อธิบาย

ในเรื่องมหาเวสสันตรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์ นับถือกันว่ากัณฑ์กุมารเปนสำคัญกว่ากัณฑ์อื่น เพราะเรื่องตอนที่พระเวสสันดรกล้าบำเพ็ญบุตรบริจาคเปนมหามกุฏทานอยู่ในกัณฑ์นี้ หนังสือที่แต่ง ๆ ดีมาตั้งแต่ตัวภาษามคร ครั้นมาแปลเปนเทศนาภาษาไทยแต่งเปนร่ายมหาชาติก็น่าฟัง เพราะฉนั้นจึงเปนกัณฑ์ที่กวีชอบเอามาแต่งเปนกาพย์กลอนโคลงฉันท์ ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานีมาจนในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้

หนังสือกุมารคำฉันท์ที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๑ พระองค์เจ้าหญิงมณฑา กับพระองค์เจ้าหญิงอุบล ช่วยกันทรงแต่งที่ในพระบรมมหาราชวัง แต่จะทรงแต่งในรัชกาลที่ ๑ ฤๅมาแต่งต่อในรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ ข้อนี้หาทราบชัดไม่ พระองค์เจ้าหญิงอุบลประสูตรเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๓๔ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ พระองค์เจ้าหญิงมณฑาประสูตรเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๓๓ เสด็จอยู่มาจนรัชกาลที่ ๔ ถึงได้เปนพระอาจารินีทรงสอนอักขรวิธีประทานพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าว่าตามสันนิษฐานดูทำนองเหมือนจะแต่งในรัชกาลที่ ๒ ด้วยมีเรื่องราวปรากฎว่าในรัชกาลนั้นโปรดฯ ให้แต่งหนังสือมหาชาติคำหลวง ซึ่งฉบับขาดมาแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาให้บริบูรณ์ ครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ จาจเปนเหตุชวนให้พระเจ้าน้องนางเธอทั้ง ๒ พระองค์ซึ่งทรงศึกษาอักขรวิธีได้เชี่ยวชาญ ทรงแต่งฉันท์กุมารในรัชกาลที่ ๒ นั้นก็เปนได้

คำฉันท์กัณฑ์กุมารที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ใครอ่านก็เห็นจะยอมหมดทุกคนว่าแต่งดีหนักหนา ถึงสำนวนผู้ชายก็ยากที่จะแต่งให้เทียมถึงได้ ควรเปนตัวอย่างให้เห็นความได้ข้อหนึ่ง ว่าการศึกษาของสัตรีในประเทศของเรานี้โดยฉะเพาะที่เปนสมาชิกในราชสกุลได้รุ่งเรืองมาแต่โบราณ.

ด.ร.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ