คำนำ

สำนักพระราชวังแจ้งความมายังกรมศิลปากรว่า ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งกำหนดในวันที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดให้กรมศิลปากรจัดหาหนังสือสำหรับตีพิมพ์เป็นของพระราชทานแจกสักเรื่องหนึ่ง กรมศิลปากรเห็นว่าหนังสือ เรื่องพระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นหนังสือที่มีคุณค่ามากในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทั้งเป็นเรื่องเนื่องด้วยพระมหากษัตราธิราชเจ้าของไทยแต่โบราณกาล และเป็นเรื่องซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระหฤทัยมุ่งหมายที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ในโอกาสที่จะได้เสด็จกลับมาทรงรับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ในพระบรมราชวงศ์จักรี ด้วยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ตรัสแก่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล เมื่อก่อนจะสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๔๘๖ ประมาณ ๕ วันว่า ถ้าหากพระองค์ท่านสิ้นพระชนม์เสียก่อน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเสด็จพระราชดำเนิน กลับมาทรงรับราชสมบัติเมื่อใดแล้ว ให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล นำเรื่องพระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่พระองค์ท่านได้ทรงนิพนธ์ไว้นี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และขอให้กราบบังคมทูลด้วยว่า พระองค์ท่านไม่มีทางจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดทูลเกล้าฯ ถวายได้ยิ่งกว่าหนังสือที่ได้ทรงแต่งไว้ด้วยพระกำลังกายและพระกำลังปัญญาในเวลาที่ทรงพระชรา พระชันษาถึง ๘๐ ปีแล้ว ดังนี้ ครั้นต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เสด็จนิวัตสู่พระนคร ใน พ.ศ. ๒๔๘๘ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ก็ได้นำพระนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เมื่อ ณ วันที่ ๒๙ ธันวาคม ปีนั้น โปรดเกล้าฯ ให้เก็บรักษาต้นฉะบับไว้สำหรับจะได้พิมพ์ในโอกาสใดโอกาสหนึ่ง เพราะฉะนั้น หนังสือเรื่องพระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนี้ จึงสมควรด้วยประการทั้งปวงที่จะจัดพิมพ์ขึ้นเป็นของพระราชทานแจกในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ครั้นนำความขึ้นกราบทูลพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงทราบ ก็ทรงเห็่นชอบด้วย และทรงอนุมัติให้กรมศิลปากรดำเนินการจัดพิมพ์จนสำเร็จ

เรื่องพระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นเรื่องแสดงจริยาของบุคคลสำคัญผู้เกิดมาบำเพ็ญประโยชน์อันยิ่งใหญให้แก่ประเทศชาติ จนพระนามปรากฏในประวัติศาสตร์ว่าเป็น “วีรบุรุษ” ประเทศชาติต่างๆ ย่อมมีวีรบุรุษเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือบุคคลสามัญบังเกิดในบางยุคบางสมัย และคนในชาตินั้นๆ ย่อมจดจำอภินิหารของวีรบุรุษแห่งชาติตนเชิดชูเกียรติไว้ในประวัติศาสตร์ของประเทศ บางทีก็แต่งเป็นเรื่องประวัติขึ้นโดยฉะเพาะ เพื่อให้เป็นคติแก่คนชั้นหลังที่จะจดจำยึดถือเป็นแบบอย่าง ในอันที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติตามกำลังความสามารถของตนๆ ก็ในกระบวนประวัติแห่งวีรบุรุษของชาติไทยยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เห็นจะไม่มีประวัติของผู้ใดที่ละเอียดพิสดาร ทั้งน่าอ่านและเร้าใจให้กล้าหาญยิ่งไปกว่าพระประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์พร้อมด้วยหลักฐานและข้อสันนิษฐานในทางประวัติศาสตร์ดังปรากฏในสมุดนี้

ขอพระราชกุศลที่ทรงบำเพ็่ญเป็นส่วนเชษฐาปจายนธรรมนี้ จงเป็นผลสำเร็จแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ตามควรแก่คติวิสัยในสัมปรายภพทุกประการ

กรมศิลปากร

๒๖ มกราคม ๒๔๙๓

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ