คำปรารภ
เรื่อง “กาพย์ปู่สอนหลาน” แต่งโดย “พระพุทธโฆษาจารย์” และ กาพย์หลานสอนปู่ แต่งโดย “แก้วดวงตา” ณ กรุงล้านช้าง เวียงจันทน์ เมื่อประมาณ ๓๐๐ ปีมาแล้วนั้น ใช้ถ้อยคำสำนวนที่ฟังเข้าใจง่าย ๆ นับเป็นหนังสือให้การอบรมบ่มนิสัยประชาชนพลเมือง ทั้งคติโลกและคติธรรมอย่างดียิ่ง
ตามพงศาวดารล้านช้างปรากฏว่า ในรัชสมัย “พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช” เจ้าผู้ครองนครล้านช้างเวียงจันทน์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๘๑-๒๒๓๗ เป็นระยะเวลา ๕๖-๕๗ ปีนั้น พระองค์ได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การศึกษา และอื่น ๆ ให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตสามารถแต่งวรรณคดีต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก กาพย์ปู่สอนหลานและกาพย์หลานสอนปู่นี้ ก็แต่งในสมัยนั้นด้วย
ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์ ศุภสร) เมื่อยังเป็นที่ “พระญาณรักขิต” เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส พระนคร ท่านไปได้ต้นฉบับ กาพย์ปู่สอนหลานและกาพย์หลานสอนปู่มา ตรวจชำระให้ดีขึ้นอีก แล้วได้ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ ข้าพเจ้าได้ต้นฉบับมาโดยบังเอิญ เพราะอาจารย์เปลื้อง ณ นคร ส่งมาให้ช่วยแปลศัพท์ไทยเดิมลางคำ ส่งไปลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาศึกษา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑
เหตุที่ชวนให้สงสัยลางคำ เพราะตามต้นฉบับ ท่านมักเขียนเพื่อจะให้อ่านออกเสียงอีสานได้ถูกต้องด้วย จึงเลยทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิด หรืออาจไม่เข้าใจความหมายได้ก็มี เช่น ท่านเขียน “ไม้ลำเดียวล่อมฮั่วบ่ขว่าย ไผ่บ่พ่อมแปงบ้านบ่เป็น” ดังนี้เป็นต้น ซึ่งข้าพเจ้าต้องเขียนใหม่ให้เป็นไปตามหลักอักขรวิธีอีสานที่ข้าพเจ้าคิดขึ้นด้วย เชื่อมั่นว่าชอบด้วยเหตุผล คือเขียน ไม้ลำเดียวล้อมฮั้วบ่ไขว่ ไพร่บ่พร้อมแปลงบ้านบ่เป็น” ดังนี้ ส่วนถ้อยคำสำนวนอื่น ๆ คงรักษาไว้ตามเดิม เว้นลางคำที่เห็นจำเป็น เพื่อให้สัมผัสคล้องจอง แต่ยังขัดเขินอยู่ จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมบ้างเท่านั้น
ข้าพเจ้าหวังว่า “กาพย์ปู่สอนหลาน” และ “กาพย์หลานสอนปู่” อันจัดเป็นวรรณคดีล้ำค่า ประดุจเพชรน้ำหนึ่งแห่งภาคอีสานนี้ คงจะยังดำรงความเป็นภาษิตสอนใจอนุชนบุตรหลานของเราชาวอีสานต่อไป
ขุนพรมประศาสน์
อุบลราชธานี
มกราคม ๒๕๐๙