ภาคที่ ๒ สมเด็จพระนเรศวรทรงกู้บ้านเมือง

(๑)

เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชปราบดาภิเษกแล้ว ทรงสถาปนาพระเจ้าลูกเธอที่พระวิสุทธิกษัตรีเป็นพระมารดา เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๓ พระองค์ ให้พระราชบุตรีพี่นางพระองค์ใหญ่ทรง พระนามว่า พระสุพรรณกัลยาณี (ในหนังสือบางเรื่องเรียกว่า พระสุพรรณเทวี ก็มี) ให้พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ทรงพระนามว่า พระนเรศวร ให้พระราชโอรสพระองค์น้อยทรงพระนามว่า พระเอกาทศรถ แล้วถวายพระสุพรรณกัลยาณีแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเมื่อประทับอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยานั้น พระเจ้าหงสาวดีได้พระพี่นางเป็นพระชายาเหมือนอย่างเป็นตัวจำนำแทนแล้ว ก็อนุญาตให้สมเด็จพระนเรศวรอยู่ช่วยสมเด็จพระชนกปกครองบ้านเมือง เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรไม่เคยอยู่ที่พระนครศรีอยุธยามาแต่ก่อน เพราะสมภพที่เมืองพิษณุโลก เมื่อยังทรงพระเยาว์เป็นแต่ผู้ใหญ่เคยพาลงมาเฝ้าสมเด็จพระอัยกาธิราชเป็นครั้งเป็นคราว เสด็จอยู่แต่ที่เมืองพิษณุโลกจนพระชันษาได้ ๙ ขวบก็ถูกเอาไปเป็นตัวจำนำอยู่เมืองหงสาวดี ไปทรงพระเจริญเป็นหนุ่มในสมาคมของพวกพะม่ามอญ จนพระชันษา ๑๕ ปีจึงได้กลับมาอยู่เมืองไทย เพราะฉะนั้นแรกมาอยู่ในราชธานีอันมิได้ทรงคุ้นเคยกับถิ่นที่และผู้คน ก็คงยังไม่สามารถทำการงานได้เต็มที่ จึงไม่ปรากฏว่าในปีแรกสมเด็จพระนเรศวรกลับมาอยู่เมืองไทยได้มีตำแหน่งหน้าที่ประจำพระองค์อย่างใด น่าสันนิษฐานว่า สมเด็จพระชนกคงให้เริ่มทรงศึกษาราชการด้วยเป็นผู้รับสั่งตรวจตราการงานต่างพระเนตรพระกรรณ ถ้าเรียกอย่างทุกวันนี้ก็เป็นเช่นราชองครักษ์ ทรงคุ้นเคยราชการยิ่งขึ้นโดยลำดับแม้จนถึงได้รบพุ่งด้วย เมื่อเสร็จศึกหงสาวดีแล้ว เมืองไทยยังมีความลำบากต่อมาอีก พอกองทัพเมืองหงสาวดีกลับไปแล้วไม่ทันถึงปี พระบรมราชาเจ้ากรุงกัมพูชา (ในพงศาวดารเรียกว่าพระยาละแวก เพราะในสมัยนั้นตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองละแวก) ซึ่งเคยเป็นเมืองประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยามาแต่ก่อน เห็นว่าไทยสิ้นกำลังก็บังอาจยกกองทัพเข้ามาตีเมืองไทยเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๑๑๓ ด้วยหวังจะริบทรัพย์จับเอาไทยไปเป็นชะเลยบ้าง ในเวลานั้นความที่เมืองไทยกำลังโทรม ถึงปรึกษากันว่าจะทิ้งพระนครศรีอยุธยาไปอาศัยเมืองเหนือดีหรือจะตั้งต่อสู้ข้าศึกดี ตกลงกันว่าถ้าเพียงรักษาพระนครเห็นพอจะสู้ได้ แต่ก็ต้องปล่อยให้ข้าศึกซึ่งยกมาทางบกแต่เมืองปราจีนบุรี เข้ามาได้ถึงตั้งประชิดติดพระนคร แต่เขมรมารบแพ้ไทย ก็ต้องเลิกทัพกลับไป เมื่อรบเขมรครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรประทับอยู่ที่พระนคร คงจะได้ช่วยรบ เป็นแต่ยังไม่ได้คุมรี้พลออกรบพุ่งด้วยพระองค์เอง แต่ที่มีศึกเขมรเข้ามาพลอยซ้ำเติมนั้น กลับเป็นประโยชน์แก่เมืองไทยในทางอ้อม เพราะผู้คนพลเมืองที่แตกกระจัดพลัดพรายไปอยู่ตามที่ต่างๆ เมื่อครั้งศึกหงสาวดี พากันหนีกองทัพเขมรเข้ามาอาศัยพระนครเป็นอันมาก สมเด็จพระมหาธรรมราชาฯ ได้กำลังรี้พลเพิ่มขึ้นจนสามารถสร้างป้อมปราการและขุดขยายคูเมืองแต่งพระนครให้มั่นคง แล้วมีพระราชประสงค์จะบำรุงกำลังทางหัวเมืองเหนือต่อไป จึงโปรดให้สมเด็จพระนเรศวรขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก บังคับบัญชาหัวเมืองเหนือทั้งปวง เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๑๑๔ เวลานั้นพระชันษาได้ ๑๖ ปี และได้ทรงศึกษาราชการอยู่ในกรุงฯ กว่าปีแล้ว

ที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาฯ ให้สมเด็จพระนเรศวรขึ้นไปครองเมืองเหนือ แม้เคยมีเยี่ยงอย่างที่พระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนทรงตั้งพระราชโอรสรัชชทายาทไปครองเมืองเหนือเช่นเดียวกันก็ดี แต่ครั้งนี้พฤติการณ์ผิดกับแต่ก่อน ด้วยเป็นเวลายุคเข็ญของเมืองไทย จะต้องฟื้นบ้านเมืองให้กลับคืนดี และยังมีการสำคัญยิ่งกว่านั้น ด้วยจะต้องระงับความแตกร้าวในระหว่างไทยชาวเมืองเหนือกับเมืองใต้ ซึ่งได้ถือตัวว่าเป็นต่างพวกรังเกียจกันมาหลายปี จนที่สุดถึงเคยเป็นข้าศึกกันเอง ให้กลับสมัครสมานเป็นพวกเดียวกัน ทั้งปลุกนํ้าใจไทยให้หายครั่นคร้ามชาวต่างประเทศที่เคยเป็นข้าศึก อันเป็นการยากกว่าครองเมืองโดยปกติมาก พิจารณาดูเมื่อรู้เรื่องพงศาวดารตลอดแล้วในเวลานี้ก็เห็นเป็นอัศจรรย์ ด้วยสมเด็จพระนเรศวรทรงพระคุณสมบัติเหมาะแก่ความต้องการของเมืองไทยในเวลานั้นไม่มีใครเสมอเหมือนหมดทุกอย่าง เป็นต้นแต่ที่สมภพและได้เสด็จอยู่เมืองพิษณุโลกเมื่อยังทรงพระเยาว์ ผู้คนพลเมืองเคยรู้จักรักใคร่มาแต่ก่อน จะทรงบังคับบัญชาว่ากล่าวอย่างไรคนก็เชื่อฟังด้วยความนับถือ ส่วนพระองค์เองก็เคยคุ้นกับถิ่นฐานผู้คนชาวเมืองเหนือ ไม่ลำบากพระทัยในการสมาคมหรือบังคับบัญชาไพร่บ้านพลเมือง คิดต่อไปอีกอย่าง ๑ เวลานั้นเป็นแรกที่สมเด็จพระนเรศวรจะทรงบัญชาการปกครองบ้านเมือง รับผิดชอบโดยลำพังพระองค์ ซึ่งได้ทรงครองแต่เมืองเหนือก่อนก็เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทรงชำนิชำนาญการปกครองบ้านเมืองยิ่งขึ้นโดยสำดับ แม้ที่สมเด็จพระนเรศวรถูกเอาไปเป็นตัวจำนำอยู่ที่เมืองหงสาวดี ๖ ปี ก็กลับให้คุณเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะได้เคยเสด็จไปอยู่ในหมู่พะม่ามอญ ทรงทราบภาษาและนิสสัยใจคอ ตลอดจนวิชาความรู้และฤทธิ์เดชของพะม่ามอญในสมัยนั้นว่ามีจริงเพียงไร ได้ความรู้มาเป็นทุนสำหรับเตรียมการต่อสู้ข้าศึกที่ไทยยังครั่นคร้ามอยู่โดยมาก แต่ข้อสำคัญยิ่งกว่าอย่างอื่นนั้นอยู่ที่นิสสัยของสมเด็จพระนเรศวรเอง อันปรากฏตลอดเรื่องพงศาวดารว่าเป็นนักรบ และเป็นนักรบอย่างแกล้วกล้าสามารถ ฉลาดในยุทธวิธีและอุบายกระบวนศึกแปลกกับผู้อื่นในสมัยเดียวกัน จึงควรนับว่าการกู้เมืองไทยในครั้งนั้น เริ่มแต่เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปครองเมืองเหนือเป็นต้นมา

(๒)

สมเด็จพระนเรศวรทรงครองเมืองเหนือแต่ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๑๑๓ จนปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๖ รวมเวลา ๑๔ ปี ตั้งแต่พระชันษาได้ ๑๖ ปี จนพระชันษา ๓๐ ปี สังเกตตามที่เห็นผลปรากฏเมื่อภายหลัง ดูเหมือนแรกเสด็จขึ้นไปประทับ ณ เมืองพิษณุโลก จะต้องทรงขวนขวายหาคนสำหรับใช้สอยก่อนอย่างอื่น เพราะเวลานั้นพระเจ้าหงสาวดีกวาดเอาข้าราชการที่พระนครศรีอยุธยาไปเสียมาก เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาฯ เสวยราชย์จำต้องหาเจ้าหน้าที่ประจำราชการต่างๆ คงย้ายข้าราชการเมืองเหนือซึ่งเคยทรงใช้สอยลงมารับราชการในราชธานี เป็นเหตุให้ขาดข้าราชการประจำตำแหน่งในเมืองเหนืออยู่โดยมาก ในการที่หาคนรับราชการนั้น สมเด็จพระนเรศวรกำลังเป็นหนุ่ม คงทรงเลือกสรรคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ชั้นที่เป็นลูกหลานเหล่ากอข้าราชการทั้งในเมืองเหนือและเมืองใต้ เอามาทรงใช้สอยฝึกหัดเอง เริ่มมีข้าราชการอย่างว่า “สมัยใหม่” เกิดขึ้นในครั้งนั้น อันได้ศึกษาทั้งคติเดิมของไทยประกอบกับคติใหม่ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงนำมาจากต่างประเทศ มีจำนวนมากขึ้นโดยลำดับมา คนพวกนี้ที่ได้มาเป็นแม่ทัพนายกองของสมเด็จพระนเรศวรในเวลาทำสงครามกู้บ้านเมืองเมื่อภายหลัง ข้อนี้พึงสังเกตได้โดยยุทธวิธีที่ไทยรบพุ่งในสมัยสมเด็จพระนเรศวรผิดกับแต่ก่อน เช่นสามารถใช้คนจำนวนน้อยสู้คนมากด้วยความกล้าหาญของตัวคนเป็นต้น แต่กว่าจะเห็นผลเป็นการนานวัน จึงไม่ปรากฏในเรื่องพงศาวดารว่าเริ่มทรงฝึกหัดคนใช้แต่แรกเสด็จไปอยู่เมืองเหนือ

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรครองเมืองเหนือได้ ๓ ปี ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๑๑๗ ได้ข่าวไปถึงเมืองหงสาวดีว่า พระเจ้าไชยเชษฐาเมืองลานช้างไปตีเมืองญวนเลยเป็นอันตรายหายศูนย์ไป และที่เมืองลานช้างเกิดชิงราชสมบัติกัน พระเจ้าหงสาวดีเห็นได้ทีก็ยกกองทัพหลวงไปตีเมืองเวียงจันท์ ครั้งนั้นตรัสสั่งมาให้ไทยยกกองทัพไปสมทบด้วย สมเด็จพระมหาธรรมราชาฯ กับสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปเองทั้ง ๒ พระองค์ เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรพระชันษาได้ ๑๙ ปี เห็นจะได้เป็นตำแหน่งเช่นเสนาธิการในกองทัพ แต่เมื่อยกไปถึงหนองบัวลำภูด่านของเมืองเวียงจันท์ เผอิญสมเด็จพระนเรศวรไปประชวรออกทรพิษ พระเจ้าหงสาวดีทรงทราบก็ตรัสอนุญาตให้กองทัพไทยกลับมามิต้องรบพุ่ง พระเจ้าหงสาวดีได้เมืองเวียงจันท์แล้วก็ตั้งให้เจ้าอุปราชเดิมซึ่งได้ตัวไปไว้เมืองหงสาวดีตั้งแต่พระมหาอุปราชาตีเมืองครั้งแรกนั้น ครองอาณาเขตต์ลานช้างเป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงหงสาวดีต่อมา

ตั้งแต่ได้เมืองลานช้างแล้ว ราชอาณาเขตต์ของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองก็แผ่ถึงที่สุด ด้วยได้ประเทศต่างๆ รวมเข้าไว้ในอำนาจหมด ทั้งเมืองพะม่า มอญ ไทยใหญ่ ไทยน้อย และยักไข่ ไม่ต้องทำศึกสงครามต่อไปอีก พระเจ้าบุเรงนองก็บำเพ็ญบารมีในการทำนุบำรุงราชอาณาเขตต์มาจนตลอดรัชชกาล มีในพงศาวดารพะม่าว่า ให้เกณฑ์คนทั้งในหัวเมืองใกล้และเมืองประเทศราชต่างๆ ไปทำการซ่อมแปลงแต่งพระนครและแก้ไขป้อมปราการเมืองหงสาวดีตามแบบพระนครศรีอยุธยาซึ่งเคยเห็นว่ามั่นคงมาก นอกจากการก่อสร้าง พระเจ้าบุเรงนองให้ตั้งขนบธรรมเนียมหลายอย่าง ความที่ว่านี้มีเค้าเงื่อนเนื่องมาถึงเมืองไทย ยังปรากฏอยู่บางอย่างดูชอบกล ดังเช่นการที่ใช้กฎหมายมนูธรรมศาสตร์ มีในพงศาวดารพะม่า ว่าเมื่อพระเจ้าฟ้ารั่วได้เมืองมอญทั้งปวงรวมกันเป็นรามัญประเทศ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแปลมนูธรรมศาสตร์จากภาษาสันสกฤตเป็นภาษามคธ ครั้นถึงรัชชกาลพระเจ้าบุเรงนอง ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแปลมนูธรรมศาสตร์จากภาษามคธเป็นภาษามอญ ในคาถานำพระธรรมศาสตร์ภาษาไทยก็กล่าวแถลงไว้ ว่าพระธรรมศาสตร์ซึ่งได้มายังเมืองไทยเป็นภาษามอญ ต้องเอามาแปลเป็นภาษาไทยยุตติต้องกับพงศาวดารพะม่า ใช่แต่เพียงนั้น ถ้าสังเกตในกฎหมายพิมพ์ ๒ เล่มจะเห็นได้ต่อไปว่า กฎหมายไทยเดิมจัดหมวดหมู่เป็นอย่างอื่น เพิ่งจัดเข้าประมวลมนูธรรมศาสตร์ในครั้งนั้น มีอีกอย่าง ๑ กล่าวไว้ในหนังสือพงศาวดารไทยแต่ย่อๆ ว่า เมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๔๓ (พ.ศ. ๒๑๒๔) มีหนังสือมาแต่เมืองหงสาวดี ว่าปีเถาะนั้นมิใช่อธิกมาสผิดไป ความที่ว่านี้ส่อให้เห็นว่าประเทศราชต้องใช้ปฏิทินตามอย่างเมืองหงสาวดี และยังมีคติเรื่องสงกรานต์ซึ่งสมมติว่ามีนางเทพธิดา ๗ ตนผลัดกันมาเมื่อพระอาทิตย์สู่ราศีเมษขึ้นปีใหม่ ก็เป็นคติของโหรมอญประดิษฐ์ขึ้นเพื่อจะให้รู้ปฏิทินทางอาทิตย์เทียบกับทางจันทร์ได้ง่ายๆ ไทยเราก็เห็นจะได้มาจากเมืองหงสาวดีในสมัยนั้น และคงมีขนบธรรมเนียมอย่างอื่นอีกซึ่งเลิกศูนย์ไปเสียแล้ว แม้แต่เพียงที่ยังมีอยู่ดังกล่าวมาก็พอจะเห็นได้ ว่าในสมัยนั้นทางไมตรีในระหว่างเมืองหงสาวดีกับเมืองประเทศราชทั้งปวงคงจะสนิทสนมกันมาก คิดดูฉะเพาะพระองค์สมเด็จพระนเรศวรซึ่งได้เคยอยู่ในอุปถัมภ์บำรุงของพระเจ้าบุเรงนองเมื่อยังทรงพระเยาว์หลายปี เวลาเมื่อทรงครองเมืองเหนือก็เห็นจะเสด็จออกไปเมืองหงสาวดีเนืองๆ จนทรงทราบท่าทางและคุ้นเคยกับราษฎรมอญพะม่าตลอดระยะทางที่เคยไปมา

(๓)

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปอยู่เมืองเหนีอ ทางพระนครศรีอยุธยายังเกิดลำบากด้วยเขมรมารบกวนอีกหลายครั้ง ชะรอยครั้งพระบรมราชามาตีเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๓ จะเลื่องลือระบือเกียรติกันในพวกเขมรว่ามีอานุภาพสามารถเข้ามาตีถึงพระนครศรีอยุธยา เมื่อพระบรมราชาสิ้นพระชนม์แล้ว นักพระสัฏฐาราชอนุชาได้ครองราชสมบัติ แสวงหาบารมีอย่างนั้นบ้าง จึงยกกองทัพมาตีพระนครศรีอยุธยาอีกครั้ง ๑ เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๑๑๘ คราวนี้ยกกองทัพเขมรมาทางเรือก็สามารถขึ้นมาได้ถึงวัดพระเจ้าพนัญเชิง แต่มารบแพ้ไทยอีกก็ต้องถอยทัพกลับไป แต่เที่ยวไล่จับผู้คนพลเมืองในแขวงจังหวัดธนบุรีและพระประแดงเอาไปเป็นชะเลยแล้วเลิกทัพกลับไป แต่นั้นเขมรก็ไม่กล้าเข้ามาตีพระนครอีก แต่ยังให้กองทัพยกจู่ไปเที่ยวปล้นทรัพย์จับชะเลยตามหัวเมืองที่ไทยมิได้ตระเตรียมป้องกันเนืองๆ

เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๑๒๑ พระยาจีนจันตุ เห็นจะเป็นขุนนางจีนคน ๑ ในกรุงกัมพูชา รับอาสานักพระสัฏฐามาปล้นเมืองเพ็ชรบุรี แต่มาพ่ายแพ้ตีเมืองไม่ได้ดังสัญญา จะกลับไปเมืองเขมรเกรงจะถูกทำโทษ จึงพาสมัครพรรคพวกหนีมาสวามิภักดิ์ต่อไทย คงมาบอกกิจการทางเมืองเขมรให้เป็นประโยชน์ สมเด็จพระมหาธรรมราชาฯ จึงทรงรับเลี้ยงไว้ แต่พระยาจีนจันตุมาอยู่ได้ไม่ช้าก็ลอบลงเรือสำเภาหนีไปจากพระนคร เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรพระชันษาได้ ๒๔ ปี เสด็จลงมาเฝ้าสมเด็จพระชนก ประทับอยู่ที่วังจันทร์อันโปรดให้สร้างขึ้นใหม่ไว้เป็นที่ประทับเวลาเสด็จมาในกรุงฯ พอทรงทราบว่าพระยาจีนจันตุหนีก็ตระหนักพระหฤทัยว่าเป็นผู้สืบข่าวไปให้เขมร จึงตรัสเรียกพวกข้าหลวงที่ตามเสด็จมาจากเมืองเหนือลงเรือพายรีบตามลงไป ส่วนพระองค์ทรงเรือกราบกันยาลำ ๑ สมเด็จพระอนุชาพระเอกาทศรถขอตามเสด็จทรงเรือไปด้วยอีกลำ ๑ ตามลงไปทันเรือสำเภาพระยาจีนจันตุเมื่อใกล้จะออกปากนํ้า พวกพระยาจีนจันตุยิงปืนต่อสู้ สมเด็จพระนเรศวรก็เร่งเรือพระที่นั่งขึ้นหน้าเรืออื่น เสด็จออกยืนยิงพระแสงปืนนกสับที่หน้ากันยา ไล่กะชั้นเข้าไปจนข้าศึกยิงถูกรางพระแสงปืนแตกอยู่กับพระหัตถ์ก็ไม่หลบเลี่ยง พระเอกาทศรถเห็นสมเด็จพระเชษฐากล้านักเกรงจะเป็นอันตราย ตรัสสั่งให้เร่งเรือลำที่ทรงเองเข้าไปบังเรือสมเด็จพระเชษฐา ขณะนั้นพอเรือสำเภาพระยาจีนจันตุได้ลมแล่นใบออกทะเลไปได้ เรือพายที่ตามลงไปเป็นแต่อย่างเรือยาวสู้คลื่นไม่ไหวก็ต้องเสด็จกลับคืนมาพระนคร แต่ที่สมเด็จพระนเรศวรเอาพระองค์เข้ารบเองครั้งนั้นปรากฏแก่บรรดาผู้ที่ไปตามเสด็จ ก็เกิดเลื่องลือถึงความกล้าหาญของสมเด็จพระนเรศวร แม้ที่สมเด็จพระเอกาทศรถเข้าช่วยแก้สมเด็จพระเชษฐาด้วยความจงรักก็คงถึงเลื่องลือเหมือนกัน น่าจะเป็นด้วยเรื่องเลื่องลือพระเกียรตินั้นชื่อพระยาจีนจันตุจึงปรากฏอยู่ในพงศาวดาร ถ้าพระยาจีนจันตุหนีไปได้เงียบๆ ก็เห็นจะไม่เล่าเรื่องพระยาจีนจันตุไว้ในพงศาวดาร

ต่อมาอีกปี ๑ เจ้ากรุงกัมพูชาให้พระทศราชาคุมกองทัพเขมรเข้ามาตีเมืองนครราชสีมา ที่เมืองนครราชสีมาเวลานั้นไม่มีกำลังพอต่อสู้ พระทศราชาได้เมืองโดยง่ายก็เลยกำเริบ สั่งให้ทหารคุมกองทัพหน้ายกเข้ามายังเมืองชั้นใน หมายจะปล้นทรัพย์จับชาวเมืองสระบุรี และเมืองอื่นๆ เอาไปเป็นชะเลย เวลานั้นเผอิญสมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงมาประทับอยู่ที่ในกรุงฯ เหมือนหนหลัง พอทรงทราบก็ทูลขอไพร่พลที่อยู่ประจำราชการ ๓,๐๐๐ คน ให้พวกข้าหลวงในพระองค์เป็นนายหมวดนายกอง รีบเสด็จขึ้นไปยังเมืองชัยบาดาล ตรัสสั่งให้พระชัยบุรีเจ้าเมืองชัยบาดาลกับพระศรีถมอรัตนเจ้าเมืองศรีเทพ ซึ่งเป็นทหารเอกรุ่นใหม่ คุมพลไปตั้งซุ่มอยู่ในดงพระยากลาง ๒ ข้างทางที่ข้าศึกจะยกมา ฝ่ายพวกเขมรเคยได้เมืองนครราชสีมาง่ายๆ นึกว่าจะไม่มีใครต่อสู้ยกลงมาโดยประมาท พอถึงที่ซุ่มพระชัยบุรีกับพระศรีถมอรัตนก็ออกล้อมรบฆ่าฟันล้มตายแตกหนีไป แต่พอข้าศึกแตกหนีสมเด็จพระนเรศวรก็ตรัสสั่งให้กองทัพรีบติดตามตีกระหน่ำไปมิให้มีเวลาหยุดยั้งตั้งตัว พวกเขมรกองทัพหน้าที่เหลือตายหนีกลับไปปะทะทัพหลวงซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองนครราชสีมา พระทศราชาไม่รู้ว่ากองทัพข้าศึกจะใหญ่หลวงเพียงใด ก็รีบล่าทัพหนีไปเมืองเขมร แต่นั้นพวกเขมรก็ไม่กล้ามายํ่ายีเมืองไทยอีก ครั้งนี้เป็นทีแรกที่ปรากฏกระบวนยุทธวิธีของสมเด็จพระนเรศวรซึ่งสามารถใช้คนน้อยรบคนมาก เอาชะนะได้ด้วยยุทธวิธี ก็เลื่องลือพระเกียรติอีกครั้ง ๑ กิตติศัพท์ที่เล่าลือพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรครั้งนี้รู้ไปจนถึงเมืองหงสาวดี เลยเป็นปัจจัยในเหตุการณ์ต่อไปอีก ดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า.

(๔)

ถึงเดือน ๑๒ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๒๔ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสวรรคต พระชันษาได้ ๖๕ ปี เสวยราชย์อยู่ ๑๘ ปี มังชัยสิงห์ราชโอรสซึ่งเป็นพระมหาอุปราชาขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่าพระเจ้านันทบุเรง ตั้งมังกยอชวาราชโอรสเป็นพระมหาอุปราชา แล้วบอกข่าวไปยังเจ้าประเทศราชและเจ้าเมืองใหญ่น้อยบรรดาขึ้นอยู่ในราชอาณาเขตต์ ให้เข้าไปเฝ้าตามประเพณีเปลี่ยนรัชชกาลใหม่ เจ้าครองเมืองประเทศราชต่างๆ อยู่ในเวลานั้น เป็นพะม่า ๔ องค์ คือพระเจ้าตองอูกับพระเจ้าแปรเป็นโอรสรับทายาทพระเจ้าตองอูและพระเจ้าแปรองค์แรกซึ่งเป็นพระอนุชาพระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้าเชียงใหม่เป็นราชบุตรของพระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้าอังวะเป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าบุเรงนอง ประเทศราชที่เป็นชาติอื่นมี ๓ องค์ คือพระเจ้ามินปะลองครองเมืองยักไข่ พระเจ้าหน่อเมืองครองเมืองลานช้าง และสมเด็จพระมหาธรรมราชาฯ ครองกรุงศรีอยุธยา แต่ทรงพระชราโปรดให้สมเด็จพระนเรศวรเวลานั้นพระชันษาได้ ๒๖ ปี เสด็จไปแทนพระองค์ นอกจากเจ้าประเทศราช ยังมีพวกเจ้าฟ้าครองเมืองไทยใหญ่อีก ๑๙ อาณาเขตต์ที่ต้องไปเฝ้าเหมือนกัน เมื่อเจ้านายต่างประเทศไปพร้อมกัน ณ เมืองหงสาวดี ปรากฏว่าเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคังไม่ไปเฝ้าตามรับสั่ง พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทรงพระดำริว่า เป็นเวลาแรกเสวยราชย์ จำต้องปราบเมืองคังให้เป็นตัวอย่าง แต่เมืองคังไม่ใช่เมืองใหญ่โตเท่าใดนัก มีพระประสงค์จะให้ราชโอรสที่เป็นพระมหาอุปราชาขึ้นใหม่ได้โอกาสหาเกียรติยศ จึงตรัสแก่เหล่าประเทศราชว่า เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ได้เคยทำศึกสงครามมามากแล้ว คราวนี้ควรจะให้เจ้านายชั้นหนุ่มๆ ไปตีเมืองคังให้เคยการศึกสงครามเสียบ้าง แล้วตรัสสั่งให้พระมหาอุปราชาคุมพลชาวเมืองหงสาวดีกองทัพ ๑ ให้พระสังกะทัต (พงศาวดารพะม่าเรียกว่า นัดจินหน่อง) ราชบุตรของพระเจ้าตองอูซึ่งเลื่องลือกันในเมืองพะม่าว่าเป็นคนกล้าหาญ คุมพลชาวเมืองตองอูกองทัพ ๑ และตรัสสั่งให้สมเด็จพระนเรศวรซึ่งได้ทรงทราบข่าวไปจากเมืองไทยว่าเคยรบพุ่งกล้าหาญ คุมพลชาวกรุงศรีอยุธยากองทัพ ๑ ไปตีเมืองคังด้วยกัน ก็เจ้านายทั้ง ๓ พระองค์นั้นได้คุ้นเคยชอบพอกันมาแต่อยู่ในราชสำนักพระเจ้าบุเรงนองเมื่อยังเยาว์ ต่างก็ยินดีมาจัดรี้พลแล้วยกไปด้วยกันตามรับสั่ง เมื่อไปถึงเมืองคังเห็นตัวเมืองตั้งอยู่บนเขาสูง พระมหาอุปราชาผู้เป็นหัวหน้าจึงปรึกษากับพระสังกะทัตและสมเด็จพระนเรศวร ว่าทางที่จะขึ้นไปตีเมืองคังเป็นทางแคบ จะยกกำลังขึ้นไปพร้อมกันทุกทัพก็จะไปคับคั่งกันอยู่ในซอกเขา เอาไพร่พลไปให้ข้าศึกยิงล้มตายเสียเปล่าๆ ชาวเมืองคังที่รักษาเมืองก็ไม่มากมายเท่าใดนัก กองทัพพระมหาอุปราชาจะยกขึ้นไปตีก่อน ถ้ายังตีไม่ได้จึงจะให้พระสังกะทัตและสมเด็จพระนเรศวรเข้าช่วยตีต่อไป ปรึกษากันแล้วก็ให้ตั้งค่ายรายกันอยู่ที่เชิงเขา

ครั้นถึงวันกำหนดพระมหาอุปราชายกขึ้นไปปล้นเมืองคังเวลากลางคืน พวกชาวเมืองต่อสู่รักษาทางขึ้นเขาเป็นสามารถรบกันอยู่ จนรุ่งสว่างเข้าไปถึงเมืองไม่ได้ ไพร่พลอิดโรยก็ต้องถอยลงมา วันหลังให้พระสังกะทัตยกขึ้นไปตีเมืองคัง ขึ้นไปถึงเมืองไม่ได้เหมือนกัน แต่เมื่อก่อนวันพระสังกะทัตจะตีเมืองคังนั้น สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปเที่ยวตรวจท้องที่สืบได้ความว่ามีทางน้อยที่จะขึ้นเขาไปถึงเมืองคังทางด้านอื่นได้อีกทาง ๑ ครั้นถึงคราวสมเด็จพระนเรศวรจะตีเมืองคัง จึงทรงแบ่งทหารเป็น ๒ กอง พอเวลาคํ่ามืดให้กองน้อยไปซุ่มอยู่ทางด้านหน้าที่พระมหาอุปราชากับพระสังกะทัตเคยยกขึ้นไป ให้กองใหญ่ไปซุ่มอยู่ตรงทางน้อยที่พบใหม่ พอเวลาจวนเที่ยงคืนทำอุบายให้กองน้อยยกขึ้นไปทางด้านหน้า สั่งให้ยิงปืนโห่ร้องให้อึกทึกทำอาการเหมือนอย่างจะเข้าปล้นเมืองทางด้านนั้น พวกชาวเมืองสำคัญว่าข้าศึกจะยกขึ้นไปเหมือนคราวก่อนๆ เป็นเวลามืดแลไม่เห็นว่าข้าศึกจะมีมากน้อยเท่าใด ก็พากันมารบพุ่งต้านทานทางด้านหน้า พอสมเด็จพระนเรศวรทรงสังเกตเห็นว่าพวกชาวเมืองพากันไปรวมรักษาทางด้านหน้าเสียเป็นอันมากแล้ว ก็บอกสัญญาให้กองใหญ่ยกกรูกันขึ้นไปทางด้านที่พบใหม่เมื่อตอนดึกใกล้รุ่ง พอเวลาเช้าก็เข้าเมืองได้ และจับตัวเจ้าฟ้าเมืองคังได้ด้วย ก็เลิกกลับมายังเมืองหงสาวดี

การที่ไปตีเมืองคังครั้งนั้นเหมือนอย่างประชันกัน สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองคังทีหลังเพื่อนกลับมีชัยชะนะ พระมหาอุปราชากับพระสังกะทัตตลอดจนพวกรี้พลก็คงรู้สึกอัปยศอดสู ฝ่ายพวกกองทัพไทยก็คงยินดีร่าเริงเป็นธรรมดา ก็เลยเกิดรังเกียจกันในระหว่างพวกไทยในกองทัพสมเด็จพระนเรศวรกับพวกพะม่ามอญ จนมีเรื่องเล่ากันมาว่า วันหนึ่งสมเด็จพระนเรศวรเล่นชนไก่กับพระมหาอุปราชา ไก่พระมหาอุปราชาแพ้ พระมหาอุปราชากำลังขุ่นเคืองตรัสออกมาว่า ไก่ชะเลยตัวนี้เก่งจริงหนอ สมเด็จพระนเรศวรก็ตรัสตอบไปในทันทีว่า ไก่ตัวนี้อย่าว่าแต่จะพนันเอาเดิมพันเลย ถึงจะชนเอาบ้านเมืองกันก็ได้ ดังนี้ ชวนให้เห็นว่าที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปแสดงความสามารถชองไทยเมื่อคราวตีเมืองคังนั้น เป็นต้นเหตุที่พะม่าจะเกิดระแวงไทย ทั้งเป็นต้นเหตุที่ไทยเห็นว่าพอจะเอาชัยพะม่าได้ไม่ยากนัก แม้พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงก็คงไม่พอพระทัยที่สมเด็จพระนเรศวรไปมีชัยชะนะ แต่ก็จำเป็นต้องชมเชยและพระราชทานบำเหน็จรางวัลถึงขนาด แล้วจึงให้เสด็จกลับมาเมืองไทย

พิเคราะห์ดูตามเหตุการณ์ที่มีต่อมา ดูเหมือนพอพระเจ้าบุเรงนองสวรรคต ใจคนก็ผิดกับแต่ก่อนทั่วทั้งประเทศหงสาวดี เพราะราชอาณาเขตต์ของหงสาวดีเป็นบ้านเมืองของคนหลายชาติหลายภาษา ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองรวบรวมไว้ด้วยอำนาจ ชาวเมืองนั้นๆ นอกจากพะม่า ต้องจำยอมอยู่ในปกครองของพระเจ้าหงสาวดีด้วยความกลัวมิใช่ใจสมัคร แต่ความนิยมตามประสาชาติของตนยังฝังอยูในใจ เช่นพวกมอญก็ไม่อยากอยู่ในบังคับพะม่า พวกไทยใหญ่ไทยน้อยและยักไข่เคยอยู่บ้านเมืองเป็นอิสสระมาแต่ก่อนก็ยังคงอยากเป็นอิสสระอยู่อย่างเดิม เป็นแต่ไม่กล้าแสดงความนิยมออกนอกหน้าด้วยกลัวพระเจ้าบุเรงนอง ถึงเจ้านายพะม่าที่เป็นเชื้อวงศ์หรือเจ้านายต่างประเทศที่พระเจ้าหงสาวดีได้อุปถัมภ์บำรุงมา เช่นสมเด็จพระนเรศวรเป็นต้น ก็มีความเคารพนับถือในส่วนพระองค์พระเจ้าบุเรงนองเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นเมื่อสิ้นพระเจ้าบุเรงนองแล้ว ถึงราชโอรสได้เป็นพระเจ้าหงสาวดีองค์ใหม่ คนทั้งหลายก็คลายความกลัวและอยากเป็นอิสสระยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน แม้เจ้านายที่เป็นประเทศราชก็ยำเกรงพระเจ้าหงสาวดีน้อยลงกว่าแต่ก่อน พระเจ้านันทบุเรงไม่เคยมีพระคุณแก่เจ้านายเหมือนอย่างพระเจ้าบุเรงนอง แม้พระเจ้านันทบุเรงเองก็รู้สึกว่าการปกครองราชอาณาเขตต์หงสาวดีจะลำบากกว่าแต่ก่อน จึงเตรียมรักษาอานุภาพด้วยประการต่างๆ จะทำอย่างไรทางอื่นหาทราบไม่ แต่ทางเมืองไทยนี้พอสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับมาแล้วไม่ช้า พระเจ้าหงสาวดีให้เกณฑ์พวกไทยใหญ่หลายพันคนมาทำทางตั้งแต่เมืองเมาะตะมะเข้ามาทางด่านแม่สอดจนถึงเมืองกำแพงเพ็ชร และให้ขุนนางนายทหารชื่อนันทสูกับราชสังครำคุมทหารสำหรับกำกับพวกไทยใหญ่ให้ทำทางกอง ๑ เข้ามาตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพ็ชร ที่พระเจ้าหงสาวดีให้ทำทางเข้ามาในเมืองไทยครั้งนั้น เห็นจะอ้างว่าเพื่อบำรุงการคมนาคม แต่ประสงค์จะขู่ให้ไทยรู้ตัว ว่าถ้าเอาใจออกหากกำเริบขึ้นเมื่อใดก็จะยกกองทัพเข้ามาปราบในทันที สมเด็จพระนเรศวรก็รู้เท่าพระเจ้าหงสาวดี และทรงคาดการต่อไปว่า พระเจ้าหงสาวดีคงไม่ยอมให้เมืองไทยมีกำลังตั้งตัวเป็นอิสสระได้ ถ้าเห็นจะมีกำลังมากเมื่อใดก็คงชิงเข้ามาตีเมืองไทยทำลายกำลังเสียเหมือนอย่างเคยทำมาแล้วแต่หนหลัง ทรงพระดำริเห็นว่าไทยมีทางที่จะรอดตัวได้อย่างเดียวแต่ต้องสู้กองทัพเมืองหงสาวดีอย่าให้ยํ่ายีได้ เห็นจะตกลงพระทัยที่จะเตรียมการต่อสู้เมืองหงสาวดีแต่นั้นมา แต่จะมิให้พระดำริแพร่งพรายในเวลานั้นจึงทำไม่รู้เท่าพะม่า ปล่อยให้นันทสูราชสังครำทำการตามรับสั่งพระเจ้าหงสาวดี

(๕)

พอพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงเสวยราชย์ได้ ๒ ปีก็เกิดเหตุขึ้นในเมืองพะม่าเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๑๒๖ ในพงศาวดารพะม่าว่าเดิมพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองให้มังกยอชวาราชนัดดา อันเป็นโอรสของพระมหาอุปราชาอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงราชนัดดาซึ่งเป็นธิดาของพระเจ้าอังวะ อยู่ด้วยกันมาเป็นปกติ จนมังกยอชวาได้เป็นพระมหาอุปราชามีอัครชายาใหม่ก็เกิดวิวาทกัน พระมหาอุปราชาบันดาลโทสะทุบตีธิดาของพระเจ้าอังวะถึงบาดเจ็บ นางเอาผ้าชุบโลหิตส่งไปทูลพระบิดาว่าถูกพระสามีกดขี่ข่มเหงถึงสาหัส ทั้งพระเจ้าหงสาวดีก็กลับไปเข้ากับพระมหาอุปราชา ได้ความอัปยศอดสูยิ่งนัก ฝ่ายพระเจ้าอังวะก็ทำนองจะมีเหตุเป็นอริกับพระเจ้าหงสาวดีองค์ใหม่มาแต่ก่อนบ้างแล้ว พอธิดาร้องทุกข์ไปว่าถูกพระเจ้าหงสาวดีกับพระมหาอุปราชากดขี่ก็เกิดโทมนัสคิดจะแก้แค้น จึงเกลี้ยกล่อมพวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่ได้เป็นพรรคพวกแล้วก็ตั้งแข็งเมืองไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงสาวดี แล้วแต่งทูตให้ไปชวนพระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ ให้แข็งเมืองด้วยกัน แต่พระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ ไม่เข้ากับพระเจ้าอังวะ ต่างจับทูตส่งไปถวายพระเจ้าหงสาวดีๆ จึงให้เตรียมกองทัพหลวงจะเสด็จไปตีเมืองอังวะ เป็นกระบวนทัพกษัตริย์เหมือนอย่างเมื่อครั้งพระเจ้าบุเรงนองตีเมืองไทย จึงตั้งให้พระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าลานช้าง และพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ยกกองทัพไปสมทบกองทัพหลวงด้วยทั้ง ๕ องค์ ประสงค์จะพิสูจน์ให้เห็นว่าถ้าองค์ใดไปช่วยตามรับสั่งก็ยังสวามิภักดิ์อยู่อย่างแต่ก่อน ครั้งนั้นพระเจ้าตองอู พระเจ้าแปร พระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าลานช้าง ยกกองทัพไปช่วยตามรับสั่ง พระมหาธรรมราชาฯ บอกไปว่าจะให้สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปแทนพระองค์ แต่เมื่อถึงกำหนดนัดกองทัพไทยยังไม่ไปถึง ชะรอยพวกทูตเมืองอังวะที่ถูกจับส่งไปยังเมืองหงสาวดีจะไปให้การว่าพระเจ้าอังวะแต่งทูตไปชวนสมเด็จพระนเรศวรให้แข็งเมืองด้วย แต่สมเด็จพระนเรศวรไม่ได้จับทูตส่งไปยังเมืองหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีระแวงว่าสมเด็จพระนเรศวรจะเข้าพวกกับพระเจ้าอังวะ จึงตรัสสั่งพระมหาอุปราชาให้คุมพลอยู่รักษาเมืองหงสาวดี เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปถึงให้ทำเป็นต้อนรับโดยดีตามเคย แล้วคิดกำจัดเสีย เมื่อพระเจ้าหงสาวดียกกองทัพไปแล้ว พระมหาอุปราชาจึงให้พระยามอญ ๒ คน ชื่อพระยาเกียรติคน ๑ พระยารามคน ๑ เป็นข้าหลวงลงมาคอยรับสมเด็จพระนเรศวรที่เมืองแครง (มอญเรียกว่าเมืองเดิงกรายน์) ที่ต่อแดนเมืองไทย สั่งมาเป็นความลับว่าให้เป็นไส้ศึกปนไปในกองทัพสมเด็จพระนเรศวร เมื่อได้ทีให้กำจัดสมเด็จพระนเรศวรเสีย พระยาเกียรติกับพระยารามเห็นจะเป็นชาวเมืองแครงจึงมีพวกพ้องอยู่ในเมืองนั้นมาก เมื่อไปถึงเมืองแครงไปขยายความลับแก่พวกพ้องบางคน มีพระมหาเถรคันฉ่องผู้เป็นอาจารย์เป็นต้น ไม่มีใครเห็นชอบด้วย เพราะพวกมอญเคยถูกพะม่ากดขี่เกลียดชังพะม่าอยู่แล้ว และพวกมอญเมืองแครงที่เคยรู้จักสมเด็จพระนเรศวรเมื่อเสด็จผ่านเมืองไปมาแต่ก่อนก็เห็นจะมีมาก พากันห้ามปรามมิให้ช่วยพะม่าทำร้ายสมเด็จพระนเรศวร พระยาทั้ง ๒ ก็มิรู้ที่จะทำประการใด

เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรพระชันษาได้ ๒๘ ปี จะเป็นเพราะพระเจ้าอังวะชักชวนหรือมิได้ชักชวนก็ตาม แต่พอทรงทราบว่าเมืองหงสาวดีเกิดรบกับเมืองอังวะ ก็เห็นถึงเวลาที่จะตั้งเมืองไทยให้กลับเป็นอิสสระ คงทรงพระดำริว่าถ้าพระเจ้าหงสาวดีมีชัยชะนะก็คงมาตีเมืองไทยตามที่ได้เตรียมการไว้ แต่ที่พระเจ้าหงสาวดีไปตีเมืองอังวะ ถึงยกไปเป็นทัพกษัตริย์ก็หย่อนกำลัง เพราะพวกประเทศราชก็ไม่สวามิภักดิ์เป็นนํ้าหนึ่งใจเดียวกันเหมือนอย่างครั้งพระเจ้าบุเรงนอง ข้างฝ่ายพระเจ้าอังวะก็ได้พวกไทยใหญ่ไว้เป็นกำลังมาก ถ้าพระเจ้าหงสาวดีไปรบแพ้พระเจ้าอังวะหรือเพียงไม่สามารถตีเมืองอังวะได้ ประเทศราชเช่นพระเจ้าตองอูและพระเจ้าแปรก็คงจะคิดตั้งตัวเป็นใหญ่ เมืองไทยต้องการรี้พลเป็นกำลังสำหรับต่อสู้ข้าศึกยิ่งกว่าสิ่งอื่น ไทยที่ถูกกวาดไปเป็นชะเลยไปอยู่ที่ในจังหวัดหงสาวดีมีมากกว่าแห่งอื่น ถ้าจู่ไปตีเมืองหงสาวดีในเวลาที่พระเจ้านันทบุเรงไปทำสงครามอยู่ทางเมืองอังวะ ก็จะแก้เอาไทยที่เป็นชะเลยกลับมาบ้านเมืองได้โดยง่าย ทรงพระดำริเช่นนั้นจึงหน่วงการเตรียมทัพจนถึงเดือน ๓ แรม ๖ ค่ำ ปีมะแม พ.ศ. ๒๑๒๖ จึงเสด็จไปจากเมืองพิษณุโลก แล้วยกกองทัพไปช้าๆ เกือบ ๒ เดือนครึ่งจึงไปถึงเมืองแครงที่ต่อแดนไทยเมื่อเดือน ๖ ขึ้น ๑ คํ่า พ.ศ. ๒๑๒๗ พวกเจ้าเมืองกรมการจัดที่ให้ตั้งกองทัพข้างนอกเมือง และมาเฝ้าด้วยกันกับพระยาเกียรติและพระยาราม ทูลให้ทรงทราบว่า พระเจ้าหงสาวดีมีรับสั่งให้มารับเสด็จ พลับพลาที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรอยู่ไม่ห่างกับวัดพระมหาเถรคันฉ่องนัก คงได้ทรงคุ้นเคยและนับถือพระมหาเถรคันฉ่องมาแต่ก่อนแล้ว จึงเสด็จไปเยี่ยมพระมหาเถรคันฉ่องถึงกุฎี ฝ่ายข้างพระมหาเถรคันฉ่องก็คงเคยรักใคร่สมเด็จพระนเรศวรมาแต่ก่อน เสด็จไปครั้งนั้นพระมหาเถรรู้ว่าเขาจะลวงเอาไปทำร้าย มีความสงสารเป็นกำลัง จึงทูลสมเด็จพระนเรศวรให้รู้พระองค์ แล้วไปว่ากล่าวพระยาเกียรติพระยารามให้มาสวามิภักดิ์ทูลความตามจริงให้สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบ

สมเด็จพระนเรศวรทรงพระดำริว่า ความที่เป็นอริกับพระเจ้าหงสาวดีถึงเวลาที่จะต้องให้เป็นการเปิดเผยแล้ว จึงมีรับสั่งให้เรียกนายทัพนายกองกับพระยาเกียรติพระยารามและเจ้าเมืองกรมการมาประชุมพร้อมกันที่พลับพลา และนิมนต์พระสงฆ์มานั่งเป็นสักขีพะยานด้วย สมเด็จพระนเรศวรดำรัสเล่าเรื่องราวที่พระเจ้าหงสาวดีจะให้ล่อลวงไปทำร้ายให้ปรากฏแก่คนทั้งปวงแล้ว ทรงหลั่งนํ้าลงเหนือแผ่นดินด้วยสุวรรณภิงคาร ประกาศแก่เทพดาต่อหน้าที่ประชุว่า ตั้งแต่วันนี้กรุงศรีอยุธยาขาดทางไมตรีกับกรุงหงสาวดี มิได้เป็นมิตรกันดังแต่ก่อนต่อไป เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสสรภาพที่เมืองแครงนั้น พระชันษาได้ ๒๙ ปี พอประกาศแล้วก็ดำรัสถามพวกมอญชาวเมืองแครงว่าจะเข้าข้างไหน พวกมอญโดยมากยอมเข้ากับไทย สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสสั่งให้พระยาเกียรติพระยารามจัดพรรคพวกนำข้าหลวงแยกย้ายกันไปตามตำบลที่พวกไทยอยู่ข้างนอกเมืองหงสาวดี บอกให้รู้ว่าจะทรงพากลับไปบ้านเมือง แล้วเสด็จยกกองทัพออกจากเมืองแครงเมื่อเดือน ๖ แรม ๓ คํ่า ข้ามแม่นํ้าสะโตงตรงไปยังเมืองหงสาวดี

ฝ่ายพระมหาอุปราชาที่รักษาพระนคร ครั้นได้ข่าวว่าพระยาเกียรติพระยารามกลับไปทูลสมเด็จพระนเรศวรให้รู้พระองค์เสียแล้ว ก็มิกล้ายกกองทัพออกมาซุ่มดักทางอย่างคิดไว้ เป็นแต่ให้รักษาพระนครให้มั่นคง สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพเข้าไปจนใกล้จะถึงเมืองหงสาวดี ไปได้ข่าวว่าพระเจ้าหงสาวดีไปรบกับพระเจ้าอังวะถึงชนช้างกัน พระเจ้าหงสาวดีมีชัยชะนะได้เมืองอังวะแล้ว และกำลังยกกองทัพกลับคืนมาพระนคร สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่าจะตีเมืองหงสาวดีในครั้งนั้นยังไม่ได้ ก็ให้รวบรวมไทยที่จะกลับบ้านเมืองประมาณหมื่นเศษให้เดินล่วงหน้ามาก่อน แล้วถอยกองทัพหลวงป้องกันครัวตามมาข้างหลัง พระมหาอุปราชารู้ว่าสมเด็จพระนเรศวรให้เที่ยวกวาดครัวแล้วถอยทัพกลับไป ก็จัดทัพให้สุรกรรมาเป็นกองหน้า พระมหาอุปราชาเป็นกองหลวง ยกติดตามสมเด็จพระนเรศวร กองหน้ามาทันที่แม่นํ้าสะโตง สมเด็จพระนเรศวรพาครัวไทยข้ามฟากมาแล้วจึงตรัสสั่งให้พวกครัวล่วงหน้ามาก่อน ส่วนกองหลวงตั้งรอต่อสู้ข้าศึกอยู่ที่ริมแม่นํ้าสะโตง สุรกรรมากองหน้ามาถึงท่าข้ามข้างฝั่งโน้น กองทัพไทยเอาปืนยิง ก็ยับยั้งยิงต่อสู้กันอยู่ที่ริมนํ้า และแม่นํ้าสะโตงนั้นกว้างใหญ่นัก แรงปีนที่พลทหารยิงไม่ถึงฝั่งด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย สมเด็จพระนเรศวรทรงยิงปืนนกสับอย่างยาวกระบอก ๑ ถูกสุรกรรมานายทัพหน้าของข้าศึกตายอยู่กับคอช้าง พวกรี้พลเห็นนายทัพตายก็พากันครั่นคร้าม เลิกทัพกลับไปทูลความแก่พระมหาอุปราชาซึ่งตามมาข้างหลัง เห็นว่าจะติดตามสมเด็จพระนเรศวรต่อไปไม่สมประสงค์ก็เลิกทัพกลับไปกรุงหงสาวดี และพระแสงปืนซึ่งทรงยิงถูกสุรกรรมาตายครั้งนั้นได้นามปรากฏต่อมาว่า “พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง” นับในพระแสงอัษฎาวุธอันเป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับแผ่นดินจนตราบเท่าทุกวันนี้

สมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับมาถึงเมืองแครง ทรงพระดำริว่าพระมหาเถรคันฉ่อง กับ พระยาเกียรติ พระยารามได้มีอุปการะมาก จะใคร่ทรงยกย่องเกียรติยศให้สมควรแก่ความชอบ จึงทรงชักชวนให้เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา พระมหาเถรคันฉ่องกับพระยาทั้ง ๒ ก็มีความยินดีพาพรรคพวกตามเสด็จเข้ามาด้วยเป็นอันมาก และเมื่อเสด็จกลับมาจากเมืองแครงครั้งนั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงระแวงว่า บางทีข้าศึกยังจะยกกองทัพติดตามมาอีก ถ้าเสด็จกลับทางด่านแม่สอดมีกองทัพนันทสูราชสังครำที่มาตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพ็ชรสะกัดอยู่ข้างหน้า จะพาครอบครัวไทยเข้ามาลำบาก จึงตรัสสั่งให้พระยาเกียรติพระยารามนำทัพเดินผ่านหัวเมืองมอญลงมาข้างใต้ มาเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ตรงมากรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระนเรศวรตระหนักพระหฤทัยว่าถึงปลายปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ นั้น คงมีศึกหงสาวดีเข้ามาตีเมืองไทย ทรงพระดำริตริตรองถึงวิธีที่จะป้องกันบ้านเมือง เห็นว่าถ้าตั้งฐานทัพต่อสู้ข้าศึกทั้งที่ราชธานีและเมืองเหนือเหมือนอย่างแต่ก่อนก็คงแพ้อีก เพราะไทยมีรี้พลน้อยกว่าข้าศึก จะต้องแยกกันรักษาหน้าที่เกินกำลัง ที่จริงกำลังของไทยได้เปรียบข้าศึกอยู่ที่ชัยภูมิพระนครศรีอยุธยา จำจะต้องย้ายเอาผู้คนกับพาหนะทั้งปวงลงมารวมกันตั้งต่อสู้ที่พระนครศรีอยุธยาแต่แห่งเดียวจึงจะสู้ข้าศึกได้ เมื่อเสด็จกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาทูลแถลงพระดำริแก่สมเด็จพระชนก สมเด็จพระมหาธรรมราชาฯ ก็ทรงเห็นชอบด้วย จึงมอบอำนาจแก่สมเด็จพระนเรศวรให้ทรงบัญชาราชการทั้งปวงสิทธิ์ขาดแต่นั้นมา

ส่วนพวกมอญเมืองแครงที่ตามสมเด็จพระนเรศวรเข้ามาครั้งนั้น ก็ทรงตั้งพระมหาเถรคันฉ่องให้เป็นพระราชาคณะ และตั้งพระยาเกียรติพระยารามเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ได้พานทองเป็นเครื่องยศ แล้วพระราชทานที่ให้อยู่ที่แถววัดขมิ้นและวัดขุนแสนใกล้กับวังจันทร์ที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวร

ฝ่ายข้างเมืองเหนือ ตั้งแต่พวกไทยใหญ่ที่พะม่าเกณฑ์เข้ามาทำทางรู้ว่าบ้านเมืองของตนตั้งแข็งเมืองต่อพระเจ้าหงสาวดี ก็พากันหลบหนีจากเมืองกำแพงเพ็ชร แต่จะกลับไปยังเมืองของตนยังไม่ได้ ก็มาขออาศัยอยู่ ณ เมืองพิษณุโลกแต่เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จอยู่เมืองแครง มีรับสั่งมาว่าให้รับไว้ นันทสูราชสังครำให้ไปขอตัวพวกไทยใหญ่ ผู้รักษาเมืองพิษณุโลกก็ตอบว่ายังส่งให้ไม่ได้ ด้วยสมเด็จพระนเรศวรยังเสด็จไม่อยู่ ทำนองในระหว่างนั้นพวกไทยใหญ่จะพากันหนีไปอาศัยเมืองพิษณุโลกมากขึ้น นันทสูราชสังครำจึงมีหนังสือไปยังผู้รักษาเมืองพิษณุโลก ว่าถ้าไม่ส่งพวกไทยใหญ่ให้โดยเร็ว จะจับเอาไทยชาวเมืองกำแพงเพ็ชรเป็นตัวจำนำ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาได้ทรงทราบความอันนี้ก็รีบเสด็จขึ้นไปยังเมืองพิษณุโลก ให้มีหนังสือรับสั่งตอบไปยังนันทสูราชสังครำว่า ธรรมดาพระมหากษัตริย์ผู้เป็นอิสสระ ถ้าชาวต่างประเทศหนีร้อนมาพึ่งพระบารมีแล้วก็ต้องรับไว้ ไม่มีเยี่ยงอย่างที่จะส่งตัวคืนให้ แล้วมีรับสั่งให้เกณฑ์คนในเมืองเหนือเข้าเป็นกองทัพ ให้พระชัยบุรีกับพระศรีถมอรัตนทั้ง ๒ คนที่เคยรบเขมรมาแต่ก่อนคุมทัพหนัา พระองค์เสด็จในกองทัพหลวงยกไปยังเมืองกำแพงเพ็ชร ฝ่ายนันทสูราชสังครำเมื่อได้รับหนังสือรับสั่งสมเด็จพระนเรศวร ก็รู้แน่ว่าไทยตั้งแข็งเมืองต่อพระเจ้าหงสาวดี เห็นว่าตัวเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองไทยกำลังไม่พอจะต่อสู้ ก็ให้เลิกทัพกลับไปจากเมืองกำแพงเพ็ชร กองทัพพระชัยบุรีพระศรีถมอรัตนยกไปถึงเมืองกำแพงเพ็ชรได้ความว่านันทสูราชสังครำล่าทัพกลับไปแล้วก็รีบยกติดตามไป และครั้งนั้นตัวนายพวกไทยใหญ่ที่ยังอยู่กับพะม่า มีเจ้าฟ้าเมืองจี่ เจ้าฟ้าเมืองลองแจ เป็นต้น กับเจ้าเมืองขึ้นอีกหลายคน ก็นำพวกไทยใหญ่ที่ยังเหลืออยู่เข้าสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระนเรศวร แล้วช่วยติดตามตีกองทัพพะม่าไปด้วยกันกับพระชัยบุรีพระศรีถมอรัตน ตามไปทันที่ตำบลแม่ระกา นันทสูราชสังครำต่อสู้ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ ถึงตัวนายทัพทั้ง ๒ ฝ่ายได้ชนช้างกัน พะม่าสู้ไม่ได้ก็แตกหนี กองทัพไทยติดตามไปจนสุดแดนแล้วจึงกลับคืนมา

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรให้เกณฑ์คนหัวเมืองเหนือไปรบนันทสูราชสังครำครั้งนั้น พระยาสวรรคโลกกับพระยาพิชัยยังกลัวพะม่า เห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรมีรี้พลน้อย ที่ไหนจะตั้งแข็งเมืองต่อสู้พระเจ้าหงสาวดีได้ คิดจะเอาตัวรอดก็บิดพลิ้วเสียไม่ยอมยกทัพไปตามรับสั่ง ครั้นรู้ว่าสมเด็จพระนเรศวรขับไล่พะม่าที่เมืองกำแพงเพ็ชรไปได้แล้ว กลัวจะถูกลงโทษที่ขัดรับสั่งก็เลยเป็นกบฏ ไปรวมกันตั้งมั่นอยู่ที่เมืองสวรรคโลก กรมการคนใดไม่เป็นกบฏด้วยก็จับฆ่าเสียบ้างเอาตัวจำไว้บ้าง ด้วยเชื่อว่าเมืองสวรรคโลกมีป้อมปราการมั่นคง คงจะรักษาเมืองไว้คอยท่ากองทัพเมืองหงสาวดีหรือเมืองเชียงใหม่ยกมาช่วยได้ สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่าพระยาสวรรคโลกกับพระยาพิชัยเป็นกบฏ ก็ให้รวมกองทัพพร้อมกันที่เมืองตาก แล้วยกไปทางบ้านด่านลานหอย ครั้นมาถึงเมืองสุโขทัยให้ตั้งพลับพลาประทับที่ข้างวัดศรีชุม ทรงพระวิตกว่าไทยยังไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่ยังกลัวพระเจ้าหงสาวดีเห็นจะมีมาก จึงให้ตั้งพิธีศรีสัจปานการ ตักนํ้ากระพังโพยศรีซึ่งนับถือกันว่าเป็นนํ้าศักดิ์สิทธิ์ครั้งพระร่วงมาทำนํ้าพระพิพัฒน์สัตยา ให้นายทัพนายกองตลอดจนไพร่พลถือนํ้าทำสัตย์สัญญา ว่าจะต่อสู้ข้าศึกกู้บ้านเมืองไทยให้เป็นอิสสรภาพให้จงได้ แล้วจึงเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปเมืองสวรรคโลกให้ตั้งล้อมเมืองไว้ มีรับสั่งให้ข้าหลวงเข้าไปร้องบอกพระยาทั้ง ๒ ว่าให้ออกมาสารภาพผิดเสียโดยดีจะทรงพระกรุณายกโทษให้ พระยาทั้ง ๒ ก็ไม่เชื่อฟัง กลับให้เอาตัวกรมการที่ไม่เข้าด้วยตัดศีรษะโยนออกมาให้ ข้าหลวง สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงพระพิโรธ ดำรัสสั่งให้กองทัพเข้าตีเมืองสวรรคโลกทางด้านเหนือด้านใต้และด้านตะวันตกก็เข้าไม่ได้ ด้วยเมืองสวรรคโลกป้อมปราการล้วนทำด้วยศิลาแลงมาแต่ชื่อว่าเมืองสัชนาลัยในครั้งพระร่วง ถมเชิงเทินทำสนามเพลาะรักษาเมืองมั่นคงนัก จึงมีรับสั่งให้ตั้งค่ายประชิด แล้วปลูกหอรบให้สูงเท่ากำแพงเมือง เอาปืนขึ้นตั้งจังกายิงพวกรักษาหน้าที่จนระส่ำระสาย แล้วให้เข้าเผาประตูดอนแหลมข้างด้านใต้ทลายลง กองทัพสมเด็จพระนเรศวรก็เข้าเมืองได้ จับตัวได้พระยาสวรรคโลก พระยาพิชัย มีรับสั่งให้ประหารชีวิตเสียทั้ง ๒ คน แล้วเสด็จกลับมายังเมืองพิษณุโลก ให้ลงมือย้ายผู้คนและพาหนะหัวเมืองเหนือทั้งปวงลงมายังกรุงศรีอยุธยา ทิ้งหัวเมืองเหนือให้ร้างเสียคราวหนึ่ง สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จลงมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ นั้น

(๖)

พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงกลับจากเมืองอังวะมาถึงกรุงหงสาวดี ได้ทราบว่าสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพออกไปกวาดต้อนเอาครัวไทยกลับมา แล้วมารบพุ่งขับไล่นันทสูราชสังครำออกไปจากเมืองไทย เห็นว่าไทยตั้งแข็งเมืองเป็นแน่แล้ว ก็สั่งให้เกณฑ์กองทัพจะให้มาตีกรุงศรีอยุธยาในฤดูแล้งปลายปีนั้น ทรงพระดำริว่าไทยเสียบ้านเมืองมาไม่ช้านัก กำลังที่จะต่อสู้มีน้อยกว่าแต่ก่อน ไม่จำจะต้องยกกองทัพหลวงเข้ามาเหมือนอย่างครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองก็คงพอจะตีกรุงศรีอยุธยาได้ จึงให้จัดทัพยกมาเป็น ๒ ทางพร้อมกัน ประสงค์จะให้ไทยละล้าละลังในการที่จะต่อสู้ในครั้งนั้น ให้เจ้าเมืองพสิมซึ่งเป็นพระเจ้าอาคุมกองทัพจำนวนพล ๓๐,๐๐๐ คน ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทัพ ๑ ให้พระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งเป็นพระอนุชายกกองทัพบกทัพเรือจากเมืองเชียงใหม่จำนวนพล ๑๐๐,๐๐๐ คนลงมาทางเมืองเหนืออีกทาง ๑ ให้มาสมทบกันตีกรุงศรีอยุธยา

ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุธยานั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงเตรียมการคอยท่าศึกอยู่แล้ว ให้กองสอดแนมออกไปคอยสืบสวนอยู่ทุกทางที่ข้าศึกจะยกมา ครั้นทรงทราบว่าข้าศึกจะยกมาเป็น ๒ ทาง จึงให้ตระเตรียมการต่อสู้ ให้จัดพลอาสาชาวหัวเมืองเหนือเป็นทัพบกทัพ ๑ มีจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ คน ให้เจ้าพระยาสุโขทัยเป็นนายทัพ แล้วจัดพลอาสาชาวกรุงฯ เป็นกองทัพเรืออีกทัพ ๑ ให้พระยาจักรีเป็นนายทัพ พระยาพระคลังเป็นยกกระบัตร และสั่งให้ขนย้ายสะเบียงอาหารและพาหนะในหนทางที่ข้าศึกจะยกมาเสียให้พ้นมือข้าศึกทั้ง ๒ ทาง แล้วให้ต้อนคนเข้าอยู่ในพระนคร เตรียมรักษาป้อมปราการเป็นสามารถ

กองทัพหงสาวดียกเข้ามาครั้งนี้ จะเป็นด้วยคิดโดยเลินเล่อหรือเป็นด้วยเจ้าเมืองพสิมกับพระเจ้าเชียงใหม่เข้าใจผิดกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ยกเข้ามาหาพร้อมกันไม่ พอถึงเดือนอ้ายกองทัพเจ้ามืองพสิมก็ยกเข้ามาในแดนไทยทางเมืองกาญจนบุรีแต่ทัพเดียว สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบก็เห็นได้ที แต่เวลานั้นนํ้าลดยังไม่ถึงที่ นํ้าในแม่นํ้าลำคลองมีมาก แต่ทางบกแผ่นดินยังเปียกจะเดินกองทัพไม่สะดวก จึงมีรับสั่งให้พระยาจักรียกกองทัพเรือออกไปรักษาเมืองสุพรรณบุรีต้านทานข้าศึกไว้พลางก่อน กองทัพเจ้าเมืองพสิมยกเข้ามาหมายจะเอาเมืองสุพรรณบุรีเป็นที่มั่น ถูกกองทัพเรือพระยาจักรีเอาปืนใหญ่ยิง ทนอยู่ไม่ไหวก็ถอยกลับไปตั้งอยู่บนดอนที่เขาพระยาแมน คอยฟังข่าวกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่อยู่ที่นั่น ครั้นถึงเดือนยี่ขึ้น ๒ ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถก็เสด็จด้วยกระบวนเรือจากกรุงศรีอยุธยา ไปทำพิธีเหยียบชิงชัยภูมิฟันไม้ข่มนามที่ตำบลลุมพลี แล้วเสด็จไปประทับที่ (ตำบลป่าโมก) แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ อันเป็นที่ประชุมพล โปรดให้เจ้าพระยาสุโขทัยคุมกองทัพบกเมืองเหนือยกเป็นกองหน้าไปตีกองทัพเจ้าเมืองพสิมซึ่งตั้งอยู่ที่เขาพระยาแมน แล้วเสด็จยกกองทัพหลวงตามไปตั้งอยู่ที่ตำบลสามขนอนแขวงเมืองสุพรรณบุรี เจ้าพระยาสุโขทัยยกไปถึงเขาพระยาแมน ได้รบพุ่งกับกองทัพหน้าของเจ้าเมืองพสิม ตีกองทัพพะม่าแตกพ่ายไป ฝ่ายเจ้าเมืองพสิมเวลานั้นเข้ามายึดเมืองไม่ได้สมหมาย ต้องออกไปตั้งอยู่กลางดอนขัดสนสะเบียงอาหาร ฟังข่าวกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ก็ไม่ได้ความ ทำนองออกจะรวนเรอยู่แล้ว พอรู้ว่ากองทัพหน้าแตกก็ไม่ได้คิดจะต่อสู้ รีบถอยหนืกลับไป เจ้าพระยาสุโขทัยได้ทีก็รีบติดตามตีพะม่าไปจนปลายแดนเมืองกาญจนบุรี จับได้ (นายกองชื่อ) ฉางชวีและช้างม้ามาถวายเป็นอันมาก

กองทัพเจ้าเมืองพสิมหนีไปได้สัก ๑๕ วัน กองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ก็ยกลงมาถึงปากนํ้าโพในเดือนยี่นั้น ด้วยหัวเมืองเหนือเวลานั้นร้างอยู่ทุกเมืองดังกล่าวมาแล้ว ไม่มีผู้ใดต่อสู้ก็ยกลงมาได้โดยสะดวกทั้งทัพบกทัพเรือ พระเจ้าเชียงใหม่มาตั้งอยู่ที่เมืองชัยนาท ไม่รู้ว่ากองทัพเจ้าเมืองพสิมถอยหนีไปเสียแล้ว จึงให้ไชยะกยอสูและนันทกยอทาง ยกกองทัพหน้าจำนวนพล ๑๕,๐๐๐ คน ลงมาตั้งที่ปากนํ้าบางพุทราแขวงเมืองพรหม ให้มาสืบสวนนัดกำหนดกับเจ้าเมืองพสิมที่จะยกเข้าตีกรุงศรีอยุธยาให้พร้อมกัน

สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่ากองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกลงมาทางข้างเหนือก็เสด็จยกกองทัพหลวงไปกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ตั้งทัพหลวงที่บ้านชะไวแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ แล้วให้พระราชมนูเป็นนายทัพ ขุนรามเดชะเป็นยกกระบัตร คุมกองทัพหน้ามีจำนวนทหารม้า ๒๐๐ พลราบ ๓,๐๐๐ คนยกขึ้นไปตีกองทัพหน้าของข้าศึกที่ปากนํ้าบางพุทรา พระราชมนูกับขุนรามเดชะยกขึ้นไปถึง เห็นว่าจำนวนพลในกองทัพของตนมีน้อยกว่าข้าศึกมากนัก จึงคิดเป็นกลอุบายซุ่มกองทัพไว้ในป่า แล้วแต่งกองโจรให้แยกย้ายกันดักฆ่าฟันข้าศึกที่เที่ยวลาดตระเวนหาสะเบียงอาหาร และคอยแย่งช้างม้าพาหนะมิให้เอาไปเลี้ยงห่างค่ายใหญ่ได้ ถ้าข้าศึกตามจับเห็นมากก็หลบเลี่ยงไปเสีย ด้วยชำนาญท้องที่กว่าข้าศึก แต่พอเห็นข้าศึกเผลอก็เข้าปล้นทัพมิให้ข้าศึกอยู่เป็นปกติได้ ทัพหน้าข้าศึกตั้งอยู่ไม่ได้ก็ต้องถอยกลับไปเมืองชัยนาท พระเจ้าเชียงใหม่ได้ข่าวว่ากองทัพเจ้าเมืองพสิมซึ่งยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เสียทีไทยถอยหนีกลับไปเสียแล้ว เห็นจะตีพระนครศรีอยุธยาไม่สำเร็จก็เลิกทัพกลับไป

พระเจ้าหงสาวดีได้ทรงทราบก็ขัดเคืองว่าเพราะพระเจ้าเชียงใหม่เฉื่อยช้ายกกองทัพลงมาไม่ทันกำหนด เจ้าเมืองพสิมจึงเสียที จึงให้พระยาอภัยคามินีกับซักแซกยอถ่างและสมิงโยคราชเป็นข้าหลวงถือรับสั่งเข้ามากำกับกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งยับยั้งอยู่ ณ เมืองกำแพงเพ็ชรให้ลงมาทำการแก้ตัวใหม่ ยังมิให้กลับคืนไปบ้านเมือง พระเจ้าเชียงใหม่กลัวพระเจ้าหงสาวดีก็ยกกองทัพกลับลงมาตั้งอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ในเดือน ๔ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ นั้น

ฝ่ายพระเจ้าหงสาวดีทรงพระดำริ ว่าที่คาดว่าไทยจะไม่สู้รบได้แข็งแรงอย่างแต่ก่อนนั้นผิดไปเสียแล้ว จำจะต้องยกกองทัพหลวงเข้ามาเหมือนเมื่อครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจึงจะตีเอากรุงศรีอยุธยาได้ เวลานั้นความทราบถึงกรุงหงสาวดีว่าไทยทิ้งหัวเมืองเหนือเสียหมด รวบรวมเอากำลังมาตั้งรักษาแต่กรุงศรีอยุธยาแห่งเดียว พระเจ้าหงสาวดีจึงดำรัสสั่งให้พระมหาอุปราชาคุมกองทัพมีจำนวนพล ๕๐,๐๐๐ คนเข้ามาตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพ็ชรแต่เดือน ๕ ปีระกา พ.ศ. ๒๑๒๘ ให้ไพร่พลทำนาตามท้องทุ่งในหัวเมืองเหนือ ตระเตรียมสะเบียงอาหารไว้สำหรับกองทัพใหญ่ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีจะเสด็จยกมาเองในฤดูแล้งข้างปลายปีระกา ให้พระเจ้าเชียงใหม่รุกลงมาตั้งขัดตาทัพถึงหัวเมืองชั้นในต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คอยยํ่ายีรบกวนอย่าให้ชาวกรุงฯ ทำไร่ไถนาได้ในปีนั้น โดยประสงค์จะให้สะเบียงอาหารข้างกรุงศรีอยุธยาเบาบาง เวลาถูกล้อมพระนครจะได้เกิดอดอยากโดยเร็ว พระเจ้าเชียงใหม่ก็ต้องยกกองทัพบกทัพเรือกลับลงมาอีก ครั้นเห็นผู้คนตามหัวเมืองชั้นในเบาบางไม่มีผู้ใดต่อสู้ ก็ยกกองทัพเลยลงมาตั้งถึงบ้านสระเกศ (ใกล้กับตำบลไชโย) ในแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ แล้วแต่งกองอาสาให้แยกย้ายกันไปเที่ยวไล่จับราษฎรตามอำเภอในจังหวัดกรุงฯ มิให้ทำไร่ไถนาได้ เจ้าเมืองพะเยาบังอาจคุมทหารม้ากองอาสาล่วงเข้ามาเผาบ้านเรือนราษฎรจนถึงตำบลสะพานเผาข้าวในชานพระนคร สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบก็รีบเสด็จยกพลทหารม้าออกไปด้วยกันกับสมเด็จพระเอกาทศรถ เข้ารบพุ่งข้าศึกถึงตะลุมบอน ฆ่าเจ้าเมืองพะเยาตายในที่รบและจับพวกไพร่พลได้ก็มาก ที่เหลืออยู่ก็พากันแตกหนีไป

สมเด็จพระนเรศวรเห็นจะได้ทรงทราบความจากคำให้การของพวกชะเลยที่จับได้ในคราวนี้ ว่าพระเจ้าหงสาวดีคิดจะทำสงครามเป็นการแรมปีดังกล่าวมา ทรงพระดำริเห็นว่าจำจะต้องตีกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ให้ถอยไปเสียจากหัวเมืองชั้นในก่อน จึงจะไม่เสียเปรียบข้าศึก ก็ตรัสสั่งให้จัดกองทัพบกทัพเรือรวมจำนวนพล ๘๐,๐๐๐ คน จะยกไปตีกองทัพเมืองเชียงใหม่ ในเวลากำลังประชุมพลอยู่ ณ ทุ่งลุมพลีนั้น ได้ข่าวลงมาว่ามีพวกกองอาสาเมืองเชียงใหม่ยกลงมาเที่ยวไล่ขับจับคนถึงบ้านป่าโมกอีกทาง ๑ สมเด็จพระนเรศวรก็รีบให้จัดกระบวนเรือเร็วเสด็จไปด้วยกันกับสมเด็จพระเอกาทศรถและข้าราชการที่รักษาพระองค์อยู่ในเวลานั้น เสด็จไปถึงตำบลป่าโมกน้อยพบกองทัพสะเรนันทสูซึ่งพระเจ้าเชียงใหม่ให้คุมพล ๕,๐๐๐ คน ยกลงมาเที่ยวจับราษฎรในแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ ก็ตรัสสั่งให้เทียบเรือเข้าข้างฝั่ง สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จขึ้นบกคุมพลเข้าโจมตีทัพข้าศึกด้วยพระองค์เอง รบพุ่งกันเป็นสามารถ ครั้งนี้สมเด็จพระนเรศวรทรงยิงพระแสงปืนถูกนายทัพเชียงใหม่ตายคน ๑ ข้าศึกต้านทานไม่ได้ก็แตกหนีกลับขึ้นไปข้างเหนือ พวกพลอาสาพากันไล่ตามขึ้นไป จนปะทะกองทัพพระยาเชียงแสนซึ่งเป็นนายทัพหน้าของพระเจ้าเชียงใหม่กำลังยกตามลงมาก็รบพุ่งกัน พวกกองอาสาน้อยก็ต้องล่าถอย พวกเชียงใหม่ก็ไล่ติดตามลงมา สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่าข้าศึกไล่ประชิดกองอาสาลงมา เกรงจะกลับลงเรือไม่ทัน จึงให้เลื่อนเรือพระที่นั่งกับเรือที่มีทหารประจำอยู่ในกระบวนเสด็จ ขึ้นไปรายลำอยู่ข้างเหนือปากคลองป่าโมกน้อย พอข้าศึกไล่กองอาสามาถึงที่นั่น ก็ให้เอาปืนใหญ่น้อยระดมยิงข้าศึกขึ้นไปจากเรือ ฝ่ายข้าศึกเห็นทัพเรือไทยขึ้นไปช่วยกัน ก็ละพวกอาสาหันมารบพุ่งกับทัพเรือ ข้าศึกตั้งรายบนตลิ่งยิงปืนโต้ตอบกันกับทัพเรือสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถต่างทรงพระแสงปืนนกสับยิงข้าศึกไปแต่เรือพระที่นั่งด้วยกันกับพลทหารทั้งปวง และครั้งนั้นรบกันใกล้ๆ ผู้คนถูกปืนเจ็บป่วยล้มตายลงด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถหาต้องอาวุธข้าศึกไม่ รบกันอยู่จนกองทัพบกซึ่งยกมาจากทุ่งลุมพลีตามขึ้นไปถึงก็เข้าช่วยรบพุ่ง กองทัพพระยาเชียงแสนต้านทานไม่ไหวก็ถอยหนีกลับไปข้าง เหนือ สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงรวบรวมกองทัพทั้งปวงให้ตั้งอยู่ที่ตำบลป่าโมกนั้น

ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ตั้งอยู่ที่บ้านสระเกศ ทราบว่าสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไปตีกองสะเรนันทสูแตก และรบพุ่งจนกองทัพพระยาเชียงแสนต้องถอยหนีไป คาดว่าสมเด็จพระนเรศวรคงจะยกกองทัพตามขึ้นไป ปรึกษาแม่ทัพนายกองทั้งปวงเห็นพร้อมกันว่า ควรจะยกกำลังกองทัพใหญ่ชิงลงมาตีกองทัพสมเด็จพระนเรศวรเสียก่อน อย่าให้ทันรวมกำลังยกต่อขึ้นไป พระเจ้าเชียงใหม่จึงจัดกองทัพใหม่ ให้พระยาเชียงแสนกับสะเรนันทสูทำการแก้ตัวเป็นทัพหน้าคุมพล ๑๕,๐๐๐ คน กองทัพหลวงของพระเจ้าเชียงใหม่มีจำนวนพล ๖๐,๐๐๐ คน กำหนดฤกษ์จะยกลงมาในเดือน ๕ แรม ๒ คํ่า ปีระกา พ.ศ. ๒๑๒๘

ขณะเมื่อพระเจ้าเชียงใหม่เตรียมทัพจะยกลงมานั้น กองทัพสมเด็จพระนเรศวรประทับอยู่ที่ตำบลป่าโมก ทรงพระดำริว่ากองทัพพระยาเชียงแสนเป็นแต่ถอยหนีไป มิได้แตกยับเยิน น่าจะไปหากำลังเพิ่มเติมยกลงมาอีก แต่เหตุไฉนจึงหายไปหลายวันไม่ยกลงมา ดีร้ายพระเจ้าเชียงใหม่จะคิดเป็นอุบายศึกสักอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงดำรัสสั่งให้พระราชมนูนายทหารเอกคุมกองทัพมีจำนวน ๑๐,๐๐๐ คน ยกขึ้นไปตรวจตระเวนดูทีข้าศึกว่าจะทำอย่างไร แล้วสมเด็จพระ นเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถก็เสด็จยกทัพหลวงเป็นกระบวนทัพบกมีจำนวนพล ๓๐,๐๐๐ คนตามขึ้นไป

กองทัพพระราชมนูยกขึ้นไปถึงบางแก้ว ปะทะกับทัพหน้าของพระเจ้าเชียงใหม่ที่ยกลงมา ก็รบพุ่งกัน ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปถึงบ้านแห ได้ยินเสียงปืนใหญ่น้อยหนาขึ้นทุกที ก็ทรงทราบว่าพระราชมนูขึ้นไปพบกองทัพเชียงใหม่ซึ่งหมายจะลงมาตีกองทัพไทย จึงทรงพระดำริเป็นกลอุบายกระบวนรบ ให้หยุดกองทัพหลวงมิให้ตามขึ้นไปช่วยพระราชมนู แล้วแปรกระบวนทัพหลวงไปซุ่มอยู่ที่ป่าจิกป่ากะทุ่มข้างฝั่งตะวันตก แล้วให้ข้าหลวงขึ้นไปสั่งพระราชมนูให้ล่าถอยลงมา ฝ่ายพระราชมนูซึ่งเป็นนายทหารเอกคน ๑ ของสมเด็จพระนเรศวร ชะรอยจะเห็นว่ากำลังรี้พลไล่เลี่ยกับกองทัพหน้าของพระเจ้าเชียงใหม่ที่รบพุ่งกันอยู่ พอจะต่อสู้รอกองทัพหลวงให้ขึ้นไปถึงได้ ก็ไม่ถอยลงมา สมเด็จพระนเรศวรดำรัสสั่งให้จมื่นทิพรักษาเป็นข้าหลวงขึ้นไปเร่งให้ถอยอีก พระราชมนูก็สั่งให้มากราบทูลอีกว่า รบพุ่งกับข้าศึกติดพันกันอยู่แล้ว ถ้าถอยเกรงรี้พลจะเลยแตกพ่ายเอาไว้ไม่อยู่ สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงฟังก็ทรงพระพิโรธ ตรัสสั่งให้จมื่นทิพรักษาคุมทหารม้าเร็วรีบกลับไปสั่งพระราชมนูให้ถอย ถ้าไม่ถอยก็ให้ตัดเอาศีรษะพระราชมนูมาถวาย พระราชมนูทราบกระแสรับสั่งก็ตกใจ ให้โบกธงบอกสัญญาให้ถอยทัพ นายทัพนายกองทั้งปวงเห็นธงสัญญาต่างก็พากันล่าถอย ขณะนั้นพอกองทัพหลวงพระเจ้าเชียงใหม่ยกหนุนลงมาถึง พวกเชียงใหม่สำคัญว่ากองทัพไทยแตกก็ดีใจ พากันโห่ร้องรุกไล่ลงมา เห็นไทยเอาแต่หนีก็ยิ่งชิงกันไล่ ด้วยอยากได้ช้างม้าข้าชะเลยเป็นอาณาประโยชน์ ติดตามมิได้เป็นกระบวนศึกลงมาจนถึงที่สมเด็จพระนเรศวรซุ่มกองทัพหลวงอยู่ ทอดพระเนตรเห็นข้าศึกเสียกลสมพระประสงค์ ก็ให้ยิงปืนโบกธงสัญญายกกองทัพหลวงเข้ายอกลางทัพข้าศึก ฝ่ายพระราชมนูเห็นกองทัพหลวงเข้าตีโอบด้งนั้น รู้ทีอุบายก็ให้โบกธงสัญญาสั่งกองทัพให้กลับรวมกันตีกระหนาบเข้าไปอีกด้านหนึ่ง รบพุ่งกันถึงตะลุมบอน กองทัพเชียงใหม่เสียทีก็แตกพ่ายทั้งทัพหน้าทัพหลวง สมเด็จพระนเรศวรได้ทีก็เร่งกองทัพให้ติดตามตีข้าศึกจนแตกฉานยับเยินคุมกันไม่ติด ที่ถูกฆ่าฟันเสียก็มาก ตัวนายตายในที่รบครั้งนั้นท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่ ๕ คน คือ พระยาลอ ๑ พระยากาว ๑ พระยานคร ๑ พระยาเชียงราย ๑ พระยางิบ ๑ พระยามอญที่มากำกับทัพ คือสมิงโยคราชกับสะเรนันทสูเจ้าเมืองเตรินก็ตายในที่รบด้วย และกองทัพไทยได้ช้างใหญ่ ๒๐ ช้าง ม้า ๑๐๐ เศษ กับเครื่องศัสตราวุธอีกเป็นอันมาก

สมเด็จพระนเรศวรทรงพระดำริว่าข้าศึกเสียทัพกำลังตื่น เป็นโอกาสที่จะทำซ้ำเติมอย่าให้ตั้งตัวได้ จึงเสด็จยกกองทัพหลวงติดตามข้าศึกขึ้นไปในวันนั้นจนเวลาพลบคํ่า เห็นว่ารี้พลเหน็ดเหนื่อยก็ประทับแรมพักอยู่ที่บ้านชะไวหน่อยหนึ่ง แล้วเรียกกองทัพยกต่อไปในเวลาดึก กำหนดให้ถึงบ้านสระเกศเข้าตีค่ายพระเจ้าเชียงใหม่แต่พอเช้าตรูให้พร้อมกัน ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่หนีกลับขึ้นไปถึงบ้านสระเกศ ทราบว่ากองทัพไทยยกติดตามขึ้นไป ก็ไม่อาจยับยั้งเลยหนีต่อไปในเวลากลางคืน กองทัพไทยขึ้นไปถึงบ้านสระเกศเมื่อเดือน ๕ แรม ๔ คํ่า เพลาเช้า เห็นแต่พวกข้าศึกกำลังเก็บข้าวของเตรียมจะหนีอยู่อลหม่านไม่มีผู้ใดต่อสู้ ก็เข้าค่ายข้าศึกได้โดยง่าย จับได้พระยาเชียงแสนนายทัพหน้าของพระเจ้าเชียงใหม่ กับรี้พลนายไพร่เป็นชะเลยกว่า ๑๐,๐๐๐ คน ได้ทั้งช้าง ๑๒๐ เชือก ม้ากว่า ๑๐๐ ตัว เรือรบและเรือลำเลียงสะเบียงอาหารก็ได้กว่า ๔๐๐ ลำ นอกจากนั้นยังได้เครื่องศัสตราวุธยุทธภัณฑ์เป็นอันมาก แม้จนเครื่องราชูปโภคของพระเจ้าเชียงใหม่ก็ได้ไว้หลายสิ่ง

เมื่อได้ค่ายที่บ้านสระเกศแล้ว สมเด็จพระนเรศวรเสด็จตามข้าศึกขึ้นไปจนถึงเมืองนครสวรรค์ สืบได้ความว่าพระเจ้าเชียงใหม่หนีไปยังกองทัพพระมหาอุปราชาในเมืองกำแพงเพ็ชรแล้ว จะติดตามต่อไปเห็นไม่ได้ที จึงตรัสสั่งให้ตั้งกองสอดแนมไว้ที่เมืองนครสวรรค์ แล้วเสด็จยกกองทัพกลับมา ครั้งนั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชาฯ ทรงพระวิตกเกรงว่าพระมหาอุปราชาจะยกกองทัพหนุนพระเจ้าเชียงใหม่ลงมาอีก จึงให้จัดกองทัพหลวงเสด็จไปเอง ออกจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อเดือน ๕ แรม ๔ คํ่า ยกหนุนกองทัพสมเด็จพระนเรศวรขึ้นไปถึงปากนํ้าบางพุทรา สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จกลับลงมา กราบทูลการที่ได้รบพุ่งมีชัยชะนะข้าศึก และพูลพระดำริว่ากองทัพเมืองเชียงใหม่เป็นทัพใหญ่ของข้าศึกก็แตกยับเยินไปแล้ว กองทัพพระมหาอุปราชาเป็นแต่มาตั้งคุมคนให้ทำนา เวลาก็ใกล้ฤดูฝนแล้ว ข้าศึกเห็นจะไม่ยกมารบพุ่งจนถึงฤดูแล้งปีหน้า สมเด็จพระมหาธรรมราชาฯ ก็ให้เลิกกองทัพทั้งปวงกลับคืนมายังพระนคร

สมเด็จพระนเรศวรมีชัยชะนะครั้งนี้ เป็นการสำคัญแก่เมืองไทยมาก โดยฉะเพาะเหมาะแก่เวลานั้นเอง ด้วยไทยถูกเมืองหงสาวดีทำเอายับเยินจนใจคนครั่นคร้ามมาช้านาน แม้อยากกลับเป็นอิสสระอยู่ด้วยกันหมด ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะทำอย่างไรให้สมประสงค์ได้ สมเด็จพระนเรศวรกล้าเริ่มพยายามก่อน ชั้นแรกก็ได้แต่คนชั้นหนุ่มซึ่งทรงฝึกหัดอบรมร่วมใจยอมเสี่ยงภัยตามเสด็จ แต่คนทั้งหลายโดยมากยังไม่แลเห็นว่าจะสำเร็จได้ แม้ที่เห็นว่าหาภัยให้บ้านเมืองเปล่าๆ ก็คงมี ข้อนี้พึงเห็นได้เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสสรภาพ พระยาสวรรคโลกกับพระยาพิชัยถึงบังอาจเป็นกบฏด้วยยังเชื่ออำนาจเมืองหงสาวดี ไทยที่ครั่นคร้ามข้าศึกเห็นจะมีอยู่โดยมาก ที่สมเด็จพระนเรศวรรบชะนะครั้งนั้น เหมือนพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ว่าไทยก็อาจจะรบพุ่งเอาชะนะพวกหงสาวดีได้เหมือนกัน ก็หายครั่นคร้ามแต่นั้นมา ที่ว่าชะนะเหมาะแก่เวลานั้น ด้วยศึกครั้งรบเจ้าเมืองพสิมกับเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นแต่ศึกนำศึกใหญ่ซึ่งจะมีในปีหน้า สมเด็จพระนเรศวรได้นํ้าใจรี้พลทั้งที่สิ้นครั่นคร้ามและที่วางใจในพระสติปัญญากล้าหาญเพิ่มพระกำลังขึ้น จึงสามารถต่อสู้ศึกใหญ่หลวงดังจะพรรณนาต่อไป

(๗)

ถึงเดือน ๑๒ ปีจอ พ.ศ. ๒๑๒๙ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงก็ยกกองทัพหลวงมายังเมืองไทยทางด่านแม่สอด เวลานั้นไทยทิ้งหัวเมืองเหนือให้แก่ข้าศึกหมด พระเจ้าหงสาวดีจึงมาประชุมทัพที่เมืองกำแพงเพ็ชร มีจำนวนพลเบ็ดเสร็จ ๒๕๐,๐๐๐ คน ให้จัดเป็นทัพกษัตริย์ ๓ ทัพ คีอทัพหลวงของพระเจ้าหงสาวดีทัพ ๑ ทัพพระมหาอุปราชาทัพ ๑ ทัพพระเจ้าตองอูทัพ ๑ แต่พระเจ้าเชียงใหม่นั้นพระเจ้าหงสาวดีขัดเคืองว่ามาแพ้ไทย จึงให้เป็นแต่พนักงานสำหรับขนสะเบียงอาหาร ครั้นจัดพร้อมแล้วก็เดินทัพลงมา เมื่อถึงเมืองนครสวรรค์ให้กองทัพพระมหาอุปราชายกแยกมาทางเมืองลพบุรี เมืองสระบุรี แล้วมาบรรจบทัพหลวงที่พระนครศรีอยุธยา ส่วนกองทัพพระเจ้าตองอูให้ยกลงมาทางริมแม่นํ้าฝั่งตะวันออก กองทัพพระเจ้าหงสาวดีนั้นยกลงมาทางฝั่งตะวันตก ทั้ง ๒ ทัพนี้ลงมาถึงพระนครศรีอยุธยาเมื่อเดือนยี่ ขึ้น ๒ คํ่า ตั้งค่ายรายกันอยู่ทางทิศเหนือกับทิศตะวันออกแต่ ๒ ด้าน ด้วยเป็นทางที่จะเข้าตีพระนครได้สะดวกกว่าด้านอื่น กองทัพพระเจ้าหงสาวดีอยู่ด้านเหนือ ตั้งค่ายหลวงที่ขนอนปากคู ให้กองทัพมังทอดราชบุตรกับพระยารามตั้งที่ตำบลมะขามหย่อง ให้กองพระยานครตั้งที่ตำบลพุทธเลา ให้กองนันทสูตั้งที่ขนอนบางลาง กองทัพพระเจ้าตองอูให้ตั้งที่ทุ่งชายเคืองทางทิศตะวันออก ครั้นกองทัพพระมหาอุปราชามาถึง ให้ตั้งที่ทุ่งชายเคืองด้านตะวันออกต่อกองทัพพระเจ้าตองอูลงมาทางบางตะนาวข้างใต้

ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุธยามีเวลาเตรียมการป้องกันพระนครมาหลายเดือน ด้วยรู้อยู่แล้วว่าพอสิ้นฤดูฝนจะมีศึกใหญ่ และรู้ตัวว่าอิสสระของเมืองไทยจะตายหรือจะรอดก็จะได้เห็นกันในการต่อสู้ศึกใหญ่นั้น เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรพระชันษาได้ ๓๑ ปี ทรงเตรียมการต่อสู้ข้าศึกมาตลอดฤดูฝน สังเกตดูลักษณะการที่สมเด็จพระนเรศวรทรงจัดผิดกับเคยปรากฏในการป้องกันพระนครเมื่อสงครามครั้งก่อนๆ หลายอย่าง เห็นได้ว่าคงทรงพิจารณาวิธีเก่าที่เคยใช้ได้ผลมาอย่างไร วิธีอย่างใดได้ผลดีก็คงไว้และเพิ่มพูนให้ดีขึ้น เช่นการที่ใช้ปืนใหญ่เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันพระนครเป็นต้น วิธีอย่างใดเคยใช้ไม่ได้ผลดีก็เลิกเสียหรือแปลงเป็นอย่างอื่น เช่นเคยให้ไปตั้งป้อมรายรอบขอบชานพระนครเป็นต้น จะว่าแต่ข้อสำคัญที่ปรากฏในหนังสือพงศาวดารมี ๔ ข้อ คือ

(๑) ตั้งแต่เข้าฤดูฝน ให้เกณฑ์คนออกตั้งทำนาทั่วทุกทำเลนาในจังหวัดพระนครและหัวเมืองที่ใกล้เคียง และให้ทหารกองอาสาออกไปคอยตรวจตราป้องกนมิให้พวกข้าศึกมารังแกคนทำนาได้ เมื่อได้ข่าวว่าข้าศึกยกกองทัพใหญ่ลงมา เวลานั้นข้าวกำลังออกรวงก็ให้รีบเกี่ยวเก็บขึ้นเอาเข้ามารวมไว้ในพระนคร ที่จะเอามาไม่ได้ทันก็ให้ทำลายเสีย มิให้ได้ไปเป็นประโยชน์แก่ข้าศึก

(๒) ให้ระดมคนทั้งในจังหวัดกรุงฯ และหัวเมืองชั้นในเข้ามาประจำรักษาพระนครเหมือนทุกคราว แต่คราวนี้เอาความรู้การที่เคยปรากฏว่าเมื่อต้อนคนเข้าพระนครแต่ก่อนมา ผู้คนที่อยู่ตามอำเภอห่างไกลมักหนีข้าศึกไปเที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ในป่าดง ไม่ได้ตัวมาเสียเป็นอันมาก คราวนี้จึงเลือกพวกทหารที่ชำนาญป่าตั้งเป็นนายกองอาสา ให้แยกย้ายกันไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมผู้คนที่กระจัดพลัดพรายรวมเข้าเป็นกองโจร คอยเที่ยวตีตัดลำเลียงข้าศึกทำลายเสีย อย่าให้ส่งสะเบียงอาหารและเครื่องยุทธภัณฑ์มาถึงกันได้สะดวก

(๓) การป้องกันพระนครนั้น รักษาเพียงตั้งแต่ตัวเมืองออกไปจนตลอดชานพระนคร กับรักษาทางน้ำที่จะยกพลไปมาได้ทุกด้านในชานพระนคร ทางแม่น้ำก็รักษาแต่ข้างใต้สำหรับใช้เรือใหญ่ส่งสะเบียงอาหารเครื่องยุทธภัณฑ์มาทางทะเลให้ถึงพระนครได้ ส่วนการเตรียมกำลังก็เกณฑ์ผู้คนและสะสมพาหนะสะเบียงอาหารและเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ตามแบบเดิม แต่คราวนี้หาปืนใหญ่ทุกขนาดเพิ่มเติมขึ้นอีกมาก

(๔) การจัดกระบวนทัพนั้น ครั้งนี้ดูจัดเป็น ๔ อย่างคือ กองทัพเรือมีทั้งพวกเรือเร็วและเรือปืนใหญ่ สำหรับเที่ยวดักยิงข้าศึกมิให้รุกเข้ามาใกล้พระนคร กองทัพบกครั้งนี้ชอบใช้เป็นกองแล่น สำหรับออกเที่ยวจู่ตีข้าศึกเวลาได้ที ไม่ใช้วิธีออกตั้งค่ายประชิดข้าศึก ทหารรักษาพระนครก็อยู่ประจำตามป้อมปราการเหมือนอย่างแต่ก่อน และยังมีกองสอดแนมซึ่งในสมัยสมเด็จพระนเรศวรชอบใช้มาก ล้วนเป็นคนเลือกสรร ให้แยกย้ายกันเที่ยวสอดแนมท่วงทีของข้าศึกและติดต่อกับพวกกองโจรที่อยู่ภายนอก บอกข่าวให้รู้ทันการเสมอ

ขณะเมื่อกองทัพพระเจ้าหงสาวดียกลงมาถึงกรุงฯ เมื่อต้นเดือนยี่นั้น ข้าวในท้องนาทุ่งหันตราข้างนอกกรุงฯ ทางด้านตะวันออกยังเกี่ยวไม่เสร็จ ครั้นรู้ว่ากองทัพข้าศึกเข้ามาใกล้จึงโปรดให้เจ้าพระยากำแพงเพ็ชร ซึ่งได้ว่าที่สมุหกลาโหม คุมกองทัพออกไปตั้งป้องกันผู้คนที่ออกไปเกี่ยวข้าว พอพระมหาอุปราชายกกองทัพมาถึง ให้กองทัพม้ามาตีกองทัพเจ้าพระยากำแพงเพ็ชรแตกพ่ายเข้ามายังพระนคร สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงพระพิโรธ ด้วยรบกันมาในชั้นสมเด็จพระนเรศวรทรงบัญชาการนี้ ไทยยังไม่เคยแตกพ่ายข้าศึกเลย ทรงเกรงว่าเจ้าพระยากำแพงเพ็ชรไปทำเสียการ ไพร่พลจะกลับครั่นคร้ามข้าศึกเสีย สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งลำเดียวกันยกออกไปรบพุ่งกับข้าศึกที่ทุ่งชายเคืองในทันที สมเด็จพระเอกาทศรถถูกกระสุนปืนฉลองพระองค์ขาดตลอดพระกรแต่หาต้องพระองค์ไม่ รบกันอยู่จนเวลาพลบคํ่า ข้าศึกถอยไปจากค่ายเจ้าพระยากำแพงเพ็ชรที่ตีได้นั้นแล้วจึงเสด็จกลับเข้าพระนคร ดำรัสสั่งให้ประหารชีวิตเจ้าพระยากำแพงเพ็ชร แต่สมเด็จพระชนกดำรัสขอชีวิตไว้ จึงเป็นแต่ให้ถอดจากตำแหน่งมิให้ว่าการกลาโหมต่อไป พวกข้าราชการทั้งปวงก็พากันเกรงพระราชอาญา ตั้งหน้ารบพุ่งทั่วกันแต่นั้นมา

ในพงศาวดารพะม่าว่าเมื่อพระเจ้าหงสาวดีตั้งล้อมกรุงศรีอยุธยาแล้ว ให้กองทัพเข้าตีปล้นพระนครหลายครั้ง แต่ไม่ปรากฏว่าตีทางไหนบ้าง เป็นแต่กล่าวว่าไทยต่อสู้แข็งแรงกว่าครั้งก่อนๆ พะม่ายกเข้ามาคราวใด ไทยก็ตีเอาต้องกลับถอยคืนไปค่ายที่เดิมทุกคราว พระเจ้าหงสาวดีล้อมพระนครอยู่กว่าเดือน ก็ไม่สามารถเข้าตั้งประชิดติดพระนครได้ ในระหว่างนั้นพวกกองโจรซึ่งสมเด็จพระนเรศวรให้ไปรวบรวมคนจัดขึ้นตามหัวเมืองมีหลายหมวดหลายกอง พากันเที่ยวตีตัดลำเลียงสะเบียงอาหารของข้าศึก ส่งมาถึงกันไม่ได้สะดวก ก็เกิดอัตคัดแล้วเลยเกิดความเจ็บไข้ขึ้นในกองทัพที่ตั้งล้อมพระนคร พอสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่าเกิดความไข้เจ็บในกองทัพข้าศึก เห็นได้ทีก็ให้ออกจู่ปล้นค่ายข้าศึกซึ่งตั้งอยู่ ณ ที่ต่างๆ ทั้งกลางวันและกลางคืนมิให้อยู่เป็นปกติได้ ในหนังสือพงศาวดารไทยมีรายการฉะเพาะแต่คราวที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จออกไปรบเอง คือ

เมื่อเดือน ๓ แรม ๑๐ คํ่า เวลา ๕ นาฬิกา เสด็จออกปล้นค่ายพระยานครที่ปากนํ้าพุทธเลา (ทำนองข้าศึกกองนี้จะอ่อนกว่ากองอื่น) ข้าศึกแตกหนี ได้ค่ายพระยานคร (ให้เผาค่ายข้าศึกเสีย) แล้วเสด็จกลับคืนเข้าพระนคร

เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ คํ่า เวลากลางคืน เสด็จออกไปปล้นค่ายทัพหน้าของพระเจ้าหงสาวดี ข้าศึกไม่รู้ตัวแตกพ่าย ได้ค่ายนั้นแล้วไล่ฟันแทงข้าศึกเข้าไปจนถึงค่ายหลวงพระเจ้าหงสาวดี สมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงจากม้าทรงคาบพระแสงดาบ นำทหารขึ้นปีนระเนียดจะเข้าค่ายพระเจ้าหงสาวดี ถูกข้าศึกแทงตกลงมาจึงเข้าไม่ได้ ขณะนั้นพอข้าศึกกรูกันมามากก็เสด็จกลับคืนเข้าพระนคร พระแสงดาบซึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงในวันนั้นจึงปรากฏนามว่า “พระแสงดาบคาบค่าย” มาจนตราบเท่าทุกวันนี้

การที่สมเด็จพระนเรศวรไปปล้นค่ายพระเจ้าหงสาวดีครั้งนั้น ในหนังสือพงศาวดารว่าเมื่อพระเจ้าหงสาวดีทราบ ตรัสแก่เสนาบดีว่าซึ่งสมเด็จพระนเรศวรออกมาทำการเป็นอย่างพลทหารดังนี้ เหมือนกับเอาพิมเสนมาแลกกับเกลือ นี่พระราชบิดาจะรู้หรือไม่ เสนาบดีกราบทูลว่าพระราชบิดาเห็นจะไม่ทรงทราบ ถ้าทราบก็คงไม่ยอมให้มาทำอย่างนั้น พระเจ้าหงสาวดีตรัสว่าพระนเรศวรทำศึกอาจหาญนัก ถ้าออกมาอีกถึงจะเสียทหารสักเท่าใด ก็จะแลกเอาตัวพระนเรศวรให้จงได้ จึงตรัสให้ลักไวทำมูซึ่งเป็นนายทหารมีฝีมือ คุมทหารเพิ่มเติมไปรักษาค่ายกองหน้า รับสั่งกำชับไปว่าถ้าพระนเรศวรออกมาอีก ให้คิดอ่านจับเป็นให้จงได้

ครั้นถึงเดือน ๔ แรม ๑๐ คํ่า สมเด็จพระนเรศวรเสด็จออกไปตั้งซุ่มทัพอยู่ที่ทุ่งลุมพลี หมายจะเข้าปล้นค่ายพระเจ้าหงสาวดีอีก และครั้งนี้ชะรอยลักไวทำมูซึ่งพระเจ้าหงสาวดีให้คอยจับสมเด็จพระนเรศวร จะสอดแนมรู้ว่าเสด็จออกไปอีก จึงให้ทหารทศคุมทหารม้ากอง ๑ ยกมารบล่อ สมเด็จพระนเรศวรเห็นข้าศึกน้อย ก็เสด็จทรงม้าเข้ารบพุ่งไล่ไปแต่ด้วยลำพังกระบวนม้า ส่วนกระบวนราบตามไปข้างหลัง พะม่าสู้พลางหนีพลาง ล่อให้ไล่ไปจนถึงที่ลักไวทำมูคุมกองทหารซุ่มไว้ ก็กรูกันออกห้อมล้อม สมเด็จพระนเรศวรทรงต่อสู้ข้าศึกเป็นสามารถ ลักไวทำมูขับม้าเข้ามาจะจับพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรทรงแทงด้วยพระแสงทวนถูกลักไวทำมูตาย ทหารทศเข้ามาแก้ลักไวทำมู ก็ทรงฟันด้วยพระแสงดาบตายอีกคน ๑ แต่พวกพะม่าเห็นไทยน้อยตัวก็ห้อมล้อมไว้ รบสู้กันอยู่กว่าชั่วโมง จนพวกทหารราบตามไปทัน จึงเข้าแก้ไขสมเด็จพระนเรศวรออกจากที่ล้อมกลับคืนมาพระนครได้

ถึงเดือน ๕ แรม ๑๔ คํ่า สมเด็จพระนเรศวรเสด็จโดยกระบวนเรือเร็ว จู่ไปตีทัพพระมหาอุปราชาซึ่งตั้งอยู่ ณ ขนอนบางตะนาว แตกพ่ายถอยลงไปตั้งอยู่ที่บางกระดาน

พระเจ้าหงสาวดีตั้งล้อมกรุงฯ มาแต่เดือนยี่ ปีจอ จนเดือน ๖ ปีกุน พ.ศ. ๒๑๓๐ ถึง ๕ เดือน ตีไม่ได้กรุงศรีอยุธยา เห็นไพร่พลเจ็บป่วยล้มตายร่อยหรอลงทุกทีก็ท้อพระหฤทัย ดำรัสปรึกษานายทัพนายกองทั้งปวง เสนาบดีผู้ใหญ่จึงทูลว่ากรุงศรีอยุธยานี้ภูมิฐานมั่นคงนัก จะตีเอาโดยเร็วเห็นจะไม่ได้ บัดนี้ก็เข้าฤดูฝน จะตั้งทำการต่อไปไพร่พลก็จะลำบากยิ่งขึ้นทุกที ควรจะถอยทัพกลับไปทำนุบำรุงรี้พลเสียสักคราวหนึ่ง ต่อฤดูแล้งหน้าจึงค่อยยกมาตีใหม่ ถึงพระนเรศวรกล้าหาญในการศึก รี้พลก็มีน้อย รบขับเคี่ยวไปหลายคราวเข้าก็คงหมดกำลังที่จะต่อสู้ พระเจ้าหงสาวดีเห็นชอบด้วย จึงมีรับสั่งให้เตรียมถอยทัพ ให้กองทัพพระมหาอุปราชาซึ่งลงมาตั้งอยู่ที่สุดแนวข้างใต้ถอยกลับไปก่อน ให้กองทัพพระเจ้าตองอูยกกลับเป็นกองรั้งหลัง

เมื่อเดือน ๖ แรม ๑๐ ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรยกทัพเรือลงไปที่บางกระดานหมายจะตีกองทัพพระมหาอุปราชาอีก เห็นพระมหาอุปราชากำลังถอยทัพกลับไป ได้รบพุ่งแต่กับกองหลังของพระมหาอุปราชา ก็ทรงทราบว่าพระเจ้าหงสาวดีจะถอยทัพ จึงเสด็จกลับคืนเข้าพระนคร ทรงรีบจัดกองทัพยกไปตั้งที่วัดเดชริมนํ้าตรงภูเขาทอง ถึงเดือน ๗ ขึ้นคํ่า ๑ ให้เอาปืนขนาดใหญ่ลงในเรือสำเภาขันฉ้อตามขึ้นไปหลายลำ พอเตรียมพร้อมเสร็จถึงวันขึ้น ๘ คํ่าก็ให้เอาปืนใหญ่ระดมยิงค่ายหลวงพระเจ้าหงสาวดี ถูกช้างม้าผู้คนล้มตาย พระเจ้าหงสาวดีทนอยู่ไม่ได้ ก็ต้องรีบถอยทัพหลวงกลับขึ้นไปตั้งอยู่ที่ป่าโมก เมื่อกองทัพหงสาวดีถอยกลับไปครั้งนั้น สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้กองทัพบกยกติดตามตีข้าศึกไปจนทะเลมหาราชทาง ๑ ส่วนสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จโดยกระบวนทัพเรือ ตามตีกองทัพหลวงของพระเจ้าหงสาวดีขึ้นไปจนถึงป่าโมกอีกทาง ๑ ในพงศาวดารพะม่าว่า พระสังกะทัตที่เคยไปตีเมืองคังด้วยกันกับพระนเรศวร คุมกองทัพเมืองตองอูที่รั้งหลังสามารถต้านทานได้ กองทัพหงสาวดีจึงไม่แตกฉาน จะอย่างไรก็ดี คงเป็นด้วยข้าศึกมากกว่าไทยมากนัก และในครั้งนั้นฝ่ายไทยเตรียมแต่จะรบรับมิได้เตรียมรบอย่างบุกรุก สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่ากำลังไม่พอจะตีข้าศึกให้ถึงแตกฉานได้ เห็นพระเจ้าหงสาวดีล่าทัพหนีไป พระนครพ้นภัยแล้ว ก็เรียกกองทัพกลับคืนมา ทางโน้นพระเจ้าหงสาวดีก็ให้เลิกทัพกลับไปบ้านเมือง

ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยารบแพ้พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองในรัชชกาลสมเด็จพระมหินทรฯ ต้องเสียอิสสรภาพตกเป็นประเทศราชขึ้นกรุงหงสาวดีมาแต่ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๑๒ จนสมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสสรภาพที่เมืองแครงเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ นับเวลาที่เมืองไทยต้องเป็นเมืองขึ้นของชาติอื่นอยู่ ๑๕ ปี แต่อิสสรภาพของเมืองไทยยังอยู่ในระหว่างเสี่ยงภัยต่อมาอีก ๓ ปี จนสมเด็จพระนเรศวรรบชะนะพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงครั้งนี้ จึงเป็นอิสรภาพมั่นคงตั้งแต่ปีกุน พ.ศ. ๒๑๓๐ สืบมา

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ