นิราศพระแท่นดงรัง
๏ เณรหนูกลั่นวันทามหาเถร | |
ซึ่งอวยพรตทศธรรมเป็นสามเณร | พระคุณเท่าเขาพระเมรุไม่เอนเอียง |
สอนให้ทราบบาปบุญที่คุณโทษ | ผลประโยชน์ยืดยาวไม่ก้าวเถียง |
มาหมายมั่นพันผูกเป็นลูกเลี้ยง | ก็รักเพียงลูกยาให้ถาวร |
เป็นสัจธรรม์กรรุณา[๑]สานุศิษย์ | สุจริตรักร่ำเฝ้าพร่ำสอน |
ได้เรียนหนังสือถือศีลพระชินวร | ให้ถาพรพูนสวัสดิ์กำจัดภัย |
ขอพระคุณบุญญาปรีชาฉลาด | ที่เปรื่องปราชญ์เปรียบมหาชลาไหล |
จะคิดกลอนผ่อนปรนช่วยดลใจ | ให้พริ้งไพรเราะรสพจมาน |
จะกล่าวความตามที่ได้ไปพระแท่น | ถึงดงแดนด้วยศรัทธานั้นกล้าหาญ |
ในเดือนสี่ปีมะเส็งเพ็งวันอังคาร[๒] | มัสการพุทธรัตน์พระปัฏิมา |
ทั้งพรหมมินทร์อินทร์จันทร์ทุกชั้นช่อง | ช่วยคุ้มครองป้องกันให้หรรษา |
พอยามสองล่องเลื่อนค่อยเคลื่อนคลา | ออกมหานาค[๓]สนานสำราญใจ |
พระจันทร์ตรงทรงกลดขึ้นหมดเมฆ | ดูวิเวกเวหาพฤกษาไสว |
สงัดเงียบเยียบเย็นไม่เห็นใคร | ล่องไปในแนวคลองเมื่อสองยาม |
๏ ถึงเชิงเลน[๔]เห็นแต่เรือเกลือสล้าง | เรือโอ่งอ่างแอบจอดตลอดหลาม |
ทุกพ่วงแพแลไม่เห็นไฟตาม | ถึงอารามวัดเลียบ[๕]ยิ่งเยียบเย็น |
เห็นถิ่นฐานบ้านช่องของคุณปู่ | ที่เคยอยู่มาแต่หลังก็ยังเห็น |
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น | เมื่อปู่เป็นเจ้าคุณสุรเสนา[๖] |
ไม่มีพ่อก็ได้บุญของคุณปู่ | ให้กินอยู่กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงรักษา |
ได้อยู่เย็นเป็นสุขทุกเวลา | ทั้งคุณป้าคุ้มครองช่วยป้องกัน |
ขอกุศลผลผลาให้ป้าปู่ | ได้ไปสู่ทิพสถานพิมานสวรรค์ |
เสวยสุขทุกเวลาทิวาวัน | จนล่วงลับกัปกัลป์พุทธันดร |
โอ้สิ้นบุญคุณปู่อยู่แต่ย่า | ได้พึ่งพาภิญโญสโมสร |
มาปลดเปลื้องเคืองขัดถึงตัดรอน | โอ้ชาติก่อนกรรมสร้างไว้อย่างไร |
ทั้งพ่อแม่แลลับอัประภาค | คิดถึงยากอย่างจะพาเลือดตาไหล |
เป็นกำพร้าว้าเหว่ร่อนเร่ไป | นี่หากได้พึ่งพระค่อยสบาย |
ได้ถือธรรมสามเณรกินเพลเช้า | ศีลพระเจ้ามิได้ช้ำสล่ำสลาย |
แบ่งกุศลผลบุญแทนคุณยาย | ได้ดื่มสายเลือดอกช่วยปกครอง |
ยังยากจนทนทุเรศสังเวชจิต | เหลือจะคิดแทนคุณการุณสนอง |
โอ้ชาตินี้วิบัติขัดเงินทอง | มีแต่ต้องย่อยยับอัประมาณ |
ฝ่ายคุณย่าอาพี่ซึ่งมียศ | จงปรากฏตราบกระลาปาวสาน |
ถึงตัดรอนค่อนว่าด่าประจาน | พระคุณท่านมากกว่าแผ่นฟ้าดิน |
ไม่โกรธตอบขอบคุณส่วนบุญบวช | ได้ตรึกตรวจน้ำคิดเป็นนิจศิล |
ให้เป็นสุขทุกทิวาอย่าราคิน | ฉันนี้สิ้นวาสนาขอลาไป |
พอนาวามาถึงช่องคลองบางหลวง[๗] | ครรไลล่วงลอยลำตามน้ำไหล |
ดูเหย้าเรือนเดือนหงายสบายใจ | ล้วนต้นไม้สวนสล้างสองข้างคลอง |
๏ ถึงวัดหงส์เห็นแต่หงส์เสาธงปัก | หงส์สลักก่อนเก่าดูเศร้าหมอง |
เหมือนตัวเราเผ่าพงศ์เพียงหงส์ทอง | ตัวมาต้องเป็นการะอาอาย |
โอ้เสียชาติวาสนาเอ๋ยอาภัพ | สุดจะนับว่านเครือในเชื้อสาย |
ข้างหน้าเห็นเป็นแมงกุฉลุลาย | ส่วนข้างท้ายสิเหมือนดังว่ามังกร |
๏ จนล่วงทางบางยี่เรือฝั่งเหนือใต้ | ล้วนไม้ไหล้ซ้อนซับสลับสลอน |
เห็นคุ่มคุ่มคลุมเครือริมเรือจร | หอมเกสรเสาวคนธ์ที่หล่นโรย |
ประเดี๋ยวเดียวเลี้ยวล่องเข้าคลองด่าน | เห็นแต่บ้านเรือกสวนให้หวนโหย |
ระรื่นรินกลิ่นโศกมาโบกโบย | บ้างร่วงโรยริมชลาที่อาราม |
๏ เห็นวัดหมู[๘]รู้ว่าคุณป้า[๙]สร้าง | ครั้นจะอ้างว่าเป็นเชื้อก็เหลือขาม |
ขอภิญโญโมทนาสง่างาม | ให้อารามเรืองรื่นอยู่ยืนยาว |
โอ้ไม่ถึงครั้งชาติสิ้นญาติ | อโหสิจะสู้บวชจนหนวดขาว |
โอ้เย็นฉ่ำน้ำค้างลงพร่างพราว | ดูดวงดาวเดือนคล้อยละห้อยใจ |
ประมาณสามยามเงียบเซียบสงัด | มาถึงวัดจอมทองดูผ่องใส |
มีเกาะขวางกลางชลาพฤกษาไทร | ยังจำได้พรั่งพร้อมวัดจอมทอง[๑๐] |
คุณย่าพามาที่นี่ทั้งพี่สาว | เมื่อครั้งคราวมีงานการฉลอง[๑๑] |
ทั้งคุณอามาดูงานในม่านทอง | ฉันพี่น้องได้ไปนั่งหลังคุณอา |
ทั้งเจ้าครอกออกมาตามเสด็จด้วย | ได้พุ่งพวยผุดผาดพึ่งพาสนา |
โอ้เคราะห์กรรมจำขาดญาติกา | เพราะศรัทธาถือศีลพระชินวร |
๏ ทุกวันนี้มีแต่ครูเอ็นดูเลี้ยง | ได้พึ่งเพียงพุ่มโพสโมสร |
พระคุณใครไม่เท่าคุณพระสุนทร[๑๒] | เหมือนบิดรโดยจริงทุกสิ่งอัน |
กับตาบน้องสองทั้งพี่เณรพัด | ได้ตั้งสัจสิ้นรังเกียจไม่เดียดฉันท์ |
ทุกเช้าเย็นเป็นกำพร้าเห็นหน้ากัน | เหมือนร่วมครรภ์มารดาด้วยปราณี |
๏ ถึงวัดไทรในตำบลน้ำชลตื้น | ดูครึมครื้นมืดมัวน่ากลัวผี |
ชื่อบางบอนก็เห็นบอนสลอนมี | เหมือนคนที่สำมกากมันปากบอน |
ไปยุยงลงโทษให้โกรธครึ่ง | จนได้ถึงสุขุมเหมือนสุมขอน |
ที่คนซื่อถือสัจต้องตัดรอน | เพราะอีบอนบวมฉุมันยุแยง |
๏ ถึงศีรษะกระบือเป็นชื่อบ้าน | บิดาท่านโปรดเกล้าเล่าแถลง |
ว่าพญาพาลีซึ่งมีแรง | เข้ารบแผลงฤทธิ์ต่อด้วยทรพี |
ตัดศีรษะกระบือแล้วถือคว่าง | ปลิวมากลางเวหาพนาศรี |
มาตกลงตรงย่านที่บ้านนี้ | จึงเรียกศีรษะกระบือเป็นชื่อนาม |
๏ แสมดำตำบลที่คนอยู่ | สังเกตดูฟืนตองเขากองหลาม |
ดูรุงรังฝั่งน้ำล้วนรำราม | ถึงโคกขามบ้านขอมล้วนลอมฟืน |
พอฟ้าขาวดาวเดือนจะเลื่อนลับ | แสงทองจับแจ่มฟ้าค่อยฝ่าฝืน |
เสียงลิงค่างวางเวงครึกเครงครื้น | ปักษาตื่นต่างเรียกกันเพรียกไพร |
สุริยงทรงรถขึ้นหมดแสง | กระจ่างแจ้งแจ่มฟ้าพฤกษาไสว |
ถึงชะวากปากชลามหาชัย | เห็นป้อมใหญ่อยู่ข้างขวาสง่างาม |
มีปีกป้องช่องปืนที่ยืนรบ | ที่หลีกหลบแล่นลากลงขวากหนาม |
ดูเผ่นผาดอาจองในสงคราม | ดูแล้วข้ามตรงมาในสาคร |
ลำภูรายชายตลิ่งล้วนลิงค่าง | บ้างเกาคางขู่ตะคอกบ้างหลอกหลอน |
บ้างโลดไล่ไขว่คว้าตามวานร | ที่ลูกอ่อนอุ้มแอบแนบอุรา |
โอ้พ่อแม่แต่ชั้นลิงไม่ทิ้งลูก | ดูพันผูกความรักนั้นหนักหนา |
เราเป็นคนผลกรรมได้ทำมา | ญาติกาก็มิได้อาลัยแล |
๏ ถึงท่าจีนถิ่นฐานโรงร้านมาก | ที่เขาตากไว้ล้วนแต่อวนแห |
ไม่น่าดูสู้เบือนทำเชือนแช | ชมแสมไม้ปะโลงเหล้าโกงกาง |
ตะบูนต้นผลลูกดังผูกห้อย | ระย้าย้อยหยิบสนัดไม่ขัดขวาง |
หนูตาบน้อยคอยรับรำดับวาง | ไว้เล่นต่างตุ๊กกระตาประสาสบาย |
เห็นตะบูนฉุนเศร้าให้เปล่าจิต | แม้นมีมิตรเหมือนดั่งท่านทั้งหลาย |
จะเก็บไว้ไปฝากให้มากมาย | จะได้เล่นเช่นกระทายสบายใจ |
นี่ไม่มีพี่น้องพวกพ้องหญิง | เล่นแล้วทิ้งเสียในลำแม่น้ำไหล |
ลูกโกงกางข้างชลาระย้าไป | ทั้งปรงไข่ขึ้นสล้างริมทางจร |
๏ ถึงบ้านบ่อกอจากสองฟากฝั่ง | ยอดสะพรั่งเพรียวแซมแหลมแหลมสลอน |
มีดอกงอกออกกับกออรชร | ทั้งลูกอ่อนแซกเคียงขึ้นเรียงราย |
พอเห็นเขาเจ้าของร้องบิณฑ์บาต | เขาอนุญาตยกให้เหมือนใจหมาย |
พี่เณรพัดตัดได้ลูกหลายทะลาย | ผ่าถวายพระนั้นเต็มขันโต |
ท่านไม่ฉันครั้นเรากินชิ้นลูกจาก | อร่อยมากมีรสร่ำหมดโถ |
ท่านบิดรนอนบ่นว่าคนโซ | สะอื้นโอ้อายใจกระไรเลย |
เคยกล้ำกลืนชื่นจิตชิดแช่อิ่ม | มาเชยชิมลูกจากแล้วปากเอ๋ย |
เพราะสิ้นสุดอุดหนุนที่คุ้นเคย | กระไรเลยแลเหลียวให้เปลี่ยวทรวง |
๏ ถึงนาขวางข้างซ้ายนายภาษี | ตั้งอยู่ที่ปากคลองเก็บของหลวง |
เรียกภาษีที่เรือเกลือทั้งปวง | บ้างทักท้วงเถียงกันสนั่นดัง |
แต่จีนเถ้าเจ้าภาษีมีเมียสาว | ไว้เล็บยาวเหมือนอย่างครุฑนั่งจุดหลัง |
เหมือนจะรู้อยู่ว่าเขาเป็นชาววัง | รู้จักครั้งเข้าไปอยู่เมื่อปู่ตาย |
แต่แกล้งเมินเพลินดูฝูงปูเปี่ยว | บ้างแดงเขียวขาวผาดประหลาดหลาย |
บ้างเลื่อมเหลืองเรืองรองกระดองลาย | ก้ามตะกายกินเลนน่าเอ็นดู |
แต่หากว่าน่ากลัวตัวหนิดหนีด | ก้ามมันดีดดังเปาะเสนาะหู |
ล้านปรงปรกรกเรี้ยวรอยเปี่ยวปู | กับเหี้ยอยู่ที่ในโพรงรากโกงกาง |
เห็นปลาตีนกินโคลนตาโปนโป่ง | ครีบกระโดงพลิ้วพลิกกระดิกหาง |
บ้างกัดกันผันผยองทำพองคาง | ทั้งลิงค่างคอยเที่ยวล้วงเปี่ยวปู |
๏ ถึงย่านซื่อชื่อว่าย่านกาหลง | เห็นกาลงเลียบฝั่งอยู่ทั้งคู่ |
แล้วบอกข่าวอ่าวอ้อแก้ก๋อกู | จะบอกผู้ใดเล่าไม่เข้าใจ |
เราไม่มีพี่น้องพวกพ้องดอก | กาจะบอกข่าวดีฉันที่ไหน |
โอ้เปลี่ยวกายอายกาก้มหน้าไป | จนเข้าในแนวคลองสามสิบสองคด |
กับตาบน้อยคอยนับหนึ่งสองสาม | คุณพ่อถามกลับเลื่อนเปื้อนไปหมด |
มันโอบอ้อมค้อมเคี้ยวดูเลี้ยวลด | เห็นคุ้งคดคิดไปเหมือนใจโกง |
แต่ปากคำทำซื่อทำถือศิล | ใจมันกินเลือดเล่ห์ตะเข้[๑๓]ตะโขง |
สองฟากฝ่ายซ้ายขวาป่าปะโลง | มีเรือนโรงรอนฟืนแต่พื้นมอญ |
ลำภูรายซ้ายขวาระย้าย้อย | มีดอกห้อยบานแย้มแซมเกสร |
บ้างออกลูกสุกงอมหอมขจร | เกสรร่อนร่วงลงตรงนาวา |
มีนกบินกินปูได้ดูเล่น | นกกระเต็นขวานแขวกเที่ยวแถกถา |
นกกามกวมต๋วมลงในคงคา | คาบได้ปลาปรบปีกบินหลีกไป |
๏ ถึงเขตแขวงแหล่งหลักสุนัขหอน | เรือสลอนลอยรอถือถ่อไสว |
ทั้งพ่วงแพแซ่ซ้อนเจ๊กมอญไทย | บ้างมาไปปะกันเสียงครั่นครื้น |
บ้างโดนดุนรุนรับดูกลับกลอก | บ้างเข้าออกอึดอัดต่างขัดขืน |
หลีกเรือฝางวางเรือเกลือติดเรือฟืน | โกรธคนอื่นอื้ออึงขึ้นมึงกู |
เขมรด่าว่ามะจุยไอ้ตุยนา | ลาวว่าปาสิแม่บแพ่สู |
พวกเจ๊กด่าว่าปิหนังติกังพู | เสียงมอญขู่ตะคอกตอกขะมิ |
ด้วยมากมายหลายอย่างมาทางนั้น | เรือน้ำมันหมากพลูกุ้งปูกะปิ |
บ้างยัดเยียดเสียดแซกบ้างแตกลิ | บ้างกราบปริประทุนปรุทะลุทะลาย |
จนตกลึกนึกว่าชะคุณพระช่วย | ไม่เจ็บป่วยเปื้อนเหมือนเพื่อนทั้งหลาย |
ถึงเขตสวนล้วนเหล่ามะพร้าวราย | บางแม่ยายพ่อตาตำรามี |
๏ แล้วถึงบางนางสะใภ้ผู้ใหญ่เล่า | เป็นบ้านเก่าที่สังเกตพวกเศรษฐี |
แต่หญ้ากกรกเรี้ยวประเดี๋ยวนี้ | ยังเห็นมีแต่ทับทิมที่ริมคลอง |
กับทั้งหัวถั่วพูมันหนูมันนก | เจ้าของยกตั้งรายเรียกขายของ |
ได้ปราสัยไถ่ถามตามทำนอง | ถึงแม่กลองดูเกลื่อนบ้านเรือนโรง |
ทำปลาทูปูเค็มไว้เต็มตุ่ม | ดูควันกลุ้มกลิ่นฟุ้งเหม็นคลุ้งโขลง |
ที่เรือหาปลากุ้งกระบุงโพง | ใส่อ่างโอ่งอลหม่านทุกบ้านเรือน |
จนเรือออกนอกลำแม่น้ำกว้าง | วิเวกวางเวงใจใครจะเหมือน |
ทั้งสองฟากหมากมะพร้าวมีเหย้าเรือน | ค่อยลอยเลื่อนแลเพลินจำเริญใจ |
พฤกษาสวนล้วนแต่ปลูกมีลูกดอก | มะม่วงออกช่อแฉล้มแซมไสว |
ทั้งกล้วยอ้อยร้อยลิ้นลำไยมะไฟ | ล้วนต้นไม้ต่างต่างข้างคงคา |
๏ ถึงคลองบางนางลี่เห็นมีวัด | ชุลีหัตถ์อภิวาทพระศาสนา |
เป็นที่สุดพุทธคุณกรุณา | ลูกกำพร้าอย่าให้มีราคีพาน |
๏ ถึงคลองน้ำอัมพวาที่ค้าขาย | เห็นเรือรายเรือนเรียงเคียงขนาน |
มีศาลาท่าน้ำน่าสำราญ | พวกชาวบ้านซื้อขายคอนท้ายเรือ |
ริมชายสวนล้วนมะพร้าวหมูสีปลูก | ทะลายลูกลากดินน่ากินเหลือ |
กล้วยหักมุกสุกห่ามอร่ามเครือ | พริกมะเขือหลายหลากหมากมะพร้าว |
ริมวารีมีแพขายแพรผ้า | ทั้งขวานพร้าพร้อมเครื่องทองเหลืองทองขาว |
เจ้าของแพแลดูหางหนูยาว | มีลูกสาวสิเป็นไทยถอนไรปลิว |
ดูชาวสวนล้วนขี้ไคลทั้งใหญ่เด็ก | ส่วนเมียเจ๊กหวีผมระบมผิว |
เห็นเรือเคียงเมียงชม้ายแต่ปลายคิ้ว | แกล้งกรีดนิ้วนั่งอวดทำทรวดทรง |
๏ ถึงคลองขวางบางกุ้งที่คุ้งน้ำ | พวกเจ๊กทำศาลเจ้าปุนเถาก๋ง |
เป็นวันเล่นเห็นเขาเชิญเจ้าลง | เจ๊กคนทรงสับหัวของตัวเอง |
เอาขวานผ่าหน้าผากแทงปากลิ้น | แล้วดื่มกินเหล้าโลดกระโดดเหยง |
เลือดชะโลมโซมเนื้อเสื้อกังเกง | เดินโทงเทงถือง้าวเป็นจ้าวนาย |
นึกก็เห็นเป็นกลคนสับปลับ | จะเอาทรัพย์สินบนคนทั้งหลาย |
สู้เสียเลือดเชือดตัวไม่กลัวตาย | ใช้อุบายบอกคนด้วยกลโกง |
๏ ถึงบางป่ามาพ้นตำบลสวน | ตลอดล้วนแหลมคุ้งเป็นทุ่งโถง |
พอโพล้เพล้เวลาล่วงห้าโมง | เห็นเมฆโพลงพลุ่งรอบเป็นขอบคัน |
บ้างเขียวแดงแฝงฝากเหมือนฉากเขียน | ยิ่งพิศเพี้ยนรูปสัตว์ดูผัดผัน |
เหมือนลิงค่างช้างม้าสารพัน | ดูดังมันจะมาทับวับวิญญาณ์ |
ท่านบิดรสอนว่าตำราห้าม | คือคนสามประเภทในเทศนา |
คนเข็ญใจไร้ทรัพย์อัพลา | ลูกกำพร้าดูเมฆวิเวกใจ |
จะสร้อยเศร้าเหงาง่วงในดวงจิต | เสียจริตงวยงงลุ่มหวงใหล |
เห็นเที่ยงแท้แต่เราพิศพินิจไป | จนตกใจเจียนจะเห็นว่าเป็นตัว |
พอสุริยงลงลับพะยับค่ำ | ท้องฟ้าคล้ำคลุ้มบดสลดสลัว |
ดูอ้างว้างกลางชลาเป็นน่ากลัว | ถึงคอกงัวสี่หมื่นตื่นกันดู |
ไม่เห็นตัวงัวควายเป็นชายทุ่ง | เสียงแต่ยุงริ้นร้องกึกก้องหู |
ริมตลิ่งหิ่งห้อยย้อยลำภู | สังเกตดูดังหนึ่งเม็ดเพชรรัตน์ |
อร่ามเรืองเหลืองงามแวมวามวับ | กระจ่างจับพงแขมแจ่มจำรัส |
น้ำค้างพรมลมเชยรำเพยพัด | ละลอกซัดส่งท้ายสบายดี |
๏ พอเดือนเด่นเห็นดวงขึ้นส่องแสง | กระจ่างแจ้งแจ่มฟ้าทุกราศี |
สักยามหนึ่งถึงหาดเมืองราชพรี[๑๔] | กำแพงมีรอบล้อมทั้งป้อมปืน |
ถามบิดาว่าพระองค์ดำรงภพ | สร้างไว้รบรับพม่าไม่ฝ่าฝืน |
แต่เฟือนช่องร่องทางด้วยกลางคืน | เข้าจอดตื้นติดหาดเมืองราชพรี |
สำนัก[๑๕]นอนผ่อนสบายที่ท้ายวัด | น้อมนมัสการศีลพระชินสีห์ |
ด้วยเดชะพระมหาบารมี | ในราตรีเภทภัยมิได้พาน |
ครั้นรุ่งเช้าชาวเรือข้างเหนือใต้ | ต่างเลื่อมใสศรัทธาทำอาหาร |
มาถวายหลายลำค่อยสำราญ | ทั้งอ้อยตาลต้มแกงกับแตงไทย |
ครั้นเสร็จฉันกรรุณายถาสนอง | ให้เจ้าของซึ่งศรัทธาอัชฌาสัย |
แล้วภิญโญโมทนาลาครรไล | สำราญใจจากหาดเมืองราชพรี |
๏ ถึงชะวากปากคลองบางสองร้อย | แต่น้ำน้อยทางเดินเนินวิถี |
เห็นเขางูอยู่ข้างซ้ายหลายคีรี | พฤกษาศรีเขียวชุ่มดูคลุมเครือ |
ที่เงื้อมง้ำลำเนาชื่อเขาแร้ง | ศิลาแดงดังหนึ่งชาดประหลาดเหลือ |
จะขึ้นบ้างทางบกก็รกเรื้อ | จนเลี้ยวเรือลับแหลมล้วนแขมคา |
๏ ถึงคุ้งย่านบ้านกล้วยสลวยสล้าง | เขาปลูกสร้างไร่รายทั้งซ้ายขวา |
พริกมะเขือเหลืองามอร่ามตา | นกสาริกาแก้วกาลิงมาชิงกิน |
บ้างกอดเกาะเจาะจิกเม็ดพริกคาบ | บ้างโฉบฉาบชิงกันดูผันผิน |
โอ้น่ารักปักษาริมวาริน | บ้างโบยบินบ้างก็จับอยู่กับรัง |
บ้างกู่ก้องร้องเรียกกันเพรียกเพราะ | ฟังเสนาะนึกในน้ำใจหวัง |
คิดถึงพี่ที่เข้าไปอยู่กับวัง | เมื่อคราวครั้งคุณย่าไปค้าเรือ |
เคยชมป่าพาทีกันพี่น้อง | เที่ยวเก็บของจุกจิกพริกมะเขือ |
เดี๋ยวนี้พี่มียศท่านชดเจือ | น้องนี้เชื้อชาติต่ำจึงจำไกล |
๏ ถึงบางกระไม่เห็นกระปะแต่บ้าน | เป็นภูมิฐานทิวป่าพฤกษาไสว |
โอ้ผันแปรแลเหลียวให้เปลี่ยวใจ | ถึงย่านใหญ่เจ็ดเสมียนเตียนสบาย |
ว่าแรกเริ่มเดิมทีมีตะเข้[๑๖] | ขึ้นผุดเร่เรียงกลาดไม่ขาดสาย |
จอมกระษัตริย์จัดเสมียนเขียนเจ็ดนาย | มาจดหมายมิได้ถ้วนล้วนกุมภา |
แต่เดี๋ยวนี้มิได้เห็นเหมือนเช่นเล่า | เห็นแต่เหล่ากริวกราวกับเต่าฝา |
ถึงคลองขวางบางขามหวามวิญญา | ล้วนไผ่ป่าหนาหนามน่าขามใจ |
๏ ถึงอารามนามอ้างชื่อหางโตนด | มีทั้งโบสถ์วิหารต้นตาลไสว |
ต่างวันทาคลาเคลื่อนเลื่อนครรไล | ถึงหาดใหญ่กว้างขวางชื่อบางแขยง |
เป็นโขดเขินเนินทรายชายสมุทร | แลจนสุดสายเนตรที่เขตแขวง |
เป็นคุ้งอ้อมค้อมเคี้ยวน้ำเชี่ยวแรง | ทั้งร้อนแสงสุริยาลงวารี |
กับหนูตาบอาบน้ำปล้ำกันเล่น | พี่เณรเห็นไล่โลดกระโดดหนี |
ช่วยคุณพ่อก่อพระทรายคล้ายเจดีย์ | ไว้ตรงที่หน้าวัดได้มัสการ |
แล้ววิ่งเต้นเล่นทรายที่ชายหาด | ทะลุดทะลาดล้มลุกสนุกสนาน |
ลงนอนขวางกลางน้ำเล่นสำราญ | ว่ากุมารมัทรีไม่มีเครือ |
ครั้นแดดร่มลมรื่นค่อยชื่นแช่ม | ออกจากแหลมบางแขยงขึ้นแขวงเหนือ |
แม่น้ำตื้นพื้นสูงลงจูงเรือ | สนุกเหลือเล่นน้ำยังค่ำไป |
ต่อบิดรนอนตื่นขืนให้ขึ้น | ยังวิ่งครื้นโครมครามห้ามไม่ไหว |
ต่อสุดขัดผลัดผ้ายังอาลัย | ถึงบ้านใหญ่ชื่อว่าโพธาราม |
๏ ตลิ่งลาดหาดทรายที่ขายของ | เรือขึ้นล่องแวะจอดตลอดหลาม |
พวกเจ๊กจีนสินค้าใบชาชาม | ส้มมะขามเปรี้ยวปั้นน้ำมันพร้าว |
ที่ของเหล่าชาวป่าเอามาขาย | ทั้งนุ่นฝ้ายใส่กรุกระชุขาว |
พวกประมงลงอวนไทยญวนลาว | ทำร้านยาวย่างปลาริมวารี |
มีโรงทำน้ำตาลทรายที่ท้ายบ้าน | เป็นภูมิฐานรวมทางหว่างวิถี |
พวกเกียนต่างกลางป่าพนาลี | มาลงที่หน้าท่าโพธาราม |
๏ จนล่วงทางบางเลาเห็นชาวบ้าน | ทำงานการเกี่ยวแฝกบ้างแบกหาม |
ดูผิวดำคร่ำคร่าดังทาคราม | ไม่มีงามเหมือนหนึ่งเหล่านางชาววัง |
๏ ถึงครชุม[๑๗]ภูมิฐานเป็นบ้านป่า | สายคงคาเชี่ยวเหลือเรือถอยหลัง |
ต้องแข็งข้อถ่อค้ำด้วยกำลัง | จนกระทั่งงิ้วรายหาดทรายเตียน |
ต้นงิ้วงามตามตลิ่งกิ่งแฉล้ม | ดูชื่นแช่มช้อยใบเหมือนไม้เขียน |
บ้างผุะผากรากโคนดูโกร๋นเกียน | ยิ่งพิศเพี้ยนภาพฉากหลากหลากกัน |
๏ ถึงศาลเจ้าเบิกไพรมีไม้สูง | เห็นนกยูงยืนเกลื่อนไก่เถื่อนขัน |
มีศาลตั้งฝั่งน้ำเป็นสำคัญ | อยู่เคียงกันสามศาลตระหง่านงาม |
พวกชาวเรือเหนือใต้ขึ้นไหว้จ้าว | หมากมะพร้าวอ่อนด้วยกล้วยเข้าหลาม |
ได้คุ้มภัยในชลาวันนาราม | จึงทรงนามเบิกไพรกันไพรี |
ท่านบิดรสอนให้ว่าเทพารักษ์ | เจริญพักตร์พ้นทุกข์เป็นสุขี |
เห็นไก่ขาวจ้าวเลี้ยงเพียงสำลี | กินอยู่ที่ชายป่าดูน่าชม |
เป็นดงใหญ่ไม้สูงฝูงนกเขา | ขึ้นจับเคล้าคลอคู่คูขรม |
บ้างปรบปีกจิกกันขันขะรม | ชวนกันชมต่างต่างสองข้างเรือ |
๏ ถึงปากแรดแดดดับพะยับแสง | ท้องฟ้าแดงดูสลัวน่ากลัวเสือ |
เป็นป่าไผ่ไม้พุ่มครึมคลุมเครือ | เสียงเสือเนื้อปีบคะนองสยองเย็น |
เห็นนกยูงฝูงใหญ่ที่ชายหาด | รำแพนฟาดหางแผ่พอแลเห็น |
ตัวเมียพร้อมล้อมตามกามกระเด็น | ได้กินเป็นฟองไข่ขึ้นในกาย |
บิดาบอกดอกว่าฝูงนกยูงนั้น | ไม่สัดกันเหมือนดังนกทั้งหลาย |
พึ่งเห็นแน่แก่ตาตำราทาย | ให้นึกอายใจไม่พอใจดู |
๏ ถึงบางพังวังวนสาชลเชี่ยว | เป็นเกลียวเกลียวกลิ้งคว้างเหมือนหางหนู |
เห็นวัดร้างข้างซ้ายชายสินธู | เข้าหยุดอยู่นอนค้างที่บางพัง |
พอพลบค่ำลำเดียวดูเปลี่ยวอก | เสียงแต่นกเซ็งแซ่ดังแตรสังข์ |
ข้างซ้ายป่าขวาชลเป็นวลวัง | เสียงค่างดังอื้ออ้าบนค่าไม้ |
ฝ่ายคุณพ่อบริกรรมแล้วจำวัด | พี่เณรพัดหนูตาบต่างหลับไหล |
ยิ่งดึกดื่นครื้นเครงวางเวงใจ | เสียงเรไรหริ่งแหร่แซ่สำเนียง |
จะเคลิ้มหลับวับแว่วถึงแก้วหู | เหมือนคนกู่เกริ่นเรียกกันเพรียกเสียง |
เสียงเผาะเผาะเหยาะย่องค่อยมองเมียง | เห็นเสือเลี่ยงหลีกอ้อมเที่ยวด้อมมอง |
ดูน่ากลัวตัวขาวราวกับนุ่น | แบ่งส่วนบุญบ่นภาวนาสนอง |
ทั้งในน้ำทำเลตะเข้คะนอง | ขึ้นคลานร้องฮูมฮูมน้ำฟูมฟาย |
เดชะกิจบิตุรงค์ซึ่งทรงพรต | เห็นปรากฏกำจัดสัตว์ทั้งหลาย |
มันหลีกเลยเฉยไปไม่ใกล้กราย | เหมือนมีค่ายเขื่อนรอบประกอบกัน |
จนล่วงสามยามเวลาบิดาตื่น | ประเคนผืนกาสาน้ำชาฉัน |
เงียบสงัดสัตว์ป่าพนาวัน | เสียงไก่ขันแจ้วแจ้วแว่ววิญญาณ์ |
ท่านอวยพรสอนพระธรรมกรรมฐาน | ทางนิพานพ้นทุกข์เป็นสุขา |
ได้เรียนธรรมบำเพ็งภาวนา | เมื่อนอนหน้าวัดร้างคุ้งบางพัง |
แล้วบิดาพาเดินขึ้นเนินวัด | เงียบสงัดงึมป่าข้างหน้าหลัง |
เข้านิโครธโบสถ์ใหญ่ร่มไม้รัง | สำรวมนั่งนึกภาวนาใน |
ด้วยเดชะพระมหาสมาธิ | เป็นคติตามศรัทธาอัชฌาสัย |
พอแสงทองส่องฟ้านภาลัย | ลาพระไทรสาขาลงมาเรือ |
๏ จากวัดร้างบางพังสองฝั่งน้ำ | แต่ล้วนร่ำรามเริงซุ้มเซิงเสือ |
ถึงวังวาน[๑๘]ย่านบกก็รกเรื้อ | เสียงฟานเนื้อนกร้องก้องโกลา |
๏ ถึงลูแกแต่ล้วนไม้ไผ่สพรั่ง | เห็นมอญตั้งตัดไม้ทั้งซ้ายขวา |
ที่บ้านร้างว่างคนต้นพุทรา | ดกระย้าสุกห่ามอร่ามเรือง |
เห็นสมควรชวนกันขึ้นสั่นต้น | คอยเก็บหล่นลูกล้วนเป็นนวลเหลือง |
เอาเกลือตำรำหัดเมื่อขัดเคือง | พอทรงเครื่องเจ้าพุทราสง่างาม |
๏ แล้วจากท่ามาถึงตรงคุ้งพงตึก[๑๙] | อนาถนึกสงสัยได้ไถ่ถาม |
ท่านผู้เฒ่าเล่าต่อเป็นข้อความ | ว่าตึกพราหมณ์ครั้งแผ่นดินโกสินราย |
แต่ตึกมีที่ริมน้ำเป็นสำเหนียก | คนจึงเรียกพงตึกเหมือนนึกหมาย |
ถึงท่าหว้า[๒๐]ป่ารังสองฝั่งราย | กับเซิงหวายโป่งกลุ้มดูคลุมเครือ |
๏ ถึงวังทองสองฝั่งเขาตั้งบ้าน | มีโรงร้านฟักแฟงแตงมะเขือ |
ใส่กระทายขายเขาพวกชาวเรือ | ทั้งกล้วยเครือสุกห่ามอร่ามไป |
๏ ถึงละเมาะเกาะชื่อเกาะน้ำเชี่ยว | มีเกาะเดียวกลางมหาชลาไหล |
เหมือนเราเดียวเปลี่ยวเปล่าให้เศร้าใจ | เห็นแต่ไพรพฤกษาพนาวัน |
๏ ถึงถิ่นฐานบ้านร่ายชื่อหวายเหนียว | เห็นแต่เรียวหวายไสวในไพรสัณฑ์ |
ยิ่งน้ำตื้นขึ้นก็ยิ่งตลิ่งชัน | ถึงเขตขันคุ้งน้ำถ้ำมะกา |
ดูแดนดินถิ่นที่เหมือนมีถ้ำ | พิลึกล้ำแลเวิ้งดังเพิงผา |
เงื้อมชะง่อนก้อนดินเหมือนสินลา | สายคงคาเชี่ยวคว้างเป็นหว่างวน |
วิเวกจิตพิศเพลินด้วยเนินหาด | ไม่คั่นขาดคุ้งแขวงทุกแห่งหน |
เต่าขึ้นไข่ไว้ทุกหาดไม่ขาดคน | เที่ยวขุดค้นไข่ได้ด้วยง่ายดาย |
สะธุสะพระบิดาเมตตาเต่า | บิณฑ์บาตเขาเขาเห็นพระก็ถวาย |
เอาใส่ไว้ในหลุมทุกขุมทราย | แล้วเกลี่ยทรายสุมทับให้ลับตา |
เป็นประโยชน์โปรดสัตว์ซึ่งปัฏิสนธิ์ | ให้รอดพ้นความตายได้นักหนา |
ขอส่วนบุญคุณศีลพระชินกา | ให้ผ่องผาสุกสวัสดิ์กำจัดภัย |
๏ ถึงคุ้งน้ำตำบลบ้านกอจิก | เขาปลูกพริกฝ้ายออกดอกไสว |
โอ้เห็นแท้แต่สำลียังมีใย | ควรฤๅใจคนจืดไม่ยืดยาว |
พอเย็นย่ำน้ำค้างลงพร่างพร้อย | เป็นฝอยฝอยฟุ้งสาดอนาถหนาว |
ที่บนบกรกเรี้ยวเสียงเกรียวกราว | เห็นหาดขาวโขดตั้งอยู่ฝั่งซ้าย[๒๑] |
ข้างฟากขวาท่าเรือขึ้นพระแท่น | ยิ่งสุดแสนชื่นชมด้วยสมหมาย |
เขาพ่วงไม้ไผ่แลดูแพราย | เข้าจอดฝ่ายฝั่งขวาบ้านท่าเรือ |
๏ พอมืดค่ำคล้ำคลุ้มชะอุ่มฟ้า | เสียงสัตว์ป่าปีบสะท้านทั้งฟานเสือ |
เป็นพงไผ่ไม้พุ่มดูคลุมเครือ | เสียงข้างเหนืออูมอูมล้วนกุมภา |
ดังกอกกอกตรอกตรอที่กอไผ่ | ระวังไพรร้องเรียกเพรียกพฤกษา |
ยิ่งดึกดื่นรื่นรินกลิ่นผกา | หอมบุปผาผอยหลับระงับไป |
โอ้ฝันเห็นเป็นว่าปู่มาอยู่ด้วย | ให้กินกล้วยอ้อยหวานน้ำตาลใส |
พอฟื้นกายหายหน้ายิ่งอาลัย | พอเสียงไก่ขันขานหวานวิญญาณ์ |
โอ้สิ้นบุญคุณปู่อยู่แต่ชื่อ | ยังนับถือกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงรักษา |
ที่เป็นคนผลกรรมได้ทำมา | เหมือนต่างฟ้าดินแดนด้วยแสนไกล |
จนแจ่มแจ้งแสงตะวันฉันอาหาร | โปรยให้ทานปลาคล่ำในน้ำไหล |
ปลาแก้มช้ำน้ำเงินงามประไพ | มาใกล้ใกล้เกลื่อนกลาดดาษเดียร |
ทั้งซิวซ่าปลากระแหแลสลับ | ดูกลอกกลับกลุ้มกลัดฉวัดเฉวียน |
โอ้น่ารักหนักหนาปลาตะเพียน | เกล็ดเหมือนเขียนครีบหางกระจ่างตา |
ด้วยน้ำไหลใสสว่างอย่างกระจก | เที่ยวหันหกเห็นสนัดตัวมัจฉา |
พอพวกพ้องของศิษย์พระบิดา | มาวันทาขอถวายเกียนควายมี |
๏ ชื่อนายช่องน้องนายแก้วกับเจ๊กกลิ่น | เขาเจนถิ่นทางป่าพนาศรี |
เกียนมารับกับท่าริมวารี | พอราตรีพระบิดาครองผ้าไตร |
ขนนั่งเกียนเทียนโคมแขวนข้างหน้า | มีฝาบังหลังคาพออาศัย |
เรากับน้องสองนั่งอยู่ข้างใน | พี่เณรได้นั่งหน้าหลังคาบัง |
อันนายช่องน้องนายแก้วนั้นแกล้วกล้า | ขับข้างหน้าเจ๊กกลิ่นปีนข้างหลัง |
เข้าเดินดงกงเกียนวิ่งเวียนดัง | เหมือนเสียงสังข์แตรซ้องก้องกังวาน |
ลางทีฟังดังแอ้อี๋แอ่ออด | เหมือนซอสอดเสียงเอกวิเวกหวาน |
ตกที่ลุ่มดุมดังกังสะท้าน | กิ่งไม้กรานสวบสาบกรอบกราบโกรง |
ทั้งตับไตไส้ขย้อนคลอนคลอกแคลก | กระทบกระแทกโคกโขดโขยดโขยง |
สะดุดโดนโคนรังกึงกังโกง | จนตัวโงงโงกผงะศีร์ษะเวียน |
พอโคมดับลับเงาเหมือนเข้าถ้ำ | พบห้วยน้ำหลีกลัดฉวัดเฉวียน |
แต่หนูตาบกับพี่เณรนั้นเจนเกียน | ไม่วิงเวียนนั่งหัวร่อร้องยอควาย |
ท่านบิดรนอนนิ่งอิงพะนัก | สอนให้ยักโยกตัวเวียนหัวหาย |
รู้จังหวะระวังนั่งสบาย | คอยยักย้ายเยื้องโยกชะโงกตาม |
แต่ขับเกียนเวียนวนอยู่จนดึก | เสียงสัตว์ครึกครื้นเครงน่าเกรงขาม |
ที่รกเรื้อเสือกระหึ่มครึมคำราม | เห็นแวมวามวาวสว่างเหมือนอย่างไฟ |
ถามบิดาว่าโขมดมันโชติช่วง | ทำล่อลวงเวียนวงให้หลงใหล |
กำดัดดึกนึกภาวนาใน | เสียงนางไม้พูดพึมงึมงึมงำ |
เที่ยวขับเกียนเวียนวนไม่พ้นหนอง | จนควายร้องฟูดฟาดพลาดถลำ |
เดชะบุญคุณพ่อนั่งบริกรรม | เหมือนคนนำไปข้างหน้าสี่ห้าคน |
พอเกียนโดนโคนไม้เหมือนไฟวุบ | กลิ้งตลุบไปตามทางที่กลางหน |
พอนายช่องมองจำเห็นตำบล | ขึ้นถนนแนวทางไปกลางดง |
เจ๊กกลิ่นว่าอารักษ์มาชักช่วย | เดชะด้วยพระกุศลจึงพ้นหลง |
ต่างกราบพระจะเป็นศิษย์บิตุรงค์ | พอเดือนส่งแสงสว่างตามทางไป |
๏ ประมาณสามยามสัตว์สงัดเงียบ | ยังเย็นเยียบหย่อมหญ้าพฤกษาไสว |
หนาวน้ำค้างพร่างพรมพนมไพร | หอมดอกไม้รื่นรื่นชื่นวิญญาณ์ |
ดอกอะไรไม่รู้ดูไม่เห็น | หอมเหมือนเช่นน้ำหอมของหม่อมป้า |
โอ้เคราะห์กรรมจำขาดญาติกา | เมื่อยามเข็ญเห็นหน้าแต่อาแป๊ะ |
อยู่ท้ายเกียนเทียนธูปสิ่งใดตก | ช่วยหยิบยกให้คุณพ่อหัวร่อแหระ |
ออกทุ่งกว้างทางเตียนขับเกียนแวะ | ให้ควายและเล็มหญ้ากินวารี |
แล้วเดินทางกลางนาเวลาดึก | แลพิลึกกว้างขวางหว่างวิถี |
หนทางเกียนเตียนตล่งเป็นผงคลี | ต้นไม้มีรายรายริมชายนา |
๏ ถึงรั้วล้อมหย่อมย่านบ้านตะเข้ | ดึกคะเนสิบทุ่มคลุ้มเวหา |
เรือนนายช่องห้องใหญ่ให้ไสยา | พระบิดาสวดมนต์อยู่บนเกียน |
จนรุ่งแจ้งแสงสว่างกระจ่างฟ้า | เห็นไร่นาเย่าเรือนดูเหมือนเขียน |
ข้างเบื้องซ้ายชายป่าสุธาเตียน | เต็งตะเคียนรังร่มพนมเนิน |
ข้างแควขวานาไร่กอไผ่รก | ฝูงนกหกหากินเที่ยวบินเหิน |
เขาปล่อยควายชายทุ่งเป็นฝูงเดิน | ได้ดูเพลินพลอยให้ใจสบาย |
ฝ่ายพวกเขาชาวป่าทำอาหาร | แกงผักหวานกับปลาร้ามาถวาย |
ทั้งแย้บึ้งอึ่งย่างมาวางราย | ทั้งหญิงชายชาวป่าศรัทธาครัน |
ทั้งปลาทูปูป่าประสายาก | ไม่มีหมากเปลือกไม้จีบใส่ขัน |
ถวายพระพระประโยชน์โปรดพวกนั้น | อุตส่าห์ฉันของป่าไม่อาเจียน |
แต่หนูตาบกับพี่เณรเราเห็นอึ่ง | กับแย้บึ้งเบือนอายไม่หายเหียน |
พอเสร็จพระยถาลานายเกียน | ตามทางเตียนตัดตรงเข้าดงรัง |
๏ สำราญรมย์ลมรื่นชื่นชื่นเฉื่อย | เรไรเรื่อยร้องแซ่ดังแตรสังข์ |
จักจั่นแจ่แม่ม่ายลองไนดัง | วิเวกวังเวงใจในไพรวัน |
เป็นป่าสูงฝูงสาลิกาแก้ว | จับพลอดแจ้วจับใจเสียงไก่ขัน |
ดอกเต็งรังดังดอกจอกแลดอกจันทน์ | เป็นสีสันสอดแซงเหลืองแดงดี |
ต่างเก็บได้ใจหมายถวายพระ | ใส่ตะบะแบกเดินเนินวิถี |
ถึงพระแท่นแสนสงัดเห็นวัดมี | ทั้งโบสถ์ที่ครอบพระแท่นแผ่นศิลา |
กับต้นรังทั้งคู่ยังอยู่พร้อม | ดูยอดน้อมมาข้างแท่นที่แผ่นผา[๒๒] |
ต่างชื่นชมโสมนัสยิ่งศรัทธา | ตามบิดาทักษิณด้วยยินดี |
เข้าประตูดูแผ่นพระแท่นตั้ง[๒๓] | เหมือนบัลลังก์แลจำรัสรัศมี |
ก้อนโลหิตคิดเห็นเช่นบาลี[๒๔] | อยู่ข้างที่แท่นพระเจ้าเข้านิพพาน |
๏ จุดเทียนธูปบุปผาบูชาพระ | นึกมานะนิ่งคิดพิษฐาน |
ขอเดชะพระมหาโลกาจารย์ | เป็นประธานทั้งพระแท่นแผ่นศิลา |
อันชาตินี้มีกรรมมาจำเกิด | ต้องร้างเริดไร้ญาติน้อยวาสนา |
สิ้นตระกูลสูญขาดญาติกา | จะก้มหน้าบวชเรียนไม่เวียนวน |
ขอเดชะพระผลาอานิสงส์ | ซึ่งเราทรงศีลสร้างทางกุศล |
อย่ามีโศกโรคภัยสิ่งไรระคน | ประจวบจนจะได้ตรัสด้วยศรัทธา |
แม้นมิถึงซึ่งนิพพานการประเสริฐ | จะกลับเกิดก็อย่าคลาดพระศาสนา |
ให้เชื้อวงศ์พงศ์พันธุ์กรรุณา | อย่าทำหน้าเหมือนหนึ่งยักษ์ให้รักกัน |
ให้รูปงามทรามประโลมโฉมฉอเลาะ | รู้ปะเหลาะประโลมหญิงทุกสิ่งสรรพ์ |
พอสพเนตรเจตนาอย่าช้าพลัน | ให้นุชนั้นน้อมจิตสนิทใน |
ประการหนึ่งซึ่งที่นึกรำลึกถึง | ให้ทราบซึ่งสุจริตพิสมัย |
มิตรจิตขอให้มิตรใจไป | เหมือนมาลัยลอยฟ้าลงมามือ |
จะออกปากฝากรักก็ศักดิ์ต่ำ | กลัวจะซ้ำถมทับไม่นับถือ |
ถึงยามนอนร้อนฤทัยดังไฟฮือ | ชมแต่ชื่อก็ค่อยชื่นทุกคืนวัน |
เวลาหลับคลับคล้ายไม่วายเว้น | ได้พบเห็นชื่นใจแต่ในฝัน |
ขอฝากปากฝากคำที่รำพัน | ให้ทราบขวัญนัยนาด้วยอาวรณ์ |
แม้นได้ชมสมหวังดังสวาท | ไม่คลาคลาดเคลื่อนคลายสายสมร |
แม้นชาตินี้ชีวาตม์จะขาดรอน | ไม่อาวรณ์หวังให้ลือว่าชื่อชาย |
๏ พอบิดาลาออกมานอกโบสถ์ | ขึ้นเขาโขดเขตผาศิลาสลาย |
เป็นภูมิพื้นรื่นร่มลั่นทมราย | ชื่อเขาถวายพระเพลิง[๒๕]พระเจ้าเขาเล่าความ |
เป็นกรวดแก้วแวววาวพรอยพราวพร่าง | เพชรน้ำค้างอย่างมณีสีสยาม |
แม้นกลางคืนพื้นผาริมอาราม | ดูแวมวามวาบวับแจ่มจับตา |
ครั้นกลางวันนั้นก็เห็นเป็นแต่กรวด | จะเก็บมาอวดกันก็ทราบบาปหนักหนา |
เที่ยวชมรอบขอบอารามตามบิดา | แล้วเลยลาลัดทางมากลางดง |
๏ ถึงท่าเรือเมื่อตะวันสายัณห์ย่ำ | ได้กรวดน้ำแผ่ผลาอานิสงส์ |
ให้ดับโศกโลกธาตุญาติวงศ์ | แล้วล่องลงมาทางหาดเมืองราชพรี |
เมื่อเดินทางกลางแดนนั้นแสนอด | เสบียงหมดหมายมุ่งมากรุงศรี |
โอ้เศร้าสร้อยน้อยหน้าทั้งตาปี | ด้วยไม่มีญาติมิตรสนิทใน |
ถึงคนผู้อยู่เกลื่อนก็เหมือนเปลี่ยว | สุดจะเหลียวแลหาที่อาศัย |
คำบูราณท่านว่ามิตรจิตใจ | ก็เปล่าไปไม่เหมือนคำที่รำพัน |
จำเดิมแต่แลพบประสบพักตร์ | เรานึกรักร่ำไปเฝ้าใฝ่ฝัน |
คอยฟังฝ่ายสายสวาทไม่ขาดวัน | ไม่ผ่อนผันพจมานประการใด |
จะเด็ดรักหักจิตไม่คิดรัก | ดังศรปักสักแสนศรถอนไม่ไหว |
จะสู้บวชรวดเดียวไม่เกี้ยวใคร | ธุดงค์ไปโป่งป่าตามอาจารย์ |
แม้นผู้ใดได้อ่านของฉานมั่ง | ทั้งผู้ฟังเรื่องไร้แรมไพรสาณฑ์ |
แบ่งกุศลผลผลาสมาทาน | ให้กับท่านทุกทุกคนตามจนเอย ฯ |
[๑] ถ้าอ่าน กันรุณาได้สัมผัสใน แต่ในบางแห่งก็อ่าน กรุนณา
[๒] สอบตามปฏิทิน ปรากฏว่ามี ปีมะเส็งตรีศก พ.ศ. ๒๓๖๔ ปีมะเส็งเบญจศก พ.ศ. ๒๓๗๖ กับปีมะเส็ง สัปตศก พ.ศ. ๒๓๘๘ ไม่ปรากฏว่าวันเพ็ญเดือน ๔ ตรงกับวันอังคาร แต่คราวแต่งนิราศนี้คงเป็น ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ ดู-สถานที่กล่าวถึง ท้ายเล่ม
[๓] ไปทางเรือเข้าคลองมหานาค
[๔] เชิงเลน ปากคลองโอ่งอ่าง
[๕] ผ่านข้างวัดเลียบ หรือ วัดราชบูรณะ ออกแม่น้ำเจ้าพระยา
[๖] เข้าใจว่าหมายถึงพระยาสุรเสนา (ฉิม) ในรัชกาลที่ ๒
[๗] เรือแวะเข้าคลองบางหลวง
[๘] คือ วัดอัปสรสวรรค์
[๙] ตามประวัติว่า เจ้าจอมน้อย สุหรานากง ในรัชกาลที่ ๓ บุตรีเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) เป็นผู้สร้าง
[๑๐] คือวัดราชโอรส อยู่ในคลองด่าน จังหวัดธนบุรี
[๑๑] หมายถึงงานฉลอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๕
[๑๒] หมายถึงพระภิกษุสุนทรภู่ ถึงปี พ.ศ. ๒๓๗๖ นี้ท่านมีอายุ ๔๗ ปี และบวชมาได้ราว ๑๐ พรรษา
[๑๓] ตะเข้ ในที่นี้หมายถึงสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง ปัจจุบันเขียนกันว่า จระเข้
[๑๔] คือ เมืองราชบุรี ดูสถานที่กล่าวถึง หมายเลข ๓๒ ท้ายเล่ม
[๑๕] พำนัก ?
[๑๖] ตะเข้ = จระเข้
[๑๗] ปัจจุบันนี้เป็นตำบลนครชุม ขึ้นอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
[๑๘] เข้าใจว่าเป็น รังวาน หรือ รางวาน ปัจจุบันนี้มีหมู่บ้านและวัดรางวาน
[๑๙] พงตึกตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง เป็นตำบลขึ้นอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี มีซากโบราณสถานและมีผู้พบพระพุทธรูปและศิลปวัตถุสมัยทวารวดี สันนิษฐานกันว่า ท้องที่แถวนี้เคยเป็นที่ตั้งบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรทวารวดี
[๒๐] อาจเป็น “ถึงท่าหว้าป่ารังสองฝั่งราย” มีบ้านท่าหว้าและตลาดท่าหว้าอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง ตรงข้ามกับพงตึก ซึ่งมีวัดดงสักตั้งอยู่ฝั่งขวา
[๒๑] ที่ว่าขวาและซ้ายในที่นี้ คงหมายถึงขวาและซ้ายของผู้นั่งเรือทวนน้ำขึ้นไปตามลำน้ำแม่กลอง มิใช่ขวาและซ้ายอย่างหันหน้าล่องตามน้ำ
[๒๒] ต้นรังทั้งคู่ริมพระแท่นที่กล่าวถึงนี้ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว
[๒๓] แผ่นศิลาที่ว่าเป็นพระแท่นนี้ เขาก่อวิหารครอบไว้
[๒๔] เคยมีก้อนศิลาที่ว่าเป็นก้อนพระโลหิตอยู่ก้อนหนึ่ง พวกผู้ไปนมัสการพระแท่นแย่งกันบังสุกุล เลยตกแตก
[๒๕] เขาถวายพระเพลิงสูง ๕๕ เมตร อยู่ทางทิศตะวันตกของวิหารพระแท่น