๖ ว่าด้วยพิกัดทองคำ

[๑]ในพระราชอาณาจักรนี้แต่ก่อนทองคำมีน้อย เป็นแต่ใช้ทำรูปพรรณต่างๆ เป็นเครื่องยศเครื่องประดับ ก็บัดนี้ทองคำใบของจีนบ้าง ทองแท่งจีนบ้าง ทองคำเมืองกาสฟอเนียบ้าง ทองเหรียญเมืองยุโรปเมืองอเมริกาบ้าง มีเข้ามามากในพระราชอาณาจักร จนเกินการที่จะใช้สอยทำรูปพรรณและเครื่องประดับ ผู้มีทรัพย์เก็บทองไว้มากร้องขอขายและขอส่งแทนภาษีอากรก็มี ด้วยเหตุนี้จึงทรงพระราชดำริว่า ตามอย่างเมืองอื่นที่เป็นเมืองแผ่นดินใหญ่นั้นๆ หลายเมือง เมื่อทองคำมีมากขึ้นผู้ครองแผ่นดินเมืองนั้นๆ ก็คิดทำเป็นทองเหรียญมีตราหลวงเป็นสำคัญ ให้ราษฎรใช้ในกำหนดราคานั้นๆ ไม่ต้องเถียงน้ำหนักและเนื้อทองตีราคากัน ผู้ได้ทองตราทองเหรียญไปเมื่อต้องการเงินมาขอขึ้นเงินต่อคลังหลวง หรือเศรษฐีเจ้าทรัพย์ก็ได้ตามกำหนดซึ่งพิกัดไว้ จนเมืองนั้นๆ ใช้ทองตราทองเหรียญแก่กันอยู่เป็นปกติเหมือนใช้เงินตราและเบี้ยแปะทั้งปวง ก็ในกรุงเทพฯ นี้ทองตราใช้กับเงินตราเช่นนั้นยังหามีไม่ จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานโรงจักรซึ่งเป็นที่ทำเงินเหรียญและเบี้ยอัฐเบี้ยโสฬศนั้น คิดทำทองเหรียญทองแปด้วยทองคำเนื้อแปดเศษสอง คือทองใบยี่ห้ออันเสงเป็น ๓ ขนาด ขนาดใหญ่ตีราคาแปละ ๘ บาท ขนาดกลางตีราคาแปละ ๔ บาท ขนาดน้อยตีราคาแปละ ๑๐ สลึง ขนาดใหญ่ขนาดกลางนั้นเทียบตามอย่างทองเหรียญอังกฤษ คือเหรียญใหญ่ของอังกฤษที่เรียกว่าทองปอนด์ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า สเตอร์ลิงก์ หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า สอเวอร์เรนด์ และเหรียญขนาดย่อมเรียกว่าทองฮาฟปอนด์ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า เสมิสเตอร์ลิงก์ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ฮาฟสอเวอร์เรนด์ จะว่าตามการซึ่งคิดมาตราเงินในเมืองอังกฤษนั้น อังกฤษคิดนับว่าปอนด์หนึ่งเป็น ๒๐ ชิลิง ๆ หนึ่งเป็น ๑๒ เปล และในการสั่งสิ่งของซื้อขายอยู่ เมื่อได้บิลคือหนังสือกำหนดราคาของมาแต่เมืองอังกฤษก็ย่อมคิดนับเป็นจำนวนปอนด์มา ๙ ปอนด์ ๑๐ ปอนด์ ๑๐๐ ปอนด์และอื่นๆ ครั้นมาที่กรุงเทพฯ นี้ ถ้าผู้ซื้อทองปอนด์เอาทองปอนด์ใช้ให้ก็ได้ ถ้าไม่มีทองปอนด์ นายห้างผู้รับสั่งของคิดเอาเงินแต่ผู้สั่งปอนด์ละ ๘ บาทเสมอไป ถ้าจำนวนเป็นฮาฟปอนด์ คือครึ่งปอนด์ก็คิดเอา ๔ บาทเสมอไป คงคิดราคากัน ๑๐ ปอนด์เป็นเงินชั่งหนึ่ง และ ๒๐ ฮาฟปอนด์เป็นเงินชั่งหนึ่ง แต่ตัวทองปอนด์ทองฮาฟปอนด์นั้นไม่เป็นทองบริสุทธิ์ เป็นทองขวางลิ่มประสมทองแดงส่วน ๑ ใน ๑๒ ส่วน ปอนด์หนึ่งหนัก ๒ สลึง เมื่อคิดราคาปอนด์ละ ๘ บาทก็เป็น ๑๖ หนัก ฮาฟปอนด์นั้นหนัก ๑ สลึง คิดราคาฮาฟปอนด์ละ ๔ บาทก็เป็น ๑๖ หนักเหมือนกัน ทองปอนด์ทองฮาฟปอนด์นั้นได้เอามาหุงคัดเอาทองแดงออกเสียก็คงเนื้อทองคำเนื้อแปด ปอนด์หนึ่งแต่สลึง ๑ กับเฟื้อง ๑ กับ ๒ ไพ คิดราคาปอนด์ละ ๘ บาท ก็เป็น ๑๘ หนักเกินสักหน่อย ทองในฮาฟปอนด์ที่หุงแล้วก็คงแต่เฟื้อง ๑ กับ ๓ ไพ คิดฮาฟปอนด์ละ ๔ บาทก็เป็น๑๘ หนักเกินหน่อยหนึ่งเหมือนกัน จึงทรงพระราชดำริว่า ซึ่งทองตราทองเหรียญเมืองอื่นเจือทองแดงให้ขวางลิ่มนั้น เพื่อจะให้มีเนื้อกระด้างใช้ทนได้นานตราไม่ใคร่เลือนไป ไม่ต้องยุบทำใหม่บ่อยๆ ให้เสียสูญเพลิง อนึ่งจะให้ล่อใจคนที่ไม่รู้ดูทองว่าคงลิ่มขวางลิ่มยินดี ว่าคิดราคาแต่ ๑๖ หนัก ในกรุงเทพฯ นี้จะทำเช่นนั้นให้เหมือนกันก็ได้ แต่ครั้นจะทำอย่างนั้น ทองในบ้านในเมืองก็จะเป็นทองขวางลิ่มไปเสียมาก ราษฎรที่ไม่นับถือก็จะรังเกียจไป จึงโปรดฯ ให้คงทำด้วยเนื้อทองล้วนคิดราคา ๑๘ หนักตามเนื้อทองบริสุทธิ์ ก็เมื่อคิดแปละ ๑๘ หนักทั้ง ๓ อย่าง ขนาดใหญ่ทองน้ำหนักสลึงเฟื้องกับ ๓ ไพเท่านี้ราคา ๘ บาท ขนาดกลางน้ำหนักทองเฟื้องกับ ๓ ไพกึ่งเท่านี้ราคา ๔ บาท ขนาดน้อยน้ำหนักทองเฟื้องกับ ๑ ไพเท่านี้ราคา ๑๐ สลึง ขนาดใหญ่ขนาดกลางนั้นใช้ในที่ทองปอนด์และฮาฟปอนด์ของอังกฤษดังว่าแล้ว แต่ขนาดน้อยราคา ๑๐ สลึงนั้นใช้แทนตำลึงอย่างจีน ที่จีนเรียกว่าเตล์ก็ดี ว่าเนียะก็ดี

ทองแปที่ทำขึ้นใหม่จำพวก ๓ อย่างนี้ล้วนเป็นทองคำเนื้อบริสุทธิ์ ไม่ได้ผสมเงินผสมทองแดงเลย แต่คิดราคา ๑๘ นั้นตามราคาเนื้อทองในทองปอนด์และทองฮาฟปอนด์ของอังกฤษ ซึ่งจะพึงคำนึงเอาว่าไม่ได้ผสมทองแดงนั้นเลย ก็ในกาลทุกวันนี้ เพราะทองคำมีเข้ามามากล้นเหลือไป ผู้มีทองคำมากอยากขายเอาเงินใช้ ก็บอกขายราคาต่ำลงมาจนทองมีราคาถูก เนื้อแปดเศษสองก็หย่อนกว่า ๑๖ หนัก ก็การที่ทองราคาต่ำไปนี้เพราะทองมีมากเข้ามา ประมาณเนื้อทองซึ่งเรียกกันอยู่ว่า เนื้อสี่ เนื้อห้า เนื้อหก เนื้อเจ็ด เนื้อแปด หรืออีกคำหนึ่งว่านพคุณเก้าน้ำหรืออีกเล่าคำคนที่พูดละเอียดบอกเศษขาเนื้อหก เนื้อเจ็ด สองขาสามขาหรือลางอย่างที่เศษอย่างคำว่าเนื้อแปดเศษสอง ก็คำว่าเหล่านี้จะมีต้นเดิมรากของคำมาแต่ไหนท่านทั้งหลายเข้าใจหรือไม่ ซึ่งวางประมาณเป็นจำนวนนับมีแต่สี่ขึ้นไปหาเก้า แลนับต่ำใต้สี่ลงมาก็ไม่มี คือไม่มีว่าเนื้อหนึ่งเนื้อสองเนื้อสาม แต่บางทีก็มีอยู่บ้างเป็นคำโบราณคำลาวแต่ก่อนได้ยินอยู่ว่าเนื้อหนึ่งเนื้อสอง แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครพูดแล้ว และจำนวนนับเนื้อทองคำเกินกว่าเก้าขึ้นไปคือใครจะว่าเนื้อสิบ เนื้อสิบเอ็จ เนื้อสิบสอง เนื้อยี่สิบ สามสิบ เนื้อร้อยเนื้อพัน ไม่มีทีเดียว ก็ซึ่งให้เรียกอย่างนี้นั้นคืออย่างไร ท่านทั้งปวงเข้าใจหรือไม่ จะว่าให้ท่านทั้งปวงฟังตามที่ได้รู้มา ท่านผู้ใดรู้แล้วก็อย่าล่อออเลย จะว่าทั้งนี้เพราะเห็นว่าผู้ที่ไม่รู้มีโดยมากให้รู้มากๆ ด้วยกัน จึงจะขอว่าให้เข้าใจ

ประมาณเนื้อทองคำตั้งแต่สี่ขึ้นไปจนเนื้อนพคุณเก้าน้ำนั้น เป็นธรรมเนียมเมืองลาวเชียงแสนซึ่งเป็นต้นเดิมของไทยชาวเหนือสืบมา ครั้งนั้นที่เมืองเชียงแสนบ่อแร่ทองมีมากเงินมีน้อย เพราะเป็นบ้านดอนเมืองเขินอยู่ไกลทะเล กำปั่นและสำเภาเข้าไม่ถึง มีเงินใช้แต่เงินที่คัดออกจากทองเนื้อต่ำด้วยการหุงบ้าง และมีเงินจีนเงินญวนมาแต่ลูกค้าทางบกบ้าง มีเงินใช้ในพื้นบ้านพื้นเมืองน้อย เจ้าบ้านเจ้าเมืองอยากให้แร่เงินเกิดในแผ่นดินเป็นของบ้านเมืองนั้นเอง แต่งคนให้ออกเที่ยวสืบเสาะหาบ่อแร่ที่จะถลุงเป็นเงินได้ก็ได้เนื้อแร่ประหลาดๆ มาบ้าง สำคัญว่าเป็นเงินแล้วทำพดด้วงประทับตราใช้สอยกันก็มีบ้าง แต่ครั้นนานเข้าเก่าแล้วก็ดำไป เงินตราของเก่าที่ทำด้วยแร่อย่างนั้นทุกวันนี้ก็ยังมีหาได้อยู่บ้าง พวกแปรธาตุเรียกว่าเงินดำ คือเงินที่มีเนื้อละเอียดกว่าเงินปกติ แต่สีดำคล้ายทองสัมฤทธิ์ เงินลาวอีกอย่างหนึ่งเรียกว่าเงินขาเกวียน น้ำเนื้อเงินดีกว่าเนื้อเงินที่ใช้อยู่โดยปกติ เนื้อละเอียดดีและขาว เงินพวกนั้นประมาณการดูเห็นจะคัดออกจากทองคำเนื้อต่ำ หรืออย่างหนึ่งจะทำแต่เงินเนื้อนุ่มมาแต่เมืองจีนทางบก ก็เพราะในเมืองเชียงแสนใช้เงินเนื้อสูงกว่าเงินเหรียญ เงินตราในทุกวันนี้ก็ดี และเพราะมีเงินใช้ในบ้านในเมืองน้อย เหมือนบ้านเมืองที่มีเบี้ยน้อยก็ใช้เบี้ยร้อยสองร้อยต่อเฟื้อง บางแห่งบางคราวฉันใด ในเมืองเชียงแสนแต่ก่อนมีเงินใช้น้อยมีทองคำมาก ทองคำจึงราคาถูก ทองคำที่เนื้อต่ำซื้อขายกันหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน ๔ บาทจึงเรียกว่าเนื้อสี่ ที่เนื้อสูงขึ้นไปกว่านั้น ทองคำหนักบาทหนึ่งเป็นราคาเงิน ๕ บาท เรียกว่าเนื้อห้า ทองคำหนักบาทหนึ่งเป็นราคาเงิน ๖ บาท เรียกว่าเนื้อหก ทองคำหนักบาทหนึ่งเป็นราคาเงิน ๗ บาท เรียกว่าเนื้อเจ็ด ทองคำหนักบาทหนึ่งเป็นราคาเงิน ๘ บาท เรียกว่าเนื้อแปด ทองคำหนักบาทหนึ่งเป็นราคาเงิน ๘ บาท ๒ สลึง เรียกว่าเนื้อแปดสองขา หรืออีกคำหนึ่งเรียกว่าเนื้อแปดเศษสอง ตามการที่ราษฎรใช้ซื้อขายกันในเวลานั้น ทองคำเนื้อสุกสูงอย่างเอกเช่นทองบางตะพาน ขายกันหนักบาทหนึ่งเป็นราคาเงิน ๙ บาท เรียกว่านพคุณเก้าน้ำ ก็ที่ว่าสองขาสามขาก็ดี หรือที่ว่าเศษสองเศษสามก็ดีโดยละเอียดนั้น คือว่าเศษสลึงแต่หน้าชั้นนั้นขึ้นไป

ทองผสมสีเหลืองๆ ให้ดินไม่ขึ้นทุกวันนี้เรียกกันว่าทองเนื้อริน แต่ก่อนลาวเรียกว่าเนื้อสองเพราะขายกัน ๒ หนัก ทองเนื้อรินอย่างเลวหรือทองสีดอกบวบซึ่งในเวลานั้นขายกันหนักราคาต่อหนัก ลาวเรียกว่าทองเนื้อหนึ่งแต่โบราณได้ยินว่าบ้างอยู่ ก็ประมาณชื่อเนื้อทองเหล่านี้ทั้งปวง เดิมเป็นธรรมเนียมของลาวชาวเชียงแสนและใช้เป็นโวหารในการเทียบน้ำทอง ครั้นสืบมาถึงบ้านเมืองใกล้ทะเล เงินมีเข้ามามาก ราคาทองก็แพงขึ้นไปถึง ๒ เท่าพิกัดนั้น คือบางทีทองคำเนื้อนพคุณบางตะพานราคาถึง ๒๐ หนักถึง ๑๙ หนัก ทองคำเนื้อแปดสามัญที่เรียกว่าเนื้อแปดตลาด ราคาถึง ๑๘ หนัก ๑๗ หนักกึ่ง คนโบราณว่ากันอีกคำหนึ่งว่าเข้ากับทองโต้ราคากัน เมื่อไรเข้าถูกทองแพง เมื่อไรเข้าแพงทองถูก ซึ่งว่าดังนี้ก็จริงอยู่บ้าง ในเวลาเมื่อในกรุงมีธรรมเนียมปิดเข้าไม่ให้มีผู้เอาออกไปค้าขายนานาประเทศเป็นนิตย์ เมื่อนั้นชาวนาเมื่อทำนาได้เข้ามากจะขายราคาแพงก็ขายไม่ใคร่ได้ จะเก็บไว้กลัวจะผุผะเสีย ต้องขายไปราคาต่ำๆเพียงเกวียนละ ๕ บาท ๔ บาท ๓ บาท ถึงกระนั้นไม่ใคร่มีผู้ซื้อ ต้องเอาเข้าออกแลกของต่างๆ บรรดาที่จะใช้จะกิน เมื่อขายดังนี้ก็ไม่ได้ทรัพย์สินมากเป็นกำไรสมกับแรงเหนื่อย ที่ชาวนาคู่โคกลัวต้องเสียค่านาเปล่าเวรนาเสีย นาน้ำฝนฟางลอยก็ทิ้งไม่ทำ ชาวนาที่ทำอยู่ก็คอยจ้องมองหาเวลาที่จะกดราคาเข้าให้สูงขึ้นเมื่อเวลาคนตื่นกันซื้อ ก็เมื่อใดฝนแล้งสักเดือนหนึ่งครึ่งเดือน หรือมีข่าวศึกเสือเหนือใต้อะไรมา คนที่มีครอบครัวบุตรภรรยาทาสชายหญิงมาก ก็เกิดความสะดุ้งตกใจกลัวเข้าจะแพง ตื่นกันเที่ยวซื้อเข้ามาไว้ ตื่นอย่างนั้นหลายสิบแห่งเข้าด้วยกัน ราคาเข้าก็แพงขึ้นไปในสองวันสามวัน ก็เพราะนามีน้อยตัวเข้าก็น้อย เมื่อตื่นกันซื้อมากเอาไปกักเสีย เข้าก็ไม่พอประสงค์ของคนที่ตื่นนั้น ต้องขอซื้อขอปันกันอยู่ ที่มีเข้ามากอยากได้กำไรก็ยิ่งกดราคาข้าวให้สูงขึ้นไป จนเงินของคนบางจำพวกจะใช้ราคาเข้าไม่มี ต้องเอาทองออกตีให้แทนราคาเข้า ฝ่ายผู้จะรับเอาทองไว้ ก็เกี่ยงเลี่ยงให้ลดราคาทองต่ำลงไป ด้วยเหตุนี้เมื่อไรเข้าแพงราคาทองจึงต่ำลงมา ก็เพราะตื่นความที่ปีหลังฝนน้อยน้ำน้อยก็ดี ฝนมากน้ำมากเกินไปก็ดี ครั้นฤดูทำนาปีใหม่ชาวนาเห็นว่าข้าวแพงอยากจะขายเข้าให้มีกำไร ตื่นกันทำนามากทุกแห่งทุกตำบล คนที่ทิ้งนาไปทำมาหากินอย่างอื่นแล้วก็กลับไปทำนา ฝ่ายผู้ที่ซื้อเข้าไว้เกินประมาณเห็นว่าปีใหม่เข้าใหม่จะมีมาก เข้าที่ตัวตื่นซื้อไว้แพง จะเก็บไว้กลัวจะผุผะเสีย หรือจะขายต่อเมื่อเข้าใหม่มีมามาก ก็กลัวว่าราคาเข้าจะตกลงหนักจะขาดทุนมากไปก็รีบร้อนเร่งขายเข้าของตัวที่เก็บไว้เสียโดยเร็ว สู้ขายขาดทุนแต่น้อย ด้วยเห็นว่าดีกว่าจะขายเมื่อเวลาเข้าใหม่มี ราคาจะตกมากนั้น ก็เมื่อขายเข้าขาดทุนไปดังนี้แล้ว ก็กลับไปหากำไรในทองซึ่งตัวได้เอาเข้าแลกไว้ หรือเอาเงินซื้อไว้ด้วยราคาต่ำๆ ดังว่าแล้วนั้น ก็พากันกดราคาทองให้สูงขึ้นไป ก็ทองนั้นเป็นของเก็บไว้ไม่ผุผะ เมื่อราคายังต่ำอยู่ไม่ขายเมื่อราคาทองกลับสูงขึ้นไปจึงขาย ก็ด้วยเหตุนี้เมื่อไรราคาเข้าถูกทองจึงแพง คำที่ว่ามาก่อนนั้นก็ชอบด้วยเหตุบ้างโดยจริง แต่บัดนี้เพราะเปิดเข้าให้นานาประเทศขนเข้าไปจำหน่ายเมืองอื่นไม่ห้าม ก็มีผู้ทำนามากเต็มที่และนาเกิดขึ้นใหม่ๆ ทุกปี เมล็ดเข้ามีในบ้านในเมืองล้นเหลือเฟือฟาย คนต่างประเทศเอาเรือเข้ามาบรรทุกเข้าไปขายเมืองอื่นมากมายหลายลำ ปีหนึ่งขนเข้าไปหลายหมื่นเกวียน ราษฎรก็กดราคาเข้าให้แพงอยู่เป็นนิตย์ ด้วยคิดจะขายเอาเงินให้มาก ฝ่ายลูกค้านานาประเทศเมื่อเห็นเข้าในกรุงเทพฯ ราคาแพงเพียงพอจะซื้อเอาไปขายมีกำไรได้ ก็เอาเงินมาบ้างเอาทองมาบ้างแต่เมืองอื่นมาซื้อเข้าไป ก็เงินทองเมื่อเข้ามาในบ้านในเมืองก็ไม่หมดไม่สูญไปเหมือนดังเข้าที่คนกินเสีย เงินทองในพื้นบ้านพื้นเมืองก็มากขึ้นทุกปี ตั้งแต่เปิดเข้ามาแปดปีมีเงินเมืองอื่นเข้ามาในกรุงเทพฯ นี้หลายหมื่นชั่ง ทองคำเข้ามาในกรุงเทพฯ นี้หลายสิบหาบ เพราะฉะนั้นถึงเข้ามีมากราคาก็คงแพงอยู่ คือเกวียนละ ๔ ตำลึง ๕ ตำลึงเสมอไป เหมือนกับของสิ่งอื่นๆ ราษฎรขายอยู่ถูกๆ ราคาก็แพงขึ้นหมดทุกอย่าง เพราะเงินทองมีเข้ามามาก เมื่อเป็นดังนี้การก็เป็นอัศจรรย์อยู่อย่างหนึ่ง กาลล่วงมาถึง ๙ ปี ๑๐ ปีแล้ว โดยปีใดปรากฏว่าฝนน้อยน้ำป่าก็มาช่วยนาไม่ให้เสียเหมือนอย่างปีมะแมเอกศก ปีระกาตรีศก ปีจอจัตวาศกนั้น และในปีกุนเบญจศกนี้ ตั้งแต่เดือน ๕ เดือน ๖ มาจนสิ้นเดือน ๑๐ ดูฝนตกชุมมากนัก เป็นที่น่ากลัวว่าจะเป็นน้ำใหญ่มาท่วมเข้าเสีย แต่เมื่อสืบไปในเมืองฝ่ายเหนือก็ได้ความว่าน้ำในปีนี้น้อยกว่าน้ำในปีหลังอีก ต้นเข้าทุกแห่งทุกตำบลเป็นชุ่มชื่นอยู่ด้วยน้ำฝนเข้าก็คงจะได้ไม่เสียทุกแห่ง ก็เมื่อการเป็นดังนี้อยู่ จะว่าอย่างเก่าว่าเมื่อไรเข้าถูกทองแพง เมื่อไรเข้าแพงทองถูก เห็นจะหาชอบไม่แล้วด้วยเข้าเปิดเสียแก่นานาประเทศแล้ว ราษฎรทำนาเต็มมืออยู่เสมอ ผู้ที่ไม่ได้ทำนาก็ไม่ได้ตื่นชิงกันซื้อเข้าอย่างแต่ก่อนมานานแล้วมิใช่หรือ เพราะฉะนั้นจะต้องว่าใหม่ ว่าเมื่อใดชาวต่างประเทศเอาทองเข้ามาใช้เป็นราคาสินค้าในกรุงเทพฯ มาก เมื่อนั้นราคาทองก็จะตก เมื่อใดลูกค้าชาวต่างประเทศเอาเงินเข้ามาใช้เป็นราคาสินค้าในกรุงเทพฯ มาก เมื่อนั้นราคาทองก็จะกลับขึ้นไป ก็แต่ทองนั้นมีแต่เป็นทองลิ่มทองใบจะซื้อขายกันก็ยาก ผู้จะซื้อมักกดราคาให้ต่ำไม่ใคร่จะซื้อ ทองมาเหลือเฟืออยู่มาก จึงได้คิดทำเป็นทองแปมีตราให้ใช้ประจำราคาสินค้าที่ซื้อขายกันได้เหมือนกับเงิน เมื่อผู้จะเอาไปทางไกลใส่พกไปเล็กน้อย ก็ได้ราคาหลายตำลึงหลายชั่ง ไม่หนักบ่าหนักพกหนักหาบ หนักเรือเหมือนอย่างพาเอาเงินไปหรือจะเก็บไว้ในหีบในที่น้อยๆ ไว้ข้างที่หลับที่นอน ก็จะเก็บไว้ได้มากๆ ง่ายๆ บัดนี้ซึ่งตั้งราคา ๑๘ หนักไปนั้นเพราะเป็นทองมีตรา เมื่อผู้ใดได้ไปซื้อไปเมื่อไม่พอใจเอาไว้ เห็นไปว่าเสียเปรียบจะใคร่ได้เงินก็จงเอามาคืน ขึ้นรับเงินไปจากพระคลังหลวงตามราคา ๑๘ หนักนั้นเถิด ถ้าทองไม่ถูกเจาะถูกตัดยับเสียถึงลายจะเลือนลบสึกหรอไปบ้าง ถ้ายังสังเกตได้ว่าเป็นตราเดิมแท้มิใช่ของปลอมแล้ว ชาวพระคลังก็จะรับใช้ราคา ๘ บาท ๔ บาท ๑๐ สลึง ตามเดิมนั้นให้ ก็เพราะในหลวงรับจะใช้ราคาเท่านี้ยั่งยืนไม่ลดหย่อนดังนี้แล้ว ผู้ที่ได้ไปไม่ควรรังเกียจควรรับใช้ตามพิกัดประกาศมา เหมือนกับเงินตราพดด้วงบาท กึ่งบาทและสลึงและเฟื้องก็ดี เงินเหรียญกึ่งตำลึง เงินเหรียญบาท กึ่งบาทและสลึงและเฟื้องก็ดี เบี้ยอัฐ เบี้ยโสฬศก็ดี เงินเหรียญของมาแต่เมืองนอกซึ่งคิดกันตามประกาศไว้ใช้ ๓ เหรียญ ๕ บาท และเงินรูเปียที่แขกมะลายูหรือชาวปักษ์ใต้เรียกว่าย่ำไป ราคาแปละ ๓ สลึงนั้นก็ดี เมื่อมีตราเป็นที่สังเกตแล้วราษฎรก็ใช้กันง่ายๆ ไม่เลือกน้ำเงิน ไม่เลือกน้ำหนัก และไม่คิดราคาดีบุกและทองแดงนั้นเลย ใช้ยืนตามพิกัดประกาศแต่ก่อนฉันใด ทองแปมีตรา ๓ ขนาดนี้ก็ให้ใช้ตามพิกัดแปใหญ่แปละ ๘ บาท แปกลางแปละ ๔ บาท แปน้อยแปละ ๑๐ สลึง เหมือนกันดังนั้นเถิด แต่ถ้าผู้มีเนื้อทองคำเปล่าจะมาให้ทำแป ๓ อย่างนั้นให้ จะต้องหักค่าถ่านค่าสูญเพลิงตามแต่เจ้าพนักงานจะคิดให้ตามสมควรแก่งาน ถ้าจะเอาทองเปล่าหรือทองรูปพรรณมาแลกเอาทองแปจะคิดหนักต่อหนักไม่ได้ ต่อให้ขายราคาทองคำและราคารูปพรรณที่เอามานั้น ตกลงว่าเป็นราคาเท่าใดตามราษฎรซื้อขายกันนั้นแล้ว จึงจะคิดราคาทองแปตามพิกัดนี้ใช้ราคาทองคำเปล่าแลรูปพรรณนั้นให้ เพราะจะต้องเสียแรงและเสียถ่านเสียฟืนและสูญเพลิงไป ทองแปมีตราที่ไปเจาะไปตัดทำยับเยินเสียแล้วราคาก็ตก เหมือนราคาทองคำเปล่าที่ราษฎรซื้อขายกันขึ้นๆ ลงๆ ตามเวลานั้นๆ แต่ราคาทองแปนั้นเมื่อมีผู้เอาทองแปมีตราเป็นสำคัญอยู่นั้น มาขึ้นเอาเงินหรือมาส่งแทนภาษีอากรเงินพินัยใดๆ ก็ดี คงจะคิดราคาพิกัด ๒ ตำลึง และตำลึง ๑ และ ๑๐ สลึงนั้นยั่งยืนเสมออยู่ ถึงทองคำที่ราษฎรซื้อขายกันราคาจะต่ำลงก็ดี จะสูงขึ้นกว่า ๑๘ หนักก็ดี ก็จะไม่ยักย้ายราคาเลย คงจะใช้ให้หักให้ตามราคานี้ เมื่อราษฎรรับทองแปทั้ง ๓ ขนาดนี้ใช้ได้ทั่วกันมากๆ แล้ว ในหลวงจะสั่งตามหัวเมืองนั้นๆ ว่า ถ้ามีผู้เอาทองแปทั้ง ๓ จำพวกนี้ไปขอขึ้น ก็ให้กรมการคอยรับตามหัวเมืองนั้นทุกๆ เมืองไป

ทองแป ๓ ขนาดนี้ ถ้าจะเรียกชื่อว่าแปทองใหญ่ แปทองกลาง แปทองเล็ก ก็จืดหนักไป และเมื่อเวลาจะใส่เข้ากับคำนับว่า ๓ แปทองใหญ่ ๔ แปทองกลาง ๕ แปทองเล็ก ก็ฟังยากไป อนึ่งแปทองใหญ่ แปทองกลาง แปทองเล็ก เป็นเถาเป็นขนาดต่างๆ ของเมืองอื่นก็มีมาปะปนอยู่ เมื่อเรียกดังนั้นก็จะเลอะเทอะไป ไม่รู้ว่าแปทองใหญ่ แปทองกลาง แปทองเล็กของเมืองไร ถ้าจะเอาชื่ออังกฤษมาเรียกขนาดใหญ่ว่าทองปอนด์ ขนาดกลางว่าทองฮาฟปอนด์ ลักษณะก็ไม่เหมือนกันแท้เป็นแต่ราคาเท่ากัน ด้วยทองปอนด์และฮาฟปอนด์ของอังกฤษนั้นเป็นทองขวางลิ่มเข้าทองแดง คิด ๑๖ หนักตามทองขวางลิ่มนั้น ก็เมื่อคัดทองแดงออกคงแต่ทองก็เป็นราคา ๑๘ หนักกว่าไปหน่อยหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าจะเรียกว่าทองปอนด์ทองฮาฟปอนด์ตามอังกฤษ ก็จะปนไปกับทองที่ไม่เหมือนกัน ถ้าจะเรียกอย่างนั้นให้ได้ ก็จะต้องเอาคำว่าไทยใส่เข้าว่าทองปอนด์ไทย ฮาฟปอนด์ไทยจึงจะเข้าใจถนัด ทองขนาดเล็กนั้นเล่า เพราะทำตามราคาตำลึงจีน จะเรียกว่าทองเตล์หรือทองเนียะก็ได้ แต่ข้างหนึ่งเป็นชื่ออังกฤษ ข้างหนึ่งเป็นชื่อจีน จะเรียกของที่ทำขึ้นในเมืองไทยก็ไม่ชอบกล ก็เหมือนอย่างแปดีบุกใหญ่น้อย ซึ่งใช้แทนเบี้ยร้อย เบี้ยห้าสิบนั้น ครั้นจะเรียกเบี้ยร้อยเบี้ยห้าสิบ เมื่อมาใส่เข้ากับนับก็ขัดหูฟังยากไป เหมือนจะว่าร้อยร้อย สองร้อยร้อย ห้าสิบห้าสิบ ร้อยห้าสิบ สองร้อยห้าสิบ ก็ฟังยากไม่รู้ว่าคำไรเป็นคำนับ คำไรเป็นชื่อเบี้ย เพราะฉะนั้นจึงได้ให้ชื่อเป็นคำศัพท์สูงว่าอัฐว่าโสฬศ คำนั้นเดี๋ยวนี้ก็ใช้คล่องแล้วทั้งบ้านทั้งเมืองฉันใด ถ้าจะเรียกชื่อทอง ๓ ขนาดนี้ จะเรียกให้เข้าศัพท์สูงอย่างอัฐอย่างโสฬศก็ได้ ให้เรียกทองขนาดใหญ่ว่า (ทศ) แปลว่า ๑๐ แปเป็นเงินชั่ง ๑ ขนาดกลางเรียกว่า (พิศ) แปลว่า ๒๐ แปเป็นเงินชั่ง ๑ ขนาดน้อยเรียกว่า (พัดดึงศ์) แปลว่า๓๒ แปเป็นเงินชั่ง ๑ อีกอย่างหนึ่งแปทองขนาดใหญ่ให้เรียกว่า (ทุกกังส์) แปลว่าสองตำลึงขนาดกลางให้เรียกว่า (เอกกังส์) แปลว่า ตำลึงเดียว ขนาดน้อยให้เรียกว่า (จีนกังส์) แปลว่าตำลึงจีน ตามแต่จะชอบใจเถิด แต่เห็นว่าอย่างก่อนนั้นเป็นดี ด้วยคล้ายกับชื่ออัฐชื่อโสฬศซึ่งบอก ๘ และ ๑๖ แบ่งแต่เฟื้อง ในทองนี้ให้เรียกว่า (ทองทศ) (ทองพิศ) (ทองพัดดึงศ์) ซึ่งแบ่งเป็น ๑๐ และ ๒๐ และ ๓๒ แต่ราคาชั่งหนึ่งนั้นเทอญ

คัดจากประกาศพิกัดราคาทองแป ทศ พิศ พัดดึงศ์ ลงวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ แรม ๒ ค่ำ ปีกุน เบญจศก (พ.ศ. ๒๔๐๖)



[๑] เรื่องพิกัดทองคำนี้มิได้ตัดเอาแต่เฉพาะพระบรมราชาธิบาย คัดลงไว้เต็มประกาศ ถ้าตัดออกทำให้พระบรมราชาธิบายเฝือไป

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ