คำนำ

ด้วยนายศรีศุกร บุรณศิริ จะทำงานปลงศพสนองคุณท่านพริ้ง บุรณศิริ ต,จ. ภรรยาพระยาธรรมจรรยานุกูลมนตรี (จำเริญ บุรณศิริ) ผู้เปนย่า กับศพหลวงอินทรมนตรีศรีจันทกุมาร (เขจร บุรณศิริ) ท,ช.ว,ม. ผู้บิดา ได้มาแจ้งความต่อกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณว่า มีความศรัทธาจะรับพิมพ์หนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนครเปนของแจกในงานศพสักเรื่อง ๑ ขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้ เวลาที่นายศรีศุกรมาแจ้งความ พอประจวบกับที่หอพระสมุดฯ ได้หนังสือกาพย์มหาชาติของโบราณกัณฑ์วนประเวศน์มาอิกกัณฑ์ ๑ ซึ่งต้นฉบับอยู่ในพวกหนังสือที่นับถือกันว่าแต่งดีแลหาฉบับยาก ได้เคยพิมพ์แล้วแต่ ๒ กัณฑ์ คือ กัณฑ์กุมารพิมพ์แจกในงานศพพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙ กัณฑ์ ๑ กัณฑ์สักรบรรพ พิมพ์แจกในงานศพนายแช่มบิดาพระผลากรนุรักษ์ แลพระยาพิเรนทราธิบดีสีหราชงำเมือง เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ กัณฑ์ ๑ ผู้ที่ได้อ่านหนังสือนั้นพากันชอบ บัดนี้หากัณฑ์วนประเวศน์ได้อิกกัณฑ์ ๑ จึงเห็นว่าสมควรจะพิมพ์ในโอกาศแรกให้ต่อกันไป กรรมการได้แจ้งความทั้งนี้ให้นายศรีศุกรทราบ ก็เห็นชอบด้วย จึงได้พิมพ์หนังสือกาพย์วนประเวศน์เปนครั้งแรกในสมุดเล่มนี้

เรื่องหนังสือมหาชาติ ข้าพเจ้าได้อธิบายไว้ในคำนำเมื่อพิมพ์หนังสือกาพย์ กุมารบรรพ แลกาพย์สักรบรรพโดยพิศดาร แต่บางทีผู้อ่านสมุดเล่มนี้จะมีบางคนที่ไม่ได้อ่านกาพย์มหาชาติที่พิมพ์แล้วแต่ก่อน ข้าพเจ้าจึงเห็นควรจะกล่าวเนื้อความในตำนานเรื่องหนังสือมหาชาติซํ้าไว้ในที่นี้อิก

หนังสือมหาชาติ คือ มหาเวสสันดรชาดก ซึ่งแต่งเปนกลอนในภาษาไทยมี หลายอย่าง คือ

๑ มหาชาติคำหลวง สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถโปรดให้ประชุม นักปราชญ์ราชบัณฑิตย์แต่งขึ้นเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๐๒๕ ๑๓ กัณฑ์ เมื่อเสียกรุงเก่า หนังสือมหาชาติคำหลวง กัณฑ์หิมพานต์, ทานกัณฑ์, จุลพน, มัทรี, สักรบรรพ, ฉกษัตริย์, ฉบับสูญหายไปเสีย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย โปรดให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตย์แต่งกัณฑ์ที่ขาดขึ้นไว้จนครบบริบูรณ์นี้ชุด ๑

๒ กาพย์มหาชาติ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตย์แต่งขึ้น เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๔๕ จน พ.ศ. ๒๑๗๐ ด้วยมีเนื้อความในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวไว้ว่าในแผ่นดินนั้นได้แต่ง มหาชาติคำหลวงอิกครั้ง ๑ กาพย์มหาชาตินี้ฉบับเดิมเห็นจะสูญหายมากกว่า มหาชาติคำหลวง ได้พบสำนวนครั้งกรุงเก่าที่แน่ใจ แต่กัณฑ์กาพย์กุมารบรรพที่พิมพ์แล้วนั้น กาพย์วนประเวศน์ที่พิมพ์ในเล่มนี้ หอพระสมุด ฯ ได้ต้นฉบับหลวงครั้งรัชกาลที่ ๑ มีบานแพนกเขียนไว้ว่า “วัน ๔๓ คํ่า จุลศักราช ๑๑๔๔ ปีขาลจัตวาศก ข้าพระพุทธเจ้าพระอาลักษณแต่ง ข้าพระพุทธเจ้านายชำนาญอักษรเขียน” ดังนี้ สันนิฐานความตามบานแพนกเข้าใจว่า เห็นจะมีรับสั่งให้พระอาลักษณแต่งเพิ่มเติมกัณฑ์ที่ขาด พระอาลักษณ์คนนี้แต่งหนังสือในทางข้างสาสนาไว้หลายเรื่อง ทั้งที่เปนบทกลอนแลเปนความเรียง ได้ความว่าชื่อตัวชื่อบุญจัน สังเกตดูสำนวนที่แต่งกัณฑ์วนประเวศน์นี้ แต่งดีถึงสำนวนครั้งกรุงเก่าพอเข้ากันได้

๓ มหาชาติกลอนเทศน์ มีหลายความมาก แต่งกันมาแต่ครั้งกรุงเก่า จนในกรุงรัตนโกสินทรนี้

๔ มหาชาติคำฉันท์ หอพระสมุดมีฉบับเกือบครบทุกกัณฑ์ เปนสำนวนแต่งครั้งกรุงรัตนโกสินทร

๕ ลิลิตมหาชาติ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรง ๒ กัณฑ์ ขอแรงพระสงฆ์แต่งกัณฑ์อื่นมีฉบับอยู่ที่หอพระสมุดฯ รวม ๘ กัณฑ์

หนังสือมหาชาติทั้ง ๕ อย่างที่กล่าวมาล้วนแต่งเปนกลอน ยังหนังสือมหาชาติที่แต่งเปนเทศน์ธรรมวัตร แลเปนความเรียงยังมีอิกต่างหาก ด้วยเรื่องมหาเวสสันดรชาดกเปนเรื่องที่นับถือกันมาแต่โบราณ ทั้งในประเทศนี้แลประเทศอื่นบรรดาที่นับถือพระพุทธสาสนา ถือกันว่าวิเศษยิ่งกว่าชาดกอื่นๆ ด้วยรวมบารมี ๑๐ ของพระโพธิสัตว์มีอยู่ในเรื่องนี้ทุกอย่าง

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ