วรรณคดี “พระคเณศ”

ของ เสถียรโกเศศ และ นาคะประทีป

(ผู้รวบรวมขอขอบคุณพราหมณ์ ป.ส. ศาสตรี ที่มีเมตตาอ่านต้นฉบับของเรื่องนี้และให้คำทักท้วงอันมีค่าในข้อความบางแห่ง)

พระคเณศเป็นเทพของอินเดีย ตัวเป็นคน หัวเป็นช้าง ปกติมีสี่มือ ชาวฮินดูนับถือว่า พระคเณศเป็นเทพประจำความขัดข้องและเป็นผู้อำนวยความสำเร็จให้แก่กิจการต่าง ๆ เหตุฉะนั้น พระคเณศจึงได้นามโดยเฉพาะว่า พิฆเนศวร แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ในความติดขัด และสิทธิธาดา แปลว่า ผู้อำนวยความสำเร็จผล มีคติถือกันว่า ใครได้กราบไหว้บูชาพระคเณศก็จะมีความเจริญเป็นสวัสดิมงคล (เพราะพระคเณศมีชายาสององค์ ชื่อพุทธิและสิทธิ และมีโอรสชื่อเกษม และลาภ นับว่าเป็นมงคล โดยพร้อม) ชาวฮินดู เมื่อจะประกอบกิจพิธี ในลัทธิศาสนาหรือศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาต้องกล่าวคำไหว้พระคเณศขอความปลอดภัยให้พ้นการขัดข้อง และเพื่อขอความสำเร็จผลในกิจนั้น ๆ เสียก่อน เหตุนี้ พระคเณศโดยนัยหนึ่ง จึงเป็นเทพประจำศิลปวิทยา กรมศิลปากร จึงใช้รูปพระคเณศเป็นลวดลายดวงตราประจำกรม วงกลมที่ล้อมรูปพระคเณศอยู่เจ็ดวงหมายถึงแก้วเจ็ดดวง ได้แก่ ศิลปะเจ็ดอย่าง คือ

(๑) การช่างปั้น

(๒) จิตรกรรม

(๓) ดุริยางคศิลป

(๔) นาฏศิลปะ

(๕) วาทศิลป

(๖) สถาปัตยกรรม

และ (๗) อักษรศาสตร์.

หนังสือวรรณคดีของอินเดีย ในตอนต้นจะต้องมีคำไหว้พระคเณศ เพื่อประสิทธิประสาทความสำเร็จผลแก่หนังสือเล่มนั้นว่า “คเณศาย นมะ” แปลว่า ขอนอบน้อมแด่พระคเณศ ดังนี้ ดวงตราประจำวรรณคดีสโมสรจึงใช้เป็นรูปพระคเณศ ในภาคใต้ของอินเดียบางแห่ง เด็กไปโรงเรียนเมื่อจะเริ่มอ่านหนังสือ ต้องกล่าวคำไหว้พระคเณศเสียก่อน ว่า “หริ โอม ศรีคณปตเย นมะ” แปลว่า “หริ โอม ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระคณบดีผู้มีศรี” ชาวฮินดูที่มั่นอยู่ในลัทธิศาสนา ถ้าจะประกอบการค้าขายหรือไปทางไกล จะไม่ละเว้นการกล่าวคำสดุดีพระคเณศเป็นอันขาด, ทั้งนี้เพื่อขอความคุ้มครองและให้พ้นความขัดข้องต่าง ๆ พระคเณศรจึ่งมีนามอีกอย่างหนึ่งว่าเหรัมพ์ แปลว่า ผู้คุ้มครองป้องกัน ในเทวสถานฝ่ายลัทธิไศว คือที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่ทุกแห่ง ริมถนนหนทาง กลางทุ่งและโคนต้นไม้บางแห่ง ก็มักมีรูปพระคเณศประดิษฐานอยู่ เพื่อประชาชนทุกชาติชั้นวรรณะเดินทางไปค้าขายหรือไปทางไกล จะได้มีโอกาสไหว้บูชา เพื่อขอความคุ้มครองและความสำเร็จผล ในคติทางทมิฬยังถือว่าพระคเณศเป็นเทพประจำหมู่บ้านเป็นทำนองผีเสื้อเมืองของไทยชาวภาคอีสาน หรือพระเสื้อเมืองของเรา และมักมีรูปพระคเณศ ประดิษฐานไว้ในหมู่บ้านแห่งใดแห่งหนึ่ง นอกนี้ยังนับถือพระคเณศเป็นเทพประจำเรือนซึ่งจะต้องบูชาในเวลาเข้านอน หรือเวลาตื่นนอนล้างหน้าก่อนเทพองค์อื่นทั้งหมด เทพองค์อื่นในที่นี้ หมายถึงพระเป็นเจ้าทั้งสามคือ พระศิวอิศวร พระวิษณุนารายณ์ และพระอาทิตย์ (ในที่นี้หมายถึงพระพรหมแต่ของเราใช้พระขันธกุมารแทนพระพรหม) กับพระอุมา และพระลักษมี พราหมณ์เมื่อร่ายมนตร์ในกิจลัทธิพิธี ย่อมขึ้นต้นด้วยคำว่า “โอม” อันเป็นคำประกอบด้วยเสียง อะ, อุ, มะ. อะ ได้แก่พระพรหม อุ ได้แก่พระวิษณุนารายณ์ และ มะ ได้แก่พระศิวอิศวร และเขียนเป็นรูปอักษร ดังนี้ ॐ ตอนที่ยื่นออกมาทางขวาตรงกลางอักษร เรียกว่า งวงพระคเณศ นี่ก็เห็นได้ว่า แม้จะกล่าวคำบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม ซึ่งเป็นการบูชาเทพยเจ้าชั้นสูงสุดแล้วก็ดี ก็ยังไม่วายมีส่วนของพระคเณศไว้บูชาด้วย

(ที่เทียบรูปอักษร “โอม” ว่าเหมือนรูปพระคเณศนั้น สงสัยว่าหมายถึงวิธีเขียน “โอม” ด้วยอักษรคฤนต์ซึ่งคล้ายพระเศียรพระคเณศจริง และเคยได้ยินผู้ใหญ่กล่าวว่า รูปร่างพระคเณศขยายมาแต่ตัวหนังสือ “โอม” นั้นเอง สังเกตรูปอักษรที่เขียนให้ดูต่อไปนี้ ก็คงเห็นว่าจริงตามนั้นบ้าง ตามรูปนี้ ลายเส้นหนาเป็นตัวหนังสือ "โอม”" เพิ่มลายอีกเล็กน้อย ตามที่ขีดด้วยเส้นจุดก็พอเห็นเป็นหัวช้าง มีงาข้างเดียว ป.ส. ศาสตรี)

เมื่อพระคเณศมีผู้นิยมบูชากันมาก จึงมีรูปอยู่ทั่วไปในอินเดีย ครั้นชาวอินเดียนำลัทธิศาสนาฮินดูไปเผยแผ่ในต่างประเทศหรืออพยพไปตั้งภูมิลำเนาทำการค้าขาย ก็มักมีรูปพระคเณศติดตัวไปด้วย เหตุนี้ รูปพระคเณศรจึ่งแพร่หลายออกไป ถึงประเทศธิเบตและตาด ส่วนทางตะวันออกก็มีอยู่ในแหลมอินโดจีน มีพม่า สยาม และเขมร ตลอดขึ้นไปจนถึงจีนและญี่ปุ่น ที่ข้ามทะเลไปมีอยู่ในเกาะชวา บาหลี และบอเนียวก็มี แต่รูปพระคเณศในประเทศเหล่านี้ มีลักษณะผันแปรไปตามคติที่นิยมนับถือกัน เช่น พระคเณศของจีนก็ทรงเครื่องอย่างเจ๊ก และสิ่งที่แปลกก็คือตามปกติ พระคเณศถืองาช้างกิ่งหนึ่ง แต่พระคเณศของจีน ญี่ปุ่น และธิเบต ถือหัวผักกาดมีใบสามแฉก คล้ายรูปตรีหรือวชิราวุธ พระคเณศของไทยตามรูปภาพของเดิมท้องไม่พลุ้ยเหมือนพระคเณศอินเดีย และบางทีก็มีงาครบทั้งสองข้าง เป็นทำนองเดียวกับพระคเณศจีน ญี่ปุ่น และธิเบต ส่วนพระคเณศของอินเดียมีงาข้างเดียวเพราะอีกข้างหนึ่ง ถูกปรสุรามขว้างด้วยขวานหักลง และพระคเณศเอามาถือไว้ ส่วนพระคเณศของชวาลักษณะไปข้างอินเดีย แต่มีแปลกที่ทรงกะโหลกผีไว้บนพระเศียรบ้าง เป็นกุณฑลบ้าง และนั่งอยู่เหนืออาศน์ซึ่งมีกะโหลกผีรองรับอยู่เป็นแถวบ้าง

เพราะเหตุไร พระคเณศรจึ่งมีหัวเป็นช้างและทำไมจึ่งเป็นเทพประจำความขัดข้อง?

ตามหลักฐานทางสอบสวนค้นคว้าของนักปราชญ์ พระคเณศเป็นเทพอินเดียรุ่นหลังมีเรื่องอยู่แต่ในคัมภีร์ปุราณ ในคัมภีร์พระเวทไม่กล่าวถึง และอาจเป็นเทพของชาวทราวิฑ ซึ่งภายหลังอนุโลมเข้ามาผนวกอยู่ในทวยเทพของชาวอริยกะ ถ้าว่าในทางเรื่องราวของพระคเณศ ในคัมภีร์ปราณและหนังสืออื่น ๆ ของอินเดีย ก็มีเรื่องจะเล่าให้ฟังได้มาก และเล่าได้สะดวกดีกว่านำเอาเรื่องสอบสวนและวินิจฉัยของนักปราชญ์มากล่าวให้ฟังเพราะค่อนข้างยาก ด้วยเขานำเอาหลักฐานต่าง ๆ มาอ้างไว้แต่ย่อ ๆ ถ้าจะพูดให้เข้าใจชัด ก็จะต้องขยายความในบางแห่งออกไปอีก ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะสามารถอธิบายได้ตลอด จึ่งจะขอกล่าวแต่ในทางเรื่องราวอย่างเดียว คือเล่ากันเป็นสามัญอย่างนิยาย ถึงกระนั้น เรื่องที่จะนำมาบางเรื่องก็มีข้อความแย้งกัน บางเรื่องก็กระเดียดไปในทางหยาบคาย ซ้ำเรื่องที่ตกมาอยู่ในไทย บางแห่งข้อความก็แย้งกับของอินเดีย

โดยเหตุที่เรื่องราวพระคเณศแตกต่างกันดังนี้ จึ่งควรเล่าเรื่องทวยเทพอินเดียเป็นการนำประกอบก่อน

เมื่อในราวพันปีเศษขึ้นไป ศาสนาพราหมณ์ในอินเดียเกิดมีคัมภีร์ในพวกปุราณขึ้นมาใหม่อีก คัมภีร์เหล่านี้มีลักษณะผิดจากคัมภีร์พระเวท เพราะคัมภีร์พระเวทกล่าวด้วยลัทธิศาสนาของชาวฮินดูทั่ว ๆ ไป การเคารพบูชาทวยเทพก็เป็นอย่างเดียวกัน ยังไม่มีการนับถือพระเป็นเจ้าแบ่งแยกออกเป็นนิกาย ส่วนคัมภีร์ปุราณกล่าวด้วยลัทธิศาสนาแบ่งเป็นนิกาย โดยยกเอาพระเป็นเจ้าทั้งสามนั้นองค์ใดองค์หนึ่งขึ้นเป็นใหญ่สูงสุด เป็นต้นว่าคัมภีร์ปุราณของชาวฮินดูที่นับถือพระศิวะเป็นพระเป็นเจ้าสูงสุด ในคัมภีร์นั้นก็ยกความเป็นใหญ่สูงสุดให้แก่พระศิวะ ส่วนพระพรหมและพระวิษณุก็ถือเสมือนเป็นพระเป็นเจ้ารองจากพระศิวะลงมา เช่นในนารายณ์สิบปางของเรา กล่าวว่า พระอิศวรผู้เป็นเจ้าเอาพระหัตถ์เบื้องซ้ายลูบพระหัตถ์เบื้องขวาทิ้งออกไป ให้บังเกิดเป็นองค์พระนารายณ์ขึ้นองค์หนึ่ง แล้วเอาพระหัตถ์เบื้องขวาลูบพระหัตถ์เบื้องซ้ายทิ้งออกไป ก็บังเกิดเป็นพระมหาพรหมองค์หนึ่ง ดั่งนี้ แสดงว่าเรื่องนารายณ์สิบปางฉบับเก่าของเรา เป็นเรื่องของพราหมณ์ในนิกายไศว ที่นับถือยกย่องพระศิวะว่าเป็นใหญ่กว่าพระพรหมและพระวิษณุ คราวนี้ถ้าว่าถึงพวกพราหมณ์ที่นับถือพระวิษณุเป็นใหญ่ ก็จะกล่าวความตรงกันข้าม คือบอกว่าพระพรหมเกิดจากดอกบัวที่ผุดจากพระนาภีพระวิษณุ และพระศิวะก็มีเทวกำเนิดจากพระนลาตพระวิษณุ ส่วนพระพรหมซึ่งในยุคที่เกิดคัมภีร์ปุราณนั้น ไม่มีประชาชนนับถือเป็นนิกายโดยเฉพาะ เพราะตามคติถือว่าท่านไม่ให้ร้ายใคร คือมีพระคุณอย่างเดียว คนก็นอนใจไม่สู้เอาใจใส่เหมือนพระวิษณุและพระศิวะ ซึ่งมีพระเดช เพราะพระเดชนั้น กริ้วขึ้นมาก็ให้ร้ายได้ง่าย ๆ คนจึ่งต้องประจบประแจงและกลัวเกรงมากกว่าพระพรหม แต่กระนั้นในคัมภีร์ยังไม่ทิ้งคติเดิม คือกล่าวว่า พระพรหมเป็นปฐมเทพผู้สร้างสิ่งทั้งหมด ถึงพระวิษณุและพระศิวะก็ออกจากพระพรหม ส่วนทวยเทพองค์อื่น ๆ ที่รองลงมา ก็มีเรื่องราวฟั่นเฝือเป็นไปในทำนองเดียวกัน

คัมภีร์ปุราณมีอยู่ด้วยกัน ๑๘ คัมภีร์ จัดเป็นสามพวก คือที่ยกย่องพระพรหมพวกหนึ่ง ที่ยกย่องพระวิษณุพวกหนึ่ง และที่ยกย่องเทวดาหมวดพระศิวะพวกหนึ่ง (เทวดาหมวดพระศิวะได้แก่พระอุมา พระคเณศ และพระขันธกุมาร) นอกนี้ยังมีคัมภีร์ชั้นรองลงมา เรียกว่า อุปปุราณอีก ๑๘ คัมภีร์ คัมภีร์ปุราณเหล่านี้ ชาวฮินดูนับถือเป็นหลักในลัทธิศาสนา และเป็นเรื่องที่ประชาชนย่อมรู้จัก เรื่องพระคเณศที่มีอยู่มากก็ในคัมภีร์ปุราณเหล่านี้ ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เมื่อพวกพราหมณ์นำเอาลัทธิศาสนาไปเผยแผ่ในบ้านเมืองใด หากประชาชนในบ้านเมืองนั้น มีการนับถือบูชาเทวดาอื่น ที่ไม่มีอยู่ในทำเนียบทวยเทพของพราหมณ์ ก็มักมีการประนีประนอม ยินยอมเอาทวยเทพนอกคัมภีร์มาผนวกเข้าพวกด้วย และวิธีที่จะเอาเข้ามาผนวกก็คือ เมื่อเห็นว่ามีลักษณะใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกับเทพองค์ใดของพราหมณ์ ก็นำเอาเทพทั้งสองมารวมกัน โดยมีเรื่องราวเป็นตำนานประกอบให้สมกัน เช่น อ้างว่าเป็นภาคส่วนของเทพองค์นั้นองค์นี้ อวตารมา เหตุนี้ เรื่องทวยเทพของอินเดียจึ่งมีมากมาย และสับสนจนต่อกันไม่ติด เพราะต่างนิกายก็มีเรื่องกล่าวไว้ให้เข้ากับลัทธิที่ตนนับถือ ตำนานของเทพองค์เดียวอาจต่างกันตรงข้ามในคัมภีร์นั้น ๆ เพราะต่างฝ่ายต่างมี ในขั้นแรกก็คงไม่รู้กัน ถึงว่าจะรู้ในภายหลังว่าแย้งกัน ก็ไม่เป็นไร เพราะชาวฮินดูมีหลักปรัชญาลงกันคือ เขาเห็นว่า พระพรหม พระศิวะ พระวิษณุ พระราม พระกฤษณะ หรือพระอะไรก็ดี ล้วนเป็นพระเป็นเจ้าองค์เดียว หากปรากฏให้เห็นเป็นลักษณะต่างๆ กันหลายองค์ออกไป ทั้งนี้ เพื่อมนุษยนิกรจะได้เลือกนับถือบูชาได้สะดวกตามอัธยาศัย เพราะทางไปสู่ความรอดพ้น คือ โมกษธรรม มีให้เลือกได้ถึงสามทาง ทางหนึ่งประกอบการงานชอบ ตามลัทธิเรียกว่า กรรม คือทำกิจพิธีตามที่มีกำหนดไว้ให้ทำ ทางสองมีความเลื่อมใสรักใคร่ในพระเป็นเจ้าเรียกว่า ภักดี เป็นลักษณะเดียวกับหลักในศาสนาคริสตัง ที่เรียกว่า Faith และทางสามฝึกฝนดวงจิตต์ให้เกิดความรู้แจ้งเป็นพิเศษ เรียกว่า ญาณ อันทางไปสู่สุคตินั้น บุคคลจะเลือกเดินในสามทางนี้แต่ทางใดทางหนึ่งก็ได้ จะเลือกบูชาพระเป็นเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง แต่องค์เดียวก็ได้ ถ้าศรัทธาแก่กล้าจะเดินทั้งสองทางหรือตั้งสามทางก็ได้ เมื่อหลักเป็นอย่างนี้ ใครจะนับถือพระเป็นเจ้าองค์ใด หรือจะลดลงมานับถือบูชาเทวดาอะไรที่เป็นชั้นรองก็ได้ ตลอดจนจะไปนับถือลัทธิศาสนาอื่น ก็ไม่แปลก ความสำคัญอยู่ที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักของลัทธิฮินดูแต่หลักใดหลักหนึ่งก็แล้วกัน จะมีเรื่องราวกล่าวยกย่องเทพที่เรานับถือให้ยวดยิ่งไปเท่าไร และจะกล่าวร้ายให้ชั่วแก่พระเป็นเจ้าองค์ไรก็ตามที ย่อมทำได้ทั้งนั้น แม้แต่เรื่องราวของพระคเณศ ซึ่งเป็นเทวดาชั้นรอง บางเรื่องที่กล่าวไว้ว่าวิเศษกว่าพระศิวะก็มี เช่นในคัมภีร์คเณศปุราณ ยกย่องพระคเณศจนเกณฑ์ให้พระศิวะบูชา (J.R.A.S vol.8) เพราะฉะนั้น ถ้าจะสอบถามชาวฮินดูชั้นสามัญ ที่ไม่ใช่เป็นนักปราชญ์ ถึงเรื่องลัทธิศาสนาที่เขานับถือ เขาก็จะบอกให้ทราบได้แต่ด้านที่เขานับถือเท่านั้น ซ้ำจะยกตนข่มท่านในด้านที่เขาไม่นับถือเสียด้วย แม้ว่าจะเป็นเรื่องอยู่ในลัทธิศาสนาเดียวกันเหตุนี้ ถ้าท่านอ่านเรื่องพระคเณศ พบข้อแตกต่างกันในบางเรื่อง ก็ไม่ควรจะประหลาดใจ เพราะเรื่องของเขายุ่งกันอย่างนั้นเอง

ยุ่งเพียงเท่านี้ ยังไม่หนำ ซ้ำมีคติเกิดใหม่ขึ้นในลัทธิศาสนาของเดิม เรียกว่า ตันตระ ซึ่งมีการบูชาเทวดาผู้หญิงดั่งได้เล่าไว้ในที่อื่นแล้ว (ดูลัทธิของเพื่อนภาค ๒ และ ภาค ๓ ตอน ๑)

(ตันตระ แปลว่า การปฏิบัติ (practice) ซึ่งแยกออกไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก. theory ของศาสนา กล่าวคือ ตำราตันตระนั้น กำหนดแต่วิธีการบูชาไม่ใช่กำหนดเทวดาที่จะบูชา คนที่ถือตามลัทธิตันตระบางคนหรือหลายคน มักบูชานางเทวดา ก็เป็นด้วยสมัครใจโดยแท้ ตำราไม่ได้กะเกณฑ์ให้บูชาแก่นางเทวดาเหล่านั้น ส่วนมากสอนวิธีการบูชาเทวี ก็เพราะในตำบลที่เกิดของตำราเหล่านั้น โดยมากชาวบ้านสมัครบูชาเทวี มากกว่าเทวดาชนิดอื่น ป.ส. ศาสตรี)

ลัทธิตันตระบางนิกายก็มีกิจลัทธิพิธีเป็นไปในทางหยาบช้าอุลามก เรื่องราวที่กล่าวถึงทวยเทพในบางตอน ซึ่งเป็นเปลือกกระพี้ของลัทธิ ก็กลายเป็นเรื่องพิลึกพิลั่น กระเดียดไปในทางอนาจาร เรื่องพระคเณศบางเรื่องจึงเข้าไปอยู่ในลักษณะเช่นว่านี้ด้วย

ถ้าจะตั้งกระทู้ถามว่าเรื่องอย่างนี้ ทำไมจึงนิยมนับถือกัน?

ตอบได้แต่ว่า “สิ่งทั้งหลายไม่มีดีไม่มีชั่วในตัวมัน เว้นแต่จะนึกไปเอง” (เชกส-เปียร) เมื่อฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสิ่งนั้นๆ เป็นของชั่วช้า แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นไปอีกทางหนึ่ง โดยที่มิได้เพ่งเลงไปทางเดียวกัน สิ่งนั้นจึ่งอาจเป็นที่เห็นดีได้อีกทางหนึ่ง และเห็นชั่วได้ในอีกทางหนึ่ง เข้าภาษิตฝรั่งที่ว่า “ความชั่วจงมีแก่เขา ผู้คิดเห็นเป็นว่า ชั่วในตัวเรา” นี้ฉันใด คติลัทธิตันตระก็เป็นฉันนั้น. ขอให้ลองนึกถึงการกราบไหว้พระศิวลึงค์ที่ถึงกับอุตส่าห์เอาทองคำเปลวไปปิดไว้ หรือที่เด็ก ๆ ผูกอ้ายขิก (เรียกให้เกียรติยศว่า ปลัดขิก) หรือที่สักรูปอีเป๋อไว้ ผู้ที่เขานิยมนับถือย่อมนึกไปในทางดี เพื่อขอความคุ้มครองจากเทพยเจ้าหรือเพื่อป้องกันภัยจากภูตผีปีศาจ หรือเพื่อแก้อาถรรพ์อาคมและอะไร ๆ เช่นนี้ ความคิดนึกเหยียดหยามว่าหยาบช้าอุลามกก็ย่อมไม่มีอยู่เอง

เมื่อได้เล่าถึงลัทธิฮินดูแต่ย่อ พอเป็นเครื่องประกอบคำอธิบายแล้ว จะได้เริ่มเล่าเรื่องกำเนิดพระคเณศ พระคเณศนั้นเป็นเชษฐโอรสพระอิศวรและพระอุมา เป็นหัวหน้าของคณะ คือพวกเทวดารับใช้พระอิศวร ฉะนั้น จึงได้นามว่า คณบดี หรือคเณศ ซึ่งแปลว่าเป็นหัวหน้าหรือเป็นใหญ่ในคณะ

ในคัมภีร์พรหมไววรรตปุราณกล่าวว่า เมื่อพระบารพตี คือที่เราเรียกว่า พระอุมาเป็นมเหสีพระศิวะแล้ว ไม่เกิดโอรส พระศิวะ จึ่งแนะนำให้พระนางทำพิธีปันยากุพรต คือบูชาพระวิษณุนารายณ์ ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำเดือนมาฆ และเรื่อยไปทุกวันมีกำหนดหนึ่งปี โดยจัดหาดอกไม้ ผลไม้ ขนมนมเนยภาชนะ และแก้วแหวนเงินทอง ให้เป็นทักษิณาทานแก่พราหมณ์พันคนทุกวัน ตลอดจนการเลี้ยงดูพราหมณ์ด้วย ผู้กระทำพิธีต้องถือศีลครองความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เพ่งเล็งแต่พระหริเจ้า (พระนารายณ์) พระบารพตีกระทำพิธีอยู่นาน ก็ไม่ได้โอรสบังเกิดความเสียใจยิ่งนัก ขณะนั้นมีเสียงปรากฏขึ้นว่า ให้กลับไปห้องจะพบกุมารซึ่งเป็นองค์พระกฤษณะไปเกิดเป็นโอรส พระนางก็ได้กุมารสมจริง ทวยเทพทราบข่าวพากันแสดงความยินดีปรีดา ในเทพเหล่านี้มีพระศนิ (พระเสาร์) อยู่ด้วย แต่พระศนิไม่กล้ามองดูกุมาร ก้มดูอยู่แต่ที่พื้น พระบารพตีถามว่าทำไมจึ่งเป็นเช่นนั้น พระศนิตอบว่า เพราะคราวหนึ่งมัวเพลินภาวนาระลึกถึงพระวิษณุ จนละเลยการพะเน้าพะนอภรรยา ภรรยาพระศนิโกรธสาปว่าถ้าพระศนิมองดูผู้ใด ให้ผู้นั้นถึงแก่ความพินาศ เหตุนี้ พระศนิจึงไม่กล้าดูหน้าใครเพราะกลัวจะเป็นผลร้ายแก่ผู้ที่พระศนิจ้องดู พระบารพตีฟังแล้ว ไม่ทรงถือนัก เพราะเห็นว่าสิ่งใดพึงเกิด สิ่งนั้นก็ต้องเกิด เท่ากับมีลิขิตกำหนดไว้ จึ่งอนุญาตให้พระศนิมองดูกุมารได้ พระศนิขอร้องให้พระธรรมราช (พระยม) เป็นพยาน แล้วเหลือบดูกุมาร ทันใดนั้น เศียรกุมารก็ขาดจากศอกระเด็นขึ้นไปบนโคโลก คือสวรรค์พระกฤษณะ แล้วเข้ารวมกับเศียรของพระกฤษณะ เพราะเป็นเศียรที่แบ่งภาคลงไปเกิดเป็นกุมาร จึงต้องกลับสู่แหล่งเดิม (เรื่องตอนนี้มีต่าง ๆ กัน)

พระบารพตีเข้าสวมกอดกายกุมาร ซึ่งเศียรหายไปแล้ว ทอดทิ้งพระกายกรรแสงไห้ ทวยเทพเพื่อจะแสดงอัธยาศัยไมตรีแก่พระบารพตีก็พากันพลอยร้องไห้ตามไปด้วย เว้นแต่พระวิษณุองค์เดียว เสด็จขึ้นเหนือทรงครุฑระเห็จไปยังแม่น้ำบุษปภัทร เห็นช้างนอนหลับหันหัวไปทางทิศเหนือ ก็ตัดเศียรช้างนำกลับมาต่อที่ศอกุมาร กุมารก็มีเศียรเป็นช้างกลับคืนชีพขึ้น (บางแห่งว่าช้างตัวนี้มีงาข้างเดียว) ท้าวหิมวานเทพบิดาพระบารพตีก็ประทานรางวัลมีค่าแก่ทวยเทพและพราหมณ์ ส่วนพระศนิก็ถูกพระบารพตีสาป ให้เดินเขยกมาแต่นั้น

ลักษณะความเป็นไปของทวยเทพตามที่เล่ามานี้ ดูก็ไม่ผิดอะไรกับมนุษย์สามัญนัก และถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องมาจากพรหมไววรรตปุราณ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ยกย่องพระพรหมก็ดี แต่เนื้อเรื่องแสดงอยู่ว่า ประสงค์จะยกย่องพระกฤษณะ ซึ่งเป็นพระวิษณุแบ่งภาคลงไปเกิด เพราะฉะนั้น นับได้ว่าเป็นเรื่องของนิกายไวษณพที่นับถือพระวิษณุเป็นใหญ่ พระคเณศควรจะเป็นโอรสพระศิวะและพระบารพตีกลับไปเป็นภาคของพระกฤษณะหรือพูดง่ายๆ ก็เป็นโอรสพระกฤษณะนั้นเอง รูปพระคเณศในเรื่องที่เล่านี้มักทำเป็นเด็กคลานมีศีรษะเป็นช้าง เรียกชื่อว่าพาลคเณศ คือพระคเณศเด็กเพียงแต่นำเรื่องกำเนิดพระคเณศมาเล่าเป็นเรื่องแรกก็ทำให้ยุ่งเสียแล้วและเรื่องเดียวกันนี้ เมื่อตกมาถึงสยาม เนื้อเรื่องตรงกันแต่พลความแตกต่างไปมาก เรื่องของเราเป็นดั่งนี้

อัปสรตนหนึ่ง ทำผิดเพราะ “ปราศจากธรรมคติแห่งจารีตเทพอัปสรทั้งหลาย” ก็ต้องจุติลงมาเกิดเป็นช้างน้ำชื่ออสุรภังคีทำความเดือดร้อนให้แก่ตรีโลก พระอิศวรดำริจะให้พระขันธกุมารไปปราบ แต่จะโสกันต์เสียก่อน จึงให้ประชุมเทพดาและนักสิทธิ์วิทยาธรมาพร้อมกันณเขาไกรลาศ และเชิญพระพรหม พระนารายณ์ มาเจริญพระเกศา ครั้นถึงวันมงคล พระนารายณ์เผอิญบรรทมหลับสนิท, พระอิศวรมีเทวโองการให้พระอินทร์เอามหาสังข์ไปเป่าปลุก พระนารายณ์แว่วเสียงสังข์ ลืมพระเนตรเห็นพระอินทร์ ตรัสถามว่า โลกมีเหตุประการไร พระอินทร์ทูลว่า พระอิศวรมีเทวโองการ ให้เชิญเสด็จไปเจริญพระเกศาพระขันธกุมาร พระนารายณ์พลั้งพระโอษฐ์ว่า “ลูกหัวหาย จะนอนหลับให้สบายก็ไม่ได้” แล้วก็เสด็จมากับพระอินทร์ ขณะพระนารายณ์ตรัสดังนั้น ด้วยอำนาจวาจาสิทธิ์ พระเศียรพระขันธกุมารทั้งหก (พระขันธกุมารมีหกเศียร) ก็อันตรธาน พระอิศวรมีเทวโองการให้พระวิศณุกรรมไปยังโลกมนุษย์ตัดเอาศีรษะคนถึงแก่มรณภาพแล้ว มาต่อเศียรพระขันธกุมาร พระวิศณุกรรมรับเทวโองการแล้วมาเที่ยวหาศีรษะคนผู้ถึงมรณะในวันนั้น ก็ไม่มีผู้ใดตาย พบแต่ช้างนอนผันศีรษะไปตะวันตกก็ตัดเอาศีรษะช้าง ไปต่อเป็นพระเศียรพระขันธกุมาร แล้วพระเป็นเจ้าทั้งสามพร้อมกัน เปลี่ยนพระนามให้เรียกว่า พระวิฆเนศ ครั้นแล้วพระวิฆเนศก็สำแดงเดช ให้พระกายเป็นสี่กร กรหนึ่งถือบ่วงบาศ กรหนึ่งถือขอ กรหนึ่งถือค้อนเหล็ก และอีกกรหนึ่งถือก้อนเหล็กแดง (บางทีจะเข้าใจว่า ขนมต้มเป็นก้อนเหล็กไป) ทรงมุสิกคือหนูเป็นพาหนะ เสด็จไปยังยมนานทีเข้าต่อสู้กับอสุรภังคี อสุรภังคีต้านทานมิได้ หนีดำลงไปในแม่น้ำ ซ่อนตัวอยู่ในกลางสมุทร พระวิฆเนศอ้าพระโอษฐ์สูบเอาน้ำแห้งจนเห็นตัวอสุรภังคี จึงเอางาเบื้องซ้าย ขว้างถูกอสุรภังคีและบริวารแสนโกฏิถึงแก่ความตาย แล้วจึ่งคายน้ำออกไว้ดังเก่า เสด็จกลับไปเฝ้าพระอิศวร

เรื่องนี้มีข้อความผิดกับเรื่องแรกในพรหมไววรรตปุราณหลายแห่ง เรื่องหลังแสดงว่าพระศิวะเป็นใหญ่ หาใช่พระวิษณุเป็นใหญ่ไม่ ที่จริงก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะลัทธิพราหมณ์ที่เราได้มาจากอินเดีย โดยมากได้มาจากพวกพราหมณ์อินเดียตอนใต้ในพวกที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่ เรื่องที่นำเข้ามาก็ต้องผันแปรไปตามคติที่นับถือ ข้อแปลกในเรื่องนี้ มีอยู่อย่างหนึ่งคือรวบเอาพระคเณศกับพระขันธกุมารให้เป็นองค์เดียวกัน จนเราเข้าใจเป็นสามัญว่าเป็นเช่นนั้น ที่แท้ต่างองค์กัน เพราะพระขันธกุมารเป็นโอรสองค์รองของพระศิวะ และไม่มีเศียรเป็นช้าง ทำไมของเราจึ่งเอามารวมกันกับพระคเณศ จะว่าพวกพราหมณ์นำเรื่องมาให้อย่างนั้น ก็ดูกระไรอยู่ เพราะเทพสององค์นี้ไม่ปรากฏในคัมภีร์ของอินเดียว่าเป็นองค์เดียวกัน พวกพราหมณ์คงไม่หลงเป็นแน่ นอกจากเราจะเข้าใจผิดไปเอง เรื่องพระวิษณุกรรมไปตัดเอาเศียรช้างที่หันหัวไปทางทิศตะวันตก ก็ผิดกับเรื่องแรกที่ว่าพระวิษณุตัดเอาเศียรช้างที่นอนหันหัวไปทางทิศเหนือ นี่ก็คงผิดอะไรกันอย่างหนึ่ง เพราะคติของอินเดีย ถือว่าทิศเหนือเป็นทิศปลายตีน และทิศใต้เป็นทิศหัวนอน ตรงกับที่ในศิลาจารึกพระเจ้ารามคำแหงใช้ว่าเบื้องตีนนอนและเบื้องหัวนอน และยังคงใช้พูดกันอยู่ทางปักษ์ใต้ทุกวันนี้เราถือทิศใต้และทิศตะวันตกเป็นทิศตีนนอน ทำไมจึ่งกลับกันไป ดีร้ายเราจะถือทิศตะวันตกมาก่อน โดยเห็นว่าทิศนั้นย่อมเป็นทางที่พระอาทิตย์ตก หรือเป็นทางที่ไปสู่โลกอื่น ในคติพุทธศาสนามหายาน ถือว่าทิศตะวันตกเป็นทางไปสู่แดนสุขาวดี อันเป็นสวรรค์ของพระอมิตาภพุทธ เมื่อคนตายเขาย่อมหันศีรษะศพไปทางทิศตะวันตก เพื่อให้ไปสู่สวรรค์สุขาวดีเราจึ่งไม่หันหัวนอนไปทางทิศตะวันตกตลอดจนทิศใต้ ซึ่งคงจะเนื่องมาจากคติที่ว่าทิศใต้เป็นแดนของเปตโลกหรือยมโลก เมื่อเราได้เรื่องพระคเณศมา เราอาจแก้ทิศที่ช้างนอนจากทิศเหนือให้เป็นทิศตะวันตกไป

ข้อที่น่าสังเกตยังมีอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือพระอินทร์ พระอินทร์ในสมัยก่อนปุราณมีลักษณะเป็นเทพสูงสุด กระทำหน้าที่ของพระเป็นเจ้าทุกอย่าง ถ้ามีเหตุเภทภัยหรือมีเรื่องอะไรก็มักใช้วิษณุกรรม (วิศวกรรม) ไปจัดการทำ ครั้นตกมาในสมัยปุราณเกิดมีพระเป็นเจ้าขึ้นใหม่แล้ว พระอินทร์ก็ตกต่ำกลายเป็นเทพองค์รอง ถึงว่าจะได้เป็นใหญ่ในหมู่เทวดา ก็ไม่สู้มีฤทธิ์เดชอะไรนัก ต้องแพ้พวกอสูรอยู่บ่อย ๆ เช่นแพ้อินทรชิตเป็นต้น ไม่ใช่แต่ต้องตกต่ำเท่านั้น ในคัมภีร์ปุราณยังช่วยกันป้ายสีดำให้แก่พระอินทร์ โดยกล่าวถึงสาเหตุที่ต้องตกต่ำ ว่าเป็นเพราะพระอินทร์ไม่มีศีลธรรม เช่น ในคัมภีร์รามายณะแห่งหนึ่งกล่าวว่าพระอินทร์ปลอมตัวเป็นฤๅษีโคดม ไปทำชู้กับนางอหัลยา (ในรามเกียรติ์เป็นนางกาลอัจฉา แม่พระยาพาลี) ฤาษีโคดมสาปให้พระอินทร์มีรูปอันน่าอับอายอยู่เต็มตัวเป็นจำนวนตั้งพัน เพื่อให้ปรากฏเป็นพยานแห่งความชั่วอย่างหนักของพระอินทร์ พระอินทร์ทนไม่ไหวต้องไปอ้อนวอนฤๅษีโคดม พระฤาษีผ่อนสาปให้รูปอันน่าอับอายกลายเป็นตาไป พระอินทร์จึงได้มีนามแต่นั้นมาว่า สหัสนัยหรือท้าวพันตา เรื่องนี้ยังไม่ร้ายไปกว่าที่กล่าวไว้ในคัมภีร์คเณศปุราณว่า ภรรยาฤๅษีนางหนึ่ง หลงรักท้าวรุกมางค์ ในขณะที่ท้าวเธอเสด็จล่าสัตว์ในป่าแล้วหลงทางไปแวะที่กุฏีฤๅษี ท้าวรุกมางค์ไม่รับรัก ภรรยาฤๅษีสาปให้ท้าวรุกมางค์เป็นโรคเรื้อน ต่อเมื่อบูชาพระคเณศรจึ่งจะพ้นสาป ระหว่างนี้ พระอินทร์แปลงเป็นท้าวรุกมางค์ไปเป็นชู้กับภรรยาฤาษี นี่ก็เรื่องป้ายสีดำให้พระอินทร์ซึ่งเป็นเทพบดี ให้เลวกว่ามนุษย์คือท้าวรุกมางค์เสียอีก เพราะฉะนั้นตำแหน่งหน้าที่ของพระอินทร์ในสมัยปุราณจึงตกไปอยู่กับพระเป็นเจ้าเสียโดยมาก จะมีอยู่ก็แต่เรื่องที่ว่า ถ้ามีใครบำเพ็ญตบะแก่กล้าถึงกับพระศิวะหรือพระพรหมประทานพร (พระวิษณุไม่เคยประทานพรใคร นอกจากประทานพรให้ครุฑกินนาคซึ่งเป็นเทพพาหนะของพระองค์ทั้งคู่) พระอินทร์ก็ต้องเดือดร้อน เพราะผู้บำเพ็ญตบะโดยมากเป็นอสูรถ้าได้พรก็มักขึ้นไปรุกรานเทวดาก่อน พระอินทร์จึงต้องส่งนางฟ้า ซึ่งคัมภีร์ปุราณเรียกว่านางอัปสร ไปยั่วยวนกวนใจผู้บำเพ็ญตบะให้เสียพิธี หรือบางทีเกิดมีอสูรมีฤทธิ์มาก ไปทำความยุ่งยากให้แก่พระอินทร์ พระอินทร์เดือดร้อนต้องไปเผ้าร้องทุกข์พระศิวะ หรือไม่เช่นนั้นก็พาพวกเทวดามากินเครื่องสังเวย มีน้ำเมาที่เรียกว่าน้ำโสมเป็นต้น ซึ่งพวกฤาษีหรือใครนำมาพลีบูชา หน้าที่ของพระอินทร์ในสมัยปุราณดูเหมือนจะมีเป็นอย่างนี้ มากกว่าเรื่องอย่างอื่น

เมื่อเรื่องของพราหมณ์ตกมาถึงเรา เรารู้จักพระอินทร์มาก่อน แต่พระอินทร์ของเรามีลักษณะสูง ไม่ต่ำต้อยเหมือนกับของพราหมณ์ เราจึงไม่รู้จักพระอินทร์ของพราหมณ์ หรือรู้จักเราก็ไม่อยากได้ไว้ แต่เราก็อดเอาพระอินทร์เข้าไปแทรกอยู่ในเรื่องของพราหณ์ไม่ได้ เช่นในเรื่องพระคเณศของเรา พระอินทร์ตกเป็นลูกสมุนพระอิศวร ไปเชิญเสด็จพระนารายณ์ และพระวิษณุกรรม (วิศวกรรม) ซึ่งเคยเป็นเทพรับใช้พระอินทร์ ก็ได้รับหน้าที่เป็นผู้รับใช้พระอิศวรด้วย ในเรื่องรามเกียรติ์ก็มีเรื่องพระอินทร์ ที่ทำหน้าที่อย่างพระอินทร์ของเรา คือ ชนิดที่ว่า “ทิพอาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา กระด้างดังศิลาประหลาดใจ” เข้าไปแทรกอยู่หลายแห่ง ถ้าว่าตามคัมภีร์รามายณะ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของรามเกียรติ์ เรื่องอย่างนี้ไม่มีกล่าวเลย

เรื่องพระคเณศของเรา ผิดแปลกกับเรื่องพระคเณศของพราหมณ์ยังไม่ยุติอยู่เท่านี้ ยังมีเรื่องทางพุทธศาสนาเข้าไปปนอยู่ด้วย เช่นในเรื่องนี้อีกแห่งหนึ่งเล่าว่าเมื่อพระวิษณุกรรมไปตัดเศียรช้างมาแล้วพระเป็นเจ้าร่ายมนตร์ต่อเข้ากับร่างพระขันธกุมารหลายครั้งก็หาติดไม่ ต้องให้พระวิษณุกรรมลงไปเมืองมนุษย์ อาราธนาพระคิริมานนท์อรหันต์เจ้าขึ้นมาเสกสวดคาถามหาประสาน ต่อติดพระเศียรพระขันธกุมารจึ่งสำเร็จ

ยังมีเรื่องที่สูงขึ้นไปกว่านี้อีก เล่าว่าพระอิศวรจะโสกันต์พระขันธกุมารตรัสให้โหรเทวดาหาฤกษ์ พระราหูทูลว่าเวลาโสกันต์จะมีเหตุ ขอให้นิมนต์พระพุทธเจ้าขึ้นมาประทับเป็นมงคล จะได้เจริญพระพุทธมนต์ พระอิศวรกริ้วตรัสว่า “เราก็เป็นจอมมิ่งโมลีสุราลัย จะนิมนต์พระพุทธเจ้าขึ้นมาใยไม่ต้องการ” แล้วตรัสให้ทำพิธีโดยลำพัง เชิญเทวดามาทั้งหมดแต่ลืมเชิญพระอังคาร พระอังคารเคืองมาก กำบังกายเข้ามาในโรงพิธี ตัดเอาเศียรพระคิเนศร์พระคินายกุมาร ไปโยนทิ้งในทะเล เรื่องต่อไปก็คล้ายเรื่องที่เล่ามาแล้ว คือพระวิษณุกรรมไปตัดเศียรช้างมาสองเศียรมาต่อกับกายเทวกุมารทั้งสอง ก็ไม่ติด ต้องไปนิมนต์พระพุทธเจ้า ขึ้นมาสวดจึ่งต่อติดเศียรพระคิเนศร์คินายเป็นศีรษะช้างทั้งสอง พระอิศวรจึ่งนับถือพระพุทธเจ้าแต่นั้นมา

เรื่องที่เล่านี้ ยิ่งแปลกไปกว่าเรื่องก่อนเพราะเราเอาพุทธศาสนาเข้าปนกับลัทธิพราหมณ์ เหตุด้วยเรานับถือรวม ๆ กันไปถึงกับกล่าวว่า “พุทธกับไสยย่อมอาศัยกัน” ได้กล่าวมาแต่ต้นว่า เรื่องราวเทพยเจ้าของพราหมณ์ ถ้าเป็นของนิกายไหนก็มักยกย่องเทพยเจ้าที่ตนนับถือ แล้วลดเทพยเจ้าองค์อื่นให้รองลงไป นี้ฉันใด เรื่องที่เล่ามานี้ก็ฉันนั้น คือเราแต่งให้พระอิศวรนับถือพระพุทธเจ้า แต่เรื่องหลังนี้แยกโอรสพระอิศวรออกเป็นสอง คือ พระคิเนศร์ และพระคินาย ตรงกับเรื่องของอินเดีย แต่ชื่อเป็นอีกอย่างหนึ่ง พระคิเนศร์พอจะเดาได้ว่าคงเพี้ยนมาจากคเณศ (ในหนังสือเก่าเขียนเป็นพุทธิคิเนกก็มี) ในรามเกียรติ์กล่าวถึงเทวดาองค์หนึ่งชื่อพระพิเนศ ที่แบ่งภาคลงมาเกิดเป็นนิลขันธ์เสนาวนรพวก ๑๘ มงกุฎบางทีชื่อพิเนศจะเพี้ยนไปจากคำว่า พิฆเนศ พระนามหนึ่งของพระคเณศส่วนพระคินายนั้น ถ้าเดาว่าเป็นพระขันธกุมารก็เข้ากันไม่ได้สนิท เพราะไม่ปรากฏว่ามีชื่อที่ใกล้เคียงกับพระคินายอยู่ในเรื่องของอินเดีย และในรามเกียรติ์มีคำว่าพินายเป็นเทวกุมารโอรสพระอิศวรแบ่งภาคมาเป็นนิลเอก พวกเสนาวานร ๑๘ มงกุฎ สงสัยว่า พระคินายและพระพินาย จะเป็นชื่อเพี้ยนมาจากพระวินายก อันเป็นนามหนึ่งของพระคเณศ ซึ่งในหนังสือตำราช้างบางเล่ม เขียนเป็นวินายก์หรือพินายก์ก็มี เช่นเรียกช้างที่มีงาเดียวแต่เบื้องซ้ายว่า พิฆเนศวรมหาวินายก์ สิทธิพินายก์ ภัทรพินายก์ อินทรพินายก์ และ พินาศศึกพินายก์ เป็นต้น สอบถามท่านผู้รู้ในเรื่องช้างอธิบายว่า พระคิเนศหรือพระพิเนศนั้น เป็นชื่อเพี้ยนและตัดคำเอาไปจากคำว่า “เทพามหาพิฆเนศวร์มหาไพทูรย์” ซึ่งในตำราคชลักษณ์ หมายถึง พระคเณศมีงาข้างขวางาเดียวส่วนพระคินายหรือพนาย ก็เป็นชื่อของพระคเณศเหมือนกัน เพี้ยนและตัดคำเอาไปจากคำว่า “พิฆเนศวรมหาพินาย” หมายความถึงพระคเณศมีงาข้างซ้ายงาเดียว

ได้เล่ากำเนิดพระคเณศมาเพียงเรื่องเดียว แล้วไถลย้อนไปถึงเรื่องอื่น ๆ เสียยืดยาว จนเกือบจะลืมเรื่องเดิม จึ่งขอย้อนเล่ากำเนินพระคเณศต่อไป ด้วยยังมีอยู่อีกหลายเรื่องและก็เป็นต่างๆ กัน

ในพรหมไววรรตปุราณอีกแห่งหนึ่งกล่าวว่าพระศิวะกริ้วพระอาทิตย์ ประหารพระอาทิตย์ถึงแก่ความตาย ภายหลังทรงชุบให้ฟื้นขึ้น แต่กระนั้นพระกัศยปฤๅษี (คือเทพบิดาของพระอาทิตย์) ก็ยังกริ้ว สาปโอรสพระศิวะให้เศียรขาด พระศิวะต้องไปตัดเอาหัวช้างเอราวัณของพระอินทร์มาต่อแทน เหตุที่พระอินทร์ต้องเสียหัวช้างไปเพราะพระอินทร์เอาพวงมาลาที่ฤาษีทุรวาสให้ไว้ขว้างไปที่คอช้าง ช้างสะบัดตกลงไปบนดิน ฤาษีทุรวาส ถือว่าพระอินทร์แสดงความไม่เคารพเป็นการดูหมิ่น จึ่งสาปให้พระอินทร์เสียหัวช้างทรง

แปลกที่ผู้รับทุกข์ คือ พระคเณศและช้างเอราวัณ ซึ่งไม่ใช่เป็นตัวการกระทำผิดแต่ต้องถูกฤาษีสาปถึงหัวขาด เป็นทำนองเดียวกับเรื่องพระอังคารโกรธพระอิศวร แต่ไพล่ไปตัดเอาเศียรพระคิเณศร์ พระคินาย เรื่องสาปของเทวดาและฤาษีของฮินดู ออกจะเป็นของหลุดปากออกมาได้อย่างพล่อย ๆ ทำให้ผิดใจนิดเดียว หรือเพียงแต่สงสัยก็อาจถูกสาปได้ ถึงการประทานพรก็เป็นอย่างเดียวกัน เพียงแต่บูชาเท่านั้นก็อาจประทานพรได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อผิดถูก เช่นในศิวปุราณมีเรื่องพระคเณศประทานพรแก่พวกพราหมณีอย่างไม่มีเหตุผล คือกล่าวว่า วันหนึ่งพวกศิษย์ของฤาษีโคดมไปตักน้ำที่บ่อ ถูกพวกพราหมณีคือเมียพราหณ์เกียดกันไม่ให้ตักได้ จนกว่าพวกพราหมณีจะตักก่อน นางอหัลยาชายาฤๅษีโคดมไปตักน้ำ ก็ถูกเกียดกันได้รับความเดือดร้อนรำคาญเช่นเดียวกัน ใช่แต่เท่านั้น หญิงพราหมณีเหล่านี้ยังไม่พอใจกลับไปฟ้องสามีว่านางอหัลยารังแก พวกสามีนางพราหมณีไปบูชาพระคเณศ พระคเณศโปรดประทานโอกาสให้ขอพร พวกเหล่านั้นก็ขอพรให้ฤาษีโคดมไปเสียจากอาศรม โดยพวกของตนไม่ต้องรับบาปที่ขับไล่ฤๅษีไป พระคเณศก็ประทานพรตามปรารถนา โดยพระคเณศเองจำแลงเป็นโคผอม เดินเข้าไปในทุ่งนาที่ฤๅษีโคดมกำลังยืนอยู่ แล้วกินข้าวที่ในนา ฤาษีโคดมไม่ทราบว่าโคผอมนั้น คือพระคเณศแปลงมา ก็เอาฟางฟาดโคเพื่อไล่ให้ไปเสีย แต่พอฟาดถูกโค โคก็ล้มลงตาย เป็นอันว่าฤาษีโคดมฆ่าโค ซึ่งตามลัทธิถือว่าเป็นบาปหนัก ต้องละอาศรมที่นั้นไป และต้องไปปลดเปลื้องบาปโดยเดินรอบภูเขาของพระพรหมร้อยครั้ง ชำระสนานกายในแม่คงคา และบูชารูปพระศิวให้ได้โกฏิรูป ขณะบูชาพระศิวะ พระศิวะโปรดการบูชาของฤๅษีโคดมยิ่งนัก จึ่งปรากฏพระองค์และตรัสบอกความลับให้ฤๅษีโคดมทราบว่า ถูกพระคเณศหลอกให้ฆ่าโค เพราะประสงค์จะขับไล่ให้ไปเสียจากอาศรม และเพื่อมิต้องให้ฤาษีโคดมต้องเดินทางไกลไปสนานกายยังแม่คงคา พระศิวะโปรดย่นระยะทางให้แม่คงคาเข้ามาใกล้ฤาษีโคดมเอง เพื่อจะได้ชำระกายได้สะดวก ในตำนานกล่าวว่าฤาษีโคดมรู้สึกชังต่อความประพฤติของพราหมณ์ จึ่งได้ปลีกตนไม่คบค้ากับพราหมณ์ แล้วไปตั้งลัทธิศาสนาใหม่ซึ่งเฟื่องฟูดียิ่งกว่าลัทธิพราหมณ์อยู่คราวหนึ่ง (ในวราหปุราณว่า พวกฤาษีแปลงเป็นงัว หาใช่พระคเณศไม่ เรื่องยุ่งกันอย่างนี้ จนไม่ทราบว่าจะถือคัมภีร์ไรเป็นเรื่องแท้ หรือว่าจะไม่แท้ด้วยกันทั้งนั้นก็ไม่แปลก)

กำเนิดพระคเณศอีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า พระศิวะมักเสด็จเข้าไปสู่ที่ซึ่งพระบารพดีกำลังสรงน้ำอยู่ โดยพระนางไม่ทันรู้ตัว พระนางจึ่งเอาไครขมิ้นที่ทาพระกายมาปั้นและเนรมิตเป็นชายรูปงามสำหรับเป็นทวารบาลผู้เฝ้าประตู วันหนึ่งพระศิวะเสด็จไปหาพระบารหตี ถูกผู้เฝ้าประตูไม่ยอมให้เข้าไป และยังเอาหวายเฆี่ยนพระศิวะสองสามทีแล้วไล่ให้ออกไป พระศิวะกริ้วต่อความประพฤติอย่างไพร่ของผู้เฝ้าประตู ก็สำแดงพระเดช แต่ต่อสู้ผู้เฝ้าประตูไม่ได้ แม้จะมีพระวิษณุและทวยเทพมาช่วย ก็สู้ผู้เฝ้าประตูไม่ได้อยู่นั้นเอง ในที่สุดพระวิษณุต้องใช้อุบายนิรมิตรูปมายาเป็นนางงาม ผู้เฝ้าประตูเหม่อดูรูปมายา จึงเป็นโอกาสให้พระวิษณุตัดคอผู้เฝ้าประตูขาด ความทราบถึงพระบารพดี กริ้วมาก จนพระศิวะต้องให้เทพไปหาสัตว์ที่นอนเอาหัวไปทางทิศเหนือ แล้วให้ตัดเอาหัวมา เทพองค์นั้นได้หัวช้างมาต่อ ผู้เฝ้าประตูจึ่งได้มีหัวเป็นช้าง แล้วพระศิวะทรงตั้งให้เป็นใหญ่ในหมู่เทพรับใช้ของพระศิวะ ซึ่งเรียกว่า วินายกพวกหนึ่ง คณะพวกหนึ่ง ผู้เฝ้าประตูหัวช้าง จึงได้ชื่อว่า คเณศ หรือ คณบดี และวินายก

เรื่องนี้บางทีเพี้ยนเป็นว่า ในขณะที่พระคเณศรบกับพระศิวและทวยเทพ พระบารพตีเห็นว่า พระคเณศต่อสู้กับเหล่าศัตรูผู้มีกำลังมาก แต่ลำพังคนเดียว จึงส่งนางฟ้ารุ่นสาวสององค์มาช่วยรบ พระศิวะคิดอุบายทำเป็นแพ้ ฝ่ายเทพนารีทั้งสองเห็นศึกสงบแล้วก็กลับไป อยู่ทางนี้ จึงเป็นโอกาสให้พระศิวะตัดศีรษะพระคเณศได้ ความทราบถึงพระบารพตี ก็บันดาลโทษะ นิรมิตเทพนารีนักรบขึ้นพันองค์ทำการสู้รบกับพระศิวะ ร้อนถึงฤๅษีนารทและผู้อื่น ๆ ต้องไปอ้อนวอนพระบารพตีขอให้เลิกแล้วต่อกัน แต่พระนางจะยอมสงบถ้าพระศิวะทำโอรสของพระนางให้กลับมีชีวิตขึ้นมา พระศิวจึงสั่งให้ทวยเทพพากันรีบไปทิศเหนือ และให้ตัดศีรษะสัตว์มีชีวิตซึ่งพบเป็นครั้งแรก มาต่อที่คอพระคเณศ ทวยเทพก็รีบไปตามรับสั่ง พบช้างตัวหนึ่งจึ่งตัดศีรษะมาต่อที่คอพระคเณศ ช้างนั้นมีงาข้างเดียว เพราะฉะนั้น พระคเณศจึ่งมีงาข้างเดียว และได้นามว่า เอกทนต์

บางแห่งว่าที่พระศิวะเอาเศียรช้างมาต่อลืมนึกถึงเศียรเดิมของพระคเณศ ต่อเมื่อเอาเศียรช้างมาต่อให้แล้ว จึงนึกขึ้นได้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องปล่อยให้เป็นการเลยตามเลย

เรื่องตอนนี้ มีพลความผิดแปลกกันอยู่บ้าง แต่ใจความของเรื่องก็คือ พระคเณศเป็นโอรสพระบารหตีองค์เดียว พระศิวะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ส่วนเรื่องแรกในพรหมไววรรตปุราณ พระคเณศเป็นโอรสพระกฤษณะ ซึ่งแบ่งภาคมาเกิด

แต่เรื่องในมัตสยปุราณและสกันทปุราณก็กล่าวว่าพระคเณศเป็นโอรสของพระบารพตีองค์เดียว ที่พระคเณศมีเศียรเป็นช้างก็เพราะนางช้างน้ำมีส่วนอยู่ด้วย คือ ในมัตสยปุราณกล่าวว่า ขณะพระบารพตีสรงน้ำอยู่ พระนางเอาน้ำมันที่ทรงใช้ในการสรง มาผสมเข้ากับเหงื่อไคลของพระองค์ปั้นเป็นรูปคนขึ้น แต่มีเศียรเป็นช้าง แล้วเอาน้ำในพระคงคาประพรมเกิดมีชีวิตขึ้น พระนางหันไปทางพระอินทร์และทวยเทพ ตรัสอธิบายว่า ที่สร้างบุรุษเศียรเป็นช้างขึ้นนี้ ก็เพื่อประโยชน์อย่างเดียวคือจะทำการขัดขวางแก่ผู้ที่ประสงค์จะบูชาพระศิวลึงค์ที่เทวาลัยโสมนาถ เพื่อคนเหล่านั้นจะได้ตกนรกทั้งเจ็ดขุม แต่ในสกันทปุราณกล่าวว่า เมื่อพระบารพตีเอาน้ำมันและธุลีจากพระกาย มาผสมกันแล้ว พระนางก็ไปสู่ปากน้ำแม่คงคา ณ ที่นั้นมีนางรากษสหัวเป็นช้าง ชื่อมาลินี พระบารพตีประทานน้ำมันผสมกับธุลีพระกายแก่นางรากษส นางรากษสรับเอาไปกิน เกิดโอรสแต่มีเศียรเป็นช้างห้าเศียร พระบารพตีรับเอาเป็นโอรส ซึ่งพระศิวะก็ยอมรับว่าเป็นโอรสของพระบารพตีจริง และทรงบันดาลให้เศียรทั้งห้ากลายเป็นเศียรเดียวและประทานนามว่า วิฆเนศวร คือผู้ขจัดเสียซึ่งความขัดข้อง

อีกเรื่องหนึ่งมีอยู่ในสกันทปุราณเล่าว่า พระศิวะกำหนดไว้ว่า ถ้าใครได้บูชาพระองค์ ณ เทวาลัยโสมนาถ ก็จะได้ขึ้นสวรรค์ทุกคน คราวนี้ ก็มีประชาชนพากันไปทำกิจพิธีบูชาพระศิวลิงค์กันเป็นอันมาก ฝ่ายพระอินทร์และเทวดาทั้งหลาย รู้สึกรำคาญที่มีพวกผู้หญิง พวกศูทร คนนอกศาสนา และคนทำบาปหยาบช้า ขึ้นสวรรค์กันมาก พวกเหล่านี้เดิมกำหนดอยู่ว่าจะต้องตกนรก ที่มาได้ขึ้นสวรรค์อย่างนี้ ไม่เป็นการสมควรเลย พระอินทร์และทวยเทพขึ้งเคียดเกลียดชังมาก พากันขึ้นไปเฝ้าพระศิวะยังเขาไกรลาสกราบทูลว่า “ข้าแต่พระศังกร โดยพระมหากรุณาแห่งพระองค์บัดนี้มีมนุษย์ขึ้นสวรรค์กันมากมายนัก จนพวกเทวดาเกือบจะไม่มีที่อยู่ มนุษย์ผู้ไม่ใช่อมร เข้าไปเพ่นพ่านทำการเกะกะบนสวรรค์ตามอำเภอใจ ปากก็พูดเอ็ดอึงว่า “เราเป็นใหญ่ เราเป็นใหญ่” ขณะนั้นพระธรรมราชา (พระยม) ตรวจดูบุญบาปของมนุษย์ แล้วก็ตกตะลึงเพราะนรกทั้งเจ็ด ที่มีไว้สำหรับรับรองพวกเหล่านี้ ว่างไปมาก เพราะมนุษย์พากันไปบูชาที่โสมนาถเทวาลัยและปลดเปลื้องบาป ขึ้นสวรรค์กันหมด เมื่อเป็นดั่งนี้ ทวยเทพจึงทูลขอร้องพระเป็นเจ้า ให้ทรงหาทางทำการขัดข้องให้เกิดมีแก่พวกเหล่านี้ อย่าให้ขึ้นสวรรค์ได้ เพราะเป็นผู้ไม่สมควรขึ้นสวรรค์

ตอนนี้ในวราหปุราณกล่าวว่า พระศิวะอึดอัดพระทัย ด้วยไม่นึกคาดไปถึงเหตุนี้จึงประทับเข้าฌานเพื่อหาทางแก้ ขณะนั้น ที่พระนลาตบังเกิดมีรัศมีสว่างจ้า แล้วปรากฏบุรุษอันน่าพิศวง ทรงคุณลักษณะเหมือนพระศิวะไม่มีผิด ครั้นเรื่องนี้ ทราบไปถึงพระบารพตี และทอดพระเนตรเห็นบุรุษรูปงามสุดวิเศษ ซึ่งพระศิวะสร้างขึ้นลำพังพระองค์เอง พระนางหามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยไม่ พระนางก็กริ้วสาปบุรุษนั้นอย่างแรงว่า “ให้เศียรเหมือนช้าง และรูปร่างพิการมีท้องพลุ้ย” พระศิวะทรงรับเอาคำสาปนี้เป็นเด็ดขาดไม่กล้าปริพระโอษฐ์แต่ตรัสกับโอรสซึ่ง ณ บัดนี้มีเศียรเป็นช้างและท้องก็พลุ้ย ว่า “ขอให้เจ้าจงมีนามแต่นี้ต่อไปว่า คเณศ วินายก วิฆนราช และเป็นศิวบุตร” ความมีผลสำเร็จหรือความเสียใจไม่สำเร็จผลจงมีกำเนิดเป็นปัจจัยมาจากตัวเจ้า ให้เจ้าเป็นผู้ได้รับบูชาในกิจการต่าง ๆ ก่อนเทพองค์อื่น ๆ มิฉะนั้นให้กิจการเหล่านั้นติดขัดไม่สมประสงค์” (แต่ในที่นี้มียกเว้นการศพ)

อีกแห่งกล่าวว่า เมื่อพระศิวะได้ฟังคำอ้อนวอนของพระอินทร์และทวยเทพแล้ว ก็ตรัสตอบว่า พระองค์มิสามารถจะช่วยเหลือได้ เพราะได้ลั่นพระวาจาไปแล้ว จะถอนเสียไม่ได้ ทางที่ดีควรพระอินทร์และทวยเทพไปเฝ้าพระบารพตี บางทีพระนางจะมีอุบายแก้ความขัดข้องนี้ได้บ้าง พระอินทร์จึงไปเฝ้าพระบารพตี โดยกราบลงอ้อนวอน พระบารพตีมีพระทัยสงสาร จึงทรงลูบพระกายแต่เบา ๆ ก็เกิดเป็นบุรุษสี่กรเศียรเป็นช้าง พระบารพตีตรัสว่า “เรามีความปรารถนาจะให้เกิดประโยชน์แก่พวกท่านจึงสร้างผู้นี้ขึ้นซึ่งจะเป็น “ผู้ทำขัดข้อง” (วิฆเนศวร) ให้แก่มนุษย์ และด้วยมายา มิให้พากันไปสู่โสมนาถเทวาลัยและแล้วคนเหล่านั้นจะได้ตกนรก” ทวยเทพได้ฟังตรัสต่างก็เบิกบานหฤทัยพากันกลับไป ครั้นแล้วพระบารพตีตรัสสั่งเทพผู้มีหน้าเป็นช้างว่า “ท่านจงไปทำความขัดข้องแก่มนุษย์ที่ไปสู่โสมนาถเทวาลัย แล้วจงล่อลวงพวกเหล่านั้น ให้เลิกไปเสีย โดยนำผู้หญิง เด็ก และสมบัติพัสถานเป็นเครื่องล่อให้หลง แต่ถ้าผู้ใดบูชาเจ้า เจ้าจงขจัดการขัดข้องเสียให้หมด และให้ไปบูชาพระศิวะยังโสมนาถเทวาลัยได้สะดวกเถิด”

ยังมีเรื่องกำเนิดพระคเณศอีกเรื่องหนึ่งเล่าว่าพระศิวะพรรณนาให้พระคเณศฟัง ถึงเหตุที่พระคเณศมีเศียรเป็นช้าง โดยกล่าวว่า “ครั้งหนึ่งเราพร้อมด้วยบารพตีไปสู่ป่าแถวหิมาลัยบรรพต เพื่อความสำราญ ขณะนั้นได้เห็นนางช้างสมสู่อยู่ด้วยช้างพลาย เราทั้งสองก็เกิดความใคร่ เราจึงแปลงเป็นช้างพลาย ส่วนบารพตีแปลงเป็นช้างพัง และร่วมสโมสรตามความพอใจ จึงได้เกิดตัวเจ้ามา เศียรของเจ้าจึงได้เป็นเศียรช้าง”

เรื่องนี้ผิดกับเรื่องที่แล้วมา เพราะเรื่องเหล่านั้นแสดงว่าพระคเณศเป็นโอรสพระศิวะแต่ลำพังบ้าง เป็นโอรสพระบารพตีแต่ลำพังบ้าง แต่เรื่องนี้ แสดงว่าพระคเณศเป็นโอรสพระศิวะและพระบารพดีโดยบริบูรณ์

ในนารายณ์สิบปางฉบับเก่าของเรา กล่าวว่า พระอิศวร “เสด็จไปทรงศีลเหนือยอดเขารัชฏกูฏ (เขาไกรลาศ) ให้หมู่อุรเคนทร (พญานาค) รักษาพระองค์แล้วดื่มกินพระโลหิตในแม่นิ้วพระบาท แล้วกระทำด้วยเทวฤทธิ์ ให้บังเกิดเป็นกุมารองค์หนึ่ง ออกจากอุรประเทศ มีพระพักตร์หกพระพักตร์ มีกรสิบสองกร พระเป็นเจ้าจึงให้นามปรากฏว่า พระขันธกุมารเทวโอรส” พระขันธกุมารองค์นี้ที่ภายหลังมีพระเศียรเป็นช้างและเปลี่ยนพระนามเป็นพระพิฆเนศวร ซึ่งไปปราบช้างอสุรภังคีดั่งได้เล่ามาแล้ว แต่เรื่องนี้ ไปแย้งกับที่กล่าวไว้ในอีกแห่งในเล่มเดียวกัน ซึ่งมีความว่า “พระอิศวรเป็นเจ้ามีเทวโองการ ประสาทพระพรให้พระเพลิงกระทำเทวฤทธิ์ ให้บังเกิดศิวบุตรสององค์ พระเพลิงรับเทวโองการ แล้วกระทำเทวฤทธิ์ให้บังเกิดเป็นเปลวเพลิง ออกจากช่องพระกรรณทั้งสอง มีรัศมีสว่างรุ่งเรือง และกลางเปลวเพลิงนั้น เบื้องขวาเกิดเป็นเทวกุมารองค์หนึ่ง มีพระพักตร์เป็นหน้าช้าง มีพระกรสองกร เบื้องขวาทรงตรีศูล เบื้องซ้ายทรงดอกบัว มีอุรเคนทรเป็นสังวาลนั่งชาณุมณฑลลอยอยู่ข้างเบื้องขวา พระเป็นเจ้าทั้งสามจึงให้นามปรากฏชื่อว่า พระศิวบุตรพิฆเนศวร เบื้องซ้ายเกิดเป็นเทวกุมารองค์หนึ่ง มีพระพักตร์เป็นช้างสามพระพักตร์ มีพระกรหกพระกร กรหนึ่งเกิดเป็นช้างเผือกผู้ มีเศียรสามสิบสามเศียร สี่บาท ชื่อเอราวัณ กรหนึ่งเกิดเป็นช้างเผือกผู้ มีเศียรสามเศียร สี่บาท ชื่อคิริเมขละไตรตายุค ช้างทั้งสองนี้ คือ เทพยดานฤมิตด้วยอำนาจเทวฤทธิ์ พระเป็นเจ้าประสาทพรไว้ให้สำหรับเป็นพาหนะของสมเด็จอมรินทราธิราช และกรอีกสองกรเกิดเป็นช้างเผือก ซึ่งจะอุบัติในโลกสำหรับได้เป็นพาหนะของกษัตริย์ อันมีอภินิหาร อีกข้างละสามช้าง คือเผือกเอก เผือกโท เผือกตรี ............พระเป็นเจ้าทั้งสามจึงให้นามว่า โกญจนาเนศวร ศิวบุตร”

พระคเณศในเรื่องนี้กลายเป็นโอรสพระเพลิง (เห็นจะเป็นเพราะเหตุที่พระเพลิงเป็นผู้ให้กำเนิดช้างตระกูลอัคนิพงศ์) และยังมีพระโกญจนาเนศวรแปลกขึ้นมาอีกองค์แต่เรื่องที่เล่าไว้ในตอนนี้ เป็นเรื่องว่าด้วยกำเนิดช้างในฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างจึงกล่าวชื่อไว้ในตอนไหว้ครูด้วยเสมอ จะขาดเสียไม่ได้ เช่น

นบไท้เทวกรรมกำจร อีกองค์อมร
มหิทธิหกพักตร์ผาย  
คือขันธกุมารเรืองฉาย สิบสองกรกราย
กระลึงสราวุธหาญ  
ทรงมยุรอาศน์โอฬาร เดินโดยโพยมมาล
มะลังมะเลืองเรืองรณ  
อีกสองศิวบุตรดำกล เกิดในมณฑล
ถเกิงกระลาพิธี  
องค์หนึ่งเศียรสัณฐานศี ศะคชกรมี
เฉวียงสดำโดยตรง  
กรซ้ายทายตรีศรทรง กรขวาธำรง
ปทุมตรลบอบอวล  
สมญาพระพิฆเนศวร ทวยเทพมูลมวญ
เคารพแลย่อมเยงยำ  
องค์หนึ่งสามพักตร์เพ็ญลำ นักหน้าแห่งดำ
รีรัตนพระหัดถ์หกกร  
ยืนเหยียบตระพองกุญชร เจ็ดเศียรบวร
เสวตรพิเศษยานยง  
คู่พาหุแรกหากทรง สังข์สองเวียนวง
ทักษิณแลรอบอุตรา  
คู่สองเกิดคชยุพา ศิริเมขล์ไตรตา
ยุคะแลเอราวรรณ  
คู่สามกำเนิดอีกพรรณ เผือกพังพลายปัน
เป็นเอกแลโทตรีไตร  
ขวาพลายซ้ายพังอำไพ ศุภลักษณ์วิไลย
วิลาศณชาติสารสาม  
ศิวบุตรนี้รุ่งเรืองนาม โดยเวทสาตรพราหมณ์
ว่าโกญจนาเนศวร  

ตามข้อความที่ยกมาอ้างข้างบนนี้ ปรากฏว่ามีการไหว้พระเทวกรรม, พระขันธกุมาร, พระพิฆเนศวร และพระโกญจนาเนศวร รวมเป็นสี่องค์ด้วยกัน, และเทพทั้งสี่นี้ ก็มีเศียรเป็นช้างด้วยกัน จะผิดกันก็ที่จำนวนเศียรและหัตถ์เท่านั้น (ดูรูป) ในสี่องค์นี้ว่าในส่วนพระขันธกุมารและพิฆเนศวรเป็นสององค์ก็ได้หรือเป็นองค์เดียวก็ได้ คือ ถ้าว่าในตำราของอินเดีย ก็เป็นคนละองค์ ถ้าว่าในตำราที่มีอยู่ในนารายณ์สิบปาง ก็เป็นองค์เดียวกัน คือเป็นพระขันธกุมารเมื่อมีเศียรเป็นคน และเป็นพระพิฆเนศวรเมื่อเปลี่ยนเศียรเป็นช้างแล้ว ส่วนพระเทวกรรมและพระโกญจนาเนศวรเป็นใครได้ตรวจดูข้อความในฉันท์กล่อมช้างรวมด้วยกัน ๑๙ ฉบับ ปรากฏในตอนบูชาเทวดากล่าวถึงพระกรรมหรือพระเทวกรรม และพระขันธกุมารทุกฉบับ แต่พระโกญจนาเนศวรนั้น คงมีกล่าวไว้เฉพาะคือในพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสหนึ่งแห่ง และนิพนธ์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) สี่แห่ง กับของพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) หนึ่งแห่งเท่านั้น นอกนี้ไม่กล่าวถึงพระโกญจนาเนศวรแม้แต่นิพนธ์ของพระยาศรีสุนทรโวหารเองในรุ่นหลังอีกสองฉบับ ก็งดไม่กล่าวไว้ สอบถามท่านผู้รู้ก็ว่า ทางกรมช้างไม่เคยได้ยินชื่อนี้เลย ซ้ำยังได้ความเพิ่มเติมต่อไปว่า พระขันธกุมารนั้น เป็นอีกองค์หนึ่งต่างหากไม่เกี่ยวกับช้างก็เมื่อไม่เกี่ยวกับช้าง ทำไมจึงต้องกล่าวพระนามบูชาด้วย บางทีจะถือว่าเป็นองค์เดียวกันกับพระคเณศ ดังเรื่องที่เล่ามาแล้วกระมัง ถ้าเป็นองค์เดียวกัน ทำไมจึ่งแยกองค์ หรือจะถือว่าเป็นคนละปาง แต่อย่างไรก็ดี ว่าในส่วนพระโกญจนาเนศวร มีเรื่องอยู่ในคัมภีร์ศิวปุราณแห่งหนึ่ง กล่าวว่าเมื่อพระคเณศและพระสุพรหมัณย์ (พระขันธกุมาร) มีอายุสมควรจะแต่งงาน แต่ใครจะแต่งก่อน พระศิวะกับพระบารพตีเห็นว่า ใครเดินทางรอบโลกได้ก่อน ควรแต่งงานก่อน เมื่อพระสุพรหมัณย์เตรียมตัวเข้าแข่งขัน โดยใช้นกยูงเป็นพาหนะ ส่วนพระคเณศเพิกเฉยอยู่โดยถือว่าตนคงจะชนะ ต่อเมื่อพระสุพรหมัณย์ขึ้นหน้าไปจนพันสายตาแล้ว พระคเณศก็ไปหาพระศิวะและพระบารพตี กระทำประทักษิณเวียนรอบเจ็ดครั้ง และกล่าวถึงพระเวทเป็นใจความว่า ถ้าบุตรทำประทักษิณบิดามารดาเจ็ดรอบ ได้กุศลเท่ากับไปรอบโลก พระศิวะและพระบารพตีพอพระทัยในปัญญาของพระคเณศ จึ่งจัดการแต่งงานพระคเณศกับนางพุทธิและนางสิทธิเกิดโอรสด้วยนางพุทธิคือเกษม และเกิดด้วยนางสิทธิคือลาภ (ถ้าว่าตามคติของฮินดูที่ถือกันว่าถูกต้อง พระคเณศเป็นเทพพรหมจาริน ไม่มีชายา) ฝ่ายพระสุพรหมัณย์กลับมา ได้ทราบว่าพระคเณศได้ชัยชนะด้วยอุบาย ก็เสียใจไปสู่เขาเกราญจบำเพ็ญตบะธรรมในที่นั้น และครองชีวิตอยู่เป็นโสด

ในเรื่องนี้ กล่าวถึงเขาเกราญจ ซึ่งมีเรื่องเล่าไว้ในวายุปุราณว่า ครั้งหนึ่งพระอินทร์กับพระขันธกุมารท้าฤทธิ์กันว่า ใครจะมีฤทธิ์ยิ่งกว่ากัน ตกลงวิ่งแข่งกันรอบเขาเกราญจ แต่ในที่สุดไม่ทราบผลชัดว่าใครเป็นผู้ชนะ ต้องขอร้องให้เขาเกราญจเป็นผู้ตัดสิน เขาเกราญจตัดสินเข้าข้างพระอินทร์ อันไม่เป็นความจริงและไม่ยุติธรรม พระขันธกุมารกริ้ว เอาหอกซัดไปที่เขา เขาเกราญจก็แยกออกเป็นสอง พระขันธกุมารจึงได้นามว่าเกราญจภิท แปลว่า ผู้ทำเขาเกราญจให้แยกออก คำว่าเกราญจ นอกจากเป็นชื่อเขา ยังเป็นชื่ออสูรตนหนึ่งเป็นสหายท้าวตารกาสูรซึ่งพระขันธกุมารไปปราบ เพราะฉะนั้นคำว่า “เกราญจ” จึงมีเรื่องเกี่ยวกับพระขันธกุมารฝ่ายเดียวไม่มีเรื่องเกี่ยวกับพระคเณศ คำว่า “โกญจ” ในคำว่า “โกญจนาเนศวร” เป็นคำในภาษาบาลีตรงกับคำว่าเกราญจในภาษาสันสกฤต เพราะฉะนั้นพระโกญจนาเนศวร จึ่งควรเป็นพระขันธกุมารมากกว่าพระคเณศ แต่ทำไมเราจึงเปลี่ยนเกราญจมาเป็นโกญจในภาษาบาลี? บางทีเกราญจจะเป็นคำที่เขียนยากอ่านยาก เราจึงได้เปลี่ยนเสียถ้าพระโกญจนาเนศวรเป็นพระขันธกุมาร ทำไม่จึ่งมีเศียรเป็นช้างอย่างพระคเณศ และทำไมจึงเกี่ยวกับเรื่องช้าง? เมื่อมาระลึกเรื่องของเราที่ว่าพระขันธกุมาร เมื่อเศียรขาดเปลี่ยนเป็นเศียรช้างและได้ชื่อใหม่ว่าพระวิฆเนศวรแล้ว ดูก็ไม่เป็นการแปลกอะไรเพราะเรื่องยุ่งเหยิงกันมาแต่ต้นมือแล้ว ส่วนพระเทวกรรมขอเอาไปพูดไว้ในทีหลัง

(ยังมีเรื่องพระคเณศของอินเดียเป็นเรื่องเกร็ดอยู่เรื่องหนึ่ง กล่าวว่าพระคเณศเคยเป็นคนเลี้ยงโค ต้นเหตุเพราะทศกัณฐ์ได้พรพระพรหมให้เทวดาฆ่าไม่ตาย ทศกัณฐ์จึงไปรุกรานเทวดา เทวดาสู้ไม่ได้ต้องตกไปเป็นทาสของทศกัณฐ์ พระคเณศนั้นถูกทศกัณฐ์บังคับให้ไปเลี้ยงโคเป็นโคบาลอยู่นาน เหตุนี้รูปพระคเณศบางรูปจึงมีรูปโคอยู่ด้วย”

เรื่องกำเนิดพระคเณศยิ่งเล่าไปก็ยิ่งยุ่งจับรวมเรียงเข้ากันไม่ได้หมด เขียนไป ๆ ก็ชักจะเลอะ ได้หลังลืมต้น ตามจำไม่ไหวจึ่งขอสรุปเรื่องเสียตอนหนึ่ง

พระคเณศเป็นโอรสองค์ใหญ่ของพระศิวะและพระบารพตี กำเนิดกล่าวเป็นต่าง ๆ กัน เป็นเทพประจำความขัดข้อง หรือเป็นเทพขจัดความขัดข้องก็ได้ และเป็นผู้อำนวยความสำเร็จ หรือเป็นผู้ทำความไม่สำเร็จให้ก็ได้เหมือนกัน ใครบูชาก็จะมีความเจริญเป็นสวัสดิมงคล เหตุนี้ ชาวฮินดูจะประกอบกิจการใด ๆ จะต้องบูชาพระคเณศก่อน ตามคติทมิฬยังถือต่อออกไปอีกว่าพระคเณศเป็นเทพแห่งโภคทรัพย์ และเป็นผู้ยังความปรารถนาให้สำเร็จ เป็นเทพที่สงบเสงี่ยมเปี่ยมด้วยพระกรุณา และทรงสติปัญญาเฉียบแหลม (เทพประจำสติปัญญาควรจะเป็นพระพฤหัสบดี ซึ่งมีนามว่าคณบดีเหมือนกัน บางทีจะเกิดเข้าใจผิด โดยโอนเอาลักษณะนี้มาให้แก่พระคเณศเสียหมด)

พระคเณศมีรูปเศียรเป็นช้าง ตามปกติมีสี่กร แต่จะมีหกกร แปดกร หรือเป็นสองกรตามธรรมดา อย่างพระคเณศของไทยเราก็ได้ สีกายโดยปกติแดง แต่จะเป็นเหลือง แดงและเหลือง หรือขาวก็ได้ สัณฐานต่ำเตี้ยท้องพลุ้ย (บางทีท้องพลุ้ยจะเป็นลักษณะของผู้มีสติปัญญา เพราะปัญญาลงพุง อย่างสัจกนิครนถ์ในสัจกสูตร์ซึ่งคุยโอ่อวดต่อประชาชน ว่าที่เอาเหล็กพืดรัดพุงไว้เพราะความรู้มาก กลัวพุงจะแตก) ทรงงูเป็นสังวาลหรือเป็นสายรัดพุง มีงาข้างเดียว โดยปกติเป็นข้างซ้าย แต่เป็นข้างขวาก็เคยมี ที่มีครบทั้งสองงาก็มีแต่รูปพระคเณศวรของไทยบางรูปและของจีน สิ่งที่ทรงตามปกติคือ ขอช้าง บ่วงบาศ งาหักและขนมโมทก (ขนมต้ม) แต่ถือสิ่งอื่นก็มี เช่น ชาม ขนมโมทก หม้อน้ำ ดอกบัว ผลส้ม สังข์ จักร หลาว ธนู ลูกธนู คทา ขวาน ลูกประคำ งู ผลทับทิม หัวผักกาด เหล็กจาน และสมุดหนังสือ (รายชื่อสิ่งของเหล่านี้เก็บจากที่มีปรากฏอยู่ในรูปต่าง ๆ ของพระคเณศโดยมาก เข้าใจว่ายังไม่หมด) พาหนะคือหนูที่เป็นราชสีห์ก็เคยมี ที่เล่าลักษณะมานี้ เป็นการเล่ารวบเอาแต่ใจความ เพราะรูปลักษณะพระคเณศตลอดจนสิ่งของที่ถือ จะเป็นอะไรก็ได้ด้วยพระคเณศแบ่งภาคได้ถึงสามสิบสองรูป บางรูปก็มีสามตาและทัดจันทร์อย่างพระศิวะ ด้วยนามต่าง ๆ ของพระคเณศคือ

คเณศ คณบดี คณกรีฑา ผู้เป็นใหญ่ในคณะเทพ
คณนาถ คณนายก  
วิฆเนศวร วิฆเนศ วิฆนนายก ผู้เป็นใหญ่ในความติดขัด
วิฆนบดี วิฆนราช  
สิทธิธาดา ผู้อำนวยความสำเร็จ
วินายก วิฆนหารี วิฆนนาศน์ ผู้ขจัดความขัดข้อง
วักรตุณฑะ ผู้มีงวงคดโค้ง
รักตตุณฑะ ผู้มีงวงแดง
เอกทันต์ ผู้มีงาเดียว
อาขุรถ ผู้ทรงหนูเป็นพาหนะ
เหรัมพะ ผู้ป้องกัน
ทวิเทหก ผู้มีกายสองลอน
ลัมโพทร ผู้มีท้องย้อย
ลัมพกรรณ ผู้มีหูยาน
มโหทร ผู้มีท้องใหญ่
วิกัฏ ผู้พิการ
ธูมราภ ผู้มีผิวดำแดง
คชานน กริมุข คชวัทน ผู้มีหน้าเป็นช้าง

ที่พระคเณศทรงขอช้างและบ่วงบาศเพราะ “อนึ่งพระพิฆเนศเดชอุดม เป็นบรมครูช้างผู้ใหญ่ เธอสร้างสรรพะกรีที่ในไพร เพื่อให้เป็นสง่าแก่ธาตรี” (พระราชนิพนธ์ ร.๖) ที่ทรงงาหัก ตามปกติในพระหัตถ์ล่างข้างขวา มีเรื่องเล่าไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระคเณศเสียงา ว่า ปรศุรามซึ่งเป็นพระวิษณุอวตารปางหนึ่งของเรากลายเป็นรามสูร จะเข้าเฝ้าพระศิวรวะ พระคเณศเฝ้าพระทวารอยู่ ไม่ยอมให้ปรศุรามเข้าไป เพราะพระศิวะบรรทมหลับ ปรศุรามจะเข้าไปให้ได้ เกิดวิวาทและในที่สุดสู้รบกัน พระคเณศเอางวงคว้าจับปรศุรามไว้ได้ ยกขึ้นแกว่งวนไปวนมาจนปรศุรามเวียนศีรษะสิ้นสติ ภายหลังปรศุรามเอาขวานวิเศษ ซึ่งพระศิวะประทานแก่ตนจามลงไป พระคเณศจำได้ว่าเป็นเทพสาตราของพระบิดาก็ไม่กล้าขืนสู้ให้รุนแรงเป็นแต่เอางาข้างหนึ่งรับขวาน ขวานจึงจะตัดงาขาดกระเด็น ซึ่งต่อมาพระคเณศถือเอาไว้ ที่พระคเณศของจีนถือหัวผักกาดเห็นจะเข้าใจผิด เพราะพระคเณศของจีนไม่ได้เสียงา จึงน่าจะหลงไปว่างาที่อยู่ในหัตถ์ของพระคเณศเป็นหัวผักกาดไป ที่พระคเณศถือขนมต้มหรือชามขนมต้มเพราะพระคเณศโปรดขนมต้มที่มีผู้นำมาบูชา คราวหนึ่งเสวยขนมต้มเข้าไปเกินขนาดจนท้องยุ้ย เสวยแล้วทรงหนูกลับไปในเวลากลางคืน หนูไปพบงูใหญ่ก็ตกใจหลบงู พระคเณศหกคะเมนลงไปเลยท้องแตก ขนมต้มทะลักออกมาหมด พระคเณศยังเสียดายขนมต้ม รีบโกยเอาเข้าไว้ในพุง แล้วฆ่างูและเอางูรัดท้องไว้ เหตุนี้ พระคเณศรจึงมีงูพันพุง บางทีก็มีงูห้อยเฉวียงบ่าอย่างสายยัชโญปวีต คือ สายธุรัมของพราหมณ์ ฝ่ายพระจันทร์ และดาวนักษัตร ซึ่งเป็นชายาพระจันทร์ เห็นขบขันก็หัวเราะขึ้น พระคเณศโกรธ เอางาขว้างขึ้นไปติดพระจันทร์แน่น ทันใดความมืดมลอนธการก็เกิดมีขึ้นแก่โลก ร้อนไปถึงพระอินทร์และพวกเทวดา พากันไปขอลุแก่โทษ พระคเณศจึงยอมถอนงาออก แต่พระจันทร์จะต้องรับโทษ แหว่งอยู่ตลอดไปทุกครึ่งเดือน

(เรื่องตรงนี้ ได้ทราบมาเป็นคนละอย่าง คือพระวิฆเนศลงโทษพระจันทร์ โดยสาปว่าผู้ใดมองดูพระจันทร์ในวันฤกษ “วินายกจตุรทศี” (คือวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ซึ่งมีกำหนดเป็นวันบูชาพระคเณศ) ก็กลายเป็นผู้เสมอด้วยจัณฑาล ดังนี้ ป.ส. ศาสตรี)

ยังมีเรื่องต้นเหตุเสียงาอีกเรื่องหนึ่ง เป็นของอินเดียภาคใต้ ว่าอสูรชื่อคชมุชาสูร หน้าเป็นช้างมีฤทธิ์มาก เทวดามนุษย์ฆ่าไม่ตาย แต่พระคเณศมีลักษณะเป็นครึ่งเทวดา จึ่งอาจเอาชนะอสูรตนนั้นได้ ในชั้นต้นที่พระคเณศรบกับอสูรตนนี้ พระคเณศถูกอสูรหักงาข้างขวา แต่พระคเณศแย่งเอางาหักนี้ไว้ได้ แล้วขว้างงานั้นไปที่อสูร อสูรตนนั้นกลายร่างเป็นหนู ต่อมาก็เป็นพาหนะพระคเณศ เหตุนี้ งาที่ทรงจึงเป็นเทพสาตราสำคัญสิ่งหนึ่งของพระคเณศ ขาดเสียไม่ได้ ที่พระคเณศของอินเดียมักถือขวาน บางทีจะเกิดจาก พระพฤหัสบดี ซึ่งมีนามว่าคณบดีถือขวานทอง จึงโอนเอาทั้งคำว่าคณบดีและอาวุธที่ถือ มาให้พระคเณศเสียด้วย และในที่สุดปัญญาความรู้ อันเป็นลักษณะของพระพฤหัสบดี ก็ตกมาเป็นลักษณะของพระคเณศด้วย เรื่องจึงยุ่งกันใหญ่

ที่พระคเณศ ถือเหล็กจานและสมุดหนังสือ เนื่องมาแต่เรื่องที่พระวาลมิกิฤาษีผู้แต่งคัมภีร์รามายณะไปพบพระวยาศฤาษีผู้แต่งคัมภีร์มหาภารต ฤๅษีวาลมิกิถามฤๅษีวยาศว่า แต่งคัมภีร์มหาภรตเสร็จหรือยัง ฤๅษีวยาศตอบว่าเสร็จแล้วเพราะได้พระคเณศมาเป็นเลขานุการ ซึ่งมีเรื่องเล่าไว้ว่า คัมภีร์มหาภารตนั้น มีขนาดใหญ่มาก ฤาษีวยาศหาใครที่สามารถเป็นผู้เขียนตามที่ฤๅษีวยาศบอกไม่ได้ จึ่งไปขอร้องพระคเณศ พระคเณศรับเป็นผู้เขียนให้เอง แต่มีเงื่อนไขว่าฤๅษีวยาศจะต้องบอกเรื่อย หยุดในระหว่างกลางคันไม่ได้ ฤๅษีวยาศตกลงด้วย แต่เกี่ยงให้มีเงื่อนไขว่า ถ้าพระคเณศไม่เข้าใจความหมายในคำใด ก็ห้ามไม่ให้จดคำนั้นลงไปจนกว่าจะตีความออกด้วยมีเงื่อนไขไว้อย่างนี้ ฤๅษีวยาศจึงมีเวลาหยุดบอกในระหว่างได้ เพราะใช้วิธีแต่งข้อความในบางแห่งให้ลึกซึ้งยากแก่การตีความ พระคเณศแม้จะเป็นเทพทรงปัญญา ก็ต้องหยุดเขียนเพื่อตรองดูความหมาย ระหว่างหยุดเขียนนั้นเอง ฤๅษีวยาศจึ่งมีเวลาตรองแต่งต่อไปได้ ไม่ต้องหยุดชะงักในระหว่าง

ได้กล่าวมาแต่ต้นว่า พระคเณศของชวามักมีกะโหลกผีประดับ ซึ่งของอินเดียไม่มี ไฉนจึงใช้กะโหลกผี

นักปราชญ์ฝรั่งสันนิษฐานว่า บางทีจะเป็นเพราะพระคเณศเป็นโอรสพระศิวะ ซึ่งบางปางพระศิวะมีลักษณะดุร้ายชอบคลุกคลีอยู่กับพวกผีปีศาจในป่าช้าจนได้นามว่าพระภูเตศวร คือผู้เป็นใหญ่ในภูตผี ทรงกะโหลกผีร้อยเป็นสังวาล และโปรดการสูบกัญชา ซึ่งในภาควัตปุราณกล่าวว่าทรงสูบกัญชาคราวละมาก ๆ แล้วยังแถมเสวยเม็ดลูกลำโพงด้วย พระศิวะบางทีมีลักษณะอย่างนี้ ในศิวปุราณจึ่งกล่าวว่า คราวไรทะเลาะกับพระบารพตีโดยมากความเห็นไม่ตรงกัน คือ ฝ่ายหนึ่งจะประทานพร แต่อีกฝ่ายหนึ่งจะสาป ก็ถูกพระบารพตีบริภาษว่า “เจ้าแก่หนังเหี่ยว เจ้าสูบกัญชาอยู่ในป่าช้า เอาเถ้ากองฟอนทาตัว” ถ้าพระศิวะเหลืออดก็ตอบว่า “เจ้าเป็นผู้หญิงรู้จักอะไร ดีแต่ประพฤติอย่างไม่ใช่ผู้หญิงชอบแดดแด๋ไปในที่ต่าง ๆ ชอบรบชอบขี้เมา คบคนเสเพล ฆ่ายักษ์ ดื่มกินเลือดและเอากะโหลกผีร้อยคล้องคอ” คราวนี้ถ้าพระบารพตีไม่ยอมแพ้ ก็เกิดเรื่องใหญ่จนเทวดาตกใจ กลัวโลกจะทำลาย ต้องพากันไปขอร้อง และคงจะเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง รูปพระคเณศจึ่งมีกะโหลกผีอยู่ด้วย เพื่อแสดงลักษณะของพระศิวะเทพบิดา ตลอดจนมีงูเห่าเฉวียงบ่าก็เป็นลักษณะของพระศิวะด้วยเหมือนกัน

(เหตุที่รูปพระคเณศบางรูปมีหัวกะโหลกประดับนั้น คือเป็นรูปปาง“อุจฉิษฐคณบดี” ซึ่งเป็นไปตามแบบคัมภีร์ตันตระ ป.ส.ศาสตรี)

เรื่องพระคเณศในคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายใต้ ไม่ปรากฏว่ามีกล่าวไว้ในที่ไร เหตุนี้ ในหนังสือวรรณคดีของเราแต่เดิมมา จึ่งดูเหมือนจะไม่มีอ้างไว้ แม้แต่ในหน้าต้นที่เป็นตอนไหว้ครู ก็ไม่เคยพบออกนามพระคเณศ จะมีอยู่ก็แต่ในคำประพันธ์ที่เกี่ยวกับเรื่องช้าง เพราะพระคเณศเป็นเรื่องเกี่ยวอยู่ในตำราช้าง หรือถ้าว่าเป็นสามัญ เมื่อเห็นรูปพระคเณศที่ในโบสถ์พราหมณ์ ก็รู้จักกันแต่เผิน ๆ ว่าเป็นเทพยเจ้าองค์หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับพระเป็นเจ้าของพราหมณ์ ซึ่งถ้าใครกราบไหว้บูชาก็จะเกิดสวัสดีมงคล ดูเหมือนเพิ่งจะมารู้จักกันมากขึ้น ว่าพระคเณศเป็นเทพประจำวรรณคดี ก็เมื่อทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งวรรณคดีสโมสรใน พ.ศ. ๒๔๕๗ และใช้รูปพระคเณศเป็นลวดลายในดวงตราของสโมสร

รูปพระคเณศที่มีอยู่ในสยาม ตามภาพเทวรูปของเดิมมีลักษณะต่าง ๆ กัน ถ้าเป็นพระวิฆเณศยืนเตียง ก็เป็นช้างสามเศียรมีหกกรบ้าง แปดกรบ้าง สิ่งที่ถือมี ค้อน ขวาน จักร สังข์ (ที่ทรงสังข์ออกจะแปลก เพราะสังข์เป็นของพระวิษณุโดยเฉพาะ พระคเณศในอินเดียและที่อื่น ๆ ยังไม่เคยพบว่าถือสังข์ บางที่จะมาทางลัทธิตันตระกระมัง) ตรี (เพราะเป็นเทพสาตราโดยเฉพาะของพระศิวะ-ควรแล้ว) เชือกบาศ และงา ถ้าเป็นพระมหาคเณศ “จำสถาน” (ไม่ทราบว่าอะไร) มีเศียรเดียว สี่กร ทรงขวาน จักร งาช้าง และลูกส้ม เสด็จเหนือหนูเป็นเทพพาหนะ ถ้าเป็นพระมหาคเณศไปกระเษียรสมุทร มีเศียรเดียวสี่กร ทรงขอช้าง บาศ งาช้าง และขนมโมทก แต่ทรงเต่าเป็นเทพพาหนะ (เหมือนกับพระคเณศมหายานบางรูป) ถ้าเป็นพระมหาวิฆเนศ ทรงเชือกบาศ มีเศียรเดียว สี่กร ทรงขอช้างและบาศ อีกสองกรไม่ทรงอะไร รูปพระคเณศเหล่านี้ ท้องไม่พลุ้ย และงาไม่หัก (มีรูปเดียวที่งาข้างซ้ายหัก โดยปกติรูปของอินเดียงาหักข้างขวา) ที่รูปพระคเณศของอินเดียถืองาที่หักไว้ ก็สมเหตุกับเรื่อง แต่พระคเณศของเรางาไม่หักแต่ถืองาไว้ด้วย บางทีเราจะได้เรื่องพระคเณศมาอย่างเลือน ๆ จนลืมหรือไม่รู้เรื่องพระคเณศเสียงา หรือรู้ก็อย่างเลือน ๆ อย่างเรื่องพระวิฆเนศปราบอสูรภังคี ดังเล่ามาข้างต้น, แล้วเอางาช้างให้เป็นเทพสาตราชนิดหนึ่ง เพราะรูปพระอิศวรและรูปพระนารายณ์ ที่ทรงงาช้างกิ่งหนึ่งอยู่ในพระหัตถ์ก็มีพบอยู่กลายแห่ง

นอกจากรูปพระคเณศ ก็มีรูปพระโกญจนาเนศวรซึ่งมีเศียรเป็นช้างสามเศียรหกกร ลักษณะและทรงอะไรในกรบ้างได้เล่าไว้ข้างต้นแล้ว

พระศิวบุตร รูปนี้มีเศียรเป็นช้างหนึ่งเศียร แต่สองกร ทรงตรีและดอกบัว งาไม่หัก พระศิวบุตร ว่าตามตำนานของเราอาจเป็นพระคเณศหรือพระขันธกุมารก็ได้ ยังมีเทพหัวช้างอีกองค์หนึ่ง ชื่อพระเทวกรรม สองกร ทรงงาช้างและไม้เท้า บางรูปทรงงาช้างกับขนมโมทกและมีงูเป็นสังวาล พระเทวกรรมนี้ ว่าเป็นเทวดาประจำช้างหรือหมอช้าง สอบถามท่านผู้รู้ในเรื่องช้าง ก็ว่าพระเทวกรรมนั้น คือพระคเณศนั้นเอง ดูลักษณะรูปก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ว่าทำไมจึ่งเรียกว่า “เทวกรรม” ค้นหาเรื่องในหนังสือฝรั่งที่ว่าด้วยเรื่องพระคเณศก็ยังไม่พบ ถ้าเทวกรรมเขียนอย่างนี้ดูไม่น่าจะเป็นชื่อเทวดาเลย เพราะถ้าจะแปลกัน ก็ว่ากิจพิธีบูชาเทวดาในลัทธิเท่านั้น เทวดาในที่นี้เห็นจะหมายถึงพระคเณศ ได้แล้ว คำว่า เทวกรรมก็อาจย้ายที่ในความหมายมาเป็นองค์พระคเณศเองก็ได้

(ได้ทราบว่า ที่เพนียดจับช้างที่ลพบุรีจะมีรูปพระคเณศชนิดยืน ซึ่งเรียกในตำราเทวรูปของอินเดียว่า พระประสันนคณบดี ซึ่งท่านผู้รู้คนหนึ่ง ตอบข้อความที่ผู้เขียนถามไปว่า “พระประสันนคณบดีในกรมช้างแม้ชั้นผู้ใหญ่ก็ไม่เคยได้ยินชื่อถ้าจะให้สันนิษฐานก็เข้าใจว่า เป็นพระคเณศ เพราะสีกายแดงเช่นเดียวกัน และมีนามคณบดีต่อท้ายด้วย” ในที่นี้ได้ขอให้ “อายัณโฆษณ์” ช่วยอธิบายเรื่องพระคเณศที่เกี่ยวกับช้าง ดังได้พิมพ์ต่อจากเรื่องพระคเณศนี้แล้ว จึงขอขอบใจ “อายัณโฆษณ์” ไว้ด้วย)

รูปพระคเณศทำด้วยโลหะ มีในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยมากเป็นรูปพระคเณศแบบอินเดีย และมีขนาดเล็กพอถือไปได้ง่าย จึงน่าจะเข้าใจว่ารูปพระคเณศเหล่านี้ จะเป็นของชาวอินเดียที่เข้ามาอยู่ในประเทศสยาม ทำเอาติดตัวเข้ามาด้วยเพื่อจะได้ทำการบูชาได้สะดวก รูปพระคเณศขนาดเล็กจึงได้มีอยู่เป็นอันมาก ที่ในเทวสถานหรือโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า มีรูปพระคเณศขนาดใหญ่และเล็กอยู่หลายรูป ทั้งที่เป็นหินและโลหะ พระคเณศเหล่านี้มีสองกรบ้าง สี่กรบ้าง สิ่งที่ถือ ถ้าสองกรก็ทรงงาช้างในกรขวา และทรงสิ่งหนึ่ง มีสัณฐานคล้ายหินลูกบดอยู่ในกรซ้าย ถ้าสี่กรก็ทรงสิ่งอย่างเดียวกัน แต่ในสองกรล่าง ทรงสิ่งแบน ๆ คล้ายก้นหอยทั้งสองกร เข้าใจกันว่า เป็นขนมต้มแดงต้มขาว

อนึ่งพระคเณศนี้ ได้ความว่ามีรูปก่อด้วยปูน สองรูป อยู่ที่หน้าวัดบุพพารามในเมืองเชียงใหม่ ดูเป็นทำนองทวารบาลตรงกับลักษณะพระคเณศที่เป็นผู้เฝ้าทวารปราสาทพระศิวะและพระบารหตี ซึ่งในมหายานเกณฑ์เอาพระคเณศไปใช้เป็นทวารบาลวิหารในพุทธศาสนาก็มี ชาวเมืองเรียกพระคเณศว่า พญาพิสนู ทางอีสานก็รู้จักชื่อนี้ว่าเป็นครู จะไปคล้องช้างหรือทำการอะไร ก็ต้องไหว้พิสนูก่อน นี่แสดงว่าในที่นั้นไม่รู้จักเรื่องพระคเณศ รู้จักแต่พระวิษณุ ซึ่งอาจเป็นพระวิษณุนารายณ์ หรือเป็นพระวิศวกรรม ซึ่งเราเรียกเพี้ยนเป็นวิศนุกรรมก็ได้

คราวนี้ว่าถึงพระคเณศในลัทธิศักติตันตระของฮินดู และในคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน โดยเฉพาะในกิ่งนิกายพุทธตันตระย่อมมีเรื่องอยู่ดกดื่น และเรื่องราวที่กล่าวไว้ก็พิลึกพิลั่นและยุ่งเหยิง ดูเหมือนจะยิ่งไปกว่าเรื่องพระคเณศที่เล่ามาแล้ว เพราะพระคเณศในคัมภีร์เหล่านี้ ที่มากหน้าหลายมือก็มีอยู่อย่างอุดม มีทั้งคเณศชาย คเณศหญิง และคเณศสี่ขา ส่วนงาเป็นสามงาก็มี คืองอกตรงกลางหน้าผากอีกงาหนึ่ง หรือถ้าไม่ใช่งา ก็กลายเป็นดวงตาที่สามไปก็มี ส่วนที่ทรงขนมต้มก็กลายเป็นทรงดวงแก้วจินดามณี ซึ่งเป็นของวิเศษที่ในคติมหายานชอบใช้ พาหนะทรง นอกจากหนูซึ่งบางทีทรงคราวเดียวตั้งสองตัว คือเหยียบไว้ข้างละตัว ก็ทรงสิงโต ถ้าทรงสัตว์ชนิดนี้ องค์พระคเณศก็มักมีห้าเศียรสิบกร บางทีก็ทรงเต่าทรงกบหรือคางคก มิหนำซ้ำรูปที่บูชาบางที่ก็อุ้มศักติเสียด้วย รูปลักษณะพระคเณศที่พรรณนามานี้ จะสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า คล้ายคลึงกับรูปพระคเณศของเราที่เขียนเอาไว้ ดังได้บรรยายรูปลักษณะมาแล้วแต่ต้น เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าเรื่องราวพระคเณศที่เราได้มา ส่วนมากน่าจะมาทางลัทธิตันตระ และจะไม่ใช่แต่เรื่องพระคเณศเท่านั้น ถึงคติอย่างอื่น มีจำพวกคาถาอาคมและมนตร์ต่าง ๆ ก็จะเป็นไปในทำนองเดียวกัน ถ้าจะเก็บเรื่องพระคเณศในลัทธิตันตระมากล่าวไว้ด้วย ก็จะเป็นเรื่องใหญ่ได้อีกตอนหนึ่ง แต่ผู้รวบรวมยังไม่มีโอกาสจะทำเช่นนั้นได้ เพียงแต่เท่าที่เล่ามาก็ยุ่งและลำดับไม่ติดต่ออยู่แล้ว จึ่งขอยุติเรื่องลงเพียงเท่านี้แล

  1. ๑. ได้จากหนังสือ Ganesh by A. Getty หน้า ๖๕ แต่ในปทานุกรมกระทรวงธรรมการฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๔๗๐ ว่า อะ_พระวิษณุ อุ_พระศิวะ และ ม_พระพรหม. ที่จริง ที่ผิดกันก็ไม่แปลก เพราะสุดแล้วแต่นับถือพระเป็นเจ้าองค์ใด ก็ย่อมยกย่องพระเป็นเจ้าองค์นั้นไว้หน้าได้.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ