อภิธาน

ฃ้าพเจ้าขอชี้แจงไว้เพื่อความสดวกของท่านในการใช้อภิธานนี้ว่า วิธีลำดับอักขรานุกรม ฃ้าพเจ้าดำเนินตามแบบอภิธานสันสกฤต, คือ เริ่มด้วยสระตามลำดับ :– อ, า, ิ, ี, ุ, ู, ฤ, ฤๅ, เ, แ, ไ, โ, เา, ำ; แล้วจึ่งถึงพยัญชนะ, ซึ่งลำดับตามวรรค, พยัญชนะผสมกับสระจนหมด แล้วจึ่งถึงพยัญชนะควบ.

เครื่องหมาย : ส. แปลว่า “สันสกฤต”, ม. แปลว่า “มคธ”.

อนึ่งขอท่านจงเฃ้าใจว่า ในอภิธานนี้จะมีแต่ศัพท์ที่แปลก ๆ และค้นไม่ใคร่พบ (หรือไม่มีเลย) ในหนังสือปะทานุกรมของกระทรวงศึกษาธิการ, และจะมีเปนนามบุคคลหรือสถานที่ซึ่งกล่าวถึงในหนังสือ “นารายน์สิบปาง” นี้เปนพื้น ศัพท์ที่อาจค้นพบได้โดยสดวกในปะทานุกรมจะไม่นำลงไว้ในที่นี้.

อกัมปัน [ส. อกมฺปน] – “ไม่หวั่นไหว” (๑) ชื่ออสูรนายทหารของพญาขร; (๑) ชื่ออสูรนายทหารเมืองลงกา, ซึ่งใน รามเกียรติ์เรียกว่า “อสุรกัมปั่น.

อะกรูระ [ส. อกฺรูร] – กษัตร์สกุลยาทพ, เปนญาติกับพระกฤษณะ.

อักขะกุมาร [ส. อกฺษ] – อสูร, ลูกท้าวราพณาสูร; ถูกหนุมานฆ่าตายที่สวนอโศก.

อคัสตยะ [ส. อคสฺตฺย] – พรหมฤษี, ผู้ให้อาวุธสำคัญต่าง ๆ แด่พระราม, (ดูอธิบายที่ ๕๖), และในที่สุดให้มนตร์อาทิตยหฤทัยแด่พระราม เพื่อสังหารทศกัณฐ์. (ดูอธิบายที่ ๗๓)

อัคนิโหตร์ [ส.] – พิธีบูชาไฟ. (ดูอธิบายที่ ๖๙)

องคท [ส.] – ลูกพญาพาลีกปิราช.

องคราษฎร์ [ส. องฺคราษฎร] – แคว้นเบ็งคอลเดิม; นครหลวงชื่อจัมปา.

อังคีรส [ส.] – มหาฤษีตน ๑ ในพวกสัปตะฤษี.

อติกาย [ส.] –“ตัวโต”, อสูรลูกราพณาสูร.

อัตริ [ส.] – พรหมฤษีและประชาบดี; เปนมานสาบุตร์ของพระพรหมา; เปนผัวนางอนะสูยา, และมีหลานชื่อทุรวาส. ในรามายณะว่าพระรามได้ไปเยี่ยมเมื่อเดินดง.

อนันต์ [ส.] – “ไม่มีที่สุด”; เปนนาม ๑ ของพญานาคที่เปนบัลลังก์ของพระนารายน์; เปนนามเรียกพระนารายน์เองด้วย.

อนะสูยา [ส.] – ธิดาพระทักษะประชาบดี, และมเหษีของพระอัตริประชาบดี.

อนิรุทธ์ [ส.] – ไม่มีผู้กีดขวาง”, เปนนามของกษัตร์สกุลยาทพจันทรวงศ์, ลูกปรัทยมนะ, หลานพระกฤษณะ, ผัวนางอุษา.

อมราวดี [ส. อมราวติ] – นครหลวงของเทวดา, ที่สถิตของพระอินทร์.

อมรรตัย, อมรรตยะ [ส. อมรฺตฺย] .ไม่ตาย.

อมฤต [ส] – น้ำทิพยที่กวนได้จากเกษียรสมุท, ดังปรากฎเรื่องในกูรมาวตาร.

อโยธยา [ส.] – นครหลวงแห่งแคว้นโกศลโบราณ. ตั้งอยู่วิมฝั่งแม่น้ำสรยุ, สาฃาแห่งแม่น้ำยมุนา; เดี๋ยวนี้ไม่ปรากฎชัดว่าตั้งอยู่แห่งใด,

อโยมุขี [ส.] – “หน้าเหล็ก”, เปนนามยักษิณีที่พระรามและพระลักษมณ์ได้ ไปพบ. (ดูอธิบายที่ ๕๙)

อริษฏะ [ส.] – อสูรที่จำแลงเปนโคไปทำร้ายพระกฤษณะ, แต่ถูกพระกฤษณะฆ่าตาย.

อรชุน [ส. อรฺชุน] – “ฃาว”; (๑) ราชาแห่งพวกไหหัย, มีฉายาว่าการ์ตะวีรยะ, มีพันแขน; รบชนะราพณาสูร, แต่ภายหลังถูกปรศุรามฆ่าตาย, ดังปรากฎในเรื่องปรศุรามาวตาร, (๒) กษัตร์ปาณฑพ, ลูกพระอินทรกับนางกุนตีมเหษีท้าวปาณฑุ. (ดูอธิบายที่ ๘๖)

อรรถสาธก [ส. อรฺถสาธก] – ขุนคลังของท้าวทศรถ.

อวตาร [ส.] – ปางกำเนิดของพระเปนเจ้า.

อโศก [ส.] – “ไม่มีโศก”; (๑) ชื่อตุลาการของท้าวทศรถ; (๒) ชื่อต้นไม้, ซึ่งไทยเราเรียก “โศก”.

อัศดร [ส. อศฺวตร] – “ดีกว่าม้า”. ล่อ.

อัศวบดี [ส. อฺศฺวปติ] – ราชาแห่งเกกัย, พ่อนางไกเกยี.

อัศวเมธ [ส.] พิธีบูชายัญด้วยม้า. (ดูอธิบายที่ ๒๙)

อสะมัญช์ [ส. อสมฺชสฺ] – กษัตร์สุริยวงศ์, โอรสหัวปีของท้าวสคะระ. (ดูอธิบายที่ ๔๑)

อหลยา [ส.] – ชายาของพระโคดมพรหมฤษี; เปนชู้กับพระจันทร์และถูกสาปอยู่จนพระรามได้ไปพบ. (ดูอธิบายที่ ๓๗)

อา

อาคเณยาสตร์ [ส.] – “อาวุธของพระอัคนี”, เปนศรชุบขึ้นในเวลาบูชาไฟ; ศรนี้ในรามายณะปรากฎว่ามีใช้ทั้งฝ่ายมนุษและฝ่ายยักษ์, และต่างฝ่ายต่างแผลงแข่งฤทธิ์กัน.

อาทิตยหฤทัย [ส.] – ชื่อมนตร์ที่พระอคัสตยะมุนีบอกให้พระราม.(ดูอธิบายที่ ๗๓)

อายัณโฆษ [ส.] – โคบาล, ผัวนางราธา.

อิ

อิกษวากุ [ส. อิกฺษฺวากุ] – ประถม. กษัตร์แห่งสุริยวงศ์, ผู้สร้างนครอโยธยา, (ดูลำดับสุริยวงศ์, อธิบาย ที่ ๔๑)

อิงคุทิ [ส.] – ต้นสำโรง

อินทิรา [ส.] – “ความงาม, ความสง่า”; นาม ๑ ของพระลักษมี.

อินทร์ [ส.] – “ผู้เปนใหญ่”; มักใช้เรียกท้าวศักระผู้เปนใหญ่เหนือเทวดาทั้งหลาย

อินทรชิต [ส.] – “ผู้ชำนะพระอินทร”; เปนลูกท้าวราพณาสูร, เดิมชื่อเมฆะนาท, และเมื่อได้รบชนะพระอินทร์แล้วจึ่งได้นามว่าอินทรชิต, ได้สู้รบกับพระรามและทัพวานรอย่างแขงแรง, . แต่ในที่สุดพระลักษมณ์ฆ่าตาย.

อินทรปรัสถ์ [ส. อินฺทฺรปฺรสฺถ; ม. อินทฺปตฺถ] – นครหลวงของปาณฑพกษัตร์

อิศวร [ส. อีศฺวร; ม. อิสฺสร] – “ผู้เปนใหญ่”, มักใช้เรียกพระศิวะ.

อี

อิร์ษยา [ส. อีรฺษฺยา; ม. อิสฺสา] – ความชิงชัง, ความหึง, ไทยเรามักเขียนเขวไปเปน “ฤษยา”.

อีศะ [ส.] – “ผู้เปนเจ้า, ผู้เปนใหญ่ยิ่ง”; ใช้เรียกพระนารายน์ก็ได้, พระศิวะก็ได้.

อุ

อุคระเสน [ส.] – ราชาครองนครมถุรา, พ่อพญากงส์; ถูกลูกชายเอาออกจากราชสมบัติ, แล้วพระกฤษณะกลับยกขึ้นใหม่.

อุเปนทร์ [ส.] – “น้องอินทร์”, เปนฉายาเรียกพระกฤษณะ.

อุษา [ส.] – ธิดาพาณาสูร; ชายาพระอนิรุทธ์.

อู

อูรมิลา [ส. อูรฺมิลา] – ธิดาท้าวชนก, ราชาแห่งมิถิลา; อภิเษกกับพระลักษมณ์.

ฤกษ์ [ส.ฤกฺษ] – (๑) หมี; (๒) ดาว; (๓) ดาว ๗ ดวงที่ไทยเราเรียกรวมทั้งหมู่ว่า “ดาวจรเข้”, และอังกฤษเรียก “Great Bear”.

ฤคเวท [ส.] – พระเวทคัมภีร์ที่ ๑. (ดู “เวท”)

ฤจิก [ส.] – ฤษีลูกพระภฤคุประชาบดี, และเปนพ่อพระชมทัคนี. (ดูชมทัคนี)

ฤษภ [ส.] – (๑) สัตว์ตัวผู้, มีโคเปนต้น; ใช้เปนฉายาเรียกพระนารายน์ได้อย่าง ๑; (๒) นายทหารวานร; (๓) เฃายอด ๑ ในเทือกเขาหิมาลัย.

ฤษี [ส., ม. อิสี] – “ผู้สรรเสริญเทวดา”; นักบวช, โดยมากอยู่ในป่า, และมีฌาณแก่กล้า. แบ่งเปนหลายชั้น, คือ ราชฤษี, มหาฤษี, และพรหมฤษี.

ฤษยมูก [ส.] – เฃา ๑ ในทักษิณเทศ, ใกล้ต้นลำน้ำปัมปาและทเลสาปปัมปา, เปนที่พระรามได้ไปพักอยู่กับพวกวานร ก่อนยกทัพไปตีลงกา.

ฤษยะศฤงค์ [ส.] – “เฃากวาง”. ฤษี, ลูกวิภาณฑักมุนี, กาศยปะโคตร์, แม่เปนเนื้อ, จึงมีเขาสั้น ๆ อัน ๑ ขึ้นที่ตรงหน้าผาก. เปนผู้ช่วยท้าวทศรถทำพิธีขอลูก. (ดูอธิบาย ๓๐).

เอ

เอนทราสตร์ [ส.] “อาวุธของพระอินทร”, เปนชื่อศรเล่ม ๑ ของพระราม.

เอราวัณ [ม.] – ช้างวิเศษที่เปนพาหนะของพระอินทร์, อีกนัย ๑ เรียกว่า “ไอราพต”

ไอ

ไอราพต [ส. ไอราวต] – ช้างวิเศษที่เป็นพาหนะของพระอินทร์. ไทยเรามักเขียนเพี้ยนไปว่า “ไอยราพต.” อีกนัย ๑ เรียกว่า “เอราวัณ.”

โอ

โองการ [ส.] – “การออกสำเนียง โอม.”, คำว่า “โอม”; เปนคำใช้นำมนตร์สำคัญ ๆ ของพราหมณ์, แต่ฃ้างไทยเราใช้หมายความว่าดำรัสของพระเปนเจ้าหรือของพระสมมติเทวราช.

กงส์ [ส. กํส] – กษัตร์ลูกท้าวอุคระเสน, ราชาแห่งนครมถุรา; เปนคนดุร้าย, ถอดบิดาจากราชสมบัติ, และเปนอริสำคัญของพระกฤษณะ; ในที่สุดพระกฤษณะฆ่าตาย.

กะบิลพัศดุ์ [ส. กปิลวสฺตุ] – ชื่อหอกของทศกัณฐ์.

กะพนธ์ [ส.] – ยักษ์ซึ่งมีแต่ตัวและแขน, ไม่มีหัวและฃา, (ดูอธิบายที่ ๖๐)

กมล [ส. และ ม.] – ดอกบัว; หัวใจ. ไทยเรามักเขียนผิดไปเปน “กระมล”
 

กมะลา [ส. และ ม.] – ดอกบัว. ใช้เปนนาม ๑ ของพระลักษมี.

กมะเลกษณะ [ส.] – ตางามปานดอกบัว.

กรรณาภรณ [ส.] – ต่างหู.

กรรณี [ส.] – มเหษีท้าวอุคระเสน, แม่พญากงส์.

กะรูษ [ส.] – นามดินแดนแห่ง ๑ ซึ่งพระรามผ่านไปพร้อมด้วยพระวิศวามิตร์.

กลียุค - [ส.] ยุคที่ ๔ แห่งกัลป์. นับเปนยุคที่เลวทรามที่สุดในยุคทั้ง ๔.

กัลกิ [ส.] – อวตารปางที่ ๑๐ ของพระนารายน์, อันจะได้มีมาในอนาคต.

กัลป์ (ส. กลฺป; ม. กปฺป) – วัน ๑ ของพระพรหมา, เท่า ๔,๓๒๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีมนุษ.

กวี [ส. และ ม.] – ผู้ฉลาด, รอบรู้, เปนหัวหน้าคน, ผู้รจนาเรื่องและมนตร์, ฯลฯ. ไทยเรามักเขียนผิดไปว่า “กระวี”

กัศยป [ส. กศฺยป] – ฤษีและประชาบดี, มานะสาบุตร์ของพระพรหมา.

กาตยายน [ส. กาตฺยายน] – ฤษีตน ๑ ซึ่งอยู่ในนครอโยธยา,และเปนพราหมณ์ประจำราชสำนัก.

กานยะกุพชะ [ส.] – “เมืองนางค่อม”, เปนนคร ๑ ในภารตะวรรษ (อินเดีย). ในปัตยุบันนี้เรียกว่า “กาเนาช“ (Kanauj)

กามะเธนุ [ส.] – แม่โคสำคัญของพระวสิษฐมุนี. (ดูอธิบายที่ ๒๒)

การ์ตะวีรยะ [ส.การฺตวีรฺย] – “ลูกกฤตะวีริยะ”, คือท้าวอรชุน,ราชาแห่งพวกไหหัย, เธอมีพันแขน, มีฤทธิ์เดชปราบราพณาสูรได้, แต่ถูกปรศุรามฆ่าตาย.

กาละยะวัน [ส. กาลยวน] .“ยวนดำ”, เปนนามของราชาแห่งพวก “ยวน” (ชาวต่างประเทศ, ตรงกับคำ “ฮวน” ของจีน), ซึ่งได้ยกทัพไปติคนครมถุรา, แต่ถูกพระกฤษณะฆ่าตายโดยกลอุบาย.

กาลี [ส.] “แม่ดำ” คือพระอุมาภาคดุ. ตามรูปมักทำเปนหญิงผิวดำ, หน้าตาน่ากลัว, แลบลิ้น, มีเลือดหยดจากอวัยวะ, มี ๓๐ แขนซึ่งถือศัสตราวุธต่าง ๆ; แวดล้อมไปด้วยงู และกระโหลกหัวมนุษ, และหิ้วหัวยักษ์. พระกาลีนี้คนกลัวกันมากจึ่งได้รับบูชามาก, โดยวิธีต่างๆอันน่ากลัวและน่าเกลียด, มีฆ่าสัตว์เอาเลือดบูชา, เชือดและฟันร่างกายของตนเอง, และออกท่าทางอันอนาจารต่างๆ เปนต้น.

กาศี [ส.] – แคว้น ๑ ในภารตะวรรษ (อินเดีย), มีกษัตริย์จันทรวงศ์สาขา ๑ ทรงราชย์ในกรุงพาราณสี ซึ่งเปนนครหลวง. (ดูลำดับกษัตริย์แห่งกาศีจันทรวงศ์, อธิบายที่ ๗๖.)

กาศยป [ส. กาศฺยป] – “เผ่ากัศยป.”

กีษกินธา [ส. กีษฺกินฺธา; ม. ขีกขินฺท] – นครหลวงของพวกวานร.

กุกษี [ส. กุกฺษิ] – โอรสที่ ๑ ของท้าวอิกษวากุ; อันสาขาสุริยวงศ์แห่งอโยธยา.

กุพชะ, กุพชา [ส. กุพฺช, กุพฺชา] – คนค่อม.

กุมภะ [ส.] – ลูกท้าวราพณาสูรตน ๑.

กุมภะกรรณ [ส.] – “หูหม้อ”. ลูกพระวิศระวัสมุนีกับนางไกกะสี, น้องร่วมครรภ์กับทศกัณฐ์. ร่างกายใหญ่โตจนเอาหม้อน้ำเฃ้าใส่ในหูได้ จึ่งได้ชื่อว่า “หูหม้อ” ในรามเกียรติ์เขียนชื่อว่า “กุมภะกัณฐ์” ดังนี้, ผิด. (กำเนิดกุมภะกรรณ, ดูอธิบายที่ ๑๕)

กุมภิลา [ส.] –ทุ่งนอกเมืองลงกา, ที่อินทรชิตไปทำพิธีนิกุมภิลา.

กุเวร [ส.] – โลกบาลประจำทิศเหนือ. (ดูอธิบายที่ ๑๕)

กุศะธวัช [ส.] น้องท้าวศีระธวัช (ชนก), กษัตร์สุริยวงศ์แห่งมิถิลา. พี่ตั้งให้เปนราชาครองนครสังกาศยา. เปนพ่อของมเหษีพระภรตและพระศตรุฆน์,

กูณฑ์ [ส.] – หลุมสำหรับติดไฟบูชายัญ. ไทยเรามักเฃ้าใจกันว่า “กูณฑ์” แปลว่าไฟ.

กูรมะ [ส. กูรฺม] – เต่า.

กฤตะมาลา [ส.] – ชื่อลำน้ำ. (ไม่ปรากฎว่าอยู่แห่งใด)

กฤตะยุค [ส.] – ยุคที่ ๑ แห่งกัลป์. เปนยุคที่ดีเลิด, เต็มไปด้วยธรรมสุจริต.

กฤตะวีรยะ [ส.] – ราชาแห่งพวกไหหัย, เปนยิดาของท้าวอรชุน การ์ตะวีรยะ.

กฤษณะ [ส.] – “ดำ”. อวตารปางที่ ๘ ของพระนารายน์. ลูกวสุเทพกับเทวกี, โคตรยาทพ, จันทรวงศ์.

กฤษณา [ส.] – “ดำ”. บุตรีท้าวทรุบท ราชาครองแคว้นปัญจาล. พระอรชุนกษัตร์ปาณฑพได้นางโดยยิงศรแข่งขันในงานสวยัมพร.

เกกัย [ส.] – แคว้นของท่าวอัศวบดี, บิดานางไกเกษี; นครหลวงชื่อราชคฤห.

เกศพ, เกศวะ, [ส. เกศว] – “ผมงาม”, เปนนาม ๑ ของพระนารายน์.

เกศิน [ส.] – อสูรซึ่งจำแลงเปนม้าไปทำร้ายพระกฤษณะ, แต่พระกฤษณะกลับฆ่าตาย.

เกศินี [ส.] – รากยสีผู้เปนมเหษีพระวิศระวัส, และเปนมารดาทศกัณฐ์. อีกนัย ๑ เรียกว่าไกกะสี.

ไกกะสี [ส.] – ดูที่เกศินีข้างบนนี้.

ไกเกยี [ส.] – “นางชาวเกกัย”. ธิดาท้าวอัศวบดี, มเหษีที่ ๓ ของท้าวทศรถ, และมารดาพระภรต.

ไกลาศ (ส.; ม. เกลาส) – เฃาที่สถิตของพระศิวะมหาเทพ. ไทยเรามักเขียนผิดว่า “ไกรลาศ”.

โกญจะวัน [ม.] –“ป่านกกะเรียน”. ป่า ๑ ซึ่งพระรามผ่านไปเมื่อตามนางสีดา.

โกรพ [ส. เการว] – “เผ่ากุรุ”. คือกษัตร์จันทรวงศ์ที่สืบสายโลหิตลงมาจากท้าวกุรุ, แต่ในมหาภารตะใช้เรียกกษัตร์ ๑๐๐ คน ผู้เปนโอรสท้าวธฤตราษฎร์, และที่เปนอริกับปาณฑพกษัตร์.

โกศล [ส.] – แคว้นใหญ่อัน ๑ในภารตะวรรษ (อินเดีย), ซึ่งกษัตริย์สุริยวงศ์ แห่งกรุงอโยธยาเปนผู้ครอง.

เกาโมทะกี [ส] – ชื่อคทาซึ่งพระเพลิงให้พระกฤษณะ.

เกาศัลยา [ส.] – “นางชาวโกศล”. มเหษีที่ ๑ ของท้าวทศรถ, และพระมารดาของพระราม.

เกาศิก [ส.] – “เผ่ากุศิก”. เชื้อวงศ์ท้าวกุศิกราชาแห่งนครกานยะกุพชะ. เกาศิกะนันทน์, “ผู้ทำความยินดีแก่เกาศิก”, เปนนามเรียกพระวิศวามิตรมุนี.

กระตุ [ส.] – ประชาบดี, มานะสาบุตรของพระพรหมา, บางทีก็นับเฃ้าในจำพวกฤษี ๗ ตน. (ดูอธิบายที่ ๗)

โกรธะกุฎี [ส. โกรธกุฏิ] – ห้องโกรธ, เปนห้องโถงไม่มีเครื่องตกแต่ง, สำหรับเข้าไปอยู่ในเวลาที่โกรธ. (ดูอธิบายที่ ๔๕)

ขันทะ (ม.; ส. สกนฺท) – นามเทวราชเจ้าสงคราม, โอรสพระศิวะมหาเทพ.

ขร [ส.]–อสูร, น้องทศกัณฐ์; พี่ให้ไปอยู่ชนะสถาน; ถูกศรพระรามตาย.

ขาณฑพ [ส. ขาณฺฑว] – ชื่อดง. และดินแดนริมฝั่งแม่น้ำยมุนา, ซึ่งท้าวธฤตะราษฎร์ ยกให้แก่ปาณฑพกษัตร์, และกษัตร์พวกนั้นไปสร้างนครอินทรปรัสถ์ขึ้นเปนที่อยู่. ดงนั้นถูกพระอัคนีเผา.

คงคา [ส.] – แม่น้ำใหญ่อันเปนที่นับถือมากที่สุดของพวกพราหมณ์, เพราะถือกันว่าต้นน้ำอยู่ในสวรรค์.

คชะ [ส.] – ชื่อทหารวานรตน ๑.

คชะเกศ [ส.] – “หัวช้าง” พระคเณศ.

คเณศ [ส. คเณศ], คเณศร [ส. คเณศฺวร] – เทวราชโอรสของพระศิวะมหาเทพ.

คันธะมาทน์ [ส. คนฺธมาทน] – นายทหารวานร, ลูกท้าวกุเวร.

คะวัย [ส.] – นายทหารวานรตน๑.

คะวากษ์ [ส.] – นายทหารวานร ตน ๑.

คาธิ [ส.] – ราชาครองนครกานยะกุพชะ; เปนโอรสท้าวกุศิก, และเปนบิดาพระวิศวามิตร์มุนีกับนางสัตยะวดี.

คุร์ชระราษฎร์ [ส. คุรฺชรราษฺฏฺร] – แคว้นในภารตะวรรษ (อินเดีย), ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่าคุชะรัฐ, (Gujarat).

คุหะ [ส.] – ราชาแห่งพวกนิษาท,. อยู่ในดินแดนริมฝั่งแม่น้ำคงคา; เปนมิตร์ของพระราม.

โคกุล [ส.] – ตำบล ๑ ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา, เปนที่อยู่ของกษัตร์ยาทพและพวกโคบาล.

โคดม [ส. โคตม] – ฤษีคน ๑ ในพวกฤษี ๗ ตน; เปนสามีนางอหลยา. – [ส. เคาตม] นามพระโคตร์ของพระพุทธเจ้า.

โคทาวารี [ส.] – ลำน้ำสำคัญลำ ๑ ซึ่งเปนที่นับถือของพราหมณ์; พระรามไปประทับอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนี้นานเมื่อผนวช.

โคบาล [ส. และ ม. โคปาล] – คนเลี้ยงโค นามพระกฤษณะเมื่ออยู่กับพวกเลี้ยงโค.

โคปี [ส.] – หญิงเลี้ยงโค, หรือเมียโคบาล, ซึ่งพระกฤษณะชอบเล่นด้วยเมื่อเด็ก ๆ, และชอบเกี้ยวและร่วมรักเมื่อเปนหนุ่ม.

โควรรธนะ [ส.] – ภูเฃาลูก ๑ ในตำบลพฤนทาพน, ซึ่งพระกฤษณะได้ยกขึ้นเปนฉัตร์กันฝนเมื่อพระอินทร์บันดาลให้ฝนตกใหญ่.

โควินท์ [ส.] – คนเลี้ยงโค. นามพระกฤษณะเมื่ออยู่กับพวกเลี้ยงโค.

จักรี, จักริน, [ส. จกฺรินฺ] – “ผู้ถือจักร”. นามพระนารายน์.

จัตุรพักตร์ [ส. จตุรฺวกฺตฺร] “สี่หน้า”. นามพระพรหมา.

จัตุรภุช [ส. จตุรฺภุช] – “สี่แขน”. นามพระนารายน์.

จิตระกูฎ [ส.] – “ยอดสีงาม”. เฃาที่อยู่ของพระวาลมีกิ, ผู้รจนาเรื่องรามายณะ.

จิตระรถ [ส.] – ราชาผู้ครองนครมฤตติกาวดี, ซึ่งกล่าวถึงในเรื่องปรศุรามาวตาร.

เจตระมาศ [ส. ไจตฺรมาศ; ม. จิตฺตมาส] – เดือน ๕.

ชฎายุ [ส. ชฏายุ] – นกสำคัญ, ลูกพญาครุฑ, เปนมิตร์ของท้าวทศรถ. (ดูอธิบายที่ ๕๗)

ชนก [ส.] – มหากษัตร์ผู้ครองนครมิถิลา, และเปนบิดานางสีดา; มีนามจำเพาะว่าศิระธวัช. (ดูอธิบายที่ ๔๑)

ชนะสถาน [ส.]– ดินแดนริมฝั่งแม่น้ำยมุนา, ที่พญาขรไปตั้งเมืองอยู่.

ชมทัคนี [ส. ชมทคฺนิ] – ฤษีภาร์ควะโคตร์, ลูกฤจิกและสัตยะวดี, .ผัวเรณุกา, และบิดาปรศุราม.

ชมพูทวีป [ส.] – มหาทวีป ๑ ในตำหรับภูมิศาสตร์โบราณ. เฃาพระสุเมรุ เปนสูนย์กลางแห่งทวีปนี้.

ชมพูมาลี [ส.] – นายทหารยักษ์,. ลูกประหัสต์.

ชยันต์ [ส.] – ขุนพลของท้าวทศรถ.

ชระ [ส. ชร] – พรานผู้ยิงพระกฤษณะตาย.

ชราสันธ์ [ส.] – ราชาแห่งมคธราษฎร์, ผู้ที่ยกทัพไปติดนครมถุราหลายคราว, จนพระกฤษณะต้องย้ายจากนครนั้น.

ชามพะวดี [ส. ชามฺพวติ] – ธิดาของชามพะวานจอมหมี; บิดายกให้พระกฤษณะ เมื่อรบชิงแก้วสยะมันตะกะกันและแพ้พระกฤษณะ.

ชามพะวาน [ส. ชามฺพวาน] – จอมหมี. ในรามายณะกล่าวว่าได้ไปในกองทัพของพระรามที่ไปตีเมืองลงกา, และได้ช่วยรักษาพระรามเมื่อถูกศร, ในปุราณะต่าง ๆ ว่ารบแย่งแก้วสยะมันตะกะกับกฤษณะ, และแพ้แล้วยกธิดาให้กฤษณะ.

ชาวาลี [ส.] – ฤษีตน ๑ ซึ่งทำพิธีอัศวเมธของท้าวทศรถ.

ตะมะสา [ส.] – ลำน้ำ ๑, ซึ่งไหลจากเฃาฤกษะคีรีไปลงแม่น้ำคงคา.

ตาฑะกา [ส.] – รากษสีผู้มีฤทธิ์มาก, ได้ต่อสู้กับพระรามและพระลักษมณ์. เปนแม่สุวาหุและมารีจ,

ตาระ [ส.] – นายทหารวานร, ลูกพระพฤหัสบดี,

ตุงคีศะ [ส.]– “เปนใหญ่เหนือภูเฃา”. นามที่พระกฤษณะได้โดยยกเฃาโควรรธนะ.

ไตต์ติริยะ [ส.] – นามคัมภีร์รวมคาถาแห่งยัชุรเวท. (ดูอธิบายที่ ๑๓)

ตรีชฎา [ส. ตรีชฏา] – นางรากษสีที่อยู่กับนางสีดาในสวนอโศก, และใจดีต่อนางสีดา (ดูอธิบายที่ ๖๓)

ตรีบุรัม [ส. ตฺรีปุราสุร] – อสูรซึ่งได้พรพระเปนเจ้าแล้วกำเริบ, ถูกพระศิวะมหาเทพสังหาร.

ตรีเศียร [ส. ตฺรีศิรสฺ] – (๑) อสูรผู้เปนขุนพลของพญาขร; ถูกพระรามฆ่าตายที่ชนะสถาน; (๒) ลูกทศกัณฐ์, ตายในที่รบหน้าเมืองลงกา.

ไตรดายุค [ส. เตฺรตายุค] – ยุคที่ ๒ แห่งกัลป์.

ทักษะ [ส.] – ฤษีประชาบดี, เปนบิดานางสตี, ซึ่งในชาติหลังกำเนิดเปนพระอุมา. มีเหตุวิวาทกับพระศิวะเปนเรื่องใหญ่โต. (ดูอธิบายที่ ๓๙)

ทัตตะไตรย [ส. ทตฺตเตฺรย] – ฤษี, โอรสพระอัตริประชาบดีกับนางอนะสูยา, และบิดาพระทุรวาส.

ทัณฑัก [ส.] – ดงใหญ่ในระหว่างแม่น้ำโคทาวารีกับนรรมะทา. ในดงนี้มีสำนักดาบสอยู่หลายแห่ง, เปนที่พระราม, นางสีดา, และพระลักษมณ์ไปท่องเที่ยวอยู่ถึง ๑๐ ปี.

ทศกัณฐ์, ทศพักตร์, ทศเศียร [ส. แผลง] – “สิบคอ”,“สิบหน้า”, “สิบหัว”, เปนชื่อเรียกท้าวราพณาสูรผู้มีลักษณะเช่นนั้น.

ทศรถ [ส.] – “สิบรถ”, คือชำนะกษัตร์มหารถได้ ๑๐ คน. เปนนามราชาสุริยวงศ์ผู้ทรงราชย์ในอโยธยา, แคว้นโกศล, เปนโอรสท้าวอชะ, และเปนพระบิดาพระราม, พระลักษมณ์, พระศตรุฆน์, และพระภรต.

ทานพ [ส. ทานว] – พวกอสูร ลูกนางทนุกับพระกัศยปประชาบดี.

ทาโมทร [ส.] – “พุงเชือก”, นามพระกฤษณะ.

ทุรวาส [ส. ทุรฺวาสสฺ] – “นุ่งห่มปอน.” ฤษีสำคัญ, ลูกพระทัตตะไตรยมุนี; .เปนคนโทโษร้าย; เปนต้นเหตุแห่งกูรมาวตาร, (ดูอธิบายที่ ๑๐).

ทูษณ์ [ส.ทูษณ] – น้องพญาขร. ไปรบพระราม และตายที่ชนะสถาน.

เทวกี [ส.] – ธิดาอาหุกะ, กษัตร์จันทรวงศ์, ยาทพโคตร์; เปนมเหษีของวสุเทพ, และมารดาพระกฤษณะ.

เทวราต [ส.] – ราชฤษี, กษัตร์สุริยวงศ์แห่งนครมิถิลา; เปนผู้รับรัตนะธนูจากพระอิศวร.

เทวานตัก [ส. เทวานฺตก] – ลูกทศกัณฐ์.

แทตย์ [ส. ไทตฺย] – พวกอสูรลูกนางทิติกับพระกัศยปประชาบดี.

ทวาบรยุค [ส. ทฺวาปรยุค] – ยุคที่ ๓ แห่งกัลป์.

ทวารกา [ส. ทฺวารกา], และทวาราวดี [ส. ทวาราวติ] กรุงที่พระกฤษณะสร้างขึ้นใหม่ชายมหาสมุท ในแคว้นทุรชระราษฎร์.

ทวิวิท [ส.] – นายทหารวานร, ลูกพระอัศวิน.

ธตรฐ [ม. ธตรฏฺฺ] – ดูที่ “ธฤตะราษฎร์”

ธันวันตะรี [ส. ธนฺวนฺตรี] – นายแพทย์สวรรค์, ผู้ถือผอบน้ำอมฤตผุดขึ้นจากเกษียรสมุท.

ธรณี [ส.] (๑) แผ่นดิน; (๒) ดอกบัวที่พระนารายน์ถือ.

ธรรมบาล [ส. ธรฺมปาล] – ตุลาการของท้าวทศรถ.

ธาดา [ส. ธาตฺฤ. หรือธาตา] – พระพรหมา.

ธูมรากษ์ [ส. ธูมฺรากฺษ] – “ตาควัน”. นายทหารเมืองลงกา.

ธฤตะราษฎร์ [ส. ธฺฤตราษฏฺร] – “เมืองมั่น”. กษัตร์จันทรวงศ์ครองหัสตินาปุระ, บิดาของพวกโกรพกษัตร์. (ดูอธิบายที่ ๗๖)

ธฤษฏิ [ส.] – ขุนพลของท้าวทศรถ.

นันทะ [ส.] – นายโคบาล, พ่อเลี้ยงพระกฤษณะ.

นันทกะ [ส.] – ชื่อดาพของพระนารายน์.

นันทนะ [ส.] – สวนของพระอินทร์.

นันทิคราม [ส.] – ตำบลที่พระภรตไปประทับคอยพระรามระหว่างที่จากพระนครไป ๑๔ ปี.

นรกาสูร [ส.] – พญาอสูรที่ไปเที่ยวลักสตรีจากที่ต่าง ๆ ไปขังไว้และทำชั่วอย่างอื่นๆ; พระอินทร์เชิญพระกฤษณะไปปราบ, แล้วพระกฤษณะได้นาง ๑๖๑๐๐ คน.

นรานตัก [ส. นรานฺตก] – ลูกทศกัณฐฺ.

นล [ส.] – พญาวานร, ลูกพระวิศวกรรมา. เปนผู้อำนวยการจองถนนให้พระรามยกพลข้ามไปเกาะลงกา, ในรามเกียรติ์เรียก “นิลพัทธ์”.

นาคบาศ [ส.] – “บ่วงงู”. (๑) ศรของอินทรชิต; (๒) บ่วงของพาณาสูร, ราชาแห่งโสณิต.

นารท [ส. นารท] – พรหมฤษี, ประชาบดี, และเปนตน ๑ ในฤษี ๗ ตน, นัย ๑ ว่าเกิดจากพระนลาศของพระพรหมา, แต่วิษณุปุราณะว่าเปนโอรสพระกัศยปประชาบดี. เปนผู้คิดสร้างพิณ, และเปนใหญ่เหนือพวกคนธรรพ. จึ่งได้นามว่า “ปรคนธรรพ”. เปนผู้ชอบเที่ยวเตร็จเตร่ในโลกและเก็บข่าวไปเที่ยวเล่า, จึ่งได้ชื่อว่า “ปิศุนะ”, คือ “ปากบอน”.

นิกุมภะ [ส.] – ลูกทศกัณฐ์.

นิกุมภิลา [ส.] – พิธีปลุกตัวและชุบศร ซึ่งอินทรชิตทำที่ทุ่งกุมภิลา.

นิมิ [ส.] – ประถมกษัตร์แห่งมิถิลา

นิล [ส. นีล] – พญาวานร, ลูกพระเพลิง. ในรามเกียรติ์เรียกว่า “นิลนนท์.”

บาดาล [ส. ปาตาล] – โลกใต้พื้นโลกมนุษ. มีแผ่นดิน ๗ ชั้น. (ดูอธิบายที่ ๑๘)

บุรุษ [ส. ปุรุษ] – (๑) ผู้ชายทั่ว ๆ ไป; (๒) ชายคนที่ ๑ ที่พระเปนเจ้าสร้างขึ้น, คือพระนารายน์.

บุรุโษดม [ส. ปุรุโษตฺตม] – “ชายเลิด”. นามเรียกพระนารายน์.

บุษบก [ส. ปุษฺปก] – “กอบด้วยดอกไม้.” ชื่อรถของท้าวกุเวรที่ทศกัณฐ์แย่งเอา, และพิเภษณ์ถวายพระรามทรงกลับนคร.

ปัญจะชันยะ [ส.] – (๑) อสูรซึ่งอยู่ในหอยศังข์ที่ก้นมหาสมุท พระกฤษณะลงไปฆ่าตาย; (๒) ศังข์ของพระกฤษณะ, ทำด้วยเปลือกหอยอันเปนที่อาศัยของปัญจะชันยาสูร.

ปัญจะวฏี [ส.] – ตำบลริมฝั่งแม่น้ำโคทาวารี, ที่พระรามไปตั้งอาศรมอยู่เมื่อศูรปะนฃาไปพบ.

ปัทมะ [ส.] – ดอกบัวหลวง. เปนนามกัลป์สุดท้ายแห่งปะราร๎ทธะที่ ๑.

ปัมปา [ส.] – ชื่อลำน้ำที่ตกจากเขาฤษยะมูกไปลงลำน้ำตุงคะภัทร์; ชื่อทเลสาปใกล้ที่นั้น.

ปะระ [ส.] – ชนมายุของพระพรหมา, ดังอธิบายไว้ในคำนำ.

ปรพรหม [ส. ปรพฺรหฺม] – พระผู้เปนใหญ่ยิ่ง; พระเปนเจ้าองค์เดิม, ซึ่งแบ่งภาคออกเปนพระนารายน์, พระศิวะ, และพระพรหมา.

ปรศุราม [ส.] – “รามขวาน” อวตารปางที่ ๖ ของพระนารายน์. โอรสพระชมทัคนีกับนางเรณุกา, ภาร์ควะโคตร์.

ปะราร๎ทธะ [ส. ปรารฺทธฺ] – “กึ่งปะระ”, คือกึ่งชนมายุของพระพรหมา. ปะราร๎ทธะที่ ๑ ได้ล่วงไปแล้ว, เวลานี้อยู่ในปะราร๎ทธะที่ ๒.

ปรรชันยะ [ส. ปรฺชนฺย] – เทวดาเจ้าฝน.

ปาณฑพ [ส. ปาณฺฑว] – กษัตร์ ๕ องค์ผู้ที่สมมติว่าเปนโอรสท้าวปาณฑุ, มหากษัตร์จันทรวงศ์ผู้ครองนครหัสตินาปุระ. (ดูอธิบายที่ ๘๖)

ปาณฑุ [ส.] – “ซีด”. มหากษัตร์จันทรวงศ์ ผู้เปนบิดาพวกปาณฑพกษัตร์.

ปายาส [ส.] – ฃ้าวหุงด้วยนม. “ฃ้าวทิพย์”.

ปาริชาต [ส.] – ต้นไม้วิเศษที่เกิดขึ้นจากเกษียรสมุทเมื่อเทวดากวนอมฤต. เทวดายกให้พระอินทร์, และพระอินทร์เอาไปปลูกไว้กลางสวนนันทนะอุทยาน, เปนต้นไม้โปรดยิ่งของพระศจี, พระกฤษณะขะโมยเอาไป.

ปุราณะ [ส.] – “เก่า”. เปนชื่อหนังสือซึ่งแต่งขึ้นแถลงเรื่องเก่า, เนื่องด้วยพระเปนเจ้าต่างๆ

ปุโรหิต [ส.] – หัวหน้านักบวชประจำราชสำนักพระราชาธิบดี.

ปุลัสตยะ [ส.] – ประชาบดี; ๑ ในฤษี ๗ ตน.

ปุละหะ [ส.] – ประชาบดี; ๑ ในฤษี ๗ ตน.

ประเจตัส [ส.] – ประชาบดี; ๑ ในฤษี ๗ ตน.

ประชาบดี [ส.ปฺรชาปติ] – “ผู้เปนใหญ่เหนือประชา.” ผู้สร้างสัตว์ทั้งหลาย, ใช้เรียกพระพรหมา, หรือฤษีผู้เปนมานะสาบุตร์ของพระพรหมา, ผู้ได้รับมอบให้สร้างมนุษและอมนุษทั่วไป. บางตำหรับว่าพระมนูสวายัมภูวเปนผู้ให้ประชาบดีมีกำเนิดขึ้น. (ดูอธิบายที่ ๘)

ปรัทยุมนะ [ส. ปฺรทฺยุมฺน] – ลูกพระกฤษณะกับนางรุกมิณี, และเปนบิดาพระอนิรุทธ.

ประยาค [ส. ปฺรยาค] – ที่แม่น้ำยมุนาไหลลงแม่น้ำคงคา; ที่เมืองอัลลาหะบัดตั้งอยู่ณกาลบัดนี้.

ประลัย [ส.] – ความแตกทำลาย. โลกแตก.

ปรัศระวัณ [ส. ปฺรศฺรวณ] – เฃาฃ้างนครกีษกินธา, ที่พระรามไปพักอยู่เมื่อรอฟังข่าวนางสีดา.

ประเสนะ [ส.] – น้องสัตราชิต, เจ้าของแก้วสยมันตะกะ.

ประเสนะชิต [ส.] – ท่ออกนามในลิลิตนี้ คือราชาเกาศิกวงศ์ผู้เปนบิดานางเรณุกา.

ประหัสต์ [ส.] – “มือยาว.” ขุนพลของทศกัณฐ์.

ประหลาท [ส. ปฺรหลาท] – ลูกหิรัณยะกศิปุ. (ดูอธิบายที่ ๑๔)

พลเทพ [ส. พลเทว] – นาม ๑ ของพระพลราม.

พลราม [ส. พลราม] – กษัตร์ยาทพ, โอรสวสุเทพกับนางโรหิณี, ที่พระกฤษณะ. (ดูอธิบายที่ ๗๘ และ ๘๑)

พลี [ส.] – (๑) สิ่งที่อุทิศถวายเทวดาหรือพระเจ้าแผ่นดิน; (๒) นามพญาอสูร, ลูกวิโรจน์, หลานประหลาท; เปนอสูรตัวสำคัญในเรื่องวามนาวตาร;

พาณ [ส.] – “ลูกศร”. นามพญาอสูร, ลูกท้าวพลี; เxนราชาครองโสณิตปุระ, และเปนพ่อนางอุษา.

พายวาสตร์ [ส. วายวาสฺตฺร] – “อาวุธของพระพายุ”. ศรของพระราม.

พาลี [ส.] – ราชาแห่งวานร, ครองนครกีษกินธา. เปนลูกพระอินทร์, พระรามฆ่าตาย.

พิจิตรเลขา [ส.] – นางพี่เลี้ยงของนางอุษา. อีกนัย ๑ เรียกว่า “ศุภลักษณ์.”

พิเภษณ์ [ส. วิภีษณ] – อสูร, โอรสพระวิศระวัสกับนางไกกะสี, น้องทศกัณฐ์. (กำเนิดพิเภษณ์, ดูอธิบายที่ ๑๕)

พิษณุ, พิษณู, [ส. วิษฺณุ] – พระเปนเจ้าผู้ถนอมโลก. โดยมากเรียกว่าพระนารายน์.

พฤนทาพน [ส. วฺฤนฺทาวน] – ตำบล ๑ ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา. เปนที่อยู่ของพระกฤษณะและพวกโคบาล.

พฤษภ [ส. วฺฤษภ] – โคผู้. เปนนาม ๑ ซึ่งใช้เรียกพระนารายน์.

พฤหัสบดี [ส. วฺฤหสฺปติ] – เทพฤษี, ปุโรหิตของเทวดา. ลูกพระอังคิรสมุนี; มีมเหษีชื่อดารา, ซึ่งพระจันทร์ลักเอาไปเสพย์สังวาศ, จึงกำเนิดพระพุธ; พระพฤหัสบดีเปนบิดาพระภรัทวาชมุนีโดยนางมะมตี.

เพ็ชรทนต์ [ส. วชฺรทนฺษฏฺร] – นายทหารเมืองลงกา; ตายในที่รบหน้าเมืองนั้น.

ไพษณพ [ส. ไวษฺณว] – พวกพราหมณ์ที่ถือพระพิษณุ.

พรหม [ส.] – “ผู้ให้กำเนิด”.

พรหมจารี [ส.] – พราหมณ์ผู้บวชชั้นต้น, เปนผู้ศึกษาพระเวทและปฏิบัติอาจารย์ผู้สอน. (ดูอธิบายที่ ๑๗).

พรหมราตรี [ส.] – คืนของพระพรหมา, เปนเวลายาวเท่า ๑ กัลป์. (ดู กัลป์)

ภคะวัต [ส.] – “เปนที่นับถือ, เลิด”. ใช้เรียกพระนารายน์.

ภรต [ส. ภรต] – “ผู้ค้ำจุน”. ในรามายณะ คือโอรสท้าวทศรถกับนางไกเกยี. (ไทยเรามักออกสำเนียงนามนี้ว่า “พรด”, แต่ที่ถูกควรเปน “ภะรต”).

พรหมา [ส.] – พระเปนเจ้าผู้สร้าง.

พรหมาณฑ์ [ส.] – “ใข่พรหม” (ดูอธิบายที่ ๔).

พรหมาสตร์ [ส.] – “อาวุธของพระพรหมา”. เปนศรของพระราม, พระลักษมณ์, และอินทรชิต.

ภรัทวาช [ส. ภรทฺวาช] – ฤษี,. โอรสพระพฤหัสบดี. ในรามายณะว่าอยู่ที่ตำบลประยาค, และพระรามได้ไปหาที่นั่น. เปนต้นโคตร์ของพวกพราหมณ์ภารัทวาช.

ภาคะวัต [ส.] – “เนื่องด้วยภคะวัต”. นามแห่งปุราณะคัมภีร์ ๑.

ภาร์ควะ [ส. ภารฺคว] – “เผ่าภฤคุ”. มักใช้เรียกพระศุกร์เทพฤษีและปรศุราม.

ภีษมะกะ [ส.] – ราชาแห่งวิทรรภ, บิดานางรุกมิณี.

มังกะรากษ์ [ส.] – ลูกพญาขร. พระรามฆ่าตายที่หน้าเมืองลงกา. (ดูอธิบาย ที่ ๖๘)

มณฑลนฤตยะ [ส. มณฺฑลนฺฤตฺย] – “ระบำเปนวง”. ของพระกฤษณะโปรดเล่น.

มณโฑทะรี [ส. มณฺโฑทรี] – ธิดามยาสูร, มเหษีของทศกัณฐ์.

มัตสยะ, มัตสยา, [ส. มตฺสฺย] – ปลา. อวตารปางที่ ๑ ของพระนารายน์

ภีมะ [ส.] – แขงแรง”, ปาณฑพกษัตร์องค์ ๑ (ดูอธิบายที่ ๘๖)

ภฤคุ [ส.] – ประชาบดี; ๑ ในฤษี ๗ ตน.

มถุรา [ส.]– นครใหญ่. ตั้งอยู่ฝั่งขวาแห่งแม่น้ำยมุนา, เดี๋ยวนี้มีเมืองย่อม ๆ อยู่ตรงนั้นเรียกว่า “มัตตรา”. เปนเมืองชาวอินเดียนับถือ, เพราะเปนที่กำเนิดของพระกฤษณะ. พระศัตรุฆน์เคยได้ไปครองเมืองนี้ด้วย.

มนู [ส.] – “ผู้สร้างมนุษ” (ดูอธิบายที่ ๘)

มันถรา [ส. มนฺถรา] – นางค่อมฃ้าหลวงนางไกเกยี, ที่ยุยงให้ไกเกยีก่อเหตุจนพระรามต้องออกจากอโยธยาเฃ้าไปอยู่ในป่า ๑๔ ปี. (ดูอธิบายที่ ๔๔)

มันทร [ส. มนฺทร] – ภูเขาที่เทวดาใช้เปนไม้หมุนกวนเกษียรสมุท, ดังกล่าวไว้ในเรื่องกูรมาวตาร.

มัย [ส. มย], มยาสูร – แทตย์ผู้เปนช่างเอกมีฝีมือเทียมทันพระวิศวกรรมา. ได้สร้างเมืองมายาอันเปนเมืองงามและอัศจรรย์ต่าง ๆ. เปนพ่อนางมณโฑทะรี. ได้บังอาจลักเอานางฟ้าชื่อเหมาลงมาไว้ที่เมืองมายา, พระอินทร์จึ่งตามลงมาฆ่าตาย.

มะรีจิ [ส.] – ประชาบดีและมานะสาบุตร์ของพระพรหมา; ๑ ในฤษี ๗ ตน.

มรรกัณไฑย [ส. มรฺกณฺเฑยะ] – ฤษีซึ่งออกนามในรามายณะว่าเปนที่นับถือของท้าวทศรถ.

มลัช [ส. มลช] – ดินแดน ๑ ซึ่งพระรามได้ผ่านไปพร้อมด้วยพระวิศวามิตร์.

มลัย [ส. มลย] – เทือกเขาในทักษิณเทศ, ซึ่งสุครีพไปอาศัยอยู่เมื่อถูกเนรเทศจากกีษกินธา.

มหาตม์ [ส. มหาตฺม] – ผู้วิเศษ.

มหาเทพ [ส. มหาเทว] – เปนศัพท์ใช้เรียกพระศิวะเปนเจ้า.

มหาปรรศวะ [ส. มหาปรฺศฺว] – “สีฃ้างโต”. อมาตย์ของทศกัณฐ์.

มหาภารตะ [ส.] – หนังสือแสดงเรื่องงานสงครามใหญ่ระหว่างปาณฑพและโกรพกษัตร์เพื่อแย่งความเปนใหญ่ในหัสตินาปุระ. นัยว่าพระวยาส (รจนาจารย์) ชื่อกฤษณะไทวปายนเปนผู้แต่ง. นักปราชญ์สันนิษฐานว่าได้แต่งต่อแต้มเติมกันหลายคน, และว่าได้แต่งขึ้นภายหลังหนังสือรามายณะราว ๑๐๐ ปี. มหาภารตะแบ่งเปน ๑๘ บรรพดังต่อไปนี้:– (๑) อาทิบรรพ (๒) สภาบรรพ (๓) วนะบรรพ (๔) วิราฏะบรรพ (๕) อุโท๎ยคะบรรพ (๖) ภีษมะบรรพ (๗) โท๎รณะยรรพ (๘) กรรณะบรรพ (๙) ศัลยะบรรพ (๑๐) เสาป๎ติกะบรรพ (๑๑) สตรีบรรพ (๑๒) ศานติบรรพ (๑๓) อนุศาสนะบรรพ (๑๔) อัศวะเมธิกะบรรพ (๑๕) อาศรมบรรพ (๑๖) เมาสลบรรพ (๑๗) มหาประสถานิกะบรรพ (๑๘) สวรรคาโรหณะบรรพ.

มหิษมะดี [ส. มหิษฺมติ] – นครหลวงของไหหัยราช, มีท้าวอรชุนการ์ตะวีรยะเปนต้น.

มเหนทร [ส. มเหนฺทร] – (๑) นามใช้เรียกพระอินทร์ (๒) ชื่อเฃาเทือก ๑ ซึ่งยืดจากแคว้นคนทวานะถึงแคว้นโอริสสะในประเทศอินเดีย.

มโหทัย [ส. มโหทย] – เขาสรรพยา, ซึ่งในรามายณะกล่าวว่าอยู่ที่เทือกเฃาหิมาลัย. เฃาลูกนี้มียาวิเศษ ๔ อย่าง. (ดูอธิบายที่ ๖๗)

มโหทร [ส.] – “ท้องโต”, อมาตย์ของทศกัณฐ์

มาณฑวี [ส. มาณฺฑวี] – ธิดาท้าวกุศะธวัช, ได้อภิเษกสมรสกับพระภรต.

มานะสาบุตร [ส. มานสาปุตฺรสฺ] – “ลูกเกิดแต่มโน” (ของพระพรหมา); มีจำนวน ๗ หรือ ๑๐ ตน. (ดูอธิบายที่ ๗)

มานวันตร [ส. มานฺวนฺตร] – สมัยของมนู, มีกำหนด ๔,๓๒๐,๐๐๐ ปีมนุษ.

มายา [ส.] – (๑) หลอกลวง, ของที่ทำให้มีขี้นโดยโยควิธี; (๒) เมืองที่มยาสูรสร้างขึ้น

มายาวี [ส. มายาวินฺ] – ผู้เชี่ยวชาญในการมายา.

มิถิลา [ส.] – นครหลวงแห่งแคว้นวิเทห (North Bihar), ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำคันทะกีและโกศี. เปนราชธานิของท้าวชนกสุริยวงศ์, และบางทีก็เรียกว่าชนกปุระ.

มุจุกุนท์ [ส.]– เปนกษัตร์, ลูกท้าวมนธาตุราช, ได้ไปช่วยเทวดารบอสูร, จึ่งได้รับพรให้หลับได้นานๆ โดยไม่ตื่น, และถ้าผู้ใดไปถูกต้องตัวในเวลาหลับก็ให้ตายด้วยไฟที่พลุ่งออกมาจากกาย. พระกฤษณะล่อท้าวกาละยวันให้เฃ้าไปในถ้ำที่มุจุกุนท์นอนอยู่, จึ่งถูกไฟเผาตาย, ดังเล่าไว้ในเรื่องกฤษณาวตาร.

มฤตติกาวะดี [ส. มฺฤตฺติกาวติ] – นครของท้าวจิตระรถ.

มฤตยู [ส. มฺฤตฺยุ] – ความตาย. นามเรียกพระยม, ผู้เปนเจ้าแห่งความตายและเปนใหญ่ในบาดาล. ไทยเรามักเรียกตามภาษามคธว่า “ท้าวมัจจุราช”.

แมนทะ [ส. ไมนฺท] – นายทหารวานร, ลูกพระอัศวิน.

ไมถิลี [ส.] – “นางชาวมิถิลา”. เปนนามใช้เรียกนางสีดา.

ยัชุรเวท [ส.] – พระเวทที่ ๒. (ดูอธิบายที่ ๓๓)

ยัญ, ยัญญะ [ม. ยฺ; ส. ยชฺ) – การบวงสรวง, บูชาเทวดา.

ยัญเญศ, ยัญเญศวร, [ส. ยชฺเศ, ยชฺเศฺวร] – “เปนใหญ่ในการยัญ”, นามเรียกพระนารายน์.

ยม [ส.] – เทวดาผู้เปนเจ้าแห่งความตาย, และเปนโลกะบาลทิศใต้. เปนโอรสพระวิวัสวัต (พระอาทิตย์) กับนางสัญญา, และเปนบิดาท้าวยุธิษเฐียร. เปนใหญ่ในบาดาล, นครหลวงชื่อยมปุระ.

ยมุนา [ส.] – แม่น้ำสำคัญลำ ๑ ในมหานทีทั้ง ๗. เปนธิดาพระวิวัสวัตกับนางสัญญา, และเปนน้องสาวพระยม. ในภูมิศาสตร์ฝรั่งเรียกลำน้ำนี้ว่า “Jumna”

ยโสทา [ส.] – ภรรยาของนันทะโคบาล, แม่เลี้ยงพระกฤษณะ.

ยุค [ส.] – ชั่วเวลา, สมัย. มี ๔, คือ (๑) กฤตะยุค (๒) ไตรดายุค (๓)ทวาบรยุค (๔) กลียุค. ยุคทั้ง ๔ นี้รวมกันเปน ๑ มหายุคหรือมันวันตร, คือ ๔,๓๒๐,๐๐๐ ปี. ๑๐๐๐ มหายุคเปน ๑ วันของพระพรหมา, และพรหมราตรีก็ยาวเท่ากัน, ๑ วันกับ ๑ คืนของพระพรหมาเปน ๑ กัลป์, คือ ๘,๖๔๐ ล้านปีมนุษ.

ยุธิษเฐียร [ส. ยุธิษฺิร] – พี่คนใหญ่ในพวกปาณฑพกษัตร์. เปนลูกพระยมกับนางกุนตี. (ดูอธิบายที่ ๘๖) ในชั้นต้นได้เปนมหากษัตร์ทรง ราชย์ในอินทรปรัสถ์นคร; เมื่อได้มีชัยในมหาภารตรยุทธ์แล้ว ได้ทรงราชย์ในหัสตินาปุระ.

โยคะนิทรา [ส.] – “ความหลับโดยสกด.” เปนมายาศักดิ์ของพระนารายน์. (ดูอธิบายที่ ๗๗)

ราฆพ [ส. ราฆว] – “เผ่าระฆุ.” ระฆุเปนวีระกษัตร์องค์ ๑ ในสุริยวงศ์แห่งอโยธยา. (ดูอธิบายที่ ๔๑) ศัพท์ “ราฆพ” โดยมากใช้เรียกพระรามจันทร์.

ราชคฤห [ส.] – นครหลวงของท้าวอัศบดี.

ราชัน [ส. ราชนฺ] – เจ้านาย, เชื้อเจ้านาย.

ราชะสูยะ [ส.] – พิธีใหญ่ซึ่งมหากษัตร์กระทำเพื่อเผยแผ่อานุภาพ, เชิญกษัตร์ทั้งที่เปนญาติและที่เปนเจ้าต่างแดนไปชุมนุมพร้อมกัน.

ราธา [ส.]– ภรรยาอายัณโฆษโดบาล, เปนโคปีตัวโปรดของพระกฤษณะ, มักจับระบำด้วยเสมอ. พวกพราหมณ์บูชานางราธาคู่กับพระกฤษณะ.

ราพณ์ [ส. ราวณ], ราพณาสูร – พญารากษส, ราชาครองนครลงกา; ลูกพระวิศระวัสกับนางไกกะสี. (กำเนิดราพณ์, ดูอธิบายที่ ๑๕) มีสิบหัว, ญี่สิบกร; มีฤทธิ์เดชมาก, ปราบเทวดาได้, แต่แพ้ท้าวอรชุนการ์ตะวีรยะ, และในที่สุดตายด้วยศรพระราม.

ราม [ส.] – “งาม” (๑) นามอวตารปางที่ ๖ ของพระนารายน์, ซึ่งเรียกว่าปรศุราม. (๒) นามอวตารปางที่ ๗ ของพระนารายน์, ซึ่งเรียกว่ารามจันทร.

รามจันทร [ส.]– ปางที่ ๗ ของพระนารายน์. เปนวีระกษัตร์สุริยวงศ์, โอรสท้าวทศรถกับนางเกาศัลยา.

รามายณะ [ส.] – “เรื่องกิจการของพระราม”, พระวาลมีกิมุนีเปนผู้รจนา. หนังสือนี้นัยว่าแต่งขึ้นราว ๆ ก่อนพระพุทธเจ้าของเราประสูติไม่ช้านัก, คือราว ๒๕๐๐ ปีล่วงมาแล้ว, แบ่งเปน ๗ กัณฑ์ ดังต่อไปนี้:– (๑) พาละกัณฑ์ (๒) อโยธยากัณฑ์ (๓) อรัณยะกัณฑ์ (๔) กีษกินธากัณฑ์ (๕) สุนทรกัณฑ์ (๖) ยุทธะกัณฑ์ (๗) อุตตรกัณฑ์.

รุกมิณี [ส. รุกฺมิณี] – ธิดาท้าว ภีษมะกะ, ราชาแห่งวิทรรภ, และเปนมเหษีเอกของพระกฤษณะ. ว่าเปนพระลักษมีอวตาร.

รุกมิน [ส. รุกฺมินฺ] – โอรสท้าวภีษมะกะ, ราชาแห่งวิทรรภ, พี่ชายของนางรุกมิณี.

รุทระ [ส. รุทฺร] – “ผู้ร้องดัง; ในชั้นเดิมในพระเวทว่าเปนเจ้าแห่งพายุและฟ้าคนอง. ต่อมาใช้เปนนามพระศิวะเปนเจ้าเสียโดยมาก, เช่นในรามายณะก็ใช้ “รุทระ” เปนนามพระศิวะ. บางอาจารย์ว่ารุทระมีถึง ๑๑ องค์, เปนลูกพระกัศยปประชาบดีกับนางสุรภี. อีกนัย ๑ ว่าเกิดจากพระนลาศของพระพรหมา.

รุมัณวัต [ส. รุมณฺวต] – ลูกคนใหญ่ของพระชมทัคนี และนางเรณุกา. ขัดคำสั่งบิดา, ไม่ยอมฆ่าแม่, ถูกพ่อสาปให้วิกลจริต, แต่ปรศุรามผู้เปนน้องแก้ไขให้กลับคืนดี.

เรณุกา [ส.] – นางกษัตริย์, ธิดาท้าวประเสนะชิต, ราชาเกาศิกวงศ์แห่งนครกานยะกุพชะ, และเปนมารดาของพระชมทัคนี, เปนมารดาของปรศุราม.

โรหิณี [ส.] – (๑) มเหษีตัวโปรดของพระจันทร; (๒) ธิดาท้าวอาหุกะ, ยาทพโคตร์; มเหษีวสุเทพ, และมารดาพระพลราม.

ลักษมัณ [ส. ลกฺษฺมณ] – โอรสท้าวทศรถกับนางสุมิตรา, และพระอนุชาคู่ทุกข์ของพระราม.

ลักษมี [ส. ลกฺษฺมิ] – โชคดี, เจริญ, มั่งมี, สง่า; เปนนามของเทวีผู้เปนมเหษี พระวิษณุ.

ลงกา [ส.] – (๑) ชื่อเกาะและนครหลวงของท้าวราพณ์ (๒) ชื่อนางเสื้อเมืองแห่งนครนั้น.

โลมะบาท [ส. โลมปาท] – ราชาแห่งองคราษฎร์, พ่อตาพระฤษยะศฤงค์.(ดูอธิบายที่ ๓๐)

วัชระ [ส.] – แก้ว; “ก้อนฟ้าผ่า”. อีกนัย ๑ เปนอาวุธของพระอินทร์.

วัชระนาภ [ส.] – จักร์ซึ่งพระเพลิงให้พระกฤษณะ.

วัชรี, วัชริน, [ส. วชฺรินฺ] – “ผู้ถือวัชระ”. พระอินทร์.

วราห [ส.] – หมูป่า. อวตารปางที่ ๓ ของพระนารายน์.

วรุณ [ส.] – ในพระเวท พระวรุณเปนเทวะราชอันครอบงำทั่วไป, เปนฟ้า, เปนผู้สร้างและถนอมทั้งฟ้าและดิน, เปนเจ้าแห่งเทวะดาและมนุษ, เปนผู้รอบรู้หาที่สุดมิได้, เปนที่นับถืออย่างเอกอุ. ต่อ ๆ มากลายเปนหัวหน้าพวกอาทิตย์ (เทวดาลูกนางอทิติ), เปนเจ้าแห่งน่านน้ำทั้งหลาย, มีมังกรเปนพาหนะ, มีปลาเปนธง, และเปนโลกะบาลประจำทิศตวันตก.

วสิษฐ [ส.] – “มั่งคั่ง”. เปนตน ๑ ในฤษี ๗ ตน, และเปนประชาบดีมานะสาบุตร์ของพระพรหมา. เปนเจ้าของนางโคชื่อนันทินีหรือกามะเธนุ, ซึ่งเรียกได้ว่า “โคสรรพัตนึก”, เพราะเมื่อเจ้าของอยากได้อะไรก็เรียกเอาจากโคนั้นได้. เปนปุโรหิตของกษัตริย์สุริยวงศ์ ซึ่งทรงราชย์ในนครอโยธยา.

วสุเทพ [ส. วสุเทว] – กษัตร์ยาทพโคตร์, จันทรวงศ์; ลูกท้าวศูระ, และเปนบิดาพระกฤษณะและพระพลราม. (ดูอธิบายที่ ๗๖)

วานะปรัสถ์ [ส.] – พราหมณ์อรัญวาสี, (ดูอธิบายที่ ๑๗)

วามะเทพ [ส. วามเทว] – ฤษีผู้เปนอาจารย์ประจำในราชสำนักแห่งท้าวทศรถ.

วามน [ส.] – “เตี้ย, แคละ, เล็ก, จ้อย”. เปนนามแห่งอวตารปางที่ ๕ ของพระนารายน์.

วารุณี [ส.] – เทวีผู้เปนเจ้าแห่งเหล้า. ได้เกิดขึ้นมาจากเกษียรสมุทเมื่อเทวดากวนน้ำอมฤต, ดังแถลงไว้ในเรื่องกูรมาวตาร. เทวีนี้เปนมเหษีของพระวรุณ, และมีนามอีกด้วยว่า “มทา” (ความเมา) และ “สุรา”.

วาลมีกิ [ส.] – มุนีและฤษี, ผู้รจนาเรื่องรามายณะ. เปนลูกพระวรุณ, ในชั้นต้นชอบคุยกับพวกชาวป่าและโจร. อยู่มาณกาลครั้ง ๑ ได้ประทุษร้ายพระฤษี ๗ ตน, พระฤษีนั้น ๆ จึ่งว่ากล่าวสั่งสอนให้รู้สึกผิด แล้วแลสอนให้ท่องมนตร์ ว่า “มะรา, มะรา”, อันเปนคำผวนพระนามแห่งพระราม; พระมุนีก็นั่งบ่นมนตร์นี้อยู่หลายพันปี, จนเมื่อพระฤษี ๗ ตนกลับมายังที่นั้น พบพระมุนีกลายเปนจอมปลวก [ส. วลฺมีก], จึ่งได้นามว่า “วาลฺมีกิ”.

วาสพ [ส. วาสว] – “เจ้าแห่งพวกวสุเทพ”, คือพระอินทร. พวกวสุมี ๘ องค์, คือ:– อาปะ (น้ำ), ธ๎รุวะ (ดาวเหนือ), โสมะ (ดวงเดือน), ธะระ (ดิน), อนิล (ลม), อนล (ไฟ), ประภาส (รุ่ง), ประตยูษ. (แสงสว่าง)

วาสุกี [ม. และ ส.] – นาคราช, พญาแห่งนาคทั้งหลายในบาดาล. เทวดาได้ใช้เปนเชือกในการกวนเกษียรสมุท. ไทยเรามักเขียนชื่อผิดไปว่า “วาสุกรี”.

วาสุเทพ [ส. วาสุเทว] – “ลูกวสุเทพ”. ใช้เรียกพระกฤษณะเปนพื้น, แต่เรียกพระพลรามก็ได้.

วิทรรภ [ส. วิทรฺภ] – แคว้นใหญ่ในภารตะวรรษ (อินเดีย), เดี๋ยวนี้เรียกว่า “พิราร์” (Birrar) นครหลวงชื่อกุณฑิณ. เปนเมืองของท้าวภีมะ พ่อนางทมยันตีในเรื่องพระนล, และของท้าวภีษมะกะ พ่อนางรุกมิณีในเรื่องกฤษณาวตาร.

วิเทห [ส.] – แคว้นที่เปนอาณาจักรของท้าวชนก, . มีมิถิลาเปนนครหลวง. ในปัตยุบันสมัยนี้ เรียกดินแดนนี้ว่า “ตีรหุต” (Tirhut) และ “อุตตรพิหาร์” (North Bihar).

วินธยะ [ส. วินฺธย] – เทือกเขาซึ่งตั้งอยู่กลางภารตะวรรษ (อินเดีย), เปนเฃาปันแดนระหว่างมัธยะเทศ (Central India), กับทักษิณเทศ (The Dakhin, or the Deccan).

วิราธ [ส.] – ยักษ์ดุร้ายที่พระรามพบและสังหารในป่า. (ดูอธิบายที่ ๕๓)

วิรูปากษ์ [ส.] – “ตาเสีย”, ที่ออกนามในลิลิตนี้เปนนายทหารเมืองลงกา.

วิโรจน์ [ส. วิโรจน] – ทานพ, ลูกประหลาท, พ่อพลี.

วิวัสวัต [ส. วิวสฺวตฺ] – “ผู้รุ่งเรือง”. พระสูรยาทิตย์.

วิศวกรรมา [ส. วิศฺวกรฺมา, วิศฺวกฺรฺมนฺ] – นายช่างใหญ่ของพวกเทวดา.

วิศวามิตร์ [ส.] – “เพื่อนของคนทั่วไป”. โดยกำเนิดเปนกษัตริย์, โอรสท้าวคาธิ, เกาศิกโคตร์, ราชาครองนครกานยะกุพชะ, แต่พอใจในทางพราหมณ์วิสัย จึ่งออกผนวชเปนราชฤษี, แล้วและพยายามบำเพ็ญตะบะอย่างแรงกล้า, และต่อฤทธิ์กับพระวสิษฐมุนีอย่างรุนแรงสามารถ, จนในที่สุดได้เปนพรหมฤษี, และนับเฃ้าเปน ๑ ในพวกฤษี ๗ ตน.

วิศระวัส [ส. วิศฺรวสฺ] – มุนีและฤษีโอรสพระปุลัสตยะประชาบดี; เปนบิดาท้าวกุเวรโดยนางอิฑาวิฑาธิดาพระภรัทวาชมุนี, และเปนบิดาท้าวราพณ์ฯลฯ โดยนางไกกระสีธิดาท้าวสุมาลีรากษส. (ดูอธิบายที่ ๑๕)

วิษณุ [ส.] – พระเปนเจ้าผู้ถนอมโลก. โดยมากเรียกว่าพระนารายน์. ในฤคเวท พระวิษณุมิได้เปนเทวดาชั้นสูง; เปนเพียงองค์แห่งกำลังของดวงตวัน, และกล่าวว่าได้ดำเนินไปได้จบสวรรค์ทั้ง ๗ ชั้นด้วยสามย่าง. สามย่างนี้เฃาอธิบายว่าเปนเครื่องหมายแห่งแสงสว่าง ๓ ประการ, คือไฟ ๑, แสงพ้าแลบ ๑ , ดวงตวัน ๑; หรืออีกนัย ๑ ว่าเปรียบด้วยตวันขึ้น, ตวันเที่ยง, และตวันตก. เฃ้าใจว่านี่เปนมูลเดิมแห่งเรื่องพระนารายน์เดิน ๓ ย่างในวามนาวตาร. ในมหาภารตะและหนังสือปุราณะ พระวิษณุจึ่งได้กลายเปนพระเปนเจ้าองค์ ๑ ใน ๓, มีน่าที่เปนผู้ถนอมโลก, เปนนารายน์อย่างที่เรารู้จักกันอยู่ในกาลบัดนี้. (ดูข้อความพิสดารในคำนำ)

วิษณุปุราณะ [ส.] – คัมภีร์ปุราณะแถลงเรื่องพระวิษณุเปนเจ้า. ผู้รจนาชื่อปะราศร. หนังสือนี้เริ่มด้วยการสร้างโลกใหม่ในวราหกัลป์, แสดงกรณียะสำหรับพราหมณ์ไพษณพ.

เวคะทรรศี [ส. เวคทรฺศินฺ] – นายทหารวานรตน ๑.

เวท [ส.] – “ความรู้เลิด.” ตำหรับอันเปนหลักแห่งไสยศาสตร์มี ๔ คัมภีร์, กล่าวคือ:– (๑) ฤคเวท (๒) ยัชุรเวท (๓) สามะเวท (๔) อถรรพเวท. (ดูอธิบายที่ ๑๓).

เวนไตย [ส. เวนเตย] – “ลูกวินะตา”, คือพญาครุฑ. ไทยเรามักเขียนผิดเปน “เวนไตรย”.

ไวกูณฐ์ [ส. ไวกูณฺ] – ที่อยู่ของพระนารายน์. (บอกลักษณะพิสดารไว้แล้วในคำนำ).

ไวกูณฐนาถ เปนนามของพระนารายน์.

ไววัสวัต [ส. ไววสฺวตฺ] – “ลูกวิวัสวัต”. พระมนูองค์ที่ ๗. (ดูอธิบายที่ ๘)

ศักร [ส. ศกฺกร; ม. สกฺก] – พระอินทร.

ศังกร [ส.] – นาม ๑ ของพระศิวะมหาเทพ.

ศจี [ส.] – มเหษีของพระอินทร.

ศจีปติ [ส.] – “ผัวศจี”. พระอินทร.

ศตะธนู [ส. ศตธนุส] กษัตร์ยาทพที่ลักเอาแก้วสยะมันตะกะไปจากสัตราชิต, และถูกพระกฤษณะฆ่าตาย.

ศตานันท์ [ส.] – มุนี, ลูกพระโคดมพรหมฤษีกับนางอหลยา; เปนปุโรหิตของท้าวชนก.

ศตรุฆนะ [ส. ศตฺรุฆฺน] – โอรสท้าวทศรถกับนางสุมิตรา.

ศะผะริ [ส.] – “ปลาน้อย”, ไม่ปรากฎชัดว่าเปนปลาชนิดใด.

ศะรัภ [ส. ศรภ] – นายทหารวานร, ลูกพระปรรชันย์.

ศรภังค์ [ส.] – ฤษีที่พระรามไปพบในดงทัณฑัก. (ดูอธิบายที่ ๕๔)

ศวรี [ส.] – นางชีที่พระรามไปพบริมฝั่งทเลสาปปัมปา.

ศานตา [ส. ศานฺตา] – เรียกว่าธิดาท้าวโลมะบาท, ราชาแห่งองคราษฎร์, แต่ที่แท้เปนธิดาท้าวทศรถ, ซึ่งท้าวโลมะบาทขอไปเลี้ยงไว้ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ. นางนี้ได้เปนชายาของพระฤษยะศฤงค์มุนี. (ดูอธิบายที่ ๓๐)

ศามพะ [ส. ศามฺพฺ] – โอรสพระกฤษณะ, ซึ่งพวกกษัตร์ยาทพแต่งเปนหญิงไปล้อพระนารท, จนถูกสาป, ดังแถลงไว้ในเรื่องกฤษณาวตาร.

ศิวะ [ส.] – “ผู้ซึ่งสิ่งทั้งปวงรวมอยู่”, ความงาม, ความสบายเปนนามพระเปนเจ้าผู้สังหาร.

ศิสุบาล [ส. ศิสุปาล] – ลูกท้าวทมะโฆษ, นครเจที; เปนผู้แย่งนางรุกมิณีกับพระกฤษณะ. (ดูอธิบายที่ ๘๒)

ศุกร์ [ส. ศุกฺร] – เทพฤษีและเทวดานพเคราะห์องค์ ๑. ปุราณะว่าเปนโอรสพระภฤคุประชาบดี; เปนปุโรหิตของพลีและพวกแทตย์.

ศูรปะนฃา [ส. ศูรฺปนขา] – รากษสี; ธิดาพระวิศระวัสกับนางไกกะสี, น้องทศกัณฐ์.

เศษะ [ส.] – “ปลาย” คือพญาอนันตนาคราช.

ไศละ [ส. ไศล] – เฃาหิน. ไทยเรามักอ่านเขวไปว่า “สะไหล”

ศราทธะเทพ [ส. ศฺราทฺธเทว] – “เจ้าแห่งการเส้นผู้ตาย”. คือท้าวสัตยพรตมนูในเรื่องมัสยาวตาร.

ศรี [ส.] – “ความเจริญ”, นามเทวีผู้เปนพระมเหษีของพระนารายน์ เกิดขึ้นมาจากเกษียรสมุท เมื่อเทวดากวนอมฤต, ดังได้แถลงไว้ในกูรมาวตาร. ได้ตามเสด็จพระนารายน์อวตารลงมาหลายปาง.

ศรีวัตสะ [ส.] – ขนกลางทรวงพระนารายน์. (ดูอธิบายที่ ๒).

ศรุตะเกียรติ [ส. ศฺรุตะกีรฺติ] – ธิดาท้าวกุศะธวัช, มเหษีพระศตรุฆนะ.

สังกาศยา [ส.] – นครของท้าวกุศะธวัช, ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอิกษุมะดี, ในกุรุเกษตร์, เปนทุ่งใหญ่อยู่ใกล้นครเฑลหิ (Delhi).

สัตยะพรต [ส. สตฺยวฺรต] – “ผู้ดำรงสัตยะธรรม”, เปนนามพระมนูองค์ที่ ๗. (ดูอธิบายที่ ๘)

สัตยะภามา [ส.] – ธิดาสัตราชิต, และเปนชายาของพระกฤษณะ; นางนี้ที่ยุยงให้พระกฤษณะลักเอาต้นปาริชาตจากสวรรค์.

สัตยะวดี [ส. สตฺยวติ] – ธิดาท้าวคาธิ, ราชาแห่งนครกานยะกุพชะ, มเหษีพระฤจิกมุนี, และมารดาพระชมทัคนี.

สัตราชิต [ส. สตฺราชิต] – กษัตร์ยาทพ, ผู้ได้รับแก้วสยะมันตะกะจากพระอาทิตย์, มีชื่อเสียงเพราะแก้วนี้และตายเพราะแก้วนี้. เปนบิดานางสัตยะภามา, ซึ่งยกให้แก่พระกฤษณะเมื่อได้แก้วคืน.

สัปตะฤษี [ส. สปฺตรฺษิ] – “ฤษีเจ็ดตน”. (ดูคำอธิบายที่ ๗)

สัมปาตี [ส.] – พญานก, ลูกพญาครุฑ, พี่ชฎายุ. ชี้ทางให้หนุมานไปลงกา. ในรามเกียรติ์เรียกว่า “สัมพาที.”

สรยุ [ส.] – แม่น้ำที่ไหลผ่านไปข้างนครอโยธยา. ชาวอินเดียสมัยนี้เรียกว่า “สาร๎ชุ” (Sarju).

สานทีปนิ [ส. สานฺทีปนิ] – พราหมณ์ผู้เปนอาจารย์สอนยุทธศาสตร์แด่พระกฤษณะ.

สิทธรรถ [ส. สิทฺธรฺถ] – ขุนคลังของท้าวทศรถ

สิงหิกา [ส.] – นางผีเสื้อสมุทรักษาด่านลงกา.

สีดา [ส. สีตา] – “รอยไถ”, ธิดาบุญธรรมของท้าวชนก, มเหษีพระราม. ตามความนิยมว่าเปนพระลักษมีอวตาร.

สุครีพ, สุครีวะ [ส. สุคฺรีว] – “คองาม”. พญาวานร, น้องพาลี, และสัมพันธมิตร์ของพระราม.

สุตล [ส.] – ชั้น ๓ แห่งโลกบาดาล, ซึ่งพระนารายน์ให้พลีไปครองอยู่. (ดูอธิบายที่ ๑๘)

สุตีกษณะ [ส. สุติกฺษฺณ] – ฤษีตน ๑ ซึ่งอยู่ในดงทัณฑัก, และซึ่งพระรามได้ไปเยี่ยม. ในรามเกียรติ์เรียกว่า “สุทัศน์”.

สุทามัน [ส.] – อมาตย์ของท้าวชนก.

สุมันตร์ [ส.] – สารถีและอมาตย์ของท้าวทศรถ. ในรามเกียรติ์เรียก “สุมันตัน” ในรามายณะ สุมันตร์เปนคนสำคัญมาก. (ดูอธิบายที่ ๒๗)

สุมิตรา [ส.] – มเหษีที่ ๒ ของท้าวทศรถ, และมารดาพระลักษมัณและศัตรุฆนะ.

สุยัญญะ [ส. สุยชฺ] – ฤษี, ลูกพระวสิษฐ; เปนพระครูประจำราชสำนักของท้าวทศรถ และพระราม.

สุระภี [ส.] – ดูที่ “กามะเธนุ”.

สุรา [ส.] – เทวีแห่งเหล้า. อีกนัย ๑ เรียกว่า “วารุณี”

สุราษฎร์ [ส. สุราษฺฏฺร] – “แคว้นอันงาม”. อยู่ในภาคตวันตกเฉียงใต้ของภารตะวรรษ. ในแผนที่สมัยปัตยุบันนี้เรียกว่า “สุรัฐ” (Surat).

สุโรดม [ส. สุโรตฺตม] – “เปนใหญ่ยิ่งในพวกสุร”. คือพระอินทร์.

สุวีระ [ส.] – แคว้น ๑ ในภารตะวรรษโบราณ, ไม่ปรากฎชัดว่าอยู่แห่งใด, แต่เฃ้าใจว่าอยู่ภาคตวันตกแห่งแม่น้ำสินธุ.

สุเวล [ส.] – ภูเฃาที่ตรงหน้านครลงกา.

สุเษณ [ส.] – นายทหารวานร, ลูกพระวรุณ.

โสณิต [ส.] – นครหลวงของพาณาสูร.

สยะมันตะกะ [ส.] – แก้วสำคัญซึ่งพระอาทิตย์ประทานแด่สัตราชิต. (ดูอธิบายที่ ๘๓)

สวยัมประภา [ส.] – “สว่างเอง” นางชีที่หนุมานไปพบในเมืองมายา.

สวยัมภู [ส. สฺวยมฺภู] –“กำเนิดเอง” ใช้เรียกพระนารายน์หรือพระพรหมา.

สวายัมภูว [ส. สฺวายมฺภูว] – “เกิดแต่สวยัมภู”. นามพระมนูองค์ที่ ๑. ดูอธิบายที่ ๘).

หนุมาน [ส.] – พญาวานร, ลูกพระพายุ. เปนขุนพลเอกของพระราม.

หัยครีพ [ส. หยคฺรีว] – “ฅอม้า” อสูรตนที่ลักพระเวทในเรื่องมัตสยาวตาร.

หร [ส.] – “ผู้ผลาญ” พระศิวะมหาเทพ.

หริ [ส.] – “ผู้ถนอม.” พระนารายน์.

หัสดินบุระ, หัสตินาปุระ [ส. หสฺตินาปุระ] – นครหลวงของกษัตร์จันทรวงศ์โปรพโคตร์. ในกาลปัตยุบันนี้ยังมีร่องรอยแห่งนครนี้ปรากฎอยู่ริมร่องเก่าแห่งแม่น้ำคงคา, ทางทิศตวันออกเฉียงเหนือและห่างจากนครเฑลหิ ประมาณ ๕๗ ไมล.

หิมาลัย [ส.] – เทือกเขาใหญ่อันเปนพรมแดนด้านเหนือแห่งภารตะวรรษ, เปนภูเขาที่ชาวอินเดียนับถือมาก, เพราะนิยมกันว่าเปนที่อยู่แห่งเทวดาและประชาบดีและฤษีสำคัญๆ เปนอันมาก.

หิรัณยะกศิปุ [ส. หิรณฺยกศิปุ] – “หุ้มทอง”. พญาแทตย์คู่แข่งกับพระนารายน์, และถูกพระนารายน์สังหารในปางนรสิงหาวตาร. เปนพ่อประหลาท.

หิรัณยากษะ [ส. หิราณฺยากฺษ] – “ตาทอง”. พญาแทตย์, พี่หิรัณยะกศิปุ; เปนผู้หวงแผ่นดินไว้ในก้นทเล, และถูกพระนารายน์สังหารในปางวราหาวตาร.

หิราณยะครรภ [ส. หิราณฺยครฺภ] – “ผู้อยู่ในห้องทอง”, คือพระพรหมา, ซึ่งกำเนิดขึ้นใน “ใข่พรหม” (พรหมาณฑะ) หรือ“ห้องทอง” (หิรัณยะครรภ).

เหมะกูฎ [ส.] – “ภูเขาทอง.” ที่อยู่ของพระกัศยประชาบดี.

เหมา [ส.] – “นางทอง”. นางฟ้าที่มยาสูรลอบลักพาไปไว้ในเมืองมายา. เมื่อพระอินทรตามไปฆ่ามัยตายแล้ว, พระพรหมาได้ประทานเมืองมายาแก่นางเหมา.

ไหหัย [ส. ไหหย] – ชนพวก ๑ ซึ่งอยู่ชายๆ แดนภารตะวรรษ, แต่ได้บุกรุกเฃ้าไปถึงในภารตะวรรษและตั้งกระจายอยู่หลายแห่ง. แบ่งเปน ๕ ก๊ก, ชื่อตาละชงฆ์ ๑, วิติโหตร ๑, อวันตี ๑, ตุณฑิเกระ ๑, สุชาตะ ๑. เคยได้ชะนะพระราชาแห่งอโยธยา, แต่ภายหลังถูกท้าวสะคะระบำราบ; เคยตีได้แคว้นกาศีครั้ง ๑, แต่ภายหลังก็ถูกบำราบอีก. อรชุนการ์ตะวีรยะเปนราชาแห่งชนพวกนี้.

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ