|
๏ ประนมหัตถ์นมัสการขึ้นเหนือเศียร |
ต่างประทีปโกสุมปทุมเทียน |
จำนงเนียรนบบาทพระศาสดา |
อันเป็นมิ่งโมลีสี่ทวีป |
ดังประทีปส่องทั่วทุกทิศา |
ก็ล่วงลับดับไกลนัยนา |
สู่มหาห้องนิพพานสำราญรมย์ |
ฉันชื่อภู่ผู้ประดิษฐ์คิดสนอง |
ขอประคองคุณใส่ไว้เหนือผม |
ให้ประเสริฐเลิศล้ำด้วยคำคม |
โดยอารมณ์ดำริรักชักภิปราย ฯ |
๏ ขอเจริญเรื่องตำรับฉบับสอน |
ชาวประชาราษฎรสิ้นทั้งหลาย |
อันความชั่วอย่าให้มัวมีระคาย |
จะสืบสายสุริย์วงศ์เป็นมงคล |
ผู้ใดเกิดเป็นสตรีอันมีศักดิ์ |
บำรุงรักกายไว้ให้เป็นผล |
สงวนงามตามระบอบให้ชอบกล |
จึงจะพ้นภัยพาลการนินทา |
เป็นสาวแซ่แร่รวยสวยสะอาด |
ก็หมายมาดเหมือนมณีอันมีค่า |
แม้นแตกร้าวรานร่อยถอยราคา |
จะพลอยพาหอมหายจากกายนาง |
อันตัวต่ำแล้วอย่าทำให้กายสูง |
ดูเยี่ยงยูงแววยังมีที่วงหาง |
ค่อยเสงี่ยมเจียมใจจะไว้วาง |
ให้ต้องอย่างกิริยาเป็นนารี ฯ |
๏ จะนุ่งห่มดูพอสมศักดิ์สงวน |
ให้สมควรรับพักตร์ตามศักดิ์ศรี |
จะผัดหน้าทาแป้งแต่งอินทรีย์ |
ดูฉวีผิวเนื้ออย่าเหลือเกิน |
จะเก็บไรไว้ผมให้สมพักตร์ |
บำรุงศักดิ์ตามศรีมิให้เขิน |
เป็นสุภาพราบเรียบแลเจริญ |
คงมีผู้สรรเสริญอนงค์ทรง |
ใครเห็นน้องต้องนิยมชมไม่ขาด |
ว่าฉลาดแต่งร่างเหมือนอย่างหงส์ |
ถึงรูปงามทรามสงวนนวลอนงค์ |
ไม่รู้จักแต่งทรงก็เสียงาม ฯ |
๏ ประการหนึ่งซึ่งจะเดินดำเนินนาด |
ค่อยเยื้องยาตรยกย่างไปกลางสนาม |
อย่าไกวแขนสุดแขนเขาห้ามปราม |
เสงี่ยมงามสงวนไว้แต่ในที |
อย่าเดินกรายย้ายอกยกผ้าห่ม |
อย่าเสยผมกลางทางหว่างวิถี |
อย่าพูดเพ้อเจ้อไปไม่สู้ดี |
เหย้าเรือนมีกลับมาจึงหารือ |
ให้กำหนดจดจำแต่คำชอบ |
ผิดระบอบแบบกระบวนอย่าควรถือ |
อย่านุ่งผ้าพกใหญ่ใต้สะดือ |
เขาจะลือว่าเล่นไม่เห็นควร |
อย่าลืมตัวมัวเดินให้เพลินจิต |
ระวังปิดปกป้องของสงวน |
เป็นนารีที่อายหลายกระบวน |
จงสงวนศักดิ์สง่าอย่าให้อาย |
อนึ่งเนตรอย่าสังเกตให้เกินนัก |
จงรู้จักอาการประมาณหมาย |
แม้นประสบพบเหล่าเจ้าผู้ชาย |
อย่าชม้ายทำชม้อยตะบอยแล |
อันนัยน์ตาพาตัวให้มัวหมอง |
เหมือนทำนองแนะออกบอกกระแส |
จริงมิจริงเขาก็เอาไปเล่าแซ่ |
คนรังแกมันก็ว่านัยน์ตาคม ฯ |
๏ อันที่จริงหญิงกับชายย่อมหมายรัก |
มิใช่จักตัดทางที่สร้างสม |
แม้นจักรักรักไว้ในอารมณ์ |
อย่ารักชมนอกหน้าเป็นราคี |
ดังพฤกษาต้องวายุพัดโบก |
เขยื้อนโยกก็แต่กิ่งไม่ทิ้งที่ |
จงยับยั้งชั่งใจเสียให้ดี |
เหมือนจามรีรู้จักรักษากาย |
อันตัวนางเปรียบอย่างปทุเมศ |
พึ่งประเวศผุดพ้นชลสาย |
หอมผกาเกสรขจรจาย |
มิได้วายภุมรินถวิลปอง |
ครั้นได้ชมสมจิตพิศวาส |
ก็นิราศแรมจรัลผันผยอง |
ไม่อยู่เฝ้าเคล้ารสเที่ยวจดลอง |
ดูทำนองใจชายก็คล้ายกัน |
แม้นชายใดใจประสงค์มาหลงรัก |
ให้รู้จักเชิงชายที่หมายมั่น |
อันความรักของชายนี้หลายชั้น |
เขาว่ารักรักนั้นประการใด |
จงพินิจพิศดูให้รู้แน่ |
อย่าทำแต่ใจเร็วจะเหลวไหล |
เปรียบเหมือนคิดปริศนาอย่าไว้ใจ |
มันมักไพล่แพลงขุมเป็นหลุมพลาง |
อันแม่สื่ออย่าได้ถือเป็นบรรทัด |
สารพัดเขาจะพูดนี้สุดอย่าง |
แต่ล้วนดีมีบุญลูกขุนนาง |
มาอวดอ้างให้อนงค์หลงอาลัย |
อันร้ายดีมิได้เห็นเป็นแต่ว่า |
จะคาดหน้าแน่ลงที่ตรงไหน |
เหมือนเขาหลอกบอกลาภถึงเมืองไกล |
อย่าควรให้ตามคำเขารำพัน |
ทางไกลตาอุปมาเหมือนเสียเนตร |
สุดสังเกตเท็จจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
เขาจะนำไปให้ตายก็ตายพลัน |
คนทุกวันเชื่อมันยากปากมันโกง |
อันแม่สื่อคือปีศาจที่อาจหาญ |
ใครบนบานเข้าสักหน่อยก็พลอยโผง |
อย่าเชื่อนักมักตับก็คับโครง |
มันชักโยงอยากกินแต่สินบน |
อันความชั่วอยู่ที่ตัวของเราหมด |
ต้องกำสรดโศกร้างอยู่กลางหน |
จงฟังหูไว้หูกับผู้คน |
สืบยุบลเสียให้แน่อย่าแร่ไป ฯ |
๏ คิดถึงตัวหาผัวนี้หายาก |
มันชั่วมากนะอนงค์อย่าหลงใหล |
คนสูบฝิ่นกินสุราพาจัญไร |
แม้นหญิงใดร่วมห้องจะต้องจน |
มักเบียดเบียนบีฑาประดาเสีย |
เหมือนเลี้ยงเหี้ยอัปรีย์ไม่มีผล |
ไม่ทำมาหากินจนสิ้นตน |
แล้วซุกซนตีชิงเที่ยววิ่งราว |
ที่บางคนนั้นชั่วเป็นหัวไม้ |
ให้พอใจชกตีเขามี่ฉาว |
ท่านจับได้ใส่ตรวจพรวดคอยาว |
แล้วบอกข่าวโศกศัลย์ถึงภรรยา |
เขาเป็นผัวตัวเป็นเมียเสียไม่ได้ |
มีหาไม่เงินทองก็ต้องหา |
ไปเสียลดเสียหลั่นพันธนา |
ค่าฤชาก็ต้องเสียขายเมียลง |
เพราะมีผัวชั่วไปจึงได้ยาก |
แสนลำบากบอนนักอย่ามักหลง |
บ้างเล่นเบี้ยเสียถั่วมัวทะนง |
หน่อยก็ลงจำนำเขาร่ำไป |
มีข้าวของเคยผูกให้ลูกเต้า |
ก็เบียนเอาสิ้นสุดหาหยุดไม่ |
ลงชั้นว่าผ้าผ่อนท่อนสไบ |
อย่าไปไขว้เล่นไปจนโซโทรม |
ยังแต่เมียเกลี่ยไกล่ไปขายซื้อ |
คอยหารือร่วมภิรมย์เมื่อชมโฉม |
ครั้นรักผัวก็จะมัวด้วยลมโลม |
ต่อล้มโครมแล้วก็ครวญหวนถึงตัว |
จะคิดทำอย่างไรก็ใช่ที่ |
ต้องรับหนี้ยากแค้นใช้แทนผัว |
ถ้าคนผู้รู้สึกสำนึกตัว |
จะยังชั่วด้วยไม่เฉยชะเลยใจ |
จะหาคู่สู่สมภิรมย์หวัง |
จงระวังชั่วช้าอัชฌาสัย |
ที่ชายดีนั้นก็มีอยู่ถมไป |
ใช่วิสัยเขาจะชั่วไปทั่วเมือง |
แต่ใจคนมักจะรนไปหาผิด |
ครั้นได้คิดจิตตรอมออกผอมเหลือง |
ต้องเดือดดิ้นกินน้ำตาอยู่นองเนือง |
สุดจะเปลื้องราคินให้สิ้นคาว ฯ |
๏ เป็นสตรีสุดดีแต่เพียงผัว |
จะดีชั่วก็แต่ยังกำลังสาว |
ลงจนสองสามจืดไม่ยืดยาว |
จะกลับหลังอย่างสาวสิเต็มตรอง |
ถ้าคนดีมิได้ช้ำระยำยับ |
ถึงขัดสนจนทรัพย์ไม่เศร้าหมอง |
คงมีผู้ชูช่วยประคับประคอง |
เปรียบเหมือนทองธรรมดาราคามี |
ถ้าแม้นตัวชั่วช้ำระยำแล้ว |
จะปัดแผ้วถางฝืนไม่คืนที่ |
เหมือนทองแดงแฝงฝ้าเป็นราคี |
ยากจะมีผู้ประสงค์จำนงใจ |
จงรักตัวอย่าให้มัวราคีหมอง |
ถือทำนองแบบโบราณท่านขานไข |
อย่าเอาผิดมาเป็นชอบประกอบใจ |
จงอยู่ในโอวาทญาติวงศ์ |
แม้นรู้จักรักร่างเป็นอย่างยิ่ง |
จะเพริศพริ้งสมสวาทเป็นราชหงส์ |
จงกำหนดอตส่าห์รักษาทรง |
อย่าลุ่มหลงด้วยอุบายของชายพาล |
อันคำคมลมบุรุษนั้นสุดกล้า |
เขาย่อมว่ารสลิ้นนี้กินหวาน |
จงระวังตั้งมั่นในสันดาน |
อย่าลนลานหลงละเลิงด้วยเชิงชาย |
เขารักจริงให้สู่ขอกับพ่อแม่ |
อย่าวิ่งแร่หลงงามไปตามง่าย |
เขาไม่เลี้ยงไล่ขับจะอับอาย |
ต้องเป็นหม้ายอยู่กับบ้านประจานตน |
ข้างพ่อแม่ก็จะโกรธพิโรธร่ำ |
จะจองจำตีโบยออกโหยหน |
ด้วยท่านอายขายหน้าประชาชน |
ไม่รักตนเราจึงต้องมาหมองมัว |
ถ้าปะว่าแม่พ่อใจคอร้าย |
กลับซื้อขายคิดเอากับเจ้าผัว |
แม้นชายจนคนขัดพลัดเข้าตัว |
เราทำชั่วก็ต้องขายกายเราเอง |
จะขึ้งโกรธโทษผู้ใหญ่ว่าไม่รัก |
เพราะเราคิดผิดนักไม่เหมาะเหมง |
ชั้นพ่อแม่ของตัวไม่กลัวเกรง |
ใจตัวเองพาหลงไปลงตม |
ท่านเลี้ยงมาว่าจะให้เป็นหอห้อง |
หมายจะกองทุนสินกินขนม |
ครั้นลูกตัวชั่วถ่อยน้อยอารมณ์ |
จึงตรอมตรมโกรธบุตรนี้สุดใจ |
แม้นลูกดีก็จะมีศรีสง่า |
ญาติวงศ์พงศาก็ผ่องใส |
ถึงเพื่อนบ้านฐานถิ่นที่ใกล้ไกล |
ก็มีใจสรรเสริญเจริญพร ฯ |
๏ จงรักนวลสงวนงามห้ามใจไว้ |
อย่าหลงใหลจำคำที่ร่ำสอน |
คิดถึงหน้าบิดาแลมารดร |
อย่ารีบร้อนเร็วนักมักไม่ดี |
เมื่อสุกงอมหอมหวานจึงควรหล่น |
อยู่กับต้นอย่าให้พรากไปจากที่ |
อย่าชิงสุกก่อนห่ามไม่งามดี |
เมื่อบุญมีคงจะมาอย่างปรารมภ์ |
อย่าคิดเลยคู่เชยคงหาได้ |
อุตส่าห์ทำลำไพ่เก็บประสม |
อย่าเกียจคร้านการสตรีจงนิยม |
จะอุดมสินทรัพย์ไม่อับจน |
ถ้าแม้นทำสิ่งใดให้ตลอด |
อย่าทิ้งทอดเที่ยวไปไม่ได้ผล |
เขม้นขะมักรักงานการของตน |
อย่าซุกซนคบเพื่อนไพล่เชือนแช |
เมื่อเหนื่อยอ่อนนอนหลับอยู่กับบ้าน |
อย่าเที่ยวพล่านพูดผลอประจ๋อประแจ๋ |
อะไรฉาวกราวเกรียวอย่าเหลียวแล |
ฟังให้แน่เนื้อความค่อยถามกัน |
ระวังดูเรือนเหย้าแลข้าวของ |
จะบกพร่องอะไรที่ไหนนั่น |
เห็นไม่มีแล้วอย่าอ้างว่าช่างมัน |
จงผ่อนผันเก็บเล็มให้เต็มลง |
มีสลึงพึงประจบให้ครบบาท |
อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ |
จงมักน้อยกินน้อยค่อยบรรจง |
อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน |
ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ |
ให้เป็นมื้อเป็นคราวทั้งคาวหวาน |
เมื่อพ่อแม่แก่เฒ่าชรากาล |
จงเลี้ยงท่านอย่าให้อดระทดใจ |
ด้วยชนกชนนีนั้นมีคุณ |
ได้การุญเลี้ยงรักษามาจนใหญ่ |
อุ้มอุทรป้อนข้าวเป็นเท่าไร |
หมายจะได้พึ่งพาธิดาดวง |
ถ้าเราดีมีจิตคิดอุปถัมถ์ |
กุศลล้ำเลิศเท่าภูเขาหลวง |
จะปรากฏยศยิ่งสิ่งทั้งปวง |
กว่าจะล่วงลุถึงซึ่งพิมาน |
เทพไทในห้องสิบหกชั้น |
จะชวนกันสรรเสริญเจริญสาร |
ว่าสตรีนี้เป็นยอดยุพาพาล |
ได้เลี้ยงท่านชนกชนนี ฯ |
๏ ที่บางนางนั้นก็ทำทุจริต |
มิได้คิดคุณท่านเท่าเกศี |
เห็นพ่อแม่ยากไร้ไม่ไยดี |
ดูเป็นที่อายเพื่อนเบือนอารมณ์ |
เขาถามไถ่ว่ามิใช่เป็นพ่อแม่ |
ทำพูดแก้เกลื่อนกลับจะทับถม |
ให้ตามหลังบังคับด้วยคำคม |
ไม่ชื่นชมยกชูขึ้นบูชา |
คนผู้นั้นครั้นตายวายชีวาตม์ |
คงไม่คลาดแคล้วนรกตกถลา |
ไม่เห็นเดือนเห็นตะวันพระจันทรา |
ทรมาหมกไหม้ในไฟฟอน |
ถ้าอยู่ไปในมนุษยโลกเล่า |
เทพเจ้าท่านก็แช่งแสร้งสังหรณ์ |
ให้ยากยับอัปราอนาทร |
ยิ่งกว่าทำมารดรให้ร้อนใจ |
แม้นจะมีเงินทองของทั้งหลาย |
คงฉิบหายมั่นคงอย่าสงสัย |
จะเกิดโจรราวีอัคคีภัย |
เพราะว่าใจหยาบช้าคิดทารุณ |
หญิงเช่นนี้ชายอย่าได้ไปร่วมรัก |
จะเสื่อมศักดิ์เสียเช่นเป็นสถุล |
แต่พ่อแม่เจียวยังใจไม่การุญ |
เนรคุณมิได้คิดอนิจจัง |
ซึ่งสตรีที่ท่านดีอย่าดูเยี่ยง |
จงหลีกเลี่ยงเสียให้พ้นคนขี้ถัง |
แม้นร่วมรอยก็จะพลอยระยำมัง |
ดุจดังเอาทองแดงเข้าแฝงกุม ฯ |
๏ จะสอนใจไว้ทุกสิ่งเป็นหญิงสาว |
ให้พ้นคาวข่าวชั่วเข้ามั่วสุม |
ให้ผันผ่อนเหมือนหนึ่งนอนในห่วงรุม |
จงสุขุมคิดแบ่งให้เบาบาง |
อย่าทำนอกลักษณะจะเป็นโทษ |
ตัดประโยชน์พี่น้องเขาหมองหมาง |
ถึงจะรักรักให้ยืดอย่าจืดจาง |
จะไว้วางกริยาให้น่าดู |
จะพูดจาปราศรัยกับใครนั้น |
อย่าตะคั้นตะคอกให้เคืองหู |
ไม่ควรพูดอื้ออึงขึ้นมึงกู |
คนจะหลู่ล่วงลามไม่ขามใจ |
แม้นจะเรียนวิชาทางค้าขาย |
อย่าปากร้ายพูดจาอัชฌาสัย |
จึงซื้อง่ายขายดีมีกำไร |
ด้วยเขาไม่เคืองจิตระอิดระอา |
เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก |
จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา |
แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา |
จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ |
ถึงชายใดเขาพอใจมาพูดเกี้ยว |
อย่าโกรธเกรี้ยวโกรธาว่าหยาบหยาม |
เมื่อไม่ชอบก็อย่าตอบเนื้อความตาม |
มันจะลามเล่นเลยเหมือนเคยเป็น |
ถึงจะไปในพิภพให้จบทั่ว |
แต่ความชั่วอย่าให้ผู้ใดเห็น |
จงอุตส่าห์ปกปิดให้มิดเม้น |
จึงจะเป็นคนดีมีปัญญา |
เมื่อจะจรนอนเดินดำเนินนั่ง |
จงระวังในจิตขนิษฐา |
อย่าเหม่อเมินเดินให้ดีมีอาฌา |
แม้นพลั้งพลาดบาทาจะอายคน |
เห็นผู้ใหญ่ฤๅใครเขานั่งแน่น |
อย่าไกวแขนปัดเช่นไม่เห็นหน |
ค่อยวอนว่าข้าขอจรดล |
นั่นแลคนจึงจะมีปรานีนาง |
แม้นสมรจะไปนอนที่เรือนไหน |
อย่าหลับไหลลืมกายจนสายสาง |
ใครเห็นเข้าเขาจะเล่านินทานาง |
ความกระจ่างออกกระจายเพราะกายตัว |
ถ้าจะนั่งก็นั่งระวังผ้า |
ไม่อาฌาเขาจะพากันยิ้มหัว |
ยามสำรวลก็อย่าสรวลให้เมามัว |
แม้นจะหัวหัวร่อพอสบาย |
เมื่อยามยิ้มยิ้มไว้แต่ในพักตร์ |
อย่ายิ้มนักเสียสง่าพาสลาย |
อย่าท้าวแขนท้าวคางให้ห่างกาย |
อย่ากรีดกรายกรอมเพลาะเที่ยวเราะเริง |
จะแต่งตัวก็อย่ามัวแต่การแต่ง |
อย่าทาแป้งจับกระเหม่าเข้าจนเหลิง |
ใช่บ้านนอกขอกนามาแต่เยิง |
ทำเซอะเซิงเขาจะโห่วิ่งโร่ไป ฯ |
๏ เมื่อยามตรุษยามสงกรานต์มีงานหลวง |
แต่งให้งามตามกระทรวงหาว่าไม่ |
ครั้นสิ้นเขตเทศกาลทำงานไป |
อย่าร่ำไรผัดหน้าทั้งตาปี |
เมื่อไปเป็นชาววังจึงนั่งแต่ง |
แต่พอแจ้งเข้าก็จับกระจกหวี |
ด้วยสำราญการอะไรนั้นไม่มี |
จะหาคู่ดูแต่ที่เจ้าพระยา |
อยู่สถานบ้านช่องนั้นต้องคิด |
ให้รู้กิจการหญิงทุกสิ่งสา |
เพื่อมีผัวพลเรือนเหมือนกันนา |
จะได้หาเลี้ยงกันจนวันตาย |
รู้วิชาก็ให้รู้เป็นครูเขา |
จึงจะเบาแรงตนเร่งขวนขวาย |
มีข้าไทใช้สอยค่อยสบาย |
ตัวเป็นนายโง่เง่าบ่าวไม่เกรง |
การวิชาหาประดับสำหรับร่าง |
อย่าเอาอย่างหญิงโกงที่โฉงเฉง |
การมิดีที่ชั่วจงกลัวเกรง |
อย่าครืนเครงขับร้องคะนองใจ |
คิดแต่ยากแต่จนเร่งขวนขวาย |
อย่าให้กายตกยากลำบากได้ |
พออิ่มเช้าอิ่มเย็นไม่เป็นไร |
อย่าพอใจเชื่อช้ำเขาก้ำเกิน |
ค่อยเสงี่ยมเจียมตนจนเสียก่อน |
ค่อยผันผ่อนทีหลังเขาสรรเสริญ |
อย่าเป้อเย้อพกใหญ่ออกให้เกิน |
ละเมิดเมินหมิ่นนักมักจะอาย |
อย่าอวดดีมีทรัพย์เที่ยวจับแจก |
ทำเกี่ยวแฝกมุงป่าพาฉิบหาย |
ใครจะช่วยตัวเราก็เปล่าดาย |
อย่ามักง่ายเงินทองของสำคัญ |
เห็นผู้ดีมีทรัพย์ประดับแต่ง |
อย่าทำแข่งวาสนากระยาหงัน |
ของตัวน้อยก็จะถอยไปทุกวัน |
เหมือนตัดบั่นต้นทุนสูญกำไร |
จงนุ่งเจียมห่มเจียมเสงี่ยมหงิม |
อย่ากระหยิ่มยศถาอัชฌาสัย |
อย่านุ่งลายกรายกรุยทำฉุยไป |
ตัวมิใช่ชาววังไม่บังควร ฯ |
๏ อย่าคบพวกหญิงพาลสันดานชั่ว |
ที่แต่งตัวไว้จริตผิดกระสวน |
สุริย์ฉายบ่ายคล้อยเที่ยวลอยนวล |
เป็นเชิงชวนพวกเจ้าชู้เขารู้กล |
พอรุ่งเช้าเฝ้าแต่มองส่องเกศี |
ให้เวียนหวีได้วันละพันหน |
ตรงการงานแล้วขี้คร้านเป็นกังวล |
แต่งแต่ตนมิได้เว้นสักเวลา |
ครั้นได้ยินเสียงกลองมาก้องหู |
ยังไม่รู้เนื้อความเที่ยวถามหา |
วันนี้มีละครใครที่ไหนนา |
แม้นรู้ว่าเจ้ากรับเต้นหรับไป |
นั่งพินิจพิศโฉมประโลมหลง |
ดูจนปลงกรรมฐานเหงื่อกาฬไหล |
บ้างก็เห็นว่างามเลยตามไป |
ช่างกระไรหนอขนิษฐ์ไม่คิดอาย |
บ้างก็รักข้างนักเลงเล่นเครงครื้น |
เที่ยวกลางคืนคบเพื่อนเดือนหงายหงาย |
ห่มเพลาะดำทำปลอมออกกรอมกราย |
พวกผู้ชายชักพาเที่ยวร่าเริง |
ครั้นไปไปใจแตกลงแหกคอก |
ปะเตะปลอกต้ำผางวางจนเหลิง |
ควาญหมอรอไม่ติดเห็นผิดเชิง |
จะเปิดเปิงเข้าป่าไปท่าเดียว |
ใครจะห้ามปรามไว้ก็ไม่ฟัง |
ทำส่งเสียงเถียงดังให้กราดเกรี้ยว |
ถือว่าตนเปรื่องฉลาดปราชญ์ประเปรียว |
ประจบเที่ยวรู้จักทุกพักตรา |
พูดก็มากปากก็บอนแสนงอนนัก |
เห็นเขารักกันไม่ได้ใจอิจฉา |
เที่ยวรอนราญจนเพื่อนบ้านเขาระอา |
นั่งที่ไหนให้นินทาเขาเป็นแดน |
ที่ส่วนตัวถึงจะชั่วออกล้นพ้น |
สู้ปิดปากยกตนนี่สุดแสน |
ไม่ทำมาหากินจนสิ้นแกน |
ก็เลยแล่นเข้าบ่อนนอนสบาย |
หญิงเช่นนี้เห็นไม่มีเจริญแล้ว |
ให้แว่วแว่วอยู่ข้างทางฉิบหาย |
ลงสูบฝิ่นกินเหล้าอยู่เมามาย |
ไม่เสียดายอินทรีย์เท่าขี้เล็บ |
มือก็ไวใจก็กล้าหน้าก็ด้าน |
จะเอาขวานเข้าไปถากไม่อยากเจ็บ |
แต่ผ้าขาดก็ไม่ปรารถนาเย็บ |
ขี้เกียจเก็บผลัดวางไว้กลางเรือน |
อันการเหย้าแล้วไม่เอาเป็นธุระ |
คิดแต่จะเที่ยวตลบไปคบเพื่อน |
คบกันได้แต่นิสัยพวกแชเชือน |
จะคบคนพลเรือนก็เต็มที |
ชั้นจะยืมของใครเขาไม่เชื่อ |
ด้วยตัวเหลือโป้ปดสบถถี่ |
ปากก็หวานเหมือนน้ำตาลเพชรบุรี |
ข้าวของมีให้ไปมิได้คืน |
แม้นใครไปสมทบเข้าคบค้า |
จนชั้นผ้าไม่ติดตัวแต่สักผืน |
มีแต่ภัยให้ระยำทุกค่ำคืน |
ใครจะชื่นชมชิดไปคิดคบ |
หญิงไม่ดีนั้นก็มีอยู่หลายพวก |
จำจะบวกบอกใส่เสียให้จบ |
ที่คนดีจะได้ดูให้รู้ครบ |
หล่อนจะได้ไม่คบพวกคนพาล ฯ |
๏ หญิงพวกหนึ่งนั้นขันทำปั้นเจ๋อ |
เฝ้าเป้อเย้อหยิ่งเกินกับภูมิฐาน |
ไม่เจียมจนเลยว่าตนต่ำสันดาน |
เห็นที่ท่านเป็นขุนนางอ้างเข้ามา |
ล้วนคุณลุงคุณปู่อยู่ทุกแห่ง |
เที่ยวแอบแฝงพิงพาดวาสนา |
พวกผู้ดีไม่นึกตรึกเจรจา |
เป็นพี่น้องร่วมฟ้านั้นเห็นจริง |
ช่างพูดได้ไม่อายแก่ปลายลิ้น |
เป็นคนสิ้นความคิดผิดผู้หญิง |
ถึงพูดไปใครเขาจะเห็นจริง |
เขาว่าหยิ่งยกยศเหมือนมดตะนอย |
ถึงจะอวดอ้างไปที่ไหนนั่น |
เขารู้ทันอยู่ว่าเช่นเจ้าเป็นหอย |
ถ้าสันดานการผู้ดีคงมีรอย |
ไม่กล่าวถ้อยเขาก็รู้ว่าผู้ดี |
อันตัวต่ำแล้วอย่าทำให้เกินศักดิ์ |
เขาจะมักเหม็นปากเหมือนซากผี |
เปรียบเหมือนเกลือเจือปนกับชลธี |
มันก็มีแต่จะจืดไม่ยืดยาว ฯ |
๏ ที่บางคนจนยากไม่อยากทุกข์ |
ถือว่าสุขอยู่แก่ตาข้าเป็นสาว |
อุตส่าห์แต่งแป้งขมิ้นไม่สิ้นคราว |
ไม่สร้อยเศร้าสู้ตาประชาชน |
ทำไมแก่เงินทองของทั้งหลาย |
เห็นหาง่ายสารพัดไม่ขัดสน |
ถือว่ารูปกูงามไม่คร้ามจน |
ลงแต่งตนขายกินจนสิ้นดี |
สุภาษิตท่านประดิษฐ์ประดับไว้ |
ว่าผู้ใดงามพักตร์สูงศักดิ์ศรี |
ถึงเป็นองค์สุริย์วงศ์พระจักรี |
แม้นไม่มีสินทรัพย์ก็ลับไป |
ทุกวันนี้มีทรัพย์เขานับหน้า |
อย่าถือว่าตนงามตามวิสัย |
ถึงงามพักตร์เขาจะรักเจ้าเพียงไร |
เขาคาดใจเสียว่าเจ้าขี้เกียจการ ฯ |
๏ ที่บางคนเห็นที่ท่านมีทรัพย์ |
แต่งประดับผิวพรรณในสัณฐาน |
ประกอบผูกลูกสะกดสร้อยสังวาล |
แลละลานล้วนสุวรรณอันลออ |
เจ้าคนจนมันให้ร่ำจะทำบ้าง |
เอาเยี่ยงอย่างอยากได้น้ำลายสอ |
แต่ตัวจนอ้นอั้นตันในคอ |
ลงเที่ยวผลอไพล่เผลเพทุบาย |
หาทองแท้แก้ไขมันไม่คล่อง |
ต้องเอาทองเสาชิงช้าน่าใจหาย |
แต่ล้วนเนื้อสิบน้ำทองคำทวาย |
สายสร้อยสายหนึ่งก็ถึงสลึงเฟื้อง |
แพงไม่เบาเขายังกล้าอุตส่าห์ซื้อ |
ผูกข้อมือแลงามอร่ามเหลือง |
ถึงจนยากอยากบำรุงให้รุ่งเรือง |
จนทองเหลืองไม่ละจะกละงาม |
ก็สาสมกับอารมณ์ไม่เจียมศักดิ์ |
ทรลักษณ์เหลือตัวชั่วซำสาม |
ผู้ดีว่าแล้วขี้ข้าก็พลอยตาม |
ไม่มีความอายจิตสักนิดเดียว |
เขาจึงว่าหน้าสดปรากฏอยู่ |
สมแก่ผู้ที่ไม่ตรึกนึกเฉลียว |
เมื่อน้ำตื้นขืนจะพายไปฝ่ายเดียว |
ไม่ถึงเลี้ยวก็จะล่มลงจมแปลง |
เหมือนหิ่งห้อยน้อยสีหรี่หรุบรู่ |
จะแข่งสู้สุริยาอันกล้าแข็ง |
เห็นไม่ถึงดอกอย่าโกยไปโดยแรง |
เขาจะแสร้งสรวลว่าเป็นบ้ายศ ฯ |
๏ ยังมีพวกหนึ่งนั้นขยันยิ่ง |
เป็นผู้หญิงสองใจไม่กำหนด |
เที่ยวยักย้ายร่ายชมภิรมย์รส |
ใครมาจดโผจับรับตะกาง |
จะรักไหนก็ไม่รักสมัครมั่น |
เล่นประชันเชิงรองทั้งสองข้าง |
ชู้ต่อชู้รู้เรื่องเคืองระคาง |
ก็ขัดขวางหึงสาจะฆ่าฟัน |
เพราะนารีมิได้ตรงจำนงหมาย |
ทำให้ชายเคืองแค้นแสนกระสัน |
เหมือนพวกนางโมราวิลาวัณย์ |
ยื่นพระขรรค์ผัวให้กับไอ้โจร |
โอ้ใจนางอย่างนี้ก็มีมั่ง |
จนฦๅดังข่าวก้องดังกลองโขน |
เพราะนิสัยใจขนิษฐ์เล่นปลิดโยน |
จนมาโดนกันกระดากไม่อยากเชย |
ต่างคนต่างก็เชือนออกเบือนเบื่อ |
ต้องเป็นเรือขึ้นคานอยู่เฉยเฉย |
อันผัวดีที่จะได้อย่าหมายเลย |
ด้วยมากเชยหลายชู้เขารู้กล ฯ |
๏ บ้างลอบเล่นเพลงยาวเมื่อคราวขัด |
ฝีปากจัดตอบต่อข้อนุสนธิ์ |
ที่ไม่สู้รู้กลอนยังร้อนรน |
เที่ยววานคนแต่งให้พอได้การ |
บ้างก็เล่นปริศนาเที่ยวหาของ |
ให้ถูกต้องตามอารมณ์ประสมประสาน |
ครั้นห่อเสร็จส่งให้กับชายชาญ |
บอกอาการเรื่องรักประจักษ์ความ |
ครั้นคิดคิดปริศนานั้นช้าเนิ่น |
ชวนกันเดินหลีกออกนอกสนาม |
ทำดื้อด้านหาญหักไม่รักงาม |
จนเลยลามลืมบ้านสถานตน |
ชนิดนางอย่างนี้มีชุมนัก |
เป็นโรครักเกิดมารศีรษะขน |
ต้องกินยาเข้าสุราพริกไทยปน |
หมายประจญจะให้ดับที่อับอาย |
รักสนุกครั้นได้ทุกข์แล้วถอยคิด |
จะปกปิดเปลวไฟเห็นไม่หาย |
เทพเจ้าท่านไม่เข้าด้วยคนร้าย |
คงก่อกายขึ้นให้เห็นไว้เป็นตรา |
ครั้นคิดล้างอย่างไรก็ไม่สูญ |
ก็อาดูรพูนเกิดสหัสา |
ทำอย่างไรมันก็ไม่มรณา |
เป็นเวราบาปนั้นไม่บรรเทา |
ถ้ารู้ถึงพ่อแม่ต้องแก้ไข |
เอาลูกไปมุ่นหมกยกให้เขา |
แล้วหาผัวตัวประจำเป็นสำเนา |
พอปัดเป่าความอายให้หายแคลง |
ที่ชายโหดโฉดเขลาเข้าไปรับ |
มันช่างหลับตาสนิทไม่คิดแหนง |
ดังแผ่นดินสิ้นหญ้าสุธาแพลง |
มาแอบแฝงเอามันเป็นว่านเครือ |
ไม่คิดอายขายหน้านิจจาเอ๋ย |
เหมือนไม่เคยพบปะจะกละเหลือ |
ลูกของเขาเอาเป็นสิทธิ์เฝ้าชิดเชื้อ |
นึกว่าเนื้อบุญธรรมกรรมไม่มี |
เหมือนเช่นเราเขาจะให้ก็ไม่รัก |
มันขายพักตร์สารพัดจะบัดสี |
ถึงรูปร่างอย่างยุพินกินรี |
แต่เช่นนี้แล้วไม่ปองประคองเคียง |
เป็นขนิษฐ์ชอบแต่คิดให้เป็นหนึ่ง |
ไม่ควรถึงอย่าให้ถึงกับปากเสียง |
เอ่ยว่ารักแล้วให้ได้ร่วมเรียง |
เป็นคู่เคียงของตัวว่าผัวเมีย |
ท่านเปรียบมาเหมือนหนึ่งตราราชสีห์ |
ไม่พอที่เสียนวลอย่าควรเสีย |
เป็นอนงค์แล้วก็คงจะเป็นเมีย |
ย่อมมีเบี้ยปรับไหมวิสัยนาง |
ที่เกิดมาเป็นนารีไม่มีค่า |
จะเกิดมาทำไมให้หมองหมาง |
เหมือนกรวดทรายปรายเล่นไม่เว้นวาง |
จะเอาอย่างนางโมราฤๅว่าไร |
เมื่อไม่ถือตราภูมิไว้คุ้มห้าม |
คนจึงลามเลยรวนมากวนได้ |
แม้นรู้จักรักษาถือตราไว้ |
จะคุ้มภัยให้พ้นมีคนกลัว |
อย่าจับปลาสองหัตถ์จะพลัดพลาด |
จับให้คงลงให้ขาดว่าเป็นผัว |
จึงนับว่าคนดีไม่มีมัว |
ถ้าชายชั่วร้างไปมิใช่ชาย |
เป็นผู้หญิงสิ่งใดจะล้ำเลิศ |
สุดประเสริฐก็แต่ใจไม่เสื่อมสลาย |
ถึงรูปทรงนงคราญจะพานคลาย |
ก็อาจกลายส่งสวยด้วยใจงาม ฯ |
๏ บ้างมีผัวตัวอยู่เป็นคู่ชื่น |
ยังหาอื่นเข้าประคองเป็นสองสาม |
ทำรักซ้อนซ่อนสนิทปิดเนื้อความ |
จนเลยลามเป็นระฆังดังขึ้นเอง |
ครั้นรู้ความถามไถ่ก็ไม่รับ |
เขาเฆี่ยนขับตีด่าว่าข่มเหง |
พลอยประจบกลบความไปตามเพลง |
เพราะผัวเองจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน |
ทำองอาจพลาดพลั้งลงทั้งคู่ |
เขาจับได้ชายชู้ดูน่าขัน |
ไม่แปรดแปร้นแสนสลดเหมือนทศกัณฑ์ |
ต้องโศกศัลย์เศร้าใจอยู่ในตรวน |
เคยที่นอนหมอนหนุนละมุนนิ่ม |
ไปนอนทิมกรากกรำเฝ้ากำสรวล |
เล็นก็กัดหมัดก็กินจนสิ้นนวล |
แลแต่ล้วนลูกความออกหลามไป |
ครั้นเห็นชู้คู่ชมภิรมย์รื่น |
ก็ไม่ชื่นชมชิดพิสมัย |
จะพึ่งชู้ชู้ก็เพียบกรอบเกรียบใจ |
จะพึ่งผัวตัวก็ไม่เมตตาตน |
ตระลาการท่านถามเอาความชั่ว |
ข้างตัวกลัวก็บอกออกนุสนธิ์ |
เขาเฮฮาหน้าสลดต้องอดทน |
แทบจะด้นดำดินให้สิ้นอาย |
ครั้นซักไซ้ไต่ถามได้ความชัด |
จึงจำกัดศักดินาราคาขาย |
ถ้ารักชู้ก็ให้อยู่กับชู้ชาย |
มันเบื่อหน่ายขายกลับเอาทรัพย์คืน |
ก็สาสมกับอารมณ์สตรีชั่ว |
อยู่กับผัวร่วมใจว่าไม่ชื่น |
ไปคบชู้ชู้ชักหักทั้งยืน |
ต้องกล้ำกลืนชลนัยน์อาลัยวอน |
ที่ใครเห็นจะเมตตานั้นหายาก |
มีแต่ปากแช่งอนงค์ส่งสลอน |
เพราะเหตุตัวชั่วชื่อลือขจร |
ที่เคยนอนนั่งสบายว่าไม่ดี |
ครั้นลำบากยากใจสิได้คิด |
แต่มันผิดเสียถนัดต้องบัดสี |
ใช่ไม่รู้ว่าเขาห้ามความถ้อยมี |
ชั่วฤๅดีได้ยินสิ้นทุกคน |
เออก็ใจเป็นไฉนนะน้องเอ๋ย |
มันจึงเลยไหลฉ่ำดังน้ำฝน |
ช่างไม่คร้ามความชั่วติดตัวตน |
ทำซุกซนจนได้ยากลำบากกาย |
มันเสียแล้วถึงจะฝืนไม่คืนศักดิ์ |
จะลงรักทองปิดไม่มิดหาย |
อันความชั่วติดตัวกว่าจะตาย |
เปรียบเหมือนกายกามีราคีคาว |
ถึงบินออกนอกตำบลให้พ้นเขต |
คงบอกเหตุรู้ว่าใช่กาขาว |
ห้ามมันยากปากมนุษย์นี้สุดยาว |
ไม่แกล้งกล่าวค่อนว่าแก่นารี |
ผู้ใดคิดผิดพลั้งเหมือนอย่างว่า |
ถูกตำราแล้วอย่าโกรธพิโรธพี่ |
ควรยับยั้งชั่งใจเสียให้ดี |
ทำหลีกลี้เลิกเล่นไม่เป็นไร |
แม้นชั่วช้าใครเขาว่าแล้วโกรธเขา |
เช่นตัวเราผู้แต่งแถลงไข |
จะวิบัติบาปกรรมซ้ำหนักไป |
ถึงตกใต้เทวทัตเพราะขัดเคือง |
แม้คนดีมีปัญญาถ้าไม่โกรธ |
เห็นประโยชน์ตัดชั่วในตัวเปลื้อง |
ให้พ้นทุกข์สุขีเป็นศรีเมือง |
อย่าแค้นเคืองคำข้าขออภัย ฯ |
๏ เป็นสตรีมิใช่ชายเสียดายศักดิ์ |
จะปลูกรักเรรวนหาควรไม่ |
อันความดีมีอยู่ดูจำไว้ |
อย่าพอใจรักชั่วให้มัวมอม |
จะมีคู่ก็ให้รู้ปรนนิบัติ |
จงซื่อสัตย์สุจริตจิตถนอม |
อย่าคิดร้ายย้ายแยกทำแปลกปลอม |
มโนน้อมเสน่หาต่อสามี |
อย่าคบชู้สู่สมนิยมหวัง |
ไม่จิรังกาลดอกบอกโฉมศรี |
เขารักหลอกหยอกเล่นดอกเช่นนี้ |
ถ้าแม้นมีข้าวของต้องบำเรอ |
ธุระอะไรจะให้มันเสียของ |
อันเงินทองผัวสิทำสน่ำเสนอ |
เพราะเชื่อใจภรรยายิ่งกว่าเกลอ |
ควรบำเรอลูกผัวของตัวตน |
จะมีจิตพิศวาสไม่คลาดเคลื่อน |
เพราะแม่เรือนร่วมใจจึงได้ผล |
แม้นนอกจิตคิดร้ายหมายประจญ |
จะพาตนยากยับอัประมาณ |
จงกันภัยในเล่ห์เสน่หา |
อย่าให้มาปนปะจงประหาร |
เอาความสัตย์ตัดตั้งปฏิญาณ |
ถึงเกิดการยากเข็ญไม่เป็นไร |
จงซื่อต่อภัสดาสวามี |
จนชีวีศรีสวัสดิ์เจ้าตัดษัย |
อย่าให้มีราคินที่กินใจ |
อุปไมยเหมือนอนงค์องค์สีดา |
ถึงที่สุดทดลองก็ทองแท้ |
ด้วยนางแน่อยู่ในสัจอธิษฐาน์ |
หญิงเดี๋ยวนี้แม้นมีสัตยา |
ภัสดาก็ยิ่งรักขึ้นหนักครัน ฯ |
๏ แม้นเขารักแล้วอย่าดื้อทำถือจิต |
เร่งเกรงผิดกลัวภัยใหญ่มหันต์ |
คำนับนอบสามีทุกวี่วัน |
อย่าดุดันดื้อดึงตะบึงตะบอน |
ยามสิ้นแสงสุริยาอย่าไปไหน |
จุดไต้ไฟเข้าไปส่องในห้องก่อน |
ระวังดูปูปัดสลัดที่นอน |
ทั้งฟูกหมอนอย่าให้มีธุลีลง |
ถ้าแม้นว่าภัสดาเข้าไสยาสน์ |
จงกราบบาททุกครั้งอย่าพลั้งหลง |
เขาเมื่อยเหน็บเจ็บปวดในทรวงทรง |
ช่วยบรรจงนวดฟั้นให้บรรเทา |
ประพฤติกายสายสมรจะนอนหลับ |
อย่ากลิ้งกลับมือไม้ไปป่ายเขา |
นอนให้ดีมีสติสิริเรา |
อย่าซมเซาอยู่จนแจ้งแสงพยับ |
จงรีบฟื้นตื่นก่อนภัสดา |
น้ำล้างหน้าหาไว้ให้เสร็จสรรพ |
จึงหุงข้าวต้มแกงแต่งสำรับ |
จัดประดับเทียมทำให้น้ำนวล |
ทั้งกระโถนคนทีขัดสีไว้ |
ให้ผ่องใสสวยตาดูน่าบ้วน |
อีกน้ำท่าอย่าให้ผงลงไปกวน |
จงใคร่ครวญพิเคราะห์ให้เหมาะการ |
แม้นรู้ว่าสามีจะไปไหน |
แต่ยังไม่ตื่นพรากจากสถาน |
ประจงปลุกภัสดาอย่าช้านาน |
ให้ลุกขึ้นรับประทานโภชนา |
จงระวังนั่งดูอยู่ใกล้ใกล้ |
เผื่ออะไรมันขาดจะเรียกหา |
อย่าให้ต้องร้องตะโกนโพนทะนา |
จงอุตส่าห์ตั้งใจระไวระวัง |
อยู่จนผัวรับประทานอาหารแล้ว |
นางน้องแก้วเจ้าจงกินเมื่อภายหลัง |
อย่ากินก่อนภัสดาดูน่าชัง |
เขาจะรังเกียจใจดูไม่ดี ฯ |
๏ ถ้าผัวทำราชการพระผ่านเกล้า |
เคยเข้าเฝ้าสู่วังนรังศรี |
ทั้งล่วมปัดจัดแจงแต่งให้ดี |
หมากบุหรี่หาใส่ให้ไปกิน |
อุตส่าห์ทำบำเรอเสนอสนอง |
ตามทำนองมิ่งมิตรเป็นนิจศิล |
ปรนนิบัติภัสดาอย่าราคิน |
จึงจะภิญโญยศปรากฏไป ฯ |
๏ เกิดเป็นหญิงให้เห็นว่าเป็นหญิง |
อย่าทอดทิ้งกิริยาอัชฌาสัย |
เป็นหญิงครึ่งชายครึ่งอย่าพึงใจ |
ใครเขาไม่สรรเสริญเมินอารมณ์ |
แม้นผัวเดือดเจ้าจงดับระงับไว้ |
อย่าพอใจขึ้นเสียงเถียงประสม |
เขาเป็นไฟเราเป็นน้ำค่อยพรำพรม |
แม้นระดมขึ้นทั้งคู่จะวู่วาม |
อันโทโสโมโหไม่อดได้ |
ความในใจก็จะดังออกกลางสนาม |
ที่ชาวบ้านท่านไม่รู้จะรู้ความ |
อย่าทำตามใจนักมักจะเคย |
เอาใจผัวผัวจะรักเจ้าหนักหนา |
หมั่นนำพาการเรือนอย่าเชือนเฉย |
แม้นผัวทุกข์ขุกไข้ไม่เสบย |
อย่าวายเวยลามลวนให้กวนใจ |
จงแย้มสรวลชวนปลอบให้ชอบชื่น |
เห็นเริงรื่นหัทยาจึงปราศรัย |
ค่อยถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงฤทัย |
แม้นสิ่งไรเขาไม่ชื่นอย่าขืนทำ |
จะพูดจาสารพัดประหยัดปาก |
อย่าพูดมากเติมต่อซึ่งข้อขำ |
ความสิ่งไรในจิตจงปิดงำ |
อย่าควรนำแนะออกไปนอกเรือน |
การสิ่งไรที่ชั่วผัวเขาห้าม |
ประพฤติตามแบบแผนให้แม้นเหมือน |
อย่าดึงดื้อถือตนเป็นคนเชือน |
จะเอ่ยเอื้อนโอภาให้น่าฟัง ฯ |
๏ แม้นพิโรธโกรธขึ้งกับภัสดา |
อย่านินทาว่าผัวตัวลับหลัง |
พึ่งข่มขืนกลืนไว้ในอุรัง |
อุตส่าห์บังกลบเกลื่อนที่เงื่อนเงา |
จึงจะว่านารีมีความคิด |
รู้ปกปิดมิดโทษไม่โฉดเขลา |
ถึงใครรู้อยู่ว่าคมต้องชมเรา |
หนึ่งผัวเล่าเขาก็เห็นว่าเป็นดี |
การนินทาด่าผัวนี้ชั่วถ่อย |
เป็นคนน้อยปัญญาเสียราศี |
ถึงร้างหย่าหาใหม่วิสัยมี |
ชายที่ดีรู้กำพืดก็จืดไป |
บ้างทำกลัวตัวสั่นแต่ต่อหน้า |
ถึงตีด่าก็สู้นิ่งไม่ติงไหว |
ครั้นผัวเดินเกินเลยเฉยเฉียดไป |
ก็ด่าให้ไม่ดังตั้งกะซิบ |
ทำเสงี่ยมเจียมตัวผัวไม่เห็น |
ดูเหมือนเช่นปากว่าตาขยิบ |
ครั้นว่าเขาเข้าใจรู้ไหวพริบ |
ก็ต้องริบต้องร้างระคางแคลง ฯ |
๏ บางนารีที่เป็นนางใจร้ายกาจ |
หมิ่นประมาททุ่มเถียงส่งเสียงแข็ง |
สำรากก้องร้องแรกแหกกระแชง |
ตะคอกแกล้งข่มขี่ให้ผัวกลัว |
ขู่คำรนบ่นว่าด่าประชด |
ให้สามีอัปยศลงหดหัว |
ลุอำนาจไม่อาจขยาดตัว |
มัดมือผัวผูกแขวนแค่นเฆี่ยนตี |
ทรมานภัสดาน่าสังเวช |
ดูเหมือนเปรตเวทนาน่าบัดสี |
ยังมิหนำซ้ำป่าวเหล่านารี |
ที่ไม่มีภัสดาให้มาดู |
ข้างฝ่ายผัวใจดีมิได้ว่า |
นิ่งให้เมียเฆี่ยนด่าน่าอดสู |
ดูเหมือนแม่กับลูกผูกขึ้นชู |
มิได้สู้รบรับสัประยุทธ์ |
ช่างกระไรใจคอมันอดได้ |
ดูเหมือนไม่มีจิตผิดบุรุษ |
จึงยอมตัวกลัวเมียจนหัวมุด |
น้อยมนุษย์ที่จะเป็นได้เช่นนั้น |
เหมือนเช่นเราแล้วไม่ต้องให้ตีตบ |
คงสู้รบโต้เต็มให้เข้มขัน |
จะถีบถองเสียให้ยับไล่ขับกัน |
ร้างหย่ามันเสียให้ค้างอยู่กลางคัน ฯ |
๏ สุภาษิตซึ่งประดิษฐ์มาไว้นี้ |
ล้วนแต่มีเยี่ยงอย่างดังเสกสรร |
ใช่จะแกล้งแต่งคำมารำพัน |
คนทุกวันอย่างนี้มีอาเกียรณ์ |
จะร่ำไปสักเท่าไรก็ไม่หมด |
ขี้เกียจจดเหน็ดเหนื่อยเมื่อยมือเขียน |
อุตส่าห์ตรองตริตรึกนึกจำเนียร |
ตั้งความเพียรผูกข้อต่อเรื่องราว |
พอเป็นเรื่องสำหรับดับทุกข์โทษ |
เป็นประโยชน์แก่สตรีที่สวยสาว |
เป็นตำรับแบบฉบับไปยืดยาว |
ในเรื่องราวสุภาษิตลิขิตความ |
ข้อไหนชั่วแล้วอย่ามัวไปขืนทำ |
จงจดจำบุญบาปอย่าหยาบหยาม |
เก็บประกอบเอาแต่ชอบในเรื่องความ |
ประพฤติตามห้ามใจเสียให้ดี |
อย่าฟังเปล่าเอาแต่กลอนสุนทรเพราะ |
จงพิเคราะห์คำเลิศประเสริฐศรี |
ไว้เป็นแบบสอนตนพ้นราคี |
กันบัดสีคำค่อนคนนินทา |
ให้สุขีศรีเมืองเลื่องฦๅฟุ้ง |
หอมจรุงกลิ่นกลั้วทั่วทิศา |
เป็นที่ชื่นเช่นอย่างนางสีดา |
ในใต้หล้าหมายประคองตัวน้องเอย ฯ |