นิทานที่ ๗ เรื่องสืบพระศาสนาในอินเดีย

เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชย์ได้ ๔ ปีเสด็จไปอินเดีย เมื่อถึงเมืองพาราณสีเสด็จไปทรงบำเพ็ญพุทธบูชา ณ พระบริโภคเจดียสถานในมฤคทายวัน ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาประกาศตั้งพระพุทธศาสนา อันพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งโลกนับถือว่าเป็นเจดียสถานที่สำคัญอย่างยิ่งแห่งหนึ่งในพระพุทธศาสนา

เมื่อเขียนนิทานนี้ ฉันนึกขึ้นว่าจะมีไทยใครได้เคยไปถึงมฤคทายวัน ก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงบ้างหรือไม่ คิดหาไม่เห็นใคร เลยคิดค้นต่อไปในเรื่องพงศาวดารก็เกิดพิศวง ด้วยปรากฏว่าเมืองไทยเราขาดคมนาคมกับอินเดียในเรื่องพระพุทธศาสนามาเสียตั้งแต่ก่อนพระร่วงครองกรุงสุโขทัย เพราะพระพุทธศาสนาในอินเดียถูกพวกมิจฉาทิฐิ ทั้งที่ถือศาสนาอิสลามและที่ถือศาสนาฮินดู พยายามล้างผลาญมาช้านาน จนหมดสิ้นสังฆมณฑล และประชาชนที่ถือพระพุทธศาสนาไม่มีในอินเดียมาเสียแต่ราว พ.ศ. ๑๖๐๐ ก่อนตั้งราชวงศ์พระร่วงถึง ๒๐๐ ปี เพราะฉะนั้น ไทยจึงต้องเปลี่ยนไปนับถือประเทศลังกา รับพระไตรปิฎกกับทั้งสมณวงศ์และเจดีย์วัตถุต่างๆ มีพระบรมธาตุและต้นพระศรีมหาโพธิเป็นต้น มาจากลังกาทวีป ดังปรากฏในเรื่องพงศาวดารและศิลาจารึกครั้งสุโขทัย ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็เป็นเช่นเดียวกัน ถึงแม้การไปมาในระหว่างเมืองไทยกับอินเดียยังมีอยู่ ก็เป็นในการซื้อขาย ไม่เกี่ยวข้องถึงศาสนา และไปค้าขายเพียงตามเมืองในอินเดียทางฝ่ายใต้ที่เป็นภาคมัทราส (Madras) บัดนี้หาปรากฏว่าได้มีไทยไปจนถึงอินเดียตอนมัชฌิมประเทศที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพระศาสนาไม่ เพราะฉะนั้นการที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปถึงมฤคทายวัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ เป็นการสำคัญ ถ้าเรียกอย่างโบราณก็ว่า “เสด็จไปสืบพระศาสนา” ซึ่งเริดร้างมากว่า ๗๐๐ ปี และการที่เสด็จไปครั้งนั้นก็มีผลทำให้ความรู้ความเห็นของไทยในโบราณคดีเรื่องพระพุทธศาสนากว้างขวางขึ้นโดยลำดับมาจนบัดนี้ จะเล่าเรื่องที่ปรากฏในชั้นแรกก่อน

เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับจากอินเดีย ได้รูปฉายพระ “ธรรมเมกข” เจดีย์ ที่เป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่อยู่ในมฤคทายวัน มาถวายกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นครั้งแรกที่ไทยจะได้เห็นรูปพระสถูปเจดีย์ในอินเดีย รูปพระธรรมเมกขเจดีย์นั้นเป็นพระเจดีย์กลมตอนล่างใหญ่ตอนบนรัดเล็กเข้าไปดูเป็น ๒ ลอน ผิดกับรูปทรงพระเจดีย์ที่สร้างกันในเมืองไทย กรมสมเด็จพระปวเรศฯ ทรงพิจารณากับพระมหาเถระองค์อื่นๆ ลงมติพร้อมกันว่ารูปพระธรรมเมกขเจดีย์ ตรงกับในพระบาลีว่าพระสถูปสัณฐานเหมือนลอมฟาง (รูปลอมฟางในเมืองไทยมี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเหมือนโอคว่ำ อีกอย่างหนึ่งเป็น ๒ ลอนเหมือนอย่างรูปพระธรรมเมกขเจดีย์) ครั้งนั้นมีผู้เชื่อว่ารูปพระสถูปเจดีย์แบบเดิมคงเป็น ๒ ลอนอย่างพระธรรมเมกขเจดีย์ ถึงเอาแบบไปสร้างขึ้นหลายแห่ง ว่าแต่ที่ฉันจำได้สร้างไว้ที่บริเวณกุฎีสมเด็จพระวันรัต (พุทฺธสิริ ทัพ) วัดโสมนัสวิหารแห่งหนึ่ง ที่วัดกันมาตุยารามแห่งหนึ่ง ดูเหมือนจะยังอยู่จนเดี๋ยวนี้ ความนิยมที่จะไปอินเดียเพื่อศึกษาโบราณคดีเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา ก็เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปครั้งนั้น ต่อมาจึงมีไทยทั้งที่เป็นคฤหัสถ์และพระภิกษุพวกเที่ยวธุดงค์ไปถึงมัชฌิมประเทศในอินเดียเนืองๆ

ฉันไปอินเดียเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ภายหลังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปได้ ๑๙ ปี ในระหว่างนั้น ความนิยมที่จะศึกษาและหาความรู้โบราณคดีในอินเดียเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อนมากแล้ว แม้ตัวฉันเองเมื่อไปถึงอินเดียก็ออกสนุกในการที่จะพิจารณาขนบธรรมเนียมที่พ้องกับเมืองไทย ดังได้เล่าไว้ในนิทานเรื่องอื่น ในนิทานเรื่องนี้จะเล่าพระบริโภคเจดีย์ที่ฉันได้บูชา กับที่ฉันได้เสาะหาของต่างๆ ซึ่งเป็นพุทธเจดีย์เอามาเมืองไทยในครั้งนั้น

มฤคทายวัน

เมื่อฉันพักอยู่ ณ เมืองพาราณสี ก็ได้ไปกระทำพุทธบูชาที่พระบริโภคเจดีย์ในมฤคทายวัน แต่ชาวเมืองเรียกชื่อตำบลนั้นว่า “สารนาถ” (Sarnath) ว่ามาแต่คำ “สารังคนาถ” ภาษามคธแปลว่า “ผู้เป็นที่พึ่งของกวาง” มฤคทายวันอยู่นอกเมืองพาราณสีทางด้านตะวันออก ห่างแม่น้ำคงคาราวสัก ๑๖๐ เส้น ในสมัยเมื่อฉันไปยังร้างรกอยู่มาก กรมตรวจโบราณคดีในอินเดียเป็นแต่ได้ขุดค้นเป็นแห่งๆ เพื่อหาของโบราณส่งไปเข้าพิพิธภัณฑสถาน ยังไม่ได้ลงมือขุดเปิดให้เห็นแผนผัง และจัดการรักษาอย่างเดี๋ยวนี้ ไปมฤคทายวันในสมัยนั้น ยังแลเห็นแต่พระธรรมเมกขเจดีย์สูงตระหง่านเป็นสำคัญอยู่องค์เดียว กับมีเครื่องศิลาจำหลัก ซึ่งเพิ่งพบใหม่ยังไม่ทันส่งไปพิพิธภัณฑสถานรวมไว้แห่งหนึ่ง ฉันขอมาได้บ้าง ดังจะเล่าต่อไปข้างหน้า นอกจากนั้นยังแลเห็นแต่ดินเป็นโคกน้อยใหญ่ไปรอบข้าง พระธรรมเมกขเจดีย์นั้น ในหนังสือนำทางแต่งชั้นหลังบอกขนาดว่าสูงแต่รากขึ้นไปตลอดองค์ราว ๒๔ วา วัดผ่ากลางตอนใหญ่ ๑๕ วาครึ่ง และตอนใหญ่นั้นเป็นศิลาขึ้นไปราว ๖ วา เมื่อฉันพิจารณาดูพระธรรมเมกขเจดีย์ เกิดความเห็นขึ้นใหม่ผิดกับเข้าใจกันอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ว่าสร้างรูปทรงเป็น ๒ ลอนเหมือนลอมฟางดังกล่าวมาแล้ว เพราะไปสังเกตตอนใหญ่ที่อยู่เบื้องต่ำเห็นก่อหุ้มด้วยศิลา ตอนเบื้องบนที่คอดเข้าไปก่อด้วยอิฐ ฉันคิดเห็นว่าที่ดูรูปเป็น ๒ ลอน น่าจะเป็นเพราะการแก้ไขเปลี่ยนแปลง มิใช่แบบเดิมเจตนาจะให้เป็นเช่นนั้น คิดสันนิษฐานต่อไปเห็นว่าของเดิมคงก่อหุ้มด้วยศิลาตลอดทั้งองค์ ถูกพวกมิจฉาทิฐิรื้อเอาแท่งศิลาตอนข้างบนไปเสีย เหลือทิ้งไว้แต่แกนอิฐ หรือมิฉะนั้นพวกมิจฉาทิฐิเจตนาจะทำลายพระเจดีย์นั้นทั้งหมด แต่รื้อลงมาค้างอยู่ครึ่งองค์ ภายหลังมามีพวกสัมมาทิฐิไปปฏิสังขรณ์ ก่อแกนอิฐขึ้นไปตลอดองค์ แต่ไปค้างอยู่ไม่ได้ก่อศิลาหุ้มตอนบนจึงเหลือเป็นอิฐอยู่เช่นนั้น รูปพระเจดีย์เดิมเห็นจะเป็นอย่างทรงโอคว่ำ ก็เหมือนทรงลอมฟางอย่างที่ไม่คอดเช่นว่ามาแล้ว เมื่อไปบูชา ฉันคิดเห็นเพียงเท่านั้น ต่อมาอีกหลายสิบปีจึงได้เห็นรูปพระสถูปเจดีย์แบบเดิมที่เมืองสารเขต อันเป็นเมืองโบราณรุ่นเดียวกับเมืองนครปฐม อยู่ใกล้เมืองแปรในประเทศพม่า รูปทรงคล้ายกับโอคว่ำหรือโคมหวดคว่ำ มีบัลลังก์ปักฉัตรเป็นยอดอยู่ข้างบน ชั้นประทักษิณทำแต่เหมือนอย่างบันไดขั้นเดียวติดกับฐานพระสถูป พระสถูปเจดีย์เมืองอนุราธบุรีในลังกาทวีปที่สร้างชั้นเดิมก็เป็นรูปเช่นว่า และได้เห็นรูปภาพในหนังสืออังกฤษแต่งว่าด้วยพุทธเจดีย์ในคันธารราษฎร์ ก็ว่าพระสถูปชั้นเดิมรูปเป็นอย่างนั้น แล้วกล่าวอธิบายต่อไปว่า ชาวอินเดียแต่โบราณกลัวบาปไม่รื้อแย่งพระเจดีย์ ถ้าจะบูรณะปฏิสังขรณ์ก็มีแต่ก่อพอกเพิ่มพระเจดีย์เดิม เป็นเหตุให้รูปทรงพระเจดีย์เปลี่ยนไปดังปรากฏในชั้นหลัง แม้พระธรรมเมกขเจดีย์ที่มฤคทายวัน เขาก็ตรวจพบว่ามีองค์เดิมซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชอยู่ข้างในไม่สู้ใหญ่นัก ก่อองค์ที่ยังแลเห็นอิฐครอบองค์เดิม แล้วยังมีผู้ศรัทธามาก่อศิลาครอบเข้าข้างนอกอีกชั้นหนึ่ง แต่ทำไม่สำเร็จค้างอยู่ เขาสังเกตลวดลายที่จำหลักว่าเป็นแบบของช่างสมัยราชวงศ์สุงคะ ราว พ.ศ. ๔๕๐ พระธรรมเมกขเจดีย์จึงกลายเป็นรูป ๒ ลอนด้วยประการฉะนี้ ถ้าเป็นเช่นเขาว่า ที่ฉันสันนิษฐานว่าเป็นเพราะมิจฉาทิฐิทำร้ายก็ผิดไป ถึงไทยเราก็ถือเป็นคติมาแต่ดั้งเดิมเหมือนเช่นชาวอินเดีย ว่าไม่ควรรื้อแย่งพุทธเจดีย์ แม้เพื่อจะบูรณะปฏิสังขรณ์ มีตัวอย่างจะอ้างได้ง่ายๆ เช่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระปฐมเจดีย์ ก็ทรงสร้างพระมหาสถูปครอบพระปฐมเจดีย์องค์ก่อน หาได้ทรงรื้อแย่งองค์เดิมอย่างใดไม่

มหาเจดียสถานในอินเดีย ที่เรียกว่า “บริโภคเจดีย์” มี ๔ แห่ง ล้วนมีเรื่องเนื่องด้วยพุทธประวัติ ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าทรงประชวรคราวจะเสด็จเข้าพระนิพพาน พระอานนท์ทูลปรารภความวิตกว่าเมื่อพระพุทธองค์เสด็จล่วงลับไปแล้ว พวกพุทธบริษัทซึ่งได้เคยเฝ้าแหนเห็นพระองค์อยู่เนืองนิจ จะพากันเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจ พระพุทธเจ้าจึงทรงพระกรุณาโปรดประทานอนุญาตไว้ว่า ถ้าพวกพุทธบริษัทใครเกิดว้าเหว่ ก็ให้ไปปลงธรรมสังเวช ณ สถานที่อันเนื่องกับพระพุทธประวัติ ๔ แห่ง คือที่พระพุทธองค์ประสูติในสวนลุมพินี ณ เมืองกบิลพัสดุ์แห่งหนึ่ง ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้พระโพธิญาณ ณ เมืองคยาแห่งหนึ่ง ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาตั้งพระศาสนาในมฤคทายวัน ณ เมืองพาราณสีแห่งหนึ่ง ที่พระพุทธองค์เสด็จเข้าพระนิพพานในป่าสาลวัน ณ เมืองกุสินาราแห่งหนึ่ง จะไปยังแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ตามแต่จะสะดวก เพราะฉะนั้นจำเดิมแต่ล่วงพุทธกาล พวกพุทธบริษัทก็พากันไปกระทำพุทธบูชา ณ ที่ ๔ แห่งนั้นสืบมา เรียกว่า บริโภคเจดีย์ เพราะเกี่ยวกับพระองค์พระพุทธเจ้า ก็บริโภคเจดีย์ทั้ง ๔ นั้น มีคนไปบูชาที่มฤคทายวันมากกว่าแห่งอื่น เพราะอยู่ในชานมหานคร แต่อีก ๓ แห่งอยู่ในเขตเมืองน้อย มหาเจดียสถานที่มฤคทายวันจึงใหญ่โตกว่าแห่งอื่น กรมตรวจโบราณคดีพบของโบราณมีแบบกระบวนช่าง สังเกตได้ว่าบูรณะปฏิสังขรณ์มาทุกสมัยเมื่อยังมีพุทธศาสนิกชนอยู่ในอินเดีย และถูกพวกมิจฉาทิฐิรื้อทำลายยิ่งกว่าที่ไหนๆ เพราะอยู่ใกล้มหานครกว่าแห่งอื่น

พุทธคยา

เมืองคยาเป็นเมืองน้อย เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปอินเดียยังไม่มีทางรถไฟไปถึง จึงไม่ได้เสด็จไป เมื่อฉันไปมีทางรถไฟแล้ว ถึงกระนั้นรัฐบาลอินเดียก็ไม่ได้กะจะให้ไป หากฉันอยากบูชาพระบริโภคเจดีย์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณ เขาจึงจัดให้ไปตามประสงค์ พอไปถึงก็เห็นความลำบากของรัฐบาล เพราะไม่มีที่จะให้พัก ต้องแบ่งห้องในเรือนของเจ้าเมืองให้ฉันอยู่ และเอากระโจมเต็นท์ผ้าใบไปปักที่ลานบ้านเจ้าเมือง ให้คนอื่นที่ไปกับฉันอยู่อีกหลายหลัง แต่มีดีกว่าที่อื่นอย่างหนึ่งที่มีมิสเตอร์เครียสันเจ้าเมือง เป็นนักเรียนโบราณคดีทั้งเรื่องศาสนาและภาษาของชาวอินเดีย ภายหลังมาได้เป็น เซอร์ มีชื่อเสียงเป็นนักปราชญ์สำคัญคนหนึ่ง พอรู้ว่าฉันจะไป ก็เตรียมต้นโพธิพรรณพระศรีมหาโพธิที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ปลูกใส่กระบอกไม้ไผ่ไว้ให้ ๓ ต้น สำหรับจะได้เอามาเมืองไทย แต่จะรอเรื่องต้นโพธินั้นไว้เล่าต่อไปข้างหน้า มิสเตอร์เครียสันบอกว่าที่ในแขวงเมืองคยานั้น ยังมีของโบราณเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาจมอยู่ในแผ่นดินอีกมากมายหลายแห่ง เสียดายที่ฉันไปอยู่น้อยวันนัก ถ้ามีเวลาพอจะพาไปเมืองราชคฤห์ของพระเจ้าพิมพิสาร เป็นเมืองร้างทางเกวียนไปสักวันหนึ่ง เตรียมจอบเสียมไปด้วย อาจจะขุดหาของโบราณได้สนุกดีทีเดียว

ที่เมืองคยานั้น มีเจดียสถานของโบราณที่คนนับถือมากสองแห่ง คือที่ตำบลคยาสิระ มีวัดวิษณุบาทเป็นที่นับถือของพวกฮินดูแห่งหนึ่ง กับวัดพุทธคยา เป็นที่นับถือของพวกถือพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง แม้ที่พุทธคยาพวกฮินดูก็ไปบูชา เพราะพวกฮินดูที่เมืองคยาถือคติฝ่ายวิษณุเวทโดยมาก ถือว่าพระวิษณุอวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้า ดังกล่าวในเรื่องนารายณ์สิบปาง จึงมีคนต่างด้าวทั้งพวกฮินดูและพวกถือพระพุทธศาสนา พากันบูชาที่เจดียสถานทั้งสองแห่งนั้นตั้งปีละ ๑๐๐,๐๐๐ คนเป็นนิจ

พระมหาเจดียสถานที่พุทธคยา อยู่ห่างเมืองคยาสักระยะทางราว ๗๕ เส้น มีถนนไปรถเทียมม้าคู่ได้ตลอดทาง ต้องผ่านวัดคยาสิระของพวกฮินดูไปก่อน วัดนั้นอยู่กลางหมู่บ้านของพวกชาวเมือง ฉันแวะเข้าไปดูพวกฮินดูก็พากันต้อนรับ พาเข้าไปในวัด และเลี้ยงดูโดยเอื้อเฟื้อ เรื่องตำนานของวัดนั้นว่า เดิมมียักษ์ตนหนึ่งชื่อว่าคยา เป็นสัตว์บาปหยาบช้าเที่ยวเบียดเบียนมนุษย์ จึงร้อนถึงพระวิษณุ คือพระนารายณ์ เสด็จลงมาปราบยักษ์ตนนั้น เอาพระบาทขวาเหยียบอกตัดหัวยักษ์โยนไป แล้วสาปให้หัวยักษ์กลายเป็นหินเช่นปรากฏอยู่ รอยพระบาทของพระวิษณุที่เหยียบอกก็ปรากฏอยู่ด้วย จึงเรียกเจดียสถานนั้นว่า “วิษณุบาท” พวกฮินดูเชื่อกันว่าถ้าใครไปบูชา อาจจะอธิษฐานช่วยญาติที่ตายไปแล้วให้พ้นอบายภูมิได้ จึงพากันไปบูชาหาบุญเพื่อเหตุนั้น ฉันเข้าไปเยี่ยมดูเพียงประตูวิหาร จะเข้าไปในนั้นเกรงว่าพวกฮินดูจะรังเกียจ เห็นมีศิลาสีดำเทือกหนึ่งซึ่งสมมตว่าเป็นตัวยักษ์คยา ยาวสัก ๘ ศอก ดูรูปคล้ายกับคนนอนอยู่บนฐานชุกชีกลางวิหาร ทำนองเดียวกันกับม้วนผ้าที่บนพระแท่นดงรังในเมืองไทย รอยวิษณุบาทฉันไม่ได้เห็น แต่เขาพรรณนาไว้ในหนังสือนำทางว่าทำรูปพระบาทด้วยแผ่นเงินขนาดกว้างยาวเท่าๆ กับตีนคน ติดไว้กับพื้นโพรงหินอันมีอยู่ตรงอกของรูปยักษ์ แต่พวกชาวบ้านจำลองรูปพระบาททำด้วยแผ่นทองแดง และทำของอื่นๆ ด้วยศิลาดำ เช่นเดียวกับที่เป็นตัวยักษ์จำหลักรูปวิษณุบาทติดไว้ขายพวกสัปบุรุษหลายอย่าง ตำบลคยาสิระนี้ดูชื่อพ้องกับนิทานวัจน นำอาทิตตปริยายสูตร ซึ่งว่า “คยายํ วิหรติ คยาสีเส” น่าจะหมายความว่า “พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนั้น ณ ตำบลคยาสิระในแขวงเมืองคยา” คือในตำบลที่ฉันไปนั่นเอง นิทานเรื่องพระนารายณ์ปราบยักษ์คยา น่าจะเกิดขึ้นต่อภายหลังพุทธกาล ด้วยเอาคำ “คยาสีเส” หรือ “คยาสิระ” มาผูกขึ้นเป็นเรื่องยักษ์มารดังกล่าวมา

ฉันไปพุทธคยาครั้งนั้น นึกคาดไปว่าจะได้เกียรติเป็นไทยคนแรกที่ได้ไปสืบพระศาสนาถึงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณ เหมือนเช่นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปสืบศาสนาถึงมฤคทายวัน ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศตั้งพระพุทธศาสนา แต่เมื่อไปถึงวัดพุทธคยาพอเข้าประตูวิหาร เห็นผ้ากราบพระปักตรางานหลวงในเมืองไทยผูกห้อยอยู่ผืนหนึ่งก็สิ้นกระหยิ่มใจ ด้วยมีพระภิกษุไทยองค์ใดองค์หนึ่งได้ไปถึงเสียก่อนแล้ว พิจารณาดูหนังสือไทยที่เขียนไว้กับผ้ากราบ บอกชื่อว่า “พระสังกันตเนตรได้มาบูชา” ฉันก็รู้จักตัว คือพระสมุห์เนตร วัดเครือวัลย์ฯ ภายหลังมาได้เป็นพระราชาคณะที่ พระสมุทรมุนี ซึ่งเป็นพระชอบเที่ยวธุดงค์มาแต่ยังหนุ่มจนขึ้นชื่อลือนาม แต่ฉันไม่ได้คาดว่าจะสามารถไปได้ถึงพุทธคยาในอินเดียในสมัยนั้น ก็ประหลาดใจ ที่ตำบลพุทธคยามีแต่วัดพระศรีมหาโพธิ หรือถ้าเรียกอย่างไทยก็ว่า “วัดโพธิ์” กับบ้านพวกพราหมณ์มหันต์อยู่หมู่หนึ่ง ไม่มีบ้านเรือนราษฎรห้อมล้อมเหมือนเช่นที่วัดวิษณุบาท เพราะที่ดินตำบลนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพวกพราหมณ์มหันต์ ดังจะบอกเหตุต่อไปข้างหน้า ที่วัดอยู่ห่างฝั่งลำน้ำเนรัญชรที่พระพุทธเจ้าทรงลอยถาดไม่ถึง ๑๐ เส้น แต่ลำน้ำเนรัญชรนั้น เวลาเมื่อฉันไปเป็นฤดูแล้งน้ำแห้งขาด แลดูท้องน้ำเป็นแต่พื้นทรายเม็ดใหญ่ แต่เขาว่าขุดลงไปตรงไหนก็ได้น้ำที่ไหลอยู่ใต้ทรายเสมอ ตัววัดพระศรีมหาโพธิ เมื่อฉันไปมีสิ่งสำคัญแต่พระปรางค์ใหญ่อยู่ด้านหน้าทางทิศตะวันออกองค์หนึ่ง หลังพระปรางค์เข้าไปมีพระแท่น “รัตนบัลลังก์” เป็นศิลาจำหลักแผ่นใหญ่ ว่าพระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างประดิษฐานไว้ตรงที่พระพุทธเจ้าประทับ เมื่อตรัสรู้ที่ใกล้โคนต้นพระศรีมหาโพธิแผ่นหนึ่ง ต่อพระแท่นไปก็ถึงต้นพระศรีมหาโพธิ มีฐานก่อล้อมรอบต้นพระศรีมหาโพธิเมื่อฉันไปขนาดลำต้นราวสัก ๔ กำ เป็นทายาทสืบสันตติพรรณมาแต่พระศรีมหาโพธิต้นเดิมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้สักกี่ชั่วแล้วไม่มีใครรู้ รู้แต่ว่าสืบพืชพรรณมาแต่พระศรีมหาโพธิต้นเดิมอยู่ในที่เดียวกันมาจนกาลบัดนี้ ลานวัดปราบเป็นที่ราบออกไปสัก ๒ เส้น ๔ เหลี่ยมมีกำแพงล้อม นอกกำแพงออกไปยังเป็นกองดินสูงบ้างต่ำบ้างเป็นพืดไป กรมตรวจโบราณคดียังไม่ได้ขุดค้น

เรื่องตำนานของวัดพระศรีมหาโพธิพุทธคยา เมื่อตอนก่อนสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แม้เป็นที่พุทธศาสนิกชนไปบูชามาแต่แรกพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าพระนิพพาน ก็ไม่ปรากฏสิ่งใดที่สร้างไว้ก่อน พ.ศ. ๒๐๐ ของเก่าที่พบมีแต่ของครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช ว่าทรงสร้างพระแท่นรัตนบัลลังก์กับวิหารขนาดน้อยไว้ข้างหน้าต้นโพธิ เป็นที่คนไปบูชาหลังหนึ่ง ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลายในอินเดีย มีผู้ศรัทธาไปสร้างเจดีย์วัตถุและเครื่องประดับต่างๆ เพิ่มเติมต่อมาโดยลำดับ ผู้ตรวจเขาสังเกตแบบลวดลายตามสมัย ได้เค้าว่ามีชาวอินเดียปฏิสังขรณ์มาจนราว พ.ศ. ๑๕๐๐ ก่อนพระพุทธศาสนาจะถูกกำจัดจากอินเดียไม่นานนัก แต่การบูรณะปฏิสังขรณ์สิ่งสำคัญ คือพระปรางค์ที่เป็นหลักวัดอยู่เดี๋ยวนี้ เขาสันนิษฐานว่าถึงสมัยเมื่อเกิดนิยมทำพระพุทธรูปในราว พ.ศ. ๕๐๐ มีผู้สร้างแปลงวิหารของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งเดิมเป็นแต่ที่สำหรับคนบูชาพระศรีมหาโพธิ ให้ใหญ่ขึ้นกว่าเก่า เป็นที่ตั้งพระพุทธรูปด้วย ต่อมาถึง พ.ศ. ๑๐๐๐ เศษ มีมหาพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ อมรเทวะ เป็นปุโรหิตของพระเจ้าวิกรมาทิตย์ ณ เมืองมัลวา เข้ารีตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มาสร้างแปลงวิหารนั้นเป็นพระปรางค์องค์ที่ยังปรากฏอยู่บัดนี้ แบบอย่างรูปทรงผิดกับพระเจดีย์บรรดาที่มีในอินเดียทั้งหมด คงเป็นเพราะพราหมณ์อมรเทวะเคยถือไสยศาสตร์ ชอบแบบอย่างเทวาลัยอยู่ก่อน เอาเค้าเทวาลัยกับพระเจดีย์ทางพระพุทธศาสนาผสมกันทำตอนยอดเป็นพระสถูป ตอนกลางเป็นปรางค์ ตอนล่างเป็นวิหารที่ตั้งพระพุทธรูป เพราะฉะนั้นจึงแปลกกับที่อื่น สร้างด้วยก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ สัณฐานเป็น ๔ เหลี่ยมสูงตลอดยอด ๓๐ วา ตอนล่างที่เป็นวิหารกว้าง ๘ วา สูง ๔ วาเศษ ทำคูหาตั้งพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักสัก ๓ ศอกเป็นประธาน ที่ฝาผนังวิหารมีช่องบันไดขึ้นไปบนหลังคา ซึ่งทำเป็นหลังคาตัด ลานทักษิณรอบพระปรางค์ใหญ่องค์กลาง และมีปรางค์น้อยตามมุมลานทักษิณ ๔ องค์ ปรางค์ใหญ่ก็เป็นรูป ๔ เหลี่ยมทรงสอบขึ้นไปทางยอด ทำซุ้มจรนำมีคูหาสำหรับตั้งพระพุทธรูป เรียงรอบพระปรางค์เป็นชั้นๆ ขึ้นไป ๙ ชั้น ถึงที่สุดปรางค์ทำพระสถูปเจดีย์กลมไว้เป็นยอด เมื่อใหม่ๆ ดูก็เห็นจะงามแปลกตา

ครั้นถึงสมัยเมื่อพระพุทธศาสนาถูกพวกมิจฉาทิฐิล้างผลาญที่ในอินเดีย มีพวกชาวอินเดียที่ถือพระพุทธศาสนาพากันหนีไปพึ่งพระเจ้าราชาธิราชพม่า ณ เมืองพุกาม อันเป็นพุทธศาสนูปถัมภกเป็นอันมาก คงไปทูลพรรณนาถึงพุทธเจดียสถานในอินเดีย ให้พระเจ้าคันชิตราชาธิราชพระองค์ที่ ๓ ทรงทราบ จึงทรงเลื่อมใสศรัทธาให้ปฏิสังขรณ์พระปรางค์พุทธคยา เมื่อราว พ.ศ. ๑๖๕๕ ครั้งหนึ่ง ต่อมาพระเจ้าอลองคสิทธุราชาธิราชพระองค์ที่ ๔ ไปปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง และพระเจ้าติโลมินโลราชาราชาธิราชองค์ที่ ๙ ให้ไปถ่ายแบบพระปรางค์พุทธคยาไปสร้างไว้ที่เมืองพุกามเมื่อราว พ.ศ. ๑๗๕๓ องค์หนึ่ง เลยมีเรื่องต่อมาถึงเมืองไทย ด้วยมีพระเจดีย์โบราณก่อด้วยศิลาแลงอยู่ที่เมืองเชียงใหม่องค์หนึ่ง ชาวเมืองเรียกว่า “พระเจดีย์เจ็ดยอด” รูปสัณฐานทำอย่างพระปรางค์พุทธคยา ฉันได้เคยเห็นทั้งองค์ที่พุทธคยาและองค์ที่เมืองพุกาม จึงอ้างได้แน่ว่าองค์ที่เมืองเชียงใหม่คงถ่ายแบบมาจากองค์ที่เมืองพุกาม เป็นแต่ย่อขนาดให้ย่อมลงสักหน่อยและน่าจะสร้างเมื่อก่อน พ.ศ. ๑๘๐๐ ในสมัยเมื่อเมืองเชียงใหม่ยังเป็นเมืองขึ้นพระเจ้าราชาธิราชเมืองพุกาม อาจจะมีเจ้านายราชวงศ์พุกามมาครอบครอง (บางทีจะเป็นองค์ที่อภิเษกกับนางจามเทวี) เอาอย่างพระปรางค์มาจากเมืองพุกามและสร้างอย่างประณีตถึงเพียงนั้น ความส่อต่อไปว่าที่ในหนังสือพงศาวดารเชียงใหม่ ว่าพระยามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ นั้น ที่จริงสร้างในท้องที่เมืองเก่าอันร้างอยู่ มิได้สร้างในที่ป่าเถื่อน เรื่องตำนานพระปรางค์ที่พุทธคยายังมีต่อมาว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ ภายหลังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปอินเดีย ๕ ปี พระเจ้ามินดงประเทศพม่าใคร่จะบำเพ็ญพระราชกุศล ตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าราชาธิราชพม่าแต่ปางก่อน ให้ไปขออนุญาตต่อรัฐบาลอังกฤษปฏิสังขรณ์พระปรางค์พุทธคยาอีกครั้งหนึ่ง แต่พม่าไปปฏิสังขรณ์ครั้งนี้นักโบราณคดีอังกฤษยังติเตียนกันอยู่จนทุกวันนี้ ว่าเหมือนไปทำลายยิ่งกว่าไปทำให้กลับคืนดี เพราะข้าหลวงพม่ามีความคิดเพิ่มจะก่อกำแพงล้อมรอบ กับจะปราบที่ในลานวัดทำให้ราบรื่น รื้อแย่งเครื่องศิลาของโบราณที่สร้างไว้ในบริเวณ ขนเอาออกไปทิ้งเสียโดยมาก ทั้งเที่ยวรื้อเอาอิฐตามโบราณสถานในที่มีอยู่ใกล้ๆ ไปก่อกำแพงวัดที่ทำนั้นทำให้ยิ่งยับเยินหนักไป แม้ที่องค์พระปรางค์ก็กะเทาะเอาลวดลายปั้นของเดิมที่ยังเหลืออยู่ออกเสีย เอาปูนยารอยที่ชำรุดแล้วทาปูนขาวฉาบทั่วทั้งองค์ เอาเป็นสำเร็จเพียงนั้น ต่อมาจะเป็นด้วยรัฐบาลอินเดียรู้สึกเอง ว่าที่ได้อนุญาตให้พม่าปฏิสังขรณ์โดยไม่ควบคุมผิดไป หรือจะเป็นด้วยถูกพวกนักโบราณคดีติเตียนมาก เจ้าเมืองบังกล่า (Bengal) จึงให้ปฏิสังขรณ์องค์พระปรางค์อีกครั้งหนึ่ง ตกแต่งถือปูนเรียบร้อยทั้งองค์ เห็นจะสำเร็จก่อนฉันไปไม่ช้านัก และดูยังใหม่ และมีศิลาจารึกบอกไว้ แต่ฉันจำศักราชไม่ได้ว่าปฏิสังขรณ์เมื่อปีใด

เมื่อฉันไปถึงวัดพุทธคยา พวกพราหมณ์มหันต์ (Mahant) พากันมาต้อนรับ พอฉันบูชาพระและเที่ยวดูทั่วเขตวัดแล้ว เชิญไปพักที่เรือนมหาพราหมณ์ผู้เป็นหัวหน้าพวกมหันต์ มีพิธีต้อนรับ เช่นสวมพวงมาลัยให้แล้วจัดของว่างมาเลี้ยงเป็นต้น ที่วัดพุทธคยามีเครื่องศิลาจำหลักของโบราณเหลืออยู่มากกว่าที่มฤคทายวัน พวกพราหมณ์มหันต์เก็บเอามาประดับประดาไว้ตามที่ต่างๆ ฉันอยากได้สิ่งไหนออกปากขอ ก็ยอมให้โดยเต็มใจไม่ขัดขวาง ฉันเลือกแต่ของที่แปลกตาขนาดเล็กๆ พอจะเอามาด้วยได้สักสี่ห้าสิ่ง บางสิ่งก็มาเป็นของสำคัญดังจะเล่าที่อื่นต่อไป เหตุที่พวกพราหมณ์มหันต์จะได้เป็นเจ้าของวัดพุทธคยานั้น ปรากฏว่ากว่า ๒๐๐ ปีมาแล้ว ในสมัยบริษัทอังกฤษยังปกครองอินเดียขยายอาณาเขตออกไปถึงมัชฌิมประเทศ จัดวิธีการปกครองด้วยแบ่งที่ดินให้ชาวอินเดียที่ฝักฝ่ายอยู่ในอังกฤษ และเป็นคนมีกำลังพาหนะที่จะปกครองถือที่ดินเรียกว่า ซามินดาร์ (Zamindar) มีอาณาเขตเป็นส่วนๆ ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ต้องบังคับบัญชาการตามกฎหมายอังกฤษ และส่งเงินส่วยแก่รัฐบาลอินเดียตามกำหนดที่ตกลงกัน ถ้าซามินดาร์กระทำตามสัญญาอยู่ตราบใด รัฐบาลยอมให้ผู้สืบสกุลมีสิทธิเช่นเดียวกันเสมอไป ก็ในสมัยเมื่อตั้งวิธีปกครองเช่นว่านั้น ที่ตำบลพุทธคยาเป็นป่าร้างมีแต่พวกพราหมณ์มหันต์ตั้งบ้านเรือนอยู่ มหาพราหมณ์ผู้เป็นหัวหน้าได้รับตำแหน่งเป็นซามินดาร์ ปกครองตำบลพุทธคยา และมหาพราหมณ์ที่เป็นทายาทได้รับสิทธิปกครองสืบกันมา วัดพุทธคยาอยู่ในอาณาเขตที่ดินของพวกพราหมณ์มหันต์ พวกพราหมณ์มหันต์จึงถือว่าเป็นผู้ปกครองวัดพุทธคยา และดูแลรักษาเป็นเทวสถานตามลัทธิวิษณุเวทในศาสนาของตนด้วย

เรื่องมหาโพธิสมาคม

ในครั้งนั้น เผอิญฉันต้องไปรับรู้เรื่องตั้งมหาโพธิสมาคมอันเนื่องกับเจดียสถานที่พุทธคยา จะเลยเล่าไว้ในที่นี้ด้วย เมื่อฉันออกจากเมืองคยามาพักอยู่ที่เมืองกัลกัตตา มีชายหนุ่มเป็นชาวลังกาชื่อ “ธรรมปาละ” มาหาฉันด้วยกันกับพ่อค้าพม่าคนหนึ่ง นายธรรมปาละบอกว่าพวกเขาคิดจะฟื้นพระพุทธศาสนา ให้กลับนับถือกันในอินเดียดังแต่เดิม ความคิดที่พวกเขาจะทำการนั้น เขาจะเอาที่พระมหาเจดีย์พุทธคยาตั้งเป็นแหล่ง แล้วชวนพุทธศาสนิกชนทั่วทุกชาติทุกภาษา ให้ร่วมมือช่วยกันจัดการสอนพระพุทธศาสนาให้มีคนนับถือแพร่หลายในอินเดีย ต่อนั้นไปก็จะได้ทำนุบำรุงพระเจดียสถานต่างๆ ให้พระพุทธศาสนากลับเป็นส่วนใหญ่อันหนึ่ง ในศาสนาต่างๆ ที่ในอินเดีย และเอาเป็นที่ประชุมของพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งโลก ในเวลานั้นมีชาวลังกาและพม่าเข้าร่วมมือกับเขาหลายคนแล้ว จึงตั้งเป็นสมาคมให้ชื่อว่า “มหาโพธิ” ตามนามมหาเจดีย์ ณ พุทธคยา ที่เขาจะเอาเป็นแหล่งฟื้นพระพุทธศาสนา แต่มีความขัดข้องเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง ด้วยพวกพราหมณ์มหันต์อ้างว่าที่ดินตำบลพุทธคยากับทั้งมหาเจดียสถาน เป็นสมบัติของตน ไม่ยอมให้สมาคมมหาโพธิไปตั้งสถานี ณ ที่นั้น จะขอซื้อเฉพาะตรงที่วัดก็ไม่ขาย นายธรรมปาละมาหาฉันด้วยเห็นว่าเป็นเจ้านายประเทศไทย อันเป็นประเทศสำคัญที่นับถือพระพุทธศาสนาประเทศหนึ่ง เพื่อจะขอให้ฉันช่วยพูดจากับอุปราช Viceroy อินเดีย ให้ใช้อำนาจรัฐบาลบังคับพวกพราหมณ์มหันต์ ให้มอบวัดพระมหาโพธิ อันเป็นวัดในพระพุทธศาสนาคืนให้เป็นวัดของพวกพุทธศาสนิกชนตามเดิม ฉันตอบว่าที่พวกเขาคิดจะฟื้นพระพุทธศาสนาในอินเดียนั้น ฉันก็ยินดีอนุโมทนาด้วย แต่ที่จะให้ไปพูดกับอุปราชในเรื่องวัดพระมหาโพธินั้น ฉันเห็นจะรับธุระไม่ได้ ด้วยการนั้นเป็นการภายในบ้านเมืองของอินเดีย ตัวฉันเป็นชาวต่างประเทศ ทั้งเป็นแขกของรัฐบาล ที่จะเอื้อมเข้าไปพูดจาร้องขอถึงกิจการภายในบ้านเมืองของเขา ไม่สมควรจะพึงทำ ฉันพูดต่อไปว่าธรรมะเป็นตัวพระศาสนา อิฐปูนไม่สำคัญอันใด สอนพระธรรมที่ไหนก็สอนได้ ทำไมจึงจะเริ่มฟื้นพระศาสนาด้วยตั้งวิวาทแย่งวัดกันดูไม่จำเป็นเลย นายธรรมปาละคงไม่พอใจในคำตอบ พูดกันเพียงเท่านั้น ต่อมานายธรรมปาละเข้ามากรุงเทพฯ ได้แสดงปาฐกถาชวนไทยให้ร่วมมือหลายครั้ง แต่ดูเหมือนจะไม่ได้เงินไปจากเมืองไทยสักเท่าใดนัก เพราะมีคนฟังปาฐกถาภาษาอังกฤษเข้าใจไม่มากนัก แม้คนที่ฟังเข้าใจก็มิใคร่มีใครชอบปฏิภาณของนายธรรมปาละด้วยแกชอบใช้โวหารชวนให้แค้นพวกมิจฉาทิฐิที่ได้พยายามทำลายพระพุทธศาสนามากว่า ๗๐๐ ปี ทำให้เห็นความประสงค์ที่จะไปฟื้นพระพุทธศาสนา แปรไปคล้ายกับจะไปแก้แค้นพวกมิจฉาทิฐิยิ่งกว่าไปทำบุญ ก็มักมิใคร่มีใครเลื่อมใส เมื่อนายธรรมปาละพยายามไปเที่ยวขอความช่วยเหลือตามประเทศต่างๆ ที่ถือพุทธศาสนา ได้เงินพอเป็นทุนก็ใช้นามมหาโพธิสมาคม ฟ้องขับไล่พวกพราหมณ์มหันต์เป็นความกันในศาลที่เมืองกัลกัตตา ศาลตัดสินให้มหาโพธิสมาคมแพ้คดี ด้วยอ้างว่าพวกพราหมณ์มหันต์ได้มีกรรมสิทธิ์ปกครองที่ดินมาหลายร้อยปีแล้ว และวัดพุทธคยานั้น พวกพราหมณ์มหันต์ก็ได้ดูแลรักษานับถือว่าเป็นวัดในศาสนาของเขาเหมือนกัน นายธรรมปาละไม่ได้วัดพุทธคยาสมประสงค์ จึงเปลี่ยนที่ไปตั้งสถานีที่มฤคทายวัน ณ เมืองพาราณสี ทำนองที่วัดในมฤคทายวันจะเป็นที่หลวง จึงได้รับความอุดหนุนของรัฐบาลอินเดีย มหาโพธิสมาคมก็สามารถตั้งสถานี ณ ที่นั้นสร้างวัดขึ้นใหม่ ขนานนามว่าวัด “มูลคันธกุฎีวิหาร” และต่อมาไปทำทางไมตรีดีกับพวกพราหมณ์มหันต์ พวกพราหมณ์มหันต์ก็ยอมให้มหาโพธิสมาคมสร้างที่พักของพวกพุทธศาสนิกชนขึ้น ใกล้กับบริเวณวัดพุทธคยานั้น จึงมีสถานีอันเป็นของพุทธศาสนิกชนเกิดขึ้นในอินเดีย ๒ แห่ง เป็นที่พักอาศัยของพุทธศาสนิกชนทุกชาติ แม้พระภิกษุไทยไปก็ได้อาศัยมาจนบัดนี้ เป็นอันสมประสงค์ของนายธรรมปาละ ที่จะฟื้นพระศาสนาเพียงเท่าที่สามารถจะเป็นได้ แต่น่าชมความศรัทธาและอุตสาหะของนายธรรมปาละ ว่าเป็นอย่างยอดเยี่ยม ด้วยได้พยายามมากว่า ๓๐ ปี ในระหว่างนั้นสู้สละทรัพย์สมบัติบ้านเรือนออกเป็นคนจรจัด เรียกตนเองว่า “อนาคาริกะ” ขวนขวายทำแต่การที่จะฟื้นพระพุทธศาสนาในอินเดียอย่างเดียว เที่ยวชักชวนหาคนช่วยไปตามประเทศน้อยใหญ่จนรอบโลก ครั้นการสำเร็จตั้งสถานีของพุทธศาสนิกชนได้ในอินเดียแล้ว นายธรรมปาละก็ออกอุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่จนตราบเท่าถึงมรณภาพ ควรนับว่าเป็นวีรบุรุษได้ชนิดหนึ่ง

เสาะหาพระพุทธเจดีย์

นอกจากไปบูชามหาเจดียสถานทั้ง ๒ แห่งที่พรรณนามาแล้ว เมื่อไปอินเดีย ฉันได้เสาะหาของที่เนื่องกับพระพุทธศาสนา มาถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงด้วยหลายสิ่ง จะเล่าถึงเรื่องที่หาสิ่งของเหล่านั้นต่อไป

พระบรมธาตุ

แต่ก่อนฉันไปอินเดียหลายปี เห็นจะเป็นในราว พ.ศ. ๒๔๒๘ เมื่อครั้งกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เป็นตำแหน่งราชทูตไทยอยู่ ณ กรุงลอนดอน มีข่าวเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ว่ารัฐบาลอินเดียพบพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าที่ในพระเจดีย์โบราณ แล้วส่งไปไว้พิพิธภัณฑสถาน British Museum ณ กรุงลอนดอน เมื่อกรมพระนเรศรฯ เสด็จกลับมากรุงเทพฯ กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ตรัสถามว่าพระบรมธาตุที่อังกฤษพบในอินเดียนั้น ลักษณะเป็นอย่างไร กรมพระนเรศรฯ ทูลว่าไม่ได้ไปทอดพระเนตร กรมสมเด็จพระปวเรศฯ ตรัสบ่นว่ากรมพระนเรศรฯ ไม่เอาพระทัยใส่ในพระพุทธศาสนา เมื่อฉันไปยุโรป ไปถึงลอนดอน ก่อนมาอินเดียนึกขึ้นถึงเรื่องนั้น วันฉันไปดูพิพิธภัณฑสถาน จึงขอให้เจ้าพนักงานเขาพาไปดูพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าที่ได้ไปจากอินเดีย ไปเห็นก็เกิดพิศวง ด้วยพระบรมธาตุที่ว่านั้นเป็นกระดูกคน มิใช่ธาตุที่คล้ายกับปูนเช่นเรานับถือกันในเมืองไทย ฉันเห็นพระธาตุที่เขาได้ไปมีมากประมาณสักฟายมือหนึ่ง นึกว่าถ้าฉันขอแบ่งเอามาเมืองไทยสักสองสามชิ้น รัฐบาลอังกฤษก็เห็นจะให้ จึงถามเจ้าพนักงานพิพิธภัณฑสถาน ว่าที่อ้างว่าเป็นพระบรมธาตุพระพุทธเจ้านั้นมีหลักฐานอย่างไร เขาบอกว่าที่ผ้าห่อพระธาตุมีหนังสือเขียนบอกไว้เป็นสำคัญ ว่าเป็นพระธาตุพระพุทธเจ้า ผู้บอกเขาเป็นนักเรียนโบราณคดี บอกต่อไปว่าหนังสือที่เขียนไว้นั้น เป็นแบบตัวอักษรซึ่งใช้ในอินเดียเมื่อราวศตวรรษที่ ๖ แห่งคริสตศก หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งคือแบบตัวหนังสือซึ่งใช้กันในอินเดียเมื่อราว พ.ศ. ๑๐๐๐ ฉันได้ฟังก็ยั้งใจ ด้วยจำนวนศักราชส่อให้เห็นว่าพระบรมธาตุนั้นน่าจะเป็นของตกต่อกันมาหลายทอด แล้วเชื่อถือกันตามที่บอกเล่าต่อๆ มาว่าเป็นพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าถึง ๑๐๐๐ ปีแล้ว จึงได้เอาเข้าบรรจุพระเจดีย์องค์ที่อังกฤษพบพระธาตุ อีกประการหนึ่ง ปริมาณพระธาตุก็ดูมากเกินขนาดที่พระราชามหากษัตริย์ เช่นพระเจ้าอโศกมหาราชาเป็นต้น จะแบ่งประทานผู้ใดผู้หนึ่ง หรือให้ไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์องค์ใดองค์หนึ่งถึงเท่านั้น ดูน่าจะเป็นของที่สัปบุรุษในชั้นหลังรวบรวมพระธาตุที่พบในพระเจดีย์หักพัง ณ ที่ต่างๆ บรรดาอ้างเป็นพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าเอามาบรรจุไว้ด้วยกัน ปริมาณพระธาตุจึงได้มากถึงเพียงนั้น ฉันไม่แน่ใจว่าจะเป็นพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าทั้งหมด คิดดูเห็นว่าที่ไทยเราบูชาพระธาตุอย่างคล้ายหินตามคติลังกา หากจะมิใช่พระบรมธาตุแท้จริงก็ผิดเพียงบูชาก้อนหิน แต่พระธาตุอินเดียเป็นกระดูกคน ถ้าองค์ที่ขอแบ่งเอามามิใช่พระธาตุพระพุทธเจ้า จะกลายเป็นมาชวนให้ไทยไหว้กระดูกใครก็ไม่รู้ จึงเลิกความคิดที่จะขอพระธาตุมาจากลอนดอน เมื่อฉันมาถึงอินเดียไปดูพิพิธภัณฑสถานแห่งใด ก็ตั้งใจจะพิจารณาดูพระธาตุที่พบในอินเดีย อันมีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานทุกแห่ง มาได้ความรู้เป็นยุติว่าพระธาตุที่พบในอินเดียเป็นกระดูกคนทั้งนั้น มีหนังสือเขียนที่ห่อผ้าว่าพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าก็มี ว่าพระธาตุพระสารีบุตรก็มี พระโมคคัลลานะก็มี แต่เหตุที่เป็นข้อสงสัยก็ยังมีอยู่ ด้วยเครื่องประกอบเป็นหลักฐาน เช่นตัวอักษรก็ดี สิ่งของที่บรรจุไว้ด้วยกันกับพระธาตุเช่นเงินตราเป็นต้นก็ดี ล้วนเป็นของเมื่อล่วงพุทธกาลตั้ง ๑,๐๐๐ ปีแล้วทั้งนั้น และยังมีเหตุเพิ่มความรังเกียจขึ้น ด้วยคิดดูปริมาณพระธาตุที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานทุกแห่ง ถ้ารวมแต่ที่อ้างว่าเป็นพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าเข้าด้วยกันทั้งหมด พระพุทธองค์เห็นจะใหญ่โตเกินขนาดมนุษย์มากทีเดียว ไม่พบพระบรมธาตุที่สิ้นสงสัย ฉันจึงไม่ได้พระบรมธาตุมาจากอินเดียในครั้งนั้น

พระศรีมหาโพธิ

ฉันได้เล่ามาแล้วว่าเมื่อไปถึงเมืองคยา มิสเตอร์เครียสัน เจ้าเมืองคยาได้เตรียมต้นโพธิพรรณพระศรีมหาโพธิไว้ให้ฉัน ๓ ต้น เดิมฉันนึกว่าจะไม่รับเอามา เพราะเห็นว่าต้นยังอ่อนนักคงมาตายกลางทาง แต่นึกขึ้นว่าแต่ก่อนมา เมืองไทยยังไม่เคยได้ต้นโพธิพรรณพระศรีมหาโพธิมาจากต้นเดิมที่พุทธคยา น่าจะลองเอามาดูสักทีเผื่อจะรอดได้ ถ้าไปตายกลางทางก็แล้วไป ฉันจึงให้ต่อหีบหลังกระจกใส่กระบอกต้นโพธิ ๓ ต้นนั้นเอาติดตัวมาด้วย เมื่อมากลางทางเห็นต้นโพธิแตกใบอ่อนก็เกิดปีติ ด้วยจะได้เป็นผู้นำต้นโพธิพระศรีมหาโพธิตรงมาจากพุทธคยา เข้ามายังเมืองไทยเป็นครั้งแรก

ต้นโพธิพระศรีมหาโพธิที่มีในเมืองไทยมาแต่โบราณ ล้วนได้พรรณมาจากต้นที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งไปปลูกไว้ที่เมืองอนุราธบุรีในลังกาทวีปทั้งนั้น ครั้งที่สุดปรากฏในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ว่าเมื่อรัชกาลที่ ๒ พระอาจารย์เทพ ผู้เป็นนายกสมณทูตไทยกลับจากลังกาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๑ ได้ต้นโพธิจากเมืองอนุราธบุรี มาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ๓ ต้น โปรดให้ปลูกไว้ในวัดมหาธาตุฯ ต้นหนึ่ง วัดสุทัศน์ฯ ต้นหนึ่ง และวัดสระเกศฯ ต้นหนึ่ง ยังปรากฏอยู่จนบัดนี้ แต่พรรณพระศรีมหาโพธิที่เมืองไทยได้ตรงมาจากพุทธคยา เพิ่งปรากฏว่าได้มาเมื่อรัชกาลที่ ๔ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาทราบเรื่องพุทธเจดีย์ในอินเดียก่อนผู้อื่น ทรงขวนขวายหาพันธุ์พระศรีมหาโพธิที่พุทธคยา ได้เมล็ดมายังเมืองไทยเป็นครั้งแรก เจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวไว้ในหนังสือพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ตอนว่าด้วยบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ (ฉบับพิมพ์หน้า ๔๔๑) ว่าต้นโพธิที่โปรดให้ปลูกไว้ ๔ มุมบริเวณนั้น “ได้ผลมาแต่เมืองพุทธคยาบุรี ว่าเป็นหน่อเดิมที่พระได้ตรัส พระมหาโพธินั้นมีพระระเบียงล้อมถึง ๗ ชั้น พวกพราหมณ์หวงแหนอยู่แน่นหนา เจ้าเมือง (คือไวสรอย) อังกฤษจึงไปขอเอาผลและใบถวายเข้ามา” แล้วเล่าต่อไปว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเพาะเมล็ดพระศรีมหาโพธินั้นขึ้นเป็นต้น พระราชทานไปปลูกตามวัดหลวง จะเป็นวัดไหนบ้างไม่กล่าวไว้ แต่ฉันจำได้ในเวลานี้ ปรากฏอยู่ที่วัดมหาธาตุฯ (ต้นอยู่ข้างหน้าพระวิหารโพธิลังกา) ต้นหนึ่ง ที่วัดบวรนิเวศฯ ต้นหนึ่ง ที่พระปฐมเจดีย์ ๔ ต้น และยังมีเรื่องต่อไปว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงแบ่งเมล็ดพระศรีมหาโพธิพุทธคยาที่ได้มาครั้งนั้นพระราชทานสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รับไปทรงเพาะด้วย ถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดให้ปลูกพระศรีมหาโพธิพุทธคยาที่ทรงเพาะนั้น ที่วัดเทพศิรินทร์ต้นหนึ่ง วัดนิเวศธรรมประวัติต้นหนึ่ง วัดอุภัยราชบำรุง คือวัดญวนที่ตลาดน้อยต้นหนึ่ง และพระราชทานให้เจ้าพระยายมราช (เฉย ต้นสกุล ยมาภัย) ไปปลูกที่วัดมณีชลขันธ์เมืองลพบุรีต้นหนึ่ง

เมื่อฉันกลับมาถึงกรุงเทพฯ นำต้นพระศรีมหาโพธิที่ได้มาจากพุทธคยา ไปถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่เกาะสีชัง เวลานั้นกำลังทรงสร้างวัดอัษฎางคนิมิต โปรดให้ปลูกไว้ที่วัดอัษฎางคนิมิตต้นหนึ่ง อีกสองต้นโปรดให้ชำไว้ในเขตพระราชฐานที่เกาะสีชัง ครั้นทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร โปรดให้ย้ายมาปลูกไว้ที่วัดเบญจมบพิตรต้นหนึ่ง ที่เหลืออยู่อีกต้นหนึ่งจะยังอยู่ที่เกาะสีชัง หรือเป็นอย่างไรฉันหาทราบไม่

รอยพระพุทธบาท

ฉันพบศิลาจำหลักเป็นรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ขนาดยาวสักศอกเศษอยู่ที่วัดพุทธคยาแผ่นหนึ่ง สังเกตดูเห็นเป็นของเก่ามาก น่าจะสร้างแต่ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชหรือแม้ภายหลังมาก็ไม่ช้านัก ด้วยมีหลักฐานปรากฏอยู่เป็นสำคัญว่าเมื่อก่อน พ.ศ. ๕๐๐ ที่ในอินเดียห้ามมิให้ทำพระพุทธรูปเจดียสถานต่างๆ ที่ทำลวดลายจำหลักศิลาเป็นเรื่องพระพุทธประวัติ ตรงไหนที่จะต้องทำพระพุทธรูป ย่อมทำเป็นรูปของสิ่งอื่นแทน พระพุทธรูปตอนก่อนตรัสรู้มักทำเป็นรอยพระบาท ตรงเมื่อตรัสรู้มักทำเป็นรูปพุทธบัลลังก์ทำต้นโพธิ ตรงเมื่อทรงประกาศพระศาสนาทำเป็นรูปจักรกับกวาง ตรงเมื่อเสด็จเข้าพระนิพพานทำเป็นรูปพระสถูป จนล่วงพุทธกาลกว่า ๕๐๐ ปีแล้ว พวกโยนก (ฝรั่งชาติกรีกที่มาเข้ารีตถือพระพุทธศาสนา) ชาวคันธารราษฎร์ ทางปลายแดนอินเดียด้านตะวันตกเฉียงเหนือ คิดทำพระพุทธรูปขึ้น แล้วชาวอินเดียชนชาติอื่นเอาอย่างไปทำบ้าง จึงเป็นเหตุให้เกิดมีพระพุทธรูปสืบมา รอยพระพุทธบาทนั้นคงเป็นของสร้างขึ้นบูชาแทนพระพุทธเจ้าแต่ในสมัยเมื่อยังไม่มีพระพุทธรูป ฉันออกปากขอ มหาพราหมณ์มหันต์ก็ให้โดยเต็มใจ จึงได้มาถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงอีกสิ่งหนึ่ง รอยพระพุทธบาทนั้น โปรดให้ประดิษฐานไว้ในมณฑปบนยอดเขาพระจุลจอมเกล้าฯ ที่เกาะสีชัง

พระพุทธรูป

เวลาฉันเสาะหาของโบราณที่เนื่องด้วยพระพุทธศาสนา เจ้าพนักงานกรมตรวจโบราณคดีของรัฐบาลอินเดียเขาสงเคราะห์มาก ของโบราณเช่นพระพุทธรูปเป็นต้น ที่ยังไม่ได้ส่งเข้าพิพิธภัณฑสถาน ฉันไปพบสิ่งใดอยากได้เขาก็ให้ แต่เราก็ต้องเกรงใจเขาเลือกเอามาบ้างแต่พอสมควร ฉันได้พระพุทธรูปปางลีลาแบบสมัยคุปตะ ราว พ.ศ. ๑๐๐๐ มาจากมฤคทายวันองค์หนึ่ง และมาได้รอยพระพุทธบาทที่กล่าวมาแล้ว กับทั้งพระพุทธรูปและพระสถูปขนาดน้อยที่พุทธคยาอีกหลายสิ่ง ของเหล่านั้นฉันเอามาถวายพระเจ้าอยู่หัว เดิมโปรดให้ไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังย้ายเอาไปไว้ในพิพิธภัณฑสถาน ยังอยู่ที่นั่นทั้งนั้น มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งซึ่งควรจะกล่าวถึงโดยเฉพาะ ด้วยเมื่อฉันจะกลับจากพุทธคยา ได้ปรารภแก่เจ้าพนักงานกรมตรวจโบราณคดี ว่าฉันสังเกตดูพระพุทธรูปโบราณในอินเดียมีหลายแบบอย่าง ฉันอยากเห็นพระพุทธรูปที่นับว่าฝีมือทำงามที่สุดที่ได้พบในอินเดีย เขาจะช่วยหารูปฉายให้ฉันได้หรือไม่ เขารับว่าจะหาดู เมื่อได้จะส่งตามมาให้ ฉันกลับมาถึงกรุงเทพฯ ได้สักสองสามเดือน เขาก็ส่งพระพุทธรูปมาให้องค์หนึ่ง ว่าเป็นของรัฐบาลอินเดียให้ฉันเป็นที่ระลึก แต่มิใช่รูปฉายเช่นฉันขอ เป็นพระพุทธรูปขนาดหน้าตักสักศอกหนึ่ง ซึ่งเขาพิมพ์จำลองพระศิลาด้วยปูนปลาสเตอร์ แล้วปิดทองคำเปลวตั้งในซุ้มไม้ทำเป็นรูปเรือนแก้ว สำหรับยึดองค์พระไว้ให้แน่นใส่หีบส่งมา พระนั้นเป็นรูปพระพุทธองค์เมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์กำลังกระทำทุกรกิริยา ช่างโยนกคิดประดิษฐ์ทำที่ในคันธารราษฎร์เมื่อราว พ.ศ. ๙๐๐ ทำเป็นพระนั่งสมาธิ แต่พระองค์กำลังซูบผอมถึงอย่างว่า “มีแต่หนังหุ้มกระดูก” แลเห็นโครงพระอัฐิและเส้นสายทำเหมือนจริง ผิดกับพระพุทธรูปสามัญ แลเห็นก็รู้ทันทีว่าเป็นรูปพระพุทธองค์เมื่อทรงบำเพ็ญเพียรหาโมกขธรรม ทำดีน่าพิศวง เขาบอกมาว่าพระพุทธรูปองค์นี้แหละเป็นชั้นยอดเยี่ยมทั้งความคิดและฝีมือช่างโยนก พบแต่องค์เดียวเท่านั้น รัฐบาลให้รักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานที่เมืองละฮอ แต่ฉันไม่ได้ขึ้นไปถึง จึงไม่ได้เห็น เมื่อวันพระองค์นั้นมาถึงกรุงเทพฯ เวลานั้นฉันยังอยู่ที่วังเก่าใกล้สะพานดำรงสถิต เผอิญพระพุฒาจารย์ (มา) วัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อยังเป็นที่พระมงคลทิพมุนีไปหา พอท่านเห็นก็เกิดเลื่อมใส ว่าเป็นพระอย่างแปลกประหลาดน่าชมนัก ไม่มีใครเคยเห็นมาแต่ก่อน ท่านขอให้ฉันตั้งไว้ที่วังให้คนบูชาสัก ๓ วันก่อน แล้วจึงค่อยถวาย ฉันก็ยอมทำตาม จัดที่บูชาตั้งพระไว้ในศาลาโรงเรียนที่ในวัง พอรุ่งขึ้นมีคนทางสำเพ็งที่ทราบข่าวจากพระพุฒาจารย์ พากันมาก่อน แล้วก็เกิดเล่าลือกันต่อไป เรียกกันว่า “พระผอม” ถึงวันที่สองที่สามคนยิ่งมามากขึ้นแน่นวังวันยังค่ำ ถึงมีพวกขายธูปเทียนและทองคำเปลวมานั่งขายเหมือนอย่างงานไหว้พระตามวัด แต่ฉันขอเสียอย่าให้ปิดทองเพราะของเดิมปิดทองมาแต่อินเดียแล้ว ถึงวันที่ ๔ ต้องให้ปิดประตูวังเพราะยังมีคนไปไม่ขาด

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดให้ประดิษฐานพระองค์นั้นไว้บนฐานชุกชีบุษบกด้านหนึ่งในพุทธปรางค์ปราสาท ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีผู้ศรัทธาไปขอจำลองหล่อ “พระผอม” ด้วยทองสัมฤทธิ์มีขึ้นแพร่หลายและทำหลายขนาด องค์ใหญ่กว่าเพื่อนขนาดหน้าตักสักสองศอก ผู้สร้างถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นพระระเบียงวัดเบญจมบพิตรและยังมีอยู่ตามวัดอีกนับไม่ถ้วน แต่องค์เดิมที่จำลองส่งมาจากอินเดียนั้น เป็นอันตรายเสียเมื่อไฟไหม้พุทธปรางค์ปราสาทแต่ในรัชกาลที่ ๕ หากมีผู้ศรัทธาหล่อจำลองไว้ แบบ “พระผอม” จึงยังมีอยู่ในเมืองไทยจนทุกวันนี้

อธิบายท่อนท้าย

ฉันเขียนความรู้เห็นในอินเดียเป็นนิทาน ๓ เรื่องด้วยกัน เรื่องที่หนึ่งเล่าถึงเหตุที่ไปอินเดีย และพรรณนาว่าด้วยของแปลกประหลาดที่เมืองชัยปุระ เรื่องที่สอง พรรณนาว่าด้วยของแปลกประหลาดที่เมืองพาราณสี เรื่องที่สามนี้ ว่าด้วยการสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย ยังมีเรื่องตอนเมื่อก่อนกลับจากอินเดียอีกบ้าง ถ้าไม่กล่าวถึงความที่เล่าในเรื่องแรกจะเขินอยู่ จึงเขียนเรื่องตอนท้ายพ่วงไว้ในนิทานเรื่องนี้

ฉันออกจากเมืองคยามายังเมืองกัลกัตตา อันเป็นเมืองหลวงของอินเดียในสมัยนั้น ลอร์ด แลนสดาวน์ เป็นอุปราช รับให้ไปอยู่ด้วยกันที่เกาเวอนเมนต์เฮาส์ น่าแปลว่า “วังอุปราช” ยิ่งกว่าเรือนรัฐบาลตามศัพท์ มีการเลี้ยงเวลาค่ำพร้อมด้วยพวกกรมการผู้ใหญ่ ให้เป็นเกียรติยศคืนหนึ่ง มีการราตรีสโมสรให้ฉันพบกับพวกมีเกียรติทั้งฝรั่งและชาวอินเดียวันหนึ่ง ลอร์ด โรเบิตส์ เวลานั้นยังเป็นเซอร์เฟรเดอริก โรเบิตส์ นายพลเอกผู้บัญชาการทหารทั่วทั้งอินเดีย เชิญไปเลี้ยงพร้อมกันกับพวกนายทหารที่ป้อมวิลเลียมคืนหนึ่ง อยู่เมืองกัลกัตตา ๔ วันแล้วไปยังเมืองดาร์จีลิ่งบนเขาหิมาลัย หรือถ้าใช้คำโบราณของไทยเราก็คือไปเที่ยวดูป่าหิมพานต์ ๔ วัน แล้วย้อนกลับมาเมืองกัลกัตตา ลงเรือออกจากอินเดียมาเมืองพม่า ซึ่งในสมัยนั้นยังนับเป็นส่วนหนึ่งในอาณาเขตของอินเดีย ขึ้นพักอยู่ที่จวนกับเซอร์ อเล็กซานเดอร์ แมกเกนซี เจ้าเมืองพม่า แต่ฉันมาถึงเมืองพม่าเมื่อต้นเดือนมีนาคม เข้าฤดูร้อนเสียแล้ว ทั้งตัวฉันก็ได้เที่ยวมาในยุโรปและอินเดียถึง ๙ เดือน ได้ดูอะไรต่ออะไรมากจนแทบจำไม่ได้ มาถูกอากาศร้อนก็ออกเบื่อการเดินทาง จึงพักอยู่เพียงเมืองย่างกุ้งเพียง ๔ วัน ได้ไปบูชาพระเกศธาตุและเที่ยวดูสิ่งอื่นๆ ในเมืองนั้น แล้วลงเรือผ่านมาทางเมืองทวาย เห็นแต่ปากน้ำไม่ได้ขึ้นไปถึงเมือง เพราะเขาว่าอยู่ไกลเข้าไปมาก แต่ได้แวะขึ้นดูเมืองมริดแล้วมายังเมืองระนอง ขึ้นเดินทางบกข้ามกิ่วกระมาลงเรือหลวงที่ออกไปรับ ณ เมืองชุมพรกลับกรุงเทพฯ สิ้นเรื่องไปอินเดียเพียงเท่านั้น.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ