ความนำ

แม้ช่วงเวลาที่สุนทรภู่ได้รับการยกย่องให้เป็นกวีระดับโลกจะล่วงไปเกือบ ๓ ทศวรรษ แต่ไม่น่าเชื่อว่าความคลุมเครือเกี่ยวกับสุนทรภู่นั้นยังคงมีอีกหลายเรื่อง แต่ที่ประจักษ์ชัดและไม่มีใครปฏิเสธก็คือ สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความชำนาญทางด้านการประพันธ์กลอน มีผลงานที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก โดยเฉพาะนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี ได้รับยกย่องว่าเป็นผลงานที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมากที่สุด ส่วนประดิษฐการสำคัญที่ท่านฝากไว้เป็นมรดกในแวดวงวรรณศิลป์ก็คือ ท่านได้สร้างขนบการประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่ จนกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

สุนทรภู่เป็นกวีที่สร้างผลงานประเภทนิราศไว้เป็นอันมาก แต่มีนิราศของท่านเพียง ๒ เรื่อง คือ โคลงนิราศสุพรรณ กับกลอนนิราศวัดเจ้าฟ้า เท่านั้น ที่สุนทรภู่เดินทางเพื่อไปทำกิจธุระของตัวเอง คือ หาของวิเศษเพื่อนำมาเล่นแร่แปรธาตุ และหายาอายุวัฒนะเพื่อต้องการที่จะมีชีวิตที่เป็นอมตะ ในขณะที่นิราศเรื่องอื่น ๆ ล้วนไปทำกิจอันเนื่องด้วยราชการแทบทั้งสิ้น นอกจากนี้ผู้ที่อ่านนิราศสุพรรณและนิราศวัดเจ้าฟ้ามักจะมีความคิดเห็นตอนท้ายว่าไม่ทราบว่าท่านเดินทางไปถึงที่ใด ทั้งแก่นสารของเรื่องก็มีแต่ความเชื่อในสิ่งซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ แม้บางส่วนจะเสนอเรื่องราวที่เป็นจริง โดยเฉพาะสถานที่ ผู้คน เหตุการณ์และเรื่องเล่าที่อยู่ในท้องถิ่นโดยผ่านสายตาของกวีก็ตาม

ปริศนาในนิราศวัดเจ้าฟ้า

วัดเจ้าฟ้า ในบทกลอนมีชื่อเต็มว่า “วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์” แม้ปัจจุบันยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นวัดใด และตั้งอยู่ในจังหวัดใด โดยทั่วไปมักรับรู้ว่า สุนทรภู่น่าจะแต่งนิราศวัดเจ้าฟ้าในช่วงรัชกาลที่ ๓ ราวพุทธศักราช ๒๓๗๕ เมื่อครั้งอุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยตั้งใจจะไปหาของวิเศษ คือปรอทและยาอายุวัฒนะที่วัดดังกล่าว แต่วิธีการประพันธ์ท่านแต่งเป็นสำนวนเณรพัดผู้เป็นบุตร เนื่องจากขณะนั้นสุนทรภู่อยู่ในสมณเพศ จึงต้องระมัดระวังตัว ดังนั้น การแต่งในนามของเณรหนูพัด ทำให้สามารถออกกระบวนกลอนและแสดงความคิดเห็นได้รสชาติมากกว่า นิราศเรื่องนึ้โรงพิมพ์ครูสมิท บางคอแหลม พิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๑๗

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระวินิจฉัยเรื่องประวัติการแต่งนิราศวัดเจ้าฟ้าไว้ก่อนหน้านี้ว่า เมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๕ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชพระ เวลานั้นสุนทรภู่บวชอยู่ได้ราวสัก ๖ พรรษา ด้วยเหตุที่เจ้านายสมัยนั้นมักโปรดทรงศึกษาการแต่งกลอน อาจจะมีรับสั่งชวนสุนทรภู่มาอยู่วัดพระเชตุพนในเวลาทรงผนวชอยู่ที่วัดนั้น เมื่อสุนทรภู่มาอยู่วัดพระเชตุพน บุตรคนใหญ่ที่ชื่อพัดบวชเป็นสามเณร เห็บจะบวชมาแต่บิดายังอยู่วัดเทพธิดาราม สุนทรภู่มาอยู่วัดพระเชตุพนแล้วพาเณรพัดกับบุตรคนเล็กที่ชื่อตาบไปพระนครศรีอยุธยาอีกครั้งหนื่ง แต่งเรื่องนิราศวัดเจ้าฟ้าเมื่อไปคราวนี้ แต่แกล้งแต่งให้เป็นสำนวนเณรพัดว่า

  เณรหนูพัดหัดประดิษฐ์คิดอักษร
เป็นเรื่องความตามติดท่านบิดร กำจัดจรจากนิเวศเชตุพน

เมื่อเรือถึงวัดระฆังกล่าวว่า

ถึงวัดระฆังบังคมบรมธาตุ แทนพระบาทบุษบงองค์อัปสร
ไม่ทันลับกัปกัลป์พุทธันดร พระด่วนจรสู่สวรรคครรไล
ละสมบัติขัตติยาทั้งข้าบาท โอ้อนาถนึกน่านํ้าตาไหล
เป็นสูญลับนับปีแต่นี้ไป เหลืออาลัยแล้วที่พระมีคุณ

ความตรงนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า เจ้าครอกข้างในซึ่งเป็นพระอัครชายาของกรมพระราชวังหลังสิ้นชีพก่อนนั้นไม่นานนัก และได้พระราชทานเพลิงที่วัดระฆังโฆสิตาราม ส่วนสาเหตุที่สุนทรภู่ไปกรุงศรีอยุธยาคราวนี้ เพราะได้ลายแทงมาแต่เมืองเหนือ ว่ามียาอายุวัฒนะฝังไว้ที่วัดเจ้าฟ้าอากาศฯ จีงพยายามไปหายาอายุวัฒนะนั้น เมื่อขึ้นไปถึงกรุงฯ ไปขึ้นบกที่วัดใหญ่ ได้อธิษฐาน ณ ที่นั้น มีคำอธิษฐานตอนหนึ่งว่า

อนึ่งเล่าเจ้านายที่หมายพึ่ง ให้ทราบซึ่งสุจริตพิสมัย
อย่าหลงลิ้นหินชาติขาดอาลัย นํ้าพระทัยทูลเกล้าให้ยาวยืน

ความที่อธิษฐานนี้ แสดงว่าเวลานั้นสุนทรภู่กำลังหมายจะพึ่งพระองค์เจ้าลักขณานุคุณดังได้กล่าวแล้ว ครั้นออกจากวัดใหญ่เดินบกต่อไปทางทิศตะวันออกคืนหนึ่งถึงวัดเจ้าฟ้า ว่าไปทำพิธีจะขุดก็เกิดกัมปนาทหวาดไหวด้วยฤทธิ์ปีศาจ ไม่อาจขุดได้ ต้องพากันกลับมา

ปริศนาสำคัญเกี่ยวกับช่วงเวลาในการประพันธ์ มีนัยสำคัญที่แฝงอยู่ในนิราศวัดเจ้าฟ้าฉบับตรวจสอบชำระ พ.ศ. ๒๕๕๘ นี้ โดยเฉพาะบทที่เมื่อเรือถึงวัดระฆังกล่าวว่า “ถึงวัดระฆังบังคมบรมธาตุ แทบพระบาทบุษบงองค์อัปสร ไม่ทันลับกัปกัลป์พุทธันดร พระด่วนจรสู่สวรรคครรไล” ความตรงนี้บ่งว่าสุนทรภู่ได้นบไหว้ที่รำลึกถึง เจ้าครอกข้างใน ซึ่งเป็นพระอัครชายาของกรมพระราชวังหลัง

เจ้าครอกข้างในซึ่งเป็นพระอัครชายาในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ เจ้าครอกทองอยู่ ท่านประสูติในช่วงปลายสมัยอยุธยา สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๒ เชิงตะกอนที่ถวายพระเพลิงเจ้าครอกทองอยู่ที่วัดอัมรินทราราม อาจเป็นได้ว่า เวลาถวายเพลิงศพเจ้าครอกทองอยู่เป็นข้างขึ้นเดือน ๑๑ ปีวอก อัฐศก ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๗๙ ส่วน พระอัฐินั้นบรรจุไว้ในพระปรางค์ที่วัดระฆังโฆสิตาราม ด้วยเหตุนี้ จึงพอกำหนดได้ว่า ท่านสุนทรภู่คงจะเดินทางไปวัดเจ้าฟ้า ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และแต่งนิราศวัดเจ้าฟ้านี้ขึ้นในปลายปีนั้นหรือปีถัดมา แต่ไม่ก่อนหน้านั้น และด้วยเหตุที่พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ซึ่งท่านสุนทรภู่เคยได้พึ่งพระบารมีอยู่ ได้สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๗๘ แล้ว จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว ทำให้พระวินิจฉัยเรื่องประวัติการแต่งนิราศวัดเจ้าฟ้าที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีไว้ก่อนหน้านี้เป็นอันตกไป และเป็นไปได้ว่าท่านสุนทรภู่คงกำลังคิดหาที่พึ่งอื่นต่อไปอีก จึงมีความบอกไว้ในนิราศอีกแห่งหนึ่งว่า

อนึ่งเล่าเจ้านายที่หมายพึ่ง ให้ทราบซึ่งสุจริตพิสมัย
อย่าหลงลิ้นหินชาติขาดอาลัย นํ้าพระทัยทูลเกล้าให้ยาวยืน

ซึ่งก็แสดงอยู่ว่าสุนทรภู่คงจะได้มีโอกาสเริ่มติดต่อและหวังพึ่งพระบารมีของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่แล้ว จึงเผยความในใจออกมาตีแผ่ไว้อย่างน่ารู้ในกลอนนิราศเรื่องนี้ด้วย

นิราศวัดเจ้าฟ้า เป็นนิราศเชิงผจญภัยที่สนุกสนานมากอีกเรื่องหนึ่ง หากเปรียบเทียบกับนิราศสุพรรณที่มีการผจญภัย เสาะหาแร่ปรอทและยาอายุวัฒนะเหมือนกันแล้ว ในความเห็นของผู้อ่านทั่วไปมักรู้สึกว่า ท่านสุนทรภู่แต่งเรื่องนี้ได้ออกรสชาติกว่า ลางทีจะเป็นเพราะแต่งเป็นกลอน ซึ่งเป็นแนวถนัดของท่าน และทุกคนต่างก็ยอมรับลีลาการประพันธ์ลักษณะนี้ของท่านก็เป็นได้

ปริศนาถัดมา คือ ฉบับเดิมจะเปิดนิราศด้วยวรรคแรกที่ขึ้นว่า “เณรหนูพัดหัดประดิษฐ์คิดอักษร” แต่ฉบับตรวจสอบชำระ พ.ศ. ๒๕๕๘ บทแรกขึ้นว่า “วันประหัศพัทเพียรเขียนอักษร เป็นเรื่องความตามติดท่านบิดร คราจักจรจากนิเวศเชตุพน” ทำให้ทราบว่างานวรรณกรรมชิ้นนี้เริ่มเขียนขึ้นในวันพฤหัสบดี แต่ก็ต้องขบคิดให้รอบคอบว่าวันที่เริ่มเขียนนิราศเรื่องนี้คือนับแต่วันแรกที่ออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ หรือเริ่มเขียนหลังจากเดินทางกลับมาจากวัดเจ้าฟ้าแล้ว ซึ่งประเด็นนี้จะนำมาอรรถาธิบายต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานมูลนิธิสุนทรภู่ ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับผู้แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้าว่า เดิมทีเชื่อกันว่า สุนทรภู่แต่งโดยอ้างชื่อเป็นเณรหนูพัดซึ่งเป็นลูกขายคนโต ด้วยเหตุผลว่า เป็นเรื่องที่มีเนื้อหารัก ๆ ใคร่ ๆ ไม่เหมาะแก่สมณเพศ แต่เมื่อได้พิจารณาเนื้อหาจากข้อมูลที่ผู้ตรวจชำระส่งไปให้พิจารณาใหม่ ท่านมีความเห็นว่า ทั้งเนื้อหา ลีลาภาษาที่เรียกกันว่าฝีปาก รวมทั้งการสะท้อนความรู้สึกจากประสบการณ์ น่าจะเป็นไปได้อย่างสูงว่าเรื่องนี้เป็นผลงานของผู้แต่ง ๒ คน คือ เณรหนูพัดเริ่มแต่งก่อนในลักษณะฝึกเขียนแล้วพระสุนทรภู่มาช่วยตรวจแก้ และการผสานฝีมือการประพันธ์ตรงนี้คือเสน่ห์แรกที่ได้เห็น ส่วนเสน่ห์ในเรื่องนิราศวัดเจ้าฟ้าด้านอื่น ๆ ก็มีตั้งแต่เรื่องของตำนานนิทานที่ซ่อนอยู่ ด้านเสียง คำ สำนวน อีกทั้งในข้อมูลที่ชำระใหม่ก็ช่วยคลายข้อที่เคยสงสัยมานานเกี่ยวกับความหมายได้อีกมาก

ประเด็นที่ศาสตราจารย์ ดร.ชลดา สันนิษฐานนั้นมีความเป็นไปได้สูง เพราะเนื้อหาในนิราศวัดเจ้าฟ้าได้ระบุว่า ในคณะมีบุตรชายไปด้วย ๒ คน คือสามเณรพัด กับนายตาบ และมีศิษย์ตามไปด้วยอีก ๔ คน ระบุไว้ในนิราศนี้มีชื่อ กลั่น (คือสามเณรกลั่น ผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง เมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๖) จัน มาก และบุนนาก กับมีคนแจวเรืออีก ๒ คน ซึ่งคงจะเป็นผู้ใหญ่ คือ ตามา และตาแก้ว ทั้งยังบ่งบอกถึงความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของภิกษุสุนทรภู่เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากบทเรียนที่ได้รับเมื่อคราวไปหาของวิเศษในนิราศสุพรรณที่ท่านไม่ได้รักษาศีลและสร้างกุศลอย่างเคร่งครัดเพราะยังคงเป็นฆราวาสอยู่ ทำให้ท่านไม่ได้ของวิเศษดังประสงค์ หากได้อ่านโคลงนิราศสุพรรณเทียบกับกลอนนิราศวัดเจ้าฟ้าแล้ว จะเห็นได้ว่าในนิราศสุพรรณท่านจะมีความคิดโลดโผนแบบฆราวาสมาก ในขณะที่ในนิราศวัดเจ้าฟ้าเมื่อท่านมีโอกาสอยู่ในที่สงบเมื่อใด ท่านจะอุทิศส่วนกุศลแผ่ส่วนบุญให้เจ้าที่เจ้าทางและยังเป็นที่พึ่งของคณะบุคคลที่ตามไปด้วย ดังเช่นเหตุการณ์ชวนขนหัวลุกระหว่างพักแรมที่วัดมอญเชิงราก

ต้นไทรครึ้มงึมเงียบเซียบสงัด พระพายพัดเฉื่อยเฉียวเสียวสยอง
เป็นป่าช้าอาวาสปีคาจคะนอง ฉันพี่น้องนี้ไม่คลาดบาทบิดา
ท่านนอนหลับตรับเสียงสำเนียงเงียบ ยิ่งเย็นเยียบเยือกสยองพองเกศา
เสียงผีผิ่วหวิวโหวยโหยวิญญาณ์ ภาวนาหนาวนิ่งไม่ติงกาย
บรรดาศิษย์บิดรที่นอนนอก ผีมันหลอกลากปลํ้าพลิกควํ่าหงาย
ลุกขึ้นบอกกลอกกลัวทุกตัวนาย มันสาดทรายกรวดโปรยเสียงโกรยกราว
ขึ้นสั่นไทรไหวยวบเสียงสวบสาบ เป็นเงาวาบหัวหกเห็นอกขาว
หนูกลั่นกล้าคว้าได้รากไทรยาว หมายว่าสาวผมผีร้องนี่แน
พอพระตื่นฟื้นกายค่อยคลายจิต บรรดาศิษย์เคียงข้างไม่ห่างแห
ท่านห่มดองครองเคร่งไม่เล็งแล ขึ้นบกแต่องค์เดียวดูเปลี่ยวใจ
สำรวมเรียบเลียบรอบขอบป่าช้า ตั้งเมตตาตามสงฆ์ไม่หลงใหล
พบศพฝังบังสุกุลส่งบุญไป เห็นแสงไฟรางรางสว่างเวียน

ส่วนสำนวนและลีลาในการประพันธ์นั้น จะเห็นได้ว่าไม่สม่ำเสมอ บางตอนก็โลดโผนตามประสาหนุ่ม เช่น

พวกสาวสาวเกล้ามวยสวยสะอาด แต่ขยาดอยู่ด้วยว่านุ่งผ้าถุง
ทั้งห่มผ้าตารีเหมือนสีรุ้ง ทั้งผ้านุ่งนั้นก็อ้อมลงกรอมตีน
เมื่อยกเท้าก้าวย่างสว่างแวบ เหมือนฟ้าแลบแลผาดแทบขาดศีล
นี่หากเห็นเป็นเด็กถ้า[๑]เจ๊กจีน เจียนจะปีนชุ่มซ่ามไปตามนาง

บางตอนก็ให้ข้อคิดทางธรรมที่ลุ่มลึกจากประสบการณ์ของคนที่ผ่านโลกมามาก เช่น

ถึงปากง่ามนามบอกบางกอกน้อย ยิ่งเศร้าสร้อยทรวงน้องดังต้องศร
เหมือนน้อยทรัพย์ลับหน้านิราจร เที่ยวแรมรอนราวไพรใจรำจวน[๒]
เคยชมเมืองเรืองระยับจะลับแล้ว ไปชมแถวทุ่งท่าล้วนป่าสวน
เอยดูดีพี่ป้าหน้านวลนวล จะว่างเร้นเหนล้วนแต่มอมแมม
เคยชมชื่นรื่นรสแป้งสดสะอาด จะชมหาดเห็นแต่จอกกับดอกแขม
โอ้ใจจืดมืดเหมือนเมือเดือนแรม ไม่เยื้อนแย้มกลีบกลิ่นให้ดิ้นโดย
เสียดายดวงพวงผกามณฑาทิพย์ เห็นลิบลิบแลชวนให้หวนโหย
เพราะหวงหุ้ม[๓]ภุมรินไม่บินโบย จะร่วงโรยรสสิ้นกลิ่นผกา ฯ

หากเนื้อความตอนท้ายนิราศที่ว่า

ประหลาดเหลือเรือวิ่งจริงจริงเจียว มาคืนเดียวก็ได้หยุดถึงอยุธยา

จึงจดหมายรายเรื่องที่เคืองเข็ญ ไปเที่ยวเล่นลายแทงแสวงหา

ซึ่งถอดความได้ว่ากวีรู้สึกแปลกใจว่าการเดินทางขากลับทำไมถึงได้รวดเร็วนัก เพราะแค่ชั่วคืนเดียวก็กลับมาถึงเมืองหลวง (คำว่าอยุธยาในที่นี้หมายถึงกรุงเทพฯ) และเมื่อกลับมากวีก็เริ่มเขียนนิราศเรื่องนี้เพื่อบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับความลำบากในการเดินทางตามลายแทงทันที

หากข้อสรุปลักษณะเด่นเกี่ยวกับการนำเสนอเนื้อความในวรรณกรรมของสุนทรภู่ที่ว่าเป็นกวีที่เขียนบรรยายเรื่องตามความเป็นจริงยังคงเชื่อถือได้ การที่สุนทรภู่และคณะได้เดินทางไปแสวงหาของวิเศษที่วัดเจ้าฟ้าด้วยกัน ซึ่งการเดินทางใช้เวลาประมาณ ๕-๖ คืน ประกอบกับตามตำราการหาปรอทแต่โบราณนั้นจะถือฤกษ์ยาตราคือวันเวลาในการออกเดินทางว่ามีความสำคัญยิ่งที่จะต้องเป็นวันมงคล ก็น่าจะชี้ชัดได้ว่าวันพฤหัสบดีที่ระบุไว้ตั้งแต่ต้นนิราศ อาจจะมีความหมายว่าเป็นวันเริ่มเขียนนิราศด้วยฝีมือเณรพัดที่แท้จริง แล้ววันนั้นก็คือวันเริ่มเดินทางของท่าน และประมาณ ๖-๗ คืนหลังจากนั้น เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว ภิกษุสุนทรภู่มีเวลา จึงมาปรับแก้สำนวนภาษาให้ ด้วยเห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวท่านไม่จำเป็นต้องรักษาศีลให้เคร่งครัดหรือต้องปฏิบัติตามตำราเหมือนกับเมื่อตอนเดินทางหวังที่จะได้ของวิเศษแล้ว

เนื้อหาในกลอนนิราศวัดเจ้าฟ้าลำดับเหตุการณ์ว่า วันพฤหัสบดีเณรพัดพยายามเขียนนิราศเรื่องนี้ โดยไม่ได้ระบุว่าเริ่มเขียนตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่เริ่มออกเดินทาง หรือพฤหัสบดีถัดมาหลังจากเดินทางกลับแล้ว โดยท่านออกเดินทางจากวัดพระเชตุพนฯ เวลาเย็น “เมื่อตะวันสายัณห์ยํ่า” ผ่านวัดระฆัง ไหว้ทั้งพระธาตุและเจ้านายฝ่ายในที่เพิ่งสิ้นไป ผ่านปากง่ามบางกอกน้อย บางพรม บางจาก บางพลู บางอ้อ บางซ่อน บางเขน ตลาดแก้ว วัดตั้งฝั่งสมุทร วัดเขียน คลองขวาง บางศรีทอง บางแพรก ตลาดขวัญ บางขวาง บางธรณี ปากเกร็ด บางพูด บางกระไน วัดเทียนถวายบ้านใหม่ และเนื้อความ “ไม่เห็นฝั่งฟั่นเฟือนด้วยเดือนแรม” บอกให้รู้ว่าช่วงเดินทางเป็นคืนข้างแรม ก่อนจะผ่านบางทะแยง และคืนแรกพักแรมในเรือใต้ต้นไทรที่วัดมอญเชิงราก ตกดึกพระภู่เข้าป่าช้า จนได้เวลาพระตื่นจึงเดินจงกรมแผ่ส่วนกุศล

รุ่งขึ้นวันศุกร์ ท่านออกเดินทางแต่ก่อนรุ่งสาง ผ่านบางหลวง ฉันจังหันและเห็นการแห่นาคที่บางกระแชง ซึ่งช่วยยํ้าข้อสันนิษฐานว่าเป็นการเดินทางช่วงหน้าแล้ง เพราะชาวบ้านนิยมให้ลูกหลานบวชเรียนในช่วงเวลาดังกล่าว ด้วยสังคมที่ทำอาขีพเกษตรกรรมยังไม่มีภาระงานหนักในช่วงนั้น แล้วออกเดินทางผ่านสามโคก บ้านงิ้ว โพแตง ราชคราม คงเป็นช่วงแล้งมากถึงขนาดมีไม้แห้งจนเกิดไฟไหม้ป่า สุนทรภู่เห็นควันไฟกับฝูงแร้งร่อน ผ่านบางไทร เกาะเกิด เกาะพระ เกาะเรียง บางปะอิน เกาะเรียน ขึ้นไปไหว้พระปุนเถ้ากงที่วัดพนัญเชิง โดยเก็บดอกโศกและดอกรักถวายพระ ซึ่งโดยธรรมขาตินั้น โศกจะออกดอกราวปลายเดือนมกราคมถึงช่วงเป็นฝักราวเดือนพฤษภาคม แล้วเข้าคลองสวนพลู บอกให้รู้ว่ามาครั้งนี้จะมาหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่ได้มา จนถึงวัดใหญ่ชายทุ่งซึ่งมีเจดีย์สูงตระหง่าน

คืนที่ ๒ ตกค่ำมีพายุฝน จนดึกท่านจึงตักนํ้าผึ้งไปจับปรอท ทำอยู่หลายครั้งจนเห็นดาวประกายพรึกขึ้น (ศุกร์เพ็ญทางดาราศาสตร์ระบุว่าเห็นดาวดวงนี้ได้ตั้งแต่ตี ๓) ที่สุดปรอทที่ว่าจะได้มา ๓ องค์ก็หนีไป นำพระธาตุมาสรงนํ้า ดูลายแทงอีกครั้ง จัดเครื่องจันทน์จวงเสร็จแล้ว เดินทางตามคลองไปทางทิศตะวันออกด้านทุ่งหลวงตอน ๑๐ ทุ่ม เดินทางตามลายแทงไปจนสุดปลายคลองที่หนองพลวง ต้องเดินเท้า เกิดตกใจเพราะเห็นควายนอนปลักสาหร่ายลุกขึ้นมานึกกันว่าเจอปีศาจ รายละเอียดที่น่าขบขันนี้สะท้อนให้เห็นว่าสุนทรภู่และคณะเดินตัดทุ่งไป ซึ่งหากเป็นหน้าน้ำคงเดินทางเช่นนี้ไม่ได้ เพราะต้องอ้อมขึ้นไปตอนเหนือทุ่งอุทัยตามเส้นทางที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยทรงใช้เมื่อคราวฝ่าวงล้อมกองทัพกรุงอังวะไปทางหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก

วันเสาร์เช้าถึงป่าเกรียน พบนกกระจาบนับหมื่นกำลังคาบหญ้ามาทำรังกัน ก็ยิ่งทำให้เชื่อว่าอยู่ในราวเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน เพราะธรรมชาตินกกระจาบตัวผู้จะซ่อมรังเพื่อรับฤดูกาลผสมพันธุ์ในราวเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมชองทุกปี เมื่อพ้นป่าก็ถึงโป่งหอยโข่ง มองเห็นตาลโดดและทิวไผ่อยู่เหมือนที่บอกไว้ในลายแทง จึงเดินตัดทางไปกลางทุ่ง ตั้งแต่เช้ามาพักร้อนตอนเพล จนแดดอ่อนจึงเดินทางต่อจนจวบเย็นจึงถึงเนินตาลโดดเห็นนกยูงหาคู่ พบโบสถ์วิหารร้างและพระ ทั้งอ้างตำนานเรื่องพระเจ้าตะเภาทอง ตกคํ่าท่านจึงทำพิธีหายาอายุวัฒนะแต่ว่าทำการไม่สำเร็จด้วยถูกอาถรรพณ์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำแดงฤทธิ์เป็นพายุฝน พัดเอาข้าวของเครื่องบัดพลีบวงสรวงตลอดจนผ้าห่มและตำราลายแทงปลิวหายไปหมด

ท่านมาฟื้นคืนสติตอนเที่ยงวันอาทิตย์ รีบขอขมาพระ กรวดนํ้า คว่ำขันล้มเลิกความคิดหาของวิเศษตามลายแทง แล้วรีบเดินทางย้อนกลับเส้นเดิมตั้งแต่บ่าย คืนที่ ๔ เร่งเดินทางกลับมาที่จอดเรือซึ่งจอดรอทั้งคืน จนรุ่งเช้าวันจันทร์จึงรู้ว่าหลงทาง ต้องเดาทางใหม่ มาถึงเรือที่ตามากับตาแก้วรออยู่ตอนเที่ยง ด้วยไม่เหลืออะไรติดตัวกลับมาเลย มื้อเพลจึงแวะไปอาศัยพระยาชัยวิชิต (เผือก) ผู้รักษากรุงเก่า ซึ่งเป็นเพื่อนของท่านมาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๒ แล้วจึงกลับเข้ากรุงเทพฯ

ช่วงเวลาตรงนี้ที่เป็นปัญหา ว่า คืนที่ ๕ ท่านได้ค้างแรมที่จวนพระยารักษากรุง แล้ววันอังคารหลังฉันเช้าที่จวนพระยารักษากรุง ท่านจึงเดินทางกลับ เพราะลำดับมื้อนั้นเป็น “เพลเช้า” เมื่อเดินทางถึงกรุงเทพฯ ในคืนที่ ๖ จึงบันทึกเรื่องราวการเดินทางในครั้งนี้ หรือว่าหลังจากที่ท่านรับของขบฉันจนมีเรี่ยวแรงแล้ว เย็นวันจันทร์ ท่านและคณะก็รีบกลับกรุงเทพฯ ในคืนที่ ๕ นั้นเลย เพราะความตอนนี้บันทึกไว้เพียงว่า

จะเลยตรงลงไปวัดก็ขัดข้อง ไม่มีของขบฉันจังหันหุง
ไปพึ่งบุญคุณพระยารักษากรุง ท่านบำรุงรักพระไม่ละเมิน
ทั้งเพลเช้าคาวหวานสำราญรื่น ต่างชุ่มชื่นชวนกันสรรเสริญ
ท่านสูงศักดิ์รักใคร่ให้จำเริญ อายุเกินกัปกัลป์พุทธันดร

จากรายละเอียดที่สุนทรภู่เล่าไว้ในนิราศ ไม่ว่าจะเป็นเห็นการแห่นาคที่บางกระแชง เห็นควันไฟไหม้ป่ากับฝูงแร้งร่อนที่ราชคราม การเก็บดอกโศกและดอกรักไหว้พระปุนเถ้ากงที่วัดพนัญเชิง พบนกกระจาบนับหมื่นกำลังคาบหญ้ามาทำรังกันที่ชายป่าเกรียน ตกใจเมื่อเห็นควายนอนปลักลุกขึ้นมาพร้อมสาหร่าย กระทั่งเห็นดาวประกายพรึกขึ้นตอนตี ๓ เป็นการบ่งบอกว่าคณะของท่านออกเดินทางในช่วงหน้าแล้งอย่างแน่นอน กอปรกับการที่รู้ว่าสุนทรภู่ออกเดินทางช่วงข้างแรมแต่ต้นนิราศ เป็นข้อมูลสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าสุนทรภู่มีความรู้เรื่องคาถาอาคมและการหาของวิเศษเป็นอย่างดี และคงมุ่งมั่นที่จะหาปรอทและยาอายุวัฒนะให้ทันคืนแรมเดือนมืด ซึ่งมีเวลาเพียงไม่นานนัก จึงส่งผลให้ท่านเลือกเดินทางบกลัดตัดทุ่งอุทัยแบบไม่ยอมพักแทนที่จะใช้เส้นทางลำนํ้าป่าสัก เพราะถึงแม้จะเดินทางสะดวกกว่าแต่ใช้เวลาในการเดินทางมาก เนื่องจากลำนํ้าช่วงสระบุรีกับอยุธยานั้นคดเคี้ยวมาก อาจไม่ทันฤกษ์ยามที่กำหนดไว้

จากข้อมูลทั้งหมดข้างต้นเมื่อนำมาคำนวณทางโหราศาสตร์หากวันที่สุนทรภู่เริ่มเดินทางกับวันที่เณรพัดเริ่มเขียนนิราศเป็นวันเดียวกัน นิราศวัดเจ้าฟ้าก็จะเริ่มเขียนเมื่อวันพฤหัสบดี ตรงกับแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๐๐ ตรงกับวันที่ ๑๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๘๑ เพราะกาลโยคปีนั้น วันพฤหัสบดีเป็นวันธงชัย และหากสุนทรภู่เริ่มแก้งานของเณรพัดหลังจากการเดินทาง หากไม่เป็น ๕ วัน ๕ คืน ก็เป็น ๖ วัน ๖ คืน ซึ่งเป็นไปได้ว่าท่านเริ่มปรับแก้ “นิราศวัดเจ้าฟ้า” ประมาณวันที่ ๒๕ หรือ ๒๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๘๑ หาใช่พุทธศักราช ๒๓๗๕ ดังที่เข้าใจกันมาแต่เดิมไม่

ปริศนาเกี่ยวกับเวลาในการประพันธ์ดูจะคลี่คลายได้ในระดับหนึ่ง แต่ “วัดเจ้าฟ้าอากาศฯ” ที่ปรากฏชื่อตามลายแทงในนิราศเรื่องนี้ ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าคือวัดใดในปัจจุบัน รู้แต่เพียงตำแหน่งกว้างๆ ว่า อยู่ทางแขวงเมืองทิศตะวันออกของอยุธยา

ปัจจุบันมีผู้เสนอความเห็นเกี่ยวกับวัดเจ้าฟ้าเป็น ๒ ทาง กลุ่มหนึ่งมีมติว่าวัดเจ้าฟ้าในนิราศของสุนทรภู่ คือ วัดเขาดิน ซึ่งตั้งอยู่ใน ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขณะที่สุจิตต์ วงษ์เทศ สันนิษฐานว่าวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์เป็นแต่เพียงชื่อในลายแทง แต่ไม่ได้มีวัดชื่อนี้อยู่จริง ตามความที่ว่า “...นามนั้นเขาเขียนแจ้งที่แท่งหิน วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ ให้ทราบสิ้นสืบสายเพราะลายแทง” แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเส้นทางตามนิราศ เชื่อว่าหลังจากเสร็จธุระที่วัดใหญ่ชัยมงคลแล้ว สุนทรภู่น่าจะลัดเลาะตามคลองที่มีอยู่มากมายเหมือนใยแมงมุมในยุคนั้นเข้าหาเส้นทางหลัก คือ คลองข้าวเม่า แล้วใช้คลองข้าวเม่านี้เดินทางไปทางทิศตะวันออกจนสุดปลายคลอง จากนั้นจึงขึ้นเดินบกลัดทุ่งไปที่ดอนจนถึงวัด ซึ่งวัดดังกล่าวเดิมสุจิตต์สันนิษฐานว่าน่า จะเป็น “วัดพระพุทธฉาย” แต่ภายหลังสันนิษฐานว่าน่าจะเป็น วัดสนมไทย (วัดเขาพนมโยง) ซึ่งอยู่ที่อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี มากกว่า

เมื่อได้มีโอกาสออกสำรวจภาคสนาม สอบทานชื่อบ้านนามเมือง ประกอบกับการศึกษาการเดินทัพตามตำราพิชัยสงครามแต่โบราณ เป็นไปได้ว่าวัดเจ้าฟ้าอากาศนั้นอยู่ในจังหวัดสระบุรี แต่อาจจะไม่ใช่วัดที่สันนิษฐานไว้ก่อนทั้ง ๒ แห่ง เพราะลายแทงที่ระบุว่าตำแหน่งวัดนั้นมี “ต้นตาลโดด” เป็นจุดสังเกตที่มีนัยสำคัญ อีกทั้งในนิราศก็ไม่ได้กล่าวเลยว่าวัดดังกล่าวอยู่บนเนินเขาสูงดังที่เข้าใจกันแต่อย่างใด เพราะความในนิราศเมื่อสุนทรภู่เดินลัดทุ่งออกมาได้แล้ว ก็ “...เห็นตาลโดดโขดคุ่มกระพุ่มไม้ มีทิวไผ่พงรายเหมือนลายแทง...” แล้ว “...ท่านหลีกลัดตัดทางไปกลางทุ่ง...” ไปถึงที่หมายตอนเย็น “..พอเย็นจวนด่วนเดินขึ้นเนินโขด ถึงตาลโดดดินพูนเป็นมูนสูง...”

ปัจจุบัน ไม่ห่างจากวัดพนมโยงมากนัก ยังคงมี “วัดตาลเดี่ยว” ซึ่งเป็นวัดเก่า สร้างมาแต่สมัยอยุธยา ต่อมาถูกทิ้งร้าง วัดนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ใบอำเภอแก่งคอย ภายหลังเมื่อมีชาวบ้านจากถิ่นอื่นอพยพมาอาศัยแถบนี้ จึงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่ แต่โบสถ์และเจดีย์เก่าถูกแม่นํ้าป่าสักเซาะพัง เหลือเศษซากอยู่บ้าง อาคารที่เป็นวิหารในปัจจุบันนี้คนที่เคยอยู่มาก่อนเล่าว่า เดิมเป็นโบสถ์เก่าสร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๐

หากสิ่งจำเป็นในการล่าลายแทงอยู่ที่การถอดรหัส น่าสนใจคำว่า “เดี่ยว” ซึ่งเป็นชื่อวัดและยังคงรักษาตาลเดี่ยวต้นเดิมไว้ให้เห็นอยู่ในบริเวณวัด เมื่อ “โดด” มีความหมายทางภาษาว่า อันเดียวเด่น ซึ่งมีไม่ต่างจากคำว่า “เดี่ยว” ที่หมายถึง อยู่โดยลำพัง เดียวเท่านั้น ดังนั้นการถอดรหัส “ตาลโดด” ตามภาษาปริศนาในลายแทง จะเป็นพื้นที่ตำแหน่งเดียวกับที่มีขึ้นให้เห็นอย่างโดดเด่น “ตาลเดี่ยว” ในความเป็นจริงได้หรือไม่ เรื่องนี้คงต้องรอผลการศึกษากันต่อไป

บรรณานุกรม

หนังสือ

ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. “ใครแต่งนิราศวัดเจ้าฟ้า” ใน วรรณลลิต. กรุงเทพฯ โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๖.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ขีวิตและงานของสุนทรภู่. พิมพ์ครั้งที่ ๑๕. กรุงเทพฯ: บรรณาคาร, ๒๕๔๓.

ต้นฉบับตัวเขียน

นิราศวัดเจ้าฟ้า. หอสมุดแห่งชาติ. หนังสือสมุดไทยดำ. อักษรไทย. ภาษาไทย. เส้นดินสอ. ม.ป.ป. เลขที่ ๑. ๖๙ หน้า.

นิราศวัดเจ้าฟ้า. หอสมุดแห่งชาติ. หนังสือสมุดไทยดำ. อักษรไทย. ภาษาไทย. เส้นหรดาล. ม.ป.ป. เลขที่ ๒. ๖๔ หน้า.



[๑] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “แม้น”

[๒] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “รัญจวน”

[๓] สมุดไทยเลขที่ ๒ เป็น “พุ่ม”

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ