คำนำ

กระทรวงวังแจ้งความมาว่าในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณวดี พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในเดือนมีนาคมปีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อนที่จะเสด็จไปประเทศยุโรปและอเมริกา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มีพระราชดำรัสสั่งไว้ว่า ให้พิมพ์หนังสือพระราชทานแก่ผู้ไปในงาน ขอให้กระทรวงธรรมการเลือกหาหนังสือที่เกี่ยวกับ ๓ พระองค์ที่ออกพระนามนี้พิมพ์ทูลเกล้า ฯ ถวายตามพระราชประสงค์ กระทรงธรรมการได้มอบให้กองหอสมุดในกรมศิลปากรจัดการเรื่องนี้ หอสมุดเห็นว่าจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจดไว้เป็นเหมาะ เพราะใน ๓ พระองค์นี้ พระองค์ ๑ เป็นพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์ ๑ เป็นพระเจ้าลูกเธอ องค์ ๑ เป็นพระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น จึงได้จัดหนังสือเรื่องนี้พิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายโดยลำดับเป็นภาคๆ ภาคนี้เปนภาคที่ ๑

พระราชกิจรายวันนี้ เดิมอยู่ในหอพระสมุดหลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหอพระสมุดหลวงมาเป็นสมบัติหอสมุดสำหรับพระนคร หนังสือเรื่องนี้มีอยู่ ๑๐ เล่ม เป็นพระราชกิจรายวัน ตั้งแต่ปีฉลู จุลศักราช ๑๒๓๙ (พ.ศ. ๒๔๒๐) ถึงปีกุญ จุลศักราช ๑๒๔๙ (พ.ศ. ๒๔๓๐) รวม ๑๐ ปี แต่เถาะปีขาลจุลศักราช ๑๒๔๑ ไปปี ๑ พระราชกิจรายวันเหล่านี้ที่เป็นพระราชนิพนธ์โดยไม่ต้องสงสัย มีในเล่มแรก ๒๕๕ หน้า ต่อนั้นไปเห็นจะเป็นผู้อื่นจด จึงใช้ราชาศัพท์เช่น “เสด็จออกขุนนาง” หรือ “เสด็จประพาศ” เป็นต้น แต่ก็เข้าใจว่ายังเป็นพระราชนิพนธ์ คือตรัสสั่งให้อาลักษณหรือใครๆ จดเป็นต้นว่า ตรัสเล่าว่า “วันนี้ออกขุนนาง มีคนนี้คนนั้นมาหา” ผู้จดก็เติมราชาศัพท์ลงไปว่า วันนี้เสด็จออกขุนนาง มีคนนี้คนนั้นมาเฝ้า ที่สังเกตว่ายังเป็นพระราชนิพนธ์อยู่นั้น ด้วยยังมีบางแห่งที่สะกิดให้สังเกต เป็นต้นว่า “จิตรเจริญ” (ซึ่งเป็นพระนามเดิมของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ) ไม่มีคำว่า “พระองค์เจ้า” ดังนี้เป็นต้น เห็นได้ว่าตรัสสั่งให้จด คุณค่าของหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างไร ถ้าอ่านไปแต่ฉะเพาะวันหนึ่งๆ จะเห็นความไม่ติดต่อและไม่ค่อยได้เรื่องราวอะไรนัก เพราะวันหนึ่งๆ มีมากเรื่อง มีต้นไม่มีปลาย มีปลายไม่มีต้น อะไรต่ออะไรเหล่านี้ ถ้าอ่านไปหลายๆ วัน จึงค่อยๆ มีเรื่องราวติดต่อกันขึ้นบ้าง ข้อนี้ไม่สำคัญเท่าใดนัก ข้อสำคัญมีอยู่ว่าพระราชกิจรายวัน ๆ ละเล็กละน้อย นี้แหละเป็นต้นเหตุให้รู้ว่าเรื่องใหญ่ๆ เช่นออกพระราชบัญญัติกฎหมาย หรือกิจการแผ่นดินต่างๆ อันปรากฏอยู่ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นนั้นเกิดขึ้นอย่างไร นักโบราณคดีจะเห็นคุณค่าแห่งหนังสือนี้ถ่องแท้ ในเมื่อเขียนพงศาวดารของประเทศสยามยุคนี้ ได้ลองสอบเรื่องสั้นๆ อันมีอยู่ในรายวันนี้ กับจดหมายเหตุที่ปรากฏเป็นเรื่องราวแล้วเท่าที่จะสอบได้ เพื่อจดบอกไว้ที่เชิงกระดาษก็ไม่มีเวลาพอ ด้วยเวลาพิมพ์หนังสือนี้กระชั้นนัก จึงพิมพ์ลงไว้เพียงเท่าต้นฉะบับ ถ้ามีโอกาสจะได้จัดทำต่อไป.

หอสมุดสำหรับพระนคร.

วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ