คำนำ

การเล่นดอกสร้อยสักรวา เป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิงในฤดูน้ำหลากของกลุ่มชนชั้นสูงมีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนกระทั่งถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ บทดอกสร้อยสักรวาเป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากปฏิภาณซึ่งผู้บอกบทได้ใช้ไหวพริบ และความเฉียบคมในเชิงประพันธ์กลอนสดโต้ตอบกันถึงขั้นที่เรียกว่าเป็นปฏิภาณกวี โดยเฉพาะดอกสร้อยนั้นมีวิธีการเล่นที่ยุ่งยากซับซ้อนกว่าสักรวา เพราะต้องมีการกำหนดเพลงเข้ามาประกอบบทด้วย และเนื่องจากการจัดวงเล่นดอกสร้อย ผู้เล่นทั้งวงฝ่ายชายและฝ่ายหญิงต้องมีความสามารถในการขับร้อง และต้องมีความรู้อย่างยิ่งในทางเพลงชนิดที่เรียกว่า แม่นเพลง แม่นหน้าทับสามารถขับร้องเพลงตามที่ผู้บอกบท “เรียกเพลง” ได้อย่างถูกต้องไม่ขัดเขิน

หนังสือ บทดอกสร้อยสวรรค์ ครั้งกรุงเก่า สำนวนดอกสร้อยสมัยอยุธยาตอนปลาย ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง เป็นวรรณกรรมสะท้อนให้เห็นสภาพวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ตลอดจนค่านิยมของสังคมไทยในสมัยนั้น ทั้งเป็นหนังสือที่มีความงดงามทางวรรณศิลป์อย่างบริบูรณ์ แสดงถึงภูมิปัญญาของบรรพชนไทยที่สืบเนื่องและดำรงอยู่บนดินแดนสยามประเทศนี้ กรมศิลปากรเห็นว่า ต้นฉบับบทดอกสร้อยสวรรค์ ครั้งกรุงเก่า ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช โปรดให้พิมพ์ครั้งแรก เมื่อปีวอก พุทธศักราช ๒๘๖๓ นั้นเป็นหนังสือหายากที่มีคุณค่า จึงมอบให้ นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ข้าราชการกองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ปรับปรุงต้นฉบับ เรียบเรียงบทวิเคราะห์เพิ่มเติม และจัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อรักษาต้นฉบับไว้มิให้สูญ

ในการพิมพ์ครั้งนี้ได้ลำดับหน้าและจัดเรียงคำประพันธ์ใหม่ตามแบบฉันทลักษณ์ที่นิยมในปัจจุบัน แต่ได้รักษาอักขรวิธีตามต้นฉบับในการพิมพ์ครั้งแรก เพื่อให้ผู้สนใจศึกษาวิชาการด้านอักษรศาสตร์ได้พิจารณาวิธีเขียนรูปคำไทยในสมัยที่ยังไม่มีพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นตัวกำหนด

กรมศิลปากรหวังว่า บทดอกสร้อยสวรรค์ ครั้งกรุงเก่า นี้จะเป็นหนังสือที่ให้ทั้งความรู้ ความบันเทิงและความภูมิใจในวิถีชีวิตแบบไทยแก่ผู้อ่านทุกท่าน

อธิบดีกรมศิลปากร

กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๑

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ