ตำนานละครครั้งรัชกาลที่ ๑

การมหรสพต่างๆ ซึ่งเสื่อมทรามแต่ครั้งเสียกรุงเก่ามากลับมีขึ้นบริบูรณ์ เมื่อในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เพราะพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพยายามก่อกู้การทั้งปวง โดยมีพระราชประสงค์จะให้กรุงเทพมหานครฯ รุ่งเรือง เหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองดีอยู่แต่ก่อนแม้เครื่องมหรสพ เป็นต้นว่า โขนหุ่นของหลวง ก็โปรดให้หัดขึ้นทั้งฝ่ายวังหลวงและวังหน้า แต่ละครผู้หญิงนั้น มีแต่ในพระราชวังหลวงแห่งเดียวตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่า บทละครในที่ขาดหายไปแต่ก่อน ก็โปรดให้ขอแรงพระราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการที่เป็นกวีสันทัดทางบทกลอน ช่วยกันแต่งถวายทรงตรวจแก้ไข แล้วตราเป็นบทพระราชนิพนธ์ไว้เป็นต้นฉบับสำหรับพระนครครบทุกเรื่อง มีเรื่องรามเกียรติ์ ๑๑๖ เล่มสมุดไทย เรื่องอุณรุท ๑๘ เล่มสมุดไทย เรื่องดาหลัง ๓๒ เล่มสมุดไทย เรื่องอิเหนา ๓๘ เล่มสมุดไทย

บทละครพระราชนิพนธ์ครั้งรัชกาลที่ ๑ ทั้ง ๔ เรื่องที่กล่าวมา เมื่อพิจารณาดูเห็นว่า เรื่องรามเกียรติ์กับเรื่องอุณรุท ๒ เรื่องนั้น ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ทั้งหมด[๑] แต่ส่วนเรื่องดาหลังกับเรื่องอิเหนา ดูเหมือนเอาบทครั้งกรุงเก่าตั้งเป็นหลัก ทรงพระราชนิพนธ์ซ่อมแซมแต่ตรงที่บทเดิมขาดไป บทเรื่องดาหลังเวลานี้ยังมีอยู่บริบูรณ์ ถ้าใครสังเกตจะเห็นได้ว่า มีกลอนครั้งกรุงเก่าปะปน ผิดกับพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์และอุณรุท แต่บทเรื่องอิเหนารัชกาลที่ ๑ เดี๋ยวนี้ ขาดหายไปเสียมาก ถึงกระนั้น มีหลักฐานอยู่ในเพลงยาวเก่า[๒] กล่าวว่า :

“อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง สำหรับงานการฉลองกองกุศล
แต่ก่อนเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์ แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไป
หากพระองค์ทรงพิภพปรารภเล่น ให้รำเต้นเล่นละครคิดกลอนใหม่
เติมแต้มต่อติดประดิษฐ์ไว้ บำรุงใจไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน” ฯ

ดังนี้ แสดงเป็นสำคัญว่า บทของเดิมที่เจ้าฟ้าราชธิดาทรงนิพนธ์ไว้แต่ครั้งกรุงเก่า เป็นแต่ขาดไปไม่บริบูรณ์ เพราะฉะนั้น จึงเข้าใจว่าบทละครอิเหนาครั้งรัชกาลที่ ๑ หาได้แต่งใหม่ทั้งหมดไม่ ความข้อนี้ พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์ว่า บทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ นั้น ข้างตอนต้นทางสำนวนเป็นบทแต่งครั้งกรุงเก่า ความที่พรรณนาเวียงวัง ก็ว่าเป็นกระบวนแผนที่กรุงเก่า คือมีพระที่นั่งจักวรรดิไพชยนต์ และพระที่นั่งทรงปืนเป็นต้น ทรงพระราชดำริว่า จะหาใช่พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ไม่แต่ในบทละครอิเหนาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ที่ยังเหลืออยู่[๓] มีหลักฐานในทางตำนานอยู่ในเล่ม ๓๘ อีกข้อ ๑ ตรงที่จบบทละคร มีเพลงยาวกล่าวไว้ดังนี้ว่า :

“อันอิเหนานิพนธ์ไว้แต่ก่อน บทกลอนเพราะพริ้งเป็นหนักหนา
ใครสดับก็จับวิญญาณ์ ดังสุธาทิพรสสำอางกรรณ
แต่ค้างอยู่เพียงสึกชี นับปีจะสูญเรื่องเป็นแม่นมั่น
ครั้งนี้พระบาททรงทศธรรม์ ถวัลยราชปิ่นทวาราวดี
เสด็จเถลิงจักรพรรดิพิมานอาสน์ ทรงพระราชนิพนธ์อักษรศรี
ต่อเรื่องอิเหนาแต่สึกชี โดยคดีบริบูรณ์นิทานกาล
ใครฟังแล้วจงฟังราโชวาท อย่าประมาทหลงใหลใช่แก่นสาร
อุตส่าห์เพียรบำเพ็ญศีลทาน หว่านพืชไว้เป็นประโยชน์ตน
ดำริถึงชราร่างให้เป็นนิจ บำรุงจิตน้อมใจในกุศล
จงบำบัดอวิชชาอย่าระคน ผลบุญอย่าแรมร้างให้ห่างไกล
ถึงน้อยเท่าผลพันธุ์ผักกาด สุดแต่ปรารถนานั้นเป็นใหญ่
แม้นดับเบญจขันธ์เมื่อใด จะได้สู่สุคติสมบูรณ์” ฯ

ฯ ๑๒ คำ ฯ

ความในเพลงยาวข้อที่ว่า บทอิเหนาแต่ก่อนมีแต่เพียงสึกชี ถึงไม่กล่าวชัดว่า แต่งไว้เพียงนั้นแต่ครั้งกรุงเก่า หรือมาแต่งใหม่ค้างอยู่เมื่อครั้งกรุงธนบุรีก็จริงอยู่ แต่เข้าใจได้ว่า ในเพลงยาวคงจะหมายความว่า บทแต่งค้างแต่ครั้งกรุงเก่า เพราะชมว่า “บทกลอนเพราะพริ้งเป็นหนักหนา” บทละครครั้งกรุงธนบุรี ไม่เคยได้ยินใครชมว่าเรื่องใดเพราะเลย ได้ยินแต่ติกันมาแต่ก่อน บทที่ยังปรากฏอยู่บัดนี้ เช่นเรื่องรามเกียรติ์ที่คัดมาพิมพ์ไว้เป็นตัวอย่างในหนังสือนี้ จะว่าเพราะก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงสันนิษฐานว่า บทละครอิเหนาซึ่งเจ้าฟ้ามงกุฎทรงแต่งไว้ครั้งกรุงเก่า จบเพียงสึกชี เรื่องต่อนั้น เป็นของแต่งขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๑ อันนี้ที่เป็นความรู้ในทางตำนานละครครั้งรัชกาลที่ ๑ เล่นตามแบบอย่างครั้งกรงเก่า ละครผู้หญิงก็มีแต่ของหลวง เล่ากันมาว่า “เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ยังดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม โปรดให้หัดละครเด็กๆ ผู้หญิง แล้วเอาบทเรื่องอุณรุทครั้งกรุงเก่ามาทรงตัดทอนให้เล่น[๔] ถูกพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกริ้วจนต้องเลิก” เพราะฉะนั้น ละครที่ฝึกหัดกันขึ้นข้างนอกจึงมีแต่ละครผู้ชาย สังเกตตามความที่ปรากฏในพระราชกำหนดเรื่องเครื่องแต่งตัวละครซึ่งกล่าวมาแล้ว เข้าใจว่าเมื่อรัชกาลที่ ๑ ก็เห็นจะมีละครมากโรงด้วยกัน แต่ปรากฏชื่อต่อมาแต่ ๒ โรง คือละครของเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์โรง ๑ เล่นเป็นละครใน เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว ตกมาเป็นของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีอีกโรง ๑ คือละครนายบุญยัง เล่นเป็นละครนอก ที่ปรากฏชื่อละคร ๒ โรงนี้ เพราะเหตุที่ได้เป็นครูละครชั้นหลังมา

ตัวละครครั้งรัชกาลที่ ๑ ที่ได้เป็นครูละครต่อมามีชื่อเสียงปรากฏหลายคน คือ

๑. เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี เป็นแต่เจ้าของละครที่ได้ทรงรับมรดกของพระเชษฐา แต่ทรงชำนาญกระบวนละคร ถึงอาจจะคิดแบบแผนวิธีฟ้อนรำได้ แบบอย่างละครในที่รำกันมาทุกวันนี้ ต้นตำราเป็นของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีโดยมาก จึงนับถือกันว่าเป็นครูละครออกพระนามบูชาเวลาไหว้ครูละครในเป็นนิจพระองค์ ๑

๒. นายทองอยู่ เป็นตัวอิเหนาละครเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ต่อมาได้เป็นที่ปรึกษาและเป็นผู้นำแบบอย่างวิธีรำของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี ไปหัดละครหลวงในรัชกาลที่ ๒ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ ได้เป็นครูละครในที่ฝึกหัดกันขึ้นแทบทุกโรง นายทองอยู่นี้ ชำนาญแต่งกลอนและขับเสภาดีด้วย จึงนับถือกันว่า เป็นครูเสภาด้วยอีกอย่าง ๑

๓. นายรุ่ง เป็นตัวนางเอกละครเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ต่อมาได้เป็นครูนาง อย่างเดียวกับนายทองอยู่เป็นครูยืนเครื่อง เป็นครูคู่กันมาแต่ในรัชกาลที่ ๒ จนรัชกาลที่ ๓

๔. นายบุญยัง เป็นนายโรงละครนอกครั้งรัชกาลที่ ๑ ต่อมาเล่นละครจนสร้างวัดได้วัด ๑ เรียกชื่อว่า วัดละครทำ อยู่ข้างหลังบ้านขมิ้น จังหวัดธนบุรี นายบุญยังได้เป็นครูฝึกหัดละครนอกที่เล่นกันชั้นหลังต่อมา

๕. นายบุญมี (เห็นจะเป็นพี่หรือน้องนายบุญยัง) เป็นครูนางละครนอกมาด้วยกันกับนายบุญยัง และมีชื่อยู่ในคำไหว้ครูด้วยกัน

เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี ครูทองอยู่ ครูรุ่ง ครูบุญยัง ครูบุญมี ทั้ง ๕ นี้ นับว่าเป็นครูละครในกรุงรัตนโกสินทร์ที่เล่นต่อมาทั้งบ้านทั้งเมือง นอกจากทั้ง ๕ ที่กล่าวมา ยังมีชื่อละครรัชกาลที่ ๑ ที่ได้เป็นครูต่อมาอีก ๗ คน คือ :

๖. คุณมรกต เป็นตัวยืนเครื่องละครผู้หญิงของหลวง มีชื่ออยู่ในคำไหว้ครู แต่จะวิเศษอย่างใดหาปรากฏไม่

๗. คุณเพ็ง เป็นตัวพระรามละครผู้หญิงของหลวง อยู่มาได้เป็นครูละครของ
กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ด้วยคน ๑

๘. คุณเรือง เป็นตัวนางละครหลวง ได้เป็นครูเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์เล็ก รัชกาลที่ ๒

๙. เจ้าจอมมารดาอัมพา รัชกาลที่ ๒ เป็นตัวนางกัญจหนา ละครหลวงรัชกาลที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๒ ไม่ได้เป็นละคร ถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อท่านออกไปอยู่วัง เป็นครูหัดละครขึ้นโรง ๑ ละครของท่านได้เป็นครูละครโรงอื่นหลายโรง

๑๐. เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์เล็ก รัชกาลที่ ๒ เป็นตัวนางวิยะดา ละครหลวงชั้นเล็กในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๒ เป็นตัวนางมะดีหวี ได้เป็นครูละครหลวงแต่รัชกาลที่ ๔ มาจนรัชกาลที่ ๕ และเป็นครูละครสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ด้วย

๑๑. เจ้าจอมมารดาภู่ ในกรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๒ เป็นตัวอิเหนา เห็นจะเป็นละครหลวงชั้นเล็กในรัชกาลที่ ๑ ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๔

๑๒. คุณเอี่ยม เป็นตัวนางละครหลวงชั้นเล็กในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๒ ได้เป็นตัวนางบุษบา อยู่มาได้เป็นครูละครหลวงแต่รัชกาลที่ ๔ จนถึงรัชกาลที่ ๕ และได้เป็นครูละครสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ด้วย

๑๓. คุณจุ้ย เป็นตัวหนุมาน อยู่มาเป็นครูละครวังหน้าในรัชกาลหลัง

นอกจากที่กล่าวมาคงจะยังมีผู้อื่นอีก แต่หากชื่อสูญไปเสีย จึงสืบไม่ได้ความ

[๑] บทอุณรุทครั้งกรุงเก่า และบทรามเกียรติ์ครั้งกรุงธนบุรี ยังมีอยู่ต่างหากทั้ง ๒ เรื่อง

[๒] เพลงยาวนี้ มีผู้แต่งไว้ข้างท้ายบทละครอิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒

[๓] หอพระสมุดฯ ได้พิมพ์บทละครอิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ เพียงเท่าที่หาฉบับได้เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๖๐

[๔] บทละครเรื่องอุณรุทที่ทรงตัด ยังมีอยู่ในหอพระสมุดฯ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ