๏ ลักษณเตโชธาตุออกจากตัวนั้น ให้ร้อนปลายมือปลายเท้า แล้วให้ปวดขบมีพิศม์ แล้วก็ให้แปรไปให้บวมหน้า บวมมือ บวมท้อง บวมเท้า แล้วก็ผื่นขึ้นทั้งตัวดังผด แลหักจมไปทำท้อง บุพโพ โลหิต ให้มือแลเท้าตาย รู้มิถึงแก้มิต้อง พร้อมด้วยโทษ ๑๕ วันตัด ๚

๏ เตโชธาตุพิการนั้น ให้กลัดอกกลัดใจ ให้ไอเปนมองคร่อ ให้ทำท้อง ท้องขึ้น ให้บวมมือบวมเท้า มักให้นอนหลับแต่เพลากลางวัน เหตุดังนั้นคือไฟธาตุอันชื่อ ชิรนัคคี สำหรับเผากายให้เหี่ยวแห้งคร่ำคร่านั้น ย่อมเย็นจึงให้เปนไปต่าง ๆ ๚

๏ ปริณามัคคีไฟเผาอาหารนั้น มีลักษณ ๔ ประการ คือ สมาธาตุไฟ ธาตุนั้นเสมอ บริโภคอาหารเข้าไปพอบังควร ไฟธาตุเผาอาหารแหลกแล้วก็มิได้อยากอาหารอีกเลย อิมเปนปรกติอยู่ ๚

๏ วิสมาธาตุนั้น บางวันให้ผูก บางวันให้ลง บางวันให้อยากอาหาร บางวันให้คับท้อง แน่นอก แน่นใจ มักให้แค้นคอดังนี้ เหตุไฟธาตุมิได้เสมอ วาโยเดินมิสดวก จึงตั้งเปนลมร้อนเข้าได้ในท้อง โทษวาโยมีกำลัง ๚

๏ ติกกะธาตุนั้น คือไฟธาตุแรงเผาอาหารฉับพลันยิ่งนัก บริโภคอาหารเข้าไปมากแล้ว อยู่บมินาน ให้อยากอาหารอิก ๚

๏ มันนกะธาตุนั้น ไฟเผาอาหารอ่อน บริโภคอาหารก็มิได้ บังเกิดให้ลงเองวันละ ๒ เพลา ๓ เพลา ให้ถอยแรงจะเดินไกลก็มิได้ดังนี้ เสมหะจึงประชุมกันเข้าได้ โทษในเสมหะกำเริบมีกำลัง แลไฟเผาอาหารมิได้เสมอแล้วเมื่อใด โรคนั้นจะแปรให้เปนต่าง ๆ ๚

ยาสำหรับเตโชธาตุอันพิการ เอาผลกะเบา รากไคร้เครือ ผลพิลังกาสา ผลสมอไทยเหลี่ยม ผลมะขามป้อม ผลชะพลู หว้านเปราะป่า หญ้ารังกา ชเอมไทย รากผักแผ้วแดง ยา ๑๐ สิ่งนี้เสมอภาค ทำเปนจุณละลายน้ำร้อน ขันทศกรก็ได้ กินหายแล ๚

ถ้ามิถอยให้ประกอบยาเปนอันดับกันไป ภาคหนึ่งเอามหาหิงคุ์ ดีปลี รากชะพลู หว้านน้ำ ขิงแห้ง พริกล่อน ผลราชดัด ผลพิลังกาสา รากผักแผ้วแดง ผลมะแว้งต้น ใบยางทราย ยา ๑๒ สิ่งนี้ เสมอภาค ทำเปนจุณละลายน้ำมวกเขา น้ำนมโคก็ได้ ๚

ถ้ามิถอยให้เอา มหาหิงคุ์ส่วน ๑ หว้านเปราะ ๒ ผลชะพลู ๓ ขิงแห้ง ๔ เทียนเยาวภานี ๕ ผักแผ้วแดง ๖ โกฎสอเทศ ๗ สมอไทยเหลี่ยม ๘ ดีปลี ๙ ผลชีล้อม ๑๐ ทำเปนจุณละลายน้ำผึ้งรวง น้ำมูตรโคดำก็ได้

ถ้ามิถอยไซ้ ให้เอาโกฎสอ โกฎเขมา รากพิลังกาสา ผลราชดัด ผลสรรพพิศม์ ผลสวาดิ จุกโรหินี รากกรุงเขมา รากมะแว้งเครือ รากจิงจ้อใหญ่ มหาหิงคุ์ ผลจันทน์เทศ เทียนดำ เทียนขาว ยา ๑๔ สิ่งเสมอภาค ทำเปนจุณละลายน้ำนมโคก็ได้ ส้มมะงั่วก็ได้ ยาขนานนี้สำหรับแก้เตโชธาตุอันวิการหายแล ๚

ยาแก้เตโชธาตุให้เอารากผักแผ้วแดง โกฎเขมา ชเอมไทย ลูกมะขามป้อม รากไคร้ต้น หว้านเปราะป่า รากสวาดิ หญ้ารังกา เสมอภาคทำเปนจุณ ละลายน้ำร้อนก็ได้ น้ำนมโคก็ได้ กินตามควร แก้เตโชธาตุอันพิการหายแล ๚

ขนานหนึ่งให้เอา หว้านน้ำ เปลือกมูกหลวง ชีล้อม รากเสนียด ขิงแห้ง ดีปลี เกลือเทศ เสมอภาคทำเปนจุณแล้ว เอามูตรโคดำคลุกยาผง ตากแดดจงแห้งละลายน้ำร้อน น้ำผึ้งรวงก็ได้ กินตามควร แก้เตโชธาตุอันพิการแล ๚

ถ้ามิถอยให้เอา ผลชะพลู ผลสมอไทย ผลจิงจ้อหลวง รากเจตมูลเพลิง ผลมะขามป้อม หว้านเปราะป่า รากไคร้ต้น รากไคร้เครือ ชเอม หญ้ารังกา รากกะเบา เสมอภาคทำเปนจุณละลายในทศกร กินตามควร แก้เตโชธาตุให้โทษแล ๚

อนึ่งบุคคลผู้ใดมีไฟธาตุอันเย็น พึงให้นอนหลับเมื่อเพลากลางวันนั้นมาก จะยาไซ้ให้เอา ผลสมอไทย อันเปนเหลี่ยม ๔ เหลี่ยม ๕ เหลี่ยม ฅอดังฅอน้ำเต้า เนื้อเหลือง เอาแต่เนื้อ ดีปลีเสมอภาค ทำเปนจุณละลายน้ำร้อน เกลือรำหัด กินแก้ไฟธาตุอันเย็นอันหย่อน ให้เสมอเปนปรกติ ให้มีกำลังแก้ลมเปนก้อน แลลมอันให้เสียดแทงชายโครง แลตะโพกสันหลัง ให้ท้องขึ้นท้องพอง แก้ธาตุพิการให้ปรกติ ๚

๏ ไฟธาตบุคคลผู้ใดเผาอาหารซึ่งบริโภคเข้าไปนั้นแหลกออกได้ จึงบังเกิดลมในท้องนั้นพัดมีกำลังกล้า ย่อมให้ลงให้อาเจียนบ้าง เรียกว่าลมป่วง ๚

ถ้าจะยาไซ้ ให้เอาตรีกฏุก ผลกะเช้า ขมิ้นอ้อย เสมอภาค น้ำมะงั่วเปนกระสาย บดทำแท่งละลายน้ำร้อนกินบ้างใส่ตาบ้างหาย ๚

๑๐ ถ้ามิถอยให้เอา เปลือกกะเช้าแดง รากหญ้าพันงูแดง ขมิ้นอ้อย ใบสเดา บรเพ็ด เปลือกรกฟ้า เปลือกมูกมัน เสมอภาค ต้ม ๔ เอา ๑ กินแก้มักเปนป่วงกลางคืน ถ้ามิถอยให้เอา พริก ขิง กะเทียม ขมิ้นอ้อย ใบสเดา เสมอภาค ทำเปนจุณละลายน้ำร้อน เกลือรำหัดกินแก้ลมป่วงหาย ๚

๑๑ อัคคินีวคณะ ให้เอา กันชา ยิงสม สิ่งละส่วน เปลือกอบเชย ใบกระวาน กานพลู สค้าน สิ่งละ ๒ ส่วน ขิงแห้ง ๓ ส่วน รากเจตมูลเพลิง ดีปลี สิ่งละ ๔ ส่วน น้ำตาลกรวด ๖ ส่วน กระทำเปนจุณ น้ำผึ้งรวงเปนกระสาย บดเสวยหนักสลึง ๑ แก้อาเจียน ๔ ประการ ด้วยติกกะขาคินีกำเริบ แลวิสมามันทาคินีอันทุพล จึงคลื่นเหียนอาเจียน มิให้เสวยพระกระยาหารได้ ให้จำเริญพระธาตุทั้ง ๔ ให้เสวยพระกระยาหาร เสวยมีรศชูกำลังยิ่งนัก

ข้าพระพุทธเจ้า ขุนประสิทธิโอสถจีน ประกอบทูลเกล้าฯ ถวาย ครั้งสมเด็จพระนารายน์เปนเจ้าเมืองลพบุรี เสวยเพลาเช้าอัตรา ดีนักแล ๚

๑๒ จำเริญพระธาตุให้เอาใบรักแห้ง บรเพ็ดแห้ง แห้วหมู ดอกชรากากี ผลมะตูมอ่อน รากมะตูม โกฏหัวบัว เทพทาโร สมอเทศ เทียนแดง เชือกเขาพรวน ขิงแห้ง ดีปลี กะเทียมทอก รากชะพลู เกลือสินเธาว์ เสมอภาคกระทำเปนจุณ บดด้วยน้ำผึ้งรวง น้ำสุรา ระคนกันเปนลูกกอน เสวยหนักสลึง ๑ แก้พระวาตะ เสมหะ โลหิตกำเริบอันทุพล แก้พระเส้นอันทพฤก อันกระด้างตึงแต่พระชงฆ์ขึ้นไปตราบเท่าถึงบั้นพระองค์ ให้พระเส้นนั้นอ่อน ให้เสวยพระกระยาหารเสวยได้ ให้จำเริญพระสกลธาตุเปนอันยิ่ง

ข้าพระพุทธเจ้า ออกขุนทิพจักรประกอบทูลเกล้าฯ ถวาย ๚

๑๓ จำเริญพระธาตุทั้ง ๔ ชูพระกำลัง เอาหว้านน้ำ รากเจตมูลเพลิง รากแคป่า รากพนมสวรรค์ เสมอภาค ต้มด้วยพระสุธารศ ๔ เอา ๑ เมื่อจะเสวยเอาขันทศกรปรุงลงแต่พอประมาณ เสวยตามสมควร ชูพระกำลัง จำเริญพระธาตุทั้ง ๔

ข้าพระพุทธเจ้า ออกพระสิทธิสาร ประกอบทูลเกล้า ฯ ถวาย ๚

๑๔ อาโปธาตุถอยนั้น ให้ลงท้อง ให้เจ็บท้อง จุกอก เปนกระสายกล่อน บ้างก็เปนพรรดึก กลิ้งขึ้นกลิ้งลง ให้ขัดหัวเหน่า เสียดราวข้าง ผู้หญิงข้างซ้าย ผู้ชายข้างขวา แล้วให้แปรไป ให้ตกบุพโพ โลหิต ให้เสโทตกหนัก มักให้ไปปัสสาวะวันละ ๒๐-๓๐ เพลา บ้างก็ให้ขัดปวดมิสดวก บริโภคอาหารก็มิได้อิ่ม ให้ท้องขึ้นท้องพอง ผอมเหลือง ถ้าเกิดแก่บุคคลผู้ใด เปนกรรมผู้นั้นแล ท่านให้ประกอบยานี้กินตามบุญ ประดุจไม้เท้า แลโรคนั้นผันแปรต่างๆ จะให้ขัดเข่าแลฟองดุจให้เย็นเท้านัก ยาสำหรับแก้นั้นให้เอา ชีล้อม รากหว้านน้ำ เปลือกมูกหลวง น้ำเต้าขม ผลกระดอม เสมอภาค ทำเปนจุณละลายมูตรโคดำก็ได้ น้ำผึ้งรวงก็ได้ กินตามกำลัง กินแก้วาโยธาตุพิการแล

๑๕ ถ้ามิถอยให้เอา ตรีกะฏุก รากจิงจ้อหลวง ผลราชดัด แห้วหมู กะพังโหม เข้าค่า ขมิ้นอ้อย หอมแดง ยาทั้งนี้เสมอภาค ทำเปนจุณละลายน้ำหยันเหล้า น้ำร้อนก็ได้ กินตามกำลัง แก้อาโปธาตุพิการแล ๚

๑๖ ถ้ามิถอยให้เอา บรเพ็ด ข่าตาแดง พรรณผักกาด กะดอม รากมะแว้งต้น ไพล กระชาย แก่นสน จันท์นเทศ จันทนา เสมอภาค ทำเปนจุณละลายน้ำมวกเขา กินตามกำลัง แก้อาโปธาตุวิการแล

๑๗ ถ้ามิถอยให้เอา ผลมะขามป้อม ตรีผลา สค้าน รากชะพลู ตรีกะฏุก ข่าแห้ง ลูกจันทน์ เสมอภาค ทำเปนจุณละลายน้ำใบผักไห่ น้ำใบกล้วยตีบก็ได้ แก้อาโปธาตุวิการหายแล ๚

๑๘ ขนานหนึ่ง ผักแผ้วแดง ผลชีล้อม เปลือกมูกมัน หว้านน้ำ หญ้ารังกา เสมอภาค ทำเปนจุณ ละลายน้ำผึ้งรวง น้ำร้อนก็ได้ กินพอควรแก้อาโปธาตุอันให้ท้องขึ้นท้องพอง ขัดอุจาระ ปัสสาวะมิสดวกหายแล ๚

๑๙ ขนานหนึ่ง ให้เอา พริกล่อน ขิงแห้ง หญ้ารังกา เสมอภาค ทำเปนจุณละลายน้ำร้อน มูตรโคดำก็ได้ กินพอควร แก้อาโปธาตุวิการอันให้ทำท้องผอมเหลือง บริโภคอาหารมิได้ หายแล ๚

๒๐ ขนานหนึ่ง ให้เอารากผักแผ้วแดง เปลือกผูกมัน รากเสนียด หญ้ารังกา เสมอภาค ทำเปนจุณ ละลายน้ำผึ้งรวง น้ำร้อนก็ได้ กินพอควร แก้อาโปธาตุพิการให้ร้อน ให้เสโทตกหนัก มักให้ไปอุจาระปัสสาวะบ่อยๆ มิสดวก ผอมเหลือง ท้องขึ้นท้องพองหายแล ๚

๒๑ ขนานหนึ่ง เอาเปลือกมะขามป้อม ฝางเสน ต้ม ๔ เอา ๑ กินแก้ตกมูกตกหนักหยุดเปนอันเที่ยงแท้ ได้แก้รอดจากความตายเปนหลายคนมาแล้ว ๚

๒๒ ยาแก้ขัดปัสสาวะ ให้เอาใบกะเพราเต็มกำมือหนึ่ง ดินประสิวขาวหนัก ๒ สลึง บดให้เลอียด เอาใบชาต้มเปนกระสาย ละลายถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนิพพานท้ายสระให้เสวย เมื่อเสวยพระโอสถแล้วกราบทูลให้เสวยพระสุธารศชาตามเข้าไปภายหลังอิก ๒ ที ๓ ที ซึ่งขัดปัสสาวะนั้นไปพระบังคนเบาสดวก ข้าพระพุทธเจ้า พระแพทยโอสถฝรั่ง ประกอบทูลเกล้าฯ ถวาย ได้พระราชทานเงินตราชั่ง ๑ ๚

๒๓ วาโยธาตุพิการนั้น ท้องเปล่าอยู่ มิได้บริโภคอาหารสิ่งใดเข้าไปก็ให้อาเจียน บางทีต่อบริโภคอาหารเข้าไปจึงให้อาเจียน ในท้องนั้นเต็มไปด้วยลม มีเสียงเปนอันดัง ลักษณะดังนี้ คือ วาโยธาตุให้โทษ ถ้าจะยาไซ้ให้เอาเปลือกมูกหลวง พริกไทย ขิงแห้ง ผลตลอด หว้านน้ำ แห้วหมู หญ้ารังกา ผักแผ้วแดง รากไคร้เครือ สมอไทยถูกเหลี่ยม เสมอภาค ทำเปนจุณละลายด้วยน้ำมูตรโคดำ สุราก็ได้ กินตามกำลัง แก้วาโยธาตุพิการแล ๚

๒๕ ถ้าแลผันแปรไป โรคนั้นย่อมว่าเปนริศดวงดังนั้น ซึ่งประกอบยานี้ไว้ ให้เอา มหาหิงคุ์ หว้านน้ำ ผลราชดัด ผลสวาดิ ดีปลี โกฏเขมา กรุงเขมา ชเอม ขิงแห้ง ใบยางทราย เสมอภาค ทำเปนจุณละลายน้ำร้อน น้ำผึ้งรวง น้ำนมโคก็ได้ แก้ริศดวง เพื่อวาโยธาตุให้โทษหายแล ถ้ามิถอยให้เอา ชเอม รากเจตมูลเพลิง รากทนดีใบแฉก รากจิงจ้อใหญ่ หว้านน้ำ ใบตลอด ต้มด้วยเกลือตากแดด ตรีกะฏุก การฺบูร ใบหนาด เสมอภาคทำเปนจุณละลายน้ำร้อน น้ำผึ้งรวง น้ำมูตรโคดำก็ได้ กินตามกำลัง แก้วาโยธาตุอันพิการหายแล ๚

๏ ปถวีธาตุออกจากตัวนั้น ให้เจ็บท้อง ท้องขึ้น ท้องพอง ย่อมว่าเปนริศดวงผอมเหลือง ให้เสียดสันหลัง แล้วแปรไปเปนองคสูต ให้ตกบุพโพโลหิตทางทวารหนัก ทวารเบา ถ้าแก้มิต้องถอยอายุแล ๚

๒๕ ยาแก้ปถวีธาตุให้เอา ใบยางทราย กะเทียม ดีปลี ผลมะตูมอ่อน ผลมะแว้งทั้ง ๒ สค้าน รากผักแล้ว หว้านน้ำ สมอไทย สัตบุษเทศ เสมอภาคทำเปนจุณละลายน้ำนมคน น้ำนมโคก็ได้ แก้ปถวีธาตุวิการแล ๚

๒๖ ถ้ามิถอยให้เอา มหาหิงคุ์ หว้านน้ำ ตรีกะฏุก ตรีผลา ไพล ง้อนหมู ชะดามังสี รากขัดมอน เสมอภาคทำเปนจุณละลายน้ำส้มส้า น้ำร้อนก็ได้ กินตามกำลัง แก้ปถวีธาตุพิการแล ๚

๒๗ ถ้ามิถอยให้เอา บรเพ็ด กะพังโหม รากมะแว้งทั้ง ๒ รากหญ้าขัดมอนหลวง รากขี้กาแดง เชือกเขาพรวน เสมอภาคทำเปนจุณละลายน้ำจันทน์ขาว น้ำชเอมก็ได้ กินตามกำลัง แก้ปถวีธาตุพิการแล ๚

๒๘ ถ้ามิถอยให้เอา ฝิ่นส่วน ๑ ผลมะตูมอ่อน ดอกบุนนาค ผลพิลังกาสา สัตบุษเทศ กะพังโหม หญ้าลูกเคล้า ใบมะงั่ว ใบทองหลางใบมน สิ่งละ ๒ ส่วน ทำเปนจุณละลายน้ำร้อน กินตามกำลัง แก้ปถวีธาตุพิการหายแล ๚

๒๙ ถ้ามิถอยให้เอา หนังจรเข้ มูลโค นอแรด หอยขม เขากระบือ ยา ๕ สิ่งนี้เผาเสียก่อน กะเทียม ลูกจันทน์ ดีปลี แห้วหมู เสมอภาคทำเปนจุณ ละลายน้ำร้อนกินพอควร แก้ปถวีธาตุพิการ อันให้เจ็บท้องหนักมิรู้วาย ได้กินยานี้หายแล ๚

๓๐ ขนานหนึ่งให้เอา ดีปลี ผลมะตูมอ่อน สค้าน ผลสมอไทย หว้านน้ำ ใบเจตมูลเพลิง เสมอภาคทำเปนจุณละลายน้ำผึ้ง น้ำร้อนก็ได้ กินพอควร แก้ปถวีธาตุอันให้โทษ ให้เจ็บเนื้อตัวทุกเส้นขน ลมตีขึ้น ในท้องมีเสียงอันดังต่าง ๆ หายแล ๚

๏ อยํกาโย อันว่ากายเราท่านทั้งหลายนี้ เหตุธาตุทั้ง ๔ เปนที่ตั้งแห่งกายแลอายุ ถ้าธาตุทั้ง ๔ มิได้บริบูรณ์แล้วเมื่อใด สมุฐานก็จะแปรไปให้กำเนิดแก่โรคเมื่อนั้น เวช์ โช อันว่าแพทย์ผู้พยาบาลไข้สืบไปเมื่อน่า จงพิจารณาให้แจ้งไป ในปฐมธาตุทั้งหลาย อันจะแปรปรวนพิการกำเริบ ตามฤดูเดือนวันเวลาอายุที่อยู่ที่เกิดก่อนจึงจะรู้กำเนิดไข้ แล้วให้รู้สรรพคุณยา แลรศยาทั้ง ๙ ประการก่อน จึงจะประกอบยา วางยา ถ้าวางยาชอบโรค ๆ นั้นกลัวยาดุจกาเห็นธนู ถ้ามิดังนั้นดุจดังหมู่เนื้อ เห็นพระยาไกรสรสีหราช ก็จะปลาศหนีไปโดยเร็ว ถ้าดูโรคมิถูกวางยาผิด ดังอสรพิศม์อันบุคคลเอาไม้ไปรับลงที่ขนดหาง โรคคือโทโสจะกำเริบขึ้นกลมทั่วสรรพางค์กาย มรณํ อันว่า ความตาย ภวิส์สติ ก็จะมี ทุวํ แท้จริง

ถ้าไข้ในคิมหันต์ โลหิตมีกำลัง วสันต์ วาโยมีกำลัง เหมันต์ เสมหะมีกำลัง กล่าวไว้ดังนี้พอประมาณ วิตถารแจ้งอยู่ในฤดู ๖ คัมภีร์มหาโชติรัตนแลโรคนิทานนั้นแล้ว อันยาแก้ธาตุพิการนั้น ถ้าเตโชธาตุพิการให้กอบยา รศขม รศเผ็ด รสฝาด ถ้าอาโปธาตุพิการ ให้ประกอบยา รศขม รสหวาน โทษกำเดานั้น ท่านยกขึ้นเปนอากาศธาตุ ถ้าให้โทษ ให้ประกอบยา รสขม รศเย็น จึงจะชอบด้วยโดยโรค ถ้าแลยาหามิได้ ยาเตโชธาตุ ยาอาโปธาตุ นั้นไซ้ต่างกันได้ ยาวาโยธาตุ ยาปถวีธาตุนั้นไซ้ต่างกันได้ ถ้ามิรู้จักสรรพยาแท้ให้ถามพฤฒาจารย์ให้แจ้งประจักษ์ก่อนจึงประกอบ จึงจะชอบด้วยโรคอันกล่าวมาแต่หลังนั้นแล ๚

อนึ่งลักษณดีกำเริบ ดีรัว ดีค่น ย่อมให้จักษุเหลือง จักษุเขียว อุจาระปัสสาวะ เนื้อก็เหลือง ให้ใจน้อย มักโกรธมักขลาด เจรจาด้วยผี มะเมอเพ้อพกคลั่งไคล้ใหลหลง เพศดังนี้ให้เร่งยาจงฉับพลัน

ถ้ามิถอยล่วงเข้าตรีโทษได้จะกลายเปนลมอัมพาต ลมราทยักษ์ ลมวิหค กำหนดยามิต้อง ๗ วันตาย

๓๑ ถ้าจะยาไซ้ให้เอา หอมแดง รากขี้กาแดง รากสอึก แก่นสน สมอไทย บรเพ็ด เสมอภาค สิ่งละตำลึง ต้ม ๔ เอา ๑ กินแก้ดีกำเริบหายแล ๚

๓๒ ถ้ามิถอยให้เอา แก่นจันทน์ กรุงเขมา แก่นสน กะพังโหมทั้งใบทั้งราก เสมอภาค ต้ม ๔ เอา ๑ กินหายแล ๚

๓๓ ถ้าไข้นั้นให้ร้อนกระหายน้ำนัก เอาจันทน์ขาว ใบพลูแก ขิง ขันทศกร เสมอภาคทำเปนจุณละลายน้ำดอกไม้เปนกระสาย ทั้งบดละลายกิน รำหัดพิมเสนด้วย แก้ร้อนแก้กระหายน้ำแล ๚

๓๔ ถ้ามิถอยให้เอา เปลือกมะรุม ขมิ้นอ้อย พรรณผักกาด เสมอภาค น้ำดอกไม้เปนกระสายบดละลายกินแก้ร้อน แก้กระหายน้ำหายแล ๚

๓๕ ถ้ามิถอยให้เอา น้ำอ้อยสด น้ำใบผักเป็ด พริกไทยรำหัดน่อยหนึ่งกินแก้ร้อน แก้กระหายน้ำหายแล ๚

๓๖ ถ้ามิถอยให้เอา ชานอ้อย กำยาน แก่นปูน กรักขีถากรมหม้อใหม่ใส่น้ำไว้ จึงเอาดินสอพองเผาให้สุกใส่ลงในหม้อน้ำนั้น ให้คนไข้กินเนือง ๆ แก้ร้อน แก้กระหายน้ำหยุดแล ๚

๓๗ ยาหอมดุมให้เอา แก่นมะทราง เปลือกมะทราง เปลือกไข่เน่า ชเอมเทศ กรักขี จันทน์แดง จันทน์ขาว ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวน้ำ เสมอภาคทำเปนจุณ น้ำดอกไม้เปนกระสาย บดทำแท่งละลายน้ำดอกไม้ น้ำซาวเข้าก็ได้ รำหัดพิมเสนลง ทั้งกินทั้งชโลม แก้ไข้สันนิบาตอันมีกำลังมากหายแล ๚

๓๘ มโหสถธิจันทน์นั้นเอา สมุลแว้ง ดอกมลิ สารภี พิกุล บุนนาค เกสรบัวหลวง เกสรสัตบงกช จันทน์ทั้ง ๒ กฤษณา กะลำพัก ขอนดอก แฝกหอม ตนาว เปราะหอม โกฏหัวบัว เสมอภาค น้ำดอกไม้เปนกระสาย บดทำแท่งละลายน้ำซาวเข้า น้ำดอกไม้ก็ได้ รำหัดพิมเสนชโลม ถ้ากินแทรกขันทศกรลงด้วย แก้พิศม์ไข้สันนิบาต อันตัวร้อนหนัก สรรพไข้ทั้งปวงหายสิ้นแล ๚

๓๙ ถ้าแลไข้ให้อาเจียนหนัก ให้เอาน้ำผึ้งส่วน ๑ จึงเอาเถาตำลึงมาตัดออกเป่าเอาแต่น้ำ ๒ ส่วน เอาพิมเสนรำหัดลงกินแก้อาเจียนหายแล ดีนัก ๚

๔๐ ถ้าเสมหะปะทะหนักให้เอา หญ้าปากควาย ใบพลูแก ตำบิดเอาแต่น้ำ แล้วเอาพิมเสนว่าหัดลงพอควร กินแก้เสมหะตีขึ้นสงบแล ๚

๔๑ ถ้าแลไข้นั้นให้ลิ้นหด เจรจามิชัด ให้เอา ใบผักคราด ใบแมงลัก พรมมิ ข่าตาแดง สารส้ม เกลือเทศ เสมอภาค น้ำร้อนเปนกระสาย บดทำแท่งละลายน้ำมะนาว รำหัดพิมเสนลง ทาลิ้นแล้วนวดต้นลิ้น ลิ้นหดเจรจามิชัดหายแล ๚

๔๒ ถ้ามิถอยให้เอาดีงูเหลือม พิมเสน สิ่งละส่วน รากพริกไทย รากกรุงเขมา สิ่งละ ๒ ส่วน ทำเปนจุณ ละลายน้ำผึ้งรวงกินพอควร แก้ลมอัมพาตอันจับให้ลิ้นหดหายแล ยานี้ดียิ่งนัก ๚

๔๓ ยาทิพกาศ ให้เอา ยาดำ เทียนดำ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน พิมเสน สิ่งละส่วน การบูร ๔ ส่วน ฝิ่น ๘ ส่วน ใบกันชา ๑๖ ส่วน สุราเปนกระสาย บดทำแท่ง น้ำกระสายใช้ให้ชอบโรคร้อนแลเย็น กินพอควร แก้สารพัดทั้งหลาย อันให้ระส่ำระสาย กินเข้ามิได้ นอนมิหลับ ตกบุพโพโลหิต ลงแดง หายแล ๚

๔๔ ยาศุขไสยาศน์ ให้เอา การบูรส่วน ๑ ใบสเดา ๒ ส่วน สหัสคุณเทศ ๓ ส่วน สมุลแว้ง ๔ ส่วน เทียนดำ ๕ ส่วน โกฏกระดูก ๖ ส่วน ลูกจันทน์ ๗ ส่วน ดอกบุนนาค ๘ ส่วน พริกไทย ๙ ส่วน ขิงแห้ง ๑๐ ส่วน ดีปลี ๑๑ ส่วน ใบกันชา ๑๒ ส่วน ทำเปนจุณ ละลายน้ำผึ้ง เมื่อจะกินเศกด้วยสัพพีติโย ๓ จบ แล้วกินพอควร แก้สรรพโรคทั้งปวงหายสิ้น มีกำลัง กินเข้าได้นอนเปนสุขนักแล ๚

๔๕ ยาอินทวะมัสสัง ให้เอา ปรอท สุพรรณถัน โหรา ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ ลูกตลอด พริกไทย มหาหิงคุ์ ลำพัน ลูกน้ำเต้า ลูกในมะนาว ลูกบวบเหลี่ยม เสมอภาคทำเปนจุณ นัดถุ์แก้ไข้ตรีโทษถอยแล โหราแลโกฎนั้นตามแต่จะเลือกใช้เถิด ๚

๔๖ ยาแก้วหาค่ามิได้ ให้เอารากทนดีใบแฉก รากหิงหาย รากพรมมิ สมอทั้ง ๓ กำทอด แปรอามยน ฝักราชพฤกษ์ รากสคุย ขันทศกร ยา ๑๐ สิ่งนี้เสมอภาคแช่มูตรโคดำไว้ ๗ วัน จึงตากแดดจงแห้ง แล้วเอายางสลัดไดแห้งเท่ายาบดจงเลอียด ปรุงชมดเชียงพิมเสนลงพอควร โรยกลีบจำปาก็ได้ ต้มลงดีนักแล ๚

๔๗ ขนานหนึ่งให้เอา หว้านน้ำส่วนหนึ่ง เทียนเยาวภานี ๒ ส่วน มหาหิงคุ์ ๓ ส่วน เกลือสินเธาว์ ๔ ส่วน รากเจตมูลเพลิง ๕ ส่วน ขิงแห้ง ๖ ส่วน ดีปลี ๗ ส่วน ดองดึงเท่ายาทั้งนั้น ยางสลัดไดแห้งเท่าดองดึง น้ำมะนาวเปนกระสายบดทำแท่งเท่าลูกนุ่น ตากในร่ม ละลายน้ำมะนาว รำหัดเกลือกินเม็ดหนึ่ง ลงหนหนึ่ง กิน ๒ เม็ด ลง ๒ หน ตามแต่จะกินพอกำลังเถิด แก้พยาดอันเปนตัวในท้อง ป้าง ท้องมาร จุกกระผามม้ามย้อย ลมจุกเสียดหาวเรอ แลลมท้นท้อง ลมกระสาย ลมสันดาน ลมพรรดึก ครอบมูลริศดวงทั้งปวง แลมองคร่อ ถ้าสัตรีขัดฤดูโลหิตค่น โลหิตแค่น โลหิตกรัง กินยานี้เนือง ๆ โลหิตตกสดวกดีนักแล ยานี้ประเสริฐนัก เว้นแต่กรรมได้กระทำมาแต่บุรพชาติโน้นจึงจะมิหายแล ๚

๔๘ ขนานหนึ่งให้เอา หญ้าไทรมาบิดเอาแต่น้ำ ๔ ทนาน พริกไทยทนาน ๑ เคี่ยวขึ้นด้วยกัน ให้น้ำหญ้าไทรแห้งซาบเข้าในพริกนั้น แล้วตากจงแห้ง ตำระแนงเปนผง จึงเอารากเจตมูลเพลิง สหัสคุณ ตำระแนงเปนผงไว้แต่ละสิ่ง ๆ เมื่อจะกินจึงเอา สหัสคุณส่วน ๑ พริก รากเจตมูลเพลิง สิ่งละ ๖ ส่วน ประสมกันบดด้วยน้ำผึ้งรวงกิน ๚

๔๙ ถ้าจะให้ทุเลาธาตุ เอาพริก เจตมูลเพลิงแต่สิ่งละส่วน เอาสหัสคุณ ๒ ส่วน ๓ ส่วน ๔ ส่วนก็ตามเถิดลงแล เมื่อจะประสมยานั้นเคี่ยวน้ำผึ้งให้เปนยางตูม จึงเอายาผงปรุงสง บดปั้นเปนลูกกอนกินหนักสลึงหนึ่ง แก้ริศดวง แก้ลมกระสาย ลมสันดาน ป้าง ท้องมาร จุกกระผามม้ามย้อย พยาดเกิดในทรวงอก โลหิตตก ตกมูก ตกทวารทั้ง ๙ ตกเลือด เสมหะปะทะขึ้นถอยสิ้นแล ๚

๕๐ จิตรการิยพิจรูญ ให้เอาโกฏสอ โกฏก้านพร้าว รากไคร้เครือ กระวาน ลูกเอ็น ลูกจันทน์ อบเชย สมุลแว้ง สค้าน เกสรบุนนาค น้ำประสานทอง เทียนทั้ง ๕ สัตบุษเทศ กรามพลู เกลือสินเธาว์ สิ่งละส่วน หว้านน้ำ ๒ ส่วน ขิงแห้ง ๓ ส่วน มหาหิงคุ์ ๔ ส่วน เจตมูลเพลิง ๕ ส่วน ดีปลี ๑๐ ส่วน พริกล่อน ๒๘ ส่วน

ถ้าจะให้ทุเลาธาตุ เพิ่มพริกเข้าให้เท่ายาทั้งนั้น กระทำเปนจุณ ละลายน้ำผึ้งรวงกินเช้ากินเย็นหนักสลึงหนึ่ง แก้ริศดวงผอมเหลือง ท้องรุ้ง พุงมาร จุกกระผามม้ามเรื้อย มองคร่อ หืด ไอ ลมอัมพาต แลลมทั้งปวงหาย ๚

๕๑ ขนานหนึ่งให้เอา รากฝ้ายผีหั่นใส่โถ เหล้าครึ่งหนึ่งน้ำครึ่งหนึ่ง ให้สิ้นธูปจีนดอกหนึ่ง กินแก้ต้องทุบถองโบยตี ตกต้นไม้ตกช้างม้าโคกระบือ ฟกช้ำในอก เจ็บขัด หายสิ้นแล ๚

๕๒ อาภิสะ ให้เขา จิงจ้อใหญ่ส่วน ๑ ขันทศกร ขิงแห้ง ผลเอ็น กรามพลู เทียนเยาวภานี สมอไทย มะขามป้อมเอาแต่เนื้อ รากมะกล่ำเครือ ชเอมเทศ รากเจตมูลเพลิง สิ่งละ ๒ ส่วน ผลมะตาดแห้ง ผลกระวาน สิ่งละ ๓ ส่วน พริกล่อน ดีปลี สิ่งละ ๖ ส่วน กระทำเปนจุณละลายน้ำอัษฎางคุลี เปนเลหกินเนือง ๆ แก้ริศดวง ไอ ผอมแห้ง แก้เสมหะในทรวงอกในลำคอดีนักแล ๚

๕๓ มหากทัศใหญ่ ให้เอาโกฏสอเทศ เทียนทั้ง ๕ รากเจตมูลเพลิง ผลกระวาน ใบกระวาน ผลเอ็นใหญ่ สค้าน เปลือกสมุลแว้ง ขิงแห้ง หว้านน้ำ พริกล่อน รากไคร้เครือ น้ำประสานทอง ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ เกลือสินเธาว์ สิ่งละส่วน การบูร กานพลู เทียนตาตั๊กกะแตน เทียนเกล็ดหอย สหัสคุณก็ได้ เปล้าน้อยก็ได้ สิ่งละ ๘ ส่วน ดีปลี ๒๐ ส่วน กระทำเปนจุณละลายน้ำผึ้ง น้ำขิง น้ำส้มส้า น้ำกะเทียม ก็ได้ กินหนักสลึงหนึ่ง แก้ลมปัตฆาฏ ลมอัมพาต ลมราทยักษ์ ถ้าลมนั้นเบา กำลังยานั้นก็จะให้ร้อนถึงปลายมือปลายเท้า บรรดาลมทั้งปวงแก้ได้หายสิ้นแล ๚

๕๔ ขนานหนึ่งให้เอาสหัสคุณเทศ สหัสคุณไทย รากเปล้าน้อย รากเปล้าใหญ่ รากเจตมูลเพลิง สลัดไดฝานตากแห้ง ตรีกฏุก เทียนดำ สิ่งละส่วน เอารากตองแตกใบแฉก ๓ ส่วน ทำเปนจุณละลาย น้ำผึ้ง น้ำส้มสา น้ำมะนาว ก็ได้ กินแก้ลมปัตฆาฎ ลมราทยักษ์ ลมชื่อมหาสดมภ์ ครอบลมทั้งปวงหายสิ้นแล เอาแต่สหัสคุณ เปล้าทั้ง ๒ รากตองแตกนั้นประสะเสียก่อนจึงจะไม่คลื่นเหียน ๚

๕๕ ยามหาวัฒนะ ให้เอา ถูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู สิ่งละส่วน เทียนดำ เทียนขาว เทียนแดง เทียนสัตบุษ เทียนเยาวภานี โกฏสอ โกฏเขมา โกฏกัตรา โกฏพุงปลา บรเพ็ด ใบกันชา สหัสคุณทั้ง ๒ ลูกพิลังกาสา รากไคร้เครือ แห้วหมูใหญ่ ขมิ้นอ้อย พริกหอม พริกหาง สิ่งละ ๒ ส่วน ดีปลีเท่ายาทั้งนั้น จึงเอาใบกระเพราแห้ง ๒ เท่าดีปลี ทำเปนจุณละลายน้ำผึ้งรวงเปนลูก กอนกินหนักสลึง ๑ กินไปทุกวันให้ได้เดือน ๑ จึงจะรู้จักคุณยาเห็นประจักษ์อันวิเศษ แก้ฉันนวุตติโรค ๙๖ ประการกับพยาธิทั้งหลายทุกประการดีนักแล ฯ

๕๖ มหามาตลุงเกษี ให้เอาราชคันทา อัชระคันทา รากจิงจ้อใหญ่ ประสะแล้ว เปลือกมะรุมตากแห้ง เทียนเยาวภานี เกลือสินเธาว์ เกลือเยาวกะสา เกลือสุนจะละ สิ่งละส่วน พริกล่อน ขิงแห้ง รากเจตมูลเพลิง สมอไทยใหญ่ลูกเหลี่ยม เอาแต่เนื้อ กรามพลู หว้านน้ำ ดองดึง สิ่งละ ๒ ส่วน มหาหิงคุ์ ๕ ส่วน ดีปลี ๖ ส่วน กระทำเปนจุณละลายน้ำส้มส้า น้ำกะเทียม ประสมกันบดเปนลูกกอนเสวยหนักสลึง ๑ แก้ลม ๘๐ จำพวก แก้เสมหะ ๒๐ จำพวก พระเส้นกล่อนแลเส้นอันทพฤก แก้ลมอุทธังคมาวาตา อันอยู่ในพระเส้นทั้ง ๑๐ อันแล่นขึ้นไปให้เสียดพระอุระ ให้มึนง่วงวิงเวียน แล้วให้ผายพระวาตะไปพระบังคนหนักสดวก แลราชคันทา แลอัชระคันทา รากจิงจ้อนั้น ผู้จะทำไปข้างน่ายักย้ายดุจให้เดินเพิ่มขึ้น มิให้เดินผ่อนลง พอสมควรนั้นเถิด ๚

๕๗ พระอังคบพระเส้นตึงให้หย่อน เอาเทียนดำ เกลือส่วน ๑ อบเชย ๒ ส่วน ไพล ๔ ส่วน ใบพลับพลึง ๘ ส่วน ใบมะขาม ๑๖ ส่วน ตำคุลิการ ห่อผ้านึ่งขึ้นให้ร้อน อังคบพระเส้นอันพิรุธให้หย่อนแล ๚

๕๘ ยาทาพระเส้น ให้เอาพริกไทย ข่า กระชาย หอม กะเทียม มหาหิงคุ์ ยาดำ สิ่งละส่วน ตะไคร้หอม ใบขี้เหล็ก ใบตองแตก ใบมะขาม ใบเลี่ยน สิ่งละ ๔ ส่วน เอาใบมะคำไก่ ๑๖ ส่วน น้ำสุรา น้ำส้มสาชูก็ได้ เปนกระสาย น้ำส้มสาชูทาแก้พระเส้นพิรุธ แลแก้ลมอัมพาต ลมปัตฆาฎ กล่อน ตะคิว จับโปง เมื่อยขบทั้งปวงหายแล ๚

๕๙ ยาทรงนัดถุ์ ให้เอาตรีกะฏุก โกฎสอเทศ โกฏสอจีน โกฏหัวบัว ชเอมเทศ หว้านน้ำ เปราะหอม ลิ้นทเลปิ้ง แก้วแกลบ เปลือกไข่ฟักคั่ว สังข์เผา เบี้ยผู้เผา น้ำประสานดีบุก ชมด พิมเสน เสมอภาคทำเปนจุณ ทรงนัดถุ์แก้พระวาโยทั้งหลาย แลพระโรคอันเกิดในพระเศียร พระเนตร พระนาสิก หายแล ๚

๖๐ ยาทรงนัดถุ์ ให้เอา ชมด พิมเสน ตรีกะฏุก สิ่งละส่วน โกฏสอ โกฏเชียง โกฏพุงปลา กานพลู เบี้ยผู้เผา ชาดหรคุณ สมุลแว้ง อบเชยเทศ เกสรบุนนาค น้ำประสานทอง สิ่งละ ๒ ส่วน ทำเปนจุณ ถ้าจะทำทรงดม เอาผิวมะกรูด ไพล ประกอบลงพอควร ห่อผ้าบางทรงดม แก้ปวดพระเศียร แก้วิงเวียน แก้สลบ แก้ริศดวงในพระนาสิก พระสอ พระเนตร แลประชวรเพื่อโลหิต บำบัดพิศม์ประเสริฐ นักแล ๚

๖๑ ยาทรงทาพระวิลาศ แก้พระโลหิตกำเดาอันประชวรพระเจ้านัก ให้เอากฤษณา อบเชยเทศ รากมลิ รากสลิด รากสมี ชมด บดด้วยน้ำดอกไม้เทศ น้ำดอกไม้ไทยก็ได้ รำหัดพิมเสนลง ทรงทาหายแล ๚

๖๒ ถ้าทรงเขี่ยให้เอาโหราเดือยไก่ โหราอำมฤตย์ โหราอำมิคสิงคลี โหราบอน โหราเท้าสุนักข์ โหราเขากระบือ โหราใบกลม โกฏกัตรา ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู พริกหอม พริกหาง พริกล่อน ดีปลี มหาหิงคุ์ ดินประสิวขาว หอมแดง ชาตรี ยาทั้งนี้สิ่งละเฟื้อง ฝิ่นสลึง ๑ ทองคำเปลว ๑๐ แผ่น น้ำมะนาวเปนกระสาย บดทำแท่งตากในร่ม ฝนด้วยน้ำมะนาว น้ำท่า เมื่อเขียแล้วนั้น ถึงเปนฝีฟกทูมเมีย ขึ้นเปนเม็ดเปนเปาเปนปมก็หาย ถ้าเปนไข้จับให้สับกระหม่อมสับต้นฅอทาหาย แก้ลมขึ้นสูงด้วย ถ้างูพิศม์ ตะขาบ แมลงป่อง ขบ ฝนด้วยน้ำมะนาวก็ได้ สุราก็ได้ ทั้งกินทั้งทาหาย ๚

๖๓ ถ้าสัตรีเปนฝีที่นมเจ็บปวดมีพิศม์หนักก็ดี เอายานี้ได้ในลูกสัปรดแล้วสุมไฟให้สัปรดสุก จึงเอายาฝนด้วยสุราทาแก้พิศม์ฝีหายแล ท่านตีค่าไว้แท่งละบาททอง ด้วยสรรพยาหายากแล ๚

๖๔ มหาจุลทิพย์ ให้เอา สค้าน ชะพลู เทียนเยาวภานี โกฏสอเทศ หว้านน้ำ ข่าแห้ง สิ่งละส่วน ไม้น้ำฉา ขิงแห้ง เกลือสุนจะละ เกลือเยาวกะสา เกลือสินเธาว์ สิ่งละส่วนกึ่ง สหัสคุณประสะแล้ว ๒ ส่วน ดองดึง ๓ ส่วน เปล้าน้อยประสะแล้ว พริกล่อน สิ่งละ ๗ ส่วน มหาหิงคุ์ รากจิงจ้อ ประสะแล้ว ดีปลี สิ่งละ ๘ ส่วน กระทำเปนจุณ เมื่อจะเสวยจึงชั่งเอาหนักสลึง ๑ แทรกกะเทียมเข้า ๒ ไพ เอาน้ำผึ้งรวงน้ำส้มส้าประสมกัน บดละลายกินแก้พระเส้นอันทพฤก อันแล่นขึ้นไปถึงพระเส้นทั้ง ๓ พระเส้นอันกระด้างนั้นแล่นขึ้นไปจับเอาบั้นพระองค์ทั้ง ๒ ข้าง แล้วแล่นขึ้นไปจับเอาต้นพระชิวหาให้มึนตึง, ให้หอบพัก, ให้ง่วง, ให้วิงเวียน, แลเกิดเพื่ออามาไศรย ปักกะมาไศรย ให้ถอยหย่อนเปนปรกติ

ข้าพระพุทธเจ้าออกขุนประสิทธิโอสถประกอบทูลเกล้า ฯ ถวาย ๚

๖๕ น้ำมันขนานหนึ่ง ให้เอาใบลางโพง ใบผักบุ้งขัน ใบขมิ้น หัวขมิ้น ตำเอาน้ำสิ่งละทนาน น้ำมะนาว ๓. ทนาน น้ำกะเทียม ๒ ทนาน น้ำมันงาทนาน ๑ หุงให้คงแต่น้ำมันแล้ว เอาฝิ่นหนักบาท ๑ บดปรุงลง นวดเส้นอันทพฤก ในคุยหฐาน แลเส้นอันหดเปนเถาเปนขั้วฝักก็ดี ฟกแห่งใด ๆ ก็ดี เอาน้ำมันนี้ทาแล้ว นวดรีดเส้นไปเนือง ๆ เส้นซึ่งพิรุธนั้นดีดังเก่าแล

ข้าพระพุทธเจ้า ออกพระสิทธิสารพราหมณ์เทศประกอบทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงในวัน ๗ ๑๑ ๑๒ ค่ำปีกุญเอกศก (พ.ศ. ๒๒๐๒) เมืองลพบุรีแล ๚

๖๖ น้ำมันมหาวิศครรภราชไตล เอาโหราทั้ง ๒๗ บาท สค้าน ชะพลู เปล้าใหญ่ เปล้าราม เปล้าน้ำเงิน เทียนทั้ง ๕ เทียนเยาวภานีเปน ๖ โกฏทั้ง ๕ กานพลู ใบกระวาน ลูกเอ็น จันทน์แดง จันทน์ขาว หางไหล มหาละลาย ลูกตลอด สิ่งละตำลึง ๑ ตรีกระฏุก เปล้าน้อย พิมเสน รากไคร้หอม รากแฝกหอม ไคร้เครือ เปราะหอม สิ่งละ ๒ ตำถึง รากคันทา สหัสคันทา อัชระคันทา อบเชย รากผักแผ้วแดง รัตโชติ สิ่งละ ๓ ตำลึง รากเจตมูลเพลิง แก่นสน สิ่งละ ๔ ตำลึง กฤษณา ใบตลอด สิ่งละ ๕ ตำลึง ลูกลางโพง ๒๐ ลูก น้ำมะกรูด น้ำมะนาว น้ำมะงั่ว น้ำส้มส้า น้ำนมโค น้ำนมกระบือ น้ำนมแกะ น้ำนมแพะ น้ำมันภูเลละ น้ำมันเชตะ น้ำมันพิมเสน น้ำมันดิน สิ่งละทนาน น้ำมันงาเชย ๗ ทนาน มะพร้าวไฟ ๓ ลูกบิด เอาแต่กะทิ หุงให้คงแต่น้ำมัน ทาแก้เส้นอุทธังคมาวาตา อโธคมาวาตา อันระคนพระโลหิตแล่นในพระเส้นสดวก ให้พระเส้นตึงแลกระด้างนั้นออกเปนปรกติ

ข้าพระพุทธเจ้าออกพระสิทธิสารประกอบทูลเกล้า ๆ ถวายให้ทรง ณวัน ๓ ๑๐ ค่ำ ศักราช ๒๒๓๐ ปีขาลอัฐศก

๖๗ น้ำมันภาลาธิไตล ให้เอารากหญ้าขัดมอน รากขี้เหล็ก รากปะคำไก่ รากปะคำดีกระบือ รากเลี่ยน รากรักขาว รากลำโพงทั้ง ๒ รากชุมเห็ด รากฝักส้มป่อย ขมิ้นอ้อย ขิง ข่า ยาทั้งนี้ควรต้มให้ต้ม ควรตำให้ตำ เอาน้ำสิ่งละทนาน น้ำมันพรรณผักกาด น้ำมันพิมเสน น้ำมันละหุ่ง น้ำมันงา สิ่งละทนาน หุงให้คงแต่น้ำมัน แล้วจึงเอา ดีตะพาบน้ำ ดีงูเหลือม พริกหอม พริกหาง พริกล่อน ฝิ่น สิ่งละสลึง เทียนทั้ง ๕ สิ่งละบาท ๑ บดปรุงลงในน้ำมันไว้ ๓ วัน จึงทาแลนวดแก้พระเส้นอันทพฤกให้หย่อน แลฟกบวมเปนขั้วเปนหน่วยแขงอยู่นั้นให้ละลายออกเปนปรกติแล ๚

๖๘ น้ำมันมหาปะไลยกัลป์ ให้เอา ลำพันแดง หว้านพระผนัง หว้านบุษราคำ หว้านไข่เหน้า หว้านฟันชน หว้านเปราะป่า หว้านพระกราบ รากเปล้าน้อย รากเปล้าใหญ่ สหัสคุณทั้ง ๒ สิ่งละ ๕ ตำลึง แก่นแสมทเล เอื้องพิศม์ม้า สิ่งละ ๑๐ ตำลึง ใบตลอด ใบกระเนียด สิ่งละชั่ง ๑ ยาทั้งนี้ควรต้มให้ต้ม ควรตำให้ตำ บิดเอาน้ำให้สิ้นเชิง น้ำมันงาทนาน ๑ หุงให้คงแต่น้ำมัน จึงเอาน้ำมันพิมเสน ๒ ทนานใส่ลงเมื่อภายหลัง แล้วเอาพิมเสน ๒ สลึง ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู สิ่งละบาท ๑ การบูร ๓ บาท ทำเปนจุณปรุงลงกวนให้สมกัน ทรงแก้เส้นอันทพฤก กล่อนลมให้มือเท้าตาย ง่อยเพลีย

ตำรานายเพ็ชรปัญญาทูลเกล้า ฯ ถวาย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ประกอบถวาย ได้ทรง ณวัน ๑ ๑ ค่ำ ปีกุญเอกศก ๚

๖๙ สีผึ้งบี้พระเส้น ให้เอาชะมดทั้ง ๒ ไพล พิมเสน โกฏเชียง กรุงเขมา ดีงูเหลือม จันทน์ทั้ง ๒ กฤษณา กระลำพัก สิ่งละเฟื้อง โกฏสอ โกฏเขมา โกฏจุลาลำภา โกฏกัตรา โกฏสิงคลี โกฏหัวบัว มัชะกิย วาณี กระวาน กานพลู ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ เทียนดำ เทียนขาว พริกหอม พริกหาง พริกล่อน ดีปลี ลูกกราย ฝิ่น สีผึ้ง สิ่งละสลึง กะเทียม หอมแดง ขมิ้นอ้อย ๒ สลึง ทำเปนจุณละลายน้ำมะนาว ๑๐ ใบ น้ำมันงาทนาน ๑ น้ำมันหมูหลึ่ง น้ำมันเสือ น้ำมันจรเข้ น้ำมันงูเห่า น้ำมันงูเหลือม พอควร หุงให้คงแต่น้ำมัน จึงเอาชันรำโรง, ชันย้อย, ชันระนัง, ใส่ลงพอควร กวนไปดีแล้วจึงเอาทาแพรทาผ้าถวาย ทรงปิดไว้ที่พระเส้นอันแขงนั้นหย่อน

ข้าพระพุทธเจ้าออกพระสิทธิสารประกอบทูลเกล้าฯ ถวายทรง ณวัน ๑ ๑๑ ๔ ค่ำ ปีชวดโทศก ๚

๗๐ ขนานหนึ่งให้เอาเบญลางโพง เปลือกดีหมี ขมิ้นอ้อย ลูกกระเบา ใบเลี่ยน ตำบิดเอาน้ำสิ่งละจอก น้ำมันงาจอก ๑ หุงให้คงแต่น้ำมัน ทรงในเล็บพระหัดถ์ แก้ริศดวงกินในเล็บพระหัดถ์ ประกอบถวาย ณวัน ๗ ๕ ค่ำ ปีชวดโทศก ๚

๗๑ น้ำมันบาดแผลตาอิน พริกไทย ๗ เมล็ดทุบพอแตก กะเทียม ๗ กลีบทุบพอยับ แล้วใส่ลงในน้ำมันมะพร้าวเอาชาม ๑ จึงเอาตะกั่วนม ๒ บาท หลอมให้คว้างเทลงในน้ำมัน แล้วเอาขึ้นหลอมเทอิกให้ได้ ๗ หน แล้วเอาตะกั่วแช่ไว้ในน้ำมัน ใส่บาดแผลหายแล ใส่ไส้ด้วนก็ได้ ตะมอยมีตัวก็ได้ ดีนักแล ๚

๗๒ ขนานหนึ่งให้เอาเปลือกมะขาม รากรักขาว รากชะคราม รากผักเสี้ยนผี รากชาลีขม เครือเขาอีเหมือน หว้านพระตะบะ หว้านพระตะหึง ต้นเทียนนา บรเพ็ด ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน รากลำเจียก พรรณผักกาด สมอไทย รากพิลังกาสา ผักขวง ลูกชุมเห็ด ใบมะกา เสมอภาค สับต้ม ๔ เอา ๑ กรองจงหมดกากแล้ว เอาน้ำมันงาไชยภาคหนึ่ง น้ำยาต้ม ๓ ภาค หุงให้คงแต่น้ำมัน ทรงแก้พระเกษาหล่นแลให้คันให้หงอกเพื่อพระโรคริศดวง

ข้าพระพุทธเจ้าออกพระสิทธิสารประกอบทูลเกล้า ฯ ถวาย ณวัน ๗ ๓ ค่ำ ปีชวดโทศก ๚

๗๓ น้ำมันแก้เปื่อยพัง ให้เอาเปลือกหมีเหม็น เขายอกเปลือกตรษ เปลือกมะขาม เปลือกมะขบ เปลือกสารภี ขอบชะนางแดง เบญกานี ครั่ง สีเสียดเทศ ลิ้นทเล ฝิ่น ดีงูเหลือม เสมอภาค น้ำมันงาพอควร หุงให้คงแต่น้ำมัน ยอนเป่าเข้าไปในลำกล้อง แก้ขัดพระบังคนเบา แก้ปวดขบแก้บุพโพแล

ข้าพระพุทธเจ้าออกพระสิทธิสารประกอบทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงณวัน ๓ ๔ ค่ำ ปีชวดโทศก ๚

๗๔ น้ำมันองคสูตอุปทม เอาใบสเดา เปลือกสเดา บรเพ็ด กะถินแดง เปลือกเพกา หญ้าตีนตุ๊ดตู่ ขอบชะนางแดง ใบคนทา ใบตรษ เปลือกตรษ ใบชุมเห็ด กระเทียม ขมิ้นอ้อย ตำบิดเอาน้ำเสมอภาคสิ่งละจอก น้ำมันงาจอก ๑ น้ำมันยางอันใสกึ่งช้อนหอย หุงให้คงแต่น้ำมัน แล้วจึงเอาฝิ่น ลิ้นทเล ชาดหรคุณ มดยอบ สารส้ม สิ่งละ ๒ สลึง บดปรุงลงเป่าบ้างทาบ้าง แก้องคสูต แก้ริศดวงงอกทวารหนัก ทวารเบา แก้บวม แก้คัน แก้ฟก แก้ไส้ด้วน แก้อุปทม

ข้าพระพุทธเจ้าออกพระแพทยพงษาประกอบทูลเกล้า ฯ ถวาย ทรงณวัน ๓ ๑๓ ๔ ค่ำ ปีชวดโทศก ๚

๗๕ น้ำมันเน่าเปื่อยอุปทม เอามะพร้าวไฟแต่ซีกข้างหัวนั้น ๓ ซีกขูดคั้นเปนกะทิแล้ว จึงเอาลำโพงทั้งใบทั้งลูก ตำกรองเอาแต่น้ำ เปลือกลูกมะขามขบแช่น้ำเอาแต่เท่ากัน หุงให้คงแต่น้ำมันมะพร้าวแล้ว จึงเอาเปลือกสีเสียดเทศ ฝิ่น เกลือสินเธาว์ ดีงูเหลือม ปรุงลงในน้ำมันแก้ฝีเปื่อยฝีเน่า แลอุปทม ไส้ด้วน แก้บุพโพน้ำเหลืองหาย

ข้าพระพุทธเจ้าออกพระสิทธิสารประกอบทูลเกล้าฯ ถวาย ณวัน ๒ ๕ ค่ำ ปีชวดโทศก ๚

๗๖ ขนานหนึ่งเอาตำลึงใบแฉก น้ำชลูดแช่ ใบฟาแก้น ลูกลำโพง ลูกฝ้าย ตำบิดเอาแต่น้ำสิ่งละจอก น้ำมันงาจอก ๑ หุงให้คงแต่น้ำมัน จึงเอาฝิ่น ดีงูเหลือม ปรุงลงตามควร ทรงหยอดในพระกรรณแก้ตึงแก้คัน แก้น้ำเหลืองแก้บุพโพ

ข้าพระพุทธเจ้าออกพระสิทธิสารประกอบทูลเกล้า ฯ ถวาย ทรงณวัน ๕ ๕ ค่ำ ปีชวดโทศก ๚

๗๗ ขนานหนึ่งให้เอายอดการเกด ยอดเตย ยอดลำเจียก ขมิ้นอ้อย ตำบิดเอาแต่น้ำสิ่งละจอก น้ำมันงาจอก ๑ น้ำมันหอมอันดีจอก ๑ หุงเอาให้คงแต่น้ำมัน แล้วจึงเอาลูกในกะเบา ถูกในกะเบียน ลูกในลำโพงแดง ถูกในลำโพงขาว สีเสียดเทศ สิ่งละสลึง ๑ บดปรุงลงน้ำมัน จะทรงยอนในพระกรรณ เป่าเข้าในลำกล้อง ทาก็ได้ แก่บุพโพน้ำเหลือง อันให้เปื่อยให้คันก็ดี หายแล ๚

ข้าพระพุทธเจ้าอยกพระสิทธิสารประกอบทูลเกล้า ฯ ถวาย ณวัน ๕ ๕ ค่ำ ปีฉลูตรีศก ๚

๗๘ น้ำมันมหาจักร ให้เอาน้ำมันงาทนาน ๑ ด้วยทนาน ๖๐๐ มะกรูดสด ๓๐ ลูก แล้วจึงเอาน้ำมันตั้งเพลิงขึ้น รุมเพลิงให้ร้อน เอาผิวมะกรูดใส่ลงให้เหลืองเกรียมดีแล้ว ยกลงกรองกากให้หมดเอาไว้ให้เย็น จึงเอาเทียนทั้ง ๕ สิ่งละ ๒ สลึง ดีปลีบาท ๑ การบูร ๒ บาท บดจงเลอียดปรุงลงในน้ำมันนั้น ยอนหู แก้ลมแก้ริศดวง แก้เปื่อยคันก็ได้ ทาเมื่อยขบก็ได้ ใส่บาดแผลเจ็บปวดเสี้ยนหนามหอกดาบก็ได้ หายแล แต่อย่าให้ถูกน้ำ ๓ วัน มิเปนบุบโพเลย ๚

๗๙ ขนานหนึ่งให้เอาพิมเสน ๒ สลึง การบูร ๓ สลึง มาตะกี่ ๕ สลึง ชันตะเคียน กำยาน สิ่งละ ๗ สลึง สีผึ้งขาว ๑๐ ตำลึง น้ำมันมพร้าวอันใหม่ดีนั้นครึ่งทนาน เคี่ยวขึ้นด้วยกันให้สุกดีแล้ว กรองกากออกเสียเอาไว้ให้เย็น จึงเอาไข่ไก่เอาแต่ไข่ขาว ๒ ลูก เอาสุรากลั่นประมาณจอกหนึ่ง กวนกับไข่ให้สบกันดีแล้ว จึงแบ่งออกให้เปน ๓ ภาค ๆ หนึ่งนั้น เอาน้ำทะแลงไซ้ ๓ สลึง การบูร ๓ สลึง กวนเข้าด้วยกันให้สบดีแล้ว เปนสีผึ้งแดง จึงเอาสีผึ้งขาวภาค ๑ นั้นมากวนด้วยจุณสีพอสมควร เปนสีผึ้งเขียว ภาคหนึ่งเปนสีผึ้งขาว ปิดแก้พิศม์แสบร้อนให้เย็น

ข้าพระพุทธเจ้า เมสี หมอฝรั่งประกอบทูลเกล้า ฯ ถวาย สำหรับปิดฝีเปื่อยเน่าบาดเจ็บใหญ่น้อย ให้ดูดบุพโพกัดเนื้อ เรียกเนื้อ ด้วยสีผึ้งเขียวใช้กัด สีผึ้งแดงเรียกเนื้อ สีผึ้งขาวแก้พิศม์ เลือกใช้เอาเถิด ๚

๘๐ ขนานหนึ่งให้เอาดีบุกดำหลอมขึ้นให้คว้างแล้ว เอามาดซัดเสียให้ยับแล้ว เอามากวนให้เลอียด เอาน้ำมันดิบใส่ลงให้ท่วม ไว้แรมเดือนแรมปี ทากระดาษทาสำลีก็ได้ ปิดฝีเปื่อยเน่าใหญ่น้อย ทั้งกัดทั้งเรียกเนื้อ ดูดบุพโพดีนักแล ๚

๘๑ น้ำมันทิพโสฬศ ครอบฝีทั้ง ๑๖ จำพวก คือ ฝีฟกคาง ฝีฟกฅอก็ดี ฝีคันทมาลา ฝีลูกหนูก็ดี ฝีคันทสูต ฝีฟกทูมใหญ่ ฝีฟกทูมน้อย เท่าผลมะพร้าว ผลมะขวิด เท่าผลส้มส้า ผลมะนาวก็ดี ให้เอาใบคนทา ใบมะแว้งทั้ง ๒ ใบมะเขือขื่นทั้งรากทั้งใบ ถั่วภูทั้งรากทั้งใบ หญ้าปินตอ หญ้าแพรกแดง ใบระงับพิศม์ ใบสเดา ใบพุทรา ใบชิงชี่ ใบตาลดำ ตำลึงใบแฉก ใบมะเดื่อดิน ขมิ้นอ้อย ใบผักปราบ ใบผักเปลว. มะกล่ำเครือ ใบหมอน้อย ใบผักเป็ด ใบแคแดง หญ้าปากกระบือ ใบชบาแดง ยานี้ตำเอาน้ำสิ่งละทำนาน ๘๐๐ น้ำมันงาทนานหนึ่ง หุงให้คงแต่น้ำมัน แล้วเอาออกไว้ให้เย็น จึงเอาลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู สิ่งสะสลึง เทียนดำ เทียนขาว เทียนแดง เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวภานี โกฏสอ โกฏเขมา โกฎจุลาลำภา โกฏก้านพร้าว โกฏพุงปลา โกฏกัตรา สิ่งละสลึงเฟื้อง การบูร พิมเสน สิ่งละ ๒ สลึง บดจงเลอียด ปรุงลงในน้ำมันไว้ ๓ วันจึงใช้ กินแก้พิศม์ฝีดวงใหญ่ดวงน้อย ให้เด็กกินตามกำลัง แก้พิศม์ตาลทราง ใส่ตาแลยอนหูก็ได้ แก้ริศดวงมองคร่อ แก้เมื่อยขบ กินก็ได้ทาก็ได้ เมื่อจะหุงน้ำมันนี้ ให้บูชาเครื่องกระยาบวดแก่พระฤๅษี ผู้ไว้ตำรานี้ ทองคำบาท ๑ เปนคำนับจึงประสิทธิแล ๚

๏ สิ้นฉบับแต่เท่านี้ ฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ