นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคต้น)

ตำนานการจับช้าง

(๑)

ในตำราวิชาก่อนประวัติศาสตร์ ว่าเดิมช้างมีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในโลก แม้จนในยุโรปก็มีช้างมาก ครั้นถึงยุคอันหนึ่งในภูมิกาล อากาศทางข้างฝ่ายเหนือโลกผันแปรหนาวจัดขึ้น เกิดน้ำแข็งเป็นเทือกใหญ่ไหลรุกแผ่นดินลงมาข้างใต้ เสมอทุกปีอยู่ตลอดเวลาช้านาน ในตำราเรียกนามสมัยนั้นว่า “สมัยเทือกน้ำแข็ง” Glacial Period ทำให้โลกตอนใต้ลงมาอันเคยอบอุ่นเป็นปรกติมาแต่ก่อน หนาวจัดจนสัตว์ต่างๆ บางจำพวก เช่นราชสีห์และเสือช้างเป็นต้น ซึ่งเคยอยู่ในที่ตอนนั้นทนหนาวไม่ไหว ต้องพากันทิ้งถิ่นฐานเดิมหนีลงมาอยู่ทางที่อุ่นใกล้กลางโลก Equator ที่ไม่สามารถจะมาได้ ก็ล้มตายสูญพืชพันธุ์ไปในถิ่นเดิม นานมาคนไปขุดพบซากจมอยู่ในแผ่นดิน จึงได้รู้ว่าทางข้างเหนือเคยมีสัตว์จำพวกนั้นอยู่แต่ก่อน

ว่าเฉพาะช้าง ถึงเมื่อย้ายลงมาอยู่ในกลางโลกแล้ว ยังมีเหตุอื่นอีกอันจำกัดที่ให้ช้างอยู่ เพราะช้างกินแต่พฤกษชาติเป็นอาหาร ต้องอยู่ตามป่าดงพงไพรอันมีต้นไม้ใบหญ้าพอเลี้ยงชีวิต ถ้าที่เช่นนั้นเปลี่ยนแปรไปเป็นอย่างอื่น ดังเช่นแห้งแล้งเป็นทะเลทรายไป หรือเป็นบ้านช่องของมนุษย์อยู่กันมากขึ้น ช้างไม่มีที่หาอาหารได้พอกิน ก็ต้องทิ้งถิ่นนั้นไปอยู่ที่อื่นอีก นอกจากนั้นช้างเป็นสัตว์จำพวกขนบางเช่นเดียวกับควาย ทนแดดเผามิใคร่ได้ อยู่ที่ไหนต้องมีแม่น้ำลำธารหรือแม้ที่สุดจนปลักแปลงที่มีน้ำขัง เป็นที่อาศัยแช่ให้ชุ่มตัวเมื่อยามร้อนจึงอยู่ได้ ด้วยเหตุต่างๆ ดังพรรณนามา เมื่อพ้นสมัยเทือกน้ำแข็งแล้ว ในโลกจึงมีช้างอยู่แต่ในทวีปแอฟริกาภาคหนึ่ง กับในทวีปเอเชียตอนข้างฝ่ายใต้ภูเขาหิมาลัยภาคหนึ่ง ในโลกภาคอื่นหามีช้างไม่ นิทานเรื่องนี้ฉันจะพรรณนาว่าด้วยช้างในเมืองไทย อันเป็นจำพวกช้างที่มาอยู่ในทวีปเอเชียเป็นท้องเรื่อง แต่เมื่อตั้งต้นได้กล่าวว่ามีช้างไปอยู่ในทวีปแอฟริกาอีกพวกหนึ่ง จึงเห็นควรจะพรรณนาว่าด้วยช้างที่ไปอยู่ในทวีปแอฟริกาโดยสังเขป พอให้รู้ว่าผิดกันกับช้างที่มาอยู่ในทวีปเอเชียอย่างไรบ้าง

(๒)

ช้างแอฟริกากับช้างเอเชีย (ซึ่งฝรั่งเรียกว่าช้างอินเดีย) แม้เป็นช้างด้วยกันและขนาดเท่าๆ กัน น่าจะเป็นช้างต่างชนิดกันมาแต่เดิม ด้วยรูปร่างผิดกันหลายอย่าง จะว่าแต่ที่พึงสังเกตเห็นได้ง่าย ช้างแอฟริกาใบหูใหญ่กว่าช้างเอเชียมากอย่างหนึ่ง และยังสันหลังอ่อนไม่ก่งเหมือนช้างเอเชียอีกอย่างหนึ่งเป็นต้น แต่เขาว่าผิดกันเป็นข้อสำคัญนั้น อยู่ที่ช้างเอเชียมีปัญญาฉลาดอาจจะฝึกหัดใช้การงาน แต่ช้างแอฟริกาโง่เขลา จะหัดให้ทำอะไรไม่ได้ ถ้าจับได้ก็ได้แต่เพียงเลี้ยงให้เชื่อง แล้วเอาไปผูกไว้ให้คนดู หรืออย่างดีก็ผูกแคร่บรรทุกเด็กๆ ขึ้นหลังพาเดินเที่ยวที่ในสวนเลี้ยงเท่านั้น แม้ในเรื่องพงศาวดารมีว่าเมื่อ พ.ศ. ๓๒๕ ในเรื่อง ฮัลนิบัลแม่ทัพของประเทศคาเธช อันอยู่ในทวีปแอฟริกาทางฝ่ายเหนือ เคยยกกองทัพช้างข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปตีถึงอาณาเขตกรุงโรม แต่ก็มีปรากฏครั้งเดียวเท่านั้น แล้วการใช้ช้างในทวีปแอฟริกาก็เงียบหายมากว่าพันปี จึงเห็นกันว่าช้างกองทัพของฮัลนิบัลอาจจะได้ไปจากอินเดีย หาใช่ช้างแอฟริกาไม่ เรื่องประวัติของช้างในทวีปแอฟริกาแต่ก่อนมา ปรากฏแต่ว่าสำหรับพวกพรานยิงเอางาไปเที่ยวขายให้ทำของรูปพรรณต่างๆ มาช้านาน ยิ่งถึงสมัยเมื่อพวกฝรั่งต่างชาติ อาจจะไปเที่ยวล่าสัตว์ในแอฟริกาสะดวกขึ้น การยิงช้างในแอฟริกาก็เลยเป็นกีฬาของพวกเศรษฐี หรือคนกล้าหากินด้วยเสี่ยงภัย มีหนังสือเล่าเรื่องยิงช้างแอฟริกาปรากฏอยู่มากกว่ามาก จนสมัยประเทศต่างๆ ในยุโรปรุกเอาแผ่นดินในทวีปแอฟริกา แบ่งกันเป็นเมืองขึ้น เจ้าของอาณาเขตจึงเริ่มห้าม มิให้ใครยิงช้างในเมืองขึ้นของตน ฉันยังจำได้เมื่อไปยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๓๔ พระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่ ๒ ประเทศเยอรมนี เคยตรัสถามฉันว่า ในเมืองไทย ห้ามยิงช้างหรือไม่ห้าม ฉันทูลว่าไทยถือว่าช้างเป็นสัตว์มีคุณ ในเมืองไทยห้ามมิให้ฆ่าช้างด้วยประการอย่างหนึ่งอย่างใดมาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว ตรัสตอบว่าถูกทีเดียว ถึงในเมืองขึ้นของเยอรมนีที่ในแอฟริกา พระองค์ก็ได้ตรัสสั่งไปให้ห้ามมิให้ใครยิงช้างอีกต่อไปเป็นอันขาด ฉันนึกว่าถึงประเทศอื่นๆ ก็เห็นจะห้ามเช่นเดียวกับเยอรมัน การยิงช้างในแอฟริกาเห็นจะเพิ่งห้ามมาเมื่อสัก ๕๐ ปีนี้ ส่วนการจับช้างใช้ในทวีปแอฟริกานั้น ฉันเคยเห็นในหนังสือพิมพ์ครั้งหนึ่ง เห็นจะราวสัก ๒๐ ปีมาแล้ว ว่าพวกฝรั่งเบลเยี่ยมซึ่งได้เป็นเจ้าของประเทศคองโก Congo ในแอฟริกา หาพวกฮินดูชาวอินเดียที่ชำนาญไปลองจับช้างหัดใช้งาน และพิมพ์รูปฉายช้างที่หัดแล้วไว้ให้เห็นยืนอยู่เป็นหมู่สักสี่ห้าตัว ตั้งแต่ขนาดสูง ๓ ศอก จน ๔ ศอก มีพวกฮินดูนั่งอยู่บนคอช้างซึ่งเพิ่งจับหัดใช้การได้ แต่จะทำอะไรได้เพียงใด ก็หาปรากฏไม่ ฉันได้เห็นรูปครั้งเดียวแล้วก็ไม่ได้ยินต่อมา ว่าการจับช้างในทวีปแอฟริกาแพร่หลายออกไปเพียงไร สังเกตดูรูปช้างที่เล่นละครวงเวียน Circus และเล่นหนังฉาย แม้จนทุกวันนี้ก็เห็นใช้แต่ช้างเอเชียทั้งนั้น จึงเห็นว่าการที่ลองจับช้างแอฟริกาหัดใช้งานน่าจะไม่สำเร็จ สิ้นอธิบายของฉันตามรู้เห็นด้วยเรื่องช้างแอฟริกาเพียงเท่านี้ ทวีปเอเชียซึ่งช้างมาอยู่นั้น แผ่นดินตอนอินเดียกว้างใหญ่มีช้างอยู่มากกว่าแห่งอื่น ทั้งมนุษย์ชาวอินเดียก็เจริญวัฒนธรรม Civilization ก่อนชาวแดนอื่นๆ ในภาคเดียวกัน ชาวอินเดียจึงสามารถคิดจับช้างใช้การงานได้ก่อนมนุษย์จำพวกอื่นช้านาน จนถึงพวกพราหมณ์สามารถรวบรวมความรู้ในการจับช้าง เข้าเป็นตำรับตำราเรียกว่า “คชศาสตร์” ขึ้นแล้ว วิชาจับช้างจึงแพร่หลายจากอินเดีย ออกมาถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชียภาคที่มีช้างเช่นเดียวกัน เช่นประเทศพม่า มอญ ไทย เขมร และชวามลายู ด้วยชาวอินเดียซึ่งไปค้าขายแล้วตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามประเทศเหล่านั้น พาวิชาคชศาสตร์ไปจับช้างใช้ แล้วฝึกสอนพวกชาวประเทศนั้นๆ ให้รู้เหมือนอย่างสอนศาสนาและวิชาอื่นๆ ที่ยังปรากฏอยู่อีกหลายอย่าง

(๓)

ได้กล่าวมาแล้วว่า ไทยเราได้วิชาคชศาสตร์มาจากชาวอินเดีย เมื่อจะเล่าการจับช้างในเมืองไทย จึงลองค้นคว้าเรื่องที่ชาวอินเดียมาสอนวิชาจับช้างในเมืองไทยด้วยวิธีอย่างใด มาเล่าเป็นอธิบายเบื้องต้นเสียก่อน

วิธีที่ชาวอินเดียมาสอนวิชาจับช้างนั้น สังเกตเค้าเงื่อนในตำราคชศาสตร์ซึ่งยังมีอยู่ในเมืองไทย มีเป็นหลายปริยาย ดังจำแนกต่อไปนี้ คือ

๑. มีผู้เชี่ยวชาญมาเป็น ๒ พวก เรียกว่า “พฤฒิบาศ” เป็นครูในการจับช้างพวกหนึ่ง ไทยเราเรียกชื่อพวกนี้แปลเป็นภาษาไทยว่า “หมอเฒ่า” แต่เรียกเฉพาะตัวผู้เป็นคณาจารย์ เรียกพวกพฤฒิบาศตัวรองลงมาแต่ว่า “หมอช้าง” ผู้เชี่ยวชาญอีกพวกหนึ่งเรียกว่า “หัศดาจารย์” เป็นครูในการหัดช้าง ไทยเราเรียกพวกนี้เป็นภาษาไทยว่า “ครูช้าง” ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองพวกนี้ช่วยกันทำกิจการและพิธีต่างๆ อันเกี่ยวกับช้างหมดทุกอย่าง

๒. ตำราคชศาสตร์ ไทยเราแปลเรียกว่า “ตำราช้าง” ที่ได้มาจากอินเดียนั้นเป็น ๒ คัมภีร์ คัมภีร์หนึ่งเรียกว่า “ตำราคชลักษณ์” พรรณนาว่าด้วยลักษณะช้าง เช่นสีและอวัยวะต่างๆ ที่ในตัวเป็นต้น ให้รู้ว่าเป็นช้างดีเลวผิดกันอย่างไร คติที่นับถือช้างเผือกว่ามีกำลังกว่าช้างอย่างอื่น ก็มาแต่คัมภีร์นี้ อีกคัมภีร์หนึ่งเรียกว่า “ตำราคชกรรม” สอนวิธีหัดช้างเถื่อนและวิธีหัดขี่ช้าง กับทั้งมนตร์สำหรับบังคับช้าง และระเบียบพิธีต่างๆ ซึ่งทำเพื่อให้เกิดสิริมงคล และบำบัดเสนียดจัญไรในการที่เนื่องกับช้าง

๓. ต้นตำราช้างที่ได้มาจากอินเดีย เป็นภาษาสันสกฤต พวกผู้เชี่ยวชาญต้องมาแปลสอนในภาษาของชาวเมือง ถ้าเป็นประเทศที่มีหนังสือ ก็เขียนคำแปลลงไว้เป็นตัวหนังสือด้วย แต่มนตร์นั้นคงให้ใช้ภาษาสันสกฤตของเดิม ด้วยประสงค์จะให้ศักดิ์สิทธิ์ ตำราช้างที่ได้มาจากอินเดีย ของประเทศไหนจึงเป็นภาษาของประเทศนั้น แต่มนตร์เป็นภาษาสันสกฤตเหมือนกันหมด ก็แต่คนโบราณที่รู้หนังสือ มีน้อยทุกประเทศ การเรียนวิชาคชศาสตร์จึงเรียนกันด้วยความทรงจำ กับฝึกหัดให้ชำนิชำนาญในการต่างๆ ที่ทำนั้นสืบกันมา แต่พวกผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งบัญญัติไว้อย่างหนึ่ง ว่าบรรดาผู้ที่จะเป็น “หมอช้าง” คือขี่ขับและคล้องช้างนั้น หมอเฒ่าต้องครอบให้ก่อน หมายความว่าได้ฝึกหัดจนหมอเฒ่าเห็นว่าชำนิชำนาญ ให้ปริญญาแล้วจึงเป็นหมอช้างได้ ถ้าใครฝ่าฝืนบัญญัตินั้นถือว่าเป็นเสนียดจัญไร อาจจะเกิดภัยอันตรายแก่ผู้ละเมิด น่าจะเป็นเพราะบัญญัติอันนี้ พวกชาวเมืองจึงรักษาวิชาจับช้างไว้ได้ ด้วยพวกที่เลี้ยงชีพด้วยการจับช้าง ต้องขวนขวายให้มีหมอเฒ่าเจ้าตำราอยู่เสมอไม่ขาด

๔. วิธีจับช้างเถื่อนที่ชาวอินเดียมาสอนไว้มี ๓ อย่าง ดังจะพรรณนาในภาคหลังของนิทานนี้ จะกล่าวตรงนี้แต่พอให้รู้เค้าของวิธีอย่างหนึ่งเรียกว่า “วังช้าง” คือจับช้างเถื่อนหมดทั้งโขลง อย่างหนึ่งเรียกว่า “โพนช้าง” คือไล่จับช้างเถื่อนแต่ทีละตัว อย่างหนึ่งเรียกว่า “จับเพนียด” คือต้อนโขลงช้างมาเข้าในคอกมั่นซึ่งเรียกว่า “เพนียด” เลือกจับแต่ช้างบางตัวที่ชอบใจ แล้วปล่อยให้โขลงช้างกลับไป

แต่การจับช้างเถื่อนทั้ง ๓ วิธีที่ว่านี้ ในตำราว่าต้องมี “ช้างต่อ” คือช้างที่ได้ฝึกหัดเชื่องแล้วใช้ช่วยกำลังของผู้จับด้วย จึงจะสามารถจับช้างเถื่อนได้ ฉันนึกสงสัยขึ้นมาว่าเมื่อแรกมนุษย์จะจับช้างใช้ ยังไม่มีช้างต่อ ทำอย่างไรจึงจะจับช้างเถื่อนได้ และยังคิดพิศวงต่อขึ้นไปว่ามนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์คิดเห็นอย่างไร จึงเอิบเอื้อมขึ้นไปจับสัตว์ตัวโตใหญ่ถึงเช่นช้าง อันเหลือกำลังมนุษย์จะฉุดลากปลุกปล้ำได้เหมือนปศุสัตว์อย่างอื่น เมื่อคิดเช่นนั้น ฉันก็เลยนึกไปถึงเรื่องเกร็ดซึ่งเคยมีเมื่อรัชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทร์นี้เรื่องหนึ่ง ดูทีจะเทียบเป็นอุทาหรณ์ได้ แต่ถึงหากจะเทียบไม่ได้ก็เป็นเรื่องประหลาดนักหนา จึงเอามาเล่าฝากไว้ในนิทานนี้ด้วย มิให้สูญไปเสีย

จะเป็นเมื่อปีใดจำไม่ได้ ในสมัยเมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีชายชาวเมืองตากคนหนึ่ง ไปพบลูกช้างพังกำพร้าแม่แต่ยังเล็กตัวหนึ่ง เดินโซเซอยู่ในป่า นึกสงสารด้วยเห็นว่าถ้าทิ้งไว้อย่างนั้นก็คงตาย จึงชวนเพื่อนที่ไปด้วยช่วยกันเอาเชือกผูกคอลูกช้างตัวนั้นจูงพามาบ้าน วานให้เมียช่วยเลี้ยงด้วยให้กินน้ำข้าวต่างนมด้วยกันกับกล้วยและหญ้าอ่อน เวลานั้นเมียกำลังมีลูกอ่อน แต่ก็รับเลี้ยงด้วยสงสารลูกช้าง ถึงวันรุ่งขึ้นเห็นลูกช้างกินน้ำข้าวแล้วยังร้องอยู่ นึกว่าคงเป็นเพราะหิวนม จึงรีดนมของตนเองที่เหลือลูกกินใส่ชามส่งไปให้ลูกช้าง ลูกช้างได้กินน้ำนมคนก็ติดใจ แต่นั้นอยากกินเมื่อใด ก็เข้าไปเคล้าเคลียประจบหญิงคนเลี้ยง แกก็เกิดเอ็นดู เลยรีดนมให้ลูกช้างกินทุกวัน วันหนึ่งกำลังอุ้มลูกอยู่มือหนึ่งลูกช้างเข้ามาขอนมกิน จะรีดนมไม่ได้ จึงลองแอ่นอกยื่นนมออกไปให้ทั้งเต้า ลูกช้างก็เอางวงขึ้นพาดบ่าอ้าปากเข้าดูดนมกินที่เต้าเหมือนอย่างเด็ก แต่นั้นแม่นมก็เลยรัก ยอมให้ดูดนมกินจากเต้าเสมอ ส่วนลูกช้างก็เลยติดหญิงนั้นเป็นแม่นมเหมือนอย่างเด็กติดแม่ จนเวลานอนก็เข้าไปนอนอยู่ด้วยที่ในโรง แม่นมนอนที่บนยกพื้น วางเมาะลูกของตัวเองไว้ข้างหนึ่ง ลูกช้างนอนกับแผ่นดินที่ริมยกพื้นอีกข้างหนึ่ง เอางวงพาดให้ถูกตัวแม่ไว้ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเสมอจนเคยกัน พวกบ้านใกล้เรือนเคียงก็พากันชอบมาช่วยเลี้ยง และเล่นกับลูกช้างตัวนั้นจนคุ้นกับคนสนิท เวลานั้นเผอิญฉันขึ้นไปตรวจราชการที่เมืองตาก ได้ยินว่ามีช้างกินนมคน ให้เรียกมาดูก็เห็นจริงดังว่า เห็นแปลกประหลาดยังไม่เคยมีแต่ก่อน ฉันจึงสั่งให้พาลงมาถวายพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรที่กรุงเทพฯ เผอิญมาถึงเวลากลางเดือนอ้ายใกล้กับงานปีที่วัดเบญจมบพิตร เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแล้ว ฉันให้เอาไปกั้นม่านให้คนดูที่งานวัดเบญจมพิตร ดูเหมือนพ่อเลี้ยงกับแม่เลี้ยงของลูกช้าง จะได้เงินกลับขึ้นไปด้วยไม่น้อย ได้ยินว่าเมื่อกลับขึ้นไปถึงเมืองตาก ก็เลี้ยงดูลูกช้างตัวนั้น ให้วิ่งเล่นอยู่กับลูกของตัวที่ในบ้าน จนเติบโตขึ้น จึงได้จับเชิงใช้อย่างช้างสามัญ

เรื่องเกร็ดที่เล่ามา ชวนให้คิดเห็นความในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ว่าเดิมมนุษย์เห็นจะได้ลูกช้างมาโดยมิได้คิดจะจับ ทำนองเดียวกับที่ชายชาวเมืองตากได้ลูกช้างตัวนั้นมา ครั้นเลี้ยงลูกช้างจนคุ้น จึงได้ความรู้ว่านิสัยช้าง อาจจะเลี้ยงให้เชื่องได้ง่าย ทั้งเป็นสัตว์ฉลาดอาจจะฝึกหัดใช้ได้ คงจะเป็นเพราะรู้นิสัยช้างขึ้นก่อน จึงเป็นเหตุให้คิดจับช้างใช้ ข้อซึ่งไม่มีช้างต่อนั้น ดูก็มีทางแก้ไขอย่างเดียวแต่พยายามจับลูกช้างมาฝึกหัดก่อน เมื่อลูกช้างนั้นเติบใหญ่จึงฝึกหัดให้เป็นช้างต่อ มีช้างต่อก็อาจจะจับช้างเถื่อนขนาดใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ต้องเสาะหาแต่ลูกช้างเหมือนแต่ก่อน มูลเหตุน่าจะเป็นดังว่ามา และช้างต่อที่แรกมีในเมืองไทยนั้น ผู้เชี่ยวชาญซึ่งมาสอนวิชาจับช้างอาจจะมีช้างต่อมาด้วย หรือมิฉะนั้นก็คงมาจับลูกช้างหัดเป็นช้างต่อ เปลืองเวลาช้าออกไป คงหาช้างต่อได้ด้วยประการฉะนี้

(๔)

วิธีจับช้างใช้ในเมืองไทยนี้ คงแพร่หลายรวดเร็วตั้งแต่ชาวอินเดียเข้ามาฝึกสอน เพราะเป็นประเทศที่มีช้างเถื่อนชุม และการคมนาคมโดยทางบกหนทางเหมาะแก่การใช้ช้างยิ่งกว่าพาหนะอย่างอื่นหมด แต่มีเค้าอยู่อย่างหนึ่งว่า เมื่อแรกวิชาจับช้างมาถึงเมืองไทยนั้น พวกชาวเมืองยังเป็นละว้าอยู่โดยมาก ชาวอินเดียมาสอนคชศาสตร์ด้วยภาษาละว้าก่อน ข้อนี้จะเห็นได้เมื่ออ่านถึงพรรณนาว่าด้วยวิธีโพนช้าง ชนชาติไทยแต่เดิมเป็นชาวประเทศที่ไม่มีช้าง เพิ่งมาเรียนรู้วิชาใช้ช้างเมื่ออพยพลงมาอยู่เมืองไทยนี้ แต่ก็สามารถรอบรู้วิชาคชศาสตร์ชำนิชำนาญมาช้านาน ตั้งแต่ก่อนตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชอาณาเขต ข้อนี้จะพึงเห็นได้ตามความในศิลาจารึก (ของพ่อขุนรามคำแหง) ว่าเมื่อแรกพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ตั้งกรุงสุโขทัยเป็นอิสระเมื่อราว พ.ศ. ๑๘๐๐ ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด (อยู่ใกล้ด่านแม่สอดเดี๋ยวนี้) เข้ามาตีเมืองตาก พระเจ้าศรีอินทราทิตย์ยกพลออกไปรบ แพ้พ่ายหนีข้าศึก แต่ (พระร่วง) ราชบุตรองค์น้อยของพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ เวลานั้นพระชันษาได้ ๑๙ ปี กล้าหาญในการรบพุ่ง ขึ้นขี่คอช้างขับบุกรี้พลเข้าไปชนช้างตัวสำคัญ ชื่อ “พลายมาสเมือง” ที่ขุนสามชนขี่ มีชัยชนะขุนสามชนแตกหนีไป เลยเป็นเหตุให้ได้เมืองฉอดมาเป็นของกรุงสุโขทัย พระเจ้าศรีอินทราทิตย์จึงทรงปูนบำเหน็จ (พระร่วง) ราชบุตรนั้น ด้วยเฉลิมเกียรติยศ (อย่างตั้งกรม) ให้ทรงนามว่า “พระรามคำแหง” เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ว่าในสมัยนั้น ไทยชำนิชำนาญการใช้ช้างจนถึงเจ้านายก็ได้ฝึกหัดขี่ช้างรบแล้ว ต่อมาในศิลาจารึกหลักเดียวกันมีอีกแห่งหนึ่ง ว่าเมื่อพระเจ้ารามคำแหงได้ครองกรุงสุโขทัย มักให้แต่งช้างเผือกตัวโปรดชื่อว่า “รูจาศรี” ด้วยเครื่องคชาภรณ์ แล้วพระองค์เสด็จขึ้นทรง นำราษฎรออกไปบำเพ็ญการกุศลตามพระอารามในอรัญญิก (คงเป็นช้างเผือกตัวที่ในหนังสือพงศาวดารเหนือว่าพระร่วงมีช้างเผือกงาดำ และว่าคนชั้นหลังได้เอางาช้างตัวนั้นแกะเป็นรูปพระร่วงกับ “พระลือ” คือพระมหาธรรมราชาลือไทย ที่เป็นราชนัดดาของพระเจ้ารามคำแหง ไว้บูชาในเทวาลัย และในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวต่อมา ว่าสมเด็จพระนเรศวรฯ เชิญเอาลงมากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๘ ทั้ง ๒ องค์) เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่าไทยนับถือคชศาสตร์ของพราหมณ์ในสมัยนั้น ทั้งคัมภีร์คชลักษณ์และคัมภีร์คชกรรม แต่ที่รวมกันใช้ช้างตั้งขึ้นเป็นพยุหเสนากรมใหญ่เรียกว่า “กรมพระคชบาล” ในทำเนียบรัฐบาล เห็นจะเกิดขึ้นในเมืองไทยต่อในสมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) ที่ ๒ ตีได้กรุงกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. ๑๙๖๔ ได้พวกพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญคชศาสตร์ กับทั้งตำรับตำราการงานต่างๆ ของเมืองเขมรเมื่อครั้งยังเป็นมหาประเทศ เข้ามามาก คงเอาตำราที่ได้มาจากเมืองเขมร มาสอบประกอบตำราที่ได้มาจากอินเดียแต่เดิม แล้วตรวจชำระตั้งตำราคชกรรมขึ้นใหม่สำหรับเมืองไทย เมื่อรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๔๑ ถึง พ.ศ. ๒๐๔๗) ข้อนี้รู้ได้ด้วยสังเกตในหนังสือพระราชพงศาวดาร ปรากฏว่าเริ่มตั้งตำราพิชัยสงครามขึ้น และทำพิธีคชกรรมอย่างใหญ่โตในรัชกาลนั้นเป็นปฐม และยังมีเค้าต่อไปถึงที่เป็นเหตุให้หมอช้างในเมืองไทยถือตัวเป็น ๒ พวกมาจนทุกวันนี้ เรียกพวกหนึ่งว่า “ครอบหมอไทย” คือพวกที่หมอเฒ่าเจ้าตำราหลวงที่ตั้งขึ้นใหม่ครอบ เรียกอีกพวกหนึ่งว่า “ครอบหมอมอญ” คือหมอเฒ่าเจ้าตำราของละว้า ที่ใช้กันแต่เดิมเป็นผู้ครอบ แต่ก็ทำงานร่วมกันได้ ด้วยหลักตำราเหมือนกันโดยมาก นานๆ จะแตกต่างออกนอกหน้าสักครั้งหนึ่ง ดังเช่นเคยมีในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ ด้วยปรากฏว่ามีช้างพลายเผือกตัวหนึ่งอยู่ในโขลงหลวง ที่จังหวัดนครนายก พระเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งให้ปกช้างโขลงนั้น เข้ามาคล้องช้างเผือก หน้าพระที่นั่ง ณ เพนียด มีผู้คนพากันไปดูมาก ด้วยเป็นครั้งแรกที่จะคล้องช้างเผือกหน้าพระที่นั่ง ถ้าว่าตามตำแหน่ง พระยาเพทราชา (เอี่ยม) เมื่อยังเป็นพระยาราชวังเมืองเจ้ากรมพระคชบาลควรได้เกียรติยศเป็นผู้คล้อง และรับพระราชทานบำเหน็จในการคล้องนั้น แต่เผอิญพระเพทราชา (เอี่ยม) เมื่อจะเป็นหมอช้างแต่ยังหนุ่มครอบหมอไทย อันตำราว่าถ้าหมอช้างคนไหนคล้องได้ช้างเผือกแล้วมิให้คล้องต่อไป เพราะว่าได้เกียรติในการคล้องช้างถึงสูงสุดแล้ว ก็พระยาเพทราชา (เอี่ยม) เคยคล้องช้างเผือกพัง “นางพระยาสิวโรจน์” เมื่อรัชกาลที่ ๔ แล้วต้องห้ามตามตำรามิให้คล้องช้างอีก หน้าที่คล้องช้างเผือกถวายตัวที่เพนียดครั้งนั้น จึงตกไปเป็นของพระศรีภวังค์ (ค้าง วสุรัตน) เมื่อยังเป็นหลวงคชศักดิ์ปลัดกรมพระคชบาล ความขบขันในเรื่องนี้อยู่ที่หลวงคชศักดิ์นั้นก็เคยคล้องช้างนางพระยาสิวโรจน์ด้วยกันกับพระยาเพทราชา แต่แกครอบหมอมอญซึ่งตำราไม่ห้าม จึงอาจคล้องช้างเผือกซ้ำอีกตัวหนึ่งที่เพนียด และได้รับพระราชทานบำเหน็จข้ามหน้าพระยาเพทราชา เพราะครอบต่างครูกันเท่านั้น

การจับช้างที่ใช้วิธีจับในเพนียด ก็เห็นจะเพิ่งมีขึ้นในกรุงศรีอยุธยา เมื่อได้ตำรามาจากเมืองเขมร ด้วยวิธีคล้องช้างอย่างคล้องในเพนียด ต้องใช้ช้างต่อและผู้คนมาก ทำได้แต่เป็นการหลวง ซากเพนียดของโบราณชั้นเดิม ก็ยังมีปรากฏแต่ที่ริมนครธมราชธานีของเขมรแห่งหนึ่ง กับว่ามีที่พระนครศรีอยุธยา อยู่ที่วัดซองริมวังจันทร์เกษมแห่งหนึ่ง และยังปรากฏอยู่ที่เมืองลพบุรีอีกแห่งหนึ่ง ล้วนเป็นเพนียดขนาดย่อมๆ อย่างเดียวกัน เพนียดใหญ่ในทุ่งทะเลหญ้า ที่คล้องช้างมาจนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เป็นของสร้างต่อภายหลัง (เห็นจะเป็นสมเด็จพระนารายณ์ทรงสร้าง) การจับช้างของหลวง เดิมใช้แต่วิธี “วังช้าง” เป็นพื้น แต่วิชาขี่ช้างนั้น มีหลักฐานปรากฏว่าถือกันเป็นวิชาสำคัญสำหรับ “ลูกเจ้าลูกขุน” คือเจ้านายและพวกลูกผู้ดี จะต้องฝึกหัดจนถึงขี่ช้างรบพุ่งได้ทุกคนมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย และยังเป็นประเพณีสืบมาตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ในสมัยอื่นดูนิยมกันไม่เหมือนเมื่อรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ด้วยปรากฏว่าแม้พระสุริโยทัยองค์พระอัครมเหสี ก็ได้ฝึกหัดทรงช้างรบ ในเรื่องพงศาวดารมีปรากฏครั้งเดียวเท่านั้น ว่าผู้หญิงขี่ช้างเข้ารบพุ่ง ก็ย่อมเป็นปัจจัยต่อลงมาจนถึงชั้นสมเด็จพระนเรศวรฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ คงจะได้ทรงฝึกหัดคชกรรมกวดขันมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ทั้งสองพระองค์จึงทรงชำนิชำนาญ ถึงสามารถทำยุทธหัตถีมีชัยชนะกู้บ้านเมืองได้

(๕)

ตั้งแต่ล่วงรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯ แล้ว คชกรรมเฟื่องฟูขึ้นเมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอีกสมัยหนึ่ง พิเคราะห์ดูเหมือนสมเด็จพระนารายณ์ฯ จะมีพระอุปนิสัยโปรดทรงช้าง และได้ฝึกหัดขับขี่ช้างชำนิชำนาญมาตั้งแต่ยังเป็นพระราชกุมาร พอได้เสวยราชย์ก็เอาเป็นพระราชธุระบำรุงกรมพระคชบาลเหมือนอย่างว่าทรงบัญชาการเอง ข้อนี้เห็นได้ด้วยโปรดให้พวกข้าหลวงเดิมซึ่งเคยศึกษาคชศาสตร์ตามเสด็จ เป็นต้นแต่สมเด็จพระเพทราชาซึ่งเป็นมหาดเล็กร่วมพระนม และคงมีคนอื่นอีก ไปรับราชการมีตำแหน่งในกรมพระคชบาล สำหรับทรงใช้สอยในการซึ่งทรงจัดนั้น และมีการต่างๆ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้ทรงจัดแก้ไขประเพณีเดิม ปรากฏต่อมาก็หลายอย่าง

อย่างหนึ่ง แต่ก่อนมาถ้าพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปทรงจับช้างเถื่อน ย่อมเสด็จไปทรงจับอย่าง “วังช้าง” คือทรงอำนวยการให้ราชบริพารล้อมจับ สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดทรงจับช้างเถื่อนด้วยวิธี “โพนช้าง” คือเสด็จขึ้นทรงคอช้างต่อเที่ยวไล่คล้องช้างเถื่อนเอง เหมือนอย่างหมอช้างสามัญ อันเป็นการเสี่ยงภัยมาก จนต้องมีพระราชกำหนดบทพระอัยการตั้งขึ้นในกฎมนเทียรบาล สำหรับพวกเจ้าหน้าที่ที่โดยเสด็จเป็นหลายมาตรา อ่านพิจารณาดูอยู่ข้างประหลาด จนถึงน่าพิศวงก็มี ดังเช่นว่าถ้าพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จเข้าต่อ (สู้) ช้างเถื่อน ถ้าควาญท้ายช้างพระที่นั่งเห็นว่าช้างเถื่อนเติบใหญ่กว่าช้างพระที่นั่ง ห้ามมิให้ส่งขอถวาย ถ้าจะทรงคล้องช้างเถื่อนที่เติบใหญ่กว่าช้างพระที่นั่ง ก็มิให้คนกลางช้างส่งเชือกบาศถวายเหมือนกัน แม้ทำเช่นนั้นพระเจ้าแผ่นดินจะกริ้วถึงฟันด้วยพระแสงก็ให้ยอมให้ฟัน ที่สุดถ้าพระเจ้าแผ่นดินยังขืนจะเสด็จเข้าต่อหรือเข้าคล้อง ก็ให้ควาญทูลขอถวายชีวิตห้ามปราม ถ้าและมิทรงฟัง ก็ให้เอาตัวลงนอนกลิ้งเข้าไปขวางที่หว่างงาช้างพระที่นั่ง ให้แทงตัวเสียให้ตาย และยังมีข้อบังคับที่เป็นอย่างประหลาดทำนองเดียวกันอีกหลายมาตรา ล้วนแสดงความว่าพระเจ้าแผ่นดินทำผิดแล้วมักดื้อดึง และมักบันดาลพระโทสะทำผิดต่อไปอีก คิดไม่เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินจะทรงตั้งบทพระอัยการอย่างนี้ไว้ สำหรับให้ควาญช้างพระที่นั่งใช้แก่พระองค์เอง ดูน่าจะเป็นพระอัยการของพระเจ้าแผ่นดิน รัชกาลหลังต่อมา เปรียบว่าถ้าสมเด็จพระนารายณ์ฯ เริ่มทรงโพนช้างเพื่อสำราญพระราชหฤทัย ก็คงเป็นสมเด็จพระเพทราชา ที่ตั้งบทพระอัยการเหล่านั้น ให้ควาญช้างพระที่นั่งมีสิทธิที่จะขัดขวาง เพื่อป้องกันภัยอันตรายแก่พระเจ้าแผ่นดินในภายหน้า คำที่กล่าวในพระอัยการว่าพระเจ้าแผ่นดินอาจจะฟันคนท้ายช้างเมื่อไม่ทำตามรับสั่ง หรือที่ว่าให้ควาญนอนกลิ้งเข้าไปให้ช้างพระที่นั่งแทงนั้น เห็นว่าเป็นแต่โวหารในการแต่งหนังสือ เพื่อจะเน้นความตรงนั้นให้แรงถึงอย่างที่สุดเท่านั้น การที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดทรงโพนช้างนั้น ยังมีรอยโรงช้างต่ออยู่ในพระราชวัง และมีเกยก่อไว้สำหรับเสด็จขึ้นช้างที่ตามป่าเมืองลพบุรี ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้หลายแห่ง ที่การคล้องช้างมากลายเป็น “ราชกีฬา” ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ จะว่าเริ่มมีมาแต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ก็เห็นจะได้

เพนียดคล้องช้าง ณ พระนครศรีอยุธยา เดิมอยู่ที่วัดซอง ริมวังจันทร์เกษมดังกล่าวมาแล้ว ที่ย้ายออกไปเป็นเพนียดใหญ่ มีโรงเลี้ยงช้างต่อและโรงหัดช้างเถื่อนครบครัน รวมกันอยู่ที่ทุ่งทะเลหญ้าข้างเหนือพระนคร จะย้ายไปสร้างขึ้นเมื่อใดไม่พบในหนังสือเก่า แต่มีในพระราชพงศาวดารตอนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ แห่งหนึ่ง ว่าเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๒๐๐ ดำรัสสั่งให้ตั้งชมรมสำหรับทำการพระราชพิธีทั้งปวงขึ้นใน “ทุ่งทะเลหญ้า” ณ ตำบลเพนียด ความที่กล่าว ชวนให้เข้าใจว่าสมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้ย้ายเพนียดออกไปสร้างใหม่ ในทุ่งทะเลหญ้าแต่แรกเสวยราชย์ เมื่อสร้างเพนียดแล้วจึงโปรดให้สร้างชมรม คือโรงสำหรับทำพระราชพิธีคชกรรมต่างๆ เป็นของถาวรขึ้นในที่ท้องที่ถิ่นเดียวกับเพนียด ไม่ต้องสร้างชมรมใหม่ เมื่อจะทำพิธีทุกครั้งเหมือนอย่างแต่ก่อน ในกฎมนเทียรบาลก็มีบทพระอัยการกำชับพนักงานต่างๆ ในเวลาเสด็จเข้าทรงพานช้างเถื่อนในเพนียด และเวลาทรงคล้องช้างกลางแปลงข้างนอกเพนียด ดูสมกับสมัยที่กล่าวมา ปรากฏในเรื่องพงศาวดารว่าเมื่อสมเด็จพระเพทราชาเสวยราชย์ เพนียดนั้นมีอยู่แล้ว ด้วยเมื่อวันอ้ายธรรมเถียรกบฏยกเข้ามาตีพระนครฯ พระเจ้าเสือยังเป็นพระมหาอุปราช กำลังทรงคล้องช้างอยู่ที่เพนียดดั่งนี้ เพนียดที่ทะเลหญ้าจึงสมเป็นของสร้างครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชด้วยประการทั้งปวง

ของสำคัญแก่คชกรรมในเมืองไทย ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้ทรงสถาปนาไว้อีกสิ่งหนึ่งเป็นหนังสือ เรียกว่า “ตำราขี่ช้าง” ขนาดสักเล่มสมุดไทยหนึ่ง ในหนังสือนั้นบอกอธิบายกัลเม็ด แต่เรียกว่า “กล” ในการที่จะบังคับขับขี่ช้างอันมีนิสัยต่างกัน และขี่ในกิจการต่างๆ อันผู้ขี่ต้องเสี่ยงภัย หรือมักเกิดความขัดข้องต้องแก้ไข ตำราเรื่องนี้ประหลาดที่มีในบานแผนก ว่าสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า โปรดให้ถือเป็นตำราลับ รู้แต่ตัวสมุหพระคชบาล คือพระเพทราชาและพระสุรินทร์ราชา กับข้าราชการผู้ใหญ่ในกรมช้างชั้น “ครูช้างและขุนช้าง” เช่นเจ้ากรมปลัดกรมเป็นต้น นอกจากนั้นไปถ้ามีใครอยากเรียน ก็ให้ผู้เป็นครูสอนให้แต่เป็นอย่างๆ อย่าให้ใครอ่านตัวตำรา หรือคัดเอาสำเนาไปเป็นอันขาด ให้มีสมุดตำราอยู่แต่ “ข้างที่” คือห้องพระสมุดของพระเจ้าแผ่นดินฉบับเดียวเท่านั้น ตำราขี่ช้างซึ่งว่ามานี้มีฉบับหลวงอยู่ที่ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร กรรมการหอพระสมุดฯ เห็นว่าพ้นเวลาควรปิดบังแล้ว จึงได้ให้พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ เพื่อรักษาไว้มิให้สูญเสีย เมื่อพิมพ์แล้ว ฉันลองเอาหนังสือตำราขี่ช้างของสมเด็จพระนารายณ์ฯ เทียบดูกับหนังสือตำราคชกรรมอย่างเก่า ซึ่งใช้กันเป็นสามัญในพื้นเมือง ก็คิดเห็นเหตุที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้แต่งตำราขี่ช้างขึ้นใหม่ และดูเหมือนจะคิดเห็นต่อไปว่า เพราะเหตุใด จึงโปรดให้ปิดเป็นตำราลับด้วย เหตุที่โปรดให้แต่งตำราขึ้นใหม่นั้น คงเป็นเพราะตำราคชกรรมของเดิมรวมตำราการต่างๆ ในคชกรรม ทั้งที่เป็นแต่กิจพิธีและการฝึกหัด เอามาเรียบเรียงไว้ในตำราอันเดียวกันยืดยาว มีทั้งคำอธิบายเป็นภาษาไทยและเวทมนตร์ภาษาอื่น ซึ่งจะต้องท่องจำไว้ร่ายกำกับในเวลาเมื่อทำการต่างๆ ตามตำราคชกรรม นอกจากหมอเฒ่าเจ้าตำรายากที่ผู้อื่นจะเรียนรู้ได้ ใช่แต่เท่านั้น สรรพคุณของเวทมนตร์และโอสถต่างๆ ที่อ้างไว้ในตำรา อันเหลือจะเชื่อได้ก็มีมาก เห็นได้ว่าเพราะคชศาสตร์เป็นตำราโบราณเก่าแก่ แพร่หลายไปอยู่ตามในมนุษย์ต่างชาติต่างภาษามาช้านาน การท่องจำเวทมนตร์ภาษาสันสกฤตของเดิม ก็ย่อมจะเกิดผิดเพี้ยน ทั้งมีคณาจารย์ชาวต่างประเทศเพิ่มเติมข้อความต่างๆ ซึ่งเห็นว่าดีจริง เพิ่มเติมลงจะให้เป็นคุณยิ่งขึ้น แต่ที่จริงกลับทำให้ตำราวิปลาสไปเสียมาก สมเด็จพระนารายณ์ฯ คงทรงพระราชดำริดังว่านี้ แต่ตำราเดิมมีทั้งการพิธีต่างๆ ที่ทำกันอยู่เป็นนิจ และวิธีขี่ขับบังคับช้างอยู่ด้วยกัน มีพระราชประสงค์จะแก้ไขแต่ตำราขี่ขับบังคับช้างให้เรียนง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน และคงไว้แต่วิธีที่ใช้ได้จริง จึงโปรดให้แต่ง “ตำราขี่ช้าง” ขึ้นใหม่

ลักษณะที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้แต่งตำราขี่ช้างนี้ คิดดูก็พอเห็น คงโปรดให้ผู้เชี่ยวชาญวิชาคชกรรมประชุมกันอย่างเช่นเป็น “กรรมการ” และอาจจะคาดได้ต่อไปว่าคงโปรดให้ (สมเด็จ) พระเพทราชาเป็นนายกกรรมการนั้นโดยที่เป็นตำแหน่งสมุหพระคชบาล ให้กรรมการปรึกษากันตรวจคัดวิธีขี่ขับบังคับช้างในกิจการต่างๆ ที่มักต้องใช้เนืองๆ ออกแก้ไข เขียนบอกกัลเม็ด อันได้เคยทดลองใช้ได้เป็นแน่แล้วไว้ในตำรานี้ ตำราเก่า ใครนับถือก็ให้ใช้กันไปตามเคย จึงได้ปกปิดตำราใหม่เป็นความลับ สำหรับศึกษาแต่พวก “สมัยใหม่” และพวกกรมช้างจึงนับถือเป็นหลักของวิชาช้างมาจนทุกวันนี้ ประหลาดอยู่ที่ตัวฉันเองเมื่อยังเป็นเด็ก เคยปลอดภัยมาได้ครั้งหนึ่ง ด้วยอาศัยตำราขี่ช้างของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ที่ว่านี้ ฉันยังจำได้จึงจะเล่าไว้ด้วย

ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสในแขวงจังหวัดราชบุรีและกาญจนบุรี เวลานั้นตัวฉันอายุได้ ๑๒ ปียังไม่ได้โกนจุก พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันไปตามเสด็จด้วย ทางเสด็จประพาสครั้งนั้นจะต้องเดินป่าไปจากเมืองราชบุรี ประทับแรมทาง ๒ คืนจนถึงตำบลท่าตะคร้อริมแม่น้ำไทรโยคในแขวงจังหวัดกาญจนบุรี จัดราชพาหนะที่เสด็จไปมีทั้งขบวนม้าและขบวนช้าง พระเจ้าอยู่หัวโปรดเสด็จด้วยขบวนม้า จึงใช้พาหนะช้างเป็นขบวนพระประเทียบ ซึ่งกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูรทรงเป็นประมุข ก็ขบวนช้างนั้นเป็นช้างหลวง กรมพระคชบาลคุมไปจากเพนียดสัก ๑๐ เชือก มีช้างพลายผูกสัปคับกูบสี่หน้าลายทอง เป็นช้างพระที่นั่งทรงนำหน้าเชือกหนึ่ง แล้วถึงเหล่าช้างพังผูกสัปคับกูบสองหน้า สำหรับนางในตามไปเป็นแถว มีพวกกรมช้างและกรมการหัวเมือง เดินแซงสองข้างช้างขบวนหนึ่ง ต่อนั้นถึงขบวนช้างเชลยศักดิ์ซึ่งเกณฑ์ในเมืองนั้นเอง มีทั้งช้างพลายและช้างพังผูกสัปคับสามัญ สำหรับพวกผู้หญิงพนักงานและจ่าโขลนข้าหลวง ตามไปเป็นขบวนหลังกว่า ๑๐ เชือก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ กับตัวฉันเป็นเด็ก เขาจัดให้ขึ้นช้างพลายตัวที่เตรียมเป็นช้างพระที่นั่งไปในขบวนพระประเทียบ หลวงคชศักดิ์ (ค้าง วสุรัตน์ ภายหลังได้เป็นที่พระศรีภวังค์) ตัวหัวหน้าผู้คุมขบวนช้างหลวงเป็นหมอขี่คอ หลวงคชศักดิ์คนนี้ขึ้นชื่อลือเลื่องมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ จนตลอดชีวิต ว่าเป็นคนขี่ช้างแข็ง และคล้องช้างแม่นอย่างยิ่ง เวลานั้นอายุเห็นจะราว ๔๐ ปี แต่รูปร่างผอมกริงกริว ดูไม่น่าจะมีแรงสมกับฝีมือที่ลือกันว่าเชี่ยวชาญ แต่แกชอบเด็กๆ เวลาสมเด็จกรมพระนริศฯ กับฉันนั่งไปบนหลังช้าง ไต่ถามถึงป่าดง ฟังแกเล่าไปจนคุ้นกันแต่วันแรก ถึงวันที่ ๒ เมื่อเดินขบวนไปจากที่ประทับแรม ณ ตำบลหนองบัว ค่าย (ครั้งพระเจ้ากรุงธนบุรีรบพม่า) ได้สัก ๒ ชั่วโมง เกิดเหตุด้วยลูกช้างเชลยศักดิ์ที่เดินตามแม่มาข้างท้ายขบวนตัวหนึ่ง ตื่นไฟวิ่งร้องเข้าไปในขบวน พาช้างเชลยศักดิ์ที่อยู่ในขบวนพลอยตื่น วิ่งเข้าป่าไปด้วยสักสี่ห้าตัว บางตัวสัปคับไปโดนกิ่งไม้ ผู้หญิงตกช้างก็หลายคน ช้างขบวนข้างหน้าก็พากันขยับจะตื่นไปด้วย แต่พอช้างพลายตัวที่ฉันขี่ตั้งท่าออกจะวิ่ง หลวงคชศักดิ์แกเอาขอฟันทีเดียวก็หยุดชะงัก ยืนตัวสั่นมูตรคูถทะลักทะลายไม่อาจก้าวเท้าไปได้ ช้างพังข้างหลังเห็นช้างหน้าอยู่กับที่ ก็ยืนนิ่งอยู่ เป็นแต่หันเหียนบ้างเล็กน้อย อลหม่านกันอยู่สัก ๕ นาทีก็เดินขบวนต่อไปได้โดยเรียบร้อย ตัวฉันก็ตกใจอยู่เพียงประเดี๋ยว แต่พอสงบเงียบเรียบร้อยกลับไปนึกสงสารช้างที่ถูกหลวงคชศักดิ์ฟันเลือดไหลอาบหน้าลงมาจนถึงงวง แต่ได้ยินพวกที่เขาเดินกำกับไปพากันชมหลวงคชศักดิ์ ที่สามารถป้องกันมิให้เกิดร้ายกว่านั้นได้ เรื่องช้างตื่นครั้งนั้นโจษกันในขบวนเสด็จอยู่พักหนึ่ง พอเสด็จกลับแล้วก็เงียบหายไป แม้ตัวฉันเองก็หวนนึกขึ้นถึงเรื่องช้างตื่นครั้งนั้น เมื่อเป็นสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร ด้วยอ่านพบอธิบายลักษณะฟันขอบังคับช้าง มีอยู่ในตำราขี่ช้างของสมเด็จพระนารายณ์ฯ เขียนรูปหน้าช้างไว้ในสมุดและมีจุดหมายตรงที่ “เจ็บ” ของช้าง สำหรับฟันขอให้ช้างเป็นได้ต่างๆ ตามประสงค์ มีชื่อเรียกทุกแห่ง มีกล่าวในตำราแห่งหนึ่งว่า “ถ้าจะฟันให้ตระหนักมิให้ยกเท้าก้าวไปได้ ให้ฟันที่ “บันไดแก้ว” ก็ได้ หรือที่ “เต่าผุดสบตะเมาะแอก” ก็ได้ (ฟันตรงแห่งใดแห่งหนึ่งนี้) ช้างตระหนักทั้งตัว เท้ามิยกก้าวไปได้เลย” ดังนี้ เมื่อเห็นตำราจึงเข้าใจว่าหลวงคชศักดิ์ แกคงเรียนตำราขี่ช้างของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ช่ำชอง วันนั้นคงฟันขอที่ตรง “บันไดแก้ว” หรือตรง “เต่าผุดสบตะเมาะแอก” ฟันทีเดียวก็เอาช้างไว้อยู่ได้ ชวนให้เห็นว่ากัลเม็ด “กล” ในตำราของสมเด็จพระนารายณ์ฯ นั้น คงเลือกมาแต่ที่ทดลองได้จริงแล้วทั้งนั้น แต่ก็มีกัลเม็ดบางอย่างที่กรรมการผู้แต่งตำราไม่แน่จริง ดังเช่นในตอนขี่ช้างข้ามแม่น้ำ เมื่อได้พรรณนาวิธีต่างๆ ซึ่งจะลวงให้ช้างที่รังเกียจน้ำลึก ยอมข้ามเป็นหลายอย่างแล้ว ที่สุดกล่าวว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วช้างยังไม่ยอมข้ามน้ำ “ท่านว่าให้แก้ไข (ด้วยใช้) เป็นยากัลเม็ดอย่างขึ้นต้นไม้ช่วยแรงคาถาประกอบกัน ก็เคยได้ราชการ” คือสำเร็จได้บ้าง ที่กรรมการว่า “ยากัลเม็ด” นั้น ให้เอายอดไม้ต่างๆ คือ น้ำนองจิงจ้อ มะอึกโทน ผักบุ้ง เลือกดูแต่ยอดที่ชี้ไปทางฟากข้างโน้น และเมื่อก่อนจะตัดยอดไม้เหล่านั้น ให้เอาหมาก ๓ คำทำพลีครู อุทานว่า “ครูบาธิยายเจ้าเหย ช้างมิข้ามน้ำ ข้าขอเชิญครูบาธิยายเจ้ามาช่วยให้ช้างข้ามไปจงง่ายเถิด” แล้วจงกลั้นใจเด็ดเอายอดไม้ ๔ อย่างนั้น กลับตรงมาอย่างเหลียวแล เมื่อมาถึงช้างแล้วให้ร่ายมนตร์ว่า

“โอม นรายน ภูตานริสฺสยา ภูมิพาตรํ สหปติ

นรเทวดา จ สาคร อุทก ภูตลนร วรเทวดา

วิมติยา เทวา จ สมุตหิมวนฺตย”

แล้วกลั้นใจเอายอดไม้เหล่านั้นขยี้กับฝ่ามือ แล้วเอาทาตาช้างข้างขวา ๓ ทีข้างซ้าย ๓ ที แล้วจึงขี่ช้างลงไปถึงชายน้ำ เอากากยาที่เหลือวางบนหัวช้างแล้วประนมมือร่ายมนตร์นี้ ว่า

“โอม พุทฺธ กนฺตํ มารยํ กนฺตํ สวาห”

แล้วหยิบเอากากยาขึ้นทูนหัวออกอุทานว่า “ครูบาธิยาย ช่วยข้าพเจ้าด้วย” แล้วเอากากยานั้นซัดไปตรงหน้าช้างและขับช้างตามไป “ช้างนั้นข้ามน้ำไปแล” อธิบายเรื่อง “ยากัลเม็ด” ส่อให้เห็นว่าพวกผู้แต่งตำราขี่ช้างครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ก็ยังเชื่อฤทธิ์เดชของเวทมนตร์ เป็นแต่ประสงค์จะให้ผู้ศึกษาอาศัยฝีมือของตนเองเป็นสำคัญก่อน ต่อเมื่อสิ้นฝีมือ จึงให้หันเข้าพึ่งคาถาอาคม

เมื่อล่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ แล้ว ถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ในหนังสือพระราชพงศาวดารไม่กล่าวถึงทีเดียว ว่าได้ทรงจัดการกรมช้างอย่างไรบ้าง แต่กรมช้างเป็นข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระเพทราชา ส่วนพระองค์เองก็ได้ทรงศึกษาวิชาคชศาสตร์มาด้วยกันกับสมเด็จพระนารายณ์ฯ และได้ช่วยทรงจัดการกรมช้างอย่างเป็นคู่พระราชหฤทัยมา จนได้เป็นที่สมุหพระคชบาลมียศศักดิ์ยิ่งกว่าผู้อื่น เมื่อได้เสวยราชย์ กรมช้างเป็นอย่างข้าหลวงเดิม คงสนิทสนมกับพระองค์ยิ่งกว่ากรมอื่น เพราะฉะนั้นคงทรงทำนุบำรุงกรมช้าง ตามแบบอย่างครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ สืบมา จะผิดกันก็แต่ไม่ทรงช้างไปเที่ยวไล่โพนช้างเถื่อนที่ในป่า หรือทรงคล้องช้างเองที่เพนียด เพราะเมื่อเสวยราชย์พระชันษาถึง ๕๕ ปีแล้ว ไม่เหมือนกับพระเจ้าเสือซึ่งเป็นพระราชโอรส และพระเจ้าท้ายสระกับพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งเป็นพระราชนัดดาที่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อมา ทั้งสามพระองค์นั้น แต่ยังทรงพระเยาว์ก็ได้ฝึกหัดอบรมมาในกรมช้างตั้งแต่ก่อนเป็นเจ้า เมื่อเสวยราชย์ก็ยังกำลังฉกรรจ์ จึงโปรดเที่ยวโพนช้างและคล้องช้างเองเป็นการกีฬา เพื่อสำราญพระราชหฤทัยทั้ง ๓ พระองค์ แบบแผนกรมช้างซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้ทรงจัดไว้ จึงอยู่มาจนเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึกเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๑

(๖)

การต่างๆ ที่เนื่องกับใช้ช้างในเมืองไทย เปลี่ยนแปลงตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยามาหลายอย่าง ถึงกับตั้งกรมช้างขึ้นเมื่อสมัยกรุงธนบุรี และทำนุบำรุงต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ไม่เหมือนแต่ก่อนได้ ข้อสำคัญอันเป็นมูลเหตุให้ผิดกับแต่ก่อนนั้น เป็นด้วยย้ายราชธานีลงมาตั้งใหม่ที่บางกอก จะเอาการกรมช้างที่เคยรวมอยู่ด้วยกัน ณ พระนครศรีอยุธยา ย้ายลงมาบางกอกหมดไม่ได้ เพราะที่บางกอกอยู่ใกล้ทะเลพื้นที่เป็นดินเหนียว มีหล่มเลนและร่องน้ำลำคลองมาก ยากที่จะทอดช้างหรือใช้ไปมาเหมือนพื้นที่ทรายทางฝ่ายเหนือ

ดังมีเรื่องปรากฏในพงศาวดาร ว่าเมื่อสร้างพระนครอมรรัตนโกสินทร์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริว่าทางด้านใต้ต้านตะวันตากและด้านเหนือพระนคร มีแม่น้ำเป็นคูอยู่มั่นคงแล้ว แต่ทางด้านตะวันออกมีแต่คลองเป็นคูพระนคร ต่อคูออกไปยังเป็นสวน จึงโปรดให้โค่นต้นไม้เกลี่ยท้องร่องทำลายสวนเสีย แปลงที่ให้เป็นหล่มเรียกว่า “ทะเลตม” สำหรับกีดกันมิให้ข้าศึกยกเข้ามาถึงคลองคูพระนครได้สะดวกโดยทางบก ต่อมาทรงพระดำริว่าช้างหลวงจะเข้าออก ต้องหาช่องทางลุยเลนข้ามทะเลตมลำบากนัก ใคร่จะให้มีถนนกับสะพาน สำหรับช้างหลวงเดินข้ามคูเข้าพระนครทางด้านนั้นสักแห่งหนึ่ง วันเมื่อเสด็จไปทรงเลือกที่ทำสะพาน พระพิมลธรรม (ซึ่งภายหลังได้เป็น สมเด็จพระพนรัตน์) วัดพระเชตุพนฯ ไปทูลทัดทานว่าเป็นการประมาทมากนัก ก็เลยระงับพระราชประสงค์ ชานพระนครทางด้านตะวันออก (แถวอำเภอป้อมปราบศัตรูพ่ายบัดนี้) ก็เลยเป็นที่พวกชาวนาอาศัยเป็นปลักสำหรับเลี้ยงควาย เรียกกันว่า “ตำบลสนามควาย” มาจนถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อสร้างถนนออกไปสวนดุสิต

เมื่อจะเอาสำนักงานกรมช้างมารวมอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ได้ จึงต้องจัดการกรมช้างแยกออกเป็น ๒ ภาค ภาคหนึ่งเรียกว่า “กรมช้างต้น” ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯ สำหรับเลี้ยงรักษาช้างทรง กับฝึกหัดการขับขี่ช้างศึกและอำนวยการพิธีคชกรรมต่างๆ อีกภาคหนึ่งเรียกว่า “กรมโขลง” คงตั้งสำนักงานอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา และมีสาขาอยู่ ณ นครนายก สำหรับดูแลรักษาช้างโขลงหลวงและเลี้ยงช้างต่อ กับทั้งอำนวยการจับช้างเถื่อนและฝึกหัดช้างที่จับได้ด้วย เมื่อกรมช้างแยกเป็น ๒ ภาคตั้งสำนักงานอยู่ห่างไกลกันเช่นนั้น ก็เป็นปัจจัยไปถึงกาลต่างๆ ในกรมช้างเปลี่ยนแปลง เป็นต้นว่าการที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปเที่ยวโพนช้าง หรือทรงคล้องช้างที่เพนียดก็เลิก แม้เพียงเสด็จไปทอดพระเนตรคล้องช้างที่เพนียดก็มิได้เสด็จไป เพราะทางไกลจะต้องประทับแรม จนถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างวังจันทร์เกษมขึ้นใหม่แล้ว ถึงเวลาจับช้างที่เพนียดจึงเสด็จขึ้นไปประทับแรมวังจันทร์ฯ ทอดพระเนตรจับช้างต่อมา การกรมช้างต้นที่มาตั้งราชธานีใหม่ก็ลดลง คงมีช้างเพียงสัก ๓ เชือกเหมือนอย่างสำหรับประดับพระเกียรติยศ เพราะการไปมาใช้พาหนะเรือเป็นพื้น มิใคร่มีกิจที่จะต้องใช้ช้าง การทำพิธีคชกรรมก็หมดตัวพวกพราหมณ์พฤฒิบาศชาวอินเดีย ที่รู้ภาษาสันสกฤต ยังมีแต่พราหมณ์ชั้นเชื้อสายซึ่งเคยทำพิธี และร่ายมนตร์ได้ด้วยไม่รู้ภาษาของมนตร์ แต่ไทยที่รู้คชศาสตร์จนชำนิชำนาญ ตลอดจนช้างที่จะใช้ในการศึกสงคราม ยังมีอยู่ในเมืองไทยมาก เพราะครั้งนั้นเสียแต่พระนครศรีอยุธยากับหัวเมืองที่อยู่รอบราชธานี หัวเมืองใหญ่น้อยที่อยู่ห่างออกไปทั้งทางปักษ์ใต้และฝ่ายเหนือยังมีกำลัง พระเจ้ากรุงธนบุรีและพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงสามารถรวบรวมกำลังรบชนะข้าศึก จนกลับตั้งเมืองไทยเป็นอิสระได้อย่างเดิม แต่ต้องทำการศึกอยู่ตลอดสมัยกรุงธนบุรี และต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อีกหลายปี จึงถึงเวลาเป็นโอกาสที่จะจัดแบบแผนปกครองบ้านเมืองด้วยประการต่างๆ พึงเห็นได้ดังสังคายนาพระไตรปิฎก และตั้งพระราชกำหนดกฎหมายเป็นต้น

เรื่องตำนานกรมช้างที่ตั้งขึ้นใหม่ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ปรากฏว่าเมื่อรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ข้าราชการเก่าที่ชำนาญคชศาสตร์ ๒ คน ชื่อว่า “บุญรอด” อันเป็นต้นสกุล “บุณยรัตพันธ์” บัดนี้คนหนึ่ง เป็นบุตรพระยามนเทียรบาล จตุสดมภ์กรมวังวังหน้า สกุลเป็นเชื้อพราหมณ์พฤฒิบาศ ได้ศึกษาวิชาคชกรรมแต่ยังหนุ่ม จนฐานะเป็นหมอเฒ่า แล้วจึงไปรับราชการกรมวัง พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งให้เป็นพระยาธรรมาฯ จตุสดมภ์กรมวัง ถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาธรรมาฯ แต่ไปเกิดผิดด้วยความประมาทเมื่อไปตั้งขัดตาทัพพม่าอยู่ ณ เมืองราชบุรี ถูกถอดจากที่เจ้าพระยาธรรมาฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริว่าเป็นผู้ชำนาญคชกรรม จึงทรงตั้งให้เป็นพระยาเพทราชา สมุหพระคชบาลซ้ายคนแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ต่อมาโปรดให้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช กลับไปรับราชการกรมวังอย่างเดิม เพราะเป็นผู้ชำนาญแบบแผนราชสำนักไม่มีตัวเสมอ อีกคนหนึ่งชื่อ “จันทร์” ต้นสกุล “จันทโรจน์วงศ์” บัดนี้ เป็นบุตรเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ รั้งรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ได้ศึกษาวิชาคชศาสตร์แล้ว จึงได้เป็นที่หลวงฤทธิ์นายเวรในกรมมหาดเล็ก เมื่อเสียพระนครศรีอยุธยา หนีรอดได้ไปอาศัยหลวงนายสิทธิ์ซึ่งเป็นปลัดผู้รั้งราชการอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราช เพราะภรรยาเป็นหลานหลวงนายสิทธิ์ ครั้นหลวงนายสิทธิ์ตั้งตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน จึงตั้งหลวงนายฤทธิ์ (จันทร์) ให้เป็นเจ้าอุปราชอาณาเขตนครศรีธรรมราช เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช จับได้ทั้งหลวงนายสิทธิ์และหลวงนายฤทธิ์ แต่ทรงพระกรุณาตรัสว่า ถึงได้รบพุ่งกันก็หามีความผิดต่อพระองค์ไม่ เพราะต่างคนต่างตั้งตัวเป็นใหญ่เมื่อเวลาบ้านแตกเมืองเสียอย่างเดียวกัน เมื่อยอมอ่อนน้อมแล้วก็โปรดให้เข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี ทรงตั้งหลวงนายฤทธิ์ (จันทร์) เป็นพระยาราชวังเมืองเจ้ากรมพระคชบาล ถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เห็นจะเป็นเมื่อเลื่อนพระยาเพทราชา (บุญรอด) เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนพระยาราชวังเมือง (จันทร์) ขึ้นเป็นพระยาสุรินทราชาฯ ตำแหน่งสมุหพระคชบาลขวา ซึ่งเป็นคู่กับพระยาเพทราชาตามทำเนียบ แต่ต่อมาหัวเมืองทางแหลมมลายูจะส่งดีบุกเข้ามาไม่ทันใช้ราชการ ทรงพระราชดำริว่าพระยาสุรินทราชา เคยรู้การบ้านเมืองทางแหลมมลายู จึงโปรดให้เป็นข้าหลวงใหญ่ (ทำนองเดียวกับสมุหเทศาภิบาล) ลงไปกำกับการส่งส่วยดีบุกอยู่ที่เมืองถลาง ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี (ปลี) ถึงอสัญกรรม จะโปรดให้พระยาสุรินทราชา เลื่อนขึ้นเป็นอัครมหาเสนาบดี ที่สมุหพระกลาโหม แต่พระยาสุรินทราชากราบทูลขอตัว ด้วยว่าแก่ชราปลกเปลี้ยเสียมากแล้ว จึงโปรดให้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุรินทราชา อยู่ที่เมืองถลางตามใจสมัครจนถึงอสัญกรรม

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) กับเจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์) เป็นต้นของกรมช้างในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ และปรากฏว่าทั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ ทรงศึกษาวิชาคชกรรมทุกพระองค์ ก็ทรงศึกษาต่อเจ้าพระยาทั้งสองคนที่กล่าวมาแล้ว ปรากฏว่าในพระเจ้าลูกยาเธอ รัชกาลที่ ๑ ซึ่งทรงศึกษาคชศาสตร์นั้น พระองค์เจ้าอภัยทัต ทรงรอบรู้ยิ่งกว่าพระองค์อื่น จนถึงได้ครอบเป็น “หมอช้าง” ด้วยความสามารถ เมื่อทรงสถาปนาให้เป็นกรม “กรมหมื่นเทพพลภักดิ์” (ถึงรัชกาลที่ ๓ เลื่อนเป็นกรมหลวง) แล้วโปรดให้เสด็จขึ้นไปเป็นแม่กองปฏิสังขรณ์เพนียด และจัดบำรุงการจับช้างที่พระนครศรีอยุธยา ถึงรัชกาลที่ ๒ ก็เลยได้เป็นอธิบดีกรมพระคชบาล ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้เจ้านายกำกับราชการต่างๆ มาแต่ต้นรัชกาลที่ ๒ จนสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ ตามคำชาวพระนครศรีอยุธยาเล่าสืบกันมา ว่ากรมหลวงเทพพลภักดิ์ เอาเป็นพระธุระบำรุงการกรมช้างมาก ให้สร้างตำหนักขึ้นที่เพนียดและเสด็จขึ้นไปประทับอยู่ที่นั่นเนืองๆ จนนับถือกันทั่วไปว่าเป็นพระอาจารย์ใหญ่ในคชศาสตร์ เรียกกันมาจนทุกวันนี้ว่า “กรมหลวงเฒ่า” และสร้างเทวาลัยเฉลิมพระเกียรติขึ้นไว้ข้างด้านเหนือเพนียด เรียกว่า “ศาลกรมหลวงเฒ่า” เป็นที่พวกกรมช้างบูชาขอพรเมื่อจะมีการจับช้างสืบมาจนบัดนี้ แบบแผนในการจับช้างที่เพนียดเช่นใช้ต่อมาในกรุงรัตนโกสินทร์ ล้วนเป็นของกรมหลวงเทพพลภักดิ์ได้ทรงปรับปรุงไว้ทั้งนั้น ถึงรัชกาลที่ ๒ พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าไกรสร ซึ่งได้เป็นกรมหมื่นรักษ์รณเรศ (และเลื่อนเป็นกรมหลวงเมื่อรัชกาลที่ ๓) เป็นพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดากับกรมหลวงเทพพลภักดิ์ ทรงศึกษารู้วิชาคชศาสตร์อีกพระองค์หนึ่ง ถึงรัชกาลที่ ๓ มีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ กับเจ้าฟ้ากลาง (คือสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ เป็นพระโอรสร่วมพระชนนีกัน) และพระองค์เจ้าอิศราพงศ์ ราชบุตรของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ (ซึ่งเลื่อนเป็นเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ ๔ เพราะพระชนนีเป็นราชธิดาของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล รัชกาลที่ ๑) ทรงศึกษาวิชาคชศาสตร์จากกรมหลวงเทพพลภักดิ์ ต่อมาอีก ๔ พระองค์ เมื่อกรมหลวงเทพพลภักดิ์สิ้นพระชนม์ กรมหลวงรักษ์รณเรศได้เป็นอธิบดีกรมพระคชบาล เจ้าฟ้าอาภรณ์เป็นผู้ช่วย แต่สิ้นพระชนม์เสียเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๓ ทั้ง ๒ พระองค์ ถึงรัชกาลที่ ๔ สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา (คือเจ้าฟ้ากลาง ซึ่งภายหลังเป็นกรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์) ก็ได้เป็นอธิบดีกรมพระคชบาลมาจนสิ้นพระชนมายุในรัชกาลที่ ๕ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ก็ได้เป็นอธิบดีกรมช้างวังหน้าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่จนสิ้นพระชนม์ในรัชกาลนั้น

ลักษณะการจับช้างหลวงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จะผิดกับสมัยกรงศรีอยุธยาอย่างไรบ้าง รู้ไม่ได้หมด เพราะกรมช้างเดิมกระจัดกระจายหมดเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา มารวบรวมจัดขึ้นใหม่เมื่อตั้งกรุงธนบุรี ฉันสงสัยว่าวิธีคล้องช้างอย่างเก่า ก็จะสูญไปในสมัยนั้นอย่างหนึ่งซึ่งเรียกว่า “ทิ้งเชือกบาศ” ด้วยเคยเห็นรูปภาพและคำพรรณนาในหนังสือเก่า วิธีคล้องช้างแต่ก่อนมามี ๒ อย่าง เรียกว่า “ทิ้งเชือกบาศ” อย่างหนึ่ง ว่า “วางเชือกบาศ” อย่างหนึ่ง ฉันไม่เคยเห็นทิ้งเชือกบาศ แต่เข้าใจว่าวิธีทิ้งเชือกบาศนั้น คือหย่อนหรือขว้างบ่วงเชือกบาศไปจากคอช้างต่อให้สวมติดตีนหลังช้างเถื่อนคล้ายกับที่เช่นฝรั่งเรียก Lassoing ที่พวกอเมริกันคล้องม้าและวัวเถื่อน วิธีวางเชือกบาศนั้น เอาเงื่อนบ่วงเชือกบาศสอดกับปลายไม้รวกอันหนึ่ง ยาวสัก ๖ ศอก เรียกว่า “คันจาม” เมื่อจับอย่าง “วังช้าง” อันมีเสาค่ายพรางบังตัวคน คนคล้องอยู่กับแผ่นดินถือคันจาม ยื่นปลายบ่วงบาศสอดหว่างเสาค่ายเข้าไปวางดักให้ช้างเถื่อนเหยียบลงในวงบ่วง ก็กระชากเงื่อนให้บ่วงเชือกบาศสวมติดข้อตีนช้าง ถ้าโพนช้าง คนคล้องจะอยู่บนคอช้างต่อ ใช้วิธีวางเชือกบาศถือคันจาม ให้ควาญท้ายขับช้างต่อวิ่งติดท้ายช้างเถื่อน คนขี่คอสอดปลายคันจามลงไปวางบ่วงเชือกบาศตรงที่ช้างเถื่อนเหยียบแผ่นดิน แล้วทิ้งคันจามเสียก็ได้ หรือใช้วิธีทิ้งเชือกบาศก็ได้ตามถนัด สังเกตดูในหนังสือเก่าซึ่งว่าด้วยพระเจ้าแผ่นดินทรงคล้องช้าง กิริยาที่คล้องก็ใช้แต่ว่า “ทรงบาศ” หรือให้ “ถวายเชือกบาศ” ไม่มีกล่าวถึงไม้คันจามเลย แม้จนในหนังสือชั้นหลังมา ซึ่งว่าด้วยเจ้านายหัดทรงช้างในรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ ก็ว่า “หัดทรงทิ้งเชือกบาศ” ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์เวลาเย็นๆ ทุกวัน ดังนี้ แต่ถึงสมัยตัวฉันเกิดทันได้เห็นก็เห็นแต่คล้องอย่าง “วางเชือกบาศ” อย่างเดียว แม้พวกผู้เชี่ยวชาญในกรมช้างคล้องช้างในเพนียด ก็คล้องแต่ด้วยใช้ไม้คันจาม จึงนึกว่าวิธีทิ้งเชือกบาศ จะหมดตัวคนทิ้งแม่นเสียแล้วแต่เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา เพราะคงคล้องยากกว่าวางเชือกบาศ และต้องทำเชือกบาศให้อ่อนนุ่มกว่า แต่เหนียวเท่ากับเชือกบาศทำด้วยหนังวัวควายที่ใช้กันเป็นสามัญ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายที่สูงศักดิ์ไม่ทรงคล้องช้างเองแล้ว ก็เลยเลิกคล้องอย่างทิ้งเชือกบาศ จะเป็นอย่างนั้นดอกกระมัง วิชาใช้ช้างมีเสื่อมลงอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง แต่ค่อยเสื่อมมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วช้านาน คือวิธี “รบบนหลังช้าง” ดังเช่นขี่ช้างชนกันตัวต่อตัวซึ่งเรียกกันว่า “ยุทธหัตถี” อันนับถือว่ามีเกียรติอย่างสูงสุดในวิชาขี่ช้างก็ดี วิธีขี่ช้างผูกเครื่องมั่นหลังเปล่าเข้าไล่แทงรี้พล และรื้อค่ายของข้าศึกก็ดี วิธีให้ทหารถือธนูขึ้นอยู่ในสัปคับช้างเขนไล่ยิงข้าศึกก็ดี วิธีรบเหล่านี้เริ่มเสื่อมลงด้วยมีอาวุธปืนไฟเกิดขึ้นในโลก ช้างทนปืนไฟไม่ไหวก็ต้องเลิกใช้ช้างสู้ปืน แต่เมื่อมีปืนขึ้นแล้ว กว่าคนจะรู้จักใช้ยังช้านานมาก การรบกันบนหลังช้างจึงค่อยเสื่อมมาโดยลำดับ ข้อนี้มีอุทาหรณ์จะพึงสังเกตได้ในเรื่องพงศาวดารเมืองไทยนี้เอง เมื่อครั้งพระเจ้ารามคำแหงฯ ชนช้างกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ในเรือน พ.ศ. ๑๘๐๐ ปืนไฟยังไม่เกิด ชนช้างกันตามแบบโบราณ แพ้ชนะกันตัวต่อตัว ต่อมาอีก ๓๐๐ ปี สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงชนช้างกับพระมหาอุปราชเมืองหงสาวดี เมื่อ ฑ.ศ. ๒๑๓๕ เป็นเวลามีปืนไฟแล้ว แม้มีแต่ปืนเล็กอยู่ในสนามรบ ควาญท้ายช้างพระที่นั่งทรงและคนกลางช้างของสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็ถูกปืนตาย แม้ที่สุดพระองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเอง ก็ถูกปืนที่พระหัตถ์ เป็นบุญที่ถูกปืนเมื่อฟันพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์แล้ว จึงได้ชัยชนะ สังเกตดูในหนังสือพงศาวดาร ตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงชนช้างครั้งนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครได้ทำยุทธหัตถีกันอีกทั้งในเมืองไทยหรือประเทศที่ใกล้เคียง แต่ประหลาดอยู่ที่ไทยเรายังมีโอกาสได้รบด้วยช้างมาจนในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๘ ไทยรบกับญวนที่เมืองเขมร เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงหเสนี) แม่ทัพไทยตั้งอยู่ ณ เมืองอุดง ให้กองทัพหน้าลงไปตั้งอยู่ที่เมืองพนมเปญ พอถึงฤดูน้ำ ญวนใช้เรือรบได้สะดวก ก็ยกกองทัพเรือเป็นขบวนใหญ่ขึ้นมาจากเมืองไซ่ง่อน ตีได้เมืองพนมเปญอันอยู่ที่ลุ่ม แล้วยกขึ้นมาตีเมืองอุดง เจ้าพระยาบดินทรไม่มีเรือรบพอจะต่อสู้กับกองทัพญวน จึงคิดอุบายให้รวมช้างรบบรรดามีกับพลราบตั้งซุ่มไว้ที่ในเมือง ปล่อยให้ญวนจอดเรือส่งทหารขึ้นบกได้โดยสะดวก พอญวนขึ้นอยู่บนบกแล้วก็เปิดประตูเมือง ให้ช้างรบออกเที่ยวไล่แทงข้าศึก (ดูเป็นทำนองเดียวกับที่ฝรั่งคิดใช้ “ถัง” Tank) ให้ทหารราบตามติดท้ายช้างไป ก็ตีทัพญวนแตกในเวลากำลังหนีช้าง ที่เหลือตายลงเรือได้ก็เลยถอยกองทัพเรือล่าหนีไป ดูเหมือนเมืองอุดงได้ชื่อต่อท้ายว่า “เมืองอุดงลือชัย” มาแต่ครั้งนั้น

ไม่แต่ในเมืองไทย ถึงในประเทศไหนๆ ที่เคยใช้ช้างในการรบมาแต่โบราณ ตั้งแต่มีปืนไฟ การใช้ช้างรบก็เสื่อมลงทุกประเทศ เปลี่ยนการใช้ช้างเป็นพาหนะเป็นพื้น ในเมืองไทยก็เช่นเดียวกัน วิชาจับช้างใช้จึงเป็นดังจะพรรณนาโดยพิสดารในนิทานเรื่องจับช้างภาคหลังต่อไป.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ