ตำราสรรพคุณยา

ฉบับของกรมหลวงวงศาธิราชสนิท

๏ อาจริเยน อันว่าพระอาจารย์เจ้าจะกล่าวคัมภีร์สรรพคุณ อันมีคุณแก่สัตว์ทั้งหลายต่าง ๆ ตามลำดับกันโดยสังเขปดังนี้ ๚

(๑) ลำดับนี้จะกล่าวสรรพคุณแห่งพรรณสมอนั้นก่อนเปนอาทิ คือสมอเทศมี ๗ ประการ แลสมอ ๕ ประการนั้นมีคุณดุจกัน แลสมอ ๒ ประการนั้นมีคุณกว่าสมอ ๕ ประการ

อันว่าสมอรสฝาดรสเผ็ดมากนั้น รู้สังหารเสียซึ่งโรคอันบังเกิดขึ้นในทรวง อันว่าสมอรสหวานรสขมมากนั้น รู้สังหารเสียซึ่งโรคอันบังเกิดแต่ดีเปนต้น อันว่าสมอรสเปรี้ยวมากนั้น รู้สังหารเสียซึ่งโรคอันบังเกิดแต่โลหิตเปนต้น อันว่าสมอรสฝาดนั้น รู้เผาเสียซึ่งอาหารให้งวด อันว่าสมอรสเค็มนั้น รู้บำรุงซึ่งเพลิงธาตุให้บริบูรณ์

ถ้าแลบุคคลผู้ใดได้เสพย์ผลสมอ มาตรว่าแต่ผลหนึ่งก็ดี ก็จะปราศจากซึ่งโรคทั้งปวง ดุจมารดารักษาบุตรไว้ ถึงมาตรว่ามารดากับบุตรเปนที่รักกันก็ดี ก็ยังรู้จะวิวาทกันแลกัน อันผลสมอนี้มีคุณมากนัก แต่ทว่าอาจารย์เจ้าเปรียบความไว้ว่า เพลิง ๑๐ กองไม่เท่ารัศมีพระอาทิตย์ดวง ๑ สิบรัศมีพระอาทิตย์ไม่เท่าอกมารดา สิบอกมารดาไม่เท่าผลสมอผลหนึ่ง อันผลสมอนี้มีคุณยิ่งมหันต์ แลประกอบไปด้วยรส ๕ ประการ รู้เจริญซึ่งชนมายุประการ ๑ รู้สังหารเสียซึ่งพยาธิคือคุธราดประการ ๑ รู้สังหารเสียซึ่งพยาธิคือบาดแผลประการ ๑ รู้สังหารเสียซึ่งฟกบวมประการ ๑ รู้บำรุงซึ่งเพลิงธาตุประการ ๑ เปน ๕ ประการด้วยกันดังนี้

อันว่าผลสมอ ๖ แล ๗ เหลี่ยมนั้น มีคุณมากกว่าผลสมอ ๕ ประการ สมอหนึ่งชื่อวิทยานั้นเย็นนัก สมอหนึ่งชื่อโรหิณีลูกกลม สมอหนึ่งชื่อบุตรนาลูกสามเหลี่ยม รู้แก้ซึ่งตกมูกเลือดนั้น สมอหนึ่งชื่ออนุตา ลูกสามเหลี่ยม แต่เมล็ดในนั้นเล็ก รู้แก้ไข้อันคลั่งเปนบ้าดีเดือด สมอหนึ่งชื่อมุตกี ลูกห้าเหลี่ยม รู้แก้ลมอันแน่นอยู่ในอุระแลอุทร แลรู้แก้ผีภูตพรายทั้งปวง สมอหนึ่งชื่ออัพยา ลูกหกเหลี่ยม รู้แก้โลหิตโดยรอบคอบในอุทร สมอหนึ่งชื่อวิลันดา ลูกเจ็ดเหลี่ยม เหลืองดังสีทอง มีคุณเปนอนันต์ กล่าวสังเขปสรรพคุณผลสมอลูกเล็ก ๗ ประการ ก็สิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๒) จะกล่าวสรรพคุณสมอป่าลูกใหญ่ ลูกนั้นรู้แก้โรคอันระส่ำระสายในอุทรแลแก้บิด ดอกนั้นรู้แก้ลมอันลั่นอยู่ในโสด กระพี้นั้นรู้แก้ไข้อันฟกบวม แก่นนั้นรู้แก้โลหิต แก้ฅอเปนหนามบัว รากนั้นรู้แก้เสมหะ กล่าวสังเขปคุณสมอป่ามาสิ้นเท่านี้ ๚

(๓) จะกล่าวสรรพคุณแห่งมะขามป้อมนั้น มีคุณดุจผลสมอลูกเล็ก ๗ ประการ แต่ทว่าต่างกันที่รู้แก้แต่งให้เนื้อหนังงามบริบูรณ์ แลให้เสียงเพราะ แลรู้แก้แม่พยาธิ รสเผ็ดแหลมรู้แก้พรรดึก ซึ่งกล่าวมาทั้งนี้ ผลมะขามป้อมอ่อน แลลูกแก่นั้นมีรส ขม เผ็ด ฝาด เปรี้ยว ทั้งนี้รู้ห้ามเสียซึ่งลมแลไข้อันวิเศษ กล่าวสังเขปคุณมะขามป้อมมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๔) จะกล่าวสรรพคุณสมอพิเภกมีรสอันเปรี้ยวนั้น รู้สังหารเสียซึ่งลมแลแก้ไข้อันพิเศษ ซึ่งกล่าวมาทั้งนี้ผลสมอพิเภกอ่อน แลผลแก่นั้นมีรสอันฝาด รู้แก้โรคอันบังเกิดแต่จักษุ รู้แก้ธาตุอันกำเริบ แก้ไข้จับแลแก้ริดสีดวง รู้บำรุงธาตุ เมล็ดในนั้นรู้แก้บิด เสลดดุจดังน้ำเข้า ใบนั้นรู้แก้บาดแผลอันประกอบไปด้วยพยาธิ ดอกนั้นรู้แก้โรคอันบังเกิดแต่จักษุคือตาเปียกแฉะ เปลือกนั้นรู้แก้โรคในทางปัสสาวะ คือนิ่ว เบาเปนโลหิต แก่นนั้นรู้แก้ริดสีดวงพลวก รากนั้นรู้แก้โลหิตอันกระทำให้ร้อน กล่าวสังเขปคุณสมอพิเภกมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๕) จะกล่าวสรรพคุณแห่งตรีผลา คือสมอไทย สมอเทศ สมอพิเภก ทั้งสามสิ่งนี้ ประมวญกันเข้านามชื่อว่าตรีผลา ถ้าบุคคลผู้ใดได้บริโภค ก็อาจจะระงับเสียซึ่งโรคอันบังเกิดแต่ดี แลรู้แก้ซึ่งเสมหะ แลลม แลคุธราด กล่าวสังเขปคุณตรีผลามาสิ้นเท่านี้ ๚

(๖) จะกล่าวสรรพคุณแห่งดีปลีนั้น มีรสอันเผ็ดขม รู้แก้หืดแลไอ แก้ลมวิงเวียน รากแลผลนั้นมีคุณดุจกัน กล่าวสังเขปคุณแห่งดีปลีมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๗) จะกล่าวสรรพคุณแห่งขิงแห้งนั้นมีรสอันหวานร้อนรู้แก้พรรดึก แก้ไข้จับนอนมิหลับ แก้ลมพานใส้ แลลมแน่นในทรวง แลเสียดแทง ลมวิงเวียน ลมเหียน กล่าวสังเขปคุณขิงแห้งมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๘) จะกล่าวสรรพคุณแห่งขิงสดนั้น มีรสอันหวานร้อน รู้ให้เจริญซึ่งอายุ แลรู้แก้ปากคอมิสบาย แลแก้โรคอันบังเกิดแต่ทรวง รู้บำรุงเพลิงธาตุ แก้เสมหะแลลมอันทพฤกษ์ รู้สกดลมลงไปสู่ทวารเบื้องต่ำ รู้กระทำให้อาหารงวด รากนั้นมีรส เผ็ด ร้อน ขม รู้แก้โรคอันบังเกิดแต่ทรวง รู้กระทำให้ผิวหนังนั้นสดชื่น รู้แก้ลมแลเสมหะ รู้กระทำให้เสียงเพราะ รู้ฆ่าตัวพยาธิแลพรรดึก กระทำให้รู้รสอาหาร แลแก้ลมอันแน่นอก แลลมอันกลิ้งไปมาในอุทร แลรู้แก้บิดอันตกโลหิตดุจสีขมิ้น ผลนั้นรู้แก้ไข้อันหนาวสท้าน ดอกนั้นรู้แก้ตาเปียกแฉะ ต้นนั้นรู้แก้นิ่วเบาหยด กล่าวสังเขปคุณขิงสดสิ้นเท่านี้ ๚

(๙) จะกล่าวสรรพคุณแห่งสค้านต้นนั้น รู้แก้แสมหะแลโลหิต ใบนั้นรู้บำรุงเสมหะแลโลหิต แลแก้โรคอันบังเกิดแต่ทรวง แลแก้ไข้อันประกอบไปด้วยหืด รู้ทำลายเสียซึ่งพรรดึก กล่าวสังเขปคุณสะค้านมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

อนึ่งสะค้านแลดีปลีชะพลูนั้นก็ดี มีคุณดุจกัน

(๑๐) จะกล่าวสรรพคุณแห่งเจตมูลเพลิงแดง ใบนั้นรู้แก้คุณผี ดอกนั้นรู้แก้คุณยาที่บุคคลกระทำไว้นั้น ต้นนั้นรู้แก้โลหิตอันเน่าให้ตกเสีย รากนั้นมีรสอันร้อน รู้กระจายเสียซึ่งวาโย กระทำให้ตัวพยาธิตาย รู้แก้คุธราดแลริดสีดวง รู้กระทำให้อาหารงวด แลรู้ปลุกธาตุ กล่าวสังเขปคุณเจตมูลเพลิงแดงมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๑) จะกล่าวสรรพคุณแห่งเจตมูลเพลิงขาวใบนั้นรู้แก้เสมหะ ดอกนั้นรู้แก้พยาธิอันบังเกิดแต่จักษุ ต้นนั้นรู้ชำระโลหิตอันดำให้ตกเสีย รากนั้นรู้กระจายเสียซึ่งวาโยอันอัดอั้น กล่าวสังเขปคุณเจตมูลเพลิงขาวมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๒) อาจริเยน อันพระอาจารย์เจ้าท่านกล่าวไว้ ยังมีพระดาบส ๕ พระองค์ พระองค์หนึ่งชื่อพระฤๅษีปัพพตัง กระทำบริโภคซึ่งผลดีปลี หวังจะระงับเสียซึ่งอชิณโรค องค์หนึ่งชื่อพระฤาษีอุฑา กระทำบริโภครากชะพลู หวังจะระงับเสียซึ่งเมื่อยขบ องค์หนึ่งชื่อพระฤาษีปุพพเทวดา กระทำบริโภคซึ่งเถาสะค้าน หวังจะระงับเสียซึ่งเสมหะแลวาโย องค์หนึ่งชื่อพระฤายีปุพพกะดาบส, กระทำบริโภคซึ่งรากเจตมูลเพลิง หวังจะระงับเสียซึ่งโรคอันบังเกิดให้หนาวเย็น องค์หนึ่งชื่อพระฤาษีมหิทธิกรรฐดาบส กระทำบริโภคซึ่งขิงแห้ง หวังจะระงับเสียซึ่งตรีโทษ องค์หนึ่งชื่อพระฤาษีมุทธาธรตรีดาบส เธอพระองค์นี้เปนผู้ประมวญสรรพยาเข้าด้วยกัน จึงได้ชื่อว่าเบญจกูล แลยาเบญจกูลนี้ถ้าบุคคลผู้ใดได้บริโภคอาจจะระงับเสียซึ่งโรคมีเสมหะเปนต้น แลรู้แก้ลม ๘๐ จำพวก รู้บำรุงธาตุ กล่าวสังเขปคุณเบญจกูลมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๓) จะกล่าวสรรพคุณแห่งพริกไทย ใบนั้นรู้แก้ลมอันตั้งมั่นไว้แห่งธาตุ เมล็ดนั้นรู้แก้ลมอันทพฤกษ์ แลลมมุตฆาฏ แลรู้ดับเสียซึ่งดีอันเดือด กระทำให้เสมหะแห้ง รู้บำรุงธาตุแลแก้ให้รู้รสอาหาร รู้แก้สรรพลมในทรวง ดอกนั้นรู้แก้จักษุแดงดุจโลหิต เครือนั้นรู้แก้ไข้อติสารแลแก้เสมหะอันดองอยู่ กล่าวสังเขปคุณพริกไทยมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๔) จะกล่าวสรรพคุณแห่งเทียนแดง มีรสอันเผ็ดร้อน ขม มีกลิ่นหอมยิ่งนักรู้แก้ซึ่งเสมหะ ลม ดี แลแก้ลมอันเสียดแทงในใส้แลลมอันให้เหียน กล่าวสังเขปคุณแห่งเทียนแดงมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๕) จะกล่าวสรรพคุณแห่งเทียนขาว มีรศอันเผ็ดร้อน ขม นั้นรู้แก้ลมแลดี แลรู้ทำลายเสียซึ่งเสมหะอันเปนก้อนอยูในอุทร รู้แก้นิ่วแลมุตกฤต กล่าวสังเขปคุณแห่งเทียนขาวมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๖) จะกล่าวสรรพคุณแห่งเทียนดำ มีรสอันเผ็ดร้อน ขม นั้น รู้แก้ลมแลดี รู้ทำลายเสียซึ่งเสมหะอันผูกเช่นก้อนอยู่ในอุทร แลรู้แก้โลหิตให้บริบูรณ์ กล่าวสังเขปคุณเทียนดำมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๗) จะกล่าวสรรพคุณแห่งเทียนแกลบ มีรสอันเผ็ดร้อนแหลมนั้น รู้แก้ซึ่งเสมหะแลตัวพยาธิ รู้กระจายเสียซึ่งพรรดึกอันผูก กล่าวสังเขปคุณเทียนแกลบมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๘) จะกล่าวสรรพคุณแห่งเทียนชมด รู้แก้เสมหะแลดีแลลมอันเหียนอันให้จุกอก แลลมอันปวดอยู่โดยรอยขอบสดือก็ดี กล่าวสังเขปคุณเทียนชมดมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๙) จะกล่าวสรรพคุณแห่งโกฎกะเพ่อ รู้แก้ซึ่งไข้จับแลโลหิตไอ แลโรคอันบังเกิดในปากในคอ แลแก้หอบให้เสียดแทงสีข้างทั้งสอง แลแก้ริดสีดวงแก้ดี รู้กระจายเสียซึ่งลม กล่าวสังเขปคุณโกฎกะเพ่อสิ้นเท่านี้ ๚

(๒๐) จะกล่าวสรรพคุณแห่งโกฏกุสุมภ์ รู้แก้ไข้สอึกแลไข้ไอ แก้หอบให้เสียดแทงสองราวข้าง แก้ริดสีดวง กล่าวสังเขปคุณโกฏกุสุมภ์มาสิ้นเท่านี้ ๚

(๒๑) จะกล่าวสรรพคุณโกฏกตะสินี รู้แก้ไข้จับอันประกอบไปด้วยสอึก แลแก้เสมหะ แก้หอบ แก้ลม กล่าวสังเขปคุณโกฏกตะสินีสิ้นเท่านี้ ๚

(๒๒) จะกล่าวสรรพคุณแห่งโกฏจุลาลำพา รู้แก้ไข้จับแลไข้อันพื่นพรึง เปนเหตุด้วยเสมหะแลหืดไอ แลกระทำให้เสียงเพราะ กล่าวสังเขปคุณโกฏจุลาลำพาสิ้นเท่านี้ ๚

(๒๓) จะกล่าวสรรพคุณโกฏกระดูก มีรสอันขม หวาน มัน นั้น รู้แก้เสมหะแลลมหืด กล่าวสังเขปคุณโกฏกระดูกมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๒๔) จะกล่าวสรรพคุณโกฏกักกะตรา รู้แก้ลมอันกระทำให้เหียนแลแก้ดี รู้แก้ริดสีดวงอันงอกในทวารทั้งเก้า กล่าวสังเขปคุณโกฏกักกะตรามาสิ้นเท่านี้ ๚

(๒๕) จะกล่าวสรรพคุณโกฏบัวน้อย ต้นนั้นรู้แก้ปากแห้งคอแห้ง ใบนั้นรู้แก้ไข้แลแก้ปัสสาวะให้ออกมาสดวก ดอกนั้นรู้แก้พิษงูตะขาบ แมลงป่อง ลูกนั้นรู้แก้พะอืดพะอมในอุทร แลแก้เหียนแก้ริดสีดวงในทวาร รากนั้นรู้แก้โลหิตอันกระทำให้เย็น ศีร์ษะนั้นรู้ชำระเสียซึ่งลมอันผูก กล่าวสังเขปคุณโกฏบัวน้อยมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๒๖) จะกล่าวสรรพคุณโกฏบัวใหญ่ ต้นนั้นรู้แก้กระจายซึ่งบุพโพอันผูกเปนก้อน ใบนั้นรู้ฆ่าเสียซึ่งแม่พยาธิอันบังเกิดเปนไส้ด้วนแลไส้ลามแลอุปทม ดอกนั้นรู้ดับโลหิตอันเน่าให้ตกเสีย ลูกนั้นรู้แก้ไข้ลักปิด รากนั้นรู้ประหารเสียซึ่งโลหิตแลดี ศีร์ษะนั้นรู้กระจายเสียซึ่งพิษแลอสรพิษทั้งปวง กล่าวสังเขปคุณแห่งโกฏบัวใหญ่มาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๒๗) จะกล่าวสรรพคุณลูกจันทน์ แลกานพลูนั้นมีคุณดุจกัน รู้กระจายเสียซึ่งโลหิตแลดี แลรู้แก้ไข้ลักปิด แลหืด รู้กระทำให้อาหารงวด กล่าวสังเขปคุณลูกจันทน์ กานพลู สิ้นเท่านี้ ๚

(๒๘) จะกล่าวสรรพคุณกระวาน ใบนั้นรู้แก้วาโยให้เดินลงเบื้องต่ำ แลแก้ปากคอมิสบาย แก้ไข้อันง่วงเหงา แลรู้แก้เสมหะ ลูกนั้นรู้กระจายเลือดกระจายเสมหะ แลวาโย ดอกนั้นรู้แก้โรคอันบังเกิดแต่จักษุอันเน่า เปลือกนั้นรู้แก้ไข้อันกินของแสลง กระพี้นั้นรู้ตั้งซึ่งโลหิตทั้งปวง แก่นนั้นรู้กระจายเสียซึ่งพิษทั้งปวง รากนั้นรู้ประหารเสียซึ่งโลหิตอันเน่าเปนก้อนอยู่ในอุทรนั้นให้ตกเสีย กล่าวสังเขปคุณกระวานมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๒๙) จะกล่าวสรรพคุณเร่วน้อย ต้นนั้นรู้แก้ไข้อันบังเกิดแต่ดี ใบนั้นรู้แก้ให้ปัสสาวะเดินสดวก ดอกนั้นรู้แก้ไข้อันเปนปมเปา ลูกนั้นรู้แก้ไข้ริดสีดวงไอแลเลือดแลเสมหะแลไข้นั้น อันบังเกิดแต่ดี แลริดสีดวง มุตกฤต มุตฆาฏ รากนั้นรู้แก้ หืด กล่าวสังเขปคุณเร่วน้อยมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๓๐) จะกล่าวสรรพคุณเร่วใหญ่ ลูกนั้นรู้จักแก้ไข้เสมหะอันบังเกิดแต่ดี แก้ริดสีดวงงอกทวาร แก้เหียน แก้ขัดทรวง แก้กระหายน้ำ กล่าวสังเขปคุณเร่วใหญ่ มาสิ้นเท่านี้ ๚

(๓๑) จะกล่าวสรรพคุณอบเชย รู้แก้ลมอันทพฤกษ์ แลรู้ปลุกธาตุอันดับให้เกิดให้เจริญขึ้น แลแก้เสมหะ แก้ไข้สันนิบาต กล่าวสังเขปคุณแห่งอบเชยมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๓๒) จะกล่าวสรรพคุณว่านน้ำ รู้แก้โรคอันบังเกิดแต่ทรวง แลรู้บำรุงซึ่งโลหิต แก้โรคอันหักแพลง รสนั้นพาลขม กล่าวสังเขปคุณว่านน้ำมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๓๓) จะกล่าวสรรพคุณชะเอมไทย ใบนั้นรู้แก้โลหิตให้ตกเสีย ลูกนั้นรู้แก้ให้เสมหะแห้ง ดอกนั้นรู้แก้ดีแลโลหิต เครือนั้นรู้แก้โรคในคอ รู้แก้ลม แก้ลักปิด แลให้เจริญกำลังแลรู้เจริญซึ่งอายุ รู้กระทำให้ผิวหนังนั้นผ่องใส รู้แก้จักษุโรค รู้ตั้งไว้ซึ่งโลหิตแลดีให้บริบูรณ์ รู้ทำลายเสียซึ่งเสมหะอันผูกเปนรัง แลมีรสอันหวานเย็น กล่าวสังเขปคุณชะเอมไทยสิ้นเท่านี้ ๚

(๓๔) จะกล่าวสรรพคุณชะเอมเทศ ใบนั้นรู้แก้อุปัทวะทั้งปวง แลกระทำให้เสมหะแห้งแลแก้ดี ดอกนั้นรู้แก้คันฝีดาด แลแก้พิษฝีดาด ต้นนั้นรู้กระจายเสียซึ่งลมอันพัดเบื้องบน รากนั้นรู้แก้โลหิตอันเน่าในอุทร แก้เสมหะแลลมแลรู้เจริญซึ่งอายุ กระทำให้ปัญญาบังเกิด กล่าวสังเขปคุณแห่งชะเอมเทศสิ้นเท่านี้ ๚

(๓๕) จะกล่าวสรรพคุณผักชี มีรสอันขม ฝาด หวาน รู้แก้ไข้อันบังเกิดแต่ทรวงรู้บำรุงธาตุ แก้ปากคอมิสบาย รู้แก้สอึกแก้กระหายน้ำ แก้เหียน แก้โรคอันบังเกิดแต่จักษุ กล่าวสังเขปคุณผักชีมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๓๖) จะกล่าวสรรพคุณขมิ้นชันนั้น รู้แก้ไข้อันบังเกิดแต่ดี แลชำระโรคอันบังเกิดแต่หนัง แก้ไข้อันผอมเหลือง แลแก้พิษตะเกียงนั้น รู้แก้เสมหะแลฟกบวม แลแก้บาดแผล กล่าวสังเขปคุณขมิ้นชันมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๓๗) จะกล่าวสรรพคุณขมิ้นเครือ ใบนั้นรู้แก้โลหิตเน่าให้ตกเสีย ดอกนั้นรู้แก้บิด ต้นนั้นรู้แก้กระจายลมแลแก้โรคอันบังเกิดแต่ดี แก้เสมหะ แก้ตรีโทษนั้น รากนั้นรู้ขับลมอันทพฤกษ์ให้ออกมา กล่าวสังเขปคุณขมิ้นเครือมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๓๘) จะกล่าวสรรพคุณดองดึง รู้แก้โรคทั้งปวงแลบาดแผล แก้คุธราดพยาธิแลมะเรง กล่าวสังเขปคุณดองดึงมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๓๙) จะกล่าวสรรพคุณผักโหมแดง ก็ดุจกันกับดองดึงนั้นแล ๚

(๔๐) จะกล่าวสรรพคุณลูกรัก รสนั้นขม ฝาด รู้กระทำให้อาหารงวด รู้แก้ปากคอมิสบาย แลกระทำให้ฟันมั่น แก้คุธราดริดสีดวง แลริดสีดวงทวาร รู้แก้ไส้เลื่อนในกระเพาะ กล่าวสังเขปคุณลูกรักสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๔๑) จะกล่าวสรรพคุณมหาพิงคุ์รู้แก้พรรดึึกอันผูก แลแก้อชิณโรคให้เสียดแทง รู้กระทำให้อาหารงวด รู้บำรุงธาตุแลเสมหะแลลมให้ผ่องแผ้ว มีรศอันหวาน ประกอบไปด้วยเผ็ดยิ่งนัก กล่าวสังเขปคุณมหาหิงคุ์มาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๔๒) จะกล่าวสรรพคุณการบูร รู้กระทำให้อาหารงวด รู้แก้ซึ่งโรคอันบังเกิดแต่จักษุ รู้ทำลายเสียซึ่งเสมหะ กล่าวสังเขปคุณการบูรมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๔๓) จะกล่าวสรรพคุณบัลลังก์ศิลา รู้แก้พยาธิแลฆ่าแม่พยาธิอันชื่อว่ากุฏฐัง กล่าวสังเขปคุณบัลลังก์ศิลาสิ้นเท่านี้ ๚

(๔๔) จะกล่าวสรรพคุณลิ้นทเล รู้แก้โรคอันประกอบไปด้วยแม่พยาธิ แก้มูกเลือด กล่าวสังเขปคุณลิ้นทเลสิ้นเท่านี้ ๚

(๔๕) จะกล่าวสรรพคุณชมด รู้แก้อภิญญาณโรค แก้โรคโลหิตอันกระทำให้ร้อน แก้โลหิตอันอยู่โดยรอบคอบในอุทร แลแก้โลหิตอันตีขึ้นเบื้องบน รู้ระงับธาตุอันกำเริบ รู้ตั้งซึ่งสี รู้ทำลายซึ่งลม รู้แก้ปวดแสบแลหืดไอ กล่าวสังเขปคุณชมดมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๔๖) จะกล่าวสรรพคุณพิมเสน รู้แก้โรคอันบังเกิดแต่นาสิก รู้กระจายเสียซึ่งลมทั้งปวงอันตั้งอยู่โดยรอบคอบ กล่าวคุณพิมเสนมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๔๗) จะกล่าวสรรพคุณน้ำประสานทองจีน รู้แก้ริดสีดวงอันบังเกิดแต่นาสิก แลแก้เสมหะอันผูกอยู่ในอุทร กล่าวสังเขปคุณน้ำประสานทองจีนสิ้นเท่านี้ ๚

(๔๘) จะกล่าวสรรพคุณน้ำประสานทองเทศ รู้แก้โรคอันบังเกิดในลำคอ แลแก้ลมแก้ไข้ผอมเหลือง รู้แก้ริดสีดวงสองจำพวก แก้โรคอันบังเกิดแต่จักษุ ทวาร แก้ฟกบวม แลรู้แก้ลมอันทพฤกษ์แลแก้หืด ไอ กล่าวสังเขปคุณน้ำประสานทองเทศสิ้นเท่านี้ ๚

(๔๙) จะกล่าวสรรพคุณแก่นสน มีรสอันขมเผ็ด แก่นนั้นชุ่มไปด้วยน้ำมัน รู้แก้ไข้อันบังเกิดแต่เสมหะ รู้กระจายเสียซึ่งลม กระพี้นั้นรู้แก้ไข้สันนิบาต กล่าวสังเขปคุณแห่งแก่นสนมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๕๐) จะกล่าวสรรพคุณดอกคำนั้นรู้แก้แห่งโรคอันบังเกิดแต่หนัง แลแก้อภิญญาณโรค กล่าวสังเขปซึ่งคุณแห่งดอกคำมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๕๑) จะกล่าวสรรพคุณจันทน์ขาว มีรสอันขมหวาน รู้กระทำให้เกิดปัญญาแลราษี รู้แก้ไข้อันบังเกิดแต่ตับแลดี แลแก้กระหายน้ำ กล่าวสังเขปคุณจันทน์ขาวสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๕๒) จะกล่าวสรรพคุณจันทน์แดง มีรสอันขมเย็น รู้แก้ไข้อันบังเกิดแก่ทรวงแลดี รู้กระทำให้ชื่นใจ รู้แก้ไข้ลักปิดแลบาดแผล กล่าวสังเขปคุณจันทน์แดงสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๕๓) จะกล่าวสรรพคุณเปราะหอมแดง ใบนั้นรู้แก้เกลื้อนช้าง ดอกนั้นรู้แก้โรคอันบังเกิดแต่จักษุ ต้นนั้นรู้แก้ท้องขึ้น ศีร์ษะนั้นรู้แก้บุพโพโลหิตให้ตก แลรู้แก้ซึ่งลมแลคุธราด แก้ไอแก้คอเปนผื่น แลรู้แก้พิษแก้ทรวงแลแก้บาดแผล กล่าวสังเขปคุณเปราะหอมแดงสิ้นเท่านี้ ๚

(๕๔) จะกล่าวสรรพคุณเปราะหอมขาว ใบนั้นรู้แก้คุณฝีให้ตก ดอกนั้นรู้แก้กุมารสดุ้งร้องให้แลดูหลังคา ต้นนั้นรู้แก้โลหิตอันเน่าให้ตกเสีย ศีร์ษะนั้นรู้กระจายเสียซึ่งโลหิต กล่าวสังเขปคุณเปราะหอมขาวสิ้นเท่านี้ ๚

(๕๕) จะกล่าวสรรพคุณชะลูดแดง ใบนั้นรู้กระจายเสียซึ่งโลหิต รากนั้นรู้ประหารเสียซึ่งอภิญญาณโรค แก้ไข้ลักปิดอันบังเกิดเปนเหตุแต่ดี มีรสอันเย็น กล่าวสังเขปคุณชะลูดแดงสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๕๖) จะกล่าวสรรพคุณชะลูดขาว ใบนั้นรู้แก้ไข้จับ ลูกนั้นรู้แก้ไข้อันกล้า ดอกนั้นรู้แก้ไข้อันเสียจริต แลแก้คุธราดแก้สอึกแก้ดี แก้เสมหะ แก้ไข้พิษ กล่าวสังเขปคุณชะลูดขาวมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๕๗) จะกล่าวสรรพคุณสมี ใบนั้นรู้แก้สิวในหน้า แลแก้ไข้อันบังเกิดแต่ตับ ลูกนั้นรู้ขับซึ่งเสมหะให้สำรอก ดอกนั้นรู้แก้โลหิตสัตรีอันมีครรภ์ เปลือกนั้นรู้แก้แม่พยาธิอันบุคคลเปนเกลื้อนใหญ่ กระพี้สมีนั้นรู้แก้เกลื้อนน้อย ใส้นั้นรู้แก้ให้พยาธิออกมาจากในอุทร รากนั้นรู้แก้สันนิบาต ลงโลหิตสดออกมา กล่าวสังเขปคุณสมีมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๕๘) จะกล่าวสรรพคุณตีนเป็ด ใบนั้นรู้ฆ่าแม่ขี้กลาก ดอกนั้นรู้แก้ริดสีดวงทวาร ลูกนั้นรู้แก้เกษาอันหงอก เปลือกนั้นรู้แก้นิ่ว กระพี้นั้นรู้แก้เกลื้อน แก่นนั้นรู้กระจายลมอันผูกชื่อว่าอันทพฤกษ์ รากนั้นรู้แก้เสมหะให้ตก กล่าวสังเขปคุณตีนเป็ดมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๕๙) จะกล่าวสรรพคุณท้าวยายม่อม รู้แก้เสมหะโดยเบื้องต่ำ กล่าวสังเขปคุณท้าวยายม่อมสิ้นเท่านี้ ๚

(๖๐) จะกล่าวสรรพคุณครอบทั้งสาม มีคุณดุจกัน รู้ตั้งไว้ซึ่งโลหิตแลลม ดอกนั้นรู้ชำระไส้ ใบนั้นรู้กระทำให้บุพโพไหลออกมา รากนั้นรู้แก้ลมแลดีกระทำให้ปรกติแห่งธาตุ แลรู้เจริญสุขแห่งธาตุ แก้มุตกฤต แก้ไอแก้ไข้ผอมเหลือง แลเจริญซึ่งอายุ กล่าวสังเขปคุณครอบทั้งสามสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๖๑) จะกล่าวสรรพคุณข่าใหญ่ ศีร์ษะนั้นรู้แก้รังลมให้กระจาย แลแก้ฟกบวม แก้พิษ ต้นนั้นรู้แก้บิดอันตกโลหิต ใบนั้นรู้ฆ่าตัวขี้กลาก ดอกนั้นรู้แก้เกลื้อนน้อยใหญ่ กล่าวสังเขปคุณข่าใหญ่มาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๖๒) จะกล่าวสรรพคุณข่าลิง ต้นนั้นรู้แก้พิษฝีดาดชื่อฝีทราย ใบนั้นรู้แก้เกลื้อนน้อยใหญ่ ดอกนั้นรู้แก้พยาธิในอุทรให้ออกมา รากนั้นรู้แก้พิษฝีอันชื่อว่ามาระทะ ศีร์ษะนั้นรู้แก้ไข้สำหรับบุรุษ กล่าวสังเขปคุณข่าลิงสิ้นเท่านี้ ๚

(๖๓) จะกล่าวสรรพคุณกะทือ ลำต้นนั้นรู้แก้ไข้อันกระทำให้เบื่ออาหาร ใบนั้นรู้แก้โลหิตอยู่ไฟให้ตกเสีย ดอกนั้นรู้แก้ไข้อันผอมเหลือง รากนั้นรู้แก้ไข้อันร้อนกระทำให้เย็น ศีร์ษะนั้นรู้ตั้งไว้ซึ่งน้ำนมแห่งสัตรีอันแห้งให้บริบูรณ์ขึ้น กล่าวสังเขปคุณกะทือสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๖๔) จะกล่าวสรรพคุณไพล ลำต้นนั้นรู้แก้ประกอบไขด้วยอุปัทวะ ใบนั้นรู้แก้ไข้อันเมื่อยขบ ดอกนั้นรู้แก้กระจายเสียซึ่งโลหิตอภิญญาณ รากนั้นรู้แก้โลหิตออกจากปากแลจมูก ศีร์ษะนั้นรู้แก้ขับโลหิตให้ออกมา กล่าวสังเขปคุณไพลสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๖๕) จะกล่าวสรรพคุณกะชาย มีรสอันเผ็ด ขม ร้อน รู้แก้ไข้อันบังเกิดในปาก แลแก้มุตกฤต กล่าวสังเขปคุณกะชายมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๖๖) จะกล่าวสรรพคุณหอม ใบนั้นมีรสอันหวานเค็มเลือก รู้แก้ไข้หวัดแลกระจายเสียซึ่งรังไข่อันผูกเปนเรือน แลแก้ไข้อันบังเกิดแต่แสลง ศีร์ษะนั้นมีรสอันหวานเผ็ดร้อน รู้แก้ไข้อันบังเกิดแต่ทรวง แลรู้กระทำให้เกษาดกงาม แลกระทำให้อาหารงวด รู้บำรุงธาตุ รู้แก้ไข้สันนิบาต รู้แก้ไข้อันบังเกิดแต่จักษุ รู้กระทำให้เสมหะตก รู้แก้ปากคอให้สบาย กล่าวสังเขปคุณหอมมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๖๗) จะกล่าวสรรพคุณกะเทียม ศีร์ษะนั้นรู้แก้พยาธิ แลแก้หักแพลง แก้ไข้ลักปิด แก้เสมหะ แก้ลม แก้ฟกบวม แลรู้แก้ซึ่งริดสีดวง กลาก เกลื้อน แลสอึก ใบนั้นรู้กระทำให้เสมหะแห้ง แลกระจายซึ่งโลหิต กล่างสังเขปคุณกะเทียมสิ้นเท่านี้ ๚

(๖๘) จะกล่าวสรรพคุณแห่งกุ่มบก ใบนั้นรู้แก้ลมแลรู้ฆ่าเสียซึ่งแม่พยาธิ กล่าวคือตะมอย แก้เกลื้อนอันบังเกิดขึ้นที่หน้า เปลือกนั้นมีรสอันร้อน รู้แก้ซึ่งนิ่ว แลแก้ลมอันกระทำให้เย็นในอุทร กระพี้นั้นรู้กระทำให้ขี้หูอันคันให้ออกมา แก่นนั้นรู้แก้ริดสีดวงผอมเหลือง รากนั้นรู้แก้มานลม กล่าวสังเขปคุณกุ่มบกมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๖๙) จะกล่าวสรรพคุณกุ่มน้ำ ใบนั้นรู้กระทำให้เหื่อซ่านออกมา ดอกนั้นรู้แก้เจ็บตา ลูกนั้นรู้แก้ไข้อันกระทำให้ร้อนหนาว เปลือกนั้นรู้แก้สอึก แลแก้ลมให้เรอขับขึ้นเบื้องบน กระพี้นั้นรู้แก้ริดสีดวงให้ลงเบื้องต่ำ แก่นนั้นรู้แก้นิ่ว รากนั้นรู้ทำลายเสียซึ่งบุพโพอันผูกเปนก้อน กล่าวสังเขปคุณแห่งกุ่มน้ำมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๗๐) จะกล่าวสรรพคุณคนทีสอขาว ใบนั้นรู้ตั้งดีให้ปรกติแลแก้ลม รู้แก้แม่พยาธิแลแก้สาบคายในกาย ดอกนั้นรู้แก้ไข้อันบังเกิดแต่ทรวง แลรู้แก้พยาธิ เปลือกนั้นรู้แก้ไข้อันกระทำให้เย็น กระพี้นั้นรู้แก้เหียนแลราก ไส้นั้นรู้แก้ฤดูแลรู้ตั้งซึ่งโลหิต รากนั้นรู้แก้ไข้อันกระทำให้ร้อน กล่าวสังเขปคุณคนทีสอขาวมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๗๑) จะกล่าวสรรพคุณคนทีสอดำ เปลือกนั้นรู้แก้ไข้ฟกบวม แลแก้ริดสีดวง แลรู้แก้ลมเสียดแทง แลแก้พยาธิ ใบนั้นรู้แก้เสมหะ ยางนั้นรู้แก้โลหิตแลลมให้กระจาย แลรู้ฆ่าแม่พยาธิแลคุธราดแลรู้บำรุงธาตุ รากนั้นรู้แก้ลมให้กระจายแลแก้คุณให้ตก แลรู้แก้เหื่อริดสีดวงแห้งให้ตกออกมา กล่าวสังเขปคุณคนทีสอดำสิ้นเท่านี้ ๚

(๗๒) จะกล่าวสรรพคุณรักขาวมีรดอันจืด ใบนั้นรู้แก้ริดสีดวงทวารแลคุธราด ยางนั้นรู้แก้ริดสีดวงในลำไส้ ดอกนั้นรู้แก้แม่พยาธิคือกลากแลเกลื้อน ลูกนั้นรู้แก้ซึ่งรังแค ต้นนั้นรู้ตั้งทวารทั้ง ๙ ให้บริบูรณ์ รากนั้นรู้แก้มูกเลือดแลไข้เหนือ กล่าวสังเขปคุณรักขาวมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๗๓) จะกล่าวสรรพคุณหญ้าพันงู ต้นนั้นรู้แก้ขัดเบา ใบนั้นรู้แก้โรคในลำคออันขึ้นดุจหนามบัว ดอกนั้นรู้แก้เสมหะในอุทร ลูกนั้นรู้แก้เม็ดนิ่วให้ตก รากนั้นรู้แก้เบาอันหยด กล่าวสังเขปคุณแห่งหญ้าพันงูมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๗๔) จะกล่าวสรรพคุณมะไฟเดือนห้า ต้นนั้นรู้บำรุงธาตุแลกระทำให้อาหารงวด ใบนั้นรู้แก้แม่พยาธิให้หายคือกลาก เกลื้อน เรื้อน แลฆ่าเสียซึ่งไส้เดือนในอุทร ลูกนั้นรู้กระทำให้โลหิตในอุทรนั้นให้ตกเสีย รากนั้นรู้ยังโลหิตเบื้องบนให้ตก กล่าวสังเขปคุณแห่งมะไฟเดือนห้ามาสิ้นเท่านี้ ๚

(๗๕) จะกล่าวสรรพคุณกะเม็ง ต้นนั้นรู้แก้ลมให้กระจายแลแก้โลหิตอันกระทำให้ร้อน ดอกนั้นรู้แก้ดีอันฟุ้งซ่านให้บริบูรณ์ ลูกนั้นรู้แก้ลมให้กระจาย รากนั้นรู้แก้ลมอันวิงเวียนอยู่ในอุทรให้ขึ้นเบื้องบน กล่าวสังเขปคุณกะเม็งมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๗๖) จะกล่าวสรรพคุณว่านหางช้าง ต้นนั้นรู้แก้คุณอันบุคคลกระทำด้วยหนัง ใบนั้นรู้แก้คุณอันบุคคลกระทำด้วยเนื้อ ดอกนั้นรู้แก้คุณอันบุคคลกระทำด้วยผม รากนั้นรู้แก้คุณอันบุคคลกระทำด้วยกระดูก กล่าวสังเขปคุณว่านหางช้างมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๗๗) จะกล่าวสรรพคุณทองหลางใบมน ใบนั้นรู้แก้ลม แก้ใส้เดือน แก้ริดสีดวง ดอกนั้นรู้แก้โลหิตให้ตกเสีย ลูกนั้นรู้บำรุงซึ่งดี เปลือกนั้นรู้แก้เสมหะ แก้ลม แก้นิ่วให้ออกมา กระพี้นั้นรู้แก้พิษฝีเล็ก แก่นนั้นรู้แก้ฝีมาระทะ รากนั้นรู้แก้สรรพพิษ กล่าวสังเขปคุณทองหลางใบมนมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๗๘) จะกล่าวสรรพคุณจิกแลกาหลง ทั้งสองสิ่งนี้มีคุณดุจกัน รู้แก้ปวดศีร์ษะ แลแก้โรคสัตรี รู้แก้ลักปิดแลเสมหะ กล่าวสังเขปคุณจิกแลกาหลงสิ้นเท่านี้ ๚

(๗๙) จะกล่าวสรรพคุณคัดเค้า รู้แก้เสมหะและโลหิต แลรู้แก้ไข้ รู้แก้ระมัดอุทร กล่าวสังเขปคุณคัดเค้ามาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๘๐) จะกล่าวสรรพคุณนมพิจิตร ใบนั้นรู้แก้พิษทั้งปวง ดอกนั้นรู้แก้ลมพิษ แลรู้ประทับบุพโพให้ตกแตกออกมา รากนั้นรู้แก้ลมอันกระทำให้เหียน กล่าวสังเขปคุณนมพิจิตรมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๘๑) ถ้าจะทำเกลือ ๕ ประการ คือเกลือสินเธาว์ ๑ เกลือพิก ๑ เกลือฝ่อ ๑ เกลือสมุทรี ๑ เกลือวิก ๑ เปน ๕ ประการด้วยกันดังนี้ ท่านให้เอาเกลือการ คือเกลือเรากินนี้มาตำให้เลอียด แล้วจึงเอาน้ำใส่พอควร ต้มด้วยหม้อใหม่ให้แห้ง แล้วสุมไฟแกลบให้หม้อแดง แล้วจึงเอาเกลือนั้นออกมาแบ่งเปน ๕ ส่วนก่อน ดุจกล่าวต่อไปดังนี้

ถ้าจะทำเกลือสินเธาว์ ท่านให้เอาน้ำนมโคลงกวนกับเกลือนั้น ๓ วันให้แห้งแล้ว เกลือนั้นจึงได้ชื่อว่าเกลือสินเธาว์ มีคุณรู้ทำลายเสียซึ่งพรรดึก แลรู้แก้ระส่ำระสาย แลรู้แก้ตรีโทษคือเสมหะ ลมดีนั้น กล่าวสังเขปคุณเกลือสินเธาว์มาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

ถ้าจะทำเกลือพิก ท่านให้เอาน้ำผึ้งลงกวนกับเกลือนั้น ๓ วันให้แห้งแล้ว เกลือนั้นจึงจักได้ชื่อว่าเกลือพิก มีรสอันขมเผ็ด มีคุณรู้กระทำให้เสียงดีแลให้ชื่นในลำคอ กล่าวสังเขปคุณเกลือพิกมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

ถ้าจะทำเกลือฝ่อ ท่านให้เอาน้ำนมโคแลน้ำมันงาลงกวนกับเกลือนั้น ๓ วันให้แห้งแล้ว เกลือนั้นจึงจักได้ชื่อว่าเกลือฝ่อ มีคุณรู้แก้โดยอนุโลมปติโลม แลแก้โรคอันเสียดแทง รู้บำรุงไฟธาตุ แลรู้แก้กุมารพรรดึก ตกมูกนั้น กล่าวสังเขปคุณเกลือฝ่อสิ้นเท่านี้ ๚

ถ้าจะทำเกลือสมุทรี ท่านให้เอามูตโคลงกวนกับเกลือนั้น ๓ วันให้แห้งแล้ว เกลือนั้นจึงได้ชื่อว่าเกลือสมุทรี มีรสอันหวาน มีคุณรู้กระทำให้อาหารงวด รู้แก้ระส่ำระสาย แลรู้บำรุงธาตุ รู้แก้พรรดึกแลดีแลดีเดือด รู้แก้โรคอันบังเกิดแต่ตา กล่าวสังเขปคุณเกลือสมุทรีสิ้นแต่เท่านี้ ๚

ถ้าจะทำเกลือวิก ท่านให้เอาสุราลงกวนกับเกลือนั้น ๓ วันให้แห้งแล้ว เกลือนั้นจึงจักได้ชื่อว่าเกลือวิก อันว่าเกลือวิกนี้ ยังมิได้พบสรรพคุณก่อน ๚

(๘๒) จะกล่าวสรรพคุณดอกคาง รสนั้นหวานรู้บำรุงธาตุ รู้แก้ปวดแห่งบาดแผล รู้แก้พิษงู แลแก้ฟกบวม แก้คุธราด รู้แก้ไข้อันบังเกิดแต่จักษุ รู้เจริญสุขธาตุ กล่าวสังเขปคุณดอกคางสิ้นเท่านี้ ๚

(๘๓) จะกล่าวสรรพคุณกรักขี รู้บำรุงธาตุ รู้แก้คุธราดแลโรคในฟัน รู้ประหารเสียซึ่งเสมหะและไข้พิษ กล่าวสังเขปคุณกรักขีสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๘๔) จะกล่าวสรรพคุณดอกบัวหลวง มีรสอันหวาน เผ็ด เย็น รู้กำจัดเสียซึ่งวาโย โลหิต เสมหะ กล่าวสังเขปคุณบัวหลวงสิ้นเท่านี้ ๚

(๘๕) จะกล่าวสรรพคุณดอกสัตบุษ ดอกพิกุล ดอกแกร ดอกสน แลดอกจำปาทั้ง ๕ สิ่งนี้ มีคุณดุจกันกับดอกบัวหลวง ๚

(๘๖) จะกล่าวสรรพคุณก้านบัวสัตบุษ ก้านบัวขม ทั้ง ๒ สิ่งนี้ มีคุณดุจกัน มีรสอันหวาน ฝาด เย็น รู้แก้ซึ่งโลหิตเสมหะ กล่าวสังเขปคุณก้านบัวสัตบุษ ก้านบัวขมมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๘๗) จะกล่าวสรรพคุณรากบัวหลวง รู้แก้ซึ่งเสมหะ แลรู้บำรุงเพลิงธาตุ รู้แก้ซึ่งพุพอง แลแก้ดี แก้ราก แก้กระหายน้ำ กล่าวสังเขปคุณรากบัวหลวงมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๘๘) จะกล่าวสรรพคุณตับเต่าน้ำ รู้แก้ลม แก้เสมหะแลดีเดือด แลรู้บำรุงเพลิงธาตุ กล่าวสังเขปคุณตับเต่าน้ำสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๘๙) จะกล่าวสรรพคุณพิกุล ใบนั้นรู้ฆ่าแม่พยาธิ คือไส้ด้วนแลไส้ลาม เปลือกนั้นรู้ฆ่าแม่พยาธิอันบังเกิดแต่ฟัน กระพี้นั้นรู้แก้เกลื้อนน้อย แก่นนั้นรู้บำรุงโลหิต รากนั้นรู้บำรุงลม กล่าวสังเขปคุณพิกุลสิ้นเท่านี้ ๚

(๙๐) จะกล่าวสรรพคุณบุนนาค ใบนั้นรู้ฆ่าเสียซึ่งแผลอันถูกหอกแลดาบ ดอกนั้นรู้แก้ตั้งไว้ซึ่งโลหิต แลแก้สาบในสรีรกายอันบังเกิดด้วยโทษ มีหนังอันเสีย เปลือกนั้นรู้กระจายซึ่งบุพโพ กระพี้นั้นรู้แก้เสมหะในลำคอ แก่นนั้นรู้แก้ลักปิด รากนั้นรู้แก้ลมในไส้ กล่าวสังเขปคุณบุนนาคสิ้นเท่านี้ ๚

(๙๑) จะกล่าวสรรพคุณจำปา ใบนั้นรู้แก้ไข้อภิญญาณ ดอกนั้นรู้ตั้งซึ่งโลหิตอันกระทำให้เย็น แลกระจายเสียซึ่งโลหิตอันร้อน เปลือกนั้นรู้ตั้งซึ่งเสมหะในลำคอ กระพี้นั้นรู้ทำลายเสียซึ่งไข้อันกินของแสลง แก่นนั้นรู้แก้กุฏฐัง ยางนั้นรู้แก้ริดสีดวงพลวก รากนั้นรู้กระทำซึ่งโลหิตแห้งสัตรีอันอยู่ไฟให้ตกเสีย กล่าวสังเขปคุณจำปาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๙๒) จะกล่าวสรรพคุณกรรณิกา มีรสอันหวานแลฝาด ต้นนั้นรู้แก้ปวดศีร์ษะ ใบนั้นรู้บำรุงดี ดอกนั้นรู้แก้เวียนจักษุแลไข้จับ รากนั้นรู้แก้พรรดึกอันผูกเปนก้อน รู้เจริญสุขธาตุ แลกระทำให้เกิดกำลัง รู้ประหารเสียซึ่งไข้อันบังเกิดแต่ลมแลดี แลแก้เกษาหงอก รู้กระทำให้ผิวพรรณผ่องใส กล่าวสังเขปคุณกรรณิกาสิ้นเท่านี้ ๚

(๙๓) จะกล่าวสรรพคุณดอกมลิ รู้แก้ไข้อันบังเกิดแต่เสมหะแลดี กล่าวสังเขปคุณดอกมลิสิ้นเท่านี้ ๚

(๙๔) จะกล่าวสรรพคุณแฝกหอม ต้นนั้นรู้แก้ไข้สันนิบาต ใบนั้นรู้แก้ไข้อันกระทำให้ร้อน ดอกนั้นรู้แก้ไข้โลหิตอันเน่าให้ตกเสีย รากนั้นรู้แก้ไข้อภิญญาณ แลแก้เหื่อ แก้สาบ แลรู้แก้ไข้อันบังเกิดแต่ทรวง แลรู้แก้โลหิต แก้ดี แก้ไข้พิษ แก้คุธราด กล่าวสังเขปคุณแฝกหอมสิ้นเท่านี้ ๚

(๙๕) จะกล่าวสรรพคุณเปราะป่า ต้นนั้นรู้กระจายเสียซึ่งดีแลลม ใบนั้นรู้กระทำให้ฟกบวมในท้องนั้นตกเสีย ดอกนั้นรู้แก้ไข้เหน็ดเหนื่อย รากนั้นรู้กระทำซึ่งโลหิตอันเศษให้ตกเสีย ศีร์ษะนั้นรู้แก้อันแสลง กล่าวสังเขปคุณเปราะป่ามาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๙๖) จะกล่าวสรรพคุณโหราเดือยไก่ ต้นนั้นรู้แก้คุณอันบุคคลกระทำด้วยเนื้อแลหนัง ใบนั้นรู้กระจายเสียซึ่งโลหิตอันเน่า ดอกนั้นรู้กระจายเสียซึ่งรังลมแลรังเสมหะอันผูก รากนั้นรู้ทำลายเสียซึ่งโลหิตแลลมอันผูกเปนก้อนให้ตกเสีย กล่าวสังเขปคุณโหราเดือยไก่สิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๙๗) จะกล่าวสรรพคุณกกลังกา ต้นนั้นรู้ทำลายเสียซึ่งดีอันผูก ใบนั้นรู้ฆ่าแม่พยาธิทั้งปวง ดอกนั้นรู้แก้ปากอันซีดอันเปื่อย รากนั้นรู้กระทำให้โลหิต แลไส้เลื่อนในอุทรให้ตกเสีย แลรู้บำรุงเพลิงธาตุ รู้กระทำให้อาหารแลเสมหะนั้นงวด มีรสอันเผ็ดขม กล่าวสังเขปคุณกกลังกามาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๙๘) จะกล่าวสรรพคุณสะเดาน้อย รู้แก้ริดสีดวงงอกคุธราด แลรู้แก้แผลทั้งปวงอันประกอบไปด้วยแม่พยาธิ รู้แก้รากแลเหียน แลเสมหะแลดี กล่าวคุณสะเดาน้อยมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๙๙) จะกล่าวสรรพคุณสะเดาใหญ่ มีรสอันขมฝาดเย็น รู้แก้ระมัดซึ่งท้อง รู้บำรุงธาตุ รู้กระทำให้อาหารงวด รู้แก้แม่พยาธิทั้งปวง แลรู้แก้โรคในลำคอ แลแก้โลหิตแลดี ดอกนั้นรู้แก้ริดสีดวงในลำคออันกระทำให้คนนั้นดุจหนึ่งพยาธิอันตายอยู่นั้น ลูกนั้นรู้แก้ลมแลดี เปลือกนั้นรู้แก้บิดเปนมูกเลือด กระพี้นั้นรู้แก้ดีแลแก้บ้าอันเพ้อครั่ง แก่นนั้นรู้แก้ลมอันกระทำให้เหียนราก แลลมอันผูก รากนั้นรู้แก้เสมหะอันผูกภายในแลเสมหะอันติดลำคอ กล่าวสังเขปคุณสะเดาใหญ่สิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๐๐) จะกล่าวสรรพคุณพิลังกาสา มีรสอันขม รู้แก้ไข้อันบังเกิดแต่ตับ รู้แก้โรคอันประกอบด้วยแม่พยาธิแลแก้ไข้อติสาร รู้แก้โรคสำหรับบุรุษ กล่าวสังเขปคุณพิลังกาสามาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๐๑) จะกล่าวสรรพคุณขี้เหล็ก รู้แก้มุตกฤต แลแก้นิ่ว ดอกนั้นรู้แก้โลหิต แลแก้นอนมิหลับ แก้หืดแลรังแค เปลือกนั้นรู้แก้ริดสีดวง กระพี้นั้นรู้แก้โลหิตอันกระทำให้ระส่ำระสาย แก่นนั้นรู้แก้ลมอันประกอบกระทำให้เย็นทั่วทั้งกาย แลแก้พยาธิในอุทร ไส้นั้นรู้แก้โลหิตอันขึ้นเบื้องบน แลแก้โลหิตอันกระทำให้ระส่ำระสายในอุทร แลรู้แก้โลหิตอันกระทำให้แสบในจักษุทวาร รากนั้นรู้แก้ไข้อันกระทำให้หนาว แลไข้อันผิดสำแลง กล่าวสังเขปคุณขี้เหล็กสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๐๒) จะกล่าวสรรพคุณหญ้าตีนนก รู้แก้ไข้อันกระทำให้ร้อนกระหายน้ำ เปนเพื่อดีอันแห้ง กล่าวสังเขปคุณหญ้าตีนนกมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๐๓) จะกล่าวสรรพคุณเพ็ดกะตัก รู้แก้พรรดึก แลรู้แก้ไข้อันบังเกิดแต่เสมหะแลดี รู้แก้ลมอันแน่นในทรวงให้กระจาย กล่าวสังเขปคุณเพ็ดกะตักสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๐๔) จะกล่าวสรรพคุณไข่มดต้น ใบนั้นรู้ฆ่าขี้กลาก ดอกนั้นรู้แก้ไส้เดือนให้ออกมาจากในอุทร ลูกนั้นรู้พอกฝีให้บุพโพออกเร็ว เปลือกนั้นรู้ฆ่าแมงคาเข้าหู กระพี้นั้นรู้แก้เกลื้อนช้าง แก่นนั้นรู้แก้แมขี้เรื้อน รากนั้นรู้ฆ่าแม่ขี้กลากแลรังแค กล่าวสังเขปคุณไข่มดต้นมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๐๕) จะกล่าวสรรพคุณส้มป่อย ต้นนั้นรู้แก้น้ำตาอันเสียให้ตั้ง ใบนั้นรู้แก้โรคอันบังเกิดแต่จักษุ ดอกนั้นรู้แก้เอ็นให้ติด ลูกนั้นรู้แก้ปากกุมารอันไข้ รากนั้นรู้แก้ไข้อันกระทำให้ร้อนเย็น กล่าวสังเขปคุณส้มป่อยสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๐๖) จะกล่าวสรรพคุณราชพฤกษ์ ใบนั้นรู้ฆ่าแม่พยาธิทั้งปวง ดอกนั้นรู้แก้บาดแผลทั้งปวงให้หาย ลูกนั้นรู้แก้เสมหะให้ตก เปลือกนั้นรู้แก้เนื้อแลหนังให้ตั้งมั่น กระพี้นั้นรู้แก้แม่รำมนาด แก่นนั้นรู้แก้ไส้เดือนให้ตก รากนั้นรู้ฆ่าแม่พยาธิ คือคุธราดนั้นให้ตาย แลแก้ไข้จับ มีรสอันหวาน กล่าวสังเขปคุณราชพฤกษ์สิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๐๗) จะกล่าวสรรพคุณเพ็ชสังฆาฏ รู้แก้กระดูกแตกหักแลรู้แก้ลม กล่าวสังเขปคุณเพ็ชสังฆาฏสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๐๘) จะกล่าวสรรพคุณอัญชันทั้งสอง ดอกขาวนั้นแก้พิษ ดอกเขียวนั้นรู้แก้ฟกบวมคอ กล่าวสังเขปคุณอัญชันทั้งสองสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๐๙) จะกล่าวสรรพคุณหงอนไก่ดอกกลม รากนั้นรู้แก้ไข้อันบังเกิดแต่ลมแลไข้พิษ แลรู้แก้โลหิต แลแก้ลมอันทพฤกษ์ รู้บำรุงธาตุมิให้เปนอันตราย แก้หืดแลแก้ผีเข้า รู้กระทำให้อาหารงวด รู้แก้ซึ่งเสมหะมีรสอันเผ็ดเมา กล่าวสังเขปคุณหงอนไก่ดอกกลมสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๑๐) จะกล่าวสรรพคุณตีนเป็ดน้ำ ใบนั้นรู้แก้ไข้หวัด ดอกนั้นรู้แก้โลหิต เปลือกนั้นรู้แก้ไข้เพอดี กระพี้นั้นรู้แก้ไข้อภิญญาณโลหิตให้ตกเสีย รากนั้นรู้แก้ลมให้กระจาย กล่าวสังเขปคุณแห่งตีนเป็ดน้ำมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๑๑) จะกล่าวสรรพคุณชุมเห็ดไทย รู้แก้ไข้วาโยแลเสมหะแลหืดแลคุธราด ลูกนั้นรู้แก้ฟกบวม แต่เมล็ดในนั้นมีคุณดุจกันกับผักขวง กล่าวสังเขปคุณชุมเห็ดไทยมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๑๒) จะกล่าวสรรพคุณบวบขม รู้แก้ริดสีดวงงอกแลหืดแลรู้ชำระซึ่งเสมหะ กล่าวสังเขปคุณบวบขมสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๑๓) จะกล่าวสรรพคุณผักปรังขาว ต้นนั้นรู้แก้พิษฝีดาด ใบนั้นรู้แก้ขี้กลาก ดอกนั้นรู้แก้เกลื้อนน้อยใหญ่ รากนั้นรู้แก้มือด่างตีนด่าง แก้รังแคแลแก้พิษ แลรู้เจริญปัญญาแลรู้แก้พรรดึก กล่าวสังเขปคุณผักปรังขาวมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๑๔) จะกล่าวสรรพคุณหญ้าแพรก ต้นนั้นรู้แก้คันฝีดาด ดอกนั้นรู้แก้ไข้อันร้อน ลูกนั้นรู้แก้ไข้ลักปิด รากนั้นรู้แก้พิษฝีดาดให้เย็น กล่าวสังเขปคุณหญ้าแพรกสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๑๕) จะกล่าวสรรพคุณฝาง รู้แก้เสมหะแก้ลม แก้ดี แลรู้แก้โลหิตให้งามบริบูรณ์ กล่าวสังเขปคุณฝางสิ้นเท่านี้

(๑๑๖) จะกล่าวสรรพคุณครั่ง รู้แก้ไอแก้ข้ออันหักลั่น ครั่งนี้มีคุณดุจกันกับรากสามสิบ กล่าวสังเขปคุณครั่งเท่านี้ ๚

(๑๑๗) จะกล่าวสรรพคุณรังหมาหล้านั้น ว่าดินเกิดแต่โสระประเทศก็ว่า รู้แก้ลมแลดีแก้เสมหะแก้ไอ แลรู้แก้ซึ่งไข้พิษ กล่าวสังเขปคุณรังหมาหล้าสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๑๘) จะกล่าวสรรพคุณเหล็ก รู้แก้คุธราดบอนอันแสบ แลรู้แก้ริดสีดวงงอก แลรู้แก้แผลอันประกอบไปด้วยแม่พยาธิ กล่าวสังเขปคุณเหล็กสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๑๙) จะกล่าวสรรพคุณพรมมิ ต้นนั้นรู้แก้โลหิตให้ตกเสีย แลเจริญซึ่งปัญญา ใบนั้นรู้แก้ซึ่งเสมหะ ดอกนั้นรู้แก้โลหิตอันเสียมีวรรณดังน้ำหมาก กล่าวสังเขปคุณพรมมิสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๒๐) จะกล่าวสรรพคุณเสนียด ใบนั้นรู้แก้แผลในลำคอ แลแก้คออันเปนดุจหนามบัว แลแก้แม่พยาธิในไรฟัน แลรู้ห้ามซึ่งโลหิตลักปิดให้หยุด ดอกนั้นรู้ฆ่าไส้เดือนในอุทรให้ตาย ลูกนั้นรู้แก้ซึ่งฝีเอน เปลือกนั้นรู้แก้ซึ่งริดสีดวงไอ กระพี้แลไส้นั้นรู้แก้ซึ่งดี รากนั้นรู้แก้ซึ่งเสมหะแลลม แก้ลักปิดแลไข้จับ รู้แก้คุธราดแลผอมแห้ง แลรู้กระทำให้ผิวพรรณผ่องใส กล่าวสังเขปคุณแห่งเสนียดมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๒๑) จะกล่าวสรรพคุณโคกกะออม เถานั้นรู้แก้ไข้จับ ใบนั้นรู้แก้หืด ดอกนั้นรู้แก้โลหิตในอกให้ตก ลูกนั้นรู้ดับพิษไฟ รากนั้นรู้แก้ตาต้อแลพิษงูเห่า กล่าวสังเขปคุณโคกกะออมสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๒๒) จะกล่าวสรรพคุณลูกมะตูมอ่อน รู้แก้ซึ่งวาโยโลหิตเสมหะ แลบุพโพอันเน่าในอุทรให้ตกเสีย แลรู้แก้ตรีโทษ กล่าวสังเขปคุณมะตูมอ่อนสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๒๓) จะกล่าวสรรพคุณลูกมะตูมแก่ รู้แก้ซึ่งเสมหะแลลม รู้บำรุงเพลิงธาตุ รู้กระทำให้อาหารงวด กล่าวสังเขปคุณลูกมะตูมแก่สิ้นเท่านี้ ๚

(๑๒๔) จะกล่าวสรรพคุณลูกมะตูมสุก รู้แก้ลมอันเสียดในอุทร แลรู้แก้ซึ่งมูกเลือด รู้บำรุงธาตุ รู้กระทำให้อาหารงวด รู้แก้ปากคอมิสบาย รู้แก้กระหายน้ำอนุโลมตามวาโยธาตุ กล่าวสังเขปคุณลูกมะตูมสุกมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๒๕) จะกล่าวสรรพคุณนมสวรรค์ตัวผู้ ต้นนั้นรู้แก้พิษตะขาบ ใบนั้นรู้แก้ลมในทรวงอก ดอกนั้นรู้แก้โลหิตในอุทร รากนั้นรู้แก้โลหิตอันเปนเพื่อไข้เหนือ กล่าวสังเขปคุณนมสวรรค์ตัวผู้มาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๒๖) จะกล่าวสังเขปคุณนมสวรรค์ตัวเมีย ต้นนั้นรู้แก้ฝีฝักบัว ใบนั้นรู้แก้พิษฝีดาดอันชื่อว่ามาระทะ ดอกนั้นรู้แก้พิษสัตว์ทั้งปวงแลพิษฝีกาฬ รากนั้นรู้แก้ลมให้ซ่านออกมา กล่าวสังเขปคุณนมสวรรค์ตัวเมียมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๒๗) จะกล่าวสรรพคุณผักโหมหินทั้งสอง คือผักโหมหินขาว ผักโหมหินแดง ต้นนั้นรู้แก้ลมอันผูกเปนก้อนแลลมให้เรอ ใบนั้นรู้แก้เสมหะแลดี ดอกนั้นรู้แก้โลหิตอภิญญาณให้ตั้งอยู่ รากนั้นรู้แก้ลมอันทพฤกษ์ให้ตก รู้แก้ลมอุทรวาตริดสีดวงกล้าเปนกำลัง รู้แก้ริดสีดวงงอกทวาร รู้แก้ซึ่งเสมหะ กล่าวสังเขปคุณผักโหมหินทั้งสองสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๒๘) จะกล่าวสรรพคุณรากจิงจ้อแดง รู้แก้ซึ่งเสมหะแลลม แลดี แลรู้กระทำให้อาหารงวด มีรสอันหวาน กล่าวสังเขปคุณรากจิงจ้อแดงมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๒๙) อันว่ารากจิงจ้อขาวมีรสดุจกันกับจิงจ้อแดง แต่ทว่าอ่อนกว่าแดงหน่อยหนึ่ง ๚

(๑๓๐) จะกล่าวสรรพคุณรากตองแตก มีรสอันจืด รู้แก้โรคอันบังเกิดแต่แม่พยาธิ รู้แก้ซึ่งเสมหะแลฟกบวม แลรู้ทำลายเสียซึ่งอุจจาระให้ตก กล่าวสังเขปคุณรากตองแตกมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๓๑) จะกล่าวสรรพคุณหัศคุณบก ต้นนั้นรู้แก้ลมภายในให้กระจาย ลูกนั้นรู้แก้คุณอันกระทำด้วยผมให้ตกเสีย ดอกนั้นรู้แก้เสมหะให้ตก รากนั้นรู้แก้โลหิตอันระคนด้วยบุพโพให้ตก ใบนั้นรู้แก้ซึ่งลมอันเสียดแทงยอกในข้อ แลรู้แก้ไข้อันผอมเหลือง รู้แก้หืดแลไอ กล่าวสังเขปหัศคุณบกสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๓๒) จะกล่าวสรรพคุณหัศคุณน้ำ ใบนั้นรู้แก้ลมอันผูกเข่นก้อนให้กระจาย ดอกนั้นรู้แก้แม่พยาธิทั้งปวง ลูกนั้นรู้แก้ฆ่าแม่พยาธิอันบังเกิดแต่โรคอันชื่อว่า ไส้ด้วนไส้ลาม เปลือกนั้นรู้แก้โลหิตในลำคอ แลในลำไส้ให้กระจาย กระพี้นั้นรู้แก้กระดูก แลรู้แก้โลหิตในลำไส้ รากนั้นรู้แก้ริดสีดวง กล่าวสังเขปคุณหัศคุณน้ำมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๓๓) จะกล่าวสรรพคุณสลอด ใบนั้นรู้แก้ตะมอย แลรู้แก้ซึ่งไส้ด้วนไส้ลาม ดอกนั้นรู้ฆ่าแม่พยาธิอันบังเกิดแต่กลากแลคุธราด ลูกนั้นรู้แก้ลมอันทพฤกษ์ เปลือกนั้นรู้แก้เสมหะอันค้างอยู่ในอุทร กระพี้นั้นรู้แก้เสมหะอันค้างอยู่ในลำคอ ไส้นั้นรู้แก้โรคเรื้อนแลกุฏฐัง แลรู้แก้ริดสีดวงอันผอมเหลือง กล่าวสังเขปคุณสลอดสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๓๔) จะกล่าวสรรพคุณแตงหนู ต้นนั้นรู้แก้เสมหะให้ตก ใบนั้นรู้แก้ไข้จับอันกระทำให้สท้านหนาว ดอกนั้นรู้แก้โลหิตอันเน่าให้ตก ลูกนั้นรู้แก้ไข้จับให้สท้านร้อน รากนั้นรู้แก้ขัดเบา รู้แก้ลม รู้แก้เสมหะ แลคุธราด กล่าวสังเขปคุณแตงหนูสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๓๕) จะกล่าวสรรพคุณชิงชี่ ต้นนั้นรู้แก้ฟกบวม รากนั้นรู้แก้มะเร็ง ลูกนั้นรู้แก้โรคอันบังเกิดในลำคอ รากนั้นรู้แก้อุทรโรคอันบังเกิดภายใน แลรู้แก้ลมภายในให้ซ่านออกมา กล่าวสังเขปคุณชิงชี่สิ้นเท่านี้ ๚

(๑๓๖) จะกล่าวสรรพคุณใบบรเพ็ด แลชิงช้าชาลีนั้น มีคุณดุจกัน ต้นนั้นรู้แก้พิษผดาด แลรู้แก้ไข้เหนืออันบังเกิดเพื่อโลหิต แลรู้แก้ฝีกาฬอันบังเกิดเพื่อฝีดาด แลรู้แก้ไข้ตรีโทษ รู้กระทำให้เกิดกำลัง รู้บำรุงเพลิงธาตุ แลรู้แก้ลมแลแก้กระหายน้ำอันเปนเพื่อโลหิต แลรู้แก้สอึกแก้ธาตุกำเริบ ใบนั้นรู้ฆ่าแม่พยาธิคือมะเร็ง ดอกนั้นรู้ฆ่าแม่พยาธิในอุทรให้ออกมา แลฆ่าแม่พยาธิในฟันในหูให้ออกมา ลูกนั้นรู้แก้เสมหะให้ออกมา รากนั้นรู้แก้โลหิตอันเปนเพื่อไข้เหนือให้ออกมา กล่าวสังเขปคุณบรเพ็ดชิงช้าชาลีมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๓๗) จะกล่าวสรรพคุณบรเพ็ดพุงช้าง ต้นนั้นรู้แก้ลมอันแน่นในทรวงให้กระจาย ใบนั้นรู้แก้ลมแลบำรุงเพลิงธาตุ ดอกนั้นรู้แก้แม่พยาธิอันบังเกิดแต่โรคเรื้อนกุฎฐัง ลูกนั้นรู้กระทำให้อาหารงวด น้ำนั้นรู้แก้โลหิตอันเน่าในอุทรให้ตก ศีร์ษะนั้นรู้แก้เสมหะเบื้องบนให้ปรกติ กล่าวสังเขปคุณบรเพ็ดพุงช้างมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๓๘) จะกล่าวสรรพคุณบรเพ็ดพิษ ถ้าแลบุคคลผู้ใดจะไปเอานั้นให้เข้าข้างเหนือลม ถ้าเข้าข้างใต้ลมพิษเปลือกถูกเข้าจะสลบไป ต้นนั้นรู้บำรุงผิวพรรณแห่งหนังแลเนื้อให้ผ่องใส รู้กระทำให้อาหารงวด รู้บำรุงเพลิงธาตุ ใบนั้นรู้ฆ่าแม่พยาธิทั้งปวง ดอกนั้นรู้แก้ไข้อันแสลง ลูกนั้นรู้แก้ไข้อันบังเกิดแต่ดี น้ำนั้นรู้แก้กระทำให้ชื่นใจ แลรู้แก้ลมอันฆ่าแม่พยาธิในอุทร รู้แก้สันนิบาตให้คลั่งเพื่อไข้เหนือ กล่าวสังเขปคุณบรเพ็ดพิษสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๓๙) จะกล่าวสรรพคุณผักปอดตัวผู้ รู้แก้ไข้สัตรีอันอยู่ในเรือนเพลิง ใบนั้นรู้แก้เหื่ออันบุคคลเปนท้องมานให้ตก ดอกนั้นรู้แก้ริดสีดวงอันเปนเพื่อโลหิต รากนั้นรู้แก้ไข้จับอันกระทำให้ร้อน กล่าวสังเขปคุณผักปอดตัวผู้สิ้นเท่านี้ ๚

(๑๔๐) จะกล่าวสรรพคุณผักปอดตัวเมีย ต้นนั้นรู้แก้โลหิตให้ตก ใบนั้นรู้แก้เสมหะให้ตก ดอกนั้นรู้แก้ไข้จับอันกระทำให้หนาว รากนั้นรู้แก้โลหิตแลลมให้กระจาย กล่าวสังเขปคุณผักปอดตัวเมียสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๔๑) กล่าวสรรพคุณพลูแก ต้นนั้นรู้ฆ่าแม่พยาธิภายในอันบังเกิดแต่ริดสีดวง ใบนั้นรู้ฆ่าแม่พยาธิภายนอก ดอกนั้นรู้แก้โรคอันบังเกิดแต่จักษุ รากนั้นรู้แก้โลหิตอันระคนด้วยลมให้ตก กล่าวสังเขปคุณพลูแกสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๔๒) จะกล่าวสรรพคุณเขมป่า ต้นนั้นรู้แก้ฆ่าแมงคาเข้าหูให้หาย ใบนั้นรู้ฆ่าแม่พยาธิทั้งปวง ดอกนั้นรู้แก้โรคอันบังเกิดแต่จักษุ คือตาเปียกเปนต้น ลูกนั้นรู้แก้ริดสีดวงอันบังเกิดแต่จมูก รากนั้นรู้แก้เสมหะในอุทร กล่าวสังเขปคุณเขมป่าสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๔๓) จะกล่าวสรรพคุณยาเข้าเยนโคกแดง รู้แก้พิษแสลง ใบนั้นรู้แก้ไข้เหนือ ดอกนั้นรู้แก้พิษงูเห่า ลูกนั้นรู้แก้ริดสีดวงอันงอก แลแก้ลม กล่าวสังเขปคุณยาเข้าเยนโคกแดงสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๔๔) จะกล่าวสรรพคุณยาเข้าเยนโคกขาว ต้นนั้นรู้แก้พิษงูดินมีรูปดังเฉลน ใบนั้นรู้แก้ฟกบวม ดอกนั้นรู้แก้มะเร็ง ลูกนั้นรู้แก้อุ้ง รากนั้นรู้แก้คุณฝี กล่าวสังเขปคุณยาเข้าเยนโคกขาวสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๔๕) จะกล่าวสรรพคุณผักเสี้ยนตัวผู้ คือ ผักเสี้ยนผี ต้นนั้นรู้แก้บุพโพอันผูกเปนก้อนให้ตกเสีย ใบนั้นรู้แก้ทุราวะสา ดอกนั้นรู้แก้ฆ่าให้กิมิชาติตาย ลูกนั้นรู้แก้แม่พยาธิทั้งปวงให้ตาย รากนั้นรู้แก้วรรณโรคแห่งสัตรีอันอยู่ไฟมิได้ กล่าวสังเขปคุณผักเสี้ยนผีมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๔๖) จะกล่าวสรรพคุณผักเสี้ยนตัวเมีย คือผักเสี้ยนไทย ต้นนั้นรู้แก้โลหิตอันเน่าให้ตั้งเปนปรกติ ดอกนั้นรู้แก้โลหิตแห่งสัตรีอันอยู่ในเรือนไฟ ลูกนั้นรู้ฆ่าไส้เดือนในอุทรให้ตาย กล่าวสังเขปคุณผักเสี้ยนไทยสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๔๗) จะกล่าวสรรพคุณสีฟันเครือ ต้นนั้นรู้ชำระโลหิต ใบนั้นรู้แก้ปรอด ดอกนั้นรู้แก้โลหิตอันออกมาแต่จักษุ ลูกนั้นรู้แก้พิษแห่งต่ออันต่อย รากนั้นรู้แก้วาโยแลโลหิตให้ตก กล่าวสังเขปคุณสีฟันเครือมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๔๘) จะกล่าวสรรพคุณกะเบียน ใบนั้นรู้แก้บาดแผลอันถูกหอกแลดาบ ดอกนั้นรู้ฆ่าแม่พยาธิอันบังเกิดแต่กลากแลเกลื้อน ลูกนั้นรู้แก้มะเร็งแลคุธราดโรคเรื้อนแลกุฏฐัง เปลือกนั้นรู้แก้ริดสีดวง กระพี้นั้นรู้แก้เกลื้อนใหญ่ แก่นนั้นรู้แก้เสมหะให้ตก รากนั้นรู้แก้เสมหะให้เหลวไหลให้ออกมา กล่าวสังเขปคุณกะเบียนสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๔๙) จะกล่าวสรรพคุณสลอดน้ำ ใบนั้นรู้บำรุงเนื้อหนังให้มั่น ดอกนั้นรู้แก้ริดสีดวงในจมูกแลปวดศีร์ษะ รู้แก้โรคอันบังเกิดแต่จักษุ ลูกนั้นรู้แก้ลมอันคลื่นเหียน เปลือกนั้นรู้แก้เสมหะเบื้องบน เถานั้นรู้แก้อันต้องน้ำประสาน รากนั้นรู้แก้ลมสันดาน กล่าวสังเขปคุณสลอดน้ำสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๕๐) จะกล่าวสรรพคุณระย่อม รู้แก้ไข้จับอันกระทำให้หนาว ดอกนั้นรู้แก้โรคอันบังเกิดแต่จักษุเปนเพื่อกระทำ ลูกนั้นรู้แก้โลหิตในปติสนธิให้ตั้งเปนปรกติ เปลือกนั้นรู้แก้ไข้สันนิบาตแลไข้เปนเพื่อลมพิษ กระพี้นั้นรู้แก้โรคโลหิตให้ตั้งอยู่ ไส้นั้นรู้แก้ไข้อันร้ายกาจ รากนั้นรู้แก้ลมอันทพฤกษ์ กล่าวสังเขปคุณระย่อมสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๕๑) จะกล่าวสรรพคุณเปล้าตัวผู้ ใบนั้นรู้บำรุงธาตุแลฆ่าแม่พยาธิให้ตาย ดอกนั้นรู้ฆ่าแม่พยาธิทั้งปวง ลูกนั้นรู้แก้ไข้สัตรีอันอยู่ในเรือนเพลิง แช่สุรากิน เปลือกนั้นรู้แก้เสมหะแลดี กระพี้นั้นรู้กระทำให้อาหารงวด แก่นนั้นรู้แก้ลมอันผูกเปนก้อนให้กระจาย แลแก้ลมให้ลงเบื้องต่ำ รากนั้นรู้แก้โลหิตภายในอุทรให้ตกเสีย กล่าวสังเขปคุณเปล้าตัวผู้สิ้นเท่านี้ ๚

(๑๕๒) จะกล่าวสรรพคุณเปล้าตัวเมีย ใบนั้นรู้บำรุงธาตุให้ตั้งอยู่ ดอกนั้นรู้ฆ่าแม่พยาธิ ลูกนั้นรู้แก้บุพโพโลหิตให้กระจาย เปลือกนั้นรู้กระทำให้อาหารงวด กระพี้นั้นรู้แก้โลหิตอันกระทำให้ร้อน แก่นนั้นรู้แก้บุพโพโลหิตให้ตกเสีย แลแก้ไส้เดือนในอุทรให้ตกเสีย รากนั้นรู้แก้ลมอันขึ้นเบื้องบนให้กระจายลงเบื้องต่ำ กล่าวสังเขปคุณเปล้าตัวเมียสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๕๓) จะกล่าวสรรพคุณโมกหลวง ใบนั้นรู้แก้ไส้เดือนให้ตก ลูกนั้นรู้แก้วรรณโรคแห่งสัตรีอันอยู่ในเรือนเพลิง เมล็ดในนั้นรู้แก้ไข้จับอันเปนแพื่ออติสาร แลแก้วาโยโลหิต เปลือกนั้นรู้แก้ไข้จับอันเปนเพื่ออติสารวักแลเพื่อเสมหะ เพื่อลมเพื่อดี กระพี้นั้นรู้แก้โลหิตให้ตั้งเปนปรกติ แก่นนั้นรู้ฆ่าแม่พยาธิอันบังเกิดแต่กลาก รากนั้นรู้แก้โลหิตอันร้ายให้ตกเสีย กล่าวสังเขปคุณโมกหลวงสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๕๔) จะกล่าวสรรพคุณโมกน้อย ใบนั้นรู้แก้น้ำเหลืองอันบุคคลเปนท้องมานให้ตก ดอกนั้นรู้แก้พรรดึกให้ละลาย ลูกนั้นรู้ฆ่าแม่พยาธิแห่งโรคอันบังเกิดแต่ในฟันให้ตาย เปลือกนั้นรู้ฆ่าแม่พยาธิอันบังเกิดแต่คุธราด กระพี้นั้นรู้แก้ดีให้ตั้งเปนปรกติ แก่นนั้นรู้แก้โลหิตอันระคนอยู่ในอุทรให้ตก รากนั้นรู้แก้ซึ่งลมสันดาน กล่าวสังเขปคุณโมกน้อยสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๕๕) จะกล่าวสรรพคุณรากมะตูม รู้แก้ซึ่งหืด มักให้หอบแลไอ แลรู้บำบัดซึ่งเสมหะแลดี แลรู้แก้ไข้อันกระทำให้ร้อน แลแก้อชิณโรค รู้แก้ลมอันแน่นในยอดทรวง แลลมอันเสียดยอกฝีข้างทั้งสอง แลรู้แก้ซึ่งมุตกฤตมุตฆาฎ กล่าวสังเขปคุณรากมะตูมสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๕๖) จะกล่าวสรรพคุณรากแคแกรแลรากลำใยนี้มีคุณดุจกัน รู้แก้ซึ่งเสมหะแลลม กล่าวสังเขปคุณรากแคแกรแลรากลำใยสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๕๗) จะกล่าวสรรพคุณรากเพกา รู้บำรุงเพลิงธาตุ แลรู้แก้ไข้สันนิบาต กล่าวสังเขปคุณรากเพกาสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๕๘) จะกล่าวสรรพคุณรากคัดลิ้น มีรสอันร้อนยิ่งนัก ไม่ชอบโรคอันบังเกิดแต่ดีเดือด ชอบแต่แก้เส้น กล่าวสังเขปคุณรากคัดลิ้นสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๕๙) จะกล่าวสรรพคุณประมวญกันเข้านั้น คือคุณรากมะตูม รากแคแกร รากลำใย รากเพกา รากคัดลิ้น รากไม้ ๕ สิ่งนี้จัดได้ชื่อว่าเบญจมูลใหญ่ ประสมกันเข้าต้มด้วยน้ำท่า ๓ เอา ๑ กิน ถ้าบุคคลผู้ใดได้บริโภค อาจสามารถจะบำบัดเสียได้ซึ่งเสมหะแลลมทั้งปวงให้ถึงซึ่งพินาศฉิบหาย กล่าวสังเขปคุณเบญจมูลใหญ่มาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๖๐) จะกล่าวสรรพคุณสีลออนตัวผู้ (ชลอด) ภาษารามัญนั้นเรียกว่าสีลออน ภาษาไทยมิได้รู้ว่าสิ่งอันใด ด้วยว่ายังมิได้พบสรรพคุณก่อน รู้แก้ซึ่งพรรดึกแลรู้แก้ไข้อติสาร แลรู้แก้ซึ่งเสมหะแลลม อันบังเกิดเปนเพื่อดี กล่าวสังเขปคุณสิลออนตัวผู้สิ้นเท่านี้ ๚

(๑๖๑) จะกล่าวสรรพคุณสิลออนตัวเมีย รู้แก้ไข้อันฟกบวม แลรู้แก้ซึ่งฝีเอนแลฝีคันธมาลา กล่าวสังเขปคุณสิลออนตัวเมียมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๖๒) จะกล่าวสรรพคุณกถินน้อย รู้กระทำให้เปนอายุวรรธนะ และแก้ซึ่งลมแลโรคมุตกฤต กล่าวสังเขปคุณกถินน้อยสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๖๓) จะกล่าวสรรพคุณมะแว้งเครือ รู้แก้เสมหะ ลม ไอ กล่าวสังเขปคุณมะแว้งเครือมาสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๖๔) จะกล่าวสรรพคุณมะเขือขามแพะ มีรสอันขม ฝาด เฝื่อน รู้กระทำให้อาหารงวด แลรู้บำรุงซึ่งเพลิงธาตุ กล่าวสังเขปคุณมะเขือขามแพะมาสิ้นเท่านี้ ๚

(๑๖๕) จะกล่าวสรรพคุณประมวญกันเข้า คือ สิลออนตัวผู้ สิลออนตัวเมีย กถินน้อย มะแว้งเครือ มะเขือขามแพะ รากไม้ ๕ สิ่งนี้จัดได้ชื่อว่าเบญจมูลน้อย ประสมกันเข้าต้มด้วยน้ำท่า ๓ เอา ๑ ถ้าแลบุคคลผู้ใดได้บริโภค อาจสามารถจะบำบัดเสียได้ซึ่งไข้อันบังเกิดประกอบด้วยลมแลดี ให้ถึงซึ่งพินาศฉิบหาย กล่าวสังเขปคุณเบญจมูลน้อยสิ้นแต่เท่านี้ ๚

(๑๖๖) จะกล่าวสรรพคุณประมวญกันเข้าทั้งเบญจมูลน้อยแลใหญ่ จัดได้ชื่อว่าทศมูล สรรพยา ๑๐ สิ่งนี้เขี้ยวให้ข้นแล้วจะได้บริโภค รู้แก้ลมอันประกอบด้วยเสมหะ รู้แก้ไข้อันบังเกิดแต่นอนมาก รู้แก้ไอ แก้หืด แก้หอบ รู้แก้ลมอันเสียดยอกข้างเบื้องซ้ายขวา กล่าวสังเขปคุณทศมูลสิ้นเท่านี้ ๚

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ