คนถูกคนผิด

สุวมนนอนฟังเสียงคุณแม่ พูดโทรศัพท์อยู่บนเก้าอี้นอน เสียงของคุณแม่ยังเป็นเสียงเดิม คุณแม่เปลี่ยนเสียงพูดไม่ได้แล้ว เมื่อ ๑๓ เดือนก่อนนี้ คุณแม่พูดเสียงอย่างนี้ไม่มีผิด เดี๋ยวนี้คุณแม่ก็ยังคงใช้เสียงนั้น สุวมนจำแม่นยำว่าตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ ครบ ๑๓ เดือนพอดี หล่อนคงจะลืมไม่ได้ เมื่อวันที่เดียวกันนี้ เดือนหนึ่งก่อนที่จะถึงวันเกิดของหล่อน ศุกรีได้มาบอกหล่อนว่าเขารักหล่อน อยากแต่งงานกับหล่อน แต่เขาต้องหักใจไม่แต่งงาน เพราะอะไร เพราะเขา....สุวมนเริ่มจะเกิดความรู้สึกซึ่งหล่อนได้พยายามระงับ และได้ชนะแล้ว ชนะมาสองสามเดือนแล้ว แต่บ่ายวันนี้เมื่อนอนฟังเสียงคุณแม่พูดโทรศัพท์เช่นนี้ก็เกิดขึ้นมาอีก ความรู้สึกนั้นคือ มีอาการจุกแน่นที่ยอดอก หรือที่กระเพาะอาหารนั่นเอง ซึ่งหมอเจิดเพื่อนรวมห้องตั้งแต่ครั้งชั้นเตรียมอุดมศึกษา บอกว่าเป็นอาการของความเครียดของประสาทให้รักษาตัวเอง คนอื่นรักษาให้ไม่หาย และคุณป้าพื้นเพ็ญคุณแม่ของเพ็ญพร ซึ่งเป็นผู้ชำนาญในทางปฏิบัติจิตก็สนับสนุนว่า คนเรารักษาตัวเราเองให้หายจากความไม่สบายบางอย่างได้ ซึ่งเมื่อสุวมนได้ทดลองก็ปรากฏผลจริง ๆ แต่วันนี้ดูเหมือนผลนั้นจะไม่เป็นผลเสียแล้ว

หล่อนอดย้อนคิดถึงศุกรีไม่ได้ เห็นหน้าเขา ได้ยินเสียงเร่าร้อนของเขา ท่าทางและแววตาเต็มไปด้วยความตื่นตระหนก จิตใจของเขาไม่ปรกติ เขาพูดกับหล่อนอย่างละล่ำละลัก พูดออกมาอย่างไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีเจตนาจะบอกเล่า

หล่อนนั่งอยู่กับเขาที่ระเบียงข้างห้องรับแขกด้านตะวันออก ซึ่งเมื่อถึงเวลาบ่ายก็มักร่มรื่นปราศจากไอแดด เขามาลาหล่อน มาบอกว่าเขาจะไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ทั้งที่เขาไม่จำเป็นจะต้องไป อาชีพของเขาไม่ขึ้นอยู่กับปริญญาหรือประกาศนียบัตร แต่เขาจะไปญี่ปุ่นเพื่อศึกษาชีวิตมากกว่า

ระหว่างที่เขานั่งพูดอย่างอ้อมค้อม ฟังดูเหมือนคนสติลอย พูดถึงเรื่องของเพื่อนคนนั้นยังไม่จบ ก็เปลี่ยนไปพูดเรื่องเพื่อนอีกคนหนึ่ง แล้วก็บอกลาหล่อนไปพลาง แล้วก็บอกว่าไม่อยากไป แล้วก็บอกว่าอยากไป และพูดขัดแย้งตนเองว่าคุณพ่อของเขาควรไป แล้วอีกครู่หนึ่งต่อไปก็บอกว่าคุณพ่อว่าไม่น่าจะไป แล้วคุณแม่ของสุวมนก็มาพูดโทรศัพท์

คุณแม่พูดเรื่องคล้ายกับเรื่องที่พูดอยู่ขณะนี้ เกือบจะเป็นเรื่องเดียวกัน สำนวนสำเนียงและเนื้อความเกือบไม่ผิดกัน

“ค่ะ ค่ะ” เสียงคุณแม่พูด “ก็ถูกแล้วค่ะ แต่ว่าคุณลองพิจารณาอีกทีนะคะ เงินที่กรรมการเขาอนุมัติ เขาสำหรับให้ทำอย่างหนึ่ง คุณเอาไปทำอีกอย่าง” เสียงอีกฝ่ายหนึ่งแย้งมา คุณแม่นิ่งไปครู่หนึ่งแล้วพูดต่อ “ดิฉันเข้าใจค่ะ เข้าใจดีทีเดียว” เน้นวรรคหลังด้วยสำเนียงที่คุณแม่ใช้เสมอ “เข้าใจความตั้งใจดีของคุณค่ะ” หัวเราะกลั้วเสียงพูดเล็กน้อย ด้วยเจตนาจะให้ไม่กระทบกระเทือนใจผู้ฟัง “แต่ถึงเราจะตั้งใจดี แต่กรรมการเขาก็อ้างได้อีกแหละค่ะ ว่าเขาไม่ได้อนุมัติอย่างนั้น”

อีกฝ่ายหนึ่งกล่าวว่าอย่างไง สุวมนไม่ได้ยิน แต่แล้วคุณแม่ก็พูดตอบ “คุณจะเห็นดิฉันมีความสามารถเกินไปเสียแล้วค่ะ ดิฉันจะไกล่เกลี่ยอย่างไร ไม่ใช่เรื่องโกรธเคืองอะไรกันไม่ใช่เรอะคะ มันเรื่องผิดเรื่องถูก เราว่าไปตามผิดตามถูกซิคะ”

อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายเจรจาอีก แล้วคุณแม่พูดอีก “ดิฉันไม่ใช่คนมีอิทธิพลค่ะ อย่าพูดอย่างนั้นซิคะ ดิฉันไม่ได้ว่าอะไรเลยนะคะนี่ ถามดิฉัน ดิฉันก็เรียนไปตามผิดตามถูก ไม่เกี่ยวกับดิฉันเลยนะคะ”

อีกฝ่ายหนึ่งพูดอีก แล้วคุณแม่พูด “ไม่เกี่ยวค่ะ ไม่เกี่ยวแน่เชียวค่ะ ไม่ใช่เรื่องของดิฉัน เรื่องของคุณกับคณะกรรมการ” นิ่งฟังอีกประเดี๋ยว “อ๋อ พูดซิคะ ในที่ประชุมดิฉันพูดซิคะ พูดไปตามที่ถูก อย่างที่ดิฉันเรียนแล้ว เรื่องที่คุณใช้เงินไปตามเจตนาดี ดิฉันทราบค่ะว่าเจตนาดี ก็ไม่ใช่จำนวนที่มากมายอะไรหนักหนา แต่มันผิดจากที่เขาอนุมัติ แล้วจะทำยังไง ว่ากันคนละเรื่องดีไหมคะ” สำเนียงพิเศษของคุณแม่ออกมาพร้อมกับคำพูด

สุวมนเลิกฟังต่อไป หล่อนลุกขึ้นจากที่นอนเล่นอยู่และเดินไปเดินมาที่ระเบียงด้านหลัง ไม่ได้ยินเสียงคุณแม่แล้วก็ตามเคย หล่อนทำสิ่งที่ไม่อยากทำ รู้สึกว่าผิดที่ทำ ไม่ถูกที่ทำ แต่ก็ทำ เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรให้ลดความกดดันที่กระเพาะอาหาร มีคนเดียวที่ทำให้หล่อนหายรู้สึกเครียดคือน้าปิ๋ว น้าปิ๋วผู้ซึ่งหล่อนไม่ควรติดต่อด้วยเลย เพราะน้าปิ๋วหล่อนน่าจะถือว่าเป็นศัตรูคนแรกของแม่ น้าปิ๋วเป็นคนที่แย่งคุณพ่อไปจากคุณแม่ แต่จะทำอย่างไรได้ น้าปิ๋วคนเดียวพูดคำที่หล่อนอยากได้ยิน

หล่อนไม่ต้องอายน้าปิ๋ว น้าปิ๋วก็ไม่ต้องกระดากหล่อน น้าปิ๋วรู้ว่าน้าปิ๋วเป็นคนผิด และรู้ว่าหล่อนทนความผิดของน้าปิ๋วได้ และหล่อนพูดกับน้าปิ๋วเรื่องศุกรีได้ เหมือนน้าปิ๋วก็พูดกับหล่อนเรื่องคุณพ่อได้

หล่อนจะเล่าให้น้าปิ๋วฟังซ้ำอีกเป็นครั้งที่เท่าใด น้าปิ๋วทนฟังได้ และฟังโดยไม่ทำตาเหม่อลอยไปแสดงถึงความไม่สนใจด้วยใจจริง หล่อนจะเล่าซ้ำให้น้าปิ๋วฟังได้ว่าเมื่อ ๑๓ เดือนก่อน ศุกรีพูดกับหล่อนว่าอย่างไร

พอเขาได้ยินเสียงคุณแม่พูดโทรศัพท์ เขาก็ยกมือขึ้นปิดหู แล้วก็ลุกขึ้นอย่างแรงจากเก้าอี้ หันหลังให้หล่อน ให้แก่เสียงของคุณแม่ หล่อนคิดว่าเขาทำท่าล้อหล่อน จึงถามขึ้น

“แหม ทำท่าเหมือนทนฟังอะไรไม่ไหว ฉันก็ไม่ได้พูดอะไรให้กระทบกระเทือน ถามแต่ว่า ไม่คิดถึงเพื่อนฝูงบ้างรึ เขียนหนังสือมาให้พอจำ ๆ กันไว้ได้บ้างก็จะดี จะให้จำเป็นภาพบันทึกไว้ในใจตลอดกาลมันเป็นไปไม่ได้”

หล่อนตกใจมากเมื่อเขาหันหน้ามา ดวงตาของเขามีน้ำตาเต็ม แล้วเขาก็เข้ามากอดรัดหล่อนไว้แล้วก็คลายออก แล้วก็ทำทำจะหนีไปอย่างผลุนผลัน แต่หล่อนไม่ยอม หล่อนยุดแขนเข้าไว้แน่น และดึงเขาไปยังระเบียงอีกด้านหนึ่ง ด้านที่หล่อนเดินไปเดินมาอยู่เมื่อครู่ก่อนที่จะลงมาขับรถออกจากบ้าน

“เป็นอะไรบอก บอกนารี” หล่อนเรียกชื่อเล่นที่เพื่อนตั้งให้เขา แล้วหล่อนก็กอดเขาไว้แน่น เขาค่อย ๆ แกะมือหล่อนออกจากที่หล่อนรัดเขาไว้เบื้องหลังเขา

เขาสั่นศีรษะ แต่เมื่อเห็นหล่อนไม่ยอมคลายมือ เขาก็ว่า “เธอก็คงเหมือน คงเหมือนบ้างแน่” แล้วเขาก็ดึงมือหล่อนออกจนได้ แต่พอเขาขยับจะทิ้งหล่อนไป เขาก็สังเกตว่าดวงตาของหล่อนก็เต็มไปด้วยน้ำตาเหมือนกัน เขาจึงกลับมากอดหล่อนไว้แน่น กอดไว้สักครู่หนึ่งแล้วก็คลายออก แล้วก็ว่า

“ไม่มีประโยชน์ ถึงจะรักเธอสักเท่าไหร่ ฉันก็ทนไม่ไหว อยู่ด้วยกันไม่ได้นาน อย่าลองดีกว่า ทำลายชีวิตของเธอ ฉันไปดูเอาข้างหน้าดีกว่า เธอคงหาผู้ชายที่ดีกว่าฉันได้”

หล่อนเข้าไปยุดแขนเขาไว้ ซบศีรษะลงบนบ่าของเขา ซึ่งหล่อนอยากทำมานานแล้ว หล่อนรู้ตัวว่าหล่อนรักพิรีย์เพื่อนร่วมห้องตั้งแต่ครั้งอยู่ชั้นเตรียมอุดม และร่วมสถานศึกษาชั้นอุดม ร่วมงานสโมสร ร่วมสนุก ร่วมงานกันหลายอย่าง หล่อนรู้ความจริงข้อนี้มาสองสามปีแล้ว หล่อนคอยวันที่เขาจะบอกหล่อน หล่อนพยายามรักษาประเพณีไทย ไม่เป็นฝ่ายให้เขารู้จากหล่อนด้วยความลำบาก วันนี้หล่อนอดทนต่อไปไม่ไหวแล้ว

“รี รีรักฉันเรอะ แล้วทำไม เธอไม่ดียังไง ฉันทนได้ เธอบอกฉันซิ ฉันทนได้”

“อย่าดีกว่า อย่าเลย มน” เขาพูดเสียงเครือ ฟังไม่เหมือนเสียงของพิรีย์ ซึ่งเป็นนักร้องเพลงหลายชนิดอย่างดีบ้างเลวบ้าง แต่ก็ชอบร้องเพราะเขาชอบสนุก

“บอก บอก” หล่อนดึงแขนเขาไว้สุดกำลัง เขาไม่พยายามดึงอวัยวะของเขาไปจากหล่อน แต่พยายามไม่กอดหล่อน

“บอกแล้วเลิกพูดกันนะ” เขาพูดหลังจากที่ทำท่าเหมือนกลืนก้อนอะไรลงไปในคอ “ฉันเคยมาเจรจากับคุณแม่แล้ว ฉันรับข้อเสนอไม่ได้สักอย่างเดียว แต่นั่นไม่สำคัญนักหรอก” แล้วเขานิ่งไปอีก “มันอยู่ที่ อยู่ที่ฉันเป็นลูกเขยคุณแม่เธอไม่ได้ เห็นไหม มันไม่ใช่อุปสรรคธรรมดา ๆ ฉันพูดอีกไม่ได้หรอกมน พูดเท่านี้ก็เกินไปแล้ว เธออย่าเกลียดฉันให้มากนักนะ ฉันจะไปละ” คราวนี้เขาทำตัวของเขาเป็นอิสระจากวงแขนของหล่อนได้ เพราะสุวมนกำลังอ่อนปวกเปียกไปทั้งตัว แล้วเขาก็ลงจากตึกหลังเล็กของหล่อนไป

ในวันนั้นเช่นเดียวกับวันนี้ คนที่หล่อนวิ่งไปหาเป็นคนแรกก็คือน้าปิ๋ว เวลานั้นน้าปิ๋วยังอยู่ในบ้านเดียวกับหล่อน คุณพ่อยังไม่ได้แยกมาจากคุณแม่ น้าปิ๋วอยู่ห้องเล็ก ซึ่งคุณพ่อตั้งใจจะใช้เป็นห้องเก็บของ แต่ด้วยความพลาดพลั้งของการสร้าง ซึ่งเป็นธรรมดาของคนปลูกบ้านอยู่เป็นครั้งแรก ห้องเก็บของกลายเป็นห้องที่เย็นที่สุด และเมื่อความจำเป็นเกิดขึ้น ทำให้คุณแม่ต้องให้น้าปิ๋วมาอยู่ร่วมบ้าน คุณพ่อจึงทำที่เก็บของใหม่ และจัดห้องเก็บของเล็กนั้นเป็นห้องของน้าปิ๋ว เป็นห้องมีเนื้อที่ครึ่งหนึ่งของห้องสุวมน หล่อนรู้สึกกระดากกับสภาพที่กล่าวมานี้ แต่จะออกปากให้น้าปิ๋วมาอยู่ห้องของหล่อน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรกับสมบัติมากชิ้นมากอย่าง ซึ่งหล่อนได้สะสมไว้ ซึ่งหล่อนต้องขนจากห้องที่น้าปิ๋วมาอาศัย เข้ามาไว้ในห้องของหล่อนเป็นบางสิ่ง และหล่อนก็ไม่รู้จะออกปากชวนน้าปิ๋วให้ย้ายห้องอย่างไรจึงจะไม่ทำให้การรับรองที่คุณพ่อและคุณแม่ให้แก่น้าปิ๋ว เป็นการรับรองที่ไม่สมควร

น้าปิ๋วไม่เคยแสดงความรำคาญ หรือความอึดอัดในห้องน้อยของน้าปิ๋ว นอกจากนั้นน้าปิ๋วยังสามารถจัดห้องให้ดูกะทัดรัด ไม่อัดแออย่างไรเลย น้าปิ๋วเป้นเพียงแต่ขออนุญาตคุณแม่ให้น้าปิ๋วซื้อตู้หนังสือตู้หนึ่ง และขอเอาตู้ไว้ในห้องเก็บของที่คุณพ่อทำขึ้นใหม่ที่ชั้นล่าง ใต้ถุนห้องนอนของน้าปิ๋วนั่นเอง

วันที่ศุกรีมาหาหล่อนนั้น คุณพ่อไม่อยู่บ้าน คุณแม่ออกไปจากบ้านทันทีที่พูดโทรศัพท์เสร็จแล้ว สุวมนรู้ว่าน้าปิ๋วอยู่ น้าปิ๋วไม่ค่อยปิดประตูห้องเพราะห้องเล็ก ถ้าปิดจะทำให้อึดอัด ข้างหน้าห้องน้าปิ๋วนั้นมีระเบียงแคบ ๆ ขนาดคนลงนั่งพับเพียบหรือขัดสมาธิได้ โดยหดขาเสียเล็กน้อย สุวมนเดินจากด้านที่อยู่ของหล่อนและบิดามารดา ไปถึงห้องของน้าปิ๋วตามระเบียงที่ทำไว้รอบตึก โดยวางขนาดให้แคบและกว้างไม่เท่ากัน อีกนัยหนึ่ง น้าปิ๋วอยู่ในห้องด้านหลังของตึกนั่นเอง

น้าปิ๋วมีงานทำเสมอ กลับจากทำงานที่เป็นอาชีพนอกบ้านของน้าปิ๋วแล้ว น้าปิ๋วก็หางานในบ้าน อันเป็นการแบ่งเบาภาระของคุณแม่ ขณะนั้นน้าปิ๋วกำลังซ่อมปลอกหมอนสำหรับใช้นอนเล่นของคุณแม่ คุณแม่หาเวลาทำงานชนิดนี้ไม่ค่อยได้ เพราะคุณแม่มีงานนอกบ้านทำมาก ทั้งงานอาชีพและงานสาธารณกุศล

“น้าปิ๋ว” สุวมนพูดทันทีที่น้าปิ๋วเงยหน้าขึ้นจากการสอยปลอกหมอนที่กำลังทำอยู่ “หนูมีเรื่องมาพูดกวนน้าอีกแล้ว น้าฟังได้ใช่ไหม” ซึ่งหมายความว่าน้าปิ๋วต้องฟังนั่นเอง

“มีเรื่องอะไรอีกล่ะ” น้าปิ๋วถาม เลื่อนสิ่งของที่อยู่บนพื้นไปให้พ้นที่สำหรับให้หลานสาวนั่ง

สุวมนรวบรวมความคิด และข่มความรู้สึกอยู่ครู่หนึ่งแล้วจึงพูด “น้า เมื่อกี้นี้พิรีย์เขามาลา เขาจะไปญี่ปุ่น”

น้าปิ๋วเห็นน้ำตาเต็มเบ้าตาหลานสาว มือหล่อนเริ่มสั่นนิด ๆ แต่ข่มน้ำเสียงไว้ดี ถามว่า “แล้วหนูว่าไงล่ะ”

สุวมนเสียเวลาร้องไห้โดยไม่มีเสียงไป ๒ - ๓ นาที แล้วก็เล่าให้เพื่อนร่วมทุกข์ฟังอย่างกระท่อนกระแท่นแต่พอที่น้าปิ๋วจะจับความได้ แต่เมื่อฟังจบแล้วน้าปิ๋วก็ไม่ว่าประการใดคงรอฟังต่อไป จนกระทั่งสุวมนมีพลังใจที่จะต่อ “คุณแม่ คุณแม่เป็นยังไง”

“หนูรักพิรีย์มากเรอะ” น้าปิ๋วถาม น้ำเสียงหล่อนแสดงถึงความเป็นคนขลาด ไม่ใช่คนเข้มแข็ง

“ก็ ก็รักมาก มากซิ มากพอนะน้าปิ๋ว ถ้าเขาชวนให้หนูหนีตามเขาไป หนูก็จะหนีไป แต่เขาไม่ได้ชวน” สุวมนตอบ

น้าปิ๋วสะดุ้งจนเห็นชัด “อะไร มน หนูไม่ใช่คนอย่างนั้นนี่นา” เสียงของน้าปิ๋วเครือด้วยความกลัว

“หนูทำมาหากินของหนูได้” สุวมนว่า

“นั่นแน่” น้าปิ๋วขัด “คนเราอยู่เพื่อกินเท่านั้นเรอะ” หล่อนถามต่อ

“แล้วอยู่เพื่อทำอะไร เพื่อทำประโยชน์อย่างคุณแม่รึ คุณแม่ทำก็พอแล้วนี่ หนูไม่ต้องทำเสียคนก็ได้”

“หนูไม่คิดถึงเรื่องที่พ่อแม่จะต้องเสียใจ ต้องผิดหวังเลยรึ ธรรมดาคนเราอะไรจะสำคัญเท่าลูก”

“คุณแม่ไปเรียกร้องอะไรเขา แล้วทำไมไม่พูดกับหนูเลย หนูไม่มีสิทธิจะเสียใจบ้างรึ”

“เออ” น้าปิ๋วถอนใจยาว “น้าแนะนำ หนูก็คงไม่ทำตาม แล้วน้าก็เห็นใจ แต่น้าว่าเราพยายามทำสิ่งที่ถูกไม่ดีเรอะ หนูควรจะพูดกับคุณแม่ หนูไม่ได้กลัวคุณแม่นี่นา”

“หนูเห็นจะต้องพูด” สุวมนพูดช้า ๆ เสียงสั่นเครือ หล่อนคอยโอกาสอยู่สองสามวันกว่าจะได้พบกับคุณแม่ โดยมีเวลาพอที่จะพูดกันได้ สุวมนไม่ใช่ลูกกลัวแม่ หล่อนไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมคนโดยมากจึงเกรงจนถึงขั้นกลัวคุณแม่ของหล่อน หล่อนได้ยินคนกระซิบหรือพูดโดยไม่คิดว่าหล่อนจะได้ยินหลายครั้ง ในเชิงว่าเขาเกรงคุณแม่มาก บางคราวก็เป็นทำนองค่อนไปข้างไม่ชอบ หรือใกล้กับเกลียดชังก็อาจได้

“เธอไปพูดกับคุณอรจันทร์ซิ” คนหนึ่งกล่าวระหว่างจัดงานกุศลสาธารณะอันใดอันหนึ่ง และมีข้อขัดข้องเกิดขึ้น

“อย่าให้ฉันพูดเลยน่ะ เธอดีกว่า”

หรืออีกคราวหนึ่ง “เธอไปบอกอรจันทร์เขาซิ เขานักแก้ปัญหา”

“ไม่อาว ฉันกลัวโดนดี เป็นไงก็ช่าง”

แต่สำหรับสุวมน คุณแม่เคยพูดกับหล่อนด้วยเหตุผลมาตั้งแต่เด็ก คุณแม่เป็นแม่ที่สุวมนไม่เห็นข้อควรตำหนิเลย มีความรักลูกห่วงลูก ไม่เคยทอดทิ้งโดยอ้างการงานอย่างใดสำคัญกว่าลูก เมื่อสุวมนยังเล็กอยู่ คุณแม่ต้องทำงานหนัก เพราะคุณพ่อก็ยังไม่ได้รับมรดกจากคุณปู่ รายได้ของครอบครัวก็ไม่สูง คุณแม่ต้องประหยัดด้วยและต้องวิ่งเต้นในทางธุรกิจอย่างเข้มแข็ง แต่คุณแม่ก็มีเวลาสำหรับจะได้เล่นกับลูก ได้ทำความสนิทสนมคุ้นเคย ได้รู้นิสัยใจคอลูกทั้งสามคน คือตัวสุวมนกับพี่ชายและน้องชาย ซึ่งบัดนี้กำลังศึกษาอยู่ในออสเตรเลียคนหนึ่ง และที่ฮ่องกงอีกคนหนึ่ง ลูก ๆ ของคุณแม่มีนิสัยเป็นคนรักงาน ขยันเหมือนคุณแม่ทุกคน

คุณแม่เพิ่งกลับมาจากธุระที่ใดที่หนึ่ง สุวมนรอให้คุณแม่ผลัดเสื้อผ้า แน่ใจว่ามารดาไม่รีบร้อนออกไปไหนอีกแล้ว จึงเข้าไปหาในห้องของท่าน

“แม่ไม่เหนื่อยมากนักไม่ใช่เรอะคะ” หล่อนถามเป็นการเปิดการสนทนา

คุณแม่กำลังเอนตัวลงบนที่นอนเมื่อเห็นหล่อน และได้ยินคำถามก็รีบตอบ “ไม่เหนื่อยจ้ะ มนมีธุระอะไรใช่ไหมจ๊ะ”

“มีค่ะ” สุวมนตอบ “เรื่องศุกรี” หล่อนรีบต่อ “เขามาพูดกับแม่เรื่องหนูว่ายังไง”

คุณแม่ขยับตัวจากอาการพิงอยู่กับหมอนเป็นนั่งตัวตรง “หนูนั่งซิจ๊ะ”

สุวมนนั่งบนเตียงคุณพ่อ ซึ่งตั้งคู่กับเตียงคุณแม่ห่างกันไม่มากนัก

“เขามาพูดกับหนูว่าอย่างไรล่ะ บอกแม่ได้ไหม” คุณแม่ถามเสียงเรียบ ๆ แต่สุวมนสังเกตจากแววตาว่ามีความร้อนใจ

“เขาบอกว่าเขาอยากแต่งงานกับหนู แต่เขารับข้อเสนอของแม่ไม่ได้” หล่อนตอบโดยไม่สามารถควบคุมน้ำเสียงเหมือนมารดา

หล่อนเห็นมารดาเบิกตากว้าง “อ้อ เขาว่าอย่างนั้นรึ”

“แม่เสนออะไรบ้าง” สุวมนถามเสียงกระเส่าต่อไป

“เอ แม่จำไม่ได้เลยว่าเสนออะไร นอกจากว่า แม่ไม่มีอะไรให้ลูก แม่ไม่รวย มีแต่ที่ดินตรงมุมบ้าน จะให้เป็นที่ปลูกเรือนหอ” คุณแม่เริ่มมีน้ำเสียงเหมือนเมื่อคุณแม่พูดโทรศัพท์ แต่เวลานั้นสุวมนยังไม่ได้สังเกต

“มีการต่อรองกันยังไงอีกคะ” สุวมนถามต่อไป หล่อนเก็บน้ำตาไว้ไม่ได้อีกแล้ว มันเริ่มเอ่อออกมาที่เบ้าตา

“ทำไมจะต้องมีการต่อรองลูกของแม่” คุณแม่ถามน้ำเสียงเด็ดขาด

“เขาพูดว่าไงล่ะคะ” ลูกสาวซักต่อไปอีก

“ไม่เห็นเขาว่าอะไร เขานิ่งไป แล้วเขายังไม่ได้ส่งข่าวอะไรอีกเลยตั้งแต่วันนั้น” คุณแม่ตอบน้ำเสียงเริ่มเครือ

“ฮึ” สุวมนยิ้มพลางก็ปล่อยน้ำตาให้ไหลลงไปเป็นทางจากเบ้าตาไปตามแก้มนุ่มเนียน และมีสีอมเลือดฝาดบอกความเป็นสาวสมบูรณ์ของหล่อน “เขามาบอกเลิกแล้ว เขาจะไปญี่ปุ่น”

“เขามาบอกหนูว่ายังไง พูดให้แม่ฟังบ้างได้ไหม” คุณแม่ถาม เสียงเครือยิ่งขึ้น

“เขาบอกว่าเขาจะไปญี่ปุ่น เขาบอกว่าเขาไม่ดีพอสำหรับหนู เขารับข้อเสนอของคุณแม่ไม่ได้”

“แปลกจริง ๆ เขาหมายความว่ายังไง” คุณแม่พูดเหมือนพูดกับตัวเอง “แม่ไม่ได้ต่อรองอะไรกับเขา แม่บอกว่าแม่ตามใจมน แล้วหนูเสียใจมากเรอะลูก” น้ำเสียงของคุณแม่เปลี่ยนเป็นอาทร และแววตาก็เปลี่ยนไปแสดงความกังวล

“หนูเคยรักเขา” สุวมนรวบรวมพลังใจตอบ “แต่ว่าหนูไม่ได้รักจริงจังอะไร แม่อย่าวิตก”

“หนูเป็นลูกของแม่จริง ๆ” คุณแม่ลุกขึ้นมาโอบตัวสุวมนเข้าไปแนบกับทรวงอก “ผู้ชายแปลกอย่างงี้ อย่าไปเอาใจใส่นักไม่ได้หรอกจ้ะ แม่ตั้งใจไว้ว่าเรื่องการแต่งงาน แม่ตามใจทั้งลูกผู้หญิงลูกผู้ชาย มันแล้วแต่บุญแต่กรรม พยากรณ์อะไรไม่ถูกเลย ที่ฝันว่าเป็นวีรบุรษกลายเป็นบุรุษเท่านั้นเอง” เว้นระยะนิดหนึ่งแล้วต่อ “มันมีนะจ๊ะ”

สุวมนพูดกับมารดาในทำนองว่าไม่ต้องเป็นห่วงหล่อนและคุณแม่พูดกล่อมใจไม่ให้หล่อนอาลัยพิรีย์อีกสองสามนาที แล้วสุวมนก็ลาไปจากห้องของมารดา

ตามปรกติของหล่อน สุวมนเป็นคนควบคุมอารมณ์ได้ดีเป็นส่วนใหญ่ แต่คราวนี้ ความไม่เข้าใจทำให้หล่อนอึดอัดจนปวดศีรษะ และหล่อนอาจจะโต้เถียงกับคุณแม่ เค้นให้ท่านเล่าถึงการสนทนาระหว่างท่านกับเขาให้ละเอียดกว่าที่ได้เล่าไว้แล้ว มิใช่ให้พยายามจบลงด้วยการแนะนำให้เลิกความเอาใจใส่อย่างง่าย ๆ แต่ในคืนวันนั้น หล่อนได้รับทราบความจริงอันหนึ่ง ที่หล่อนต้องเลิกเรียกร้องเอาความเข้าใจจากคุณแม่

หล่อนรอจนเลยเวลารับประทานอาหารค่ำให้นานพอสมควร คุณพ่อกับคุณแม่มักดูข่าวโทรทัศน์อยู่ด้วยกัน แล้วก็เข้าห้องนอน ถ้าอยู่บ้านด้วยกันทั้งสองคน โดยมากจะไม่ค่อยอยู่พร้อมกัน และหล่อนทราบว่า ถึงแม้คุณพ่อกับคุณแม่จะออกจากบ้านไปพร้อม ๆ กันในเวลาค่ำบ่อยๆ แต่ไม่ค่อยได้ไปสถานที่และในธุระเดียวกัน บางคราวคุณพ่อก็ไปรับคุณแม่มาจากบ้านของเพื่อนคนใดคนหนึ่ง เป็นชาวต่างประเทศบ้าง คนไทยบ้าง จากการประชุมเรื่องใดเรื่องหนึ่งบ้าง บางคราวคุณแม่ก็ขอร้องให้คนรถประจำสำนักงานของคุณแม่มารับแทนคุณพ่อ เพราะคุณแม่ไม่ขับรถเองเวลากลางคืนมาประมาณ ๒ ปีแล้ว

เมื่อหล่อนเป็นเด็กเล็ก จนกระทั่งเติบโตขึ้นเป็นเด็กวัยรุ่น สุวมนไม่มีความรู้สึกว่ามีความแตกแยกในครอบครัว หล่อนเติบโตด้วยความผาสุกราบรื่น หล่อนเรียนหนังสือมีเพื่อนร่วมโรงเรียน ร่วมวัย ทำความรู้จักกับญาติและมิตรของคุณแม่และคุณพ่อ เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยได้ ก็มีเพื่อนร่วมชั้นและเพื่อนอื่น ๆ ชีวิตของหล่อนดูก็ไม่มีปัญหาพิสดารประการใด

หล่อนเริ่มจะรู้สึกว่าชีวิตของหล่อนมีปัญหาขึ้นบ้าง ก็เมื่อหล่อนเริ่มรู้ตัวว่าหล่อนรักศุกรี แต่เขาก็ไม่เคยเอาใจใส่กับหญิงอื่นมากกว่าหล่อน หล่อนจึงมีความหวังเต็มที่ รอวันที่เขาจะบอกหล่อนให้แจ่มแจ้ง และตกลงกันตามประเพณีเท่านั้น

แต่พร้อม ๆ กับที่หล่อนรู้ตัวว่าหล่อนเริ่มมีความรัก หล่อนก็สังเกตว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อกับคุณแม่นั้น ไม่เป็นไปอย่างที่คนโดยมากเข้าใจ และที่หล่อนเกิดความหวาดเกรงอยู่ลึก ๆ ในใจก็คือ คุณแม่ก็ไม่รู้สึกว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น อย่างน้อยคุณแม่ไม่แสดงว่าคุณแม่มีความรู้สึกให้ปรากฏ

แต่คำพูดของคุณแม่เมื่อบ่ายวันนี้ แสดงว่าคุณแม่ทราบว่าคุณพ่อมิได้เป็นอย่างที่คุณแม่คาดหวังไว้เสียแล้ว คุณแม่คงเคยเห็นว่าคุณพ่อเป็นวีรบุรุษ แต่บัดนี้คุณพ่อก็แสดงว่า เป็นเพียงบุรุษคนหนึ่งนั่นเอง

แต่นั่นก็เป็นสภาพธรรมดามิใช่หรือ สุวมนได้ยินจากญาติผู้ใหญ่ และมิตรที่เป็นคนชั้นผู้ใหญ่บ่อย ๆ จนเคยชินกับความคิดแบบนี้ ในการแต่งงานอย่าหวังให้มากนัก ไม่หวังมากนัก ก็ไม่ผิดหวังมาก ชีวิตเป็นเช่นนั้นมิใช่หรือ สุวมนเป็นคนหนึ่งที่ไม่เรียกร้องเอาจากชีวิตมากนัก ศุกรีไม่ใช่วีรบุรุษ หล่อนรู้จักเขาดี เขาเล่าให้หล่อนฟังทุกอย่าง การเที่ยวเตร่อย่างผู้ชายหนุ่ม ความประพฤติของคนในวัยเขาและฐานะเท่าเขา ไม่ใช่สะอาดบริสุทธิ์อย่างที่ผู้หญิงโดยมากฝันและหวังว่าจะได้และต้องการ สุวมนเข้าใจดีว่า ชีวิตนี้จะสมหวังก็เพียงส่วนหนึ่ง ความผิดหวังเป็นธรรมดาของชีวิต แต่ตลอดเวลาที่สมาคมด้วยกันมา ศุกรีพิสูจน์ว่าเขาเป็นชายหนุ่มที่มีสติ หล่อนว่าเท่านั้นก็พอแล้ว แต่ทำไมเขาจึงทำให้ความสัมพันธ์ของหล่อนกับเขามีปัญหาเช่นที่หล่อนประสบอยู่นี้ด้วยเล่า

ค่ำวันนั้น เขาคะเนว่าจะไม่มีผู้ใดไปขัดขวางหล่อน สุวมนก็ไปที่ห้องน้าปิ๋ว หล่อนเข้าใจว่าคุณพ่อและคุณแม่เข้าห้องนอนของท่านไปแล้วทั้งสองคน ไม่มีเสียงคนพูดในบ้าน มีแต่เสียงดนตรีมาจากโทรทัศน์ของเพื่อนบ้าน ลูกจ้างหญิงสาวและแม่ครัวก็อยู่ในห้องที่ตั้งเครื่องโทรทัศน์ กำลังสนุกกับละครหรือภาพยนตร์ สุวมนคาดว่าน้าปิ๋วจะอ่านหนังสืออยู่คนเดียวก่อนนอนตามที่เคยทำ แต่หล่อนประหลาดใจมาก เมื่อไปถึงห้องน้าปิ๋ว หล่อนไม่พบ ไฟฟ้าปิดมืด แต่ประตูห้องเปิด หล่อนเที่ยวมองหาตามระเบียงหน้าหลัง ก็ไม่พบ จึงลงไปที่สนามข้างตึก เดินไปเรื่อย ๆ โดยไม่คิดว่าจะพบใคร แต่เมื่อเดินใกล้ระยะรั้วบ้าน พอจะผินหลังกลับ หล่อนก็เห็นผู้หญิงซึ่งหล่อนแน่ใจว่าเป็นน้าปิ๋วนั่งอยู่บนแท่นหิน สำหรับตั้งในสวนกับชายคนหนึ่ง

สุวมนชะงัก และยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป ก็ได้ยินเสียงคุณพ่อพูดออกมาจากที่มืด

“มนใช่ใหม มานั่งนี่ก่อนซิ” สุวมนเดินใกล้เข้าไป น้าปิ๋วลุกขึ้นจากที่นั่งและเดินไปขึ้นเรือน คุณพ่อขยับที่ให้หล่อนนั่งลงใกล้ตัวคุณพ่อบนแท่นหิน พลางว่า “บ้านนี่หาที่นั่งพูดกันยากจริง ๆ”

สุวมนนั่งข้างคุณพ่อ นิ่งกันอยู่ครู่หนึ่งเพราะสุวมนไม่รู้ว่าจะเริ่มการสนทนาอย่างไร แล้วคุณพ่อพูดขึ้น

“มน พ่อเสียใจมาก พ่อทำให้คุณแม่เขาต้องเสียคนช่วยงานดีไป น้าปิ๋วเขาจะไปจากบ้านนี้แล้ว”

“อ้าว ทำไมล่ะคะ” สุวมนถามด้วยความประหลาดใจ

“พ่อบอกเขาว่า” หยุดไปครู่ใหญ่ เหมือนคิดหาคำพูด แล้วก็กล่าวอย่างชัดเจน “พ่อบอกเขาว่าพ่อรักเขา”

“แล้วไง” ตอนนี้สุวมนชักงง

“เขาก็บอกว่า ถ้ายังนั้น เขาก็อยู่บ้านนี้ไม่ได้”

“แล้วจะไปอยู่ที่ไหน” สุวมนถาม ความรู้สึกเริ่มวุ่น ใจสั่น ใจยังไม่รู้ว่าสั่นเพราะกลัว หรือผิดหวังหรือเหตุใด

“ก็ต้องไปหา” คุณพ่อตอบเสียงเนิบ ๆ เหมือนใช้ความคิด “พ่อก็ต้องช่วยหา”

สุวมนอยากถามต่อไปให้เข้าใจเรื่องราวละเอียดกว่านี้ แต่พูดไม่ออก เมื่อนิ่งกันอยู่สำหรับสุวมนคิดว่านานมาก คุณพ่อจึงพูด

“มนคงอยากรู้ว่ามันเป็นยังไงมายังไง ใช่ไหม” คุณพ่อพูดเสียงไม่ค่อยมั่นคงเหมือนเมื่อเริ่มการสนทนา “น้าปิ๋วเขาอยากให้พ่อเล่าให้มนฟัง เขาบอกว่าเขากลัวมนจะเกลียดเขามากกว่าอะไรหมด”

สุวมนนิ่ง ไม่กล้าออกเสียงเป็นถ้อยคำ เพราะหล่อนอยากจะร้องไห้มากกว่า คุณพ่อนิ่งไปอีกครู่หนึ่งแล้วก็พูดต่อ

“คุณแม่กับพ่อ ไม่ได้อยู่กันอย่างผัวเมียมาหลายปีแล้ว ไม่ได้โกรธกัน แต่มันหายรักกันไป”

“เพราะอะไรคะ” สุวมนเกือบแน่ใจว่าเรื่องคุณพ่อกับเรื่องของศุกรีนั้นสัมพันธ์กัน ใจของหล่อนเริ่มเต้นไม่เป็นจังหวะ

“คุณแม่เป็นคนมีความสามารถ” คุณพ่อว่า แล้วก็นิ่งไป

“เอ๊ ไม่น่าเลย สำหรับคุณพ่อ” สุวมนพูดค้างๆ หล่อนพูดให้ได้เนื้อความดีกว่านั้นไม่ได้

“มนหมายความว่าคนอย่างพ่อไม่น่าจะเอาใจใส่ว่าเมียมีความสามารถหรือไม่ ใช่ไหม”

สุวมนตั้งใจว่าหล่อนจะไม่ร้องไห้ หล่อนพยายามเต็มที่ หล่อนสามารถพูดออกมาได้โดยเสียงไม่สั่นมากนัก “คงมีอะไรมากกว่านั้น ที่เขาว่ากันว่าผู้หญิงบางคนมีเสน่ห์ บางคนไม่มี คุณพ่อรับกับตัวเองดีกว่า”

คุณพ่อถอนใจ “ลูกก็คงเหมือนพ่อบ้าง” คุณพ่อพูดขึ้นมาโดยไม่ตอบคำถามของหล่อน “ลูกจะว่าอย่างอื่นอีกก็ได้ จะว่าคุณแม่เริ่มจะแก่แล้ว พ่อก็ต้องการคนสาวๆ แต่พ่อก็ไม่ต้องการคนสาวกว่าคุณแม่กี่ปี น้าปิ๋วจะอ่อนกว่าคุณแม่ก็ห้าปีอย่างมาก พ่อรักน้าปิ๋ว ไม่ใช่เพราะเสน่ห์ รักเพราะน้าปิ๋วจะเป็นเพื่อนกับพ่อได้เมื่อแก่”

“ผู้หญิงเสียเปรียบวันยังค่ำหรือคะ” สุวมนถาม “ผู้หญิงต้องซื่อตรงกับผู้ชายคนเดียวตลอดชีวิต แต่ผู้ชายมีสิทธิจะหาใหม่ได้เมื่อคนเก่าไม่เหมาะสมแล้ว”

“พ่อว่าเราอย่าใช้ไม้บรรทัดอันเดียววัดคนทั่วไปหมดดีกว่า” คุณพ่อตอบ “พ่อว่าอย่าพูดถึงสิทธิด้วย สำหรับพ่อ ถ้าคุณแม่จะต้องการคนใหม่เพราะพ่อไม่เหมาะสมกับเขาแล้ว พ่อก็ไม่ว่าอะไรเลย”

“เวลานี้คุณพ่อก็ไม่ว่าซิคะ แต่ถ้าไม่ได้เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้น คุณแม่เกิดไปรักผู้ชายเข้าคนหนึ่ง ยิ่งเป็นคนหนุ่มๆ คุณพ่อคงเอะอะแย่ทีเดียว”

“เรื่องมันไม่ได้เกิด มันจะสมมุติเอา มันก็ไม่ยุติธรรมกับพ่อนัก” คุณพ่อถอนใจยาว “แต่ว่าพ่อยอมรับผิด พ่อเป็นคนผิด พ่อไม่เถียงแน่”

“แล้วน้าปิ๋วล่ะคะ น้าปิ๋วรักคุณพ่อเรอะคะ”

“น้าปิ๋วไม่ปฏิเสธ พ่อก็หวังว่าเขารักพ่อ” คุณพ่อตอบ ในตอนนี้น้ำเสียงแจ่มใสขึ้นด้วยความมั่นใจ

สุวมนควรจะรู้สึกเกลียดน้าปิ๋วและคุณพ่อ แต่ใจของสุวมนไม่มีความเกลียดชัง สมองของสุวมนเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเข้าใจจนไม่มีที่ว่างสำหรับจะเกลียดหรือโกรธ เมื่อนิ่งอยู่ประเดี๋ยวหนึ่ง หล่อนถามขึ้น

“ลองอธิบายให้หนูฟังได้ไหมคะ คุณพ่อ เดี๋ยวนี้คุณพ่อไม่รักคุณแม่เลยแล้วงั้นเรอะ ที่ว่าไม่ได้โกรธกัน แต่ไม่รักกันนะ เป็นยังไง เมื่อก่อนแต่งงาน คุณพ่อกับคุณแม่รักกันเอง ไม่มีใครจัดการไม่ใช่เรอะ”

เรื่องนี้สุวมนทราบมานานแล้ว คุณแม่เป็นนิสิตอยู่ในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และคุณพ่อเป็นนายทหารหนุ่มเพิ่งได้รับยศร้อยตรี เมื่อแต่งงานได้เลื่อนเป็นร้อยโท เพื่อนๆ ของคุณพ่อทุกคนล้อเลียนคุณพ่อเรื่องที่แวะเวียนไปดูหลังคาตึกเรียนของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยเสมอ ๆ และเพื่อนๆ ล้อคุณพ่อในเรื่องว่ามีความภาคภูมิใจว่าคุณแม่เป็นคนมีความสามารถและฉลาดหลายด้าน ระยะที่สุวมนกำลังประสบความยุ่งยากนี้ เพื่อน ๆ ก็กำลังล้อคุณพ่อว่าจะได้เป็นเจ้าคุณในไม่ช้า มีคนหลายคนเห็นว่าไม่เป็นการยุติธรรมที่คุณแม่ยังไม่ได้รับเครื่องราชอิศริยาภรณ์เป็นการประกาศคุณความดีของคุณแม่ ในเมื่อคนที่ต้อง คอยขอความช่วยเหลือคุณแม่ในกิจการที่เขาทำกันอยู่ ได้รับความยกย่องไปแล้วหลายคน

ชีวิตของคุณแม่เป็นชีวิตที่มีการต่อสู้และได้ชัยชนะและความสำเร็จในการงาน คุณแม่เป็นลูกสาวคนกลางของคุณตาคุณยาย คุณตามีบรรดาศักดิ์เป็นพระ รับราชการในกรมศุลกากร แต่ได้ออกจากราชการมาประกอบการค้ากับคุณยาย เพราะคุณยายมาจากตระกูลพ่อค้า และคุณยายต้องการให้คุณตาเป็นผู้ช่วยในกิจการของคุณยาย ซึ่งกำลังเจริญขึ้นเรื่อย ๆ คุณตาและคุณยายได้ร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่แล้วสมบัติก็หมดไปอย่างรวดเร็วเช่นกันด้วยความโชคร้าย เช่นเรือสินค้าถูกพายุอัปปาง และโรงโกดังเก็บสินค้าก็ถูกไฟไหม้ เวลานั้นคุณแม่อายุ ๑๖-๑๗ ปี น้องชายของคุณยายได้รับเป็นผู้อุปถัมภ์หลาน ๆ แต่ได้ให้คุณแม่รับใช้ในกิจการโดยสมส่วนกับการอุปถัมภ์ คุณแม่เล่าว่า เมื่อกลับจากโรงเงียน คุณแม่ต้องรีบทำงานที่คุณตาเล็กมอบหมายให้ทำให้เสร็จเรียบร้อย แล้วจึงจะได้ดูหนังสือและทำการบ้าน เพราะคุณแม่เรียนอยู่ในชั้นมัธยมปลาย มีงานบ้านมาก และจะต้องเข้าสอบตามข้อบังคับของกระทรวง

ด้วยความพยายามและความสามารถของคุณแม่ คุณแม่ก็สอบได้อย่างสบาย มีคะแนนเยี่ยมตามหลักการของสมัยนั้นสองวิชา ซึ่งคุณแม่เล่าให้ลูก ๆ ฟังเพื่อเป็นกำลังใจแก่ลูก เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมแล้ว คุณตาเล็กไม่เห็นสมควรให้คุณแม่ได้เรียนต่อ เพราะต้องอุปถัมภ์พี่ชายของคุณแม่ ซึ่งคุณตาเล็กให้ไปเรียนภาษาอังกฤษและภาษาจีนที่สิงคโปร์ คุณยายและคุณตาเล็กน้องชายของคุณยายต้องการจะกู้ชื่อและกู้กิจการของคุณยายให้ฟื้นคืนมาเป็นกิจการที่ให้กำไรอีก จำเป็นที่ลูกของคุณยายต้องรู้เรื่องการค้าให้ดี ระหว่างนี้คุณแม่ช่วยคุณตาเล็กทำงานที่โรงสีของคุณตาเล็ก มีหน้าที่ลงบัญชีข้าวที่ลูกค้าส่งมาสี และรับเก็บเงินผลประโยชน์ของคุณตาเล็ก และทำบัญชีง่าย ๆ ให้ท่าน ครั้งหนึ่งน้องชายของคุณแม่มาขอเงินจากคุณแม่เพื่อไปซื้อเสื้อกันหนาว ในฤดูหนึ่งที่อากาศหนาวมากเป็นพิเศษ เมื่อคุณแม่บอกว่าตามหน้าที่ของคุณแม่ เป็นคนรักษาเงินของคุณตาเล็ก จะให้ใครยืมเงินไปโดยท่านไม่อนุญาตไม่ได้ น้องชายของคุณแม่ก็ขู่ว่า จะขโมยเอาให้ได้ คุณแม่ก็รักษาเงินไว้จนกระทั่งถึงปลายเดือน แล้วจึงไปขอร้องคุณตาเล็กให้ขอยืมเงินจำนวนหนึ่ง สุวมนจำไม่ได้เสียแล้วว่าเท่าใด เป็นเงินพอที่จะซื้อจักรยานให้น้องคันหนึ่ง เพราะอากาศหนาวได้เลยไปแล้ว โดยสัญญาจะผ่อนใช้คุณตาเล็กจากเงินรายได้ประจำเดือนอันน้อยที่ท่านให้คุณแม่

การที่คุณแม่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนั้น ก็เพราะคุณตามีโชคดี ได้รับมรดกจากญาติเป็นที่ดินผืนหนึ่ง คุณตาได้ขายที่ดินนั้นให้ญาติที่อยู่ในจังหวัดใกล้เคียงตามความต้องการของญาติ เมื่อได้เงินมาก้อนหนึ่ง คุณตาจึงไปหาคุณตาเล็ก วิงวอนขอให้อนุญาตให้คุณแม่ได้เรียนต่อตามความประสงค์ โดยจะไม่รบกวนคุณตาเล็กในเรื่องเงิน นอกจากนั้น ยังรับรองว่าคุณแม่จะมีเวลารับใช้คุณตาเล็กในเวลาเย็นเมื่อกลับจากมหาวิทยาลัยแล้วด้วย คุณตาเล็กได้แสดงน้ำใจนักกิฬาด้วยการอนุญาตให้รถส่วนตัวของท่าน ไปรับส่งคุณแม่ที่มหาวิทยาลัยทั้งเช้าและบ่าย เป็นการประหยัดค่ารถแท็กซี่ซึ่งคุณแม่จะต้องออกรวมกับเพื่อน ๆ ซึ่งขณะนั้นนิสิตหญิงในมหาวิทยาลัยกระทำกันเป็นธรรมดา

คุณแม่เป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือยกย่องจากเพื่อนในมหาวิทยาลัยหลายรุ่น และในวงการธุรกิจ คุณแม่ก็เป็นที่เชื่อถือ ครั้นแล้วโชคของครอบครัวก็เปลี่ยนขึ้นในทางที่ดี คุณตาได้รับมรดกจากญาติผู้ใหญ่อีก แล้วกิจการค้าของคุณยายค่อยกระเตื้องขึ้น คุณแม่กลับมาดูแลกิจการของคุณยายแทนที่จะช่วยในกิจการเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคุณตาเล็ก กิจการค้าเกี่ยวกับวัสดุการก่อสร้างขยายตัวมากหลังสงครามครั้งที่สอง หรือสงครามอาเซียบูรพา คุณแม่จึงเป็นที่รู้จักในวงการธุรกิจของพระนครและได้รับความเชื่อถือยกย่องในวงการนั้นด้วย

คุณแม่ชี้แจงให้ลูก ๆ ฟังถึงเคล็ดลับในการทำการงานของคุณแม่ คุณแม่ว่า คนที่เก็บเงินไม่ได้นั้นเป็นคนขาดสัจจะ คือรักษาความตั้งใจของตัวไว้ไม่ได้ เช่นเดียวกันกับคนที่ไม่สุจริตทั้งหลาย คือตั้งใจไว้ว่าจะทำเช่นนั้นเช่นนี้ ประพฤติตามหลักนั้นหลักนี้ แล้วก็ปล่อยให้เหตุการณ์เปลี่ยนความตั้งใจ การรักษาสัจจะหรือรักษาความตั้งใจของเราไว้ไม่ให้เอนเอียง ทำให้เราทำกิจการต่างๆ ได้ตามที่เราวางเข็มไว้ เช่นของง่าย ๆ อย่างการเก็บเงินเป็นต้น คุณแม่ฝึกหัดให้ลูกเก็บเงินในออมสิน มีบัญชีตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก ๆ แล้วก็เปลี่ยนเป็นบัญชีธนาคารของตนเอง ในการติดต่อกับผู้อื่น คุณแม่มีหลักว่า สัจจะก็สำคัญอีก แต่เป็นสัจจะอีกชนิดหนึ่ง แต่ก็มีมูลฐานอันเดียวกัน คือต้องไม่เสียวาจาเป็นอันขาด ในการค้า ความไว้ใจกันเป็นธรรมะที่สำคัญที่สุด ที่เรียกว่าเครดิตคืออะไร คือความไว้จางใจที่เพื่อนร่วมงานมีต่อตน การที่จะมีเครดิตได้ก็ต้องมีสัจจะ

ครั้นคุณแม่ได้รับความสำเร็จในกิจการพอสมควร คุณแม่ก็รำลึกถึงหน้าที่ในสังคม ถ้ามีผู้ใดมาชักชวนให้ร่วมในการกุศลสาธารณะ คุณแม่จะไม่รีรอ ไม่นานคุณแม่ก็เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สำคัญ ๆ คุณแม่มักไม่รับเป็นนายกของสมาคมต่าง ๆ ซึ่งมักมีคนมาอ้อนวอนขอให้รับ มักจะยอมเป็นอุปนายก คุณแม่ว่าคุณแม่ไม่เอาใจใส่กับเกียรติยศมากนัก เอาใจใส่กับงานมากกว่า และคุณแม่มีกิจการของคุณยายที่กำลังรักษาตัวอยู่ได้ดี ไม่ขยายตัวขึ้นมาก และไม่ลดรายได้ลงไป ในเวลาที่สุวมนเผชิญปัญหาชีวิตของหล่อนอยู่นี้ คุณตาได้ล่วงลับไปหลายปีแล้ว

แต่คุณแม่กำลังจะเป็นผู้ประสบความไม่สำเร็จในสิ่งที่สำคัญที่สุดของผู้หญิง คือสามีกำลังนอกใจ และสามีนอกใจกับคนที่ควรจะระลึกถึงบุญคุณแม่ คือน้าปิ๋ว คุณแม่ได้ถือโอกาสอุปการะน้าปิ๋ว ในเวลาที่น้าปิ๋วอยู่ในฐานลำบาก น้าปิ๋วกลับมาจากออสเตรเลียหลังจากที่ได้ไปเรียนวิชาเลขานุการจบมาใหม่ ๆ บิดามารดาของน้าปิ๋วก็ถึงกาลวิบัติ เช่นที่คุณแม่เคยประสบมา บิดาน้าปิ๋วเป็นลูกชายรุ่นเล็กของคุณตาเล็ก ซึ่งคุณแม่ไม่ได้วิสาสะด้วยนัก แต่คุณแม่ก็ระลึกถึงคุณของคุณตาเล็กที่ได้ช่วยเหลือครอบครัวของคุณยาย จึงหางานให้น้าปิ๋วในบริษัทของชาวต่างประเทศ ได้เงินเดือนดีพอสมควรกับความรู้ความสามารถของน้าปิ๋ว และได้อาศัยในบ้านของคุณแม่ แทนที่จะต้องไปอยู่ตามหอพัก ซึ่งถึงแม้เงินเดือนของน้าปิ๋วจะสูงพอที่น้าปิ๋วจะมีเงินจ่าย แต่ก็ไม่สะดวกหลายอย่าง

น้าปิ๋วรักคุณพ่อหรือ ทำไมคนอย่างน้าปิ๋วจึงรักสามีของผู้มีพระคุณ แต่แล้วน้าปิ๋วก็ว่า น้าปิ๋วกลัวสุวมนจะเกลียดมากกว่าสิ่งอื่น คุณพ่อต้องการพูดเอาใจสุวมนเท่านั้นเองหรือ เพื่อให้สุวมนเป็นฝ่ายคุณพ่อ ไม่เป็นฝ่ายตรงข้ามมากเกินไปใช่หรือไม่

หล่อนทวนถามคุณพ่ออีกครั้งหนึ่ง “คุณพ่ออธิบายไปหน่อยซิคะ คุณพ่อเลิกรักคุณแม่เพราะอะไร”

สุวมนได้ยินคุณพ่อถอนใจยาวออกมาจากที่มืด “อธิบายยากลูก ของอย่างนี้ พ่อไม่ได้ว่าแม่เขามีความผิดอะไรนะ ความผิดเป็นของพ่อ อยู่ไป ๆ พ่อก็ว่ามันขาดเยื่อใยกันไป จะเป็นเพราะบุญเพราะกรรมรึ หรือว่าเป็นธรรมชาติของผู้ชาย”

“แล้วน้าปิ๋วล่ะ น้าปิ๋วไม่อายที่จะแย่งสามีของผู้มีพระคุณรึ” สุวมนถามออกไปตรง ๆ ความมืดช่วยให้หล่อนพูดได้โดยไม่ต้องเกรงใจคุณพ่อนัก

“โลกเขาก็ต้องใช้คำอย่างมนนี่แหละ” คุณพ่อตอบเสียงแหบ ๆ “อันแรก น้าปิ๋วก็อยู่ต่อไปในบ้านไม่ได้”

“จะสำคัญอะไร” สุวมนพูดมีน้ำเสียงแค้นนิดหน่อย “ถ้าคุณพ่อจะไปมาหาได้ อยู่ที่ไหนก็เหมือนกัน”

เสียงคุณพ่อถอนใจใหญ่ยาวลึกออกมาอีกครั้งหนึ่ง สุวมนกล่าว “เป็นอย่างที่เขาว่า ๆ กันใช่ไหมคะ คุณแม่เป็นนักสังคมสงเคราะห์อะไรเทือกนี้ มีงานการมากเกินไป ไม่มีเวลาเอาใจใส่กับคุณพ่อ”

คุณพ่อนิ่งไปครู่ใหญ่ แล้วจึงตอบ “พูดอย่างนี้มันก็ได้ แต่มันง่ายไป แล้วมันไม่จริง โดยมากเอาเรื่องอย่างนั้นมาอ้างกันมากกว่า พ่อไม่อยากให้ลูกโทษแม่เขาว่ายังไงเลย พ่อว่าความผิดอยู่ที่พ่อถมไป คนที่เมียเขาเป็นนักสังคมสงเคราะห์อะไรต่ออะไร ผัวเมียเขาก็อยู่กันดี แล้วแม่เขาก็บอกหลายหนว่าเขาไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์ เรียกอย่างนั้นผิด” เมื่อพูดจบแล้ว คุณพ่อหัวเราะเสียง ฮึ นิดหนึ่งในคอ

“คุณพ่อหัวเราะทำไมคะ” สุวมนถาม

“พ่อหัวเราะเรื่องถูกเรื่องผิด” คุณพ่อตอบ

“เป็นไงคะ” สุวมนถามต่อ แล้วรีบเสริมก่อนที่หล่อนจะหมดกำลังใจที่จะพูด “คุณพ่อหมายความว่าคุณแม่เป็นคนถูกวันยังค่ำ ใช่ไหม”

“แม่เขาก็ทำถูก ถูกจริง” คุณพ่อว่า “อย่างการที่พ่อรักน้าปิ๋ว พ่อจะเกณฑ์เอาให้คุณแม่เป็นฝ่ายผิดอย่างงั้นรึ”

“หนูเบื่อจัง สมัยนี้ เพื่อน ๆ ไม่รู้กี่คน ได้ยินแต่เรื่องพ่อจะเปลี่ยนแม่ แม่จะเปลี่ยนพ่อเสียเรื่อย นอกจากผู้หญิงบางคนจะอดทนได้ เรื่องก็เงียบไม่เอะอะเท่านั้นเอง” สุวมนปรารภดัง ๆ

“แต่เขาโทษกันว่าคนนั้นผิดอย่างนั้น คนนี้ผิดอย่างนี้ใช่ไหม” คุณพ่อว่า “เรื่องของพ่อเห็นจะแปลกจากคนอื่นอย่างหนึ่ง พ่อจะไม่เที่ยวโทษเรื่องคุณแม่มีธุระมากเกินไป ทำงานสังคมสงเคราะห์หรืออะไรยังงั้น มันไม่จริง”

“แปลว่า ถึงยังไง ๆ คุณพ่อกับคุณแม่ก็จะอยู่ด้วยกันไปอิกไม่ได้” สุวมนพูดเชิงถาม

“พ่อหวังว่า จะไม่มีอะไรที่รุนแรง แล้วแต่คุณแม่เขาจะให้เอายังไง พ่อก็เอายังงั้น”

“แล้วน้าปิ๋วล่ะ”

“น้าปิ๋วเขายังไม่ทันว่าอะไร พอดีเขาพูดถึงมนขึ้นก่อน แล้วพอดีมนก็มา”

สุวมนกระวนกระวายด้วยความไม่แน่ใจ ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเก็บความลับไว้แก่ตัวคนเดียว หรือจะพูดกับน้าปิ๋ว หรือจะปรึกษาผู้ใด หล่อนวุ่นวายใจอยู่หลายวัน แต่ความอึดอัดเรื่องศุกรีและเรื่องคุณพ่อผสมกัน ทำให้หมดความอดทน รู้สึกน้อยใจกับโชคชาตาของตนว่า ผู้ที่หล่อนเคยถือเป็นที่พึ่ง ได้ปรึกษาหารือเมื่อมีปัญหา กลับกลายเป็นผู้สร้างปัญหา หล่อนคิดจะเข้าไปพูดตรง ๆ กับน้าปิ๋วหลายครั้ง แล้วก็เกิดความเกรงใจ ความไม่มั่นใจว่าเป็นการกระทำถูกหรือผิด ในที่สุดหล่อนจึงไปหาเพื่อนวัยเดียวกัน เพื่อปลดเปลื้องความอัดอั้นเป็นบางส่วนเสียก่อน

เพื่อนที่หล่อนกล้าพูดแสดงความนึกคิดต่าง ๆ มีอยู่สองสามคน แต่หล่อนเลือกไปหาเพ็ญพร เพราะหล่อนนับถือคุณป้าพื้นเพ็ญ ซึ่งเดิมชื่อ พื้นเฉย ๆ และสุวมนก็เรียกท่านว่า คุณป้าพื้น นั่นเอง

หล่อนไปหาเพ็ญพรในเวลาใกล้ค่ำ ภายหลังที่ได้โทรศัพท์ไปถามและแน่ใจว่าเพื่อนจะอยู่บ้าน เพ็ญพรเป็นครู กว่าจะกลับถึงบ้านบางวันก็ค่ำมาก แต่บางวันก็กลับได้แต่วัน แล้วแต่ว่าในวันนั้น จะมีกิจกรรมพิเศษทางโรงเรียนหรือไม่ เพ็ญพรบอกว่าหล่อนเป็นคนโชคดี ที่มีฐานะการเงินดีพอที่จะหาความสุขและทำประโยชน์ให้แก่โรงเรียนได้พอสมควร ไม่ต้องออกไปหารายได้เพิ่มเติมจากการสอนพิเศษนอกเวลาราชการ

เพ็ญพรรับแขกสุวมนในห้องนอนอันกว้างขวางของหล่อนเสมอ สุวมนถามถึงคุณป้า ได้รับทราบว่าไม่อยู่ ไปช่วยงานศพของคนคุ้นเคยรายหนึ่ง และจะไม่กลับจนค่ำมาก เพราะในคืนนั้นจะมีการสนทนาธรรมหน้าศพ และคุณป้าจะร่วมเป็นผู้ตอบคำถามทางธรรมด้วย

“คุณแม่เธอก็ไม่ค่อยอยู่บ้านเหมือนกันนะ” สุวมนปรารภแก่เพื่อนซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน

“ฮื่อ คุณพ่อค่อนเรื่อย บอกว่าจะต้องหาสาว ๆ ไว้ปรนนิบัติสักคน มิีเมียเป็นนักธรรมนี่อาศัยอะไรไม่ค่อยได้เสียเลย” เพ็ญพรพูดอย่างสนุก

“เออ แล้วเธอว่าไง เธอเห็นว่าคุณแม่ทำอย่างนี้ดีไหม” สุวมนถาม

“ไม่เห็นใช่ธุระอะไรของเรานี่ นั่นมันเรื่องของคุณพ่อกับคุณแม่ไม่ใช่เหรอ” เพ็ญพรว่า

“คุณพ่อเธอก็ดูหนุ่มนี่นะ” สุวมนปรารภต่อไป “เออ แล้วเผื่อคุณพ่อทำจริงอย่างที่เธอว่าเมื่อกี้ คุณแม่เธอจะว่ายังไง”

“เธอไม่รู้อะไร คุณพ่อน่ะเจ้าชู้ตัวดีละ” เพ็ญพรว่า “เคยมีนางเล็ก ๆ หลายหนแล้ว มีลูกด้วยจ้ะ คุณแม่ต้องคอยเตือนให้ไปเยี่ยม แล้วต้องคอยส่งเสียให้เล่าเรียน

“เรอะ” สุวมนถามด้วยความทึ่ง “นึกว่าคุณลุงก็ธรรมะธรรมโมอย่างคุณป้า เคยบวชจนเป็นเจ้าคุณไม่ใช่เรอะ”

“ก็ธรรมะมากน่ะซี ถึงได้มาแต่งงานคุณกับแม่” เพ็ญพรคุยต่อไป “แต่คุณพ่อว่าถ่ายความรู้ให้คุณแม่หมดแล้ว เดี๋ยวนี้คุณพ่อกลายเป็นนักพฤกษศาสตร์ เพาะกล้วยไม้ เพาะอะไรต่ออะไร บอกว่าบารมีไม่ถึง”

“แล้วมีลูกกับคนอื่นกี่คน”

“มีคนเดียว คุณแม่บอกว่าเคราะห์ดีไป คุณแม่เพิ่งบอกให้ฉันรู้เมื่อเป็นครูแล้ว บอกว่าแต่ก่อนกลัวว่ายังเป็นเด็ก จะเอะอะเกินเหตุ”

“แปลว่าผู้ชายทุกคนเป็นอย่างนี้ แล้วผู้หญิงเราก็ทนกันไป งั้นใช่ไหม” สุวมนเสียงเครือ

“คุณแม่ว่า ที่หึง ๆ ไปก็ไม่เห็นได้ผลอะไร” เพ็ญพรตอบ “แต่คุณแม่เป็นคนใจบุญ บอกว่าเด็กมันไม่ได้รู้ได้เห็นอะไรด้วย แล้วแม่มันก็เป็นคนไม่มีความรู้อะไร มันถูกผู้ชายทำมันแท้ ๆ ถ้าเด็กไม่ได้เล่าเรียน มันก็จะยิ่งโตขึ้นทำยุ่งต่อไปอีก คุณแม่ว่าให้ฉันหาโอกาสไปดูแลมันบ้างด้วย เพราะมันชักจะโตขึ้น คงอยากมีพี่น้องแล้ว”

“คนอย่างคุณป้านี่หาได้สักกี่คนนะ” สุวมนพูดเชิงถาม

“แยะไป แต่คนที่เขาทำอย่างนี้เขาก็ไม่เล่าให้ใครฟัง บางคนเอามาอุ้มเล่นสนุกด้วยซ้ำไป คนรุ่นคุณแม่ไม่เหมือนคนรุ่นเรา”

“คุณป้ากับคุณแม่ฉันก็ไม่แก่กันกี่มากน้อย แต่ฉันสงสัยว่าคุณแม่ฉันจะทำใจได้เหมือนคุณป้าไหม”

“ไอ้ตอนแรกมันก็คงเสียใจกันทุกคนละเธอ” เพ็ญพรว่า “แต่แล้วมันจะหักได้หรือไม่ได้ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง”

“แล้วแต่ตั้งหลักเกณฑ์ไว้อย่างไร เห็นว่าควรไม่ควรอย่างไร ผิดถูกอย่างไร” สุวมนพูดพลางตริตรอง

“ถ้าเอาตามคุณแม่นะ คุณเม่ว่าอย่าไปหวังเอาอะไรมากนักแหละดี” เพ็ญพรว่าเรื่อย ๆ “คุณแม่ว่ามันเป็นเรื่องของแต่ละคน”

“ถ้าเป็นอย่างงั้น ถ้าหากว่ามันเป็นคนที่เธอไว้ใจ เธอเคยช่วยเหลือ เธอทนได้ไหม” สุวมนถาม

“เธอล่ะ” เพ็ญพรย้อนถาม เพราะหล่อนยังไม่เคยคิดไปถึงเรื่องนั้นเลย เพ็ญพรคิดแต่ว่าหล่อนจะมีใครมารักที่หล่อนจะรักตอบบ้างไหมหนอ แต่ไหนแต่ไรมา เพ็ญพรมีแต่เพื่อนชายที่เคารพหล่อนเหมือนพี่สาว แต่ไม่เคยมีคนไหนเอาใจใส่กับหล่อนอย่างผู้หญิงสาวเลย

สุวมนก็ไม่เคยคิดเช่นเดียวกัน หล่อนคิดถึงแต่ศุกรี ว่าเขาจะขอแต่งงานหรือไม่ บัดนี้ก็ปรากฏว่าเขาจะไม่ขอแล้ว โดยเรื่องยังเป็นปริศนาอยู่ ก็มาพบปริศนาสองเงื่อน คือเรื่องคุณแม่กับน้าปิ๋วเข้าอีก

“นี่ ฉันจะเล่าให้เธอฟัง” สุวมนเริ่มเล่าเรื่องตามที่ตั้งใจมา “ศุกรีเขามาบอกว่าเขารักฉัน”

“เรอะ เรอะ” ยังไม่ทันจะฟังให้จบ เพ็ญพรก็แสดงความยินดีอย่างลิงโลด “แหม ฉันค้อยคอยมา อีตาบ้ามัวรั้งรอเรื่องอะไรก็ไม่รู้”

“เธอทำท่าดีอกดีใจ” สุวมนพูด พยายามบังคับเสียงไม่ให้เครือ “เขาไม่แต่งงานกับฉันหรอก”

“อ้าว ไปทำบ้าอะไรไว้ที่ไหน” เพ็ญพรถามอย่างผิดหวัง “โธ่ น่าเสียดาย”

“เธอเดาไม่ถูกหรอกเพ็ญ” สุวมนยังพยายามพูดเสียงเรียบ ๆ “ไม่ได้เกี่ยวกับเราสองคน เกี่ยวกับคุณแม่”

“ฮึ้ย เป็นไปไม่ได้ คุณน้าอรออกสมัยใหม่ ต้องแล้วแต่เธอทั้งนั้น”

“มันเป็นเรื่องแปลก ฉันก็ไม่เข้าใจ” สุวมนต้องพยายามจนรู้สึกปวดศีรษะ “เธออย่าเพ่งรวบรัดอะไร ฟังฉัน”

“เอ้า ว่าไป” เพ็ญพรรวบสติและตั้งใจฟัง สุวมนจึงเล่าเรื่องพิรีย์แต่พอให้รู้เรื่อง แล้วจึงต่อไปถึงเรื่องน้าปิ๋ว

“ทีนี้มีเรื่องต่อ เธอก็รู้แล้ว ฉันมีอะไรก็เคยพูดกับน้าปิ๋ว แต่คราวนี้เกิดเรื่องซ้อน น้าปิ๋วกลายเป็นคนมีปัญหาคนหนึ่งของฉันไป คือคุณพ่อเกิดมาสารภาพกับฉันว่าคุณพ่อรักน้าปิ๋ว”

“คุณพ่อรักน้าปิ๋ว หรือรักกับน้าปิ๋ว” เพ็ญพรถามอย่างคนเข้าใจปัญหาควรถาม

“ฉันยังไม่ได้ถามน้าปิ๋ว แต่คิดว่าไม่ต้องถาม” สุวมนว่า “ถ้าคุณพ่อสงสัยเรื่องตัวน้าปิ๋ว คุณพ่อก็คงไม่พูดแบบที่พูด นี่คุณพ่อไม่สงสัย คุณพ่อแน่ใจเรื่องน้าปิ๋ว”

“เธอเป็นห่วงว่าคุณแม่จะทนไม่ไหวเหรอ คนที่ไว้ใจกันอย่างน้าปิ๋ว ไม่น่าจะเป็นไปได้เลยนะ” เพ็ญพรนิ่งไปครู่หนึ่งแล้วต่อ “แต่ว่าตามคุณแม่ของฉันอีกละนะ คุณแม่ว่า คนเราจะไว้ใจกันไม่ได้เสมอไปหรอก คือคุณแม่มีคนมาปรึกษาเรื่องพรรณอย่างนี้อยู่เสมอ ๆ คุณแม่ว่าเรื่องมันทำอะไรไม่ได้ หันเขาหาทางพระดีกว่า แต่บางคนเขาก็ว่าบ้า บางคนโกรธไปก็มี คนเรานี่มีบ้าหลายอย่าง เขาไม่ได้ยกป้ายสักทีว่ารับปรึกษาปัญหาผัวเมีย มากับเพื่อนกับฝูง คุณแม่ก็อุตส่าห์พูดปลอบไป แต่เป็นคุณแม่ก็ดีไปอย่าง ไม่ถืออะไร”

“ฉันกลัวว่าคุณแม่ฉันจะรุนแรง คือว่า จะพูดรุนแรง แล้วคุณพ่อก็จะรุนแรงตอบ” สุวมนพูดเสียงเศร้า

“นี่ ฉันอยากถามอะไรเธอมานานแล้วล่ะ มน แต่เกรงใจก็ไม่กล้า” เพ็ญพรกล่าวเสียงอ่อย ๆ “มีคนนินทาคุณแม่เธอกันมาก แต่ก็มีคนนับถือบูชากันก็มาก ฉันไม่เข้าใจเลย แยกกันเป็นสองเสียง ทำไมเป็นอย่างนั้น”

“สองเสียงน่ะเสียงอะไรมั่ง” สุวมนถาม ข่มตนเต็มที่ไม่ให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น

“ฉันได้ยินคนที่ทำงานในสมาคมอันหนึ่ง เขาพูดกันว่าใคร ๆ เขากลัวปากคุณแม่เธอ แต่ฉันก็ไม่เชื่อ กับเพื่อน ๆ ลูกท่าน ท่านออกดี คุยก็สนุก พวกเรายังติดใจเวลาไปหาเธอ” เพ็ญพรเล่าเป็นการปรารภไปพลาง

“ตกลงสองเสียงครบแล้วเรอะที่เธอว่านี่นะ” สุวมนถาม

“ก็สรุปก็มีคนว่าท่านเป็นคนพูดไม่น่าฟัง กับอีกพวกหนึ่งก็ว่าท่านเปนคนมีความรู้ความสามารถ”

สุวมนไม่ได้รับคำแนะนำที่เป็นชิ้นเป็นอันจากเพื่อน แต่หล่อนก็สบายใจขึ้นเมื่อได้ไปหาเพ็ญพรแล้ว ระหว่างเดินทางกลับบ้าน นั่งมาในรถประจำทาง ผ่านถนนสายใหญ่สายหนึ่ง เห็นสำนักงานของสมาคมสตรีแห่งหนึ่ง สุวมนก็คิดขึ้นมาถึงพฤติกรรมที่ได้เห็นเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนวันที่ศุกรีมาหา

หล่อนไปที่บ้านเพื่อนร่วมงานของคุณแม่คนหนึ่ง เธอเป็นเศรษฐินี มีคฤหาศน์ใหญ่ ตึกใหญ่ สวนใหญ่ล้อมรอบตึกนั้น สนามหญ้าเขียวหญ้านุ่มหนา ใบแน่น งามกว่าพรมกำมะหยี่ เพราะกำมะหยี่ไม่มีชีวิตเหมือนเส้นหญ้าบนสนามนั้น ตามที่ที่เหมาะ ปลูกต้นไม้กอไม้ มีดอกมีช่อมีใบ สีต่างๆ แปลกทั้งชื่อแปลกทั้งรูป เจ้าของบ้านอยู่ในวัยอ่อนกว่าคุณแม่ประมาณ ๑๐ ปี เธอได้ใช้เงินหาความสุขหาความรู้ เช่นได้เดินทางรอบโลกมาแล้วอย่างน้อยสองครั้ง บัดนี้เธอเห็นว่าเธอควรใช้บ้านอันสง่างามให้เป็นประโยชน์ให้กว้างขวางออกไป จึงได้อนุญาตให้สมาคมสตรีที่บำเพ็ญสาธารณกุศลอันหนึ่งใช้เป็นสถานที่ออกร้าน ขายของที่เป็นหัตถกรรมเล็กๆ น้อย ๆ และอาหารรสแปลกบางอย่าง สมาคมขายตั๋วให้แก่ผู้สนใจในการหาความสำราญในหมู่มิตรที่มีฐานะสะดวกสบายเทียมกัน มีดนตรีของผู้ที่ได้ไปเรียนจากต่างประเทศ ฝีมือดีพอให้คนไทยด้วยกันตื่นเต้นมาเล่นให้ฟัง ต่างคนต่างพวกต่างก็ปรบมือให้กัน ทำความรื่นเริงให้กัน พร้อมกันนั้นก็ได้รับความสุขใจที่ได้ทำการกุศลไปด้วย สมาคมที่มีงานชนิดนี้เป็นครั้งแรก ๆ มักจะมาวิงวอนขอความช่วยเหลือคุณแม่ของสุวมนให้ไปช่วยเสมอ

ในวันที่สุวมนคิดถึงนี้ พอรถของหล่อนจอดเทียบกับขอบถนนซึ่งเป็นวงกลมสนามหญ้าด้านหน้าตึก เศรษฐินีเจ้าของบ้านก็วิ่งมารับคุณแม่อย่างตื่นเต้น พลางก็อุทาน “แหม แหม คุณพี่กำลังรออยู่ แหม”

เมื่อคุณแม่ลงจากรถแล้ว มีคนรถของบ้านมารับพารถไปหาที่จอดที่เหมาะ สุวมนก็เดินตามคุณแม่และเจ้าของบ้านไปขึ้นบันไดหินอ่อนหน้าตึก เจ้าของบ้านฉุดมือคุณแม่พาลัดเลาะแจกันใบใหญ่ ๆ มีคนกำลังเอาดอกไม้ลงจัดอยู่ทางด้านข้างและด้านหลังของห้องรับแขก จนมองดูราวกับเป็นสวนดอกไม้อีกสวนหนึ่งภายในตึกนั้น เจ้าของบ้านคุณน้ากรรณาภรณ์ ฉุดแขนคุณแม่มาถึงสตรีกลุ่มหนึ่ง ยืนล้อมรอบโต๊ะสี่เหลี่ยมค่อนข้างใหญ่ที่ระเบียงด้านหลังคฤหาสน์ ทันทีที่เห็นหน้าสตรีทั้งกลุ่มพร้อมกัน คุณน้าเจ้าของบ้านก็ร้องขึ้นเสียงแหลมกลั้วเสียงหัวเราะแหลม “นี่ มาแล้ว คนตัดสิน ถ้าคุณพี่ไม่มา ต้องเถียงกันจนตี ๑๒ แน่”

“อะไรกันคะ” คุณแม่ยิ้มพลางถาม

สตรีสองสามคนหันมาเล่าข้อพิพาทให้คุณแม่ฟัง สุวมนจับความไม่ได้ จนกระทั่งคุณแม่พูดขึ้นเมื่อรอจังหวะอยู่ครู่หนึ่ง

“ดิฉันจับความได้ว่าอย่างนี้นะ คุณสรนาฏเอาคำกราบทูลต้อนรับสมเด็จหญิงไปให้สามีคุณผจงเขียนให้ แล้วคุณแรมจันทร์ว่าผิด ใครจะแก้ก็กลัวคุณผจงโกรธ แล้วไงต่อไป”

สตรีสองคนรีบหยิบกระดาษออกจากซองขาวที่วางอยู่บนพานทองใบหนึ่งใกล้มือ คลี่ออกแล้วอ่านให้คุณแม่ฟัง “นี่ มันถูกหรือคะ ใครเขาพูดกันอย่างนี้ เชยตายเลย ดิฉันว่าไม่อายเขาก็แล้วไป” คนหนึ่งชี้ที่ให้คุณแม่ดู

“เขาจะให้คุณพี่เป็นคนแก้ คุณผจงจะได้ไม่กล้าว่าอะไร เข้าใจหรือยังคะ” เจ้าของบ้านว่า “ไม่เอาหรอกถ้าเชย บ้านดิฉันพอจะเข้ามาช่วยเหลืองานกับเขามั่ง ก็แสดงเชยออกไปเชียว”

“ที่จริง ความเชยก็ไม่ใช่ของเจ้าของบ้านหรอกนะคะ” คุณแม่พูดเสียงหัวเราะ “ก็ต้องเป็นของสมาคมซิ”

“แล้วคุณพี่เป็นที่ปรึกษา ก็เสียชื่อถึงคุณพี่ด้วยละซี” สุภาพสตรีอีกคนหนึ่งทัก

“ทำอะไรร่วมกัน ผิดชอบมันก็ร่วมกันซิคะ” คุณแม่ว่า เดี๋ยวให้ดิฉันดูให้ตลอดซิ”

คุณแม่รับแผ่นกระดาษที่เป็นเอกสารข้อพิพาทไปพิจารณาอยู่สักครู่หนึ่งแล้วก็ว่า “ที่จริงคุณผจงไม่น่าจะรู้สึกอะไรหรอก คงมีใครไปบอกเธอผิด เสด็จพระองค์หญิงที่จะทรงเปิดงานวันนี้ ท่านไม่ใช่ลูกพระเจ้าแผ่นดิน เขาไม่พูดข้าพระพุทธเจ้ากัน แต่คนเขียนเข้าใจว่าเป็นสมเด็จหญิงเป็นเจ้าฟ้า ก็เรียกว่าเขียนมาถูกแล้ว ใครจะเป็นคนอ่านงายงานก็แก้เสียก็แล้วกันนี่คะ”

“แต่คุณผจงโกรธแน่ค่ะ เพราะเธอกับสามีเธอคอยจะโกรธกันอยู่แล้ว เรื่องนิดเรื่องหน่อยโกรธทั้งนั้น”

“อ้า ใครเป็นประธานจัดงานนี่ล่ะคะ ประธานก็ไปพูดเสียให้เข้าใจสิ” คุณแม่แนะนำ

“ไม่ใช่อิฉันนะ” เจ้าของบ้านรีบพูด “ฉันเป็นแต่คนให้บ้าน ใช่ คุณสุภาพักตร์แน่ะเป็นประธานจัดงาน”

“คุณพี่อรจันทร์นั่นแหละต้องพูด คุณผจงเกรงใจอยู่คนเดียว คนอื่นขืนพูดอาจยกของกลับหมด” คนหนึ่งที่ร่วมสนทนาว่า

“อะไร้ จะถึงกับอย่างนั้นเชียว” คุณแม่ขัดเบาๆ “จะให้ดิฉันพูดจะไม่เหมาะ ถามประธานเสียก่อน”

มีคนวิ่งออกไปตามตัวประธาน ไม่ช้าผู้ที่ชื่อ สุภาพักตร์ ซึ่งสุวมนไม่เคยรู้จักมาก่อนก็เข้ามาร่วมวงปรึกษา ท่านผู้นี้เป็นคนอยู่ในวัยระหว่างคุณแม่ของสุวมนกับเจ้าของบ้าน แต่พอทราบเรื่องขัดข้องก็แสดงความหนักใจมาก

“กราบคุณพี่ให้เป็นคนพูดเถอะ อย่าให้ฉันพูดกับคุณผจงเลย เดี๋ยวแกโกรธว่าฉันไม่ควรไปวานแก ให้แกทำผิดมาให้ใคร ๆ มาว่าได้”

ก็คุณรับผิดเสียก็หมดเรื่องนี่นา” คุณแม่ของสุวมนว่า “ใคร ๆ ก็ทำผิดได้ อะไรจะรับแต่ชอบไม่รับผิด จะถูกรึ”

“โธ่ ก็ใครก็ไม่รู้ว่าเจ้าฟ้าอะไรจะเสด็จ แล้วฉันไปปรึกษาคุณผจง แล้วนี่มาเปลี่ยนแปลงกัน ฉันจะรับผิดยังไง” ประธานจัดงานเถียง “นายกสมาคมซิต้องรับผิด”

“เออ ประเดี๋ยวต้องเรียกมายืนเข้าแถวหรอกว่าเป็นความผิดของใคร” คนหนึ่งพูดขึ้นอย่างไม่พอใจ “กราบคุณพี่ไปจัดการเถอะค่ะ”

“ทำไมแน่ใจว่า ถ้าดิฉันพูด คุณผจงจะไม่โกรธคะ” คุณแม่ถาม

“ดิฉันแน่ใจค่ะ” เจ้าของบ้านเศรษฐินีรับรองเสียงใส “ใครจะโกรธคุณพี่ลง”

“เขาโกรธกันไปหลายรายแล้วละ” คุณแม่ว่า ขณะนั้น ก็มีเสียงคนพูดขึ้นด้วยน้ำเสียงแสดงความร้อนใจ

“เออ คุณผจงมานั่นแน่ะ คุณผจง คุณพี่อรจันทร์ จะพูดอะไรหน่อย”

ดวงตาหลายคู่หันไปจับจ้องที่หน้าของผู้ที่เดินขึ้นบันไดด้านหลังมา ผู้ที่มาถึงนี้มีสีหน้าตึง แววตากระด้าง บอกชัดว่ามีความข้องใจ น้ำเสียงที่พูดนั้นบังคับให้เป็นเสียงราบรื่นโดยยาก

“มีคนไปบอกว่าต้องการพบฉันกันเรอะ ว่ามีอะไรผิดในคำกราบทูล”

คุณแม่เข้าไปจับแขนคุณผจง “นี่ คุณผจง พี่จะว่าอะไรให้ฟัง ที่เรามาทำงานกันนี่ก็สำหรับจะทำบุญนะ มันก็มีการเข้าใจผิดกันมั่งอะไรมั่ง นี่ใครจะเป็นคนเข้าใจผิดก็ไม่รู้ละ พี่ว่าไม่จำเป็นต้องไปไต่สวน แต่ว่าแทนที่จะเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าเสด็จมาเปิดงาน กลายเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์หนึ่ง ก็ต้องมีการแก้ถ้อยคำบ้าง ไม่ใช่ใครทำผิดหรอก มีแต่การเข้าใจผิด ใครจะเป็นคนอ่านรายงานล่ะ เธอหรือใคร”

“ใครจะอ่านก็อ่านเถอะ ฉันไม่เอาด้วยอีกแล้ว” คุณผจงพูดอย่างไม่มีเยื่อใย แต่ยังรักษามารยาทได้ “ฉับจะไปสั่งให้เขาทอดขนม แล้วก็จะกลับบ้าน”

“โถ คุณผจงขา อย่าให้ถึงอย่างนั้นเลยน่ะ” เจ้าของบ้านเศรษฐินีเข้าไปโอบสะเอวคุณผจงไว้ “ขอให้น้องเถอะ บ้านน้องเพิ่งจะมีงานครั้งแรก คุณพี่ผจงน่ะแหละเป็นคนมาติตต่อชักชวน”

“อือ เสียใจ” คุณผจงว่า วางหน้าเฉย ๆ “ก็ไม่ได้ว่าอะไรนี่นา ไม่ทำให้งานของเธอเสียอะไรไป แต่จะต้องกลับบ้าน จะทำยังไง” แล้วก็หันหลังกลับลงบันไดไป

“ฉันว่าแล้วไหมล่ะ” คนหนึ่งที่ยืนรอบโต๊ะกล่าวขึ้น

“ก็กลัวก็ปล่อยออกไปเชย ๆ ยังงั้นซิ” คุณแรมจันทร์วางมือจากการจัดดอกไม้ เงยหน้าขึ้นพูดพลางหัวเราะ

“ตกลงว่าไง คุณสุภาพักตร์” คุณแม่สุวมนถาม

“เอ คุณพี่ว่าไงค่ะ” คุณสุภาพักตร์ถาม

“เอ้อ จะว่าไงล่ะ ท่านประธาน” คุณแม่ย้อนถาม

“คุณพี่เป็นคนไปอ่านรายงานนะ แล้วจะเอายังไงก็ตามใจคุณพี่”

สุวมนไม่สนใจกับความยุ่งยากเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนในวัยมารดาหล่อนพอที่จะฟังต่อไป หล่อนออกไปหาเพื่อนวัยเดียวกับหล่อนได้คนหนึ่ง เพื่อนคนนั้นหางานให้หล่อนทำได้เป็นประโยชน์ ไม่เป็นการเสียเวลาเปล่าในการที่หล่อนไปกับคุณแม่ หล่อนรีบไปนัดหมายให้คุณแม่ทราบว่า หล่อนกับคุณแม่จะพบกันที่ตรงไหน เวลาใดเพื่อจะกลับบ้านด้วยกัน ต่อจากนั้นก็เข้ามีส่วนร่วมในงานนั้นไปด้วยความเพลิดเพลิน

สองหรือสามวันต่อจากวันนั้น เวลาเย็นเกือบค่ำ สุวมนกลับจากทำงาน พบคุณพ่อกับน้าปิ๋วนั่งคุยกันอยู่ที่ระเบียงหน้าตึก หล่อนผลัดเครื่องแต่งตัวเรียบร้อยแล้วก็ไปเข้าร่วมการสนทนา หล่อนเพิ่งมาระลึกได้ภายหลังที่ชีวิตหล่อนเต็มไปด้วยปัญหา ว่าการสนทนาระหว่างหล่อน คุณพอกับน้าปิ๋วนั้น เป็นสิ่งให้ความสุขแก่หล่อนอย่างไร ขณะที่เรามีความสุขสบาย เราไม่รู้ค่าของสิ่งที่ให้ความสุข เราคิดว่ามันเป็นของธรรมดา เหมือนขณะที่เรามีอาหารกินทุกมื้อ เราหาได้คำนึงไม่ว่า ถ้าหากเราขาดอาหารไป เราจะต้องหวนคิดถึงวันเวลาที่มีอาหารกินอย่างไร เย็นวันนั้นคุณพ่อคุยสนุก ดูรื่นเริง เล่าเรื่องเกี่ยวกับการงานให้สุวมนและน้าปิ๋วฟัง และเล่าเรื่องที่ควรสนใจเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์เรื่องนั้นเรื่องนี้ และรับประทานอาหารว่างที่น้าปิ๋วซื้อมาอย่างอร่อย

สามคนนั่งคุยกันและรับประทานร่วมกันอย่างเพลิดเพลินเช่นนั้น จนเวลาล่วงไปประมาณหนึ่งชั่วโมง รถจากสำนักงานก็พาคุณแม่กลับมาบ้าน คุณแม่เดินขึ้นบันไดพลางก็พูด

“มีอะไรกินกันเรอะ แหม ดีใจ วันอยากกินอะไรเล่นๆ บ้าง”

“เสียใจ เห็นจะไม่กี่คำเสียแล้ว” คุณพ่อบอก “หิวรึ มนไปหาอะไรให้แม่ได้ไหมล่ะ แต่นี่ก็จวนจะถึงเวลากินข้าวแล้วละนะ แต่กินอะไรก่อน แล้วก็กินข้าวช้าไปหน่อย ก็ไม่ผิดร้ายอะไร”

“ไม่หิวหรอกค่ะ” คุณเม่ตอบ “ถ้าไม่มีอะไรกินเล่นก็รอกินข้าวเลยก็แล้วกัน ว่าแต่คนที่กินของว่างแล้วไม่อิ่มเรอะ จะกินอาหารตามเวลาจะไหวเรอะ”

“ไหวซิคะ” น้าปิ๋วว่า “ไม่ได้กินของว่างให้ถึงกับอิ่ม ชอบกินข้าวตรงเวลา”

“ฮึ่ มันสะดวกสำหรับทุก ๆ คน ไอ้การทำอะไรตามเวลา” คุณแม่ว่า “พี่จะไปอาบน้ำ ขอน้ำผลไม้กินสักถ้วย แล้วก็กินข้าวตามที่เราเคยเป็นดี” พูดจบแล้วคุณแม่ก็เดินไปทางห้องของคุณแม่

น้าปิ๋วไปเตรียมน้ำผลไม้ให้คุณแม่ เมื่อได้มาแล้วก็ไปถามที่ห้องว่าจะต้องการดื่มทันทีหรือไม่ แล้วก็กลับมานั่งที่เดิม พร้อมด้วยถ้วยแก้วน้ำผลไม้ สักครู่หนึ่งคุณแม่อาบน้ำ ผลัดเครื่องแต่งตัวเรียบร้อย ก็มานั่งรออาหารค่ำร่วมกับลูกและสามีและญาติ

คุณแม่เล่าเรื่องที่ได้ประสบมาในวันนั้นสองสามเรื่อง เรื่องเป็นการคุยกันอย่างธรรมดา ครั้นได้จังหวะ คุณพ่อเอ่ยขึ้น

“คุณจันทร์ วันนี้ฉันถูกสตรีแต่งตัวสวยสามคนมาขอให้เป็นทูตจำทูลสารกับเธอนะ ยังไม่ได้เล่าให้ฟัง”

“สตรีแต่งตัวสวยนี่แปลว่า ตัวไม่สวยหรือเปล่าคะ” สุวมนถามขึ้นพลางหัวเราะ

“ที่จริงก็ไม่ถึงกับขี้ริ้วขี้เหร่หรอก แต่ว่าจะเรียกว่าสวยก็ไม่ถูก แต่เขาแต่งตัวสวย น่าชม เข้าที”

“ชมจริงหรือชมค่อน” คุณแม่ถาม

“ชมจริงน่ะ” คุณพ่อพูดอย่างอารมณ์ดี สีหน้ายิ้ม

“แล้วเขาให้เป็นทูตเรื่องอะไร” คุณแม่ถาม

“เขามาขอให้พูดไม่ให้เธอโกรธ” คุณพ่อพูดยิ้มๆ ต่อไป

“ใคร” เสียงของคุณแม่แข็งขึ้น

“คนหนึ่งชื่อคุณผจง คนหนึ่งชื่อคุณแรมจันทร์ อีกคนหนึ่งจำไม่ได้เพราะเพิ่งรู้จักเป็นครั้งแรก”

“แหม พวกนี้เป็นยังไงถึงพูดกับใครต่อหน้าไม่เป็นนะ ราวกับเราเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดหรืออะไร อย่างงี้นับประสาจะไปทำงานทำการใหญ่ ผู้หญิงๆ ด้วยกันก็พูดกันไม่ได้”

“ถ้าไม่ใช่ผู้หญิงด้วยกัน เขาอาจพูดได้กระมัง แต่ที่จริงน่ะ เขาตั้งใจมาหาเธอ แต่มาพบฉัน”

“แล้วเขาให้เป็นทูตเรื่องอะไร” คุณแม่ถาม

“คุณผจงบอกว่าเขาแสดงกิริยาไม่ดี เขายอมรับว่าเขาคงงอนไปหน่อย ที่จริงน่ะเขาโกรธเพื่อนเขาคือคุณแรมจันทร์ ซึ่งคุณนั่นก็รับรอง”

คนรับใช้มาเรียกให้ไปกินอาหาร เมื่อเข้านั่งโต๊ะเรียบร้อยแล้ว คุณแม่พูดขึ้น

“เรื่องคุณผจงกับคุณแรมจันทร์นี่นะ ไม่มีใครเข้าใจฉัน ฉันน่ะเห็นใจคุณผจง แล้วก็รู้ว่าแกงอนนี่มานานแล้ว แกไปวานสามีเขาเขียนคำกราบทูลสมเด็จหญิง นึกว่าจะเป็นเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า แล้วเสร็จ ก็มีคนว่าเชย ว่าอะไรกันนึกถึงใจแกมันก็น่าโกรธ แต่แกเก็บเอาไว้ไม่อยู่ ดูเป็นเด็ก ๆ ไปหน่อย แต่เรื่องไปวานสามีให้เขาทำอะไรให้กับงานของพวกผู้หญิงแล้วมาถูกว่า มันก็น่าเห็นใจ ที่คุณแรมจันทร์มาขอโทษฉันน่ะ ไม่ถูก ควรขอโทษเพื่อนของตัวน่ะแหละ แต่คนที่ฉันเห็นว่าใช้ไม่ได้ คือคุณสุภาพักตร์ นั่นไม่เห็นร้อนตัวอะไรเลย”

“เป็นใครคะ คุณสุภาพักตร์” น้าปิ๋วถาม ระหว่างนั้นสุวมนอ่านสีหน้าคุณพ่อไม่ถูก มีอาการยิ้ม ๆ ในหน้า จะว่ายิ้มเยาะก็ไม่เชิง แววตาของคุณพ่อดูมีความขมขื่นปะปนกับการเยาะยิ้มนั้น ดูเป็นอาการของคนเยาะตัวเองมากกว่าเยาะคนอื่น

คุณแม่ตอบน้าปิ๋ว “คุณสุภาพักตร์เป็นประธานจัดงาน คุณสุภาพักตร์คนนี้ไม่มีอะไรจะอภัยให้เลย การศึกษาก็ชั้นปริญญาโท ทำงานทำการมาก็นาน อายุก็ไม่ใช่เด็กๆ”

“เออ ดูหน้าอ่อนมากนะคะ” สุวมนพูดขึ้นเป็นคำแรกแก่คุณแม่

“หน้าตาสวย ผิวพรรณนวลละออง ลูกเต้าก็มีแล้ว” คุณแม่อธิบายคุณสมบัติต่อไป

“แล้วไงคะ” น้าปิ๋วซัก

“แกไม่ยอมรับผิดอะไรเลย คนเป็นประธาน มีอะไรฺผิดพลาดไปในงาน เราก็ไกล่เกลี่ย มีอะไรผิดพลาดไปเราก็ต้องยอมรับเสียว่ามันผิดพลาด ไม่ควรให้คนร่วมงานทะเลาะกัน”

“คนที่พูดเคยทำเองหรือเปล่า” คุณพ่อถามขึ้นมา

“ฉันว่าฉันทำบ่อย ๆ แต่ขณะเดียวกัน ฉันก็อาจพูดได้เหมือนกันว่า ฉันพยายามไม่ให้มีความผิดพลาดในเรื่องที่ระวังได้อย่างที่สุด” คุณแม่ตอบ น้ำเสียงของคุณแม่แข็งซ่อนความไม่พอใจไว้ไม่ได้

“ฉันว่ากว่าคนเราจะทำได้อย่างที่เธอว่า ต้องเคยผ่านงานมามาก ไม่ใช่คนที่เพิ่งก้าวเข้ามาทำงาน การทำราชการตามหน้าที่ เช่นเป็นครูหรือเป็นเลขานุการ หรือหัวหน้าแผนกอะไรก็เถอะ ไม่เหมือนการทำงานสมาคม พวกผู้ชายก็เหมือนกัน ไม่ใช่แต่ผู้หญิง” ระหว่างที่คุณพ่อพูดอยู่นั้น มีกริ่งโทรศัพท์ดังขึ้นแล้วก็เงียบไป สักประเดี๋ยวเด็กรับใช้ก็มาบอกว่า มีคนชื่อ “อะไรพัก ๆ” โทรศัพท์มาถึงคุณแม่ และจะโทรศัพท์มาใหม่เมื่อคุณแม่รับประทานอาหารอิ่มแล้ว

เมื่อเสร็จการกินอาหารมื้อนันแล้ว น้าปิ๋วก็ขอตัวลาไปห้องส่วนตัว คุณแม่เดินไปที่ระเบียงที่นั่งเล่นเดิมก่อนกินอาหาร คุณพ่อเดินตามมา และสุวมนก็เดินตามไปด้วย

ไม่ช้าก็ได้ยินกริ่งโทรศัพท์ แล้วก็ได้ยินการสนทนา ซึ่งปรากฏว่าคนพูดอีกฝ่ายหนึ่งก็คือ คุณสุภาพักตร์นั่นเอง

“เป็นความรับผิดชอบของคุณ จะให้ดิฉันไปทำหน้าที่ของคุณมันไม่ถูก” เสียงคุณแม่ว่า สุวมนสังเกตว่าคุณพ่อตั้งใจฟัง

“คุณมาตีราคาดิฉันสูงไปกระมัง” เสียงคุณแม่พูดต่อจากที่อีกฝ่ายพูดมาแล้ว “มันเป็นหน้าที่ของคุณนะ คุณสุภาพักตร์”

“ก็ถูกละค่ะ ถ้าคุณจะโยนมาว่าดิฉันก็มีส่วนรับผิดชอบด้วย ดิฉันก็ยอมค่ะ” คุณแม่ว่าอีกครั้งหนึ่ง น้ำเสียงบอกชัดว่าตีราคาคู่สนทนาอย่างไร “แต่มันก็ไม่เหมือนกัน หน้าที่หัวหน้ามันก็ต้องรำคาญ มันเป็นของแน่ คุณจะเป็นประธาน แต่คุณจะไม่ยอมรำคาญ มันจะยังไง ๆ กระมัง”

ภายหลังที่คุณแม่เงียบลงไปประเดี๋ยวหนึ่งแล้ว คุณแม่ก็พูดอีก “ดิฉันไปพูด มันไม่เหมือนคุณพูด คุณเป็นประธานกรรมการเกิดผิดใจกัน คุณไปพูดอธิบาย ขอร้องอะไรก็ตาม มันเป็นการทำไปตามหน้าที่ มันสวย มันภาคภูมิ ทำไมคุณคิดว่าดิฉันจะดีกว่าคุณ”

“เอ เปล่านะ เปล่าเลยนะคะ” เสียงคุณแม่ค้านคู่สนทนา “คุณเข้าใจผิดแล้ว คุณไปทบทวนกับคุณสรนาฏกับคณะกรรมการของคุณให้ดี เพราะเหตุใดดิฉันจะไปอาสาเป็นที่ปรึกษาคะ” คุณแม่เงียบไปประเดี๋ยวหนึ่ง เพราะอีกฝ่ายขัดอย่างใดอย่างหนึ่ง “เอ้า เอาละค่ะ คุณพูดผิดไป ไม่ใช่อาสา ถูกแล้วค่ะ ดิฉันเต็มใจเป็นที่ปรึกษา ที่เต็มใจก็เพราะว่า เมื่อต้องทำอะไรแล้วก็ทำด้วยความเต็มใจ” ฝ่ายโน้นพูดขัดมาอีก คุณแม่นิ่งไปแล้วพูดต่อ “ก็นี่ดิฉันก็กำลังแนะนำคุณไงคะ แนะนำว่าตัวประธานต้องทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย จะให้คนอื่นไปทำหน้าที่ของประธานมันไม่ถูก ไม่ถูกแน่ค่ะ” คุณแม่เน้นเสียง “ทำไมดิฉันจะพูดได้ดีกว่าคุณ ดิฉันไม่ได้มีอะไรดีกว่าคุณตรงไหนเลย”

คุณแม่โต้เถียงทางโทรศัพต์กับคุณสุภาพักตร์ต่อไปอีกเกือบ ๑๐ นาที แล้วจึงเลิก ออกมานั่งที่ระเบียง แล้วเล่าให้สามีและลูกฟัง “แปลกพิลึก แกพูดออกมาได้ว่าฉันไปอาสาเป็นที่ปรึกษาให้คณะกรรมการของแก แหม เกือบระงับโทสะไม่อยู่ เผอิญแกรู้สึกตัวรีบเปลี่ยนคำ”

“แกจะให้คุณแม่ไปทำอะไรคะ” สุวมนถาม

“แกจะให้แม่เป็นคนไปพูดไกล่เกลี่ยให้คุณผจงหายโกรธคุณแรมจันทร์” คุณแม่ตอบ

“อ้าว ทำไมคุณแม่ไม่บอกไปว่าเขาดีกันแล้ว” สุวมนถาม

“มันคนละประเด็นกัน” คุณแม่ตอบ “แม่อยากให้มนเข้าใจนะเรื่องพรรณอย่างนี้ ที่แม่ว่าน่ะมันหลักการ ไอ้เรื่องที่เขาไปดีกันแล้วน่ะ มันอีกเรื่องหนึ่ง แต่จะเกณฑ์ให้แม่เป็นคนไกล่เกลี่ยเวลากรรมการโกรธกัน เพราะแกว่าแม่เป็นที่ปรึกษา หน้าที่ก็ต้องแนะนำกรรมการในเรื่องต่างๆ”

“ใครเป็นคนมาขอให้คุณแม่ไปเป็นที่ปรึกษาคะ” สุวมนถามด้วยความอยากรู้ตามธรรมดา

“หลายคน สามสหายนั่นแหละ คุณผจง สรนาฏ แรมจันทร์ เขาบอกว่ามีแต่คนใหม่กับงาน แล้วเจ้าของบ้านยิ่งใหม่ใหญ่ เขาว่าคุณวรรณาภรณ์เจ้าของบ้านแกเชื่อถือแม่ มาเชื่อถือยังไงก็ไม่รู้ เคยพบแกไม่เกิน ๓ หน เขามาขอร้องว่าให้ช่วยดูรายการต่าง ๆ ใครจะต้องทำอะไร หาผู้ช่วยมาช่วยทำอะไรกันบ้าง แม่ก็ดูให้ทุกอย่าง นัดแนะกันใครจะทำอะไร ใครจะช่วยใคร ละเอียดละออทีเดียว จนกระทั่งจัดสถานที่ กลัวว่าคุณวรรณาภรณ์จะไม่เข้าใจบางอย่าง ก็ไปช่วยดู แล้วหาคนชำนาญไปคอยช่วย สังเกตดูว่าคุณวรรณาภรณ์เห็นใจว่าแม่ได้ช่วยเต็มที่จริง ๆ แต่เรื่องไกล่เกลี่ยไม่ให้โกรธกันนี่ มันหน้าที่ประธาน แกยอมรับผิดร่วมกับคุณแรมจันทร์เสีย คุณผจงก็คงหายโกรธ ไอ้เรื่องที่เพื่อนเขาไปง้อกัน เขาดีกันเอง นั่นมันเรื่องเพื่อนเขา มันไม่ใช่เรื่องของกรรมการ”

“ก็ทำไมเธอไม่คิดในแง่ว่า ประธานแกก็คงยังเป็นประธานไม่ค่อยเป็นนัก เธอก็แนะทางให้แก” คุณพ่อว่า

“ก็แกไม่ฟังท่าเดียว แกไม่ยอมรับหลักที่ว่าแกเป็นประธาน แกต้องรับทั้งผิดทั้งชอบ แกจะมาเกณฑ์ให้ฉันเป็นคนไกล่เกลี่ย ถ้าแกบอกซิว่าแกไม่รู้จะไปพูดว่ายังไง ฉันจะได้แนะแก” คุณแม่ชี้แจง

“คุณแม่จะแนะยังไงคะ หนูอยากรู้” สุวมนถาม เพราะหล่อนสนใจกับการงาน

“แม่ก็จะแนะว่า ประธานเผลอไป ไม่ได้สอบถามกับคุณแรมจันทร์ให้แน่นอนว่า เจ้านายที่จะเสด็จมาเปิดงานน่ะ ท่านชื่อเรียงเสียงไรแน่ ฟังเรียกเสด็จสมเด็จอะไรก็สับสนกันไปบ้าง สมัยนี้ไม่เหมือนแต่ก่อน เราไม่ค่อยได้เข้าเฝ้าเจ้านายกันบ่อย ๆ มันก็หลงลืมหรือเข้าใจผิดได้ พูดเพียงเท่านี้ คุณแรมจันทร์ก็ผิดน้อยลงไป คุณสุภาพักตร์ก็ไม่เห็นจะเสียหายสักกี่มากน้อย นี่แกไม่ฟัง แกเกี่ยงว่าเป็นหน้าที่แม่ท่าเดียว”

เวลาประมาณ ๒๒.๐๐ นาฬิกา ประมาณ ๕ วันหลังจากที่สุวมนได้ทราบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อกับน้าปิ๋ว สุวมนกำลังเคลิ้มจะหลับ ก็มีเสียงที่ประตู หล่อนคิดว่าอาจเป็นน้าปิ๋ว แต่เมื่อเปิดประตูออกไป ก็พบคุณพ่อยืนอยู่ แล้วคุณพ่อก็เดินเข้ามาในห้อง หล่อนเลื่อนเก้าอี้สำหรับนั่งเขียนหนังสือให้คุณพ่อนั่งเมื่อเห็นท่านมองหาที่นั่งไปมารอบตัวท่าน

“มนนอนซิ พ่อพูดไปพลาง มนนอนฟังก็ได้” คุณพ่อว่า ท่าทางเกรงใจที่รบกวน

“หนูยังไม่นอนหรอกค่ะ” สุวมนบอก แล้วก็เลื่อนม้านั่งหน้าโต๊ะเครื่องแป้งมานั่งหน้าเตียงนอน

“พ่อจะทำใจเฉย ๆ ต่อไป มันก็ทำไม่ได้” คุณพ่อว่า “พ่ออยากบอกแม่เขาเรื่องน้าปิ๋วเร็ว ๆ น้าปิ๋วเขาอยากให้บอกเมื่อเขาออกจากบ้านไปแล้ว พ่อว่าทำอย่างนั้นเหมือนแอบซ่อน พ่ออยากพูดกันตรง ๆ มนจะว่าอย่างไร ที่จริงพ่อไม่น่าจะกวนใจมนเรื่องอย่างนี้ แต่พ่ออยากให้หนักเป็นเบา”

สุวมนลอบถอนใจยาว ผู้ใหญ่สมัยนี้ชอบพูดกันบ่อย ๆ ว่าเด็กสมัยนี้แปลก ทำอะไรที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ไม่เคยทำ แต่สุวมนว่าบิดาหล่อนออกจะแปลกมาก หล่อนไม่คิดเลยว่าพ่อแม่จะเอาเรื่องเช่นนี้มาปรึกษาลูก คุณพ่อพูดขึ้นอีก

“ที่พ่อมาปรึกษามนก็เพราะเห็นว่ามนกับแม่ ออกจะสนิทกันมากกว่าคนอื่น มนพอจะรู้ใจแม่ว่าทำยังไงเขาถึงจะไม่ร้อนใจมากนัก”

สุวมนกลั้นร้องไห้ไว้ได้โดยมาก แต่ก็รู้สึกว่าเป็นเกียรติยศแก่หล่อนที่คุณพ่อนำเรื่องมาปรึกษาหล่อน หล่อนพยายามตอบ “เรื่องอย่างนี้จะให้ไม่ร้อนใจคงไม่ได้ แต่ว่าคุณพ่อน่าจะรู้นิสัยคุณแม่ดีกว่าคนอื่น”

“พ่อก็ว่าพ่อรู้” คุณพ่อพูดอย่างตรึกตรอง “แต่เวลานี้พ่อมีอคติ แล้วใจผู้หญิง จะว่าอะไรหนักอะไรเบา เรื่องร้อนน่ะมันร้อนแน่ แต่ร้อนเพราะอะไร นั่นก็อีกอันหนึ่ง คงไม่ใช่เพราะความรักสลาย”

“ครั้งหนึ่งคุณแม่เคยเห็นคุณพ่อเป็นพระเอก คุณพ่อก็เห็นคุณแม่เป็นนางเอกใช่ไหมคะ” สุวมนหลีกเลี่ยงคำ วีรบุรุษที่คุณแม่ใช้เมื่อวันก่อน

“เดี๋ยวนี้พ่อก็ยังเห็นเขาเป็น เอ้อ วีรสตรี” คุณพ่อพูดอย่างไม่สะดวกปากนัก “พ่อนับถือเขามาก แต่ก็ ก็มันเรื่องอนิจจัง ลูกเอ๋ย พ่อไม่ได้อยากให้เรื่องนี้เกิด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว พ่ออยากรับให้ชื่นตา”

“คุณพ่อจะได้เป็นวีรบุรุษใช่ไหม” สุวมนถาม เสียงของหล่อนปร่าชอบกล

“ลูกจะว่ายังงั้น พ่อก็ไม่เถียง พ่อบอกแล้ว พ่อไม่ขออภัย” คุณพ่อว่า

“เรื่องอย่างนี้ โลกเขาโทษผู้หญิง” สุวมนพูดอย่างคนรู้จักโลกเป็นอันดี “ใคร ๆ เขาก็ต้องว่าน้าปิ๋วแย่ง คุณแม่ก็มีบุญคุณกับน้าปิ๋ว ทำไมน้าปิ๋วถึงปล่อยให้คุณพ่อรักน้าปิ๋ว แล้วน้าปิ๋วก็รักตอบ”

“น้าปิ๋วเขาก็ไม่ขออภัยเหมือนกัน” คุณพ่อพูดเสียงปร่า ๆ เหมือนสุวมน “แต่การที่เขารักพ่อ อาจมีเหตุหลายอย่างที่คนอื่นไม่สามารถเข้าใจ”

“คุณพ่อพูดออกมาเสียตรง ๆ ดีกว่า” สุวมนเริ่มร้องไห้พลางโต้ตอบกับบิดา เพราะหล่อนกำลังคิดพัวพันไปถึงศุกรี “คุณพ่อไม่ชอบคุณแม่ว่ามีนิสัยเป็น เป็นอะไรล่ะ ทำเป็นคนใหญ่คนโตหรือยังไง เหมือนกับศุกรี เขาไม่แต่งงานกับหนู เพราะหนูเหมือนคุณแม่ หนูเคยได้ยินเขาว่ากันว่า ดูนางให้ดูแม่ เขาคงคิดว่าหนูจะต้องเอาใจหนูเป็นใหญ่ แต่หนูว่าไม่ยุติธรรมเลย คุณแม่เป็นคนถือหลักการต่างหาก ถ้าว่าหนูคนเดียวหนูไม่ว่าเลย”

“มนพูดถูกทุกอย่าง” คุณพ่อพูดเสียงเศร้า “คุณแม่มีหลักการที่ถูกเสมอ พ่อถึงว่าพ่อนับถือเขา”

“แต่คุณพ่อไม่รักคุณแม่ไปแล้ว เพราะคุณแม่เป็นคนถือหลักการนั่นเอง ศุกรีก็เหมือนกัน เขาเห็นไปว่าคุณแม่ทำตัวเป็น เป็นอะไรก็ไม่รู้ละ คงจะพูดกันไม่เข้าใจ เหมือนกับคุณสุภาพักตร์เมื่อหัวค่ำนี้” พูดจบแล้วสุวมนก็สะอื้นร่ำไห้ จนคุณพ่อลุกขึ้นมารวบตัวหล่อนไว้ในวงแขน

สุวมนสะอื้นอยู่กับเข็ดขัดคุณพ่ออยู่ครู่ใหญ่ แล้วก็รำพัน “หนูไม่ต้องการ ไม่ต้องการผู้ชายที่ไม่ชอบแม่หนู หยุดสะอื้นแล้วพูดต่อ “คุณพ่อจะทำยังไงหนูไม่เห็นสำคัญ จะบอกก่อนบอกหลังก็เหมือนกัน คุณพ่อกับศุกรีก็เหมือนกัน ทั้งสองคนไม่ชอบแม่หนู”

คุณพ่อคลายมือออกจากสุวมน แล้วกลับกอดอย่างละมุนละม่อมอีก แล้วคุณพ่อพูดเสียงแผ่ว “พ่อเสียใจ” แล้วเมื่อสุวมนค่อย ๆ หยุดร้องไห้จนเงียบสนิท คุณพ่อก็พูดต่อ “เรื่องศุกรีพ่อไม่รู้อะไร เขาไม่ได้มาพูดกับพ่อเลย ที่จริงเขาน่าจะพูดกับพ่อมั่ง แต่พ่อเสียใจที่พ่อต้องทำให้หนูเสียใจ พ่อต้องขอโทษมน”

หลังจากนั้น ทั้งสุวมนและคุณพ่อก็นั่งเงียบกันอยู่ จนคุณพ่อคงจะรู้สึกเก้อ จึงลุกขึ้นบอกลา แล้วออกจากห้องไป

อีกสองวันต่อจากนั้น สุวมนได้พบศุกรีโดยไม่ได้คาดไว้ เขาไปหาหล่อนที่ที่ทำงานเวลาใกล้เที่ยง และชวนออกไปกินอาหารกลางวัน สมองของสุวมนบอกว่า หล่อนควรปฏิเสธ แต่หัวใจของหล่อนไม่ยอมทำตาม หล่อนจึงไปนั่งกินอาหารกลางวันในภัตตาคาร เข้าห้องเฉพาะมีแต่เขากับหล่อน

ตั้งแต่เดินตามเขามาจากโต๊ะทำงาน นั่งรถยนตร์ของเขามา หล่อนก็ตั้งใจว่าจะต้องใช้คำพูดอย่างเดียวกับที่ได้ใช้กับคุณพ่อ หล่อนไม่ต้องการผู้ชายที่ไม่ชอบมารดาของหล่อน

แต่หาโอกาสยากที่จะพูดเรื่องความเห็นของหล่อน เพราะเมื่อนั่งลง ก่อนที่จะสั่งอาหาร ศุกรีก็กล่าวว่า

“มน ฉันขอโอกาสมนอีกครั้งได้ไหม ขอให้มนรอสักปีหนึ่ง ฉันกลับจากญี่ปุ่นแล้ว เราจะคิดแต่งงานกัน มนอย่าปฏิเสธนะ ไม่ว่าจะเป็นจะตาย ฉันตัดสินใจแล้ว ฉันรักมนมานาน เปลี่ยนไม่ได้เสียแล้ว ถ้าฉันไปแต่งงานกันคนอื่น แล้วมนก็ไปแต่งกับคนอื่น เราก็ทำบาปมาก เราทำให้คนสี่คนมีความทุกข์ไปตลอดชีวิต”

สุวมนจึงถามเขา “เธอแน่ใจเรอะว่า แต่งงานกับฉันจะไม่ทรมานตลอดชีวิต”

“ใครแต่งงานแล้วไม่ทรมานบ้าง มากน้อยผิดกันเท่านั้นแหละ มน ใครสบายตลอดชีวิต” ศุกรีโต้

“ฉันหมายถึงทรมานเพราะแต่งงาน”

“แต่ถ้าเราไม่แต่ง เราทรมานแน่ ๆ ใช่ไหมล่ะ”

“ใครว่า ฉันไม่เห็นจะทรมานอะไร ฉันอยู่มายี่สิบกว่าปีโดยไม่ได้แต่งงานกับเธอ ไม่เห็นตายนี่”

“โธ่ มน พูดด้วยเหตุผลดีกว่า” เขาวอน

“ฮื่อ ถ้ามีเหตุผล ฉันก็ไม่มานั่งอยู่กับเธอที่นี่ ฉันมาเพราะไม่ได้ใช้เหตุผล”

“นั่นไหมล่ะ” เขารีบร้องขึ้นทันใด แล้วพนักงานของภัตตาคารก็นำบัญชีอาหารมาให้เขาสั่งอาหาร ศุกรีเลือกสั่งที่หล่อนชอบสองสามจานจากความจำโดยไม่ต้องถามหล่อน พอพนักงานออกไปจากห้อง เขาก็พูดต่อ “เธอมาเพราะเธอทนไม่ได้ พบฉันแล้วเธอก็อยากพูดกับฉัน”

“ฉันอยากบอกเธอ ...” หล่อนไม่สามารถจบประโยค ศุกรีพูดขัดเสียก่อนว่า

“เธอจะว่าฉันไม่ชอบคุณแม่ ไม่ชอบท่าทาง น้ำเสียง อะไรก็ตาม ถ้าอย่างนั้น ฉันจะแต่งงานกับเธอไม่ได้ ฉันว่าได้ ฉันแต่งกับเธอ ไม่ได้แต่งกับคุณแม่สักที”

“อะไรทำให้เธอเปลี่ยนความคิด” สุวมนพูดพลางน้ำตาไหลพราก หล่อนโกรธตัวเอง ต้องเม้มริมฝีปากจนเจ็บ

“ฉันกินไม่ได้ นอนไม่ได้ ตั้งแต่พูดกับเธอแล้ว” เขาตอบ “ใคร ๆ สังเกต ทั้งที่ฉันพยายามซ่อนความรู้สึกไว้ ที่สุดฉันลาทุกคนแล้วว่าจะไปญี่ปุ่น แล้วก็นัดการงานไว้หมดแล้ว ถ้าเธอไม่ตกลงว่าจะคอย จะให้เวลาฉัน ฉันจะเลิกสัญญา เธอจะเกณฑ์อะไร ฉันจะทำตามเธอ”

“บ้า” สุวมนลุแก่อำนาจโทษะ “เลิกพูดกันดีกว่า จะไปไหนก็ไปเถอะ” แล้วหล่อนก็เดินออกจากห้องนั้นมา

ภาษิตโบราณว่า “ดูนางให้ดูแม่” คงจะถูก คงจะเป็นเพราะสุวมนเป็นลูกคุณแม่ แทนที่จะหนีงานกลับไปร้องไห้ที่บ้าน หล่อนกลับไปยังที่ทำงาน พยายามฝังใจลงกับงาน ทำถูกบ้างผิดบ้าง แก้แล้วแก้อีก เข้าห้องน้ำร้องไห้สองสามครั้ง ผัดหน้าทาปาก แล้วออกมานั่งทำงานใหม่ จนถึงเวลาเลิกงานจึงขออาศัยรถเพื่อนคนหนึ่งกลับ มาถึงที่ขึ้นรถประจำทางให้ใกล้บ้านที่สุด แล้วหล่อนก็นั่งรถยนต์เช่ากลับบ้าน หล่อนมีสติพอที่จะไม่จ้างรถยนตร์กลับบ้านจากที่ทำงานเพราะไม่ต้องการให้เพื่อนตั้งคำถาม

กลับเข้าบ้าน ยังไม่เห็นรถยนตร์ทั้งของคุณพ่อคุณแม่ หล่อนเดินตรงไปยังห้อง พบน้าปิ๋วนั่งรออยู่บนพื้นห้องหน้าเตียงนอนของหล่อน เมื่อสุวมนเข้าไปในห้องแล้ว น้าปิ๋วลุกขึ้นมาปิดประตูเสีย แล้วก็เข้ามาโอบตัวหล่อนกอดสะเอวไว้ และซบหน้าลงร้องไห้บนบ่าของหล่อน

หล่อนดึงน้าปิ๋วให้นั่งบนเตียง และเพราะหล่อนไม่ต้องการได้ยินคำสารภาพของน้าปิ๋ว หล่อนจึงปลอบ

“น้าไม่ต้องห่วงหนูหรอก น้าจะมาลาไปจากบ้านใช่ไหม หนูหวังว่าน้าจะไม่ต้องลำบาก” สุวมนหาถ้อยคำกล่าวให้เหมาะยาก

“มนนึกว่ามันเป็นบุญเป็นกรรมนะ” น้าปิ๋วว่าพลางสอื้น

แปลกจริง คนเรานี่ ขอให้ได้โทษบุญโทษกรรมโทษอะไรก็ได้ แต่อย่าต้องโทษตัวเอง น้าปิ๋วจะต่อต้านคลื่นบุญคลื่นกรรมไม่ได้เจียวหรือ น้าปิ๋วจะปฏิเสธความรักของคุณพ่อเพราะเห็นแก่คุณแม่ไม่ได้เจียวหรือ เพราะน้าปิ๋วไม่ใช่ลูกคุณแม่นั่นเอง สุวมนเป็นลูกของคุณแม่ หล่อนจึงปฏิเสธศุกรีได้ แต่เมื่อชื่อของศุกรีเข้ามาในความคิด น้ำตาของหล่อนมันก็ไหลริน

“เรื่องศุกรีว่ายังไง เขาได้พบกับหนูอีกหรือเปล่า” น้าปิ๋วถาม

“พบแล้ว พูดกันรู้เรื่องแล้ว” สุวมนตอบสั้นที่สุดที่จะสั้นได้

“รู้เรื่องกันแล้วรึ แล้วเขาจะไปญี่ปุ่นไหม”

“ไป” สุวมนตอบ

“ไปนานเท่าไหร่”

“ปีนึง” สุวมนตอบเพื่อน้าปิ๋วจะได้ไม่ถามต่อ

น้าปิ๋วกล่าวขึ้นหลังจากที่นิ่งไปครู่ใหญ่ “มนช่างเหมือนคุณพ่อเหลือเกิน”

“อี้ เหมือนยังไงคะ” สุวมนระงับความอยากรู้ไม่ได้

“มนไม่ทับถมใคร ใครจะเป็นยังไง คุณพ่อมีข้อดีแย้งให้ได้เสมอ” น้าปิ๋วว่า

“แล้วคุณแม่ล่ะ” คำถามหลุดออกจากปากสุวมนโดยยั้งไม่ทัน

“คุณแม่ของหนูก็เป็นคนดี คุณแม่มีบุญคุณกับน้าปิ๋วมาก อ้อ น้าไม่ได้บอกให้หนูรู้ ดูซิ เกือบไปแน่ะ คุณพ่อยังไม่ได้บอกใช่ไหม น้าปิ๋วขอให้คุณพ่อปิดเรื่องน้้ากับคุณพ่อให้สนิท ขออย่าให้คุณแม่รู้เป็นอันขาด น้าเรียนคุณแม่ว่าเพื่อนเขาชวนไปช่วยเขาออกค่าเช่าบ้าน มันอยู่ใกล้ที่ทำงานเราทั้งสองคน มนคงว่าน้าขี้ปด คนทำผิดน่ะมันไม่ดีอย่างนี้แหละหนู มันต้องเสียใจ เสียวาจา อะไรหลายอย่าง แต่น้าถืออย่างง่าย ๆ ว่า อะไรที่เราไม่รู้ มันไม่ทำให้เราเป็นทุกข์หรอก แล้วคุณพ่อกับคุณแม่หนูเหินห่างกันมานานแล้ว คงไม่ติดใจสงสัย นอกจากจะมีคนปากบอน แต่น้าจะปัดให้ดีที่สุด น้าไม่ปิดมน เพราะน้ารู้สึกเหมือนมนเป็น เออ จะว่ามนเป็นอะไร น้าปิดมนไม่ว่าอะไร ถ้ามนโกรธน้า ดูถูกน้า น้าก็ว่า ก็ ก็ แล้วแต่”

น้าปิ๋วพูดแล้วก็ร้องไห้เบา ๆ อยู่อีกประเดี่ยวหนึ่งแล้วก็ลาไป

อีกสองวันต่อจากนั้น สุวมนได้รับแขกคุณพ่อในห้องของหล่อนอีกครั้งหนึ่ง คุณพ่อเข้ามาพูดเรื่องศุกรี

“พ่อได้พบกับศุกรี เขาจะไปญี่ปุ่นอีกสองสามวันนี้ เขาบอกพ่อว่ามนไม่ยอมเจรจากับเขา”

“หนูไม่มีอะไรจะเจรจา” สุวมนข่มใจพลางพูดตอบบิดา “เขาบอกหนูว่าเขาเป็นลูกเขยคุณแม่ไม่ได้ แล้วเขาจะเป็นอะไร”

“ก็เขาพยายามขอโทษหนูแล้วไม่ใช่รึ” คุณพ่อพยายามเป็นทูตให้ศุกรี

“ขอโทษกับความจริง” สุวมนพูดเปรย ๆ เหมือนพูดกับตนเอง “หนูตัดศุกรีได้ แต่หนูตัดแม่ของหนูไม่ได้ คุณพ่อก็ตัดกับคุณแม่ได้ แต่หนูจะตัดคุณพ่อหรือคุณแม่ได้ไหม” ตอนนี้หล่อนก็เริ่มร้องไห้เบา ๆ

“พ่อได้แต่เสียใจ” คุณพ่อพูดเบา ๆ เช่นกัน “แต่พ่อว่ามันไม่เหมือนกันทีเดียว เรื่องหนูกับศุกรี กับเรื่องพ่อกับคุณแม่มันมาเกิดใกล้ ๆ กัน หนูเอามาปนกัน พ่อเป็นห่วงหนูจะทุกข์ใจมากไป ถ้าหนูทำใจว่าจะไม่ตัดศุกรี รอให้เวลามันช่วยตัดสินจะไม่ดีกว่าหรือ”

“หนูต้องพยายามตัดให้ได้ ครั้งแรกเขามาพูดกับหนู เขาก็มาบอกขอให้หนูพยายามลืมเขา” สุวมนสะอื้นต่อไป “แล้วจะมาขอโทษง่าย ๆ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หนูคิดแล้ว หนูจะพยายามลืมเขาดีกว่า”

และตั้งแต่วันนั้น สุวมนก็พยายาม หล่อนเริ่มขบวนการลืมอย่างเป็นล่ำเป็นสัน หล่อนไปหาคุณป้าพื้น ไปนั่งคุยธรรมะ หล่อนไปหางานทำกับเพ็ญพร หล่อนไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ ทุกคนที่ชวนหล่อน ไม่ว่าจะเป็นในพระนครหรือนอกพระนคร แต่หล่อนก็สามารถลืมเหตุการณ์ทั้งหมดไปได้เพียงระหว่างที่ทำธุระการงานหรือพูดคุยอยู่กับเพื่อน เมื่อหล่อนอยู่คนเดียวเมื่อใด หล่อนก็หวนคิดถึงศุกรี และน้าปิ๋ว ในที่สุดหล่อนก็ไปหาน้าปิ๋ว และแปลกใจมากที่เมื่อหล่อนได้พบน้าปิ๋ว หล่อนรู้สึกสบายกว่าเมื่ออยู่กับเพื่อน ๆ เสียอีก และเมื่อจากน้าปิ๋วกลับไปบ้าน ก็รู้สึกเบาอกเบาสมอง ความทุกข์ค่อย ๆ จางไป

เมื่อสุวมนได้บำเพ็ญตนเป็นผู้เสวยสุขและทุกข์ปนกันอยู่ได้ประมาณสองสามเดือน ก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก วันหนึ่งหล่อนกลับบ้านพร้อมกับคุณแม่ หลังจากที่ได้ไปเยี่ยมเพื่อนคนหนึ่งที่คลอดบุตรที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง คุณแม่กลับจากสำนักงานตรงมาบ้าน พอเห็นหล่อนเข้าบ้านมาโดยเพื่อนคนหนึ่งนำมาส่งที่ประตูบ้านโดยรถยนต์ของเขา คุณแม่ก็รีบทักขึ้นทันที

“เออ มน แม่หาโอกาสมาสองสามวันแล้ว อยากพูดอะไรกับลูก หนูมานั่งพูดกับแม่ในห้องแม่ได้ไหม จะอาบน้ำเสียก่อนก็ได้” นี่เป็นจรรยาของคุณแม่ มักจะระวังให้คนในครอบครัวได้รับความสบายก่อนที่จะเจรจากันไม่ว่าเรื่องใด

สุวมนไปล้างหน้า ทำความสะอาดเพียงเล็กน้อย แล้วก็เข้าไปหาคุณแม่ในห้อง

คุณแม่ก็ทำความสะอาดให้ร่างกายไว้พอควรเหมือนกัน คุณแม่เอนตัวอยู่บนเตียง เมื่อสุวมนเข้าไปในห้อง ก็ชี้ให้นั่งบนเก้าอี้ตัวหนึ่ง “ยกเก้าอี้มาซิลูก” คุณแม่บอก

สุวมนรูสึกอ่อนเพลีย จึงปฏิเสธและนั่งลงบนพื้น เอนหลังพิงเก้าอี้แทนที่จะนั่ง

“มน มนจะตกใจมากไหม แม่ว่ามนก็โตแล้ว รู้จักชีวิตมาพอแล้ว” คุณแม่เริ่มแล้วก็หยุดพูดไปครู่หนึ่ง แล้วรวบรวมพลังใจพูดต่อ “คุณพ่อขอหย่ากับแม่”

“อ้าว ทำไมล่ะคะ” สุวมนถามด้วยความแปลกใจ บางคราวสุวมนก็ใช้คำ คะ บางคราวก็ จ๊ะ

“แม่จะเล่าตามลำดับนะ” คุณแม่ว่า “คุณพ่อ เอ้อ เขาไปอยู่กับน้าปิ๋ว”

“ก็ ก็” สุวมนใคร่จะว่าคุณพ่อพยายามปกปิด แล้วเหตุใดคุณแม่จึงรู้ได้

“ตั้งแต่น้าปิ๋วเขาออกจากบ้านไป คุณพ่อก็ไปอยู่กับเขาน่ะแหละ” คุณแม่ว่า “ทีแรกแม่ก็เพียงแต่สงสัยเพราะคุณพ่อเคยทำอย่างนี้มาหนหนึ่งแล้ว”

“คุณแม่รู้สึกยังไงเมื่อรู้ครั้งแรก” สุวมนอดถามขึ้นไม่ได้

“ครั้งแรกแม่ก็ ก็โกรธกับเสียใจ”

“มากไหมคะ”

“ก็มากเอาการอยู่ นอนไม่ค่อยหลับ กินไม่ค่อยเข้า” คุณแม่ว่า

“ผู้หญิงเราต้องเป็นฝ่ายทนเสมอไปใช่ไหมคะ” สุวมนถาม

“ถูกแล้ว ทนไม่ได้ก็อยู่ไปได้ โดนกันโดยมาก” คุณแม่ตอบ

“เกิดแล้วต้องตาย แต่งงานแล้วต้องมีเมียน้อย รักใครแล้วต้องพลาดรัก” สุวมนท่องสิ่งที่หล่อนบอกแก่ตัวเองหลายครั้งในวันหนึ่ง ๆ ซึ่งหล่อนเรียนมาจากคนหลายคนและหนังสือหลายเล่ม

“หนูเข้าใจอย่างนี้แม่ก็เบาใจไปมาก” คุณแม่ว่า “ตกลงพ่อแม่ก็จะหย่ากัน แม่ไม่ดึงใครเขาไว้หวอก เขาไม่อยากอยู่กับเรา เราจะไปยุดเขาทำไม”

ขณะนั้นสุวมนรู้สึกสงสารคุณแม่จนกระทั่งอยากเข้าไปกอดไว้ แต่หล่อนกับคุณแม่ไม่ค่อยแสดงความรักกันด้วยวิธีนั้นบ่อยนัก แต่หล่อนก็ยังอยากรู้สาเหตุ จึงถามต่อ “ทำไมต้องมาขอหย่าตอนนี้ ก็ไปมาหาสู่กันนานแล้ว”

“ไม่รู้ซี แม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ก็ดีแล้ว ไอ้อย่างนี้มันก็น่ารำคาญ”

“หนนี้ คุณแม่ไม่ค่อยเสียใจมากหรือคะ” สุวมนถาม

คุณแม่ถอนใจและส่ายหน้าไปมา “มันยังมึน ๆ อยู่เลย ตั้งแต่เขามาพูดกับแม่ ดูเหมือนวันเสาร์ นี่วันอังคาร บังเอิญได้เรื่องเงินเรื่องทอง เอ้อ มันไม่ใช่เงินหรอก แต่มันเป็นการงาน เราทิ้งเสีย คนอื่นเขาก็เสียประโยชน์ด้วย บังเอิญมันก็ยุ่งเหยิง แม่ก็เลยทำเป็นลืม ๆ ถึงยังไงมันก็แก้ไขไม่ได้แล้ว” เป็นคำตอบของคุณแม่

สุวมนนั่งอยู่นิ่ง ๆ อีกประมาณ ๕ นาที คุณแม่ก็เอนตัวนิ่ง ๆ ไม่พูดอะไรต่อไป สุวมนถามว่า คุณแม่จะรับประทานน้ำส้มหรือเครื่องดื่มอะไรบ้าง คุณแม่ปฏิเสธ สุวมนรออยู่อีกต่อไปสองสามนาที แล้วก็ลาคุณแม่ออกมา

สุวมนออกจากบ้านไปหาน้าปิ๋ว ด้วยความอยากเข้าใจ ได้พบน้าปิ๋วสมใจ และได้ไต่ถาม “น้าปิ๋ว มันเรื่องอะไรกัน ทำไมคุณแม่กับคุณพ่อจะเกิดหย่ากัน ไหนว่าจะทำเงียบๆ”

น้าปิ๋วแปลกใจเท่าสุวมน “งั้นเรอะ น้ายังไม่รู้เลย”

สุวมนสนทนากับน้าปิ๋วต่อไป เรื่องไม่เกี่ยวกับครอบครัว เวลาผ่านไปไม่กี่มากน้อย คุณพ่อก็เข้ามา สุวมนสังเกตบ้านของน้าปิ๋วกับคุณพ่อเป็นครั้งแรก เป็นบ้านเล็กมาก มีเนื้อที่ประมาณ ๖๐ ตารางวา เรือนครึ่งไม้ครึ่งตึกปลูกอย่างสมัยใหม่ มีเครื่องเรือนให้ความสะดวกสบายพอควร แต่เปรียบกับความโอ่โถงที่คุณพ่อเคยได้พบประสบมาตั้งแต่เกิด เพราะคุณพ่อเป็นลูกคนฐานะดี ก็เรียกว่าคุณพ่อละความสุขสบายทางกาย เพื่อแลกเอาความสบายทางใจ หรือจะแลกเอาอะไร สุวมนยังไม่แน่ใจนัก

มีทางเดียวที่จะเข้าใจได้ก็คือถาม “คุณพ่อคะ หนูไม่เข้าใจ คุณแม่บอกว่าคุณพ่อขอหย่ากับคุณแม่”

“เออ แล้วมนก็รีบมาหาน้าปิ๋ว” คุณพ่อพูดอย่างไม่ทุกข์ร้อน “พ่อยังไม่ได้บอกน้าปิ๋ว เขาจะให้พ่ออยู่บ้านเขาไหมก็ยังไม่รู้เลย”

“คุณพ่อก็พูดแบบนี้ แน่ใจว่าน้าปิ๋วเป็นลูกล่างวันยังค่ำ” น้าปิ๋วพูดอย่างไม่จริงจัง และมีน้ำเสียงพอใจ “แต่ดิฉันก็อยากรู้มันเรื่องอะไร”

“อีกสองสามวันนี้ ฉันจะกลายเป็นคนไม่มีรายได้เบย เอ้อ ไม่มีเงินเดือนเลย ไม่มีงานทำ ต้องรับจ้างเธอหุงข้าว ทำสวน ขอเงินกระเป๋าสักเดือนละสองสามร้อย จะได้ไหม” คุณพ่อว่า

“มันเกิดอะไรกันขึ้นล่ะ” น้าปิ๋วถาม สีหน้าแสดงความตกใจ

“แล้วก็รู้เอง ว่าแต่จะยินยอมไหมล่ะ” คุณพ่อพูดสีหน้าเฉย

“หาข้าวกินดีกว่า” น้าปิ๋วเลิกไล่เลียง แล้วก็หันเข้าไปในครัว สุวมนตามเข้าไปเพื่อช่วยเหลือ แต่แล้วก็ระลึกขึ้นมาได้ว่า คุณแม่อยู่บ้านคนเดียว ต้องการสุวมนมากกว่าชายหญิงคู่ใจกันที่หล่อนกำลังอยู่ด้วยนี้ จึงรีบลากลับบ้าน

อีกสามวันต่อมา สุวมนก็รู้เหตุที่คุณพ่อกล่าวถึงเมื่อวันก่อน คุณพ่อถูกกล่าวหาร่วมกับเพื่อนนายทหารกลุ่มหนึ่งว่าคิดล้มล้างรัฐบาล แต่ไม่ถูกคุมขัง เพราะได้ถูกสอบสวนแล้ว ได้ความจริงเพียงว่า เคยร่วมในการพบปะสนทนาเพียงครั้งเดียว แต่ระหว่างการสอบสวนเรื่องนั้น มีร่องรอยว่าคุณพ่อได้ทำการทุจริตต่อหน้าที่ในด้านการเงิน จึงให้พักราชการ และให้สอบสวนเรื่องหลังนี้ต่อไป

คุณพ่อโทรศัพท์มาบอกคุณแม่ในเวลาเย็น สุวมนได้ยินการสนทนาทางโทรศัพท์นั้น ได้ยินคุณแม่พูดเสียงเครือด้วยความรู้สึกที่ข่มไว้ไม่ได้ว่า “คุณจะขอหย่า ไม่เห็นจะต้องอ้างเรื่องที่มีการสอบสวน จะหย่าด้วยเรื่องอะไรฉันก็ไม่เป็นอุปสรรคของคุณ” แล้วก็วางหูโทรศัพท์ เมื่อหันมาเห็นสุวมนยืนอยู่ใกล้ ก็กัดฟันไว้ไม่ร้องไห้ เดินเข้ามาลูบผมสุวมนแล้วก็รีบเข้าห้อง ปิดประตู ไม่ให้โอกาสให้ลูกสาวเข้าไปปลอบโยน

สุวมนคิดว่า หล่อนควรจะไปแสดงความเสียใจกับคุณพ่อ แต่ถ้าหล่อนไปหาคุณพ่อคราวนี้ คุณแม่ก็ต้องทราบว่าหล่อนไปที่บ้านน้าปิ๋ว และก็คงเดาได้ต่อไปว่าหล่อนคงเคยไปหาน้าปิ๋วหลายครั้งมาแล้ว แต่แล้วก็คิดหาทางออกให้ตนเองว่าหล่อนอาจไปหาน้าปิ๋วได้ เพราะหล่อนไม่จำเป็นรับทราบความสัมพันธ์ระหว่างน้าปิ๋วกับคุณพ่อ หล่อนไม่เคยบอกคุณแม่ว่าหล่อนได้ทราบเรื่องดีแล้ว สุวมนสงสารทั้งบิดาและมารดาจนลืมสงสารตนเอง ในเรื่องที่เกี่ยวกับพิรีย์ เมื่อหล่อนไปถึงบ้านเล็กของน้าปิ๋ว ซึ่งที่จริงอยู่ภายในอาณาบริเวณซอยต่าง ๆ ของถนนสายใหญ่สายเดียวกับบ้านของคุณแม่ หล่อนก็ได้พบคุณพ่อตามความปรารถนา

คุณพ่อเล่าเรื่องให้ฟังอย่างเดียวกับที่สุวมนทราบแล้วจากการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างคุณพ่อกับคุณแม่ แต่สุวมนก็ยังอยากรู้ว่าคุณพ่อใช้ถ้อยคำกับคุณแม่อย่างไร จึงขอร้องให้คุณพ่อเล่าทบทวนให้ฟัง

“พ่อบอกเขาว่า ตั้งแต่นี้ต่อไป พ่อเป็นคนมีแต่ตัว ไม่มีรายได้อะไรเลยนอกจากค่าสวนค่านาเล็ก ๆ น้อย ๆ พ่อขอให้คุณแม่หย่ากับพ่อ เพื่อว่าพ่อจะได้ไม่ต้องอยู่ในบ่านคุณแม่ในฐานะคนมีแต่ตัว”

“แล้วน้าปิ๋วล่ะ ทำไมคุณพ่อถึงจะอยู่กับน้าปิ๋วได้” สุวมนถาม

“พ่อทำประโยชน์ให้น้าปิ๋วได้บ้าง” คุณพ่อพูด “น้าปิ๋วเขาหาคนเฝ้าบ้านไม่ได้มานานแล้ว ลูกจ้างมันกลัว กลางวันมันอยู่คนเดียวไม่ได้ พอน้าปิ๋วเขาไปทำงานแล้วมันต้องกลับไปอยู่บ้านแม่มันที่ก้นซอย แล้วมันไปช่วยที่บ้านที่แม่มันเปนลูกจ้างรดน้ำต้นไม้บ้าง ปัดกวาดอะไรต่ออะไรบ้าง มันยังหาเศษหาเลยได้อีก ทีนี้พ่อก็ได้เป็นคนเฝ้าบ้านให้เขา”

“คุณพ่อพูดเล่นหรือพูดจริงคะนี่” สุวมนขมวดคิ้วพลางถามด้วยความข้องใจอย่างที่สุด

“พูดจริง แล้วพ่อทำสวน พ่อชอบมานานแล้ว สวนนี้กำลังดีสำหรับแรงงานคน ๆ เดียว แล้วพ่อก็ซักผ้าของพ่อเอง ทำอะไร ๆ เอง”

“หนูว่าเหตุผลของคุณพ่อมันฟังยังไงๆ ก็ไม่รู้” สุวมนพูดอย่างไม่เกรงใจน้าปิ๋ว

“น้าก็ไม่ค่อยเข้าใจดี” น้าปิ๋วว่า “แรกก็ตกลงกันว่าจะปิดคุณพี่ แล้วปุบบับก็มาบอกว่าจะขอหย่าละ จะมาอยู่บ้านน้า จะมาเฝ้าบ้าน มาเป็นคนสวน พูดยังไง น้ายังไม่เห็นแง่ดีนัก”

“ก็เธอจะให้อยู่ไหมล่ะ ถ้าเธอไม่ให้อยู่ ฉันจะได้ไปหาวัดหาวาอยู่” คุณพ่อพูด

“เออ ก็นี่มันก็บ้านคุณพี่นั่นแหละ คุณพี่เป็นเจ้าของแท้ ๆ จะไม่ให้อยู่ยังไง” น้าปิ๋วว่า

“อ๋อ ถ้าให้อยู่เพราะฉันเป็นคนออกเงินซื้อบ้านนี้ก็ไม่ต้องเกรงใจหรอกแม่คุณ จะให้ทำสัญญาซื้อผ่อนเอาไหมล่ะ” คุณพ่อพูดเหมือนชวนทะเลาะแต่สีหน้ายิ้ม

“คือว่า ไม่เห็นจะต้องหย่ากับคุณพี่อรเพราะเหตุต้องพักราชการ หรืออะไรก็ตามที่คุณพี่ว่าเมื่อตะกี้นี้” น้าปิ๋วยังข้องใจ

“ไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร” คุณพ่อพูดง่าย ๆ “เป็นอันว่าอนุญาตให้อยู่ ให้ข้าวกิน ใช่ไหม”

“คุณพ่อกลัวคุณแม่จะไม่ให้ข้าวกินหรือคะ หรือกลัวคุณแม่ของหนูจะพูดจาแสลงใจคุณพ่อยังไง” สุวมนซักบ้าง

“คุณแม่น่ะเรอะ เขาไม่มีวันจะพูดจาแสลงใจคนคนที่อยู่ในฐานะพ่อยังงี้หรอก” คุณพ่อพูด ทำสีหน้ายิ้มเยาะซึ่งสุวมนไม่เข้าใจ “เขาเป็นคนต้องทำอะไรถูก ผัวเคราะห์ร้าย จะเสือกไสได้ยังไง”

“อ๋อ แล้วคุณพ่อก็ไม่ให้โอกาสคุณแม่ให้ได้ทำถูก กลัวคุณแม่จะกลายเป็นวีรสตรีไป อย่างนั้นรึคะ” สุวมนเน้นเสียงถาม

“คุณแม่เขาเป็นวีรสตรีสำหรับคนหลายคนอยู่แล้ว พ่อไม่อาจทำอะไร เสริมสร้างบารมีเขาอีกสักกี่มากน้อยหรอก”

“หรือคุณพ่อกลัวว่าคุณแม่จะขายหน้า” สุวมนถามต่อ

“พอว่าอย่างนี้พ่อสุขใจกว่าอย่างอื่น พ่ออาจเอาทางง่ายเข้าว่า” คุณพ่อตอบ “เวลานี้พ่อก็ไม่ค่อยสบายนัก พ่อก็อยากอยู่ที่ไหนที่พ่อสบาย”

คำตอบอันนี้ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์ที่ยุติการซักถาม สุวมนก็ไม่อยากแชเชือนนานนัก อยากจะรีบกลับไปดูว่าแม่เป็นอย่างไรโดยเร็ว

คุณแม่ไม่ออกจากห้องเลยจนถึงเวลารับประทานอาหาร เมื่อถึงเวลาที่เคย คุณแม่ก็ออกมาตรงเวลา ดวงตาของคุณแม่บวมช้ำ แสดงว่าได้ร้องไห้มากกว่าที่สุวมนเคยเห็นมา สุวมนมองดูคุณแม่แล้วก็ก้มหน้าลงถอนใจ เพราะไม่รู้ว่าจะปลอบท่านอย่างไร

สิ่งที่รบกวนผู้ที่ตกในสถานะเช่นนี้มากที่สุดก็คือ การไถ่ถามของเพื่อนฝูง เมื่อสุวมนนำความกลุ้มใจด้วยเรื่องนี้ไปเล่าให้คุณป้าพื้นเพ็ญฟัง คุณป้าว่า “นี่แหละ ที่พระท่านว่ามันเป็นทุกข์ เพื่อนฝูงเขาไม่ถาม มันก็จะเป็นการใจดำ แล้วเราก็ทุกข์ว่าเขาใจดำ ตอนนี้เราก็ทุกข์ว่าเขามาถาม”

“วิธีถามมันกวนประสาทนี่ คุณป้าคะ เช่นถามว่าทำไมหย่ากันตอนนี้ ตอนเขาตกต่ำ บางคนก็ถามว่า เธอไล่เขาออกจากบ้านเหรอ”

“แล้วคุณน้าอรตอบยังไง เวลาโดนถามอย่างงี้” เพ็ญพรเพื่อนสนิทของสุวมนถาม

“คุณแม่ก็ตอบไปตามที่นึกได้” สุวมนว่า

“ทำไมไม่ทำเสียงแข็งให้รู้ว่าพวกนี้ทำผิดอย่างที่บางคนเขาว่าคุณน้าอรชอบทำเวลามีประชุม”

สุวมนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อหล่อนเกร็งไปทุกส่วนของร่างกาย แล้วเพ็ญพรกล่าวต่อไป “คุณน้าอรเศร้าโศกมากเรอะ เธอสังเกตว่าไง” น้ำเสียงคล้ายจะไม่เชื่อว่าคุณแม่ของหล่อนจะเศร้าโศกได้

“แต่คุณแม่ทำงานได้อย่างปกติ” สุวมนตอบ ในใจของหล่อนเสริมว่า “คงจะผิด ๆ ถูก ๆ เหมือนเมื่อเรารู้เรื่องศุกรี”

แปลกจริง ตั้งแต่มีเรื่องหย่าร้างกัน กับคดีเกิดขึ้นแก่คุณพ่อ สุวมนเกือบลืมศุกรีไป แต่วันหนึ่งหล่อนได้รับจดหมายจากเขา เขียนจากญี่ปุ่น บอกมาว่าเขาจะเข้ามากรุงเทพฯ ในเร็ววันนี้ด้วยความห่วงใยหล่อน สุวมนมิได้ตอบจดหมาย แต่วันหนึ่ง หลังจากที่คุณพ่อขนของออกไปจากบ้าน และคุณแม่เซ็นหนังสือหย่าให้เด็ดขาดแล้ว ศุกรีก็มาหาหล่อนที่บ้าน

หล่อนเห็นรถของเขาแล่นเข้าบ้านมา เมื่อคนรับใช้ไปเปิดประตู หล่อนกำลังนั่งอยู่ที่ระเบียงหน้าตึก หล่อนนั่งนิ่งอยู่ ไม่ลุกขึ้นไปต้อนรับตามมารยาทเจ้าของบ้าน หล่อนต้องการให้เขารู้ว่า หล่อนไม่ต้องการความห่วงใยของเขา

เขาเดินขึ้นบันไดมา และเลี้ยวมุมตึกตรงมาที่หล่อนนั่งอยู่ เมื่อเห็นหล่อนมองเขาโดยไม่พูดจาทักทายแต่ประการใด เขาก็ถาม “เป็นอะไรไป มน ไม่สบายมากรึ”

หล่อนพยายามทำหน้ายิ้มเยาะ แต่น้ำตามันผลักดันจะออกมาจากเบ้าตา หล่อนบอกตัวเองว่าหล่อนเป็นลูกแม่ หล่อนจะไม่ปล่อยให้ชายหนุ่มคนนี้มาทำกับหล่อนเหมือนกับว่าหล่อนเป็นขี้ผึ้ง เขาเป็นความร้อน จะลนแล้วหล่อนก็จงอ่อนยุ่ยไป

เขาพูดต่อ “หน้าตาเธอไม่สบายมาก ขอบตาเขียว คุณแม่เป็นไง ทำงานทำการได้อย่างดี ไม่เปลี่ยนแปลงเลยใช่ไหม คนอย่างท่านก็น่านับถือนะ”

สุวมนอยากตวาดว่า “ไม่ต้องพูดเรื่องแม่ฉัน” ก็ได้ยินศุกรีพูดต่อ “คุณพ่อละ คุณก็คนหนึ่งเหมือนกัน คุณพ่อเธอก็แข็งไม่ใช่เล่น ทำไมฉันจะได้พบ ท่านอยู่ที่ไหน จะไปถามใครก็รู้สึกว่าควรถามเธอเสียก่อน”

“คุณพ่ออยู่บ้านน้าปิ๋ว อยู่ในซอยถนนนี้แหละ ห่างจากบ้านนี้ไม่กี่กิโลเมตร” แล้วหล่อนก็บอกทางให้ศุกรีไปหาบ้านพักของบิดา

“คุณพ่อไปอยู่กับน้าปิ๋วมากี่เดือนแล้วจึงมาขอหย่า” ศุกรีถาม เขาลงนั่งโดยไม่ได้รับคำเชื้อเชิญ แต่เขาทำเหมือนเขาไม่สังเกต

“สักสามเดือนกระมัง” สุวมนตอบแบบกลัวดอกพิกุลจะร่วง

“แล้วมาขอหย่าเพราะมีคดี แปลกนี่” เขาว่า “คุณแม่มีปฏิกิริยายังไร” เขาถามต่อไป

“เกิดมาเป็นลูกผู้หญิง จะทำอะไร ก็ทนไปซี” สุวมนพูดอย่างแค้นใจ

“เธอเคยถามตัวเองมั่งรึเปล่า ทำไมเวลาเธอมีปัญหาอะไร เธอไม่รังเกียจที่จะไปหาน้าปิ๋ว เขาว่าเธอติดต่อคุณพ่อกับน้าปิ๋วดี ถูกไหม”

“คนพูดมาก” สุวมนกระแทกเสียง “ทำไมฉันจะไม่ไปหามาสู่พ่อของฉัน”

“แปลว่าเธออภัยให้คุณพ่อเพราะเป็นผู้ชายงั้นเรอะ” เขาทำราวกับว่าเขาเป็นตุลาการ

“ฉันว่าไม่ใช่ธุระของฉัน มันเรื่องของพ่อแม่ คุณแม่ท่านก็ไม่ได้มาโอดโอยใส่ฉัน”

“ฉันติดใจ อยากเข้าใจเธอ ความรู้สึกของเธอกับน้าปิ๋ว ทำไมเธอไม่โกรธน้าปิ๋วล่ะ น้าปิ๋วก่อความเศร้าโศกให้คุณแม่เธอไม่ใช่เรอะ” ศุกรีพูดอย่างจริงจัง

“ฉันไม่เคยคิดว่าจะมีผู้ชายบ้าๆ อย่างเธอเลย จริงๆ นะ ศุกรี” สุวมนกล่าวแก่เขา “วันดีคืนดีเธอก็มาบอกว่าเธอรักผู้หญิง แต่แต่งงานกับเขาไม่ได้เพราะไม่ชอบแม่เขา แล้วต่อมาก็บอกอีกว่า ขอแต่งงานด้วย แล้วต่อมาก็มาพูดอะไร ๆ ที่บ้า ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเธอ”

ศุกรียิ้ม ทำให้สุวมนเกือบต้องอ้าปากด้วยความประหลาดใจ “เธอรู้หรือเปล่าเธอกำลังทำอะไรประหลาดที่สุด” เขาถามหล่อน

“อะไร” หล่อนไม่รู้จริงๆ

“เธอรู้ไหมว่าเธอกำลังสารภาพว่าเธอรักฉัน เธอตัดฉันไม่ขาด” ครั้นหล่อนกำลังเขยิบปากจะค้าน เขาก็รีบว่าต่อ “ทำไมรู้ไหม ตามปกติเธอเป็นคนระวังเหลือเกิน เธอเป็นคนตรง พูดอะไรตามใจจริงเสมอ คบกันมา ๑๑-๑๒ ปีนะ เธอกับฉันน่ะ จะไม่รู้นิสัยใจคอกันเชียวเรอะ เธอเป็นคนตรง แต่เธอเป็นคนมีมารยาท แล้วก็ระวังกับการที่จะพูดอะไรกระเทือนใจคน แต่เธอไม่รักษามารยาทกับฉันเลย ทำกับฉันอย่างนี้ได้ก็เพราะเธอรักฉัน รู้ไหมล่ะ”

“เป็นบ้า” สุวมนพูดได้เท่านั้นก็หลั่งน้ำตาออกมาเป็นแนวยามตามแก้ม

“เอาละ ตอนนี้เธอยังดื้อไปก่อน” ศุกรีว่า “แต่เธอคอยดู ฉันไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ หรอก ฉันรู้ใจตัวฉันกับใจเธอ แล้วถึงเธอจะเป็นลูกนางพระยามหากษัตริย์ ฉันก็จะพยายามเอาชนะเธอให้ได้ ขอบใจที่บอกที่อยู่คุณพ่อให้ ฉันจะไปละ จะไปเยี่ยมท่าน” แล้วเขาก็ขยับตัว ลุกขึ้นยืน และทำท่าจะออกเดิน

“เธอไม่ต้องมาอีกนะ สุวมนพูดสะอื้นทีละพยางค์ “ฉัน ไม่ ต้อง การ เห็น หน้า เธอ”

ศุกรีไปแล้ว สุวมนยังนั่งเหม่อต่อไป พอดีอีกไม่กี่นาที คุณแม่มาจากไหน หล่อนไม่ได้สังเกต แต่มายืนข้างตัวหล่อน

“ศุกรีเขามาหาลูกเรอะ” คุณแม่ถาม ผิวหน้าคุณแม่ระยะนี้มักเป็นสีเขียวอ่อนๆ

คราวนี้สุวมนมารยา หล่อนจำได้ว่าระหว่างที่หล่อนเป็นทุกข์เรื่องคุณพ่อคุณแม่ หล่อนลืมทุกข์ตนเองได้ชั่วคราว หล่อนจึงคิดว่า ถ้าให้คุณแม่ห่วงหล่อน ท่านอาจลืมทุกข์ของท่านได้ชั่วคราว หล่อนจึงปล่อยให้น้ำตาไหลรินลงมาที่พวงแก้มเต่งด้วยความเป็นสาวของหล่อน คุณแม่ทรุดตัวลงนั่งบนเก้าอี้ใกล้ตัวหล่อนทันที

“หนูรักเขาใช่ไหมลูก แล้วหนูรังเกียจเขาเรื่องอะไร” คุณแม่ลูบมือหล่อนเบา ๆ พลางถาม

“หนูไม่ต้องการ ไม่ต้องการ” สุวมนพูด โดยหล่อนไม่ต้องมารยา การสะอื้นก็ปรากฏอย่างง่าย

“ทำไม บอกแม่ได้ไหม” คุณแม่ถามเสียงอ่อนโยน

สุวมนสั่นศีรษะแทนที่จะตอบด้วยวาจา คุณแม่ถามต่อไป “หนูไปพบกับคุณพ่อ หนูว่าเขาวิตกเรื่องคดีไหม”

สุวมนสั่นศีรษะอีก คราวนี้หล่อนมิได้มารยา เป็นแต่ไม่มีความพยายามที่จะหาคำพูดเท่านั้นเอง แต่คุณแม่อ่านความหมายเป็นว่าหล่อนกำลังทุกข์หนัก จึงกล่าวเป็นการปลอบ

“เออ แม่ได้ยินว่าหนูอยากได้รถยนต์ถูก ๆ ขับเอง รถโฟลกส์เขาจะขาย ยังใหม่ดีอยู่เลย แต่เจ้าของจะไปเมืองนอก แม่ว่าโอกาสดี หนูมีรถยนต์ขับได้เอง อาจจะช่วยธุระคุณพ่อ แม่จะออกให้ครึ่งหนึ่งก่อนก็ได้ แล้วหนูจะผ่อนใช้แม่ยังไงก็ได้ ตอนนี้บริษัทตั้งตัวได้แล้ว ถ้าเป็นรถของหนูแท้ ๆ คุณพ่อเขาอาจขอยืมใช้บ้าง ไม่รังเกียจเหมือนเป็นรถแม่”

อะไรหนอ อะไรคือตัวไก ตัวที่มีอำนาจเหมือนเข็มแทงชนวนในรังเพลิงในกระบอกปืน ทำให้เกิดการระเบิดขึ้น และปล่อยลูกปืนออกไปเป็นอาวุธสังหาร อะไรในตัวคุณแม่ อะไรในตัวคุณพ่อ ที่ทำให้คุณพ่อเลิกรักผู้หญิงที่คุณพ่อรักมาแรมปี จนกระทั่งได้แต่งงาน มีลูกด้วยกันสามคน อยู่ด้วยกันโดยมิได้ทะเลาะวิวาทเป็นเวลานาน น้าปิ๋วหรือ ผู้หญิงอย่างน้าปิ๋วมีอำนาจเพียงนั้นหรือ ไม่น่าเชื่อเลย มีเหตุอื่น ศุกรีจะตอบหล่อนได้ แต่หล่อนไม่ต้องการคำตอบจากเขา

วันคืนคืบคลานไป สุวมนใช้กำลังใจทั้งหมดที่หล่อนมี พยายามหักห้ามความเสียดาย ความหวนหาชายที่หล่อนรักมาแรมปี พร้อมกันนั้นก็หาทางให้ความสุขคุณแม่ด้วยการช่วยเหลือการงาน และการอยู่ใกล้ทุกโอกาสที่จะทำได้ หล่อนต้องอดทนมากในเวลาที่คุณแม่ไปทำงานสาธารณกุศลตามที่ท่านเคยทำ เพราะได้ยินคนถามถึงคดีของคุณพ่อและความรู้สึกของคุณแม่อย่างไม่ฉลาดอยู่เสมอ เมื่อไหร่หนอจะมีใครตั้งโรงเรียนสอนเพื่อนให้รู้จักถามถึงความทุกข์ของคนโดยไม่เพิ่มความรำคาญให้ผู้ที่ตนห่วงใย บางคนก็พูดคุยเหมือนได้อ่านนวนิยายเรื่องสนุกน่าตื่นเต้น บางคนก็ถามซ้ำแล้วกับที่เคยถามแล้วหลายครั้ง และยังมีวิธีการอื่นที่สุวมนเกือบต้องสะบัดหน้าใส่เป็นบางคราว แต่เวลาล่วงไป ล่วงไป ความเคยชินก็เข้ามาเป็นยาบรรเทาทุกข์อันสุดวิเศษ คนที่ถามก่อความรำคาญก็เลิกสนใจไม่ถาม และความทุกข์ในใจของสุวมนและของคุณแม่ก็เปลี่ยนจากทุกข์เจ็บแหลมคม เป็นทุกข์หนัก ๆ ทับอยู่ในอก และเมื่อวันเวลาผ่านไปอีก ความทุกข์หนักนั้นก็ค่อยลดน้ำหนักลงไปทีละน้อย

คุณพ่อไม่เป็นคนมีทุกข์เลย น้าปิ๋วยังมีสีหน้าท่าทางของคนมีทุกข์บ้าง น้าปิ๋วถามถึงคุณแม่ทุกครั้ง น้าปิ๋วกล่าวแก่สุวมนว่า มีความห่วงใยคุณแม่ และเสียใจที่เกิดเหตุที่ไม่น่าเกิด

“มันเหมือนโรคประจำตัวอะไรยังงั้นละ มน ทีแรกเราเห็นคนอื่นเขาเป็น ก็รู้สึกดีใจว่าเราไม่เป็น วันหนึ่งเราก็รู้ขึ้นมาว่าเราเป็นโรคเหมือนเขาเข้าไปแล้ว ไม่มีทางรักษาเสียด้วย”

ครั้งหนึ่งสุวมนมีโอกาสถามคุณพ่อ ในการสนทนาตามลำพังโดยไม่มีน้าปิ๋ว “ถ้าน้าปิ๋ว ไม่ได้มาอยู่ที่บ้าน คุณพ่อจะแตกกับคุณแม่ไหมนะ”

“พ่อกับแม่มันค่อย ๆ แยกออกจากกับนานมาแล้ว” คุณพ่อตอบเสียงแผ่ว

“อะไรคะที่ทำให้แยกกัน” สุวมนถามอีก

“อย่าเพิ่งให้พ่อพูดเลย พ่อก็ยังคิดเหมือนกัน ถ้าไม่มีน้าปิ๋ว พ่อก็คงไปหาคนอื่น แต่เวลาอาจจะนานออกไป ถ้าเกิดเรื่องสอบสวน แล้วไม่มีบ้านน้าปิ๋วจะอาศัย ไม่มีน้าปิ๋วอยู่เป็นเพื่อน พ่อก็คงเกือบเป็นบ้าเหมือนกัน”

“แต่นี่คุณพ่อหน้าตาสดชื่นดีกว่าทุกคน” สุวมนปรารภ

“แล้วมนอยากให้พ่อหน้าตาซีดเซียวเหงอ” คุณพ่อถาม

“ไม่ใช่ค่ะ แต่หนูไม่เข้าใจชีวิตมนุษย์ ดูอะไรไม่ออก” สุวมนตอบ

คุณพ่อมองเหม่อไป ดูไม่อยากสนทนากับหล่อนต่อไป สุวมนจึงละไปหาน้าปิ๋ว ช่วยน้าปิ๋วทำกับข้าว และทำความเรียบร้อยให้บ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ หล่อนแปลกใจทุกคราวว่าหล่อนมีความสุขระหว่างที่อยู่บ้านน้าปิ๋ว

อีกเดือนหนึ่งต่อจากนั้น สุวมนได้รับความยินดีและประหลาดใจระคนกัน เวลาเย็นวันหนึ่ง หล่อนกลับจากทำงานมาถึงบ้าน ไม่ช้าก็มีโทรศัพท์มา ผู้พูดคือคุณพ่อ

“มน พ่อมีข่าวดีจะบอก พ่อพ้นข้อหาแล้ว เขาสอบสวนเสร็จแล้ว พ่อมีหลักฐานหมด เขาเอาผิดอะไรพ่อไม่ได้ และก็ไม่หาเรื่องเอาผิด แล้วก็พ่ออยากพบหนู มาหาพ่อหน่อยเถอะ เมื่อไหร่ก็ได้ ตามสะดวกของหนู”

สุวมนมีรถขับแล้ว หล่อนจึงไปหาบิดาโดยง่ายภายในสองวันต่อจากนั้น

คำปรึกษาของบิดาคือ “นี่ หนูคอยดูแม่เขานะ ถ้าเขาต้องการพ่อ พ่ออยากจะเป็นประโยชน์แก่เขาอย่างที่เคย ขับรถให้ เป็นเพื่อนไปไหน ๆ ช่วยเหลืองานการของเขาเท่าที่จะทำได้” คุณพ่อนิ่งดูหน้าสุวมน ครั้นเห็นหล่อนวางสีหน้าเฉย ท่านก็ว่าต่อ “มันเป็นไปไม่ได้ใช่ไหม มันแตกกันกระจายไปเสียแล้ว กระเบื้องแตกจะประสานไม่ได้นะ พ่อเสียใจ ที่จริงพ่อตั้งใจไว้ว่าจะไม่ทิ้งเขาเป็นอันขาด เผอิญมาเกิดคดีบ้านี่ขึ้น พ่อทนอยู่กับแม่เวลาที่พ่อเป็นคนมีผิดติดตัวไม่ได้จริงๆ”

“คุณพ่อลองอธิบายให้หนูเข้าใจได้ไหม หนูไม่เข้าใจแง่ของคุณพ่อเลย”

“ก็ ก็ มันพูดยากที่สุดหนู” คุณพ่อพูดตะกุกตะกักอย่างที่คุณพ่อไม่เคยพูดเลย “โลกนี้มันยากทั้งนั้น น้าปิ๋วเขาว่าเขาเป็นคนผิดทุกประตู ใครจะว่าผิดอย่างไร คนที่ว่าก็ถูกหมด อกตัญญูก็ถูก ว่าแย่งผัวพี่ก็ถูก”

“แปลว่าน้าปิ๋วไม่มีศักดิ์ศรีอะไรเลยหรือไง” สุวมนถาม

“คำนี้ของคนรุ่นหนูจะตรงกับความหมายของพ่อไหมก็ไม่รู้” คุณพ่อพูดเสียงไม่ค่อยมั่นคงต่อไป รู้สึกว่าสะเทือนใจกว่าคำพูดที่สุวมนได้เคยใช้มาแล้ว “ถ้าหนูหมายความว่า น้าปิ๋วไม่รักหน้ารักษาชื่อเลย ไม่มีความอายเลย หรืออย่างพระท่านว่า ไม่มีหิริโอตตัปปะเลย พ่อว่าเขาไม่อย่างนั้น ข้อพิสูจน์ก็คือ เขาไม่เคยพูดปรักปรำแม่ของมนเลย แล้วก็ไม่เคยขอร้องอะไรจากพ่อเลย” คุณพ่อหยุดไป ขณะเดียวกับสุวมนก็คิด น้าปิ๋วอาจรู้ว่าถ้าน้าปิ๋วนินทาคุณแม่ คุณพ่ออาจไม่พอใจก็ได้ และจะขอร้องอะไรเล่า ในเมื่อคุณพ่อมาอาศัยน้าปิ๋วระหว่างที่คุณพ่อมีแต่ตัว แต่น้าปิ๋วได้รับของตอบแทนที่ผู้หญิงโดยมากต้องการ คือใบทะเบียนสมรส จากนายพันเอกคนหนึ่ง แล้วอีกไม่ช้า คนทั้งหลายก็จะลืมเรื่องที่น้าปิ๋วแย่งคุณพ่อมาจากผู้มีพระคุณ

คุณพ่อพูดขึ้นมาเสียงเบา ๆ ต่อจากที่สุวมนคิดอย่างรวดเร็ว “น้าปิ๋วกับพ่อพูดความจริงกันได้อย่างประหลาด ทีแรกพ่อไม่กล้าพูด ระวังเอาไว้ เพราะพ่อคิดว่าผู้หญิงโดยมากคงไม่ชอบฟัง แต่วันหนึ่งพ่อก็หลุดปากออกมา พ่อไม่ได้รักน้าปิ๋วอย่างผู้ชายรักผู้หญิงเลย ไม่ได้คิดอยากจูบอยากกอด จนกระทั่งมาอยู่ด้วยกัน ก่อนนั้นพ่อมีความสุขเวลาพ่ออยู่กับน้าปิ๋วสองคน นั่งเงียบ ๆ หรือคุยกันเรื่องข่าวหนังสือพิมพ์ เรื่องโทรทัศน์ เรื่องมนกับศุกรี น้าปิ๋วเขาอยากให้มนแต่งงานกับศุกรี เขาว่าหนูรักศุกรีมานานแล้ว” คุณพ่อหยุดไปอีก แล้วพูดต่ออีก “แปลก พอพ่อบอกว่าพ่อไม่เคยรักเขาอย่างผู้หญิง เขาก็หัวเราะ บอกว่าเขารักพ่ออย่างพี่ชาย”

“แล้วทำไมเรื่องมาถึงหย่ากับคุณแม่” สุวมนซักต่อด้วยความอยากเข้าใจ เพราะเหตุว่ามันเกี่ยวกับชีวิตของหล่อน หล่อนรู้สึกลึก ๆ อยู่ว่าเป็นเช่นนั้น

“แรกทีเดียว ไม่ได้วางแผนอะไรเลย เป็นแต่ว่าน้าปิ๋วคิดว่าไม่ควรอยู่ในบ้านอีกต่อไป พ่อยังไม่ได้บอกเขาว่าพ่อจะทำอะไรกับเขา แต่ที่จริงแล้วเขารักพ่อ รักอย่างอยู่ใกล้ตลอดเวลาน่ะ เป็นความรักของผู้หญิงที่เข้าวัยนี้กระมัง มันว้าเหว่ ไม่มีใครเป็นอะไรของตัวเลย เขาถึงรับว่าเขาผิดตลอด แต่จะว่าเขาผิดคนเดียวไม่ได้ ถ้าพ่อเฉยๆ เขาก็อาจอยู่ต่อไปได้ ไม่กระวนกระวาย น้าปิ๋วเป็นคนไม่กระวนกระวายเรื่องอะไร หรืออยู่ ๆ ไป อาจมีคนอื่นชอบเขา แต่เขาอยู่ใกล้พ่อที่สุด เขาก็รักพ่อ พอพ่อบอกว่ารักเขา เขาก็สนอง น้าปิ๋วเป็นคนรับใช้มนุษย์ บริการเรื่อยไปทั้งทางกายทางใจ”

“อือ เป็นอย่างนี้ดีหรือคะ” สุวมนถามออกไปโดยจริงใจ หล่อนก็ประหลาดใจว่าหล่อนสามารถจะพูดกับคุณพ่อถึงเพียงนี้ “ถ้าทุกคนเป็นอย่างน้าปิ๋ว โลกจะเป็นยังไง”

“ทำไมหนูถามว่า ถ้าทุกคนเป็นอย่างน้าปิ๋ว” คุณพ่อขัด “ถ้าทุกคนเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดก็ไม่ดีทั้งนั้น วงดนตรีวงหนึ่งก็ต้องมีฆ้อง มีระนาด มีซอ ต่างคนต่างก็เล่นตามทางของตัวให้มันเข้ากันเป็นวงดนตรี มีแต่ซ้องก็ไม่เพราะ มีแต่ซอก็ฟังไม่ไหว เป็นคำถามที่ไม่น่าถาม น้าปิ๋วดีแต่สำหรับพ่อในระยะที่พ่อต้องการน้าปิ๋ว ถ้าพ่อพบน้าปิ๋วเมื่อพ่อกำลังหนุ่ม พ่อก็คงไม่รักน้าปิ๋ว”

“ถ้าอย่างนั้น คนเราทุกคนก็มีผัวมีเมียคนเดียวตลอดชีวิตไม่ได้ซีคะ” สุวมนขัดขึ้นก่อนคุณพ่อจะพูดจบ

“เอาอีกแล้ว คนเราทุกคนอีกแล้ว” คุณพ่อว่า คราวนี้หัวเราะเบา ๆ อย่างอารมณ์ดี “พระอรหันต์ยังไม่เหมือนกันทุกพระองค์เลยมน พระพุทธเจ้าก็ยังมีองค์หนึ่งเด่นทางนั้น องค์หนึ่งเด่นทางนี้ ทำไมคนเราจะให้เหมือนกันล่ะ ที่เขารักกันจนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชรมีถมไป แต่บางคู่มันก็ไม่มีบุญอย่างนั้น”

การสนทนาระหว่างสุวมนกับคุณพ่อยุติลงแค่นั้น เพราะมีคนมาเยี่ยมคุณพ่อ

แล้วก็มาถึงวันนี้ ๑๓ เดือนนับแต่วันที่ศุกรีมาสารภาพรักต่อสุวมน หล่อนออกจากบ้านของมารดา ขับรถไปบ้านน้าปิ๋วเพื่อไปรับบริการทางกายหรือใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ทางกายก็คือ น้าปิ๋วมีของขบเคี้ยวเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้ให้สุวมนเสมอ ไม่ว่าหล่อนจะมาหาในเวลาบ่าย หรือค่ำ หรือเช้า น้าปิ๋วจะลุกขึ้นไปในครัว รีบผสมแป้ง ทอดขนมแพนเคกอย่างอังกฤษหรืออเมริกันให้ภายในเวลาไม่กี่นาที หรือมีมะละกอไว้ ทำส้มตำ หรือมีกล้วยหอมไว้ทอดน้ำมันเนยซึ่งเป็นของชอบของสุวมน อันน้าปิ๋วจำได้มาตั้งแต่อยู่บ้านเดียวกัน แต่การบริการทางใจของน้าปิ๋วนั้นแปลกกว่าทางกาย เมื่อมาถึงน้าปิ๋ว สุวมนก็จะสารภาพออกมาได้อย่างไม่กระดากว่า วันนั้นวันนี้เกิดคิดถึงศุกรีอย่างแสบเสียวขึ้นมาอีกแล้ว และเมื่อได้บอกผู้หนึ่งผู้ใดแล้ว ก็ค่อย ๆหายความไม่สบายไป แล้วก็คุยเล่นเรื่องที่ไม่สำคัญต่อใครหรืออะไรต่อไปได้ หรือหล่อนอาจเล่าเรื่องกลุ้มใจกับการงานบางอย่าง หรือเรื่องคนที่ร่วมงานกับคุณแม่บางคนที่หล่อนไม่ชอบและรำคาญ

เป็นเพราะน้าปิ๋วไม่มีศักดิ์ศรีอะไรเลยกระนั้นหรือ น้าปิ๋วฟังเรื่องอะไรก็ได้

แต่พอมาถึงบ้านน้าปิ๋ววันที่กล่าวนี้ ความหวังที่จะบรรเทาความหนักในอกก็สลายไป เพราะที่หน้าบ้าน ในซอยเล็กมีรถคันหนึ่งจอดอยู่ สุวมนกำลังตัดสินใจ หล่อนจะกลับรถหนีไปเสีย หรือจะเข้าไปในบ้านตามที่คิดไว้ พอดีคนที่หล่อนอยากพบที่สุด และอยากลืมที่สุดก็ปรากฏตัวที่หน้าประตูบ้าน และวิ่งเข้ามาขวางหน้ารถของหล่อนไว้

“เทวดาดลใจแล้ว มน ฉันกำลังจะไปหาเธอที่บ้าน กำลังพูดกับคุณพ่ออยู่”

สุวมนใจอ่อนแล้ว หล่อนจอดรถแล้วเดินเข้าบ้านโดยไม่ขัดขวางการที่เขาเข้ามาจูงข้อมือของหล่อน

คุณพ่อกับน้าปิ๋วออกมาต้อนรับอีกด้วย ศุกรีพาสุวมนเข้าไปนั่งบนเก้าอี้หวายบุผ้า อย่างที่มีในบ้านคนชั้นกลางในพระนครทั่ว ๆ ไป ไม่มีอะไรที่น่าชมในทางรสนิยมหรือความโอ่อ่าเลย แต่ในบ้านนี้ คุณพ่อมีสีหน้าชื่นบาน ยิ้มแย้มกว่าที่สุวมนเคยเห็นที่บ้านของคุณพ่อแท้ ๆ มานานปี

“หนูหายไปตั้งเกือบเดือน” คุณพ่อว่า “พ่อได้รับคำสั่งให้เข้าทำงาน ไปทำมาได้เกือบสองอาทิตย์แล้ว ว่าจะโทรศัพท์ไปบอกหนู แต่ตอนนั้นคนที่ที่ทำงานเขาว่าหนูไปต่างจังหวัด ไปช่วยคุณแม่ทำงานการกุศลอะไร แล้วก็เลยยังไม่ได้บอกไป งานคั่งอยู่แยะ ไม่ยักมีใครสาง เขารอพ่อกันเรื่อย ๆ ไปเขาว่า”

สุวมนพยายามยิ้มให้คุณพ่อ แต่ยิ้มไม่ค่อยออก หล่อนตื่นเต้นอยู่ภายใน ความตั้งใจที่จะไม่แต่งงานกับศุกรีจะล้มเหลวหรือ หล่อนจะไม่ปล่อยให้คุณแม่เปล่าเปลี่ยวอยู่ เพราะคุณแม่เป็นคนมีความสามารถจนคุณพ่อปลีกตัว หล่อนจะต้องอยู่เป็นเพื่อนคุณแม่ แต่งงานกับคนที่เขาจะเป็นเขยรักของคุณแม่ นั่นคือปณิธานของสุวมน

แต่หล่อนก็ไม่เด็ดขาดจริง หล่อนควรจะบอกศุกรีว่าหล่อนได้บอกเขาแล้วว่าหล่อนไม่ต้องการเห็นหน้าเขาอีก แต่อวัยวะสำหรับใช้พูดของหล่อน ไม่รับคำสั่งจากสมองของหล่อนสักอย่างเดียว

“คุณพ่อครับ ผมไม่ต้องไป มนมาเอง เรียกว่าเทวดาดลใจแล้ว คุณพ่อช่วยพูดอีกหน่อยซิครับ” ศุกรีหันไปหาความช่วยเหลือ

“เป็นไง มน หนูจะทำใจแข็งไปทำไม” คุณพ่อถามสีหน้ายิ้ม เป็นการเอาใจหล่อน “ก็ชอบพอกันมาตั้งนับปีไม่ถ้วน”

คำพูดของคุณพ่อเหมือนเครื่องเปิดทำนบน้ำตา สุวมนพูดอย่างแค้นใจ น้ำตาไหลเป็นทาง

“แม่หนูเป็นไง แม่หนูเป็นคนดี มีหลักการ มีชื่อเสียง มีคนยกย่อง แต่ผู้ชายที่หนูรักว่าเป็นลูกเขยไม่ได้ แล้วก็พ่อหนู ผู้ชายอีกคนหนึ่งที่หนูรักก็ตีจาก อยู่ด้วยกันไม่ได้ บอกมาซิว่า แม่หนูเป็นไง”

“มนจ๋า” ภายหลังที่นิ่งกันไปนานแสนนานแล้วศุกรีก็พูด “ฉันบอกมนแล้ว ฉันเปลี่ยนใจแล้ว ฉันเป็นลูกของคุณแม่ได้ ถ้าฉันเป็นคู่ชีวิตเธอได้ ฉันก็ต้องเป็นลูกคุณแม่เธอได้”

“เธอมาพูดเอาง่าย ๆ ตอนนี้” สุวมนพ้อต่อไป “คุณพ่อว่าคุณแม่มีความสามารถมาก แล้วก็ว่าไม่ได้ทิ้งคุณแม่เพราะเหตุนั้น แล้วเธอก็ว่าเธอเปลี่ยนความคิด แล้วอยู่ ๆ กันไป เธอก็ทนฉันไม่ได้ แล้วก็ต้องทิ้งกัน แต่งงานเพื่ออะไรกัน”

“หนูเอ๋ย” คุณพ่อปลอบ “หนูจะเรียกร้องเอาอะไรตลอดชีวิต บางทีมันก็ได้ บางทีมันก็ไม่ได้ มันไม่ใช่ อย่างที่เราคิดว่ามันเป็นหรอก มันมีสั้นมียาว มียาวพิเศษ มีสั้นพิเศษ เท่านั้นเอง หนูรักกันมานานพิเศษ หนูไม่มีความสุข พ่อมองเห็นอยู่ หนูก็เลือกเอาความสุขเสียบ้าง พ่อว่าชีวิตหนูกับศุกรีไม่สั้นพิเศษ น่าจะยาวพิเศษมากกว่า เพราะว่ามีสติด้วยกันทั้งคู่” คุณพ่อหยุดไปแล้วพูดต่อ “พระท่านว่าปลงอาบัติแล้วโทษลดลงไปกว่าครึ่ง เพราะรู้ว่าผิดแล้วก็ไม่ทำอีก ถ้าศุกรีเข้ามาโดยไม่รู้อะไร แล้วมารู้ทีหลัง อย่างนั้นซิลำบาก แต่นี่เขารู้แล้ว เขาสารภาพความคิดผิดของเขาแล้วเหลือแต่ว่าหนูจะยอมรับเขาไหมเท่านั้น”

“หนูไม่เข้าใจ หนูไม่เข้าใจตัวหนูเองด้วยซ้ำ ทำไมหนูถึงรักคุณแม่ แต่หนูก็รู้สึกอยากหาน้าปิ๋วอยู่เรื่อย หนูจะโกรธคุณพ่อ หนูถึงโกรธไม่ลง” สุวมนพูดพลางสะอื้นเป็นห้วงๆ

คุณพ่อเข้ามาโอบตัวสุวมนไปกอดไว้กับอก “มนจ๋า พ่อก็พูดไม่ค่อยถูก หนูว่าเองว่าคุณแม่เป็นคนดี เป็นคนทำอะไรถูก มีหลักการ แต่โลกนี้มีคนทำผิดมากกว่าคนทำถูก หนูก็เป็นคนทำผิดคนหนึ่ง หนูรักศุกรีต่อไปหลังจากที่เขาผลักไสแม่หนู เขามาตำหนิว่าแม่เป็นคนชนิดที่เขาเป็นลูกเขยไม่ได้ หนูคงรู้สึกตัวว่าหนูผิด หนูกับพ่อก็เหมือนกัน เราก็เข้าหาคนที่รับคนผิดไต้ คือน้าปิ๋ว น้าปิ๋วก็เป็นคนผิด เพราะควรจะผลักไสพ่อ แต่ไม่ผลักไส เราก็เลยเกาะกัน โลกนี้มันยาก ลูกเอ๋ย เป็นคนผิดกลับหาเพื่อนได้ง่ายกว่าเป็นคนถูก นอกจาก เอ้อ เป็นคนถูกน่ะมันยาก ยากเหลือหลาย ภาษาไทยเราไม่มีคำ คงเป็นเพราะเราไม่ค่อยมีคนชนิดนี้ คนถูกต้องไม่เป็นคนภูมิใจในความถูกของตัว คนภูมิใจกับความเป็นคนถูก ภาษาฝรั่งเขาว่า Self Righteous ตั้งตัวเองว่าเป็นคนถูก คนถูกต้องมีโสรัจจะ ต้องเสงี่ยม ต้องเจียมตัว เพราะในโลกนี้คนถูกมีน้อย คงจะอย่างนี้กระมัง คงบอกกับตัวเองว่าฉันถูกเรื่อยไป คนมักอยู่ด้วยไม่ได้ เพราะคนผิดมันมีแยะ ไม่ผิดอย่างไหนก็อย่างหนึ่ง แต่พ่อบอกแล้ว พ่อไม่ตำหนิแม่เขาหรอก ถ้าจะว่ากันโดยยุติธรรม ทำไมจะเกณฑ์เอากับคนถูกมากนัก เขาก็แสดงว่าเขาถูก ที่จริงคนอย่างแม่หนูหายาก”

“ฉันได้คิดอย่างนี้แล้วน่ะซี ฉันถึงกลับมาวิงวอนเธอ คนอย่างคุณแม่เธอหายาก จะอดทนฟังเสียงท่านเวลาท่านพูดโทรศัพท์บ้าง ชี้แจงอะไรบ้างไม่ได้เชียวเหรอ ฉันว่าตัวฉันเลวมากที่มาแสดงใส่เธอวันนั้น ฉันก็ทำได้อย่างเดียวคือ ขอโทษเธอ แต่ฉันรู้ว่าเธอรักฉัน ฉันถึงต้องคอยหาจังหวะ ตอนนี้รู้ว่าคุณพ่อได้กลับเข้าทำราชการฉันก็รีบมาหาท่าน รีบมาขอให้ท่านพูดกับเธอ”

สุวมนมองหาคุณพ่อกับปิ๋ว ไม่รู้ว่าหายไปไหน ในห้องเหลืออยู่แต่หล่อนกับศุกรี หล่อนอยู่ในวงแขนของเขา และได้ปล่อยให้เขาจูบหล่อนทั่วร่างกายของหล่อน ซึ่งเป็นเวลาที่หล่อนได้คอยมาหลายปีแล้ว

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ