เดือน ๔ จุลศักราช ๑๒๓๙
จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน
พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วันจันทร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
เวลาเช้า ๔ โมงเศษ เสด็จวัดอรุณราชวราราม เลี้ยงพระถวายผ้าวัสสาวาสิกพัสตร์ รับสั่งให้หาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์เข้ามาเฝ้า ทรงด้วยเรื่องโรงสี เจ้าพระยาสุรวงศ์เห็นว่าไม่ควรจะห้าม แล้วว่าเรื่องนี้ไม่ทราบเลยว่าเป็นถึงเพียงนี้ แล้วทรงปรึกษาที่จะมอบศาลต่างประเทศเมืองเชียงใหม่ให้กรมท่า เห็นด้วยแล้วว่าถ้าการเล่นเนื้อเล่นตัวอย่างไรต่อไปให้ใช้พระยาเจริญ ตัวท่านจะช่วยฉลองพระเดชพระคุณ ให้มันรู้ตัวเสียบ้างว่าผู้ที่เขาจะทำได้นั้นมีตัวดอก (ทีนั้นจะคิดเอื้อมเอากรมท่ารวมไว้ในออฟฟิศด้วย เหมือนครั้งสมเด็จเจ้าพระยาเป็นกลาโหม) แล้วมารับสั่งกับเจ้าพระยาภาณุวงศ์ว่าจะตกลงกันอย่างไร เจ้าพระยาภาณุวงศ์ทูลว่าจะตอบเข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวาย วันนี้เวลา ๕ โมงเศษเกือบเที่ยงเสด็จกลับ
กรมหมื่นพิชิตถวายริโปดความเดือน ๓ ศาลฎีกาฉะบับ ๑ แพ่งกลางฉะบับ ๑ แพ่งเกษมฉะบับ ๑ ใบสัจกรุงเทพ ฯ ฉะบับ ๑ ใบสัจหัวเมืองฉะบับ ๑ รับฟ้องฉะบับ ๑ พระยาราชจดหมายทูลเกล้า ฯ ถวาย ๒ ฉะบับ ฉะบับ ๑ ว่า ครัวพวนเมืองพรมเมืองอินทรนั้น เดิมได้จ่ายเข้ามาตั้งแต่เดือน ๙ ปีชวดอัฐศก มาจนถึงเดือน ๑๒ ปีฉลูนพศก ครั้นเดือน ๑ โปรดเกล้า ฯ ให้ปล่อยครัวพวนที่เมืองพรมไปกับพระวิเศษสุรฤทธิ์เจ้าเมืองบริคัณหนิคม ครัวยกไปสิ้นจำนวนแล้ว ครั้นขึ้น ๗ ค่ำครัวเมืองอินทรบุรีหนีตามพระวิเศษไปอีก ๒๐๓ คน ยังเหลืออยู่อีก ๑๓๑ คน ในเดือนอ้ายจ่ายเข้าเสร็จ แต่เมื่อข้างแรมพากันไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านหินปักแขวงเมืองลพบุรี พระอินทรประสิทธิ์ศรให้กรมการไปตามจะให้กลับมาเมืองอินทรตามเดิม ครัวไม่สมัคร สมัครจะอยู่กับหมื่นอรัญนพคุณ หมื่นเทพ กองส่วยทองแขวงลพบุรี หมื่นอรัญ หมื่นเทพ ได้มาทำหนังสือรับประกันตัวต่อพระอินทรประสิทธิ์ศรแล้ว เห็นว่าพวกครัวเหล่านี้ได้มาตั้งอยู่ถึงปีกว่าแล้วพอจะทำมาหากินได้ ประการหนึ่งก็ไปอยู่ลพบุรี การที่จะจ่ายต่อไป ขอพระราชทานให้งดเสียก็จะได้ อีกฉะบับ ๑ ขอนายรองพลพ่ายเป็นหลวงวิสูตรสาลี ขุนกสิการบัญชาปลัดกรมไพร่หลวงหางไถเป็นหลวงนังคัลกิจบรรหาร หมื่นสูทสากลสมุห์บัญชีเป็นขุนกสิการบัญชาปลัดกรม
พระราชหัตถ์ตอบยอมให้เลิกเสียไม่ให้จ่าย
รับหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ตอบพระราชหัตถเลขาว่า ได้เชิญพระราชหัตถ์ไปให้เรียนสมเด็จเจ้าพระยาแล้ว ท่านกราบบังคับทูลพระกรุณาว่า ที่ได้กราบทูลว่าการเรื่องนี้เป็นการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ไม่เป็นการคอเวอนเมนต์นั้น เห็นว่าโรงสีนั้นจะขึ้นล่องและลากเรือไปมาผ่านหน้าพระบรมมหาราชวังเสมอ เสนาบดีจึงได้เห็นพร้อมกันมีหนังสือไปห้ามปรามว่ากล่าวกงซุลนั้น ก็เพราะเป็นการที่จะรักษาพระเกียรติยศพระเจ้าอยู่หัว และการสิ่งใดที่เห็นว่าเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเป็นการเสียประโยชน์แผ่นดินแล้ว เสนาบดีก็ต้องติดหาทางต่อสู้ว่ากล่าวไปกับกงซุล และชาวต่างประเทศที่คิดจะทำการซึ่งไม่ควรนั้นโดยเต็มกำลัง ก็แต่การเรื่องนี้เป็นการนอกกับในปนกันอยู่ จึงได้เป็นการเหลือกำลังของเสนาบดีที่จะต่อสู้ว่ากล่าวให้ตลอดไปได้ ถึงชาวยุโรปที่ในกรุงเทพ ฯ นี้ เขาก็รู้เต็มใจอยู่ด้วยกันหมดทุกคนว่า โรงสีรายนี้ตั้งขึ่นได้เพราะผู้ใด เพราะดังนั้นท่านจึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดช่วยห้ามปรามคนฝ่ายใน เสนาบดีจะได้ตั้งหน้าต่อสู้ห้ามปรามกับคนฝ่ายนอกไป ข้อซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ว่า การซึ่งจะห้ามปรามให้แข็งแรงขึ้นอีกก็ได้ แต่ขอให้เป็นการเห็นพร้อมๆ กันบ้างนั้น ความข้อนี้ท่านให้กราบบังคมทูลว่า การที่ได้กราบบังคมทูลขอให้ห้ามนั้น เป็นความเห็นของท่านผู้เป็นหัวหน้าของเสนาบดี กับเสนาบดีได้ปรึกษาเห็นพร้อมกันแล้วจึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา แต่การซึ่งจะห้ามนั้น ถ้าทรงกรุณาเห็นว่าจะห้ามหยุดได้จริง ๆ แล้วจึงห้าม ถ้าผู้ที่จะช่วยเขานั้นหาช่องหาทางที่จะช่วยเขาให้ชะนะเสนาบดีได้อยู่แล้ว ท่านเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า อย่าห้ามดีกว่า ทรงพระดำริว่า ไม่ต้องตอบ จะรับสั่งกับสมเด็จเจ้าพระยาต่อพระโอษฐ์ทีเดียว
ออกขุนนาง พระนรินทรทูลบอกพระยาราชรังสรรค์ข้าหลวงกับพระศิริธรรมบริรักษ์ปลัดเมืองนคร ว่าโปรดเกล้า ฯ ให้ไประงับจีนวิวาทที่เมืองสตูลนั้น บัดนี้พระยาสตูลได้จับตัวจีนทำโทษเสร็จแล้ว กับพระยาสตูลบอกเข้ามาด้วยฉะบับ ๑ ความเหมือนกัน
พระยาศรีไปค้นบอกพระยาเทพเรื่องมองใบมาเมืองเชียงใหม่ได้มาทูล โปรดเกล้า ฯ ให้เอาไปที่เจ้าพระยาภาณุวงศ์ พระยาโชฎึกจดหมายถวายขอพระราชทานกำหนดฉลองวัดญวน กับขอพระราชทานพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร พระยาราชรองเมือง ช่วยจัดแจงด้วย โปรดเกล้า ฯ ให้ไปเอากำหนดวันที่สมเด็จ กับทรงสั่งพระยาโชฎึกให้สั่งกาทองคำอีก ๓ รุ่งขึ้นเจ้าจอมมารดาแพ ไป สั่งอีก ๑ กับทรงสั่งหีบทองอีก ๔ ใบ ท่านกาพย์ส่งริโปดทหารเข้าเวรและจดหมายถวายว่า จมื่นสุรฤทธิ์จดหมายเข้ามาว่าป่วย เห็นจะเข้ามาฉลองพระเดชพระคุณในเวรเดือน ๔ นี้ไม่ได้ ขอพระราชทานให้มีผู้รับการแทน กับว่าหลวงสรสิทธิ์ให้ไปบอกให้มาเข้าเวร ตอบว่าจะมาแล้วก็ไม่มา เห็นว่าประมาทราชการเป็นนักเป็นดังนี้มาหลายครั้งแล้ว รับคำโทรเลข ๒ ฉะบับ ฉะบับ ๑ เรือเข้ามา ๓ ลำ ฉะบับ ๑ เรือออก ๒ ลำ
วันอังคาร ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
เวลาเช้า ๓ โมงเศษ เสด็จพระราชดำเนินเลี้ยงพระ ถวายผ้าจำนำพรรษาวัดราชโอรส ได้รับสั่งถามเจ้าพระยาภาณุวงศ์ว่า เรื่องโรงสีนั้นจะเอาอย่างไรต่อไปอีกหรือ ท่านกราบบังคมทูล ว่า ก็เห็นจะยุตติเพียงนั้น การเรื่องนี้ ตัวท่านนั้นอยากจะให้หยุดคอเรศปอนเดนซ์เสียเพียงนั้น ถ้ามากไปตัวท่านก็คงจะเสีย เพราะคำนั้นเป็นคำแรง ๆ ไม่เคยกราบบังคมทูลพระกรุณา ได้เรียนสมเด็จเจ้าพระยาว่า ท่านคิดการอย่างไรด่อไป ท่านก็ว่า ถ้าทรงห้ามเสียให้ขาดได้แล้ว ก็เห็นว่าบางทียุเก้อจะหยุด ด้วยทุนรอนยุเก้อมีน้อย ที่ทำการได้ก็เพราะทุนรอนพวกเหล่านี้ ถ้าทรงห้ามแล้ว พวกเหล่านี้ก็ต้องกลัวไม่อาจให้ทุนรอน ก็คงจะต้องเลิก ท่านเห็นการอย่างนี้ไม่ได้คิดการอย่างอื่นต่อไป เวลาบ่ายโมงเสด็จกลับถึงพระบรมมหาราชวัง พระยาโชฎึกส่งหีบหมากและผ้ายกไหม ทำบัญชีถวายจำนวนหีบหมากเงินกาหลั่ยทอง ๒๐ หีบ เงิน ๒๗ ชั่ง ๔๕ บาท ๑ สลึง ผ้ายกไหมห้าคืบอย่างใหญ่ ๔๒ ผืน เงิน ๑๒ ชั่ง ๖ บาท สี่คืบ ๒๑ ผืน เงิน ๔ ชั่ง ๓๗ บาท สามคืบ ๓๓ ผืน เงิน ๔ ชั่ง ๔๓ บาท รวมเงินค่าผ้า เงิน ๒๑ ชั่ง ๒ บาท รวมทั้งสิ้น ๔๘ ชั่ง ๕๑ บาท ๑ สลึง (ใช้พรุ่งนี้) องค์ประสานศรีใสถวายเรื่องราวว่าด้วยหม่อมเจ้ากลิ่นไม่ส่งเงินราชการ (เซ็นไปพรุ่งนี้) รับหนังสือพระองค์เจ้ากาพย์ถวาย ว่าด้วยจมื่นวิชิตไชยศักดาวุธ นายถม จดหมายมายื่นขอลาไปจัดการโกนจุกน้องจนวัน ๕ ค่ำ เดือน ๔ กับพระวรภัณฑ์มาเตือนด้วยที่ควอตเคอมาศเตอซายันยังว่างอยู่ เดิมจมื่นสราภัยได้กราบทูลพระกรุณาขอพระราชทานนายเยื้อนก็ยังหาได้ตั้งไม่ นายสินอารมเรอซายันก็บิดพลิ้ว ไปเตือนก็จดหมายแก้ตัวต่างๆ ไม่เข้ามา ต้องขอพระราชทานให้มีโทษเสียบ้าง ทหารอินเยอเนียก็บิดพลิ้วตั้งแต่สับลุดเตอแนลลงไป มีแต่นายทัดไปโอเนียเมเยอและเปซายันหม่อมราชวงศ์มุ้ยกับทหารไปรเวตบ้างคนหนึ่งสองคน ขอรับพระราชทานให้มีโทษเสียบ้าง ขอรับพระราชทานเกาะตัวขังทั้งกัมปนี ยกแต่ที่มาแบนมาศเตอ หม่อมราชวงศ์ชิตได้ราชการมาก ขอพระราชทานเงินเดือนขึ้นในเดือน ๓ กับนายทัดด้วยอีกคนหนึ่ง คนละ ๖ บาท กับมิสเตอร์อาลบาศเตอมีจดหมายมาว่าเจ้าพระยาภาณุวงศ์ให้มิสเตอร์เดซามาบอกว่า นายห้างอาลวนจะเอาโคมแก้วระย้าใหญ่เข้ามาแขวนทูลเกล้า ฯ ถวายที่มิวเซียม ท่านกาพย์ได้ตอบไปว่าจะกราบทูลเสียก่อน กับนายส่วยทหารแตรวงฟันตีกอปราล นายสุด นายชื่น กรมอดิศรให้มาชำระ รับแต่วันฟันจริง แต่ขณะฟันไม่รู้ตัวว่าเป็นไข้สันนิบาต เพิ่งหายยังไม่สนิท เห็นว่าจะตีเสียบ้างเล็กน้อยแล้วจะส่งคืนถวายกรมอดิศร ด้วยเป็นข้าของท่านแต่เดิมแล้วเอามาเป็นแตร พระราชหัตถ์ฉะบับ ๑ ทั้งเวลาวานด้วย จมื่นสุรฤทธิ์นั้นให้หลวงวิทยาแทน ถ้าอ้อแอ้ไปให้คนอื่นหนุน หลวงสรฤทธิ์นั้นให้เกาะตัวมาขังรับการจนตลอดเวรและลดเงินเดือนเปหาบเปเป็นการลงโทษครั้งแรก จมื่นวิชิต นายถม นายทัษ หม่อมราชวงศ์ชิต และจะเกาะทหารนั้นโปรดตามขอควอดเตอมาศเตอซายันให้เลือกมา เรื่องนายสวยให้สืบพะยานให้แน่ ถ้าได้จริง ให้เฆี่ยน ๓๐ ที ขังไว้ปีหนึ่งหรือ ๖ เดือน จะแขวนระย้าไม่ยอมให้แขวน ได้ทราบข่าวเจ้าพระยามหินทรจะเล่นลครเรื่องเจ้าฟ้าประสูติ ที่บ้านพระยามนตรี ให้ท่านสายไปห้ามพระยามนตรี
วันพุธ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
เวลาเช้า ๔ โมงเศษ เสด็จวัดราชประดิษฐ์ เลี้ยงพระ ถวายผ้าจำนำพรรษา ถวายเงินพระคลังข้างใน ๔ ชั่งเป็นเบี้ยหวัด สั่งด้วยหนังสือสำคัญ เมื่อวานนี้ทอดพระเนตรเห็นพระสิหญิง๑เอียงไปข้างขวา โปรดเกล้า ฯ ให้เอาดิ่งจับให้แก้เสียใหม่ เวลาเที่ยงเสด็จกลับ แล้วเสด็จกลับประทับพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย แจกเบี้ยหวัดมหาดเล็ก แล้วออกขุนนาง พระยาศรีทูลบอกเมืองฉะเชิงเทราว่าด้วยค็อมมอโดฝรั่งเศสไปตั้งซื้อโคกระบือ เจ้าเมืองกรมการห้ามราษฎรว่า ถ้าผู้ใดขายโคกระบือต่อฝรั่งให้มาท่าตั๋วรูปพรรณ ถ้าไม่ทำ จับได้จะมีโทษ ฝรั่งซื้อไม่ได้ ไปซื้อตามหัวเมืองลาวชั้นนอกได้โคมาสัก ๓๐๐ จะเอาไปลงเรือโป๊ะที่เมืองฉะเชิงเทรา มาถึงเมืองอะไรจำไม่ได้ เป็นเมืองขึ้นเมืองฉะเชิงเทราจับไว้ ไม่มีตั๋วสำคัญและหนังสือเดินทาง แต่เมื่อจับฝรั่งไม่อยู่ ยังไปเที่ยวซื้อโคกระบืออยู่ แต่จับไม่ได้มาหลายเมืองแล้ว เพราะใครจับแล้วฝรั่งตั้งท่าเอาปืนจะยิง (โปรดเกล้า ฯ ให้ถามไปว่าเป็นชาติใด จะได้ฟ้องกงซุล) แต่อีกรายหนึ่ง คือชาเลตอมซันนั้นบอกมาว่า รู้ข่าวว่ากรมการบอกมากรุงเทพ ฯ ก็ส่งกระบือกลางและผู้ร้ายแล้ว
พระนรินทรเสนีทูลบอกเมืองภูเก็ตว่าจีนกำเริบอีกด้วย ข้าวที่เมืองภูเก็ตแพง เกิดปล้นขึ้น แต่เป็นจีนเลวๆ รับหนังสือพระยาสุจริตบอกด้วยส่งบอกเรื่องผู้ร้ายปล้นรายจีนแย้มต่อแดนเมืองตากกับเมืองเถน กับทาสวางยานายราย ๑ ที่เมืองตาก เอาข้าวของไป ได้ตัวและของกลางบ้างแล้ว
เจ้าจอมจันบุตรนายนุชมหาดเล็กหลานพระยาอุภัยราชา ทำเรื่องราวถวายกล่าวโทษขุนพินิจจัยว่า ไปขอซื้อที่บ้านต่อบิดาๆ ไม่ขายไปรื้อเรือนแยกที่ทำตึก ใครห้ามก็ไม่ฟัง จนถึงท้าวนางให้คนไปและพระยารองเมืองห้ามก็ไม่หยุด เซ็นพระราชหัตถ์ไปในท้ายเรื่องราวว่า ความรายนี้นางจันมายื่นต้นเดิมความอย่างไรก็ไม่ปรากฏ ให้พระยาราชรองเมืองไต่สวนดู ควรจะชำระว่ากล่าวกันประการใดให้แล้วได้ ก็ให้พระยาราชรองเมืองว่าเสียให้แล้ว แล้วเซ็นเรื่องราวองค์ประสานศรีไสถวายวานนี้คืนไปว่า ความรายนี้อากับหลานวิวาทกัน ต่างคนต่างทุ่มเถียงไม่รับกัน หม่อมเจ้าหญิงกลิ่นขอสืบ จึงได้สั่งไปให้สืบให้ทำตามคำสั่งฉะบับนั้นเถิด
แล้วทรงหนังสือสำคัญส่งเงินพระราชทานทำขวัญโกนจุกบุตรพระยารัตนโกษา ๑๐ ตำลึง บุตรหลวงราชวงศา ๑๐ ตำลึง เป็นเงินพระคลังข้างในฉะบับ ๑ เงินพระคลังมหาสมบัติพระราชทานพระยาโชฎึก ค่าหีบค่าผ้า ๔๘ ชั่ง ๕๑ บาท ๑ สลึง
รับคำโทรเลข ๔ ฉะบับ ฉะบับ ๑ วานนี้เรือมาลำ ๑ เรือไป ๓ ลำ วันนี้ออก ๕ ลำ
ท่านกาพย์จดหมายถวายขอพระบรมราชานุญาต จะมีการเลี้ยงให้มิสเตอร์แคสเวลเวลาค่ำวันนี้
วันพฤหัสบดี ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
พระยาศรีมาเฝ้า อ่านหนังสือบอกพระยาเทพส่งต้นหนังสือมองใบถึงพระยาสิงหนาทลงมา สมเด็จกรมพระไปเรียกล่ามพม่าที่พระนรินทรมาแปล และท่านคิดร่างหนังสือถึงมิสนอกซ์ใหม่ และอ่านบอกเรื่องตากหารือลงมา ๘ เรื่อง
รับสำเนาหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ส่งเป็นหนังสือกงซุลฝรั่งเศสไปรเวตเดือนตราให้ที่ ๒ กงซุลฉะบับ ๑ ฉะบับ ๑ เป็นหนังสือกงซุลอเมริกันว่า หมอกาลเบศซอนคนชาวอเมริกันจะขอขึ้นไปตัดไม้ขอนสักที่ป่าชายน้ำแขวงเมืองพิศณุโลก ฉะบับ ๑ เป็นหนังสือมิสเตอร์แคสเวลยื่นเจ้าพระยาภาณุวงศ์ขอเงินเดือนเมซั่นขึ้น เพราะว่าได้ผลประโยชน่ในคอเวอนเมนต์ไม่พอใช้ ไม่เหมือนครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ด้วยไม่มีใครสั่งของ มีพระราชหัตถ์ถึงสมเด็จกรมพระว่าด้วยหมอกาลเบศซอนขอไปตัดไม้นั้น เรื่องอย่างนี้เคยมีแต่ก่อนว่าขึ้นมาหลายคราว ที่เจ้าพระยาภูธราภัยได้ตอบขัดลงไปว่าเป็นที่ป่าน้ำ ป่าหลวง อะไรบ้างก็มี แต่ที่นี้จะขัดขวางอย่างไรบ้าง หรือจะยอมให้เขาทำ ขอให้ท่านทรงใคร่ครวญดูเห็นประการใด แล้วให้มีหนังสือ ไปที่กรมท่าตามเคยอย่างที่ทำมาแต่ก่อน ท่านผู้หญิงหนูภรรยาเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ถวายเรื่องราวกล่าวโทษเจ้าพระยาภาณุวงศ์ว่าข่มเหง ให้พระยานครชัยศรีและพระสยามพลภักดิ์ปลัดไปขอซื้อจะเอาที่บ้านที่พระปฐมเจดีย์ แกไม่ให้ ก็ไปเร่งเร้าจะเอาให้ได้ แต่อดทนมาถึง ๓ เรื่องแล้ว คือเรื่องที่นา เรื่องไม้ขอนสักแพหนึ่ง เรื่องทาส ๓ คน ขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง แล้วถวายปั้นลูกแก้วดำกลางปั้น ๑ ออกขุนนาง พระยาจ่าแสนยทูลบอกพระยานุภาพส่งต้นหนังสือเรอเรเปรยันต้นเรื่องจับคนใดให้ฟังบังคับบัญชากรุงเทพ ฯ กับทูลว่าพระณรงค์เรืองเดชยกกระบัตรเมืองพัดตะบองเข้ามาเฝ้าถวายผ้าม่วงหางกะรอก ว่าไม่มีราชการอะไร มาช่วยเผาศพพระยาราชภักดี คนนี้เป็นน้องต่างมารดาพระยาคทาธร พระนรินทรอ่านบอกพระยาราชวังสรรค์ข้าหลวงและเจ้าเมืองกรมการภูเก็ตว่าด้วยจับจีนเป็นต้นเหตุตั้งทหารรักษา เร่งให้จีนหัวหน้าส่งตัวตามสัญญา พระยาเจริญราชไมตรี พระยาราชโยธาถวายความเห็นซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ไต่สวนตรวจสอบเรื่องความจีนแสงถวายฎีกากล่าวโทษตระลาการ เรื่องมรดกที่รายพระยาอัษฎงค์ซื้อเป็นเนื้อความ ๔ ข้อ เห็นว่าถูกต้องตามคำตัดสินเดิมแล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้อ่านให้ขุนนางฟังทั่วกันรับสั่งว่า เป็นพะยานด้วยกันไว้หน่อยจะมืหมอความมาว่าอีก (รับสั่งว่า เรื่องนี้จะเฆี่ยนก็ความไม่สู้จะแรงนักเป็นแต่ร้องสงสัย ประการหนึ่งจะเป็นพยาบาทกัน ประการหนึ่งเอาใจท้าวราชกิจไว้ด้วยดีกว่า ตกลงจะปรับ แต่จะไปทรงกระทบหลอกท้าวแพว่าจะเฆี่ยนให้แกขอเป็นบุญคุณอีกทีหนึ่ง)
พระยาจ่าแสนยถวายร่างหนังสือมิสนอกซ์ เรื่องความมองใบ สมเด็จกรมพระท่านร่างมีความว่า ไทยให้พระยาเทพขึ้นไปเพื่อจะได้ชี้แจงความให้เจ้าเชียงใหม่รู้การผิดใช้เงินตามคำตัดสิน เจ้าเชียงใหม่จึงแจ้งความว่า ผู้ร้ายรายนี้มิใช่คนในเมืองเชียงใหม่ เป็นคนยางแดงลูกจ้างมองใบเอง เมื่อปล้นแล้วก็หนีไปนอกเขตต์แดนซึ่งจะให้เจ้าเชียงใหม่ใช้ก็จะยอมใช้ตามกรุงเทพ ฯ บังคับ แต่ขอให้พระยาเทพบอกความมาให้กรุงเทพ ฯ ทราบ ก่อนพระยาเทพสืบความนั้นก็สมดังคำเจ้าเชียงใหม่พูดจริง กับได้ต้นหนังสือมองใบมีมาถึงพระยาสิงหนาทบิดาภรรยาว่า (ผู้ร้ายปล้นนั้นเป็นคนยางแดงลูกจ้าง โปลิศที่โน้นจับได้แล้ว) ด้วยผู้ร้ายรายนี้ได้ส่งต้นหนังสือและบอกพระยาเทพมาด้วยแล้ว กับว่าด้วยมองใบไปถึงเมืองเชียงใหม่กล่าวโทษนายดวงทิพนายโปลิศว่า เมื่อขณะผู้ร้ายปล้นไปว่าให้ติดตาม นายดวงทิพว่าไม่ใช่ธุระ ได้หานายดวงทิพมาจะได้สอบปาก นัดให้มองใบมาก็ไม่มา จน ๓ วัน พระยาเทพได้บอกกับพม่าให้เป็นพะยานไว้หลายคน การเป็นดังนี้ ไทยจึงเห็นว่าจะบังคับให้เจ้าเชียงใหม่ใช้เงินก็ยังไม่สู้ถนัด เพราะผู้ร้ายนั้นเป็นลูกจ้างมองใบ ครั้นปล้นแล้วก็หนีไปนอกเขตต์แดนเสียก็เป็นการเหลือกำลังอยู่ ถ้าคนในเมืองเชียงใหม่เป็นผู้ร้ายก็ดี หรือผู้ร้ายยังหลบอยู่ในเขตต์แดนเชียงใหม่ก็ดี เจ้าเชียงใหม่ไม่ติดตามให้เต็มอำนาจก็พอจะปรับไหมได้ แต่อังกฤษได้ตัดสินแล้ว ไทยไม่อาจขัดขวางคำตัดสินคอเวอนเมนต์ ผู้ใหญ่ที่บังคับมานั้น เงิน ๕๒,๐๐๐ รูปีนี้ ไทยก็จะต้องยอมออกให้แทนเจ้าเชียงใหม่ แต่ขอให้พิเคราะห์ดูหนังสือบอกพระยาเทพ และต้นหนังสือมองใบให้ถี่ถ้วนก่อนว่า ความนี้จะเชื่อได้หรือมิได้ เหตุซึ่งเป็นขึ้นครั้งนี้ก็เป็นการใหม่จัดการรักษาบ้านเมืองยังไม่เรียบร้อย บัดนี้พระยาเทพก็ได้จัดการบ้านเมืองออกประกาศผู้เดินทาง และตั้งโปลิศรักษาให้การแข็งแรงขึ้น แจ้งอยู่ในใบบอกนั้นแล้ว อนึ่งในหนังสือมองใบมีชัดว่า กอมมิศชันเนอเมืองผาปูนได้บังคับว่าตัวผู้ร้ายส่งไปเมืองมรแมนแล้ว ให้มองใบตามไปโดยเร็ว การเป็นดังนี้ ขอท่านจงตรึกตรองดูเถิด (ร่างที่แก้แล้ว) ทรงแก้บ้างเล็กน้อย ส่งไปวันพรุ่งนี้ มีไปวัน ๘ ค่ำ รับคำโทรเลข เรือออก ๒ ลำ เรือมา ๑ ลำ
วันศุกร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
แจกเบี้ยหวัดเจ้านายและหม่อมเจ้าที่ในพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร พระองค์เจ้ากาพย์ถวายหนังสือว่าด้วยหลวงสาตราธิกรฤทธิ์ทำจดหมายมาแจ้งความว่าป่วย จะกราบถวายบังคมลากลับไปรักษาตัวที่บ้าน กับควอตเตอมาศเตอซายันนั้น เห็นควรจะตั้งนายเยื้อนซายัน ด้วยเป็นคนหนังสือดีเลขดี แล้วซายันในกัมปมีที่ ๕ มีเกินอัตราอยู่ สมเด็จเจ้าพระยามาเฝ้า พระราชทานร่างหนังสือถึงมิสเตอร์นอกซ์เรื่องความมองใบที่สมเด็จทรงร่าง ชอบว่าดีทีเดียว และติกรมท่าร่างหนังสือว่าตกใจที่ไหนกระโดดเป็นห้วง ๆ มากมักซ้ำ แล้วทรงเรื่องโรงสีก็เป็นอันยุตติกัน ว่าเขาตั้งกองลงทุนรอนมากเสียแล้ว แล้วทรงเรื่องจะมอบศาลต่างประเทศเชียงใหม่เป็นอันตกลงกันให้รีบทำหนังสือมอบเสีย แล้วทูลด้วยรับธุระเจ้าพระยาภูธราภัยมาพูดด้วยตระกูลปลูกฝังอยู่ในกรมมหาดไทย บ่าวไพร่ก็อยู่ในนั้น ไม่มีใครควบคุมที่นั้น จะขอให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ให้เป็นที่สนุหนายก แต่ทรงตรัสกันเสียก่อน ชี้สติปัญญาความคิดพระยาอภัยรณฤทธิ์ที่ยังไม่ถึงที่สมุหนายกให้ท่านฟัง ท่านก็เห็นด้วย แล้วทรงว่าจะให้สมเด็จกรมพระว่าจักรี ท่านก็ยอม แต่ขอให้พระยาอภัยรณฤทธิ์เป็นผู้ช่วยได้ฟังการพร้อมกับบอกด้วย ก็โปรดอนุญาตแล้ว พูดอื่น ๆ อ้อมค้อมมาก ทรงตัดว่าพระยาอภัยรณฤทธิ์นั้นเป็นเรื่องความจะต้องเอาไปที่ยมราชก็เห็นด้วย (แล้วทรงไปรเวตเรื่องข้างใน) แล้วมีพระราชหัตถ์ตอบเซอวิลเลียม โรบินซันผู้ครองสิงคโปร์ฉะบับ ๑ มีความยินดีที่เขาจะเข้ามากรุงเทพ ฯ ให้บอกมาเสียหน่อยจะโดนเวลาเสด็จไปประพาสตามหัวเมืองบ่อย ๆ หลายวิก มีเวลาที่ในกรุงเทพ ฯ หลายอย่าง คือ เฉลิมพระชนมพรรษาและพระกฐิน ดูน่าสนุก แต่ตามแต่จะเจ้ามา มีพระราชหัตถ์ถึงพระยาอัษฎงค์ ตอบหนังสือส่งหนังสือเซอโรบินซันไปด้วย กับทรงเล่าเรื่องเสด็จไทรโยกสบายดี อยู่ ๕ วิก และออกขุนนาง พระนรินทรอ่านบอกเมืองตะกั่วทุ่ง ๔ ฉะบับ ว่าด้วยส่งเงินค่านาค่าตีตราตะกั่ว ๑ นายเล่ห์อาวุธไปว่าราชการเมืองตะกั่วป่า ๑ อีกฉะบับ ๑ จำไม่ได้ แล้วถวายหนังสือพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ว่าด้วยพระอมรยื่นริโปดว่าไปเมืองภูเก็ตแจกตราความชอบแล้ว สืบความได้ว่า เจ้าเมืองปะเหลียนไปทำสัญญากับกัปตันเวเบอนายโปลิศเมืองภูเก็ตกับชาวยุโรปที่เกาะหมากให้ทำแร่เหล็กแร่ดีบุกเมืองปะเหลียนสัญญากัน ๑๕ ปี ขอเสียปีที่ ๑ เงิน ๑,๐๐๐ เหรียญ ปีที่ ๒ ขึ้น ๕๐๐ เหรืยญต่อไปทุกๆ ปีจนครบสัญญา พระอมรกลับมาถึงเกาะหมากพบพระปริยันต์ กระเษตรนุรักษ์ผู้ว่าราชการเมืองปะเหลียน ได้ถามข้อความและข้อสัญญาได้กอปี้มาด้วย เจ้าเมืองปะเหลียนว่าจะเขามาแจ้งข้อราชการในกรุงเทพ ฯ ท่านเรียนสมเด็จเจ้าพระยาแล้ว เห็นว่าท้องตราส่งพระราชบัญญัติปับลิกไปรเวตนั้นก็ได้ส่งไปทั่วทุกหัวเมือง เมืองปะเหลียนขึ้นเมืองพัทลุงทำสัญญากับกัมปนีไม่ได้บอกส่งข้อสัญญาเข้ามาปรึกษาก่อนทำสัญญาประทับตรานั้นเหลือเกินผิดท้องตราอยู่ ถ้าไม่หาตัวพระยาพัทลุงพระปริยันต์มาปรึกษาจัดการข้อสัญญาประทับ ท่านเสนาบดี และกงซุลเป็นพะยาน กัมปนีมีเหตุการณ์ประการใด ก็จะฟ้องได้ความลำบากแก่บ้านเมือง ท่านขอรับพระราชทานเรือหาญศัตรู ให้ปลัดกรมอาสาจามเป็นข้าหลวงไปหาตัวพระยาพัทลุง พระปริยันต์เข้ามากรุงเทพ ฯ จะได้ปรึกษาหารือกงซุลจัดข้อสัญญาให้เรียบร้อย จึงไม่มีเหตุการณ์ต่อไป แล้วถวายริโปดพระอมรฉะบับ ๑ ข้อสัญญาฉะบับ ๑
เจ้าพระยายมราช พระพิเรนทรเทพถวายริโปดความนครบาลเดือน ๓ พระองค์เจ้ากาพย์ จดหมายถวายว่าด้วยนายห้างยอนสตอนกัมปนีเมืองสิงคโปร์ส่งดราฟเข้ามาที่ห้างปิกเค็น จะขอรับเงินค่าเช่าระวางม้ามาจากเมืองสิงคโปร์ และค่าจ้างแขกฝรั่งซึ่งกำกับม้าเข้ามา รวมเป็นเงิน ๑๓๔๙ เหรียญ ๓๘ เซ็น จะขอรับพระราชทานยืมเงินพระคลังข้างในใช้ไปก่อน แล้วจะทำบัญชีฎีกาเบิกเงินต่อภายหลัง ส่งร่างตอบมิสนอกซ์ เรื่องมองใบซึ่งสมเด็จร่างมา ให้ท้าวราชกิจไปให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์วันนี้
วันเสาร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
มีพระราชหัตถเลขาสั่งให้ประหารชีวิตอ้ายมอญฟันนายเปี่ยมตาย แล้วแทงจีนฟักตายในคุกอีก แล้วให้เฆี่ยนอ้ายบุญพวกเพื่อนอ้ายมอญเมื่อไปฟันนายเปี่ยม ๒ ยก ๖๐ ที เอาตัวไปจำคุกไว้กำหนด ๓ ปีพ้นโทษ
แล้วเซ็นในท้ายจดหมายเจ้าพระยายมราช ถวายวันพฤหัสบดี แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๓ ว่า ท่านยมราชจะทำโทษหลวงพัศดีและผู้คุมให้เป็นแบบอย่างนั้นชอบแล้ว การต่อไปภายหน้าจะได้ไม่มีเหตุเป็นที่น่ากลัวดังนี้ต่อไป (ส่งไปวันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔)
เจ้าหมื่นศรีเชิญพระรูปกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ชูเรนสั่งเข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวาย แล้วมิสเตอร์แคสเวลเฝ้า ทรงไกล่เกลี่ยด้วยเรื่องจะตั้งเมซั่น ให้เป็นกงซุลเยเนราล เพิ่มเงินปีให้ปีละ ๗๐ ชั่ง แล้วดูห้องที่จะสั่งเครื่องแต่งพระที่นั่ง
ค่ำไม่ได้ออกขุนนาง ประทับไม่ถนัด เป็นพระยอดที่พระที่นั่ง ร่างหนังสือมอบศาลต่างประเทศ เมืองเชียงใหม่ให้อยู่ในกรมท่า
วันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
เมื่อคืนนี้รับสั่งว่า เข้าที่ไม่หลับ ปวดพระยอดจนเกือบรุ่ง เสด็จไปประทับเข้าที่ๆ พระที่นั่งเก่าจักรพรรดิพิมาน
พระวรภัณฑ์ถวายเรื่องราวว่าด้วยข้อทหารมหาดเล็กกระจัดกระจายมาก ด้วยทหารเอาเสื้อไปจำนำที่โรงยาฝิ่น และวำด้วยการคลังไม่ควรจะย้าย
พระองค์เจ้ากาพย์จดหมายถวายส่งเรื่องราวหม่อมราชวงศ์แปลกว่าด้วยไปตรวจโรงลครพบปืนสมัยเคอเลว ๔๕ หีบ ปัสตัน ๓๖ หีบ ว่าเป็นของพระยาภาษซื้อส่งกรมแสง ว่ายังไม่ได้รับไป ว่าเป็นรอยเปิดกลัวจะเป็นอันตรายบ้าง กับเตียงไม้สำหรับทหารได้มาดู เสีย ๓ ส่วน ดีส่วน ๑ จะขอซ่อมแซม แต่ทหารช่างไม้ในอินเยอเนียมี ๓ คน ไม่พอ อยากจะจัดทหารช่างไม้ในกัมปนีอื่น ๆ มาเป็นอินเยอเนีย และในเรื่องราวหม่อมราชวงศ์แปลกทหารอินเยอเนียนั้น กล่าวโทษพระวินัยธรรม เสือ วัดสุทัศน์ ว่าตัวกับภรรยาฝากของไว้ ครั้นตามเสด็จไทรโยก ภรรยาตาย ไปขอเอาของก็ผัดไป ครั้นถึงวันผัดไปเอา ก็ว่าให้นายราหลานอำแดงสาดไปแล้ว ครั้นเข้าไปทำเรื่องราวฟ้องธรรมการ ก็ให้การขึ้นปรึกษาลูกขุนแล้วกลับกลับคำเสียว่า เป็นของอำแดงสาด ทรงปิดทองหนังสือสองคัมภีร์ วันนี้ไม่ได้ออกขุนนาง ประชวรพระยอด และวันนี้ทำบุญประสูติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ไม่ได้เสด็จออก ทรงหนังสือสำคัญสั่งเรียกเงินพระคลังข้างที่มาใช้ราชการข้างใน ๒๐๐ ชั่ง อีกฉะบับ ๑ สั่งเรียกเงินค่าน้ำหวยใช้เบี้ยหวัดข้างในไม่พอ เงิน ๔๐ ชั่ง
กรมหมื่นนเรศถวายบัญชีทองเงินสมโภชเดือนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสุธาทิพยรัตน์ และรับคำโทรเลขเรือเข้ามาฉะบับ ๑
วันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
วันนี้ไม่มีราชการอะไร เสด็จลงตำหนักพระองค์สุนันทากุมารีรัตน์ทอดพระเนตรงานกรมหมื่นนเรศ พระองค์เทวัญ พระนายสรรเพธภักดีตามเสด็จ
พระราชทานบาญชีสมโภชโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพให้กรมหมื่นนเรศงบ
กริ้วกรมหมื่นอดิศร ที่ไม่สมโภชประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุธาทิพยรัตน์. ทรงปิดทองพระคัมภีร์ ๒ คัมภีร์
ทรงหนังสือสำคัญสั่งเงินพระคลังข้างที่ ๓ ฉบับๆ ๑ สั่งเงินทำขวัญโกนจุกลูกพระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์ ๓ คนๆ ละ ๑๐ ตำลึง รวมเงิน ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ฉะบับ ๑ ลูกพระยานรนารถคนหนึ่ง เงิน ๓ ชั่ง ฉะบับ ๑ ให้ท้าวราชกิจไปทำขวัญลูกพระยาประภา เงิน ๑ ชั่ง ลูกพระยามนตรี ๑ ชั่ง รวม ๒ ชั่ง และไม่ได้ออกขุนนาง
พระดิฐการถวายริโปดความศาลกรมท่าเดือน ๓ และกรมหมื่นพิชิตปรีชากรถวายริโปดเดือน ๓ ใบสัจเก่าฉะบับ ๑ ลูกขุนปรึกษาชี้ขาดฉะบับ ๑ พระยาธรรมสารนิติรับเรื่องราวฉะบับ ๑
วันอังคาร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
รับสำเนาหนังสือกงซุลอเมริกัน เจ้าพระยาภาณุวงศ์ส่งว่าเขามาเฝ้าเขาต้องคอยช้ากว่าชั่วโมง ๑ ช้าเพราะธุระไปรเวตของหมอแมกฟาแลนด์ เขาเห็นว่า หมอแมกฟาแลนด์ไม่ควรจะไปเฝ้าดังนั้น เพราะเป็นชาวอเมริกัน เขาได้แจ้งความไปให้คอเวอนเมนต์ทราบแล้ว เขาขอว่า ถ้าชาวอเมริกันคนใดคนหนึ่งอยากจะไปเฝ้าด้วยการของเขาก่อนตามธรรมเนียมและตามหนังสือสัญญา
พระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ว่า เมื่อวันกงซุลอเมริกันมาเฝ้านั้น ทรงตรัสกับหมอแมกฟาแลนด์ รับสั่งให้คนไปคอยดูอยู่พอมากราบทูลว่ามาสักครู่หนึ่ง แล้วก็เสด็จขึ้นไปรับกงซุล จะช้าอยู่อย่างไรไม่ทราบแน่ แต่ข้อที่สับเยกอเมริกันมาเฝ้าไม่ได้บอกกงซุลเป็นผิดนั้น ทรงพระราชดำริเห็นว่าพวกมิชชันนารีเหล่านี้ได้เคยมาอยู่ในกรุงเทพ ฯ ก่อนตั้งกงซุลเสียอีก เขาก็ได้เคยไปมาคุ้นเคยกับเจ้าแผ่นดินและเจ้านายขุนนางทั่วทุกแห่ง ครั้งนี้กงซุลห้ามก็ไม่เป็นที่ร้อนพระทัยอะไร ซึ่งพบครั้งนี้ก็ไม่เห็นขัดข้องอะไร เป็นแต่หมอพวกนี้สอนสาสนาไม่เป็นประโยชน์สิ่งใดแก่เมืองที่ไม่นับถือสาสนา แต่การสั่งสอนหนังสือและวิชาการเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ได้ทรงช่วยทำนุบำรุงสกูลที่เมืองเพ็ชร์อยู่มาก จึงได้มาทูลด้วยเรื่องครูไปสอนหนังสือแล้วจะทรงตั้งสกูลในกรุงเทพ ฯ ถ้ากงซุลได้ห้ามแล้วก็ไม่อยากทรงเกี่ยวข้อง ให้คิดตอบเขาไปเถิด
กัปตันลอฟตัศจดหมายถวายด้วยเขาได้จดหมายเรื่องร่องน้ำปากอ่าวบางปกงลงพิมพ์ออกให้คนทราบ ให้นำมาทูลเกล้า ฯ ถวายด้วย จะโปรดเกล้า ฯ ให้กำปั่นเข้าค้าขายเมื่อใดก็ได้ เขาเห็นว่าควรให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์จัดเรือตะเกียงโดยเร็ว และพระยาโชฎึกเฝ้าว่าด้วยการจะฉลองวัดญวน จะทรงตั้งสมภารเป็นพระครู
ออกขุนนาง ไม่มีราชการอะไร ตั้งขุนนาง ๔ คน นายพลพ่ายเป็นหลวงวิสูตรสาลี ขุนกสิการบัญชาเป็นหลวงนังคัลกิจบรรหาร หมื่นวิสูตรสากลเป็นขุนกสิการบัญชา จีนเต้าเป็นหลวงภาษีวิเศษ
รับคำโทรเลขเรือเข้ามาลำ ๑ เรือออก ๒ ลำ แล้วทรงเซ็นท้ายเรื่องราวหม่อมราชวงศ์แปลก ให้ไปร้องที่สมเด็จกรมพระก่อนพระราชทานหลวงวิทยาไปให้พระองค์กาพย์ รับจดหมายท่านพระองค์กาพย์ ว่าด้วยหลวงสรสิทธิ์ที่ขาดตรวจนั้นกลับเข้ามาแล้วรับสารภาพผิด ขอให้มีทหารยามคุมตัวคนหนึ่ง ห้ามไม่ให้ไปพ้นอาณาเขตต์ทหารมหาดเล็ก ถ้าจะขังตามธรรมดา ก็เห็นว่าเป็นคนไม่ใคร่มีสติจะทำอะไรก็ทำตามใจ อนึ่งม้าเทศใหม่นั้นบัดนี้ก็อ้วนแล้ว ได้ให้ทหารหัดขี่ที่สนามหลวงหน้าโรงรถทุกเช้าเย็น แต่สนามนั้นอยู่ข้างเป็นหลุมเป็นบ่อมากและมีอิฐด้วย ขอพระราชทานให้กรมเมืองถม ขอเงินเดือนเพิ่มทหารที่ห้ดม้าด้วย หลายๆ หนก็ยังแข็งแรงพอมีน้ำใจ กับทหารที่ขี่ยังไม่เป็นมีอีกมาก ได้สั่งให้หัด ถ้ายังไม่เป็นจะให้อยู่ในวังไม่มีเวรออกเสมอ กว่าจะเป็นแล้วจะให้ชักฟิกเกตจึงจะมีเวรออกทุกคนตลอดออฟฟิศเซอ ม้าที่ไม่มีโรงอยู่จะต้องอยู่กลางแจ้ง ขอพระราชทานอาศัยไว้ในโรงลคร หลวงนริศถวายหนังสือทูลหม่อมใหญ่ เรื่องความหลวงยุทธกิจว่าด้วยโฉนดสวน มิสเตอร์ไปเยอจดหมายเตือนเงินเดือน แล้วถวายแผนที่เมืองราชบุรีที่โปรดเกล้า ฯ ให้ทำมาด้วย
วันพุธ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
พระองค์ประดิษฐ์ถวายตัวอย่างหมวกตลิปัดพระญวนที่จะเป็นพระครู พระองค์ทองนำโปรแกรมการเล่นปีใหม่มาถวาย หมอกาวันเฝ้าถวายหนังสือ ๒ ฉะบับ ฉะบับหนึ่งว่า ตัวแกได้รับราชการครบกำหนดสัญญา ๓ ปีแล้ว จะกราบบังคมลากลับไปเยี่ยมญาติสัก ๘-๙ เดือนจะกลับเข้ามา เมื่อให้แกรับราชการอีกก็จะรับราชการฉลองพระเดชพระคุณ ถ้าไม่โปรดเกล้า ฯ แล้วก็จะขอรับพระราชทานหากินในการหมอต่อไป แต่การสิ่งหนึ่งสิ่งใดในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วจะฉลองพระเดชพระคุณจนหาชีวิตไม่ ฉะบับ ๑ ว่า จะขอรับพระราชทานตั้งโรงหมอและโรงขายยาไทยยาฝรั่งต่าง ๆ ที่ถนนบ้านญวนริมวัดราชบูรณะ ด้วยแกเห็นสรรพคุณยาต่าง ๆ ในประเทศสยามดีหลายอย่าง ควรจะเป็นสินค้าไปยุโรปได้ ถ้าโปรดเกล้า ฯ ให้ทำขึ้นแล้ว จะขอพระราชทานเรียกหมอไทยที่คุ้นเคยมาฝึกหัดในการประกอบยาและพิจารณาโรคต่างๆ ประการหนึ่ง ถ้าแกขายยามีประโยชน์บ้างแล้ว จะขอพระราชทานตั้งโรงสำหรับรักษาราษฎรที่คนอนาถาหาญาติมิได้ จะรักษาในโรงตายในโรง จะประชุมหมอไทยให้ผ่าตรวจดูอาการโรคผู้นั้น เห็นว่าเป็นประโยชน์มาก และหมอที่โรงนั้น ถ้าราษฎรป่วยไข้ควรที่จะต้องไปตรวจอาการก็จะให้ไป ถ้าควรประกอบยาสถานใดก็จะสั่งสอน แต่เห็นว่าจะเป็นพระเกียรติยศมาก แต่แกจะขอพระบรมราชวโรกาศบรมราชานุญาต พอจะได้เป็นเกียรติยศต่อแก แล้วทรงหนังสือสำคัญพระราชทานเงินรางวัลหมอกาวัน ๑๕๐๐ เหรียญ พระราชทานไปกับหนังสือ
พระยาจ่าแสนยถวายเรื่องราวแสนพันบุงว่า เดิมเมื่อพระยาเทพส่งความลงมาพบจีนเต้าที่เมืองตาก จีนเต้าสั่งว่าให้คอยจีนเต้าอยู่ก่อน จีนเต้ากลับจากพระยาเทพจะพาเข้าหาพระยาศรี อย่าเพิ่งไปหากงซุล ครั้นจีนเต้ากลับมาจากเมืองเชียงใหม่ ว่าพระยาเทพสงั่มาให้ขอท้องตราไปว่าความที่เมืองเชึยงใหม่ พระยาเทพสงสารให้เงินค่าป่วยการและเดินทาง ๑๕ ชั่ง มาบัดนี้จีนเต้าไม่ให้ เขาจะขอไปหากงซุลว่าความที่กรุงเทพ ฯ เมื่อได้เงิน ๑๕ ชั่งเป็นสะเบียงแล้วจึงจะว่าความที่เชียงใหม่ รับสั่งว่าอย่าให้เป็นว่ากราบบังคมทูลให้เป็นแต่ทูลสมเด็จ แล้วให้หาตัวจีนเต้ามาว่าๆ พูดจริงหรือ ถ้าพูดจริงให้คิดอ่านไปให้เงินเสีย ให้มันร้องขอคืนเรื่องราวให้ได้ อย่าให้เป็นชำระว่ากล่าวกันให้ดังไป แล้วอ่านตราถึงพระยาเทพเรื่องแสนพันบุงให้เร่งชำระ กับศุภอักษรถึงเจ้านครลำปางให้ส่งตัวความไปว่า แล้วอ่านตราถึงเมืองตาก ตอบความ ๕ เรื่อง ว่าด้วยจับช้างไม่มีหนังสือเดินทางและตั๋ว ไม่มีเจ้าของ คงเป็นช้างหลวงให้มีกำหนด กับว่าด้วยมีผู้จับกระบือมาส่งจะขอรางวัลนั้น ให้แยกแยะความให้ดีให้ไปแก้เสียใหม่
ฟักทองภรรยาพระยาจ่าแสนย เข้ามาเฝ้าถวายเรื่องราวรับพระราชทานโทษหลวงสรสิทธิ์ที่ขาดตรวจและขอออกจากทหารไปมหาดไทย มีพระราชหัตถ์ถามมิสเตอร์อาลบาศเตอด้วยเรื่องกงซุลอเมริกันมีหนังสือมาด้วยเรื่องหมอแมกฟาแลนด์เฝ้าว่าไม่บอกกงซุลให้พามานั้นผิดนี้ควรประการใด (ปลอกโนต) มิสเตอร์อาลบาศเตอตอบเข้ามาฉะบับ ๑ ว่าการเรื่องนี้ไม่ขัดอะไร ด้วยพระเจ้าแผ่นดินเป็นอิสสระในพระราชธุระในธรรมเนียมเกี่ยวข้องในพระองค์ ถ้ามือยู่บ้างก็ต้องมาคราวแรก ซึ่งกงซุลว่าดังนี้ เพราะไม่รู้ธรรมเนียมเยนเตลิแมน เห็นจะมีผู้ยุยง ขอรับพระราชทานให้ตอบความแต่เบา ๆ ด้วยกงซุลมีความชอบอยู่บ้าง
ออกขุนนาง พระยาศรีอ่านบอกเมืองฉะเชิงเทรา ๓ ฉะบับ ฉะบับ ๑ ว่าด้วยคลองนครเนื่องเขตต์ขุดทะลุแล้ว วัดได้ยาวกว่าที่กำหนดเดิม ๑๐ เส้น ๑๐ วา รวมเป็นยาว ๕๓๐ เส้น ๑๐ วา ทะลุ วันอังคาร ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ฉะบับ ๑ ว่าด้วยได้ลงมือขุดคลองแต่ปลายคลองบางไผ่ไปท่าวังเย็นไปบ้างยังไม่แล้ว ฉะบับ ๑ ว่าด้วยโคชาเลตอมซันฝรั่งนั้นได้ตัวผู้ร้าย แล้วชาเลตอมซันจะขอเอาโคกลางไป พระพนมสารนรินทรไม่ให้ สั่งให้กรมการยึดไว้ กรมการกลัวฝรั่งไม่ยึด พระพนมจึงยึดไว้เอง ฝรั่งยกปืนจะยิง พระพนมยึดปืนไว้ และมีคนหนึ่งห้ามว่าอย่าวุ่นวาย จะเอาโคก็จะใช้เงินให้ ฝรั่งก็ยอม จึงได้ใช้เงินให้ตัวละ ๓ ตำลึง โค ๓ ตัว เงิน ๙ ตำลึง ก็เป็นเลิกแล้วต่อกัน กับฝรั่งคุมโค ๓๐๐ มานั้น สืบได้ความว่าเป็นคนฝรั่งเศส ชื่อเป็น ๒ ชื่อ ชื่อกัมโด ๑ ชื่อชูเร ๑ รับสั่งว่าไม่ควรจะห้ามหวงวุ่นวายกันเลย เพราะเหตุที่ไม่รู้อะไรจนถึงจะเอาปืนยิง
นายรองเสนอถวายบาญชีคนโทษจำคุก พระยาศรีถวายบาญชีความชอบกองพระสุริยภักดีเมืองหลวงพระบาง
สั่งให้พระองค์เจ้าเทวัญร่างประกาศปิดคลอง
ทูลกระหม่อมพระองค์น้อยถวายบาญชีดาบญี่ปุ่น หม่อมเจ้าน้อยซื้อถวายครั้ง ๑ ดาบ ๗๐ ราคาดาบละ ๓ บาท ๓ สลึง ครั้ง ๑ ดาบ ๒๐๐ ราคาดาบละ ๓ บาท ๒ สลึง รวม ๒ ครั้งดาบ ๒๗๐ เป็นเงิน ๑๒ ชั่ง ๒ บาท ๒ สลึง พระราชทานหนังสือสำคัญ
สมเด็จเจ้าพระยาสั่งท้าวแพมาทูลด้วยได้พูดสปิช
วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
ได้รับโทรเลขเรือเข้ามาลำหนึ่ง
พระยาโชฎึกเฝ้าถวายหนังสือว่าด้วยพระญวนพระจีนในกรุงเทพ ฯ มีอยู่ ๗ วัด พระญวน ๔๕ พระจีน ๗ รวม ๕๒ กำหนดวันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ ตั้งสวด ๓ วัน ๓ คืน ได้จัดไตรแพรถวายพระญวน พระจีน ที่สวด ๑๕ รูป พระในวัด ๗ รูป รวม ๒๒ รูป วันพุธ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๔ พระญวน พระจีน จะมาพร้อมกันทั้ง ๕๒ รูป มีแจงแล้วฉันเพล เวลาบ่ายทิ้งกระจาด ได้จัดเสื้อกางเกงผ้า ๓๐ สำรับ ไว้ถวายพระซึ่งจะมาสวด ได้นำไตร เสื้อ กางเกง ทูลเกล้า ฯ ถวาย โปรดให้ไปเอามาทอดพระเนตรไตรหนึ่ง
พระองค์เจ้าดิศวรกุมารถวายหนังสือว่าด้วยตึกโปลิศ ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาราชรองเมืองรื้อไปทำใหม่ จะประทานต่อเป็นที่บ้านนั้น พระยาราชรองเมืองยังไม่รื้อ ว่ายังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ปลูก ครั้นจะรื้อก็ยังไม่ได้ขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง
มีพระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ว่า เรื่องมิสเตอร์แคสเวลยื่นหนังสือแทนเมซั่นนั้น ได้หาตัวมิสเตอร์แคสเวลมาชี้แจงตลอดแล้วเห็นว่ามิสเตอร์เมซั่นได้รับราชการมาช้านาน ตั้งใจอยู่ว่า ถ้าเข้ากรุงเทพ ฯ จะตั้งให้เป็นกงซุลเยเนอราล บัดนี้เขาก็เข้ามาไม่ได้ จะทรงทำตราตั้งมอบให้มิสเตอร์แคสเวลไป เงินเดือนเดิมได้อยู่ปีละ ๔๘ ชั่ง ๖๖ บาท ขึ้นให้เสียปีละ ๗๐ ชั่งก็ได้ ให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์มีหนังสือนำตั้งตามธรรมเนียม อนึ่ง กงซุลโปรตุเกศจะเข้ามาทูลลากลับไปนั้น ให้เข้ามาวันเสาร์หรือวันจันทร์ก็ตามใจ ต่อไปวันพฤหัสบดีให้กงซุลฝรั่งเศสเข้ามาเฝ้า จะพระราชทานมอบตราให้กงซุลที่ ๒ แก่ตัวเขาเอง กับได้พระราชทานพระรูป ๆ หนึ่งให้ส่งไปให้กงซุลเยอรมัน ได้ส่งให้เคาน์ตเอวเลนเบิดด้วย
พระราชหัตถ์ถึงพระองค์กาพย์ คอบหนังสือวันศุกร์ ขึ้น ๕ ค่ำ วันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ วันอังคาร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๔ ว่านายเยื้อนจะให้เป็นควอตเตอมาศเตอซายันนั้น ให้ทำหนังสือตั้งเถิด เรื่องปืนสมัยเด้อที่โรงลคร ให้พูดต่อว่าพระยาภาษและพระองค์สายเสียให้ตลอด เมื่อเอาปืนมาไว้ได้มอบให้ผู้ใดหรือเปล่า ที่จะเอาทหารกรมอื่นๆ ที่เป็นช่างไม้มาไว้อินเยอเนียนั้นชอบแล้ว แต่เห็นอินเยอเนียเบื่อหน่ายนักให้คิดเกลี้ยกล่อม่ให้จงดี จะให้ทหารคุมตัวหลวงสรสิทธิ์นั้นชอบแล้ว การที่จะซ้อมทหารขี่ม้า จะให้พระพิเรนทรปราบสนามให้ เงินเดือนที่จะขึ้น ให้ขึ้นเป็นรางวัล ให้เป็นครั้งเป็นคราว
เซ็นในท้ายเรื่องราวฟักทองภรรยาพระยาจ่าแสนย ว่าด้วยโทษหลวงสรสิทธิ์ไม่ควรจะยก ด้วยมีพระราชบัญญัติในทหาร กับไม่ควรจะเอาคนมีโทษออกจากทหารไปเป็นมหาดไทย
ท้าวราชกิจถวายสำเนาหนังสือของเจ้าพระยาภาณุวงศ์ส่งมา เป็นหนังสือมิสนอกซ์กงซุลอังกฤษมีมาว่า เขาได้รับหนังสือที่ส่งมาแต่ผู้ที่ดูแลเตลิกราฟอินเดีย มาให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์พิเคราะห์ดูแล้วขอให้ส่งคืนไป กับเขาอยากทราบว่าท่านจะเห็นความประการใดควรหรือไม่ควร สำเนาหนังสือมิสเตอร์เกบเปอ เจ้าพนักงานเตลิกราฟที่อินเดียว่ามีมาถึงมิสนอกซ์ ส่งหนังสือสำเนากัปตันลอฟตัศและเขาตอบมาให้กงซุลทราบ อีกฉะบับ ๑ สำเนาหนังสือกัปตันลอฟตัศมีไปถึงไดเรกเตอเยเนอราลเตลิกราฟในอินเดียว่า ไทยจะทำเตลิกราฟตั้งแต่ปีนังถึงกรุงเทพ ฯ เป็นแน่ บัดนี้เขาขอสืบการที่สมควรจะทำเอสติเมต ในการนี้เขาจึงมีหนังมาบอกขอได้ช่วยส่งบาญชีราคา และจะใช้สายลวดชะนิดไรโตเท่าไร บอกไปทาง ๗๕๐ ไมล์ และกับเครื่องมือและสายข้ามน้ำด้วย จะต้องการเป็นการเร็ว หนังสือเขียนไปวันพฤหัสบดี แรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ตรงกับวันที่ ๒๕ ออกโตเบอ คริศตศักราช ๑๘๗๗ ปี อีกฉะบับ ๑ สำเนาหนังสือมิสเตอร์เกบเปอตอบมาเดือน ๒ ตรงกับเดือนยันยุวารี่ ๑๘๗๘ ว่าการเรื่องนี้ให้ตามที่มิสเตอร์นอกซ์เถิด ด้วยเวลานี้มิสนอกซ์ได้มีหนังสือตอบไปกับคอเวอนเมนต์อินเดีย ด้วยการที่จะทำสายเตลิกราฟในกรุงเทพ ฯ กับเมืองพม่าติดต่อกันนั้น กับคำเตลิกราฟลอนดอนว่า รูเซียเตอรกีได้เซ็นชื่อยอมเลิกกันในการสงครามแก่กันแล้ว เมืองบลูกาเรนกับเมืองอิยิปต์ ซึ่งแต่ก่อนเคยเสียส่วยให้เตอรกี และฝ่ายรูเซียได้ขอให้เสียแก่รูเซียนั้น บัดนี้รูเซียได้เซ็นชื่อยอมไม่เอาเรือรบเตอรกีที่รูเซียได้ขอจะเอานั้น รูเซียก็ยอมให้เอาคืนให้ อนึ่ง สังฆราชอิตาเลียนชื่อปรังจี ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ว่าการต่างประเทศของโปป
กับรับหนังสือหมอดีนมีมาฉะบับ ๑ ว่าป่วย จะขอคืนมาที่พระราชทาน ถ้าจะขายหรือจะให้กับผู้อื่นไม่ควร
พระราชหัตถ์ตอบเจ้าพระยาภาณุวงศ์ว่า การเรื่องเตลิกราฟนี้เจ้าพระยาสุรวงศ์ก็ได้สั่งออกที่เมซั่นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับกัปตันลอฟตัศ กัปตันลอฟตัศเป็นแต่ผู้ตรวจทางนี่เป็นแรงฟุ้งซ่านอยากรู้ อยากเห็น ให้คัดสำเนาไปให้พระยาสุรวงศ์ ตามแต่จะตอบด้วยเป็นคนอยู่ในบังคับเจ้าพระยาสุรวงศ์
ออกขุนนาง พระยาราชรองเมืองถวายหนังสือกงซุลฝรั่งเศสเรื่องจีนสัปเยกจะซื้อที่บ้านของจ่าห้าวยุทธการ หลวงอำนาจเป็นผู้ขัดขวางแล้วส่งเรื่องราวจีนมาด้วย ได้รับสั่งถามหลวงอำนาจ หลวงอำนาจถวายเรื่องราวว่าเป็นที่ของปู่ย่าตายาย ไม่ควรขายให้ผู้อื่น ที่จ่าห้าวจะขายที่นี้แก่ภรรยาจีนสับเยก ๖๑ ชั่งไม่ควร หลวงอำนาจขอซื้อเอา ๖๕ ชั่ง จ่าห้าวไม่ขาย ได้ไปให้พระยามหามนตรีช่วยว่าพระยามหามนตรีว่าจ่าห้าว จ่าห้าวไม่ยอม ถ้าจะซื้อจะขายให้หมด เงิน ๘๕ ชั่ง ถ้าจะชื้อแต่ที่ที่ขายจีนสับเยกแล้วไม่ยอม เซ็นไปว่าให้พระยามหามนตรี พระยาราชรองเมือง ช่วยว่ากล่าวทั้งคนเราคนเขาเสียให้แล้ว ความเรื่องนี้ได้ทรงตัดสินไปที่พระพิเรนทรครั้ง ๑ ให้เรียกมาดูด้วย แล้วพระชลธารรับคำประกาศเปิดคลองนครเนื่องเขตต์
พระราชทานเงินกรมหมื่นนเรศไปทำพระที่นั่งอุทยานภูมิสเถียรเงิน ๗๐ ชั่ง
วันศุกร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
ทรงตัดสินความเรื่องพระวัดตรีทศเทพตีอ้ายรื่นตาย ว่าอ้ายรื่นก็เมาจริง พระก็ตีด้วยโทโส แต่ไม่ถึงมนุสสวิคคห์ ให้พระวุฒิการนำขึ้นปรึกษาลูกขุน รับหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ว่าเมื่อเช้าโมง ๑ เรือกลไฟกรมท่าเข้ามา ราชทูตสเปญนาย ๑ สิเกรตรีนาย ๑ มาด้วย ขึ้นพักอยู่บ้านกงซุลอังกฤษ ผู้รับว่าการกงซุลสเปญพอท่านทราบ ได่ให้พระยาพิพัฒ พระศรีธรรมสาสน์ ลงไปรับเชิญให้มาอยู่ที่ตึกที่จัดไว้ ราชทูตไม่มา แล้วว่าการที่ทูตจะมา กงซุลสเปญที่สิงคโปร์ก็ได้บอกกับกงซุลสยามว่า ๑๕ วันแล้ว แต่ทูตมาถึงไม่เห็นไทยรับรองอะไรเหมือนราชทูตประเทศอื่น พระยาพิพัฒตอบว่า กงซุลที่สิงคโปร์บอกมานั้นก็ไม่ได้กำหนดเดือนวันมาให้ไทยทราบ ก็ได้จัดที่ไว้รับ การที่ราชทูตจะมาในเรือกรมท่า ไทยก็ไม่ทราบ พอทราบจึงได้มาเชิญ ราชทูตพูดนี้โกรธว่าไทยไม่จัดเรือไปรับที่เรือกรมท่าเหมือนราชทูตทั้งปวง เจ้าพระยาภาณุวงศ์ทราบความแล้ว จึงให้พระศรีธรรมสาสน์นำต้นหนังสือกงซุลสิงคโปร์ที่มีมาไปให้มิสนอกซ์ดู แล้วขอปรึกษากับมิสนอกซ์ว่า การเป็นดังนี้ มิสนอกซ์จะเห็นควรประการใดที่จะเป็นการสมควรให้เรียบร้อยได้ ด้วยมิสนอกซ์เป็นผู้ว่าการกงซุล มิสนอกซ์จึงว่าการคราวนี้ไทยไม่ผิด ความผิดนั้นอยู่กับกงซุลสเปญที่สิงคโปร์ ถ้าราชทูตมาหาเจ้าพระยาภาณุวงศ์แล้ว ขอให้เชิญราชทูตไปอยู่ที่พักเสียก็เห็นจะแล้วได้ ถึงตัวเขาเองไม่ทราบ แล้วเจ้าพระยาภาณุวงศ์ได้จัดเรือสำปั้นเก๋งกับสั่งรถลงไปไว้ให้ราชทูตใช้สอย กับเมื่อเช้า ๕ โมงวันนี้ มิสนอกซ์มีหนังสือตอบเรื่องความมองใบฉะบับ ๑ นัดราชทูตสเปญจะมาหาฉะบับ ๑ ได้ส่งสำเนามา กับพรุ่งนี้เวลาบ่าย ๔ โมง กงซุลโปรตุเกศจะมาเฝ้า สำเนาหนังสือมิสนอกซ์เรื่องความมองใบ ว่าบัดนี้เขาได้ทราบว่าคอเวอนเมนต์อินเดียจะคิดให้ออฟฟิศเซอผู้ใหญ่เป็นกอมมิสซั่นเนอออกไปที่แห่งผู้ร้ายปล้นจะสืบความสำคัญนี้ เพราะคอเวอเมนต์อินเดียยังคิดอ่านไม่แน่ใจอย่างนี้ ซึ่งเขาจะให้คำตอบเป็นที่สำเร็จยังไม่ได้ กับข้อที่ไทยเห็นว่าพวกผู้ร้ายนี้ไม่ได้เป็นพวกเชียงใหม่เป็นลูกจ้างมองใบนั้น ซึ่งเจ้าพนักงานที่ต้องรับเป็นธุระตามหนังสือสัญญา ๑๘๗๔ ปี จะไม่ต้องเอาใจใส่ติดตามในการจับผู้ร้ายนั้น เขาเห็นที่ข้อคิดเหมือนดังนี้ก็คิดไม่ถูกเลย
อีกฉะบับ ๑ ว่าด้วยราชทูตสเปญเข้ามาถึง พักอยู่ที่บ้านเขาเดิมเขาก็ไม่รู้ ด้วยมิได้รับหนังสือก่อน แล้วจะพาราชทูตมาหาเจ้าพระยาภาณุวงศ์ เวลาพรุ่งนี้เช้า ๔ โมง
พระราชหัตถ์ตอบฉะบับ ๑ ว่าด้วยหนังสือมิสนอกซ์ว่า ถ้อยความมองใบนั้น เหมือนหนึ่งจะรับจริงตามพระยาเทพบอก แต่ฝ่ายอินเดียจะเข้าไปสืบการเรื่องนี้ในเมืองเชียงใหม่ ทรงพระราชดำริเห็นว่าควรจะรีบมีตราขึ้นไปถึงพระยาเทพให้ทราบโดยเร็ว เขาจะได้ปรึกษากับพวกที่ไปนั้น แต่จะมีข้อบังคับถึงพระยาเทพอย่างไรบ้าง และหนังสือมิสนอกซ์ฉะบับนี้จะมีตอบไปว่า จะให้พระยาเทพปรึกษากับผู้ที่จะไปสืบความหรือไม่ต้องมีคำสั่ง และไม่มีคำตอบประการใด ให้ท่านหารือสมเด็จเจ้าพระยาปรึกษาเสนาบดีเสียให้เห็นพร้อมๆ กัน จะได้รีบมีตราไป การหยุกหยิกเรื่องสเปญนั้น มิสนอกซ์เป็นพะยานอยู่แล้ว เห็นจะไม่เป็นไร แต่การรับรองอย่าให้บกพร่อง กงซุลอังกฤษจะเข้ามาด้วย มิสเตอร์อาลบาศเตอเฝ้า ถวายหนังสือลงชื่อหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ตัวแก มิสเตอร์แคสเวลว่าด้วยได้ปรึกษากันเรื่องจะเขียนรูปในพระที่นั่ง ว่าจะเขียนที่ช่างมีชื่อแล้วแพงและช้าด้วย ถ้าจะหาช่างที่เป็นใหม่ ๆ มาเขียนก็ไม่สู้ดี เห็นว่าพระที่นั่งควรจะใช้แต่ของที่เป็นฝีมือดีอย่างเอก ถึงไทยก็ดีกว่าที่ ๒ ฝรั่ง ถ้าไทยสัก ๒-๓ คน ไปเรียนวิชามาเขียนจะเป็นประโยชน์มาก แต่การนี้เห็นควรจะให้พระสยามธุระพาหะปรึกษากับพวกช่างเขียนที่ยุโรปดีกว่าที่ทูลผิดๆ พระยาภาษถวายหนังสือพิมพ์ และถวายหนังสือของฮินดูสิวประสาทฝากเข้ามา
พระยาอภัยรณฤทธิ์เข้ามาเฝ้า ทรงเรื่องเจ้าพระยาภูธราภัยจัดมรดก และท้าวราชกิจมาทูล ด้วยสมเด็จเจ้าพระยาสั่งมาให้กราบทูลขอแก้หลังคาพระที่นั่งใหม่ให้เป็นยอดปราสาท ๓ ยอด ทรงตอบไปว่าชอบแล้ว การเรื่องนี้ได้ทรงพระราชดำริไว้ในพระทัยอยู่ว่าหากจะทำด้วยในพระองค์ก็ยังไม่ได้ทรงสร้างปราสาทไว้ในกรุงเทพฯ เลย ประการหนึ่ง ชื่อเสียงสมเด็จเจ้าพระยาที่เป็นผู้ขอก็จะได้ปรากฏในแผ่นดินเป็นชื่อเสียงมาก ขอให้ท่านเรียกพระยาราชสงครามไปคิดเถิด
ออกขุนนาง พระยาศรีทูลเจ้าอุปราชเมืองหลวงพระบางเข้ามาเฝ้าพร้อมด้วยเจ้าพรหมาผู้ว่าที่ราชสัมพันธ์ถวายงาช้าง ชมดเชียง
พระยาพิพัฒทูลด้วยราชทูตสเปญเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ พักอยู่บ้านกงซุลอังกฤษ พระองค์เจ้ากาพย์ถวายจดหมายว่าด้วยจ่ายงจะขอมาเปลี่ยนม้าทหารไปใช้รถ ว่าม้าที่ซื้อ ๒๐ นั้นเล็กใช้รถไม่ได้ แต่ม้านั้นหาต้องสีกับม้าทหารไม่ กับว่าด้วยเปซายันหม่อมราชวงศ์นวมนำสิ่งของมาส่งชำรุดเสีย ที่เป็นของแอกซิเดนต์จึงได้ยอมให้เสียทีไม่ระวังรักษาจึงบังคับให้ใช้ ก็ยอมแล้ว ครั้นเตือนเข้ากลับไปพูดว่ากล่าวว่ากัมปนีอื่นทำใช้จึงจะทำ ไม่ฟังบังคับจึงเอาตัวขังไว้ มีพระราชหัตถ์ไทยฉะบับ ๑ ฝรั่งฉะบับ ๑ ถึงหมอกาวันเป็นเซอติฟฟิเกตที่ได้รับราชการเรียบร้อย เหน็บสำเนาไว้กับหนังสือหมอกาวันทูลเกล้า ฯ ถวาย วันพุธ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔
พระราชหัตถ์ถึงหมอดีนฉะบับ ๑ พระราชทานรถสำหรับม้าที่พระราชทานให้จ่ายงนำไป
สมเด็จกรมพระส่งเรื่องราวพระนรินทรขอทำอากรสุรา เมืองนครชัยศรี สมุทรสาคร สุพรรณบุรี ว่าด้วยภาษีฝิ่นทั้ง ๓ เมืองนี้มีผู้รับตามสัญญาทุกปี แต่ปีมะแมถึงปีชวดรวม ๖ ปี เพราะขัดด้วยมีฝิ่นปลอมตามโรงสุราโรงหีบ เจ้าจำนวนจึงจัดเจ้าพนักงานไปจำหน่ายก็ได้เงินคงเดิม ครั้งนี้จีนฮกเสงผู้ทำสุราเมืองนครชัยศรี สมุทรสาคร ทำปีละ ๔๐๐ ชั่ง มาร้องคืนแก่เจ้าพนักงานนั้น เพราะขัดขวางด้วยพวกจีนเข้ารีด โรงหีบ ทำไร่อ้อย ทำสุราเถื่อน เขาเห็นว่าฝิ่นเป็นของคอเวอนเมนต์ ต้องแต่งพนักงานไปสืบตรวจปลอมมิได้ขาด สุราก็ต้องตรวจเหมือนกัน ถ้าตรวจแห่งเดียว ๒ อย่างได้ สุราทำได้ เขาจะแต่งคนทำ ขอรับผูกขาดสุราเมืองนครชัยศรี สมุทรสาคร ปีขาล เงิน ๒๒๐ ชั่ง ปีเถาะ ๒๔๐ ชั่ง ปีมะโรง ๒๖๐ ชั่ง กำหนด ๓ ปี เมืองสุพรรณบุรี เดิมปีละ ๑๕๘ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ประมูล ๑๑ ชั่ง ๕ ตำลึง รวมปีละ ๑๗๐ ชั่ง ขอสัญญา ๓ ปีเหมือนกัน ฉะบับ ๑ พระยาราไชยยื่นเรื่องราวว่าด้วยเลขส่วยดินประสิวจ่ายเดือนเสียมา ได้ส่วยก็น้อย ได้แต่เงินแทนส่วยส่งหาบละ ๓ ตำลึง แต่ดินประสิวเดี๋ยวนี้ราคาแพงกว่าส่วยส่งหาบละ ๖ ตำลึง ขอเลขส่วยส่งจ่ายเดือนให้มาคงเป็นส่วยดินประสิว
ฉะบับ ๑ พันจันยื่นเรื่องราวว่าด้วยที่บ้านช่างดอกไม้หลวงเดิมอยู่แยกย้ายกัน ครั้นมีราชการเป็นการร้อนก็บอกกันไม่ทัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงพระราชทานที่บ้านหลวงให้รวมกันอยู่ ครั้นมามีไฟไหม้ในแผ่นดินพระนั่งเกล้า ฯ หม่อมไกรษรก็เป็นผู้จัดปักให้อยู่ ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ กรมหลวงวงศาเป็นผู้บังคับให้กรมเมืองไปปักที่ให้ ครั้นแผ่นดินปัจจุบันนี้ เมื่อไฟไหม้แล้ว พระยาสมบัตยาธิบาลขอที่พระราชทานให้พระยารองเมืองไปแบ่งปักให้ ครั้นเดี๋ยวนี้พระยาสมบัตยาธิบาลจะต้องการทำถนน พระยาราชรองเมืองไปไล่ เขาก็ยังไม่ไป ไม่อาจบังคับ ให้ขุนหมื่นไป เกรงว่าจะมีราชการไม่ทัน
เจ้าปฤษฎางค์จดหมายไปรเวตขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย ว่าด้วยแต่ก่อนต้องเสียไปรซ์เขาไว้ปีละ ๒ ชั่ง และทูลขอค่าเช่าห้องไว้หนังสือ และขอพระราชทานเงินใช้ที่จะไปครั้งนี้มากขึ้นกว่าแต่ก่อนปีละ ๔๐ ชั่ง อย่างแต่ก่อนนั้นไม่ใคร่จะพอใช้ กับขอพระราชทานเงินเดือนเพิ่มให้คงอยู่ และขอพระราชทานเงินเป็นกำลังที่จะไปบ้าง
วันเสาร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
รับหนังสือหมอกาวันตอบขอบพระทัยที่พระราชทานเซอติฟฟิเกต และเตือนเงินเดือนที่ยังไม่ได้จ่ายกับเงินค่ายาด้วย และพระองค์เทวัญเอาหนังสือที่มีมาถึงท่าน ว่าด้วยเงินที่พระราชทานไปนั้นยังไม่ครบจำนวน ๔ เดือนครึ่ง อีก ๓๐๐ เหรียญ แล้วทรงหนังสือสำคัญ ส่งเติมให้อีก ๓๐๐ เหรียญ พระองค์เจ้ากาพย์ถวายหนังสือมิสเตอร์อิเดนเลบเตอแนนต์เกาวนาเบลคอคนำมิสเตอร์แลตรัม ฉะบับ ๑
มีพระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฉะบับ ๑ ว่า มิสเตอร์อิเดนมีหนังสือนำมิสเตอร์แลตรัมมา บัดนี้เขาอยู่บ้านกงซุลอังกฤษอยากทรงพบเขาในวันอังคาร แรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ขอให้มาเวลาบ่าย ๔ โมง พระนายศรีถวายบิลชูเรนค่าพระรูปใหญ่ ๘๐๐ เหรียญ พระรูปสมเด็จพระเทพ ๑๐๐ เหรียญ พระราชทานหนังสือสำคัญไป ๙๐๐ เหรียญ พระอินทรเทพจดหมายถวายว่าด้วยหม่อมเจ้านิ่มในกรมพระรามให้หม่อมเจ้าเจริญน้องชายมาแจ้งความ ด้วยผู้ร้ายปล้นบ้านณวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมวัดพิกุลบางขวางคลองบางกอกน้อย ได้ของไป ๔ หีบ และว่าอำเภอท้องที่ก็ไม่บอก ได้ตี ๓๐ ที ได้จัดคนไปสืบสวนแล้ว รับคำโทรเลข ๒ ฉะบับ เรือเข้า ๓ ลำ ออก ๓ ลำ
มีพระราชหัตถ์ถึงสมเด็จกรมพระฉะบับ ๑ ว่าด้วยเรื่องราวพันจันจะถามพระยาราชรองเมืองก่อน เรื่องราวพระยาราไชยนั้นทรงพระราชดำริว่า ถึงโดยว่าเลขส่วยดินประสิวจะเติมมาขึ้นสักเท่าใด ก็คงไม่ส่งดินประสิวตามส่วย ครั้นจะพิกัดสูงขึ้นตามราคาที่ผิดกันก็จะผิดแบบอย่างแต่เดิม ซึ่งเลขส่วยจ่ายเดือนเสียนั้น ในหลวงมีกำไรได้เปรียบก็เห็นว่าดีอยู่ เรื่องราวพระนรินทรนั้นเงินลดต่ำมาก แต่ตั้งแง่ให้เห็นว่าภาษีฝิ่นกับสุราคงจะต้องวิวาทกันเป็นแน่ ครั้นจะปล่อยไปก็จะผิดพระราชบัญญัติ เห็นว่าผู้ใดจะทำก็ดี สุดแต่ให้ได้เงินแล้วเป็นใช้ได้ แต่ต้องรักษาพระราชบัญญัติไว้อย่าเพิ่งให้เสื่อมศูนย์ การเรื่องนี้ให้ยกพระราชบัญญัติเป็นที่ตั้งแล้วโชลงๆ ไปบ้าง เห็นว่าจะได้เงินจริง ขอให้ท่านผ่อนผันดูเถิด ส่งเรื่องราว ๒ ฉะบับคืนไป
พระราชหัตถ์ตอบพระองค์กาพย์ว่า ม้าที่จ่ายงจะเปลี่ยนนั้นถ้าใช้ได้ให้รับไว้ ถ้าใช้ไม่ได้และจะใช้รถก็เล็กไป แล้วให้จ่ายงขายเอาทุนคืนเสีย อนึ่งเรื่องเปซายันหม่อมราชวงศ์นวนซึ่งบังคับและจะจัดการนั้นชอบแล้ว แต่ให้ระวังต้องตีของที่ควรจะเอาใช้จงเอา ถ้าเป็นแอกซิเดนต์แล้วต้องยกเสีย ออกขุนนาง พระยาศรีอ่านบอกเมืองตากว่าด้วยผู้ร้ายปล้นและผู้ร้ายวางยา ตามที่คัดบอกมา
พระนรินทรอ่านบอกเมืองกาญจนบุรี ๒ ฉะบับ ฉะบับ ๑ ว่าด้วยไปสืบผู้ร้ายปล้นบ้านจีนหัว ได้ความว่าเป็นไทย ๖ คน ตองซู ๒๕ คนจับได้ อ้ายหลำมาถามรับเป็นสัตย์ได้ของกลางแล้ว ยังสืบต่อไปว่าหนีไปทางเขาบิละแดนอุทัย ฉะบับ ๑ ตรวจตองซูที่ซื้อโคกระบือ จับได้มองอินตะคนหนึ่งไม่มีหนังสือสำหรับตัวส่งตัวมาแล้ว เจ้าพระยาสุรวงศ์ว่าจะให้หลวงพิพิธไปตรวจฝิ่น แล้วจะให้อยู่ชำระผู้ร้ายทีเดียว พระนรินทรถวายเรื่องราวขอทำสุราเมืองนครชัยศรี สมุทรสาคร สุพรรณบุรี ตามที่ยื่นสมเด็จกรมพระ รับสั่งว่าจะรับสั่งไปที่สมเด็จกรมพระ แต่ดูยังผิดพระราชบัญญัติอยู่ แล้วเงินอยู่ข้างต่ำมาก พระยาอภัยรณฤทธิ์ถวายบาญชีตึกเจ้านายถนนเจริญกรุง กับร่างจดหมายเจ้าพระยาภูธราภัยสั่งเรื่องมรดกแล้วพระราชทานคืนไป
มีพระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาภูธราภัยว่าด้วยส่งร่างมรดกมาถวายนั้น ถ้าจัดการเสียดังนี้ทรงมีความยินดีด้วยนัก แต่จะต้องทรงแจ้งความด้วยจะทรงจัดการข้างหน้าต่อไป และทรงพระวิตกอยู่ว่าจะไม่เรียบร้อยบ้าง จึงจะทรงเตือนสติมาว่าข้อหนึ่งของที่มีในบาญชีอย่างไร ถ้าได้ทรงเซ็นพระนามแล้วจะทรงเหมาว่าของมรดกมีอยู่เท่านั้น ถ้าของมีนอกบาญชีไม่ว่าสิ่งไรจะถือว่าของนั้นท่านให้กับผู้รักษาของ ถึงจะมีผู้มาว่ากล่าวว่าผู้เก็บลักไว้ก็จะไม่รับว่า ด้วยเมื่อท่านเป็นอยู่ก็ไม่ได้ว่ากล่าว คำตัดสินดังนี้ได้ทรงแต่ครั้งกรมหลวงวงศาครั้ง ๑ แล้ว อีกข้อหนึ่งของที่เหลือจากบาญชีในจดหมายนั้นว่ามอบให้ท้าวโหมดกับพระยาอภัยรณฤทธิ์เป็นเจ้าของทั้งสองคนนั้น สิ่งของที่จะเป็นราคาหรือไม่มีราคาไม่ทราบ แต่ขอเตือนสติท่านไว้เสียอย่างหนึ่งว่า ธรรมดาผู้ที่เก็บรักษาของกับผู้ที่ยืมของไปใช้นั้นมักจะมีเหตุวิวาท ต่างคนต่างสงสัยว่ากันเถียงกัน ถ้าจะมอบให้บุตรผู้ใดก็ได้ มอบเสียผู้หนึ่ง พี่น้องผู้ใดจะยืมก็ให้ยืมกันฉันพี่น้อง อย่าให้ถือว่าเป็นของกลางจึงจะเรียบร้อยได้ อนึ่ง ลูกหนี้ที่อยู่ต่างบ้านต่างเรือนและที่แข็งแรงนั้น ถ้าผู้ที่จะเป็นเจ้าหนี้ไม่มีอำนาจอยู่บ้าง กลัวว่าต้นทุนและดอกเบี้ยนั้นจะสาบศูนย์ไป ถ้าผู้ที่มีอำนาจอยู่บ้างจะได้ติดตาม มาเลี้ยงพี่น้องทำนุบำรุงบ้านช่องสืบไป การ ๒ อย่างนี้ ลูกที่ ๑ ทรัพย์สมบัติซึ่งเหลือจากบัญชี ๑ ถ้าจะมอบให้บุตรผู้ใด ทรงเห็นว่าควรจะมอบให้สิ่งละคนหรือคนเดียว ๒ สิ่ง ถ้าของสิ่งเดียว ให้ถือ ๒ มือเห็นจะไม่เรียบร้อย ลูกหนี้และทรัพย์สมบัติของท่านจะมีมากน้อยเท่าใดก็ไม่ทราบ ซึ่งทรงชี้ทางมาทั้งนี้พอให้จัดการเรียบร้อย เมื่อจะเพิ่มถอนประการใดก็แล้วแต่ความรักความประสงค์ไม่ควรจะเกรงใจใคร เพราะทรัพย์สมบัติของท่าน คนอื่นจะล่วงมาพูดไม่ได้ ซึ่งทรงเตือนมาทั้งนี้ใช่จะเป็นทางราชการบังคับบัญชาหรือแนะนำโดยเห็นแก่ผู้ใดนั้นหาไม่ เตือนโดยความรักหมายจะให้ความสุขแก่วงศ์ตระกูลท่านให้เจริญต่อไป ถ้าสงสัยข้อใดจะเสด็จไปเยี่ยมวันแรม ๑ ค่ำ จึงจะชี้แจงให้ตลอด พระราชทานไปให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ไปให้ ท้าวแพมาทูลว่า สมเด็จเจ้าพระยาจะขอไปตรวจคลองนครเนื่องเขตต์
รับหนังสือหมอดีนขอบพระเดชพระคุณที่พระราชทานรถ ทรงบาญแผนกวันนี้ฉะบับ ๑ จีนฮะพูน จีนเพงไหล จีนซนเกง จีนเต็งตัวอากร จีนฟุ้งประกัน ทำสุราเมืองสมุทรสงคราม ราชบุรี กาญจนบุรี เดิม ๕๓๑ ชั่ง ประมูล ๑๙ ชั่ง รวม ๕๕๐ ชั่ง บ่อนเบี้ยเมืองสมุทรสงคราม เดิม ๑๙๒ ชั่ง ประมูล ๒๕ ชั่ง รวม ๒๑๗ ชั่ง เมืองราชบุรี เดิม ๒๐๑ ชั่ง ประมูล ๒๖ ชั่ง รวม ๒๒๗ ชั่ง เมืองกาญจนบุรี เดิม ๓๕ ชั่ง ประมูล ๖ ชั่ง รวม ๔๑ ชั่ง รวมเดม ๙๕๙ ชั่ง ประมูล ๑๖ ชั่ง รวม ๑,๐๓๕ ชั่ง รายหนึ่ง จีนฮีซุนตัวอากร จีนซุประกัน บ่อนเบี้ยเมืองพิชัย เมืองอุตรดิตถ์เดิม ๒๘ ชั่ง ประมูล ๑๕ ชั่ง รวม ๔๓ ชั่ง รวมเดิม ๙๘๗ ชั่ง ประมูล ๙๑ ชั่ง รวม ๑๐๗๘ ชั่ง ที่ ๑
วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
รับหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ว่าด้วยได้ไป
วันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
วันนี้ไม่มีราชการอะไร
วันอังคาร แรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์มาเฝ้า พาพระยาดำรงราชพลขันธ์กับลิชลิวเอาแผนที่ซึ่งจะขุดคลองแต่ปลายคลองพระโขนงถึงปลายคลองบางพระแขวงเมืองฉะเชิงเทรามาถวาย และถวายริโปดพระยาดำรงราชพลขันธ์ ว่าด้วยการที่จะขุดคลองเป็นทาง ๑,๐๐๐ เส้น คิดราคาจ้างจีนขุดเส้นละ ๑๕ ตำลึง รวมเงิน ๕๖๐ ชั่ง ๕ ตำลึง แต่ราษฎรมาลงชื่อจองที่นาไว้แล้ว ๙๔ ชื่อ คิดเป็นเนื้อนา ๑๐,๑๒๐ ไร่เป็นเงิน ๑๘๙ ชั่ง ๑๕ ตำลึง คงจะต้องเบิกเงินหลวง ๕๖๐ ชั่ง ๕ ตำลึง ราษฎรยังมาลงชื่ออยู่ ถ้าได้จำนวนเท่าใดจึงยืมครั้งหลัง อนึ่ง แต่ปลายคลองบางเหี้ยหรือปลายคลองศีร์ษะตะเข้ เดิมว่าจะขอขุดคลองตรงมาทะลุคลองแสนแสบ จะแก้ไม่ให้คลองขุดใหม่เป็นน้ำชลนั้น ได้ไปพิเคราะห์ดูเห็นว่า คลองที่ขุดใหม่ปลายคลองนั้นกว้างใหญ่ขึ้นมาเป็นลำมากตลอดถึงลำปะทิว ลาดบัว ซึ่งเป็นลำลงไปจากคลองแสนแสบตลอดถึงกัน จึงคิดว่าถ้าขุดคลองแต่ปลายคลองบางพระโขนงถึงปลายคลองศีร์ษะตะเข้แล้ว เมื่อถึงฤดูฝนจะขอแรงราษฎรให้ไล่กระบือฝูงลุยย่ำคลองศีร์ษะตะเข้ลงไปให้ลึกจงได้ เห็นจะไม่ต้องเสียเงินมาก ถ้าจะต้องขุดบ้างก็ที่คดอ้อม อนึ่ง ราษฎรลงชื่อจองนาออกเงินช่วยนั้น ถ้าถึงเวลาปักไม้หมายกรุยขุดคลอง ราษฎรเอาเงินมาชำระจะขอแจกโฉนดพิมพ์ไปวันนั้นอีกประการหนึ่ง ในแขวงเมืองนครเขื่อนขันธ์ที่ดินรกร้างว่างเปล่าก็มีบ้าง ถ้าข้าหลวงกรมนา กรมการ กำนัน พิจารณาได้ความจริงว่าที่ตำบลนั้นรกร้างว่างเปล่าก็ดี เจ้าของทิ้งไว้พ้น ๓ ปีก็ดี ถ้ามีผู้นำไปรางวัดจะขอตัดสินเป็นพับแก่เจ้าของตามพระราชบัญญัติ และยกที่ทำโฉนดให้ต่อไป แล้วทำแบบโฉนดมา ๒ ฉะบับด้วยคัดสำเนาไว้ แล้วทูลว่าใบริสิตตอบราชทูตสเปญ แล้วได้พูดเรื่องตองซูไม่มีหนังสือสำหรับตัว มิสนอกซ์ว่าให้จับตัวมาส่ง แล้วพูดเรื่องสุราลายเซ็นว่าได้มีหนังสือขอต่อคอเวอนเมนต์แล้ว แต่กงซุลทั้งปวงว่าถ้าชาติใดยอมจะยอม คิดว่าจะขอจัดด้วย เห็นว่าอำนาจแผ่นดินที่จะจัดการบ้านเมืองได้ แต่ท่านจะเห็นอย่างไร มิสนอกซ์เห็นด้วย ราชทูตสเปญก็เห็นด้วย กับได้ร่างหนังสือถึงมิสนอกซ์ ด้วยจะจับตองซูไม่มีหนังสือ ให้เป็นการมีหนังสือต่อกันไม่ให้เป็นพูดปากเปล่า ส่งตัวมองอินตะไป แต่หนังสือนั้นว่าฉะเพาะแต่เพ็ชร์บุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ขอให้แก้ใหม่ ให้ว่าหัวเมืองรวมกันหมดเสียด้วย แล้วจะร่างออกประกาศให้มารับลายเซ็นขายสุรากำหนดเดือนหนึ่งจะจับ
ท้าวราชกิจถวายสำเนาเครเดนแชนและคำสปิชของราชทูตชื่อดองกาลสอันตเนียว เด เอส มันยา สอดคำพระบรมโองการทรงสปิชตอบไว้ด้วย
มิสเตอร์แลตรัมเฝ้า มิสเตอร์กูลเป็นล่าม มีกรมท่ามาด้วย แล้วพระราชทานพระบรมรูปแคบบิเนตพระรูปหนึ่ง
เสด็จไปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เปลื้องเครื่องพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต ทอดพระเนตรเห็นกงซุลฝรั่งเศส มิสเตอร์แลตรัม มิสเตอร์กูล อยู่ที่สนามหญ้าหน้าโรงทหารที่พระองค์เจ้ากาพย์ โปรดเกล้า ฯ ให้เข้าไปในพระอุโบสถด้วย ตรัสกับกงซุลฝรั่งเศสนิดหน่อย เสด็จทรงเปลื้องเครื่องพระแก้ว แล้วเสด็จกลับไปลงเรือพระที่นั่งเก๋งเสด็จบ้านเจ้าพระยาภูธราภัย เยี่ยมไข้ ทรงด้วยเรื่องให้จัดมรดก และรับสั่งว่าส่วนเงินที่ถวาย ๓๐๐ ชั่งนั้นให้เอาแจกบุตรอีก เงินนี้ทรงพระราชดำริไว้มิใช่จะเอาไปใช้สอยจะช่วยทำนุบำรุงการที่เจ้าพระยาภูธราภัยได้ทำไว้ มีสะพานที่ค้างหรือทำถนนเป็นต้น ให้เป็นชื่อเสียงของท่านต่อไป
แล้วท่านทูลด้วยเรื่องมิสนอกซ์มีหนังสือมาถึงท่านด้วยเรื่องป่าไม้เมืองน่านซึ่งจะเอาชื่อท่านตอบ ท่านขอพระราชทานให้ยกเสียเพราะท่านไม่ทราบการตลอด ทรงว่าไม่สำคัญอะไร แล้วเสด็จกลับมาข้างนอก ตรัสกับพระยาอภัยรณฤทธิ์ ท้าวโหมด แล้วมาตรัสด้วยขุนนาง แล้วเสด็จกลับ
วันพุธ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
รับคำโทรเลขฉะบับ ๑ ว่า วังหน้าลงไปเมืองสมุทรปราการ กับเรือเข้ามาลำ ๑ เรือออก ๒ คำ
พระโทรเลขกับมิสเตอร์อาลบาศเตอนำริโปดมิสเตอร์อาลบาศเตอยื่นเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์มาถวาย ว่าด้วยทำสายโทรเลขไปบางปอิน เป็นทางสายโทรเลข ๑,๔๒๐ เส้น เป็นเสา ๗๒๑ เสา แต่แกคิดว่าจะปักเสาห่างคลองเปรมประชากรประมาณ ๕-๖ วา เผื่อกันคลองจะเป็นถนน ถ้าไม่ใช้เป็นถนน จะปักห่าง ๖ ศอก หรือ ๘ ศอก ก็ได้ หรือถ้าจะทำแต่ถนนคนเดินก็ได้ ถ้าจะทำต้องทำเสียในขณะนี้ ด้วยเรือนคนตั้งริมคลองมีอยู่บ้าง ถ้าช้าไปจะเป็นการเดือดร้อนกับราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนมาก ถ้าจะไม่มีถนนเลยจะรักษาโทรเลขยาก ประการหนึ่ง คันคลองนี้คนก็เดินมาก ถ้าจะทำถนนแล้วจะต้องมีสะพานใหญ่ ๔ แห่ง คือคลองบางลำภูหรือมหานาค ตามแต่ที่จะทำแห่ง ๑ สะพานข้ามคลองผดุงริมวัดโสมนัสวิหารแห่ง ๑ คลองบางหลวงเชียงราก ๑ คลองหลังวังบางปอิน ๑ สะพานขนาดกลาง ๗ ที่ คลองสามเสน ๑ คลองบางซื่อ ๑ คลอง บางเขน ๑ คลองบางหลวงป่า ๑ คลองเชียงรากน้อย ๑ คลองลาดพร้าว ๑ คลองวัว ๑ กับว่าด้วยเสาควรจะใช้เสาดีสักหน่อยในกรุงเทพ ฯ ต่อบางซื่อไปใช้เสาทุบเปลือกก็ได้
และพระโทรเลขถวายคำแปลอินวอย ค่าเครื่องโทรเลขบางปอิน เป็นเงิน ๕๕๘ ปอนด์ ๓ ชิงลิง ๖ เปนนี
พระยาภาษกรวงศ์นำหนังสือเคานต์รูดอลโฟปาสตี เป็นโนเบอลแมนชาวอิตาเลียน จะขอเป็นกงซุลสยามเมืองอิตาลี แล้วถวายเครื่องโต๊ะเป็นพระรูปชูเรนส่งมากินเพียง ๑๒ คน กับขวดปักดอกไม้เป็นพระรูปอีก ๖ คู่ แต่พระยาภาษรับพระราชทานไว้เสียคู่ ๑ พระยาสมุทรบุรานุรักษ์มาเฝ้าด้วย และที่วัดอุภัยราชบำรุงวันนี้ทิ้งกระจาด แต่ว่าเดิมจะเสด็จแล้วไม่ได้เสด็จ ให้พระองค์สวัสดิโสภณไปทิ้งสลาก พระยาโชฎึกจัดเข้ามาถวาย ๕๐ ผล คงทิ้ง ๓๕๐ ผล กับของไทยทานองค์สวัสดิโสภณถวายด้วย
พระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาสุรวงศ์เรื่องริโปดพระยานครเขื่อนขันธ์ทำมายื่น ซึ่งจะขุดคลองแต่ปลายคลองพระโขนงถึงปลายคลองบางพระ แขวงฉะเชิงเทรานั้น เห็นว่าถ้าขุดขึ้นก็จะมีประโยชน์ราษฎรจะได้ทำนามากขึ้น ยอมให้ขุดในต้นฤดูฝนนี้ เงินซึ่งจะใช้นั้นให้เบิกคลังทั้งจำนวนให้มีแซงชั่นตามธรรมเนียม ส่วนเงินราษฎรจะช่วยในการขุดคลองนั้น แจกใบจองไปเมื่อไร ให้พระยานครเขื่อนขันธ์เก็บเงินแก่ราษฎรตามพิกัดส่งคลังทุกคราว ราษฎรจองนาจนตลอด ถ้าที่เหลือทุนหลวงก็ยังติดอยู่ในคลอง กว่าจะมีผู้มาจับจองจึงเก็บเงินส่งต่อไป การที่แจกใบจองและส่งเงินนี้ กรมการต้องพร้อมกับกรมนา ๑ ข้าหลวงผู้ขุดคลอง ๑ เป็น ๓ นายด้วยกันเป็นผู้แจกใบจอง ส่งเงินจนครบจำนวนเหมือนคลองใหม่นี้จะเกี่ยวเข้าในแขวงฉะเชิงเทราเท่าใด ราษฎรมาจองนาต้องให้พระยานครเขื่อนขันธ์ซึ่งเป็นนายงานขุดคลองพร้อมด้วยกรมนาและกรมการเมืองฉะเชิงเทราแจกใบจองและเก็บเงินส่งคลังบาญชีจะได้ไม่ไขว้และรู้จำนวนเงินเสีย เงินได้ จบตลอดคลอง อนึ่ง ในริโปดนั้นว่าราษฎรนั้นได้ลงชื่อไว้ ๙๔ ชื่อ คิดเป็นนา ๑๐,๑๒๐ ไร่ เงิน ๑๘๙ ชั่ง ๑๕ ตำลึง นั้น เขาคิดแบ่งส่วนให้ราษฎรคนละกี่มากน้อยและไร่ละกี่มากน้อย ยังหาได้นำบาญชีคนกะราคามายื่นตามหมายประกาศไม่ ซึ่งให้ยื่นนี้เพราะประสงค์จะได้รู้ว่าคลองที่ขุดไปจะมีประโยชน์เป็นที่ชอบใจราษฎรหรือไม่ ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์อยู่ ถึงโดยได้เงินคืนเพียง ๒ ส่วนยังต้องออกเงินอีก ๕ ส่วนก็ลงมือขุดได้ แต่ที่ว่านี้จะให้เป็นแบบไว้กับคลองอื่นๆ ต่อไป ถ้าลงมือขุดเมื่อใดให้ท่านบังคับ พระยานครเขื่อนขันธ์ทำบาญชีมายื่นโฉนดพิมพ์ที่จะแจกนั้น จะแจกเมื่อปักไม้หมายกรุยหรือเมื่อไรก็ได้ทุกเวลา อนึ่ง ร่างโฉนด ร่างที่ส่งเข้ามา ๒ ฉะบับ ฉะบับที่ราษฎรออกช่วยเงินขุดคลองดีแล้ว แต่อีกฉะบับ ๑ นั้นสงสัยอยู่ ถ้าที่นาทิ้งรกว้างมากว่า ๓ ปี คิดตั้งแต่ลงมือขุดคลองนี้ขึ้นไปที่นั้นต้องตกเป็นที่เปล่าถ้าจองต้องเสียเงิน ถ้าที่ยังทำอยู่ไม่ได้ร้างถึง ๓ ปีขุดไปในที่นั้นหรือที่จองใหม่ในครั้งนี้พ้น ๕ ปีไปแล้ว เจ้าของนาไม่ได้ทำเต็มภูมิ ผู้อื่นจะมาจับจองใหม่ หรือถ้าที่ตำบลอื่นๆ นอกจากริมคลองนี้ที่รกร้างว่างเปล่ามาเกิน พระราชบัญญัติ กรมนาจะทำใบจองให้ผู้อื่นทำไป ๓ อย่างนี้ไม่ต้องเสียค่าขุดคลอง ถ้าพระยานครเขื่อนขันธ์เจ้าใจดังนี้ก็เป็นการถูกต้องแล้วให้บังคับไปเถิด
พระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ด้วยได้ปรึกษาพร้อมกันมอบศาลต่างประเทศเมืองเชียงใหม่มาขึ้นศาลต่างประเทศกรุงเทพ ฯ ในกรมท่าข้าหลวงซึ่งจะขอไปว่าการนั้น ต้องเลือกขึ้นตั้งเป็นข้าหลวงออกจากศาลต่างประเทศกรุงเทพ ฯ เมื่อมีถ้อยความขัดข้องประการใดในศาลต่างประเทศ ให้มีใบบอกมายังพระยาเจริญราชไมตรีนำขึ้นเสนอท่านเสนาบดีและทูลให้ทรงทราบ แต่เมืองเชียงใหม่นั้นจะให้คงขึ้นกรมมหาดไทยอยู่ตามเดิม เมื่อจะตั้งข้าหลวงขึ้นไป กรมมหาดไทยต้องศุภอักษรนำถึงเจ้าเชียงใหม่ฉะบับ ๑ การสิ่งใดที่เป็นการในเมืองเชียงใหม่ กรมมหาดไทยเป็นผู้บังคับบัญชา ถ้าเจ้าเชียงใหม่จะมีศุภอักษรต้องส่งเวรมหาดไทย การนี้ต้องจัดตั้งต้นไป แต่ถ้าข้าหลวงที่ ๑ ซึ่งจะขึ้นไปเปลี่ยนพระยาเทพก็ให้รับตราตั้ง คือ ศุภอักษรเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่นี้ขึ้นไปทีเดียว แต่ข้าหลวงที่จะขึ้นไปนั้นไม่ฉะเพาะว่าคนกรมใดๆ เมื่อท่านเสนาบดีเห็นพร้อมกันว่าผู้ใดใช้ได้ก็จะให้ผู้นั้นไป เหมือนดังพระยาเทพที่เมื่อรับการ เดี๋ยวนี้ขอให้ตริตรองการเรื่องนี้ไว้ให้ตลอดก่อน เมื่อความมองใบผันแปรประการใดหรือจะแล้วกันได้ ก็จะหาตัวพระยาเทพลงมาเสียบ้าง แต่ข้าหลวงนั้นต้องให้ไปพบพระยาเทพที่เมืองเชียงใหม่ชี้แจงการเสียให้ตลอด จะได้รักษาธรรมเนียมเรียบร้อยต่อไป
ออกขุนนาง พระนรินทรเสนีทูลบอกพระยาดำรงสุจริตจางวางเมืองระนอง ว่าด้วยเงินค่าตีตราดีบุกและอากรดีบุก และหักเงินค่าใช้สอยในการจีนกำเริบเหลือ แล้วพระยารัตนเศรษฐี จีนซิมเตกผู้น้องมาเฝ้า ถวายหีบกาหลั่ยประดับเพ็ชร์ทับทิม ๑ โคมน้ำมันเปโตรเลียมตั้งคู่ ๑ ปืนแฝดห้องยวนแปลนแอนซวนปัสตัน ๑ น้ำหอมฝรั่ง ๓๖ ขวด พิมเสนหนัก ๑ ชั่ง บุหรี่ฝรั่ง ๔ หีบ ผ้าแดงเทศ ๒๐ พับ
พระยาพิพัฒน์ทูลบอกเมืองระยองขอเปลี่ยนปืนสำหรับเมืองชำรุดและเบิกกระสุน แล้วทูลด้วยกงซุลเยอรมันบอกมาว่าพรุ่งนี้จะทำการเฉลิมพระชนมพรรษาเอมเปรอที่บ้าน โปรดเกล้า ฯ ให้พระองค์เจ้ากาพย์ไปประทานพร แล้วรับสั่งให้ถามเจ้าพระยาภาณุวงศ์ด้วยจะจัดทหารม้าไปรับราชทูตด้วยหรือไม่ แต่ที่เป็นทหารมหาดเล็กนั้นอยู่ข้างเกินไป แต่เป็นธรรมเนียมเมื่อราชทูตโปรตุเกศเสียแล้ว จะทำอย่างไรได้
วันพฤหัสบดี แรม ๓ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
พระศิรสมบัตินำหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์มาถวายว่าด้วยทหารม้าที่ไปรับราชทูตนั้น ว่าการเรื่องนี้ได้ลงเป็นธรรมเนียมเสียแล้ว ครั้นจะเลิกถอนเสีย ถ้ามีใครไปยุยงขึ้นก็จะเป็นที่น่าเกลียด กับคอเวอนเมนต์แล้วยากที่จะโต้ด้วย รับราชทูตโปรตุเกศในเร็วนี้ การที่ให้ทหารมหาดเล็กไปนี้ก็เป็นการเกินไป คิดว่ายกทหารมหาดเล็กเสียใช้ทหารหน้ากีได้ แต่ราชบุรีก็ใช้ม้าไทย เพิ่งมีม้าเทศต่อเมื่อราชทูตลา ถ้าม้าทหารหน้าลงไปรับ พอให้มีม้านำ ๔ ม้าก็เห็นจะเรียบร้อยได้
รับโทรเลข ๒ ฉะบับ วังหน้ากลับฉะบับ ๑ เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ลงไปปากน้ำในเรือบางกอกแล้วจะไปอ่างศิลาฉะบับ ๑
พระยาโชฎึกเฝ้า จดหมายรายการฉลองวัดอุภัยราชบำรุงทูลเกล้า ฯ ถวาย แล้วพาพระครูคณานัมสมณาจารย์มาเฝ้า แห่ถังกวนนิมเหนียมาถวาย พระครูคณานัมสมณาจารย์จดหมายถวายพระราชกุศลฉะบับ ๑
เสด็จออกแขกเมืองพระที่นั่งอนันตสมาคม ราชทูตสเปญเฝ้าถวายพระราชสาสน์เครเดนเชียล ออกใหญ่ มีราชทูต ๑ สิเกตรี ๑ มิสนอกซ์ว่าการแทนกงซุลสเปญ ๑ เมื่อออกแล้ว รับสั่งให้หาแฟนีลูกมิสนอกซ์เข้าไปเฝ้า แล้วทรงพาเที่ยวในพระที่นั่งนงคราญ บรมพิมาน
พระยาอภัยรณฤทธิ์เฝ้าถวายหนังสือเจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายกว่าด้วยทรัพย์มรดกทูลเกล้า ฯ ถวาย และแจกลูกหลาน ๗๐๐ ถวายทองคำหนัก ๓ ชั่ง เงิน ๓๐๐ ชั่ง เรือกลไฟลำ ๑ ราคา ๑๖๐ ชั่ง ตรารูปราชสีห์ ๑ ราคา ๑๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึง หีบประดับเพ็ชร์ราคา ๓๐ ชั่ง รถใหญ่ ๑ ม้าเทศ ๑ ราคา ๒๕ ชั่ง ของนอกนั้นแบ่งไว้ทำบุญให้ทาน ๑๕๐ ชั่ง ให้บุตรยังไม่ได้ส่วนแจก ๘ คน คน ๑ เงิน ๒๐ ชั่ง ทอง ๒ ตำลึง ๒ บาท รวมเป็นเงิน ๑๖๐ ชั่ง ทอง ๑ ชั่ง บุตรหลานที่ได้แจกเงินให้แต่ก่อนแล้วจะแจกเพิ่มเติมให้อีกครั้งนี้นั้น ได้ทำบาญชีของแบ่งปันเซ็นชื่อท่านในท้ายหนังสือบาญชี มอบให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ฉะบับ ๑ ท้าวโหมดฉะบับ ๑ มีรายละเอียดอยู่แล้ว ผ้านุ่งห่มให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ท้าวโหมดแจกพี่น้องตามสมควร ของนอกนั้นควรจะทำบุญให้ทำ เหลือนั้นให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ไว้ใช้สอยที่บ้าน แต่เงินลูกหนี้นั้นได้มากน้อยเท่าใดให้แจกกับเด็กตามควร เหลือจะแจกให้ผู้ใดสุดแต่พระยาอภัยรณฤทธิ์ ถ้าท่านตายแล้วขอให้แบ่งตามนี้ ขอพระราชทานได้ทรงพระกรูณาโปรดเกล้า ฯ แก่วงศ์ตระกูลท่านให้จงมาก โดยได้ทำราชการมา ๔ แผ่นดินแล้ว กับบาญชีท่านเซ็นชื่อแบ่งปันของส่วนพระยาอภัยรณฤทธิ์ถือผูกติดมาด้วยฉะบับ ๑
ส่งเงินพระราชทานกรมนเรศไปใช้ค่าของฉะบับ ๑ เงิน ๘๗ ชั่ง เป็นค่าแหวนเพ็ชร์ ๔ วง ราคา ๓๐ ชั่ง สายนาฬิกา ๒ สาย เงิน ๒๓ ชั่ง ตุ้มหูระย้าคู่ ๑ เงิน ๔ ชั่ง หีบเครื่องแต่งตัว ๖ หีบ เงิน ๓๐ ชั่ง
พระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ว่าด้วยเคานต์รูดอลโฟปาสตี ซึ่งมีหนังสือมาขอเป็นกงซุลอิตาลีนั้น ว่าได้ส่งของและเตือนเข้ามาหลายครั้งจนถึงครั้งนี้ ทรงเห็นว่าที่เมืองอิตาลีก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเมืองเราจึงรออยู่ บัดนี้เห็นว่าเขาเตือนมาอยากเป็นมาก ถ้าจะให้ก็ไม่ต้องเสียเงินเดือนและค่าอะไรเหมือนกงซุลเมืองปารีส เมืองลอนดอน ตั้งไว้เหมือนหนึ่งกงซุลเมืองลิสบอนเมืองเบอลิน เมื่อมีธุระสิ่งใดจะได้ใช้บ้าง พอให้ฟอเรนออฟฟิศที่กรุงเทพ ฯ ได้กว้างขวาง ตัวเขาก็เป็นคนดีไม่ขัดสน เขาได้รับเป็นกงซุลเมืองเบรซิลอยู่ที่เมืองฟลอเรนซด้วย จะพระราชทานตราตั้งขอให้กรมท่ามีหนังสือนำตามธรรมเนียม
พระองค์เจ้าประภัสสรถวายเรื่องราวว่าด้วยที่ของท่านมีผู้ปลูกเรือนไปอยู่ถึง ๓๐ ปี เขาลงเสาไม้แก่น แล้วมีผู้ตัดสินว่าเป็นสิทธิ์กับผู้อาศัย ที่จริงที่ของท่านจริงๆ ขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง (แต่เรื่องนี้ทรงเห็นว่าจะแพ้เขา แต่ท่านไม่ทราบกฎหมายก็เถียงไปกระนั้น ครั้นจะไม่ให้ตรวจให้ก็จะเสียพระหัย ด้วยท่านทรงพระกรรแสงมาก โปรดเกล้า ฯ ให้กรมหมื่นพิชิตไปตรวจ ถ้าเห็นว่าแพ้เขา จะซื้อพระราชทาน)
วันศุกร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
ออกขุนนาง พระยาศรีสิงหเทพอ่านบอกเมืองสุพรรณฉะบับ ๑ ว่าด้วยจับกระบือตองซู ไม่มีหนังสือเดินทางสำหรับตัวกระบือ ๘๘ ตัว กับอ่านบอกเมืองฉะเชิงเทรา เรื่องมิสเตอร์ชูเรฝรั่งเศสต้อนโค ๓๐๐ ลงมา ที่ไม่มีหนังสือเดินทางและหนังสือสำคัญสำหรับตัวซึ่งยึดไว้นั้นมีโคหลวงปนมาด้วย
พระศรีเสนาถวายเรื่องราวฉะบับ ๑ ว่าด้วยที่บ้านของบิดาของตัวมีเรือนนอนหลัง ๑ หอนั่งหลัง ๑ ครัวไฟหลังหลัง ๑ จมื่นประทานมณเฑียรทัดขึ้นไปจากบ้าน พระยาประมวญบิดาภรรยาอาศัยอยู่ที่หอนั่งบิดาเขา ครั้นบิดาเขาถึงแก่กรรมลง จมื่นประทานมณเฑียรครอบครองอยู่ทั้งสิ้น ครั้นเมื่อเตือน ๓ ปีระกาตัวเขาเข้ามาในวัง จมื่นประทานมณเฑียรกับอิ่มภรรยาพากันไปยกของและหนังสือที่แจ่มทำขายที่ให้บิดาและตัวเขาไปฉะบับ ๑ เขาเห็นว่าเป็นพี่น้องกันจึงไม่ว่ากล่าว ครั้นปีจอตัวเขาไปราชการเมืองพิชัยถึง ๓ ปีเศษ อิ่มทุบตีวิวาทบ่าวเขา ครั้นจะให้อิ่มอยู่ต่อไปเมื่อมีราชการมาเขาไม่ได้อยู่บ้าน อิ่มก็จะทำการวิวาทขึ้น ทรัพย์มรดกบิดาเขาที่จมื่นประทานมณเฑียรเอาไปเขาไม่รับพระราชทาน จะขอรับพระราชทานแต่ที่บ้านเรือนกับที่โรงกงสีตลาดพลูในคลองบางหลวง ซึ่งบิดาเขากับเขาซื้อแจ่มไว้
มีพระราชหัตถ์ถึงพระยาราชรองเมืองให้จัดอำเภอไปทำแผนที่บ้านพระยาศรีสิงหเทพที่ถึงอาสัญญกรรม และบ้านพระศรีเสนาที่อยู่ติดต่อกันให้ได้คงเส้นคงวามาจงแน่นอน
มีถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ว่าด้วยบัดนี้เจ้าพระยาภูธราภัยป่วยมาก ท่านขอหยุดราชการ กงซุลอังกฤษมีหนังสือมาถึงท่านจะให้ท่านตอบ ท่านก็ไม่ยอมว่าไม่ทราบการ ได้ส่งหนังสือนั้นถวายมาที่สมเด็จกรมพระแล้ว เพราะดังนั้น ทรงเห็นว่าราชการในกรมมหาดไทยก็มีอยู่เสมอไม่ขาด กงซุลต่างประเทศมีหนังสือขึ้นมาถึงท่านก็ซัดโยนกันไปมาเสียราชการไป เมื่อเจ้าพระยาภูธราภัยเป็นที่สมุหนายก ทูลกระหม่อมก็ได้โปรดให้มีประกาศกงซุลทั้งปวงทราบทั่วกัน บัดนี้ท่านขอออกจากราชการเพราะป่วยหนัก จึงได้มอบราชการในกรมมหาดไทยถวายสมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์ทรงบังคับแทนเจ้าพระยาภูธราภัย ขอให้ท่านมีหนังสือแจ้งความกงซุลต่างประเทศให้ทราบทั่วกัน เมื่อมีราชการเกี่ยวข้องในกรมมหาดไทยจะให้ไปมาถูกต้องราชการ
รับหนังสือมองซิเออคารเนียกงซุลฝรั่งเศสคนเก่า ซึ่งไปเป็นกงซุลเยเนราลฝรั่งเศสที่บัตเตเวียบอกทุกข์สุขและคิดถึง ถวายพระพรให้ทรงพระเจริญให้มาก
สมเด็จกรมพระถวายเรื่องราวพระนรินทร ซึ่งมาขึ้นเงินอากรสุราเมืองนครชัยศรีอีกปีละ ๑๐ ชั่ง กับเรื่องราวจีนทองอยู่ขอทำสุราเมืองนครชัยศรีปีละ ๒๕๐ ชั่ง ฉะบับขอสุราเมืองสุพรรณประมูล ๑ ชั่ง ๕ ตำลึง กับบ่อนเบี้ยเมืองนครชัยศรี สมุทรสาครด้วยจะรับทำสุราฉะบับ ๑ เรื่องราวจีนแสงขอทำสุรานครชัยศรี เงิน ๒๒๐ ชั่ง ฉะบับ ๑
มีพระราชหัตถ์ถึงพระยาเทพประชุน ตอบหนังสือที่มีมาลงวันอังคาร แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ ฉะบับ ๑ ลงวันพุธ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ ฉะบับ ๑ นำเบอร์ ๘ ฉะบับ ๑ นำเบอร์ ๓ สองฉะบับ มีความว่า เรื่องมองใบ ซึ่งพระยาเทพส่งต้นหนังสือมองไบถึงพระยาสิงหนาทลงมาพร้อมด้วยบอกอื่นๆ หลายฉะบับความมาก ไม่มีเสนาบดีจะฟังจนความเกือบศูนย์เสียหมด จึงได้ทรงคุ้ยเขี่ยให้สมเด็จกรมพระบังคับพระยาจ่าแสนยคัดความให้สั้นเข้าจนได้ความสว่างตลอด จึงได้ปรึกษาตกลงเห็นตลอด มีหนังสือถึงมิสนอกซ์ ๆ เขาตอบมาดังคัดให้หลวงสิงหฬถือมานั้นแล้ว ในบอกครั้งนี้เป็นที่ชอบใจด้วยกันมาก แต่ปรึกษาเจ้าพระยาสุรวงศ์มีความวิตกอยู่อีกหน่อยหนึ่ง กลัวว่าการที่จะให้เรียกประกันทานบนลูกจ้างนั้นเขาจะไม่ยอมทำตามเพราะถูกจ้างนับร้อยพัน ถ้าการเรื่องนี้คลาดไปไม่สำเร็จ เห็นว่าควรจะตั้งโปลิศที่ท่าเรือจ้างตรวจคนเข้าออกให้แข็งแรง ถ้าผู้ที่จะเข้ามาทำป่าไม้ที่เมืองเชียงใหม่ ลูกจ้างมากน้อยเท่าใด ต้องยื่นหนังสือสำหรับตัวที่เมืองยอม แล้วเจ้าเมืองยอมทำหนังสือเปลี่ยนให้ใหม่ฉะบับ ๑ หนังสือเดิมนั้นยึดไว้แล้วปล่อยเข้ามา เวลากลับไปจึงให้คืนหนังสือเมืองยอมรับหนังสือเดิมกลับออกไป ในเวลาเมื่อเปลี่ยนให้หนังสือนี้ต้องตรวจตัวลูกจ้างให้กวดขัน ก็ะเป็นการป้องกันไปได้อย่างหนึ่ง อนึ่ง ซึ่งพระยาเทพเห็นว่าควรจะมอบศาลต่างประเทศให้กรมท่าจัดนั้น ได้ปรึกษาตกลงพร้อมกัน มีพระราชหัตถ์บังคับกรมท่าไปดังคัดมานี้ ข้อ ๑ การซึ่งจะไปตั้งเมืองเชียงแสนนั้นเป็นการใหญ่หลวงอยู่ ถ้าพลาดพลั้งไป จะเสียเกียรติยศ การที่จะส่งปืนและมีข้าหลวงขึ้นไปอีกนั้น ของดไว้ก่อน ข้อ ๑ ที่จะตั้งไวซ์กงซุลเมืองเชียงใหม่นั้น ปรึกษาเห็นพร้อมกันว่าจะขัดขวางเขาไปไม่ได้ ด้วยเขามีความปรารถนามาหลายครั้งแล้ว แต่บัดนี้ยังง้างอยู่ด้วยสัญญาอินเดียยังหาสิ้นคำโต้ตอบกันไม่ จึงยังไม่ได้ข้อความที่จะบอกขึ้นมา ข้อความเรื่องแสนพันบุงนั้น พระยาเทพยาหาควรจะบอกส่งตัวมันลงมาไม่ น่ากลัวจะเกิดใหญ่ ฝ่ายจีนเต้าซึ่งถือหนังสือขึ้นไปก็มีความชอบอยู่จึงตั้งเป็นหลวงภาษีวิเศษ แต่เป็นคนพูดมากเกือบชักให้เกิดความขึ้นเรื่องพูดกัน แสนพันบุง หลวงสิงหฬทราบอยู่แล้วรอดไปเป็นดี อนึ่ง ข้าหลวงที่ ๒ ไม่มี พระยาเทพจะขอเบิกเงินเดือนละ ๓๐๐ รูเปียนั้นตามเถด สะพานข้ามแม่น้ำเมืองเชียงใหม่ซึ่งส่งใบบอกลงมา หลวงสิงหฬได้ทำแบบมาให้ดู ก็เห็นมั่นคงดี ถ้าทำได้ก็จะเป็นเกียรติยศชอบแล้ว วันนี้ไม่ออกขุนนาง กงซุลฝรั่งเศสเฝ้า พระราชทานตราวิจิตราภรณ์ฝากไปให้ที่ ๒ กงซุล กงซุลพามองซิเออมอนเบลมาเฝ้าด้วย แต่วันนี้ได้พระราชทานไปแต่ดิโปลมา ตราสั่งไม่ทัน ต่อรุ่งขึ้นได้ให้กรมท่าเอาไปส่ง
วันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
จมื่นวิชัยเดชายุทธเดชาคนี ถวายจดหมายว่าด้วยจะขอซื้อฟืนน้ำมันมะพร้าวจ่ายใช้ราชการในทหารหน้าต่อไป ในปีหน้าไม่เบิกเพราะเห็นว่าราคาหลวงแพงนัก เสียเปรียบจะขอซื้อตามราคาขึ้นลงในตลาด ด้วยน้ำมันหลวงจ่ายเดือนหนึ่งน้ำมัน ๙๙๕ ทะนาน ฟืนแสมเดือนละ ๑๔๓,๙๘๐ ดุ้น
พระอินทรเทพจดหมายถวายว่าด้วยอ้ายพาซัดอ้ายสุกเสือสมิงอ้ายกล่ำยังสืบจับอยู่ได้แต่ตัวจำนำ และมีพระราชหัตถ์ถึงสมเด็จกรมพระสั่งให้เพิ่มเงินปี กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมเกษตราธิการขึ้นในปีอธิกมาศอีกเดือนหนึ่งตามที่ได้ทำการเสมอ ให้ตั้งแต่เสมียนใหญ่และรอง ๆ ลงไปถึงคนเลว แต่เจ้าพนักงานใหญ่รอง จนถึงเจ้าพนักงาน เจ้าจำนวน ไม่ต้องให้เพราะยกเป็นเงินเบี้ยหวัด เคาน์ซิลก็ไม่ต้องให้เหมือนกันเพราะเป็นเงินปี (ฉะบับนี้อัดไว้ที่ออฟฟิศหลวง)
พระราชหัตถ์ถึงพระองค์เจ้ากาพย์ สั่งให้เบิกเงินเดือนมิสไปเยอรเดือนละ ๑๒๐ เหรียญ ให้ตั้งเบิกเงินแต่เดือนอ้ายมา แล้วให้เบิกให้พร้อมกับมิสเตอร์อาลบาศเตอทีเดียว
จีนเก๊าข้าหลวงเดิมอยู่เมืองจันทบุรีพาบุตรมาเฝ้า ถวายของต่าง ๆ พระราชทานเสื้ออัตตลัด บุตรพระราชทานเสื้อสักหลาดแล้วทรงหนังสือสำคัญ ให้จ่ายวดไปเอาเงินมาพระราชทาน ๑ ชั่ง
ออกขุนนาง พระยาศรีทูลบอกเมืองกำแพงเพ็ชร์ว่า นายพรหม นายสิน นายศร กับผู้มีชื่อ ๗ คน ไปเที่ยวป่าพบช้างตายในป่าแม่วงตัดงามาเห็นประหลาด เจ้าเมืองกรมการส่งของลงมานำทูลเกล้า ฯ ถวาย งานั้นใหญ่ยาว ๓ ศอก ใหญ่รอบ ๑๖ นิ้ว หนัก ๖๐ ชั่งจีน เป็นลายดำริมปลายเป็นสายด่าง กับพระพินิตพนมศกเจ้าเมืองพนมศกลงมาเฝ้าถวายผ้าหางกระรอก รับสั่งให้ไปทูลสมเด็จกรมพระให้พระราชทานรางวัลเสียบ้างตามสมควร พระราชทานริโปดพระยานครเขื่อนขันธ์ให้พระนรินทรไป พระราชทานสัญญาบัตรให้นายรองพิจิตรเป็นจ่าชำนาญทั่วด้าว ๑ นายเล็กบุตรพระยาวรพงศ์เป็นนายรองพลพ่าย หม่อมลบบุตรเจ้าจินดาเป็นนายรองฉัน พระยาราไชยจดหมายถวายทูลด้วยพระยาธรรมจรรยาไม่ประทับฎีกาเบิกเงินให้ตัวประทับ ครั้นจะประทับก็กลัวจะมีความผิด ได้นำความกราบทูลสมเด็จกรมพระ ๆ รับสั่งให้กราบบังคมทูลพระกรุณา โปรดเกล้า ฯ ให้ประทับไปเถิด แต่ให้สมเด็จกรมพระตรวจด้วย
เสด็จออกพระพุทธมณเฑียร ทำบุญวันประสูติพระบรมอัฏฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระสงฆ์วัดพระเชตุพน วัดสระเกศ วัดรัชฎาธิฐาน สวดพระพุทธมนต์ พระโพธิวงศ์เทศนาทักขิณานุปทาน
กรมเจริญจดหมายถวายว่าขอรับพระราชทานเงินธารณะไปทำวัดราชโอรส และขอเบิกเงินค่าของคลังวิมานอากาศซื้อไว้แต่เฉลิมพระชันษาปีนี้ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ยกแซงซั่นเสียนั้น ได้ซื้อไว้แล้ว พระราชอาชญาเป็นล้นเกล้า ฯ กับเตือนเงินทำวังท่านยังค้างอยู่อีก ๖๐ ชั่ง
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากมลาศน์ ถวายตัวอย่างตุ้มหูดอกมะเขือขอน ๑ กับเพ็ชร์ที่ให้ทำไม่ให้ทำ ๓ คู่
วันอาทิตย์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
พระยาเวียงในนฤบาลถวายหนังสือทูลขอมหาดเล็ก ๙ คน เลขสม ๓ รวม ๑๒ คน ของกรมพระเทเวศถวายพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ รับคำโทรเลขเรือเข้ามากรุงเทพ ฯ ลำหนึ่ง
รับหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ว่าเมื่อราชทูตสเปญมาหาว่าอยากจะทราบว่าในกรุงเทพ ฯ มีสินค้าไปมาปีหนึ่งจะมากน้อยเท่าใด แล้วท่านรับว่าจะขอคัดบัญชีต่อเจ้าพนักงานโรงภาษีส่งไปให้ แล้วราชทูตขอพูดไปรเวตว่า ราชทูตคิดว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามยังไม่ได้รับเครื่องอิสสริยยศของสเปญ ถ้าจะต้องพระราชประสงค์ที่จะให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอและพระราชวงศานุวงศ์ หรือข้าราชการผู้หนึ่งผู้ใดรับเครื่องราชอิสสริยยศสเปญแล้ว ราชทูตจะมีความยินดีไปทูลพระเจ้าแผ่นดินสเปญ ๆ คงจะมีความยินดีส่งมาถวายกับพระเจ้าแผ่นดินสเปญได้ทำการอภิเษกในเร็ว ๆ นี้ ยังไม่ได้รับเครื่องราชอิสสริยยศของไทย ถ้าจะส่งไปถวายแล้วเห็นจะดีพระทัยรับไว้โดยยินดีมาก ราชทูตให้นำความขึ้นกราบบังคมทูล ถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แล้ว ราชทูตขอพระราชทานบาญชีชื่อคนที่จะรับนั้น ราชทูตรับฉลองพระเดชพระคุณ กับท่านได้นัดให้ราชทูตเฝ้าไปรเวต เวลาพรุ่งนี้บ่าย ๔ โมง
ออกขุนนาง อ่านบอกเมืองอุทัยธานี ๒ ฉะบับ ฉะบับ ๑ ว่าด้วยส่งหนังสือมิสนอกซ์มีไปปิดด่านมรแมน กับตองซูปล้นสุพรรณ กาญจนบุรี ให้ไปวันจันทร์ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๔ แล้ว ฉะบับ ๑ ว่าตองซูปล้นที่ด่านแม่ลำเมาแขวงอุทัยธานี ได้ไปติดตามทางด่านแม่กลองได้ความแล้วจะบอกมา พระมหาดไทยกรมการเมืองพิชัยมีใบบอกส่งต้นหนังสือเมืองเชียงตุงถึงเมืองน่านมาฉะบับ ๑ ว่า ไม่เลิกการที่ตั้งเมืองเชียงแสน และเจ้าพม่าตั้งเจ้าเมืองเชียงตุงมาใหม่ พระราชทานต้นหนังสือเมืองเชียงแขงถึงพระยาเทพ ๆ ส่งมาวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๓ ให้ไปสืบสอบกับเมืองภูเขียว บอกชราอายุ ๗๐ ขอหลวงสุริยผู้ช่วยเป็นผู้ว่าราชการต่อไป หลวงสุริยลงมาเฝ้าถวายขี้ผึ้งหนักหาบหนึ่ง ตั้งตำแหน่งข้าราชการ ๘ นาย ๑ จีนซิมเต็กเป็นพระจรูญราชโภคากรเมืองหลังสวน ๒ พระภักดีเป็นพระบริรักษ์ปลัดขวาเมืองพิชัย ๓ พระพิพิธเป็นพระศรีพิชัยปลัดซ้ายเมืองพิชัย ๔ พระพิพิธภักดีเป็นพระพิชัยชุมพลมหาดไทย ๕ หลวงพินิตเป็นหลวงวิเศษผู้ช่วย ๖ พระตรอนตรีสินเป็นพระพิศาลเมืองลับแล ๗ นายกลิ่นเป็นพระตรอนตรีสิน ๘ ขุนกำจัดเป็นพระสว่างเมืองฝาง
มืพระราชหัตถ์ถึงสมเด็จกรมพระ ว่าด้วยส่งเรื่องราวพระนรินทรประมูลเงินอากรสุราและเรื่องราว จีนทองอยู่ จีนแสง ขอทำสุราเมืองนครชัยศรีนั้น ทรงพระราชดำริเห็นว่า ซึ่งพระนรินทรคิดทำจะให้เป็นประโยชน์ทั้ง ๒ ภาษีนั้นก็ชอบแล้วแต่เงินยังต่ำอยู่มาก ที่จะสัญญา ๓ ปีนั้นผิดพระราชบัญญัติประการหนึ่ง อนึ่งมีจีนมายื่นเรื่องราวถึง ๒ คน ประมูลเงินสูงกว่าที่พระนรินทร ครั้นจะให้ไปตามเรื่องราวก็เสียพระราชบัญญัติถึง ๓ ข้อ ข้อ ๑ ให้ทำเป็นปีๆ ข้อ ๑ จะไม่ได้ว่าอากร ต้องส่งเรื่องราวให้ผู้ประมูลสูงไป ข้อ ๑ ผู้ประมูลเงินสูงไม่ได้ทำดังนี้ ผู้ซึ่งจะ รับประมูลต่อไปภายหน้าจะท้อถอยไป เพราะพระราชบัญญัติไม่ยั่งยืน เห็นว่าควรจะต้องว่าประมูลกันตามพระราชบัญญัติ
พระราชหัตถ์ฉะบับ ๑ ว่าด้วยเจ้าพระยาภูธราภัยป่วยมาก ขอออกตัวไม่ว่าการในกรมมหาดไทย ทรงพระราชดำริเห็นว่า การในกรมมหาดไทยซึ่งเกี่ยวต่อคนต่างประเทศ และราชการตัวเมืองก็ีมาก จึงได้มีคำสั่งให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์มีหนังสือแจ้งความไปยังกงซุลทุกๆ ประเทศ ว่าทรงมอบราชการกรมมหาดไทยถวายท่านทรงบังคับบัญชาแทนท่านเจ้าพระยาภูธราภัย ถ้ามีราชการสิ่งใดในกรมมหาดไทยขอให้ท่านทรงเห็นแก่การแผ่นดินทรงบังคับบัญชาโต้ตอบไป ให้เป็นการเรียบร้อยสมควรตามพระราชประเพณีแต่ก่อนมา
มีพระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ว่าด้วยพระโทรเลขนำริโปดมิสเตอร์อาลบาศเดอฉะบับ ๑ บาญชีค่าเครื่องสายโทรเลขที่จะไปบางปอินฉะบับ ๑ ทรงพระราชดำริเห็นว่า ทางซึ่งจะวางสายตามมิสเตอร์อาลบาศเตอกะนั้นก็ดีอยู่แล้ว แต่ถนนที่เป็นทางตรวจสายโทรเลขตลอดลำคลองนั้น ถ้าจะทำเป็นทางรถกว้างใหญ่ตามมิสเตอร์อาลบาศเตอคิด ก็กลัวจะไม่มีคนไปมาด้วยรถจะรกร้างเสียเปล่า ถ้าจะทำเป็นทางคนเดินและม้าเดินพอตรวจทางสายโทรเลขก่อนก็เห็นจะพอดีแล้ว เมื่อมิสเตอร์อาลบาศเตอไปตรวจจะทำแผนที่ทางเมืองสระบุรี ควรขุดคลองทำทางจะเป็นประโยชน์แก่ลูกค้าประการใด จึงค่อยคิดทำการต่อไป ครั้งนี้ขอท่านกะการวางสายโทรเลขขึ้นไปเสียให้ตลอด อนึ่งเงินค่าเตลิกราฟซึ่งส่งอินวอยมานั้นท่านสั่งให้พระโทรเลขเบิกเงินเสีย ส่งริโปดกับอินวอยคืนมาด้วยแล้ว
วันจันทร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
พระอินทรเทพ พระเทพผลู จดหมายถวายว่า ณวันอาทิตย์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๔ เวลา ๔ ทุ่ม หมื่นรองจำนงอำเภอท้องที่ราชบุรณะฝั่งใต้มาแจ้งว่า จีนหุ่นเป็นหมื่นพัดลงมาจอดเรือตั้งบ่อนเบี้ยที่บ้านจังร้อนในแขวงกรุงเทพ ฯ ให้ถ้อยคำกฎหมายตราสินว่า วันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๔ เวลาประมาณ ๒ ยามเศษ มีอ้ายผู้ร้ายสัก ๑๗-๑๘ คนปล้นตีเรือนจีนหุ่น ผู้ร้ายตีจีนหุ่นและพวกจีนหุ่นบาดเจ็บหลายแห่ง ผู้ร้ายเก็บทรัพย์สิ่งของไป เพื่อนบ้านช่วยยิงปืนๆ ถูกผู้ร้ายทีหนึ่ง แต่หนีไปได้ ยังสืบเสาะติดตาม และรับคำโทรเลขเรือเข้ามา ๒ ลำ
เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ถวายหนังสือ ว่าด้วยพระดำรงสุจริตจางวางเมืองระนองได้ยื่นเรื่องราว ขอรับพระราชทานทำนุบำรุงอากรดีบุก ค่าตีราคาดีบุกเมืองหลังสวน แต่ขอรวมภาษีฝิ่นตามเดิม ๓๐ ชั่ง อากรสุราตามเดิม ๒๔ ชั่ง บ่อนเบี้ยตามเดิม ๑๑ ชั่ง ค่าน้ำตามเดิม ๘ ชั่ง รวม ๗๓ ชั่ง เข้าในค่าตีตราดีบุกอากรดีบุก จะถวายเงินปีที่ ๑ เดิม ๗๓ ชั่ง ประมูล ๓๕ ชั่ง รวม ๑๐๘ ชั่ง ปีที่ ๒ ประมูลอีก ๕ ชั่ง ปีที่ ๓ อีก ๕ ชั่ง รวม ๑๑๘ ชั่ง พระดำรงสุจริตขอจีนซิมเตกเป็นผู้ว่าราชการเมืองหลังสวน ตามเรื่องราวที่ทูลเกล้า ฯ ถวาย วันอังคาร ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ แจ้งอยู่แล้ว บัดนี้ได้พระราชทานสัญญาบัตรตั้งจีนซิมเต็กเป็นพระจรูญราชโภคากร ผู้ว่าราชการเมืองหลังสวน แล้วจะขอรับพระราชทานแยกฝิ่นในกรมพระกลาโหม ๓๐ ชั่ง สุราบ่อนเบี้ยตามเดิม ค่าน้ำตัดตอนตามประทวน เงิน ๘ ชั่ง รวมคลังมหาสมบัติ ๔๓ ชั่ง รวม ๗๓ ชั่ง มารวมอากรดีบุก ออกตราตั้งกรมพระกลาโหมให้พระจรูญราชโกคากรเข้ารับทำ วันอังคาร ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล ยังเป็นนพศก ให้เหมือนหัวเมืองฝ่ายข้างทะเลตะวันตก
ราชทูตสเปญกับสิเกรตรีเฝ้าไปรเวต กรมท่านำ
ออกขุนนาง พระยาศรีสิงหเทพอ่านตราถึงเมืองอุทัยธานีให้สืบเสาะผู้ร้ายปล้น และตรวจดูหนังสือสำหรับตัวตองซู และนำต้นหนังสือเจ้าเมืองเชียงแขงคืน
จ่ายงนำหนังสือเจ้าปรีดาถวายบอกอาการป่วย และมีพระราชหัตถ์ตอบกงซุลฝรั่งเศสไว้กับหนังสือที่มีมา
เซ็นพระราชหัตถ์ในท้ายหนังสือเจ้าพระยาภูธราภัย และท้ายบาญชีมรดก แจกของซึ่งพระยาอภัยรณฤทธิ์นำมาถวาย วันพฤหัสบดี แรม ๓ ค่ำ เดือน ๔ อยู่ ว่าหนังสือนี้เป็นบาญชี และหนังสือเดิมที่พระยาอภัยรณฤทธิ์นำมาถวายเซ็นพระนามไว้ทั้ง ๒ ฉะบับ แล้วมีพระราชหัตถเลขารอยผนึกกับหนังสือเดิมประทับพระราชลัญจกรครั่งประจำว่า วันพฤหัสบดี แรม ๓ ค่ำ เดือน ๔ ท่านเจ้าพระยาภูธราภัยให้พระยาอภัยรณฤทธิ์นำจดหมายเข้าผนึกมาส่ง ได้เปิดออกอ่านทราบความตามที่ท่านได้จัดทรัพย์สมบัติของท่าน และมีบาญชีติดมาด้วยฉะบับ ๑ มีลายมือท่านเองเป็นสำคัญมาทั้ง ๒ ฉะบับ ควรเชื่อฟังได้ว่าท่านยังไม่หลงใหลเป็นปกติ หนังสือนั้นเป็นความประสงค์ของท่านโดยแท้ ได้ตรวจดูความประสงค์และบาญชีสิ่งของนั้นเห็นว่าเป็นการสมควรถูกต้องแล้ว สืบไปภายหน้าเจ้าพระยาภูธราภัยไม่มีตัวแล้ว ทรัพย์สมบัติซึ่งเป็นตัวเงินและสิ่งของบรรดาที่มีจดหมายอยู่ในบาญชีนี้ ต้องตกอยู่แต่ผู้ที่ได้มีชื่อในรายบาญชีนั้นตามความประสงค์ของท่านเจ้าพระยาภูธราภัย แต่สิ่งของสวิญญาณทรัพยและอวิญญาณทรัพย ซึ่งไม่มีจดหมายอยู่ในบาญชีทรัพย์สิ่งของ ๆ ท่านนั้นตกเป็นของพระยาอภัยรณฤทธิ์ ตามแต่จะจัดทำบุญให้ทานและแบ่งปันให้ผู้ใด ตามใจพระยาอภัยรณฤทธิ์จะเห็นสมควร ความประสงค์ของท่านดังนี้
ซึ่งพี่น้องบุตรหลานของท่านเจ้าพระยาภูธราภัยผู้ใดผู้หนึ่ง จะมาว่ากล่าวฟ้องร้องด้วยสินทรัพย์ของท่านเจ้าพระยาภูธราภัยต่อไปประการใด อย่าให้ลูกขุนตระลาการและผู้มีบรรดาศักดิ์เจ้ากระทรวงซึ่งจะได้ว่าความ รับฟ้องของญาติพี่น้องบุตรหลานท่านเจ้าพระยาภูธราภัย ซึ่งว่าด้วยทรัพย์มรดกรายนี้เป็นอันขาดทีเดียว หนังสือสำคัญฉะบับนี้ได้เขียนในเวลาที่ท่านเจ้าพระยาภูธราภัยยังไม่ป่วยหนัก แล้วลงพระนามเป็นสำคัญร้อยติดกับจดหมายความประสงค์และบาญชีทรัพย์สิ่งของๆ ท่านเจ้าพระยาภูธราภัย ซึ่งได้ลงชื่อท่านเจ้าพระยาภูธราภัยเป็นสำคัญ และได้ลงพระนามทับท้ายไว้อีกทั้ง ๒ ฉะบับ มอบให้พระยาอภัยรณฤทธิ์รักษาไว้
วันอังคาร แรม ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
หนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฉะบับ ๑ ว่าเวลาเช้าวันนี้ให้พระศรีธรรมสาสน์เชิญพระราชหัตถเลขา ซึ่งถึงมองซิเออคารเนียกงซุลฝรั่งเศสที่เมืองบัตเตเวีย ไปส่งที่บ้านกงซุลฝรั่งเศสๆ จึงว่ากับพระศรีธรรมสาสน์ว่า การที่จะพระราชทานดินเนอราชทูตสเปญนั้น เขาได้ทราบว่า มิสเตอร์แลตรัมซึ่งเป็นผู้มาเที่ยวได้เชิญด้วย แต่มองซิเออโมแมลซึ่งเป็นคนราชการในคอเวอนเมนต์ฝรั่งเศสเป็นคนได้เข้ามาเที่ยวด้วยเหมือนกัน แล้วก็โปรดเกล้าฯ ให้เข้ามาเฝ้าแล้ว แต่มองซิเออโมแมลหาได้เชิญไม่ คนทั้ง ๒ นี้เป็นคนมาเที่ยวเหมือนกัน ข้างหนึ่งได้เชิญข้างหนึ่งไม่ได้ ดูไม่สมควรอยู่ การนี้ลางทีจะยังไม่ทันทรงพระราชดำริ ขอให้พระศรีธรรมสาสน์มาบอกตัวท่าน พระศรีธรรมสาสน์กลับมาบอกแล้ว ๆ ราชทูตสเปญให้มาเชิญพระศรีธรรมสาสน์ไปพูดอีกว่าขอให้เชิญมองซิเออโมแมลด้วย ด้วยเป็นเพื่อนมากับราชทูต ถ้าเชิญมิสเตอร์แลตรัม ขอพระราชทานให้เชิญมองซิเออโมแมลด้วย
แล้วท้าวแพถวายหนังสือมองซิเอออาลวนถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ซึ่งว่าเป็นหนังสือถวายหยิบผิดมา ด้วยเวลาวานนี้ท้าวแพมาทูลว่า อาลวนมาฝากหนังสือให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์ทูลเกล้า ฯ ถวายแต่กระแสพระราชดำริไม่โปรดแล้วก็ไม่อาจเอาเข้ามา ถ้าโปรดเกล้า ฯ ให้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำมา จึงจะได้เอามาทูลเกล้า ฯ ถวาย ก็โปรดให้เอาเข้ามา ครั้นวันนี้ได้รับหนังสือเป็นหนังสือเขาถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ เทพสังหรณ์ให้เห็นว่าช่วยอาลวน เพราะความว่าการเรื่องนี้ได้ความเจ้าคุณเตือนสติให้นำหนังสือถวาย ถ้าการนี้สำเร็จจะขอบใจเจ้าคุณมาก หยิบเอาหนังสือนี้มาผิดไป ไม่ได้เอาหนังสือถวายมาทูลเกล้า ฯ ถวาย เพราะไม่ได้พิจารณาเปิดซอง คัดกอปี้ไว้แล้วคืนไป
รับหนังสือเจ้าพระยาสุรวงศ์ฉะบับ ๑ ว่าพระราชหัตถเลขาโปรดเกล้า ฯ ให้ลงมือขุดคลองบางพระโขนงถึงคลองบางพระนั้น ได้นำไปให้สมเด็จเจ้าพระยาๆ ท่านเห็นว่าป่าทุ่งที่ขุดคลองเป็นที่ไร่นาได้ก็มี ที่ไร่นาเต็มภาคภูมิอยู่แล้วก็มี ถ้าขุดไปปะที่เต็มภาคภูมิอยู่แล้วจะป่วยการแรงขุด แต่เมื่อให้กัปตันลิชลิวไปทำนั้นก็ทำแผนที่แต่ฉะเพาะคลองที่ขุดใหม่หาทั่วทั้งทุ่งไม่ ให้กราบทูลว่าขอให้พระชลธารออกไปตรวจที่ทำแผนที่ทุ่งแสนแสบ พระไกรสรสราวุธออกไปทำทุ่งบางพลี บางพระโขนง ให้ทั่วบรรจบถึงกัน เห็นที่ใดเป็นที่ไร่นาได้จึงค่อยขุดคลอง ท่านเห็นเป็นประโยชน์มาก ท่านขอให้พระยาราชรองเมืองจัดอำเภอกรุงเทพ ฯ นำผู้ทำแผนที่ หัวเมืองได้ให้กรมการนำทำ เมืองนครเขื่อนขันธ์พระยานครเขื่อนขันธ์ทำ ให้แล้วโดยเร็ว ประกาศสุราลายเซ็นได้ร่างให้สมเด็จเจ้าพระยาแล้วส่งมา ร่างประกาศสุราลายเซ็นนั้น ว่าความว่าผู้ที่ขายสุราปลีกนั้น เป็นการผิดต่อกฎหมายแผ่นดิน แต่เวลานี้สุราต่างประเทศมีมาก ท่านเสนาบดีจึงได้ปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า ถ้าจะห้ามก็เป็นการเสียประโยชน์ต่อลูกค้า จึงได้มีหนังสือไปให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์ส่งกงซุลต่างประเทศ บอกด้วยการจะขอให้คนสับเยกมาซื้อลายเซ็น จึงจะขายสุราปลีกได้ กำหนดเรือใหญ่ลำละ ๑ ชั่ง มีเรือเล็กได้ ๓ ลำ ลำละ ๓ ตำลึง เรือเร่ลำเล็กลำละ ๓ ตำลึง ตั้งแต่เดือน ๕ ขึ้นค่ำนี้ไป ถ้าผู้ใดจะขายสุราปลีกให้มารับลายเซ็นต่อเจ้าพนักงานโรงเตาสุราใน ๓๐ วัน ถ้าถึงวันเดือน ๖ ขึ้นค่ำเจ้าพนักงานโรงเตาสุราจะออกตรวจ ถ้าผู้ขายสุราไม่มีลายเซ็น จะจับปรับไหมให้มีโทษ ทรงปิดทอง
สั่งเงินหนังสือสำคัญ เงินงวดทรงซื้อแหวนเพ็ชร ๔ วง อย่างทองเรียงกันวงละ ๑๒๐ บาท เป็นเงิน ๖ ชั่ง
วันพุธ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
พระยาราชรองเมืองเฝ้า ถวายแผนที่บ้านพระยาศรีสิงหเทพ (เสือ) ที่โปรดเกล้า ฯ ให้ไปทำ แล้วพระยามหามนตรี พระนายศรีเฝ้า พระนายศรีถวายเรื่องราว (อิ่ม) ย่าหรั่น บุตรพระยาโชฎึกราชเศรษฐีที่ถึงอาสัญญกรรม ว่าเดิมบิดายกที่บ้าน นา สวน และทรัพย์สิ่งของให้ กับสิ่งของนอกนั้นให้ให้แจกบุตรหลานญาติพี่น้อง ครั้นบิดาตายก็ได้แจกของเสร็จแล้ว ครั้นปีมะเมียโทศกตัวเองเห็นว่าชีวิตจักไม่ยืนยาวไปนานจึงได้ทำพินัยกรรม แล้วอายุก็แก่ล่วงมาได้ ๗๖ ปี ทรัพย์สิ่งของที่ทำพินัยกรรมไว้ ใช้สอยไปบกพร่องไปบ้าง แกขัดสนลง หามีใครอุปการะไม่ บัดนี้เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์หลานแกจะรับเลี้ยง ให้เงินใช้สอยปีละ ๓๐ ชั่งไปจนตาย แกจึงจะยกที่บ้านให้เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ จึงได้เชิญพระยาอนุชิต พระยามหามนตรี พระยาราชรองเมือง พระมหาราชครูปโรหิตาจารย์ หลวงเทพราชธาดา หลวงสวัสดิ์นัคเรศ มาทำพินัยกรรมยกที่บ้านให้เป็นสิทธิ์แก่เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ แล้ว ขุนทองสื่อและนายกวดพูดขัดขวางไว้ว่า ตัวแกทำพินัยกรรมไว้ว่าให้แก่ตัวไม่ยอมให้ แต่ตัวแกมีชีวิตอยู่แกยังไม่ยอมให้ จะขอรับพระราชทานถอนพินัยกรรมเดิม เรื่องนี้โปรดเกล้า ฯ ให้ไปตรวจพินัยกรรมเสียก่อน แล้วจึงจะยอมให้แก้
รับหนังสือเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ว่าด้วยเรื่องเตลิกราฟไปบางปอินนั้น ขอรับพระราชทานให้หม่อมราชวงศ์แดง พระมหาสงคราม เป็นนายงานตรวจบังคับการตลอดจนเสร็จการ ในอำเภอกรุงเทพ ฯ และแขวงเมืองประทุม ขอพระราชทานให้พระยาพิทักษทวยหาญ นายกอง ปลัดกอง กองตุ่ม กองเสน เป็นผู้ทำตามระยะหน้าที่ แขวงกรุงเก่าและเมืองนนทบุรีนั้น ได้จดหมายตามกระแสพระบรมราชโองการแจ้งแก่เจ้าพระยาภาณุวงศ์ พระยาราชวรานุกูล เกณฑ์ผู้ทำมาปรึกษา หม่อมแดง พระมหาสงคราม จะได้ทำให้แล้วโดยเร็ว
ท้าวแพถวายสำเนาหนังสือกงซุลฝรั่งเศส ว่าด้วยแอดมิราลเมืองญวนมีหนังสือมาว่าพวกสลัดจีนเที่ยวตีเรือญวนตรงหน้าปากเมืองจันทบุรี กงซุลฝรั่งเศสสืบก็ได้ความจริงมีที่เกาะช้าง เรือถูกปล้นบรรทุกได้ ๑,๐๐๘ หาบ มีสินค้าราคาเงิน ๒,๕๖๔ บาท ขอให้ไทยสืบสวนข้อนี้ทุกประการ ไว้ใจว่าไทยจะจัดเรือรบไปเฝ้าที่ทางนั้นคอยไล่ผู้ร้าย กับอนึ่งมีคำบอกเล่าเข้ามาถึงเมืองไซ่ง่อนว่ามารดานักองค์วัดถาออกจากป่าพวกสะเตียงไปอาศัยอยู่ในเมืองลาว แอดมิราลคิดว่า ถ้ามารดานักองค์วัดถาหรือนักองค์วัดถาอาศัยในเมืองแห่งใดที่กรุงสยามแล้ว ไว้ใจว่า ไทยได้สำแดงทางพระราชไมตรีแล้วคงจะจับคน ๒ คนนั้น ไม่ให้มีการจลาจลขึ้นอีก เดี๋ยวนี้เมืองเขมรเรียบร้อย กับหนังสือมองซิเอออาลวนฉะบับ ๑ ที่หยิบผิดนั้น วันนี้ส่งเข้ามาเป็นหนังสืออ้อนวอนขอแขวนระย้าทูลเกล้า ฯ ถวาย
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เอาของที่จะพระราชทานปีใหม่มาถวาย
เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ออกแขกเมืองลาวเมืองมุกดาหารเฝ้าถวายต้นไม้ทองเงิน และพระราชทานหนังสือที่เป็นพินัยกรรมคืนให้พระยาอภัยรณฤทธิ์
รับสั่งให้หาพระนรินทรเข้ามาเฝ้า ถามด้วยสุราลายเซ็นว่าฉะเพาะแต่เหล้าต่างประเทศหรือสุราโรงด้วย พระนรินทรทูลว่าถ้าออกหัวเมืองนั้นแต่เหล้าต่างประเทศ ถ้าในกรุงและเมืองนนทบุรี เมืองประทุมธานี เมืองสมุทร เมืองนครเขื่อนขันธ์ สุราในกรุงออก รับสั่งว่าดีแล้ว ให้ไปแก้ประกาศเสียใหม่ ด้วยว่าความยังไม่ชัด พระนรินทรรับร่างไป
วันนี้มีดินเนอพระราชทานราชทูตสเปญ ทรงอิฟนิงเดรสตราสเปญ เจ้านาย ข้าราชการ ราชทูต สรวมเสื้ออิฟนิงเดรส แต่มิสนอกซ์กงซุลอังกฤษกับมิสกูลสรวมเสื้อเต็มยศ เวลาทุ่มเศษเลี้ยงชั้นล่างพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
<img>
เวลา ๕ ทุ่มเศษเลิก มิสนอกซ์ว่า ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์ว่าการมหาดไทยนั้น ดีนักชอบทีเดียว แล้วตรัสกับเจ้าพระยาภาณุวงศ์อยู่จน ๒ ยาม กลับแล้วตรัสกับเจ้านายอยู่จน ๘ ทุ่มเลิก
วันนี้เจ้าพนักงานยื่นบาญแผนกฉะบับ ๑ ไปเซ็นพรุ่งนี้
วันพฤหัสบดี แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
มีพระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ว่าด้วยกงซุลฝรั่งเศสมีหนังสือมาที่กรมท่า ว่ามีสลัดตีเรือญวนที่เกาะช้าง ขอให้ไทยสืบสวนให้รู้ในความเรื่องนี้ และให้เรือรบออกไปรักษาทะเลด้วย ทรงพระราชดำริเห็นว่า แต่เดิมก็ได้คิดไว้ว่าถึงฤดูจะให้เรือรบออกไปรักษาผลัดกันตามฤดูทั้ง ๒ ฝั่งทะเล และจะได้ให้มีเรือลาดตระเวรขึ้นไว้ทุกเมือง การก็ยังไม่ได้จัดตลอดไป บัดนี้ก็มามีเหตุขึ้น ขอให้ท่านจัดเรือรบลำใดลำหนึ่งรีบออกไปให้ทันที ถ้านิ่งไว้ช้ากลัวว่าจะมีเหตุใหญ่โตต่อไป
มีถึงสมเด็จเจ้าบรมวงศเธออีกฉะบับ ๑ ว่าด้วยกงซุลฝรั่งเศสมีหนังสือมาว่าด้วยได้ข่าวว่ามารดาวัดถามาอยู่เมืองลาว ให้ท่านรีบมีตราไปถึงพระยาคทาธรธรนินทร์ พระยานุภาพไตรภพ พระศักดิ์เสนี และหัวเมืองลาวที่ต่อเขตต์แดน ให้สอดแนมจับกุมนักองค์วัดถาให้จงได้ หรือสืบได้ความประการใดให้บอกมา จะได้แจ้งความไปให้กงซุลฝรี่งเศสทราบ
มีพระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ว่าด้วยหนังสือกงซุลฝรั่งเศสมานั้น ได้มีพระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาสุรวงศ์ให้เร่งจัดเรือรบไปลาดตระเวรสืบสวน และได้มีพระราชหัตถ์ถึงสมเด็จกรมพระ ให้มีตราไปยังหัวเมืองให้เร่งสืบสวนจับตัววัดถา หรือสืบได้อย่างไรให้บอกมาให้ทราบ ให้ท่านฟังดูเรือรบจะได้ออกไปวันใด ให้มีตอบถึงกงซุลฝรั่งเศสเสียทั้ง ๒ เรื่อง
มีพระราชหัตถ์ถึงสมเด็จกรมพระ เรื่องพระยาดำรงสุจริตจางวางเมืองระนองยื่นเรื่องราวขอทำดีบุกเมืองหลังสวน แต่จะขอรวมภาษีฝิ่นและอากรสุรา ค่าน้ำ บ่อนเบี้ย ในเมืองหลังสวนเข้าเป็นภาษี ๕ อย่างเหมือนหัวเมืองตะวันตก เจ้าพระยาสุรวงศ์จะขอออกตราตั้งวันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล ยังเป็นนพศก ได้ทรงมีพระราชหัตถ์ตอบไป ขอให้แยกอากรเป็นราย ๆ ตามสำเนาพระราชหัตถ์ที่คัดส่งมานั้น ถ้าตกลงกันก็ให้ทรงแยกอากร สุรา ค่าน้ำ บ่อนเบี้ย ออกเป็นราย เมืองหลังสวนให้พระจรูญราชโภคากรทำตามที่ขอเถิด
มีถึงเจ้าพระยาสุรวงศ์อีกฉะบับ ๑ ว่าด้วยจดหมายมาว่าจะขอแยกภาษีฝิ่นและอากร สุรา ค่าน้ำ บ่อนเบี้ย ออกตราตั้งกรมพระกลาโหมให้พระจรูญราชโภคากรทำแต่วันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล ยังเป็นนพศกนั้น ทรงพระราชดำริเป็นว่าอากรดีบุกเมืองหลังสวนตกขาดไม่มีผู้ทำมาช้านาน จะทำขึ้นให้เป็นประโยชน์แผ่นดินก็เป็นการดีอยู่แล้ว ได้ทรงมีพระราชหัตถ์ถึงสมเด็จกรมพระให้แยกอากร สุรา คำน้ำ บ่อนเบี้ย ซึ่งอยู่ในคลังมหาสมบัติ ให้พระจรูญโภคากรทำตามที่ขอ แต่ภาษี ๕ อย่างเมืองหลังสวนบี้เป็นของรวมเข้าใหม่ ฉันอยากจะให้แยกเป็นส่วนๆ ว่าอากรสิ่งนั้นเท่านั้น ให้ได้เห็นได้ว่าได้เงินเพราะอากรใดเท่าใด เมื่อจะประมูลในอากรใดให้ประมูลเป็นราย ๆ จะได้เห็นการเจริญในเมืองหลังสวน แล้วให้ท่านออกตราตั้งไปตั้งแต่วันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล ยังเป็นนพศกเถิด
พระองค์เจ้ากาพย์จดหมายถวายฉะบับ ๑ ว่าด้วยเป่าแตรเรียกทหารฝึกหัด ทหารไม่ออกมา มีแต่กัมปนีละ ๙-๑๐ คนบ้าง เป็นด้วยนายกัมปนีเหลวไหล ถามเข้าก็แก้ไปต่างๆ เมื่อจับได้จึงได้ลงโทษ เห็นจะต้องมีโทษเสียบ้าง พรุ่งนี้มิสเตอร์แลตรัมจะได้ไปบางปอินเวลา ๕ โมงเช้า ได้จัดสะเมียงสำหรับ ๗ วันกุ๊กบ๋อยพร้อมให้สัปเลฟเตอแนนนายนิลไปด้วย ได้จดหมายถึงหลวงสรรพยุทธฉะบับ ๑ ให้เป็นธุระ
ออกขุนนาง พระนรินทรเสนีทูลบอกเมืองประทุมธานีบอกกำหนดทำศพพระรามัญมหาเถร และรับสั่งถามพระยารองเมืองที่บ้านดอกไม้ว่าที่จะทำถนนไม่พออยู่อย่างไร ให้ไปตรวจเสีย ให้พระราชทานเรื่องพันจันไป และเซ็นท้ายเรื่องราวพระยาเวียงในทูลเกล้า ฯ วันอาทิตย์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๔ ว่าเลขรายนี้ยังไม่ได้พระราชทานเพลิงพระศพก็ยังไม่ได้ ควรจะหักไปให้ต่อเมื่อพระราชทานเพลิงแล้วจึงให้กรมพระสุรัศวดีหักให้ จะได้เป็นกำลังราชการสืบไป แล้วพระราชทานพระศรีกาฬสมุดไป พระศรีเสนานำพินัยกรรมพระศรีสิงหเทพ (เสือ) ที่ทำไว้เป็นเรื่องราวทูลเกล้า ฯ ถวายขอยกทรัพย์มรดกให้พระศรีเสนา จมื่นประทานมณเฑียร เซ็นพระราชหัตถเลขาไว้ข้างท้าย โปรดเกล้า ฯ ให้คัดสำเนาไว้
พระยามหามนตรีจดหมายถวายความเห็นเรื่องที่พระยาศรี ที่พระศรีเสนา จะขอรับพระราชทานฉะบับ ๑ ว่าครั้นจะกราบบังคมทูลในที่เฝ้านั้นก็ไม่ควร เห็นพระยาศรีได้ให้ที่ให้พระศรีเสนาปลูกเรือนแต่ยังมีชีวิตอยู่ชั้น ๑ อนึ่ง จมื่นประทานมณเฑียรได้ไปอยู่ที่บ้านเรือนแต่พระยาศรียังมีชีวิตอยู่ พระยาศรีได้ทำพินัยกรรมมอบมรดกให้พระศรีเสนา จมื่นประทานมณเฑียร ควรให้ตรวจที่ พระศรีเสนาได้ที่เดิมไว้ และที่ซึ่งตกอยู่กับจมื่นประทานมณเฑียรมากน้อยเท่าใด ถ้าได้มากกว่าพระศรีเสนา ควรแบ่งที่จมื่นประทานมณเฑียรให้พระศรีเสนาทั้งที่เดิมและใหม่ให้เท่ากัน แต่เรือนนั้นพระศรีเสนาปลูกเอง จมื่นประทานมณเฑียรได้เรือนพระยาศรี ควรแบ่งเรือนให้พระศรีเสนาครึ่งหนึ่ง ด้วยพินัยกรรมระคนกันอยู่
พระราชทานบาญชีคนที่จะรับตราสเปญไปให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์ นายฉันหุ้มแพรเอาไป แกรนด์ครอศ ๔ สมเด็จกรมพระ ๑ ทูลหม่อมพระองค์ใหญ่ ๑ ทูลหม่อมพระองค์น้อย ๑ กรมนเรศ ๑ คอมมานเดอ ๕ พระองค์กาพย์ ๑ พระองค์เทวัญ ๑ พระองค์สาย ๑ พระยามหามนตรี อ่ำ ๑ พระยาอนุรักษ์ (เผือก) ๑ คอมเพเนียน ๖ เสมียนตรากรมท่า ๑ พระอมรวิสัย ๑ พระไพรัชพากย์ ๑ หม่อมเทวาธิราช ๑ พระอินทรเทพ ๑ หลวงสุนทรโกษา ๑ และเสด็จออกพระพุทธมณเฑียรทำบุญวันประสูติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระอัฎฐิกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระสวด ฉัน วัดราชโอรส วัดหนัง พระเทพกวี วัดสุทัศน์ ถวายเทศนาอปริหานิยธรรม แล้วเสด็จกลับมาซ้อมเล่นกลที่โรงข้างพิมานรัฐยาด้านตะวันออก เวลา ๘ ทุ่ม เสด็จขึ้น
ทรงบาญแผนกเจ้าพนักงานยื่นวานนี้ฉะบับ ๑ สุรา บ่อนเบี้ยเมืองสระบุรี จีนบุญเหลียตัวอากร จีนอุเฉียประกัน คนทำใหม่เงินเดิม ๒๐๖ ชั่ง ประมูล ๖๓ ชั่ง รวม ๒๖๙ ชั่ง บ่อนเบี้ยเมืองอุทัย เมืองไชยนาท เมืองนครสวรรค์ เมืองมโนรมย์ เดิม ๕๘ ชั่ง ประมูล ๓๑ ชั่ง รวม ๘๙ ชั่ง
วันศุกร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
ทรงแปลนิทานเรื่องตาบอด คัดในหนังสืออาราเบียนไนต์ ท้าวแพถวายหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ว่าพระพิเทศสันดรพาณิช (อาลี) พาเสตมะหมัดเป็นชาวอาหรับมา แจ้งว่าเสตมะหมัดเป็นเจ้าเมืองเยอรมันอยู่ในแขวงอาหรับเป็นเมืองขึ้นเตอรกี เสตมะหมัดกับบุตรชายได้ออกจากเมืองเที่ยวมาตามอินเดียแล้วมาเมืองย่างกุ้ง เมืองมรแมน เมืองปีนัง เมืองสิงคโปร์ จึงได้เข้ามากรุงเทพ ฯ ไม่มีธุระอะไร เสตมะหมัดกับซายิศหาเซ็นผู้บุตรอยากจะเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท บัดนี้พักอยู่บ้านพระพิเทศสันดรพาณิช แล้วแต่จะโปรด
ฉะบับ ๑ หนังสือกงซุลอเมริกันถวายหนังสือว่า มีคนยุโรปคนหนึ่งที่ลอนดอนมีหนังสือมาว่า ได้รู้ว่าไทยจะทำรถไฟ จะขอรับเหมา ส่งสำเนาคำแปลมาด้วยฉะบับ ๑ พระองค์กาพย์เอารูปมิสเตอร์แลตรัมแคบบิเนต ๑ ก๊าศ ๑ มาถวาย
มิสเตอร์ลอรีเฝ้า ถวายแบบเครื่องแต่งพระที่นั่งใหม่ที่ห้องออฟพิศ โปรดเกล้า ฯ ให้ เอศติเมตเข้ามา
เวลาย่ำค่ำเศษ เสด็จออกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตั้งน้ำวงด้ายพิธีตรุษ ตรัสกับสมเด็จกรมพระ พระนรินทรเสนีเอาร่างประกาศลายเซ็นซึ่งไปแก้ใหม่นั้นมาทูลเกล้า ฯ ถวาย ยังไม่โปรดด้วยความที่ว่าด้วยเรือจอดและที่บ้านนั้นเสีย ลายเซ็นแต่ชั่งเดียวเหมือนตั้งโรงขายสุราเอาลงเรือเล็กเร่ขายก็เสียแต่ ๓ ตำลึง ให้ไปแก้เสียใหม่ พระยาจ่าแสนยถวายร่างตราถึงพระยานุภาพไตรภพ พระยาคทาธรธรนินทร พระศักดิ์เสนี ให้สืบจับตัวนักองค์วัดถา สวดมนต์จบแล้วเสด็จขึ้น ซ้อมเล่นกลจน ๘ ทุ่มเสด็จขึ้น
ทรงรับเรื่องราวขุนสุนทรสารทิศลักษณ์ ว่าด้วยสุรากรุงเก่าว่าเดิมเดือน ๓ ตัวรองคืน หลวงโสภณ หลวงสาทร ทำเรื่องราวยื่นรับทำว่าประมูลกัน หลวงสาทรรับทำปีละ ๙๗๖ ชั่ง หลวงโสภณ ๙๗๕ ชั่ง ทูลหม่อมพระองค์ใหญ่ให้หาตัวจีนชื่นเป็นผู้อยู่ใกล้เคียงเตาสุรามาถามว่าเงินนั้นจะสูงต่ำประการใด จีนชื่นจึงว่าเงินสูงมาก เจ้าพนักงานจึงเรียกตัวเข้าไปถาม เขาเห็นว่าเงินยังต่ำอยู่ ด้วยเดือน ๓-๔ น้ำสุราปีขาล ๑๐๐๐ ชั่ง เจ้าพนักงานได้ให้เซ็นชื่อไว้พร้อมกัน รุ่งขึ้นเจ้าจำนวนเร่งเงินอากรที่ค้างตัว ๆ จึงได้เอาเงินมาส่งได้บ้าง ตัวจะส่งเงินล่วงหน้าอีกเจ้าพนักงานก็ไม่รับ ว่าหลวงโสภณพูดขัดขวางอยู่ หลวงโสภณก็ไม่สู้ประมูลหลวงสาทรชั้น ๑ แล้วทำขัดขวางการของตัว ๆ ก็ได้ตกประจำวางเงินค่าน้ำอ้อย ข้าวเปลือก ฟืน และต้มเหล้าไว้บ้างแล้ว ทำให้ผู้ผูกช่วงตัดตอนตกใจเสียการ ขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง
ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระวุฒิการบดีถวายหนังสือพระสาสนโสภณ ว่าซึ่งพระราชทานหนังสือชาวสิงหฬแต่งเป็นภาษามคธไป ได้รับพระราชทานลอกคัดเป็นอักษรขอมฉะบับ ๑ เรียบเรียงเป็นความประสงค์ฉะบับ ๑ ส่งมาทูลเกล้า ฯ ถวาย กับต้นหนังสือเขามีมาฉะบับ ๑ แผนที่ฉะบับ ๑ หนังสือที่คัด ๒ ฉะบับ ความนั้นชาวสิงหฬ ๑๕ คนจะสร้างวัดเรี่ยไรเงิน
วันเสาร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
เวลาเช้า ๓ โมงเสด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เสด็จที่วัดจุดเทียนไชยเลี้ยงพระแล้วเสด็จขึ้น เวลา ๕ โมงเศษ ทรงเรียงนิทานและโปรแกรมปีใหม่
ท้าวแพถวายสำเนาหนังสือพระสยามธุระพาห์มีมา ว่าด้วยหนังสือพิมพ์เดลีนิวเข้ามา มีแผนที่บอกให้รู้ว่าช่องเรือไปมา ป้อมทางเมืองคอนสแตนติโนเปิลอย่างไรใน ๗ วันมาแล้ว ดูเหมือนจะเกิดการสงครามอีก เรือรบอังกฤษได้เข้าไปดาร์ดาแนล์แล้ว แต่ตุรกีไม่เห็นชอบ ถ้ารูเซียจะขัดเคืองด้วยแล้วก็จำเป็นจะเกิดสงคราม ออสเตรียจะเข้าช่วยอังกฤษด้วยผลประโยชน์ ๒ เมืองเหมือนกัน รูเซียเห็นจะไม่อาจเอาเมืองของเตอรกีเป็นเมืองขึ้น อนึ่ง การประชุมราชทูต ราชทูตที่จะปรึกษาการเรื่องเมืองเตอรกีนั้นดูเหมือนจะเกิดประโยชน์น้อย เพราะราชทูตทุกประเทศที่ประชุมคงจะเห็นกับผลประโยชน์บ้านเมืองของตัวมาก อนึ่ง สันตปาปาที่ชื่อว่าปีโอที่ ๙ ตายแล้ว ผู้ที่จะเป็นโปปนั้นคงเป็นชาวอิตาลี
พระองค์เจ้ากาพย์ถวายจดหมาย ๒ ฉะบับ ใหญ่ฉะบับ ๑ ว่าด้วยเวลาเช้าเป่าแตรเรียกทหารให้มารับเสด็จเมื่อเช้า แล้วท่านไปหัดม้ากลับมาจน ๒ โมงทหารยังไม่พร้อม มีแต่กัมปนี ๒ ทหารสัก ๒๑-๒๒ คน เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าเหมือนเป่าแตรหัดเหมือนกัน ถ้ามีการสำคัญขึ้นจะลำบาก เพราะธรรมเนียมแตรเสียไปเสียแล้ว เป็นด้วยนายกัมปนีเกรงใจกัน ครั้นว่าก็ว่าไม่มีอำนาจทำโทษ ได้แต่ขัง ๆ ใช้การทนัก ๗ วัน ก็ไม่เข็ด ขอพระราชทานให้มีโทษเสียบ้างตามสมควร อีกฉะบับ ๑ ว่าด้วยจีนจิ๋วนายครัวเดิมมาเตือน ได้ว่ากล่าวมาก จีนจิ๋วยอมลดเงินในฎีกาให้ ๒๓ ชั่ง แต่จะขอพระราชทานให้ได้เงินในเร็ว ๆ นี้ ขอรับพระราชทานสักใบหนึ่งก่อนในวัน ๑-๒ วัน ด้วยจีนจิ๋วรับอัฐที่หอรัษฎาเขาเร่งนัก
พระราชหัตถ์ตอบกงซุลอเมริกันว่าขอบพระทัย ที่นำผู้ที่จะรับทำรถไฟในเมืองไทยมาถวาย ขอแจ้งความให้ทราบว่า ทางที่จะไปโคราช คอเวอนเมนต์ของเรายังไม่ได้คิดจะทำเป็นทางรถไฟแน่ทีเดียว เพราะยังไม่ทราบชัดว่าการจะมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ทุนรอนซึ่งจะทำทางรถไฟก็กลัวว่าจะไม่มีพอ จึงได้ให้ขึ้นไปตรวจการดู ควรจะตัดเป็นทางเกวียนหรือตรัมเวประการใด จึงปรึกษากันดู เมื่อต่อไปมีประโยชน์อย่างใด จึงจะเป็นทางรถไฟตามกำลังที่จะทำได้ แต่เวลานี้ยังไม่ต้องการที่จะคิดในเรื่องรถไฟก่อน
รับหนังสือกงซุลเยอรมันฉะบับ ๑ ขอบพระเดชพระคุณที่โปรดเกล้า ฯ ให้พระองค์กาพย์ไปประทานพรวันเฉลิมพระชนมพรรษาเอมเปอเรอออสเตรีย เขาจะบอกไปที่คอเวอนเมนตเขาให้ทูลเอมเปอเรอ กับเขาขอถวายหนังสือเรื่องราวพระเจ้าเอมเปอเรอออกในวันการเฉลิมพระชนมพรรษาฉะบับ ๑
รับหนังสือเซอแอนดรูคล๊ากขอบพระเดชพระคุณที่พระราชทานเสื่องาไป และรับหนังสือแทดเดอแฟรแบงนายห้างแบงก์และกัมปนีชาวอเมริกันแต่เมืองนิวย๊อกฉะบับ ๑ ทูลเกล้าฯ ถวาย ตัวอย่างสะเคลเครื่องวัดต่าง ๆ แต่ของนั้นยังไม่ได้มา
พระราชหัตถ์ตอบกงซุลเยอรมันฉะบับ ๑ ว่าด้วยได้รับหนังสือที่ส่งมาเป็นภาษาเยอรมันอ่านไม่ได้ก็จริง แต่โดยความมุ่งหมายใจพลิกหาหนังสือนั้นโดยละเอียด ได้เห็นบาญชีของพระเจ้าเอมเปอเรอมีตราช้างเผือกสยามได้ออกชื่ออยู่ในนั้น ทำให้เป็นที่ชอบพระทัยมาก หวังใจว่าทางพระราชไมตรีจะยิ่งสนิทขึ้นไป แล้วพระราชทานพรเอมเปอเรอไปอีก และขอบพระทัยที่กงซุลส่งหนังสือมา
เวลาพลบเสด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สวดมนต์ ตรัสกับสมเด็จกรมพระ เจ้าพระยาสุรวงศ์มาเฝ้า ทรงด้วยเรื่องประกาศสุราลายเซ็นพระนรินทรไปแก้มาใหม่ ทูลเกล้า ฯ ถวายเป็นตกลงตามนั้น แต่เจ้าพระยาสุรวงศ์ทูลว่า มิสเตอร์นอกซ์เขาว่าให้รอหนังสือตอบคอเวอนเมนต์ฝรั่งเศส โปรตุเกส ฮอลันดา เสียก่อนสัก ๓ เดือนอย่างเขาว่าเสียทีเดียวดีกว่า กำหนดจะจับนั้นกำหนดเอา ๓ เดือนอย่างเขาว่าเสียทีเดียว ถึงจะยอมก็จับไม่ยอมก็จับ ทำการให้ได้ สวดมนต์แล้วเสด็จขึ้น ทรงซ้อมเล่นกล ๘ ทุ่มเสด็จขึ้น
เจ้าพนักงานยื่นบาญแผนกฉะบับ ๑ จะเซ็นวันจันทร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔
วันอาทิตย์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
เวลาเช้าไม่ได้เสด็จออกเลี้ยงพระ กรมอดิศรเอาสายถือสำหรับขับรถเป็นสายไหมมาถวาย ๔ สาย และนำกล้องชักรูปที่โปรดเกล้า ฯ ให้สั่งไว้สำหรับชักรูปในราชการมาทูลเกล้าถวายทอดพระเนตร พระราชทานใบหนังสือสำคัญเงิน ๑๖ ชั่ง ๘ ตำลึง ๒ สลึงไป
เวลาย่ำค่ำเสด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สวดมนต์แล้วตรัสกับสมเด็จกรมพระ ๆ ทูลเรื่องภาษีอากรต่าง ๆ แล้วทูลว่า เจ้าพระยาสุรวงศ์มาพูดด้วยการมหาดไทยกับท่านเวลาวันนี้ว่า จะช่วยฉลองพระเดชพระคุณทุกอย่าง ให้ทรงจัดการออฟฟิศเสียให้เรียบร้อยด้วยกรมมหาดไทยค้นหาหนังสือหนังหานั้นยากนัก ถ้าจะจัดการแล้วให้เอาพระนรินทรมาไล่เลียงดูก็ได้ เขาเคยแล้ว ท่านทรงตอบเวลานี้เพิ่งแรกรับการจะขอรอไว้ก่อน ท่านจึงว่าภายหลังต่อไป (สมเด็จดูค่อยสบายพระทัยมาก) สวดมนต์จบแล้วเสด็จขึ้น ทรงซ้อมเล่นกลจนเวลา ๘ ทุ่มเลิกเสด็จขึ้น
ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท นายฉันทูลเกล้า ฯ ถวายบาญชีคนซึ่งจะรับเครื่องราชอิสสริยยศราชทูตสเปญส่งมา เป็นจำนวนแกรนด์ครอศ ๓ คอมมานเดอช้างเผือก ๕ คอมมานเดอมงกุฎ ๓ คอมเพเนียน ๔ แต่ตัวเขายังไม่ได้ลงมา บาญชียังผิดกันกับของเราอยู่ รับสั่งว่าจะให้พระยาภาษสอบกันเสียให้ตกลง
สมเด็จเจ้าพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระบำราบปรปักษ์ ถวายหนังสือฉะบับ ๑ ว่าวันศุกร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ เจ้าพนักงานพร้อมกันหอรัษฎากรพิพัฒน์ ว่าอากรสุราเมืองนครชัยศรีได้เรียกตัวจีนที่ยื่นเรื่องราวมาว่าประมูลโต้ตอบกันเงินอากรเดิมสุรา ๔๐๐ ชั่งจีนทองอยู่ตัวอากร จีนชุนอี่ประกัน ยื่นเรื่องราวจะทำ ๒๕๐ ชั่ง ประมูลขึ้น ๓๖๓ ชั่ง จีนเสงตัวอากร จีนฉายประกัน ยื่นเรื่องราวจะทำ ๒๒๐ ชั่ง ประมูลขึ้น ๒๖๕ ชั่ง จีนฮวดตัวอากร จีนสุดใจประกัน ยื่นเรื่องราวจะทำ ๒๖๐ ชั่ง ไม่ว่าประมูล จีนเอี่ยมตัวอากร จีนเคียมประกัน ยื่นเรื่องราวจะทำ ๒๕๕ ชั่ง ประมูลขึ้น ๒๖๘ ชั่ง หลวงสาธรราชายุทธ์แต่งให้จีนไต้ฮักยื่นเรื่องราวจะทำ ๒๕๐ ชั่ง ประมูลขึ้น ๓๖๕ ชั่ง แล้วแต่จะโปรด
กับหนังสือมิสเตอร์นอกซ์กงซุลอังกฤษมีมาอีก ๒ ฉะบับ ฉะบับ ๑ ว่าด้วยแสนพันบุงยื่นเรื่องราวที่มิสนอกซ์ ว่าความเดิม แล้วขอหนังสือมิสนอกซ์ให้ไปถึงพระยาเทพพร้อมกับท้องตราด้วย เขาจึงแจ้งความส่งเรื่องราวขึ้นมา ว่าท่านจะเห็นความเรื่องนี้อย่างไรไม่เป็นพิษไม่เป็นสงอะไรนัก อีกฉะบับ ๑ ว่าด้วยเรื่องผู้ร้ายปล้นเมืองสุพรรณซึ่งจะให้ไปสืบ ถ้าได้ความอย่างไรจะส่งความมาที่เขาก็ได้
แหม่มเบดแมนมาเฝ้ากราบถวายบังคมลาไปนอก พระราชทานพระบรมรูป
วันจันทร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
เวลาเช้า ๒ โมงเสด็จไปพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เกศากันต์หม่อมเจ้า ๙ องค สรงน้ำ และประกาศเทวดาแล้วเสด็จขึ้น เวลา ๓ โมงเศษ ถ่ายพระรูปแฟนซีที่หน้าโรงเล่นกล กรมอดิศรเป็นผู้ถวาย เวลาเกือบเที่ยงเสด็จขึ้น เสด็จเข้าที่กลางวัน รับโทรเลข เรือออก ๓ ลำ
เจ้าพระยาภาณุวงศ์ส่งสำเนาหนังสือราชทูตสเปญมีมาฉะบับ ๑ ว่าเขาได้รับพระราชสารพระเจ้าแผ่นดินสเปญ ทรงยินดีมาในพระเจ้าแผ่นดินสยามบอกด้วยการอุปภิเษกใหม่ ขอกำหนดวันเฝ้าถวายพระราชสาร ส่งสำเนามาด้วยฉะบับ ๑
มีพระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฉะบับ ๑ ว่าพระราชสารเมืองสเปญนั้น ได้ทรงร่างไว้แล้วว่าจะมีไป บัดนี้มีมาก็เป็นดีอยู่แล้ว แต่การรับพระราชสารถ้าต้องรับใหญ่ถึงยืนช้างยืนม้าอีกก็เป็นการถี่นัก ราชทูตก็คนเดียวกัน ถ้ารับได้อย่างเป็นรับพระราชสารจากกงซุลมาส่งแต่ก่อนๆ หรือจะให้ออกอย่างกลางเช่นทูลลาก็ได้ ให้ท่านคิดอ่านพูดผ่อนผันดูกับเขา เห็นจะไม่ขัดขวางสิ่งใดด้วยการรับใหญ่นั้น เป็นเกียรติยศแก่ราชทูตครึ่งหนึ่ง เกียรติยศของพระราชสารครึ่งหนึ่ง ทูตคนนี้ก็ได้เกียรติยศพอแล้วเห็นจะไม่สู้กระไรนัก ถ้ายอมจะส่งพระราชสารข้างในจะรับวันศุกร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๕ เวลาบ่าย ถ้าท้องพระโรงต้องรับวันเสาร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๕
เซ็นท้ายจดหมายสมเด็จกรมพระถวายเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ ว่าด้วยการสุราเมืองนครชัยศรีนั้นว่า ควรต้องให้หลวงสาธรราชายุทธ์ทำ แล้วคืนไปกับต้นหนังสือมิสนอกซ์ ๒ ฉะบับ
เจ้าหมื่นสรรเพธนำเครื่องยศซึ่งจะพระราชทานพระองค์เจ้าสุขุมาลย์มารศรี ทำด้วยทองคำ พระคลังข้างที่จัดซื้อมาถวาย คือ พานหมากลายบัวลงยาราชาวดี เครื่องผอบลงยาปริกเพ็ชร์ ๓ จอกหมาก ๒ มีด ๑ ซอง ๑ ตลับขี้ผึ้งเป็นลูกลิ้นจี่ฝังทับทิม ๑ พานรองและหีบหมากลงยาฝังเพ็ชร์ ทับทิม มรกต บนหลังเป็นรูปสระบัว เครื่องในตลับฝังมรกตมงคลเพ็ชร์ ๓ ใบเถา ๑ ขันครอบลงยาสำรับ ๑ ขันสรงพระพักตร์ลงยาพานรอง ๑ กาน้ำร้อนถาดลงยา ๑ บ้วนพระโอษฐ์ลงยา ๑ แล้วพระราชทานหนังสือสำคัญพระราชทานรางวัลช่างทอง ๔ ชั่ง
เวลาเกือบย่ำค่ำ เสด็จออกสนามหญ้าเรียกกระบวนแห่
วันอังคาร แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙
วันนี้ไม่มีราชการอะไร ไม่ได้เสด็จออก
-
๑. สิหิงค์ ↩