นิราศวัดเจ้าฟ้า
๏ วันประหัศ[๑]พัท[๒]เพียรเขียนอักษร[๓] | |
เป็นเรื่องความตามติดท่านบิดร | คราจักจร[๔]จากนิเวศเชตุพน |
ได้ออกเรือเมื่อตะวันสายัณห์ย่ำ | ละอองนํ้าค้างย้อยดังฝอยฝน |
ตะลึงเหลียวเปลี่ยวเปล่าเมื่อคราวจน | ไม่มีคนเกื้อหนุนกรุณา |
โอ้ธานีศรีอยุธย์มนุษย์แน่น | นับโกฏิแสนสาวแก่แซ่ภาษา |
จะหารักสักคนพอปนยา | ไม่เห็นหน้านึกสะอื้นฝืนฤทัย |
เสียแรงมีพี่ป้าหม่อมน้าสาว | ล้วนขาวขาวคำหวานน้ำตาลใส |
อยู่ยาน[๕]ยืดจืดเปรี้ยวไปเจียวใจ | เหลืออาลัยลมปากจะจากจรฯ |
๏ ถึงวัดระฆังบังคมบรมธาตุ | แทบพระบาทบุษบงองค์อัปสร[๖] |
มิทันลับกัปกัลป์พุทธันดร | พระด่วนจรสู่สวรรคครรไล |
ละสมบัติขัตติยาทั้งข้าบาท | โอ้อนาถนึกหน้านํ้าตาไหล |
เป็นสูญลับนับปีแต่นี้ไป | เหลืออาลัยแล้วที่พระมีคุณ |
ถึงจนยากบากมาเป็นข้าบาท | ไม่ขัดขาดข้าวเกลือช่วยเกื้อหนุน |
ทรงศรัทธากล้าหาญในการบุญ | โอ้พระคุณขาดยศทั้งงดงาม |
แม้นตกยากพรากพลัดไปขัดข้อง | พัดกับน้องหนูตาบจะหาบหาม |
นี่จนใจไปป่าช้าพนาราม | สุดจะตามตาบ[๗]ได้ดังใจจง |
ขออยู่บวชตรวจน้ำ[๘]สุรำมฤต[๙] | อวยอุทิศผลผลาอานิสงส์ |
สนองคุณพูนสวัสดิ์ขัตติยวงศ์ | เป็นรถทรงสู่สถานวิมานแมน |
มีสุรางค์นางขับสำหรับกล่อม | ล้วนเนี้อหอมน้อมเกล้าอยู่เฝ้าแหน |
เสวยรมย์สมมนัสไม่ขัดแคลน | เป็นของแทนทานาฝ่าละออง |
โอ้อก[๑๐]เอ๋ยเคยทนุป[๑๑]อุปถัมภ์ | ได้อิ่มหนำคํ่าเช้าไม่เศร้าหมอง |
แม้นทูลลามาอย่าง[๑๒]นี้ทั้งพี่น้อง | ไหนจะต้องอดอยากลำบากกาย |
นี่สิ้นบุญทูนกระหม่อมจึงตรอมอก | ออก[๑๓]ระหกระเหินไปน่าใจหาย |
เห็นที่ปลงทรงสูญยังมูน[๑๔]ทราย | แสนเสียดายดังจะดิ้นสิ้นชีวัน |
ทั้งหนูตาบกราบไหว้ร้องไห้ว่า | จะคมลาลับไปถึง[๑๕]ไพรสัณฑ์ |
เคยเวียนเฝ้าเกล้าจุกให้ทุกวัน | สารพันพึ่งพาไม่อาทร ฯ |
๏ ถึงปากง่ามนามบอกบางกอกน้อย | ยิ่งเศร้าสร้อยทรวงน้องดังต้องศร |
เหมือนน้อยทรัพย์ลับหน้านิราจร | เที่ยวแรมรอนราวไพรใจรำจวน[๑๖] |
เคยชมเมืองเรืองระยับจะลับแล้ว | ไปชมแถวทุ่งท่าล้วนป่าสวน |
เคยดูดีพี่ป่าหน้านวลนวล | จะว่างเว้นเห็นล้วนแต่มอมแมม |
เคยชมชื่นรื่นรสแป้งสดสะอาด | จะชมหาดเห็นแต่จอกกับดอกแขม |
โอ้ใจจืดมืดเหมือนเมื่อเดือนแรม | ไม่เยื้อนแย้มกลีบกลิ่นให้ดิ้นโดย |
เสียดายดวงพวงผกามณฑาทิพย์ | เห็นลิบลิบแลชวนให้หวนโหย |
เพราะหวงหุ้ม[๑๗]ภุมรินไม่บินโบย | จะร่วงโรยรสสิ้นกลิ่นผกา ฯ |
๏ ถึงบางพรม[๑๘]พรหมมีอยู่สี่พักตร์ | คนรู้จักแจ้งจิตทุกทิศา |
ทุกวันนี้มีมนุษย์อยุธยา | เป็นร้อยหน้าพันหน้ายิ่งกว่าพรหม |
โอ้คิดไปใจหายเสียดายรัก | เหมือนเกรียกจักเจ็ดซีกกระผีกผม |
จนเจ็บอกฟกช้ำระกำกรม[๑๙] | เพราะลิ้นลมล่อลวงจะช่วงใช้ ฯ |
๏ ถึงบางจากน้องไม่มีที่จะจาก | โอ้วิบากบาปสร้างแต่ปางไหน |
เผอิญหญิงชิงชังน่าคลั่งใจ | จะรักใคร่เขาไม่มีปรานีเลย ฯ |
๏ ถึงบางพลูพลูใบใส่ตะบะ | ถวายพระเพราะกำพร้านิจจาเอ๋ย |
แม้นมีใครใจบุญที่คุ้นเคย | จะได้เชยพลูจีบหมากดิบเจียน |
นี่จนใจได้แต่ลมมาชมเล่น | เปรียบเหมือนเช่นฉากฉายพอหายเหียน |
แม้นเห็นรักจักได้ตามด้วยความเพียร | ฉีกทุเรียนหนามหนักดูสักคราว ฯ |
๏ ถึงบางอ้อคิดจะใครได้ไม้อ้อ | ทำแพนซอเสียงแจ้วเที่ยวแอ่วสาว |
แต่[๒๐]ไม่เคยเชยโฉมประโลมลาว | สุดจะกล่าวกลอนปลอบให้ชอบใจ ฯ |
๏ ถึงบางซ่อนซ่อนเงื่อนไม่เยื้อนแย้ม | ถึงหนามแหลมเหลือจะบ่งที่ตรงไหน |
โอ้บางเขนเวรสร้างแต่[๒๑]ปางใด | จึงเข็ญใจจนไม่มีที่จะรัก |
เมื่อชาติหน้ามาเกิดให้เลิศโลก | ประสิทธิโชคชอบฤทัยทั้งไตรจักร |
กระจ้อยร่อยกลอยใจวิไลลักษณ์ | ให้สาวรักสาวกอดตลอดไป ฯ |
๏ ตลาดแก้วแล้วแต่ล้วนสวนสล้าง | แต่ชื่ออ้างออกนามตามวิสัย |
แม้นขายแก้วแววฟ้าที่อาลัย | จะซื้อใส่บนสำลีประชีรอง |
ประดับเรือนเหมือนหนึ่งเพชรสำเร็จแล้ว | สงวน[๒๒]แก้วกลอยใจมิให้หมอง |
ไม่เหมือนนึกตรึกตรานํ้าตานอง | เห็นแต่น้องหนูแนบแอบอุรา ฯ |
๏ ถึงวัดตั้งฝั่งสมุทรพระพุทธสร้าง | ว่าท่านวางไว้ให้คิดปริศนา[๒๓] |
แม้นแก้ไขไม่ออกเอาที่ตอกตา | นึกก็น่าใคร่หัวเราะจำเพาะเป็น |
ครั้นคิดบ้างอย่างคำที่รํ่าบอก[๒๔] | จะไปตอกที่ตรงไหนก็ไม่เห็น |
ดูลึกซึ้งถึงจะคิดก็มิดเม้น | พอยามเย็นยอแสงแฝงโพยม ฯ |
๏ ถึงวัดเขียนเหมือนหนึ่งเพียรเขียนอักษร | กลกลอนกล่าวกล่อมสนอมโอม |
เดชะชักรักลักลอบปลอบประโลม | ขอให้โน้มน้อมจิตสนิทใน ฯ |
๏ ถึงคลองขวางบางศรีทองมองเขม้น | ไม่แลเห็นศรีทองที่ผ่องใส |
แม้นทองคำธรรมดาจะพาไป | นี่มิใช่ศรีทองเป็นคลองบาง |
พอลมโบกโศกสวนมาหวนหอม | ยิ่งโศกตรอมตรึกตรองให้หมองหมาง[๒๕] |
ถึงบางแพรกแยกคลองเป็นสองทาง | เหมือนจืดจางใจแตกต้องแยกกัน[๒๖] |
๏ ตลาดขวัญขวัญฉันนี้ขวัญหาย | ใครเขาขายขวัญหรือจะซื้อขวัญ |
แม้นขวัญฟ้าหน้าอ่อนเหมือนท่อนจันทน์ | จะรับขวัญเช้าเย็นไม่เว้นวาง ฯ |
๏ ถึงบางขวางขวางอื่นสักหมื่นแสน | ถึงต่างแดนดงดอนสิงขรขวาง |
จะตามไปให้ถึงห้องประคองคาง | แต่ขัดขวางขวัญความขามระคาย |
เห็นสวาดขาดทิ้งกิ่งสนัด | เป็นรอยตัดต้นสวาดให้ขาดสาย |
สวาทพี่นี้ก็ขาดสวาทวาย | แสนเสียดายสายสวาทที่ขาดลอย |
เห็นรักน้ำพร่ำออกทั้งดอกผล | ไม่มีคนรักรักมาหักสอย |
เป็นรักเปล่าเศร้าหมองเหมือนน้องน้อย | มา[๒๗]ล่องลอยเรือรักจนหนักเรือ ฯ |
๏ ถึงบ้านบางธรณีแล้วพี่จ๋า | แผ่นสุธาก็ไม่ไร้ไม้มะเขือ |
เขากินหมูหนูพัดจะกัดเกลือ | ไม่ง้อเรือแหหาปลาตำแบ[๒๘] ฯ |
๏ ถึงปากเตร็ด[๒๙]เตร็ดเตร่มาเร่ร่อน | เที่ยวสัญจรตามระลอกเหมือนจอกแหน |
มาถึงเตร็ด[๓๐]เขตมอญสลอนแล | ลูกอ่อนแอ้อุ้มจูงพะรุงพะรัง |
ดูเรือนไหนไม่เว้นเห็นลูกอ่อน | ไม่หยุดหย่อนอยู่ไฟจนไหม้หลัง |
ไม่ยิ่งยอดปลอดเปล่าเหมือนชาววัง | ล้วนเปล่งปลั่งปลื้มใจมาไกลตา ฯ |
๏ พอออกคลองล่องลำแม่น้ำวก | เห็นนกหกเหินร่อนว่อนเวหา |
กระทุงทองล่องเลื่อนค่อยเคลื่อนคลา | ดาษดาดอกบัวเข้าคลัวเคลีย |
นกกานํ้าดำปลากระสาสูง | เป็นฝูงฝูงเข้าใกล้มันไปเสีย |
นกยางขาวเหล่านกยางมีหางเปีย | เป็น[๓๑]ตัวเมียหมดสิ้นทั้งดินแดน |
ถึงเดือนไข่ไปลับแลเมืองแม่ม่าย | ขึ้นไข่ชายเขาโขดนับโกฏิแสน |
พอบินได้ไปประเทศทุกเขตแคว้น | คนทั้งแผ่นดินมิได้ไข่นกยาง ฯ[๓๒] |
๏ ถึงบางพูดพูดมากคนปากหมด[๓๓] | มีแต่ปดเป็นอันมากเขาถากถาง |
ที่พูดน้อยค่อยประคิ่น[๓๔]เล่น[๓๕]ลูกคาง | เหมือนหญิงช่างฉอเลาะปะเหลาะชาย |
๏ ถึงบางกระไนได้เห็นหน้าบรรดาพี่ | พวกนารีเรืออ้อยมา[๓๖]ลอยขาย |
ดูจริตติดจะงอนเป็นมอญกลาย | ล้วนแต่งกายกันไรเหมือนไทยทำ |
แต่ไม่มีกิริยาด้วยผ้าห่ม | กระพือลมแล้วไม่ป้องปิดของขำ |
ฉันเตือนว่าผ้าแพรลงแช่นํ้า | อ้อยสองลำนั้นจะเอาสักเท่าไร |
เขารู้ตัวหัวร่อ[๓๗]ว่าพ่อน้อย | มากินอ้อยแอบแฝงแถลงไข |
รู้กระนี้มิอยากบอกมิออกไย | น่าเจ็บใจจะต้องจำเป็นตำรา ฯ |
๏ ถึงไผ่รอบขอบเขื่อนดูเหมือนเขียน | ชื่อวัดเทียนถวายอยู่ฝ่ายขวา |
ข้างซ้ายมือชื่อบ้านใหม่ทำไร่นา | นางแม่ค้าขายเต่าสาวทึมทึก |
ปิดกระหมับจับกระเหม่าเข้ามินหม้อ | ดูมอซอสีสันเป็นมันหมึก |
ไม่เหมือนเหล่าชาวสวนหวนรำลึก | ว่า[๓๘]ไม่นึกแล้วก็ใจมิใคร่ฟัง ฯ |
๏ พอฟ้าคลํ้าคํ่าพลบเสียงกบเขียด | ร้องตรอด[๓๙]เกรียดเกรียวแซ่ดังแตรสังข์ |
เหมือนเสียงฆ้องกลองโหมประโคมวัง | ไม่เห็นฝั่งฟั่นเฟือนด้วยเดือนแรม |
ลำพูรายชายตลิ่งล้วนหิ่งห้อย | สว่างพรอยพร่างพรายบน[๔๐]ปลายแขม |
อร่ามเรืองเหลืองงามวามวามแวม | กระจ่างแจ่มจับนํ้าเห็นลำเรือ ฯ |
๏ ถึงย่านกว้าง[๔๑]บางทะแยงเป็นแขวงทุ่ง | ดูเวิ้งวุ้งหว่างแฉวก[๔๒]ล้วนแฝกเฝือ |
เห็นไรไรไม้พุ่มครุมครุมเครือ | เหมือนรูปเสือสิงโตรูปโคควาย |
ท่านบิดรสอนหนูให้ดูว่า | มันผินหน้าออกนั้นกันฉิบหาย |
แม้นปากมันหัน[๔๓]เข้าข้างเจ้านาย | จะล้มตายพรายพลัดเร่งตัดรอน |
จารึกไว้ให้เป็นทานทุกบ้านช่อง | ฉันกับน้องนี้ได้จำเอาคำสอน |
ดึกกำดัดสัตว์หลับประทับนอน | ที่วัดมอญเชิงรากริมปากคลอง |
ต้นไทรครึ้มงึมเงียบเซียบสงัด | พระพายพัดเฉื่อยเฉียวเสียวสยอง[๔๔] |
เป็นป่าช้าอาวาสปีศาจคะนอง | ฉันพี่น้องนี้ไม่คลาด[๔๕]บาทบิดา |
ท่านนอนหลับตรับเสียงสำเนียงเงียบ | ยิ่งเย็นเยียบ[๔๖]เยือกสยองพองเกศา |
เสียงผีผิ่วหวิวโหวยโหยวิญญาณ์ | ภาวนาหนาวนิ่งไม่ติงกาย |
บรรดาศิษย์บิดรที่นอนนอก | ผีมันหลอกลากปลํ้าพลิกควํ่าหงาย |
ลุกขึ้นบอกกลอกกลัวทุกตัวนาย | มันสาดทรายกรวดโปรยเสียงโกรยกราว |
ขึ้นสั่นไทรไหวยวบเสียงสวบสาบ | เป็นเงาวาบหัวหกเห็นอกขาว |
หนูกลั่นกล้าคว้าได้รากไทรยาว | หมายว่าสาวผมผีร้องนี่แน |
พอพระตื่นฟื้นกายค่อยคลายจิต | บรรดาศิษย์เคียง[๔๗]ข้างไม่ห่างแห |
ท่านห่มดองครองเคร่งไม่เล็งแล | ขึ้นบกแต่องค์เดียวดูเปลี่ยวใจ |
สำรวมเรียบเลียบรอบขอบป่าช้า | ตั้งเมตตา[๔๘]ตามสงฆ์ไม่หลงใหล |
พบศพฝังบังสุกุลส่งบุญไป | เห็นแสงไฟรางรางสว่างเวียน |
ระงับเงียบเซียบเสียงสำเนียงสงัด | ประดิพัทธ์[๔๙]พุทธคุณค่อยอุ่นเศียร |
บรรดาศิษย์คิดกล้าต่างหาเทียน | จำเริญเรียนรุกขมูลพูนศรัทธา |
อสุภธรรมกรรมฐานประหารเหตุ | หวนสังเวชว่าชีวังจะสังขาร์ |
อันอินทรีย์วิบัติอนัตตา | ที่ป่าช้านี้ก็[๕๐]เหมือนกับเรือนตาย |
กลับเกลียด[๕๑]กลัวมัวเมาไม่เข้าบ้าน | พระนีฤพาน[๕๒]เพิ่มพูนเพียงสูญหาย |
อับร่าง[๕๓]เหมือนเรือนโรคให้โศกสบาย | แล้วต่างตายตามกันไปมั่นคง |
ค่อยคิดเห็นเย็บเยียบไม่เกรียบกริบ | ประสาบสิบนิ้วนั่งตั้งประสงค์ |
พยายามตามจริตท่านบิตุรงค์ | สำรวมทรงศีลธรรมที่จำเจน |
ประจงจดบทบาทค่อยยาตรย่าง | ประพฤติอย่างโยคามหาเถร |
ประทับทุกรุกข์รอบริมขอบเมรุ | จบพระเณรในอารามตื่นจามไอ |
ออกจงกรมสมณาสมาโทษ | ร่มนิโครธครึ้มเงื่อมให้เลื่อมใส[๕๔] |
แผ่กุศลจนจบทั้งภพไตร | จากพระไทรแสงทองผ่องโพยม ฯ |
๏ เลยบางหลวงล่วงทางสว่างแจ้ง[๕๕] | ถึงบ้านกระแชงหุงจังหันฉันผักโหม |
ยังถือมั่นขันตีหนีประโลม | อัน[๕๖]รูปโฉมชวน[๕๗]หลงไม่งงงวย |
พอเสียงฆ้องกลองแซ่เขาแห่นาค | ผู้หญิงมากมอญเก่าสาวสาวสวย |
ร้องลำนำรำฟ้อนอ่อนระทวย | ชวน[๕๘]กันช่วยเขาแห่ได้แลดู |
ถือขันตีทีนั้นก็ขันแตก | ทั้งศีลแทรกเสียด[๕๙]ออกกระบอกหู |
ฉันนี้เคราะห์เพราะนางห่มสีชมพู | พาความรู้แพ้รักประจักษ์จริง |
แค้นด้วยใจนัยนานิจจาเอ๋ย | กระไรเลยแล่นไปอยู่กับผู้หญิง |
ท่านบิดาว่ามันติดกว่าปลิดปลิง | ถูกจริงจริงเจียวจึงจดเป็นบทกลอน ฯ |
๏ ถึงต้องง้าวหลาวแหลนสักแสนเล่ม | ให้[๖๐]ติดเต็มตัวฉุดจะ[๖๑]หลุดถอน |
แต่ต้องตาพาใจอาลัยวอน | สุดจะถอนทิ้งขว้างเสียกลางคัน |
ทั้งหนูกลั่นนั้นคะนองจะลองทิ้ง | บอกให้หญิงรำรับขยับหัน |
ถ้าทิ้งถูกลูกละบาทประกาศกัน | เขารับทันเราก็ให้ใบละเฟื้อง |
นางน้อยน้อยพลอยสนุกลุกขึ้นพร้อม | รำ[๖๒]ละม่อมมีแต่สาวบ้าง[๖๓]ขาวเหลือง |
ออก[๖๔]จริตกรีดกรายชายชำเลือง | ขยับเยื้องยิ้มแย้มแฉล้มลอย |
ต่างหมายมุ่งตุ้งติ้งทิ้งหมากดิบ | เขาฉวยฉิบเฉยหน้าไม่ราถอย |
ไม่มีถูกลูกดิ่งทั้งทิ้งทอย | พวกเพื่อนพลอยทิ้งทั่วทุกตัวนาย[๖๕] |
ฉันลอบลองสองลูกถูกจำหนับ | ถูกปะปับปุ่มสูญที่ปูนหมาย[๖๖] |
ลงม้วนต้วนม้วนหน้าน้ำตาพราย | พล่ามผู้ชายสรวลเสเสียงเฮฮา |
แต่หนูกลั่นนั้นหล่อนเขวี้ยงดังเสียงขวับ | ถูกปุ่มปับปากกรีดหวีดผวา |
ร้องอยู่แล้วแก้วพี่มานี่มา | พวกมอญมาโห่แห่เสียง[๖๗]แซ่ไป ฯ |
๏ แล้วเลยนาคบากข้ามถึงสามโคก | เป็นลิ้น[๖๘]โลกสมมติสุดสงสัย |
ถามบิดาว่าผู้เฒ่าท่านเล่า[๖๙]ไว้ | ว่าที่ไทยท้าวอู่ทองเธอกองทรัพย์[๗๐] |
หวังจะไว้ให้ประชาเป็นค่าจ้าง | ด้วยจะสร้างบ้านเมืองเครื่องประดับ |
พอห่ากินสิ้นบุญเป็นสูญลับ | ทองก็กลับกลายสิ้นเป็นดินแดง |
จึงที่นี่มีนามชื่อสามโคก | เป็นคำโลกสมมติสุดแสลง |
แผ่นดินหลังครั้งพระโกฏ[๗๑]ได้โปรดแปลง[๗๒] | เป็น[๗๓]ตำแหน่งมอญมาสามิภักดิ์ |
ชื่อประทุมธานี[๗๔]ที่เสด็จ | เดือนสิบเบ็ดบัวออกทั้งดอกฝัก |
มารับส่งตรงนี้ที่สำนัก | พระยาพิทักษ์ทวยหาญผ่านพารา |
ได้รู้เรื่องเมืองประทุมค่อยชุ่มชื่น | ดูภูมิพื้นวัดบ้านขนานหน้า |
เห็นพวกชายฝ่ายมอญแต่ก่อนมา | ล้วนสักขาเขียนหมึกจารึกพุง |
พวกสาวสาวเกล้ามวยสวยสะอาด | แต่ขยาดอยู่ด้วยว่านุ่งผ้าถุง |
ทั้งห่มผ้าตารีเหมือนสีรุ้ง | ทั้งผ้านุ่งนั้นก็อ้อมลงกรอมตีน |
เมื่อยกเท้าก้าวย่างสว่างแวบ | เหมือนฟ้าแลบแลผาดแทบขาดศีล |
นี่หากเห็นเป็นเด็กถ้า[๗๕]เจ๊กจีน | เจียนจะปีนซุ่มซ่ามไปตามนาง |
ชาวบ้านนั้นปั้นอี่เลิ้งไว้[๗๖]เพิงพะ | กระโถนกระทะอ่างโอ่งกระโถงกระถาง |
ท่าน[๗๗]วานน้องร้องถามไปตามทาง | ว่าบางขวางหรือไม่ขวางพี่นางมอญ |
เขาเบือนหน้าว่าไม่รู้ดูเถิดเจ้า | จงถามเขาข้างหลังที่นั่งสอน |
สิ้นศรีปาก[๗๘]บากหน้านาวาจร | ฝีปาก[๗๙]มอญมิใช่เบาเหมือนชาวเมือง ฯ |
๏ ถึงบ้านงิ้วงิ้วต้นแต่พ้นหนาม | ไม่งอนงามเหมือนแม่งิ้วที่ผิวเหลือง |
เมื่อแลพบหลบพักตร์ลักชำเลือง | ดูปลอด[๘๐]เปลื้องเปล่งปลั่งกำลังโลม |
มาลับนวลหวนไห้เห็นไม้งิ้ว | ไม่ลืมผิวพักตร์ผ่องจะหมองโฉม[๘๑] |
เพราะเสียรักหนักหน่วงเพียง[๘๒]ทรวงโทรม | ใครจะโลมเลียมรสช่วยชดเจือ ฯ |
๏ ถึงโพแตงคิดถึงแตงที่แจงจัก | ไม่ลืมรักรสชาติฉลาดเหลือ[๘๓] |
แม้นลอยฟ้ามาเดี๋ยวนี้ในที่เรือ[๘๔] | จะฉีกเนื้อนั่ง[๘๕]กลืนให้ชื่นใจ ฯ |
๏ ถึงเกาะหาดราชครามรำรามรก | เห็นนกหกหากินบินไสว |
เขาถากถางกว้างยาวทั้งลาวไทย | ทำนาไร่ร้านผักปลูกฟักแฟง |
สุดละเมาะเกาะกว้างสว่างโว่ง | แลตะโล่งลิบเนตรทุกเขตแขวง |
เห็นควันไฟไหม้ป่าจับฟ้าแดง | ฝูงนกแร้งร่อนตัวเท่าถั่วดำ |
โอ้เช่นนี้มีคู่มาดูด้วย | จะชื่นชวยชมชิมให้อิ่มหนำ |
นี่[๘๖]ยามเย็นเห็นแต่ของที่น้องทำ | เหลือที[๘๗]รำลึกโฉมประโลมลาน ฯ |
๏ ถึงด่านทางบางไทรไขว่เฉลว | เห็นไพร่เลวหลายคนอยู่บนศาล |
ตุ้งก่าตั้งนั่งชักควักนํ้าตาล | คอยว่าขานขู่คนลงค้นเรือ |
ไม่เห็นของต้องห้ามก็ลามขอ | มะละกอกุ้งแห้งแตงมะเขือ |
ขอส้มสูกจุกจิกทั้งพริกเกลือ | จนชาวเรือเหลือระอาด่าในใจ |
แต่ลำเราเขาไม่ค้นมาพ้นด่าน | ดูถิ่นฐานทิวชลาพฤกษาไสว[๘๘] |
มีอารามนามสร้างชื่อบางไทร[๘๙] | ต้นไทรใหญ่อยู่ที่นั่นน้องวันทา |
เทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์สถิตพุ่ม | พระเคยอุ้มอุณรุทสมอุษา |
ใคร่น่าจูบรูปร่างเหมือนนางฟ้า | ช่วยอุ้มมาให้มั่งเถิดจะเชิดชม[๙๐] |
สนอม[๙๑]แนบแอบอุ้มหนุ่มหนุ่ม[๙๒]นิ่ม[๙๓] | ได้แย้มยิ้มยวนจิตสนิทสนม |
นอนเอนหลังนั่งเล่นเย็นเย็นลม | ชมพนมแนวไม้รำไรราย |
ดูเหย้าเรือนเหมือนหนึ่งเขียนเตียนตลิบ | เห็นลิบลิบแลไปจิตใจหาย |
เขาปลูกผักฟักถั่วจูงงัว[๙๔]ควาย | ชมสบายบอกแจ้งตำแหน่งนาม ฯ |
๏ ถึงเกาะเกิดเกิดสวัสดิ์พิพัฒน์ผล | อย่าเกิดคนติเตียนเป็นเสี้ยนหนาม |
ให้เกิดลาภราบเรียบเงียบเงียบงาม | เหมือนหนึ่งนามเกาะเกิดประเสริฐทรง |
ถึงเกาะพระไม่เห็นพระปะแต่เกาะ | ช่าง[๙๕]ชื่อเพราะชื่อพระสละหลง |
พระของน้องนี้ก็นั่งมาทั้งองค์ | ทั้งพระสงฆ์เกาะพระมาประชุม |
ขอคุณพระอนุเคราะห์ทั้งเกาะพระ | ให้เปิดปะขุมทองสักสองขุม |
คงจะมีพี่ป้ามาชุมนุม | ฉะอ้อนอุ้มแอบอุราเป็นอาจิณ ฯ |
๏ ถึงเกาะเรียงเคียงคลองเป็นสองแสก | ป่าละแวกวังราชประพาสสินธุ์ |
ได้หม่อม[๙๖]ห้ามงามพร้อมชื่อหม่อมอิน | จึงตั้งถิ่นที่เกาะเสนาะนาม |
นึก[๙๗]ถวิลอินน้องละอองเอี่ยม | แสนเสงี่ยมงามพร้อมเหมือนหม่อมห้าม |
จะหายศอตส่าห์พยายาม | คงจะงามพักตร์พร้อมเหมือนหม่อมอิน |
อาลัยน้องตรองตรึกรำลึกถึง | หวังจะพึ่งผูกจิตคิดถวิล |
เวลา[๙๘]เย็นเห็นนกวิหคบิน | ไปที่ถิ่นทำรังประนังนอน |
บ้างแนบคู่ชูคอเข้าซ้อแซ้ | เสียงจอแจโจนจับสลับสลอน |
บ้างฟุบเฝ้า[๙๙]เคล้าเคียงประเอียงอร | เอาปากป้อนปีกปกกกกระกอง[๑๐๐] |
ที่ไร้คู่อยู่เปลี่ยวตัวเดียวโดด | ไม่เต้นโลดแลเหงาเหมือนเศร้าหมอง |
ลูกน้อยน้อยคอยแม่ชะแง้มอง | เหมือนอกน้องหนู[๑๐๑]น้อยกลอยฤทัย |
มาตามติดบิดากำพร้าแม่ | สุดจะแลเหลียวหานํ้าตาไหล[๑๐๒] |
เห็นลูกนกอกน้องนี้หมองใจ | ที่ฝากไข้ฝากผีไม่มีเลย ฯ |
๏ ถึงเกาะเรียนเรียนรักนี้[๑๐๓]หนักอก | แสนวิตกเต็มตรองเจียวน้องเอ๋ย |
เมื่อเรียนกล[๑๐๔]จนจบถึงกบเกย | ไม่ยากเลยเล่า[๑๐๕]ได้ดังใจจง |
แต่เรียนรักรักนักก็มักหน่าย | รักละม้ายมิได้ชมสมประสงค์ |
ยิ่งรักมากพากเพียรยิ่งเวียนวง | มีแต่หลงลมลวงแทบทรวงโทรม ฯ |
๏ มาถึงวัดพนังเชิงเทิ่งถนัด | ว่าเป็นวัดเจ้าฟ้าพระกลาโหม |
ผนังก่อย่อมุมเหมือนซุ้มโคม | ลอยโพยมเยี่ยมฟ้าสุราลัย[๑๐๖] |
มีศาลาท่านํ้าดูฉํ่าชื่น | ร่มระรื่นรุกขาน่าอาศัย |
บิดาพรํ่ารํ่าเล่าให้เข้าใจ | ว่าพระใหญ่อย่างเยี่ยงที่เสี่ยงทาย |
ถ้าบ้านเมืองเคืองเรื่องเข็ญจะเป็นเหตุ[๑๐๗] | ก็อาเพศพังหลุดทรุดสลาย |
แม้พาราผาสุกสนุกสบาย | พระพักตร์พรายเพราพริ้มดูอิ่มองค์ |
ทั้ง[๑๐๘]เจ๊กย่านบ้านนั้นก็นับถือ | ร้องเรียกชื่อว่าพระเจ้าปุนเถาก๋ง |
ด้วยบนบานการได้ดังใจจง | ฉลององค์พุทธคุณการุณัง |
อนึ่ง[๑๐๙]ว่าถ้าแม้นใครนํ้าใจบาป | จะเข้ากราบเกรงจะทับต้องกลับหลัง |
ตรงหน้าท่าสาชลเป็นวนวัง | ดูพลั่งพลั่งพลุ่งเชี่ยวน่าเสียวใจ |
เข้าจอดเรือเหนือหน้าศาลาวัด | โสมนัสน้องไม่เสื่อมที่เลื่อมใส |
ขึ้นเดินเดียวเที่ยวหาสุมาลัย | จำเพาะได้ดอกโศกที่โคกนา |
กับดอกรักหักเด็ดได้เจ็ดดอก | พอใส่จอกจัดแจงแบ่งบุปผา |
ให้กลั่นมั่งทั้งบุนนาคเพื่อนยากมา | ท่านบิดาดีใจกระไรเลย |
ว่าโศกรักมักร้ายต้องพรายพลัด | ถวายวัดเสียก็ถูกแล้วลูกเอ๋ย |
แล้วห่มดองครองงามเหมือนตามเคย | ลีลา[๑๑๐]เลยเลียบตะพานขึ้นลานทราย |
โอ้รินรินกลิ่นพิกุลมาฉุนชื่น | ดอก[๑๑๑]แก้วรื่นเรณูไม่รู้หาย |
หอมจำปาหน้าโบสถ์สาโรชราย | ดอกกระจายแจ่มกลีบดังจีบเจียน |
ดูกุฏิวิหารสะอ้านสะอาด | รุกขชาติพุ่ม[๑๑๒]ไสวเหมือนไม้เขียน |
ที่ภูมิพื้นรื่นราบด้วยปราบเตียน | ต่าง[๑๑๓]เดินเวียนทักษิณพระชินวร |
ได้สามรอบชอบธรรมท่านนำน้อง | เข้าในห้องเห็นพระเจ้าเท่าสิงขร |
ต่างจุดธูปเทียนถวายกระจายจร | ท่านบิดรได้ประกาศว่าชาตินี้ |
ทั้งรูปชั่วตัวดำแล้ว[๑๑๔]ต่ำศักดิ์ | ถวายรักเสีย[๑๑๕]กับพระชินสีห์ |
แม้นเมื่อไรใครเขารักมาภักดี[๑๑๖] | จะอารีรักตอบเพราะ[๑๑๗]ขอบคุณ |
ทั้ง[๑๑๘]หนูกลั่นนั้นว่าจะหาสาว | ที่เล็บยาวโง้งโง้งเหมือนก่ง[๑๑๙]กระสุน |
ทั้งเนื้อหอมกล่อมเกลี้ยงเพียงพิกุล | กอดให้อุ่นอ่อนก็ว่าไม่น่าฟัง |
ฉันกับน้องมองแลดูแต่พระ | สาธุสะสูงกว่าฝาผนัง |
แต่พระเพลาเท่าป้อมที่ล้อมวัง | สำรวมนั่งปลั่งเปล่งเพ่งพินิจ |
ตัวของหนูดูจิ๋วเท่านิ้วหัตถ์[๑๒๐] | โตสนัดหนักนักจึงศักดิ์สิทธิ์ |
กับหนูตาบกราบก้มบังคมคิด[๑๒๑] | รำพันพิษฐานในใจจินดา |
ขอเดชะพระกุศลที่ปรนนิบัติ | ที่หนูพัดพิศวาสพระศาสนา |
มาคำรบ[๑๒๒]พบพุทธปฏิมา | เป็นมหามหัศจรรย่ในสันดาน |
ขอผลาอานิสงส์จงสำเร็จ | สรรเพชญ์พ้นหลงในสงสาร |
แม้นยังไปไม่ถึงที่พระนีฤพาน | ขอสำราญราคีอย่าบีฑา |
จะพากเพียรเรียนวิสัยแลไตรเพท | ให้วิเศษแสนเอกทั้งเลขผา |
แม้นรักใครให้คนนั้นกรรุณา[๑๒๓] | ชนมายืนเท่าเขาพระเมรุ |
ขอรู้ธรรม[๑๒๔]คำแปลแก้วิมุติ | เหมือนพระพุทธโฆษามหาเถร |
มีกำลังดังมาฆะสามเณร | รู้จัดเจนแจ้งจบทั้งภพไตร |
อนึ่งเล่าเจ้านายที่หมายพึ่ง | ให้ทราบซึ่งสุจริตพิสมัย |
อย่าหลงลิ้นหินชาติขาดอาลัย | น้ำพระทัยทูลเกล้าให้ยาวยืน |
๏ แล้วลาพระปฏิมาลีลา[๑๒๕]ล่อง | เข้าลำ[๑๒๖]คลองสวนพลูค่อยชูชื่น |
ชมแต่ไผ่ไม้[๑๒๗]พุ่มดูชุ่มชื้น | ระรื่นรื่นลำดวนรำจวนใจ[๑๒๘] |
โอ้ยามนี้มิได้พบนํ้าอบสด | มาเชยรสบุปผาน้ำตาไหล |
เคยหอมแป้งแรงรื่นฤทัย[๑๒๙] | มาเหื่อ[๑๓๐]ไคลคล่ำตัวต้องมัวมอม |
เมื่อยามมีพี่บำรุงผ้านุ่งห่ม[๑๓๑] | เคยอบรมรํ่ากลิ่นไม่สิ้นหอม |
โอ้หายรสหมดรักมาปลักปลอม[๑๓๒] | จนซูบผอมผิวคล้ำระกำใจ |
จึงมาหายาอายุวัฒนะ | ตามได้ปะลายแทงแถลงไข |
เข้าลำคลองล่องเรือมาเหลือไกล | ถึงวัดใหญ่ชายทุ่งดูวุ้งเวิ้ง ฯ |
๏ พระเจดีย์ที่ยังอยู่ดูตระหง่าน | เป็นประธานทิวทุ่งดูสูงเทิ่ง |
ต้นโพไทรไผ่พุ่มเป็นซุ้มเซิง | ขึ้นรอบเชิงชั้นล่างข้างเจดีย์ |
เสียดายนักหักทรุดชำรุดร้าง | ใครจะสร้างสูงเกินจำเริญศรี |
ท่านบิดาว่าถึงให้ใหญ่กว่านี้ | ก็ไม่มีผู้ใดว่าใหญ่โต |
ผู้หญิงย่านบ้านเราชาวบางกอก | เขาอมกลอกกลืนพระเสียอะโข |
แต่พระเจ้าเสาชิงช้าริม[๑๓๓]ท่าโพ | ก็เต็มโตแต่ชาววังเขายังกลืน |
ฉันกลัวบาปกราบพระอย่าปะพบ | ไม่ขอคบคนโขมดที่โหดหืน |
พอคํ่าคลุ้มพุ่มพฤกษ์ดูครึกครื้น | เงาทะมืนมืดพยับอับโพยม |
พยุ[๑๓๔]ฝนอนธการสะท้านพุ่ง | เป็นฝุ่นฟุ้งฟ้าฮือกระพือโหม |
นํ้าค้างชะประเปรยเชยชโลม | ท่านจุดโคมขึ้นอารามต้องตามไป |
เที่ยวหลีกรกวกวนอยู่จนดึก | เห็นพุ่มพฤกษ์โพทองที่ผ่องใส |
ตักน้ำผึ้งครึ่งจอกกับดอกไม้ | จุดเทียนใหญ่อย่างตำราบูชาเชิญ |
หวังจะปะพระปรอทที่ยอดยิ่ง | ประนม[๑๓๕]นิ่งนึกรำพันสรรเสริญ |
สำรวมเรียนเทียนอร่ามงามจำเริญ | จนดึกเกินไก่ขันหวั่นวิญญาณ์ |
ทั้งเทียนดับสรรพเสียงสำเนียงเงียบ | เย็นยะเยียบนํ้าค้างพร่างพฤกษา |
เห็นแวววับลับลงตรงบูชา[๑๓๖] | ปรอทมาสูบซึ่งนํ้าผึ้งรวง |
ครั้นคลำได้ในกลางคืนก็ลื่นหลุด | ต้องจัดจุดธูปเทียนเพียร[๑๓๗]บวงสรวง |
ประกายพรึกดึกเด่นขึ้นเห็นดวง | ดังโคมช่วงโชติกว่าบรรดาดาว |
จักจั่นแจ้วแว่วหวีดจังหรีดหริ่ง | ปี่แก้วกริ่งกรับ[๑๓๘]เสียงสำเนียงหนาว |
ยิ่งเย็นฉํ่านํ้าค้างลงพร่างพราว | พระพายผ่าวพัดไหวทุกใบโพ ฯ |
๏ พอรุ่งแรกแปลกกลิ่นระรินรื่น | โอ้หอมชื่นช่อมะกอกดอกโสน |
เหมือนอบนํ้ารํ่าผ้าประสาโซ | สะอื้นโอ้อารมณ์ระทมทวี |
ครั้นเช้าปะพระปรอทที่ปลอดปล่ง[๑๓๙] | ทั้งสามองค์เอามาไว้ก็ไพล่หนี |
เชิญพระธาตุราธนาทุกราตรี | อาบวารีทิพรสหมดมลทิน |
ที่ธุระพระปรอทเป็นปลอดเปล่า | ยังดูเลาลายแทงแสวงถวิล |
ท่านนอนอ่านลานใหญ่ฉันได้ยิน | ว่ายากินรูปงามอร่ามเรือง |
ถึง[๑๔๐]ฟันหักจักงอกผมหงอกหาย | แก่ก็กลายหนุ่มเนื้อนั้นเหลือเหลือง[๑๔๑] |
ตะวันออกบอกแจ้งใน[๑๔๒]แขวงเมือง | ท่านจัดเครื่องครบครันทั้งจันทน์จวง |
กับหนูกลั่นจันหมากบุนนาคหนุ่ม | สักสิบทุ่มเดินมุ่งออกทุ่งหลวง |
ไป[๑๔๓]ตามลายปลายคลองถึงหนองพลวง | แต่ล้วนสวงสาหร่ายเห็นควายนอน |
นึกว่าผีตีฆ้องป่องป่องโห่ | มันผุดโผล่พลุ่งโครมถีบโถมถอน |
เถาสาหร่ายคลายคลุม[๑๔๔]ตะลุมบอน | ว่าผีหลอนหลบพัลวันเวียน |
ต่อ[๑๔๕]เสียงร้องมองดูจึ่งรู้แจ้ง | เดินแสวงหาวัดฉวัดเฉวียน |
จน[๑๔๖]เช้าตรู่ดูทางไป[๑๔๗]กลางเตียน | ถึงป่าเกรียนเกรียวแซ่จอแจจริง |
๏ กระจาบจับนับหมื่นดูดื่นดาษ | เหมือนตลาดเหลือหูเพราะผู้หญิง |
ยามอื้ออึงหึงหวงด้วยช่วงชิง[๑๔๘] | ชุมจริงจริงจิกโจดกระโดดโจน |
จนต้นไม้ใบงอกออกไม่รอด | ดูตร่องตรอดเกรียนกร๋อยตรองกรอยโกร๋น[๑๔๙] |
ลมกระทั่งรังกระจาบระยาบโยน | ตัวมันโหนหวงคู่คอยดู[๑๕๐]คน |
บ้างคาบแขมแซมรังเหมือนดังสาน | สอดชำนาญเหน็บฝอยเหมือนสร้อยสน |
จิกสะบัดจัดแจงเสียด[๑๕๑]แซงซน | เสมือนคนเคยสะดึงรู้ตรึงตรอง[๑๕๒] |
โอ้โอ๋[๑๕๓]อกนกยังมีรังอยู่ | ได้เคียงคู่คํ่าเช้าไม่เศร้าหมอง |
แม้นร่วมเรือนเหมือนหนึ่งนกกกกระกอง[๑๕๔] | แต่สักห้องหนึ่งก็เห็นจะเย็นใจ ฯ |
๏ จนพ้นป่ามาถึงโป่งหอยโข่งคุด | มันหมกมุดเหมือนเขาแจ้งแถลงไข |
เห็นตาลโดดโขดคุ่มกระ[๑๕๕]พุ่มไม้ | มีทิวไผ่พงรายเหมือนลายแทง |
ท่านหลีกลัดตัดทางไปกลางทุ่ง | ตั้งแต่รุ่งมาจนแดดก็แผดแข็ง[๑๕๖] |
ได้พักเพลเอนนอนพอผ่อนแรง | ต่ออ่อนแสงสุริยาจึงคลาไคล |
แต่แรกดูครู่หนึ่งจะถึงที่ | เหมือนถอยหนีห่างเหินเดินไมไหว |
เหมือนเรื่องรักชักชิดสนิทใน | มากลับไกลแกล้งกระดากต้องลากจูง ฯ |
๏ พอเย็นจวนด่วนเดินขึ้นเนินโขด | ถึงตาลโดดดินพูนเป็นมูนสูง |
เที่ยวเลียบชมลมเย็นเห็นนกยูง | เป็นฝูงฝูงฟ้อนหางที่กลางทราย |
ทำกรีดปีกหลีกเลี่ยงเข้าเคียงคู่ | คอยแฝงดูดังระบำรำถวาย |
กระหวัดวาดยาตรเยื้องชำเลืองกราย | เหมือนละม้ายหม่อมละครเมื่อฟ้อนรำ |
โอ้เคยเห็นเล่นงานสำราญรื่น | ได้แช่มชื่นเชยชมที่คมขำ |
มาห่างแหแลลับจับระบำ | มาดู[๑๕๗]รำแพนนกน่าอกตรม |
ออกตรูไล่ไปสิ้นขึ้นบินว่อน | แฉลบร่อนเรียงตามดูงามสม |
เห็นเชิงไทรไผ่โพตะโกพนม | ระรื่นร่มรุกขชาติดาษเดียร |
พิกุลออกดอกหอมพะยอมย้อย | นกน้อยน้อยจิกจับเหมือนกับเขียน |
ในเขตแคว้นแสนสะอาดดังกวาดเตียน | ตลิบเลี่ยนลมพัดอยู่อัตรา |
สารภีที่ริมโบสถ์สาโรชร่วง | มีผึ้งรวงรังสิงกิ่งพฤกษา |
รสเร้าเสาวคนธ์สุมณฑา | ภุมราร่อนร้องละอองนวล |
โอ้บุปผาสารภีส่าหรีรื่น | เป็นที่ชื่นเชยสนอม[๑๕๘]ด้วยหอมหวน |
เห็นมาลาอาลัยใจรำจวน[๑๕๙] | เหมือนจะชวนเชษฐาน้ำตากระเด็น ฯ |
๏ โอ้อย่าง[๑๖๐]นี้ที่ตรงนึกรำลึกถึง | มาเหมือนหนึ่งในจิตที่คิดเห็น |
จะคลอเคียงเรียงตามเมื่อยามเย็น | เที่ยวเลียบเล่นแลเพลินจำเริญตา |
โบสถ์วิหารฐานที่[๑๖๑]ยังมีมั่ง | เชิงผนังแน่นแฟ้นดังแผ่นผา[๑๖๒] |
สงสารสุดพุทธรัตน์ปฏิมา | พระศิลาแลดูเป็นบูราณ |
อุโบสถหมดหลังคาฝาผนัง | พระเจ้านั่งอยู่แต่องค์น่าสงสาร |
ด้วยเรื้อร้างสร้างสมมานมนาน | แต่บูราณเรื่องพระเจ้าตะเภาทอง |
มาเที่ยวเล่นเห็นหินบนดินโขด | เดี่ยวสันโดษดังสำลีไม่มีสอง[๑๖๓] |
จึงจัดช่างสร้างอารามตามทำนอง | ทรงจำลองลายพระหัตถ์เป็นปฏิมา[๑๖๔] |
รูปพระเจ้าเท่าพระองค์แล้วทรงสาป | ให้อยู่กราบ[๑๖๕]ศักราชพระศาสนา |
พอฤๅษีสี่องค์เหาะตรงมา | ถวายยาอายุวัฒนะ |
เธอไม่อยู่รู้ว่าหลงในสงสาร | ซํ้าให้ทานแท่งยาอุตสาหะ |
ใส่ตุ่มทองรองไว้ที่ใต้พระ | ใครพบปะเปิดได้เอาไปกิน |
ช่วยสร้างโบสถ์โขดเขื่อนไว้[๑๖๖]เหมือนเก่า | นามนั้นเขาเขียนแจ้งที่แท่งหิน |
วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ | ให้ทราบสิ้นสืบสายเพราะลายแทง |
เป็นตำรามาแต่เหนือท่านเชื่อถือ | ดูหนังสือเสาะหาอตส่าห์แสวง |
มาพบปะจะใคร่[๑๖๗]ขุดก็สุดแรง | ด้วยดินแข็งเขาประมูลด้วยปูนเพชร |
ถึงสิ่วขวานผลาญเนินก็เยินยู่[๑๖๘] | เห็นเหลือรู้ที่จะทำให้สำเร็จ |
แต่จะต้องลองตำรากาลเม็ด | เผื่อจะเสร็จสมถวิลได้กินยา ฯ |
๏ พอเย็นรอนดอนสูงดูทุ่งกว้าง | วิเวกวางเวงจิตทุกทิศา |
ลิงโลดเหลียวเปลี่ยวใจนัยนา | เห็นแต่ฟ้าแฝกแขมขึ้นแซมแซง |
ดูกว้างขวางว่างโว่งตะโล่งลิ่ว | ไม่เห็นทิวที่สังเกตทุก[๑๖๙]เขตแขวง |
สุริยนสนธยาท้องฟ้าแดง | ยิ่งโรยแรงรอนรอนอ่อนกำลัง |
โอ้แลลูสุริยงจะลงลับ | มิใคร่ดับ[๑๗๐]ดวงได้อาลัยหลัง |
สลดแสงแฝงรถเข้าบดบัง | เหมือนจะสั่งโลกาด้วย[๑๗๑]อาลัย |
แต่คนเราชาววังทั้งทวีป | มาเร็วรีบร้างมิตรพิสมัย |
ไม่รอรั้งสั่งสวาทประหลาดใจ | โอ้อาลัยแลลับวับวิญญาณ์ |
ยิ่งเย็นฉํ่านํ้าค้างให้วางเวก | เป็นหมอกเมฆมืดมิดทุกทิศา |
แสนแสบท้องต้องเก็บตะโกนา | นึกระอาออกนามเมื่อยามโซ |
ทั้งหนูกลั่นจันมากบุนนาคน้อย | ช่วยกันสอยเก็บหักไว้อักโข |
พอเคี้ยวฝาดชาติชั่วตัวตะโก | แต่ยามโซแสบท้องก็ต้องกลืน |
พิกุลต้นผลห่ามอร่ามต้น | ครั้นกินผลพาเลี่ยนให้เหียนหืน |
ชั่งฝาดเฝื่อนเหมือนจะตายต้องคายคืน | ทั้งขมขื่นแค้นคอไม่ขอกิน |
ท่านบิดรสอนสั่งให้ตั้งจิต | โปรดประสิทธิ์สิกขารักษาศีล |
เข้าร่มพระมหาโพธิบนโบสถ์[๑๗๒]ดิน | ระรื่นกลิ่นกลางคืนค่อยชื่นใจ |
เหมือนกลิ่นกลั่นจันทน์เจือในเนื้อหอม | แนบสนอมสนิทจิตพิสมัย[๑๗๓] |
เสมอหมอนอ่อนอุ่นละมุนละไม | มาจำไกลกลอยสวาทอนาถนอน ฯ |
๏ โอ้ยามนี้มิได้เชยเหมือนเคยชื่น | ทุกคํ่าคืนขาดประทิ่นกลิ่นเกสร |
หอมพิกุลฉุนใจอาลัยวอน | พิกุลร่อนร่วงหล่นลงบนทรวง |
ยิ่งเสียวเสียวเฉียวฉุนพิกุลหอม | เก็บ[๑๗๔]สนอมเสน่ห์หมายไม่หายหวง |
โอ้ดอกแก้วแววฟ้าสุดาดวง | มิหล่นร่วงลงมาเลยใคร่เชยชิม |
โอ้เรื่อยเรื่อยเฉื่อยฉํ่าด้วยนํ้าค้าง[๑๗๕] | ลงพร่างพร่างพรม[๑๗๖]พร้อยย้อยหยิมหยิม |
ยิ่งฟั่นเฟือนเหมือนสมรมานอนริม | ให้เหงาหงิมง่วงเงียบเซียบสำเนียง |
เสนาะดังจังหรีดวะหวีดแว่ว | เสียงแจ้วแจ้วจักระจั่นสนั่นเสียง |
เสียงหริ่งหริ่งกิ่งไทรเรไรเรียง | เสียวสำเนียงนอนแลเห็นแต่ดาว |
จนดึกดื่นรื่นเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยฉิว | หนาวดอกงิ้วงิ้วต้นให้คนหนาว |
แม้นงิ้วงามนามงิ้วเล็บนิ้วยาว | จะอุ่นราวนวมแนบนั่งแอบอิง |
อันสี่นายหมายว่ากินยาแล้ว | จะผ่องแผ้วพากันเที่ยวเกี้ยวผู้หญิง |
เดชะยาน่ารักประจักษ์จริง | จะ[๑๗๗]ให้วิ่งตามฉาวทุกด้าวแดน |
นากนั้นว่าอายุอยู่ร้อยหมื่น | จะได้ชื่นเชยสาวนั้นราวแสน |
ไม่รู้หมดรสชาติไม่ขาดแคลน | ฉันอายแทนที่เธอครวญถึงนวลนาง |
ทั้งหนูกลั่นนั้นว่าเมื่อล่องเรือกลับ | จะแวะรับนางสิบสองไม่หมองหมาง |
แม่เอวอ่อนมอญรำล้วนสำอาง | จะขวางขวางไปอย่างไรคงได้ดู |
สมเพชเพื่อนเหมือนหนึ่งบ้าประสาหนุ่ม | แต่ล้วนลุ่มหลงเหลือลูก[๑๗๘]เบื่อหู |
จนพระเมินเดินเวียนถือเทียนชู | เที่ยวส่องดูเสมาบรรดามี |
ที่ผุพังยังแต่ตรุบรรจุธาตุ | ขาวสะอาดอรหัตจำรัสศรี |
ราธนามาไว้สิ้นด้วยยินดี | อัญชุลีแล้วก็นั่งระวังภัย |
น้ำค้างพรมลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยฉิว | ใบโพพลิ้ว[๑๗๙]แพลงพลิกริกริกไหว |
บ้างหลุด[๑๘๐]หล่นวนว่อนร่อนไรไร | ด้วยแสงไฟรางรางกระจ่างตา ฯ |
๏ จนเที่ยงคืนรื่นรมย์ลมสงัด[๑๘๑] | ดึกกำดัดดาวสว่างพร่างพฤกษา |
เหมือนเสียงโห่โร่หูข้างบูรพา | กฤษฎาได้ฤกษ์เบิกพระไทร |
สายสิญจน์วงลงยันต์กันปีศาจ | ธงกระดาษปักปลิวหวิวหวิวไหว |
ข้าวสารทรายปรายปราบกำราบไป | ปักเทียนชัยฉัตรเฉลิมแล้วเจิมจันทน์ |
จุดเทียนน้อยร้อยแปดนั้นปักรอบ | ล้อมเป็นขอบเขต[๑๘๒]เหมือนหนึ่งเขื่อนขัณฑ์ |
มนต์มหาวาหุดีพิธีกรรม์ | แก้อาถรรพณ์ถอนฤทธิ์ที่ปิดบัง |
แล้วโรยรินดินดำควํ่าหอยโข่ง | จะเปิดโป่งปูนเพชรเป็นเคล็ดขลัง |
พอปักธงลงที่ดินได้ยินดัง | เสียงตึงตังตูมเปรี้ยงแซ่เสียงคน[๑๘๓] |
ดัง[๑๘๔]เทียนดับกลับกลัวให้มัวมืด | พยุฮึดฮือมาเหมือนห่าฝน |
ถูกลูกเห็บเจ็บแปลบแสบสกนธ์ | เหลือจะทนทานลมลงก้มกราน |
เสียงเกรียวกราววาววามโพลงพลามพลุ่ง | สะเทือนทุ่งที่โขด[๑๘๕]โบสถ์วิหาร |
กิ่งโพโผงโกรงกรางลงกลางลาน | สาดข้าวสารกรากกรากไม่อยากฟัง |
ทั้งฟ้าร้องก้องกึกพิลึกลั่น | อินทรีย์สั่นซบฟุบเหมือนทุบหลัง |
สติสิ้นวิญญาณ์ละล้าละลัง | สู่ภวังค์วูบวับเหมือนหลับไป |
เป็นวิบัติอัศจรรย์มหันตเหตุ | ให้อาเพศเพื่อจะห้ามตามวิสัย |
ทั้งพระพลอยม่อยหลับระงับไป | จนอุทัยเที่ยงตื่นต่างฟื้นกาย[๑๘๖] |
เที่ยวหาย่ามตามตำราทั้งผ้าห่ม | มันตามลมลอยไปข้างไหนหาย |
ไม่พบเห็นเป็นน่าระอาอาย | จนเบี่ยงบ่ายบิดาจะคลาไคล |
รีบ[๑๘๗]ห่มดองครองผ้าอุกาพระ | คารวะวันทาอัชฌาสัย |
ถวายวัดตัดตำราไม่อาลัย | ขออภัยพุทธรัตน์ปฏิมา |
เมื่อรู้ความยามโศกด้วยโรคร้าย | จึงตามลายลัดแลงแสวงหา |
จะใคร่เห็นเช่นเขาบอกดอกจึงมา | มีตำราแล้วก็ต้องทดลองดู |
ไม่รื้อร้างง้างงัดไม่ขัด[๑๘๘]ขุด | เป็นแต่จุดเทียนเบิกฤกษ์ราหู |
ขอคุณพรตรสธรรมช่วยคํ้าชู | ไม่เรียนรู้รูปงามไม่ตามลาย |
มาเห็นฤทธิ์กฤตยา[๑๘๙]อานุภาพ | ก็เข็ดหลาบลมพาตำราหาย |
ได้ตรวจนํ้าควํ่าขันบรรยาย[๑๙๐] | ให้ภูตพรายไพรโขมดที่โขดดิน |
ทั้งเจ้าทุ่งกรุงทวาเทพารักษ์ | ซึ่งพิทักษ์ที่พญาคูหาหิน |
พระเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ | ซึ่งสร้างถิ่นที่วัดพระปฏิมา |
จงพ้นทุกข์สุโขอโหสิ | ไปจุติตามชาติปรารถนา |
ทั้งเซิงไทรไผ่โพตะโกนา | ฉันขอลาแล้วเจ้าคะหม่อมตะโก |
ถึงแก่งอมหอมกลิ่นก็[๑๙๑]กินฝาด | แต่คราวขาดคิดรักเสียอักโข |
ทั้งพิกุลฉุนกลิ่นจงภิญโญ | เสียดายโอ้อางขนางจะห่างไกล |
ออกเดินทุ่งมุ่งหมายพอบ่ายคล้อย | ได้[๑๙๒]ตามรอยแรกมาหญ้าไสว |
จนจวนคํ่ายํ่าเย็นเห็นไรไร | สังเกตไม้หมายทางมากลางคืน |
ต้องบุกรกวกหลงลุยพงแฝก | อุตส่าห์แหวกแขมคาสู้ฝ่าฝืน |
มาตามลายหมายจะลุอายุยืน | ผ้าห่มผืนหนึ่งไม่ติดอนิจจัง |
เจ้าหนูกลั่นนั้นว่าเคราะห์เสียเพลาะหอม | เหมือนทิ้งหม่อมเสียทีเดียวเดินเหลียวหลัง |
จะรีบไปให้ถึงเรือเหลือกำลัง | ครั้นหยุดนั่งหนาวใจจำไคลคลา |
จนรุ่งรางทางเฟือนไม่เหมือนเก่า | ต้องเดินเดาดั้นดัดจนขัดขา |
จนเที่ยงจึงถึงเรือเหลือระอา | อายตามาตาแก้วที่แจวเรือ |
เขาหัวเราะเยาะว่าสาธุสะ | เครื่องอัฏฐะที่เอาไปช่างไม่เหลือ |
พอมืดมนฝนคลุ้มครุมครุมเครือ[๑๙๓] | ให้กลับ[๑๙๔]เรือรีบล่องออกท้องคุ้ง |
จะเลยตรงลงไปวัดก็ขัดข้อง | ไม่มีของขบฉันจังหันหุง |
ไปพึ่งบุญคุณพระยารักษากรุง[๑๙๕] | ท่านบำรุงรักพระไม่ละเมิน |
ทั้งเพลเช้าคาวหวานสำราญรื่น | ต่างชุ่มชื่นชวนกันสรรเสริญ |
ท่าน[๑๙๖]สูงศักดิ์รักใคร่ให้จำเริญ | อายุเกินกัปกัลป์พุทธันดร |
ได้ครองกรุงฟุ้งเฟื่องเปรื่องปรากฏ | เกียรติยศอยู่ตลอดอย่าถอดถอน |
ท่านอารีมีใจอาลัยวอน | ถึงจากจรใจจิตยังคิดคุณ |
มาทีไรได้นิมนต์จะปรนนิบัติ[๑๙๗] | สารพัดแผ่เผื่อช่วยเกื้อหนุน |
ต่างชื่นช่วยอวยกุศลผลบุญ | สนองคุณคุณพระยารักษากรุง ฯ |
๏ เมื่อกราบลาคลาเคลื่อนออกเลื่อนล่อง | เห็นหน้าน้องนามหุ่นนั่งชุนถุง |
ทั้งผัดหน้าทาขมิ้นส่งกลิ่นฟุ้ง | รู้บำรุง[๑๙๘]รูปงามอร่ามเรือง |
ที่แพรายหลายนางสำอางโฉม | งามประโลมแลปลั่ง[๑๙๙]อลังเหลือง |
ขมิ้นเอ๋ยเคยใช้แต่ในเมือง | มาฟุ้งเฟื่องฝ่ายเหนือทั้งเรือแพ |
พวกโพงพางนางแม่ค้าขายปลาเต่า | จับกระเหม่ามิได้เหลือชั้นเรือแห |
จะล่องลับกลับไกลอาลัยแล | มาถึงแพเสียงนกแก้วแจ้วเจรจา |
เจ้าของขาวสาวสอนชะอ้อนพลอด | แวะเข้าจอดแพนี้ก่อนพี่จ๋า |
น่ารับขวัญฉันนี่ร้องว่าน้องลา | ก็เลยว่าสาวกอดฉอดฉอดไป ฯ |
๏ โอ้นกเอ๋ยเคยบ้างหรืออย่างพลอด | นางสาวสาวเขาจะกอดให้ที่ไหน |
แต่น้องมีพี่ป้าที่อาลัย | ท่านยังไม่ช่วยกอดแกล้งทอดทิ้ง |
นึกก็พลอยน้อยใจถึงไม่กอด | หนาวก็ทอดเตาไว้ก่อไฟผิง |
ไม่เรียกเป็นเช่นนกแก้วแล้วจริงจริง | จะสู้นิ่งหนาวทนอยู่คนเดียว |
ได้เด็ดรักหักใจมาในนํ้า | ถึงพบลำสาวแล้ไม่แลเหลียว |
ประหลาดเหลือเรือวิ่งจริงจริงเจียว | มาคืนเดียวก็ได้หยุดถึงอยุธยา[๒๐๐] |
จึงจดหมายรายเรื่องที่เคืองเข็ญ | ไปเที่ยวเล่นลายแทงแสวงหา |
เห็นสิ่งไรในจังหวัดรัถยา | ได้จดมาเหมือนหนึ่งมีแผนที่ไว้ |
ไม่อ่อนหวานขานเพราะเสนาะโสต | ด้วยอายโอษฐ์มิได้อ้างถึงนางไหน |
เหมือนเขามีที่จาก[๒๐๑]ฝากอาลัย | ได้รํ่าไรเรื่องหญิงจึงพริ้งเพราะ |
นี่กล่าวแกล้งแต่งเล่นเพราะเป็นม่าย | เหมือนเร่ขายคอนเรือมะเขือเปราะ |
คิดคะนึงถึงตัวน่าหัวเราะ | เกือบกะเทาะหน้าแว่นแสนเสียดาย ฯ |
๏ สุดาใดใจจืดพังผืดมาก | อย่ากระดากดับเดือดให้เหือดหาย[๒๐๒] |
ที่เอ็นดู[๒๐๓]อยู่ก็อยากจะฝากกาย | อย่าหมิ่นชายเชิญตรึกให้ลึกซึ้ง |
เหมือนภุมรินบินหาซี่งสาโรช | ถึงร้อยโยชน์แย้มกลิ่นคงบินถึง |
แต่ดอกไม้ไทท้าวใบดาวดึงส์ | ไม่พ้นซึ่งพวกหมู่แมงภู่ชม |
เช่นกระต่ายกายสิทธิ์นั้นผิดเพื่อน | ขึ้นแต้มเดือนได้จนชิดสนิทสนม |
เสน่หาอาลัยใน[๒๐๔]นิยม | จะใคร่ชมเช่นกระต่ายไม่วายตรอม |
แต่เกรงเหมือนเดือนแรมไม่แจ่มแจ้ง | สุดจะแฝงฝากเงาเฝ้าสนอม |
ขอเดซะจะได้พึ่งให้ถึงจอม | ขอให้น้อมโน้มสวาทอย่าคลาดคลา |
ไม่เคลื่อนคลายหน่ายแหนงจะแฝงเฝ้า | ให้เหมือนเงาตามติดขนิษฐา |
ทุกคํ่าคืนชื่นชุ่มพุ่มผกา | มิให้แก้วแววตาอนาทร |
มณฑาทิพย์กลีบบานตระการกลิ่น | ภุมรินหรือจะร้างห่างเกสร |
จงทราบความตามใจอาลัยวอน | เดชะกลอนกล่าวปลอบให้ตอบคำ |
จะคอยฟังดังหนี่งคอยสอยสวาท | แม้นเหมือนมาดหมายจะชิมให้อิ่มหนำ |
ถ้าครั้งนี้มิได้เยื้อนยังเอื้อนอำ | จะต้องครํ่าคร่าเปล่าแล้วเราเอย ฯ |
[๑] วันพฤหัสบดี
[๒] สามเณรพัด
[๓] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เณรหนูพัดหัดประดิษฐ์คิดอักษร”
[๔] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “กำจัดจร”
[๕] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “มายาม”
[๖] น่าจะหมายถึงเจ้าครอกข้างในหรือเจ้าครอกทองอยู่ พระอัครชายาในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราขวังบวรสถานพิมุขแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งถวายเพลิงศพเมื่อข้างขึ้นเดือน ๑๑ ปีวอก อัฐศก ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๗๙ ณ วัดอัมรินทราราม
[๗] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เสด็จ”
[๘] กรวดนํ้า
[๙] สุรา + อำมฤค
[๑๐] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “พระคุณ”
[๑๑] ทำนุ สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ทำนุป”
[๑๒] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “กระนี้”
[๑๓] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ต้อง”
[๑๔] เนิน
[๑๕] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ไน”
[๑๖] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “รัญจวน”
[๑๗] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “พุ่ม”
[๑๘] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “พรหม”
[๑๙] ตรม
[๒๐] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ยัง”
[๒๑] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ไว้”
[๒๒] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ถนอม”
[๒๓] สมุดไทยเลขที่ ๑ เป็น “กฤษณา” ซึ่งอาจเลือนมาจาก ดำฤษฌา คือ ดิ้นรน อยาก หรือตัณหา
[๒๔] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “จะคิดมั่งยังคำที่รํ่าบอก”
[๒๕] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เหมือนโศกตรอมตรึกตรองมาหมองหมาง”
[๒๖] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เหมือนจืดจางใจแยกไปแตกกัน”
[๒๗] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เที่ยว”
[๒๘] หมายถึงปลาขนาดเล็กที่ต้องหาวิธีทำให้เนื้อแผ่ออกด้วยวิธีแล่หรือตำเพื่อให้ดูตัวใหญ่ขึ้น
[๒๙] ปัจจุบัน คือ ปากเกร็ด
[๓๐] ลำน้ำเล็กที่ใช้เป็นทางลัดเชื่อมทางนํ้าใหญ่สายเดียวกัน เรียกเป็น เกร็ด ก็มี
[๓๑] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ล้วน”
[๓๒] สมุดไทยเลขที่ ๒ มีความเพิ่มก่อนถึงบางพูดว่า “โอ้นึกหวังสังเวชประเภทสัตว์ ต้องขาดขัดคู่ครองจึงหมองหมาง เหมือนอกชายหมายมิตรคิดระคาง มาอ้างว้างอาทะวาเอกากาย ฯ ๏ ถึงบ้านลาวเห็นแต่ลาวพวกชาวบ้าน ล้วนหูยานอย่างบ่วงเหมือนห่วงหวาย ไม่เหมือนลาวชาวกรุงที่นุ่งลาย ล้วนกรีดกรายหยิบหย่งทรงลำอาง”
[๓๓] คนช่างพูด
[๓๔] บรรจง ค่อยๆ ประคอง
[๓๕] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ลิ้น”
[๓๖] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เที่ยว”
[๓๗] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “หัวเราะ”
[๓๘] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เมื่อ”
[๓๙] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “กรีด”
[๔๐] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ขึ้น”
[๔๑] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ขวาง”
[๔๒] ที่คุ้ง ที่เวิ้ง สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ระแวก”
[๔๓] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ผัน”
[๔๔] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “พระพายพัดแผ่วผ่าวหนาวสยอง”
[๔๕] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “มิได้คลาด”
[๔๖] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เย็นระเยียบ”
[๔๗] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ล้อม”
[๔๘] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ภาวนา”
[๔๙] ปฏิพัทธ์
[๕๐] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “และ”
[๕๑] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “หาย”
[๕๒] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “นิพาน”
[๕๓] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “รูป”
[๕๔] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ร่มนิโครธน้องไม่เสื่อมที่เลื่อมใส”
[๕๕] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “มากลางแจ้ง”
[๕๖] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ถึง”
[๕๗] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “พา”
[๕๘] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “พา”
[๕๙] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “สูด”
[๖๐] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ไม่”
[๖๑] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “พอ”
[๖๒] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “งาม”
[๖๓] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ล้วน”
[๖๔] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ใส่”
[๖๕] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “พวกเพื่อนพลอยทิ้งบ้างห่างเป็นวา”
[๖๖] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ถูกปุ่มปับปากกรีดหวีดผวา” ทำให้เนื้อความอีก ๓ วรรคต่อจากนี้ไม่ปรากฏในสมุดไทยเลขที่ ๒
[๖๗] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ออก”
[๖๘] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “คำ”
[๖๙] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “กล่าว”
[๗๐] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ว่าท้าวไทพระอู่ทองเธอกองทรัพย์”
[๗๑] สำนวนพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ หมายถึง กษัตริย์พระองค์ก่อน ในที่นี้คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
[๗๒] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ครั้นพระโกฏโปรดปรานประทานแปลง”
[๗๓] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ที่”
[๗๔] ปัจจุบัน คือ ปทุมธานี
[๗๕] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “แม้น”
[๗๖] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ใส่”
[๗๗] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เขา”
[๗๘] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ไม่ตอบปาก”
[๗๙] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “คารม”
[๘๐] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ปลด”
[๘๑] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เสียดายผิวพักตร์น้องจะหมองโฉม”
[๘๒] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “น่า”
[๘๓] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ดูน่ารักรสชาติประหลาดเหลือ”
[๘๔] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “แม้นลอยฟ้ามาเดี๋ยวนี้ที่ในเรือ”
[๘๕] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “หนัง”
[๘๖] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “มา”
[๘๗] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “จะ”
[๘๘] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ดูภูมิฐานที่ชลาพฤกษาไสว”
[๘๙] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ถึงอารามนามอ้างวัดนางไทร”
[๙๐] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ช่วยอุ้มพามาให้เถิดจะเชิดชม”
[๙๑] ถนอม
[๙๒] น่าจะเป็น นุ่มนุ่ม
[๙๓] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ถนอมแนบแอบอุ้มนุ่มนุ่มนิ่ม”
[๙๔] วัว
[๙๕] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “แต่”
[๙๖] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “บาง”
[๙๗] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “หวัง”
[๙๘] สมุดไทยเลขที่ ๖ เป็น “เพลา”
[๙๙] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “คลอเข้า”
[๑๐๐] ตระกอง แปลว่า กอด สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “อกประคอง”
[๑๐๑] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ตาบ”
[๑๐๒] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “สุดจะแลเหลียวหาที่อาศัย”
[๑๐๓] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ก็”
[๑๐๔] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “กน”
[๑๐๕] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เรียน”
[๑๐๖] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “นภาลัย”
[๑๐๗] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ถ้าบ้านเมืองเคืองเข็ญจะเป็นเหตุ”
[๑๐๘] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “แต่”
[๑๐๙] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “แล้วก็”
[๑๑๐] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ลินลา”
[๑๑๑] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “หอม”
[๑๑๒] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ซุ้ม”
[๑๑๓] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “แล้ว”
[๑๑๔] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ทั้ง”
[๑๑๕] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ไว้”
[๑๑๖] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ต่อเมื่อไรใครใครรักมาภักดี”
[๑๑๗] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ด้วย”
[๑๑๘] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “แต่”
[๑๑๙] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “โก่ง”
[๑๒๐] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เท่านิ้วพระหัตถ์”
[๑๒๑] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ศิโรราบกราบก้มบังคมคิด”
[๑๒๒] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เคารพ”
[๑๒๓] กรุณา
[๑๒๔] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ทำ”
[๑๒๕] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ลินลา”
[๑๒๖] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ใน”
[๑๒๗] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ไม้ไผ่”
[๑๒๘] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “หอมระรื่นลำดวนรัญจวนใจ”
[๑๒๙] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ยิ่งเสียวทรวงง่วงเหงาเศร้าฤทัย”
[๑๓๐] เหงื่อ
[๑๓๑] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “นิจจาเอ๋ยเคยบำรุงผ้านุ่งห่ม”
[๑๓๒] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เหมือนหายยศหมดรักมาปลักปลอม”
[๑๓๓] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ที่”
[๑๓๔] พายุ
[๑๓๕] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “คนึง”
[๑๓๖] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “นัยนา”
[๑๓๗] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เวียน”
[๑๓๘] ตรับ แปลว่า ตั้งใจฟัง สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ตริ่งตรับ”
[๑๓๙] ปล่ง คือ ตลอด จะแจ้ง สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “หวังจะปะพระปรอทที่ปลอดโปร่ง”
[๑๔๐] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “แม้น”
[๑๔๑] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “แก่กลับกลายหนุ่มเนื้อนั่นเรื่อเหลือง”
[๑๔๒] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เป็น”
[๑๔๓] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “มา”
[๑๔๔] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “กลุ้ม”
[๑๔๕] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “พอ”
[๑๔๖] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “พอ”
[๑๔๗] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “มา”
[๑๔๘] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เหมือนโกรธขึ้งหึงหวงด้วยช่วงชิง”
[๑๔๙] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ดูตรองตรอดเตรียมตรอยตรองก๋อยโกร๋น”
[๑๕๐] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ขู่”
[๑๕๑] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “สอด”
[๑๕๒] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เปรียบเหมือนคนช่างสะดึงรู้ตรึงตรอง”
[๑๕๓] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ว่า”
[๑๕๔] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ประคอง”
[๑๕๕] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “กับ”
[๑๕๖] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “แรง”
[๑๕๗] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เห็นแต่”
[๑๕๘] ถนอม
[๑๕๙] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “รัญจวน”
[๑๖๐] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ยาม”
[๑๖๑] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ปัทม์”
[๑๖๒] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เชิงผนังหนาแน่นด้วยแผ่นผา”
[๑๖๓] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “หมอง”
[๑๖๔] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ทรงจำลองลายหัตถ์ปฏิมา”
[๑๖๕] ตราบ
[๑๖๖] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ให้”
[๑๖๗] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ให้”
[๑๖๘] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ถึงสิ่วขวานผลาญเพนินไม่เยิ่นยู่”
[๑๖๙] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ใน”
[๑๗๐] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “มิใคร่จะดับ”
[๑๗๑] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ให้”
[๑๗๒] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “โขด”
[๑๗๓] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “สนิทพิศมัย”
[๑๗๔] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เคย”
[๑๗๕] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เย็บระเรื่อยเฉื่อยฉ่ำด้วยนํ้าค้าง”
[๑๗๖] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “พราย”
[๑๗๗] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ขอ”
[๑๗๘] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “จน”
[๑๗๙] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ปลิว”
[๑๘๐] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ร่วง”
[๑๘๑] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “จนดึกดื่นรื่นร่มลมสงัด”
[๑๘๒] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เป็นขอบเขต”
[๑๘๓] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “สำเนียงดังตึงเปรี้ยงแซ่เสียงคน”
[๑๘๔] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ทั้ง”
[๑๘๕] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ที่บนโขด”
[๑๘๖] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “แสงอุทัยรุ่งขึ้นจึงฟื้นกาย”
[๑๘๗] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ท่าน”
[๑๘๘] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “คัด”
[๑๘๙] อาถรรพณ์
[๑๙๐] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “จนวันตาย”
[๑๙๑] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ยัง”
[๑๙๒] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ไป”
[๑๙๓] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ลงคลุมเครือ”
[๑๙๔] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ออก”
[๑๙๕] คือ พระยาไชยวิชิต (เผือก) เจ้าเมืองอยุธยา สหายสนิทของพระภู่
[๑๙๖] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ทั้ง”
[๑๙๗] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “มาทีไรได้นิมนต์ปรนนิบัติ”
[๑๙๘] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “บำรุบำรุง”
[๑๙๙] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เปล่งปลั่ง”
[๒๐๐] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ได้หยุดอยุธยา” และชื่ออยุธยาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นั้นหมายถึงกรุงเทพฯ
[๒๐๑] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ที่เขามีดีจาก”
[๒๐๒] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “นารีใดไร้รักอย่าหนักหน่วง จะโรยร่วงรกเรี้ยวแห้งเหี่ยวหาย”
[๒๐๓] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “เมตตา”
[๒๐๔] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “ใจ”