คำนำ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวัดเบญจมบพิตรนั้น โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงวางแผนผังและออกแบบอย่างการก่อสร้างมาแต่ต้น ด้วยมีพระราชประสงค์จะทรงสร้างวัดแห่งนี้ ให้งดงามประณีตบรรจงทุกประการ ในส่วนพระประธานที่จะประดิษฐานในพระอุโบสถที่สร้างใหม่นั้น เดิมทรงพระราชดาริจะเชิญพระพุทธรูปโบราณที่มีพุทธลักษณงดงามลงมาจากหัวเมือง โปรดเกล้าฯ ให้เสาะแสวงหาอยู่ช้านาน มีผู้เชิญมาถวายก็มาก ถ่ายรูปมาถวายทอดพระเนตรก็มี แต่ก็ยังไม่งามถึงขนาดที่พอพระราชหฤทัย ทรงพระราชดำริว่าจะหาพระพุทธรูปองค์ใดงามเสมอพระพุทธชินราชซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก เปนไม่มี แต่ครั้นจะเชิญลงมา ก็ทรงพระกรุณาสงสารราษฎรชาวเมืองพิษณุโลก ซึ่งนับถือพระพุทธชินราชว่าเปนมิ่งขวัญของเมืองกันเปนอย่างยิ่ง พระราชกุศลที่ทรงบำเพ็ญย่อมไม่สมบูรณ์หากกลายเปนที่เดือดร้อนของผู้อื่น จังหวัดพิษณุโลกนั้นเคยมีพระพุทธรูปสำคัญอยู่สององค์ คือพระพุทธชินราชและพระพุทธชินศรี พระพุทธชินศรีนั้นได้อัญเชิญลงมาประดิษฐานเปนพระประธาน ณ วัดบวรนิเวศมาแต่ก่อนองค์หนึ่งแล้ว เมื่อเชิญพระพุทธชินศรีล่องลงมาตามลำแม่น้ำครั้งนั้น เล่ากันว่าราษฎรร้องไห้โศกเศร้าพากันมาคอยส่งพระตลอดริมสองฝั่งแม่น้ำมากมาย จึงทรงพระราชดำริยักย้ายไปเปนให้หล่อจำลองขึ้นใหม่ โปรดเกล้า ฯ ให้พระประสิทธปฏิมา จางวางช่างหล่อขวาพร้อมด้วยช่างหล่ออีกหลายนายขึ้นไปปั้นหุ่นถ่ายอย่างพระพุทธชินราชอยู่ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ครั้นถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ การปั้นหุ่นก็จวนจะแล้วสำเร็จ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศ ฯ เสด็จขึ้นไปตรวจติแก้พระพุทธรูปในขั้นสุดท้าย ทั้งจะได้ถ่ายอย่างฐานพระพุทธชินราชและเรือนแก้วมาทำที่วัดเบญจมบพิตร อนึ่งมีกำหนดไว้ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปหล่อพระพุทธชินราชจำลอง ณ จังหวัดพิษณุโลกในเดือนตุลาคมปีนั้น อันจะเปนกระบวนใหญ่มีผู้ตามเสด็จไปปฏิบัติหน้าที่หลายฝ่าย ทั้งผู้ที่จะไปโมทนาพระราชกุศลก็มาก จึงได้ทรงรับมอบหมายให้ทรงตรวจดูสถานที่ซึ่งกะจะปลูกสร้างที่ประทับพลับพลาตามระยะเส้นทางที่จะเสด็จพระราชดำเนินด้วย

โดยปกติสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศ ฯ ทรงบันทึกจดหมายเหตุรายวันไว้เปนนิจ หากเสด็จไปไหนที่ย่อมมีเหตุการณ์อันสมควรจดจำไว้มากขึ้น มักจะทรงเขียนเล่าเรื่องราวประกอบด้วยแผนที่และภาพสิ่งที่แปลกและงามจับพระทัยไว้อย่างถี่ถ้วน ฉะนั้นในการเสด็จไปพิษณุโลกครั้งนี้ก็ทรงบันทึกเรื่องและรูปภาพไว้ตลอดทางที่เสด็จขึ้นไปโดยทางเรือจนถึงเมืองสุโขทัย ทรงพรรณนาถึงภูมิประเทศ สภาพความเปนอยู่ของราษฎร รูปลักษณของวัดวาอาราม ตลอดจนเขียนถ่ายจำลองภาพศิลปกรรมอันงดงามควรจดจำไว้เปนแบบอย่างโดยละเอียด ทั้งยังปรากฎว่าได้ทรงนำแบบอย่างเหล่านั้นมาใช้ประกอบพระสติปัญญาในงานทางศิลปที่ทรงทำในภายหลังเปนอันมาก จึงเห็นว่าถ้านามาพิมพ์ขึ้นได้ในโอกาสที่มีงานฉลองพระชันษาครบ ๑๐๐ ปีครั้งนี้ ก็จะเปนการรักษาฝีพระหัตถ์และพระนิพนธ์ไว้มิให้สูญ ทั้งคงจะเปนประโยชน์แก่ผู้ที่ใฝ่ใจศึกษาวิชาทางการช่างและโบราณคดีไทยอยู่บ้าง

ผู้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ พร้อมใจกันขออวยพรและแผ่ส่วนกุศลอันจะพึงมี แด่ท่านผู้ที่บริจาคทรัพย์ซื้อหนังสือเล่มนี้ด้วยความขอบพระคุณ และขออุทิศส่วนใหญ่แห่งกุศลผลบุญคุณความดีอันบังเกิดมีขึ้นถวายแด่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศ ฯ ผู้ทรงทุ่มเทพระกำลังสติปัญญาตลอดพระชนมชีวิตเพื่อรักษาและเชิดชูศิลปกรรมประจำชาติ ทั้งนี้เพราะผู้จัดพิมพ์มีเจตนาจะบริจาคผลประโยชน์ทุก ๆ บาทไว้เปนทุน เพื่อสงเคราะห์เกื้อหนุนอนุชนผู้ใฝ่ใจใคร่ศึกษาศิลปกรรมของไทย แต่คุณประโยชน์ใด ๆ ถ้าหากมี ก็ยินดีขออุทิศให้ผู้อ่านซึ่งเอาใจใส่ในศิลปวิทยา อุตส่าห์เสาะแสวงหาทุกท่านเถิด.

มจ.ดวงจิตร จิตรพงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ