คำนำ

สามเณรกลั่น ผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง สำนวนนี้ เป็นศิษย์และเป็นบุตรบุญธรรมของท่านสุนทรภู่ มีประวัติเท่าที่ทราบได้จากนิราศพระแท่นดงรังของสามเณรกลั่นเอง สอบสวนกับหนังสืออื่นดังได้เรียงและพิมพ์ไว้ในหน้าต่อไป ปรากฏในนิราศหลายเรื่องของท่านสุนทรภู่ ว่าสามเณรกลั่นได้ติดสอยห้อยตามท่านสุนทรภู่ไปในที่หลายแห่ง ตลอดจนคราวไปนมัสการพระแท่นดงรัง ในนิราศนี้ ซึ่งในระยะนั้น ท่านสุนทรภู่ยังบวชเป็นพระภิกษุ อยู่ในพระบวรพุทธศาสนา แต่ที่ทำให้ผู้อ่านฉงนก็ตรงที่สามเณรกลั่นบอกวันเดือนปีไว้ว่า “ในเดือนสี่ปีมะเส็งเพ็งวันอังคาร” เพราะเมื่อได้ตรวจสอบกับปฏิทินเทียบกับระยะปีในอายุของท่านสุนทรภู่ ก็มีปีมะเส็งที่ควรพิจารณาอยู่ ๓ ระยะ คือ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๖๔ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ และปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๘๘ ใน ๓ ปีนี้ ไม่มีปีมะเส็งวัญเพ็ญเดือน ๔ ตรงกับวันอังคาร แต่ปรากฏในนิราศนี้ว่าท่านสุนทรภู่เป็นพระภิกษุ ถ้าเป็นปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๖๔ ท่านสุนทรภู่ก็ยังมิได้อุปสมบทในพระบวนพุทธศาสนา เพราะยังรับราชการและมีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนสุนทรโวหาร อาลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ส่วนปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๘๘ ท่านสุนทรภู่ก็ลาสิกขาบทแต่ราว พ.ศ. ๒๓๘๕ แล้ว และในระยะนั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ได้ทรงอุปการะโปรดให้ไปอยู่ที่พระราชวังเดิม ทางที่จะเป็นไปได้จึงมีแต่ว่า นิราศพระแท่นดงรังของสามเณรกลั่นสำนวนนี้ได้แต่งขึ้นในคราวติดตามพระภิกษุสุนทรภู่ไปนมัสการพระแท่นดงรัง ในเดือน ๔ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ เช่นที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในประวัติสามเณรกลั่นนั้นแล้ว

ตามแบบแผนของการแต่งนิราศ ผู้แต่งมักนิยมนำเอาลักษณะความเป็นไปและชื่อของสถานที่พบเห็นตามทางที่ผ่านไป มาคลุกคลุปะปนกับความในใจ ซึ่งมีจริงบ้าง สมมติขึ้นบ้าง แล้วสร้างโวหารการประพันธ์ขึ้นให้ไพเราะเพราะพริ้งตามถนัดของตน ซึ่งช่วยให้เราได้ทราบสภาพการและตำนานของท้องถิ่นและสถานที่นั้นๆ ตามที่พรรณนาถึงไว้ ถ้าเราได้เห็นแผนที่เส้นทางไว้บ้าง ก็จะเป็นประโยชน์ที่มองเห็นว่าแต่ก่อนท่านไปกันอย่างไร ข้าพเจ้าจึงขอแรง นายจำรัส เกียรติก้อง ให้ช่วยสอบสวนและเขียนแผนที่แสดงเส้นทางเดิน ประกอบนิราศพระแท่นดงรังของสามเณรกลั่น ฉบับชำระใหม่และมีหมายเหตุไว้ด้วย หวังว่าจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้ท่านผู้อ่านซึ่งเป็นนักศึกษาและนักเลงหนังสือ อ่านออกรสขึ้นบ้าง ข้าพเจ้าจึงขอขอบใจ นายจำรัส เกียรติก้อง ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

กรมศิลปากร

๘ กรกฎาคม ๒๕๐๔

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ