ตำนานละครครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

ได้กล่าวมาข้างตอนต้นหนังสือนี้ว่า ละครรำของไทยเราเป็น ๓ อย่าง คือ ละครชาตรีอย่าง ๑ ละครนอกอย่าง ๑ ละครในอย่าง ๑ มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และได้อธิบายความสันนิษฐานตามเค้าเงื่อนที่ปรากฏ ว่าละครชาตรีเป็นละครเดิม ละครนอกเป็นของเกิดขึ้นโดยแก้ไขละครชาตรี แต่ละครในคือละครผู้หญิงนั้น เมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยังหาปรากฏมีไม่ มาปรากฏว่า มีละครผู้หญิงในหนังสือบุรโณวาทคำฉันท์ ซึ่งแต่งในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเป็นทีแรก เพราะฉะนั้น ละครผู้หญิงคงเกิดขึ้นเมื่อสมัยในระหว่างรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา มาจนรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศหรือถ้าจะว่าโดยศักราชก็คือ ในระหว่าง พ.ศ. ๒๒๓๑ จน พ.ศ. ๒๓๑๐ ก็แลในระหว่างเวลา ๗๐ ปีนี้ รัชกาลของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเป็นเวลาช้านานยิ่งกว่า ๓ รัชกาลแต่ก่อนมา บ้านเมืองก็ปราศจากศึกสงคราม ด้วยนานาประเทศ ทั้งพม่า มอญ ตลอดจนลังกาทวีป ต่างมาขอเป็นทางไมตรี จึงยกย่องพระเกียรติยศกัน แต่ก่อนมีคำยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เข้าใจว่าเป็นของสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพน แต่งไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร[๑]ว่า “อันสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าแผ่นดินนี้ มีพระกมลสันดานต่างกันกับ (สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ) พระบรมราชบิดา แล (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) พระเชษฐาธิราชเจ้า ปาณาติบาตพระองค์ทรงเว้นเป็นนิจ ทรงประพฤติกุศลสุจริตธรรม สมณพราหมณาประชาราษฎร มีแต่สโมสรเป็นสุขสนุกทั่ว ฯลฯ ถึงหน้านวดข้าวก็เสด็จไปนวดที่ทุ่งหันตรานาหลวง แล้วเอาใส่ระแทะให้พระราชบุตร พระราชธิดา และกำนัลนางทั้งปวงลากเข้าไปในวัง แล้วเอารวงข้าวทำฉัตรใหญ่และยาคูไปถวายพระราชคณะ ที่อยู่พระอารามหลวงทุกๆ ปีมิได้เว้น พระองค์สรรพที่จะเล่นมิได้เบื่อ ทั้งวิ่งวัว วิ่งควาย และพายเรือ (จับ) เสือกับช้างให้สู้กัน มีแต่สนุกทั่วกันทุกฤดู” ดังนี้ คำยอพระเกียรติทั้งนี้ กับข้อที่ปรากฏว่า ละครผู้หญิงของหลวงเริ่มเล่นเรื่องอิเหนาเมื่อในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ดังได้กล่าวมา ดูก็ยุติเป็นนัยอันเดียวกัน เพราะฉะนั้น น่าลงเนื้อเห็นว่า ละครผู้หญิงซึ่งเรียกว่า ละครใน นั้น จะเป็นของมีขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศนั้นเอง

ครั้นสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้าอุทุมพรราชโอรสพระองค์น้อย ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชได้รับรัชทายาท แต่เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติอยู่เพียง ๓ เดือน ก็ถวายราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าเอกทัศผู้เป็นพระเชษฐา ส่วนพระองค์เสด็จออกทรงผนวชเป็นภิกษุภาวะ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศจึงได้เสวยราชย์แต่ปีขาล พ.ศ. ๒๓๐๑ มาจนเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึก เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐

มีหนังสือพงศาวดารฉบับ ๑ กล่าวว่า เมื่อในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์นั้น นายสังข์ มหาดเล็กชาวบ้านคูจาม รับผูกภาษีผักบุ้ง แต่การเก็บภาษีผักบุ้งครั้งนั้น นายสังข์จะได้รับอนุญาตให้เก็บอย่างไรหาปรากฏในหนังสือไม่[๒] ในหนังสือกล่าวแต่ว่านายสังข์กำเริบ ด้วยถือตัวว่าเป็นพี่เจ้าจอมฟัก พระสนมเอก และน้องสาวชื่อปานก็เป็นพระสนมอีกคน ๑ จึงบังอาจตั้งข้อบังคับว่า ใครเก็บผักบุ้งขายต้องเอามาขายแก่เจ้าภาษีผู้เดียว ถ้าไปขายให้ผู้อื่นต้องปรับเป็นเงิน ๒๐ บาท นายสังข์กดราคาซื้อผักบุ้งแต่ถูกๆ แล้วขายขึ้นราคาให้กลับไปจำหน่ายในท้องตลาด ราษฎรที่เคยขายซื้อผักบุ้งมาแต่ก่อน ก็ได้ความเดือดร้อน มีราษฎรพากันไปร้องทุกข์ต่อข้าราชการผู้ใหญ่ก็ไม่มีใครนำความขึ้นกราบทูลฯ ด้วยนายสังข์อ้างว่า ทำภาษีเก็บเงินเข้าพระคลังหลวง ครั้นอยู่มาสมเด็จพระเจ้าเอกทัศไม่ทรงสบาย บรรทมไม่หลับมาหลายวัน จึงมีรับสั่งให้หาละครเข้าไปเล่น จะทอดพระเนตรแก้รำคาญพระราชหฤทัย นายแทนกับนายมีเป็นตัวจำอวด ละครที่เข้าไปเล่นนั้น เล่นทำเป็นผู้ชายคน ๑ เป็นผู้หญิงคน ๑ ผูกมัดกันว่า จะเร่งเอาเงินค่าผูกคอ นายมีตัวจำอวดที่เป็นผู้หญิงจึงว่า “จะเอาเงินมาแต่ไหนจนจะตาย แต่เก็บผักบุ้งขายยังมีภาษี” ว่าอย่างนี้ถึงสองหนสามหน สมเด็จพระเจ้าเอกทัศได้ทรงฟังก็หลากพระทัย จึงโปรดให้ไต่ถามจำอวดทั้ง ๒ คนนั้น ครั้นทรงทราบความตามที่เป็นมา ก็ทรงพระพิโรธ มีรับสั่งให้เสนาบดีชำระเงินคืนให้ราษฎร ส่วนตัวนายสังข์นั้น เดิมมีรับสั่งจะให้เอาไปประหารชีวิตเสีย ต่อมาค่อยคลายพิโรธจึงโปรดฯ ให้งดโทษประหารชีวิตไว้ ความที่ปรากฏในหนังสือพงศาวดารดังกล่าวมา เกี่ยวเนื่องกับตำนานละครที่มีเค้ามูลให้เห็นว่าละครผู้หญิงของหลวงครั้งกรุงเก่า เห็นจะเป็นของโปรดอยู่เพียงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศสวรรคตแล้ว ทำนองจะละเลยมิได้ซักซ้อมเสมอเหมือนแต่ก่อน สมเด็จพระเจ้าเอกทัศจะทอดพระเนตรละคร จึงต้องหาละครผู้ชายเข้าไปเล่น แท้จริงเมื่อพิเคราะห์ดูโดยทางตำนาน ดูเหมือนละครผู้หญิงของหลวง ซึ่งมีขึ้นครั้งกรุงเก่า จะได้เล่นอยู่ไม่ช้านานเท่าใด ก็ถึงเวลาเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึก แต่เป็นการประหลาดอยู่ที่เสียกรุงฯ ครั้งนั้น กลับเป็นเหตุให้ละครไทยไปเจริญในที่อื่น ด้วยมีเรื่องตำนานทางเมืองพม่าปรากฏว่า พระเจ้าอังวะให้รวบรวมพวกละครที่ได้ไปจากเมืองไทย จัดไว้เป็นละครหลวง[๓] และเชื้อสายของพวกละครครั้งนั้น เล่นละครไทยสืบสกุลกันลงมากว่า ๑๐๐ ปี ยังมีละครไทยเล่นอยู่ในเมืองพม่า จนกระทั่งพระเจ้าสีป่อเสียบ้านเมืองแก่อังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘

เรื่องประวัติของละครไทย ที่ตกไปอยู่เมืองพม่านั้นสืบได้ความว่า เดิมเมื่อพม่าได้พวกละครไทยไปจากกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอังวะมังระให้เล่นละครไทยถวายทอดพระเนตร ครั้นได้ทอดพระเนตรก็โปรดยกย่องว่า กระบวนรำของไทยงามกว่าละครพม่า ปี่พาทย์ไทยก็เพราะกว่าปี่พาทย์พม่า จึงมีรับสั่งให้รวบรวมไทยพวกละครและ
ปี่พาทย์ไว้เป็นกรมหนึ่งต่างหาก ประทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในราชธานี สำหรับเล่นละครไทย ในงานมหรสพของหลวง มิให้ต้องมีหน้าที่ราชการอย่างอื่น เมื่อย้ายราชธานีไปตั้งที่เมืองไหน พวกละครก็ย้ายตามไปด้วย[๔] ตำบลบ้านที่พวกละครไทยตั้งอยู่ ณ เมืองมันดะเล พม่าเรียกว่า “(อ)โยธยาเช” แปลว่า ตลาดอโยธยา แต่พวกละครไทยในชั้นหลังมีพวกพม่าปะปนเสียมาก เหตุด้วยพระเจ้าอังวะแต่ก่อนทรงเกรงว่า วิชาละครไทยจะเสื่อมทรามสูญไปเสีย ได้ประทานอนุญาตไว้ว่า ถ้าพวกไทยที่เป็นครูละครเห็นว่า เด็กพม่าคนไหนฉลาดเฉลียว จะฝึกหัดเล่นละครไทยได้ก็ให้กราบทูล จะประทานให้มาเป็นละครดังนี้ จึงมีพวกพม่าสมัครให้บุตรหลานฝึกหัดเป็นละครไทย เพราะได้อยู่ในพระราชูปถัมภ์ แต่พวกละครที่เป็นเชื้อสายไทยก็ยังมีตลอดมา ละครไทยที่เล่นในเมืองพม่านั้น พม่าเรียกว่า “(อ)โยธยาสัตคยี” ทำนองจะแปลว่า ละครอโยธยาของหลวง มีแต่ในราชธานี ตามหัวเมืองหามีไม่ การที่ละครไทยเล่น ก็เล่นแต่งานหลวงเป็นพื้น นอกจากงานหลวงก็เล่นแต่ในงานของเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ (ซึ่งมีอำนาจ อาจหมายสั่งให้ไปเล่นได้) มิได้รับงานหาไปเที่ยวเล่นในพื้นเมือง

กระบวนละครไทยที่ไปเล่นในเมืองพม่า ชั้นเดิมจะเป็นอย่างไรทราบไม่ได้ แต่ในตอนหลัง เมื่อตกมาถึงชั้นหลานเหลนของพวกละคร เดิมเล่นประสมโรงกันทั้งชายและหญิง ภาษาที่เล่นนั้น ก็ใช้แต่ภาษาพม่าหามีภาษาไทยเจือปนไม่ เครื่องแต่งตัวละคร ก็ว่าทำคล้ายไปข้างอย่างพม่าเสียมาก ยังแต่เครื่องสวมศีรษะ มีชฎาและหัวโขนเป็นต้น ที่คงเป็นอย่างไทย แต่เครื่องปี่พาทย์นั้น ยังคงเป็นอย่างไทยอยู่

เรื่องละครที่พวกไทยเอาไปเล่นในเมืองพม่า ที่ถือกันว่า เป็นเรื่องสำคัญก็คือ เรื่องอิเหนากับเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องอิเหนาเล่นร้องอย่างละคร แต่เรื่องรามเกียรติ์เล่นพากย์และเจรจาอย่างโขน สองเรื่องนี้ มักเล่นที่ในพระราชวังในงานนักขัตฤกษ์ เช่นออกพรรษาเป็นต้น เล่นคราวละหลายๆ วันทุกปี เพราะเป็นเรื่องยาว จับเล่นตอนไหนก็เล่นติดต่อกันเรื่อยไปทุกคืนจนสิ้นงาน นอกจากเรื่องอิเหนากับรามเกียรติ์ ยังเล่นเรื่องสังข์ทองกับเรื่องนางเกสร[๕] พม่าเรียกว่า “เกษะศิริ” และเห็นจะเล่นเรื่องอื่นๆ อีก แต่ไม่ทราบชัดว่า จะเป็นเรื่องใดบ้าง เรื่องประวัติละครไทยที่ไปเล่นในเมืองพม่า สืบได้ความเพียงเท่าที่ได้แสดงมา

[๑] มีในฉบับที่หมอบรัดเลพิมพ์ แต่ในฉบับพระราชหัตถเลขาตัดออกเสีย

[๒] มีในปูมโหรจดไว้ว่า ทำภาษีผักบุ้งเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๐๕ รัชกาลตรงกัน วิธีที่เก็บภาษีผักบุ้งนั้น เห็นจะให้เก็บอย่างหญ้ากล่ำ ในอากรค่าน้ำชั้นหลัง คือใครปลูกผักบุ้งไว้ ต้องเสียภาษีตามขนาดแพผักบุ้ง เพราะเหตุที่ได้ผลประโยชน์ในการหวงห้ามปลา ซึ่งอาศัยแพผักบุ้งไว้จับขาย

[๓] เรื่องตำนานละครไทยทางเมืองพม่าที่กล่าวตอนนี้ว่า ตามคำชี้แจงของพระอรัญรักษา (ซอเหลียง ปิยเมธี) กรมป่าไม้ ซึ่งได้เปลี่ยนชาติมาเป็นไทย พระอรัญรักษาเป็นชาวเมืองมันดะเลว่า เมื่อเป็นเด็กอยู่ในเมืองพม่า ได้เคยเห็นละครไทยเล่นในพระราชวังเมืองพม่าหลายครั้ง

[๔] พม่าย้ายราชธานีหลายครั้ง ตั้งที่เมืองอังวะบ้าง ที่เมืองอมรบุระบ้าง ที่สุดจึงย้ายไปตั้งที่เมืองมันดะเล

[๕] เรื่องนางเกสร เห็นจะหมายความว่า นางเกสรสุมณฑา คือเรื่องสังข์ศิลป์ชัย เป็นเรื่องเล่นละครอนอก ครั้งกรุงเก่าเรื่อง ๑ บทครั้งกรุงเก่า ยังมีอยู่ในหอพระสมุดฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ