อธิบายเรื่อง นางอุทัยกลอนสวด
“คำกาพย์” เป็นรูปแบบร้อยกรองไทยอย่างหนึ่ง มักแต่งเป็นเรื่องยาวประกอบด้วย “กาพย์” หลายชนิดคละกัน ได้แก่ สุรางคนางค์ ฉบังและยานี ในสมัยโบราณนิยมนำวรรณกรรมคำกาพย์ไปใช้เป็นบทสวด ดังนั้นจึงเรียกวรรณกรรมประเภทนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “กลอนสวด” เช่น เรื่องสุบินคำกาพย์ อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สุบินกลอนสวด”
พระยาอนุมานราชธนบันทึกไว้ว่า ท่านเคยเห็นประเพณีสวดทำนอง “กลอนสวด” ที่เมืองนครศรีธรรมราช ชาวบ้านซึ่งไปทำบุญที่วัดในวันพระหรือเทศกาลทำบุญต่างๆ สวดทำนองจากบทตาม “หนังสือสวด” เพื่อรอเวลาที่พระสงฆ์จะลงมายังศาลาการเปรียญ ปัจจุบัน ประเพณีดังกล่าวสูญไปแล้ว ยังเหลือเพียงหนังสือสวดไว้ให้เห็นร่องรอยของวัฒนธรรมในอดีต
จากการที่ได้พบหลักฐานหนังสือสวดหลายเรื่องในท้องถิ่นภาคใต้ ทำให้มีผู้สันนิษฐานว่า วรรณกรรมกลอนสวดและการสวดทำนองจากวรรณกรรมกลอนสวดเป็นประเพณีที่เกิดในท้องถิ่นภาคใต้ก่อน ภายหลังจึงแพร่กระจายมาสู่ท้องถิ่นภาคกลาง แต่จากหลักฐานหนังสือกลอนสวดจำนวนมากที่พบในท้องถิ่นภาคกลางชวนให้สันนิษฐานว่า วรรณกรรมกลอนสวดและประเพณีการสวดที่เกี่ยวเนื่อง น่าจะเกิดขึ้นในภาคกลางก่อนแล้วจึงแพร่กระจายไปสู่ท้องถิ่นภาคใต้ เพราะหากพิจารณาเนื้อความในหนังสือกลอนสวดบางเรื่องที่มีอยู่ทางท้องถิ่นภาคกลางเปรียบเทียบกับเรื่องเดียวกันที่มีอยู่ในท้องถิ่นภาคใต้ เช่นเรื่องนางอุทัยกลอนสวดนี้จะเห็นว่า ฉบับที่เป็นสำนวนชองท้องถิ่นภาคใต้มีรายละเอียดหลายอย่างเพิ่มขึ้นจากสำนวนของท้องถิ่นภาคกลาง จากสมมุติฐานนี้จึงอาจเป็นไปได้ว่าเรื่องดังกล่าวแต่งขึ้นในภาคกลางก่อน ครั้นภายหลังแพร่กระจายไปยังท้องถิ่นอื่นจึงมีการปรับปรุงและเพิ่มเติมรายละเอียดต่างๆ ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ ทั้งยังอาจเป็นไปได้ว่าประเพณีสวดจากหนังสือกลอนสวดในภาคกลางสูญสิ้นไปก่อน จึงปรากฏให้เห็นแต่ในถิ่นใต้ดังที่พระยาอนุมานราชธนบันทึกไว้
หลักฐานการสวด กลอนสวด” ปรากฏในบทละครนอกเรื่อง สังข์ทอง พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตอนเจ้าเงาะอยู่กระท่อมปลายนากับนางรจนาว่า เจ้าเงาะ “สวดสุบิน” ให้นางรจนาฟัง ในบทพระราชนิพนธ์ยกข้อความจาก “สุบินกลอนสวด” มาไว้ด้วยคือ
เมื่อนั้น | รจนาสาละวนลนควันไต้ |
จับกระเหม่าใส่น้ำมันกันไร | ถึงยากเย็นเข็ญใจมิให้รก |
ทาแป้งแต่งตัวไม่มัวหมอง | ผัดหน้านั่งมองส่องกระจก |
นุ่งผ้าจัดกลีบจีบชายพก | แล้วยกของมาให้ผัวกิน |
จีบพลูใส่ซองรองลำดับ | เอามีดพับผ่าหมากจนปากบิ่น |
เจ้าเงาะนอนถอนหนวดสวดสุบิน | เล่นลิ้นละลักยักลำนำ ฯ |
๏ จะกล่าวตำนาน | |
สุบินกุมาร | อันสร้างสมมา |
ร่ำเรียนเขียนธรรม | ปรากฏนักหนา |
บวชในศาสนา | ลุถึงอรหันต์ |
๏ โปรดแม่พ้นทุกข์ | |
โปรดพ่อเสวยสุข | ไปยังเมืองสวรรค์ |
นางฟ้าแห่ห้อม | แวดล้อมนับพัน |
เครื่องทิพย์อนันต์ | อเนกนานา |
๏ แต่ก่อนยังมี | |
เมืองสาวัตถี | นครพารา |
ท่านท้าวเจ้าเมือง | ฦๅเลื่องนักหนา |
รี่พลช้างม้า | ข้าคนบริวาร |
๏ นอกเมืองออกไป | |
มิใกล้มิไกล | มีบ้านนายพราน |
เป็นส่วยมังสัง | เนื้อหนังตระการ |
ล้วนแต่หมู่พราน | ย่อมเอามาถวาย |
๏ นายพรานผู้ใหญ่ | |
ชอบอัชฌาสัย | ตั้งให้เป็นนาย |
กุมไพร่บ้านป่า | ล่าเนื้อกวางทราย |
พรานผู้เป็นนาย | ตักเตือนบคลา |
รจนานิ่งฟังนั่งหัวเราะ | น้อยหรือเพราะแจ้วเจื่อยเฉื่อยฉ่ำ |
ไม่ทันถึงใบสมุดหยุดกินน้ำ | สวดซํ้าอีกสักนิดยังติดใจ ฯ |
ร่องรอยการสวดสุบินกุมารที่ปรากฏในบทพระราชนิพนธ์ดังกล่าวเป็นข้อสนับสนุนว่าประเพณีสวดจากหนังสือสวดนั้นน่าจะเคยมีอยู่ในท้องถิ่นภาคกลางด้วย อย่างน้อยก็ต้องมีอยู่ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๒
อนึ่ง ในหนังสือ “สมุดมาลัย” ฉบับพิมพ์รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐ ซึ่งเจ้าพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) เป็นผู้เรียบเรียงคำนำ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงประเพณี “สวดมาลัย” ว่า
“... แลสมุดมาลัยที่ยังไม่ปรากฏว่าได้พิมพ์มามากฉบับแล้ว แลแม้ว่าเปนเรื่องนอกสุภมาศวันคืนในกรุงเทพฯ แล้วก็ดี แต่ในหัวเมืองมณฑลยังเปนที่นับถืออยู่มาก เปนต้นว่า เมืองสมุทรสงครามก็ยังใช้ในการสวดมงคลบ่าวสาวอยู่ ...”
หลักฐานว่าการสวดมาลัยเคยใช้ในงานมงคลสมรสมาก่อน นั้นย่อมเป็นข้อสนับสนุนอีกทางหนึ่งว่า การสวดจากบทที่แต่งเป็นร้อยกรอง คำกาพย์หรือ “กลอนสวด” นั้นเคยเป็นที่นิยมในท้องถิ่นภาคกลาง ซึ่งนอกจากเรื่องพระมาลัยแล้วยังมีเรื่องอื่นๆ ที่แต่งด้วยคำประพันธ์รูปแบบเดียวกัน ดังปรากฏเอกสารสมุดไทยโบราณที่แต่งเป็นกลอนสวดกระจายอยู่เป็นจำนวนมากในท้องถิ่นภาคกลาง
เรื่องนางอุทัยคงเป็นนิทานพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในอดีต จึงมีผู้นำมาแต่งเป็นร้อยกรองสำหรับสวดและเพื่อให้เรื่องดังกล่าวมีความน่าศรัทธายิ่งขึ้น ผู้แต่งจึงพยายามสร้างให้เป็นนิทานชาดก และมีการ “กลับชาติ” ในตอนท้ายเรื่อง
เรื่องย่อ
กล่าวถึงท้าวนาคาเจ้าเมืองบาดาล มีพระธิดาชื่อนางสมุทมาลา คราวหนึ่งนางเกิดความรุ่มร้อนจึงขออนุญาตพระบิดาขึ้นไปเที่ยวยังแดนมนุษย์ นางลักลอบได้เสียกับรุกขเทวดาจนตั้งครรภ์ เกรงว่าหากพระบิดาล่วงรู้ความ นางจะต้องได้รับโทษจึงสำรอกบุตรในครรภ์ออกมาเป็นไข่ ซ่อนไว้ริมฝั่งน้ำกับพระธำมรงค์ซึ่งมีอานุภาพเนรมิตสิ่งต่างๆ ได้ พร้อมกับผ้ารัตกัมพล แล้วนางก็กลับไปยังเมืองบาดาล
ยังมีคางคกตัวหนึ่งมาพบสิ่งของทั้งนั้นเข้าจึงกลืนกินเข้าไปทั้งไข่ พระธำมรงค์และผ้ารัตกัมพล พิษแห่งนาคทำให้คางคกถึงแก่ความตายเป็นคราบห่อหุ้มไข่ไว้ ครั้นครบกำหนดก็กำเนิดเป็นกุมารีอาศัยอยู่ในคราบคางคก ต่อมาสองตายาย สามีชื่อตากุลโกฐาส ภรรยาชื่อยายกาวัน ทั้งสองยากจนข้นแค้นมีอาชีพสุ่มปลาขายเลี้ยงชีพ วันหนึ่งขณะที่กำลังสุ่มปลาได้พบคางคกพูดภาษาคนได้ อ้อนวอนขอให้ตายายนำไปเลี้ยงแล้วจะแทนคุณในภายหน้า ตายายจึงนำมาเลี้ยงไว้ กุมารีในคราบคางคกมีความกตัญญูรู้คุณ ได้เนรมิตข้าวปลาอาหารไว้คอยท่าเมื่อทั้งสองไม่อยู่ ครั้นซุ่มดูก็ทราบว่าในคราบคางคกนั้นเป็นที่ซ่อนตัวของกุมารีรูปงาม เวลาผ่านไปจนนางมีอายุย่างเข้ารุ่นสาว วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ ชาวบ้านทั้งหลายเตรียมไปฟังเทศน์ที่วัด นางจึงขอให้ตายายพานางไปฟังเทศน์ด้วย ทั้งสองจึงขอให้นางออกจากคราบคางคก พอดีได้เวลาตรงกับตอนเช้าวันอาทิตย์ นางจึงได้ชื่อว่า “อุทัย” หรือ “อุทัยเทวี” นางอุทัยได้เนรมิตหญิงงามจำนวนมากไว้เป็นข้ารับใช้แล้วพากันเดินทางไปฟังเทศน์ที่วัด
ท้าวการบกับนางกาวิน มีพระโอรสนามว่า กายสุทธกุมาร อายุได้ ๑๖ ปี วันนั้นกายสุทธกุมารไปฟังเทศน์ที่วัด ได้พบนางอุทัยเข้าก็หลงรัก จึงให้ทหารหลวงติดตามไปล้อมเรือนของสองตายายไว้ ฝ่ายนางอุทัยก็เข้าหลบอยู่ในคราบคางคกแล้วสอนให้ตายายบอกแก่ทหารหลวงว่า หากเจ้านายมีความประสงค์ที่จะได้นางอุทัยเป็นชายาก็ให้แต่งสะพานทอง มีห้องประดับด้วยทอง ๑๕๐ ห้อง จากเมืองมาจนถึงเรือนที่นางพำนัก ท้าวการบได้ทรงทราบข้อเสนอเช่นนั้นก็ทรงพระพิโรธคิดจะฆ่าสองตายายแต่นางกาวินห้ามไว้แล้วยื่นข้อเสนอกลับให้ฝ่ายตายายสร้างปราสาททองไว้รอรับสะพานทอง หากไม่สำเร็จจะลงอาญาถึงชีวิต คืนนั้นนางอุทัยก็เนรมิตปราสาททองขึ้น ท้าวการบกับนางกาวินร้อนพระทัยนักที่ไม่สามารถสร้างสะพานทองไปยังปราสาทของนางอุทัยได้ ด้วยบุพเพสันนิวาสที่ทั้งสองเคยสร้างบุญร่วมกันไว้แต่ชาติปางก่อน ร้อนถึงพระอินทร์ต้องลงมาเนรมิตสะพานทองให้ นางอุทัยได้เข้าพิธีอภิเษกกับกายสุทธกุมาร ทั้งสองครองรักอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
แต่เดิมมา กายสุทธกุมาร ได้สู่ขอนางฉันนาพระธิดาของท้าวกัญจาเจ้าเมืองอุโลมนครไว้เป็นคู่หมั้น ครั้นนางมีอายุได้ ๑๕ ปี ท้าวกัญจาจึงส่งราชทูตมาเตือนขันหมาก ทั้งยังประกาศว่าถ้าฝ่ายชายไม่มาอภิเษกตามสัญญาจะต้องทำสงครามกัน กายสุทธกุมารจำต้องจากนางอุทัยไปทั้งที่รักนางอย่างสุดซึ้ง ก่อนที่จะออกเดินทางได้ให้ช่างหล่อรูปนางอุทัยด้วยทองคำ นำใส่หีบไปเชยชมต่างหน้าที่เมืองอุโลมนครด้วย นางฉันนานั้นแม้ว่าจะอยู่ในวัยรุ่นสาวแต่เกศากับหงอกขาว หลังจากเข้าพิธีอภิเษกแล้ว กายสุทธกุมารก็มิได้มีความเสน่หา เฝ้าแต่เชยชมรูปนางอุทัยอยู่ไม่สร่างจนนางฉันนาสืบทราบจึงให้คนมาลักรูปทองไปทิ้งในแม่น้ำ ทำให้กายสุทธกุมารไม่พอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง
อยู่มานางฉันนาติดสินบนสองตายายนักโกหก มีสำเภายนต์ลอยไปได้ในอากาศให้ไปลวงนำตัวนางอุทัยมายังเมืองอุโลมนคร นางฉันนาให้คนทำร้ายนางอุทัยจนถึงแก่ความตายแล้วนำไปทิ้งในแม่น้ำ นางอุทัยเป็นธิดาของนางนาค เมื่อจมลงในน้ำก็กลับฟื้นชีพขึ้นมา นางนั่งร้องไห้อยู่ที่ริมฝั่งน้ำกระทั่งมีแม่เฒ่าขายผักพายเรือผ่านมาพบนางเข้าก็นำไปอุปการะ นางอุทัยเมื่อหายจากอาการบาดเจ็บแล้วได้ช่วยแม่เฒ่าพายเรือขายผัก นางผูกใจเจ็บคิดจะล้างแค้นนางฉันนาให้จงได้ จึงแปลงร่างเป็นหญิงชราแต่เส้นเกศายังดำขลับ พายเรือขายผักไปจนถึงหน้ารัง
นางฉันนาเห็นเข้าจึงเรียกไปถามถึงสาเหตุที่หญิงชรายังมีผมดกดำ นางอุทัยแปลงลวงว่า ตนมีวิชาปลูกผมหงอกให้กลับดำได้ แต่ต้องทำพิธีในที่รโหฐานไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ ทั้งต้องทนเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสได้ นางเรียกค่าทำพิธีสูงถึง ๑๐๕ ตำลึงทอง ซึ่งนางฉันนาก็ไม่ขัดข้อง
ถึงวันกำหนดนัด ยายเฒ่านางอุทัยแปลงให้กั้นม่านมิดชิด จับนางฉันนาโกนหัว เอาปลายมีดสับทั่วทั้งร่าง หมักด้วยปลาร้าเน่าแล้ว นำหม้อแกงมาครอบหัวไว้ เมื่อเสร็จการล้างแค้นนางก็จากไปพร้อมด้วยเงินรางวัล นางฉันนาทนทุกข์ทรมานอยู่ไม่กี่วันก็ถึงแก่ความตาย ท้าวกัญจาให้สืบหาตัวแม่ค้าเฒ่าผมดำก็ไม่พบ จึงจัดการเผาศพพระธิดา ตามประเพณี กายสุทธกุมารแสร้งทำเป็นเสียพระทัยผนวชเป็นพระภิกษุอุทิศส่วนกุศลให้นางฉันนาและจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองอุโลมนคร
วันหนึ่งนางอุทัยแกล้งพายเรือร้องขายแป้งหอมผ่านไปหน้าวัด กายสุทธกุมารจำเสียงนางได้จึงให้คนไปนำตัวมา ทั้งสองได้พบกัน กายสุทธกุมารจึงลาผนวชแล้วพากันเดินทางกลับบ้านเมือง
การตรวจสอบชำระ
ต้นฉบับสมุดไทยเรื่องนางอุทัยกลอนสวดซึ่งเก็บรักษาไว้ที่ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก หอสมุดแห่งชาติที่ใช้ในการตรวจชำระครั้งนี้มี ๒ สำนวนด้วยกัน สำนวนแรกได้แก่ เอกสารเลขที่ ๑๖๔ หมวดวรรณคดี หมู่กลอนสวดและสำนวนที่ ๒ ได้แก่ เอกสารเลขที่ ๑๖๓ หมวดวรรณคดี หมู่กลอนสวด เมื่อเปรียบเทียบเนื้อความแล้ว สันนิษฐานว่ สำนวนแรกน่าจะมีมาก่อน ส่วนสำนวนที่ ๒ คงเป็นฉบับที่มีการแต่งเติมเนื้อความเสริมขึ้นจากสำนวนแรก การจัดพิมพ์ครั้งนี้เลือกสำนวนแรก อันได้แก่เอกสารเลขที่ ๑๖๔ เป็นหลักในการตรวจสอบชำระ
เนื่องจากเอกสารต้นฉบับไม่มีข้อความระบุถึงผู้แต่งและสมัยที่แต่ง จึงยังไม่อาจสรุปเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวได้ แต่จากเนื้อหาบางตอนส่อว่าเรื่องนางอุทัยกลอนสวดสำนวนนี้น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ได้แก่ ความตอนชมโฉมนางอุทัยที่กล่าวว่า นางอุทัยไว้ผมยาวประบ่า ตามความนิยมของสตรีสมัยอยุธยา ต่างจากสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นซึ่งสตรีนิยมตัดผมสั้น
๏ ผมเผ้าเฟื้อยเหนือบ่า | เนื้อนมหน้างามอุดม |
อ้อนแอ้นอรเอวกลม | นวลละอองคือทองคำ |
ลักษณะสตรีไว้ผมยาวประบ่าดังที่กล่าวในเรื่องนางอุทัยกลอนสวดสำนวนนี้ ตรงกับในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก พระนิพนธ์ ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ ว่า
๏ ชมเผ้าเจ้าดำขลับ | แสงยับยับกลิ่นหอมรวย |
ประบ่าอ่าสละสลวย | คือมณีสีแสงนิล |
๏ ชมเกศดำขลับแท้ | สาวสลวย |
แสงระยับหอมรวย | กลิ่นแก้ว |
ละเอียดเสียดเส้นสวย | ประบ่า |
คือมณีเนื้อแล้ว | คลับคล้ำแสงนิล ฯ |
เนื้อความตอนทำขวัญนางอุทัย กล่าวถึงลักษณะการประสมวง “มโหรี” ว่าประกอบด้วย กระจับปี่และซอสามสายอันเป็นรูปแบบของวงมโหรีราชสำนักสมัยอยุธยา
๏ ครั้นทำขวัญแล้ว | |
เมื่อนั้นพระแก้ว | การบทรงไชย |
สมโภชลูกรัก | มาแต่เมืองไกล |
นักเลงเพลงใน | ละครเทพทอง |
๏ บ้างดีดกระจับปี่ | |
รับกับมโหรี | สีซอขับร้อง |
มีทั้งโรงหนัง | คนรำทำนอง |
ฝงคนก่ายกอง | ตามดูไปมา |
นอกจากเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว เรื่องนางอุทัยกลอนสวดสำนวนนี้ยังมีศัพท์บางคำร่วมสมัยกับวรรณกรรมอยุธยาเรื่องอื่นๆ เช่น บราง ลิงโลด (ที่ใช้ในความหมาย ว่าเป็นทุกข์) เป็นต้น
ข้อสังเกตประการหนึ่งที่ปรากฏในวรรณกรรมกลอนสวดหลายเรื่องคีอ เมื่อจบความแต่ละตอนแล้วเปลี่ยนรูปแบบคำประพันธ์มักไม่มีสัมผัสระหว่างปลายบทสุดของคำประพันธ์เดิมกับบทแรกของคำ ระพันธ์ที่เปลี่ยนตอนใหม่
เรื่องนางอุทัยกลอนสวดสำนวนที่ตรวจสอบชำระและนำมาจัดพิมพ์คราวนี้ นับเป็นวรรณกรรมชาวบ้านที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตและ ขนบประเพณีไทยในอดีตหลายอย่าง เช่น ประเพณีแต่งงาน ประเพณี เชิญขวัญ มหรสพตลอดจนการละเล่นต่าง ๆ ซึ่งเคยเป็นที่นิยมในสังคมไทย โบราณ
อนึ่ง ในการพิมพ์ครั้งนี้ได้ปรับอักขรวิธีบางส่วนให้ใกล้เคียงกับปัจจุบัน เพื่อให้ผู้อ่านทุกระดับสามารถเข้าใจเนื้อหาได้โดยตลอด ส่วน ผู้ที่ประสงค์จะศึกษาอักขรวิธีเดิมนั้น โปรดดูจากสำเนาต้นฉบับเอกสาร เลขที่ ๑๖๔ ซึ่งพิมพ์ไว้ตอนท้ายของหนังสือนี้