อธิบาย.

วิษณุมนตร์:–คือมนตร์ที่พราหมณ์พฤฒิบาศว่าถวายพระราชาธิบดีเวลาขึ้นพระแท่นภัทรบิฐในงานบรมราชาภิเษก, และในงานเฉลิมพระราชมณเฑียรเปนต้น. มนตร์นี้ตามที่พราหมณ์ในกรุงสยามสวดอยู่ได้คัดลอกกันต่อ ๆ มาหลายทอดจนเลอะเลือนและอักขระวิบัติอยู่หลายแห่ง, ฃ้าพเจ้าจึ่งได้ส่งไปถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ, ขอให้ทรงมอบให้พราหมณ์กุปปุสวามิอารยะ, ซึ่งหอพระสมุดวชิรญาณกำลังใช้ชำระหนังสือสันสกฤตอยู่เมื่อศกก่อนนี้, ให้เขาชำระเสียให้เรียบร้อย, พราหมณ์ผู้นั้นได้ชำระมาเรียยร้อย, และส่งคำแปลเปนภาษาอังกฤษมาด้วย, ฃ้าพเจ้าจึ่งได้อาศัยคำแปลนั้นเพื่อแปลเปนภาษาไทยอีกต่อ ๑.

“ศรีวัตสะเด่นดวง” (น่า ๒) – ศรีวัตสะนั้นนัย ๑ ว่าเปนแก้ว, อีกนัย ๑ ว่าเปนขนที่กลางพระทรวงของพระนารายน์หรือพระกฤษณาวตาร, และมักเขียนเปนยันตร์ดังนี้

“ปิ่นมาเกิดปรากฎ เปนโอรสวสุเทพ” (น่า ๒)– คือเกิดเปนพระกฤษณะ, โอรสแห่งวสุเทพ, (ดูคำอธิบายเลข ๗๖).

๔ “เสวยพรหมาณฑ์เลิดล้อม” (น่า ๒)– “พรหมาณฑะ” แปลว่า “ใข่โลก”. ตามเรื่องกำเนิดของพระปรพรหมมีว่า ได้บังเกิดเปนใข่ขึ้นก่อน, และเมื่อพระปรพรหมได้บังเกิดขึ้นและอยู่ในใข่นี้หลายร้อยกัลปแล้ว, ใข่จึ่งแตกเปนสองซีก, ซีกบนพระปรพรหมเอาทำฟ้า, ซีกล่างเอาทำดิน.

๕ “อวตารเทพนั้น สืบปาง” (น่า ๓)– พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพได้ทรงคัดเรื่องนารายน์สิบปางจากฉบับที่มีอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณส่งประทานมา, และฃ้าพเจ้าได้ตรวจดูแล้ว เห็นมีข้อความคล้ายฉบับที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๓ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณได้ทรงพิมพ์ไว้, แต่ฉบับของหอพระสมุดมีข้อความใขพิสดารออกไปกว่าอีก. ตามตำหรับนี้ เมื่อพิจารณาดูโดยถี่ถ้วนแล้วทำให้ฃ้าพเจ้าสันนิษฐานว่าคงได้มาทางพราหมณ์ไศวะนิกาย, คือพวกที่นับถือพระศิวะเปนพระเปนเจ้าใหญ่ยิ่งในสาม. ที่สันนิษฐานเช่นนี้ เพราะขึ้นต้นเมื่อกล่าวถึงสร้างโลกใหม่นั้น มีข้อความกล่าวไว้ ว่า :

“เมื่อเพลิงบรรลัยกัลป์สังหารโลกไหม้สิ้นแล้ว ก็เปนอากาศเปล่าอยู่. ครั้งนั้นพระเวทพระธรรมทั้งหลายก็มาประชุมกันเฃ้า, ก็บังเกิดขึ้นซึ่งพระเปนเจ้าองค์หนึ่ง, อันทรงพระนามว่า พระปรเมศวรเปนเจ้า พระปรเมศวรเปนเจ้าจึ่งเอาพระหัตถ์ลูบพระอุระเฃ้าแล้วก็สบัดออกไปเบื้องพระพักตร์, ก็บังเกิดพระเปนเจ้าขึ้นอีกพระองค์หนึ่ง, ทรงพระนามชื่อว่าอุมาภควดี. จึ่งปฤกษากับพระอุมาภควดีว่า เราจะสร้างฉกามาพจรสวรรค์และเฃาพระสุเมรุราช, พระอมาภควดีจึ่งกราบทูลว่า แต่พระองค์กับฃ้าพเจ้านี้จะสร้างแผ่นดินเห็นจะขัดสนนัก, ขอพระองค์จงให้บังเกิดพระเปนเจ้าขึ้นอีกก็จะได้. ฝ่ายพระอิศวรเปนเจ้าเห็นชอบด้วย, แล้วจึ่งเอาพระหัดถ์ซ้ายมาลูบพระหัดถ์ขวา จึ่งบังเกิดพระนารายน์เปนเจ้า, แล้วพระเปนเจ้าเอาพระหัดถ์ขวามาลูบพระหัดถ์ซ้าย ก็บังเกิดเปนพระพรหมธาดาเปนเจ้า.”

ฃ้าพเจ้าได้พยายามสอบค้นดู พอได้เค้าว่าเรื่องสร้างโลกมีกล่าวไว้ในมานวะธรรมศาสตร์คล้ายๆ ฃ้างบนนี้, แต่มนูว่าพระเปนเจ้าแบ่งภาคออกเปนปุลลึงค์แลอิตถีลึงค์แล้วสร้างบุรุษคนแรกชื่อวิราช, และวิราชเปนบิดาแห่งพระมนูองค์ที่ ๑ ซึ่งมีนามว่า สวายัมภูว. ส่วนเรื่องสร้างพระเปนเจ้าอีกสององค์นั้น, คงได้มาจากพวกคัมภีร์ปุราณะ.

ต่อลงมาในหนังสือนารายน์สิบปางของไทยเรามีกล่าวถึงพระปรเมศวรทรงสำรอกพระมังสะในพระอุระออก บันดาลให้เปนแผ่นดิน, เอาพระจุฑามณีปักลงบนแผ่นดินสร้างเปนเขาพระสุเมรุ, แล้วจึ่งสร้างเทวดาทั้งหลาย, แล้วเอาพระสังวาลย์สร้างเปนอนันตนาคราช, ต่อนี้มีเรื่องพระยาอนันตนาคราชต่อสู้ฤทธิ์กับพระพาย. เสร็จการลองฤทธิแล้ว พระอิศวรทรงสร้างโลกทั้งสามจนสำเร็จ. ต่อนี้ไปพระอิศวรเปนผู้มีเทวโองการให้พระเปนเจ้าและเทวดาสร้างพาหนะต่าง ๆ, และพระพรหมธาดาเปนผู้สอนพระเวท, พระนารายน์สอนศิลปศาสตร์แด่กษัตริย์, และในที่สุดจึ่งแบ่งที่อยู่กัน, คือพระอิศวรทรงสร้างเขาไกลาศขึ้นเปนที่ประทับอยู่เอง, ให้พระนารายน์ไปอยู่เกษียรสมุท, และให้พระพรหมธาดาไปอยู่เปนใหญ่ในพรหมโลก. ตามที่กล่าวมานี้ ยกเอาพระศิวะเปนพระอิศวร, คือเปนใหญ่กว่าพระเปนเจ้าทั้งหลาย, เปนผู้ออกคำสั่งให้องค์อื่นๆ ไปกระทำกิจธุระต่าง ๆ. พระนารายน์ที่อวตารก็โดยเทวโองการของพระศิวะทุกคราว, จึ่งเปนข้อควรสันนิษฐานโดยแท้ว่า ตำหรับนารายน์สิบปางของไทยเราคงจะได้มาทางพราหมณ์ไศวะนิกาย,

ในหนังสือนารายน์สิบปางฉบับไทยแถลงเรื่องอวตารของพระนารายน์ไว้เปนลำดับดังต่อไปนี้:–

๑. มัจฉาวตาร, “ปลากรายทอง.”

๒. กัจฉปาวตาร, “เปนเต่าทอง.”

๓. วราหาวตาร, “เปนสุกรเผือก”

๔. ทวิชาวตาร, “เปนพราหมณ์หนุ่มน้อย.” (ในฉบับของฃ้าพเจ้าเปนปางที่ ๕).

๕. มหิงษาวตาร, “เปนกระบือเถื่อน.” (ในฉบับของฃ้าพเจ้าหามีไม่).

๖. กฤษณาวตาร. (ในฉบับของฃ้าพเจ้าเปนปางที่ ๘).

๗. นรสิงหาวตาร. (ในฉบับของฃ้าพเจ้าเปนปางที่ ๔).

๘. สมณาวตาร, พระนารายน์อวตารเปนสมณไปหลอกท้าวตรีปุรัมเอาพระศีวลึงค์คืน, ฃ้าพเจ้า สันนิษฐานว่าผู้รวบรวมหนังสือนารายน์สิบปางของเราคงเอาเรื่องนี้เฃ้าแท่น “พุทธาวตาร”, เพราะคงเห็นไม่ควรที่จะนับเอาพระพุทธเจ้าเปนอวตารปาง ๑ ของพระนารายน์.

๙. อับศราวตาร, พระนารายน์อวตารเปนนางเทพอับศรไปปราบนนทุก, เปนเรื่องเกร็ดเรื่อง ๑, ฉนั้นจึ่งมิได้มีในฉบับของฃ้าพเจ้า.

๑๐. รามาวตาร, (ในฉบับของฃ้าพเจ้าเปนปางที่ ๗).

ในคำอธิบายต่อๆไปนี้ฃ้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงเรื่องปางต่างๆตามลำดับที่จะได้อ่านพบในลิลิตต่อไป, เพื่อผู้อ่านจะได้เปรียบเทียบเรื่องในฉบับของหอพระสมุดกับเรื่องที่แถลงในลิลิตของฃ้าพเจ้า.

๖ มัตสยาวตาร (น่า ๔)–ในเรื่องนารายน์สิบปางฉบับหอพระสมุดแถลงเรื่องมัจฉาวตารไว้แต่เพียงว่า ต้นเหตุเกิดขึ้นเพราะพรหมเหล่าหนึ่งมีใจฤศยาพระพรหมธาดา, ที่พระอิศวรได้ให้ไปเปนใหญ่ในพรหมโลก. พรหมผู้ ๑ ในเหล่านั้นจุติลงมาเปนสังขะอสูรอยู่ใต้มหาสมุทณเชิงเขาพระสุเมรุ. ฝ่ายพระพรหมธาดา, เมื่อนำคัมภีร์พระเวทลงมาเพื่อถวายอิศวร พะเอินร้อนพระกายนัก จึ่งลงสรงน้ำในมหาสมุท, เอาคัมภีร์วางไว้เหนือฝั่งข้างพระองค์, “ฝ่ายสังขะอสูรแลเห็นคัมภีร์พระเวท คิดว่ากูจะลักเอาไปทิ้งน้ำเสีย ให้พระพรหมชวดสั่งสอนโลกและเทพามนุษทั้งหลาย จึ่งจะไม่นับถือพระพรหมต่อไป. ครั้นคิดแล้วสังขะอสูรจึ่งใช้ผีเสื้อน้ำอันมีฤทธิ์ ให้ไปลักเอาซึ่งคัมภีร์แห่งพระพรหมวางไว้นั้น. ฝ่ายผีเสื้อน้ำจึ่งไปลักเอาคัมภีร์พระเวทได้แล้ว ก็เอามาให้สังขะอสูร ๆ ก็เอาคัมภีร์กลืนไว้ในอก.” ในที่นี้มีข้อควรสังเกตอยู่อย่าง ๑ คือในเรื่องว่าพระเวทเปนคัมภีร์, คือเปนหนังสือที่เขียนแล้ว. ทั้งนี้จะเปนด้วยผู้แต่งเรื่องเปนภาษาไทยนึกเอาเอง หรือจะเปนเพราะพราหมณ์ผู้เล่าเรืองให้ฟัง ได้เล่าเช่นนั้นก็เหลือที่จะเดา. แต่อย่างไร ๆ ก็ตาม, ต้องจัดเอาว่าเปนความเฃ้าใจผิด, เพราะพระเวทในชั้นเดิมหาได้เขียนลงคัมภีร์ไม่, เปนแต่ท่องจำกันต่อๆ มา, พึ่งมามีเขียนขึ้นในชั้นหลัง.

ฝ่ายพระพรหมธาดาเมื่อขึ้นจากน้ำไม่พบพระเวท จึ่งนำความไปทูลพระอิศวร, และพระอิศวรเล็งพระญาณทราบว่าสังขะอสูรลักเอาไป, จึ่งให้ไปเชิญพระนารายน์ที่เกษียรสมุท, แล้วและสั่งพระนารายน์ให้อวตารไปสังหารสังขะอสูร, พระนารายน์จึ่งอวตารลงมาเปนมัจฉาวตาร, “คือปลากรายทองใหญ่มหิมา”, รบผีเสื้อน้ำแล้วจึ่งไปพบสังขะอสูร, ต่อสู้กันเปนสามารถ, ล้วงเอาพระเวทออกมาจากในคอสังขะอสูรได้ นำเอาไปถวายพระอิศวร.

ส่วนเรื่องท้าวสัตยพรตช้อนปลา, และลงเรือใหญ่รอดพ้นอุทกภัย, หาได้มีปรากฎในหนังสือนารายน์สิบปางฉบับหอพระสมุดนั้นไม่.

ฤษีเจ็ดตน (น่า ๑๒)–“สัปตะฤษี”, หรือตามภาษาสันสกฤตว่า “สปฺตรฺษิ”, อีกนัย ๑ เรียกว่า “ประชาบดี”, เปนมานะสาบุตร์ของพระพรหมา, โดยพระเปนเจ้าองค์นั้นให้กำเนิดโดยนึก, มิได้กำเนิดจากครรภ์อย่างเทวดาและมนุษอื่น ๆ. ในคัมภีร์ศตะปถะพราหมณะได้ระบุนามไว้คือ (๑) โคดม (๒) ภรัทวาช (๓) วิศวามิตร (๔) ชมทัคนี (๕) วสิษฐ (๖) กัศยป (๗) อัตริ. มหาภารตรระบุไว้คือ (๑) มะรีจิ (๒) อัตริ (๓) อังคีรส (๔) ปุละหะ (๕) กระตุ (๖) ปุลัสตยะ (๗) วสิษฐ. วายุปุราณะเติมภฤคุเฃ้าอีกตน ๑, แต่ยังคงเรียกอยู่ว่า “สัปตะฤษี”, วิษณุปุราณะเติมภฤคุกับทักษะอีก ๒ ตน, และเรียกว่า “พรหมฤษีทั้งเก้า”. สัปตะฤษีปรากฎอยู่ในฟากฟ้าเปนดาว ๗ ดวงที่ไทยเราเรียกรวมทั้งหมู่ว่า “ดาวจรเข้”. เมื่อเปนดาวเช่นนี้มักเรียกว่า “ฤกษ์”, ข้อควรสังเกตมีอยู่คือ “ฤกฺษ” ภาษาสันสกฤตแปลว่าหมี, ฉนั้น ที่ฝรั่งเขาเรียกดาวจรเข้ว่า “หมีใหญ่” (ละติน “Ursus Major”, อังกฤษ “Great Bear”), ก็ตรงกับนามในภาษาสันสถฤต.

๘ “พระมนูชนก โลกล้วน” (น่า ๒๓)–พระมนูที่กล่าวในที่นี้เปนองค์ที่ ๗. พระมนูองค์ที่ ๑ คือ พระมนูสวายัมภูว, ผู้มีกำเนิดจากพระสวยัมภู (พรหมา), ในคัมภีร์ “มานวธรรมศาสตร์” กล่าวไว้ว่าเมื่อพระอาตมภู (ผู้เกิดเอง) มีพระหฤทัยจำนงที่จะทรงสร้างสิ่งทั้งปวง ได้ทรงสร้างน้ำขึ้นก่อน, แล้วได้ทรงเอาพืชหว่านในน้ำ, จากพืชนั้นได้เกิดเปนใข่ทอง, และพระอาตมภูเองได้เฃ้ากำเนิดในใข่นั้นเปนพระพรหมา, ปิตามหา (ผู้สร้าง) แห่งโลก. พระพรหมาอยู่ในใข่นั้น ๑ ปี, แล้วจึ่งแบ่งใข่นั้นออกเปนสองภาคโดยอำนาจพระมโนเท่านั้น, เหตุที่ได้มีกำเนิดในใข่ทองเช่นนี้ จึ่งเรียกพระพรหมาว่า “หิรัณยครรภ”. เมื่อออกจากใข่แล้วพระพรหมาจึ่งเริ่มทรงสร้างโลกต่อไป. คัมภีร์ “พรหมาปุราณะ” กล่าวว่า เมื่อได้ออกจากใข่ทองแล้ว พระพรหมาแบ่งพระองค์เปน ๒ ภาค, ชายภาค ๑ หญิงภาค ๑, ซึ่งช่วยกันสร้างพระวิษณุเปนเจ้า, แล้วพระวิษณุจึ่งได้ทรงสร้างบุรุษที่ ๑ ชื่อวิราช, และวิราชสร้างพระมนูสวายัมภูว. แต่คัมภีร์ “มัตสยะปุราณะ” กล่าวว่า พระพรหมาสร้างนางขึ้นองค์ ๑ ชื่อ ศตะรูปา (หรือสุรัสวดี), และตรัสชวนให้ช่วยกันสร้าง “ภูตะ” (สัตว์มีชีวิต) ทุกชนิด, คือมนุษ, สุระ, และอสุระ. สององค์จึ่งไปอยู่สำราญในที่ระโหฐานด้วยกัน ๑๐๐ ปีสวรรค์, แล้วจึ่งได้กำเนิดพระมนูองค์ที่ ๑ ซึ่งเรียกว่าสวายัมภูวและวิราช. (ดู คำอธิบายที่ ๕ ด้วย.)

พระมนูสวายัมภูวองค์นี้เปนผู้ที่รับมอบธุระสร้างคน, ฉนั้นคนจึ่งได้ชื่อว่า “มนุษ”, เพราะเกิดแต่มนู. พระมนูได้สร้างประชาบดีขึ้น ๑๐ ตน, เพื่อให้เปนมหาชนกของมนุษสืบมา. ประชาบดี, หรือมหาฤษี ๑๐ ตน คือ (๑) มะรีจิ (๒) อัตริ (๓) อังคีรส (๔) ปุลัสตยะ (๕) ปุละหะ (๖) กระตุ (๗) วสิษฐ (๘) ประเจตัส, หรือ ทักษะ (๙) ภฤคุ (๑๐) นารท. บางตำหรับก็ออกนามประชาบดีเพียง ๗ ตน, คือที่เรียกสัปตะฤษีนั้นเอง (คูคำอธิบายที่ ๗), พระมนูองค์ที่ ๑ นี้เปนผู้รจนาคัมภีร์ที่เรียกว่า “มนูสันหิตา”, หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า “มานวธรรมศาสตร์” พระมนูที่ ๑ นั้นจัดว่าเปนพราหมณ์โดยพระชาติ.

พระมนูมีกำหนดจะมาบังเกิดในโลก ๑๔ องค์, เปนใหญ่อยู่ในโลกองค์ละ ๑ มานวันตร, ซึ่งเทียบเปนปีมนุษถึง ๔,๒๐๐,๐๐๐ ปี. (ดูคำนำ, น่า(๒)). พระมนูในเรื่องมัตสยาวตารเปนกษัตริยชาติ, โอรสพระสุริยาทิตย์, เปนมนูองค์ที่ ๗, และในกาลบัดนี้ ยังเปนมานวันตรของพระมนูองค์ที่ ๗ นั้นอยู่.

นามพระมนู ๑๔ องค์มีตามลำดับดังต่อไปนี้, คือ (๑) สวายัมภูว (๒) สวาโรจิษ (๓) โอตตมี (๔) ตามะสา (๕) ไรวตะ (๖) จากษุษ (๗) ไววัสวัต, หรือสัตยพรต (๘) ศาวรรณ (๙) ทักษะสาวรรณ (๑๐) พรหมสาวรรณ (๑๑) ธรรมสาวรรณ (๑๒) รุทระลาวรรณ (๑๓) เราจยะ (๑๔) เภาตยะ.

พระมนูไววัสวัต, องค์ที่กล่าวถึงในปางมัตสยาวตารนี้, มีโอรสที่ ๑ ชื่อ อิกษวากุ, และอิกษวากุนี้ได้เปนประถมกษัตร์ต้นสุริยวงศ์ซึ่งครองนครอโยธยา, จึ่งมีข้อความกล่าวไว้ในโองการแช่งน้ำ, ที่พระมหาราชครูอ่านในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม, ว่า:–

“สมมติแกล้วอาทิตย์ เดอมกาล
“สายท่านทรงธรณี เรื่อยหล้า.”

กูรมาวตาร (น่า ๒๖)– ในหนังสือนารายน์สิบปางฉบับหอพระสมุด มีข้อความแถลงเรื่องแห่งปางนี้ไว้แต่เพียงว่า มีพรหมชั้น ๑ มีความฤศยาพระพรหมธาดา, จึ่งพากันจุติลงมาเปนอสูรมัจฉา, ว่ายเฃ้าเบียดเชิงเขาพระสุเมรุ จะให้แผ่นดินซึ่งทรงพระสุเมรุนั้นพังไป. พระอิศวรเปนเจ้าได้ทรงทราบเหตุจึ่งตรัสใช้พระนารายน์ให้ไปปราบอสูรมัจฉา, พระนารายน์ก็อวตารเปนเต่าทองลงไปตามเทวโองการ. เรื่องหมดเท่านี้, มิได้มีกล่าวถึงการกวนเกษียรสมุททำน้ำอมฤตเลยจนคำเดียว, แท้จริงเรื่องกวนเกษียรสมุทดูเปนเรื่องแถลงกิจสำคัญอัน ๑ ของเทวดา, เหตุไฉนจึ่งมิได้กล่าวถึงเลย, ออกจะน่ารู้สึกแปลกใจอยู่.

๑๐ ทุรวาส (น่า ๒๖)– ฤษีตนนี้นัย ๑ ว่าเปนโอรสพระอัตริประชาบดีกับนางอนะสูยา, อีกนัย ๑ ว่าเปนหลานพระประชาบดีองค์นั้น. ฤษีตนนี้เปนคนโทโษร้าย, และเมื่อไรใครทำให้ขัดใจสักนิดหน่อยก็มักจะสาปเสียทันที เช่นในเรื่องศกุนตลา ฤษีตนนี้ได้ไปถึงอาศรมของพระกัณวะมุนีในเวลาเช้า, ไม่มีใครออกไปต้อนรับ จึ่งสาปนางศกุนตลา, ทำให้นางนั้นต้องพรากกับท้าวทุษยันต์เปนหลายปี, ในมหาภารตะกล่าวไว้ว่า ฤษีทุรวาสได้อำนวยพรแก่นางกุนตี ให้มีสิทธิเชิญเทวดาองค์ใด ๆ ลงมาเปนสามีได้ตามปราถนา, นางนั้นจึ่งได้เชิญพระอาทิตย์ลงมาเปนสามี, และมีโอรสชื่อกรรณะ, ซึ่งนางกุนตีเอาไปทิ้งไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา, เพราะไม่อยากให้ท้าวศูระ, เจ้านครมถุรา, ผู้เปนบิดาทราบว่าตนได้ซุกซน. นายอธิรถ, ผู้เป็นสารถีของท้าวธตรฐ กษัตร์จันทรวงศ์ในนครหัสตินาปุระ, ไปพบกุมารนี้ที่ฝั่งแม่น้ำ, จึ่งเก็บเอาไปเลี้ยงเปนบุตร์บุญธรรม. กรรณะนี้ภายหลังได้เปนเจ้าครองแคว้นองคราษฎร์ (คือที่เรียกว่า “เบ็งคอล” ในกาลบัดนี้). ฝ่ายนางกุนตินั้น, ต่อจากเวลาที่ได้ประสูติกรรณะแล้ว, ได้ทำการอภิเษกสมรสกับท้าวปาณฑุ กษัตร์จันทรวงศ์ผู้ครองนครหัสตินาปุระ, แต่ท้าวปาณฑุนั้นพะเอินได้ถูกสาปไว้ว่า ถ้าเมื่อใดเสพเมถุนจะต้องเสียพระชนม์ชีพ, นางกุนตีจึ่งเชิญเทวดา ๓ องค์มาให้กำเนิดแก่โอรสแทน, คือ พระยมให้กำเนิดแด่พระยุธิษเฐียร, พระพายุให้กำเนิดแด่พระภีมะเสน, และพระอินทรให้กำเนิดแด่พระอรชุน. เจ้าสามองค์นี้, กับโอรสของนางมัทรีมเหษีซ้ายของท้าวปาณฑุอีก ๒ องค์, ซึ่งได้กำเนิดจากพระอัศวินเทพบุตร์แฝด, มีพระนามว่าสหเทพ กับนกูล, รวม ๕ องค์เรียกในมหาภารตะว่ากษัตร์ปาณฑพ. อนึ่งในมหาภารตะมีเรื่องว่า ครั้งหนึ่งท้าวกฤษณะได้นิมนต์พระทุรวาสฉัน, แต่ลืมเช็ดเศษอาหารที่ได้ตกเปื้อนตีนพระฤษีตนนั้น, พระฤษีโกรธจึ่งทำนายว่าพระกฤษณะจะตายโดยอาการเลวทรามอย่างไร, ดังปรากฎในเรื่องพระกฤษณาวตารนั้นแล้ว.

๑๑ “พระเจ้าที่แท้ก็ อีศะ นั่นเอง.” (น่า ๔๒)– คำตรัสของพระอิศวรในโคลงบทนี้และบทต่อลงไป ฃ้าพเจ้าแต่งตามเค้าความที่มีอยู่แห่ง ๑ ในปัทมะปุราณะ.

๑๒ วราหาวตาร (น่า ๔๕)– ในหนังสือนารายน์สิบปางฉบับหอพระสมุดแถลงเรื่องไว้คล้าย ๆ กับที่ข้าพเจ้าแต่งไว้ในลิลิตนี้เอง, ผิดกันอยู่แต่นามอสูรเรียกว่า “เหรันตยักษ์,” ซึ่งบำเพ็ญตะบะจนได้พรพระอิศวรแล้ว จึ่งสำแดงอานุภาพม้วนเอาแผ่นดินทั้ง ๔ ทวีปไปบาดาล, จนพระอิศวรต้องใช้พระนารายน์ให้อวตารไปปราบ.

อนึ่งในหนังสือที่กล่าวนั้น เมื่อเล่าถึงการปราบอสูรแล้ว มีข้อความแถลงต่อไปว่าพระนารายน์ไปบรรทมสินธุ์ เหนือหลังอนันตนาคราชณเกษียรสมุท, จึ่งบังเกิดดอกปะทุมชาติผุดขึ้นจากพระอุระประเทศ, และเมื่อดอกบัวนั้นบานจึ่งเห็นพระพรหมสี่พักตร์ชูกุมารองค์หนึ่งอยู่ในนั้น. พระนารายน์พากุมารนี้ขึ้นไปเฝ้าพระอิศวรๆ จึ่งสั่งพระอินทร์ให้ลงไปสร้างกรุงศรีอยุธยา, แล้วทรงประสิทธิ์นามให้แก่กุมารชื่ออโนมาตัน, ประทานเทพอาวุธต่าง ๆ ด้วย ท้าวอโนมาตันรับพระพรกับเทพอาวุธแล้วก็ถวายบังคมลา ลงมาเสวยราชสมบัติในกรุงทวาราวดีศรีธยุธยาสืบมา.”

เรื่องกำเนิดท้าวอโนมาตันนี้ ดูไม่เกี่ยวกับเรื่องวราหาวตารเลย, ทำไมจึ่งเอามาต่อท้ายเฃ้าก็แปลไม่ออก, อีกประการ ๑ ที่ว่าท้าวอโนมาตันเปนประถมกษัตร์ผู้ครองนครอโยธยาก็ไม่ตรงกับข้อความที่ฃ้าพเจ้าค้นพบในตำหรับปุราณะ, ซึ่งกล่าวว่าประถมกษัตร์แห่งอโยธยาคือท้าวอิกษวากุ, โอรสแห่งพระมนูไววัสวัต, ดังได้กล่าวมาแล้วในคำอธิบายเลขที่ ๘. ในคำอธิบายหมายเลข ๘ นั้นผู้อ่านคงจำได้ว่าได้พบเรื่องกำเนิดแห่งหระมนูสวายัมภูว, ซึ่งมีลักขณะอย่างเดียวกับกำเนิดแห่งท้าวอโนมาตันในหนังสือนารายน์สิบปางนี้ทีเดียว, นี่ทำให้ข้าพเจ้าเกิดสงสัยว่าผู้เล่าเรื่องจะเอาเรื่องทั้ง ๒ นั้นสับสนปนกันเสียแล้ว, คือเอาเรื่องกำเนิดของมนูที่มาต่อเฃ้ากับประวัตติการของลูกมนูที่ ๗. นาม “อโนมาตัน” นั้นก็ค้นไม่พบในที่ ใด ๆ เลย, ฃ้าพเจ้าจึ่งใคร่จะสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำ “อนุมตํ”, คือ “เห็นชอบ” นั้นเอง, ส่วนข้อที่ว่าท้าวอโนมาตันลงมาเสวยราชสมบัติ “ในกรุงทวาราวดีศรีอยุธยา” ดังนี้, คงเปนความหลงของคนไทยผู้จดเรื่องตามคำเล่าของพราหมณ์, ไม่ใช่พราหมณ์ผู้เปนครูกล่าวผิดเช่นนั้น, เพราะพราหมณ์คงต้องทราบอยู่ดีว่า “ทวาราวดี” กับ “อโยธยา” เปนคนละนครห่างกันไกล. “ทวาราวดี”, หรือ “ทวารกา”, เปนนครของท้าวกฤษณะมหากษัตร์จันทรวงศ์, แต่ “อโยธยา” เปนนครของกษัตริย์สุริยวงศ์, ที่ฃ้างไทยเราเอานามนครทั้งสองนี้ไปปนกันก็เปนเพราะเหตุที่กรุงเก่าของเรามีนามว่า “กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา”, จึ่งทำให้เฃ้าใจไปว่า “ทวาราวดี” กับ “ศรีอยุธยา” เปนนามแห่งนครเดียว.

ไหน ๆ ก็ได้แสดงความเห็นมามากแล้ว ฃ้าพเจ้าอยากจะใคร่เลยแสดงความเห็นต่อไปอีกสักนิดหนึ่งถึงเหตุที่ตั้งนามกรุงเก่าดังกล่าวข้างบนนี้, ตามทางที่รู้มาในทางตำนาน, พระเจ้าอู่ทองเมื่อมีพระประสงค์จะสร้างพระนครขึ้นใหม่นั้น ได้เลือกที่เหมาะได้ที่ตำบลหนองโสน (ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่า “บึงพระราม“). ที่นี้อยู่กลางแคว้นไทยโบราณซึ่งเคยมีกษัตริย์ครองอยู่แต่ก่อนที่พระเจ้าอู่ทองย้ายไปจากอู่ทอง, และพระนครหลวงแห่งแคว้นนี้เรียกว่าพระนครศรีอยุธยา. เมื่อพระเจ้าอู่ทองเสด็จไปถึงที่นั้น พระนครศรีอยุธยาเก่านั้นรกร้างหมดแล้ว, จึ่งทรงเลือกที่สร้างพระนครใหม่ในที่ตรงฃ้ามฟากแม่น้ำ, และเพราะเหตุที่สร้างพระนครขึ้นใหม่จึ่งมีพระประสงค์ที่จะให้มีนามปรากฎผิดกับพระนครศรีอยุธยาเก่า, แต่ก็ยังอยากให้มีนามเก่าติดอยู่ด้วย, เพราะเปนชื่อที่คนไทยเคยรู้จักเปนพระนครหลวงมาช้านานแล้ว นักปราชญ์ราชบัณฑิตในสมัยนั้น, ซึ่งโดยมากคงเปนพราหมณ์หรือมีความรู้ดีในทางไสยศาสตร์, พิจารณาดูภูมิประเทศเห็นว่าเปนที่มีน้ำล้อมรอบ, ต้องด้วยลักขณะแห่งนครทวาราวดีของท้าวบรมจักร์กฤษณ์, จึ่งขนานนามพระนครใหม่ว่า “กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดี”, และเพื่อให้มีนามพระนครเก่าอยู่ด้วยตามพระราชประสงค์ จึ่งต่อสร้อยว่า “ศรีอยุธยามหาดิลกภพ”. ข้อความนี้ฃ้าพเจ้าสันนิษฐานตามเหตุผลที่น่าจะเปน, หาใช่ค้นได้หลักฐานแห่งใด ๆ มาประกอบไม่, ฉนั้นท่านจะเห็นตามหรือไม่ก็ตามแต่ใจของท่านเทอ.

๑๓ “ไตต์ติริยะสันหิตา ฯ ล ฯ” (น่า ๔๕)– “ไตต์ติริยะสันหิตา” คือคัมภีร์รวบรวมบรรดามนตร์และคาถาแห่ง “ยัชรเวทดำ”. เพื่อให้ทราบความถ่องแท้ จำจะต้องชี้แจงในที่นี้ว่า พระเวทนั้นมี ๔, คือ (๑) ฤคเวท (๒) ยัชุรเวท (๓) สามะเวท (๔) อถรรพเวท. ที่เรียกต้นตำหรับแห่งไสยศาสตร์ว่า “ไตรเวท” หรือ “ไตรเพท” นั้น, เพราะอถรรพเวทถือว่าเปนของใหม่ที่แต่งเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง, จึ่งคงนับแต่สามตามเดิม, ฤคเวทเปนพระเวทเดิม, ซึ่งได้มีผู้แต่งและรวบรวมขึ้นหลายพันปีมาแล้ว. ต่อมาพวกพราหมณ์ผู้มีน่าที่ทำพิธีต่าง ๆ ได้คิดเอามนตร์ต่าง ๆ ในฤคเวทมารวมไว้เปนหมวดๆ เพื่อสดวกแก่การค้น, จึ่งได้เกิดมียัชุรเวทและสามะเวทขึ้นเปนลำดับ. ในมานวธรรมศาสตร์มีกล่าวถึงแต่สามพระเวทเท่านั้น, ซึ่งเปนพยานแสดงว่า อถรรพเวทนั้น เปนของที่เกิดขึ้นภายหลังยุคแห่งมานวธรรมศาสตร์, คือไม่เก่ากว่าพุทธกาลเท่าใดนัก.

พระเวททุกคัมภีร์แบ่งเปน ๒ ภาค, คือ ภาคที่รวบรวมคาถาและมนตร์ต่าง ๆ เรียกว่า “สันหิตา”, ภาคที่รวบรวมอรรถกะถาแสดงแบบแผนพิธีต่าง ๆ เรียกว่า “พราหมณะ” นอกจากนี้ยังมีหนังสือรวบรวมคำอธิบายเพิ่มเติมอีก, เรียกว่า “อุปนิษัท” และ “อารัณยกะ

ฤคเวท มี ๑ สันหิตา, พราหมณะ ๒ คือ (๑) ไอตเรยะ พราหมณะ, หรืออีกนัย ๑ เรียกว่าอาศวลายนะพราหมณะ; (๒) เกาษีตะกิพราหมณะ, หรืออีกนัย ๑ เรียกว่าศางขยายนะพราหมณะ. ทั้ง ๒ นี้เปนตำหรับแถลงน่าที่แห่งพราหมณ์ผู้เช่นโหตฤ, คือผู้สวดมนตร์เวลาทำพลีกรรม.

ยัชุรเวท แบ่งเปน “นิกายดำ” กับ “นิกายฃาว”, มีตำหรับแยกกัน, คือ นิกายดำมิไตต์ติริยะสันหิตา กับ ไตต์ติริยะพราหมณะ; นิกายฃาวมีวาชสะเนยีสันหิตา กับศตะปถะพราหมณะ; ศตะปถะพราหมณะนี้ใช้มากกว่าตำหรับอื่น, แถลงน่าที่แห่งพราหมณ์ผู้เปนอัธวรยุ, คือผู้ลงมือกระทำกิจบูชายัญ.

สามะเวท มี ๑ สันหิตา, มีพราหมณะ ๘, ซึ่งมีผู้ใช้อยู่มาก ๒ คือ เป๎ราธะพราหมณะ หรืออีกนัย ๑ เรียกปัญจวีศะพราหมณะ, กับตาณฑยะพราหมณะ หรืออีกนัย ๑ เรียกว่า ษัทวึศะพราหมณะ, เปนตำหรับแถลงน่าที่พราหมณ์ผู้เปนอุทคาตฤ, คือผู้สวดเปนทำนองในเวลาทำพิธีต่าง ๆ.

อถรรพเวท มี ๑ สันหิตา, และมีพราหมณะชื่อโคปถะพราหมณะ, เปนตำหรับแถลงวิธีรักษาโรคและไล่ผีที่เฃ้าสิงในกายมนุษ. ตำราเกร็ดต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับไล่ผีและทำเสน่ห์เปนต้น เปนสาฃาแห่งอถรรพเวท, จึ่งเรียกว่า “อาถรรพ์

การเรียนรอบรู้พระเวทเรียกว่า “เวทางค์”, กอบด้วยองค์ ๖ คือ:–

๑. ศึกษา. ออกสำเนียงและอ่าน, มีอ่านให้ถูกจังหวะ, ให้คล่อง, และให้เสียงไพเราะ,

๒. ฉันทัส. รู้คณะฉันท์, แต่งได้.

๓. ไวยากรณ. รู้ตำราภาษา.

๔. นิรุกต์. รู้มูลและคำแปลแห่งศัพท์.

๕. โช๎ยติษ. รู้จักดาว และหาฤกษ์, ผูกดวงชตา, ฯลฯ

๖. กัลปะ. รู้แบบแผนทำพิธีต่าง ๆ.

๑๔ นรสิงหาวตาร (น่า ๕๒) – ในหนังสือนารายน์สิบปางฉบับหอพระสมุดจัดไว้เปนปางที่ ๗, และแถลงเรื่องข้างต้นว่า “หิรันตะอสูร” คิดจะใคร่เปนใหญ่ในไตรภพ, จึ่งตั้งตะบะพิธีริมเชิงพระสุเมรุได้๑๐๐ ปี พระเปนเจ้าก็ยังมิได้ประสาทพรให้, “อสูรตนนั้นจึ่งกองเพลิงแล้วทำฃาอย่าง ขึ้นย่างกายจนมันเหลวในกายนั้นไหลออก จึ่งเอามันเหลวตามประทีปบูชาพระเปนเจ้าทั้ง ๓ พระองค์” คราวนี้พระเปนเจ้าเสด็จลงมา, หิรันตะยักษ์ก็ขอพร, พระอิศวรประทานพรและพระนารายน์ประทานคทาไว้คู่มือ, และพระเปนเจ้าทั้ง ๓ ประทานโอวาทแล้วก็เสด็จกลับ. ในที่นี้ไม่ปรากฎว่าพระพรหมธาดาได้ประทานอะไรจนอย่างเดียว, แต่ในตำหรับที่ฃ้าพเจ้าเก็บความมาแสดงในลิลิตนี้กลับกล่าวว่า พระพรหมาเปนผู้ประทานพรองค์เดียว, พระอิศวรและพระนารายน์หาได้เกี่ยวข้องด้วยไม่.

ในหนังสือฉบับหอพระสมุดกล่าวต่อไปว่า เมื่อได้รับพรและคทาแล้ว หิรันตะยักษ์ก็กำเริบยิ่งนัก, ถึงแก่ตั้งตัวขึ้นเทียมพระนารายน์, และแต่เดิมเมื่อฤษีมุนีจะสาธยายเวทมนตร์อะไรก็มักตั้งต้นว่า “โอม นโม นารายนะมะมะ”, แต่หิรันต์บังคับให้เปลี่ยนว่า “โอม นโม หิรันตะมะมะ”, เทพดาและฤษีนำความไปทูลพระอิศวร, จึ่งมีเทวโองการให้พระนารายน์อวตารไปสังหารหิรันตรอสูร. “พระนารายน์รับศิวะโองการแล้วก็บันดาลมหาสังข์ทักษิณาวัฏซึ่งทรงนั้น ให้ลงมาเกิดเปนบุตร์หิรันตะอสูร. ครั้นอยู่จำเนียรมา กุมารนั้นเจริญขึ้น จึ่งมีนามปรากฎว่ากระลาธรรมกุมาร.”

เรื่องราวต่อไปมีพิสดารดีและตรงกันกับที่มิในลิลิตของฃ้าพเจ้า, เปนแต่ในลิลิตเรียกนามตามที่ปรากฎในตำหรับที่ฃ้าพเจ้าใช้, คือเรียกอสูรผู้บิดาว่า “หิรัณยกศิปุ”, และเรียกอสูรผู้บุตร์ว่า “ประหลาท”. ฃ้าพเจ้าอยากจะใคร่สันนิษฐานว่า นามของอสูรทั้ง ๒ นี้ ที่ผิดเพี้ยนไปในหนังสือฉบับไทยเห็นจะไม่ใช่ความผิดของครูเดิม, น่าจะเปนความผิดของคนไทยผู้จดเรื่อง ฟังนามผิดไปจึ่งจดลงตามที่ได้ยิน, เพราะหิรัณยกศิปุนั้น พราหมณ์อาจเรียกย่อ ๆ ว่า “หิรัณยะ”, แต่ได้ยินเปน “หิรันตะ”, และประหลาทนั้นอาจเรียกว่า “ประหลาทธรรมกุมาร”, แต่ได้ยินเปน “กระลาธรรมกุมาร” ไปก็ได้ ไม่ต้องดูอื่นไกล, แต่นาม “เซอร์ เจมส๎ บรุก” ในรัชกาลที่ ๓ ยังเรียกได้ว่า “เยสัปปรุษ” ดังนี้เปนตัวอย่าง, ใช่แต่เท่านั้น, ฃ้าพเจ้ายังเคยได้ฟังพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเล่าว่า ครั้ง ๑ ทรงใช้เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต), ซึ่งเวลานั้นเปนเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี, ให้ไปเรียกเอาหนังสือเรื่อง “เซอร์ เจมส์ บรุก“, เจ้าพระยานรรัตน์ไปบอกผู้รับสั่งว่าต้องพระประสงค์หนังสือ “ซีจำปลุ๊ก”, ผู้รับสั่งไปเรียนคุณจอมผู้เก็บหนังสืออีกต่อ ๑ ว่าต้องพระประสงค์หนังสือ “คือคะรึ”!

๑๕ “แย่งกุเวรเปนเจ้า ทรัพย์ล้วน” (น่า ๕๓) – ท้าวกุเวร, หรือที่เรียกนามอีกด้วยว่า “เวสสวัณ” หรือ “ไพศรพน์”, มีกำเนิดเปนยักษ์และมีบริวารเปนยักษ์, แต่เหตุใดจึ่งเฃ้าฃ้างฝ่ายเทวดาทุกๆ คราวที่เทวดารบกับยักษ์ ? ข้อนี้ย่อมเปนข้อฉงนของคนโดยมาก. แท้จริงในต้นรามเกียรติ์ก็มีแถลงประวัติของท้าวกุเวร, แต่ในที่นั้นเรียกว่า “ท้าวกุเปรัน” จึ่งไม่มีใครสำเหนียกว่าเปนตัวเดียวกันกับท้าวกุเวรนั้นเอง. ที่นามกลายเปน “กุเปรัน” ไปนั้น, ฃ้าพเจ้าสันนิษฐานว่าคงเปนไปโดยทางเดียวกับที่ “เซอร์ เจมส๎ บรุก” กลายเป็น “ซีจำปลุ๊ก” เช่นที่กล่าวมาแล้วในคำอธิบายที่ ๑๔, กล่าวคือพราหมณ์ผู้เปนครูคงได้ออกนามว่า กุเพรํ”, ซึ่งอ่านตามสำเนียงสันสกฤตก็คล้าย “กุเบรัน”, ผู้จดจงจดลงตามที่ตนได้ยิน, แล้วเมื่อคัดลอกกันต่อมา , หางตัว บ ยาวออกจึ่งกลายเปน ป. ส่วนประวัติในต้นรามเกียรติ์กล่าวไว้ถูกต้องดีพอประมาณ, แต่เพราะเหตุที่ “ท้าวกุเปรัน” นั้นตั้งแต่ถูกทศกัณฐ์แย่งบุษบกแล้วก็มิได้กล่าวถึงอีก, คนไทยโดยมากจึงมิใคร่ได้ใส่ใจถึง. ฉนั้นในที่นี้ฃ้าพเจ้าขอแถลงประวัติของท้าวกุเวรโดยย่อ, ตามที่มีในอุตตรกัณฑ์แห่งรามายณะ, และเก็บจากที่อื่นประกอบบ้างพอสมควร.

ในกฤตะยุค พระปุลัสตยะประชาบดี, ผู้เปนมานะสาบุตร์ของพระพรหมา, บำเพ็ญฌาณอยู่ในป่าหิมพานต์ ได้รับความรำคาญเปนอันมากเพราะมีสตรีหลายคนชอบไปขับลำทำเพลงและจับระบำเล่นที่ข้างอาศรม, พระปุลัสตยะจึ่งประกาศคำสาปไว้ว่า ถ้าหญิงใดเฃ้าไปใกล้อาศรมของเธออีกให้เกิดมีครรภ์, มีนางกษัตริย์องค์ ๑, ซึ่งเปนบุตรีของท้าวตฤณะวินทุ, มิได้ทราบคำสาปนี้, เดินเฃ้าไปใกล้อาศรม จึ่งเกิดมีครรภ์. ครั้นท้าวตฤณะวินทุทราบ ดังนั้นก็เลยยกธิดาให้แก่พระปุลัสตยะ, แลนางมีโอรสชื่อ วิศระวัส, หรือเรียกตามกำเนิดว่า “เปาลัสตยะ”. พราหมณ์ผู้แถลงเรื่องรามเกียรติ์คงจะได้ออกนามว่า “เปาลสฺตฺย”, ผู้เขียนจึ่งจดลงตามที่ตนได้ยินว่า “ลัสเตียน”, ดังปรากฎอยู่ในรามเกียรติ์นั้น. พระเปาลัสตยะศึกษาและบำเพ็ญตะบะเชี่ยวชาญจนได้เปนฤษี และทำการสมรสกับบุตรีพระภรัทวาชประชาบดี, มีโอรสองค์ ๑ ซึ่งพระพรหมาประทานนามว่า “ไวศระวัน” (“เกิดแต่วิศระวัส”), และเพราะว่าร่างกายไม่งดงามจึ่งมีฉายาว่า “กุเวร” (“ตัวขี้ริ้ว”). กุเวรได้บำเพ็ญตะบะอยู่หลายพันปี, จึ่งได้รับพรของพระพรหมาให้เปน “ธนะบดี” (“เจ้าแห่งทรัพย์ทั้งหลาย”), และให้เปนโลกบาลประจำทิศเหนือด้วย, พระวิศระวัสผู้เปนพระบิดาแนะนำให้กุเวรไปอยู่นครลงกา, ซึ่งพระวิศวกรรมได้สร้างขึ้นในปางก่อนเพื่อเปนที่อยู่ของพวกรากษส, แต่ซึ่งพวกรากษสได้ทิ้งร้างไป เพราะเกรงเดชพระนารายน์.

อยู่มาวัน ๑ ท้าวสุมาลี, เจ้ารากษสซึ่งเปนเชื้อวงศ์รากษสที่หนีจากลงกาไปอยู่บาดาล, ได้ขึ้นมาเยี่ยมมนุษยโลก, เห็นท้าวกุเวรขึ้นบุษบกอันเปนของพระพรหมาประทานนั้น ลอยไปในอากาศเพื่อไปเฝ้าพระบิดา. ท้าวสุมาลีมีความอิสสา, จึ่งคิดอุบายที่จะเอานครลงกาคืน. ด้วยความคิดเช่นนี้ สุมาลีจึ่งได้นำตัวธิดาชื่อไกกะสีไปถวายให้เป็นชายาของพระวิศระวัส, และนางนี้ได้เปนมารดาแห่งท้าวราพณ์ (ทศกัณฐ์) ๑ กุมภกรรณ ๑ นางศูรปนขา ๑ พิเภษณ์ ๑. เมื่อนางไกกะสีได้เห็นความสง่าของท้าวกุเวรในเมื่อเวลาไปเฝ้าพระบิดา, นางนั้นก็มีความแค้นและยุยงลูกของตนให้คิดแข่งท้าวกุเวร. พญาราพนณ์ก็ตั้งใจบำเพ็ญตะบะอยู่หลายพันปี, จะพระพรหมาทรงพระเมตตาแล้ว, พญาราพณ์จึ่งขอประทานพรว่า มิให้แพ้ผู้ใดที่มีอิทธิฤทธิ์ยิ่งไปกว่ามนุษ. พอได้รับพรแล้วพญาราพณ์ก็ไปแย่งเอานครลงกากับบุษบกได้จากท้าวกุเวร.

ฝ่ายท้าวกุเวรพายักษ์บริวารหนีไปเฝ้าพระบิดา, พระบิดาจึ่งสร้างนครให้ใหม่, เรียกนามนครว่า “อลกา”, หรือ “ประภา” บ้าง, “วสุธรา” บ้าง. “วสุสถลี” บ้าง, ตั้งอยู่ในป่าหิมพานต์, และมีสวนระโหฐานชื่อเจตระรถ อยู่บนเฃามันทร, อันต่อเนื่องกับเฃาพระสุเมรุ. อันนครและสวนของท้าวกุเวรนั้น เปนรมณียะสถานน่าสำราญยิ่งนัก, ทั้งผู้ที่อยู่ในที่นั้นก็ปราศจากโศก, ความเหน็จเหนื่อย, ความวิตก, ความหิว, และความกลัวภัยใดๆ, และคงชนม์ชีพอยู่ได้ตั้งหมื่นปี. ต้นไม้ในสวนเจตระรถนั้นมีใบเปนผ้าเนื้อดี มีดอกเปนมณีมีค่า, และมีผลเปนนารี, ปราสาทที่อยู่ของท้าวกุเวรเปนฝีมือพระวิศวกรรมสร้างขึ้นอย่างวิจิตร์, และเสวกในปราสาทนี้คือกินนร, และนางกินนรีเปนนางบำเรอ. พวกยักษ์ผู้เปนบริวารได้ตามท้าวกุเวรจากนครลงกาไปอยู่ในนครอลกาด้วย. และเพราะเหตุที่ท้าวกุเวรเปนผู้ที่อยู่ในศีลในธรรม, มิได้มีใจพาลสันดาลหยาบ, จึ่งเฃ้าฃ้างฝ่ายเทวดาทุก ๆ คราวที่รบกับอสูร.

ในภาพที่เขาเขียน ท้าวกุเวรเปนคนผิวฃาว, มีสามฃา, มีฟัน ๘ ซี่, และกายประดับด้วยอาภรณต่าง ๆ. นอกจากนามที่กล่าวมาแล้ว ท้าวกุเวรมีนามที่เรียกอีกด้วยว่า “กุตะนุ” (ตัวขี้ริ้ว), “อิจฉาวสุ” (ผู้มีทรัพย์ได้ตามใจจำนง), “ยักษะราช”, “มยุราช” (เจ้าแห่งพวกมยุ, คือกินนร), “รากษะเสนทร์” (เปนใหญ่เหนือรากษส), “รัตนะครรภ” (พุงแก้ว), “ราชะราช” (เจ้าแห่งเจ้า), และ “นรราช” (เจ้าแห่งคน, หมายความว่าทรัพย์มีอำนาจให้คนต้องเคารพ.)

มเหษีของท้าวกุเวรเปนธิดาแห่งพญามุรทานพ, มีนามว่า “ยักษี” หรือ “จารวี”, หรือ “เกาเวรี” ก็เรียก; มีโอรสชื่อ“มณีครีพ” หรือ “วรรณกวี” ๑ “นลกุพร” หรือ “มยุราช” ๑ กับมีธิดาชื่อ “มีนากษี.”

ท้าวกุเวรมีของวิเศษอยู่ ๙ อย่าง, เรียก “นิธิ”, แต่ไม่ได้ความชัดเจนว่าเปนอะไรบ้าง และมีลักษณะและคุณวิเศษอย่างไรบ้าง. นามแห่งนิธิทั้ง ๙ นั้น คือ:–

(๑) กัจฉปะ แปลตามศัพท์ตรง ๆ ว่าเต่า.

(๒) มุกุนทะ. เปนชื่อแก้วชนิด ๑.

(๓) นันทะ. แปลตามศัพท์ว่าความปลื้ม, ความดีใจ.

(๔) ขรรวะ. แปลตามศัพท์ว่าบกพร่อง, ชำรุด. (ดูไม่น่าเปนของมีราคาเลย.)

(๕) มกะระ. แปลตามศัพท์ตรง ๆ ว่ามังกรหรือเหรา.

(๖) นีละ. แปลตามศัพท์ว่าสีน้ำเงินแก่, หรือพลอยนิล.

(๗) ศังขะ. แปลตามศัพท์ตรง ๆ ว่าหอยสังข์.

(๘) ปัทมะ. แปลตามศัพท์ว่าดอกบัวหลวง. หรือพลอยทับทิม.

(๙) มหาปัทมะ. (ไม่ได้เค้าเลย).

๑๖ วามนาวตาร (น่า ๘๐)– ในหนังสือนารายน์สิบปางเรียกว่า “ทวิชะอวตาร”, และจัดไว้เปนปางที่ ๔. เรื่องราวที่มีอยู่ในนั้นก็น้อยเต็มที, จึ่งพาให้เห็นเปนปางที่ไม่สำคัญ. ตามเรื่องมีว่า ยังมีอสูรตน ๑ ชื่อท้าวตาวันตะอสูร กระทำความเพียรหมั่นเฝ้าพระอิศวรเปนนิจ, แล้วทูลขอที่บริเวณสามร้อยโยชน์, ว่าถ้าสัตว์ล่วงเฃ้าไปในบริเวณนั้นเมื่อใดจะจับกินเปนอาหาร, ครั้นเมื่อได้พรแล้ว อสูรตนนั้นก็ร่ายมนตร์เสน่ห์, เทวดาและมนุษกับสรรพสัตว์หลงเฃ้าไปในบริเวณสามร้อยโยชน์นั้นก็จับกินเสีย. เทวดาพากันเดือดร้อนไปทูลพระอิศวร, พระเปนเจ้าองค์นั้นจึ่งให้พระนารายน์อวตารลงมาปราบ. ฝ่ายพระนารายน์ “จึ่งอวตารลงมาครั้งนั้น ชื่อว่าทวิชาวตาร, คือทรงเพศเปนพราหมณ์หนุ่มน้อยโฉมงามยิ่งนัก, ก็เฃ้าไปสู่แดนท้าวตาวันตะอสูร ๆ ก็พิศวาทด้วยรูป, จึ่งปราไสยว่า เจ้ามาหาเรานี้จะประสงค์สิ่งดังฤา.” พระทวิชาวตารตอบว่าขอแดน ๓ ย่าง, ท้าวตาวันตะอสูร “จึ่งอวยให้ด้วยความรัก” แล้วพระทวิชาวตาร “ก็กระทำอานุภาพย่างพระบาทไป ๓ ย่าง, ก็สิ้นแดนท้าวตาวันตะอสูรทั้งสามร้อยโยชน์. ฝ่ายท้าวตาวันตะอสูรก็รู้ว่าพระนารายน์ลงมาบันดาลด้วยฤทธิ์, ก็บังเกิดความทุกข์โทร์มนัสยิ่งนัก, จึ่งไปอาศัยอยู่ยังเชิงพระเมรุราช.”

ตามเรื่องที่แถลงไว้เช่นนี้ นับว่าเปนการบกพร่องจนทำให้เรื่องเดิมของเขาเสียทีเดียว. ประการที่ ๑ ที่ว่าท้าวตาวันตะอสูรขอแผ่นดิน ๓๐๐ โยชน์นั้น มิได้มีความมุ่งหมายอะไรยิ่งไปกว่าที่จะจับสัตว์กินเท่านั้น, เปนอันมีความตะกละอย่างเดียวเปนมูลเหตุ, แท้จริงอสูรในปางนี้เขาขอแผ่นดินทั้งสามโลกต่างหาก, จึ่งเปนที่เดือดร้อนแก่เทวดา, และการที่พระนารายน์อวตารลงมาก็เพื่อเอาเทวโลกและมนุษยโลกคืนจากอสูรต่างหาก, หาใช่เพียงแต่ลงมารังแกแย่งบริเวณที่ดักสัตว์ของอสูรนั้นไม่. ถ้าจะทำเพียงแย่งที่ดักสัตว์เท่านั้นดูเปนกิจอันเลวเกินที่พระนารายน์จะควรทำโดยแท้. ประการที่ ๒ ถ้อยคำที่แถลงเรื่องทวิชาวตารขอและอสูรให้ดินแดนนั้น ก็เปนเครื่องแสดงชัดว่าผู้แต่งมิได้เฃ้าใจมูลเหตุหรือความมุ่งหมายแห่งอวตารปางนี้เลย, จึ่งกล่าวให้เปนที่เฃ้าใจไปว่า พระนารายน์อวตารเปนพราหมณ์หนุ่มลงมา เพื่อล่อให้ยักษ์หลงโดยยั่วราคะจริตของยักษ์, ซึ่งเปนความคิดอันเลวทรามมากอยู่, แท้จริงตามเรื่องเดิมของเขาว่า พระนารายน์อวตารเปนพราหมณ์ไปขอทักษิณาตามวิสัยของพราหมณ์, และอสูรก็ยกที่ดินแดนให้เปนทักษิณาตามประเพณีต่างหาก, ไม่ใช่เพราะหลงรักรูปโฉมแห่งพราหมณ์หนุ่มแล้วและยกที่ ดินให้โดยตกอยู่ในอำนาจแห่งราคะจริตฉนั้นเลย.

ฃ้าพเจ้าได้เคยนึกรำคาญเรื่องความเฃ้าใจผิดดังแสดงมาฃ้างบนนี้อยู่นานแล้ว ตั้งแต่เมื่อได้อ่านเรื่องนารายน์สิบปางฉบับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ; แต่ครั้นเมื่อได้เห็นลครนฤมิตร์เอาเรื่อง “ทวิชาวตาร” ออกแสดงในงานราชคฤหมงคลที่พญาไท พ.ศ. ๒๔๕๓, ฃ้าพเจ้ายิ่งรู้สึกมากขึ้นว่า ดูลครแสดงออกท่าทางให้ประจักษ์แก่ตาทำให้เห็นชัดยิ่งกว่าอ่านหนังสือ, ว่าเรื่อง “ทวิชาวตาร” ตามที่มีอยู่ในหนังสือนารายน์สิบปางของไทยเราเปนเรื่องที่ไม่งดงามเลย, และทำให้บางคนมีความคิดสัประดนไปได้ตามจริตอันเลวของตนเอง. ฉนั้นฃ้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาศแถลงเรื่องตามที่มีมาจริงทางไสยศาสตร์, และหวังใจว่าผู้อ่านคงจะแลเห็นเอง ว่าอวตารปางนี้ แท้จริงมิได้มีเรื่องเลวหรือลามก อย่างเช่นที่เคยเฃ้าใจผิดกันมา.

อนึ่งในหนังสือนารายน์สิบปาง ฉบับหอพระสมุดมีข้อความเล่าต่อจากเรื่อง “ทวิชาวตาร” โดยตรงด้วยอีก, คือกล่าวถึงพระอินทรสร้างเมืองมายันให้ท้าวพันตาผู้เปนโอรส, และว่าเมื่อท้าวพันตาสิ้นพระชนม์และไปเกิดในดาวดึงษพิภพแล้ว, เมืองมายันว่างอยู่, ท้าวตาวันตะอสูร เมื่อถูกไล่ไปอยู่ที่เชิงเขาพระสุเมรุแล้ว, ขึ้นไปเฝ้าพระอินทรมิได้ฃาด, จึ่งไปให้นางบุษมาลีชักสื่อให้นางรัมภา, แล้วท้าวตาวันตะอสูรลักนางรัมภาลงมาซ่อนไว้ในเมืองมายัน. พระอินทรทรงทราบเหตุก็ขว้างวัชระลงมา สังหารท้าวตาวันตะอสูรตาย, แล้วเรียกนางรัมเภาขึ้นไปชำระได้ความแล้ว, จึ่งสาปนางบุษมาลีผู้ชักสื่อให้ลงมาอยู่คนเดียวในเมืองมายัน, จนกว่าทหารของพระนารายน์อวตารไปพบจึ่งจะพ้นสาป, นี่เปนเรื่องที่ดูไม่เกี่ยวกับอวตารปางที่ ๕ เลย, ฃ้าพเจ้าจึ่งมิได้กล่าวถึงในลิลิตตอนที่กล่าวถึงปางนี้. ฃ้าพเจ้าสอบตำหรับดูได้ความว่า ในรามายณะแถลงเรื่องนี้ไว้ว่า นางรัมภานั้นเปนนางบำเรอของท้าวกุเวร, หาใช่ของพระอินทรไม่, และยักษ์ที่ลอบรักกับนางรัมภานั้น คือ วิราธ, ซึ่งในรามเกียรติ์เรียกว่า “พิราพ”. เรื่องพระรามต่อสู้กับวิราธนี้จะได้ กล่าวถึงในปางที่ ๗ ต่อไป.

๑๗ “เอื้อนโอษฐว่าพรหมะ จาริ” (น่า ๘๙) – ตามมานวธรรมศาสตร์กำหนดความยังชีพแห่งพราหมณ์เปน ๔ สถาน, คือ:–

(๑) พรหมจารี ตรงกับที่ข้างพุทธศาสนาเรียกว่า“นวกะ”, คือเปนผู้ศึกษา, และต้องปฏิบัติอาจารย์ผู้สอนพระเวท.

(๒) คฤหัสถะ– “ผู้อยู่เรือน”, คือมีภรรยาและครอบครัว, ปกครองบ้าน, อ่านและสอนพระเวท, ทำการบูชายัญ, อวยทานและรับทักษิณา.

(๓) วานะปรัสถะ–“ผู้อยู่ป่า”, ตรงกับ “อารัญญวาสี” ของฝ่ายพุทธศาสนา, คือผู้ที่ได้กระทำน่าที่คฤหัสน์โดยบริบูรณแล้ว, ออกไปอยู่ป่าบำเพ็ญเนกขัมและสันโดษมักน้อยในเครื่องอุปโภคบริโภค, บำเพ็ญทางสมาธิ, และกระทำกิจการพลีโดยเคร่งครัด.

(๔) สันน๎ยาสี– คือพวกเที่ยวจาริกไปในที่ต่างๆ และยังชีพโดยภิกฃาจาร, คล้ายภิกษุในพระพุทธศาสนา, บำเพ็ญฌาณสมาบัติเพื่อตัดกิเลสและมุ่งนฤพาน.

๑๘ “ไปอยู่แดนสุตล เฃตแคว้น” (น่า ๑๐๐) – ภายใต้โลกมนุษลงไปมีโลกที่เรียกชื่อรวมว่า “บาดาล”, เปนที่อยู่แห่งนาค, แทตย์, ทานพ, ยักษ์, และอสูรอื่น ๆ, โลกบาดาลนี้ตามปัทมะปุราณะกล่าวว่ามี ๗ ชั้น, และบอกนามผู้ครองเฃตทั้ง ๗ นั้นไว้ด้วย, คือ:–

(๑) อตล. ผู้ครองชื่อมหามายะ.

(๒) วิตล. ผู้ครองชื่อหาตะเกศวร, เปนภาค ๑ แห่งพระศิวะ.

(๓) สุตล. ผู้ครองชื่อพลี, คือแทตย์ตนที่กล่าวถึงในเรื่องวามนาวตาร.

(๔) ตลาตล. ผู้ครองชื่อมายะ.

(๕) มหาตล. เปนแดนที่อยู่ของงู.

(๖) รสาตล. เปนแดนที่อยู่แทตย์และทานพ.

(๗) บาดาล. เปนแดนที่อยู่ของนาค, มีพญาวาสุกีเปนราชา.

แดนบาดาลชั้นสูง ๆ ว่าเปนที่สำราญปานกันกับสวรรค์, ฉนั้นพลีเมื่อถูกไล่ลงไปอยู่บาดาล, อันเปนแดนต่ำที่สุด, จึ่งเดือดร้อนนัก, และเมื่อพระนารายน์ให้ย้ายขึ้นมาอยู่ในแดนสุตลจึ่งยินดีนัก.

๑๙ “เปนใหญ่ในภพด้าว สามแดน” (น่า ๑๐๑) – อาศัยเหตุที่ท้าวพลีได้โดยครองไตรโลกแล้วครั้ง ๑, และได้รับพรพระวิษณุเปนเจ้าไว้ว่าจะได้ครองอีกครั้ง ๑ ในอนาคต, เวลาที่โหรบูชาเทวดาจึ่งกล่าวว่า “โอมพระภูมพระธรณี กรุงพลีเรืองฤทธิ์” ดังนี้, อนึ่งรูปท้าวพลีก็มีอยู่ด้วยในศาลหลักเมืองในกรุงเทพ ฯ, เรียกว่ารูป “กรุงพาลี”.

๒๐ กานยะกุพชะ (น่า ๑๐๒) – นครนี้ในสมัยนี้ชาวอินเดียเรียกว่า “กาเนาช” เปนนครโบราณอยู่ในประเทศอินเดีย, ริมฝั่งแม่น้ำกาลีนที, เปนแคว ๑ แห่งแม่น้ำคงคา, และอยู่ทิศตวันตกแห่งแม่น้ำนั้น แต่ก่อนเคยเปนนครหลวงที่สถิตแห่งกษัตริย์เกาศิกวงศ์, นาม “กานยะกุพชะ” นั้นแปลว่า “" นางค่อม” [กนฺย=นาง, กุพฺชะ=ค่อม], สาเหตุคือวัน ๑ พระพายุผ่านไปทางนครนั้น เห็นธิดาร้อยองค์ของท้าวกุศะนาภะเล่นอยู่ในสวน, พระพายุกล่าวเกี้ยวนางเหล่านั้น, แต่นางไม่ยินยอม, พระพายุจึงสาปให้นางทั้งร้อยนั้นเปนคนค่อมไปหมด.

๒๑ “ท้าวราพณาสูร ทรงราชย์” (น่า ๑๑๘)– เรื่องพระอรชุนกับทศกัณฐ์ ฃ้าพเจ้ากล่าวถึงในลิลิตนี้แต่โดยย่อ, เพราะได้เคยเก็บข้อความพิสดารแต่งขึ้นไว้ก่อนนี้แล้ว เปนบทลครรำ เรียกว่าเรื่อง “อรชุนกับทศกัณฐ์”, และลครเรื่องนั้นได้เคยเล่นออกโรงแล้วหลายครั้ง, แต่บทยังหาได้ตีพิมพ์ไม่, เปนแต่หวังว่าจะได้ตีพิมพ์ขึ้นสักครั้ง ๑ ในอนาคต.

๒๒ “กามะเธนุ ฯลฯ” (น่า ๑๒๖) คือโคที่เกิดขึ้นจากเกษียรสมุทเมื่อกวนอมฤต, ดังกล่าวไว้ในเรื่อง “กูรมาวตาร”. โคนี้เรียกว่า “กามะเธนุ” แปลว่า “ผู้ให้ทุกอย่างดังต้องการ”, และเรียกด้วยว่า “สุระภี”. โคนี้เทวดาพร้อมกันมอบให้แด่พระวสิษฐมุนี, ,ผู้เปนพรหมฤษี และนับอยู่ในพวกสัปตะฤษี. [ดูคำอธิบายเลขที่ ๗.]

๒๓ “เล่าเรื่องลงโทษนั้น เสร็จสรรพ์” (น่า ๑๓๔) – ในรามเกียรติ์มิได้ปรากฎเลยว่าเหตุใดอรชุนกับ “รามสูร” จึ่งได้รบกัน, เพราะตามบทลครพระราชนิพนธ์นั้นปรากฎแต่เพียงว่า รามสูรได้พยายามชิงแก้วของนางเมขลาไม่สมปราถนาแล้ว, เหาะต่อไป พบพระอรชุนเหาะผ่านหน้า, รามสูรก็ร้องท้าไป, ฝ่ายพระอรชุนก็โต้ตอบถึงใจ, โดนอวดดีเฃ้าหากัน จึ่งต้องรบกัน; พระอรชุนเสียทีรามสูรจับข้อตีนได้จึ่งเอาฟาดกับเขาพระสุเมรุตาย ในรามเกียรติ์ว่ารามสูรเปนยักษ์, และพระอรชุนเปนเทวดา, เปนอันเขวไปทั้งสองคน.

๒๔ “บ่มิกลับไวกูณฐ์ ดั่งกี้” (น่า ๑๔๒) – ในที่นี้ควรสังเกตว่า นี่เปนปางแรกที่พบเรื่องที่พระนารายน์ทำกิจเสร็จแล้วยังไม่กลับคืนขึ้นสู่ไวกูณฐ์. ตามเรื่องว่าเมื่อสังหารกษัตริย์หมดชมพูทวีปแล้ว ปรศุรามไปอยู่ที่เฃามเหนทร, เปนอันหมดเรื่องปางที่ ๖ โดยตรงเพียงเท่านี้, แต่ในรามายณะซึ่งแสดงตำนานปางที่ ๗, และมหาภารตะซึ่งแสดงตำนานปางที่ ๘ นั้น, มีกล่าวถึงปรศุรามอีก, ในรามายณะว่าเกิดไปท้าพระรามจันทร์ลองฤทธิ์กัน, แพ้พระรามและยอมรับว่าพระรามเปนพระนารายน์อวตาร, ซึ่งเปนตัวอย่างอันเดียวที่ได้พบผู้เปนนารายน์อวตารอยู่เองก่อนยอมแพ้ผู้ที่เปนอวตารใหม่, ราวกับการเปนอวตารนั้นลาออกได้, ซึ่งไม่มีใครเคยนึกว่าเปนได้เลย. ในมหาภารตะและปุราณะบางคัมภีร์ที่แต่งขึ้นสำหรับแสดงประวัติและสรรเสริญพระกฤษณาวตาร, มีกล่าวถึงปรศุรามเปนแต่เพียงพราหมณ์ผู้รอบรู้ชำนาญในทางยุทธศาสตร์ และเปนมิตร์ของพระกฤษณะเท่านั้น, หาได้เรียกว่านารายน์อวตารไม่, จึ่งเปนอันกล่าวได้ว่า ในปางที่ ๘ นั้นปรศุรามเปน “อวตารนอกตำแหน่ง” โดยแท้ทีเดียว.

ตามความสันนิษฐานของนักปราชญ์ผู้ที่ได้พิจารณาสอบค้นคัมภีร์ไสยศาสตร์ต่าง ๆ คงลงความเห็นว่า เรื่องปรศุรามาวตารแท้จริงในชั้นต้นคงจบอยู่เพียงฆ่าพวกกษัตริย์เพื่อแก้แค้นแทนบิดาเท่านั้น; ส่วนเรื่องต่อนั้นคงได้แต่งเติมขึ้นภายหลัง, โดยผู้แต่งปราถนาจะยกยอเกียรติคุณและบารมีของพระรามจันทราวตารและพระกฤษณาวตารให้ใหญ่ยิ่งขึ้นนั้นแลเปนที่ตั้ง.

๒๕ รามจันทราวตาร (น่า ๑๔๓) – ในหนังสือนารายน์สิบปางฉบับหอพระสมุดจัดเปนปางที่ ๑๐, และไม่มีเรื่องพิสดาร, เปนแต่เล่าถึงกำเนิดของอสูรและวานรบางตน, แล้วในที่สุดบอกไว้ว่ามีเรื่องพิสดารอยู่ในเรื่องรามเกียรติ์แล้วเท่านั้น.

เรื่องรามจันทราวตารตามที่ฃ้าพเจ้าจะได้แถลงในลิลิตนี้ ฃ้าพเจ้าดำเนินความตามที่มีมาในคัมภีร์รามายณะ, แต่ก็ต้องย่อ ๆ เอาพอแต่ให้ได้เรื่องเท่านั้น. เพราะถ้าจะแต่งตามรามายณะโดยพิสดารจะต้องแต่งขึ้นเปนหนังสืออีกเล่ม ๑ ต่างหากทีเดียวจึ่งจะพอ. ถ้าผู้อ่านคนใดมีความปราถนาจะใคร่ทราบโดยพิสดารยิ่งขึ้นอีกว่าในรามายณะนั้นมีข้อความอะไรบ้าง ฃ้าพเจ้าขอเชิญให้อ่านหนังสือเรื่อง “บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์” ที่ฃ้าพเจ้าได้แต่งและพิมพ์ขึ้นจำหน่ายนานมาแล้วนั้นเถิด.

ในการแต่งลิลิตตอนรามจันทราวตารนี้ ฃ้าพเจ้าได้อาศัยหนังสือรามายณะซึ่ง เรล์ฟ ตี. เอช, กริฟฟิท (Ralph T.H. Griffith) เปนผู้แปลและประพันธ์เปนกาพย์ภาษาอังกฤษ.

๒๖ “ชนครบสี่ตระกูล เนาถิ่น นั้นแล” (น่า ๑๔๔) – พวกชาวอินเดียโบราณถือกันว่า นครที่สมบูรณต้องมีชนทั้ง ๔ ชาติอยู่โดยบริบูรณ, และชนชาตินั้น ๆ ต้องหมั่นกระทำกรณียะของตนด้วยจึ่งจะนับว่าเปนนครที่ปกครองดีแท้.

ตามมานวะธรรมศาสตร์จัดแบ่งชนเปน ๔ “วรรณ” (สี), มีลักษณะและน่าที่ต่าง ๆ กันดังต่อไปนี้:–

(๑) พราหมณ์. ชาตินักบวชและปราชญ์, และชนชาตินี้อาจจะเปนนักบวช, แต่หาใช่จำเปนจะต้องเปนทุกคนไม่, พราหมณ์เปนราชาครองเมืองก็มี, เปนแม่ทัพก็มี.

(๒) กษัตริย์, ชาติผู้ปกครอง (ราชัน) และนักรบ.

(๓) แพศย์ (ไวศฺย). ชาติพาณิชและชาวนา.

(๔) ศูทธ์. ชาติคนรับใช้, มีน่าที่รับใช้ชาติที่ ๑, ๒ และ ๓.

สามวรรณฃ้างบน, คือพราหมณ์, กษัตริย์, และแพศย์, ได้นามว่า “ทวิชะ” (เกิดสองหน) เพราะมีสิทธิที่จะบวชได้, แต่ศูทร์บวชไม่ได้.

๒๗ “อีกหนึ่งชื่อสุมันตร์ ตัวเอก” (น่า ๑๔๖) – สุมันตร์ที่ออกนามในที่นี้ คือที่ออกชื่อในรามเกียรติ์ว่า “สุมันตัน” ตามราชประเพณีโบราณในอินเดีย, นายสารถีเปนคนสำคัญและเปนมนตรีที่ไว้วางพระหฤทัยของกษัตริย์, เปนผู้อยู่ใกล้ชิดยิ่งกว่าใคร ๆ, จึ่งต้องใช้คนดีและมีสกุลสูง. น่าที่ของสารถีไม่ใช่จำเพาะสำหรับขับรถและเลี้ยงม้า, ทั้งโดยปรกติต้องมีน่าที่กำกับการปรุงเครื่องเสวย, ปลุกบรรทมโดยสวดสรรเสริญ, และเปนองคะมนตรีที่ปฤกษาการทั่ว ๆ ไป, และในเวลาออกสู่ที่ยุทธภูมิ ต้องทำน่าที่คล้ายเสนาธิการกับสมุหราชองครักษ์รวมกันด้วย ข้อที่ว่าตำแหน่งสารถีเปนตำแหน่งสูงย่อมมีพยานปรากฎอยู่, ในมหาภารตะยุทธ, ท้าวบรมจักรกฤษณ์, มหาราชาธิราชผู้ครองนครทวาราวดี, ได้กระทำน่าที่เปนสารถีของพระอรชุน ผู้เปนกษัตร์ปาณฑพองค์ที่ ๓, ในรามายณะก็จัดสารถีเปนคน ๑ ในพวกเจ้าน่าที่สำคัญในพระนครอโยธยา, ซึ่งปรากฎว่ามี ๑๐ ตำแหน่ง, คือ พระวสิษฐ์, ปุโรหิต; พระวามเทพ, ผู้ช่วยปุโรหิต; ชยันต์, วิชัย, และธฤษฏิ, ขุนพล, สิทธรรถ, และ อรรถสาธก, ขุนคลัง; ธรรมบาล, และอโศก, ตุลาการ; สุมันตร์, สารถี.

๒๘ “มหิษีท่านไซร้ สามนา รีแล” (น่า ๑๔๖) – มเหษีท้าวทศรถมีสามองค์, คือ (๑) เกาศัลยา, (ซึ่งในรามเกียรติ์เรียกว่า “นางเกาสุริยา”), แปลว่านางชาวโกศล, ฉนั้นเปนเชื้อพระวงศ์เดียวกันกับท้าวทศรถ; (๒) สุมิตรา; (ซึ่งในรามเกียรติ์เรียกว่า “นางสมุทเทวี”); (๓) ไกเกยี, (ซึ่งในรามเกียรติ์เรียกว่า “นางไกยเกษี”), แปลว่านางชาวเกกัย, เปนลูกท้าวอัศวบดี, ราชาแห่งเกกัย, ว่าเปนแคว้นอยู่ในมณฑลปัญจาพ.

๒๙ “เอกอัศวะเมธอัน ประเสริฐ” (น่า ๑๔๗) – พิธีอัศวเมธเปนพิธีสำคัญอันมีกำหนดไว้ว่าให้ทำเพื่อขอพรพระเปนเจ้าในเมื่อปราถนาอะไรสำคัญมาก ๆ, ในรามายณะมีกล่าวถึงพิธีอัศวเมธถึงสองครั้ง, คือครั้ง ๑ ท้าวทศรถทำเมื่อต้องการขอโอรส, อีกครั้ง ๑ เมื่อพระรามได้เปนใหญ่ในกรุงอโยธยาแล้ว และปราถนาจะลองอำนาจ. พิธีที่ท้าวทศรถทำ ในรามเกียรติ์เรียกว่าพิธีกวนฃ้าวทิพย์, และพิธีที่พระรามทำในรามเกียรติ์เรียกว่าพิธีปล่อยม้าอุปการ, แต่ที่แท้เปนพิธีอย่างเดียวกัน.

พิธีอัศวเมธนี้ เฉพาะแต่พระราชาธิบดีจึ่งจะทำได้, และในโบราณสมัยเปนพิธีขอลูกเท่านั้น, แต่ต่อ ๆ มากลายเปนพิธีแผ่อำนาจไป, เริ่มต้นลงมือทำพิธีเรียกว่า “อัคนิษโฏม”, คือบูชาไฟและฉลองม้าตัวสำคัญ, แล้วปล่อยม้านั้นให้เดินไปในแคว้นต่าง ๆ, มีกองทัพตามไปด้วย. เมื่อม้าไปถึงแห่งใด, ผู้ครองแว่นแคว้นนั้นต้องกระทำการเคารพ, หรือมิฉนั้นก็ต้องสู้รบกับกองทัพที่ตามม้านั้นไป. เมื่อม้าได้เที่ยวไปครบ ๑ ปีแล้วจึ่งพากลับพระนคร, และพระราชาผู้เปนเจ้าของม้าทำพิธีฉลองเปนการใหญ่โต, แล้วฆ่าม้าสำคัญนั้นบูชายัญ, พระอัคระมเหษีองพระราชาต้องเปนผู้ลงมือฆ่าม้า, แล้วต้องเฝ้าศพม้าอยู่ตลอดคืน, พร้อมด้วยมเหษีรองและสนมกำนัล; เช้าขึ้นจึ่งสรงชำระพระกายแล้วขึ้นเฝ้าพระราชสามี. ทางไสยศาสตร์นิยมกันว่าถ้าพระราชาองค์ใดกระทำพิธีอัศวเมธได้ร้อยครั้งจักได้เปนพระอินทร์, ครอบครองเทวดาแลมนุษทั่วไป.

๓๐ เรื่องพระฤษยะศฤงค์ ที่กล่าวนี้ (น่า ๑๔๘) – มีในรามเกียรติ์ แต่เรียกนามฤษีผู้เปนตัวการนั้นว่า “ประลัยโกฏิ”, และว่าเปนลูกพระ “อิสีสิงค์”. ส่วนพระราชาในเรื่องนั้น ในรามเกียรติ์เรียกว่า “ท้าวโรมะพัท”, ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าเพี้ยนไปจาก “โลมะบาท” นั้นเอง.

ตามเรื่องที่มีมาในรามายณะว่า พระฤษีฤษยะศฤงค์ (ฤษฺย=กวาง, ศฺฤงฺค=เฃา) เปนบุตรพระฤษีชื่อวิภาณฑก, เชื้อสกุลกาศยป. มารดาเปนนางเนื้อ จึ่งมีเฃาเล็กเฃา ๑ ที่หน้าผาก (ในรามเกียรติ์ว่าหน้าเปนเนื้อทีเดียว.) บิดาเลี้ยงไว้ในป่าตั้งแต่เล็ก, จึ่งมิได้เคยพบเห็นมนุษอื่นนอกจากบิดาของตน. มีเรื่องเล่าว่าในแคว้นองคราษฎร์มีพระราชาทรงนามว่าท้าวโลมบาท [ตีนขน] มีอำนาจวาศนามาก, แต่พเอินได้ทำบาปอะไรอย่าง ๑ ไม่ปรากฎชัด จึ่งบันดาลให้ฝนแล้งในอาณาเขต. ปุโรหิตและชีพ่อพราหมณ์แนะนำให้ท้าวโลมบาทไปเอาตัวฤษยะศฤงค์เฃ้ามาทำพิธีขอฝน, ท้าวโลมบาทจึงคิดอุบาย จัดหานางนครโสเภณีหลายคนให้ไปล่อฤษยะศฤงค์, ฝ่ายฤษยะศฤงค์ได้พบพวกหญิงและได้แตะต้องกายแล้วก็ใจแตก, และเมื่อบิดาถามว่าเหตุใดจึ่งมิได้เอาใจใส่ในกรณียะเช่นเคยมา, ฤษยะศฤงค์ก็เล่าว่าได้ไปพบพวกมนุษพวกหนึ่ง ซึ่งมีรูปน่าดู, ตางาม, เนื้อนุ่มและน่าอกเต็มและอ่อนผิดกับตน, เปนที่พึงใจยิ่งนัก. พระวิภาณฑกจึ่งบอกลูกว่า นั้นคือหมู่มารมาประจนให้เสียพรหมจรรย์, ฉนั้นอย่าให้คบอีกเลย. แต่ครั้นเมื่อบิดาไปพ้นอาศรมแล้ว, ฤษยะศฤงค์ก็ออกไปพบกับพวกหญิงที่ยั่วยวนนั้นอีก, จึ่งถูกล่อลวงจนออกไปพ้นแนวป่า, ไปถึงพลับพลาของท้าวโลมบาท, เมื่อนั้นเฃาก็จับตัวถวายท้าวโลมบาท, และท้าวโลมบาทพูดจาเอาใจอย่างดี, และบอกว่าจะยกนางศานตาผู้เปนราชธิดาให้ ฤษยะศฤงค์ก็ตกลงเฃ้าไปในนครหลวงของท้าวโลมบาท และทำพิธีขอฝนสำเร็จสมปราถนาของท้าวโลมบาท, แล้วก็ได้ทำการสมรสกับนางศานตา, อยู่เปนสุขด้วยกันสืบมา.

๓๑ “ทุกยักษ์สรรพแสนกล้า” (น่า ๑๕๙) – ยักษ์ที่กล่าวในที่นี้คือพวกบริวารของท้าวกุเวร, ฉนั้นจึ่งเต็มใจช่วยในการปราบทศกัณฐ์, โดยมีเหตุดังแสดงไว้แล้วในคำอธิบายที่ ๓๕.

๓๒ วานร ที่ออกนามณที่นี้ (น่า ๑๖๐) – มีนามและกำเนิดตรงกันกับที่กล่าวไว้ในรามเกียรติ์ทีเดียวอยู่ ๓ ราย, คือพาลี ๑, สุครีพ ๑, หนุมาน ๑; นอกจากนี้มีนามที่ผิดเพี้ยนกับในรามเกียรติ์ แต่บอกตัวได้โดยไม่ผิด ๓ ตน, ที่เทียบไม่ได้หรือสงสัยอยู่อีก ๕ ตน, ดังได้จำแนกไว้ฃ้างล่างนี้:–

๑. ตาระ ลูกพระพฤหัสบดี เทียบกันไม่ถูก.

๒. คันธมาทน์ ลูกท้าวกุเวร บางทีจะเปน “เกสรทมาลา.”

๓. นล ลูกพระวิศวะกรรมา รามเกียรติ์เรียก “นิลพัทธ์”, ว่าเปนลูกพระกาล.

๔. นิล ลูกพระเพลิง รามเกียรติ์เรียก “นิลนนท์.”

๕. ทวิวิท ลูกพระอัศวิน เทียบกันไม่ถูก.

๖. แมนทะ (ไมนฺท) ลูกพระอัศวิน เทียบกันไม่ถูก.

๗. สุเษณ ลูกพระวรุณ รามเกียรติ์เรียก “สุรเสน”

๘. ศะรัภ ลูกพระปรรชัณย์ เทียบกันไม่ถูก.

๓๓ “เสด็จมากำเนิด เลิดสรรพ์” (น่า ๑๖๐) – ในรามายณะบอกยามกำเนิดของพระรามไว้โดยพิสดาร, คือวันขึ้น ๙ ค่ำ เจตรมาศ (เดือน ๕), พระจันทร์อยู่ยามปุณรวสุ (ยาม ๗), พระอาทิตย์สถิตราศีเมษ, พระอังคารสถิตราศีมกร, พระเสาร์สถิตราศีดุล, พระพฤหัศบดีสถิตราศีกรกฎ. พระศุกร์สถิตราศีมิน. ชาวอินเดียนิยมกันว่าพระรามประสูติเวลาที่ไตรดายุคกับทวาบรยุคต่อกัน. ส่วนน้องพระราม ๓ องค์นั้น, ปรากฎตามวันประสูติว่า พระลักษมณ์กับพระศัตรุฆน์, ซึ่งเปนลูกแฝด, ประสูติก่อนพระภรต, และพระภรตนั้นอ่อนกว่าพระราม ๑๑ เดือน.

๓๔ “ประสาทพระนามให้กุมาร” (น่า ๑๖๑) – นามกุมารทั้ง ๔ ที่พระวสิษฐตั้งนั้น มีคำแปลต่าง ๆ กันดังต่อไปนี้: (๑) ราม, แปลว่าเปนที่รัก; (๒) ลักษมณะ, แปลว่าดีงามพร้อม (๓) ศตรุฆนะ, แปลว่าผู้ทำลายศตรู, (๔) ภรต, แปลว่าผู้ค้ำจุน.

๓๕ เรื่องพระวิศวามิตร์ขอพระรามไปรบยักษ์ (น่า ๑๖๕) – ในรามเกียรติ์กล่าวว่าพระวสิษฐกับพระ “สวามิตร์” พร้อมกันเฃ้าไปทูลขอท้าวทศรถ. ทั้งนี้คงจะเปนโดยความเฃ้าใจผิด, เพราะเห็นพระวสิษฐช่วยพูดด้วยว่าให้ท้าวทศรถอนุญาตให้พระรามไป. แท้จริงพระวสิษฐกับพระวิศวามิตร์จะอยู่ร่วมสำนักกันหาได้ไม่, เพราะได้เคยเปนคู่แข่งกันมามากมาย, ดังฃ้าพเจ้าได้เก็บเรื่องเล่าไว้แล้วในหนังสือ “บ่อเกิดรามเกียรติ์”, น่า ๒๕ ถึง ๓๒.

๓๖ “นามว่าตาฑะกา โหดห้าว” (น่า ๑๖๗) – ยักษิณีตนนี้ในรามเกียรติ์เรียกว่า “กากะนาสูร” ลูกของนางนี้คือมารีจกับสุวาหุ, ซึ่งในรามเกียรติ์เรียกว่า “สวาหุ”.

๓๗ เรื่องพระรามถอนสาปนางอหลยา (น่า ๑๓๐)–ในรามเกียรติ์ก็มี, แต่ทั้งเรื่องและนามบุคคลเพี้ยนกันอยู่บ้าง. ในรามเกียรติ์ว่า “นางกาลอัจนา” ทำชู้กับพระอินทร์และพระอาทิตย์ มีลูกกับเทวดาทั้ง ๒ นั้นองค์ละคน. นางสวาหะผู้เปนลูกสาวขยายความให้พระโคดมทราบ, พระโคดมจึ่งเสี่ยงลูกชายทั้ง ๒, กลายเปนลิงไปแล้ว, พระโคดมจึ่งสาปนางกาลอัจนาให้เปนศิลาจนกว่าพระรามจะมาพบจึ่งให้ถอนสาป, ฝ่ายนางกาลอัจนาสาปนางสวาหะอีกต่อหนึ่ง ว่าให้ไปยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลม, จนกว่าจะได้มีลูกออกมาเปนวานรทหารนารายน์อวตารจึ่งให้พ้นสาป.

อนึ่งพระอินทร์ที่ถูกพระโคดมสายกลายเปนกะเทย แล้วได้กลับคืนเพศเปน ชายได้อีกอย่างไรฃ้าพเจ้าได้แถลงไว้แล้วในหนังสือ “บ่อเกิดรามเกียรติ์” น่า ๒๓.

๓๘ ประวัติพระวิศวามิตร์ (น่า ๑๗๗) – พระศตานันท์แถลงโดยพิสดารในรามายณะตอนนี้, แต่ฃ้าพเจ้าหาได้นำมาลงไว้ในลิลิตไม่, เพราะเห็นว่าไม่ใช่ประวัตติการของพระราม, แต่ในเรื่องราวของพระวิศวามิตร์มีเรื่องต่อเนื่องด้วยกษัตริย์วงศ์อโยธยาหลายอย่าง, จะนัยว่าเปนเรื่องนอกประเด็นทีเดียวหาได้ไม่, ฉนั้นจึ่งขอกล่าวไว้ในคำอธิบายนี้ว่า ถ้าท่านผู้ใดปราถนาทราบเรื่องประวัติพระวิศวามิตร์ ขอได้โปรดพลิกอ่านดูในหนังสือ “บ่อเกิดรามเกียรติ์”, เพราะฃ้าพเจ้าได้แถลงไว้แล้วในหนังสือนั้น, น่า ๒๕ ถึงน่า ๓๒.

๓๙ เรื่องยัญญะกรรมของพระทักษะ (น่า ๑๗๙) – กล่าวถึงในรามายณะแต่โดยย่อ ๆ เท่านี้, เพราะผู้รจนาเรื่องเดิมเห็นว่าเปนเรื่องที่ผู้ศึกษาไสยศาสตร์ภาคที่กล่าวถึงพระศิวะควรจะรู้กันอยู่ดีแล้ว. แต่สำหรับผู้อ่านไทยที่มิได้ศึกษาทางไสยศาสตร์ ฃ้าพเจ้าขอแถลงเรื่องให้ยาวอีกหน่อย.

พระทักษะมุนีเปนมานะสาบุตร์ (บุตร์เกิดแต่ใจ) ของพระพรหมา, และเปนบิดาของนางสตีผู้เปนมเหษีของพระอิศวร, พระทักษะไม่ชอบพระอิศวร, เห็นว่าแต่งพระองค์ปอนและชอบสมาคมกับปิศาจ. ครั้ง ๑ พระทักษะจัดการยัญญะกรรมใหญ่, เชิญเทวดาชุมนุมหมด, แต่ไม่เชิญพระอิศวร, นางสตีจึ่งไปต่อว่าบิดา, แต่พระทักษะกลับกล่าววาจาหมิ่นประมาทพระอิศวรต่าง ๆ, นางสตีมีความโทร์มนัสจึ่งกลั้นใจตายเสีย. ความทราบถึงพระอิศวรก็กริ้ว, เสด็จไปยังที่สโมสรสันนิบาต, ทรงพระแสงธนูศรยิงทักษะหัวฃาดไป, และยิงเทวดาบาดเจ็บไปมาก. เทวดาผู้ใหญ่ช่วยกันทูลวอนขอโทษ, หายพระพิโรธแล้ว จึ่งประทานพรให้เทวดาที่บาดเจ็บกลับคืนดีตามเดิม, แต่พระทักษะนั้นทรงเอาหัวแพะต่อให้แทนหัวที่ฃาดไป, เพื่อให้เปนเครื่องประจารว่าพระทักษะโง่เขลาเหมือนแพะ, พระอิศวรเสด็จจากที่สโมสรนั้นแล้ว ก็ไปเฃ้าฌานอยู่ในถ้ำแห่ง ๑ ในเขาจักรวาฬ, เพราะทรงอาลัยถึงนางสตีไม่รู้หาย. ฝ่ายนางสตีตายแล้วได้ไปเกิดใหม่เปนธิดาท้าวหีมวัต (คือเฃาหิมาลัย), มีพระนามว่าอุมาไหมะวตี, มีความจงรักภักดีในองค์พระอิศวรแต่กำเนิด, จนเมื่อเจริญวัยขึ้นได้บำเพ็ญตะบะเปนอันมากแล้ว จึ่งได้เปนพระมเหษีของพระอิศวร, และพระเปนเจ้าองค์นั้นจึ่งเสด็จขึ้นไปสถิตขนยอดเขาไกลาศตามเดิม.

๔๐ “จึ่งให้ชื่อสีดา ตามเกิด นั้นแล” (น่า ๑๗๙)–“สีดา” แปลว่า “รอยไถ”, เรื่องกำเนิดนางสีดามีอยู่ถูกต้องในหนังสือรามเกียรติ์, แต่ที่กล่าวว่าเดิมเปนลูกทศกัณฐ์ นั้นไม่มีในรามายณะ.

๔๑ “สองสกุลเลิดนั้น สุดสม กันนา”. (น่า ๑๘๗) –ลำดับสุริยวงศ์ทั้ง ๒ สาขาตามที่แสดงในรามายณะในที่นี้ มีลำดับดังต่อไปนี้:–

พระพรหมา

มะรีจิ

กัศยป

พระสุริยเทวราช

พระมนูไววัสวัต

อิกษวากุ

วงศ์อโยธยา วงศ์มิถิลา
กุกษิ นิมิ
วิกุกษิ มิถิ
วาณะ ชนก
อนะรัณยะ อุทาวะสุ
ปฤถุ นันทิวรรธนะ
ตริศังกุ สุเกตุ
ธุนธมาร เทวะราต
ยวนาศวะ พฤหัทรถ
มานธาตา (มันธาตุ) มหาวีระ
สุสันธิ สุธฤติ
ธ๎รุวะสันธิ ธฤษฏะเกตุ
ประเสนะชิต (น้อง) หรยาศวะ
ภรต (ลูกธ๎รุวะสันธิ) มรุ
อสิต ประตินธก
ศศะวินทุ เกียรติรถ
สะคร เทวะมิฒะ
อสะมัญชัส วิพุธ
อังศุมาน มหานธ๎รก
ทิลีป เกียรติราต
ภคีรถ มหาโรม
กกุตส๎ถะ สุวรรณโรม
ระฆุ ห๎รัศวะโรม
ปุรุษาทก [กัลมาษบาท] ศีระธวัช และ กุศธวัส (น้อง)
ศังกัณ  
สุทรรศนะ  
อัคนิวรรณ  
ศีฆระคะ  
มรุ  
ประศุศรุก  
อัมพะรีษ  
นหุษ  
ยะยาติ  
นากาค  
อชะ [อัชบาล]  
ทศรถ  
รามจันทร์  

ลำดับสุริยวงศ์ที่กล่าวมาแล้วนี้ เปนแต่จำเภาะ ๒ สาขาใหญ่ที่จะได้ทำงานอภิเษกสมรสกันเท่านั้น. นอกจากนี้ยังมีแยกออกไปครองนครอื่น ๆ อีกหลายแห่ง, เปนธรรมเนียมที่ใช้กันต่อ ๆ มา, และในประเทศอื่น ๆ เช่นสยามก็มีประเพณีส่งลูกหลวงไปครองนครอื่น ๆ.

อนึ่งลำดับสุริยวงศ์มีอยู่ในหนังสืออื่น ๆ นอกจากรามายณะอีกด้วย, เช่นในวิษณุปุราณะมีรายนามกษัตริย์มากกว่าในรามายณะด้วยซ้ำ, และลำดับผิดเพี้ยนกันอยู่หลายแห่ง, ดังปรากฏูอยู่ในบัญชีที่ฃ้าพเจ้าได้คัดมาไว้ต่อไปนี้:–

อิกษวากุ

วงศ์อโยธยา

วงศ์มิถิลา

วิกุกษี นิมิ
กกุตส๎ถะ ชนก
อเนนัส อุทาวะสุ
ปฤถุ นันทิวรรธนะ
วิศวคัศวะ สุเกตุ
อรรทระ เทวราต
ยุวนาศวะ (ที่ ๑) พฤหัทรถ
ศราวัสตะ มะหาวีรยะ
พฤหทัศวะ สัตยะธฤติ
กุวละยาศวะ ธฤษฏะเกตุ
ทฤธาศวะ หรยาศวะ
หรยาศวะ (ที่ ๑) มรุ
นิกุมภะ ประติพันธกะ
สัณหตาศวะ กฤตะรถ
กฤศาศวะ กฤตะ
ประเสนะชิต วิพุธ
ยุวนาศวะ (ที่ ๒) มหาธฤติ
มานธาตฤ [มันธาตุ] กฤติราต
ปุรุกุตสะ มหาโรม
ตรัสะทัสยุ สุวรรณโรม
สัมภูตะ ห๎รัศวะโรม
อนะรัณยะ ศีระธวัช (พ่อนางสีดา)
ปฤษะทัศวะ ภาณุมัต
หรยาศวะ (ที่ ๒) ศตะทยุมนะ
สุมะนัส ศุจิ
ตรีธันวัน อูร์ชะวาหะ
ตรัยารุณ สัตยะธวัช
สัตยพรต [ตรีศังกฺ] กฺณิ
หริศจันทร อัญชัน
โรหิตาศวะ ฤตุชิต
หะริต อริษฏะเนมี
จุญจุ ศรุตายุส
วิชัย สุปาร๎ศวะ
รุรุก สัญชัย
วฤกะ เก๎ษมาริ
พาหุก อเนนัส
สะคะระ มีนะรถ
อสะมัญชัส สัตยะรถ
อังศุมัต สาตยะรถี
ทิีลีป อุปะคุ
ภคีรถ ศรุตะ
ศรุตะ ศาสวตะ
นาภาค สุธันวัน
อัมพะรีษ สุภาสะ
สินธุทวีป สุศรุตะ
อยุตายุส ชัย
ฤตุบรรณ วิชัย
ศรรวะกาม ฤตะ
สุทาส สุนัย
เสาทาส [กัลมาษบาท] วีตะหัพยะ
อัศมกะ ธฤติ
มูละกะ พหุลาศวะ
ทศรถ (ที่ ๑) กฤติ
อิละวิละ  
วิศวะสหะ (ที่ ๑)  
ชัฏวางคะ  
ทีร๎ฆะพาหุ  
ระฆุ  
อชะ (“อัชบาล”)  
ทศรถ (ที่ ๒)  
รามจันทร  
กุศะ (“พระมงกุฎ.”)  
อติถิ  
นิษัธ  
นล  
นภัส  
ปุณฑรีก  
เกษมธันวัน  
เทวานิก  
อหีนะคุ  
ปาริปาตระ  
ทล  
ฉล  
อุกถะ  
วัชระนาภ  
ศังขะนาภ  
ธยุษิตาศวะ  
วิศวะสหะ (ที่ ๒)  
หิรัณยะนาภ  
ปุษยะ  
ธ๎รุวะสันธิ  
สุทรรศนะ  
อัคนิวรรณ  
ศีฆระ  
ประศุศรุตะ  
สุสันธิ  
อะมรรษ  
มหาศวะ  
วิศรุตะวัต  
พฤหัทพล  

หมายเหตุ: ที่นามกษัตริย์ในวงศ์มิถิลามีจดไว้น้อยกว่าวงศ์อโยธยานั้น, หาใช่เพราะมีจำนวนน้อยกว่าไม่, แต่เพราะเหตุที่กษัตริย์แห่งวงศ์มิถิลา มิใคร่จะได้ปรากฎว่าทำอะไรที่เก่ง ๆ อย่างเช่นวงศ์อโยธยา, จึ่งไม่ใคร่จะได้มีนามปรากฎในตำนานต่าง ๆ. อนึ่งมีข้อควรสังเกตว่า กษัตริย์วงศ์มิถิลาโดยมากมักใช้เรียกว่า “ท้าวชนก”, ไม่ว่านามส่วนตัวจะมีอยู่แล้วอย่างไร, เช่นบิดานางสีดาโดยมากก็ออกนามเรียกว่า “ท้าวชนก”, แต่มีนามจำเพาะว่า“ศีระธวัช” ดังนี้เปนตัวอย่าง.

๔๒ “จัดงานสมรสพร้อม แปดองค์” (๑๘๘) – ในรามเกียรติ์มีราชาภิเษกสมรสกันแต่พระรามกับนางสีดาเท่านั้น. ในรามายณะแต่งกัน ๔ คู่, คือ (๑) พระรามกับนางสีดา; (๒) พระลักษมณ์กับนางอูรมิลา, ธิดาท้าวชนก; (๓) พระภรตกับนางมาณฑวี, ธิดาท้าวกุศธวัช; (4) พระศตรุฆนะกับนางศรุตะเกียรติ, ธิดาท้าวกุศธวัช.

๔๓ เรื่องปรศุรามท้าลองฤทธิ์กับพระราม (น่า ๑๙๕) มีในรามเกียรติ์, แต่ในที่นั้นว่า “รามสูร” เปนยักษ์, ฉนั้นจึ่งมาเกะกะท้าพระรามด้วยความกำเริบฤทธิ์, และเมื่อแพ้พระรามแล้ว ขอชีวิตไว้, พระรามจึ่งแผลงศรไปทำลายวิมานที่อยู่ของรามสูรนั้นเสีย. แท้จริงตามข้อความในรามายณะเปนคนละอย่างทีเดียว, ปรศุรามเปนพราหมณ์ผู้ที่ได้ตั้งใจบำเพ็ญตะบะจนบรรลุถึงอริยะผลหลายชั้นแล้ว, ยังแต่จะมุ่งไปสู่ชั้นปรพรหมอันเปนชั้นที่สุด, เทียบด้วยนิรพานของทางพุทธศาสนา, แต่ปรศุรามเปนคนโทโษร้าย, อันเปนความเสียสำคัญสำหรับผู้กำเนิดในชาติพราหมณ์, จนได้ฉายาว่า “น๎ยักษะ”, คือ “ต่ำ”, จึ่งบรรลุอริยะผลได้โดยยากและตั้งบำเพ็ญเพียรมาก. ฉายา “น๎ยักษะ” นี้เอง คงเปนเหตุให้ฝ่ายไทยเราเฃ้าใจว่าปรศุรามเปนยักษ์, ครั้นเมื่อมาอวดหาญท้าพระรามและแพ้แล้ว, พระรามไม่ฆ่าเพราะเคารพว่าเปนพราหมณ์, จึ่งให้ปรศุรามเลือกว่าจะให้แผลงศรไปทำลาย มรรค (คือทางดำเนินขึ้นสู่อริยะภูมิชั้นสูง ๆ) หรือ ผล (คืออริยะภูมิที่ได้บรรลุถึงแล้วด้วยความพยายาม), ปรศุรามเลือกเอาให้ทำลายผลเท่าที่ตนได้บรรลุถึงแล้ว, เพราะถ้าทำลายมรรคเสียแล้วก็จะหมดโอกาศที่จะได้บรรลุถึงนิรพานต่อไป, ดังนี้แปลว่าในรามายณะเฃาหาได้มุ่งกล่าวในทางโลกียะไม่, กล่าวในทางโลกุตรทั้งนั้น, คือไม่ได้กล่าวถึงทางเดินในโลกไปสู่ที่ใด ๆ ในโลก, เปนแต่กล่าวถึงทางธรรมและภูมิธรรมทั้งนั้น.

๔๔ “กล่าวถึงมันถรา ฯลฯ” (น่า ๑๙๘) – นี่คือนางที่เรียกในรามเกียรติ์ว่า “นางกุจจี”. คำว่า “กุจจี” ไม่ใช่ชื่อ, เปนคุณศัพท์มุ่งความว่าค่อม, แต่เขียนอักขระวิบัติไปเท่านั้น, ฃ้าพเจ้าค้นในพจนานุกรมสันสกฤตของโมเนียร์–วิลเลียมส์ ได้ความว่า “กุฏี” แปลว่าค่อมหรือโค้ง.

๔๕ “โกรธะกุฎีออก ชื่อชี้” (น่า ๒๐๑) –“ห้องโกรธ” เปนห้องย่อม ๆ ไม่มี เครื่องตกแต่งและมืด, เปนที่สำหรับพระชายาของพระราชาหนีไปเฃ้าอยู่เมื่อมีความแค้นอย่างใดอย่างหนึ่ง, ธรรมเนียมนี้ของเขาออกจะเฃ้าทีอยู่บ้าง.

๔๖ “เริ่มทำตามน่าที่ เปนกรณียะ ประเพณีโบราณ” (น่า ๒๐๗)–นายสารถีของกษัตริย์ในภารตะประเทศมีน่าที่สำคัญต่าง ๆ นอกจากขับรถ, คือเปนผู้กำกับการประกอบเครื่องต้น และกล่าวฉันท์สรรเสริญปลุกบรรทมเวลาเช้าเปนต้น.

๔๗ “–––จนต้องพรากภัสดา” (น่า ๒๑๘)–เรื่องที่สุมันตร์ยกขึ้นกล่าวเพื่อเตือนใจนางไกเกอิน, เฃ้าใจว่าคงเปนเรื่องเกร็ดแซกเฃ้าไปเช่นนั้นเอง. ข้อความตามที่มีในรามายณะตอนนี้ ฃ้าพเจ้าหาได้แปลลงไว้ในตัวลิลิตไม่, แต่เห็นว่าเปนเรื่องนิทานเก่าเรื่อง ๑ ซึ่งสำหรับเล่าสอนใจกุลสตรี, ฃ้าพเจ้าจึ่งขอแปลลงไว้ในที่นี้ดังต่อไปนี้:–

“โดยได้ทราบประวัตติการนานมาแล้ว ฃ้าพเจ้าทั้งหลายก็ย่อมจะได้เคยทราบบาปอันน่าชังแห่งพระมารดา ของพระนางเจ้านั้นอยู่. ฃ้าพเจ้าได้ยินเขาเล่ามาว่า พระมุนีผู้มีญาณตนหนึ่งได้ประสาทพรแด่พระบิดาของพระนางเจ้า, ให้ทรงสามารถทราบบรรดาภาษาทั้งปวงอันมีใช้อยู่ในป่า, ในน่านน้ำ, และในทุ่ง. ไม่มีสัตว์ใด ๆ ที่เดิน, หรือว่ายน้ำ, หรือบิน, ซึ่งท้าวเธอจะมิได้ทรงทราบภาษาของมันนั้น ๆ. อยู่มาเช้าวันหนึ่งเมื่อเอนอยู่บนพระแท่น, ท้าวเธอได้ทรงฟังคำพูดของนกงามตัวหนึ่ง, ซึ่งเมื่อได้ทรงทราบเค้าความแล้วก็ทรงพระสรวล. ฝ่ายพระมารดาของพระนางเจ้าทรงพระพิโรธพระสวามี, แสร้งทำมายาประหนึ่งว่าจะผูกพระศอให้สิ้นพระชนม์, และทูลแค่พระภัสดาว่า: ‘เทวะ, กระหม่อมฉันขอประทานทราบบ้างว่าทำไมจึ่งทรงพระสรวลเช่นนั้น’. พระราชาธิบดีตรัสตอบว่า: ‘ถ้าแม้ว่าฉันแถลงเหตุที่หัวเราะนี้แก่เธอเมื่อใด, เมื่อนั้นก็จะเปนกาลสุดท้ายแห่งอายุของฉัน, เพราะเชื่อเถิด, มรณภัยจักต้องมีตามมาโดยทันที.’ อีกครั้งหนึ่งพระมารดาของพระนางเจ้า, เต็มไปด้วยพระโทโษ, จึ่งตรัสทูลท้าวเกกัยผู้เปนพระราชบิดาของพระนางเจ้าว่า ‘ตรัสแถลงเหตุแด่หม่อมฉันเถิด: แล้วจะคงดำรงพระชนม์อยู่หรือจะเสด็จสวรรคตก็ตามที: ส่วนหม่อมฉันนี้ที่จะยอมทนพระสำรวลของพระองค์นั้นไม่มีละ เมื่อได้ทรงฟังพระมเหษีผู้ทรงสิเนหาตรัสดังนั้น, พระราชาธิบดีผู้ที่บรรฦๅพระฤทธิ์ทั่วสากล, ก็เสด็จไปเล่าเรื่องแด่พระมุนีผู้ที่ได้ประสาทพระพรพิเศษถวายแต่ก่อนนั้น. พระมุนีฟังคำปรับทุกข์ของพระมหากษัตริย์นั้นแล้ว ก็ทูลตอบว่า: ‘เทวะ, ยอมให้พระนางนั้นไปเสียจากพระราชฐานหรือให้สิ้นพระชนม์ชีพเสียเถิด, แต่อย่าได้ทรงยอมตามคำทูลขอของพระนางนั้นเปนอันขาด.’ พระราชาธิราชได้ทรงฟังคำพระมุนีทูลตอบเช่นนั้นก็วายพระวิตก, และพระหฤทัยก็เต็มไปด้วยความโสมนัส, ท้าวเธอขับพระมารดาของพระนางเจ้าไปพ้นพระราชฐาน, แล้วก็ทรงเกษมสำราญดังท้าวกุเวรมหาราชตลอดมา. เช่นเดียวกัน, องค์พระนางเจ้า (ไกเกยี) ก็จะทรงบังคับสมเด็จพระราชาธิบดี (ทศรถ), ซึ่งได้ทรงหลงเชื่อพระองค์นั้น, ให้ทรงพระดำเนินไปในอนาริยะวิถี, และโดยทรงมุ่งอยูในทางบาป, เพราะโมหะครอบงำ, พระองค์ก็จะทรงเริ่มก่ออกุศลกรรมนี้สืบไป. ฃ้าพเจ้าเห็นว่าพระนางเจ้าแลทรงสำแดงประจักษ์ซึ่งความจริงในสุภาสิตโบราณอันมีผู้รู้กันอยู่มาก, กล่าวคือ, บุตร์ย่อมแสดงคุณสมบัติแห่งบิดา และธิดาย่อมมีลักษณะเช่นเดียวกับมารดา, พระนางเจ้าอย่าทรงเปนเช่นนั้นเลย.– – –”

๔๘ “– – – ประทักษิณอัคนี นั่นแล้” (น่า ๒๒๖) – ในพิธีแต่งงานบ่าวสาวของชาวอินเดียมีสิ่งสำคัญคือ เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวจูงมือกันเดินประทักษิณเวียนพระเพลิง.

๔๙ “กูจะสั่งมิให้ เผากู” (น่า ๒๒๖) – ในหนังสือ “บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์”, น่า ๔๔, ฃ้าพเจ้าได้กล่าวข้อความไว้ว่า : “ในรามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ มีข้อความกล่าวไว้ว่า ทั้งนางไกยเกษีและพระภรตถูกห้ามมิให้ถวายพระเพลิง (พระศพท้าวทศรถ), แต่การห้ามเช่นนี้ในฉบับเดิมไม่มี; ตรงกันฃ้าม, กล่าวชัดว่าพระภรตเปนผู้จัดการถวายพระเพลิง, เพราะฉนันต้องเฃ้าใจว่าการห้ามถวายพระเพลิงเปนของที่มาเติมขึ้นเองในฉบับไทย.”

ครั้นเมื่อมาแต่งเรื่อง “รามจันทราวตาร” ในนารายน์สิบปางนี้, ฃ้าพเจ้าอ่าน “รามายณะ” คำแปลของกริฟฟิทได้พบข้อความว่าท้าวทศรถห้ามมิให้นางไกเกยีเผาพระศพ, และพระภรตนั้น ถ้าหากว่าเห็นชอบด้วยในความคิดชั่วของพระมารดา ก็ห้ามมิให้เผาศพด้วยเหมือนกัน, ดังนี้ฃ้าพเจ้าจึ่งจำเปนต้องลุแก่โทษและสารภาพว่า เมื่อเก็บข้อความแต่ง “บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์” นั้น, ฃ้าพเจ้าคงไต้อ้านหนังสือสะพร่าวไป, โดยความรีบร้อน, จึ่งมิได้พบข้อความที่กล่าวนี้, ส่วนข้อที่พระภรตได้ถวายพระเพลิงพระศพท้าวทศรถนั้น ก็เพราะพอได้ทราบเหตุก็ได้แสดงอย่างแขงแรงว่าไม่เห็นชอบด้วยในความคิดและความประพฤติของนางไกเกยี, จึ่งมิได้ต้องถูกห้าม.

๕๐ “ชื่อคุหะผู้มี ฤทธิ์ล้ำ” (น่า ๒๒๙) – คุหะ, ราชาแห่งนิษาท, คือผู้ที่ออกนามในรามเกียรติ์ว่า “ขุขัน.”

๕๑ “สัมฤทธิ์กิจอย่างล้ำ เลิดดี” (น่า ๒๕๒) – ศราทธะพรตที่พระรามกระทำในที่นี้ ปรากฎตามข้อความในรามายณะตอนนี้ว่า พระรามได้ลงไปในลำน้ำ, กอบน้ำขึ้นด้วยพระหัดถ์ทั้งสองและผันพระพักตร์ไปสู่ทิศทักษิณแล้วตรัสว่า: “น้ำอันเลิดและบริสุทธิ์, อันเปนพลีที่จะยืนยงอยู่ชั่วกาลนาน, ฃ้าพเจ้าขอถวายแด่สมเด็จพระบรมราชาธิราช: ขอพระองค์จงทรงรับพลีนี้ในปรโลกเทอญ.” นี่คือตรวจน้ำแผ่ส่วนบุญไปให้นั้นเอง. แล้วพระรามจึ่งขึ้นจากลำน้ำและ, พร้อมด้วยพระอนุชา, จัดหาผลไม้ป่าชนิด ๑ ผสมกับเมล็ดพืชไม้อิงคุทิปั้นเปนขนมและทอดบนหญ้าคา และถวายเปนพลีแด่พระบิดา. ดังนี้เปนอันได้กระทำทั้งธรรมพลี และอามิษพลีโดยบริบูรณตามที่จะทำได้ในกลางดงอันเปนที่กันดาร.

๕๒ “คอยท่าพระทรงเดช เชษฐา ท่านนา” (น่า ๒๕๖) – ตั้งแต่ต้นเรื่องลงมาจนถึงตรงนี้ ฃ้าพเจ้าได้แต่งโดยพิสดารหน่อย, เพราะเห็นว่าเปนตอนที่คนเราโดยมากมิใคร่จะรู้, โดยเหตุที่ตอนต้น ๆ นี้โขนลครไม่ใคร่จะเลือกเล่น. ต่อแต่นี้ไปเปนตอนที่รู้กันมาก, เพราะเฃ้าถึงตอนที่โขนลครมักจะเล่น, ฉนั้นฃ้าพเจ้าจะแถลงเรื่องในลิลิตแต่โดยย่อ ๆ พอเปนสังเขปเท่านั้น.

๕๓ “ตัวกูชื่อวิราธ เรืองฤทธิ์” (น่า ๒๕๗) – ยักษ์ตนนี้คือที่เรียกในรามเกียรติ์ว่า “พิราพ.”

๕๔ ศรภังค์ (น่า ๒๖๐) – ฤษีตนนี้ไม่ปรากฎในรามเกียรติ์. อนึ่งในที่นี้มีข้อน่าสังเกตอยู่อย่าง ๑, คือศรภังค์มุนีนี้ เมื่อได้ทราบว่าตนบำเพ็ญฌาณจนสำเร็จมรรคผลจะได้ไปถึงพรหมโลกแล้ว ก็หาได้อยู่รอจนถึงเวลาที่ตนจะตายไปโดยธรรมดาไม่, แต่เฃ้ากองไฟเผาตัวเสียเพื่อวิญญาณจะได้ออกจากร่างไปสู่พรหมโลกโดยพลัน. ไม่ต้องสงสัยเลยการเผาตัวเช่นนี้ข้างฝ่ายไสยศาสตร์ในสมัยนั้นเห็นจะนับถือกันและสอนกันว่าเปนของดี, พระพุทธเจ้าของเราจึ่งต้องทรงติโทษแห่งการฆ่าตัวตายไว้มาก ว่าเปนสิ่งซึ่งหาผลดีมิได้เลย, กลับจัดว่าเปนบาป, และภิกษุใดเทศนาชักชวนให้คนหลงปลงชีพของตนเองจึ่งได้ทรงบัญญัติเอาโทษเปนมนุสสวิคหะปาราชิก. แต่ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าของเราได้ทรงห้ามปรามอย่างเด็ดขาดเช่นนั้น ก็ยังมีผู้ที่เรียกตนว่าเปนพุทธศาสนิกคงนิยมในการเผาตัวอยู่, ดังปรากฎในเมืองไทยเราเองก็เคยมี, เช่นนายเรืองที่เผาตัวที่วัดอรุณในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ เปนตัวอย่าง.

๕๕ สุติกษะณะ (น่า ๒๖๐) ฤษีนี้ในรามเกียรติ์เรียกว่า “สุทัศน์”

๕๖ อคัสตยะ (น่า ๒๖๑) – ฤษีนี้ในรามเกียรติฺเรียกว่า “อังคต.” ในรามเกียรติ์กล่าวว่า “พระอังคต” ชุบศรพระขรรค์ให้พระราม, แต่ในรามายณะกล่าวว่า อาวุธสำคัญนั้น ๆ เปนของที่พระมุนีได้รักษาไว้ก่อนนาน, เพื่อให้พระราม.

๕๗ ชฎายุ (น่า ๒๖๓) – ในรามเกียรติ์เรียกว่า “สดายุ”. เปนลูกพญาครุฑ, น้องพญาสัมปาตี, จึ่งเรียกว่า “เชื้อชาติเวนไตย”. ในรามายณะตอนนี้ ชฎายุแถลงลำดับกุลวงศ์ของตนโดยพิสดาร, แต่เพราะไม่เกี่ยวกับเรื่องพระรามโดยตรงจึ่งตัดออกเสีย.

๕๘ “จัดเทียมล่อเลอสรร” (น่า ๒๖๙) – ในรามเกียรติ์ของเรา รถยักษ์ มักเทียมราชสีห์, แต่ในรามายณะปรากฏว่าเทียม “อัศคร” [อศฺวตร] ซึ่งแปลตรงตามศัพท์ว่า “ดีกว่าม้า”. ศัพท์ “อัศดร” แปลโดยมากว่า “ล่อ”, แต่อาจแปลว่าม้าที่ดียิ่งกว่าม้าสามัญก็ได้; ในภาษาไทยเราใช้คำอัศดรในที่หมายความว่า “ม้าดีเลิด” นั้นอย่างเดียว, เพราะชาวเราในสมัยโบราณหาใคร่ได้พบเห็นล่อไม่, ที่ชาวภารตะวรรษเรียกล่อว่า “สัตว์ดีกว่าม้า” นั้นก็มีความจริงอยู่บ้าง, เพราะสำหรับใช้ในที่ขึ้นเฃาลงห้วย ล่อแขงแรงและอดทนกว่าม้าเปนอันมาก. ทหารปืนใหญ่ภูเขาในอินเดียปัตยุบันนี้ก็ใช้ล่อเปนสัตว์ผูกต่างขนปืนและกระสุน. ที่ในประเทศสเปญและโปร์ตุกัลเขาใช้ล่อเทียมรถเวลาขึ้นเฃา, และฃ้าพเจ้าได้เคยขี่รถเทียมล่อในประเทศทั้ง ๒ นี้, สังเกตว่าเดินทางขึ้นเฃาดีกว่าม้ามากจริง ๆ.

๕๙ “นามอโยมุขี” (น่า ๒๘๔) – แปลว่า “หน้าเหล็ก”. ในรามเกียรติ์เรียกนางยักษ์ตนนี้ว่า “อัษมุขี”, ซึ่งฃ้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าคงเปนความผิดของผู้คัดลอกหนังสือรามเกียรติ์จากฉบับเดิม. พราหมณ์ผู้เล่าเรื่องคงเรียกนางยักษ์ตนนี้ว่า “อัยมุขี”, และผู้จดตามคำบอกในชั้นเดิมก็คงจดลงถูกแล้ว, แต่ผู้คัดลอกภายหลังคงสำคัญเอาเองว่าตัว “ย” นั้นเปน “ษ”. จึ่งเขียนผิดไปตามที่สำคัญผิดเช่นนั้น.

๖๐ “อันกะพนธ์ตนนี้” (น่า ๒๘๕) – “กพนฺธ” แปลว่าถังหรือพ้อม, และแปลได้ด้วยว่า “ตัวไม่มีหัว, รูปเหมือนถัง.” ยักษ์ตนนี้ในรามเกียรติ์เรียกว่า “กุมพล”, ซึ่งคงผิดได้เช่นนี้เพราะผู้จดแต่เดิมอาจเขียนผิดแล้วว่า “กพล”; ภายหลังผู้คัดเติมสระอูเฃ้าไปตามวิสัยเสมียนมือบอน, แล้วต่อมาคงมีนักปราชญ์ตื้น ๆ เห็นว่า “กุพล” ไม่ได้ความจึ่งแก้เปน “กุมพล”.

๖๑ “ใกล้จึ่งแปลงเปนวา นะปรัสถ์” (น่า ๒๘๗) – ในรามเกียรติ์หนุมานไปพยพระรามและพระลักษมณ์บรรทมอยู่, อดซนไม่ได้ตามแบบลิง, จึ่งได้พบและรู้จักกัน ในรามายณะเฃาแต่งให้หนุมานประพฤติไม่ผิดกับคนเลย, และแปลงตัวเปนวานะปรัสถ์ (พราหมณ์พวกอยู่ป่า) เพื่อได้ทราบก่อนว่ามาร้ายหรือมาดี, แล้วจึ่งแสดงตนให้ปรากฎ.

๖๒ เรื่องหนุมานเฃ้าเมืองมายา (น่า ๒๙๒) ในรามเกียรติ์ก็มี, แต่กล่าวไว้ไม่ตรงกับในรามายณะ. ในรามเกียรติ์เรียกเมืองนั้นว่า “มายัน”, และนางฟ้าที่เปนชู้กับยักษ์ก็เรียกว่า “รัมภา”; ส่วนประวัติของเมืองนั้นนางบุษมาลีเปนผู้เล่าให้หนุมาน, และหนุมานได้เสียกับนางนั้นแล้วจึ่งส่งนางขึ้นสวรรค์; ส่วนนางชีไม่มีกล่าวถึงเลย.

๖๓ “ตรีชฎาผู้เฒ่า” (น่า ๒๙๖) – ในรามเกียรติ์ว่าตรีชฎาเปนชายาของพญาพิเภษณ์, และว่าได้ถูกส่งไปอยู่กับนางสีดาที่สวนเมื่อพิเภษณ์ถูกขับแล้ว แต่นางตรีชฎาที่กล่าวถึงในรามายณะตอนนี้ ไม่ใช่ชายาของพิเภษณ์, เพราะพิเภษณ์ยังหาได้ถูกขับไม่. ฃ้าพเจ้าได้ตรวจค้นดูได้ความว่าชายาของพิเภษณ์นั้นชื่อ “ศรมา”, หาใช่ตรีชฎาไม่, จึ่งนึกเดาว่าการที่ชื่อในรามเกียรติ์เปนตรีชฎาไปนั้นน่าจะเปนโดยความเฃ้าใจผิด.

๖๔ “ครั้นอิ่มแล้วจึ่งได้ ตรัสถาม” (น่า ๓๐๘) – กุมภกรรณได้รับพรพระพรหมาว่าให้มีแรงยิ่งกว่าใคร ๆ และรบเก่งกว่าใคร ๆ ทั้งหมด, แต่ได้ถูกพระสรัสวดีสาปไว้ด้วยว่าให้นอนหลับเสียตั้งปีจึงตื่นครั้ง ๑ และกินอาหารประจุท้องไว้ ให้พอแล้วก็ให้ง่วงนอนอีก. ในรามายณะกล่าวว่า เมื่อทศกัณฐ์ให้ไปปลุกขึ้นช่วยรบนั้น, พวกเสนาต้องจุดธูปเทียน, เป่าศังข์และร้องตะโกนเรียก; ทุบน่าอก, ตีฉาบแลกลอง, เป่าเขาควาย; ตีด้วยตะบองและทุ่มด้วยก้อนหิน; ให้ช้าง, ม้า, และอูษฐไปช่วยส่งเสียงอึง; เอาน้ำรดหลายร้อยโพง, กัดหูด้วยฟันและฉีกด้วยเล็บ; เอาตะบองมัดเฃ้าหลาย ๆ อันแล้วตีหัวและหน้า; ให้ช้างหลายตัวขึ้นกระทืบบนแขนฃา, น่าอก, แลหน้า, ดังนี้แล้วจึ่งตื่น. พอตื่นก็หาวหวอด, แล้วลงมือกินจนอิ่มหนำ, แล้วจึ่งพูด

๖๕ เรื่องศึกกุมภกรรณ (น่า ๓๑๓) – ตามที่แถลงในที่นี้ ดำเนินความตามที่ปรากฎในรามายณะ, ซึ่งผู้อ่านคงสังเกตได้เองแล้วว่าผิดกับที่แถลงไว้ในรามเกียรติ์. ข้อสำคัญคือในรามายณะไม่มีกล่าวถึงกุมภกรรณใช้หอกโมกขศักดิ์เลย, แต่มีกล่าวถึงทศกัณฐ์ใช้หอกชื่อกะบิลพัสดุพุ่งถูกพระลักษมณ์บาดเจ็บ. ฉนั้นในรามเกียรติ์ของเราจะเล่าเรื่องใขว้ตัวไปเสียกระมัง ? อีกอย่าง ๑ เรื่องกุมภกรรณทดน้ำก็ไม่มีกล่าวถึงเลยในรามายณะ.

๖๖ เรื่องอินทรชิตแผลงพรหมาสตร์ (น่า ๓๑๔) – ตามที่แถลงที่นี้ไม่ตรงกับในรามเกียรติ์, คือไม่มีข้อความกล่าวถึงอินทรชิตจำแลงเปนพระอินทร์ขี่ช้างเอราวัณไปเลย, เปนแต่ออกไปรบตรง ๆ แลแผลงศรเมื่อมีโอกาศเหมาะเท่านั้น.

๖๗ “ต้นยาสี่วิสุทธ” (น่า ๓๑๔) – ต้นยาสี่อย่างนี้คือ (๑) วิศัลยกรณี, สำหรับถอนศรให้หลุด; (๒) มฤตสัญชิวนี, สำหรับทำให้ชีวิตกลับฟื้นขึ้น; (๓) สันธยาณี, สำหรับเยียวยาบาดแผลให้หายสนิธ; (๔) สะวรรณกรณี, สำหรับทำให้ผิวพรรณแช่มชื่นอย่างเดิม. ในรามเกียรติ์เรียกต้นยาเหล่านี้ว่า “สังกรณีตรีชวา”.

๖๗ “ขุนมารมังกะรากษ์นี้” (น่า ๓๑๕) – คือที่ออกนามในรามเกียรติ์ว่า “มังกรกรรณ”. ชื่อ “มังกะรากษ์” [ส. มงฺกร + อกฺษ] แปลว่าตามังกร, แต่ชรอยฝ่ายผู้แต่งรามเกียรติ์ของเราจะเห็นว่าชื่อนั้นเสียงไม่เพราะสำหรับหูคนไทย, จึ่งแปลงชื่อให้เสียว่า “มังกรกรรณ” (หูมังกร).

๖๙ “อัคนีโหตร์ล้ำ เลิดยัญ” (น่า ๓๑๖) – พิธีบูชาไฟ; พราหมณ์นับถือกันนักว่าเปนยอดแห่งยัญการ, และอาจให้ผลพิเศษต่าง ๆ แก่ผู้ทำ. ดังนี้แม้ในพุทธศาสนภาษิตก็ยังออกนามพิธีนี้ไว้ว่า “อคฺคิหุตตํ มุขา ยฺา” ดังนี้.

๗๐ “เอาออกไปฆ่าให้ ลิงเห็น” (น่า ๓๑๗) – ในรามเกียรติ์กล่าวว่า ทศกัณฐ์ใช้ให้นายทหารผู้ ๑ ชื่อสุขาจาร, ซึ่งเปนโทษหนีตาทัพ, จำแลงตัวเปนนางสีดาออกไปให้อินทรชิตฆ่า.

๗๑ “ล้างกิจนิกุมภี ลาเร่ง ไปเทอญ” (น่า ๓๑๘) – พิธีซึ่งในรามายณะเรียกว่า “นิกุมภิลา” นี้, ในรามเกียรติ์เรียกว่า “กุมภนิยา”. การรบกันเมื่อพระลักษมณ์ไปทำลายพิธีนี้ มีลักษณะพิสดารคล้ายกันในรามายณะและรามเกียรติ์.

๗๒ “ส่งเทวะรถแก้ว ลงมา” (น่า ๓๒๑) – ในรามเกียรติ์ว่าพระอินทร์ส่งรถลงมาถวายพระรามตั้งแต่เมื่อจองถนนเสร็จ.

/*๗๓ มนตร์อาทิตยหฤทัย (น่า ๓๒๒) – คือ “หัวใจพระอาทิตย์”. ตามที่ในรามเกียรติ์กล่าวว่าทศกัณฐ์ถอดดวงใจได้ จึ่งฆ่าไม่ตาย, และหนุมานต้องไปหลอ กเอากล่องดวงใจจากฤษีโคบุตร์ได้มาแล้ว, ทศกัณฐ์จึ่งล้ม. แต่ตามที่เฃากล่าวในรามายณะ ว่าพระรามได้มนตร์อาทิตยหฤทัยนี้แล้ว จึ่งฆ่าทศกัณฐ์ได้, หมายความว่าได้มนตร์วิเศษที่ล้างบรรดาเวทมนตร์ของทศกัณฐ์ได้หมดดังนี้, ฃ้าพเจ้าเห็นว่าของเฃาเฃ้าทีกว่า.

๗๔ “อวตารปางเจ็ดนี้ แถลงมา จบนอ” (น่า ๓๓๗) – ในรามายณะ, หรือแม้ ในรามเกียรติ์, เมื่อวิจารณดูแล้วจะต้องเห็นว่า แท้จริงเรื่องรามจันทราวตารจบลงเพียงที่พระรามกลับเฃ้านครอโยธยาและทำพิธีราชาภิเษกเท่านั้น. แม้ผู้ที่มิได้เคยอ่านหนังสือรามายณะเลย, แต่ได้อ่านรามเกียรติ์แล้วด้วยวิจารณะญาณ, คงจะต้องรู้สึกว่า เรื่องราวที่กล่าวต่อจากเมื่อพระรามเข้าเมืองแล้วนั้น เปนข้อความจืดๆ ซ้ำ, มิได้สนุกใกล้เคียงกับตอนต้นๆเลย. แลวิญญูชนย่อมจะต้องรู้สึกได้ว่าเปนตอนที่แต่งต่อขึ้นภายหลัง. ถ้ายิ่งได้อ่านรามายณะด้วยแล้วจะยิ่งต้องรู้สึกชัดหนักขึ้นว่าเปนเช่นที่ว่านั้นแน่แท้. ข้อความต่อจากเมื่อพระรามกลับเฃ้าเมืองแล้วนั้น รวบรวมอยู่ในอุตตรกัณฑ์, เปนกัณฑ์แถม. ดังนี้ในเมื่อแต่งลิลิตนี้ฃ้าพเจ้าจึ่งได้ตกลงใจว่าเรื่องรามจันทราวตารควรให้จบลงเพียงถึงพระรามกลับเฃ้าเมืองและราชาภิเษกแล้วเท่านั้น, ซึ่งหวังใจว่าผู้อ่านจะให้อภัย.

กฤษณาวตาร (น่า ๓๓๘) – ในหนังสือนารายน์สิบปางฉบับของหอพระสมุดวชิรญาณจัดปางนี้ไว้เปนปางที่ ๖ และกล่าวข้อความไว้แต่เพียงเท่านี้:–

“อวตารชาติที่ ๖ นั้น ราพณ์บังเกิดเปนอสูร มีนามว่าพาณาสูร, มีศีร์ษะ ๑๐, มีมือ ๒๐ ทรงเทพอาวุธครบทั้ง ๒๐ หัดถ์, ได้เปนเจ้าพิภพในเมืองรัตนานคร. พระนารายน์เปนเจ้าอวตารมาเอากำเนิดในวงศ์กษัตริย์, ได้เสวยราชสมบัติในเมืองณรงกา, ทรงนามว่าพระบรมจักรกฤษณ์, มีครุฑเปนพาหนะ, ได้สังหารพาณาสูรแล้วก็คืนยังเกษียรสมุท. แลเรื่องราวอวตารชาติเปนคำรบ ๖ นี้พอเปนสังเขป; พิสดารอยู่ในเรื่องนิทานพระอุณรุทโน้นแล้ว.”

๗๕ ฃ้าพเจ้าขอแสดงความเห็นทักท้วงแต่เพียงว่า (๑) ในคัมภีร์ปุราณะต่างๆ มิได้กล่าวเลย ว่าพาณาสูรคือพญาราพณ์มาบังเกิดใหม่; (๒) นครหลวงของพาณาสูร ที่ถูกควรเปนโสณิต, ไม่ใช่รัตนา; (๓) นครหลวงของพระบรมจักรกฤษณ์ ที่ถูกควรเปนทวารกา หรือ ทวาราวดี, ไม่ใช่ณรงกา, และคำว่า “ณรงกา” แปลไม่ได้ความว่ากระไร, (๔) พระกฤษณาวตารไม่ได้กลับคืนไปเกษียรสมุทเมื่อได้สังหารพาณาสูรเสร็จแล้ว, เพราะยังคงมีชีวิตอยู่ต่อมาอีกนาน.

นอกจากนี้ฃ้าพเจ้าเองออกจะเห็นใจผู้แต่งหนังสือนารายน์สิบปางนั้นในการที่กล่าวเรื่องอวตารปางนี้แต่พอเปนสังเขป, เพราะเว้นแต่ที่จะยอมเสียเวลาแรมปีแล้ว อย่างไร ๆ. ก็ไม่สามารถที่จะรวบรวมเรื่องกฤษณาวตารมาเล่าให้เปนประวัตติการติดต่อกันโดยเรียบร้อย และเฃ้าใจได้ง่ายอย่างเรื่องพระราม. ส่วนพระรามนั้นมีประวัตติการดำเนินเรื่องติดต่อกันอย่างดีอยู่ในรามายณะ, แต่ส่วนเรื่องพระกฤษณะมีแสดงไว้ในหนังสือปุราณะหลายคัมภีร์, ซึ่งกวีหลายคนต่างคนต่างแต่งขึ้นตามชอบใจของตน, ฉนั้นเรื่องเกร็ดต่างๆ จึ่งมีมากมายเหลือล้นคณนา, และบางแห่งก็มีเถียงกันเองด้วยซ้ำ.

การที่มีผู้ชอบแต่งเรื่องพระกฤษณะมากมายนัก เพราะพวกพราหมณ์ชั้นหลัง ๆ พากันนิยมว่าพระกฤษณะเปนตัวพระนารายน์เสียเองทีเดียว, จึ่งถือกันว่าใครได้แต่งเรื่องยอพระเกียรติพระกฤษณะแล้วก็จะได้บุญมาก, ผลของการที่มีผู้แต่งเรื่องพระกฤษณะเปนหลายรายเช่นกล่าวนี้, แทนที่จะเปนเครื่องสนับสนุนความเลื่อมใส ดูเหมือนจะกลับทำให้ผู้อ่านผู้ฟังที่มิใช่ผู้ถือศาสนาพราหมณ์กลับรู้สึกความบกพร่องของพระกฤษณะมากขึ้น.

สำหรับฃ้าพเจ้าเจง ฃ้าพเจ้าเชื่อตามความสันนิษฐานของนักปราชญ์ชาวยุโรป, ว่าพระกฤษณะ แท้จริงเปนกษัตริย์ซึ่งได้มีอำนาจขึ้นครั้ง ๑ เพราะเปนผู้มีฝีมือในการรบ, และมีความฉลาดในทางอุบายด้วย, แต่ประวัตติการจริงจะมีเพียงเท่าใด ก็ยากที่จะสันนิษฐานให้แน่เสียแล้ว. ในมหาภารตะ, ซึ่งเปนหนังสือรุ่นเก่ากว่าหนังสือพวกปุราณะ, พระกฤษณะปรากฏในที่นั้น แต่เพียงเปนวีระกษัตร์ ที่เปนญาติและมิตร์กับพวกกษัตร์ปาณฑพ, และได้ไปช่วยในงานมหาภารตะยุทธ เมื่อพวกปาณฑพรบกับพวกโกรพแย่งความเปนใหญ่กัน. กษัตริย์พวกที่ทำสงครามกันนั้น เปนเชื้อจันทรวงศ์สาขาโปรพ, ที่เปนมหากษัตร์ครองนครประดิษฐานและหัสดินบุระ; ฝ่ายกฤษณะเปนเชื้อจันทรวงศ์สาขายาทพ, ซึ่งถึงนับว่าเปนสาขา “ลูกพี่” ก็จริง, แต่เปนเพียงกษัตริย์ครองเมืองน้อย ๆ, เพราะยทุผู้เปนมหาชนกแห่งสาขานี้ ได้ถูกยะยาตีผู้เปนพระบิดาเนรเทศเสียจากนคร, จึ่งต้องไปตั้งตัวเอาเอง. ส่วนตัวพระกฤษณะเองนั้น, ตามความเห็นของฃ้าพเจ้า, เปนวีระบุรุษกล้าหาญ และมีสติปัญญาสามารถจริง, แต่ความประพฤติทรามมาก, มีกิเลสแรงกล้า, ใครขัดใจก็ฆ่าเสียง่าย ๆ และชอบประพฤติทางกามะมิจฉาจาร, และเปนเจ้าเล่ห์หลอกลวงต่าง ๆ, ใช้กลมายาอย่างปราศจากธรรม. แต่ทั้งในการผิดเมียเฃาก็ดี, ฆาตะกรรมก็ดี, ผู้แต่งเรื่องพระกฤษณะกลับยกย่องแสดงเปนคุณสมบัติ, ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดว่าศาสนาพราหมณ์ได้ทรามลงปานใด, .และทำให้แลเห็นได้ว่า เหตุใดพระพุทธเจ้าของเราจึ่งต้องทรงริเริ่มตั้งลัทธิศาสนาขึ้นใหม่.

ในลิลิตนี้ฃ้าพเจ้าจะได้เก็บข้อความเรื่องพระกฤษณะเท่าที่ค้นได้ในหนังสือที่แสดงลัทธิไสยศาสตร์โดยสังเขป; พอให้ผู้อ่านได้ทราบเรื่องเปนเลา ๆ เท่านั้น. ถ้าฃ้าพเจ้าจะพยายามค้นหาจากหนังสือปุราณะต่าง ๆ ก็คงจะได้เรื่องพิสดารขึ้นอีกจริงอยู่แล, แต่ฃ้าพเจ้ามิได้ทำเช่นนั้น เพราะประการที่ ๑ ฃ้าพเจ้าไม่มีเวลาพอในสมัยนี้ที่จะสละเพื่อทำเช่นนั้น; และประการที่ ๒ ข้าพเจ้าขอสารภาพโดยตรงว่าฃ้าพเจ้าไม่รู้สึกนิยมในคุณสมบัติของพระกฤษณะ, และไม่ชอบประวัตติการของพระกฤษณะเท่าที่ฃ้าพเจ้าชอบประวัตติการของพระราม. แต่ถ้าผู้ใดปราถนาที่จะทราบประวัตติการของพระกฤษณะโดยพิสดารยิ่งขึ้นก็เชิญอ่านหนังสือ “ภาควัตปุราณะ”, หรือหนังสือ “เปรมสาคร” เองเถิด, ในมหาภารตะมีเรื่องพระกฤษณะอยู่มาก, แต่สลับอยู่กับประวัตติการของกษัตริย์ปาณฑพและโกรพที่ทำสงครามกัน, ซึ่งจะทำให้ต้องเปลืองเวลาค้นหามากอยู่, จึ่งสู้อ่านในหนังสือ ๒ คัมภีร์ที่ออกนามก่อนนี้ไม่ได้.

๗๖ “ไปเกิดเปนลูกวะ สุเทพ” (น่า ๓๔๑) – วสุเทพเปนลูกท้าวศูระ, กษัตริย์จันทรวงศ์ สกุลยาทพ, ทรงราชย์ในนครมถุรา. วสุเทพได้ธิดาท้าวอาหุกะ ๗ นางเปนชายา, แต่ที่จะได้ออกชื่อในลิลิตนี้เพียง ๒ นาง, คือโรหิณีมารดาพระพลราม (หรือพลเทพ), กับเทวกีมารดาพระกฤษณะ.

สกุลยาทพ [ยาทว] คือกษัตริย์ที่สืบสายโลหิตลงมาจากท้าวยทุจันทร์วงศ์, โอรสใหญ่แห่งท้าวยะยาติ, กษัตริย์องค์ที่ ๕ แห่งจันทรวงศ์. ท้าวยะยาติมีมเหษี ๒ องค์; ที่ ๑ คิลเทวยาณี, ธิดาของพระศุกร์, และเปนมารดาของยทุ; ที่ ๒ คือสรรมิษฐา, ซึ่งเปนมารดาของปุรุ. นอกนี้มีโอรสอีก ๓ องค์. ท้าวยะยาติเปนผู้มักมากในกาม และไม่ซื่อตรงต่อเทวยาณี, พระศุกร์จึ่งสาปให้ชราภาพและทุพพลภาพมาถึงก่อนกาลอันควร. แต่เทวยาณีวิงวอนให้ถอนสาปนั้น, พระศุกร์ว่าถอนไม่ได้, แต่ถ้าโอรสองค์ใดองค์ ๑ รับชราภาพและทุพพลภาพนั้นแทนจึ่งจะพ้นได้. ยทุผู้เปนโอรสใหญ่ไม่ยอมรับสาปแทน, พระธิดาจึ่งยกเสียจากตำแหน่งทายาท, และแช่งไว้ด้วยว่าอย่าให้ลูกหลานว่านเครือของยทุได้ครอบบ้านครองเมืองหรือเปนใหญ่ที่ใดได้นานเลย. เมื่อพระกฤษณะเกิดนั้น, พวกยาทพเปนกษัตริย์ชาวชนบท, ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมฝั่งน้ำยมุนา.

สกุลโปรพ [เปารว] คือกษัตริย์ที่สืบสกุลลงมาจากปุรู โอรสของยะยาติกับสรรมิษฐา, เมื่อพระบิดาถูกสาปนั้น, ปุรุรับสาปแทน, พระบิดาจึ่งตั้งให้เปนทายาท ครองนครประดิษฐานสืบสันตติวงศ์. มหาภารตรยุทธ์ได้เกิดขึ้นในระหว่างเชื้อสกุลนี้, ซึ่งแบ่งออกเปน ๒ พวก; พวก ๑ เปนลูกท้าววธตรฐ, เรียกตนว่า “โกรพ” [เการว], จากนามท้าวกุรุผู้เปนวีระชนกองค์ ๑; อีกพวก ๑ เปนลูกท้าวปาณฑุ, จึ่งเรียกตนว่า “ปาณฑพ” [ปาณฺฑว]. พระกฤษณะเปนญาติสนิทกับพวกปาณฑพ เพราะนางกุนตี, ผู้เปนมารดาท้าวยุธิษเฐียร, พระภีมะ, และพระอรชุน, เปนภคินีของวสุเทพ.

ลำดับกษัตริย์จันทรวงศ์ – เผื่อผู้อ่านจะพอใจทราบลำดับกษัตริย์จันทรวงศ์บ้าง, ฃ้าพเจ้าได้คัดบัญชีกษัตริย์ทั้งสองสาขาที่กล่าวแล้วนั้น, อีกทั้งสาขาที่ครองแคว้นกาศี (กรุงพาราณสี) ด้วย, มาลงไว้ณที่นี้, บัญชีนี้ลำดับตามหนังสือ “วิษณุปุราณะ.”

จันทรวงศ์

   

พระอตริประชาบดี

   

พระจันทรเทวราช

   

พระพุธเทวราช

   

ปุรูระวัส

   

อายุ

   
นะหุษ   กษัตริย์แห่งกาศี
ยะยาติ   กษัตระพฤทธะ
ยาทพ โปรพ สุโหตระ
ยะทุ (โอรสใหญ่ของยะยาติ) ปุรุ (โอรสน้อยของยะยาติ) กาศิราช
โกรษฏ ชนเมชัย ทีร์ฆาตมะ
วฤชินีวัต ประจินวัต ธันวันตะรี
สวาหิ ประวีระ เกตมัต
รุษัทคุ มนัสยุ ภีมะรถ
จิตระรถ อภัยทะ ทิโวทาส
ศศะพินทุ สุทยุมนะ ประตรรทนะ
ปฤถุศระวัส พหุคพ ทยุมัต
/*๒๐)    
ตมัส สันยาติ ศตรุชิต
อุศะนัส อหันยาติ วัตสะ
ศิเตยุส เราทราศวะ ฤตุธวัช (หรือกุวละยาศวะ)
รุกมะกะวัจ (หรือรุจะกะ) ฤเตยุ อลรรกะ
ปะราพฤต รันตินาระ สันนะติ (หรือสันตะติ)
ชยามัฆ ตังศุ สุนีถะ
วิทรรภ อนิล สุเกตุ
กรถะ ทุษยันต์ [ผัวศกุนตลา] วิภู
กุนติ ภรต สุวิภู
พฤษณิ ภรัทวาช, หรือ วิตัถ [บุตรบุญธรรมของภรต] สุกุมาร
นิรพฤติ   ธฤษฏะเกตุ
ทศารหะ ภวันมันยุ ไวนะโหตระ
โพ๎ยมัน พฤหัตกษัตร์ ภาร๎คะ
ชีมุตะ สุโหตระ ภาร๎คะภูมิ
วิกฤติ หัสดิน [สร้างหัสตินาปุระ]  
ภีมะรถ อชะมีฒะ  
นวรถ ฤกษะ  
ทศรถ สังวรณ  
ศะกุนิ กุรุ  
กะรัมภิ ชห๎นุ  
/* เทวะราต สุรถ  
เทวะกษัตร์ วิทูรถ  
มธุ สรรพะเภามะ  
อนวะรถ ชยเสน  
กุรุวัตสะ อาราวิน  
อนุรถ อยุตายุส  
ปุรุโหตระ อะโกรธนะ  
อังศุ เทวาติถิ  
สัตวัต ฤกษะ  
อันธะกะ ทิลีปะ  
ภชะมาน ประตีปะ  
วิทูรถ ศานตะนุ  
ศูระ ปาณฑุ [บิดาพวกปาณฑพ]  
ศามิน ธฤตะราษฎร์ (ธตรฐ)  
ประติกษัตร์ ยุธิษเฐียร [ลูกปาณฑุ]  
สวยัมโภช ปะริกษิต  
หฤทิกะ ชนเมชัย  
เทวะมีตรุษะ ศานตานีกะ  
ศูระ อัศวะเมธะทัต  
วสุเทพ วธิสีมะกฤษณะ  
กฤษณะ และ พลราม นิจักรุ  
[นี้เปนลำดับบรรพบุรุษแต่สายตรงของพระกฤษณ, และหาใช่กษัตริย์ที่ทรงราชย์ทุกองค์ไม่.] อุษณะ  
  จิตระรถ  
  พฤษณิมัต  
  สุเษน  
  สุนีถะ  
  ฤจะ  
  นฤจักษุ  
  สุฑพล  
  ปะริปละวะ  
  สุนัย  
  เมธาวิน  
  นฤปัญชัย  
  มฤทุ  
  ติคมะ  
  พฤหัทรถ  
  วสุทาน  
  ศานตานีกะ  
  อุทัยนะ  
  อหินะระ  
  ขัณฑะปาณี  
  นิรามิตร์  
  เกษมะกะ  

/*๗๗ โยคะนิทรา (น่า ๓๔๒) – “ความหลับโดยถูกสกด”. บางแห่งว่าเปนนางผีผู้รับใช้พระพิษณุเปนเจ้า, บางแห่งว่าเปนมายา. ศักดิ์ของพระพิษณุ, ซึ่งทรงใช้เพื่อสกดใคร ๆ ได้ตามปราถนา, ในรามายณะก็มีกล่าวว่า เมื่อพระพรหมาใช้พระอินทร์ให้นำทิพยภักษาไปประทานนางสีดาในสวนอโศกนั้น, พระอินทรได้พาโยคะนิทราไปด้วยเพื่อช่วยสกดพวกยักษ์ให้หลับหมด, โยคะนิทรานี้, ถ้าจะเทียบกับของที่เรารู้จักอยู่ในสมัยนี้ ก็คือการหลับโดยวิธีสกดดวงจิต, ซึ่งเรียกตามภาษาฝรั่งว่า “ฮิปโนติสม” (Hypnotism), หรือเรียกตามภาษาอังกฤษว่า “ตรานซ์” (Trance).

๗๘ “– – – ได้อยู่ช่วยเราปราบ บำราบพาลภายหน้า” (น่า ๓๔๒) – ที่ต้องกล่าวว่า พระพลราม (พลเทพ) เปนลูกนางเทวกีเช่นนี้ ก็เพราะต้องการจะให้สนิทกับพระกฤษณะมากขึ้น, จึ่งกล่าวว่าโยคะนิทราย้ายเอาไปเฃ้าครรภ์นางโรหิณี. ความจริงน่าจะมีอยู่ว่า นางเทวกีแท้งลูกคนที่ ๗, และพระพลรามนั้นที่แท้เปนลูกนางโรหิณี.

๗๙ “พระประเสริฐเลิดแล้ เลอสรร” (น่า ๓๔๘) – ฃ้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้ในที่นี้ไม่ใช่เปนคำแสดงความเห็นส่วนตัวฃ้าพเจ้าหามิได้, เปนแต่แต่งเลียนโวหารของพวกกวีที่แต่งหนังสือปุราณะเท่านั้น แท้จริงฃ้าพเจ้าเองมีความเห็นว่า ประวัตติการของพระกฤษณะในตอนที่เปนเด็กนี้ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าแสดงลักษณะของเด็กที่เก่งอย่างหัวโจกเด็ก, มีความซุกซนเปนลักขณะอันปรากฎชัดกว่าลักษณะอื่น. เช่นการแกล้งลักผ้านุ่งของพวกหญิงเลี้ยงโคไปไว้บนต้นไม้นั้น, ฃ้าพเจ้าแลไม่เห็นเลยว่าเปนกิจการอันน่ายกเอามาสรรเสริญ, เพราะเปนการเล่นรังแกและอยากดูผู้หญิงแก้ผ้าเท่านั้น. ส่วนการที่พูดชักชวนนันทะโคบาลให้นำเครื่องพลีไปเส้นเฃาโควรรธนะ แล้วกฤษณะไปกินเครื่องเส้นเสียเองนั้น, ก็ประพฤติอย่างคนสัประดน, และทำให้ฃ้าพเจ้านึกถึงเรื่องทิตเพ็ชร์แต่งตัวเปนเทวดาไปกินเครื่องเส้นของหมื่นหาญที่ไร่ฝ้ายนั้นเทียว. ผลของการเล่นสัประดนคราวนั้นก็เกือบนำผลร้ายสู่พวกโคบาลที่เปนมิตร์สหาย, แต่พะเอินแก้ตัวหลุดได้โดยสำแสดงปาฏิหารอย่างไม่น่าเชื่อเลย, เพราะเรื่องปาฏิหารใครนึกจะแต่งขึ้นอย่างไรก็แต่งได้ตามใจทั้งสิ้น ตามความจริง บางทีกฤษณะจะได้เปนผู้มีสติปัญญาออกอุบายให้โคบาลและโคได้พ้นอุทกภัยได้ โดยพาเฃ้าอาศัยในถ้ำอัน ๑ ในเขาโควรรธนะ, จึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเปนผู้ช่วยให้พ้นอุทกภัย; ส่วนปาฏิหารยกเฃาขึ้นทั้งเฃาและถือกั้นแทนร่มนั้น คงเปนของที่คิดแต่งเติมขึ้นใหม่.

๘๐ “สมจิตสัมฤทธิ์ด้วย บารมี ท่านแล” (น่า ๓๕๐) – ประวัติพระกฤษณะตอนนี้แสดงกิเลสของผู้ประดิษฐ์ขึ้นโดยแจ่มแจ้งทีเดียว, คือแสดงว่าตัวของตัวพอใจในทางกามคุณารมย์แล้ว ก็ต้องหาเหตุมาอ้างเพื่อแก้ความชั่วให้กลายเปนดี, อย่าว่าแต่ในพระพุทธศาสนาเลย, ถึงแม้ในไสยศาสตร์เอง, มีมานวธรรมศาสตร์เปนต้น, ก็ถือว่าการล่วงประเวณีเปนบาป, เปนกามะมิจฉาจาร; แต่ในตำนานพระกฤษณะกลับเอาขึ้นสรรเสริญเปนคุณสมบัติของผู้ที่ยกย่องเปนผู้วิเศษถึงแก่ว่าเปนองค์พระนารายน์เอง, ไม่ใช่เปนเพียงอวตาร. การทำชู้กับนางราธาภรรยานายอายัณโฆษ, แทนที่จะติเตียนกลับยกเอาขึ้นเปนข้อสรรเสริญ, และเมื่อผัวจวนจะเฃ้าไปจับได้ ต้องแปลงตัวเปนผู้หญิงแล้วยืนแลบลิ้นปลิ้นตาทำเปนเทวรูปกาลี, ก็กลับสรรเสริญว่าเปนปาฏิหาร, อีกอย่าง ๑ นางโคปีคนใดที่ใจง่าย ยอมให้กฤษณะเล่นชู้กับตนก็กลายเปนได้บุญไปหมด, และมีชู้, ไม่ซื่อตรงต่อผัวของตัว, น่าจะให้ตกนรกกลับกลายเปนให้ขึ้นสวรรค์, คำสั่งสอนอย่างเต็มไปด้วยอคติเช่นนี้ แม้แต่พวกถือศาสนาพราหมณ์ด้วยกัน บางพวกก็เห็นว่ากลืนไม่ลง. แต่เปนธรรมดามนุษปุถุชนย่อมมีความปราถนาที่จะได้ไปสู่สุคะติภพ, และถ้ายิ่งไปได้ง่ายๆ ก็ยิ่งพอใจ, เมื่อมีผู้กล่าวให้ฟังว่าอาจจะสมปราถนาได้ โดยไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าทำความภักดีในพระกฤษณะให้ปรากฎเท่านั้นฉนี้, พวกคนที่อยากขึ้นสวรรค์โดยไม่ต้องลำบากจึ่งพากันเลื่อมใส่ในพระกฤษณะมาก, คนชนิดนี้ถ้ามีใครหลอกให้ดี ๆ ว่า อาจซื้อตั๋วเดินทางจากเฃาเพื่อไปสวรรค์ได้ คงพากันยกผู้ขายตั๋วนั้นขึ้นเปนพระนารายน์อวตารเปนแน่!

๘๑ “เชษฐาพลเทพนั้น ฯลฯ” (น่า ๓๕๐) – พระพลเทพ, หรือพลราม (เรียกได้ทั้งสองชื่อ) เขายกย่องนับถือกันเสียยิ่งกว่าพระลักษมัณ, บางอาจารย์ยกเอาพระกฤษณะขึ้นเปนองค์พระนารายน์แบ่งภาคเสียแล้ว, และนับเอาพระพลรามเปนอวตารปางที่ ๘, แต่กิจการของพระพลรามโดยมากก็ได้กระทำร่วมมือกับพระกฤษณะ, ฉนั้นฃ้าพเจ้าจึ่งมิใคร่จะได้ออกนามพระพลรามในลิลิต.

๘๒ “ผู้ญาติกฤษณะเอง นั่นไซร้” (น่า ๓๕๗) – ศิสุบาลเปนลูกท้าวทมะโฆษ, ราชาครองแคว้นเจที, กับนางศรุตะเทวา, ผู้เปนภคินีของพระวสุเทพ, บิดาพระกฤษณะ, ฉนั้นศิสุบาลนับว่าเปนลูกพี่ลูกน้องกับพระกฤษณะ, แต่เพราะเหตุที่แย่งผู้หญิงกันจึ่งกลายเปนอริแก่กัน.

๘๓ แก้วสยะมันตะกะ ที่กล่าวถึงณที่นี้ (น่า ๓๕๘) – เปนของพระอาทิตย์ประทานแด่สัตราชิต. แก้วนี้มีคุณวิเศษคือ บันดาลให้เจ้าของได้ทองวันละ ๘ หาบ, และป้องกันลางร้ายต่าง ๆ, และสัตว์ร้าย, คนร้าย อัคคีภัย, และทุพภิกขะภัย. แก้วนี้ให้คุณมากแก่ผู้ที่ถือไว้ต่อเมื่อผู้นั้นเปนคนสุจริต, แต่ถ้าเปนคนทุจริต แก้วนั้นกลับเปนเครื่องทำลายถึงสิ้นชีวิต.

๘๔ “และพลเทพดี กับอนุช” (น่า ๓๖๒) – เหตุการณ์ต่าง ๆ เนื่องด้วยแก้วสยะมันตะกะนี้ ฃ้าพเจ้าได้แถลงโดยพิสดารหน่อย, เพราะเห็นว่าเปนเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าพวกยาทพกษัตริย์เปนสกุลที่ทรามปานใด, และขาดความปรองดองกันก็เพราะต่างคนต่างแลเห็นความทรามของกันและกัน แม้แต่พระพลเทพผู้สนิทยังติดใจสงสัยพระกฤษณะได้.

๘๕ เรื่องขะโมยต้นปาริชาต (น่า ๓๖๓) – ดูเปนการโจรกรรมอันกอบด้วยความลบหลู่คุณด้วยโดยแท้, แต่อัศจรรย์ที่พวกพราหมณ์เฃาแสดงไว้เปนปาฏิหารอัน ๑ ของพระกฤษณะ.

๘๖ ปาณฑพกษัตริย์ (น่า ๓๖๓) – คือโอรสท้าวปาณฑุมหากษัตร์จันทรวงศ์ผู้ทรงราชย์ณกรุงหัสตินาปุระ, ปาณฑพกษัตริย์มี ๕ องค์ คือ (๑) ยุธิษเฐียร (๒) ภีมะ (๓) อรชุน, เปนลูกนางกุนตี น้องพระวสุเทพ, ฉนั้นเปนญาติสนิทกับพระกฤษณะ; (๔) นะกูล (๕) สหเทพ, ลูกแฝดของนางมัทรี. ตามมหาภารตะกล่าวว่า แท้จริงปาณฑพกษัตริย์ทั้ง ๕ นั้นหาใช่โอรสของท้าวปาณฑุไม่. ท้าวปาณฑุได้ถูกฤษีตน ๑ สาปไว้ ว่าเมื่อใดสมพาศกับมเหษีให้ตาย. นางกุนตีจึ่งได้ขออนุญาตพระสามีเพื่อเชิญเทวดาลงมาเพาะพืชแทน, นางกุนตีจึ่งได้มีพระยุธิษเฐียรโดยพระยม, มีพระภิมะโดยพระพาย, และมีพระอรชุนโดยพระอินทร์, แล้วขอเชิญพระอัศวินเทวดาแฝดลงมาสมพาศกับนางมัทรี, จึ่งได้เกิดพระนะกูลและพระสหเทพ, เมื่อท้าวปาณฑุสิ้นพระชนม์ลง, อมาตย์มนตรีได้เชิญท้าวธฤตะราษฎร์ (ธตรฐ), พระเชษฐาผู้พระเนตร์มืด, ขึ้นทรงราชย์, ท้าวธฤตะราษฎร์นั้นมีโอรส ๑๐๐ องค์, มีพระทุรโยธน์เปนองค์ใหญ่. โอรสของธฤตะราษฎร์ ๑๐๐ องค์นี้ออกนามว่า โกรพกษัตริย์, เพื่อให้ต่างกันกับพวกปาณฑพกษัตริย์.

๘๗ “ในงานสวยัมพร แห่งบังอรกฤษณา” (น่า ๓๖๔) – เรื่องพิธีสวยัมพรนี้, อีกทั้งเรื่องพนันสการะหว่างยุธิษเฐียรกับทุรโยธน์, ฃ้าพเจ้าได้เล่าไว้แล้วในนิทานวัจน์ต้นเรื่อง “พระนล”, ในหนังสือ “พระนลคำหลวง”.

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ