ตำนานละครครั้งรัชกาลที่ ๕

ถึงรัชกาลที่ ๕ พอปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๑๒ ซึ่งเป็นปีที่ ๒ ก็มีช้างด่างเมืองเชียงใหม่ (คือพระเสวตรวรวรรณ)[๑] มาสู่พระบารมี แล้วได้ช้างทองแดง (คือพระมหารพีพรรณคชพงศ์) มาแต่เมืองนครศรีธรรมราชอีกช้าง ๑ มีงานสมโภชเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ พร้อมกันทั้ง ๒ ช้าง

ประเพณีการสมโภชช้างเผือกแต่ก่อนนั้น ปลูกโรงสมโภชที่ท้องสนามชัย ให้ประชาชนได้เห็นเมื่อช้างขึ้นระวางเรียกว่าสมโภชโรงนอกครั้ง ๑ ครั้นเสร็จการสมโภชโรงนอกแล้ว เมื่อพาช้างเผือกเข้าไปไว้ในโรงช้างต้น มีการสมโภชภายในพระราชวัง เรียกว่าสมโภชโรงในอีกครั้ง ๑ ในงานสมโภชโรงในนี้ ที่เคยมีละครผู้หญิงของหลวงเป็นแบบมาแต่ในรัชกาลที่ ๒

ครั้นสมโภชพระเสวตรวรวรรณกับพระมหารพีพรรณคชพงศ์เข้าโรงใน ในรัชกาลที่ ๕ โปรดให้มีละครหลวงที่โรงละครหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตอนเย็นเล่นจับระบำตลก ตัวละครเลือกล้วนแต่จำอวดผู้ชายที่มีชื่อเสียงในเวลานั้นมาเล่นประสมโรง นายต่ายข้าหลวงเดิมเป็นตัวพระอรชุน นายขำแตรเป็นตัวนางเมขลา นายรุ่งเป็นตัวรามสูร บทระบำนั้นทรงพระราชนิพนธ์ไว้แต่เมื่อยังเสด็จประทับอยู่พระตำหนักสวนกุหลาบในรัชกาลที่ ๔ เล่ากันว่าขบขันนัก[๒] ครั้นวันรุ่งขึ้น โปรดให้ขอแรงละครผู้หญิงของหลวงครั้งรัชกาลที่ ๒ ซึ่งยังมีตัวเหลืออยู่ในเวลานั้นเล่นเรื่องสังข์ทอง ตัวละครที่เล่นล้วนครูทั้งนั้น คือคุณบัวตัวท้าวสามนต์เดิม เป็นท้าวสามนต์ คุณท้าววรจันทร์มาลัย ตัวพระสังข์เดิม เป็นพระสังข์ คุณขำตัวเงาะเดิม เป็นเงาะ คุณจาดล่าสำเป็นเขยใหญ่ คุณองุ่นสีดาเป็นนางมณฑา คุณเอี่ยมบุษบาเป็นนางรจนา คุณขำบาหยันเป็นหัวหน้านางทั้งหก ส่วนตัวผลัดและตัวรองนั้น โปรดให้ละครหลวงในรัชกาลที่ ๔ ช่วยเล่นผสม ต่อมาถึงปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ มีช้างเผือกมาแต่เมืองสุวรรณภูมิ (คือพระเสวตรสุวภาพรรณ) จะมีละครหลวงสมโภชโรงในตามแบบเก่าอีก ละครหลวงยังไม่ได้หัดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดให้ขอแรงละครหลวงครั้งรัชกาลที่ ๔ รวมกันซักซ้อมเล่นเรื่องอิเหนาต่อมาอีกระยะ ๑ แต่เล่นเฉพาะงานสมโภชช้างเผือก ถ้าเป็นงานอื่น เช่นงานโสกันต์เป็นต้น ก็โปรดให้หาละครที่ฝึกหัดกันขึ้นข้างนอก มีละครเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง เมื่อยังเป็นพระยาราชสุภาวดี และละครพระยาพิชัยสงคราม (อ่ำ) ข้าหลวงเดิม เมื่อยังเป็นพระอินทรเทพเป็นต้น เข้ามาเล่นบางทีมีการสโมสรปีใหม่ โปรดให้เล่นละครสมัคร ผู้ที่เล่นเจ้านายก็มี ขุนนางก็มี แล้วแต่ใครจะสมัครเล่น แต่เล่นเป็นละครพูด นับว่าละครพูดในภาษาไทยมีขึ้นเป็นทีแรกในครั้งนั้น เอาเรื่องละครรำ เช่นเรื่องสังข์ศิลป์ชัยมาเล่นเป็นละครพูดบ้าง เอาเรื่องนิทานมาเล่นบ้าง คราวสุดท้ายเล่นเรื่องนิทราชาคริต เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๒๒ ต่อมาราวเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๒๔ เป็นปีที่ ๑๔ ในรัชกาล จึงได้เริ่มหัดละครหลวงขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๕ ด้วยจะมีงานสมโภชพระนครอายุครบ ๑๐๐ ปี เป็นงานใหญ่ ในปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕ โปรดให้ละครหลวงครั้งรัชกาลที่ ๔ เป็นครูฝึกหัดตัวละครขึ้นใหม่ชุดหนึ่ง เล่นเรื่องอิเหนา ตั้งแต่อิเหนาเข้าเฝ้าท้าวดาหา ไปจนลมหอบนางบุษบา ได้ออกโรงเล่นงาน ที่โรงละครปลูกขึ้นที่หน้าพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ เมื่อเฉลิมพระราชมนเทียรพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เนื่องในงานสมโภชพระนครครั้งนั้น แต่ละครหลวงที่หัดใหม่ เล่นคราวเดียวแล้วก็เลิก หาได้เล่นต่อมาอีกไม่

แต่ละครผู้หญิงของหลวงยังได้เล่นเป็นพิเศษอีกครั้ง ๑ เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) ในงานสมโภชเมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากประเทศยุโรป ครั้งนั้นคนทั้งหลายพากันชื่นชมโสมนัสทั่วทุกชาติทุกชั้นบรรดาศักดิ์ ต่างพวกต่างพากันจัดการสมโภชมีงานต่างๆ ติดต่อกันมาจนเกือบเดือนหนึ่ง จึงเสร็จงาน ในคราวนั้น ท่านข้างในที่ได้เป็นข้าราชการมาในรัชกาลที่ ๔ พากันปรารภว่า ประเพณีการสมโภชแต่ก่อนมา ถ้าเป็นงานใหญ่แล้ว เคยต้องมีละครอิเหนา แต่ครั้งนี้ขาดไป เพราะไม่ได้ฝึกหัดละครหลวงไว้เหมือนแต่ก่อน ท่านจึงคิดกันว่าในพวกท่านที่ได้เคยเป็นละคร ก็ยังมีตัวเหลืออยู่หลายคนด้วยกัน ยังไม่มีโอกาสที่จะได้สนองพระเดชพระคุณในครั้งนั้น ควรจะรวมกันเล่นละครอิเหนาสมโภช จะได้สนองพระเดชพระคุณกับเขาบ้าง ปรึกษากันแล้ว จึงนำความที่ปรารภขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ แต่ในเวลาเมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังไม่เสด็จกลับ ก็ทรงยินดีอนุโมทนาความประสงค์นั้น ทรงรับเป็นพระราชธุระอุดหนุนในการทั้งปวง ตลอดจนสร้างเครื่องแต่งตัวละครพระราชทานใหม่ ให้บางเบาสำหรับผู้ที่สูงอายุ และเสด็จลงทอดพระเนตรซักซ้อมเสมอ จนได้ออกโรงเล่นสมโภชที่โรงปลูกขึ้นในสวน (ศิวาลัย) ริมประตูแถลงราชกิจ เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๐ เล่นตั้งแต่อิเหนาเข้าเฝ้าท้าวดาหา และตอนบวงสรวงขับรำเมื่อใช้บน ตัวละครที่เล่นครั้งนี้ที่เป็นตัวสำคัญ คือ :-

ท้าวดาหา เจ้าคุณพระอัยยิกา
ท้าวดาหา เมื่อบวงสรวง เจ้าจอมมารดาหรุ่น
อิเหนา ท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด)
สังคามาระตา เจ้าจอมมารดาเขียน
สุหรานากง ท้าววนิดาวิจาริณี (เจ้าจอมมารดาสุ่น)
กะหรัดตะปาตี เถ้าแก่เหลี่ยม (ภายหลังเป็นท้าวศรีสัจจา)
ล่าสำ เจ้าจอมหนูสุด
จรกา เถ้าแก่สัมฤทธิ์
สียะตรา หม่อมเจ้าชายธานีนิวัตร ในกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา คุณท้าววรจันทร์ผู้เป็นย่า หัดให้รำสำหรับเล่นในคราวนั้น
ตำมะหงง ท้าวโสภานิเวศร์ (เล็ก)
ยาสา เถ้าแก่สารภี
ประสันตา ท้าวอินสุริยา (ชื่น)
กะราตาหลา เถ้าแก่เหลี่ยม เถ้าแก่ชุ่ม เป็นแทน ตอนที่เถ้าแก่เหลี่ยมเป็นกะหรัดตะปาตี
ยะรุเดะ เถ้าแก่ขำ
ปูนตา เถ้าแก่องุ่น
นางประไหมสุหรี เจ้าจอมมารดาชุ่ม
นางมะเดหวี เจ้าจอมมารดาเอม
นางมะโต เจ้าจอมมารดาดวงคำ
นางลิกู เจ้าจอมมารดาพุ่ม
นางเหมาหลาหงี ขรัวยายองุ่น (ซึ่งเคยเป็นตัวบุษบา ละครชั้นใหญ่ในรัชกาลที่ ๔)
นางบุษบา เจ้าจอมมารดาห่วง
นางบาหยัน เถ้าแก่ลำไย
นางประเสหรัน เถ้าแก่เปลี่ยน (ภายหลังเป็นท้าวอินสุริยา)
นางผู้รับสั่ง เจ้าจอมมารดาสังวาลย์
นางผู้รับสั่ง ท้าวศรีสัจจา (เจ้าจอมมารดาอิ่ม)

ตัวละครที่เป็นเสนาและนางกำนัล ก็ล้วนแต่ที่ได้เคยเป็นละครหลวงมาในรัชกาลที่ ๔ มีอายุกว่า ๕๐ ขึ้นไปทั้งโรง แต่ยังมีชั้นเด็กเข้าเล่นด้วยอีกพวก ๑ โดยเมื่อซ้อมละครนั้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ เสด็จประทับทรงอำนวยการ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอที่ยังทรงพระเยาว์อยากทรงเล่นบ้าง จึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกยาเธอ ที่ยังทรงพระเยาว์ กับทั้งหม่อมเจ้าเด็กๆ ที่เป็นหลานของท่านผู้เป็นตัวละคร แต่งเป็น “แพะ แกะ โค กระทิง มหิงสา” สัตว์ต่างๆ อันเป็นเครื่องบวงสรวงของท้าวดาหาทั้งฝูง ส่วนข้าราชการฝ่ายในครั้งรัชกาลที่ ๔ ที่มิได้เป็นละคร ก็พากันสมัครมารับหน้าที่ช่วยเหลือต่างๆ ดังเช่นพระองค์เจ้าพรรณราย ทรงรับเป็นผู้ถวายชัยมงคลแทนผู้ที่เล่นละครเป็นต้น ละครหลวงเล่นครั้งที่กล่าวนี้ถึงตัวละครแก่ชราก็จริง แต่เพราะเล่นด้วยความเต็มใจจะสนองพระเดชพระคุณให้สมกับโอกาส กระบวนรำงามน่าดูยิ่งนัก มีคนอยากดูกันมาก แต่พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งว่า ผู้ที่เล่นละครล้วนบรรดาศักดิ์สูง เป็นเจ้าจอมมารดาของเจ้านายที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในแผ่นดินก็หลายพระองค์ ควรจะดูแต่ที่เป็นลูกเป็นหลาน จึงหาโปรดให้ผู้อื่นดูไม่ ละครหลวงครั้งรัชกาลที่ ๔ เล่นคราวที่กล่าวนี้เป็นครั้งที่สุด ที่ละครหลวงเล่นในรัชกาลที่ ๕ แต่นั้นมาละครผู้หญิงของหลวงก็มิได้เล่นอีกแม้มีการหลวง หรือจะทอดพระเนตรละคร ก็โปรดให้หาละครผู้อื่นเข้ามาเล่นจนตลอดรัชกาล

ละครผู้หญิงที่หัดกันขึ้นข้างนอกครั้งรัชกาลที่ ๕ ที่เป็นละครของผู้มีบรรดาศักดิ์มีมากกว่าเมื่อรัชกาลที่ ๔ เพราะเล่นละครกันแพร่หลายออกไปจนหัวเมือง จะกล่าวถึงแต่ละครซึ่งนับว่าเป็นโรงใหญ่ในกรุงเทพฯ ก่อน คือ:-

(๑) ละครของพระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ โรง ๑ เริ่มหัดมาในรัชกาลที่ ๔ มาตั้งโรงในรัชกาลที่ ๕ ละครโรงนี้ เล่นละครในตามแบบรัชกาลที่ ๒ ยั่งยืน เมื่อพระองค์เจ้าสิงหนาทสิ้นพระชนม์แล้ว เป็นของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ รับสืบสกุลต่อมา ละครโรงนี้ได้เล่นงานหลวงมากกว่าละครโรงอื่น และมีตัวละครที่รำดีถึงฝีมือครูหลายคน แต่ฝึกหัดกันต่อมาในโรงเดียวกันนั้นเองเป็นพื้น มีปรากฏว่าไปเป็นครูโรงอื่น แต่คุณหญิงเทศนัฏกานุรักษ์เป็นตัวยักษ์ ได้เป็นครูอยู่ในกรมมหรสพบัดนี้ ตอนหลังเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ เล่นละครนอก เช่นเรื่องพระอภัยมณีเป็นโรงใหญ่บ้าง แล้วสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ทรงช่วยคิดให้เล่นละครไทยเป็นทำนองละครออปราฝรั่ง เรียกว่าละครดึกดำบรรพ์อีกอย่าง ๑

อนึ่ง เมื่อเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ บังคับการกรมมหรสพนั้น ได้ฝึกซ้อมโขนหลวงให้เล่นละครรำเป็นทีแรก เคยเล่นทั้งเรื่องรามเกียรติ์และเรื่องอิเหนา นับว่าละครผู้ชายทั้งโรงกลับมีขึ้นอย่างครั้งรัชกาลที่ ๓ อีกโรง ๑ มีตัวที่ได้เป็นครูละครต่อมา คือ:-

๑. พระยาพรหมาภิบาล (ทองใบ) เป็นตัวทศกัณฐ์ ไม่มีตัวสู้ในสมัยเดียวกันได้เป็นครูยักษ์ทั้งโขนและละคร

๒. พระยานัฏนานุรักษ์ (ทองดี) น้องพระยาพรหมาธิบาล เป็นตัวพระราม ได้เป็นครูครอบโขนละครในกรมมหรสพอยู่บัดนี้

(๒) ละครของเจ้าคุณจอมมารดาเอม หัดขึ้นในวังหน้าโรง ๑ เล่นตามแบบละครหลวงเป็นพื้น กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ทรงพระนิพนธ์บทละครนอกให้เล่นบ้าง มีตัวละครโรงนี้ได้ไปเป็นครูละครที่อื่น คือ:-

๑. ชื่อปริง เป็นตัวอิเหนา ได้ไปเป็นครูละครสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ กรุงกัมพูชา

๒. ชื่อเล็ก เป็นตัวสังคามาระตา ได้ไปเป็นครูละครสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ กรุงกัมพูชา

(๓) ละครของเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง โรง ๑ เล่นเป็นเชื้อมาแล้วแต่ในรัชกาลที่ ๔ มาตั้งเป็นโรงใหญ่ในรัชกาลที่ ๕ เดิมชอบเล่นเรื่องดาหลัง ต่อมาเล่นทั้งละครในและละครนอก กระบวนรำ เจ้าพระยามหินทร์ฯ คิดยักเยื้องไปจากแบบหลวง จนเกิดเป็นแบบละครเจ้าพระยามหินทร์ฯ ขึ้นอีกอย่าง ๑ มีผู้นิยมเอาอย่างกันมาก

เจ้าพระยามหินทร์ฯ เป็นผู้คิดให้ละครไทยเล่นประจำโรง เก็บเงินคนดูเป็นทีแรก เรียกโรงละครของท่านว่า ปรินสธิเอเตอ[๓] หมายความว่า เป็นละครของพระองค์เจ้าที่เป็นหลานของท่าน มีกำหนดเล่นเวลาเดือนหงาย แต่แรกเล่นเดือนละสัปดาหะ ๑ แต่เรียกตามภาษาอังกฤษว่าวิก ๑ ภายหลังเล่นเป็นเดือนละ ๒ สัปดาหะ ตั้งแต่ขึ้น ๘ ค่ำ ไปจนแรม ๗ ค่ำ คนก็ยังเรียกคราวที่เล่นละครคราว ๑ ว่า “วิก” อยู่อย่างเดิม จึงเป็นต้นตำราที่ละครโรงอื่น ตลอดจนลิเก เอาเป็นกำหนดเล่นต่อมา

ตัวละครโรงนี้ได้เป็นครูฝึกหัดโรงอื่นหลายคน ที่มีชื่อปรากฏ คือ:-

๑. ชื่อเป้า หลานเจ้ากรับ เป็นตัวเงาะ เป็นภรรยาเจ้าพระยามหินทร์ฯ ต่อมาได้เป็นครูละครเจ้าคุณจอมมารดาแพ

๒. ชื่อเปลี่ยน เป็นตัวท้าวสามนต์ เป็นภรรยาเจ้าพระยามหินทร์ฯ ได้เป็นครูละครเจ้าคุณจอมมารดาแพ

๓. ชื่อเครือ เป็นตัวมังรายกยอชวา ได้เป็นครูละครผสมสามัคคี และละครเจ้าคุณจอมมารดาแพ

๔. ชื่อเสงี่ยม เป็นตัวยืนเครื่อง ได้ไปเป็นครูละครเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เมืองเชียงใหม่

เมื่อเจ้าพระยามหินทร์ฯ ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ละครโรงนี้โดยมากไปอยู่ในเจ้าหมื่นไวยวรนาถ บุศ บุตรของท่าน ปรากฏชื่อว่า ละครบุตรมหินทร์ ได้เคยพาไปเล่นจนประเทศยุโรป เมื่อสิ้นอายุบุตรมหินทร์แล้ว เป็นละครของคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ เทพหัสดินทร ณ กรุงเทพ เรียกชื่อว่า ละครผสมสามัคคีต่อมาจนเลิก

(๔) ละครของเจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต) โรง ๑ เล่นกับมโหรีคล้ายกับละครกลายครั้งรัชกาลที่ ๓ แต่มีตัวละคร เล่นเรื่องอิเหนาร้องลำต่างๆ บางทีเป็นเพลง ๓ ชั้นก็มี หาได้เล่นเหมือนละครโรงอื่นไม่

(๕) ละครของท้าวราชกิจวรภัตร แพ ธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์โรง ๑ เล่นทั้งละครในและละครนอก ตัวละครมีน้อย แต่ได้เคยเล่นถวายตัว

(๖) ละครของเจ้าคุณจอมมารดาแพ โรง ๑ เล่นตามแบบละครเจ้าพระยามหินทร์ฯ

(๗) ละครของกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ โรง ๑ ทรงหัดขึ้นเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๕ เล่นทั้งละครในและละครนอก ได้เคยเล่นถวายตัวหลายครั้ง เดิมเล่นเป็นละครรำ แล้วเล่นเปลี่ยนแปลงไปเป็นละครร้อง ตั้งโรงเล่นอย่างละครเจ้าพระยามหินทร์ฯ เรียกว่าละครปรีดาลัย เป็นต้น แบบแผนของละครร้องที่เล่นกันมาจนทุกวันนี้

ละครผู้หญิง ที่หัดขึ้นเล่นละครนอกเมื่อรัชกาลที่ ๕ ยากที่จะนับจำนวนให้ถ้วนได้ จะกล่าวถึงแต่ที่เป็นละครมีชื่อเสียงโด่งดัง คือ :-

(๘) ละครของหม่อมเจ้าเต่า (หม่อมเจ้าลมุน) ในกรมพระเทเวศรวัชรินทร์ โรง ๑

(๙) ละครของพระยาจิรายุมนตรี (เนียม) เมื่อยังเป็นพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง โรง ๑

(๑๐) ละครของพระยาพิศาลผลพาณิช (จินสือ) โรง ๑ โรงนี้เล่นกระบวนรบ เอางิ้วเป็นครู ผิดกับโรงอื่น

ส่วนละครที่หัดขึ้นตามหัวเมือง ที่มีชื่อว่าเป็นละครโรงใหญ่เล่นละครใน มีเรื่องอิเหนาเป็นต้น คือ:-

(๑๑) ละครของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้าเชียงใหม่ โรง ๑

(๑๒) ละครของเจ้าอินทวโรรส เจ้านครเชียงใหม่ โรง ๑ เล่นตามแบบละครเจ้าพระยามหินทร์ฯ เคยเล่นถวายตัว

(๑๓) ละครเจ้าบุญทวาทวงศ์มานิต เจ้านครลำปาง โรง ๑

(๑๔) ละครของเจ้าพระยาสุรพันธุ์พิสุทธ์ หัดขึ้นแต่เมื่อยังเป็นพระยาเพชรบุรีโรง ๑ ได้เคยเล่นถวายตัวหลายครั้ง

(๑๕) ละครของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) เมื่อยังเป็นพระยานครศรีธรรมราช โรง ๑

(๑๖) ละครของเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย) เมืองพระตะบอง (หัดมาแต่ในรัชกาลที่ ๔) โรง ๑

(๑๗) ละครของพระยาวิชิตสงคราม จางวางเมืองภูเก็ต โรง ๑

(๑๘) ละครของพระยาเสนานุชิต (นุช) เมืองตะกั่วป่า โรง ๑

(๑๙) ละครของพระยาจรูญราชโภคากร (คอซิมเต็ก) เมืองหลังสวน โรง ๑ ได้เคยเล่นถวายตัว

(๒๐) ละครของคุณกุหลาบ ธิดาเจ้าพระยาวิเชียรคิรี เมืองสงขลา โรง ๑

บทละครที่มีขึ้นใหม่เมื่อรัชกาลที่ ๕ ที่เป็นพระราชนิพนธ์คือคำเจรจาละครอิเหนา ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อครั้งเล่นละครหลวงที่หัดใหม่ในรัชกาลที่ ๕ เรื่อง ๑ กับละครเรื่องเงาะป่าเรื่อง ๑ เหตุที่จะทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องเงาะป่านั้น เดิมทรงเลี้ยงเด็กเงาะผู้ชายไว้คน ๑ ชื่อว่า คนัง ได้มีรับสั่งถามเด็กคนัง ถึงประเพณีต่างๆ ของพวกเงาะเนืองๆ ครั้นเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) ทรงประชวรไข้ ครั้นพระอาการค่อยคลายขึ้น แต่หมอยังห้ามมิให้เสด็จออกจากห้อง ๘ วัน จึงทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องเงาะป่าพอแก้รำคาญ เป็นหนังสือประมาณ ๓ เล่มสมุดไทย[๔] ต่อมาโปรดให้มโหรีร้องถวายทรงฟังบ้าง และได้โปรดให้ลองเล่นละคร เอาตัวเด็กคนังเงาะหัดรำทำบทของตัวเอง เล่นตอนต้นทอดพระเนตรครั้ง ๑

ส่วนบทละครนอกมีปรากฏคือ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ทรงพระนิพนธ์เรื่องพระสมุทร ตั้งแต่พระสมุทรเข้าสวนจนถึงท้าวรณจักรล้ม ให้เจ้าคุณจอมมารดาเอมเล่นละครเรื่อง ๑ เป็นหนังสือ ๓ เล่มสมุดไทย บทละครของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ แต่งเรื่องนารายณ์สิบปางบางตอน เรื่องพระอภัยมณีบางตอน และเรื่องพระลอเรื่อง ๑ ต่อมาเมื่อเล่นละครดึกดำบรรพ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ทรงคัดบทละครเรื่องอิเหนา เรื่องสังข์ทอง เรื่องสังข์ศิลป์ชัย และเรื่องคาวี มาแปลงเป็นบทละครดึกดำบรรพ์หลายตอน[๕] เมื่อกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงเล่นละครรำ ก็ทรงพระนิพนธ์บทขึ้นหลายเรื่องหลายตอน คือ เรื่องไกรทอง เรื่องพระลอ และเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นต้น แต่ละครเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง มีบทที่แต่งใหม่มากยิ่งกว่าโรงอื่น ชั้นเดิมเจ้าพระยามหินทร์ฯ ได้นายวานกับนายทิม (นักเทศน์มหาราช) เป็นคนชำนาญกลอนมาช่วยแต่งบทเรื่องดาหลัง กับเรื่องขุนช้างขุนแผน มาชั้นหลัง ได้หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม) เมื่อยังเป็นขุนจบพลรักษ์มาเป็นผู้แต่ง เอาเรื่องราชาธิราชมาแต่งเป็นบทละครเรื่อง ๑ หลายตอน เอาเรื่องเสภาขุนช้างขุนแผน คือตอนพลายเพชรพลายบัว[๖] มาแต่งเป็นบทละครอีกตอน ๑ คัดเอาเรื่องในพงศาวดารจีน มาแต่งเป็นบทละครก็หลายเรื่อง คือ เรื่องห้องสิน เรื่องตั้งฮั่น เรื่องสามก๊ก เรื่องหงอโต้ เรื่องซุยถัง เรื่องบ้วยฮวยเหลา เหล่านี้ นอกจากนี้เอาเรื่องหนังสือกลอนอ่าน มาแต่งเป็นบทละครเป็นตอนๆ อีกหลายเรื่องคือ เรื่องจันทโครบ เรื่องทิณวงศ์ เรื่องมณีสุริยวงศ์ เรื่องลักษณวงศ์ เรื่องพระสมุทร เรื่องสิงหไตรภพ เรื่องสุริยวงศ์พรหมเมศร์ เรื่องสามฤดู เหล่านี้ ที่หลวงพัฒนพงศ์ภักดีคิดเรื่องขึ้นใหม่เองก็ ๒ เรื่อง คือ เรื่องวงศ์เทวราช[๗]เรื่อง ๑ เรื่องยักษียักษาเรื่อง ๑

บทละครทั้งปวงแต่ก่อนเป็นแต่หนังสือเขียน พึ่งเริ่มพิมพ์เมื่อในรัชกาลที่ ๕ ดูเหมือนหมอสมิท เจ้าของโรงพิมพ์ที่บางคอแหลม ได้บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ฉบับของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ไปพิมพ์ก่อน หมอสมิทริพิมพ์จำหน่ายทีละเล่มสมุดไทย ขายราคาเล่มละสลึง (๒๕ สตางค์) พอออกจำหน่ายก็ขายดี ด้วยแต่ก่อนนั้นมิค่อยจะมีใครได้อ่านเรื่องรามเกียรติ์ ได้รู้เรื่องแต่ดูโขนดูละคร หรือดูรูปเขียน ครั้นได้อ่านหนังสือรู้เรื่องละเอียดก็พากันชอบใจ ซื้อบทละครไปอ่าน หมอสมิทพิมพ์เรื่องรามเกียรติ์ แล้วจึงพิมพ์บทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ต่อมา เมื่อปีจอ ฉศก พ.ศ. ๒๔๑๗ นับว่าบทละครอิเหนาได้พิมพ์เป็นครั้งแรกในปีที่กล่าวนี้ แต่นั้นทั้งโรงพิมพ์หมอสมิทและโรงพิมพ์อื่นๆ ก็พากันพิมพ์บทละครเรื่องต่างๆ จำหน่ายโดยลำดับมา เป็นเหตุให้คนทั้งหลายได้อ่านบทละครกันแพร่หลาย และพวกที่เล่นละครนอกในพื้นเมือง ก็ได้เล่นบทพระราชนิพนธ์ทั่วไป แต่การที่พิมพ์บทละคร ให้คนทั้งหลายได้อ่านกันแพร่หลายนั้น เลยเป็นเหตุให้มีบทละครเกิดขึ้นอีกจำพวก ๑ ซึ่งมิได้แต่งสำหรับเล่นละคร ด้วยเมื่อหมอสมิทพิมพ์บทละครขายย่อยเป็นเล่มละสลึงหนึ่ง คนอ่านพากันติดใจ โดยบทพิมพ์จบเรื่องแล้วยังมีคนถามหา จะใคร่รู้เรื่องต่อไปอีก ด้วยเหตุนี้พวกเจ้าของโรงพิมพ์อื่นๆ ที่พิมพ์หนังสือขายอย่างหมอสมิทจึงคิดอ่านจ้างผู้ชำนาญกลอน ไว้แต่งบทละครต่อเรื่องเดิมพิมพ์ขายเล่มละสลึงต่อมาอีกหลายเรื่อง แล้วแต่ผู้แต่งจะแต่งอย่างไรก็ตามใจ สุดแต่ให้ขายได้เป็นประมาณ ส่วนผู้แต่งนั้นก็ไม่เคยเล่นละคร และไม่ได้หมายจะแต่งให้ใครเล่นละคร ได้ค่าจ้างก็แต่งไปตามชอบใจ เพราะฉะนั้น จึงเกิดเป็นบทละครพวกที่แต่งต่อบทเดิมขึ้นอีกพวก ๑ สักแต่เรียกว่าบทละคร แต่ละครหาได้เล่นไม่

ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอันเป็นปัจจัยแก่ละครรำ

พิเคราะห์ดูโดยทางตำนานการเล่นละคร รัชกาลที่ ๕ ควรนับว่าเป็นหัวต่อของการเล่นละครรำอีกตอนหนึ่งด้วยรัชกาลที่ ๕ ยั่งยืนถึง ๔๒ ปี ในชั้นแรกการเล่นละครรำแพร่หลายดังได้แสดงมาแล้ว แต่นานมาเมื่อการงานทั้งปวงในเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปด้วยความเจริญของบ้านเมือง การเล่นละครก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเหตุต่างๆ เป็นต้นว่า เมื่อโปรดให้ราษฎรเป็นอิสระแก่ตัวทั่วไป ไม่จำต้องมีมูลนายดังประเพณีเดิม ผู้ที่จะสมัครให้ลูกหลานหัดเป็นละครก็น้อยลง ด้วยไม่จำต้องพึ่งผู้มีบรรดาศักดิ์ดังแต่ก่อน ส่วนผู้มีบรรดาศักดิ์นั้นเล่า เมื่ออำนาจหน้าที่และทางที่ได้ผลประโยชน์จำกัดลง การที่จะควบคุมเลี้ยงดูผู้คนไว้เล่นละครก็ยากขึ้น เป็นเครื่องขัดข้องแก่การที่มีละครโรงใหญ่ไม่เหมือนแต่ก่อน ถึงละครโรงเล็กๆ ที่ได้ฝึกหัดขึ้นหรือผสมโรงสำหรับรับงานหานั้น เมื่อโปรดให้ลดจำนวนบ่อนเบี้ยลงโดยอันดับมา ทางที่ละครเคยหาผลประโยชน์ก็ได้น้อยลงทุกที แต่ทุนที่ต้องจับจ่ายใช้สอยในการเล่นละครกลับมากขึ้น เพราะสิ่งของเครื่องบริโภคใช้สอยมีราคายิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ด้วยเหตุที่กล่าวมาเหล่านี้ ผู้ที่มีละครรำจึงพากันเลิกเสียโดยมาก ส่วนผู้ที่ยังรักจะเล่นต่อไปก็มักต้องคิดเปลี่ยนวิธี เป็นตั้งโรงละครประจำที่ เล่นเก็บเงินจากคนดูเป็นผลประโยชน์

ก็แลการที่เล่นละครโดยกระบวนเก็บเงินจากคนดูนั้น จะได้ผลประโยชน์มากหรือน้อย หรือถ้าว่าอีกนัยหนึ่ง คือ จะได้กำไรหรือขาดทุน ย่อมอาศัยที่มีคนดูมากหรือดูน้อยเป็นข้อสำคัญ ผู้เป็นเจ้าของละครจำต้องคิดเล่นแต่ให้ชอบใจคนดูเป็นประมาณ ความข้อนี้ที่เป็นเหตุให้ละครใน เช่นละครอิเหนาตั้งต้นเสื่อมทรามลง เพราะละครในเล่นสำหรับดูกระบวนรำและฟังร้อง ไม่เล่นตลกคะนองสนุกสนานเหมือนละครนอก ถึงแต่เดิมมาก็เล่นแต่สำหรับผู้ดีดู ครั้นเอามาเล่นให้ราษฎรดู ราษฎรก็ติว่าเล่นช้า ไม่ชอบดูละครในเหมือนกับละครนอก ต่อมาเมื่อเกิดวิธีผู้ชายเล่นเป็นลิเก และผู้หญิงเล่นเป็นละครร้องมีขึ้น ละครนอกอย่างเก่าก็เสื่อมทรามไปด้วยกันกับละครใน เพราะการเล่นละครรำจะเป็นละครในก็ดี หรือละครนอกก็ดี ตัวละครต้องหัดรำอยู่ช้านานกว่าจะออกโรงเล่นได้ เครื่องแต่งตัวก็ต้องปักดิ้นเลื่อมลงทุนมาก ฝ่ายลิเกและละครร้องไม่ต้องฝึกหัดเท่าใดก็เล่นได้ เครื่องแต่งตัวก็ไม่ต้องลงทุนรอนมากมายเหมือนละครรำ เพราะลิเกอาศัยแต่เล่นให้ขบขัน ละครร้องก็อาศัยแต่เล่นประโลมให้ถูกใจคน ก็มีคนดูจนได้ผลประโยชน์พอเลี้ยงตัว ใช่แต่เท่านั้น ยังมีการเล่นของต่างประเทศ คือ หนังฉายเข้ามาตั้งโรงเล่นแย่งคนดูอีกชั้นหนึ่ง ด้วยเหตุเหล่านี้ การเล่นละครรำอย่างเดิม จึงได้เสื่อมมาโดยลำดับจนทุกวันนี้ นอกจากละครหลวงในกรมมหรสพกับละครคณะสวนกุหลาบไปแล้ว ละครที่เล่นเรื่องรามเกียรติ์ อุณรุท หรืออิเหนาได้ตามแบบละครใน เห็นจะมีน้อยทีเดียว บรรยายมาด้วยเรื่องตำนานละครอิเหนาสิ้นเนื้อความเพียงเท่านี้.

___________

[๑] ช้างด่างในตำราเรียกว่าดำพงศ์ถนิม นับว่าศักดิ์สูงเสมอช้างเผือก ที่จริงหายากกว่าช้างเผือก เคยปรากฏในพงศาวดารแต่ ๒ ช้าง พระเสวตรวรวรรณนี้ ยังประหลาดที่ด่างเหมือนรูปเขียนไว้ในตำราโบราณด้วย

[๒] บทระบำตลกที่ทรงพระราชนิพนธ์ เดี๋ยวนี้เป็นแต่จำกันได้คนละเล็กละน้อย หาฉบับให้ตลอดไม่ได้

[๓] ชื่อเหมือนกับละครปรินซิสธิเอเตอในเมืองลอนดอน ที่ท่านได้ไปดูเมื่อครั้งเป็นอุปทูตไปกับพระยามนตรีสุรียวงศ์ (ชุ่ม)

[๔] บทละครพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่า พระราชทานกรรมสิทธิ์ แก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงนิภานภดล ได้พิมพ์แล้ว ๒ ครั้ง

[๕] บทละครดึกดำบรรพ์ยังไม่ได้พิมพ์ น่ากลัวจะสูญหายไปเสียบ้างแล้ว

[๖] ในบรรดาเรื่องละครที่เจ้าพระยามหินทร์ฯ ริเล่น เรื่องราชาธิราช กับเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นดีกว่าเรื่องอื่นหมด

[๗] เรื่องวงศ์เทวราชนี้เมื่อเจ้าของพิมพ์ พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เยาะเล่นเป็นบทซ้อน มีอยู่หลายเล่มสมุดไทย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ