นิทานที่ ๑๓ เรื่องอนามัย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว ต่อมาโปรดให้โอนราชการพลเรือนตามหัวเมือง ซึ่งแต่ก่อนแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทย กลาโหม กรมท่า มารวมขึ้นกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียว และรวมหัวเมืองให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล จัดการปกครองท้องที่เป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วทรงพระราชปรารภว่ากระทรวงเสนาบดีอื่นๆ กำลังจัดระเบียบการกระทรวงที่ในกรุงเทพฯ ยังไม่สามารถจะจัดการแผนกกระทรวงนั้นๆ ออกไปถึงหัวเมืองได้ แต่ทรงพระราชดำริเห็นว่าไม่ควรจะรอการทำนุบำรุงหัวเมืองไว้ จนกว่ากระทรวงการแผนกนั้นๆ จะสามารถออกไปจัดการได้เอง จึงดำรัสสั่งว่าการทำนุบำรุงอย่างใดซึ่งควรจะจัดตามหัวเมืองได้ ให้กระทรวงมหาดไทยลงมือจัดการนั้นไปทีเดียว อันนี้เป็นเหตุให้หน้าที่จัดการบำรุงอนามัยตามหัวเมือง มาตกอยู่ในกระทรวงมหาดไทย เพราะกรมพยาบาลในกระทรวงธรรมการเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ ดังได้เล่าไว้ในนิทานเรื่องตั้งโรงพยาบาล ยังไม่สามารถจะขยายออกไปถึงหัวเมืองได้

ตามประเพณีที่จัดขึ้นใหม่ในกระทรวงมหาดไทย มีการประชุมสมุหเทศาภิบาลในกรุงเทพฯ ทุกปี จึงปรึกษาจัดการอนามัยตามหัวเมืองในที่ประชุมนั้น มีความเห็นว่าจะจัดการตามอย่างในกรุงเทพฯ ไม่ได้ เพราะหัวเมืองไม่มีทุนและไม่มีคนจะใช้มากเหมือนอย่างในกรุงเทพฯ จะต้องคิดหาทางอย่างอื่น และทางที่จะจัดนั้น เห็นว่าควรเอาลักษณะการตามที่เป็นอยู่ตามหัวเมืองแล้วตั้งเป็นหลัก คิดแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นโดยลำดับไป ก็ลักษณะการอนามัยที่เป็นอยู่ตามหัวเมืองทั้งปวงนั้น ถ้าพิจารณาแยกกันก็มี ๓ อย่าง ดังนี้ คือ

อย่างที่หนึ่ง คือยาสำหรับรักษาไข้เจ็บ เป็นของมีใช้อยู่ในพื้นเมืองแล้ว ความบกพร่องในเรื่องยาอยู่ที่ไม่รู้จักหรือไม่มียาดีกว่าที่จะใช้เป็นสำคัญ

อย่างที่สอง คือความรู้ที่จะใช้ยาและรักษาพยาบาลไข้เจ็บ ก็รู้กันแพร่หลายอยู่แล้ว ใครรู้มากก็เรียกว่า “หมอ” มีอยู่ทั่วไปในพื้นเมือง ความบกพร่องในเรื่องใช้ยาและรักษาพยาบาลไข้เจ็บ อยู่ที่หมอมีความรู้น้อยเพราะไม่ได้เรียนตำรับตำรา อาศัยแต่ความคุ้นเคยเป็นสำคัญ ใครเคยรักษาไข้มากก็รู้มาก ใครเคยรักษาไข้น้อยก็มีความรู้น้อย ถึงกระนั้นก็ยังสามารถรักษาไข้ที่ไม่เหลือความรู้ให้หายได้

อย่างที่สาม คือธรรมดาคนเจ็บไข้ย่อมกลัวภัยแก่ชีวิตของตน เพราะฉะนั้นถ้าเชื่อว่าใครจะช่วยชีวิตได้ก็ให้คนนั้นมารักษา ถึงผู้อื่นจะบอกว่าหมอคนไหนดี หรือยาขนานไหนดี ถ้าตัวคนไข้ หรือผู้ปกครองเช่นพ่อแม่ของคนไข้ไม่เชื่อถือ ก็ไม่ยอมกินยาของหมอคนนั้น จะบังคับขืนใจไม่ได้

เมื่อความจริงเป็นอยู่ดังกล่าวมา จึงเห็นว่าการบำรุงอนามัยควรจะอนุโลมลักษณะที่เป็นอยู่จึงจะสำเร็จประโยชน์ กระทรวงมหาดไทยกับเทศาภิบาล จึงจัดการบำรุงอนามัยตามหัวเมืองโดยทางที่กล่าวมาเป็นการหลายอย่าง ดังจะพรรณนาต่อไป

ตั้งหมอตำบล

เรื่องตั้งหมอตำบล เป็นความคิดของเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เมื่อยังเป็นที่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก เห็นว่าควรอาศัยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ซึ่งกำหนด ๑๐ บ้านเป็นหมู่บ้าน ๑ ให้ราษฎรเลือกกันเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ละคน รวม ๑๐ หมู่บ้านเป็นตำบล ๑ ให้พวกผู้ใหญ่บ้านเลือกกันเป็นกำนันนายตำบลคน ๑ นั้น ประกอบกับความคิดในเรื่องบำรุงอนามัย คือให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเลือกหมอในตำบลนั้นคน ๑ ซึ่งเห็นว่าดีกว่าเพื่อน แล้วรัฐบาลตั้งเป็นหมอประจำตำบล มีศักดิ์เท่ากับผู้ใหญ่บ้าน สำหรับเป็นพนักงานในการอนามัยมีอยู่ทุกตำบล รัฐบาลอยากรู้อะไรในเรื่องอนามัยตำบลนั้นจะได้ไถ่ถาม หรือจะชี้แจงอะไรในเรื่องอนามัยแก่ราษฎร ก็จะได้ให้หมอตำบลเป็นผู้ชี้แจงต่อลงไป ตัวหมอที่ได้รับความยกย่องเช่นนั้น ราษฎรในตำบลก็คงมีความเชื่อถือให้รักษาไข้ได้ผลประโยชน์ขวัญข้าวค่ายามากขึ้น คงมีผู้สมัครรับตำแหน่งหมอตำบลไม่รังเกียจ ที่ประชุมเห็นชอบด้วย ให้จัดการดังว่ามาสำเร็จได้อย่างหนึ่ง จึงมีตำแหน่งหมอตำบลขึ้นแต่นั้นมา

ทำยาโอสถศาลา

ความคิดที่จะให้มียาดี สำหรับรักษาไข้เจ็บแพร่หลายไปถึงราษฎรตามหัวเมืองนั้น เห็นพร้อมกันในที่ประชุมว่าต้องมีพนักงานทำยาที่ในกรุงเทพฯ แล้วจ่ายออกไปตามหัวเมือง จึงมอบให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย คือเป็นหน้าที่ของตัวฉันจะต้องจัดการเรื่องนั้น คิดดูมีปัญหาที่จะต้องตัดสิน ๒ ข้อ คือ

ข้อ ๑ ว่าจะควรทำยารักษาโรคอะไรบ้าง ข้อนี้เห็นว่าที่จะทำยารักษาโรคทุกอย่างนั้นเป็นพ้นวิสัย จะต้องเลือกทำแต่ยาบางขนานสำหรับรักษาความไข้เจ็บซึ่งชาวเมืองมักเป็นกันชุกชุม เช่นยาแก้ไข้จับและแก้โรคบิดเป็นต้น และต้องปรึกษาหมอให้เป็นผู้กะว่าควรจะทำยาแก้โรคอะไรบ้าง

ข้อ ๒ ว่ายาที่จะทำนั้นจะใช้ยาตามตำราฝรั่งดี หรือจะใช้ยาตามตำราไทยดี ในสมัยนั้นที่ในกรุงเทพฯ บุคคลพวกสมัยใหม่ แม้จนหมอที่รักษาไข้ด้วยยาไทย เชื่อคุณยาฝรั่งมีขึ้นมากแล้ว ฉันคิดเห็นว่ายาที่จะทำจ่ายไปตามหัวเมืองทำยาฝรั่งดีกว่ายาไทย เพราะเหตุใด ฉันจะขอยืมคำอธิบายของนายชื่น พุทธิแพทย์ (พระยาดำรงแพทยาคุณ) กล่าวไว้ในหนังสือดุสิตสมิทเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ มาลงไว้ในที่นี้ ให้เข้าใจชัดเจนดีกว่าอธิบายความเห็นของฉันเอง ซึ่งคิดขึ้นในสมัยนั้น

“แพทย์ยาไทย ใช้ยาที่เป็นพรรณไม้ตามพื้นเมืองมากกว่าอย่างอื่น รวมกันหลายอย่างทั้งกากด้วย และต้องกินเป็นจำนวนมากๆ นำเข้าร่างกายเฉพาะทางปากทางเดียวเท่านั้น ซึ่งกินเวลาอันนานตั้งชั่วโมง กว่ายานั้นจะออกฤทธิ์ ถ้าคนไข้ที่กินยาทางปากไม่ได้แล้ว ก็เป็นอันหมดหนทางที่จะให้ยารักษา

ส่วนแพทย์ฝรั่ง ใช้ยาที่เป็นโลหะธาตุมากกว่าที่เป็นพรรณไม้ และใช้เฉพาะสิ่งที่ต้องการ คือหัวยาเท่านั้น ไม่มีกากเลย ขนาดกินก็เป็นจำนวนน้อยและเก็บไว้ได้นาน อาจให้ยาทางปากก็ได้ ทางทวารก็ได้ ทางผิวหนังก็ได้ ทางหลอดโลหิตก็ได้ ซึ่งอาจจะทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ภายในสองสามนาที คล้ายคนเดินทางโดยรถไฟและเครื่องบิน อาจถึงที่มุ่งหมายได้สมประสงค์ทันใจ”

นอกจากเห็นว่ายาฝรั่งรักษาโรคชะงัดกว่ายาไทย โดยอธิบายดังกล่าวมา การทำยาสำหรับแจกจ่ายให้แพร่หลาย ทำยาฝรั่งสะดวกกว่าทำยาไทยด้วย เพราะอาจจะทำเป็นยาเม็ดเล็กๆ บรรจุลงกลักหรือใส่ห่อส่งไปตามที่ต่างๆ ได้ง่าย และคนไข้กินเพียงเม็ดหนึ่งหรือสองเม็ดก็เห็นคุณ อีกประการหนึ่งยาไทยก็มีใช้กันในพื้นเมืองอยู่แล้ว แต่ยาฝรั่งเช่นยาควินินแก้ไข้จับเป็นต้น ตามหัวเมืองยังหายาก จึงตกลงว่าจะทำยาฝรั่ง

แต่ความลำบากยังมีอยู่อีกอย่างหนึ่ง ด้วยยาฝรั่ง แม้เป็นยารักษาโรคอันเดียวกัน หมอต่างคนใช้วิธีผสมเครื่องยาต่างกัน หมอฝรั่งที่มารักษาไข้เจ็บอยู่ในเมืองไทยในเวลานั้น มีทั้งหมออังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกัน เยอรมัน และชาติอื่นก็มีอีก ถ้าปรึกษาแต่คนใดคนหนึ่ง คนอื่นก็อาจจะโต้แย้ง จึงเห็นว่าการที่จะทำยาของรัฐบาลดังกล่าวมา เป็นสาธารณประโยชน์สำหรับบ้านเมือง ถ้าบอกบุญแก่หมอฝรั่งทุกคนขอให้ร่วมมือกันช่วยรัฐบาลในการนั้นได้ เห็นจะเป็นการดี ฉันลองทาบทามดู หมอฝรั่งก็รับจะช่วยด้วยยินดี จึงเชิญพวกหมอฝรั่งทุกชาติ มาประชุมพร้อมกันที่ศาลาลูกขุนกระทรวงมหาดไทยวันหนึ่ง ตัวฉันนั่งเป็นนายกในที่ประชุมเอง บอกพวกหมอฝรั่งให้ทราบพระราชประสงค์ที่จะบำรุงอนามัยในบ้านเมือง และกระทรวงมหาดไทยอยากจะได้ตำรายาฝรั่งบางขนาน สำหรับรักษาไข้เจ็บที่ราษฎรมักเป็นกันชุกชุม ทำส่งไปจำหน่ายตามหัวเมือง จะขอให้หมอที่มาประชุมกันนั้นช่วยในการ ๒ อย่าง คือให้ปรึกษากันว่าควรทำยาแก้โรคอะไรบ้าง เป็นยาสักกี่ขนานอย่างหนึ่ง เมื่อเห็นว่าควรจะทำยาสักกี่ขนานแล้ว ขอให้จดเครื่องยาและส่วนที่จะผสมยานั้นๆ ให้ทุกขนานอย่างหนึ่ง เขาจะรับช่วยได้หรือไม่ พวกหมอพร้อมกันรับจะช่วยทำให้ตามประสงค์ของรัฐบาล ฉันจึงให้เขาประชุมปรึกษากันโดยลำพังพวกหมอต่อไป เขาตกลงกันแนะนำให้รัฐบาลทำยาต่างๆ ๑๐ ขนาน (หรือ ๑๒ ขนาน จำไม่ได้แน่) และกำหนดเครื่องยา กับทั้งส่วนที่จะผสม Prescription ยานั้นๆ ทุกขนาน เขียนเป็นมติลงชื่อด้วยกันทุกคนเป็นสำคัญ ให้ตำรายานั้นเป็นสมบัติของรัฐบาล ฉันรับและขอบคุณเขาทุกคนแล้วก็เป็นอันสำเร็จกิจส่วนหาตำรายา ส่วนการที่จะทำยานั้น หมออะดัมสัน Hans Adamson (ภายหลังได้เป็นพระบำบัดสรรพโรค) เป็นเชื้อมอญไม่ใช่อเมริกัน มีแก่ใจรับจะทำให้ในชั้นแรก ณ สำนักงานของเขาที่สี่แยกเจริญกรุง จะเรียกราคาเพียงเท่าทุนและจะหัดคนที่จะผสมยาให้ด้วย จนกว่ากระทรวงมหาดไทยจะตั้งที่ทำยาเองต่างหาก การที่เลือกและทำยาสำหรับส่งไปตามหัวเมือง ก็สำเร็จได้ด้วยประการฉะนี้ แต่ยังไม่สิ้นความลำบาก

ความลำบากยังมีในการที่จะให้คนนิยมใช้ยาที่ทำนั้น เพราะเป็นยาฝรั่ง ในสมัยนั้นผู้ที่เชื่อถือยาฝรั่งยังมีน้อย แม้ที่ในกรุงเทพฯ คนก็ยังรังเกียจยาฝรั่งอยู่แทบทั่วไป

มีเรื่องเล่ากันมาแต่ก่อนว่า เมื่อแรกยาควินินมีเข้ามาถึงเมืองไทยในรัชกาลที่ ๓ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทซึ่งรอบรู้วิชาแพทย์ไทย ทรงทดลองและเลื่อมใสก่อนผู้อื่น แต่ก็ไม่อาจใช้โดยเปิดเผย เมื่อฉันบวชเป็นสามเณรเคยได้ยินกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ตรัส ว่ายาเม็ดแก้ไข้ของกรมหลวงวงศาฯ ที่นับถือกันนั้น เมื่อผ่าออกดูมี “ยาขาวฝรั่ง” (คือยาควินิน) อยู่ข้างในทุกเม็ด ประหลาดที่การปลอมใช้ยาควินินยังเป็นอยู่จนเมื่อฉันคิดทำยานั้น ฉันเคยถามหมอไทยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ซึ่งฉันรู้ว่าลอบใช้ยาควินิน ว่าไฉนจึงต้องทำเช่นนั้น แกกระซิบตอบตามตรงว่า “ยาควินินดีกว่ายาไทย แต่คนไข้ไม่ยอมกิน จะทำอย่างไร ก็ได้แต่ต้องปลอมให้กินเป็นยาไทย สุดแต่ให้ไข้หายเป็นประมาณ” ถ้ามีใครทูลถามกรมหลวงวงศาฯ ก็เห็นจะตรัสตอบอย่างเดียวกัน

การที่กระทรวงมหาดไทยทำยาตามตำราฝรั่ง สำหรับจ่ายไปตามหัวเมือง จึงต้องคิดอุบายแก้ไขความรังเกียจด้วยให้เรียกชื่อยาที่ทำขึ้นใหม่ว่า “ยาโอสถศาลา” แต่ละขนานใส่กลักเล็กๆ กลักละ (ดูเหมือน) ๒๐ เม็ด พิมพ์หนังสือปิดข้างนอกกลักเอาแต่ชื่อโรคเรียก เช่นว่า “ยาแก้ไข้จับ, ยาแก้ลงท้อง, ยาแก้บิด” เป็นต้น ข้างในกลักมีกระดาษใบปลิวบอกวิธีที่จะใช้ยานั้น แล้วรวมกลักยาห่อเป็นชุดๆ มีใบปลิวโฆษณาคุณของยาโอสถศาลาสอดไปด้วย ส่งไปให้หมอตำบลเป็นผู้จำหน่าย (ดูเหมือน) ราคากลักละ ๑๐ สตางค์ จำหน่ายได้เงินเท่าใด ให้ค่าขายแก่หมอตำบลเป็นส่วนลดร้อยละ ๑๐ แม้ใช้อุบายกันคนรังเกียจอย่างนั้นแล้ว กว่าจะได้ผลดังประสงค์ก็ยังนาน เพราะเป็นของแปลก แม้หมอตำบลเองก็รับไว้จำหน่ายด้วยเกรงใจโดยมาก ตัวเองยังชอบใช้ยาสมุนไพรอยู่ตามเคย ต่อบางคนจึงทดลองใช้ยาโอสถศาลา แต่ต่อมาก็ปรากฏคุณขึ้นโดยลำดับ เมื่อยาโอสถศาลาจำหน่ายได้แพร่หลายจนเห็นว่าจะทำจำหน่ายได้ยั่งยืนต่อไป กระทรวงมหาดไทยจึงได้ตั้งสถานโอสถศาลาที่โรงพยาบาลเทพศิรินทร์ แล้วรัฐบาลทำยาโอสถศาลาจำหน่ายเองสืบมา

แพทย์ประจำเมือง

แต่ก่อนมา เจ้าเมืองกรมการมักเป็นชาวเมืองนั้นเอง เจ็บไข้ก็ใช้หมอในพื้นเมืองที่เคยรักษากันมาเป็นปรกติ ครั้นเมื่อจัดหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาล ส่งข้าราชการในกรุงเทพฯ ออกไปรับราชการประจำอยู่ตามหัวเมืองมากขึ้นเป็นลำดับมา ต้องปรารภถึงความปลอดภัยของข้าราชการที่ไปอยู่แปลกถิ่นตามหัวเมือง จึงให้มีหมอหลวงประจำเมืองขึ้นจังหวัดละคนหนึ่ง ให้สมุหเทศาภิบาลเลือกหาหมอที่มีความรู้พอวางใจได้ ตั้งเป็นแพทย์ประจำเมือง มีหน้าที่สำหรับรักษาข้าราชการตลอดจนครอบครัว ในเวลาป่วยเจ็บอย่างหนึ่ง ตรวจอนามัยและรักษาไข้เจ็บให้นักโทษในเรือนจำอย่างหนึ่ง ทำกิจการพิเศษอันเกิดขึ้นเนื่องกับอนามัยอย่างหนึ่ง เป็นอย่างนั้นมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๑ มีเหตุเกิดขึ้นเมื่อฉันไปตรวจราชการมณฑลพายัพ ฉันไปครั้งนั้นเลือกข้าราชการหนุ่มๆ ที่กำลังเป็นนักเรียนศึกษาการปกครองเอาไปใช้ ๔ คน เพื่อจะให้รู้เห็นการปกครองตามหัวเมือง เวลานั้นยังไม่มีทางรถไฟสายเหนือ จึงลงเรือพ่วงเรือไฟไปจากกรุงเทพฯ จนถึงเมืองอุตรดิตถ์ พวกนักเรียน ๔ คนนั้นไปในเรือลำเดียวกัน เมื่อพ้นเมืองพิษณุโลกขึ้นไปแผ่นดินดอนพอเดินบกได้ เขาจึงชวนกันหาคนนำทางขึ้นเดินบกแต่เวลาเช้า เที่ยวเล่นและยิงนกไปพลาง จนบ่ายจึงไปดักทางลงเรือ เพราะเรือไปทางลำน้ำอ้อมค้อมมาก เที่ยวเล่นเช่นนั้นมาหลายวัน วันจะถึงเมืองอุตรดิตถ์ เมื่อพวกนักเรียน ๔ คนกลับลงเรือแล้วต่างคนต่างล้างปืนตามเคย ปืนของนักเรียนคนหนึ่งยังมีปัสตันอยู่ในลำกล้องนัด ๑ เจ้าของสำคัญว่าได้เอาออกหมดแล้ว ทำปืนลั่นถูกขาเพื่อนนักเรียนอีกคนหนึ่งใกล้ๆ ลูกปรายเข้าไปจมเนื้ออยู่ในขาทั้งหมด พอเรือไปถึง ฉันรู้ก็ตกใจจะหาหมอรักษา พระประสิทธิวิทยา (สร เทศะแพทย์) หมอสำหรับตัวฉัน เป็นหมอมีชื่อเสียงก็รักษาได้แต่ทางยา ไม่ได้หัดรักษาบาดเจ็บ สืบถามหาหมออื่นก็ได้ความว่าทั้งเมืองอุตรดิตถ์ ไม่มีใครจะรักษาได้ เขาบอกว่าหมอรักษาบาดเจ็บได้ มีแต่หมอมิชชันนารีอเมริกันอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ฉันต้องให้จัดเรือลำหนึ่งมีคนแจว ๒ ผลัดรีบพาคนเจ็บล่องจากเมืองอุตรดิตถ์แจวลงมาตลอดคืนจึงถึงหมอ แต่เดชะบุญหมอรักษาหายได้ไม่เป็นอันตราย เหตุครั้งนั้นทำให้ฉันเห็นประจักษ์ใจ ว่าคนตามหัวเมืองที่ตายด้วยบาดเจ็บเพราะไม่มีหมอรู้จักรักษาเห็นจะมีมาก จำจะต้องให้มีหมอหลวงสำหรับรักษาบาดเจ็บขึ้นตามหัวเมือง ถึงคราวประชุมเทศาภิบาล ฉันจึงเสนอความเห็นต่อที่ประชุมว่า แพทย์ประจำเมืองต่อไปควรต้องให้รู้จักรักษาบาดเจ็บด้วยทั้งนั้น แต่จะให้เป็นเช่นนั้นโดยเร็วไม่ได้ เพราะหมอไทยที่รู้วิชาตัดผ่ารักษาบาดเจ็บยังมีน้อย และหมอยาที่เป็นตำแหน่งแพทย์ประจำเมืองทำการดีอยู่ จะไล่ออกก็ไม่ควร จึงเห็นควรจะกำหนดแต่อย่างหนึ่งว่าผู้จะเป็นแพทย์ประจำเมืองต่อไปต้องรู้วิชาตัดผ่าด้วย เช่นแพทย์ประกาศนียบัตรของโรงเรียนแพทย์ในกรมพยาบาลจึงจะเป็นได้ ที่ประชุมเทศาภิบาลเห็นชอบด้วยลงมติดังว่านั้น แต่นั้นมากระทรวงมหาดไทยก็หาหมอประกาศนียบัตรที่เรียนตลอดหลักสูตรในโรงเรียนแพทย์มาตั้งเป็นแพทย์ประจำเมือง เป็นเหตุให้พวกหมอประกาศนียบัตรที่ต้องไปหากินด้วยการอื่น กลับหาตำแหน่งในราชการได้โดยวิชาหมอ มีคนสมัครเรียนวิชาแพทย์มากขึ้น เลยเป็นปัจจัยให้โรงเรียนแพทย์กลับรุ่งเรืองดังกล่าวมาแล้ว

ทำหนองปลูกฝีดาษ

ได้เล่ามาแล้วว่าการปลูกฝีดาษในเมืองไทย เดิมใช้พันธุ์หนองส่งมาแต่อเมริกาถึงเมืองไทยปีละครั้งหนึ่ง ต่อมาใช้พันธุ์หนองส่งมาแต่ยุโรป ๒ เดือนมาถึงครั้งหนึ่ง ถึงกระนั้นพันธุ์หนองที่ได้มาแต่ยุโรปก็มักเสียกลางทาง ใช้ได้แต่คราวละสักครึ่งหนึ่ง จึงต้องเอาหนองคนที่ปลูกฝีขึ้นงามปลูกกันต่อไป ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ นั้น ฝรั่งเศสมาตั้งสาขาปาสตุรสถาน ทำหนองปลูกฝีดาษและเซรุ่มรักษาโรคอื่นขึ้นที่เมืองไซ่ง่อน เมืองไทยก็ซื้อพันธุ์หนองปลูกฝีมาแต่เมืองไซ่ง่อน เพราะอาจจะส่งมาได้ภายใน ๑๕ วันหนองก็ไม่เสียในกลางทาง แต่ได้พันธุ์หนองก็ยังไม่พอใช้ ที่โรงพยาบาลก็ยังเลิกวิธีปลูกต่อกันไม่ได้ กระทรวงมหาดไทยอยากจะทำพันธุ์หนองปลูกฝีในเมืองไทยเอง หมออะดัมสัน (ภายหลังได้เป็นพระบำบัดสรรพโรค) แพทย์ในมิชชันนารีอเมริกันรับจะทำ จึงให้ตั้งที่ทำหนองปลูกฝีขึ้น ณ สำนักงานของหมออะดัมสันที่สี่กั๊ก ถนนเจริญกรุง เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๔ ทำได้ แต่พันธุ์หนองยังไม่สู้ดีเหมือนอย่างที่ส่งมาจากต่างประเทศ และยังได้น้อยไม่พอใช้ เพราะที่ทำการคับแคบนัก ถึง พ.ศ. ๒๔๔๕ กระทรวงมหาดไทยได้หมอมาโนส์ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการทำหนองฝีดาษเข้ามารับราชการ จึงให้ย้ายที่ทำพันธุ์หนองปลูกฝีออกไปตั้งที่เมืองนครปฐม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ให้หมอมาโนส์เป็นผู้จัดการ แต่นั้นก็ทำพันธุ์หนองปลูกฝีดาษในเมืองไทยได้พอต้องการ และดีเสมอหนองที่ทำในต่างประเทศ ไม่ต้องซื้อหามาจากที่อื่นและไม่ต้องปลูกฝีต่อกันดังแต่ก่อน การปลูกฝีก็แพร่หลายไปตามหัวเมือง ด้วยจ่ายพันธุ์หนองออกไปให้แพทย์ประจำเมืองเป็นพนักงานปลูกฝีด้วย

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ เกิดโรคฝีดาษชุกชุม คล้ายกับเป็นโรคระบาด และในสมัยนั้นการบำรุงอนามัย ได้โอนจากกระทรวงธรรมการไปเป็นหน้าที่กระทรวงปกครองท้องที่ คือกระทรวงนครบาลบำรุงอนามัยในมณฑลกรุงเทพฯ กระทรวงมหาดไทยบำรุงอนามัยตามหัวเมืองมณฑลอื่นๆ กรมพยาบาลคงเป็นแต่จัดการโรงเรียนแพทย์ กับโรงพยาบาลศิริราชซึ่งเป็นที่ฝึกสอนนักเรียนแพทย์ เป็นเช่นนั้นมาแต่ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อเกิดโรคฝีดาษชุกชุมขึ้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงดำรัสสั่งให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยกับเสนาบดีกระทรวงนครบาล ปรึกษากันจัดการป้องกันโรคระบาดด้วยปลูกฝีชาวเมืองให้มากเท่าที่จะทำได้ ถ้าหากจะต้องใช้เงินเกินกว่าที่มีอยู่ จะทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเงินส่วนพระองค์ช่วย จนพอแก่การมิให้ติดขัด เมื่อปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการปลูกฝีตามรับสั่ง กระทรวงนครบาลเห็นว่าจะต้องตั้งข้อบังคับให้พลเมืองที่ยังไม่ออกฝีดาษปลูกฝีทุกคน แล้วประกาศเรียกพลเมืองมาปลูกฝีตามข้อบังคับนั้น กระทรวงมหาดไทยเห็นว่าการตั้งข้อบังคับพลเมืองนั้น จำต้องกำหนดโทษผู้ขัดขืน แม้อย่างต่ำเพียงปรับไหมก็เป็นความเดือดร้อน จะทำให้คนเกิดหวาดหวั่นเสียแต่แรก ก็การปลูกฝีนั้น ที่จริงเป็นการช่วยชีวิตของผู้ที่มาให้ปลูกนั้นเอง ซ้ำพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้หมอหลวงออกไปปลูกฝีให้เป็นทาน ก็เป็นบุญของราษฎร มีแต่เป็นคุณแก่ราษฎรอย่างเดียว ข้อสำคัญอยู่ที่จะต้องทำอย่างไรให้ราษฎรรู้ความจริง ก็จะพากันมาปลูกฝีด้วยความยินดี หาต้องบังคับปรับไหมให้เดือดร้อนไม่ กระทรวงนครบาลไม่เห็นชอบด้วย คงเห็นอยู่ว่าถ้าไม่ตั้งข้อบังคับ การปลูกฝีก็ไม่สำเร็จได้ ฉันตอบว่าโดยฉันจะเห็นพ้องกับกระทรวงนครบาล กระทรวงมหาดไทยก็ไม่สามารถจะจัดการได้ตามความคิดอย่างนั้น เพราะภูมิลำเนาของราษฎรตามหัวเมืองอยู่กระจัดกระจายกัน ราษฎรชาวหัวเมืองความรู้น้อยกว่าชาวกรุงเทพฯ ถ้ามีประกาศคาดโทษคนก็เห็นจะพากันตื่น ตำรวจภูธรตามหัวเมืองก็ไม่มีมาก พอจะไปเที่ยวตรวจตราราษฎรตามบ้านช่องได้ทั่วถึง เหมือนพวกกองตระเวนของกระทรวงนครบาลในกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นต่างกระทรวงต่างทำตามที่เห็นว่าจะทำได้ในท้องที่ของตนจะดีกว่า เอาแต่ให้สำเร็จตามพระราชประสงค์เป็นประมาณ ก็ตกลงกันอย่างนั้น กระทรวงนครบาลจะจัดการอย่างไร ฉันไม่ได้เอาใจใส่สืบสวน จะเล่าแต่กระบวนการที่กระทรวงมหาดไทยจัดครั้งนั้น คือ

๑. แต่งประกาศพิมพ์เป็นใบปลิว ความว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าเกิดโรคฝีดาษขึ้นชุกชุม ทรงพระวิตกเกรงว่าราษฎรจะพากันล้มตาย ทรงพระราชดำริว่าโรคฝีดาษนั้นอาจจะป้องกันได้ด้วยปลูกฝี ถ้าใครปลูกแล้วก็หาออกฝีดาษไม่ แต่การปลูกฝียังไม่แพร่หลายออกไปถึงหัวเมือง คนจึงออกฝีดาษล้มตายกันมาก

จึงทรงพระกรุณาโปรดให้หมอหลวงออกมาปลูกฝีพระราชทานแก่ราษฎร มิให้ล้มตายด้วยโรคฝีดาษ หมอหลวงไปถึงที่ไหนก็ให้ราษฎรไปปลูกฝีเถิด จะได้ป้องกันอันตรายมิให้มีแก่ตน

๒. แล้วจัดพนักงานปลูกฝีเป็น ๔ พวก ให้แยกกันไปปลูกฝีตามหัวเมืองมณฑลที่เกิดโรคฝีดาษชุกชุมในเวลานั้น คือมณฑลนครชัยศรีพวกหนึ่ง มณฑลราชบุรีพวกหนึ่ง มณฑลปราจีนพวกหนึ่ง มณฑลนครราชสีมาพวกหนึ่ง มณฑลอื่นที่ฝีดาษไม่ชุกชุม แพทย์ประจำเมืองก็คงปลูกฝีอยู่อย่างปรกติ

๓. วิธีที่ไปปลูกฝีนั้น ให้ไปปลูกทีละอำเภอเป็นลำดับไป เมื่อพนักงานปลูกฝีไปถึงอำเภอไหน ให้กรมการอำเภอเรียกกำนันผู้ใหญ่บ้านมาชี้แจงแล้วแจกประกาศใบปลิวให้เอาไปประกาศแก่ราษฎร และปิดไว้ตามวัดอันเป็นที่ประชุมชน และให้ปรึกษากันกะที่ที่จะไปปลูกฝีตามตำบลในอำเภอนั้นกี่แห่ง แล้วกำหนดวันว่าจะไปปลูกฝีที่ตำบลไหนวันไหน ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไปนัดราษฎร เมื่อถึงวันนัดพนักงานไปตั้งทำการที่วัดแห่งหนึ่งในตำบลนั้น กำนันผู้ใหญ่บ้านพาราษฎรมาให้ปลูกฝี เมื่อปลูกตำบลหนึ่งแล้วก็ย้ายไปปลูกตำบลอื่น อำเภออื่น และจังหวัดอื่นๆ ต่อไปโดยทำนองเดียวกันทุกพวก เมื่อพวกปลูกฝีปลูกแล้วให้มีสารวัตรตามไปภายหลังราว ๗ วัน ไปตรวจการที่พวกปลูกฝีได้ทำไว้ ว่าปลูกฝีได้มากหรือขึ้นดีหรืออย่างไร และพวกชาวบ้านสรรเสริญหรือติเตียนอย่างไร ด้วยมีสัญญาแก่พวกพนักงานที่ไปปลูกฝี ว่าเมื่อทำการเสร็จแล้วจะให้รางวัลตามลำดับเป็นชั้นกัน โดยความดีที่ได้ทำ คือจำนวนคนที่ได้ปลูกฝีอย่างหนึ่ง ส่วนที่ปลูกฝีขึ้นงามอย่างหนึ่ง ได้รับความชมเชยของชาวบ้านอย่างหนึ่ง ผสมกันเป็นคะแนนตัดสิน

ปลูกฝีเป็นการพิเศษครั้งนั้น เป็นการสะดวกดีทั้ง ๔ ทาง มีปรากฏในรายงานประชุมเทศาภิบาล พ.ศ. ๒๔๕๖ ว่าจำนวนคนที่ได้ปลูกฝีถึง ๗๘,๗๖๘ คน ทำได้โดยมิต้องตั้งข้อบังคับปรับไหมอย่างไร

ทำเซรุ่มแก้พิษหมาบ้า

เรื่องนี้มีกรณีเกิดขึ้นในครัวเรือนของตัวฉันเองเป็นมูลเหตุ ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกไปประทับอยู่ที่พระราชวังจันทร์ ณ พระปฐมเจดีย์ ฉันยังเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตามเสด็จไปอยู่ที่เรือนบังกะโลที่พักของฉันตามเคย วันหนึ่งเวลาบ่าย พวกลูกเด็กๆ ลงไปเล่นกันอยู่ที่สนามหญ้าหน้าเรือน มีหมาบ้าตัวหนึ่งวิ่งเข้ามาในบ้าน พวกเด็กพากันวิ่งหนี แต่ลูกหญิงบรรลุศิริสาร (เรียกกันว่า หญิงเภา) หกล้มถูกหมาบ้ากัดเอาที่ขาเป็นรอยเขี้ยว ๒ แผล ตัวเองไม่รู้สึกเจ็บปวดเท่าใดนัก แต่พวกผู้ใหญ่ตกใจ ฉันก็สั่งให้เที่ยวสืบหาหมอที่ชำนาญการรักษาพิษหมาบ้าแต่ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ ตรัสแนะนำให้ฉันส่งไปรักษา ณ สถานปาสเตอร์ที่เมืองไซ่ง่อน ฉันก็เห็นชอบด้วยพระราชดำริ แต่ให้สืบถึงเรือที่จะรับไปได้ความว่าเรือเพิ่งออกไปเสียเมื่อวันก่อน จะต้องรอคอยเรืออีก ๑๕ วันจึงจะไปได้ ก็ต้องให้หมอซึ่งหามาได้คนหนึ่งรักษาตามวิธีไทย ให้กินยา ทายา รักษาไม่กี่วันแผลก็หาย ตัวเด็กก็สบาย แจ่มใสเหมือนแต่ก่อน จนเชื่อกันว่าหมอคนนั้นสามารถรักษาหายแล้ว เมื่อกลับมาอยู่กรุงเทพฯ ก็เป็นปรกติดีมาสัก ๓ เดือน จนเกือบลืมเรื่องที่เธอถูกหมาบ้ากัด อยู่มาวันหนึ่งหญิงเภาตื่นนอนขึ้นเช้าตัวร้อน ก็สำคัญกันว่าเป็นไข้ ให้กินยาตามเคย แต่มีอาการแปลกอย่างหนึ่งในเวลาเมื่อเธอรับถ้วยยาหรือถ้วยน้ำจะกินมือสั่นทั้งสองข้าง ต่อเมื่อวางถ้วยแล้วมือจึงหายสั่น อาการเช่นนั้นทั้งตัวฉันและใครๆ ที่อยู่ด้วย ไม่มีใครเคยเห็น แต่ก็ยังไม่ตกใจ ด้วยอาการอย่างอื่นไม่ผิดกับไข้สามัญ ครั้นสายเข้าเวลาจะกินยาหรือกินน้ำ มือยิ่งสั่นหนักขึ้นจนถึงตัวสั่น ฉันก็แปลกใจ จึงให้รับหมอปัว (ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยาอัศวินอำนวยเวช) มาดู พอหมอปัวเห็นอาการก็หน้าเสีย เรียกฉันไปนั่งด้วยกันให้ห่างคนอื่น แล้วบอกว่าเป็นโรคกลัวน้ำด้วยพิษหมาบ้า ไม่มีทางที่จะรักษาให้หายเสียแล้ว ฉันได้ฟังยังไม่อยากเชื่อ ด้วยเวลานั้นอาการคนไข้ทรุดลงเพียงต้องลงนอนยังพูดจาได้ แต่อาการที่ฉันไม่เคยเห็น เป็นกิริยาโรคกลัวน้ำตรงกับตำราฝรั่งอย่างหมอปัวว่าก็จนใจ ฉันบอกผู้อื่นเพียงว่าเป็นโรคเกิดจากพิษหมาบ้ากัด มิได้ให้ใครรู้ว่าจะไม่รอด เพราะเกรงจะเกิดโศกศัลย์พาให้คนไข้ใจเสีย เพิ่มทุกขเวทนาหนักขึ้น แต่อาการโรคทรุดเร็ว พอถึงเวลาดึกค่ำวันนั้นหญิงเภาก็สิ้นชีพ เจ็บอยู่ไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง แต่ไม่มีอาการเช่นเคยได้ยินเขาเล่ากัน ว่าคนจะตายด้วยพิษหมาบ้า มักร้องเป็นเสียงเห่าหอน หรือน้ำลายฟอดฟูมปากอย่างหนึ่งอย่างใด

เมื่อหญิงเภาถูกหมาบ้ากัดที่พระปฐมเจดีย์ เป็นเวลาไปตามเสด็จ คนรู้กันมาก ครั้นเธอสิ้นชีพจึงมีคนสงสาร จนเป็นเรื่องโจษกันกันแพร่หลาย มีมิตรของฉันคนหนึ่งเข้าใจว่าตัวหมอมาโนส์ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ทำหนองปลูกฝีดาษ มาพูดแก่ฉันว่าที่จริงหญิงเภาไม่ควรตาย เพราะหมอปาสเตอร์พบวิธีรักษาโรคกลัวน้ำได้แล้ว ถ้าหญิงเภาอยู่ในยุโรปหรือแม้เพียงอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน อันมีสถานปาสเตอร์ ก็จะรักษาหายได้โดยง่าย ที่ต้องตายเพราะไม่มียาในกรุงเทพฯ เท่านั้น เขาเห็นว่าถ้าหากฉันคิดตั้งสถานปาสเตอร์ที่ในกรุงเทพฯ ด้วยเหตุที่ลูกตายครั้งนั้น คงจะสำเร็จได้เพราะคนสงสารมีมาก คนที่หวาดหวั่นเกรงจะเป็นเช่นเดียวกันในครอบครัวของเขาก็มี และการที่จะตั้งสถานปาสเตอร์ก็ไม่ยากหรือจะต้องสิ้นเปลืองเท่าใดนัก ถ้าฉันบอกบุญเรี่ยไรในเวลานั้น คงจะได้เงินพอแก่การ ฉันเห็นชอบด้วย เพราะเมื่อฉันไปยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้เคยไปดูสถานปาสเตอร์ที่เมืองปารีส ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นไม่ช้านัก ตัวหมอปาสเตอร์เองเป็นผู้นำฉันเที่ยวดูทั่วทั้งสถาน และให้ดูวิธีทำเซรุ่มตั้งแต่เจาะหัวกระต่าย เอาพิษหมาบ้าฉีดลงในสมอง ให้พิษเกิดในตัวกระต่ายก่อน เมื่อกระต่ายตายด้วยพิษนั้นแล้ว เอาเอ็นในซากกระต่ายมาผสมยาทำเป็นเซรุ่ม และให้ฉีดยารักษาเด็กคนหนึ่งซึ่งถูกหมาบ้ากัดให้ฉันดู ฉันได้เคยเห็นแล้วดังว่ามา และตัวหมอมาโนส์เองก็ได้เคยไปศึกษาในปาสเตอร์สถานที่เมืองปารีส รู้วิธีทำเซรุ่มไม่ต้องหาใครมาใหม่ คิดดูการที่จะตั้งสถานปาสเตอร์ในกรุงเทพฯ มีเพียงหาที่ตั้งอย่างหนึ่ง หาเครื่องใช้อย่างหนึ่ง ส่วนคนที่เป็นลูกมือทำการ ก็อาจจะใช้พวกทำพันธุ์หนองปลูกฝีดาษได้ ด้วยรวมการทำเซรุ่มทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน ไม่ต้องเพิ่มเติมผู้คนขึ้นเท่าใดนัก ฉันจึงกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต แล้วประกาศบอกบุญเรี่ยไรเงินทุนที่จะตั้งสถานปาสเตอร์ที่ในกรุงเทพฯ ก็มีผู้ศรัทธาช่วยกันมากทั้งไทยและพวกชาวต่างประเทศ ฉันได้อาศัยพระยามหาอำมาตย์ (เส็ง วิริยะศิริ) กับหมอมาโนส์เป็นกำลังในครั้งนั้น ในไม่ช้าก็ได้เงินพอแก่การ จึงตั้งปาสเตอร์สถานขึ้นที่ตึกของกระทรวงมหาดไทยที่ริมโรงเลี้ยงเด็ก และย้ายสถานทำพันธุ์หนองปลูกฝีดาษ ณ พระปฐมเจดีย์เข้ารวมกัน เมื่อจัดการเตรียมพร้อมแล้ว ได้เชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงทำพิธีเปิดสถานปาสเตอร์ (เวลานั้นเรียกว่า ปัสตุรสภา) เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ ต่อมาหมอมาโนส์เกิดอาการป่วยเจ็บต้องลาออก แต่ก็ได้หมอโรแบต์ฝรั่งเศสมาแทน ทรงคุณวุฒิและมีใจรักงานเช่นเดียวกับหมอมาโนส์ ก็อาจรักษาโรคพิษหมาบ้าสำเร็จประโยชน์ได้ในเมืองไทยแต่นั้นมา และสถานปาสเตอร์นั้น ต่อมาภายหลังโอนไปขึ้นอยู่ในสภากาชาด หมอโรแบต์ก็ย้ายตามไปทำการเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นโดยลำดับมาจนขยายใหญ่โต เป็นสถานเสาวภาอยู่บัดนี้

ที่สถานเสาวภา มีรูปหม่อมเจ้าหญิงบรรลุศิริสาร อย่างปั้นครึ่งตัวหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ตั้งอยู่รูปหนึ่ง เป็นอนุสรณ์ซึ่งเธอเป็นมูลเหตุให้เกิดสถานปาสเตอร์ในเมืองไทย ฉันไปเห็นรูปนั้นเมื่อใด ก็นึกว่าเธอคงไปสู่สุคติภูมิ เพราะชีวิตของเธอช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ในเมืองไทยได้มาก

โอสถศาลา

เมื่อคราวประชุมเทศาภิบาลใน พ.ศ. ๒๔๕๖ ที่ประชุมปรึกษาตกลงกัน ว่าจะตั้งโอสถศาลา (เวลานั้นเรียก โอสถสถาน) ขึ้นตามหัวเมือง ความคิดที่จะตั้งโอสถศาลานั้น ในบริเวณเมืองหนึ่งจะให้มีโอสถศาลาแห่งหนึ่ง มีเรือนที่อยู่ของหมอ มีห้องรักษาคนไข้ และมีร้านขายยาต่างๆ รวมอยู่ด้วยกัน สร้างด้วยเงินบอกบุญเรี่ยไร ให้หมอหลวงประจำเมืองเป็นผู้จัดการโอสถศาลานั้น และให้ได้ส่วนกำไรเป็นประโยชน์ของตนด้วยในการบางอย่างที่รัฐบาลอนุญาต

การรักษาไข้ที่โอสถศาลานั้น ให้หมอหลวงใช้เวลานอกหน้าที่ คือที่ต้องไปตรวจเรือนจำและรักษาข้าราชการเป็นต้น รับรักษาไข้เจ็บให้ราษฎรที่ไปยังโอสถศาลาแต่เวลา ๓ โมงเช้า (๙ นาฬิกา) จนเที่ยงวันทุกวัน แล้วแต่ใครจะขอให้ตรวจและรักษาโรค หรือรักษาบาดเจ็บและให้ปลูกฝี ให้หมอทำให้เป็นทาน

ยารักษาโรคต่างๆ นั้นให้เป็นของตัวหมอขายเอง รัฐบาลขายเชื่อยาโอสถศาลาให้หมอเพียงเท่าทุน และหมอจะหายาอื่นไปขายด้วยก็ได้ ให้หมอบอกบุญเรี่ยไรค่ายาสำหรับรักษาคนอนาถาด้วยอีกส่วนหนึ่ง

การตั้งโอสถศาลาสำเร็จช้า ด้วยต้องบอกบุญเรี่ยไรหาทุนให้พอก่อนจึงตั้งได้ จะจัดได้กี่แห่งในสมัยเมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ฉันไม่ทราบแน่ จำได้แต่ที่พระปฐมเจดียแห่งหนึ่ง ก็สำเร็จประโยชน์ดี

การบำรุงอนามัยตามหัวเมืองที่ฉันได้เคยมีหน้าที่เกี่ยวข้อง จำได้ตามที่เล่ามา ถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมาได้ ๒๓ ปี ถอยกำลังลงทนงานไม่ไหว เกิดอาการป่วยเจ็บ ก็ต้องถวายเวนคืนตำแหน่ง เป็นสิ้นหน้าที่เกี่ยวข้องกับการปกครองหัวเมืองแต่เพียงนั้น.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ