คำนำ
จางวางตรี พระยาแพทย์พงศา (สุ่น สุนทรเวช) จะทำการปลงศพสนองคุณหมอซุ่น สุนทรเวช ผู้บิดา พร้อมกับศพคุณหญิงพันแพทย์พงศาผู้ภรรยา แลศพนางสาวพาณีผู้เปนธิดา ปราถนาจะพิมพ์หนังสือแจกในงานศพ ๒ เรื่อง มาขอให้กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ช่วยเลือกเรื่องหนังสือในหอพระสมุดฯ ให้พิมพ์ ข้าพเจ้าชวนให้พิมพ์หนังสือลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ ๑๔ ซึ่งหอพระสมุด ฯ ได้รวบรวมฉบับไว้เรื่อง ๑ กับตำราสรรพคุณยาของพระเจ้าบรมวงศเธอชั้น ๒ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทอิกเรื่อง ๑ พระยาแพทย์พงศาเห็นชอบด้วย จึงได้จัดการพิมพ์ให้ตามประสงค์
หนังสือสรรพคุณยาที่พิมพ์นี้ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งทรงชำนาญในวิชาแพทย์ไทย จนได้บัญชาการกรมหมอหลวงตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ มาจนตลอดรัชกาลที่ ๔ นับถือกันว่าเปนหมอเอกพระองค์หนึ่งในสมัยนั้น ได้ทรงทดลองแล้วเรียบเรียงขึ้นไว้เปนตำรา เพราะฉนั้นเชื่อได้ว่าเปนตำราดีที่ใช้ได้ดีจริงในวิชาแพทย์ไทยตำรา ๑ หอพระสมุด ฯ ได้ต้นฉบับตำรานี้มาจากพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ซึ่งทรงบัญชาการกรมสาธารณศุขในบัดนี้ แต่ยังดำรงพระยศเปนกรมหมื่น กรรมการเห็นว่าเปนตำราดีจึงพิมพ์ขึ้นเปนครั้งแรกเมือเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒ ก็มีผู้นิยมกันเปนอันมาก ไม่ช้านานเท่าใดหนังสือฉบับที่พิมพ์ขึ้นครั้งแรกก็หมด ได้พิมพ์ฉบับที่ ๒ เมื่อเดือนมีนาคมใน พ.ศ. ๒๔๖๒ นั้นเองอิกครั้ง ๑ บัดนี้ก็หมดอิก ยังมีผู้มาถามหาอยู่เนือง ๆ จึงได้ชวนให้พระยาแพทย์พงศาพิมพ์อิกฉบับ ๑ เปนครั้งที่ ๓ ด้วยเห็นว่าในสมัยนี้การเล่าเรียนวิชาแพทย์เจริญรุ่งเรืองขึ้นกว่าแต่ก่อน แลมีผู้ชอบศึกษาสอบค้นเปรียบเทียบตำรายาของชาวประเทศตวันตกกับยาไทย การที่พิมพ์ตำรายาไทยที่ดี เช่นตำราสรรพคุณยาของกรมหลวงวงศาธิราชสนิทนี้ ย่อมเปนประโยชน์แก่การศึกษาวิชาแพทย์ นับว่าเปนสาธารณประโยชน์ซึ่งสมควรจะบำเพ็ญ พระยาแพทย์พงศาเห็นชอบด้วย จึงรับพิมพ์สมุดเล่มนี้
กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ ขออนุโมทนากุศลบุญราษีทักษิณานุปทาน ซึ่งพระยาแพทย์พงศา (สุ่น สุนทรเวช) ได้จัดการปลงศพสนองคุณบิดา โดยความกตัญญูกตเวที พร้อมด้วยศพคุณหญิงพันแพทย์พงศา ผู้ภรรยา กับศพนางสาวพาณี สุนทรเวช ธิดา แลได้พิมพ์หนังสือตำราสรรพคุณยา ของกรมหลวงวงศาธิราชสนิทเรื่องนี้ให้แพร่หลาย หวังใจว่าท่านทั้งหลายผู้ที่ได้รับสมุดเล่มนี้ไป คงจะอนุโมทนาด้วยทั่วกัน
สภานายก
หอพระสมุดวชิรญาณ
วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๕