กลอน แล นักกลอน
หนังสือซึ่งเรียกกันในสมัยนี้ว่าวรรณคดีนั้น ถ้าจะจำแนกประเภทให้แคบ ก็มีมากมายหลายประเภท แต่ถ้าจะจำแนกอย่างกว้างที่สุดก็อาจจำแนกได้เปนสองประเภท คือร้อยแก้วประเภทหนึ่ง กาพย์ประเภทหนึ่ง
ไทยเปนชาตินักกลอน
ไทยสยามมีนิสสัยเปนนักกลอน มีกวีดาษดื่นตั้งแต่คนชั้นสูงที่สุดจนถึงชั้นต่ำที่สุด นักปราชญ์ของเราที่เปนนักกลอนก็มี แต่คนไม่รู้หนังสือที่เปนนักกลอนมีมากกว่าเปนอันมาก นักปราชญ์ที่เปนนักกลอนนั้นอาจเปนเพราะรู้หนังสือด้วย เพราะเกิดในสันดานด้วย แต่คนไม่รู้หนังสือที่เปนนักกลอนนั้นเปนเพราะเกิดในสันดานล้วน นักกลอนอ่านหนังสือไม่ออกแต่งกลอนในปีหนึ่ง ๆ ถ้าจะเก็บมาพิมพ์ให้หมด ก็จะเปนจำนวนเล่มสมุดมากมายหนักหนาทีเดียว จริงดอก กลอนที่นักกลอนของเราร้องในวงเพลงเกี่ยวเข้า เพลงเหนือ เพลงโนเน เพลงเรือ ฯลฯ ฯลฯ นั้นไม่ใช่กลอนดี ถ้าจะเก็บมาพิมพ์ก็ไม่คุ้มค่ากระดาด แต่ข้อที่กลอนเพลงโดยมากมิใช่กลอนดีนั้น ไม่เปลี่ยนความจริงข้อที่ว่าไทยสยามมีนิสสัยเปนนักกลอนนั้นเลย ถ้าจะคิดส่วนร้อยจำพวกนักกลอนกับจำนวนพลเมืองในประเทศนี้ ก็เชื่อว่าส่วนร้อยจะไม่ต่ำกว่าประเทศไหนในโลก
เราชอบแต่งกลอนจนไม่แต่งแต่ตามแบบเดิมของเราเอง ไปเที่ยวเอาแบบในภาษาอื่นมาแต่งด้วย และเมื่อเอามาแล้วก็ไม่ใช้ตามแบบเดิมแท้ เอามาดัดแปลงให้ถูกหูเรา คือเติมสัมผัสเข้า ทำให้ยากกว่าแบบในภาษาเดิมของเขาเปนอันมาก แบบที่เอาอย่างมาจากภาษาอื่นเช่นว่านี้คือแบบฉันท์ของอินเดียเปนต้น เราเอาอย่างแบบแต่งฉันท์มาจากภาษาบาลี แต่ฉันท์ในภาษาบาลีแบบเดิมไม่มีสัมผัส แลถึงแม้ฉันท์ในภาษาบาลีแลสํสกฤตซึ่งแต่งกันเปนแบบใหม่ก็มีรับสัมผัสแต่คำสุดท้ายแห่งบันทัดเปนคู่ ๆ ไปเท่านั้นเอง ส่วนแบบฉันท์ที่ไทยเราเอามาดัดแปลงใช้นั้น ใช้รับสัมผัสนอกถึงสามสัมผัส ยังสัมผัสในซึ่งไม่บังคับอีกเล่า
ที่เราต้องใส่สัมผัสลงในฉันท์ก็เพราะเราเปนนักกลอน แต่งไม่มีสัมผัสไม่ชอบ แลภาษาของเราจะเอาไพเราะโดยลำพังคำหนักคำเบาก็ยังไม่ปรากฏว่าอาจทำได้ ข้อที่ว่าแต่งไม่มีสัมผัสไม่ถูกหูเรา ผู้คิดแบบใหม่หรือดัดแปลงแบบเก่าจึงต้องเติมสัมผัสลงไปจนได้นั้น จะยกตัวอย่างผู้คิดแบบใหม่ก็หาตัวอย่างยาก แม้พระโหราธิบดีชาวกรุงสุโขทัยซึ่งเรียบเรียงหนังสือจินดามุนีครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็มิได้ออกแบบโคลงฉันท์เหล่านั้นเอง ผู้เอาแบบฉันท์ในภาษาอื่นมาดัดแปลงเปนแบบไทย ถ้ามีนามที่เราพอทราบได้ ก็เห็นจะมีแต่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสผู้ทรงแต่งวรรณพฤติแลมาตราพฤติ แต่พระดำริห์ในพระหทัยของท่านในเวลาที่ทรงคิดแบบนั้นจะเปนอย่างไรเราก็ทราบไม่ได้ ถ้าเราเดาว่าคงจะทรงพระดำริห์อย่างนั้นอย่างนี้ก็พูดไม่เต็มปาก เพราะฉนั้นการที่จะกล่าวให้แม่นยำถึงความรู้สึกในใจแห่งเจ้าของแบบในเวลาที่คิดแบบอยู่นั้น ก็ได้แต่เมื่อผู้ออกแบบเปนผู้กล่าวเอง ในที่นี้จึงขอนำตัวอย่างต่อไปนี้มากล่าว โดยความมุ่งหมายจะฝากแบบนั้นไว้ในหนังสือนี้ด้วย
เมื่อเกือบสองปีมานี้ ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้แต่งกลอนสำหรับนักเรียนร้องในวันงานประจำปีของโรงเรียนวชิราวุธ ข้าพเจ้าลองแต่งเปนกลอนแปดแลกลอนหก แต่เมื่อแต่งขึ้นแล้วก็ไม่ชอบ เห็นเปนกลอนดาษ ๆ ไปหมด เมื่อลองแต่งเปนฉันท์ตามแบบที่มีอยู่แล้ว ก็ไม่ชอบเหมือนกัน การเปนดังนี้ นึกอยากจะแต่งอะไรแปลก ๆ จึ่งเอาตำราฉันท์อังกฤษมาพลิกค้นดู เผื่อจะพบอะไรที่พอเอาอย่างมาใช้เหมาะกับภาษาไทยได้ ดูไปดูมาพบฉันท์เรียกว่า “อิน เมโมเรียม” ของ ลอด เต็นนีซัน ใช้สัมผัสซึ่งนึกว่าจะถูกหูไทย จึ่งเอามาตั้งเปนแบบลองแต่งดู
ลอด เต็นนีซัน เปนกวีชั้นเอกของอังกฤษ รับตำแหน่ง โปเอต ลอเรียต ซึ่งถ้าจะเรียกเปนไทยว่าราชกวีก็เห็นจะพอไปได้ ฉันท์ “อิน เมโมเรียม” นั้น ตั้งแต่แต่งแล้วก็เลยเปนชื่อของฉันท์ชนิดนั้นมาจนบัดนี้
ฉันท์ชนิดนี้อธิบายตามภาษาอังกฤษว่าเปน quatrain of four-foot iambic lines with enclosing rimes คือว่าเปนฉันท์บทละ ๔ บาท บาทหนึ่ง ๘ พยางค์ มีลหุแลครุสลับกัน และสัมผัสคือพยางค์ท้ายแห่งบาทที่ ๑ รับกับพยางค์ท้ายแห่งบาทที่ ๔ คู่หนึ่ง แลพยางค์ท้ายแห่งบาทที่ ๒ กับบาทที่ ๓ รับกันอีกคู่หนึ่ง ถ้าจะเขียนลักษณะแห่งฉันท์ชนิดนี้ลงก็เปนดังนี้
ลหุ ครุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ
ลหุ ครุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ
ลหุ ครุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ
ลหุ ครุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ
เพื่อให้ผู้รู้ภาษาอังกฤษเห็นแบบเดิมซึ่งเอาอย่างมาลองแต่งในภาษาไทย ขอนำฉันท์ “อิน เมโมเรียม” มาแสดงไว้หน่อยหนึ่งดังนี้
Calm and still light on yon great plain
That sweeps, with all its autumn bowers
And crowded farms and lessening towers,
To mingle with the bounding main :
ฉันท์อังกฤษข้างบนนี้ ถ้าอ่านถูกสำเนียงครุแลลหุก็โยนแลรับกันไพเราะมาก เมื่อเอาแบบคำหนักคำเบาแลสัมผัสมาแต่งเปนไทย ก็ได้ฉันท์ชนิดใหม่ซึ่งผู้แต่งไม่เห็นเลว จึงขนานนามไว้ว่า “สยามรัตนฉันท์” ดังนี้
๏ อโห อโห ชโย สยาม
วิลาสะรัฐจรัสจรูญ
ประเทศะไทยอุทัยพิบูลย์
อุกฤษฎะเลิศประเสริฐะนาม ฯ
๏ อโห ชโย จะโห่ถวาย
นราธิเบศประเทศะไทย
พระเกียรติ์อดุลย์พระคุณกำไร
มหากษัตร์สวัสดิ์ฤวาย ฯ
ฉันท์สองบทข้างบนนี้ส่วนความยกเสีย ถ้าพูดตามครุลหุแลสัมผัสนอกก็เหมือนแบบอังกฤษ แปลกกันแต่ที่มีสัมผัสในอันอาจไม่ถูกหูกวีอังกฤษบางจำพวก แต่ไทยเราอดไม่ได้
เมื่อแต่งลงไปเช่นนี้แล้ว ผู้แต่งพอใจหรือยัง ยัง เพราะสัมผัสน้อยนักยังไม่สะใจ ธรรมดาฉันท์ที่คุ้นหูเรา ต้องมีสัมผัสรับกันเปนโซร่ตลอดไปทุกบท เพราะฉนั้นบาท ๔ แห่งบทแรกที่ลงว่า “ประเสริฐะนาม” นั้น คำว่า “นาม” ควรเปนสัมผัสส่ง แล้วมีสัมผัสรับในบทน่า ลองดูใหม่
๏ กุมาระไทยไฉนจะหลง
จะลืมนรินทะปิ่นประชา
สยามะรัฐอุบัติมา
ก็เหตุอำนาจพระราชะวงศ์ ฯ
๏ วิชาวิบุลย์ดรุณจะเรียน
อุสาห์จะเกิดประเสริฐประสงค์
ประเทศจะงามสยามจะยง
จะสุดวิเศษก็เหตุเพราะเพียร ฯ
๏ อโห ดรุณจะครุ่นสิขา
อโห กุมารจะอ่านจะเขียน
วิชาจะเทียบจะเปรียบวิเชียร
วิเชียรก็ชูบ่สู้วิชา ฯ
เมื่อเติมสัมผัสส่งแลสัมผัสรับติดต่อกันไปทุกบทดังนี้ ก็แปลกไปอีกชั้นหนึ่ง คิดว่าพอจะใช้เปนแบบฉันท์ใหม่ชนิดหนึ่งได้ จึ่งขนานนามว่า “สยามวิเชียรฉันท์” เมื่อแต่งแล้วลองอ่านทวนไปทวนมาเกิดความพอใจเปนอันมาก
แต่ก็ยังอยากจะลองต่อไปอีก เพราะการแต่งฉันท์ภาษาไทยถึงจะวางตำแหน่งครุลหุประเสริฐปานใด ถ้าสัมผัสไม่ถูกแบบที่คุ้นหูเราก็ฟังไม่ลื่น เหตุเรายังไม่ได้ฝึกหัดหูให้คุ้นกับแบบสัมผัสแบบอื่น ๆ เมื่อคุ้นเข้าแล้วก็อาจได้ความเพลินจากแบบนั้นเสมอกับแบบเก่า การแต่งของข้าพเจ้าคราวนั้นเปนการแต่งให้เขา ไม่ใช่การตั้งแบบใหม่ หรือถ้าตั้งแบบใหม่ ก็ตั้งเพื่อจะแต่งให้แก่เขา ถ้าเราตั้งแบบใหม่อย่างเดียว เราจะตั้งอย่างไรก็ตามใจเรา ใครจะชอบหรือไม่ก็ตามแต่ใจบุคคล ถ้าไม่ชอบวันนี้อาจชอบพรุ่งนี้ก็ได้ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสท่านทรงนำแบบฉันท์ในภาษาบาลีมาดัดแปลงเปนไทยไว้หลายอย่าง แต่ที่เราชอบแลเลือกแต่งตามแบบของท่านก็มีไม่กี่อย่างนัก ส่วนการให้อะไรแก่ใครนั้น ควรให้แต่สิ่งซึ่งผู้ให้นึกว่าผู้รับจะชอบ ถ้าเรานึกว่าเขาจะชอบ แต่เขาไม่ชอบ ก็เปนอันจนใจ เราได้เพียรเต็มที่แล้ว ความผิดควรจะเปนของเขาที่ไม่ไปขอคนอื่น เมื่อพะวงจะให้ถูกใจผู้ขอฉนี้ จึงคิดแบบเติมสัมผัสลงอีก แล้วลองแต่งดูใหม่ ได้ฉันท์อีกชนิดหนึ่งซึ่งเคยตั้งชื่ออย่างอื่น แต่บัดนี้จะขนานนามใหม่ว่า “สยามมณีฉันท์” ดังนี้
สยามมณีฉันท์ ๘
๏ ชโยสยามณยามจะรุ่น | สยามดรุณจะเร็วเจริญ |
ณคราวจะเรียนก็เพียรจะเพลิน | ฤใครจะเกินสยามดรุณ ฯ |
๏ กุมาระไทยไฉนจะหลง | จะลืมพระองคะทรงสุกุล |
สยามะรัฐอุบัติเพราะบุญ | พระเดชพระคุณพระราชะวงศ์ ฯ |
๏ ดรุณสยามมิคร้ามอุสาห์ | หทัยจะหาวิชาประสงค์ |
ประเทศจะงามสยามจะยง | จะมั่นจะคงก็เหตุวิชา ฯ |
๏ ชโยสยามอร่ามอโข | ดรุณจะโตจะเติบสิขา |
สยามจะอยู่มิรู้ชรา | กระเดื่องวิชาวิชัยชโย ฯ |
ฉันทสยามมณีตามตัวอย่างข้างบนนี้ วิธีสัมผัสก็กลอนแปดเรานี่เอง แต่เปนกลอนแปดซึ่งบังคับครุลหุเคร่งครัด จึ่งต้องเรียกว่าฉันท์ เปนฉันท์อย่างยาก เพราะบังคับสัมผัสมากกว่าฉันท์ชนิดอื่น ๆ หรือถ้าจะว่าเปนกลอนก็เปนกลอนอย่างยากเพราะบังคับครุลหุ แต่ถ้าลองแต่งดูจริง ๆ ก็ไม่ยากเหมือนที่เห็น เชิญท่านลองแต่งดูเถิด เมื่อเร็ว ๆ นี้มีผู้แต่งฉันท์แบบนี้ลงในหนังสือพิมพ์รายเดือนฉบับหนึ่ง แต่ผู้แต่งไม่ได้วางครุลหุตามตำแหน่งที่บังคับไว้ จึงไพเราะน้อยไปเพราะไม่เต้น ขอให้ลองดูใหม่ เมื่อแต่งแล้วถ้าสงสัยตรงไหนจะส่งมาหารือเจ้าของแบบก็ได้ ถ้าพูดตามใจเจ้าของแบบก็ออกจะชอบสยามวิเชียรมากกว่าสยามมณี เพราะอาจแต่งให้ไพเราะได้โดยไม่ต้องบังคับสัมผัสมากนัก
กำเนิดของฉันท์แบบใหม่ซึ่งดัดแปลงมาจากแบบอังกฤษมีดังที่กล่าวมานี้ การที่นำมาเล่าในที่นี้ก็ออกจะผิดที่ แต่ที่ทำเช่นนั้นก็เพื่อจะฝากฉันท์แบบใหม่ ๓ ชนิดไว้ในสมุดนี้ไปพลาง มิฉนั้นจะทิ้งหายเสีย ในภายน่าอาจมีชนิดใหม่ ๆ มาอีก เมื่อมีมากพอก็อาจรวมเปนสมุดเล่มหนึ่งได้
นอกจากฉันท์ เราอาจได้เอาอย่างวิธีแต่งมาจากภาษาอื่นอีก เปนต้นว่ากาพย์ยานี “พระเสด็จโดยแดนชล” ก็เนื่องมาจากอินทวิเชียรฉันท์ นับว่าสืบสาโลหิตมาแต่อินเดียเหมือนกัน เรามีฉันท์หลายสิบชนิด มีกลอนหลายชนิด มีกาพย์ลำนำหลายชนิด มีโคลงหลายชนิด มีกาน กานต์ หรือกาล (เห็นเขียนสกดต่าง ๆ กัน ไม่ทราบว่าอย่างไหนถูกแน่) เหล่านี้เปนต้น ยังของผสม เช่นกาพย์ห่อโคลง แลร่ายกับโคลงต่าง ๆ เช่นพระลอ แลเตลงพ่ายอีกเล่า ข้าพเจ้าไม่รู้ภาษาต่างประเทศมากภาษา ไม่ทราบว่าภาษาไหนมีวิธีแต่งฉันท์แลกลอนกี่ชนิด แต่นึกว่าจะหาภาษาไหนมีวิธีแต่งมากเท่าไทยนั้นเห็นจะมีน้อย ถ้าพูดเฉพาะภาษาอังกฤษก็มีวิธีแต่งน้อยกว่าไทย ไกลกันหลุดทีเดียว
ที่กล่าวมาในเบื้องต้นว่าไทยเปนชาตินักกลอนนั้น อาจอ้างพยานได้สองข้อดังแสดงมาแล้ว คือชาวเมืองเราที่เปนนักกลอน ถ้าเทียบส่วนร้อยกับจำนวนพลเมือง ส่วนร้อยก็สูงนั้นข้อหนึ่ง อีกข้อหนึ่งเรามีวิธีแต่งมากชนิด จนเข้าใจว่าไม่แพ้ภาษาไหน แลทั้งใช้วิธีสัมผัสอย่างฉกาจที่สุด กวีสำคัญในภาษาอื่นที่ไม่นิยมว่าสัมผัสเปนของดีก็มีมาก เขาเห็นว่าสัมผัสทำให้เสียสง่าแลทำให้ความแจ่มแจ้งหย่อนไป เขาไม่ใช่นักกลอน เราเปนนักกลอน จึ่งเห็นไปคนละอย่าง
ส่วนข้อที่ว่าวรรณคดีประเภทกาพย์ (คือกลอน) ของเรา ถ้าเอาเข้าพวกกับวรรณคดีประเภทเดียวกันในภาษาอื่น ๆ จะดีเท่าเทียมหรือยิ่งหย่อนกว่าภาษาไหนบ้างนั้น เปนปัญหาอีกปัญหาหนึ่งซึ่งน้อยคนจะหาญตัดสิน กลอนไทยเปนของไม่สู้จะมีใครรู้จักนอกเมืองเรา แม้ชาวต่างประเทศที่มาอยู่เมืองนี้นาน ๆ ก็มีน้อยคนที่ใส่ใจศึกษาหนังสือไทยประเภทนี้ แลยังไม่เคยมีไทยหรือชาวต่างประเทศแต่งหนังสือว่าด้วยกลอนไทยเปนภาษาอื่นเพื่อให้ชาวโลกกว้างผู้สนใจจะรู้มีโอกาสจะรู้ได้ ความเชื่อของข้าพเจ้ามีว่า ถ้ามีหนังสือเช่นนั้นอันผู้แต่งสามารถแสดงลักษณะกลอนไทยชนิดต่าง ๆ ให้ผู้อ่านเข้าใจได้ดี ความนับถือกลอนไทยจะมีในเมืองต่างประเทศไม่น้อยเลย
คำว่ากาพย์
คำว่า กาพย์ ในหนังสือนี้ใช้หมายความต่างกับที่ใช้กันโดยมาก คือใช้เปนคำรวมอย่างที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า โปเอ็ตฺรี หมายความว่าเปนหนังสือที่กวีแต่ง นัยหนึ่งหนังสือที่มิใช่ร้อยแก้ว อันแยกไว้เปนประเภทกว้างอีกประเภทหนึ่งในเบื้องต้นนั้นแล้ว หนังสือซึ่งกวีแต่งนั้น เมื่อพูดรวมทั้งในภาษาไทยแลภาษาอื่น ๆ ที่มีทั้งชนิดที่มีสัมผัสแลไม่มีสัมผัส แต่ถ้าพูดเฉพาะภาษาไทยก็ย่อมจะมีสัมผัสรับกันเปนกลอนเสมอ เพราะฉนั้นหนังสือซึ่งกวีไทยแต่ง ถึงจะเรียกว่า ฉันท์ โคลง ร่าย หรืออะไรก็ตาม แต่ละอย่างสงเคราะห์เข้าว่าเปนกลอนทั้งนั้น แลที่ว่าไทยเปนนักกลอนก็เพราะเหตุนี้ ส่วนหนังสือซึ่งกวีในภาษาอื่นแต่งนั้น บางทีก็มีสัมผัส บางทีก็ไม่มีสัมผัส เรายังไม่มีคำจะใช้ว่ากระไรจึ่งจะเรียกครอบได้หมด จึ่งควรหาคำไว้สำหรับรวมเรียกหนังสือทุกอย่างที่กวีแต่ง ไม่ว่าจะเปนภาษาไทยหรือภาษาอื่น แลไม่ว่าจะมีสัมผัสรับกันหรือไม่ คำรวมนั้นจะควรเปนคำไหนแน่นอนก็แล้วแต่จะใช้กันจนลงที่ภายหลัง ในหนังสือนี้ใช้ว่ากาพย์ไปก่อน แลเมื่อใช้เช่นนี้ โคลงก็เปนกาพย์ชนิดหนึ่ง ฉันท์อย่างที่กวีไทยแต่งก็กาพย์ชนิดหนึ่ง ฉันท์ทุกอย่างที่แต่งกันในภาษาอังกฤษก็เปนกาพย์ทุก ๆ ชนิด กลอนบังคลีซึ่งไม่นิยมครุลหุแลสัมผัสเหมือนเพลงปรบไก่ก็กาพย์ชนิดหนึ่ง โคลงจีนก็อีกชนิดหนึ่ง ดังนี้เปนต้น
อันที่จริงคำว่ากาพย์นี้ คำเดิม กาวฺย ก็แปลว่าหนังสือซึ่งกวีแต่งนั้นเอง แต่ไทยเราใช้คำนั้นเปนชื่อกลอนชนิดหนึ่ง ตัวอย่างคือกาพย์เห่เรือ “พระเสด็จโดยแดนชล” ซึ่งเรียกว่ากาพย์ยานี แล “สงฆ์ใดสาวกศาสดา” ซึ่งเรียกว่ากาพย์ฉบังเปนต้น เหตุดังนี้ ถ้าเราเอาคำว่ากาพย์ไปใช้หมายความอย่าง กาวฺย คือว่าเปนหนังสือซึ่งกวีแต่ง ก็เสมอกับว่าริบเอาชื่อกลอนชนิดหนึ่งของเราไปเสีย เมื่อจะพูดถึงกลอนชนิดนั้นก็จะต้องเรียกอย่างไรให้เข้าใจกันได้ ในหนังสือนี้จึ่งกำหนดใจไว้ว่า ถ้ากล่าวถึงกาพย์ลำนำ คือกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง กาพย์สุรางคนางค์เปนต้น ก็จะใช้เติมสร้อยให้เต็ม ถ้าใช้ว่ากาพย์คำเดียวไม่มีสร้อย ก็หมายความว่าหนังสือซึ่งกวีแต่ง ตรงกับที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า โปเอ็ตฺรี
กาพย์เก่ากว่าร้อยแก้ว
เราในสมัยนี้บรรดาที่แต่งหนังสือเปน ทุกคนแต่งร้อยแก้วได้ก่อนแต่งกาพย์ได้ เมื่อเปนเช่นนี้ก็น่านึกว่าร้อยแก้วเคยมีมาในโลกก่อนกาพย์ แต่ตำนารวรรณคดีแห่งโลกมิได้เปนเช่นนั้น กาพย์เปนของเก่ากว่าร้อยแก้วทั่วทุกทวีป ร้อยแก้วเกิดมีขึ้นเมื่อมนุษย์มีวิธีเขียนหนังสือแล้ว แลมีเครื่องมือที่จะเขียนได้สดวกแลเขียนได้มาก ๆ ส่วนกาพย์นั้นมีมาก่อนหนังสือช้านานประมาณเวลามิได้
ถ้าตั้งปัญหาว่าเหตุใดจึงเกิดมีหนังสือขึ้นในโลก ก็ตอบว่าเพราะมีวรรณคดีมาก่อน ถ้าตั้งปัญหาว่าเหตุใดวรรณคดีจึ่งเกิด ก็ตอบว่าเพราะมนุษย์มีธรรมดาชอบนึก มีธรรมดาเปนสัตว์อยากรู้อยากเห็น แลเมื่อรู้เห็นแล้วก็ชอบบอกเล่ากันต่อไป
ในสมัยโบราณดึกดำบรรพ์ ก่อนสมัยที่มีหนังสือ ใครอยากจะเก็บความรู้อะไรไว้ ก็ต้องท่องจำจนขึ้นใจ ใช้ความทรงจำเหมือนเดี๋ยวนี้เราใช้ห้องสมุด เหตุดังนั้นในสมัยที่ยังไม่มีหนังสือ ความทรงจำจึ่งจำเปนทั่วไปในหมู่มนุษย์ แลจำเปนมากแลน้อยตามคั่นแห่งความเจริญของประชุมชนนั้น ๆ กาพย์เปนอุบายให้จำได้สดวก เพราะท่องได้ง่ายกว่าร้อยแก้ว แลเมื่อท่องได้แล้วก็จำไว้ได้นาน
ที่ว่าวรรณคดีประเภทกาพย์มีมาก่อนร้อยแก้ว เพราะท่องจำได้ง่ายในสมัยที่ยังไม่มีหนังสือนั้น เปิดปัญหาให้ถามว่าในพุทธกาลก็ได้ท่องจำคำร้อยแก้วกันได้มาก ๆ แล้ว พระไตรปิฎกพึ่งจะเขียนลงเปนหนังสือภายหลังพุทธกาลหลายร้อยปี แลในพระวินัยปิฎกก็มีเรื่องว่าภิกษุเชื้อพราหมณ์ ๒ รูปเข้าไปทูลพระพุทธเจ้าว่ามีภิกษุเกิดในชาติแลสกุลต่าง ๆ กันจำพุทธวัจนะไปผิด ๆ เพราะใช้นิรุตติตามภาษาของตน เพราะฉนั้นขอประทานผูกพุทธวัจนะเปนฉันท์เพื่อจะให้จำได้ง่าย พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต ตรัสสั่งให้จำพุทธวัจนะตามนิรุตติซึ่งพระองค์ทรงใช้ ฉนี้ก็เห็นได้ว่าพุทธวัจนะที่เปนร้อยแก้วนั้นก็จำกันได้ หากคนต่างภาษาจึ่งจำผิด ๆ ไปบ้าง จะว่าวรรณคดีร้อยแก้วไม่มีอย่างไรได้
ปัญหานี้ตอบว่า ที่ว่าวรรณคดีประเภทกาพย์มีมาก่อนนั้น กล่าวตามคำของนักปราชญ์ฝรั่งซึ่งพูดถึงสมัยก่อนพุทธกาลช้านาน ในพุทธกาลมนุษย์มีความรู้ความเจริญขึ้นแล้ว มิฉนั้นจะมีบ้านเมืองใหญ่โตแลมีคนมีปัญญาอย่างไรได้ อนึ่งเรื่องที่มีภิกษุขอให้พุทธวัจนะได้แต่งเปนฉันท์นั้น ก็ทำให้เห็นว่าถึงในสมัยที่คนฉลาดพ้นความเปนชาวป่าชาวเถื่อนมาแล้ว ก็ยังอยากจะมีกาพย์แทนร้อยแก้วเปนเครื่องช่วยความจำ แลอันที่จริงในปริวารคือเล่มสุดท้ายแห่งพระวินัยปิฎก ก็แต่งย่อความลงไว้เปนกาพย์เกือบทั้งนั้น ในหนังสือที่แต่งภายหลังมาอีก เช่นขุททสิกขา มูลสิกขา (ย่อพระวินัย) แลอภิธัมมาวตาร รูปารูปวิภาค (ย่อพระอภิธัมม์) ก็แต่งเปนกาพย์เหมือนกัน
กล่าวต่อสมัยที่ยังไม่มีหนังสือเลยมาคั่นหนึ่ง คือในสมัยที่มีหนังสือแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลาย คนอ่านออกเขียนได้ยังมีน้อย ความทรงจำก็ยังสำคัญอยู่นั่นเอง ไม่พักต้องกล่าวถึงสมัยโบราณดึกดำบรรพ์ แม้ในสมัยปัจจุบัน แลในประเทศสยามนี้เอง ที่มีประชุมชนหลายพวก คือข่าแลเกรี่ยงเปนต้น ซึ่งไม่รู้หนังสือ ยิ่งกว่าไม่รู้ ใช้ภาษาซึ่งไม่มีหนังสือทีเดียว พวกไม่มีหนังสือเหล่านั้นมีเครื่องดนตรีอย่างป่าๆ จนชั้นใบไม้ก็เอามาเป่าเปนเพลง แลมีกลอนร้องรับกันได้ พวกนั้นจำกลอนไว้ได้ เพราะฉนั้นมีวรรณคดีประเภทกาพย์ แต่ไม่มีวรรณคดีประเภทร้อยแก้วเปนแน่ โลกเราในสมัยนี้มีสมุดนับไม่ถ้วน แต่พวกไม่มีหนังสือเหล่านั้นก็ยังต้องอาศรัยความทรงจำเปนที่เก็บความรู้แลวรรณคดีอยู่นั่นเอง
จะขอยกตัวอย่างภายในความจำของคนรุ่นผู้ใหญ่ในเวลานี้มาแสดงให้เห็นข้อที่ว่ากาพย์เปนของท่องง่ายแลจำได้ยืด กรุงสาวถีมีพระราชาทรงนามพระไชยสุริยา มีมเหสีทรงนามนางสุมาลี ตอนต้นบ้านเมืองอยู่เย็นเปนสุข เพราะข้าราชการมีอัชฌาสัยดี พ่อค้ามาแต่เมืองไกลก็ได้ที่อาศรัย ชาวเมืองก็มีแต่ยินดีปรีดา ทำไร่นาหากินโดยสดวก ต่อมาบ้านเมืองซุดโซมไป แลเราจำได้ว่า เหตุที่เริ่มให้เปนเช่นนั้นก็คือข้าราชการไม่อยู่ในศีลในธรรม ในชั้นต้นข้าราชการเหล่านั้นหาหญิงสาวหน้าตาดี ๆ มาเล่นมโหรีที่บ้าน มัวแต่สนุก แลเกิดโลภเพราะสาระวนแต่จะหาเงินมาบำรุงกาม ขุนศาลตุลาการกินสินบลตัดสินความไม่เที่ยงธรรม คนโกงกลับได้ดีมีอำนาจ การบ้านเมืองก็แปรปรวนไปหมด ในที่สุดผีป่ามาทำให้เกิดน้ำท่วม พระราชาพาพระมเหสีแลราชบริพารลงสำเภาหนีน้ำ แล่นไปในทะเลถูกพายุเรือจม แต่สององค์รอดขึ้นบกได้
เรื่องพระไชยสุริยานี้ข้าพเจ้าอ่านเมื่อเรียนมูลบท ก่อนโกนจุกหลายปี ดูเหมือนจะไม่เคยท่อง แต่จำได้เพราะอ่านซ้ำซาก ตั้งแต่นั้นมาจนบัดนี้ก็หลายสิบปีแล้ว ยังจำได้ ไม่แต่ชื่อพระมเหสีพระไชยสุริยา แม้เหตุลเอียดที่ทำให้บ้านเมืองล่มจมก็จำได้ตามลำดับที่กล่าวในเรื่อง ทั้งนี้ก็เพราะเล่านิทานเปนกลอนนั้นเอง ส่วนนิทานซึ่งมิได้เล่าเปนกลอนนั้น ถ้าจำเรื่องได้ก็จำเปนเค้าๆ จะจำเลอียดไม่ได้ หรือถ้าได้ก็ไม่ได้นาน ไม่ต้องพูดอื่นไกล แม้ในนิทานเวตาลท้าวสุพิจารมีมเหสีชื่อไร หรือไม่มีเลย ก็จำไม่ได้ เธอครองเมืองชื่ออะไรก็จำไม่ได้เหมือนกัน
พูดถึงความยากง่ายของการท่องกลอนเทียบกับร้อยแก้ว สมมติว่าท่านจะต้องท่องจำให้ได้ว่า
ข้าพเจ้าจะเล่าถึงนางฟ้าองค์หนึ่งผู้มีสุขอยู่ในวิมาน วันหนึ่งเธอเปิดหน้าต่างเยี่ยมดูลงมายังแผ่นดินเห็นสิงห์คอภู่คลอดลูกอยู่ในป่า
ฉนี้เมื่อท่านท่องจำได้หมดตามลำดับคำแล้ว ถ้าทิ้งเสียสัก ๑๐ วัน กลับไปลองท่องดูอีก คำจะหลุดหายหรือผิดลำดับไปเปนอันมาก แต่ถ้าท่านท่องว่า
จะร่ำปางนางสวรรค์เสวยสุข
อยู่ปรางมุขพิมานสโมสร
เผยพระแกลแลดูแผ่นดินดอน
เห็นไกรษรคลอดลูกในหิมวา
ฉนี้ ท่านจะจำได้ง่าย แต่เมื่อจำได้แล้วจะไม่ลืมไปนาน
เพื่อจะแสดงให้เห็นความอีกชั้นหนึ่ง ขอยกตัวอย่างว่า เมื่อสองสามปีนี้กรมสาธารณสุขคิดอุบายจะสอนคนอ่อนความรู้ให้รู้จักวิธีป้องกันอหิวาตกะโรค จึงจัดให้มีผู้แต่งกลอนง่าย ๆ ว่า
อหิวาต์กำเริบ | |
ล้างมือก่อนเปิบ | ด้วยน้ำประปา |
ผักดิบผักสด | งดเสียดีกว่า |
หากใช้น้ำท่า | จงต้มเสียก่อน |
อาหารหวานคาว | |
เมื่อกินทุกคราว | เลือกแต่ร้อนๆ |
น้ำคลองต้องค้าน | อาหารสำส่อน |
จำไว้ใคร่สอน | กินไม่ดีเลย ฯ |
เมื่อแต่งแล้วก็พิมพ์แจกทั่วไป หนังสือที่พิมพ์แจกนั้นเราทิ้งหายเสียนานแล้ว แต่ยังจำกลอนได้อยู่ด้วยกันโดยมาก แม้ข้าพเจ้าผู้ยกตัวว่าเปนนักกลอนอยู่หน่อย ๆ แลไม่ชมกลอนนั้นว่าเปนกลอนชั้นสูง ยังเขียน อหิวาต์กำเริบ ฯลฯ ข้างบนนี้จากความจำ มิต้องสอบกับใครเลย ในเวลานั้นเด็ก ๆ ที่ยังอ่านหนังสือไม่ออกก็จำกลอนนี้ได้ แลมีมากที่จำได้ทั้งที่ยังไม่โตพอจะเข้าใจ เหมือนพระบวชใหม่ท่อง “พุทฺธฺวารหนฺตวรตา ทิคุณาภิยุตฺโต” (ฉันท์วสันตดิลก) ได้คล่องโดยที่มิได้รู้ความว่ากระไรเลย
ในสมัยโบราณเห็นจะไม่ว่าในทวีปไหน ถ้าที่ใดมีประชุมชนใหญ่ซึ่งหัวน่าคุมพวกไปทำศึก ถ้ารบชนะกลับมาก็ชอบฟังคำสรรเสริญของกวี แลส่วนกวีนั้นเล่า เมื่อแต่งกาพย์ขึ้นแล้วก็ชอบท่องให้หัวน่าแลประชุมชนฟัง ผู้ฟังกับผู้แต่งจึ่งเปนเครื่องยั่วซึ่งกันแลกันไปในตัว ส่วนความคิดหรือภาษิตของกวีนั้นก็ย่อมมีมาในกาพย์มากๆขึ้น กาพย์จึ่งเปนของสำคัญขึ้นทุกที เพราะการท่องกาพย์ให้คนฟังในสมัยโน้นก็คล้ายกับการออกหนังสือข่าวในสมัยนี้ อนึ่งการเล่านิทาน ถ้าเล่าด้วยปากเปนร้อยแก้ว แลมีผู้จำไปเล่าแม้เพียงต่อเดียว ถ้อยคำก็คงจะตกไปเปนอันมาก แม้ใจความที่หลุดไปก็มี ครั้นเล่ากันหลายต่อเข้า นิทานก็จะเหลือสั้นที่สุด แต่ถ้าเล่าเปนกาพย์ไซร์ ถ้อยคำของผู้เล่าเดิมจะอยู่หมด เพราะท่องจำกันไว้ได้ แลนิทานก็อยู่ไปได้นาน เหตุฉนั้นนิทานเก่าจริง ๆ ที่เปนเรื่องใหญ่ ๆ เหลืออยู่ในเวลานี้ ก็ล้วนแต่แต่งเปนกาพย์ทั้งนั้น
เหตุดังกล่าวมานี้ ในสมัยที่ยังไม่มีหนังสือ หรือมีแล้วแต่ยังมีน้อย แลวรรณคดีประเภทร้อยแก้วยังไม่มีนั้น วรรณคดีประเภทกาพย์จึ่งมีเปนอันมาก วรรณคดีสมัยโบราณดึกดำบรรพ์อันอยู่ได้ด้วยความจำของคนนั้น คงจะสูญไปเสียนับไม่ถ้วน แต่ที่จำกันไว้ได้แลสอนให้ท่องจำกันต่อ ๆ มาก็มีเรื่องใหญ่ ๆ ซึ่งเมื่อเขียนลงเปนหนังสือก็หลายเล่มสมุด ในประเทศกรีซโบราณมีโรงเรียนหรือสมาคมกวีซึ่งท่องจำกาพย์เรื่องใหญ่ ๆ ไว้ได้เปนอันมาก กวีผู้เปนครูแต่งกาพย์ขึ้นใหม่ก็นำมาท่องให้ศิษย์ฟังแลสอนให้ท่องจำไว้ เปนต้นว่าฉันท์ของโฮเมอร์ คืออิเลียดซึ่งเปนหนังสือยาวถึง ๒๔ บรรพ แลโอดิซซีย์ซึ่งยาวถึง ๒๕ บรรพ ก็ท่องจำกันต่อๆ มาหลายร้อยปีจึ่งเขียนลงเปนหนังสือ ส่วนการเขียนหนังสือนั้น ในสมัยโน้นย่อมเปนการใหญ่ เพราะใช้หินแลติ้วเปนกระดาด ทั้งเมื่อเขียนแล้วยังมีคนอ่านออกน้อยอีกเล่า โฮเมอร์เองไม่ปรากฏว่าเคยเขียนกาพย์ของแกลงบนหินหรือติ้วสักบันทัดเดียว อนึ่งมีกาพย์โบราณเรื่องหนึ่งยาวกว่ากาพย์ของโฮเมอร์ทั้งสองเรื่องรวมกัน แต่งเมื่อตอนที่มีหนังสือแล้ว แต่ผู้แต่งไม่ได้เขียนไว้ เพราะเขียนก็ไม่เปน อ่านก็ไม่ออก แกไม่รู้หนังสือเสียเลยทีเดียว แต่กระนั้นกาพย์ของแกยังเปนเรื่องใหญ่อยู่เรื่องหนึ่งในวรรณคดีของโลก ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้หนังสือเปนเครื่องช่วยให้มีความรู้ก็จริง แต่ในสมัยที่ยังไม่มีหนังสือ คนก็มีความรู้ได้อย่างสูงทีเดียว ในเวลานี้เรามีหนังสือแพร่หลาย ไม่สู้จะต้องใช้ความจำมากนัก เราไม่จำเปนต้องฝึกฝนความจำเราจึ่งจำไม่เก่ง ในสมัยโบราณเมื่อคนต้องใช้ความจำเปนที่พึ่งนั้น ต้องฝึกความจำกันอยู่เสมอ ความจำของคนสมัยโน้นจึ่งเปนที่น่าพิศวงของคนในสมัยนี้ อนึ่งเมื่อพูดถึงนักกลอนไม่รู้หนังสือ เราย่อมจะรู้อยู่ด้วยกันแล้วว่าชาวนาของเราแต่งกลอนสดเพลงเกี่ยวเข้าแลเพลงแบบอื่นๆ ร้องตั้งแต่หัวค่ำจนดึกก็ไม่จบ แกไม่รู้หนังสือแทบทั้งนั้น ถ้าคนไหนอ่านหนังสือออก ก็อ่านตะกุกตะกักช้ากว่าแต่งกลอนสดมากทีเดียว แกว่ากลอนสดออกมาโดยไม่ต้องนึก แต่เวลาอ่านหนังสือถูกคำยาก ๆ ต้องตรองเสียก่อนจึ่งอ่านออกมา บางทีก็ผิดด้วยซ้ำ
รูปแลน่าที่แห่งกาพย์
กาพย์ย่อมมีรูปแลน่าที่เหมือนสิ่งมีชีวิตแลไม่มีชีวิตทั้งหลาย ที่กล่าวเพียงนี้คงจะเข้าใจยาก จึงจะเพียรอธิบายให้ชัด แต่การอธิบายความชนิดนี้ให้ชัดก็ยากเหมือนกัน
ที่ว่ากาพย์ย่อมมีรูปนั้น เพราะกาพย์ทุกชนิดต้องแต่งตามบัญญัติ โดยมากบัญญัติจำนวนคำในระยะหนึ่ง ๆ บางอย่างบัญญัติไม้เอกโทด้วย บางอย่างบัญญัติคำสั้นคำยาวหรือคำหนักคำเบา บางอย่างบัญญัติให้มีสำเนียงคำรับกันเปนสัมผัส
ถ้าเราแต่งหนังสือระยะละ ๘ คำ คำที่ ๓ หรือที่ ๕ แห่งระยะ ๒ รับกับคำสุดท้ายระยะ ๑ แลคำที่ ๓ หรือที่ ๕ แห่งระยะ ๔ รับกับคำสุดท้ายระยะ ๒ กับระยะ ๓ ไปตั้งแต่ต้นจนจบฉนี้ เรียกว่าเราแต่งหนังสือเปนรูปกลอนแปด
ถ้าเราแต่งหนังสือเปนบท ๆ บทละ ๔ บาท มีไม้เอก ๗ ไม้โท ๔ ในที่อันบัญญัติไว้ มีสัมผัส ๒ สำรับ คือสัมผัสคำที่ ๗ ในบาทที่ ๑ กับคำที่ ๕ ในบาทที่ ๒ กับบาทที่ ๓ สำรับหนึ่ง สัมผัสคำที่ ๗ ในบาทที่ ๒ กับคำที่ ๕ ในบาทสุดท้ายสำรับหนึ่ง ฉนี้ก็คือเราแต่งหนังสือเปนรูปโคลงสุภาพ
ถ้าเราแต่งกาพย์อย่างอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในตำรา เราอาจแต่งเปนรูปฉันท์ รูปร่ายสั้น รูปโคลงสอง เหล่านี้เปนต้น ที่เรียกว่า “รูป” แห่งกาพย์หมายความเช่นที่ว่านี้
ส่วนน่าที่แห่งกาพย์นั้น การแต่งกาพย์คือการให้สำเนียงแก่ความนึกอันเลอียด อันงาม อันสูง ใช้ถ้อยคำซึ่งสามารถยั่วให้เกิดความปลาบปลื้มหรือความรู้สึกอย่างอื่นได้โดยลำพังคำนั้น ๆ เอง หรือโดยประการที่คำเหล่านั้นทำให้นึกให้เห็นต่อไปอีก ความมุ่งหมายในการแต่งกาพย์ก็คือจะให้ความเพลินแก่ผู้อ่านแลผู้ฟัง อาจให้ด้วยสำเนียงแห่งคำ คือสัมผัสดีแลจังหวะห้วงคำดีก็ได้ อาจให้โดยใจความที่กล่าวก็ได้ ในประการที่ให้ความเพลินโดยสำเนียง กาพย์นับเข้าพวกกับดนตรี ในประการที่ให้ความเพลินโดยใจความ กาพย์นับเข้าพวกกับร้อยแก้ว กล่าวอีกนัยหนึ่งกาพย์อยู่ระหว่างร้อยแก้วกับดนตรี อาจเข้าพวกข้างโน้นก็ได้ ข้างนี้ก็ได้ กาพย์ไหนไม่ให้ความเพลินโดยสำเนียงหรือโดยใจความ กาพย์นั้นก็ไม่ทำการตามน่าที่ ไม่ควรได้ชื่อว่ากาพย์ทีเดียว กาพย์ที่ดีแท้ย่อมให้ความเพลินโดยสำเนียงด้วย โดยใจความด้วย แลผู้แต่งที่เปนกวีดีจริง ๆ อาจแต่งให้เกิดความเพลินได้ทั้งสองทาง จนเมื่อผู้อ่านเกิดความปลาบปลื้มแล้ว มิอาจแยกได้ว่าสำเนียงหรือใจความเปนเครื่องให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น
ความเพลิน ๓ ประการ
ความเพลินซึ่งกาพย์ดีย่อมทำให้เกิดแก่ผู้อ่านผู้ฟังนั้น ท่านว่าอาจแยกได้เปน ๓ ประการ คือ เพลินดนตรีนัยหนึ่งความไพเราะแห่งสำเนียงคำอันกระทบกันโดยสัมผัส หรือโดยความขึ้นลงแห่งเสียงสั้นเสียงยาวหรือเสียงต่ำเสียงสูงประการหนึ่ง เพลินปัญญา นัยหนึ่งสบายใจในทางความคิดความรู้ประการหนึ่ง เพลินในวิธีที่กล่าวความนึกออกมาด้วยถ้อยคำอันดูดดื่มประการหนึ่ง
ความเพลินทั้ง ๓ ประการนี้ กลอนดีจริง ๆ อาจให้พร้อมกันหมด แต่ถึงจะไม่พร้อมกันก็ยังเปนเครื่องสำราญอย่างดีอยู่นั่นเอง จะยกตัวอย่างกลอนสุนทรภู่ท่อนหนึ่งซึ่งให้ความเพลินแก่ข้าพเจ้าตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยินผู้อื่นท่องให้ฟัง จำได้ทันที แลได้จำไว้เพื่อจะเพลินทุกครั้งที่นึกถึงกลอนท่อนนั้น เมื่อสองสามวันนี้ข้าพเจ้าได้หยิบนิราสภูเขาทองของสุนทรภู่มาอ่าน เพื่อจะสอบความจำสำหรับที่จะนำมาเขียนหนังสือนี้ ครั้นอ่านแล้วความเพลินของข้าพเจ้าเปลี่ยนไป ดังจะนำมาเล่าต่อไปนี้
“สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา
วาศนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์”
นิราสภูเขาทองเปนกลอนซึ่งสุนทรภู่แต่งเมื่อไปไหว้พระวัดภูเขาทองกรุงเก่า เวลานั้นสิ้นรัชกาลที่ ๒ แล้ว ในรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่เปนคนโปรด เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์กลอนเปนอันมาก ดังทราบกันอยู่แล้ว สุนทรภู่เปนนักกลอนอย่างเอก ได้เฝ้าแหนใกล้ชิดพระองค์ เปนต้นว่าเวลาเสด็จพระราชดำเนิรทรงทอดกระฐินปีละหลาย ๆ วัน วันละหลาย ๆ ชั่วโมง ประทับในเรือพระที่นั่งคราวละนาน ๆ ก็มีเวลาที่จะทรงกลอนได้มาก สุนทรภู่ได้ลงเรือพระที่นั่งกับกวีอื่นที่เปนคนโปรดด้วยกัน เช่น “เคยหมอบรับกับพระจมื่นวัย” เปนต้น
ในรัชกาลที่ ๒ นั้น กล่าวกันว่าสุนทรภู่ทำตัวไม่เปนที่ชอบพระหฤทัยกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เห็นจะเปนเพราะหยิ่งว่าเปนนักกลอนดี แม้เจ้านายผู้ใหญ่ก็ไม่ยำเกรง ถ้าได้ทีจะ “ตักเหลี่ยม” ในทางกลอน แกก็ไม่ละเว้น เรานึกดูในเวลานี้ก็เห็นว่าสุนทรภู่คงจะเปนคนน่าหมั่นไส้ของผู้ที่ไม่เห็นว่ากลอนเปนสิ่งสำคัญที่สุดในโลก แม้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็คงจะโปรดสุนทรภู่แต่ในทางกลอนทางเดียว ในทางอื่นนึกไม่เห็นว่าจะทรงพระกรุณายกย่องได้อย่างไร
การเปนเช่นนี้ครั้นสิ้นรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่ก็ตกอับ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเปนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่รู้ตัวว่าเปนผู้ไม่ถูกพระราชอัธยาศัย ระแวงตัวกลัวราชภัยก็หนีบวช แลเปนธรรมดาของคนที่เคยสำราญหยำเปอยู่กับถ้วยเหล้า เมื่อออกบวชเพื่อจะหลีกเลี่ยงภัย ไม่ใช่โดยศรัทธา ก็ไม่รื่นรมย์ในสมณะเพศ ยิ่งเมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เก่าผู้ทรงพระกรุณาสิ้นไป พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ไม่ทรงพระกรุณา ความน้อยใจอันไม่มีเหตุควรเกิดก็เกิด ผู้น้อยใจโดยประการฉนี้มักเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เก่าประเสริฐทุกอย่าง พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ใช้ไม่ได้ เหตุฉนี้เมื่อสุนทรภู่ได้เขียนไว้ว่า “สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา วาศนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์” แลมีผู้ท่องให้ข้าพเจ้านั่ง ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าดีนัก เพราะได้ความเพลินอย่างน้อย ๒ ประการ คือเพลินโดยสำเนียงไพเราะประการหนึ่ง เพลินเพราะใช้คำสองสามคำ ได้ความลึกซึ้งอย่างหนึ่ง
ข้าพเจ้านึกว่าคำว่าแผ่นดินซึ่งสุนทรภูใช้ในที่นั้นมีความหมายสองอย่าง หมายความว่ารัชกาลอย่างหนึ่ง หมายความว่าพื้นดินอย่างหนึ่ง เมื่อคำนั้นมีความหมายได้สองอย่างเช่นนี้ กลอนท่อนนั้นก็อ่านได้ความลึกซึ้งว่า ในสมัยที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์เก่ายังทรงปกครองบ้านเมืองบำรุงอาณาประชาราษฎรอยู่นั้น แผ่นดินชุ่มชื่นมีรสหอมหวาน กล่าวนัยหนึ่งพื้นดินเปนที่เกิดแห่งพืชพรรณ์ธัญญาหารแลบุบผชาติอันตระการ เมื่อไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอยู่เย็นเปนสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล แม่ธรณียินดีในพระมหากษัตร์ก็ช่วยส่งเสริมความสมบูรณ์ให้เกิดยิ่ง ๆ ขึ้น หรือถ้าจะกล่าวอีกอย่างหนึ่ง เมื่อราษฎรมีความร่มเย็น พื้นดินก็ให้ผลมาก ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เก่าสิ้นไป พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ไม่ดี รสแห่งแผ่นดินก็สิ้นไป ราษฎรไม่มีความสุข แลวาศนาของสุนทรภู่เองโดยเฉพาะก็สิ้นไป เพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่บำรุงความสามารถในตัวคน ถ้าจะเปรียบต่อไปให้ถึงใจ ก็คือว่าแผ่นดินไม่มีดอกไม้หอม แมลงภู่จะอาศรัยอยู่เปนสุขอย่างไรได้
ถ้าอ่านเข้าใจตามความที่กล่าวนี้ กลอนท่อนนั้นของสุนทรภู่ก็ดีนัก ถ้าเจ้าของแต่งไว้ลุ่น ๆ ข้าพเจ้าคนหนึ่งจะเข้าใจเช่นที่ว่ามาแล้ว แลเมื่อกล่าวชี้ทางความเข้าใจเช่นข้างบนนี้แล้ว ผู้อ่านบางคนที่ไม่เคยอ่านนิราสภูเขาทองอาจพลอยเห็นจริงด้วยก็ได้
แต่เมื่อสองสามวันนี้เกิดกลแตก เพราะข้าพเจ้าไปจับอ่านนิราสภูเขาทองเข้า ในนิราสนั้นกล่าวไว้แจ่มแจ้งว่า ในเวลาที่สุนทรภู่หมอบแต่งกลอนรับกับจมื่นวัยในเรือพระที่นั่งเวลาเสด็จพระราชดำเนิรทรงทอดกระฐินนั้น ได้อยู่ใกล้พระองค์จนได้กลิ่นน้ำอบที่ทรงทา ครั้นสวรรคตเสียแล้ว ก็ไม่ได้กลิ่นน้ำอบนั้นอีก วาศนาของสุนทรภู่สิ้นไปเหมือนกลิ่นน้ำอบนั้นเอง เมื่อหมายความเพียงเท่านี้ กลอนท่อนนั้นก็ดีน้อยลง ไม่ให้ความเพลินสุขุม เพราะความที่กล่าวนั้นเปนความเปรียบนิดเดียว ความเพลินในวิธีที่กล่าวความนึกออกมา ด้วยถ้อยคำอันดูดดื่มกินความไปได้กว้างขวางลึกซึ้งก็หมดไปทันที ความเพลินของข้าพเจ้าที่เคยมีนั้นเปรียบเหมือนเด็กเพลินลูกปี๊บที่เป่าลมเล่นอยู่ดี ๆ มันก็แตกกลายเปนขี้ริ้วยางไป. ขี้ริ้วยางนั้นก็ยังอยู่ จะใช้เชือกผูกเป่าเปนลูกปี๊บเล็ก ๆ อีกก็ได้ แต่จะทำอย่างไรมันไม่เหมือนลูกใหญ่
ข้าพเจ้านำกลอนท่อนนั้นมากล่าว ไม่ใช่เพื่อแสดงความหลงซึ่งเกิดแต่ความคิดเลื้อยเจื้อยของเราเอง หมายจะแสดงว่าความเพลินดนตรี แลเพลินวิธีกล่าวความนึกออกมานั้น ถ้ากลอนท่อนนี้ไม่เกิดวิบัติเสีย ก็จะให้ความเพลินชนิดที่ว่านั้น
นักกลอนแลกวี
ตามที่เขียนมาแล้วในหนังสือนี้ ได้ใช้คำว่านักกลอนแลคำว่ากวีปน ๆ กันไป คำสองคำนั้นใช้ในหนังสือนี้ผิดกัน จึงควรอธิบายเสียหน่อย มิฉนั้นผู้อ่านจะไม่เข้าใจความหมายของผู้แต่ง
คำว่ากวีกว้างกว่าคำว่านักกลอน กวีแต่งฉันท์มีสัมผัสก็ได้ไม่มีสัมผัสก็ได้ ส่วนนักกลอนนั้นแต่งมีสัมผัสเสมอ ถ้าจะยกตัวอย่างกวีในภาษาอื่น มิลตัน (อังกฤษ) กาลิทาส (อินเดีย) งิมชาม (จีนครั้งราชวงศ์ถัง) เหล่านี้ล้วนแต่เปนกวีชุดเอก แต่ไม่ใช่นักกลอนทั้งนั้น กวีไทยที่เคยแต่งไม่มีสัมผัส มีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์หนึ่ง ได้เคยเห็นทรงแต่งโคลงไม่มีสัมผัส แลดูเหมือนจะเคยทรงลองแต่งหนังสือชนิดที่อังกฤษเรียกว่า แบลงก์ เวอซ คือฉันท์ไม่มีสัมผัสบ้าง แต่พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์กลอนไว้มาก เพราะฉะนั้นก็มีพระนามเปนนักกลอนเหมือนกวีไทยอื่น ๆ เหมือนกัน ต่อไปกวีไทยที่ไม่เปนนักกลอนอาจมีขึ้น แลการไม่นิยมสัมผัสอาจเกิดในภายน่า เพราะถ้าแต่งบังคับครุลหุมีจังหวะอักษรกระทบกันให้ดี ฟังสำเนียงขึ้นลงเต้นอย่างที่เรียกว่าคุทราดเหยียบกรวดไซร้ ถึงฉันท์ไม่มีสัมผัสก็เชื่อว่าจะไพเราะได้
เมื่อใช้คำว่านักกลอนกับคำว่ากวีมีความหมายเพี้ยนกันฉนี้ ก็ควรมีอธิบายอีกข้อหนึ่งเพื่อกันความเข้าใจผิดของผู้อ่านที่รู้ภาษาอังกฤษ เพราะในภาษานั้นมักใช้คำว่า นักกลอน (ไรเมอร์ หรือ ไรมสเตอร์) เปนคำหมิ่นว่าไม่ใช่กวีแท้ ไทยเราใช้คำว่านักกลอนไม่หมายความเปนคำหมิ่น หนังสือที่กวีไทยแต่งย่อมมีสัมผัสรับกันทั้งนั้น กวีไทยทุกคนจึงเปนนักกลอนไปในตัว ส่วนในภาษาอังกฤษนั้น อันที่จริงกวีก็ได้แต่งฉันท์มีสัมผัสกันมาตั้งแต่ชอเซอร์ (ตาย ค.ศ. ๑๔๐๐) ซึ่งเรียกกันว่า “บิดาแห่งกาพย์อังกฤษ” กาพย์ไม่มีสัมผัสพึ่งจะมามีขุนนางผู้หนึ่งชื่อเซอร์รีย์ (ถูกประหารชีวิต ค.ศ. ๑๕๑๗) ริแต่งขึ้นราวๆ เดียวกับที่นักกลอนไทยแต่งโคลงยวนพ่ายครั้งกรุงเก่า. อนึ่ง กวีสำคัญ ๆ ของอังกฤษคือ ชอเซอร์ โปป ไบรอน เปนต้น ก็แต่งฉันท์มีรับกันเปนกลอนทั้งนั้น แต่ไม่เคยได้ยินใครว่าท่านเหล่านั้นไม่ใช่กวีแท้เลย.
คุณสมบัติของกวี
กวีจำต้องมีคุณสมบัติบางอย่างซึ่งจำเปนเพื่อแต่งกาพย์อย่างดี แต่ถ้าจะกล่าวกระจายโดยพิสดารก็จะฟั่นเฝือนัก จำจะกล่าวแต่พอควร มีทันให้ผู้เขียนเบื่อเขียน แลผู้อ่านเบื่ออ่าน
ข้อต้นกวีต้องมีความรู้ พูดเช่นนี้เปนการพูดกำปั้นตีดิน ไม่มีความรู้จะแต่งอย่างไรได้ แต่คำว่าความรู้นั้นเปนคำยืดได้ รู้นิดเดียวก็เรียกว่าความรู้ รู้มากก็เรียกว่าความรู้ แลความรู้บางอย่างอาจไม่เปนประโยชน์แก่กวีก็ได้ ความรู้ซึ่งกล่าวว่ากวีจะต้องมีนั้น หมายถึงความรู้อันจะใช้เปนเครื่องมือได้ ความรู้เปนเครื่องช่วยให้นึกได้กว้าง เพราะสิ่งที่เราไม่รู้นั้นเราไม่อาจนึกไปถึง ต่างว่าท่านไม่รู้เรื่องรามเกียรติ์ ท่านจะแต่งกลอนว่าด้วยหมอดูทายแม่น ท่านจะไปนึกเอาพิเภกมาเปรียบอย่างไรได้ จริงดอกกวีบางคนอาจหย่อนความรู้กว่าคนอื่น แต่แต่งกลอนดีกว่า นั่นเปนเพราะคุณสมบัติอย่างอื่นเข้ามาช่วย หาใช่ดีกว่าเพราะรู้น้อยกว่าไม่. จะยกตัวอย่างว่านักกลอนไทยในสมัยนี้แทบทุกคนได้รับความศึกษามีความรู้รอบตัวสูงกว่าสุนทรภู่ แต่มีน้อยคน (ถ้ามี) ที่แต่งกลอนสู้สุนทรภู่ได้ ทั้งนี้เปนด้วยคุณสมบัติอย่างอื่นของแก
ได้กล่าวมาข้างต้นว่ากาพย์อย่างดีซึ่งทำให้ผู้อ่านเพลิดเพลินนั้น ผู้อ่านแยกไม่ออกว่าเพลินเพราะสำเนียงเพียงไหน เพราะใจความเพียงไหน ดูกลมเกลียวกันไปหมด ส่วนตัวกวีเองไซร้ สำเนียงอันไพเราะแลใจความอันสุขุม ย่อมคลุกเคล้าอยู่ในกระแสปัญญาของเขาซึ่งไหลออกมาเปนกาพย์ เหมือนแป้งกับน้ำมันหอมซึ่งเมื่อผสมเข้ากันแล้ว จะแยกว่าแป้งเพียงไหน น้ำมันหอมเพียงไหนหาได้ไม่ เมื่อเชกสเปียแต่งฉันท์ดีออกมาชิ้นหนึ่งแล้วจะพิจารณากระจายออกไปว่าคณะฉันท์หรือสัมผัสหรือคำหรือความก็ไม่ได้ ทั้งหมดนั้นเปนชิ้นเดียวกัน แยกไม่ออก เมื่อสุนทรภู่แต่งกลอนตอนที่พี่เลี้ยงนางเกษราเปนใจกับพราหมณ์ศรีสุวรรณกล่อมนางเกษรา
๏ ว่าปางหลังยังมีเจ้าพราหมณ์น้อย
โฉมแฉล้มแช่มช้อยดังเลขา
ทั้งผิวเหลืองเรืองรองดังทองทา
เที่ยวเสาะนุชนางมาทางไกล
เวลาค่ำน้ำค้างลงพร่างพร้อย
พ่อโฉมงามพราหมณ์น้อยจะนอนไหน
สตรีงามสามภพไม่สบใจ
จะใคร่ได้ดอกฟ้าลงมาเชย ฯ
ฉนี้ เมื่อข้าพเจ้าอ่านก็เห็นว่าดีนัก แต่แยกไม่ออกว่าดีเพราะอะไรตรงไหน ต้องว่าดีทั้งสิ้น อันที่จริงถ้าไปแยกเข้าก็น่ากลัวจะเลยเสีย เพราะสุนทรภู่เปนนักกลอนยิ่งกว่านักปราชญ์ กังวลอยู่ในสำเนียงคำ ไม่ระมัดระวังทางอื่นกวดขันนัก
คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของกวีดี คือความสามารถนิรมิตภาพขึ้นได้ในความนึกของตน สิ่งที่ไม่มีแลไม่ได้เกิดก็ทำให้มีเกิดในความนึกได้ ที่ใช้คำว่านิรมิตนี้ไม่แน่ว่าถูกตรง เพราะภาพที่เกิดในความนึกนั้น ค่อนข้างจะเกิดเองยิ่งกว่าเกิดโดยความตั้งใจให้เกิด แต่จะว่าตั้งใจเพียงไหน ไม่ตั้งใจเพียงไหนก็ยาก จึงตกลงใช้ว่า นิรมิต เพื่อความสดวก ถ้าท่านยังไม่เข้าใจเดี๋ยวนี้ เชื่อว่าอีกประเดี๋ยวท่านจะเข้าใจว่าหมายความอย่างไร
ข้อที่กล่าวว่ากวีดีสามารถนิรมิตภาพขึ้นได้ในความนึกนั้น ถ้าผู้อ่านเลือกจะเข้าใจผิด ก็คงจะว่าถ้าเช่นนั้นกวีกับบ้าก็อันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ถ้าเลือกจะเข้าใจถูก ก็คงจะเห็นว่า คนที่นึกอะไรไม่ได้เกินที่ยินด้วยหูรู้ด้วยตานั้น ไม่มีคนไหนจะเปนกวีดีได้เลย.
ความสามารถทำให้ภาพเกิดในความนึกเช่นที่ว่ามานี้ เปนคุณสมบัติสำคัญนัก กวีคนไหนไม่มี คนนั้นยังไม่ใช่กวีแท้ แต่ความสามารถชนิดนี้ไม่ใช่มีแต่กวี คนอื่น ๆ ยังมีอีกหลายพวก แต่คนเหล่านั้นมักจะสงเคราะห์เข้าว่าเปนกวีตามคติฝรั่ง เปนต้นว่านายช่างผู้ให้แบบก่อสร้างก็อาจเปนกวีในวิชาของเขา แต่หาใช่กวีแต่งหนังสือไม่ นายช่างชนิดนั้นอาจเห็นตึกที่ยังไม่ได้สร้างได้ในความนึกของเขาในเวลาออกแบบ ท่านแลข้าพเจ้าผู้ไม่ใช่ช่างไปเห็นตึกนั้นเมื่อสร้างเสร็จแล้ว อาจเห็นน้อยกว่าที่นายช่างเห็นในใจเมื่อตึกยังไม่ได้สร้างก็ได้ ช่างเขียนจะเขียนรูปบางทีต้องการคนมานั่งเปนหุ่น คนสมัคมารับจ้างนั่งเปนหุ่นหลายคนด้วยกัน เขาเลือกเอาคนที่เหมาะ แลเหตุที่เขาทราบว่าคนไหนจะเหมาะก็เพราะเขาเห็นรูปที่จะเขียนนั้นในความนึกของเขาเสียแล้ว
เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว ก็เห็นได้ว่าความสามารถนิรมิตภาพขึ้นในความนึกนั้น มิใช่คุณสมบัติของกวีโดยเฉพาะ แต่กวีดีต้องมี ไม่มีไม่ได้ เมื่อมีความสามารถเช่นนั้นแล้ว ถ้าเปนกวีดีก็ยิ่งต้องมีคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งซึ่งคนอื่น ๆ น้อยจำพวกจะมี คือความสามารถทอดน้ำใจลงไปเปนจริงเปนจังจนลืมอื่นหมด จะพูดข้อนี้ให้เห็นง่ายต้องเอาโขนลครมาเปรียบ คือโชนลครตัวดีถ้าเปนตัวอะไรก็ลืมตนเองจนกลายเปนตัวนั่นไปจริงๆ เหมือนโขนตอนถวายลิง ถ้าทศกัณฐ์ดีก็มักจะโกรธจริงจนคนดูเห็นได้ว่าไม่ได้แกล้ง โขนตัวลือเคยมีพ่อลูกคู่หนึ่งพ่อเปนฤษี ลูกเปนทศกัณฐ์ เมื่อเล่นตอนถวายลิงทศกัณฐ์โกรธจริง ตีลิงๆหลบถูกฤษีเข้าจริงๆ จนเปนรอยไปทั้งตัว พอเข้าโรงถอดหัวโขนออกแล้ว ผีทศกัณฐ์ออก ลูกตกใจเข้าไปกราบไหว้ขอโทษพ่อ พ่อไม่โกรธ กลับชอบใจว่าลูกเปนทศกัณฐ์ดี เล่นถูกบท
โขนตัวดีสวมหัวทศกัณฐ์เข้ากลายเปนทศกัณฐ์ไป เพราะทอดน้ำใจลงไปเปนจริงเปนจังตามบทฉันใด กวีดีย่อมจะทอดน้ำใจลงไปในกาพย์ที่แต่งฉันนั้น ถ้ากวีรู้สึกจริงจังในเวลาแต่ง ผู้อ่านจะเห็นความจริงจังในเวลาอ่าน ถ้าท่านเคยอ่านหนังสือว่าด้วยเชกสเปีย ท่านอาจเคยพบแล้วที่เขาเขียนว่า เมื่อเชกสเปียเขียนบรรยายถึงตัวแฮมเล็ตนายโรงเอกนั้น ตัวเชกสเปียกลายเปนแฮมเล็ตไปเอง หาใช่เพียงแต่บรรยายไม่
มีนักกลอนไทยคนหนึ่งกล่าวให้คนอื่นฟังว่า เมื่อกำลังแต่งกลอนเรื่องหนึ่งอยู่นั้น ในเวลาที่เขียนว่าด้วยนางเอก ได้เกิดเสนหานางนั้นเหมือนรักผู้หญิงมีตัวมีตน เมื่อว่าถึงตอนที่นางเอกได้ทุกข์ก็สงสารจริงๆ จนเกิดเศร้า ภายหลังรู้สึกตัวก็กลับเห็นขัน แต่พอใจกลอนของตนในตอนนั้น ๆ ยิ่งนัก
ที่เรียกว่าความสามารถทอดใจลงไปเปนจริงเปนจังนั้น หมายความดังที่ยกตัวอย่างมานี้ การทอดใจลงไปนั้น เปนไปเอง ไม่ได้แกล้ง ถ้าจะว่าก็เหมือนผีเข้าสิง แต่ถ้าแต่งเรื่องซึ่งไม่พอใจ ไม่มีปีติที่จะแต่ง ผีไม่สิง ก็ทอดใจลงไปไม่ได้ เหตุดังนี้จึงมีคำฝรั่งกล่าวว่า กวีจะแต่งกาพย์ เหมือนผู้ทำของขายทำสินค้าซึ่งมีผู้สั่งซื้อนั้นไม่ได้
ก่อนย้ายไปตั้งหัวข้อใหม่ ต้องกล่าวข้อสำคัญข้อหนึ่ง ซึ่งครอบใจความบางข้อที่อธิบายมาแล้ว คือว่ากวีต้องเปนนักแปลอย่างเลิศ สามารถแปลความนึกของตนลงเปนถ้อยคำไพเราะได้ เหมือนช่างเขียนใช้สีแปลความนึกลงเปนรูปภาพฉนั้น ความสามารถนิรมิตภาพขึ้นได้ในความนึกนั้นอาจมีในคนผู้มิใช่กวี คือคนที่นึกแล้วไม่สามารถแปลออกเปนถ้อยคำได้ พวกนั้นไม่เปนกวี แลคำที่เขากล่าวกันว่ากวีใบ้ไม่มีนั้น เขาหมายความเช่นนี้
นักกลอน ๒ จำพวก
จำพวกแห่งกวีถ้าจะแยกตามที่กล่าวไว้ในบาลี (จตุกนิบาต อังคุตตรนิกาย) ก็มี ๔ จำพวก เรียกว่า จินตากวี สุตกวี อัตถกวี แล ปฏิภาณกวี อธิบายตามอัตถกถา (มโนรถปูรณี) ว่า ผู้ใดคิดแล้วกระทำกาพย์ ผู้นี้ชื่อจินตากวี ผู้ใดฟังแล้วกระทำ ผู้นี้ชื่อสุตกวี ผู้ใดอาศรัยอัตถกระทำ ผู้นชื่ออัตถกวี ผู้ใดกระทำในทันทีนั้นด้วยปฏิภาณของตน เหมือนพระวังคีสเถร ผู้นี้ชื่อปฏิภาณกวี
แต่ถ้าเราไม่ชอบวิธีจำแนกอย่างข้างบน แลไม่ชอบวิธีของใคร จะจำแนกตามใจของเราเองในหนังสือของเราก็ย่อมจะได้ ในเบื้องต้นได้กล่าวว่ากวีดีจริง ย่อมจะให้ความเพลินโดยสำเนียงด้วย โดยใจความด้วย แต่ในที่นี้ เราพูดถึงนักกลอนยิ่งกว่าพูดถึงกวีที่แต่งไม่มีสัมผัส จึ่งอยากจะจำแนกตามอำเภอใจ ซึ่งในที่นี้เปนอำเภออิศระว่า นักกลอนมี ๒ จำพวก คือนักกลอนซึ่งพะวงมากในเรื่องสัมผัสทั้งนอกแลใน เพ่งเอาสำเนียงไพเราะเปนใหญ่จำพวกหนึ่ง นักกลอนที่เพ่งเอาใจความเปนใหญ่จำพวกหนึ่ง
นักกลอนที่เพ่งเอาสำเนียงเปนใหญ่นั้น มิใช่จะไม่นึกถึงใจความทีเดียวก็หามิได้ อันที่จริงก็ย่อมจะเพียรให้ใจความแจ่มแจ้งเหมือนกัน แต่ถึงกระนั้นก็เห็นว่าความไพเราะสำคัญกว่า มิฉนั้นจะแต่งกลอนกันทำไม แต่งร้อยแก้วเสียมิดีกว่าหรือ ธรรมดาคนอ่านกลอนไม่ควรอ่านลวก ๆ หรือรีบอ่านเพื่อจะเอาใจความ ถ้าไม่มีเวลาจะอ่านช้า ๆ เพื่อได้กลืนรสไพเราะของกลอน ก็ชอบที่จะอ่านร้อยแก้ว หาควรอ่านกลอนไม่ คนอ่านกลอนก็เพื่อดนตรีที่มีในถ้อยคำ เหมือนดื่มสุราเมรัยดี ถ้ารีบกลืนเฮือก ๆ เข้าไป ก็ได้แต่ความมึนเมา หาได้ความเพลินในรสแห่งของดีนั้น ๆ ไม่ เมื่ออ่านกลอนเพลินในรสไพเราะ ก็ต้องอ่านช้า ๆ ชอบตรงไหนก็ทวนอ่านอีก ตรงไหนไม่เข้าใจทันทีก็อ่านซ้ำ ความไพเราะย่อมจะกันมิให้เบื่ออยู่แล้ว
นักกลอนจำพวกนี้ เพราะหมกมุ่นในเรื่องสัมผัส จึงมักต้องวางลำดับคำแปลกกับที่ใช้กันธรรมดา ทำให้ผู้อ่านไม่เข้าใจทันที หรือใช้ศัพท์ซึ่งมีคนรู้น้อย ทำให้คนอ่านโดยมากไม่เข้าใจความที่ตรงนั้น การทำเช่นนี้ ถ้าพูดในทางที่ได้สำเนียงไพเราะ ก็สำเร็จตามหมาย แต่ถ้าพูดในทางที่ไม่ให้ใจความแจ่มแจ้งเข้าใจซึมซาบได้ทันที ก็อาจนับได้ว่ามีตำหนิ จะลองยกตัวอย่างกลอนซึ่งผู้แต่งจะลงสัมผัสสระแลอักษรให้จงได้ แต่ไม่มีคำง่าย ๆ จะใช้ ต้อง “ขุด” เอาคำแปลก ๆ มาใช้ โดยที่ผู้แต่งเองก็ไม่เคยเห็นใช้ที่ไหนเลย แต่การยกตัวอย่างเช่นนี้ นึกหาตัวอย่างยาก ทั้งอาจเกิดความเข้าใจผิดว่าผู้เขียนกล่าวตำหนิเจ้าของกลอน เพราะฉนั้นจะยกตัวอย่างซึ่งไม่ควรยกเพราะผิดมรรยาทของผู้แต่งหนังสือ แต่ในที่นี้จะยอมผิดมรรยาทเพื่อป้องกันมิให้ผู้อ่านเข้าใจว่ากล่าวตำหนิเจ้าของกลอน
ตัวอย่างกลอนที่เขียนไว้ต่อไปนี้ เปนคำหญิงกล่าวยั่วยวนชายผู้ประหม่า
๏ อ้าภมรอ่อนเขลาเบาราค | แสนยากผกาย้อยห้อยหา |
คิดแสนแค้นสุดบุษบา | เกิดมาเพื่อภู่ชูชม |
พบภู่ผู้ประหม่าราคะ | ลอยละเริศร้างห่างสม |
หลีกเลี่ยงเอียงอายงายงม | อารมณ์ลุ่ยเหลือเบื่อจริง |
ปะลาภไป่รู้ว่าลาภ | โดยสภาพพึงภู่สู่สิง |
น่าที่พี่ภมรวอนวิง | อ้อนอิงองค์อนุชบุษบา |
มธุกรหย่อนในน่าที่ | ไม่มีหฤทัยใฝ่หา |
บุบผาอาภัพอับภา | วชะน่ากังวลผลกรรม |
เรณูชูสุคนธ์กล่นกลั้ว | ยวนยั่วให้มธุปอุปถัมภ์ |
มธุกรจรจากตรากตรำ | ชอกช้ำอ้างว้างปางมรณ์ |
สงสารมาลย์ผกาหน้าโศก | รุมโรครักเรื้อเหลือถอน |
ในยามปัจจุบันอันร้อน | เชิญภมรมั่วเคล้าเสาวคนธ์ ฯ |
ในกลอนนี้ คำที่แปลว่าแมลงภู่มีพอจะใช้ได้กี่คำที่เข้าสัมผัสได้ ก็นำมาใช้ทั้งนั้น คำว่า ภมร พอรู้ได้ทั่ว ๆ กัน แต่ มธุป มธุกร เปนคำซึ่งถ้าไม่จำเปนใช้เพื่อสัมผัสก็คงไม่ใช้เปนแน่ คำร้ายที่สุดคือ ภาวช ซึ่งไม่เคยเห็นใช้ที่ไหนในหนังสือไทย ยังไม่ “เข้าร่วมธง” ไทยเลย ยังเปนชาวต่างประเทศอยู่แท้ ๆ แต่เมื่อผู้แต่งกลอนเขียนลงไปว่า อาภัพ แล้วก็อยากจะเขียนว่า อัพภา ต่อกันไป จะเขียนเช่นนั้นไม่ได้ เพราะไม่ได้ความ ต้องเกาหัวอยู่นานนักหนาก็ไม่สำเร็จ ติดอยู่เช่นนั้นหลายวัน ในที่สุดต้องเปลี่ยนตัวสกดเปน อับภา แล้วเอา วช เข้าช่วย หมายความว่าอับความรัก ยากที่จะเข้าใจได้ นี่เปนตัวอย่างนักกลอนที่จะเอาสัมผัสในให้จนได้ จะเสียเวลาเท่าไรก็ไม่ว่า แต่เมื่อได้ดังต้องการแล้ว ความแจ่มแจ้งจะมีก็หาไม่เลย
ขอยกตัวอย่างอีกครั้งหนึ่ง เปนตัวอย่างร้ายกาจมีอยู่ในโคลงยวนพ่าย ซึ่งแต่งครั้งกรุงเก่า ไม่ทราบว่าใครแต่ง
๏ ตรีศรีตรีเนตรต้าน | ตรีศักดิ์ ก็ดี |
ตรัสท่านตรัสปานตรัส | ท่านได้ |
ไตรตรึงษ์คดีตรัส | ไตรถ่อง |
ตรีโทษตรีคุณไท้ | เลิดลือ ฯ |
โคลงนี้ไพเราะดี แลที่ข้าพเจ้าเขียนข้างบนนี้ก็เขียนโดยความจำ มิต้องเปิดดูในสมุด การที่จำได้ก็เพราะไพเราะ แต่ถ้าพูดส่วนความ ข้าพเจ้าก็เห็นเสมอกับแต่งเปนภาษาฮอลันดา ไม่เข้าใจเลยว่าโคลงบทนั้นพูดว่ากระไร เหตุที่ไม่เข้าใจนั้น อาจเปนด้วยเวลาห่างกันนานนับหลายร้อยปี เราไม่มีความรู้ถอยหลังไปถึงสมัยนั้นลึกซึ่งพอจะเข้าใจโคลงที่นักปราชญ์แต่งไว้ อีกประการหนึ่งนักกลอนโบราณอาจตั้งใจแต่งโคลงเปนปฤษณา แกล้งให้เข้าใจยาก เพื่อให้ผู้อ่านต้องไต่ถามเล่าเรียนต่อผู้รู้ก็เปนได้ ข้อที่เราไม่เข้าใจนั้นต้องไม่ว่าเปนความเลวของผู้แต่งแต่ครั้งกระโน้น ต้องว่าเปนความโง่ของเราเอง
แต่โคลงข้างบนนี้มีผู้แปลไว้โดยความตั้งใจดี เพื่อจะให้เราเข้าใจ เปนต้นว่าบาทสอง “ตรัสท่านตรัสปานตรัส ท่านได้” แปลว่า “ตรัสสิ่งใดเสมอพระพุทธฎีกาตรัส” ฉนี้ เหตุไฉนจึงแปลได้ความเช่นนั้นเราก็ไม่รู้เลย ข้าพเจ้าอ่านคำแปลแล้วอยากจะพูดเหมือนไบรอนนินทาโคเลอรีดช์ว่า
Explaining Metaphysics to the nation--
I wish he would explain his Explanation.
นักกลอนอีกจำพวกหนึ่งซึ่งจำแนกตามอำเภอใจอิศระดังกล่าวมาข้างบนนั้น ก็คือนักกลอนผู้เพ่งเอาใจความเปนใหญ่ นักกลอนจำพวกนี้จะว่าไม่นิยมความไพเราะก็ไม่ถูก เพราะจะต้องตอบปัญหาว่าความไพเราะคืออะไรเสียก่อนจึ่งจะพูดเช่นนั้นได้ คนสองคนอาจเห็นไพเราะคนละอย่าง เหมือนบางคนชอบฟังเดี่ยวระนาดเอก บางคนชอบซออู้ บางคนก็ชอบแปลกไปอีก เหตุฉนั้นจำเพาะตรงนี้เมื่อพูดถึงความไพเราะของกลอน ก็ต้องหมายเอาความไพเราะชนิดที่นักกลอนผู้แต่งนั้นเองชอบ มิใช่ความไพเราะซึ่งถูกหูคนอื่น
เมื่อเข้าใจกันฉนั้นแล้ว ก็ยังกล่าวได้ว่านักกลอนจำพวกที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ เมื่อจะต้องเลือกระหว่างความไพเราะแห่งสำเนียงคำ กับความแจ่มแจ้งแห่งใจความ ก็ยกความแจ่มแจ้งเปนใหญ่
ถ้าจะแสดงตัวอย่างกลอนซึ่งนักกลอนจำพวกนี้แต่ง แลใช้ตัวอย่างซึ่งไม่เคยมีที่ไหนเพื่อกันมิให้เกิดความเข้าใจผิดว่ากล่าวตำหนิเจ้าของกลอน ก็แสดงได้ดังนี้
๏ สมเด็จพระพุทธเจ้า | ตรัสธรรม |
ว่าทุกข์มีประจำ | ทุกผู้ |
ความใคร่นั่นไซร้นำ | สู่ทุกข์ |
หมดใคร่หมดทุกข์รู้ | มรรคแผ้วไพบูลย์ฯ |
โคลงบทนี้คงจะเห็นกันหลายคนว่าไม่เลว เก็บความมาบรรจุดี เข้าใจง่าย อ่านเกลี้ยงหู ไม่มีพลาดที่ไหน แต่คงจะมีหลายคนที่ติว่าไม่ไพเราะเลย
นักกลอนจำพวกที่แต่งกลอนเช่นโคลงข้างบนนี้ เห็นว่าน่าที่ของคำพูดก็คือเปนพาหนะสำหรับพาความนึกจากในใจของคน ๆ หนึ่งไปสู่ความเข้าใจของคนอีกคนหนึ่งหรือหลายคน เปนต้นว่านายมั่งนึกจะให้นางลออทราบว่านายมั่งต้องการจะได้เงินของนางลออชั่วคราวเปนจำนวน ๕ บาท นายมั่งก็บอกนางลออว่า “ยืมเงิน ๕ บาท” ฉนี้ คำสี่คำนั้นเปนพาหนะพาความนึกในใจของนายมั่งไปให้นางลออทราบได้ ก็เมื่อคำพูดเปนพาหนะเช่นนี้ ถ้าพูดออกมาแล้ว คนอื่นไม่เข้าใจทันที ก็เปนเพราะผู้พูดเลือกพาหนะไม่เหมาะ เหมือนเลือกควายเปนพาหนะสำหรับข้ามแม่น้ำ จะสู้เรืออย่างไรได้ ต่างว่าเราต้องการจะข้ามแม่น้ำจากท่าวัดพระเชตุพนไปวัดอรุณ ถ้าเราลงเรือจ้างไม่รั่วคนแจวดี เราก็ไปถึงฝั่งโน้นได้เร็ว ถ้าเราลงเรือจ้างซึ่งคนแจวเปนขี้ยา แจวขืนกระแสน้ำไม่ไหว เรือก็อาจลอยไปถึงปากคลองบางกอกใหญ่ ต้องแจวทวนน้ำขึ้นมาอีกช้านานจึ่งถึงวัดอรุณ ถ้าเปนเช่นนั้นเรือจ้างซึ่งอ้ายขี้ยาเปนคนแจวก็ไม่ใช่พาหนะดี แลถึงหากว่าในเวลาที่ต้องแจวทวนน้ำอยู่นั้น เราได้เห็นของเพลินตาเพลินใจต่าง ๆ เปนต้นว่าต้นไม้ตระการด้วยดอกผล บ้านเรือนอันสง่างดงาม หรือแม้นางสาวสวยที่สุดสักหกคนก็ตาม แต่เครื่องเพลินเหล่านั้นอยู่นอกความประสงค์แท้จริงของเรา คือความต้องการจะข้ามฟาก เรือจ้างอ้ายขี้ยาเปนพาหนะไม่ดีเพราะไม่ทำน่าที่พาเราไปถึงวัดอรุณโดยเร็ว
ความนึกในใจของเราที่จะให้รู้ไปถึงคนอื่นนั้น ที่ต้องใช้กิริยาใบ้เปนพาหนะก็มีบ้างบางที แต่มีน้อย เราคงจะใช้คำพูดเสมอ ๆ ถ้าเราเลือกแต่งคำพูดของเราเปนกลอน ก็คือเราเลือกพาหนะให้มีรูปวิจิตรบรรจงขึ้น แต่เมื่อเราเลือกเช่นนั้นแล้ว ถ้าคนฟังไม่เข้าใจทันที ก็คือลงเรือจ้างอ้ายขี้ยา อาจลอยไปไหน ๆ หรืออาจล่มตามทางไม่ถึงวัดอรุณก็เปนได้
ความเห็นของนักกลอน ๒ จำพวกมีนัยดังที่แสดงตัวอย่างมานี้ เราท่านคงจะเห็นว่าพอฟังได้ทั้ง ๒ ทาง แลดูไม่สู้จำเปนแลไม่มีประโยชน์ที่ใครจะตัดสินว่าทางไหนถูกทางไหนผิด เราชอบอย่างไหนก็อย่างนั้น ก็แล้วกัน
ยังไม่จบ
โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร
ถนนราชบพิธ พระนคร
๑๕/๗/๗๓