เรื่องพระคเณศที่เกี่ยวข้องกับช้าง

ของ “อายัณโฆษณ์”

พระหมอเฒ่า

คำว่า “พระหมอเฒ่า” เป็นนามศัพท์สำหรับเรียก “หัวหน้าพราหมณ์พฤฒิบาศ” ในขณะกระทำพิธีอันว่าด้วยกิจการของช้างทั่วไป เช่น การทอดเชือกดามเชือกและธนญชัยบาศเป็นต้น พระหมอเฒ่าในลักษณะดังกล่าวนี้ บางคนไม่อาจเข้าใกล้ช้าง เช่น ชนสามัญด้วยดังจะเห็นได้ในงานดังกล่าว เมื่อพระหมอเฒ่าจะเข้าไปเจิมและรดน้ำสังข์พระยาช้าง หมอควาญที่ประจำพระยาช้าง ต้องคอยป้องกันอันตรายให้อย่างแข็งแรง พระหมอเฒ่าต้องย่องเข้าไปเงียบๆ แต่พอเจิมและรดน้ำเทพมนตร์แล้ว บางทีถึงกระโดดออกมาก็เคยเห็น

เมื่อกล่าวดั่งนี้ ดูไม่อาจที่จะเป็นไปได้ด้วยว่าไฉน พระหมอเฒ่าจึงหย่อนสมรรถภาพถึงปานดั่งนั้น แต่เรื่องนี้เป็นความจริงเพราะว่าพระหมอเฒ่านั้นเป็นแค่ผู้รอบรู้กระบวนพิธี รู้ตำราพระคชลักษณ์ เข้าใจการคชกรรม แต่ไม่มีหน้าที่เป็นคชบาล กิจการที่ต้องปฏิบัติบำรุงช้างยังมีบุคคลอีกจำพวกหนึ่ง ซึ่งได้แก่หมอและควาญเป็นต้น และในจำพวกหมอและควาญนั้นเอง ผู้ใดเชี่ยวชาญพระคชศาสตร์ ก็อาจได้กระทำหน้าที่ในตำแหน่งพระหมอเฒ่า แต่เฉพาะบางสิ่งบางประการได้ เช่นทำพิธีเบิกไพร (ปัดรังควาน) ช้างที่คล้องได้ใหม่ พิธีบังไพรต้อนช้างให้ไปสู่จุดมุ่งหมายได้ ถ้าว่าโดยความนิยมนับถือ บุคคลจำพวกหลังนี้ได้รับความยกย่องในวิทยาการช้างมากกว่าพระหมอเฒ่าโดยตำแหน่งเสียอีก ท่านผู้เชี่ยวชาญจะไปสู่สารทิศใดย่อมได้รับการเชิดชูถึงชั้นครูอาจารย์ด้วย ผู้ที่เคยได้เห็นการคล้องช้างมาแล้วเท่านั้น จึงจักศรัทธาในคำที่กล่าวนี้

ได้เคยนึกฉงนสนเท่ห์มานานเต็มที ว่าพระสิทธิชัยบดี เจ้ากรมกรมพราหมณ์พฤฒิบาศ ถ้ากระทำพิธีอันเกี่ยวด้วยพระยาช้างแล้ว ทำไมจะต้องเรียกท่านว่า “พระหมอเฒ่า” ด้วย หรือแต่ครั้งโบราณกาลนั้น ตำแหน่งนี้จะได้เป็นพระหมอเฒ่าจริง ๆ เช่นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นเพราะพราหมณ์นั้นโดยปกติมีอยู่ทั้งฝ่ายขาวและดำ ฝ่ายขาวนั้นได้แก่พราหมณ์พิธีผู้มีหน้าที่กระทำการทางสวัสดิมงคล และฝ่ายดำคือพราหมณ์พฤฒิบาศผู้มีหน้าที่กระทำการกำจัดอวมงคลให้สิ้นศูนย์ ดังนั้น เมื่อระลึกถึงสมัยพระมหาราชเจ้าพระองค์นั้นพราหมณ์พิธีได้รังสรรค์พระราชพิธีสิบสองเดือนขึ้นไว้เป็นแบบฉบับ ย่อมเป็นการสำแดงคุณวิเศษของพราหมณ์พิธีในสมัยนั้นเพียงไร ฉะนั้นก็ทำไมพราหมณ์พฤฒิบาศจึงจักไม่มีผู้ชำนาญการจนถึงแก่จะเป็น “พระหมอเฒ่า” ขึ้นบ้างเล่า อนึ่ง ในรัชกาลพระมหาราชเจ้านั้น เรื่องราวที่เกี่ยวแก่พระยาช้างก็มีไม่น้อยเลย พระหมอเฒ่าในสมัยนั้นย่อมจะเชี่ยวชาญทั้งทางตำราและทางปฏิบัติด้วยโดยมิต้องสงสัย

บรมครูช้าง

ความใน “กรีนิรมิต” ตอนหนึ่งกล่าวว่า

“อนึ่งพระพิฆเนศเดชอุดม เป็นบรมครูช้างผู้ใหญ่
เธอสร้างสรรพะกรีที่ในไพร เพื่อให้เป็นสง่าแก่ธาตรี
สร้างสารแปดตระกูลพูลสวัสดิ์ ประจงจัดสรรพางค์ต่าง ๆ สี
แบ่งปันคณะอัฐะกรี ประจำที่อัฐะทิศประสิทธิพร
อีกรังสรรค์ช้างเผือกเลือกศุภงลักษณ์ ประดับยศพระจอมจักรอดิศร
อีกสร้างช้างดำล้ำกุญชร เพื่อภูธรเธอทรงสู่รงค์ราน”

พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ ที่อัญเชิญมากล่าวนี้ ตามความแล้ว “พระคเณศเป็นพระบรมครูช้าง ท่านทรงสร้างสรรพช้าง ฉะนั้น “พระคเณศ” จึงเป็น “พระ” ของกรมช้าง ได้เคารพนับถือกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว “พระคเณศ” ที่มีเรื่องเกี่ยวแก่ช้างนอกจากปรากฏตามพระราชนิพนธ์แล้ว “พระคเณศ” ยังทรงนิรมิตให้มี “พระครูประกรรม” ขึ้นสำหรับไว้คล้องช้างอีกด้วย “พระครูประกรรม” ได้เป็นที่นับถือของหมอและควาญช้างมาตราบเท่าทุกวันนี้ “พระคเณศกับพระครูประกรรม” “พระ” ของพิธีคล้องช้าง แต่ก่อนนี้อยู่ที่หอบาศเพนียดกรุงเก่า ครั้นเมื่อต้น ๆ รัชกาลที่ ๗ ได้อัญเชิญมาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานจนบัดนี้

พระคเณศ” เป็นเทวรูปสำคัญของผู้มีหน้าที่เป็นคชบาล ผู้มีตำแหน่งเป็นครูอาจารย์ในทางคชกรรม ต้องมี “พระคเณศ” ซึ่งแกะด้วยงาช้างตระกูลพิฆเนศมหาไพฑูรย์ไว้บูชา ขณะใดไปแทรกโพนช้างเถื่อนก็นำเอาไปกับตัว อย่างเครื่องรางด้วย บางคนใช้งาช้างตระกูลนั้นแกะเป็น “พระคเณศ” ที่ด้ามมีดไว้สำหรับใช้เป็นอาวุธประจำตัว ในขณะไปทำการคล้องช้างก็มี ช้างตระกูลที่กล่าวนี้ ขณะนี้มีพระเศวตวชิรพาหะของรัชกาลที่ ๖ แต่ว่าเพรียงกินงาหักเสียนานแล้ว ผู้ไม่เข้าใจพระคชลักษณ์อาจเข้าใจว่าเป็นช้างสีดอก็ได้เพราะโขมดใหญ่และงาไม่มี

พระครูประกรรม” คำนี้เป็นประโยคที่แปลกหู แต่แท้จริงเฉพาะ “ประกรรม” เป็นภาษาไทยโบราณแปลว่า “เชือกบาศ” เท่านั้นเอง ได้เคยเห็นในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงหรือที่ใดไม่แน่ เขียนไว้ว่า “ปะกำ” ตรงซึ่งเมื่อเห็นแล้วยังออกรู้สึกรักคำนี้ไม่หาย รูปลักษณะของพระครูประกรรม เป็นภาพบุรุษล่ำสัน นุ่งผ้าเกไลท่อนบนเปลือยเปล่า มีสร้อยอย่างธุหรำของพราหมณ์เฉียงทางอังสะซ้าย ท่อนโคนแขนสวมวลัย ได้เคยเห็นวลัยรูปแหวนที่หัวฝังเมฆภัทรที่ท่านเจ้าอาวาศวัดศาลากุล จังหวัดนนทบุรี ๒ วง สำหรับสวมที่โคนแขนเหมือนกัน ดูออกจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันท่านพระครูนั่งอยู่บนแท่นในท่าเข่าซ้ายคุกเข่าขวาตั้ง มีขนดบาศกองอยู่ตรงหน้า มือซ้ายจับคอบาศชูไว้เพียงระดับอุระ มือขวาคุมเหล็กลูกชนักอยู่ในท่าเงื้อง่า และเหน็บขอช้างไว้ข้างหลัง

โดยสถานะพระครูประกรรมอุบัติขึ้นด้วยพระคเณศนิรมิต ฉะนั้น พระครูประกรรมจึงเป็น “ปสันนคณบดี” คือผู้เลื่อมใสในพระคเณศนั้น ดังได้กล่าวแล้วว่า “ประกรรม” แปลว่า “เชือกบาศ” ดังนั้นบรรดาหมอและควาญช้างจึงถือเอาเชือกบาศเป็นครูช้างสำคัญด้วย พิธีทอดเชือกดามเชือกก็มีเหตุเนื่องมาจากพระครูประกรรมนี้ ความที่เชือกบาศเป็นของสำคัญเพียงไร ดังจะเห็นได้จากที่นายหมอหมกทอดบาศติดพระยาเศวตกุญชรในรัชกาลที่ ๒ ได้ทรงพระกรุณาให้เอามาลงรักปิดทองไว้สำหรับเข้าพิธีให้พ่อหมอเฒ่า รำพัดชามาจนปัจจุบันนี้

พระคเณศ คือ บรมครูช้าง
พระครูประกรรม คือ พระของหมอและควาญ
พระหมอเฒ่า คือ พราหมณ์พฤฒิบาศผู้รอบรู้อาถรรพเวท ได้กระทำหน้าที่อันเกี่ยวด้วยพิธีของช้าง
พ่อหมอเฒ่า คือ หมอช้างผู้ทรงวิทยาคุณ มีรอบรู้ การขับขี่ การผูก การบำบัดโรคช้าง การนำโขลงมาสู่ที่มุ่งหมาย และการนำโขลงไปปล่อยยังที่เดิม กำราบนิสสัยดุร้าย ดื้อดึงของช้างได้ ฯลฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ