นิทานที่ ๑๐ เรื่องความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์

(๑)

หัวเมืองที่ขึ้นชื่อลือเลื่องว่ามีความไข้ Malaria ร้ายกาจ แต่ก่อนมามีหลายเมือง เช่นเมืองกำแพงเพชร และเมืองกำเนิดนพคุณ คือบางตะพานเป็นต้น แต่ที่ไหนๆ คนไม่ครั่นคร้ามเท่าความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์ ดูเป็นเข้าใจกันทั่วไป ว่าถ้าใครไปเมืองเพชรบูรณ์ เหมือนกับไปแส่หาความตาย จึงไม่มีชาวกรุงเทพฯ หรือชาวเมืองอื่นๆ พอใจจะไปเมืองเพชรบูรณ์มาช้านาน แม้ในการปกครอง รัฐบาลก็ต้องเลือกหาคนในท้องถิ่นตั้งเป็นเจ้าเมืองกรมการ เพราะเหตุที่คนกลัวความไข้ เมื่อแรกฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ก็ต้องปล่อยให้เมืองเพชรบูรณ์กับเมืองอื่นในลุ่มแม่น้ำสักทางฝ่ายเหนือ คือเมืองหล่มสัก และเมืองวิเชียร เป็นอยู่อย่างเดิมมาหลายปี เพราะจะรวมเมืองเหล่านั้นเข้ากับมณฑลพิษณุโลกหรือมณฑลนครราชสีมา ที่เขตต่อกันก็มีเทือกเขากั้น สมุหเทศาภิบาลจะไปตรวจตราลำบากทั้ง ๒ ทาง อีกประการหนึ่ง เมื่อแรกฉันจัดการปกครองหัวเมือง มณฑลต่างๆ ขอคนออกไปรับราชการ ฉันยังหาส่งไปให้ไม่ทัน เมืองทางลำน้ำสักมีเมืองเพชรบูรณ์เป็นต้น ไม่มีใครสมัครไป ด้วยกลัวความไข้ดังกล่าวมาแล้ว จึงต้องรอมา

มามีความจำเป็นเกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๐ ด้วยตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ว่างลง ฉันหาคนในกรุงเทพฯ ไปเป็นเจ้าเมืองไม่ได้ เลือกดูกรมการในเมืองเพชรบูรณ์เอง ที่จะสมควรเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่มี นึกว่ามณฑลพิษณุโลกมีท้องที่ความไข้ร้ายหลายแห่ง บางทีจะหาข้าราชการในมณฑลนั้นที่คุ้นกับความไข้ไปเป็นเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ได้ เวลานั้นเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เมื่อยังเป็นที่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ฉันเคยเห็นท่านถนัดเลือกคนใช้ จึงถามท่านว่าจะหาข้าราชการในมณฑลพิษณุโลก ที่มีความสามารถพอจะเป็นเจ้าเมือง และไม่กลัวความไข้เมืองเพชรบูรณ์ ให้ฉันสักคนจะได้หรือไม่ ท่านขอไปตริตรองแล้วมาบอกว่า มีอยู่คนหนึ่งเป็นที่พระสงครามภักดี (ชื่อเฟื่อง) นายอำเภอเมืองน้ำปาด ดูลาดเลามีสติปัญญา และเคยไปรับราชการตามหัวเมืองที่มีความไข้ เช่นเมืองหลวงพระบาง และแห่งอื่นๆ หลายแห่ง เวลานั้นเป็นนายอำเภอที่เมืองน้ำปาดก็อยู่ในแดนความไข้ เห็นจะพอเป็นเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ได้ ฉันเรียกพระสงครามภักดีลงมากรุงเทพฯ พอแลเห็นก็ประจักษ์ใจว่าแกเคยคุ้นกับความไข้ เพราะผิวเหลืองผิดกับคนสามัญ ดูราวกับว่าโลหิตเต็มไปด้วยตัวไข้มาลาเรีย จึงอยู่คงกับความไข้ ฉันไถ่ถามได้ความว่าเป็นชาวกรุงเทพฯ แต่ขึ้นไปทำมาหากินอยู่เมืองเหนือตั้งแต่ยังหนุ่ม เคยอาสาไปทัพฮ่อทางเมืองหลวงพระบางและที่อื่นๆ มีความชอบ เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ จึงชวนเข้ารับราชการมาจนได้เป็นที่พระสงครามภักดี ฉันซักไซ้ต่อไปถึงความคิดการงาน ดูก็มีสติปัญญาสมดังเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ บอก จึงให้พระสงครามภักดีขึ้นไปเป็นผู้รั้งราชการเมืองเพชรบูรณ์ แกไปถึงพอเรียนรู้ความเป็นไปในท้องที่แล้ว ก็ลงมือจัดการปกครองตามแบบมณฑลพิษณุโลก บ้านเมืองมีความเจริญขึ้น พระสงครามภักดีก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นที่พระยาเพชรรัตนสงคราม ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เต็มตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒

การที่พระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) สามารถจัดระเบียบแบบแผนปกครองเมืองเพชรบูรณ์สำเร็จนั้น เป็นมูลให้ต้องปรารภต่อไปถึงเมืองหล่มสักและเมืองวิเชียรบุรี ที่อยู่ลุ่มลำน้ำสักด้วยกัน เห็นว่าถึงเวลาควรจะจัดการปกครองให้เข้าแบบแผนด้วย แต่จะเอาหัวเมืองทางลำน้ำสักไปเข้าในมณฑลใด ก็ขัดข้องด้วยทางคมนาคมดังกล่าวมาแล้ว จะปกครองได้สะดวกอย่างเดียวแต่รวมหัวเมืองในลุ่มน้ำสัก ๓ เมือง แยกเป็นมณฑลหนึ่งต่างหาก จึงตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้น (ดูเหมือน) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ ผู้ที่จะเป็นสมุหเทศาภิบาลเพชรบูรณ์ก็ไม่มีผู้อื่นอยากเป็น หรือจะเหมาะเหมือนพระยาเพชรรัตนฯ (เฟื่อง) เพราะอยู่คงความไข้ และได้แสดงคุณวุฒิให้ปรากฏแล้วว่าสามารถจะปกครองได้ พระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) ก็ได้เป็นสมุหเทศาภิบาล แต่แรกคนทั้งหลายอยู่ข้างจะประหลาดใจ ด้วยสมุหเทศาภิบาลมณฑลอื่น ล้วนเป็นเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่อันปรากฏเกียรติคุณแพร่หลาย แต่มิใคร่รู้จักพระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) เพราะแกเคยรับราชการอยู่แต่ในท้องที่ลับลี้ห่างไกล คนเห็นสมุหเทศาภิบาลแปลกหน้าขึ้นใหม่ก็พากันพิศวง แต่เมื่อแกได้เข้าสมาคมในกรุงเทพฯ ไม่ช้าเท่าใดก็ปรากฏเกียรติคุณ เช่นนั่งในที่ประชุมสมุหเทศาภิบาล เพื่อนสมุหเทศาภิบาลด้วยกันก็เห็นว่าเป็นคนมีสติปัญญาสมควรแก่ตำแหน่ง แม้ผู้อื่นที่ในสมาคมข้าราชการ พอได้คุ้นเคยเห็นมารยาทและกิริยาอัชฌาสัย ก็รู้ตระหนักว่าเป็นผู้ดีมิใช่ไพร่ได้ดี ก็ไม่มีใครรังเกียจ แม้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อดำรัสถามถึงราชการต่างๆ ในมณฑลเพชรบูรณ์ แกกราบทูลชี้แจงก็โปรด และยังทรงพระเมตตาเพราะเป็นสหชาติเกิดร่วมปีพระบรมราชสมภพด้วยอีกสถานหนึ่ง แต่สง่าราศีของพระยาเพชรรัตนฯ (เฟื่อง) ดูเหมือนจะอยู่ที่ผิวแกเหลืองผิดกับผู้อื่นนั้นเป็นสำคัญ ใครเห็นก็รู้ว่าแกได้ดีเพราะได้ลำบากตรากตรำทำราชการเอาชีวิตสู้ความไข้มาแต่หนหลัง อันนี้เป็นเครื่องป้องกันความบกพร่องยิ่งกว่าอย่างอื่น แต่พระยาเพชรรัตนฯ (เฟื่อง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลเพชรบูรณ์อยู่ได้เพียง ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๔๖ เข้ามาเฝ้าในกรุงเทพฯ เมื่องานฉลองพระชนมายุครบ ๕๐ ปี ก็มาเป็นอหิวาตกโรคถึงอนิจกรรม สิ้นบุญเพียงอายุ ๕๐ ปีเท่านั้น ใครรู้ก็อนาถใจ ด้วยเห็นว่าแกเพียรต่อสู้ความไข้ ชนะโรคมาลาเรียแล้วมาแพ้ไข้อหิวาตกโรคง่ายๆ เพราะไม่ได้เตรียมตัวต่อสู้มาแต่หนหลัง มีคนพากันเสียดาย

(๒)

เมื่อพระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลเพชรบูรณ์ เคยปรารภกับฉันเนืองๆ ว่า การปกครองมณฑลเพชรบูรณ์ไม่สู้ยากนัก เพราะราษฎรเป็นคนเกิดในมณฑลนั้นเองแทบทั้งนั้น ชอบแต่ทำมาหากิน มิใคร่เป็นโจรผู้ร้าย บังคับบัญชาก็ว่าง่าย ราชการในมณฑลนั้นมีความลำบากเป็นข้อสำคัญแต่หาคนใช้ไม่ได้พอการ เพราะคนในพื้นเมืองยังอ่อนแก่การศึกษา คนมณฑลอื่นก็มิใคร่มีใครยอมไปด้วยกลัวความไข้ จะจัดทำอะไรจึงมักติดขัดด้วยไม่มีคนจะทำ ที่จริงความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์ก็มีแต่เป็นฤดู มิได้มีอยู่เสมอ สังเกตดูอาการไข้ก็ไม่ร้ายแรงถึงอย่างยิ่งยวด ความไข้ทางเมืองหลวงพระบาง หรือแม้ในมณฑลพิษณุโลกทางข้างเหนือร้ายกว่าเป็นไหนๆ แต่มิรู้ที่จะ ทำอย่างไรให้คนหายกลัวไข้เมืองเพชรบูรณ์ได้ ฉันพูดว่าตัวฉันเองก็ลำบากในเรื่องหาคนไปรับราชการมณฑลเพชรบูรณ์เหมือนกัน ได้เคยคิดทำอุบายที่จะระงับความไข้เมืองเพชรบูรณ์เหมือนกัน เห็นว่าตัวฉันจะต้องขึ้นไปเมืองเพชรบูรณ์เอง ให้ปรากฏเสียสักครั้งหนึ่ง คนอื่นจึงจะหายกลัว ด้วยเห็นว่าความไข้คงไม่ร้ายแรงถึงอย่างเช่นกลัวกัน ฉันจึงกล้าไป ถึงจะยังมีคนกลัว ชักชวนก็ง่ายขึ้น ด้วยอาจอ้างตัวอย่างว่าแม้ตัวฉันก็ได้ไปแล้ว พระยาเพชรรัตนฯ ชอบใจว่าถ้าฉันไปคนก็เห็นจะหายกลัวได้จริง ถามพระยาเพชรรัตนฯ ถึงทางที่จะไปมณฑลเพชรบูรณ์ แกบอกว่าไปได้หลายทาง ที่ไปได้สะดวกนั้นมี ๓ ทาง คือไปเรือในแม่น้ำสักทางหนึ่ง ไปจากกรุงเทพฯ ราว ๓๐ วันถึงเมืองเพชรบูรณ์ อีกทางหนึ่งจะเดินบกจากเมืองสระบุรีหรือเมืองลพบุรีก็ได้ เดินทางราว ๑๐ วันถึงเมืองเพชรบูรณ์ แต่ว่าหนทางอยู่ข้างลำบากและไม่มีอะไรน่าดู ทางที่ ๓ นั้นไปเรือ มีเรือไฟจูงจากกรุงเทพฯ ราว ๗ วัน ไปขึ้นเดินบกที่อำเภอบางมูลนาค แขวงจังหวัดพิจิตร เดินบกอีก ๔ วันถึงเมืองเพชรบูรณ์ และว่าทางนี้สะดวกกว่าทางอื่น แต่การที่ฉันจะไปเมืองเพชรบูรณ์ต้องกะเวลาให้เหมาะด้วย คือควรไปในฤดูแล้งเมื่อแผ่นดินแห้งพ้นเขตความไข้แล้ว แต่ต้องเป็นแต่ต้นฤดูแล้งเมื่อน้ำยังไม่ลดมากนัก ทางเรือจึงจะสะดวก ไปในเดือนมกราคมเป็นเหมาะกว่าเดือนอื่น แต่ฝ่ายตัวฉันยังมีข้ออื่นที่จะต้องคิดอีก คือจะต้องหาโอกาสว่างราชการในเดือนมกราคมให้ไปอยู่หัวเมืองได้สักเดือนหนึ่ง เมื่อปรึกษากับพระยาเพชรรัตนสงครามแล้ว ฉันยังหาโอกาสไม่ได้ต้องเลื่อนกำหนดมาถึง ๒ ปี ในระหว่างนั้น พระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) ถึงอนิจกรรม ก็ไม่ได้ไปด้วยดังนัดกันไว้ ฉันมาได้โอกาสไปเมืองเพชรบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ กะว่าจะไปทางเรือจนถึงบางมูลนาค แล้วขึ้นเดินบกไปเมืองเพชรบูรณ์และเมืองหล่มสัก ขากลับจะลงเรือที่เมืองหล่มสัก ล่องลำแม่น้ำสักมายังเมืองวิเชียรบุรีแล้วเลยลงมาจนถึงเมืองสระบุรี ขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพฯ

พอข่าวปรากฏว่าฉันเตรียมตัวจะไปเมืองเพชรบูรณ์ ก็มีพวกพ้องพากันมาให้พร คล้ายกับจะส่งไปทัพบ้าง มาห้ามปรามโดยเมตตาปรานี ด้วยเห็นว่าไม่พอที่ฉันจะไปเสี่ยงภัยบ้าง ผิดกับเคยไปไหนๆ มาแต่ก่อน ฉันบอกว่าเป็นราชการจำที่จะต้องไปและได้ทูลลาเสร็จแล้ว ที่ห้ามปรามก็เงียบไป แต่ส่วนพระองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนั้น ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย ตั้งแต่ฉันกราบทูลความคิดที่จะไปมณฑลเพชรบูรณ์ ตรัสว่า “ไปเถิด อย่ากลัว สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ของเราท่านก็เสด็จไปแล้ว” ในเวลานั้นตัวฉันเองตั้งแต่เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ไปตามหัวเมืองต่างๆ เคยผ่านป่าดง แม้ที่ว่าไข้ร้ายมาหลายครั้งแล้ว ไม่รู้สึกครั่นคร้ามอย่างไร แต่ประหลาดอยู่ที่พอรู้กันว่าฉันจะไปเมืองเพชรบูรณ์เป็นแน่ ก็มีผู้มาขอไปเที่ยวด้วยหลายคน แม้พวกที่ฉันเลือกเอาไปช่วยธุระหรือใช้สอยก็สมัครไปด้วยยินดี ไม่เห็นมีใครครั่นคร้าม คงเป็นด้วยอุ่นใจ คล้ายกับจะเข้าไปยังที่ซึ่งเขาว่าผีดุ ไม่มีใครกล้าไปคนเดียว แต่พอมีเพื่อนไปด้วยหลายคน ก็หายกลัวผีไปเอง

(๓)

ฉันออกเรือจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ช้าไปสัก ๑๕ วัน น้ำในแม่น้ำตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาขึ้นไป ลดงวดลงเสียมาก แม้เรือไฟที่จูงเรือพ่วง เป็นอย่างกินน้ำตื้นก็ลำบาก ต้องเดินเรือถึง ๘ วัน จึงถึงอำเภอบางมูลนาค แขวงจังหวัดพิจิตร ที่จะขึ้นเดินทางบก เทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก จัดพาหนะและคนหาบของเตรียมไว้แล้ว พอฉันขึ้นไปถึง ก็มีพวกที่ถูกเกณฑ์จ้างหาบของเข้ามาวิงวอนขอให้ใช้ไปทางอื่น อย่าให้ต้องไปเมืองเพชรบูรณ์ เพราะกลัวความไข้ ฉันประหลาดใจที่คนเหล่านั้นอยู่ใกล้ๆ กับเมืองเพชรบูรณ์ ไฉนจึงกลัวไข้ถึงปานนั้น สืบถามได้ความว่าพวกชาวจังหวัดพิจิตรที่อยู่ตอนริมน้ำ เคยเดินป่าไปทำมาหากินแต่ทางฝ่ายตะวันตก จนถึงเมืองกำแพงเพชร และเมืองสุโขทัย น้อยคนที่จะได้เคยไปทางฝ่ายตะวันออก ห่างลำแม่น้ำไปกว่าวันเดียว เพราะเคยได้ยินเลื่องลือถึงความไข้เมืองเพชรบูรณ์ กลัวกันมาเสียช้านาน ฉันก็ได้แต่ชี้แจงแก่พวกที่มาขอตัว ว่าขอให้คิดดูเถิด ตัวฉันเองถึงเป็นเจ้าก็เป็นมนุษย์ อาจจะเจ็บอาจจะตายได้เหมือนกับพวกเขา ที่ฉันจะไปเมืองเพชรบูรณ์ก็เพื่อจะไปทำราชการของพระเจ้าอยู่หัว มิใช่จะไปหาความสุขสนุกสบายสำหรับตัวเอง พวกเขาก็เป็นข้าแผ่นดินเหมือนกับตัวฉัน มาช่วยกันทำราชการสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัวสักคราวเป็นไร อีกประการหนึ่งฉันไม่ได้คิดจะเอาพวกเขาไปจนถึงเมืองเพชรบูรณ์ จะให้ไปส่งเพียงปลายแดนจังหวัดพิจิตร ทางเพียง ๓ วันเท่านั้นก็จะได้กลับมาบ้าน ฉันจะดูแลป้องกันมิให้ไปเจ็บไข้ในกลางทาง อย่าวิตกเลย พวกนั้นได้ฟังก็ไม่กล้าขอตัวต่อไป แต่สังเกตดูเมื่อเดินทางไปไม่เห็นมีใครหน้าตาเบิกบาน คงเป็นเพราะยังกลัวอยู่ไม่หาย แต่เมื่อเดินทางไป ๒ วัน พอถึงบ้านตำปางที่ในป่าก็ไปเกิดประหลาดใจด้วยไปพบราษฎรที่มีความนิยมตรงกันข้าม หมู่บ้านเหล่านั้นก็อยู่ในแดนจังหวัดพิจิตร แต่ชาวบ้านชอบไปทำมาหากินแต่ทางฝ่ายตะวันออกจนถึงเมืองเพชรบูรณ์ เมืองหล่มสักและเมืองวิเชียร แต่ไม่ชอบลงไปทางริมแม่น้ำเช่นที่บางมูลนาคเป็นต้น ด้วยเกรงความไข้ในที่ลุ่ม คนที่ได้ไปแล้วคนหนึ่งบอกฉันว่าเคยไปขี่เรือครั้งหนึ่ง พอเรือออกเวียนหัวทนไม่ไหว แต่นั้นก็ไม่กล้าลงเรืออีก ดูประหลาดนักหนา คนอยู่ห่างกันเพียงทางเดิน ๒ วัน ภูเขาเลากาอะไรก็ไม่มีคั่น ความนิยมกลับตรงกันข้ามถึงอย่างนั้น

ระยะทางบกแต่บางมูลนาคไปถึงเมืองเพชรบูรณ์ราว ๓,๐๐๐ เส้น เดินทางในฤดูแล้งเมื่อแผ่นดินแห้งแล้วไม่ลำบากอย่างไร ออกจากบางมูลนาคเป็นที่ลุ่มราบ ซึ่งน้ำท่วมในฤดูน้ำไปสัก ๓๐๐ เส้นถึงเมืองภูมิเก่า ว่าเป็นเมืองโบราณ ทำนาได้ผลดี ยังมีบ้านช่องแน่นหนา ออกจากเมืองภูมิไป ยังเป็นที่ลุ่มเป็นพรุและเป็นป่าไผ่อีกสัก ๕๐๐ เส้นจึงขึ้นที่ดอน เป็นโคกป่าไม้เต็งรัง ชายโคกเป็นห้วยเป็นดงสลับกันไปสัก ๑,๐๐๐ เส้น ถึงเชิงเทือกเขาบรรทัด ที่เป็นเขตแดนจังหวัดพิจิตรกับจังหวัดเพชรบูรณ์ต่อกันบนสันเขานั้น ทางตอนข้ามเขาบรรทัดเป็นดงดิบเช่นเดียวกับดงพญาไฟ แต่เดินขึ้นเขาได้สะดวกเพราะทางลาดขึ้นไปไม่สู้ชันนัก เมื่อฉันไปถึงที่พักแรมตำบลซับมาแสนบนสันเขาบรรทัด พวกชาวเมืองเพชรบูรณ์มารับ ผลัดหาบหามจากพวกเมืองพิจิตร คืนวันนั้นได้เห็นความรื่นเริงของพวกที่ไปจากเมืองพิจิตรเป็นครั้งแรก พากันร้องเพลงเล่นหัวเฮฮาอยู่จนเวลาจะนอน ถึงต้องให้ไปห้ามปากเสียง ครั้นรุ่งเช้าเมื่อก่อนจะออกเดินทาง ฉันเรียกพวกเมืองพิจิตรมาขอบใจและแสดงความยินดีที่ไม่มีใครเจ็บไข้ พวกเหล่านั้นบอกว่าได้มาเห็นอย่างนี้แล้วก็สิ้นกลัว บางคนถึงพูดว่า “ถ้าใต้เท้ามาอีก ผมจะมารับอาสาไม่ให้ต้องเกณฑ์ทีเดียว” ออกเดินจากตำบลซับมาแสน เป็นทางลงจากเขามาสัก ๒๐๐ เส้น ก็พ้นดงเข้าเขตบ้านล่องคล้า เดินแต่บ้านล่องคล้าขึ้นไปทางเหนือสัก ๕๐๐ เส้นถึงบ้านนายม ไปจากบ้านนายมอีกสัก ๔๐๐ เส้นก็ถึงเมืองเพชรบูรณ์

(๔)

ฉันไปถึงเมืองเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ท้องที่มณฑลเพชรบูรณ์ บอกแผนที่ได้ไม่ยาก คือลำแม่น้ำสักเป็นแนวแต่เหนือลงมาใต้ มีภูเขาสูงเป็นเทือกลงมาตามแนวลำน้ำทั้ง ๒ ฟาก เทือกข้างตะวันออกเป็นเขาปันน้ำต่อแดนมณฑลนครราชสีมา เทือกข้างตะวันตกเป็นเขาปันน้ำต่อแดนมณฑลพิษณุโลก เทือกเขาทั้งสองข้างนั้น บางแห่งก็ห่าง บางแห่งก็ใกล้ลำแม่น้ำสัก เมืองหล่มสักอยู่ที่สุดลำน้ำสักทางข้างเหนือ ต่อลงมาถึงเมืองเพชรบูรณ์ ตรงที่ตั้งเมืองเพชรบูรณ์เทือกเขาเข้ามาใกล้ลำน้ำ ดูเหมือนจะไม่ถึง ๓๐๐ เส้น แลเห็นต้นไม้บนเขาถนัดทั้ง ๒ ฝ่าย ทำเลที่เมืองเพชรบูรณ์ตอนริมลำแม่น้ำเป็นที่ลุ่ม ฤดูน้ำน้ำท่วมแทบทุกแห่ง พ้นที่ลุ่มขึ้นไปเป็นที่ราบทำนาได้ผลดี เพราะอาจจะขุดเหมืองชักน้ำจากลำห้วยมาเข้านาได้เหมือนเช่นที่เมืองลับแล พ้นที่ราบขึ้นไปเป็นโคกสลับกับแอ่งเป็นหย่อมๆ ไปจนถึงเชิงเขาบรรทัด บนโคกเป็นป่าไม้เต็งรัง เพาะปลูกอะไรอย่างอื่นไม่ได้ แต่ตามแอ่งนั้นเป็นที่น้ำซับ เพาะปลูกพรรณไม้งอกงามดี เมืองเพชรบูรณ์จึงสมบูรณ์ด้วยกสิกรรม จนถึงชาวเมืองทำนาปีหนึ่งเว้นปีหนึ่งก็ได้ข้าวพอกันกิน ราคาข้าวเปลือกซื้อขายกันเพียงเกวียนละ ๑๖ บาทเท่านั้น แต่จะส่งข้าวเป็นสินค้าไปขายเมืองอื่นไม่ได้ด้วยทางกันดาร เมื่อข้าวไปถึงเมืองอื่น คิดค่าขนข้าวด้วยราคาแพงกว่าข้าวที่ขายกันในเมืองนั้นๆ ชาวเพชรบูรณ์จึงทำนาแต่พอกินในพื้นเมือง สิ่งซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของเมืองเพชรบูรณ์ก็คือยาสูบ เพราะรสดีกว่ายาสูบที่อื่นหมดทั้งเมืองไทย ชาวเมืองเพชรบูรณ์จึงหาผลประโยชน์ด้วยปลูกยาสูบขายเป็นพื้น ลักษณะปลูกยาสูบที่เมืองเพชรบูรณ์นั้น ปลูกตามแอ่งที่น้ำขังในฤดูฝน ถึงฤดูแล้งพอน้ำในแอ่งแห้ง ราษฎรก็ไปพรวนดินปลูกต้นยาสูบ เมื่อต้นยาสูบงอกงามได้ขนาด ก็เก็บใบยามาผึ่งแล้วหั่นเอาเข้าห่อไว้ พวกพ่อค้าไปรับซื้อตามบ้านราษฎรแล้วบรรทุกโคต่างไปขายทางมณฑลนครราชสีมาบ้าง มณฑลอุดรบ้าง แต่มณฑลพิษณุโลกปลูกยาสูบเหมือนกัน จึงไม่ซื้อยาเมืองเพชรบูรณ์ แต่ตลาดใหญ่ของยาสูบเมืองเพชรบูรณ์นั้นอยู่ในกรุงเทพฯ ถึงฤดูน้ำพวกพ่อค้าเอายาสูบบรรทุกเรือลงมาขายมากกว่าแห่งอื่นเสมอทุกปี ประหลาดอยู่ที่รสยาสูบซึ่งเรียกกันว่า “ยาเพชรบูรณ์” นั้น ดีเป็นยอดเยี่ยมแต่ที่ปลูก ณ เมืองเพชรบูรณ์ ถ้าปลูกที่เมืองหล่มสัก หรือปลูกข้างใต้ห่างเมืองเพชรบูรณ์ลงมา เพียงทางวันเดียวรสยาก็คลายไป เพราะโอชะดินสู้ที่เมืองเพชรบูรณ์ไม่ได้ ถึงที่เมืองเพชรบูรณ์เอง ก็ปลูกยาซ้ำที่อยู่ได้เพียงราว ๖ ปี แล้วต้องย้ายไปปลูกที่อื่น ปล่อยให้ดินพักเพิ่มโอชะเสีย ๕ ปี ๖ ปี จึงกลับไปปลูกที่เก่าอีก

ในเรื่องที่เลื่องลือว่าความไข้เมืองเพชรบูรณ์ร้ายแรงนั้น เมื่อไปเห็นเมืองเพชรบูรณ์ก็พอได้เค้าเข้าใจว่าเป็นเพราะเหตุใด คงเป็นเพราะเหตุที่เมืองเพชรบูรณ์ตั้งอยู่ที่ลุ่มริมลำน้ำ มีเทือกเขาสูงกระหนาบอยู่ใกล้ๆ ทั้งสองข้าง เทือกเขานั้นเป็นหินปูน ถึงฤดูแล้งต้นไม้แห้งไม่มีใบ หินถูกแดดร้อนจัดไอขึ้น ลมพัดมาแต่ทิศใดก็พัดพาเอาไอหินเข้ามาร้อนอบอยู่ในเมือง พอเริ่มฤดูฝนคนถูกไอร้อนของหินกับไอฝนประสมกัน ก็อาจจะเป็นไข้ได้สถานหนึ่ง ในฤดูฝนฝนตกชะใบไม้ที่หล่นร่วงเน่าเปื่อยอยู่บนเขา พาเอาพิษไข้ลงมากับน้ำ คนก็อาจเป็นไข้ด้วยกินน้ำมีพิษสถานหนึ่ง เมื่อสิ้นฤดูฝนน้ำท่วมแผ่นดินลด กำลังแผ่นดินชื้น ลมหนาวพัดมาระคนกับความชื้นก็อาจเกิดไข้ได้อีกสถานหนึ่ง แต่สังเกตคนในพื้นเมืองหรือแม้คนต่างถิ่นที่ไปอยู่จนคุ้นที่แล้ว ดูอนามัยก็เป็นปรกติไม่แปลกกับที่อื่น ฉันไถ่ถามพวกกรมการในพื้นเมืองถึงลักษณะความไข้ เขาบอกว่าไข้มีชุกแต่เวลาเปลี่ยนฤดู คือเมื่อฤดูแล้งต่อฤดูฝนคราวหนึ่ง กับเมื่อฤดูฝนต่อฤดูแล้งคราวหนึ่ง ไข้คราวต้นปีเมื่อฤดูแล้งต่อฤดูฝนไม่ร้ายแรงเหมือนกับไข้คราวปลายปี ที่เราเรียกว่า “ไข้หัวลม” นอกจาก ๒ ฤดูนั้น ความไข้เจ็บก็มิใคร่มี โดยจะมีก็เป็นอย่างธรรมดาไม่ผิดกับที่อื่น ความเห็นของพวกที่ไปจากต่างถิ่น เขาว่าความไข้เมืองเพชรบูรณ์ร้ายกว่ามณฑลอื่นบางมณฑล เช่นมณฑลอยุธยาเป็นต้น จริงอยู่แต่ไม่ร้ายแรงเหลือทนเหมือนเช่นเลื่องลือ ถ้ารู้จักระวังรักษาตัวก็ไม่สู้กระไรนัก แต่สำคัญอยู่ที่ใจด้วย ถ้าขี้ขลาดก็อาจจะเป็นได้มากๆ เขาเล่าเรื่องเป็นตัวอย่างว่า เมื่อปีที่ล่วงมาแล้ว มีเจ้าพนักงานกรมไปรษณีย์คนหนึ่ง ซึ่งเจ้ากระทรวงส่งขึ้นไปอยู่ประจำการ ณ เมืองเพชรบูรณ์ ขึ้นไปทางเรือในฤดูฝนพอถึงเมืองเพชรบูรณ์ก็จับไข้ อาการไม่หนักหนาเท่าใดนัก แต่เจ้าตัวกลัวตายเป็นกำลัง พวกที่เมืองเพชรบูรณ์บอกว่าจะรักษาให้หายได้ ก็ไม่เชื่อ ขอแต่ให้ส่งกลับกรุงเทพฯ อย่างเดียว เขาก็ต้องให้กลับตามใจ เมื่อลงไปถึงเมืองวิเชียร อาการไข้กำเริบถึงจับไม่สร่าง แต่ต่อไปจะเป็นหรือตายหาทราบไม่

ตัวเมืองเพชรบูรณ์ เป็นเมืองมีป้อมปราการสร้างมาแต่โบราณ เห็นได้ว่าตั้งเป็นเมืองด่าน โดยเลือกที่ชัยภูมิตรงแนวภูเขาเข้ามาใกล้กับลำแม่น้ำสัก มีทางเดินทัพแคบกว่าแห่งอื่น ตั้งเมืองสกัดทางทำปราการทั้งสองฟาก เอาลำน้ำสักไว้กลางเมืองเหมือนเช่นเมืองพิษณุโลก สังเกตตามรอยที่ยังปรากฏ เห็นได้ว่าสร้างเป็น ๒ ครั้ง ครั้งแรกสร้างเมื่อสมัยกรุงสุโขทัย แนวปราการขนาดราวด้านละ ๒๐ เส้น เดิมเป็นแต่ถมดินปักเสาระเนียดข้างบน มาสร้างใหม่ในที่อันเดียวกันเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง ร่นแนวย่อมเข้ามาแต่ทำปราการก่อด้วยหินและมีป้อมรายรอบ สำหรับสู้ข้าศึกซึ่งจะยกมาแต่ลานช้าง ข้างในเมืองมีวัดมหาธาตุกับพระปรางค์เป็นสิ่งสำคัญอยู่กลางเมือง ฉันได้ไปทำพิธีพุทธบูชาและถวายสังเวยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่วัดมหาธาตุนั้น ที่ในเมืองแต่ก่อนเห็นจะรกเรี้ยว เพิ่งมาถากถางทำถนนหนทางและปลูกเรือนสำหรับราชการต่างๆ เมื่อพระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) ขึ้นไปอยู่ ไปเห็นเข้าก็คิดถึง

(๕)

ฉันเดินบก จากเมืองเพชรบูรณ์ไปเมืองหล่มสัก ระยะทางที่ไปราว ๑,๒๐๐ เส้น ต้องค้างทางคืนหนึ่ง ทำเลที่เมืองหล่มสัก เป็นแอ่งกับเนินสลับกัน เหมือนดังพรรณนามาแล้ว แต่มีบ้านเรือนราษฎรในระยะทางถี่ ไม่เปลี่ยวเหมือนทางที่มาจากบางมูลนาคจนถึงเมืองเพชรบูรณ์ ผ่านไปในป่าลานแห่งหนึ่งดูงามนักหนา ต้นลานสูงใหญ่แลสล้างไป ใบยาวตั้งราว ๖ ศอกผิดกับต้นลานที่เคยเห็นปลูกไว้ตามวัด ดูน่าพิศวง ในจังหวัดหล่มสักมีต้นลานมากกว่าที่อื่น ถึงใบลานเป็นสินค้าใหญ่อย่างหนึ่งซึ่งขายไปที่อื่น จังหวัดหล่มสักมีเมือง ๒ แห่ง เรียกว่าเมืองหล่มเก่าแห่งหนึ่ง เมืองหล่มสักแห่งหนึ่ง ฉันไปถึงเมืองหล่มสักอันเป็นที่บัญชาการจังหวัดก่อน ตัวเมืองหล่มสักตั้งอยู่ริมลำแม่น้ำสักทางฟากตะวันตก ไม่มีปราการเป็นด่านทางอย่างใด แต่ตั้งเมืองบนที่สูง น้ำไม่ท่วมถึง และเขาบรรทัดตรงนั้นก็ห่างออกไป ความไข้เจ็บจึงไม่ร้ายแรงเหมือนเมืองเพชรบูรณ์ ราษฎรจังหวัดหล่มสักเป็นไทยลานช้างที่เรียกกันแต่ก่อนว่า “ลาวพุงขาว” เหมือนอย่างชาวมณฑลอุดร ไม่เหมือนไทยชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นอย่างเดียวกันกับชาวมณฑลพิษณุโลก จำนวนผู้คนพลเมืองมากกว่าเมืองเพชรบูรณ์ เพราะการทำมาหากินได้ผลบริบูรณ์ดีกว่าเมืองเพชรบูรณ์ สินค้าที่ขายไปต่างเมืองมียาสูบและใบลานเป็นต้น แต่โคกระบือเป็นสินค้าใหญ่กว่าอื่น พาเดินลงไปขายทางมณฑลนครสวรรค์ และเมืองลพบุรีปีละมากๆ เสมอทุกปี ฉันได้เลยไปดูถึงเมืองหล่มเก่า ซึ่งอยู่ห่างเมืองหล่มสักไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือระยะทางราว ๓๖๐ เส้น เมืองหล่มเก่าตั้งอยู่ในที่แอ่งใหญ่ ภูเขาล้อมรอบ มีลำห้วยผ่านกลางเมืองมาตกลำน้ำสักข้างใต้เมืองหล่มสัก ทางที่เดินไปจากเมืองหล่มสักเป็นที่สูง เมื่อใกล้จะถึงเมืองหล่มเก่าเหมือนกับอยู่บนขอบกระทะ แลลงไปเห็นเมืองหล่มเก่าเหมือนอยู่ในก้นกระทะ แต่เป็นเรือกสวนไร่นามีบ้านช่องเต็มไปในแอ่งนั้น น่าพิศวง แต่สังเกตดูไม่มีของโบราณอย่างใด แสดงว่าเป็นเมืองรัฐบาลตั้งมาแต่ก่อน สันนิษฐานว่าเหตุที่จะเกิดเมืองหล่มเก่า เห็นจะเป็นด้วยพวกราษฎรที่หลบหนีภัยอันตรายในประเทศลานช้าง มาตั้งซ่องมั่วสุมกันอยู่ก่อน แต่เป็นที่ดินดีมีน้ำบริบูรณ์ เหมาะแก่การทำเรือกสวนไร่นาและเลี้ยงโคกระบือ จึงมีผู้คนตามมาอยู่มากขึ้นโดยลำดับจนเป็นเมือง แต่เป็นเมืองมาแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีชื่อปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เรียกว่า “เมืองลุ่ม” ชั้นหลังมาจึงเรียกว่า “เมืองหล่ม” ก็หมายความอย่างเดียวกัน แต่เมืองหล่มสักเป็นเมืองตั้งใหม่ในชั้นหลัง เข้าใจว่าเพิ่งตั้งเมื่อรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ เพื่อจะให้สะดวกแก่การคมนาคม จึงมาตั้งเมืองที่ริมลำน้ำสัก และเอาชื่อลำน้ำเพิ่มเข้าเรียกว่า “เมืองหล่มสัก” ให้ผิดกับเมืองหล่มเดิม แต่เหตุใดลำน้ำจึงชื่อว่า “ลำน้ำสัก” หรือ “ลำน้ำป่าสัก” ข้อนี้ฉันสืบสวนไม่ได้ความ สิ่งสำคัญอันใดที่มีคำว่า “สัก” เป็นชื่อหรือป่าไม้สักทางนั้นก็ไม่มี ต้องยอมจน

เดิมฉันคิดว่าขากลับจะลงเรือที่เมืองหล่มสัก ล่องลำน้ำสักลงมาจนถึงเมืองสระบุรี แต่น้ำลดเสียมากแล้ว จะลงเรือมาแต่เมืองหล่มสักไม่ได้ จึงต้องเดินบกย้อนกลับมาลงเรือที่เมืองเพชรบูรณ์ ฉันสั่งให้ส่งเรือมาดเก๋ง ๖ แจว ขนาดย่อม ขึ้นไปรับสำหรับตัวฉันจะมาเองลำหนึ่ง เรือสำหรับผู้อื่นจะมา ฉันให้หาซื้อเรือพายม้า ๒ แจวที่ใช้กันในเมืองเพชรบูรณ์ ทำประทุนเป็นที่อาศัยให้มาลำละคนหนึ่งบ้าง สองคนบ้างจนครบตัวกัน

(๖)

ฉันลงเรือล่องจากเมืองเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ลำน้ำที่เมืองเพชรบูรณ์แคบกว่าตอนใต้ในแขวงสระบุรีมาก ที่บางแห่งเมื่อเรือล่องลงมาถึงปลายกิ่ง ต้นตะไคร้น้ำที่ขึ้นอยู่กับหาดประเก๋งเรือทั้งสองข้าง น้ำก็ตื้น ฤดูแล้งใช้เรือได้แต่ขนาดเรือพายม้า พอพ้นที่ตั้งเมืองลงมาทั้งสองฝั่งเป็นป่าต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นตะเคียน ต้นยาง และต้นสะตือ ขึ้นทึบบังแสงแดดร่มทั้งเวลาเช้าและบ่าย มีบ้านคนตั้งประปรายมาเพียงบ้านนายม ต่อนั้นก็เป็นป่าเปลี่ยวลงมาทางหลายวัน ในระยะที่เปลี่ยวนั้นล่องเรือลำบาก ด้วยตามปรกติเมื่อถึงฤดูฝนน้ำหลาก สายน้ำแรงมักกัดตลิ่งพัง เป็นเหตุให้ต้นไม้ใหญ่โค่นล้มลงในลำน้ำกีดขวางทางเรือ บางต้นล้มข้ามลำน้ำเหมือนอย่างสะพาน เรือลอดมาได้ก็มี บางต้นล้มทอดอยู่ในท้องน้ำ ต้องเข็นเรือข้ามมาก็มี บางต้นจะลอดหรือจะเข็นเรือข้ามไม่ได้ทั้ง ๒ สถาน ต้องขุดดินหรือชายตลิ่งพอเป็นช่องให้เรือหลีกมาทางโคนต้นไม้ก็มี โดยปรกติไม่มีใครไปจับต้อง ทิ้งไว้จนสายน้ำหลากปีหลังพัดพาขอนไม้ให้ลอยไป หรือทิ้งอยู่จนผุไปเอง เมื่อฉันไป พวกเมืองเพชรบูรณ์เขาล่วงหน้าลงมาถากถางทางบ้างแล้ว แต่กระนั้นต้นไม้ที่โค่นกีดขวางบางต้นใหญ่โต เหลือกำลังที่พวกทำทางจะตัดทอนชักลากเอาไปทิ้งที่อื่นได้ จึงต้องเข็นหรือข้ามหรือหลีกขอนไม้มา ไม่รู้ว่าวันละสักกี่ครั้ง เป็นความลำบาก และชวนให้ท้อใจในการล่องลำน้ำสักยิ่งกว่าอย่างอื่น แต่ต้องนึกชมความคิดของคนโบราณที่เขาคิดทำเรือมาดขึ้นกระดานเช่นเรือพายม้า ใช้ในที่เช่นนั้น เพราะท้องเรือมาดเป็นไม้หนา ถึงจะเข็นลากลู่ถูกังอย่างไรก็ทนได้ ที่ขึ้นกระดานต่อขึ้นมา ๒ ข้างก็ทำให้เรือเบา บรรทุกได้จุกว่าเรือมาดทั้งลำ เป็นของคิดถูกตามวิทยาศาสตร์ ถ้าเป็นเรือต่อเช่นเรือบดหรือเรือสำปั้น ก็เห็นจะแตกป่นล่องลำน้ำสักลงมาไม่ได้ตลอด เมื่อก่อนไปมณฑลเพชรบูรณ์ฉันเคยเห็นเรือมอขนาดใหญ่บรรทุกสินค้าเมืองเพชรบูรณ์ลงมาขายถึงกรุงเทพฯ เสมอทุกปี เมื่อต้องไปเข็นเรือข้ามขอนดังกล่าวมาแล้ว คิดไม่เห็นว่าเรือใหญ่ที่บรรทุกสินค้าจะล่องลงมาถึงกรุงเทพฯ ได้อย่างไร ถามพวกชาวเมืองเพชรบูรณ์ เขาบอกว่าเรือบรรทุกสินค้าเหล่านั้น ไม่ได้ขึ้นล่องทางลำแม่น้ำสักตลอด ประเพณีของพวกพ่อค้าเมื่อใกล้จะถึงเวลาน้ำหลาก เขาบรรทุกสินค้าลงเรือเตรียมไว้ พอน้ำท่วมฝั่งก็ล่องเรือหลีกลำน้ำสักตอนมีไม้ล้มกีดขวาง ไปตามที่ลุ่มที่น้ำท่วมบนตลิ่ง จนถึงที่กว้างพ้นเครื่องกีดขวาง จึงล่องทางลำน้ำสัก เมื่อส่งสินค้าแล้วก็รีบซื้อของในกรุงเทพฯ บรรทุกกลับขึ้นไปให้ทันในฤดูน้ำ พอถึงเมืองเพชรบูรณ์ก็เอาเรือขึ้นคาน เรือบรรทุกสินค้าขึ้นล่องแต่ปีละครั้งเดียวเท่านั้น นอกจากต้นไม้ล้มกีดขวางทางเดินเรือดังกล่าวมา ยังมีแก่งต้องชะลอเรือหลีกหินมาเนืองๆ แม่น้ำสักตอนข้างเหนือยังผิดกับล้ำน้ำอื่นๆ อีกอย่างหนึ่ง ที่ทางเปลี่ยวเป็นอย่างยิ่ง บางวันฉันถามคนทำทางว่า “นี่เรามาถึงไหนแล้ว” แกตอบว่า “ที่ตรงนี้ยังไม่เคยมีชื่อ” วันหนึ่งแกบอกว่า “พรุ่งนี้จะถึงท่าแดง” ฉันก็เข้าใจว่าคงจะได้เห็นบ้านเรือน แต่เมื่อไปถึงท่าแดงเห็นแต่ไร่อยู่ที่ชายตลิ่งแห่งหนึ่ง แต่ตัวเจ้าของไร่ขึ้นไปขัดห้างอยู่บนกอไผ่ ถามได้ความว่าบ้านอยู่ห่างลำน้ำไปสักวันหนึ่ง มาตั้งทำไร่ชั่วคราว ไม่กล้าปลูกทับกระท่อมอยู่กับแผ่นดิน ด้วยกลัวเสือจึงขัดห้างอยู่บนกอไผ่ สัตว์ป่าก็ชุมจริงอย่างว่า จอดเรือเข้าแห่งใด ตามชายตลิ่งก็เห็นรอยสัตว์ป่าเกลื่อนกล่น มีทั้งรอยช้างเถื่อน รอยเสือ รอยกวางและหมูป่า เพราะตอนนี้เทือกภูเขาห่างทั้งสองฝ่าย ถึงฤดูแล้งที่แผ่นดินแห้งผากไม่มีน้ำ สัตว์ป่าต้องลงมากินน้ำในลำน้ำสัก ลำน้ำสักตอนนี้ก็เป็นที่เปลี่ยว ไม่มีคนไปมาเบียดเบียน สัตว์ป่าจึงชอบมาอาศัยในฤดูแล้ง ประหลาดอยู่อย่างหนึ่งที่ลำแม่น้ำสักข้างตอนใต้ในแขวงเมืองสระบุรี ไม่ปรากฏว่ามีจระเข้ แต่ในตอนเปลี่ยวมีจระเข้ชุม เห็นรอยตามตลิ่งเกลื่อนไป

การล่องลำแม่น้ำสักตอนเหนือถึงลำบากก็สนุก สนุกตั้งแต่ลงเรือเล็กๆ แยกกันลำละคนสองคน แล่นเรียงเคียงคลอล้อเล่นกันเรื่อยมา แต่หลายวันเข้าก็เกิดไม่สบาย ด้วยอยู่ในเรือได้แต่นอนกับนั่งราบมา ๒ ท่าตลอดวันยังค่ำ จนเมื่อยขบและปวดหัวเข่า บางคนบ่นว่าเหมือนกับมาในโลง ต่างคนก็คิดอุบายแก้เมื่อยขบด้วยประการต่างๆ บางคนเห็นตรงไหนพอจะเดินได้ ก็ขึ้นเดินบก บางคนก็ออกไปรับผลัดแจวเรือ บางคนก็เจาะหลังคาประทุนเรือเป็นช่องมีฝาจับโพล่ปิด ถึงเวลาแดดร่มเปิดฝาจับโพล่ยืนโผล่ขึ้นไปดูอะไรต่ออะไรเล่น และดัดขาแก้ปวดหัวเข่าก็มี ส่วนตัวฉันเองมาในเรือเก๋ง มีที่กว้างและมีช่องหน้าต่างพอเยี่ยมมองดูอะไรๆ ได้ ไม่ปิดทึบเป็นโลงเหมือนเรือประทุน ถึงกระนั้นพอถึงวันที่ ๓ ก็รู้สึกเมื่อย ให้เอาเก้าอี้ผ้าใบมาตั้งนอนเอนหลังและห้อยขาแก้เมื่อยได้บ้าง แต่เวลาเผลอตัวผลกหัวขึ้น ก็โดนเพดานเก๋งเจ็บหลายหน ล่องเรือมาทางลำแม่น้ำสักยังมีแปลกอีกอย่างหนึ่ง ด้วยกำหนดที่พักแรมล่วงหน้าไม่ได้เหมือนเช่นไปทางลำน้ำอื่นๆ เพราะต้องเสียเวลาเข็นเรือข้ามขอนวันละหลายๆ ครั้ง ไม่รู้ว่าวันไหนจะไปได้จนถึงไหน ทางก็เปลี่ยว บ้านช่องผู้คนก็ไม่มีจะเป็นที่อาศัยพักแรม จึงต้องเอาแสงตะวันเป็นหลักล่องลงมาพอถึงเวลาราวบ่าย ๔ โมง ก็มองหาชายตลิ่งที่เป็นหาดพอจะจอดเรือพักแรมได้ จอดแล้วพอพลบค่ำก็ต้องกองไฟรายล้อม ให้บรรดาคนที่ไปด้วยกันอยู่แต่ในวงกองไฟ เพราะไม่รู้ว่าสัตว์ป่ามันจะอยู่ที่ไหน ครั้งนั้นพระยาวจีสัตยารักษ์ (ดิส) เมื่อยังเป็นพระยาสระบุรี คุมเรือขึ้นไปรับฉันที่เมืองเพชรบูรณ์ แกไปเล่าว่าไปกลางทางเวลากลางคืน มีสัตว์อะไรอย่างหนึ่งได้ยินแต่เสียงร้อง “ป๊อกเจี๋ยกๆ” มันมาเที่ยวเลาะอยู่รอบกองไฟ จนพวกคนแจวเรือพากันกลัวอ้ายตัวป๊อกเจี๋ยก เพราะไม่รู้ว่ามันเป็นตัวอะไร แต่เมื่อฉันลงมาหาได้ยินเสียงสัตว์อย่างใดไม่ พวกที่มาด้วยกันเฝ้าเตือนถึงตัวป๊อกเจี๋ยก จนพระยาวจีฯ ออกเคือง แต่ก็ยืนยันว่ามีตัวป๊อกเจี๋ยกอยู่เสมอ จนเลยเป็นเรื่องขบขัน แต่ลำแม่น้ำสักตอนที่เปลี่ยวนี้ ถ้าว่าในทางชมดงก็น่าชมนัก เพราะสง่างามตามธรรมชาติ จะหาที่อื่นเปรียบได้โดยยาก เวลามาในเรือจะแลดูไปทางไหนก็เห็นแต่ต้นไม้ป่าต่างๆ ทั้งใหญ่น้อยสลับสลอนซ้อนซับกันไปรอบข้าง บนยอดไม้ก็มีนกพวกอยู่ป่าสูงเช่นนกยูงเป็นต้น จับอยู่ให้เห็นแทบทุกวัน และยังมีสัตว์แปลกๆ เช่นตัวบ่าง รูปร่างคล้ายกระรอกแต่ขนาดสักเท่าแมว มันยืดหนังระหว่างขาออกไปได้เป็นผืน เวลาโผนจากต้นไม้มันกางขายืดหนังแผ่ออกไปเช่นปะระชุดเครื่องบิน ร่อนไปได้ไกลๆ ฉันเพิ่งได้เห็นบ่างร่อนเป็นครั้งแรก ได้ชมนกชมไม้ก็ออกเพลิดเพลินเจริญใจ นับว่าสนุกได้อีกอย่างหนึ่ง

ล่องเรือมาจากเพชรบูรณ์ ๖ วันถึงเมืองวิเชียร ตอนใกล้จะถึงเมืองวิเชียรพ้นที่เปลี่ยว ลำแม่น้ำสักค่อยกว้างออก แก่งก็ค่อยห่าง ยังมีแต่ขอนไม้กีดขวางทางเรือเป็นแห่งๆ แต่น้ำตื้นแจวเรือไม่ถนัดต้องใช้ถ่อจนถึงเมืองวิเชียร เมืองวิเชียรนั้นตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออก เดิมเป็นหัวเมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และมีเรื่องตำนานจะเล่าต่อไปข้างหน้า เขตแดนกว้างขวางกว่าเมืองเพชรบูรณ์แต่เป็นเมืองกันดาร เพราะเทือกภูเขาทั้งสองฝ่ายอยู่ห่างที่แผ่นดินดอน ไม่มีลำห้วยพอจะชักน้ำมาทำการเพาะปลูกได้เหมือนเมืองเพชรบูรณ์และเมืองหล่มสัก ได้แต่ทำนาน้ำฝนหรือทำในที่ลุ่มใกล้ลำน้ำสัก อาหารการกินอัตคัด บ้านเมืองจึงไม่เจริญ ตัวเมืองวิเชียรตั้งอยู่ห่างลำน้ำสัก ๒๐ เส้น ด้วยตอนริมน้ำเป็นที่ต่ำน้ำท่วมในฤดูฝน แลดูเหมือนกับหมู่บ้านไม่เป็นเมืองมีสง่าราศี เพราะเป็นเมืองกันดารดังกล่าวมาแล้ว เมื่อตั้งมณฑลเพชรบูรณ์จึงลดเมืองวิเชียรลงเป็นแต่อำเภอหนึ่ง ในจังหวัดเพชรบูรณ์

ออกจากเมืองวิเชียร ล่องเรือมา ๓ วันถึงเมืองบัวชุม แต่เมืองบัวชุมมาวันหนึ่งถึงเมืองชัยบาดาล ลำน้ำสักตอนนี้กว้างแจวเรือได้ถนัด ขอนไม้ที่กีดขวางทางเรือก็มีน้อยกว่าข้างเหนือ แต่ต้องหลีกแก่งกรวดแก่งหินถี่ขึ้น เมืองบัวชุมและเมืองชัยบาดาลเดิมเป็นเมืองขึ้นของเมืองวิเชียร เมื่อตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ รวมตั้งเป็นอำเภอหนึ่งต่างหากเรียกว่าอำเภอชัยบาดาล ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้คนมีมากกว่าอำเภอวิเชียร ตั้งบ้านเรือนตามริมน้ำเป็นระยะมาตลอด ไม่เปลี่ยวเหมือนข้างเหนือ เพราะตอนนี้เทือกภูเขาเข้ามาใกล้ลำน้ำสักทั้งสองฝ่าย ท้องที่มีน้ำห้วยทำไร่นาดี และเป็นปากดงพญากลาง ทางคนไปมาค้าขายกับเมืองนครราชสีมา มีสินค้าหาได้ในท้องที่เช่นเสาและไม้แดง ใบลาน สีเสียด หาผลประโยชน์ได้มาก และอาจส่งสินค้าลงมาทางเรือถึงเมืองสระบุรีได้สะดวกกว่าเมืองอื่นทางข้างเหนือด้วย ออกจากเมืองชัยบาดาลล่องมา ๔ วันก็ถึงปากเพรียวที่ตั้งเมืองสระบุรี นับจำนวนวันที่ล่องลำน้ำสักแต่เมืองเพชรบูรณ์ จนถึงที่ขึ้นรถไฟ ณ เมืองสระบุรีรวม ๑๔ วัน

ฉันเคยตามเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ประพาสทางลำแม่น้ำสัก ขึ้นไปจนถึงตำบลหินซ้อนปลายแดนจังหวัดสระบุรีครั้งหนึ่ง เคยได้ยินท่านผู้ใหญ่ที่ตรวจทางเสด็จประพาสครั้งนั้น ท่านว่าลำน้ำสักเที่ยวสนุกเพียงตำบลหินซ้อนเท่านั้น เหนือหินซ้อนขึ้นไปไม่มีอะไรน่าดู ฉันสงสัยไม่เชื่อจนมาเห็นด้วยตาตนเองในครั้งนี้ ต้องยอมรับรองว่าจริงดังว่า เพราะเทือกภูเขาทั้งสองฝ่ายลำน้ำสักวงเข้ามาประจบกันถึงลำน้ำที่ตำบลหินซ้อน ข้างฝ่ายตะวันออกเรียกกันว่าเทือกเขาดงพญาไฟ ข้างฝ่ายตะวันตกเรียกกันว่าเทือกเขาพระบาท ลำแม่น้ำสักผ่านมากลางภูเขา ตั้งแต่หินซ้อนจนถึงแก่งคอย ทั้งสองฝั่งจึงมีเขาตกน้ำถ้ำธาร ที่ขึ้นเที่ยวเล่นสนุกตลอดทางเรือขึ้นไป ๓ วัน เหนือนั้นขึ้นไปก็ไม่มีอะไรน่าชม

(๗)

ฉันไปมณฑลเพชรบูรณ์ครั้งนั้น มีกิจอีกอย่างหนึ่งซึ่งจะไปสืบเมืองโบราณด้วย ด้วยเมื่อแรกฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เห็นทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมือง มีชื่อเมืองศรีเทพเมืองหนึ่ง แต่ตัวเมืองหามีไม่ ฉันถามข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ก็ไม่มีใครรู้ว่าเมืองศรีเทพอยู่ที่ไหน ต่อมาฉันพบสมุดดำอีกเล่มหนึ่งเป็นต้นร่าง กะทางให้คนเชิญตราไปบอกข่าวสิ้นรัชกาลที่ ๒ ตามหัวเมืองเป็นทางๆ ให้คนหนึ่งเชิญตราไปเมืองสระบุรี เมืองชัยบาดาล เมืองศรีเทพ และเมืองเพชรบูรณ์ ก็ได้เค้าว่าเมืองศรีเทพเห็นจะอยู่ทางลำแม่น้ำสัก แต่อยู่ตรงไหนยังไม่รู้ เมื่อฉันขึ้นไปถึงเมืองเพชรบูรณ์ ให้หาผู้ชำนาญท้องที่มาถามว่ามีเมืองโบราณอยู่ทางลำแม่น้ำสักที่ไหนบ้าง ได้ความว่าข้างเหนือเมืองเพชรบูรณ์ทางฝั่งตะวันออกมีเมืองโบราณเมืองหนึ่งเรียกกันว่า “เมืองนครเดิด” แต่อยู่ในดงทึบ ยังมีแต่เทือกเนินดินเป็นแนวกำแพงและมีสระอยู่ในเมืองสระหนึ่งเรียกว่า “สระคงคา” บางคนได้เคยไปพบหัวยักษ์ทำด้วยหิน พอเชื่อได้ว่าเป็นเมืองพวกขอมสร้างไว้แต่ฉันไม่ได้ไปดู เขาบอกว่ามีเมืองโบราณอีกเมืองหนึ่งใหญ่โตมาก ชื่อว่า “เมืองอภัยสาลี” อยู่ใกล้กับเมืองวิเชียรบุรีและอยู่ในป่าแดงไปถึงได้ไม่ยาก เมืองนั้นยังมีปรางค์ปราสาทเหลืออยู่ ฉันอยากดูจึงสั่งให้เอาม้าลงมาคอยรับที่เมืองวิเชียร เมื่อฉันลงมาถึงเมืองวิเชียร ทราบว่าพระยาประเสริฐสงคราม ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งแก่ชราลาออกจากราชการนานมาแล้ว ยังมีชีวิตอยู่ แต่ทุพพลภาพไม่สามารถจะมาหาได้ ฉันจึงไปเยี่ยมถึงบ้าน ถามถึงเรื่องเมืองศรีเทพ ได้ความว่าเมืองวิเชียรนั้นเอง แต่โบราณเรียกชื่อเป็น ๒ อย่าง เมืองท่าโรงก็เรียก เมืองศรีเทพก็เรียก ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นที่พระศรีถมอรัตน (ตามชื่อเขาแก้ว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในจังหวัดนั้น) มาจนถึงรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งปราบกบฏเวียงจันทน์ พระศรีถมอรัตนมีความชอบมาก จึงโปรดให้ยกศักดิ์เมืองศรีเทพขึ้นเป็นเมืองตรี เปลี่ยนนามเป็นเมืองวิเชียรบุรี (คงเอาชื่อเขาแก้วเป็นนิมิต) และเปลี่ยนนามผู้ว่าราชการจังหวัดจากพระศรีถมอรัตนเป็นพระยาประเสริฐสงครามแต่นั้นมา ถามแกต่อไปถึงเรื่องเมืองอภัยสาลี แกบอกว่ามีเมืองโบราณใหญ่โตจริง แต่ชื่อที่เรียกว่าเมืองอภัยสาลีนั้นเป็นแต่คำพระธุดงค์บอก จะเอาเป็นแน่ไม่ได้ เป็นอันได้ความตามที่อยากรู้เรื่องตำนานเมืองศรีเทพ ถ้าหากพระยาประเสริฐสงครามไม่มีอยู่ในเวลานั้น เรื่องก็น่าจะเลยสูญ

ฉันล่องเรือจากเมืองวิเชียรมาถึงบ้านนาตะกุด อันเป็นท่าที่จะขึ้นเดินบกไปยังเมืองโบราณในวันนั้น ให้เรียกพวกชาวบ้านศรีเทพอันอยู่ใกล้เมืองโบราณมาถามถึงเบาะแส และสิ่งซึ่งน่าดูในเมืองนั้น แต่คนเหล่านั้นต่างคนพากันปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็น จนออกประหลาดใจ ฉันคิดใคร่ครวญดูเห็นว่าคนพวกนั้นไม่เคยพบเจ้านาย และไม่เคยได้ยินใครซักไซ้ไถ่ถามเช่นนั้นมาแต่ก่อน น่าจะเข้าใจตามประสาของเขา ว่าฉันคงได้ลายแทงปริศนามาขุดทรัพย์แผ่นดิน ถ้าพาไปไม่ได้ทรัพย์ก็จะถูกลงโทษ จึงบอกปัดเสียให้พ้นภัย ต้องพูดจาชี้แจงอยู่นานจนคนเหล่านั้นวางใจ จึงบอกออกความตามรู้เห็นและรับจะพาไปตามประสงค์ ฉันพักแรมอยู่คืนหนึ่งพอรุ่งเช้าก็ไปดูเมืองโบราณ ระยะทางห่างลำน้ำราว ๑๕๐ เส้น เป็นเมืองใหญ่โตตั้งในที่ราบ มีคูรอบและมีปราการถึง ๒ ชั้น มีสระน้ำก็หลายสระ ที่กลางเมืองมีปรางค์เทวสถาน ทั้งข้างนอกเมืองและในเมืองเรี่ยรายไปหลายแห่ง แต่ข้อสำคัญของการดูเมืองโบราณแห่งนี้ อยู่ที่ไปพบของจำหลักศิลาแปลกๆ มีอยู่เกลื่อนกล่น เพราะยังไม่มีใครได้เคยไปค้นของโบราณมาแต่ก่อน พวกชาวบ้านนำไปให้ฉันเห็นสิ่งใดชอบใจ ฉันก็ให้เงินเป็นรางวัลแก่ผู้นำ ถ้าเป็นของขนาดย่อม พอจะส่งลงมากรุงเทพฯ ได้ ก็ให้นายอำเภอเอามารวมไว้แล้วส่งตามลงมาเมื่อภายหลัง วิธีให้เงินรางวัลแก่ผู้นำมีผลดีมาก พวกชาวบ้านบอกให้เองไม่ต้องถาม แม้จนเมื่อฉันกลับมาลงเรือแล้ว ก็ยังมีคนตามมาบอกว่ายังมีรูปศิลาจำหลักอยู่ที่นั่นๆ ข้างนอกเมือง ที่ฉันไม่ได้ไปถึงอีกหลายอย่าง ได้เครื่องศิลามาหลายสิ่ง เดี๋ยวนี้อยู่ในพิพิธภัณฑสถาน มีส่ิงหนึ่งซึ่งควรจะกล่าวถึง ด้วยเป็นของสำคัญทางโบราณคดีไม่เคยพบที่อื่น คือ “หลักเมือง” ทำด้วยศิลาเป็นรูปตะปูหัวเห็ด ทำรอยฝังปลายตะปูลงในแผ่นดิน เอาแต่หัวเห็ดไว้ข้างบน จารึกอักษรเป็นภาษาสันสกฤตไว้ที่หัวเห็ด เดี๋ยวนี้รักษาไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าหลักเมืองตามแบบโบราณ เขาทำอย่างไร

เมื่อดูเมืองโบราณนั้นแล้ว อาจจะลงความเห็นเป็นยุติได้สองอย่าง อย่างที่หนึ่ง เมืองโบราณนั้นพวกพราหมณ์จะขนานชื่อว่ากระไรก็ตาม เป็นมูลของชื่อเก่าเมืองวิเชียรที่เรียกว่า “เมืองศรีเทพ” เพราะยังเรียกเป็นชื่อตำบลบ้านชานเมืองมาจนบัดนี้ อย่างที่สอง ในสมัยเมื่อครั้งขอมปกครองเมืองไทย เมืองศรีเทพคงเป็นมหานครอันหนึ่ง ชั้นเดียวกันกับเมืองที่ดงศรีมหาโพธิ (ในแขวงจังหวัดปราจีน) และเมืองสุโขทัย และในสมัยนั้นท้องที่คงจะทำไร่นาได้ผลอุดมดีมีไพร่บ้านพลเมืองมาก จึงสามารถสร้างเป็นเมืองใหญ่โตถึงปานนั้น ทำเลที่เมืองวิเชียร เพิ่งมาเกิดแห้งแล้งด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อภายหลัง จึงเป็นเมืองเล็กลงเพราะอัตคัด ถึงกระนั้นปรากฏในเรื่องพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา ว่าครั้งรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมืองศรีเทพ (ในหนังสือพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเอาชื่อเจ้าเมืองเรียกว่า เมืองศรีถมอรัตน) กับเมืองชัยบาดาล (เอาชื่อเจ้าเมืองเรียกว่า เมืองชัยบุรี) เป็นคู่กัน เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๑๐๐ ในเวลากรุงศรีอยุธยาอ่อนกำลังด้วยแพ้ศึกหงสาวดีใหม่ๆ พระยาละแวกเจ้ากรุงกัมพูชาให้ทศโยธายกกองทัพมาทางเมืองนครราชสีมาจะมาตีหัวเมืองชั้นในทางตะวันออก เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงมาเฝ้าสมเด็จพระปิตุราชอยู่ ณ พระนครศรีอยุธยา โปรดให้พระศรีถมอรัตนกับพระชัยบุรี (เจ้าเมืองชัยบาดาล) คุมพลไปซุ่ม (อยู่ในดงพญากลาง) และสมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปยังเมืองชัยบาดาลยกกองทัพตี ตีกองทัพเขมรแตกฉานพ่ายหนีไปหมด ต่อนั้นมาก็ปรากฏตามคำของพระยาประเสริฐสงคราม ว่าเมื่อปราบกบฏเวียงจันทน์แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เปลี่ยนนามเมืองศรีเทพเป็นเมืองวิเชียรบุรี ยกศักดิ์ขึ้นเป็นเมืองตรี คือรวมเมืองชัยบาดาลและเมืองบัวชุมเข้าเป็นเมืองขึ้นของเมืองวิเชียร เป็นเช่นนั้นมาจนเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งมณฑลเทศาภิบาล ดังกล่าวมาแล้ว

เมื่อฉันลงมาถึงเมืองชัยบาดาล ไปเห็นศิลาจำหลักเป็นตัวเครื่องบนปรางค์ขอม ทิ้งอยู่ที่วัดสองสามชิ้น ถามเขาว่าได้มาจากที่ไหน เขาบอกว่าเอามาจากปรางค์หินที่ตำบลซับจำปาในดงพญากลาง ก็เป็นอันได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่ามีเมืองหรือวัดขอม อยู่ในดงพญากลางอีกแห่งหนึ่ง แต่ฉันหาไปดูไม่ สิ้นเรื่องตรวจของโบราณในมณฑลเพชรบูรณ์เพียงเท่านี้

ฉันกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ รวมเวลาที่ไปมณฑลเพชรบูรณ์ครั้งนั้น ๓๖ วัน พอรุ่งขึ้น ฉันเข้าไปเฝ้าฯ วันนั้นมีการพระราชพิธีเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เจ้านายและข้าราชการเฝ้าอยู่พร้อมกัน เมื่อเสร็จการพิธี สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จทรงพระราชดำเนินมายังที่ฉันยืนเฝ้าอยู่ ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระหัตถ์มาจับมือฉัน ดำรัสว่า ทรงยินดีที่ฉันได้ไปถึงเมืองเพชรบูรณ์ แล้วตรัสถามว่ามีใครไปเจ็บไข้บ้างหรือไม่ ฉันกราบทูลว่าด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าฯ หามีใครเจ็บไข้ไม่ แล้วจึงเสด็จขึ้น ฉันรู้สึกว่าได้พระราชทานบำเหน็จพิเศษ ชื่นใจคุ้มค่าเหนื่อย ว่าถึงประโยชน์ของการที่ไปครั้งนั้นก็ได้สมประสงค์ เพราะแต่นั้นมาก็หาคนไปรับราชการในมณฑลเพชรบูรณ์ได้ไม่ยากเหมือนแต่ก่อน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ