ม่านสุวรรณวงรูดวิสูตรสาย |
เบื้องขวาบายศรีแก้วแพรวพราย | เบื้องซ้ายบายศรีทองรองเรือง |
ขันสุวรรณลายจำหลักปักแว่น | พลูคะแนนนั้นใส่ใบเหลือง |
น้ำทิพย์สิบสองพระเต้าเฟือง | ครบเครื่องอภิเศกกระษัตรา |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๓๑๑๓๏ เมื่อนั้น | พระสยมภูวนารถนาถา |
จึ่งให้พระจักรีกับสีดา | ไปสรงทิพคงคาวารี |
ฯ ๒ คำ ฯ
๓๑๑๔๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์เรืองศรี |
ทั้งโฉมยงองค์อรรคเทวี | จรลีไปสรงคงคา |
มัฆวานเชิญพานภูษาทรง | ถวายพระหริวงษ์นาถา |
บรรดาเหล่าสาวสุรางค์นางฟ้า | ถวายเครื่องทรงสีดายาใจ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ชมตลาด
๓๑๑๕๏ สองกระษัตริย์สรงสนานสำราญกาย | น้ำสุหร่ายซ่านเซ็นเย็นใส |
ทรงสุคนธ์ปนทองลูบไล้ | น้ำดอกไม้กลิ่นตระหลบอบองค์ |
พระสอดใส่สนับเพลาเชิงกระหนก | ภูษายกไว้วางหางหงษ์ |
นางนุ่งผ้าจัดกลีบจีบประจง | สไบทรงริ้วทองรองซับ |
พระสอดใส่ฉลององค์โอภาษ | เจียรบาดตาดปักเลื่อมสลับ |
อรรคราชคาดเข็มขัดบานพับ | สร้อยนวมสวมทับซับซ้อน |
พระทรงปั้นเหน่งแก้วแพรวพราย | ทับทรวงสายห่วงห้อยสร้อยอ่อน |
นางโฉมยงทรงสอดทองพระกร | แหวนทับทิมทองร่อนเรือนครุธ |
พระสวมใส่พาหุรัดกระหวัดวง | ธำมรงค์ปทัมราชผาดผุด |
อรไทยใส่รัดเกล้าชมพูนุท | พระหริวงษ์ทรงมงกุฎแก้วมณี |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๓๑๑๖๏ ครั้นเสร็จลีลาศยาตรา | กับนวลนางสีดามารศรี |
พร้อมฝูงเทวัญจันทรี | มาเฝ้าเจ้าตรีโลกา |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๓๑๑๗๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรเกษมสันต์หรรษา |
จึ่งพาพระจักรีกับสีดา | เสด็จมาวิมานแก้วแพรวพรรณ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลงช้า
๓๑๑๘๏ ให้กระษัตริย์สององค์ทรงนั่ง | บนบัลลังก์พรรณรายฉายฉัน |
เหล่าพวกคณะพระนักธรรม์ | ก็สวดขึ้นพร้อมกันทันใด |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๓๑๑๙๏ เมื่อนั้น | อมรินทร์ยินดีจะมีไหน |
จึ่งจุดเทียนแว่นแก้วแววไว | ส่งให้บรมพรหมา |
ฯ ๒ คำ ฯ
สระบุโหร่ง
๓๑๒๐๏ เวียนเอยเวียนเทียน | ให้เวียนแต่ซ้ายไปขวา |
ฝูงเทพเทวัญจันทรา | กับนางฟ้ารับส่งเปนวงไป |
เหล่าพวกดุริยางคดนตรี | ก็อึงมี่นี่นันหวั่นไหว |
เสียงประโคมโห่ร้องก้องภพไตร | ที่ในไกรลาศคิรี |
ฯ ๔ คำ ฯ มหาไชย
ร่าย
๓๑๒๑๏ ครั้นเจ็ดรอบชอบโชคให้โบกควัน | กระแจะจันทน์จุณเจิมเฉลิมศรี |
ต่างอำนวยอวยพรสวัสดี | แก่พระจักรีกับสีดา |
ฯ ๒ คำ ฯ
พระทอง
๓๑๒๒๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงเทพไทถ้วนหน้า |
ทั้งนางอัปศรสวรรค์กัลยา | ยินดีปรีดาเปนสุดคิด |
จึ่งชวนกันจับรบำรำถวาย | เยื้องกรายงามงอนอ่อนจริต |
รำเรียงเคียงเข้าไปใกล้ชิด | ทอดสนิทติดพันกัลยา |
แล้วตีวงเวียนเปลี่ยนซ้าย | ร่ายตีวงเวียนเปลี่ยนขวา |
เลี้ยวลอดสอดเคล้าเข้ามา | กั้นกลางขวางหน้านางไว้ |
หลีกเลี้ยวเกี่ยวพันหันเหียน | แทรกเปลี่ยนไปมาคว้าไขว่ |
เหน็บแนมแกมกลปนไป | เลี้ยวไล่สัพยอกหยอกนาง |
ซ้อนจังหวะประเท้าเคล่าคล่อง | เลี้ยวลอดสอดคล้องไปตามหว่าง |
วงเวียนเหียนหันกั้นกาง | ทำทีให้ห่างกัลยา |
ฉวยฉุดนุชนางข้างซ้าย | แล้วย้ายยุดนางข้างขวา |
ตลบหลังลดเลี้ยวลงมา | เทวัญกัลยาสำราญใจ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
เบ้าหลุด
๓๑๒๓๏ เมื่อนั้น | นางเทพอัปศรศรีใส |
รำฬ่อเทวาสุราไลย | ท่วงทีหนีไล่พอได้กัน |
เทพบุตรฉุดฉวยชายสไบ | นางผลักกรค้อนให้แล้วผินผัน |
หลีกหลบลดเลี้ยวเกี่ยวพัน | เกียจกันด้วยกลมารยา |
ครั้นเทเวศร์วงเวียนเปลี่ยนซ้าย | สาวสวรรค์ผันยายข้างขวา |
ยิ้มพรายชายชำเลืองดูเทวา | ครั้นสบตาม่อยเมียงเอียงอาย |
แล้วทวนทบตลบหลีกเลี่ยง | เคล้าคลอรอเรียงเมียงม่าย |
หันเหียนเปลี่ยนแทรกมาข้างซ้าย | แล้วย้ายมาขวาทำท่าทาง |
ครั้นเทพเทวัญกระชั้นไล่ | นางชม้อยถอยไปเสียให้ห่าง |
เวียนรวันหันวงอยู่ตรงกลาง | ฝูงนางนารีก็ปรีดา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
สระบุโหร่ง
๓๑๒๔๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงเทพไทถ้วนหน้า |
รำเรียงเคียงคั่นกัลยา | เลี้ยวไล่ไขว่คว้าเปนแยบคาย |
เทพบุตรหยุดยืนจับระบำ | นางฟ้าฟ้อนรำทำถวาย |
ทอดกรอ่อนระทวยกรีดกราย | แล้วตีวงเยื้องย้ายเปนโคมเวียน |
ฉวยฉุดยุดกรอัปศรสวรรค์ | นางสบัดบิดผันหันเหียน |
เหน็บแนมแกมกลแนบเนียน | หลีกลัดผลัดเปลี่ยนไปมา |
แล้วตลบทบทำเปนถ่องแถว | ครั้นแล้วรำเคล้าเข้าหา |
ร่ายเรียงเคียงคมประสมตา | กั้นกางขวางหน้านางไว้ |
สัพยอกหยอกเย้าแย้มสรวล | นางผลักพลิกหยิกข่วนค้อนให้ |
ถอยหลังรั้งรอฬ่อไป | เทพไทศุขเกษมเปรมปรีดิ์ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ปะวะหลิ่ม
๓๑๒๕๏ เมื่อนั้น | นางเทพธิดามารศรี |
กรายกรอ่อนระทวยทั้งอินทรีย์ | ดังกินรีรำฟ้อนร่อนรา |
แล้วตีวงลดเลี้ยวเกี้ยวกล | ประสานแทรกสับสนซ้ายขวา |
เลี้ยวลัดกระหวัดเวียนมา | เกษมศุขทุกหน้าสุราไลย |
เทวัญกระชั้นชิดฉุดกร | นางอายเอียงเมียงค้อนแล้วผลักไส |
หลีกลัดปัดป้องว่องไว | ชักสไบเบี่ยงบิดปิดบัง |
ทำทอดกรงอนงามกิริยา | เทวาประดิพัทธประวัติหวัง |
หันตลบเลี้ยวฬ่อรอรั้ง | เมียงชม้อยคอยระวังท่วงที |
ครั้นเทพเทวัญกั้นกาง | ฝูงนางสาวสวรรค์ก็ผันหนี |
สัพยอกหยอกหยิกซิกซี้ | ถ้อยทีรื่นเริงบรรเทิงใจ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๓๑๒๖๏ เมื่อนั้น | พระศุลีตรีภพเปนใหญ่ |
ครั้นอภิเศกเสร็จพลันทันใด | จึ่งตรัสไปแก่สองกระษัตรา |
เจ้าจงคงคืนพระนคร | ให้ถาวรเปนศุขไปเบื้องน่า |
จะเปนที่พำนักพึ่งพา | แก่สุริวงษ์พงษาสืบไป |
ฯ ๔ คำ ฯ
๓๑๒๗๏ เมื่อนั้น | สองกระษัตราอัชฌาไศรย |
คำนับรับพรทันใด | ด้วยใจยินดีปรีดา |
จึ่งกราบทูลไปดังใจจง | ซึ่งพระองค์โปรดเกล้าเกษา |
ทั้งนี้เพราะทรงพระเมตตา | พระคุณล้ำดินฟ้าสุราไลย |
แล้วชวนอนุชาทั้งสามองค์ | ประนตบทบงสุ์บังคมไหว้ |
ลาพระอิศราคลาไคล | เทพไทแห่ห้อมล้อมมา |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๓๑๒๘๏ พระหริวงษ์องค์สีดาลาวรรณ | จึ่งร่วมบัลลังก์ราชรัถา |
ทั้งสามสมเด็จอนุชา | ทรงมหาราชรถบทจร |
อันเหล่าฝูงเทพเทวัญ | แห่แหนแน่นนันมาสลอน |
พรั่งพร้อมท้าวพระยาวานร | กลับไปนครอยุทธยา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด