คำอธิบาย
กลอนนิราสพระราชนิพนธ์กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้มี ๒ เรื่องด้วยกัน เรื่องที่ ๑ ทรงพระราชนิพนธ์ครั้งเสด็จไปรบพม่าที่เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙ เรื่องที่ ๒ ทรงพระราชนิพนธ์ครั้งเสด็จไปตีเมืองพม่า เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖ เรื่องราวการสงครามทั้ง ๒ ครั้งนั้น แจ้งอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร แลหนังสือพงศาวดารเรื่องเรารบพม่าโดยพิสดาร จะนำมากล่าวในที่นี้แต่โดยย่อพอทราบเนื้อเรื่อง ไม่ต้องให้ไปพลิกหาหนังสือเหล่านั้นเมื่ออ่านเพลงยาวนี้
เมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทรได้ ๓ ปี ถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองไทย กองทัพพม่าที่ยกมาคราวนี้มากมายใหญ่หลวงยิ่งกว่าที่ปรากฎมาในพงศาวดารแต่ก่อน ยกมาทุกทิศทุกทางที่จะมาได้ คราวนั้นข้าศึกที่ยกมามีจำนวน ๑๔๐,๐๐๐ เศษ จำนวนพลไทยมีเพียง ๗๐,๐๐๐ เศษ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปรึกษากับกรมพระราชวังบวรฯ แลเสนาบดีทั้งปวง เห็นว่ากำลังไม่พอจะต่อสู้ข้าศึกที่ยกมาได้พร้อมกันทุกทาง จึงทรงพระราชดำริห์เปนอุบายในทางยุทธวิธี ให้รวมกำลังจัดเปนกองทัพใหญ่แต่ ๓ ทัพ ทัพที่ ๑ ซึ่งกำลังมากกว่าทัพอื่น ให้กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จเปนจอมทัพยกไปชิงรบกองทัพหลวงของข้าศึก ซึ่งพระเจ้าปดุงพระเจ้าแผ่นดินพม่ายกมาเองทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แขวงเมืองกาญจนบุรีแต่ทางเดียว กองทัพที่ ๒ ให้กรมพระราชวังหลังเปนจอมทัพ เสด็จยกขึ้นไปตั้งขัดตาทัพอยู่ณเมืองนครสวรรค์ คอยป้องกันมิให้กองทัพพม่าซึ่งยกเข้ามาทางเมืองตากแลเมืองเชียงใหม่ล่วงเลยลงมาถึงกรุงเทพฯ ได้ในเวลาเมื่อกองทัพที่ ๑ รบกองทัพหลวงของข้าศึกอยู่ทางแขวงเมืองกาญจนบุรี กองทัพที่ ๓ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเปนจอมทัพเตรียมพร้อมอยู่ณกรุงเทพฯ สำหรับช่วยกองทัพที่ ๑ ฤๅที่ ๒ แล้วแต่กำลังข้าศึกจะหนักมาทางไหน ส่วนหัวเมืองทางอื่น เช่น มณฑลชุมพร มณฑลภูเก็จแลมณฑลนครศรีธรรมราช ปล่อยให้พม่าทำตามชอบใจ ไม่ส่งกองทัพลงไปรบพุ่งให้เสียกำลังที่จะรบพม่าทางนี้ การศึกครั้งนั้นกองทัพที่ ๑ ได้รบกับกองทัพหลวงของพม่าที่ตำบลลาดหญ้า แขวงเมืองกาญจนบุรีเปนสามารถ กองทัพที่ ๓ ได้ยกหนุนออกไปช่วย ไทยมีชัยชนะกองทัพหลวงของพม่า เมื่อกองทัพพระเจ้าปดุงแตกถอยไปแล้ว พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดฯ ให้กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยกกองทัพที่ ๑ ลงไปปราบปรามพม่าทางหัวเมืองแหลมมลายู ส่วนพระองค์เสด็จยกกองทัพที่ ๓ ขึ้นสมทบกรมพระราชวังหลัง ตีทัพพม่าที่ยกลงมาทางข้างเหนือ ก็มีชัยชนะพม่าข้าศึกที่ยกมาคราวนั้นทุกทิศทุกทาง กรมพระราชวังบวรฯ ทรงแต่งนิราสเรื่องที่พิมพ์ข้างต้นเมื่อเสด็จยกกองทัพเรือไปเมืองนครศรีธรรมราชในคราวที่กล่าวนี้
ในปลายปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙ นั้น พม่ายกกองทัพเข้ามาตั้งที่ตำบลสามสบท่าดินแดงแขวงเมืองไทรโยค เตรียมจะยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จยกกองทัพหลวงออกไปตีทัพพม่าแตกยับเยินกลับไป แต่นั้นพม่าก็เข็ดขยาดไม่กล้ายกกองทัพเข้ามาตีเมืองไทยอีก มีแต่ไทยไปบุกรุกรบไล่พม่าชิงเอาหัวเมืองลานนาไทย คือมณฑลภาคพายัพเดี๋ยวนี้มาได้ แล้วจึงทรงพระราชดำริห์จะไปตีเมืองพม่าตอบแทนบ้าง ครั้งนั้นพอประสบช่องด้วยเมืองทวายเอาใจออกหากจากพม่ามาสาพิภักดิ์ต่อไทย จึงโปรดฯ ให้ตระเตรียมกองทัพยกไปตีเมืองพม่าเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖ กองทัพวังหลวงยกไปเมืองทวายทางบก กองทัพวังน่าลงไปตั้งเตรียมทัพเรือที่ปากจั่นแขวงเมืองระนอง จะยกขึ้นไปสมทบกองทัพบกที่เมืองทวาย กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงแต่งนิราสเรื่องที่พิมพ์ไว้ข้างหลังในตอนนี้.
หนังสือนิราสทั้ง ๒ เรื่องที่กล่าวมา หอพระสมุดฯ ได้ต้นฉบับมาจากพระราชวังบวรสถานมงคลแต่ในรัชกาลที่ ๕ ได้นำนิราสเรื่องตีเมืองพม่าทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวชอบพระราชหฤทัย โปรดฯ ให้พิมพ์ไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์ แต่นิราสเรื่องรบพม่าที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้นฉบับเดิมปนอยู่กับพวกเพลงยาวสังวาส หอพระสมุดฯ ตรวจฉบับเข้าใจผิดไปว่าเปนนิราสผู้อื่นแต่งครั้งกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จไปรบพม่าที่เมืองถลางในรัชกาลที่ ๒ จึงหาได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ พึ่งเอามาตรวจใหม่จึงได้ทราบความชัดเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าเปนนิราสของกรมพระราชวังมหาสุรสิงหนาท ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อครั้งเสด็จไปรบพม่าที่เมืองนครศรีธรรมราช
เสียดายอยู่หน่อยที่ต้นฉบับนิราสที่กล่าวมาบกพร่องทั้ง ๒ เรื่อง นิราสเรื่องเสด็จรบพม่าที่เมืองนครศรีธรรมราชมีตั้งแต่ต้น แต่ความไปหมดอยู่เพียงกระบวรเสด็จออกจากกรุงเทพฯ ลงไปถึงวัดประทุมคงคาเท่านั้น เข้าใจว่าจะทรงพระราชนิพนธ์ไว้เพียงเท่านั้นเอง ส่วนเรื่องนิราสตีเมืองพม่านั้น ที่จริงทางความเปนเรื่องพระราชปรารภ ไม่เปนสำนวนนิราสแท้ทีเดียว ความตอนท้ายจบ แต่ทางข้างต้นขาดอยู่ ถึงต้นฉบับบกพร่องดังกล่าวมาก็ดี เห็นว่านิราศ ๒ เรื่องนี้สมควรจะพิมพ์รักษาไว้ด้วยกัน แลเชื่อว่าบรรดาผู้ที่เอาใจใส่ในโบราณคดี ใครได้อ่านคงจะชอบใจไม่เว้นตัว.