๔ ว่าด้วยพิกัดเงินตรา

ในพระราชอาณาจักรนี้แต่ก่อน เมื่อผู้ครองแผ่นดินจะใคร่ให้ผู้ซื้อผู้ขายจ่ายรับสิ่งของทั้งปวงด้วยใช้เงินใช้ทองเป็นราคานั้น ถ้าเป็นตัวเงินหรือทองที่มีเนื้อเงินเนื้อทองต่างๆ และมีกำหนดไม่ได้จำกัดคงรูปนั้นๆ ครั้นเมื่อเวลาซื้อขายใช้จ่ายต่อกันก็เป็นที่ต้องถุ้งเถียงเกี่ยงเลี่ยงกันด้วยเนื้อเงินเนื้อทองต่ำสูง และต้องชั่งต้องตรวจสอบสวนน้ำหนักในตราชูตราชั่งต่างๆ ก็เป็นที่ถุ้งเถียงวิวาทบาดคล้องกันเนืองๆ แล้วเป็นเหตุให้ช้าเสียเวลาประสงค์นั้นๆ ไป จึงได้คิดอ่านตั้งพนักงานเป็นกองเดียวเลือกน้ำเงินให้เสมอกันเป็นอย่างเดียวแล้วตัดชั่งตั้งรูปให้มีน้ำหนักเสมอกันเป็นเงินเฟื้อง เงินสลึง เงินบาท เงินกึ่งบาทขึ้นได้แล้ว จึงตีตรารูปต่างๆ ตามแผ่นดินนั้นๆ เป็นสำคัญ ให้คนเชื่อว่าทำไปแต่โรงช่างเงินใหญ่เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน เจ้าพนักงานได้สอบน้ำเงินและน้ำหนักแล้วไม่คลาดไม่ขาดไม่เกิน เพราะเชื่อต่อรูปพดด้วงและตราหลวงที่ประทับแล้ว ก็ไม่มีใครเสียเวลาสอบชั่งหรือดูน้ำเงินเลย ซื้อขายจ่ายใช้กันได้คล่องๆ ไม่ต้องลำบากเนิ่นช้าเสียเวลาไป ดังหนึ่งใช้เงินใช้ทองเปล่าที่เป็นรูปเป็นแท่งต่างๆ ตัดชั่งใช้แก่กันดังในเมืองพะม่านั้น ครั้นเมื่อราษฎรใช้เงินพดด้วงตีตราหลวงดังนี้ ไม่มีสอบน้ำหนักและดูเนื้อเงินแล้ว มีพวกช่างเหล็กช่างทองช่างเงินในกรุงบ้างนอกกรุงบ้าง ลอบทำเงินเจือทองแดงและเงินดีบุกเป็นรูปพดด้วงตีตรา แกะปลอมให้เหมือนตราหลวง ทำเงินทองแดงเงินดีบุกขึ้นได้เป็นอันมากแล้ว ก็ลอบเอาเข้าเปลี่ยนปลอมซื้อขายเองบ้าง ขายให้แก่ชายหญิงซึ่งเป็นคนโกงๆ รับไปเปลี่ยนปลอมใช้สอยบ้าง เงินปลอมจึงชุกชุมขึ้นในแผ่นดิน เมื่อการเป็นดังนี้พระเจ้าแผ่นดินซึ่งตั้งโรงเงินหลวงพดด้วงตีตราให้ราษฎรใช้นั้น ก็เหมือนกับเป็นนายประกันให้อ้ายผู้ร้ายที่ทำเงินทองแดงเงินดีบุกเหรียญตราหลวงแล้วทำขึ้นนั้นไป เป็นที่ขัดเคืองพระราชหฤทัยทรงโทมนัสมากนักมาช้านาน และเมื่อการค้าขายในกรุงเจริญขึ้น มีเงินเหรียญเมืองต่างประเทศเข้ามามาก ลูกค้านอกประเทศเมื่อเอาเงินเหรียญมาซื้อของลูกค้าในประเทศก็หาใคร่จะยินดีรับไม่ ด้วยรังเกียจเนื้อเงินว่าต่ำกว่าเงินบาทบ้าง ว่ากลัวจะเป็นเหรียญปลอมบ้าง หรือถึงจะยอมรับก็ต้องคิดกลับเป็นบาท เป็นสลึง เป็นเฟื้อง โดยมาตราธรรมเนียมไทย เป็นที่ถุ้งเถียงกันวุ่นวายไปกับลูกค้าต่างประเทศ กว่าจะตกลงกันก็ช้าเลยเวลาค้าขายไป ครั้งนั้นผู้ครองฝ่ายไทยได้พร้อมใจกันกับกงสุลต่างประเทศทั้งปวงแล้วตัดสินว่า ให้คิดเงินเหรียญสามเหรียญเปลี่ยนกับเงินไทยห้าบาท ประกาศไปแล้วก็ยังมีผู้เถียงเกี่ยงเลี่ยงไปต่างๆ ว่าอย่างนั้นก็เสียเปรียบด้วยเหตุนั้นเหตุนี้ตามแต่จะว่าไป ทั้งผู้ให้เงินก็ว่าเสียเปรียบจนจะฟังเอามิได้ ครั้นจะคิดเป็นหุนเป็นเซน เป็นสลึง เป็นเฟื้อง และปลายเบี้ยก็เป็นที่จะให้คิดกันยาก จึงตัดสินมาว่าสามเหรียญเป็นเงินห้าบาทขาดตัวลง ถึงกระนั้นราษฎรฝ่ายไทยก็ยังว่าเข้าใจยาก ซึ่งเป็นทั้งนี้ก็เพราะมาตราเงินเหรียญเงินรูเปียไม่ต้องกับมาตราของไทย

(ความต่อไปกล่าวด้วยพิกัดราคาเงินเหรียญบาทและเงินแปซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ทำด้วยเครื่องจักร)

คัดจากประกาศพิกัดราคาเงินเหรียญบาทและเงินแป ลงวันจันทร์เดือน ๑๑ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีวอกโทศก (พ.ศ. ๒๔๐๓)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ