คำนำ

ในงานฌาปนกิจศพ นายเชื่อม เอมกมล ณ เมรุวัดท่ามะปราง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก กำหนดวันที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๖ นายสาย ตัณฑรัตน์ ผู้เป็นบุตรเขย ได้มาติดต่อกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ขออนุญาตจัดพิมพ์หนังสือ กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา และสุภาษิตสอนสตรี ของ สุนทรภู่ เพื่อแจกเป็นอนุสรณ์ในงานนี้ กรมศิลปากรยินดีอนุญาตให้จัดพิมพ์ได้ตามความประสงค์

กาพย์เรื่องพระไชยสุริยานี้ สุนทรภู่แต่งในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ เข้าใจว่าจะแต่งสำหรับเป็นแบบสอนอ่านคำเทียบให้ศิษย์ของท่านเล่าเรียนศึกษา ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่งหนังสือมูลบทบรรพกิจสำหรับใช้เป็นแบบเรียนหนังสือไทยในโรงเรียนหลวง คงเห็นว่า กาพย์เรื่องพระไชยสุริยานี้เป็นบทกวีนิพนธ์ที่ไพเราะ ทั้งอ่านเข้าใจง่ายและเป็นคติ จึงนำมาบรรจุไว้ในมูลบทบรรพกิจเป็นตอนๆ ตั้งแต่ แม่ ก กา ไปจนจบ เกย ผู้ที่เคยใช้หนังสือมูลบทบรรพกิจเป็นแบบเรียนมักจำคำกาพย์เรื่องนี้ขึ้นใจอยู่โดยมาก

ส่วนเรื่องสุภาษิตสอนสตรีนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ว่า สุนทรภู่เห็นจะแต่งเมื่อราวระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๘๐-๒๓๘๓ พิเคราะห์ตามสำนวน ดูเหมือนหนังสือเรื่องนี้สุนทรภู่จะแต่งขาย เป็นสุภาษิตสำหรับสตรีสามัญทั่วไป ความไม่บ่งว่าแต่งให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ ดังเรื่องอื่นบางเรื่องเช่น เพลงยาวถวายโอวาท และสวัสดิรักษา ต้นฉบับเดิมที่หอพระสมุดฯ ได้มาเรียกว่า สุภาษิตไทย เป็นคำสมมติของผู้อื่น ดูเหมือนผู้สมมติจะไม่รุ้ว่าเป็นกลอนของสุนทรภู่ด้วยซ้ำไป ถ้อยคำในต้นฉบับก็วิปลาสคลาดเคลื่อน ต้องซ่อมแซมในหอพระสมุดฯ หลายแห่ง แต่นับว่าแต่งดีน่าอ่าน

การที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้เช่นนี้ ก็โดยที่ทรงพิจารณาสำนวนกลอนและโวหารในสุภาษิตเรื่องนี้ประกอบกัน

กรมศิลปการขออนุโมทนาในกุศลราศีทักษิณานุปทาน ซึ่งเจ้าภาพได้จัดบำเพ็ญอุทิศแด่ นายเชื่อม เอมกมล และได้ให้พิมพ์หนังสือเล่มนี้แจกจ่ายเป็นกุศลสาธารณประโยชน์ ขออำนาจกุศลทั้งปวงนี้จงเป็นพลวปัจจัยส่งเสิรมให้ นายเชื่อม เอมกมล ผู้วายชนม์ ประสบแต่อิฏฐคุณมนุญผลตามควรแก่คติวิสัยในสุคติสัมปรายภพ สมดังมโนปณิธานของเจ้าภาพทุกประการ เทอญ.

กรมศิลปากร

๓๐ มีนาคม ๒๕๑๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ