เรื่องพระเจดีย์ยุทธหัตถี ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือนิทานโบราณคดี ดังต่อไปนี้

“การที่ค้นพบพระเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีเกี่ยวข้องกับตัวฉันอยู่บ้าง และเหตุที่ค้นพบก็อยู่ข้างแปลกประหลาด จึงจะเล่าไว้ในนิทานเรื่องนี้ด้วย

เรื่องสมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ทรงทำยุทธหัตถี คือขี่ช้างชนกันตัวต่อตัวกับพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดี ฟันพระมหาอุปราชาสิ้นชีพบนคอช้าง มีชัยชะนะอย่างมหัศจรรย์ และได้ทรงสร้างพระเจดีย์ไว้ตรงที่ทรงชนช้างองค์หนึ่งนั้น เป็นเรื่องที่เลื่องลือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรฯ สืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ หาปรากฏว่ามีใครได้เคยเห็นหรือรู้ว่าพระเจดีย์องค์นั้นอยู่ที่ตรงไหนไม่ มีแต่ชื่อเรียกกันว่า “พระเจดีย์ยุทธหัตถี” หนังสือเก่าที่กล่าวถึงพระเจดีย์ยุทธหัตถีก็มีแต่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าเมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงชะนะยุทธหัตถีแล้ว “ตรัสให้ก่อพระเจดียสถานสวมศพพระมหาอุปราชาไว้ ณ ตำบลตระพังกรุ” เพียงเท่านี้

ตัวฉันรักรู้โบราณคดีตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่ก่อนเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย นึกอยากเห็นพระเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรฯ มานานแล้ว แต่ไม่สามารถจะไปค้นหาได้ เมื่อเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงให้สืบถามหาตำบลตระพังกรุว่าอยู่ที่ไหน ได้ความว่าเดิมอยู่ในเขตเมืองสุพรรณบุรี แต่เมื่อย้ายเมืองกาญจนบุรีจากเขาชนไก่มาตั้งที่ปากแพรกในรัชชกาลที่ ๓ โอนตำบลตระพังกรุไปอยู่ในเขตต์เมืองกาญจนบุรี แต่ในเวลานั้นเมืองกาญจนบุรีก็ยังขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม ไม่กล้าไปค้น ต้องรอมาอีก ๓ ปีจนโปรดให้รวมหัวเมืองซึ่งเคยขึ้นกระทรวงกลาโหมและกรมท่ามาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียว มีโอกาสที่จะค้นหาพระเจดีย์ยุทธหัตถี ฉันจึงสั่งพระยากาญจนบุรี (นุช) ซึ่งเคยรับราชการอยู่ใกล้ชิดกับฉันเมื่อยังเป็นที่หลวงจินดารักษ์ ให้หาเวลาว่างราชการออกไปยังบ้านตระพังกรุเอง สืบถามว่าพระเจดีย์ยุทธหัตถีที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงสร้างมีอยู่ในตำบลนั้นหรือไม่ ถ้าพวกชาวบ้านไม่รู้ ก็ให้พระยากาญจนบุรีเที่ยวตรวจดูเอง ว่ามีพระเจดีย์โบราณที่ขนาดหรือรูปทรงสัณฐานสมกับเป็นของพระเจ้าแผ่นดินจะได้ทรงสร้างมีอยู่ในตำบลตระพังกรุบ้างหรือไม่ พระยากาญจนบุรีไปตรวจอยู่นานแล้วบอกรายงานมาว่า บ้านตระพังกรุนั้นมีมาแต่โบราณ เป็นที่ดอนต้องอาศัยใช้น้ำบ่อ มีบ่อน้ำกรุอิฐข้างในซึ่งคำโบราณเรียกว่า “ตระพังกรุ” อยู่หลายบ่อ แต่ถามชาวบ้านถึงพระเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงสร้าง แม้คนแก่คนเฒ่าก็ว่าไม่เห็นมีในตำบลนั้น พระยากาญจนบุรีไปเที่ยวตรวจดูเอง ก็เห็นมีแต่พระเจดีย์องค์เล็กๆ อย่างที่ชาวบ้านชอบสร้างกันตามวัด ดูเป็นของสร้างใหม่ทั้งนั้น ไม่เห็นมีพระเจดีย์แปลกตาซึ่งสมควรจะเห็นว่าเป็นของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง ฉันได้เห็นรายงานอย่างนั้นก็จนใจ มิรู้ที่จะค้นหาพระเจดีย์ยุทธหัตถีต่อไปอย่างไรจนตลอดรัชชกาลที่ ๕

แต่ฉันรู้มาตั้งแต่ในรัชชกาลที่ ๕ ว่าสมเด็จพระนเรศวรฯ มิได้ทรงสร้างพระเจดีย์องค์นั้นสวมศพพระมหาอุปราชาอย่างว่าในหนังสือพระราชพงศาวดาร เพราะในหนังสือพงศาวดารพะม่าซึ่งพระไพรสณฑ์สาลารักษ์ (อองเทียน) กรมป่าไม้แปลจากภาษาพะม่าให้ฉันอ่าน ว่าครั้งนั้นพวกพะม่าเชิญศพพระมหาอุปราชากลับไปเมืองหงสาวดี ฉันพิจารณาดูรายการที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ก็เห็นสมอย่างพะม่าว่า เพราะรบกันวันชนช้างนั้น เดิมสมเด็จพระนเรศวรฯ ตั้งขะบวนทัพหมายจะตีปะทะหน้าข้าศึก ครั้นทรงทราบว่ากองทัพหน้าของข้าศึกไล่กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ซึ่งไปตั้งขัดตาทัพมาไม่เป็นขะบวน ทรงพระราชดำริเห็นได้ที ก็ตรัสสั่งให้แปรขะบวนทัพเข้าตีโอบด้านข้างข้าศึกในทันที แล้วทรงช้างชนนำพลออกไล่ข้าศึกด้วยกันกับสมเด็จพระเอกาทศรถ มีแต่กองทัพที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ตามเสด็จไปด้วย แต่กองทัพที่ตั้งอยู่ห่างได้รู้กระแสรับสั่งช้าไปบ้าง หรือบางทีที่ยังไม่เข้าใจพระราชประสงค์ก็จะมีบ้าง ยกไปช้าไม่ทันเวลาดังพระราชประสงค์หลายกอง ซ้ำในเวลาเมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ ไล่กองทัพหน้าข้าศึกที่แตกพ่ายไปนั้น เผอิญเกิดลมพัดฝุ่นฟุ้งมืดมนไปทั่วทั้งสนามรบ จนคนเห็นตัวกันมิใคร่ถนัด ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรฯ กับช้างทรงของสมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นช้างชนกำลังบ่มมันต่างแล่นไล่ข้าศึกไปโดยเร็ว จนกองทัพพลเดินเท้าที่ตามเสด็จล้าหลัง มีแต่พวกองครักษ์ตามติดช้างพระที่นั่งไปไม่กี่คนนัก พอฝุ่นจางลง สมเด็จพระนเรศวรฯ จึงทรงทราบว่าช้างพระที่นั่งพาทะลวงเข้าไปจนถึงในกองทัพหลวงของข้าศึก ด้วยทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชากับพวกเสนา ขี่ช้างยืนพักอยู่ด้วยกันในร่มไม้ ณ ที่นั้น ความมหัศจรรย์ในพระอภินิหารของสมเด็จพระนเรศวรฯ เกิดขึ้นในขณะนี้ ที่ทรงพระสติปัญญาว่องไวทันเหตุการณ์ คิดเห็นในทันทีว่าทางที่จะสู้ข้าศึกได้เหลืออยู่อย่างเดียวแต่เปลี่ยนวิธีรบให้เป็นทำยุทธหัตถี จอมพลชนช้างกันตัวต่อตัวอันนับถือกันว่าเป็นวิธีรบของกษัตริย์ซึ่งแกล้วกล้า ก็ขับช้างพระที่นั่งเข้าไปชวนพระมหาอุปราชาให้ทำยุทธหัตถี ฝ่ายพระมหาอุปราชาก็เป็นกษัตริย์มีขัตติยมานะ จะไม่รับก็ละอาย จึงได้ชนช้างกัน เมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ ฟันพระมหาอุปราชาสิ้นชีพบนคอช้างนั้น ทั้งพระองค์เองกับสมเด็จพระเอกาทศรถอยู่ในที่ล้อม พระองค์สมเด็จพระนเรศวรฯ ก็ถูกปืนบาดเจ็บที่พระหัตถ์ นายมหานุภาพควาญช้างพระที่นั่งก็ถูกปืนตาย หมื่นภักดีศวรกลางช้างของสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็ถูกปืนตายในเวลาทรงชนช้างชะนะมังจาปะโร ต้องทรงเสี่ยงภัยอยู่ในที่ล้อมทั้ง ๒ พระองค์ แต่ไม่ช้านักกองทัพพวกที่ตามเสด็จก็ไปถึง แก้เอาออกจากที่ล้อมกลับมาค่ายหลวงได้ ส่วนกองทัพหงสาวดีกำลังตกใจกันอลหม่าน ด้วยพระมหาอุปราชาผู้เป็นจอมพลสิ้นชีพ ก็รีบรวบรวมกันเลิกทัพ เชิญศพพระมหาอุปราชากลับไปเมืองหงสาวดีในวันนั้น ฝ่ายทางข้างไทยต่อมาอีก ๒ วัน กองทัพที่สมเด็จพระนเรศวร ฯ ให้ไปตามตีข้าศึกจึงได้ยกไป ไปทันตีแตกพ่ายแต่ทัพหลังของพวกหงสาวดี ได้ช้างม้าศัสตราวุธมาดังว่าในหนังสือพระราชพงศาวดาร ส่วนกองทัพหลวงของข้าศึกนั้นรอดไปได้ เรื่องที่จริงเห็นจะเป็นอย่างนี้ สมเด็จพระนเรศวรฯ จึงทรงพระพิโรธพวกแม่ทัพนายกอง มีเจ้าพระยาจักรีฯ เป็นต้น ที่ไม่ยกไปทันตามรับสั่ง ถึงวางบทให้ประหารชีวิตตามกฎอัยการศึก เพราะพวกนั้นเป็นเหตุให้ข้าศึกไม่แตกพ่ายไปหมดทุกทัพ

แม้จะมีคำถามว่า ถ้าพระเจดีย์ยุทธหัตถีมิได้สร้างสวมศพพระมหาอุปราชาหงสาวดีดังว่าไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงสร้างพระเจดีย์องค์นั้นขึ้นทำไม ข้อนี้ก็มีหลักฐานในหนังสือพระราชพงศาวดาร พอจะคิดเห็นเหตุได้ ด้วยเมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จกลับมาถึงพระนคร สมเด็จพระพนรัตนวัดป่าแก้วซึ่งเป็นตำแหน่งพระสังฆราชฝ่ายขวา พาพระสงฆ์ราชาคณะ ๒๕ รูปเข้าไปเฝ้าเยี่ยมถามข่าวตามประเพณี เห็นข้าราชการที่ถูกตัดสินประหารชีวิตต้องจำอยู่ที่ในวัง สมเด็จพระพนรัตนทูลถามสมเด็จพระนเรศวรฯ ว่าเสด็จไปทำสงครามก็มีชัยชะนะข้าศึก เหตุไฉนพวกแม่ทัพนายกองจึงต้องราชทัณฑ์เล่า สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงเล่าเรื่องที่รบกันให้สมเด็จพระพนรัตนฟัง แล้วตรัสว่า ข้าราชการเหล่านั้น “มันกลัวข้าศึกมากกว่าโยม ละให้แต่โยมสองคนพี่น้องฝ่าเข้าไปในท่ามกลางข้าศึก จนได้ทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา มีชัยชะนะแล้วจึงได้เห็นหน้ามัน นี่หากบารมีของโยม หาไม่แผ่นดินก็จะเป็นของหงสาวดีเสียแล้ว”

สมเด็จพระพนรัตนถวายพระพรว่า ซึ่งข้าราชการเหล่านั้นจะกลัวข้าศึกยิ่งกว่าพระองค์เห็นจะไม่เป็นได้ ที่เกิดเหตุบันดาลให้เสด็จเข้าไปมีชัยชะนะโดยลำพังพระองค์ในท่ามกลางข้าศึกนั้น น่าจะเป็นเพราะพระบารมีบันดาลจะให้พระเกียรติปรากฏไปทั่วโลก เปรียบเหมือนเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ในวันที่จะตรัสรู้พระโพธิญาณนั้น เทวดาก็มาเฝ้าอยู่เป็นอันมาก เมื่อพระยามารยกพลมาผจญ ถ้าหากเทวดาช่วยรบพุ่งพระยามารให้พ่ายแพ้ไปก็จะไม่สู้อัศจรรย์นัก เผอิญเทวดาพากันหนีไปหมด ยังเหลือแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว ทรงสามารถปราบพระยามารกับทั้งรี้พลให้พ่ายแพ้ได้ จึงได้พระนามว่า “สมเด็จพระพิชิตมารโมลี ศรีสรรเพ็ชดาญาณ” เป็นมหัศจรรย์ไปทั่วอนันตจักรวาฬ ที่พระองค์ทรงชะนะสงครามครั้งนี้ ก็คล้ายกัน ถ้าหากมีชัยชะนะด้วยกำลังรี้พล พระเกียรติยศก็จะไม่เป็นมหัศจรรย์เหมือนที่มีชัยด้วยทรงทำยุทธหัตถีโดยลำพังพระองค์กับสมเด็จพระอนุชาธิราช จึงเห็นว่าหากพระบารมีบันดาลเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศ ไม่ควรทรงโทมนัสน้อยพระราชหฤทัย สมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ทรงฟังสมเด็จพระพนรัตนถวายวิสัชนา ก็ทรงพระปีติโสมนัสสิ้นพระพิโรธ สมเด็จพระพนรัตนจึงทูลขอชีวิตข้าราชการไว้ทั้งหมด แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารขาดความอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุและหลักฐานปรากฏอยู่ ว่าสมเด็จพระพนรัตนได้ทูลแนะนำให้สมเด็จพระนเรศวรฯ เฉลิมพระเกียรติที่มีชัยชะนะครั้งนั้น ด้วยบำเพ็ญพระราชกุศลตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าทุฏฐคามนี ที่ชาวลังกานับถือว่าเป็นวีรมหาราช อันมีเรื่องอยู่ในคัมภีร์มหาวงศ์คล้ายกันมาก ในเรื่องนั้นว่าเมื่อ พ.ศ. ๓๓๘ พระยาเอฬารทมิฬ มิจฉาทิฏฐิ ยกกองทัพจากอินเดียมาตีได้เมืองลังกา แล้วครอบครองอยู่ถึง ๔๐ ปี ในเวลาที่เมืองลังกาตกอยู่ในอำนาจมิจฉาทิฏฐินั้น มีเชื้อวงศ์ของพระเจ้าเทวานัมปิยดิศองค์หนึ่ง ทรงนามว่าพระยากากะวรรณดิศ ได้ครองเมืองอันหนึ่งอยู่ในโรหณประเทศตอนกลางเกาะลังกา พระยากากะวรรณดิศมีโอรส ๒ องค์ ๆ ใหญ่ทรงนามว่า ทุฏฐคามนี องค์น้อยทรงนามว่า ดิศกุมาร ช่วยกันซ่องสุมรี้พลหมายจะตีเอาเมืองลังกาคืน แต่พระยากากะวรรณดิศถึงแก่พิราลัยไปเสียก่อน ทุฏฐคามนีกุมารได้เป็นพระยาแทนพระบิดา พยายามรวบรวมกำลังได้จนพอการ แล้วยกกองทัพไปตีเมืองอนุราธบุรีราชธานี ได้รบกันพระยาเอฬารทมิฬถึงชนช้างกันตัวต่อตัว ทุฏฐคามนีกุมารฟันพระยาเอฬารทมิฬสิ้นชีพบนคอช้าง ก็ได้เมืองลังกาคืนเป็นของราชวงศ์ที่ถือพระพุทธศาสนา ในการฉลองชัยมงคลครั้งนั้น พระเจ้าทุฏฐคามนีให้สร้างพระเจดีย์องค์หนึ่งขึ้นตรงที่ชนช้างชะนะ แล้วสร้างพระมหาสถูปอีกองค์หนึ่งเรียกว่า มริจิวัตรเจดีย์ ขึ้นที่ในเมืองอนุราธบุรี เป็นที่คนทั้งหลายสักการบูชา เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าทุฏฐคามนีสืบมา สมเด็จพระนเรศวรฯ จึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์ยุทธหัตถีขึ้นตรงที่ทรงชนช้างองค์หนึ่ง แล้วทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่อีกองค์หนึ่งขนานนามว่าพระเจดีย์ชัยมงคล ขึ้นที่วัดเจ้าพระยาไทย อันเป็นที่สถิตของพระสังฆราชาฝ่ายขวา จึงมักเรียกกันว่า “วัดป่าแก้ว” ตามนามเดิมของพระสงฆ์คณะนั้น พระเจดีย์ชัยมงคลก็ยังปรากฏอยู่ทางข้างตะวันออกของทางรถไฟเห็นได้แต่ไกลจนบัดนี้ เหตุที่สร้างพระเจดีย์รู้มาแล้วแต่ในรัชชกาลที่ ๕ ว่าเป็นดังเล่ามา เป็นแต่ยังไม่รู้ว่าพระเจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่ไหนเท่านั้น

เหตุที่จะพบพระเจดีย์ยุทธหัตถีนั้นก็อยู่ข้างแปลกประหลาด ดูเหมือนจะเป็นในปีแรกรัชชกาลที่ ๖ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาลลักษณ์) เมื่อยังเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติ ช่วยเที่ยวหาหนังสือไทยฉะบับเขียนของเก่าอันกระจัดกระจายอยู่ในพื้นเมืองให้หอพระสมุดสำหรับพระนคร วันหนึ่งไปเห็นยายแก่ที่บ้านแห่งหนึ่ง กำลังรวบรวมเอาสมุดไทยลงใส่กะชุ ถามว่าจะเอาไปไหน แกบอกว่าจะเอาไปเผาไฟทำสมุกสำหรับลงรัก พระยาปริยัติฯ ขออ่านดูหนังสือในสมุดเหล่านั้น เห็นเป็นหนังสือเรื่องพงศาวดารอยู่เล่มหนึ่ง จึงขอยายแก่เอามาส่งให้ฉันที่หอพระสมุดฯ ฉันเห็นเป็นสมุดของเก่าเขียนตัวบรรจงด้วยเส้นรง (มิใช่หรดาลที่ชอบใช้กันในชั้นหลัง) พอเปิดออกอ่านก็ประหลาดใจ ด้วยขึ้นต้นมีบานแพนกว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตรัสสั่งให้รวบรวมจดหมายเหตุต่างๆ แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารฉะบับนั้น เมื่อ ณ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๐๔๒ (พ.ศ. ๒๒๒๓) แปลกกับหนังสือพระราชพงศาวดารฉะบับอื่นๆ ที่มีในหอพระสมุดฯ ฉันจึงให้เรียกว่า “พระราชพงศาวดารฉะบับหลวงประเสริฐ ฯ” เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ผู้ได้มา

ต่อมาฉันอ่านหนังสือพระราชพงศาวดารฉะบับหลวงประเสริฐ ฯ เทียบกับฉะบับพิมพ์ ๒ เล่ม สังเกตได้ว่าฉะบับหลวงประเสริฐ ฯ แต่งก่อน ผู้แต่งฉะบับพิมพ์ ๒ เล่มคัดเอาความไปลงตรงๆ คำก็มี เอาความไปแต่งเพิ่มเติมให้พิสดารขึ้นก็มี แก้ศักราชเคลื่อนคลาดไปก็มี แต่งแทรกลงใหม่ก็มี บางแห่งเรื่องที่กล่าวในพงศาวดารฉะบับหลวงประเสริฐ ฯ แตกต่างกันกับที่กล่าวในฉะบับพิมพ์ ๒ เล่มก็มี เมื่อฉันอ่านไปถึงตอนสมเด็จพระนเรศวรฯ ชนช้าง เห็นในฉะบับหลวงประเสริฐ ฯ ว่า พระมหาอุปราชามาตั้งประชุมทัพอยู่ตำบลตระพังกรุ แล้วมาชนช้างกับสมเด็จพระนเรศวรฯ ที่ตำบลหนองสาหร่าย เมื่อวันจันทร์ เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๙๕๔ (พ.ศ. ๒๑๓๕) พอเห็นอย่างนั้นฉันก็นึกขึ้นว่าได้เค้าจะค้นพระเจดีย์ยุทธหัตถีอีกแล้ว รอจนพระยาสุพรรณฯ (อี่ กรรณสูตร ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยาสุนทรบุรี ฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรี) เข้ามากรุงเทพ ฯ ฉันเล่าเรื่องพระเจดีย์ยุทธหัตถีให้ฟัง แล้วสั่งให้ไปสืบดูว่าตำบลชื่อหนองสาหร่ายในแขวงเมืองสุพรรณฯ ยังมีหรือไม่ ถ้ามีให้พระยาสุพรรณฯ ออกไปเองถึงตำบลนั้น สืบถามดูว่ามีพระเจดีย์โบราณอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งแห่งใดบ้าง พระยาสุพรรณฯ ออกไปสืบอยู่ไม่ถึงเดือนก็มีรายงานบอกมา ว่าตำบลหนองสาหร่ายนั้นยังมีอยู่ใกล้กับลำน้ำท่าคอย ทางทิศตะวันตกเมืองสุพรรณฯ (คือลำน้ำเดียวกันกับลำน้ำจรเข้สามพันที่ตั้งเมืองอู่ทองนั่นเอง แต่อยู่เหนือขึ้นไปไกล) พระยาสุพรรณฯ ได้ออกไปที่ตำบลนั้น สืบถามถึงพระเจดีย์โบราณ พวกชาวบ้านบอกว่ามีอยู่ในป่าตรงที่เรียกกันว่า “ดอนพระเจดีย์” องค์หนึ่ง พระยาสุพรรณฯ ถามต่อไปว่าเป็นพระเจดีย์ของใครสร้างไว้รู้หรือไม่ พวกชาวบ้านตอบว่าไม่รู้ว่าใครสร้าง เป็นแต่ผู้หลักผู้ใหญ่บอกเล่าสืบมาว่า “พระนเรศวร ฯ กับพระนารายณ์ชนช้างกันที่ตรงนั้น” ก็เป็นอันได้เรื่องที่สั่งให้ไปสืบ พระยาสุพรรณฯ จึงให้พวกชาวบ้านพาไปยังดอนพระเจดีย์ เมื่อแรกไปถึงไม่เห็นมีพระเจดีย์อยู่ที่ไหน เพราะต้นไม้ขึ้นปกคลุมพระเจดีย์มิดหมดทั้งองค์ จนผู้นำทางเข้าไปถางเป็นช่องให้มองดู จึงแลเห็นอิฐที่ก่อฐาน รู้ว่าพระเจดีย์อยู่ตรงนั้น ถ้าไม่รู้จากชาวบ้านไปก่อน ถึงใครจะเดินผ่านไปใกล้ๆ ก็เห็นจะไม่รู้ว่ามีพระเจดีย์อยู่ตรงนั้น ฉันนึกว่าคงเป็นเพราะเหตุนั้นเอง จึงไม่รู้กันว่ามีพระเจดีย์ยุทธหัตถียังมีอยู่ เลยหายไปกว่า ๑๐๐ ปี พระยาสุพรรณฯ ระดมคนให้ช่วยกันตัดต้นไม้ที่ปกคลุมออกหมดแล้ว ให้ช่างฉายรูปพระเจดีย์ส่งมาให้ฉันด้วยกันกับรายงาน สังเกตดูเป็นพระเจดีย์มีฐานทักษิณเป็น ๔ เหลี่ยม ๓ ชั้น ขนาดฐานทักษิณชั้นล่างกว้างราว ๘ วา แต่องค์พระเจดีย์เหนือฐานทักษิณชั้นที่ ๓ ขึ้นไปหักพังเสียหมดแล้ว รูปสัณฐานจะเป็นอย่างไรรู้ไม่ได้ ประมาณขนาดสูงของพระเจดีย์เมื่อยังบริบูรณ์เห็นจะราวเท่าๆ กับพระปรางค์ที่วัดราชบูรณะในกรุงเทพฯ พอฉันเห็นรายงานกับรูปฉายที่พระยาสุพรรณฯ ส่งมาก็สิ้นสงสัย รู้ว่าพบพระเจดีย์ยุทธหัตถีเป็นแน่แล้ว มีความยินดีแทบเนื้อเต้น รีบนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระปีติโสมนัสตรัสว่า พระเจดีย์ยุทธหัตถีเป็นอนุสาวรีย์เฉลิมเกียรติของเมืองไทยสำคัญอย่างยิ่งแห่งหนึ่ง ถึงอยู่ไกลไปลำบากก็จะเสด็จไปสักการบูชา จึงทรงพระราชอุตสาหะเสด็จไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ด้วยประการฉะนี้”

ระยะทางเสด็จทางสถลมารคแต่เมืองนครปฐม

ไปเมืองอู่ทองและเมืองสุพรรณบุรี ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีดังต่อไปนี้:-

วันอังคารที่ ๒๐ มกราคม เสด็จจากพระราชวังสนามจันทร์ เมืองนครปฐม ประทับร้อนบ้านบางกระทุ่ม ระยะทาง ๓๙๓ เส้น ประทับแรมเมืองกำแพงแสน ระยะทาง ๑๗๕ เส้น รวมระยะทาง ๕๖๘ เส้น

วันพุธที่ ๒๑ มกราคม เสด็จจากเมืองกำแพงแสน ประทับร้อนหนองตัดสาก ระยะทาง ๔๐๑ เส้น ประทับแรมบ้านบ่อสุพรรณ ระยะทาง ๓๐๕ เส้น รวมระยะทาง ๗๐๖ เส้น

วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ มกราคม พักที่บ้านบ่อสุพรรณ วัน ๑ วันศุกร์ที่ ๒๓ มกราคม เสด็จจากบ้านบ่อสุพรรณ ประทับร้อนบ้านตระพังกรุ ระยะทาง ๑๒๕ เส้น ประทับแรมบ้านดอนมะขาม ระยะทาง ๒๗๔ เส้น รวมระยะทาง ๓๙๙ เส้น

วันเสาร์ที่ ๒๔ มกราคม เสด็จจากบ้านดอนมะขาม ประทับร้อนบ้านจรเข้สามพันระยะทาง ๔๑๑ เส้น ประทับแรมเมืองอู่ทอง ระยะทาง ๑๕๐ เส้น รวมระยะทาง ๕๕๑ เส้น

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มกราคม พักที่เมืองอู่ทอง วัน ๑

วันจันทร์ที่ ๒๖ มกราคม เสด็จจากเมืองอู่ทอง ประทับร้อนห้วยด้วน ระยะทาง ๑๙๐ เส้น ประทับแรมบ้านโข้ง ระยะทาง ๓๒๐ เส้น รวมระยะทาง ๕๑๐ เส้น

วันอังคารที่ ๒๗ มกราคม เสด็จจากบ้านโข้ง ประทับร้อนดอนระฆัง ระยะทาง ๓๐๐ เส้น ประทับแรมดอนพระเจดีย์ ระยะทาง ๑๙๕ เส้น รวมระยะทาง ๔๙๕ เส้น

วันพุธที่ ๒๘ มกราคม พักที่ดอนพระเจดีย์ วัน ๑

วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ มกราคม เสด็จกลับจากดอนพระเจดีย์ ประทับร้อนที่ดอนระฆัง ระยะทาง ๑๙๕ เส้น ประทับแรมบ้านโข้ง. ระยะทาง ๓๐๐ เส้น รามระยะทาง ๔๙๕ เส้น

วันศุกร์ที่ ๓๐ มกราคม เสด็จจากบ้านโข้ง ประทับร้อนห้วยด้วน ระยะทาง ๓๒๐ เส้น ประทับแรมเมืองอู่ทอง ระยะทาง ๑๙๐ เส้น รวมระยะทาง ๕๑๐ เส้น

วันเสาร์ที่ ๓๑ มกราคม เสด็จจากเมืองอู่ทอง ประทับร้อนบ้านจรเข้สามพัน ระยะทาง ๑๔๐ เส้น ประทับแรมบ้านวังไซ ระยะทาง ๔๕๙ เส้น รวมระยะทาง ๕๙๙ เส้น

วันอาทิตย์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ เสด็จจากบ้านวังไซ ประทับร้อนดอนตาเพ็ชร ระยะทาง ๒๐๑ เส้น ประทับแรมบ้านทวน ระยะทาง ๒๐๕ เส้น รวมระยะทาง ๔๐๖ เส้น

วันจันทร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ เสด็จจากบ้านทวน ประทับร้อนบ้านหนองขาว ระยะทาง ๓๐๓ เส้น ประทับแรมเมืองกาญจนบุรี ระยะทาง ๓๐๕ เส้น รวมระยะทาง ๖๐๘ เส้น

วันอังคารที่ ๓ กุมภาพันธ์ เสด็จทางชลมารคจากเมืองกาญจนบุรี ประทับแรมบ้านโป่ง

ประกาศสังเวยเทวดา

ที่พระเจดีย์ยุทธหัตถีสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงสร้าง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์และทรงอ่านในวันสังเวย

๏ สรวมชีพข้ายุคลบาท รับพระราชโองการ มานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ในพระบาทสยามธรเณนทร สมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั่วไทยประชาชนชาติ ขอประกาศแก่เทพยเจ้า บรรดาเนานภาลัย และพระไพรภูมารักษ์ เทพยพิทักษ์เจดียสถาน สิงสำราญอรัญประเทศ ด้วยนฤเบศร์ทรงสดับ ตำหรับราชพงศาวดาร ครั้งมอญม่านก่อเข็ญ เป็นปรปักษ์ประทุษฐ์ประเทศ ทั่วสยามเกษตรแปรปรวน สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า เป็นต้นเค้าคิดสู้ กู้อิสสรภาพชาวสยาม ทำสงครามหลายคาบ ปราบข้าศึกหงสาวดี ซึ่งมาตีพระนคร ให้พ่ายถอนถอยทัพ กลับไปเป็นหลายครั้ง ตั้งแต่แผ่นดินพระชนกนาถ พระบาทธรรมราชา ครั้นพระบิดาสวรรคต กำหนดในพงศาวดาร เมื่อปีขาลโทศก ตกจุลศักราชเก้าร้อย สร้อยห้าสิบสองโดยประมวญ สมเด็จพระนเรศวรยุพราช เสด็จเถลิงอาสน์ผ่านรัฐ พอข่าวผลัดแผ่นดินใหม่ ในกรุงศรีอยุธยา ลุหงสาราชสถาน พระยาม่านนันทบพิตร คิดเอาเปรียบเชิงศึก นึกจะจู่เอาชัย จึงให้ราโชรส นามปรากฏกะยอชวา ผู้มหาอุปราช ยาตรพยุหเสนางค์ มาโดยทางกาญจนบุรี ในเดือนยี่ศกนั้น ครั้นพระบาทปรเมศร์ องค์พระนเรศร์เป็นเจ้า ทรงทราบเค้าคดีศึก ยกสอึกมาชิงชัย จึงเสด็จไปต่อสู้ รบศัตรูแตกพ่าย จับได้นายเสนา มีพญาพสิมเป็นต้น ณตำบลจรเข้สามพัน อุปราชนั้นหนีได้ ม่านเสียชัยครั้งนั้น พลันเป็นเหตุร้อนเร่า แก่พระเจ้าหงสา เกรงบรรดาประเทศราช จะเอื้อมอาตม์เอาอิสสระ จึงมานะมุ่งหมาย จะทำลายเมืองไทย ให้เห็นเป็นตัวอย่าง รอช่องว่างปีหนึ่ง ถึงมะโรงจัตวาศก ตกจุลศักราชเก้าร้อย เศษสร้อยห้าสิบสี่ มีรับสั่งให้เกณฑ์ทัพ ไทยใหญ่กับมอญพะม่า ให้อุปราชาเป็นใหญ่ มาชิงชัยอีกครั้ง กำลังพลมากมาย หลายเท่ายิ่งกว่าไทย เดินพลไกรทางเก่า เข้าทางกาญจนบุรี มาตั้งที่ชุมนุมพล ณตำบลตระพังกรุ สุพรรณนครเขตต์สถาน ฝ่ายภูบาลพระนเรศร์ เมื่อทราบเหตุศึกใหญ่ ไพรีชาวหงสา ยกเข้ามาครั้งนั้น จึงจัดสรรทัพหลวง ทั่วกระทรวงสรรพเสร็จ เสด็จจากราชธานี กับองค์ศรีอนุชา พระเอกาทศรถ ชุมนุมหมดหมู่พล ณ ตำบลมะม่วงหวาน เบิกโขลนทวารเดินทัพ ไปรบรับปัจจามิตร เมื่อวันอาทิตย์เดือนยี่ ขึ้นดิถีเก้าค่ำ ดำเนินพลไปสุพรรณ ตั้งทัพขันธ์ ณ ค่าย หนองสาหร่ายที่มั่น ครั้นวันจันทร์แรมสองค่ำ ได้ทรงทำยุทธหัตถี มีชัยฆ่าอุปราช ขาดคอช้างด้วยพระหัตถ์ กำจัดศัตรูพ่ายแพ้ แก่พระเดชาภินิหาร เป็นอวสานแต่นั้น ข้าศึกขยั้นหยุดตี มีแต่ไทยไปรอน จนเมืองมอญเป็นข้า ตลอดมหายุทธสมัย ครั้งนั้นไซร้ปรากฏ ในเบื้องบทพงศาวดาร ว่าภูบาลพระนเรศร์ ปรารภเหตุมหาชัย ให้สถาปนาพระเจดีย์ ไว้ ณ ที่ชัยสถาน มาจนกาลบัดนี้ จำนวนปีนานนับ สามร้อยกับยี่สิบเอ็ดสรูป พระสถูปพึ่งปรากฏ แน่กำหนดต้องหลักฐาน ข่าวสาส์นทราบเบื้องบาท บรมนาถพระเป็นเจ้า มงกุฎเกล้าประชาไทย ภูวนัยทรงโสมนัส ตรัสให้เตรียมยาตรา พร้อมพระวงศาข้าทูลพระบาท โดยเสด็จยาตรพาหน เป็นกระบวนพลเสือป่า อุตส่าห์เสด็จโดยทูรสถาน มานมัสการพระเจดีย์ ด้วยมีพระราชประสงค์ จะทรงพระราชูทิศ กุศลกิจทั้งหลาย ถวายสมเด็จพระนเรศร์ วิชิตเชษฐวีรราชา และพระเอกาทศรถ เฉลิมพระเกิยรติยศสองสุรราช และประศาสน์ส่วนพระกุศล แก่เหล่าพหลทหารไทย บรรดาได้ต่อสู้ หมู่มอญม่านครั้งนั้น ป้องกันสยามอาณาจักร หักกำลังเหล่าศัตรู เอาชีพสู้เอาชัย ดังได้กล่าวแต่หลัง ขอกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ จงทราบด้วยทิพยโสด ทรงปราโมทย์อนุโมทนา ในพระราชจริยาผ่านเผ้า พระมงกุฎเกล้าซึ่งทรงอุตส่าห์ เสด็จมาในครั้งนี้ ส่วนเสนีพลทหาร ซึ่งพระราชทานพระกุศล จงรับผลทั่วหน้า สมกับที่แกว่นกล้า ต่อสู้เศิกกษัย ฯ

๏ อนึ่งไซร้ขออำนาจ แห่งพระราชศรัทธา ในพระอรหาทิคุณพุทธ์ อุตมธรรมและมหาสงฆ์ คือองค์พระรัตนตรัย ทั้งที่ได้ทรงพลี ทวยเทพที่พระสถูปสถาน จงบันดาลอวยสวัสดิ์ ศิริพิพัฒนมงคล แก่ประชาชนชาวสยาม ให้มีความจำเริญยิ่ง ขจัดสิ่งสรรพอุปัทว์ สารพัดพิพิธภัย เศิกกษัยสูญขาด สยามราษฎร์เป็นสุขสำราญ หากจะมีการชิงชัย จงพหลไทยทั้งผอง คือกองทหารบกเรือ และเสือป่าเป็นต้น ทุกคนจงเหี้ยมหาญ ในกิจการป้องกัน ชาติขัณฑสีมา รักษาอิสสรภาพสยาม พยายามโดยน้ำใจ เช่นทหารไทยครั้งพระนเรศวร ปราบหมู่มวลดัสกร จนสยอนชื่อชาวไทย ทั่วไปทุกประเทศ อนึ่งขอเดชไตรรัตนคุณ และอดุลยเทวอำนาจ ให้พระบาทพระมงกุฎเกล้า เป็นพระเจ้านิกรไทย จงเจริญชัยเดชานุภาพ ปราบศัตรูขามเข็ด ดุจสมเด็จพระนเรศร์ ทุกประเทศจงเกรงพระฤทธิ์ และทรงสถิตสถาพร ในบวรเศวตฉัตร สืบศิริรัชธำรง ทรงสำราญราชกรณียานุวัติ อนึ่งสยามรัฐราชอาณาจักร จงเรืองศักดิศิริวิไล ทรงวิสัยอิสสรภาพ ตราบสิ้นดินและฟ้า ประสิทธิ์ประสงค์เจ้าหล้า ทุกข้ออธิษฐานโสตถิ์เทอญ ฯ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ