คำอธิบาย (จากฉบับพิมพ์ครั้งแรก)

บทดอกสร้อยสวรรค์ครั้งกรุงเก่านี้ ยังไม่เคยเห็นได้พิมพ์มาแต่ก่อน เปนแต่ได้เคยเห็นฉบับเขียนหลายฉบับ แต่ฉบับเขียนที่ได้เคยเห็นก็พึ่งมาพบที่เปนฉบับบริบูรณ์แต่ฉบับเดียวที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ มีทั้งบทดอกสร้อย ทั้งบอกลำนำที่ร้องแลน่าทับด้วยโดยมาก

ดอกสร้อย สักรวา เปนการเล่นอย่างหนึ่ง สำหรับผู้ดีมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า เดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เวลาฤดูน้ำมาก เปนเทศกาลทอดกฐิน ทอดผ้าป่า แลเที่ยวทุ่ง ผู้มีบันดาศักดิตั้งแต่เจ้านายเปนต้น มักพาบริวารซึ่งเปนนักร้องทั้งต้นบทแลลูกคู่ มีโทนทับกรับฉิ่งพร้อมสำรับ ลงเรือไปเที่ยว เรือบางลำก็เปนนักร้องผู้ชาย บางลำนักร้องก็เปนผู้หญิง เมื่อไปพบปะประชุมกันเปนการสโมสรในท้องทุ่ง เจ้าของก็คิดบทให้นักร้องวงของตนร้องลำนำ ผูกกลอนเปนทางสังวาศบ้าง เปนทางเรื่องบ้าง เรือลำอื่นก็ร้องลำนำโต้ตอบกันไปมาเปนอย่างเครื่องดนตรีสำหรับการราตรีสโมสรของไทยมีมาแต่โบราณ ดังนี้

ดอกสร้อยกับสักรวาผิดกันที่ดอกสร้อยเล่นกันแต่ ๒ วง ชายวง ๑ หญิงวง ๑ แลร้องลำต่างๆ ร้องยากกว่าสักรวา เพราะต้องหัดคนร้องให้ร้องลำต่างๆ ได้มาก ส่วนสักรวานั้นเล่นกี่วงกี่วงก็ได้ วิธีเล่นเอาเรื่องอะไรๆ มาสมมต เช่นเรื่องซ่อนหา เรื่องทอดผ้าป่า ตลอดจนเรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ เลือกแต่เรื่องที่มีข้อความสำหรับที่จะพูดจาโต้ตอบกัน แล้วสมมตให้เปนตัวบททุกๆ วง ดังเช่นเล่นเรื่องรามเกียรติ์ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ สมมตวงหนึ่งให้เปนพระราม วงหนึ่งให้เปนทศกรรฐ์ วงหนึ่งให้เปนนางสีดา วงหนึ่งให้เปนท้าวมาลีวราช ดังนี้เปนต้น แล้วแต่จะแต่งบทโต้ตอบกัน ไม่ต้องถือเอาถ้อยคำในบทลครเปนสำคัญ ลำที่ร้องสักรวานั้น เมื่อเล่นเรื่องร้องลำพระทองลำเดียวทุกวง ต่อจวนเลิกจึงร้องลำอื่นส่งวงละลำสองลำแล้วก็เลิก เพราะฉนั้นสักรวาร้องง่ายกว่าดอกสร้อย

บทสักรวากับบทดอกสร้อย วิธีแต่งผิดกันเล็กน้อย บทสักรวามีกำหนด ๔ คำเปนบทหนึ่ง แลขึ้นต้นด้วยคำว่า “สักรวา” ทุกบท สัมผัสบทต่อบทไม่ต้องคล้องกัน ส่วนบทดอกสร้อยนั้น จะแต่งบทละ ๔ คำ ฤๅ ๖ คำก็ได้ แต่ตรงบทต่อบทต้องรับสัมผัสกัน เพราะฉนั้นแต่งยากกว่าบทสักรวา เพราะต้องรอจนเขาร้องจบบทรู้สัมผัสก่อนจึงจะลงมือคิดบทต่อได้ บทดอกสร้อยกับสักรวาผิดกันดังกล่าวมานี้.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ