เสภาเรื่องนิทราชาคริช
ตอนที่ ๑
หลวงพิศณุเสนีแต่ง
๏ ถวายบังคมสมเด็จบดินทร์สูรย์
พระยศอย่างปางนารายน์วายุกูล | มาเพิ่มภูลภิญโญในโลกา |
ทุกประเทศเขตรขอบมานอบน้อม | สพรั่งพร้อมเปนศุขทุกภาษา |
ขอพระเดชพระคุณกรุณา | ฝ่าลอองปกเกษกันเหตุไภย |
ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องคนแขก | เปนเรื่องแปลกครั้งนี้มีขึ้นใหม่ |
เปนลิลิตติดกับโคลงโยงกันไป | จึงได้ทราบสิ้นทุกสิ่งอัน |
เรียกว่าเรื่องนิทราชาคริช | โปรดให้คิดเกลากลอนอักษรสรร |
ทูลถวายบาทบงสุ์พระทรงธรรม์ | เรื่องอาบูหะซันเปนเสภา ๚ |
๏ ปางนั้นพระองค์ผู้ทรงเดช | เจ้าประเทศเขตรอาหรับภาษา |
ครองนิเวศน์เขตรขัณฑเสมา | ภาราแบคดัดเปนสำคัญ |
พระองค์ทรงนามปกาสิต | ฮารูนอาลราษจิตรอันเฉิดฉัน |
สถิตย์แท่นแม้นมหาเวชายันต์ | เสมอชั้นบัณฑุกัมพล์อัมรินทร์ |
สาวสุรางค์นางบำเรอเสนอบาท | บำรุงราชรู้เชิงบรรเทิงถวิล |
บ้างร้องรับขับขานประสานพิณ | บำเรอปิ่นปัถพีให้ปรีดา |
พระองค์ทรงบริสุทธิยุติธรรม์ | ผ่อนผันราชกิจทั่วทิศา |
ไม่พลิกเพลี่ยงเที่ยงธรรมกรุณา | ตรึกตราทรงดัดเปนสัตย์ธรรม์ |
ใครผิดคิดความไปตามโทษ | ทำชอบแล้วโปรดทุกสิ่งสรรพ์ |
คอยระงับดับไภยที่ใหญ่ครัน | ตัดรอนผ่อนสั้นมิให้ยาว |
แม้นจะเกิดความใดในธานินทร์ | คอยปราบปรามห้ามสิ้นมิให้ฉาว |
จึงราบเรียบเงียบอยู่ไม่กรูกราว | ทั่วด้าวแดนชนคนทั้งปวง |
ดำริห์เริ่มเติมทรัพย์ขึ้นมากหลาย | ได้สืบสายสนองเปนของหลวง |
บำรุงเมืองเรืองงามตามกระทรวง | มิให้ร่วงโรยราให้ถาวร |
ทั้งวัดวาอาวาศสาสนา | ฝูงประชาภิญโญสโมสร |
ระวังไภยทั้งในนอกนคร | พระภูธรป้องกันอันตราย |
คิดอ่านการศึกฝึกทหาร | ให้ชำนาญเหลือหลากขึ้นมากหลาย |
แม้นจะเกิดไพรีอันตราย | ค่อยอุบายผ่อนผันด้วยปัญญา |
ก็เปนศุขทุกข์ไภยนั้นไม่มี | ชาวบุรีเปนบรมศุขา |
ไม่มีเหตุเภทไภยสิ่งไรมา | ฝูงประชารักท้าวเจ้าธานี ๚ |
๏ มาจะกล่าวถึงนายวานิชนั้น | คนสำคัญสังเกตเปนเศรษฐี |
บ้านเรือนเพื่อนอยู่ในบุรี | มั่งมีค้าขายหลายกระบวน |
ภรรยาชื่อว่านางจอบแก้ว | เปนเชื้อแถวเศรษฐีมีเรือกสวน |
ได้ระเบียบเรียบร้อยไม่เรรวน | ควรเปนภรรยาท่านพานิช |
มีบุตรชายสายสวาดิฉลาดแสน | ทั้งพ่อแม่รักแม้นกับดวงจิตร |
ชัณษาสิบห้าปีมีความคิด | สมนึกวานิชที่คิดมา |
ให้ชื่ออาบูหะซันสุดสวาดิ | ต้องนิยมสมมาดปราถนา |
อยู่เย็นเปนศุขทุกเวลา | บิดามอบสมบัติเปลี่ยนผลัดตัว |
ให้อาบูหะซันนั้นเสร็จสิ้น | ทั้งฐานถิ่นมั่งคั่งดังเจ๊สัว |
ก็ค้าขายจ่ายกันอยู่พันพัว | เที่ยวทั่วทุกประเทศเขตรอาหรับ |
เลื่องชื่อฦๅดังสิ้นทั้งนั้น | อาบูหะซันเศรษฐีมั่งมีทรัพย์ |
เจรจาสิ่งใดไม่สับปลับ | คนนับถือทั่วทุกตัวคน ๚ |
๏ ครานั้นท่านวานิชผู้บิดา | ชัณษาแปดสิบไม่ขัดสน |
อยู่มาโรคาเข้าเบียนตน | บุตรบนหมอมาพยาบาล |
หมอรักษาพาซุดลงทุกวัน | ไข้นั้นถึงที่อติสาร |
แต่พิทักษ์รักษาอยู่ช้านาน | ก็ถึงกาลอาสวมรณัง ๚ |
๏ ครานั้นอาบูผู้เปนบุตร | ครั้นบิดาม้วยมุดเอาศพฝัง |
พอเสร็จการบิดาไม่รารั้ง | ก็กลับยั้งอยู่บ้านสำราญกาย |
อยู่ไปไม่นานประมาณเดือน | ทรัพย์เรานี้มีในเรือนก็มากหลาย |
คิดจะเล่นเปนศุขสนุกสบาย | แล้วซื้อจ่ายโรงร้านที่บ้านเรือน |
ตึกใหญ่ให้เช่าเหล่าตลาด | สามห้องสามบาทตลอดเหมือน |
ค่าเช่าเก็บเอาได้ทุกเดือน | ไม่ต้องเตือนได้ทั่วทุกตัวคน |
แล้วซื้อห้างสร้างสวนถ้วนทุกสิ่ง | ช่วยผู้หญิงคนเล่นได้เปนผล |
ซื้อหาค้าขายหลายตำบล | สบายตนความศุขทุกข์ไม่มี |
คิดจำหน่ายจ่ายทรัพย์เปนสามส่วน | ควรภาคหนึ่งลัภทรัพย์เศษนี่ |
ส่วนสองรองได้กำไรดี | สามที่บนศุขสนุกสบาย |
แล้วคิดจัดหัดพิณพาทย์มโหรี | เลือกดูครูดีบอกเครื่องสาย |
จัดผู้หญิงรุ่นสิบห้าล่อตาชาย | บอกก็ง่ายเนื้อลำจำได้จริง |
คนเล็กเด็กน้อยนี้ร้อยยาก | แสนลำบากแล้วครูบอกผู้หญิง |
ต้องสามชั้นปันจังหวะให้จะพริ้ง | ทั้งโทนทับกรับฉิ่งให้พร้อมกัน |
ให้หาครูผู้บอกต้นบทร้อง | เอาทำนองเพลงถนัดคิดจัดสรร |
อันครูบาหายากลำบากครัน | อาบูหะซันสั่งบ่าวให้หามา ๚ |
๏ ครานั้นบ่าวชายนายอาบู | ไม่หยุดอยู่รีบเร่งไปเที่ยวหา |
พบครูเข้าพลันไม่ทันช้า | เชิญมานั่งบ้านท่านอาบู |
พร้อมจัดหัดกันได้สันทัด | เจนจัดแล้วเล่าฟังเข้าหู |
แต่หัดมาห้าเดือนได้คิดดู | ไหว้ครูประสิทธิ์ประดิษฐเพลง |
ทั้งดีดสีตีเป่าก็เพราพริ้ง | พวกผู้หญิงทำเพราะฟังเหมาะเหมง |
ระนาดฆ้องก้องดังอยู่วังเวง | ล่อนักเลงฟังเล่นได้เย็นใจ |
ทั้งคนรำคำร้องก็พร้องเพราะ | แสนเสนาะน่าฟังกำลังไหว |
เสียงซอเสียงคนปนกันไป | ใครฟังชอบทั่วทุกตัวคน ๚ |
๏ ครานั้นอาบูผู้เจ้าของ | ฟังต้องหูชัดไม่ขัดสน |
ชอบจิตรคิดเล่นเปนทังวล | สบายตนผู้เดียวเปลี่ยววิญญา |
ไม่มีเพื่อนเตือนใจให้สนุก | เรามาศุขคนเดียวเปลี่ยวนักหนา |
จะชักชวนเพื่อนฝูงจูงกันมา | ว่าแล้วเขียนก๊าศเกลื่อนกลาดไป |
จึงสั่งบ่าวบอกรายเปนหลายแห่ง | ในก๊าศมีแจ้งไม่สงไสย |
คํ่าวันนี้มีศุขสนุกใจ | เชิญมาให้พร้อมเพรียงได้เลี้ยงกัน ๚ |
๏ ครานั้นคนใช้ที่นายสั่ง | ไม่รอรั้งรีบรี่ขมีขมัน |
ก็แยกรายหลายแห่งแบ่งปัน | ครบครันกลับมาไม่ช้าที |
พอโพล้เพล้พลบคํ่ายํ่าสนธยา | พวกที่บอกก็มาอยู่อึงมี่ |
แต่ล้วนเพื่อนเกลื่อนมาในราตรี | พร้อมที่เรือนบ้านท่านอาบู ๚ |
๏ ครานั้นอาบูผู้เจ้าบ้าน | แสนสำราญเพื่อนพร้อมมาล้อมอยู่ |
ก็ทายทักไม่ทันถึงประตู | แลดูยินดีนี่กะไร |
แล้วเชิญขึ้นนั่งยังเก้าอี้ | พร้อมที่ถ้วนหน้าแล้วปราไส |
เราเชิญท่านมาเล่นได้เย็นใจ | มิได้คิดแค้นต่อแผ่นดิน |
เราเล่นเปนตามประสาซื่อ | ถ้าอึงอื้อคนรักมักติฉิน |
มิให้ใครปนเปนมลทิน | สิ้นสนุกแล้วนอนพักผ่อนกาย |
แล้วสั่งมโหรีให้ตีพร้อม | ขับกล่อมตามเรื่องครบเครื่องสาย |
แล้วสั่งพวกเหล่าบ่าวผู้ชาย | ให้ยืนรายยกของมาเลี้ยงกัน |
แล้วชวนเพื่อนเกลื่อนพร้อมเข้าล้อมโต๊ะ | เอาซาโบะให้ก่อนคิดผ่อนผัน |
หอมแยะทั้งกระแจะน้ำมันจันทน์ | อาบูหะซันเบิกบานสำราญเริง |
แล้วชวนกันรินกินสุรา | ทั้งแป๊ะซะกบพล่าโคเถลิง |
ของทั้งหลายรายกินกันสิ้นเชิง | เมาละเลิงแล้วลุกขึ้นฟ้อนรำ |
ต่างสนุกศุขเกษมต่างเปรมปรีดิ์ | เห็นนารีพูดถากถลากถลำ |
แล้วเลยเล่นเต้นหรับจับระบำ | บ้างพูดพรํ่าพรูเลี้ยวเปนเกี้ยวพาน |
อาบูหะซันครั้นเมาให้เพราพริ้ง | เรียกผู้หญิงมารำร้องคำหวาน |
ต่างโลเลเฮฮาเปนช้านาน | ประมาณเลยสองยามด้วยตามใจ |
บ้างพูดเล่นเต้นรำเปนทำนอง | แล้วเอาของแถมพกยกมาให้ |
บ้างพูดพรํ่าลํ่าลาพากันไป | พอรุ่งแจ้งแสงใสสว่างพลัน ๚ |
๏ ครานั้นอาบูเจ้าของบ้าน | แสนสำราญปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
คบเพื่อนเชือนสนุกทุกคืนวัน | ไม่เปนอันทำมาจะหากิน |
แต่เริศร้างห่างมาก็กว่าปี | เต็มทียุบยับทั้งทรัพย์สิน |
หามีใครไปมาเปนอาจิณ | ต่างผินหน้าหนีเต็มทีลง |
เห็นว่าเรายุบยับอัประภาค | ยามยากแล้วใครไม่ประสงค์ |
ยิ่งคิดดังชีวิตรจะปลดปลง | ตรงไปหามารดาด้วยทันที ๚ |
๏ ครานั้นจอบแก้วผู้มารดา | เห็นลูกมามัวหมองไม่ผ่องศรี |
ยิ่งเศร้าสร้อยโศกศัลย์พันทวี | ลูกข้านี้ไม่ศุขทุกข์อย่างไร ๚ |
๏ ครานั้นอาบูผู้เปนบุตร | บอกสุดให้สิ้นที่สงไสย |
ด้วยลูกนี้เล่ามัวเมาไป | ใครจะเหมือนลูกนี้ไม่มีเลย |
มิวายเว้นเล่นสนุกทุกคืนวัน | ที่ค้าขายจ่ายนั้นก็เพิกเฉย |
คบเพื่อนฝูงมากอยากเสบย | เพื่อนก็เลยยอเล่นไม่เปนการ |
จนยุบยับรับยอพวกออเพื่อน | มากล่นเกลื่อนกราวไม่ร้าวฉาน |
จนหมดเรือนพวกเพื่อนไม่แผ้วพาน | เห็นแต่การสนุกจึงทุกข์ลง ๚ |
๏ ครานั้นมารดาว่ากับลูก | ทำไม่ถูกแม่เห็นเปนคนหลง |
จำหน่ายทรัพย์ยับไปไม่คืนคง | เพราะใจจงรักเพื่อนไม่เคลื่อนคลาย |
จงรฦกนึกเห็นไว้เปนตรา | ภายน่าอย่าเหิมจะฉิบหาย |
ซึ่งสมัครักเพื่อนจงเคลื่อนคลาย | พ่ออย่าหมายเลยว่าเพื่อนเตือนให้ดี |
จงคิดกลับยับยั้งฟังคำแม่ | ถ้าบุญแท้กลับเพศเปนเศรษฐี |
จงผ่อนผันปันทรัพย์ให้ลับลี้ | เหมือนที่บิดรแต่ก่อนมา |
อาบูฟังคำแม่ร่ำสอน | จะผันผ่อนเที่ยวเสาะแสวงหา |
ได้ยืมทรัพย์จับจ่ายขายสินค้า | เห็นว่าจะฟื้นมาคืนคง ๚ |
๏ จอบแก้วฟังแล้วคำลูกว่า | ไม่เห็นท่าน่าที่หวังดังประสงค์ |
แต่เขาใหญ่ไฟรํ่าเอาตํ่าลง | พ่ออย่าหลงเลยว่ามิตรจะคิดเจือ |
อันเพื่อนกินฝิ่นสุรานั้นหาง่าย | อันเพื่อนตายหายากลำบากเหลือ |
นี่มาเกณฑ์เอาพิมเสนมาแทรกเกลือ | ถ้าพ่อเบื่อเสียมั่งยังจะดี ๚ |
๏ อาบูได้ฟังคำมารดา | ว่ามานี่ถูกเปนถ้วนถี่ |
แต่นึกปองว่าจะลองดูสักที | ตามมีพวกพ้องไปลองดู |
แล้วเดินตัดลัดด้นไปคนเดียว | เที่ยวหาพวกเพื่อนก็พบอยู่ |
แจ้งคดีให้ฟังยังประตู | ว่าเราผู้ขัดสนจนเต็มที |
จะยืมทรัพย์ท่านไปพอเปนทุน | จงเกื้อหนุนเราหน่อยอย่าถอยหนี |
จะยืมไปไม่นานประมาณปี | ทรัพย์ที่เราว่าจะมาคืน ๚ |
๏ ฝ่ายเพื่อนเบือนบิดคิดไม่ให้ | ที่ได้มาว่าไม่ฝ่าฝืน |
บัดนี้ทรัพย์รับของรองซื้อปืน | คราวอื่นคงจะได้ไม่เปนไร ๚ |
๏ อาบูเห็นเพื่อนเขาเบือนแล้ว | ก็คลาศแคล้วรีบมาไม่ปราไส |
หาบ้านอื่นพลันด้วยทันใด | เพื่อนว่าป่วยไข้หลายประการ |
ลางแห่งแกล้งว่าข้าก็จน | ลางคนหลบหน้าไม่ว่าขาน |
ลางพวกก็ว่าด่าประจาน | ลางบ้านไม่ทักแต่สักคำ |
ขาดหมดไมตรีไม่มีเพื่อน | เหมือนคำมารดาที่ว่ารํ่า |
ทุกข์ไม่สิ้นเหมือนยังกินกองระกำ | ครวญครํ่าแล้วก็กลับมาบ้านพลัน |
ขึ้นบนบันไดเข้าในห้อง | เศร้าหมองแสนสุดจะโศกศัลย์ |
คิดถึงตัวช่างมาชั่วลงครามครัน | โอ้อกไม่เปนอันแล้วอาบู |
ยิ่งคิดขุ่นค่นจนทุกอย่าง | ให้หม่นหมางทรัพย์หมดแสนอดสู |
ช่างมาคิดผิดชั่วแล้วตัวกู | ไม่มีผู้ใดพึ่งให้พึงใจ |
โอ้โอ๋ครั้งนี้มิเปนคน | เพราะความจนเจียนจิตรจะเปนไข้ |
อันเพื่อนเราเผาเรือนจึงเชือนไป | จะโทษใครไยเล่าเราเปนเอง |
ตั้งแต่นี้ไปนั้นจนวันน่า | ไม่คบหามากลุ้มให้คุมเหง |
คนนครแบคแดดแผดผิดเพลง | ต้องกลัวเกรงไม่คบแล้วจบกัน |
ถ้าจะคบอย่าให้ชิดสนิทนัก | จงทายทักแต่อย่าเพ่อละเมอฝัน |
ดูให้งามอย่าให้ข้ามถึงคืนวัน | จะผ่อนผันเจือไว้ทำใจดี |
จะคบค้าหาอย่างต่างประเทศ | จงยับยั้งสังเกตอย่าเกินที่ |
ผูกสมัครักไว้เปนไมตรี | ตามมีคืนหนึ่งอย่าพึงนาน |
แล้วอาบูอยู่มาคิดค้าขาย | ค่อยสบายแบ่งทุกข์สนุกสนาน |
รวมทรัพย์นับหมื่นค่อยชื่นบาน | สำราญเปนศุขทุกราตรี |
อยากจะพบคบค้าคนมาแขก | จะให้แปลกเปลี่ยนปนคนกรุงศรี |
จะได้แจ้งแพร่งพรายที่ร้ายดี | ยังที่คนหนึ่งจึงจะควร |
ได้ตั้งสัตย์ปัฏิญาณสาบาลตน | เปนสองคนอย่าสนิทให้ผิดผวน |
ที่คิดไว้ให้งามตามกระบวน | จะได้ชวนคนหนึ่งจึงจะดี |
คนไกลไปมาเที่ยวหาเพื่อน | เชิญขึ้นเรือนยับยั้งให้นั่งที่ |
เลี้ยงเหล้าเข้าปลาแล้วพาที | ไม่ทันข้ามราตรีแล้วลาไป |
แต่ทำเช่นนั้นมาเปนช้านาน | ค่อยเบิกบานวัฒนาอัชฌาไศรย |
ที่ทุกข์ถอยค่อยคลายสบายใจ | จนได้ปีกว่ามาช้านาน ๚ |
๏ จะกล่าวถึงพระองค์ดำรงราษฎร์ | กาหลิบนารถนาถามหาสถาน |
พระองค์ตรึกนึกตรองราชการ | ประมาณหลายปีทุกทิวา |
ครั้นบ่ายเคยเสด็จไปเปนไปรเวต | สดับเหตุหลายอย่างต่างภาษา |
ตามประเทศเขตรไกลที่ไปมา | จะพูดจาแพร่งพรายร้ายแลดี |
พิเคราะห์พลางไปทางถนนหลวง | ตามกระทรวงทั่วเขตรบ้านเศรษฐี |
เมื่อวันหนึ่งบ่ายพลันลงทันที | พระภูมีสระสรงคงคาไลย |
แต่งพระกายกลายเพศเปนเศรษฐี | ตามที่อัธยาอัชฌาไศรย |
เหน็บกฤชอิศลามงามลไม | สั่งให้คนสนิทติดตามมา |
ฝ่ายตนคนใช้ได้รับสั่ง | เพื่อนนี้มีกำลังดังยักษา |
รูปร่างกำยำกายา | มังษาดำหมึกพิฦกตน |
หนวดเครายุ่งเหยิงเหมือนเซิงฟัก | คึกคักทั้งตัวหัวเปนขน |
มีกำลังวังชามากกว่าคน | เคยผจญข้าศึกไม่นึกกลัว |
รับสั่งแล้วน้อมกายถวายคำนับ | คอยขยับตามติดทุกทิศทั่ว |
เปนทหารบานใจดังใบบัว | พันพัวตามติดประชิดมา |
แล้วเสด็จตามท้องถนนหลวง | ชนทั้งปวงไม่รู้จักไม่ทักหา |
เดินพลางทางฟังคนพูดจา | ไม่ช้าถึงบ้านอาบูหะซัน ๚ |
๏ ครานั้นอาบูอยู่ที่บ้าน | คิดอ่านจับจ่ายขายของนั่น |
ถึงเวลาล่วงเย็นเปนสำคัญ | จรจรัลออกมาน่าประตู |
เห็นพ่อค้าวานิชผิดสังเกต | ภักตร์เพศบริสุทธิ์ก็หยุดอยู่ |
ไม่เคยเห็นเปนไฉนจะใคร่รู้ | แลดูแล้วสลามด้วยความรัก |
ขอเชิญท่านเข้าบ้านขึ้นบนเรือน | เหมือนคนเศรษฐีย่อมมีศักดิ์ |
อย่าให้เสียความที่ถามทัก | หยุดพักสักหน่อยจึงค่อยไป |
เรานี้มีจิตรคิดที่ตรง | จะประสงค์ความซื่อไม่สาไถย |
จะคบเช่นเปนมิตรไม่บิดไป | จำเภาะได้คืนหนึ่งจึงจะควร ๚ |
๏ ครานั้นภูบาลได้ฟังเชิญ | ยิ่งเพลิดเพลินตริกริ่มแล้วยิ้มสรวล |
แสนเสนาะเพราะลํ้าเปนสำนวน | ได้เชิญชวนแล้วก็ชอบว่าขอบใจ |
เห็นจะเหตุสิ่งใดไฉนแน่ | มีแท้มั่นคงไม่สงไสย |
แล้วเดินตามเจ้าเรือนเพื่อนพาไป | เข้าในเรือนเย่าเจ้าของเรือน ๚ |
๏ ครานั้นอาบูผู้เจ้าบ้าน | ยิ่งเบิกบานยินดีไม่มีเหมือน |
พร้อมหน้าหาของไม่ต้องเตือน | กล่นเกลื่อนยกมาไม่ช้าที |
ช่างจัดแจงแต่งงามไว้สามสิ่ง | ไก่ปิ้งมัศม่านห่านฉู่ฉี่ |
เรียงขึ้นโต๊ะเลี่ยมเตรียมไว้ดี | ช้อนมีมีดซ่อมก็พร้อมกัน |
อาบูพิศดูท่านพานิช | เห็นผิดพ่อค้าเคยมานั่น |
น่าประวิงดูจริงเปนอัศจรรย์ | รูปพรรณผิดพลคนทั้งปวง |
ดูดีท่วงทีดังเทวา | กายาพอดีไม่พีพ่วง |
สวมใส่เสื้อสีมีดวง | โสร่งดอกไม้ร่วงม่วงมันมน |
อาบูดูเพลินเชิญกินเลี้ยง | พร้อมบ๋อยคอยเคียงอยู่สับสน |
ยืนหลังข้างน่าห้าหกคน | สำหรับขนของกลับให้ลับลี้ ๚ |
๏ ครานั้นขัติเยศสังเกตรศ | กับเข้าสดสามอย่างวางยังที่ |
อร่อยล้ำช่างทำฝีมือดี | เข้าบุหรี่มีรศอร่อยมัน |
พอโพล้เพล้พลบคํ่ายํ่าสนธยา | ของหวานยกมาขมีขมัน |
ของคาวยกกลับไปฉับพลัน | หวานนั้นเรียบเคียงเรียงกันมา |
แต่ละสิ่งยิ่งรศอร่อยเหลือ | ลูกไม้เจือขนมจีบช่างจัดหา |
เปนหลายสิ่งยิ่งรศโอชา | ดังของทิพย์เทวดาลงมาดิน |
จะหยิบไหนก็วิไลยไปทั้งนั้น | หวานมันเหมาะจริงทุกสิ่งสิ้น |
แต่ล้วนรศโอชาไม่ราคิน | ชอบลิ้นฅอลื่นกลืนสบาย |
ครั้นเลี้ยงกันนั้นเสร็จสำเร็จแล้ว | ทั้งสองผ่องแผ้วเหมือนมั่นหมาย |
ต่างสมัครักสนิทไม่คิดร้าย | จะระคายสิ่งใดก็ไม่มี |
ธรรมเนียมปราชญ์สาสนามะหะหมัด | ไท้บัญญัติให้ยั้งอยู่ยังที่ |
ถ้ากลางวันน้ำจัณฑ์เปนไม่ดี | แม้นราตรีจึงได้เสพย์สุราบาน |
สาสนาว่าดังอยู่ยังนั้น | เหมือนกันทั้งสิ้นทั่วถิ่นฐาน |
จึงได้จำคำสอนแต่ก่อนกาล | สำราญไม่สาละวนกัน ๚ |
๏ อาบูดูล่วงเข้ายามแล้ว | ทั้งสองผ่องแผ้วเกษมสันต์ |
จึงยกเรื่องเครื่องสุราออกมาพลัน | ตั้งบนโต๊ะนั้นด้วยทันใด |
เครื่องแกล้มแนมเนื้อโคชำแหละ | เนื้อแกะสดพล่าแกงปลาไหล |
ทั้งเปรี้ยวทั้งเผ็ดเสร็จกันไป | สำหรับได้เปนเรื่องเครื่องสุรา |
อาบูผู้เจ้าของก็ต้องริน | เชิญท่านแขกแปลกถิ่นกินเถิดหนา |
ทั้งกับแกล้มแนมแกงที่แต่งมา | ว่าแล้วก็ชวนกันชิมพลัน |
ต่างคนต่างทำเปนคำนับ | ต่างรับสุรามาดื่มนั่น |
ต่างคนต่างสนทนากัน | ต่างสรวลสันต์สำราญบานอารมณ์ ๚ |
๏ ครานั้นพ่อค้าท่านกาหลิบ | พลางหยิบสุรามาประสม |
ปนเปนถ้วยเดียวให้เกลียวกลม | ดังนิยมยื่นไปให้อาบู |
แล้วถามที่ทำมาจะค้าขาย | ค่อยสบายเปนศุขฤๅทุกข์อยู่ |
เรามีจิตรคิดรักจักใคร่รู้ | พิเคราะห์ดูท่าทางอย่างนักเลง ๚ |
๏ อาบูนั่งฟังมิตรสนิทถาม | ท่านเห็นความจำเภาะที่เหมาะเหมง |
แต่ก่อนจิตรคิดชั่วไม่กลัวเกรง | จึงเสียเพลงเพราะเพื่อนเชือนแชไป |
รักสนุกทุกข์สนัดวิบัติหลง | ทรัพย์สินเสียลงไม่ปราไส |
ครั้นรู้ตัวแท้แล้วแน่ใจ | จึงคิดได้กลับกลายเมื่อปลายมือ |
แล้วผ่อนผันหันหน้ามาค้าขาย | ค่อยสบายมีทรัพย์คนนับถือ |
เปนคนโตมาแต่เก่าย่อมเล่าฦๅ | จะมาดื้อด้วยเล่นไม่เปนการ ๚ |
๏ ครานั้นจึงท่านกาหลิบจ้าว | ฟังอาบูกล่าวก็อ่อนหวาน |
ว่าท่านนี้ดีพ้นใช่คนพาล | คิดอ่านตลอดได้รอดตัว |
ผ่อนทรัพย์ยับยั้งดังเศรษฐี | อุส่าห์มีพยายามทิ้งความชั่ว |
เพราะความดีมีมาไม่เมามัว | จะฦๅข่าวเล่าทั่วกัลปา |
เราขอบใจที่ได้มาร่วมรัก | ผูกสนิทจิตรสมัคกันนักหนา |
ท่านก็ดีเราก็ดีมีปัญญา | กล่าวมานี้ชอบรอบคอบควร |
เราพูดเพลินเนิ่นนักจะชักช้า | ท่านกับข้าไม่ได้ดื่มลืมปันส่วน |
คนละถ้วยข้างละทีไม่รีรวน | ชวนกันค่อยคลายสบายบาน |
จนลุล่วงถ่วงมาเวลาดึก | กาหลิบรฦกให้ชอบเข้าตอบต้าน |
ว่าเหนื่อยนักชักช้ากันมานาน | ท่านไปนอนเราจะนอนผ่อนสบาย |
เพราะเรามาจึงได้งดอดหลับนอน | พรุ่งนี้เราจะจรมิให้สาย |
ขอบคุณการุญเราเดียวดาย | คุ้มวันตายจะต้องสนองคุณ |
แม้นธุระประสงค์ที่จงใจ | คงจะได้แผ่เผื่อคิดเกื้อหนุน |
แม้นขัดสนจนต้องรองเปนทุน | ถึงสิ้นบุญแล้วไม่ลืมดื่มความดี |
ถ้าธุระประสงค์ที่จงจิตร | อย่าได้คิดรังเกียจว่าเบียดสี |
เราใช่คนเหลวไหลใจกระลี | อันควรที่สงเคราะห์ให้เหมาะใจ ๚ |
๏ ครานั้นอาบูได้ฟังว่า | ท่านกล่าวมานี้สิ้นที่สงไสย |
ถ้าเหมือนหวังดังคิดไม่ผิดไป | แม้นไม่รังเกียจคงสมปอง |
แต่จำนงจงยิ่งสิ่งสำคัญ | ยังเกียจกันความศุขให้ทุกข์หมอง |
ให้เกลียดชังยังนึกที่ตรึกตรอง | ถ้าท่านลองคิดดูจะรู้ความ |
อันเมืองนี้มีแผนแดนตำบล | หนหนึ่งเปนวัดจัดสนาม |
อิแมนเปนครูบาสง่างาม | สั่งสอนกันตามอำเภอมัน |
แล้วชวนฝูงประชามาประชุม | เกลื่อนกลุ้มยิ่งยวดกวดขัน |
แต่ส่วนเราไม่เข้าเปนสำคัญ | อิแมนมันเคืองขัดอยู่ชัดจริง |
ใครจะทัดเทียบทันกับมันได้ | อีหน้าไหว้หลังหลอกบอกผู้หญิง |
ทำหน้าเปรี้ยวเหมือนหนึ่งเคี้ยวตลิงปริง | เย่อหยิ่งยกตัวเปนขรัวครู |
สั่งสอนสารพัดน่าบัดสี | คนกี่คนหมดไม่อดสู |
สัปรุษทั้งหลายให้ไหว้กู | คนคู่คิดผิดเปนชอบไป |
ยังมีศิษย์สี่ตนเปนคนเขลา | โง่เง่าไม่รู้อัชฌาไศรย |
เที่ยวนัดเพื่อนเกลื่อนกลุ้มประชุมไว้ | ทารกยังมิได้รู้จักการ |
ใช่ความตามชั่วตัวดูอื่น | คนนับหมื่นทั่วหน้าไม่ว่าขาน |
เอาเปนบ่าวบังคับเข้ารับงาน | ในถิ่นฐานธรรมเนียมใหม่จะให้เปน |
ฝ่ายเราเหลือทนก็จนจิตร | มาทำผิดเปนชอบประกอบเห็น |
ไม่ถือคำโบราณที่นานเปน | เคี่ยวเข็นคำรามล่วงลามไป |
อันผู้คนในแขวงตำแหน่งนี้ | มันจู้จี้ไม่มีความศุขได้ |
มันแสร้งว่าเราชั่วมึนมัวใจ | จึงจะให้เราถามได้ลามมา ๚ |
๏ ครานั้นจึงท่านกาหลิบจ้าว | ฟังอาบูกล่าวเห็นหนักหนา |
ท่านจะคิดผ่อนผันฉันใดนา | ข้าจะประกอบให้ชอบควร ๚ |
๏ ครานั้นอาบูผู้สนิท | ว่าได้คิดไว้นี้เปนถี่ถ้วน |
ท่านสงเคราะห์ให้งามตามกระบวน | ไม่ลามลวนเลยเล่นไม่เห็นกัน |
ขอเปนที่พระองค์ผู้ทรงเดช | ครองพระนิเวศน์ขอบเขตรขัณฑ์ |
เหมือนดังหนึ่งพระองค์ผู้ทรงธรรม์ | วันเดียวจะสมอารมณ์นึก |
เอาคนทั้งสี่นี้เข้ามา | เฆี่ยนร้อยศักหน้าทาน้ำหมึก |
แต่ครูนั้นทัณฑกรรมให้ลํ้าฦก | ทึกเอาสี่ร้อยอย่าถอยเลย |
แล้วสั่งสอนผ่อนการเรียกทานบน | อ้ายสี่คนจำทิ้งไว้นิ่งเฉย |
ที่เพื่อนบ้านร้านช่องต้องเสบย | ทำให้เคยตัวดุจเดิมมา ๚ |
๏ ครานั้นภูวไนยครั้นได้ฟัง | ท่านคิดดังนี้ทีดีนักหนา |
เหมือนคิดจิตรเราเจตนา | แม้นอย่างท่านว่าคงสมปอง |
พระผู้ทรงศักดากาหลิบราช | ทราบบาทคงจะโปรดไม่ขุ่นหมอง |
เราไม่ขัดอัชฌาฝ่าลออง | คงได้ครองเมืองแท้เปนแน่ใจ |
ด้วยท่านคิดปลิดคนเปนมลทิน | เหมือนดังเสี้ยนแผ่นดินก็ว่าได้ |
ด้วยสัตย์ซื่อถือจริงทุกสิ่งไป | ท่านไม่ป่วยการที่พูดจา |
แต่เรานี้อยู่ที่นอกประเทศ | ยังเห็นเหตุชอบใจไม่มุสา |
เปนความจริงสัจจังดังวาจา | ท่านกล่าวมานี้ชอบได้ช่วยกัน ๚ |
๏ ครานั้นอาบูผู้สนิท | ว่าเราคิดเหลวจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
มานึกมุ่งฟุ้งซ่านรำคาญครัน | น่าหัวร่ององันให้พอแรง |
ท่านมาพลอยเห็นเข้ากับเราด้วย | ยังจะช่วยจุนซํ้าให้กำแหง |
แม้นคนอื่นได้ฟังยังจะแคลง | ทั้งจะแสร้งเย้ยหยันจำนรรจา |
แม้นพระองค์ผู้ทรงธรณี | ทราบคดีจะสรวลสำรวลร่า |
ในความคิดเรื่องราวเรากล่าวมา | ชอบผิดคงจะว่าตามกระบวน |
ทั้งจะทรงรฦกตรึกตรองไป | ไม่เห็นแล้วไซ้คงไต่สวน |
ถ้าผิดแน่แท้มีที่ประมวญ | ควรลงโทษทัณฑ์อันตราย ๚ |
๏ ครานั้นภูมินทร์ได้ยินกล่าว | ในเรื่องราวอาบูคู่สหาย |
ว่าพระเจ้ากาหลิบจะแย้มพราย | ท่านอย่าหมายคงจะโปรดเปนมั่นคง |
ในความคิดของมิตรที่คิดไว้ | ก็จะได้โดยความตามประสงค์ |
เราพูดจาเวลาก็ดึกลง | จงนอนพรุ่งนี้เราจะลา ๚ |
๏ ครานั้นอาบูจึงตอบไป | ว่าเรายังอาไลยอยู่นักหนา |
จะได้ชวนสรวลสันต์จำนรรจา | เชิญท่านดื่มสุราอิกสักที |
ว่าพลางทางยกสุราริน | ต่างคนต่างกินเกษมศรี |
แล้วว่าถ้าจะไปในราตรี | ปิดประตูให้ดีจึงค่อยไป ๚ |
๏ ครานั้นพระองค์ทรงศักดา | รับคำสัญญาอัชฌาไศรย |
รินสุรามาคำนับด้วยฉับไว | ว่าท่านไซ้มีคุณการุญจริง |
ท่านจะคิดอันใดให้ได้สม | ในอารมณ์นึกไว้ได้ทุกสิ่ง |
พรของเราเล่าหนาอย่าประวิง | เจริญยิ่งเปนศุขอย่าทุกข์เลย |
พูดพลางทางดูอาบูเผลอ | เธอเอายาโรยซ้ำแล้วทำเฉย |
ต่างทำคำนับกันตามเคย | แล้วเลยส่งให้อาบูพลัน ๚ |
๏ อาบูผู้มีอัชฌา | รับมาจากมือถือมั่น |
ดื่มอึกนึกได้ไม่ทัน | วางถ้วยด้วยพลันตันใจ |
พิศม์ยาพาซาบอาบทั่ว | ทั้งตัวมัวมึนเสียวไส้ |
สิ้นสติพลันทันใด | เอนพับหลับไม่สมประดี ๚ |
๏ ครานั้นพระองค์ทรงเดช | สมหวังสังเกตเศรษฐี |
หลับแท้แน่ใจในที | ภูมีสรวลสันต์หันมา |
สั่งตนคนใช้ไปรเวต | จงยั้งสังเกตเคหา |
อุ้มอาบูไปอย่าได้ช้า | ตามข้าเข้าสู่วังใน ๚ |
๏ ครานั้นคนชิดสนิทอยู่ | โอบอุ้มอาบูหาช้าไม่ |
ผลีผลามตามเสด็จมาทันใด | เข้ายังวังในด้วยพลัน |
ครั้นถึงเข้าท้องพระโรงรัตน์ | ตรัสให้วางบนแท่นอันเฉิดฉัน |
เสมอยังดังองค์พระทรงธรรม์ | บรรธมแท่นสุวรรณพรรณราย ๚ |
• • • • • •
ท่อนที่ ๒
พระยามหาอำมาตย์แต่ง
๏ ข้าพระพุทธเจ้าพระ | ยามหา อำมาตย์เอย |
ค้นคิดกลอนเสภา | ท่อนนี้ |
ตามเรื่องนิทราชา | คริชราช นิพนธ์แฮ |
โดยพระราชประสงค์กี้ | กอบถ้อยทูลถวาย ๚ |
• • • • • •
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงธรรม์ | สั่งกำนัลพนักงานสิ้นทั้งหลาย |
ให้ช่วยกันจัดแจงแต่งกาย | เปลี่ยนถ่ายผ้าเก่าเจ้าหะซัน |
แล้วสวมเสื้อทรงผธมบรมกระษัตริย์ | งามจำรัสลายเลิศเฉิดฉัน |
ยกอาบูขึ้นราชอาศน์สุวรรณ | มิให้ทันรู้สึกสำนึกกาย |
เชิญมหามาลานพรัตน์ | ของบรมกระษัตริย์เฉิดฉาย |
ขึ้นวางไว้เบื้องสูงริมกาย | ที่นายหะซันชั้นบน |
แล้วตรัสว่าถ้าหะซันนั้นส่างเหล้า | เวลาเช้าอย่าให้แคลงแหนงฉงน |
พนักงานใครมีอยู่กี่คน | มาอยู่ปรนิบัติตามอัตรา |
แม้นอาบูบังคับการสิ่งใด | ให้ทำไปตามสั่งอย่ากังขา |
จงเกรงขามเหมือนเราเจ้าภารา | ถ้าพูดจาจงทูลมูลคดี |
ว่าพระองค์ทรงธรรมทุกคำปาก | อย่ากระดากกระเดียมใจให้บัดสี |
แม้นถ้าว่าพบเราเข้าก็ดี | อย่าให้มีหวาดหวั่นประพรั่นใจ |
จงทำเฉยเลยไปใช่เจ้าข้า | อย่าให้อาบูหะซันนั้นสงไสย |
ถ้าอาบูทำขันขึ้นฉันใด | จงอดไว้อย่าควรสรวลคนอง |
การสิ่งใดเราสั่งแลบังคับ | จงกำชับเชื่อฟังสิ้นทั้งผอง |
จะทำการให้ระมัดประหยัดปอง | อย่าลำพองให้หะซันนั้นสงกา |
แล้วตรัสสั่งพวกยุนุกว่าชาวเจ้า | จงอยู่เฝ้ารับใช้ให้ทั่วหน้า |
สั่งข้างในแล้วเสร็จเสด็จคลา | รีบออกมายังท้องพระโรงคัล |
แล้วจึงมีพระราชบัญชา | เรียกมหาเสนาคนขยัน |
เข้ามาสู่ที่เฝ้าด้วยฉับพลัน | พระทรงธรรม์โองการมิทันช้า |
ว่าดูก่อนท่านมหาเสนี | อันเรานี้มีความปราถนา |
เพื่อจะเล่นให้สนุกสักเวลา | ข้าได้มานพหนึ่งมาแต่งกาย |
มาทำเทียบแทนเราเจ้าธานี | ประดับประดาอินทรีย์ให้เฉิดฉาย |
จะมาออกท้องพระโรงพรรณราย | เกริ่นกรายว่ากิจราชการ |
เวลารุ่งพรุ่งนี้เขาออกมา | อย่าให้หมู่มาตยาร้าวฉาน |
จงคำนับน้อมประนตบทมาลย์ | กราบกรานก้มเกล้าดุษฎี |
จะพิดทูลสิ่งใดอย่ากระด้าง | ให้เหมือนอย่างตัวเราเจ้ากรุงศรี |
จะเรียกใช้เงินทองของที่มี | อย่าตระหนี่ขึ้งเคียดคิดเกียจกัน |
จงจับจ่ายให้เขาตามประสงค์ | จะหมดคงสักเท่าไรอย่าได้พรั่น |
ถึงจะใช้ของสั่งสิ้นทั้งนั้น | จงผ่อนผันอย่าให้ขัดอัธยา |
แล้วจงไปประกาศพวกขุนนาง | อย่าขัดขวางจงมาน้อมให้พร้อมหน้า |
อย่าได้ถืออหังมะมังการ์ | จงเฝ้าฝ่ายซ้ายขวาตามธรรมเนียม |
พอได้เปนการสนุกแก่ใจเรา | อย่าให้เขารู้ระคายอายเหนียม |
ท่านจงช่วยสำรวจตรวจเตรียม | อย่าลามเลียมให้เขารู้เท่าทัน |
ครั้นสั่งเสร็จเสด็จขึ้นมณเฑียรสถาน | แสนสำราญปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
แล้วสั่งพวกกรมวังด้วยฉับพลัน | ให้ปลุกผธมก่อนหะซันตื่นนิทรา |
กูจะไปด้อมดูอาบูหะซัน | จงบอกกันตามกระบวนทุกถ้วนหน้า |
อย่าให้ผิดในกิจกูบัญชา | จงตรวจตรากันให้ทั่วทุกตัวคน |
แล้วเสด็จเข้าสู่บัลลังก์แก้ว | อันเพริศแพร้วเพ็ชรพลอยสร้อยสน |
เข้าประธมที่ประทับระงับสกนธ์ | ภูวดลไสยานิทราไป |
พอเวลาสางศรีรวีวร | ทิพากรจวนแจ้งส่องแสงไข |
กรมวังปลุกผธมทันใด | ภูวไนยโสรจสรงพระภักตรา |
ทรงสุคนธ์ปนปรุงจรุงกลิ่น | แล้วภูมินทร์อ่าองค์ทรงภูษา |
ด่วนเสด็จยุรยาตรคลาศคลา | มาถึงน่าห้องหะซันทันที |
จึ่งเสด็จเข้าไปที่ในห้อง | พระคอยมองแลดูในมู่ลี่ |
ได้เห็นการแจ้งประจักษ์พร้อมภักดี | พระภูมีคอยดูอาบูหะซัน ๚ |
๏ ครั้นรุ่งแจ้งแสงศรีรวีวร | ทิพากรพรรณรายฉายฉัน |
พนักงานทั้งหลายอยู่เรียงรัน | หยิบสปันช์ชุบน้ำส้มผสมยา |
มารอเข้าที่นาสิกนายหะซัน | พอกลิ่นนั้นถูกช่องคลองนาสา |
นายอาบูจามพลันมิทันช้า | ก็รู้สึกกายาในทันใด |
ลืมเนตรขึ้นก็เห็นราชอาศน์ | งามประหลาดแก้วพวงดูผ่องใส |
สพรั่งพร้อมสาวสุรางค์นางใน | งามวิไลยกล้องแกล้งแน่งน้อย |
พวกยุนุกเรียงกันเปนหลั่นลด | น้อมประนตระวังระไวให้ใช้สอย |
ทั้งยี่ภู่ตรูเตร็จล้วนเพ็ชรพลอย | กำมะหยี่สุกย้อยสีฉาดแดง |
ทั้งเสื้อทรงหมวกทรงองค์กระษัตริย์ | เพ็ชรรัตน์แวมวามอร่ามแสง |
ยิ่งตรองตรึกก็ยิ่งนึกระแวงแคลง | ไม่จะแจ้งนี่เราฝันฤๅฉันใด |
นายอาบูให้วิตกหัวอกเต้น | ตรองไม่เห็นแน่ลงที่ตรงไหน |
ฤๅเราคือกาหลิบธิปไตย | เปนไฉนจะรู้แน่นะอกกู |
ครั้นตรองตรึกนึกดูก็รู้แน่ | เออที่แท้วานนี้พูดกับเพื่อนสู |
ช่างเก็บมาฝันซ้ำพรํ่าพรู | แต่ก่อนอยู่ดี ๆ ไยมิเปน |
เมื่อดำริห์ตริตรึกนึกตระหนัก | แจ้งประจักษ์ว่านิมิตรให้คิดเห็น |
จึ่งหลับตานอนนิ่งอิงเอน | เหมือนหนึ่งเช่นจะระงับหลับกายา ๚ |
๏ ฝ่ายนางพนักงานสิ้นทั้งนั้น | เห็นหะซันเกิดวิมุติกังขา |
จึงค่อยเยื้องยุรยาตรคลาศคลา | แล้วกล่าวรศพจนาอัญเชิญพลัน |
ว่าข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเดช | เปนปิ่นเกษกรุงไกรมไหสวรรย์ |
เวลานี้รุ่งแจ้งแสงหิรัญ | พระทรงธรรม์นิทราไปว่าไร |
เชิญเสด็จอ่าองค์สรงพระภักตร์ | บริรักษ์ราชกิจตามนิไสย |
ถ้าพระหน่วงนิทราจะช้าไป | อโณไทยพวยพุ่งขึ้นรุ่งราง ๚ |
๏ ฝ่ายอาบูได้สดับทูลเสนอ | กระดากเก้อในจิตรคิดอางขนาง |
ให้สงไสยนึกระแวงแคลงคลาง | ไม่วายวางความฉงนสนเท่ห์ใจ |
เราตื่นอยู่ฤๅว่าเพ้อมะเมอฝัน | อัศจรรย์เปนมาน่าสงไสย |
นึกแล้วกลับไสยานิทราไป | มิได้ออกเอื้อนโอษฐพจนา ๚ |
๏ ฝ่ายนางพนักงานสิ้นทั้งผอง | คอยสนองนอบน้อมอยู่พร้อมหน้า |
เห็นอาบูไม่ตื่นฟื้นกายา | ค่อยลีลาเข้าไปเคียงริมเตียงทอง |
แล้วชอ้อนอ่อนองค์ลงเคียงอาศน์ | อภิวาทบาทมูลทูลสนอง |
พระองค์ไม่เคยขาดประโยชน์ปอง | ในธรรมคลองกุศลผลบุญ |
เคยไหว้ไทเทวาพระอาทิตย์ | สำรวมจิตรตัดวิตกไม่หมกมุ่น |
นมาศดวงอุไทยไขอรุณ | เปนการสุนทรสวัสดิกำจัดไภย ๚ |
๏ ครานั้นอาบูผู้พานิช | ยังแคลงจิตรมิได้สิ้นความสงไสย |
จะว่าฝันฤๅเราก็เข้าใจ | การสิ่งใดก็รู้อยู่ทุกอัน |
ครั้นลืมเนตรก็สังเกตแน่ตระหนัก | แจ้งประจักษ์เห็นจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
ถ้าหลับใหลแล้วคงไม่รู้สำคัญ | แม้นความฝันคงไม่สึกสำนึกกาย |
ตริพลางทางดำรงทรงตัวนั่ง | บนบัลลังก์ลายเลิศเฉิดฉาย |
ภักตร์ผ่องเพียงจันทร์พรรณราย | แสนสบายยินดีด้วยปรีดา ๚ |
๏ บัดนั้นสาวสุรางค์นางกำนัล | พร้อมกันน้อมประนมก้มเกษา |
ศิโรราบกราบเบื้องมุลิกา | หัดถ์ซ้ายขวาจับดนตรีดีดสีพลัน |
ประโคมขานบรรสานสุรเสียง | ปานสำเนียงบรรเลงเพลงสวรรค์ |
ฟังกระแสแสนเพราะเสนาะกรรณ | นายหะซันตรีตรึกนึกคะนึง |
ว่าเราตื่นจริงฤๅไฉนเหนอ | ฤๅเราเผลอเคลิ้มจิตรนิมิตรถึง |
แล้วยกหัดถ์ปิดตาก้มหน้าคนึง | นึกตลึงลานอยู่ไม่รู้แล้ว |
ครั้นเปิดเนตรเห็นหมู่นารี | ล้วนประโคมดนตรีเปนถ่องแถว |
ทั้งนิเวศน์แจ่มกระจ่างสว่างแวว | ด้วยแสงแก้วเนาวรัตน์จำรัสเรือง |
ดูอะไรเห็นจริงทุกสิ่งหมด | ก็ปรากฎแวววาวเขียวขาวเหลือง |
อาบูไม่สงไสยระคายเคือง | พอเรือง ๆ แสงศรีรวีวรรณ ๚ |
๏ ครานั้นจึงนายเมศเรอ | ขุนนางใหญ่ในเธอคนขยัน |
เห็นเวลารุ่งแจ้งแสงตวัน | เข้าไปปลุกนายหะซันตามโองการ |
ในแท่นทองที่อยู่อาบูหะซัน | อภิวันท์บาทมูลแล้วทูลสาร |
ขอพระองค์อดโทษได้โปรดปราน | จงประทานโทษาข้าลออง |
วันนี้เห็นพระองค์จะทรงสบาย | ผธมสายจนตวันผันผยอง |
หมดเวลาที่พระองค์จำนงปอง | ขาดคลองทางผลกุศลไป |
เวลานี้มาตยามาคอยเฝ้า | พระเปนเจ้าธานีบุรีใหญ่ |
เชิญเสด็จยุรยาตรคลาศไคล | ออกท้องพระโรงไชยว่าราชการ ๚ |
๏ บัดนั้นจึงนายอาบูหะซัน | แจ้งสำคัญเมศเรอเสนอสาร |
ยิ่งอํ้าอึ้งตลึงไปช้านาน | ไม่แจ้งการเท็จจริงยังกริ่งใจ |
นี่ตัวเราก็ตื่นอยู่แน่แท้ | ที่จะแปรเปนฝันนั้นหาไม่ |
จึ่งเอื้อนอรรถไปพลันทันใด | นี่คือใครมาขนานนามกร |
จึงเรียกเราว่าพระเจ้าผู้ทรงธรรม | อันถ้อยคำอย่างนี้มีใครสอน |
เรามิใช่ทรงธรรม์อันบวร | แต่ปางก่อนไม่รู้จักเจ้าสักคราว |
แล้วพิศภักตร์ผู้ทูลมูลเหตุ | แลสังเกตสูงต่ำที่ดำขาว |
ไฉนหนอเรียกนามความยืดยาว | จะสืบสาวอนุสนธิ์ก็จนใจ ๚ |
๏ บัดนั้นขุนนางในองค์เธอ | เมศเรอเสนาบดีใหญ่ |
จึงกราบทูลไปพลันทันใด | เปนไฉนพระองค์มาสงกา |
อันตัวข้าพระบาทผู้ภักดี | เปนข้าพระภูมีนาถา |
ได้รับกิจราชการพระผ่านฟ้า | ฉลองบาทมุลิกาฝ่าธุลี |
จนท้าวเธอปองปูนเพิ่มภูลยศ | ปรากฎชื่อเมศเรอตำแหน่งที่ |
ขอให้ข้ามีศุขสวัสดี | ด้วยเดชะบารมีสืบต่อไป |
หนึ่งพระองค์ทรงตรัสสัพยอก | โองการบอกว่าพระองค์ยังสงไสย |
ไม่แจ้งว่าพระองค์เปนพงษ์ใด | ขอพระองค์ทราบใต้บทมาลย์ |
อันพระองค์คือพงษ์จักรพรรดิ | ครองสมบัติเปนใหญ่ในราชฐาน |
เปนธงไชยฉัตรโลกอันโอฬาร | พระเดชดุจสุริยฉานแผ่พ่านไป |
ได้บำรุงสาสนาให้ถาวร | พระเกียรติยศฦๅขจรจบทิศใต้ |
อันพระองค์ทรงระแวงแคลงพระไทย | ข้าพระบาทสงไสยเปนพ้นคิด |
ชรอยจะเปนด้วยพระองค์ไสยา | มีความผาศุกกายสบายจิตร |
ให้เคลิ้มองค์ทรงสุบินนิมิตร | วิปริตปรวนแปรเปนแน่นอน ๚ |
๏ ฝ่ายอาบูได้สดับซึ่งถ้อยคำ | อันหลากล้ำชื่นชมสโมสร |
หัวเราะพลางทางล้มตัวลงนอน | เหนือบรรจฐรณ์นึกขยิ่มด้วยยินดี |
แล้วหัวเราะอิกครั้งดังสนั่น | เสียงเฮาะ ๆ ฮอลั่นบนแท่นที่ |
แสนสำราญศุขเกษมเปรมปรีดิ์ | ด้วยว่ามีกระมลเบิกบาน ๚ |
๏ จะกล่าวถึงกาหลิบภูวเรศ | ทอดพระเนตรดูหะซันดังบรรหาร |
ทำท่วงทีพิกลดูลนลาน | พระภูบาลทรงสำรวลสรวลคึกคึก |
ครั้นว่าจะสำรวลให้จงหนัก | เกรงหะซันนั้นจักได้รู้สึก |
ในอุระทรงธรรม์สั่นทึกทึก | พระนึกอยากจะใคร่สรวลให้พอแรง ๚ |
๏ ครานั้นอาบูต่างภูมินทร์ | ยังตรีตรึกนึกไม่สิ้นความกินแหนง |
ในดวงจิตรยังคิดระแวงแคลง | จึงแสร้งเรียกพวกยุนุกนั้นเข้ามา |
จึงถามว่าตัวกูนี้คือใคร | สูจงเร่งบอกไปไว ๆ หวา |
ให้ตัวกูทราบแจ้งแห่งกิจจา | ให้สิ้นความกังขาบัดเดี๋ยวนี้ ๚ |
๏ จะกล่าวถึงพวกยุนุกสิ้นทั้งหลาย | น้อมกายลงประนตบทศรี |
จึงกราบทูลไปพลันในทันที | พระภูมีคือองค์พระทรงธรรม์ |
ผู้อุปถัมภ์บำรุงสาสนา | เปนเจ้าโลกาส่องสรรพ์ |
ข้าพระบาทมิได้แสร้งแกล้งรำพรรณ | ขอพระองค์ทรงธรรม์อย่าแคลงใจ ๚ |
๏ อาบูได้สดับซึ่งคำทูล | โดยมูลยังไม่สิ้นความสงไสย |
จึงตอบคำไปพลันในทันใด | คนหน้าดำทำได้มาปดกู |
โกหกพกลมมาเจรจา | เองแกล้งกล่าวมุสาให้เคืองหู |
ลวงหลอกปั้นลํ่าพรํ่าพรู | พวกสูอย่าได้มาเจรจา |
ว่าแล้วจึงเรียกนางกำนัล | อันมีโฉมโนมพรรณเพียงเลขา |
เชิญเจ้าเข้ามานี่หน่อยรา | ตัวพี่ยาจะให้เจ้าทดลอง |
แล้วยื่นหัดถ์ให้กัดซึ่งนิ้วก้อย | นางสาวน้อยทำระคางเมินหมางหมอง |
ชม้อยชม้ายชายเนตรสังเกตมอง | ให้สบคลองไนยนานายหะซัน |
อาบูเห็นแย้มยิ้มพริ้มพราย | ทำแยบคายท่วงทีดูคมสัน |
เจรจาลดเลี้ยวพูดเกี้ยวพัน | เมียงมันดูนางไม่วางตา |
แล้วแย้มเยื้อนเอื้อนอรรถตรัสปราไส | เจ้าสายใจผู้ยอดเสนหา |
พี่วานเจ้าดวงใจไนยนา | ช่วยขบนิ้วขนิษฐาให้พี่ชาย |
จะรู้สึกกายาฤๅหาไม่ | จงทำให้สมจิตรพี่คิดหมาย |
ว่าพี่ตื่นฤๅว่าหลับระงับกาย | ให้เรียมหายความแหนงแคลงฤไทย ๚ |
๏ บัดนั้นจึงนวลนางกำนัล | แจ้งสำคัญกิริยาอัชฌาไศรย |
ว่าองค์ท้าวกาหลิบธิปไตย | มาอยู่ในมุลี่กำบังองค์ |
ค่อยแอบด้อมมองดูอาบูหะซัน | โดยสำคัญดังจิตรคิดประสงค์ |
ด้วยแจ้งอยู่กับใจนางโฉมยง | นวลอนงค์อยากจะใคร่ให้โปรดปราน |
จึงแกล้งทำท่วงทีให้แช่มช้อย | จับนิ้วน้อยนายหะซันดังบรรหาร |
ยํ้าด้วยทนต์เบา ๆ พอประมาณ | ไม่ทันนานอาบูก็รู้กาย |
ร้องอุ่ยอึงดึงมือมาด้วยพลัน | แจ้งสำคัญในเหตุสังเกตหมาย |
กูตื่นอยู่แม่นเหมือนไม่เคลื่อนคลาย | มากลับกลายเปนองค์พระทรงธรรม์ |
อันกาหลิบนี้ฤๅคือตัวกู | แต่คิดดูไปก็เหมือนกับความฝัน |
พิเคราะห์ไปเปนน่าอัศจรรย์ | นายอาบูหะซันไม่วางใจ |
แล้วเหลียวหน้ามาถามนางกำนัล | ว่าดูก่อนจอมขวัญผู้พิศมัย |
ตัวเราคือทรงธรรม์ฤๅฉันใด | จงบอกความจริงใจอย่าอำพราง |
นางกำนัลก้มเกล้าลงกราบทูล | นเรนทร์สูรอย่าคิดอางขนาง |
พระองค์คือทรงธรรมไม่อำพราง | แน่เหมือนอย่างคำข้าพาที |
พระองค์ได้ดำรงอาณาจักร | บริรักษ์ข้าบาทบทศรี |
ได้มีความศุขเกษมเปรมปรีดิ์ | ด้วยเดชะบารมีพระทรงธรรม์ ๚ |
๏ ฝ่ายอาบูได้สดับพจนาดถ์ | เห็นประหลาดผิดกระบวนจึงสรวลสันต์ |
แล้วเอื้อนอรรถตามระบอบตอบพลัน | มาปดกันเปล่า ๆ ไม่เข้ายา |
เราจะใคร่ไต่ถามซึ่งความจริง | ควรฤๅมิ่งยุพยอดเสนหา |
พูดกลับกลอกหลอกเล่นเจรจา | ไม่เมตตากลับปดไปตามกัน |
ว่าพลางทางลุกขึ้นจากอาศน์ | จะลีลาศเยื้องกรายผายผัน |
พวกยุนุกที่ยืนอยู่เรียงรัน | เข้าประคองหะซันด้วยทันใด |
ให้ลีลาเลื่อนลดลงจากอาศน์ | ยุรยาตรหยุดยืนยังพื้นใต้ |
พิศรูปทรงอาบูดูวิไลย | งามดังองค์ท้าวไทพระทรงธรรม์ |
แล้วประกาศพร้อมกันสรรเสริญ | ขอพระองค์จงเจริญในไอสวรรย์ |
อย่าได้มีโรคไข้ไภยันต์ | เหมือนหนึ่งข้าพร้อมกันถวายพร |
อาบูตรีตรึกนึกในใจ | ยังมีความสงไสยไม่เชื่อก่อน |
ดูน่าขันจริงแท้ไม่แน่นอน | เมื่อตอนคํ่าตัวอาบูหะซัน |
เปนพวกชาวพ่อค้าวานิช | คิด ๆ ขึ้นมาก็น่าขัน |
ได้กลับมาเปนองค์พระทรงธรรม์ | รวดเร็วฉับพลันทันท่วงที |
ตริพลางทางสะเทินนึกเขินขวย | ให้งงงวยเปนอย่างไรไฉนนี่ |
ประหลาดหลากเหลือใจใช่พอดี | ไยมาเปนเช่นนี้ก็สุดคิด ๚ |
๏ นางกำนัลช่วยกันเปลี่ยนภูษา | แต่งกายาให้อาบูทรงภูษิต |
สวมเสื้อพื้นกำมะหยี่สีสำริด | ลายสุวรรณวิจิตรเปนดอกลอย |
ทรงมหามาลาเนาวรัตน์ | ตรูตรัจมลังเมลืองเฟื่องห้อย |
พิศแสงช่วงร่วงรุ้งพุ่งพร้อย | สุกย้อยยับ ๆ จับในตา |
ถวายพระแสงกั้นหยั่นกัลเม็ด | ประดับเพ็ชรเหน็บแนบพระภูษา |
พระแสงปืนทองคำถมยา | กระบี่คำควรค่าคู่นคร |
งามดังองค์ธิบดินทร์ปิ่นพิภพ | เครื่องราชูประโภคครบไม่ลดหย่อน |
เสร็จแล้วยุรยาตรนาดกร | บทจรออกพระโรงพรรณราย |
พวกยุนุกแลสุรางค์นางกำนัล | ต่างเดินตามหะซันผันผาย |
แซงสองข้างมรรคาทั้งขวาซ้าย | เมศเรอตัวนายนำน่ามา |
พวกชาวที่เปิดบานทวารรับ | น้อมคำนับบังคมก้มเกษา |
อาบูยูรยาตรคลาศคลา | รีบออกมาถึงท้องพระโรงคัล |
เมศเรอเชิญขึ้นบนแท่นรัตน์ | ที่บรมกระษัตริย์รังสรรค์ |
เข้าประคองเคียงกายนายหะซัน | ขึ้นบนบัลลังก์รัตน์ชัชวาลย์ |
ต่างประนมก้มเกษลงคำนับ | วิเซนรับเสียงแตรแซ่บรรสาน |
มโหรทึกกึกก้องเปนกังวาน | โอฬารพรรฦกเสียงครึกโครม |
ทหารราชวัลลภยืนสล้าง | ดูท่าทางเหมือนจะปะทะโถม |
ทั้งท่วงทีเข้มขันประจันโจม | จะรอนโรมข้าศึกไม่นึกกลัว |
ยืนประจำริมผนังพระโรงใน | แต่ละตนว่องไวมิใช่ชั่ว |
ถือสาตราอาวุธประจำตัว | รายอยู่ทั่วที่ผนังพระโรงคัล |
เมื่ออาบูขึ้นนั่งบัลลังก์ราช | ดูท่วงทีองอาจเห็นคมสัน |
พวกข้าเฝ้านบน้อมลงพร้อมกัน | อภิวันท์อวยไชยถวายพร ๚ |
๏ ครานั้นกาหลิบธิบดี | พระภูมีชื่นชมสโมสร |
มาแอบบังหลังทวารอันบวร | ภูธรทอดพระเนตรดูหะซัน |
ได้เห็นเสนาหมู่ข้าเฝ้า | อ่อนเกล้าไม่รังเกียจเดียดฉัน |
ดูเกรงยำทำถ่อมพร้อมกัน | ยิ่งโปรดปรานหะซันเพิ่มภูล ๚ |
๏ จะกล่าวถึงอรรคมหาเสนา | นามไกฟาข้าบาทนเรนทร์สูร |
ปรากฎสมยศบริบูรณ์ | สืบตระกูลมาตยามาช้านาน |
เปนที่แครนด์วิเซียราชสฤษดิ์ | ราชกิจฝ่ายน่าได้ว่าขาน |
เปนผู้สำเร็จเด็ดขาดราชการ | ในผู้ผ่านแบคแดดธานี |
บทจรเข้ามายังที่เฝ้า | แล้วน้อมเกล้าลงประนตบทศรี |
จึงทูลถวายพรพลันทันที | ตามประเพณีผู้ผ่านซึ่งเวียงไชย |
ขอพระองค์ผู้ทรงธรรมเที่ยงธรรม์ | ปราศจากไภยันต์สบไสมย |
จงเจริญศุขสำราญราชฤไทย | การสิ่งไรพระประสงค์จำนงปอง |
ให้สำเร็จเสร็จดังพระไทยมาด | อย่าเคลื่อนคลาศสมถวิลสิ้นทั้งผอง |
ในโลกน่าพระองค์จงสมพอง[๑] | ได้สู่ห้องพิมานสวรรค์ชั้นฟ้า ๚ |
๏ ฝ่ายอาบูได้ฟังบังคมทูล | เปนเค้ามูลก็สิ้นความกังขา |
ด้วยสมจิตรที่คิดเจตนา | ไม่ไตรตราถ่องแท้ให้แน่ใจ |
จึงสำแดงอำนาจราชฤทธิ | ปกาสิตเรียกวิเซียขุนนางใหญ่ |
ท่านวิเซียมีธุระสิ่งอะไร | จงบอกไปบัดนี้อย่าได้ช้า |
แครนด์วิเซียได้สดับพจนาดถ์ | อภิวาทน้อมประนมก้มเกษา |
ทูลว่าหมู่ข้าบาทมุลิกา | พร้อมกันมาคอยเฝ้าเจ้าธานี |
นายอาบูได้ฟังจึงสั่งตอบ | โดยระบอบแบบกระษัตริย์เรืองศรี |
ให้ขุนนางเข้ามาบัดเดี๋ยวนี้ | การใครมีจะได้ว่าเปนน่าไป |
ไกฟาเสนาได้สดับ | น้อมคำนับเกษก้มบังคมไหว้ |
แล้วออกมาเบิกทวารชั้นใน | เรียกขุนนางเข้าไปพร้อมกัน |
พวกขุนนางต่างจัดกันตามยศ | พร้อมหมดทีละคู่ดูคมสัน |
เข้ามาน้อมเกษก้มบังคมคัล | แทบสุวรรณแท่นรัตน์กระษัตรา |
ยืนเรียงกันโดยลำดับเปนตับไป | ตามผู้น้อยผู้ใหญ่ทั้งซ้ายขวา |
ไม่ก้าวก่ายทลึ่งทลั่งอหังกา | ถอยถดลดลงมาตามหมวดกรม ๚ |
๏ อาบูแลดูหน้าหมู่ข้าเฝ้า | เห็นแต่งกายไม่เศร้าสวยสม |
หมดจดตามยศอย่างอุดม | ก็ชื่นชมโสมนัศปรีดา |
จึงไกฟาเสนาผู้ภักดี | ยืนน่าหมู่เสนีในฝ่ายน่า |
แล้วอ่านบอกถวายมิได้ช้า | ด้วยราชการภาราสารพัน |
นายอาบูกาหลิบได้สดับ | ก็บังคับการกิจไม่ผิดผัน |
ตามประเพณีองค์พระทรงธรรม์ | ด้วยหะซันนั้นไซ้ไวปัญญา |
แล้วดำรัสตรัสเรียกพนักงาน | นครบาลเร็วไวอยู่ไหนหวา |
ไปจับชายอาจารย์ตัวการมา | กับศิษย์หาสี่คนเปนต้นคิด |
มันสั่งสอนสาสนามะหะหมัด | มาตู่ผลัดแปลงเปลี่ยนจนเพี้ยนผิด |
ยกตัวขึ้นเปนครูผู้สัมฤทธิ์ | สั่งสอนศิษย์อุตริลัทธิพาล |
มันอยู่วัดชื่อโพ้นข้างโน้นแน่ | เหมือนกระแสเราสั่งดังบรรหาร |
มาเฆี่ยนเสียที่กลางสถลมารค์ | ทำประจานอย่าให้มีปรานีมัน |
อ้ายตัวครูผู้ใหญ่เฆี่ยนให้หนัก | ตีสะบักอย่าให้ปลอดตลอดสัน |
เต็มสี่ร้อยนับบรรจบให้ครบครัน | ลูกศิษย์นั้นคนละร้อยอย่าถอยทด |
แล้วให้ขึ้นขี่อูฐทั้งห้าคน | อ้ายสัปดนกลับหน้ามาหลังหมด |
ตระเวนรอบพระนครอย่าหย่อนลด | ประกาศกฎร้องป่าวชาวบุรี |
อย่าให้ใครดูอย่างอ้ายชาติชั่ว | แล้วขับไล่ใสหัวจากกรุงศรี |
อย่าให้มันเหยียบพื้นปัถพี | ในธานีของกูสูจงไป |
นครบาลรับโองการนรินทร์ราช | รีบลีลาศเร็วจริงวิ่งออกไขว่ |
ฉวยได้เครื่องพันธนาพากันไป | โดยฉับไวรีบรัดถึงวัดวา |
พบอิแมนตัวครูเปนผู้เถ้า | ต่างกรูเข้าไล่ขยิกจิกเกษา |
ฉวยโซ่ใส่ฅอซ้ำแล้วจำคา | พันธนาผูกรัดมัดไป |
ตะคอกขู่ร้องด่าว่าอ้ายนี่ | บ้างทุบตีฉุดคร่าไม่ปราไส |
แล้วช่วยกันค้นคว้าหาข้างใน | จับศิษย์สี่คนได้ตัวมา |
ธำมรงล่ามโซ่สายเหล็กใหญ่ | แล้วผลักไสลากก้มล้มถลา |
ไปบัดเดี๋ยวเลี้ยวลัดพ้นวัดวา | ถึงศาลาซักถามได้ความจริง |
ตัวอิแมนสารภาพรับเปนสัตย์ | ได้ความชัดแม่นแท้แน่ทุกสิ่ง |
ไม่ต้องสืบคำพยานมีค้านติง | ครั้นได้จริงแล้วก็ยึดนักโทษลง |
เฆี่ยนอิแมนตัวดีไม่มีน้อย | ครบสี่ร้อยดังหะซันนั้นประสงค์ |
ลูกศิษย์ตีร้อยถ้วนจำนวนคง | แล้วธำมรงพาตัวตระเวนไป |
ให้ขี่อูฐกลับหน้ามาข้างหลัง | ตามรับสั่งเสร็จสรรพแล้วขับไล่ |
มิให้อยู่ในประเทศเขตรเวียงไชย | แล้วกลับไปกราบทูลมูลคดี ๚ |
๏ อาบูได้สดับสารสำราญจิตร | ด้วยสมคิดปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
แต่ตรึกตรองปองหมายมาหลายปี | จนคราวนี้จึงได้เสร็จสำเร็จการ |
แล้วแย้มเยื้อนเอื้อนโอษฐโปรดประภาษ | พจนาดถ์สุนทรอันอ่อนหวาน |
เออเราใช้ให้ไปก็ได้การ | นครบาลทำชอบข้าขอบใจ ๚ |
๏ ส่วนกาหลิบลอบดูอยู่ในห้อง | เห็นหะซันทำต้องอัชฌาไศรย |
พระองค์แสนสำราญพระหฤไทย | ภูวไนยแย้มยิ้มด้วยยินดี ๚ |
๏ จะกล่าวกลับจับเรื่องหะซันใหม่ | ยังเนาในท้องพระโรงเรืองศรี |
สถิตย์เหนือแท่นรัตน์รูจี | จึงสั่งมหาเสนีไกฟา |
ท่านจงไปเบิกทองคำนํ้าเก้า | มาให้เราพันลิ่มเร็ว ๆ หนา |
แล้วจึงนับสำรวจตรวจตรา | ไปมอบให้มารดานายอาบู |
บ้านเขาอยู่ในตำบลถนนโพ้น | คนที่ในบ้านโน้นรู้จักอยู่ |
ชื่อว่านางจอบแก้วผู้โฉมตรู | เปนมารดานายอาบูจงสำคัญ |
ไกฟาเสนาคำนับไหว้ | รีบออกไปที่คลังขมีขมัน |
เบิกทองคำน้ำเก้ามาด้วยพลัน | นับได้พันลิ่มครบตามบัญชา |
จึงขนไปบ้านนางจอบแก้ว | ครั้นถึงแล้วส่งให้มิได้ช้า |
แครนด์วิเซียจึงแถลงแจ้งกิจจา | ให้มารดานายหะซันนั้นเข้าใจ |
ว่าพระองค์ผู้ดำรงอาณาจักร | พระทรงศักดิโปรดปรานเปนการใหญ่ |
ทรงพระราชเมตตากว่าใครใคร | รับสั่งให้นำทองมาประทาน |
ท่านจงรับทองคำพันลิ่มไว้ | สุดแต่ใจของท่านจะบรรหาร |
จะจำหน่ายขายซื้อรับประทาน | ตามแต่การจะประกอบที่ชอบใจ |
ครั้นเสร็จสรรพจึงกลับเข้ามาเฝ้า | แถลงเล่าทูลตามเนื้อความไข |
ว่าข้าแต่พระองค์ผู้ทรงไชย | รับสั่งให้ข้าบาทมุลิกา |
นำทองคำพันลิ่มไปประทาน | ให้นงคราญจอบแก้วที่เคหา |
ข้าได้ทำตามพระราชบัญชา | ขอทราบใต้บาทาพระทรงธรรม์ ๚ |
๏ จะกล่าวถึงมารดานายอาบู | เมื่อคิดดูแล้วก็เห็นเปนความขัน |
อยู่ดี ๆ ไยองค์พระทรงธรรม์ | ส่งทองพันลิ่มมาพระราชทาน |
นี่เหตุผลต้นปลายไฉนหนอ | ไม่แจ้งข้อกังขาที่ว่าขาน |
อันผู้ที่นำทองของประทาน | ไม่แจ้งการเรื่องราวให้เข้าใจ |
เปนแต่ว่าโปรดปรานเรานักหนา | คำที่ว่านั้นเปนข้อที่สงไสย |
เรากับองค์กาหลิบธิปไตย | ก็ยังไม่รู้จักกันสักครา |
นึกดีใจขนทองเข้าห้องหับ | เปนหลายกลับเหน็ดเหนื่อยเมื่อยนักหนา |
ทีนี้รวยเหลือล้นคณนา | ไม่ต้องพักหนักบ่าระบมกาย ๚ |
๏ จะกล่าวถึงเสนาที่มาเฝ้า | ตั้งแต่เช้าต้องทนอยู่จนสาย |
ไม่เผลอเพลินคอยระมัดประหยัดกาย | หยิบขยายนาฬิกาออกมาดู |
เห็นเวลานั้นจวนจะควรออก | กระซิบบอกกันเบา ๆ พอเข้าหู |
พวกขุนนางคับคั่งอยู่พรั่งพรู | ต่างลุกกรูขึ้นคำนับอัภิวันท์ |
บังคมลาออกมาจากที่เฝ้า | รีบคลาศเต้าแยกย้ายกันผายผัน |
ตรงไปสู่เคหาไม่ช้าพลัน | แล้วชวนกันเสพย์รศโภชนา |
ยังอยู่แต่พวกขุนนางกรมวัง | ไม่คืนหลังกลับไปสู่เคหา |
อยู่ประจำกิจการพระผ่านฟ้า | คอยระวังรักษานายหะซัน |
ครั้นอาบูเลื่อนองค์ลงจากอาศน์ | ยุรยาตรเยื้องกรายผายผัน |
เมศเรอเข้าไปรับด้วยฉับพลัน | ลำดับนั้นนายสนองประคองเคียง |
ทั้งสองนายเข้าประคองทั้งสองข้าง | ไม่หันห่างอยู่ซ้ายฝ่ายเฉวียง |
พนักงานทั้งหลายอยู่รายเรียง | ไม่หลีกเลี่ยงหลบหน้ามาระวัง |
ไกฟานำหะซันนั้นคลาคลาศ | เข้าสู่อาศน์พระโรงในเหมือนใจหวัง |
เชิญอาบูขึ้นสถิตย์บนบัลลังก์ | เปิดทวารบานบังสว่างตา |
ชาวดนตรีเป่าแตรสรรเสริญ | เยิรพระยศไพเราะเพราะหนักหนา |
สำหรับยศกรุงกระษัตริย์ขัติยา | ในภาราแบคแดดพระนคร ๚ |
๏ ครั้นอาบูได้นั่งบัลลังก์แล้ว | ค่อยผ่องแผ้วภิญโญสโมสร |
ให้เพลินจิตรมิได้คิดอนาทร | ที่ทุกข์ร้อนลืมสิ้นไม่กินใจ |
จึ่งหลงปลื้มลืมตนที่ต่ำศักดิ | ทำฮึกฮักแล้วจิตรคิดสงไสย |
จะว่าจริงฤๅฝันเปนฉันใด | การสิ่งไรเล่าก็รู้อยู่ทุกอัน |
จะพูดจาสารพัดก็ชัดเจน | ตาก็เห็นแจ้งจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
เขาพูดฟังก็ชัดสนัดกรรณ | ไม่ผิดผันเลยหนอสักข้อเดียว |
ที่เราออกปากสั่งแลบังคับ | ก็สำเร็จเสร็จสรรพไปฉับเฉียว |
อันแข้งขายุรยาตรก็ปราดเปรียว | เดินหลายเที่ยวตัวก็รู้อยู่แก่ใจ |
นี่ตัวเราเปนพระเจ้าทรงธรรม์แน่ | จะแม่นแท้จริงหือฤๅไฉน |
ทั้งผู้คนกล่นกลาดเฝ้าดาดไป | ใครที่ไหนเล่าเอ๋ยได้เคยมี |
อันกาหลิบธิบดินทร์ปิ่นกระษัตริย์ | ครองสมบัติแบคแดดบุรีศรี |
แผ่นดินเดียวเจ้าสองครองบุรี | แต่ก่อนกี้นั้นไซ้มิได้เปน |
ทั้งเสนามาตยาที่มาเฝ้า | ก็อ่อนเกล้ากราบไหว้เราได้เห็น |
เขาเตรียมมาคอยเฝ้าทั้งเช้าเย็น | ตัวเราเปนกาหลิบเปนแน่นอน |
ตริพลางทางลงจากราชอาศน์ | ยุรยาตรดังพระยาไกรสร |
เที่ยวชมราชศฤงฆารอันบวร | บทจรชมพระราชมณเฑียร |
ดำเนินพลางทางมองทุกช่องฉาก | ล้วนแลหลากลวดลายระบายเขียน |
กนกแนมแกมมาศดาษเดียร | ผนังเนียนทาสีมีลายทอง |
ติดกระจกเงางามอยู่ตามที่ | มีมุลี่บังไว้มิให้หมอง |
ไขวิสูตรสองบานพุดตาลกรอง | มีภู่ทองห้อยประจำล้วนคำพราย |
เพดานพราวดาวมาศประหลาดแพร้ว | ระย้าแก้วเรือนสุวรรณอันเฉิดฉาย |
ฉลุฉลักทรงทรวดเปนลวดลาย | ทั้งเจ็ดโคมแขวนรายอยู่พรายตา |
มีโต๊ะกลมตั้งหว่างกลางประจำ | พานทองคำลายจำหลักปักบุบผา |
ทั้งเจ็ดโต๊ะเรียงกันเปนหลั่นมา | ยกพานใส่มาลาขึ้นตั้งกลาง |
จัดนารีมาบำเรอเจ็ดสำรับ | ทั้งร้องขับเจนจัดไม่ขัดขวาง |
มีดนตรีสำหรับกับมือนาง | แล้วไว้วางวงหนึ่งเจ็ดนารี |
ล้วนสำหรับขับประโคมประโลมบาท | บรมนารถเจ้าพิภพบุรีศรี |
เมื่อเสด็จมาประทับแท่นมณี | ได้ดีดสีถวายองค์พระทรงธรรม์ |
ยังมีนางเจ็ดอนงค์ล้วนทรงศักดิ | นรลักษณ์เพียงเทพรังสรรค์ |
อรชรอ้อนแอ้นเอววรรณ | ผิวพรรณผุดผ่องลอองนวล |
ประดับสร้อยเกยูรสุวรรณรัตน์ | ภูษาพัตรรํ่าประทิ่นกลิ่นหอมหวล |
ดูงามงอนอ่อนจริตกระบิดกระบวน | เย้ายวนยั่วใจน่าใคร่ชม |
ถือพัดวาลวิชนีทั้งเจ็ดนาง | ทรงสำอางรื่นรวยดูสวยสม |
เคยอยู่งานยามเสวยรำเพยลม | เมื่อบรมกระษัตริย์เธอยาตรา |
หะซันแสนเปรมปรีดิ์เปนที่สุด | ยิ่งบุรุษทั้งหลายในใต้หล้า |
เดินลีลาศนาดกรายส่ายตา | สอดหาลดเลี้ยวเที่ยวเมิลมอง |
แต่ดวงจิตรยังคิดระแวงฉงน | ให้มัวหม่นอยู่ในจิตรคิดขัดข้อง |
ไม่ถ่องแท้แน่ใจในทำนอง | ยิ่งตรึกตรองกังขาพะว้าพะวัง ๚ |
ท่อนที่ ๓
ขุนวิสูตรเสนีแต่ง
๏ ครานั้นอาบูผู้ภักดี | เห็นนารีสวยสมอารมณ์หวัง |
มานั่งเหนือปัญจอาศน์ราชบัลลังก์ | เจ็ดนางนั่งน้อมกายถวายกร |
ต่างหมอบเรียงเคียงขนานอยู่งานพัด | รอบแท่นรัตน์เจ็ดเจ้าสาวสมร |
ดูเรียบเรียงเมียงม้วนสงวนงอน | อรชรชูใจประไพพริ้ง |
เมื่อหะซันผันพบเลี่ยงหลบเขิน | ทีสเทินเมินประหม่ามารยาหญิง |
หะซันคิดจิตรกำหนัดประวัติประวิง | ยิ่งดูยิ่งเสียวกระสันร้อนรัญจวน |
กระหยิ่มจิตรคิดกำหนัดประวัติสวาดิ | ใจมุ่งมาดหมายมั่นปั่นป่วน |
แย้มยิ้มพลางกล่าวคำแกมสำรวล | ขอบใจนวลขนิษฐาเจ็ดนารี |
อุส่าห์พัดให้พี่เย็นไม่เย็นจิตร | นั่งชิด ๆ แลจะชื่นอุราพี่ |
มิควรเหนื่อยเมื่อยหัดถ์ด้วยพัดวี | มานั่งนี่มาแม่มาอย่าสเทิน |
พลางยิ้มพรายชายตาพาที | มิพอที่มัวหมางระคางเขิน |
ผินพยักภักตร์พบนางหลบเมิน | เบือนหน้าหนีทีสเทินอยู่ในที ๚ |
๏ อาบูเยื้อนเตือนไปมิให้หมอง | เชิญหกน้องสายใจนั่งใกล้พี่ |
คนหนึ่งพัดผลัดกันก็พอดี | มะมานี่หน่อยแม่คุณขออุ่นใจ |
ได้ร่วมภาชนะทองกับน้องแก้ว | ถึงอิ่มแล้วก็จะซดหางดไม่ |
จะชื่นฉํ่าสำราญสักปานไร | ดังพี่ได้รศทิพย์สักสิบรศ ๚ |
๏ ทั้งหกนางฟังปลอบเห็นชอบที | ทุกนารีแย้มเยื้อนขะเยื่อนขยด |
ขึ้นร่วมเตียงเมียงหมอบนอบประนต | โดยกำหนดขวาซ้ายเรียงรายกัน |
ข้างละสามงามระเบียบดูเรียบร้อย | ช่างชดช้อยแลเลิศโฉมเฉิดฉัน |
ที่ขวยเขินเมินม่ายเมียงมัน | เนตรหะซันผันพบเลี่ยงหลบเมิน ๚ |
๏ ครานั้นอาบูเจ้าชู้นึก | กำลังคึกตอบว่าเจ้าอย่าเขิน |
เสพย์ด้วยกันวันนี้พี่ขอเชิญ | อย่าสเทินจะช่วยป้อนสมรมิตร |
เจ้าทั้งเจ็ดโฉมงามนามไฉน | ช่วยแจ้งใจให้ประจักษ์แต่สักหนิด |
เมื่อห่างห้องปองชมไม่สมคิด | ได้ชื่อชิดแทนโฉมประโลมใจ ๚ |
๏ นางหนึ่งจึงพร้องสนองพลัน | หม่อมฉันชื่อโฉมจันทร์จำรัสไข |
สุริเยศที่สองรองลงไป | นั่นพึงเนตรน้ำใจสวาดิวอน |
โน่นชื่นจิตรคิดหมายไม่วายหวัง | คนนั้นชื่อปะการังดวงสมร |
นี่หยกขาวสาวเอี่ยมอรชร | โน่นอ้อยอ่อนโฉมตรูที่อยู่งาน ๚ |
๏ ครานั้นหะซันมุ่งมันเขี้ยว | จึงกล่าวเกี้ยวเสริมซํ้าข้อคำหวาน |
ช่างสมรูปสมนามงามตระการ | เปรียบประมาณโฉมทิพย์ที่ลิบลอย |
แม้นดังดวงพวงผกาสารพี | สักร้อยปีพี่จะมานะสอย |
หญิงทั้งสามภพไตรเมืองใหญ่น้อย | จะเปรียบกลอยจิตรพี่ไม่มีเลย |
พูดพลางสอดส่ายไนยนา | ประสบตาทีไรไม่ใช่เฉย |
คิ้วก็ไหวใจก็กล้าตาก็เคย | ด้วยหวังเชยชมขวัญร้อนรัญจวน |
เหมือนไก่แก้วแววไวที่ไร้รัก | กำลังคักขันอิ๋กตีปีกป่วน |
ทั้งอิ่มโอษฐ์อิ่มหนำที่น้ำนวล | ใจก็ยวนยั่วกระหยิ่มด้วยอิ่มใจ |
เสพย์พลางพูดพลางช่างฉอเลาะ | ทีออเซาะสิ้นที่จะมีไหน |
คเนนึกตรึกกริ่มยิ้มลไม | หวังมาไลยลอยฟ้าสุมามาลย์ ๚ |
๏ ครานั้นเจ็ดเจ้าสาวสวรรค์ | เห็นหะซันเสร็จเสพย์กระยาหาร |
ต่างเลื่อนเครื่องเยื้องย่องประคองพาน | ส่งนางพนักงานไปทันที |
จัดอ่างแก้วเต็มชลสุคนธรศ | น้อมประนตสระหัดถ์ขัดสี |
ผ้าสำหรับเช็ดหัดถ์จัดที่ดี | เปนของที่ชั้นสองเครื่องรองทรง ๚ |
๏ ครานั้นเมศเรอผู้แยบคาย | ขุนนางฝ่ายกรมวังดังประสงค์ |
กาหลิบใช้ไว้วางต่างพระองค์ | ก็คลานตรงเข้าไปเชิญดำเนินจร |
นำมายังเรือนจันทน์ชั้นที่สอง | ดูงามเรี่ยมเอี่ยมอ่องกว่าห้องก่อน |
พนักงานข้างในไขบัญชร | แล้วถอดกลอนเบิกบานทวารรับ ๚ |
๏ ครานั้นอาบูผู้เปนใหญ่ | ยังมิได้แจ้งจิตรกิติศัพท์ |
เห็นฉากชั้นกั้นห้องทองระยับ | พลอยประดับดูเพลินเจริญตา |
ผนังเขียนเขาไม้ในไพรสณฑ์ | มีรูปคนแยบคายหลายภาษา |
จัตุบาททวิบาทสอาดตา | สกุณามากมายมีหลายพรรณ |
ม่านโหมดเทศภู่ทองรองพื้นเขียว | มีขอเกี่ยวที่พระแกลแลเปนหลั่น |
พื้นล่างปูศิลาลายพรายพรรณ | เขียวขาบคั่นนากสวาดิสอาดตา |
แม้นคิมหันตระดูอยู่ข้างร้อน | มาพักผ่อนที่นั้นให้หรรษา |
เย็นพระไทยในมนัศกระษัตรา | เมื่อเวลาเที่ยงวันเธอบรรธม |
ที่ห้องในไว้เครื่องราชูประโภค | มีโต๊ะโตกตั้งรองล้วนทองถม |
สีสลับระยับตาน่าชม | ตั้งโต๊ะกลมพระเก้าอี้ที่ประทับ |
ที่หว่างโต๊ะตั้งถาดสอาดดา | ผลผลาหลายอย่างวางประดับ |
ใส่ขวดตั้งฝังพลอยย้อยระยับ | แลสลับแซมสีมณีนิล |
นางสำหรับขับกล่อมซ้อมสันทัด | ทรามกำดัดแลเลิศโฉมเฉิดฉิน |
บำเรอราชหัทยาเจ้าธานินทร์ | พร้อมพวกพิณพาทย์เสร็จเจ็ดสำรับ |
รวมบรรดานารีสี่สิบเก้า | ล้วนเยาว์ ๆ ขาวผ่องน่าต้องจับ |
นางประโคมดนตรีที่ประทับ | กำหนดนับเจ็ดนางสำอางตา |
แต่งเครื่องสรรพาภรณ์ไม่หย่อนยศ | มรกฎเพ็ชรดีมีค่า |
ติดเรือนทองชมพูนุทสุดราคา | ส้อยโสภาผิวเนื้อล้วนเจือจันทน์ |
แม้นชายใดได้ยลวิมลภักตร์ | กำเริบรักรุ่มร้อนถึงนอนฝัน |
ทั้งงามทรงงามศรีฉวีวรรณ | ถือพัดนั้นครบทั่วทุกตัวนาง |
แม้นองค์เจ้านัครามาประทับ | คอยคำนับงานพัดไม่ขัดขวาง |
หอมประทิ่นกลิ่นส่งทรงสำอาง | ทั้งรูปร่างน่ารักภักตร์เปนนวล |
เห็นหะซันเข้ามาพากันหมอบ | เหมือนนบนอบรับเสด็จทั้งเจ็ดถ้วน |
เนตรคำนับรับแต่ไกลไว้กระบวน | ชะม้อยม้วนนบน้อมอยู่พร้อมกัน ๚ |
๏ อาบูเล็งเพ่งพินิจพิศวง | ดังลอยลงจากห้องสรวงสวรรค์ |
จะแลไหนไพรพริ้งทุกสิ่งอัน | ยืนงงงันชมชิมไม่อิ่มใจ |
ย่างช้า ๆ มานั่งยังเก้าอี้ | แล้วจึงมีวาจาปราไส |
เชิญแก้วตามานี่ทีเปนไร | อย่าตั้งใจพัดวีให้พี่เลย ๚ |
๏ ครานั้นเจ็ดนางเจ้าสาวสวรรค์ | ฟังหะซันซ้ำเตือนไม่เชือนเฉย |
ทำเนตรอ่อนงอนจริตด้วยจิตรเคย | แล้วคลานเลยเข้าไปใกล้หะซัน ๚ |
๏ ครานั้นอาบูเจ้าชู้ชัด | หวังกระหวัดหวุดหวิดจิตรกระสัน |
เช่นคชางาแหลมเมื่อแย้มมัน | เฝ้ามุ่งมั่นหมายนึกสอึกชน |
นิ่งพินิจพิศนางไม่วางเนตร | นึกสังเกตวุ่นวายหลาย ๆ หน |
เคยเที่ยวเล่นเห็นแต่สาวพวกชาวพล | มาได้ยลนางในใจประวิง |
จะแลไหนก็วิไลยไปทุกแห่ง | ดูน้อยแน่งน่าชมสมเปนหญิง |
เนตรขนงวงวิไลยประไพพริ้ง | ยิ่งดูยิ่งพาเพลินเจริญตา |
จึงกล่าวความว่าทรามสวาดิพี่ | อย่าราคีเคืองข้องนะน้องหนา |
เจ้างามทรงวงภักตร์ลักษณา | กัลยาโฉมงามนี้นามใด |
ขอชมงามยามเศร้าเมื่อเร่าร้อน | ดังกอดก้อนน้ำแขงแท่งใหญ่ใหญ่ |
พอเย็นโสตรเย็นทรวงเย็นดวงใจ | เพราะรักใคร่พี่จึงถามนามอนงค์ ๚ |
๏ ครานั้นนารีศรีสวัสดิ | ประสานหัดถ์ตอบตามความประสงค์ |
จะประมูลทูลนามตามจำนง | แต่รูปทรงไม่สู้งามมีความอาย |
ไม่เหมือนน้องห้องโน้นที่โอนอ่อน | อรชรชื่อเพราะฉอเลาะหลาย |
หม่อมฉันนี้ทีเสงี่ยมจิตรเจียมกาย | รูปก็ร้ายชื่อช่อยไม่ช้อยชด |
จะประมูลทูลถวายยังอายจิตร | สุดจะคิดยากพร้อมต้องออมอด |
จะนิ่งอยู่ดูดังขัดมัธุรศ | พอสบเนตรก็ประนตประนมกร ๚ |
๏ โอ้พุ่มพวงหวงกันจนชั้นชื่อ | ฝ่ายพี่ฤๅสุดรักสมัคสมร |
อกจะพังเสียเพราะหวังสวาดิวอน | เจ็ดบังอรเมื่อไม่เห็นก็เปนดี |
พี่รักเจ้าไม่มีที่จะเทียบ | โดยจะเปรียบเกินกว่าดวงตาพี่ |
เจ้าดวงแก้วแววตาจงปรานี | พอเปนที่ส่างสบายเถิดสายใจ |
นางหนึ่งจึงเตือนเพื่อนสกิด | อย่าเบี่ยงบิดท่านจะขัดอัชฌาไศรย |
หล่อนทูลความตามซื่อดื้อทำไม | ฉันจะได้ทูลตามเปนความดี |
ดูเอาเถอะหล่อนจ๋าว่าไม่ขัน | มาเกี่ยงกันก็ได้ไฉนนี่ |
ใครอยู่น่าต้องประมูลทูลคดี | ก่อนผู้ที่อยู่หลังจึงบังควร ๚ |
๏ ครานั้นอาบูรู้น้ำจิตร | จึงกล่าวกิจว่าเจ้างามทรามสงวน |
จะเกี่ยงกันฉันใดไฉนนวล | จงบอกไปให้ถ้วนทุกอนงค์ ๚ |
๏ ครานั้นนารีศรีสวัสดิ | ประสานหัดถ์แจ้งนามตามประสงค์ |
หะซันฟังนั่งชมว่าสมทรง | มีจิตรจงเจ็ดนางไม่วางใจ |
จึงกล่าวว่ารูปก็งามนามเสนาะ | เชิงฉอเลาะล่อตาหาที่ไหน |
แล้วหยิบผลมะเดื่อว่าเหลือใจ | แสร้งส่งให้สร้อยจิตรวนิดา |
แล้วกล่าวคำรํ่าวอนสมรมิ่ง | เปนความจริงมิได้แกล้งแสร้งมุสา |
นามน้องน้อยสร้อยจิตรโฉมติดตา | รึงอุราร้อนจิตรด้วยฤทธิรัก |
ตั้งแต่พบประสบเจ้าสาวน้อย | รักเปนสร้อยสอดจิตรติดทรวงหนัก |
เต็มวิตกอกร้อนไม่ผ่อนพัก | สุดที่จักปลดสร้อยที่ร้อยทรวง |
เจ้าจงรับไมตรีของพี่บ้าง | อย่าระคางเคืองแค้นเฝ้าแหนหวง |
ได้ดับโรคโศกเสิมที่เติมตวง | เพราะเจ้าดวงใจพี่มีน้ำใจ |
แล้วหยิบพวงองุ่นงอมตระการ | มาจากพานถมยาแล้วปราไส |
ว่าเศร้าจิตรนามเจ้าเหมือนเศร้าใจ | หมายมาไลยพวงน้อยยังลอยลิบ |
อยากชมคำสำเนียงเสียงสักแว่ว | ปลาดแล้วหลากจริงช่างนิ่งกริบ |
ดังหมายดวงพวงพุ่มประทุมทิพย์ | คิดจะหยิบยื่นให้ก็ไกลมือ |
ไม่สมหวังดังคิดในจิตรพี่ | ทรวงเท่านี้มิหักเพราะรักฤๅ |
ยามวิโยคโศกเศร้าจะเล่าฦๅ | สมดังชื่อโฉมเศร้าที่เปล่าดาย |
ขอจงรับไมตรีของพี่ไว้ | แต่พอให้เศร้าส่างเหือดห่างหาย |
คงชีวันยังจะรอดไม่วอดวาย | เพราะสาวสายสุดใจรับไมตรี |
แย้มพยักทักถามทุกอนงค์ | ลูกไม้ส่งยื่นให้แจ่มใสศรี |
หลงปลาบปลื้มลืมวิญญาด้วยนารี | เริงฤดียิ้มแย้มกระแอมไอ ๚ |
๏ สุริยฉายบ่ายบังกำลังดี | ท่านเมศเรอเสนีผู้ใหญ่ |
ทูลสมมุติกระษัตริย์ขึ้นบัดใจ | ว่าห้องในต่อนี้ยังดีครัน |
ขอพระองค์จงเสด็จไปประพาศ | อนงค์นาฏนักสนมที่คมสัน |
เครื่องต่างต่างแยบคายมีหลายพรรณ | แล้วนำน่าพาจรัลรีบไป ๚ |
๏ ครั้นถึงห้องที่สามงามสอาด | ปลาดกว่าสองห้องผ่องใส |
ทั่วทุกสิ่งยิ่งประเสริฐเลิศวิไลย | จะดูใดให้เพลินเจริญตา |
ผนังกั้นชั้นในใสสอาด | ดูโอภาษแพรวพรายด้วยลายฝา |
พื้นระยับประดับด้วยโมรา | ลายก็น่าชมเหลือเปนเครือวัลย์ |
ลดเลี้ยวเกี่ยวกันพันรอบเสา | ลายเฉลาฉลุเลิศแลเฉิดฉัน |
มีช่ออ่อนซ้อนแซมผลแกมกัน | ที่ในนั้นสอดสีมณีนิล |
สีม่วงแซมแกมขาวราวกับเขียน | ดูแนบเนียนดังระบายด้วยลายหิน |
ถ้วนทุกสิ่งใสสดหมดมลทิน | หะซันผินภักตราตั้งตาชม |
ถึงลดหลั่นชั้นในใสสอาด | ศิลาลาดล้วนแดงสดแสงสม |
สุริยฉายบ่ายแสงแฝงพนม | ดูในร่มสุกสว่างดังกลางวัน |
ด้วยศิลาเงาดีสีสอาด | แลปลาดล้วนแดงดังแสร้งสรร |
วะวาบวับจับสีสุริยันต์ | ควรเปนขวัญไนยนาเวลาชม |
มีเครื่องตั้งต่าง ๆ วางเรียงเรียบ | ห้องประเทียบที่พักนักสนม |
พนักงานดนตรีที่นิยม | ล้วนน่าชมพร้อมเสร็จมีเจ็ดวง |
วงละเจ็ดคนถ้วนจำนวนนับ | คนเสียงขับแจ่มสำเนียงดังเสียงหงษ์ |
มีโต๊ะตั้งเครื่องสุวรรณบรรจง | ล้วนลายลงย้อมยาราชาวดี |
ใส่กระยาหารที่หวานมัน | ดวงกุดั่นประดับเพ็ชรพลอยเจ็ดสี |
รศขนมโอชาบรรดามี | ล้วนอย่างดีหลายอย่างต่าง ๆ กัน |
พร้อมเสร็จเจ็ดที่มีระยะ | เปนจังหวะแลหลากในฉากกั้น |
มีสาวเสร็จสุรางค์นางกำนัล | เครื่องสุวรรณระยับประดับกาย |
ประกอบแก้วปัทมราชแลอร่าม | ดูสุกพลามอาจสู้สุริยฉาย |
หะซันงงหลงปลื้มแทบลืมกาย | เฝ้าสอดส่ายจ้องหน้าดูนารี |
ยิ่งดูไปใจป่วนไม่ชวนเดิน | สติเพลินหยุดประทับกับเก้าอี้ |
ชวนอนงค์ทรงสำอางหญิงอย่างดี | มานั่งที่รอบเรียงเคียง ๆ ไป |
นางบำเรอก็จำเรียงมะโหรี | เสียงแซ่ซ้องดนตรีปี่ไฉน |
เมื่อหะซันนั้นประทับลงฉับไว | สังคีตในก็สงบสงัดลง ๚ |
๏ ครานั้นหะซันผินผันภักตร์ | ยิ้มพยักยวนจิตรพิศวง |
พูดปราไสไต่ถามนามอนงค์ | ยุพยงชี้แจงแสดงนาม |
เมื่อได้ฟังหวังจิตรพิศวาศ | พินิจนาฎนึกกำหนัดประวัติหวาม |
หยิบขนมต่าง ๆ แน่นางงาม | จะมีความขวยเขินสะเทินไย |
ขอเขิญชิมลิ้มลองหน่อยน้องรัก | พี่จักเห็นจิตรพิศมัย |
แม้นประจักษ์สักสิ่งที่จริงใจ | จิตรพี่เพียงช่อไม้ที่แบ่งบาน |
พลางชื่นแช่มแย้มยิ้มพริ้มไพร | เพราะหวังใจจงรักสมัคสมาน |
ทั้งชื่นตาชื่นใจใดจะปาน | นึกสำราญแย้มยิ้มด้วยอิ่มใจ ๚ |
๏ ครานั้นพระยากาหลิบ | ค่อยย่องกริบแฝงดูอยู่ใกล้ ๆ |
เห็นถ้วนถี่ทีทำนองต้องพระไทย | ภูวไนยนึกเมตตาแก่อาซัน ๚ |
๏ ครานั้นนาทีตีห้าเวลาบ่าย | เมศเรอรู้อุบายก็ผายผัน |
คลานไปแจ้งกิจจาไม่ช้าพลัน | จวนสายัณห์เชิญพักตำหนักใน |
ว่าพลางนำน่าพาจรลี | หะซันมีจิตรกำหนัดประวัติไหว |
จำเปนจำลาจำคลาไคล | ชำเลืองไนยนาสั่งด้วยหวังรัก |
เมศเรอนำมาไม่ช้าที | ถึงห้องสี่พิฦกตึกตำหนัก |
เชิงชาลาน่าทวารที่ชานพัก | พวกพนักงานเฝ้าเข้าคำนับ |
บ้างเปิดบานทวาราให้คลาไคล | มีสาวใช้อยู่ทุกชั้นโดยอันดับ |
มโหรีก็จำเรียงเสียงโทนทับ | ประสานศัพท์แซ่ซ้องกลองประโคม |
ล้วนแต่เหล่าสาวสุรางค์สำอางเอี่ยม | พึ่งรุ่นเรี่ยมดุจหล่อลออโฉม |
ดังดวงเดือนเคลื่อนคล้อยลอยโพยม | หลงประโลมแลเพลินเจริญตา |
หะซันแสนพิศวงพะวงสวาดิ | เดินนวยนาดเหลียวซ้ายแล้วปรายขวา |
นางสเทินเมินหมอบไม่ตอบตา | ล้วนทำพาทีกระบวนยั่วยวนใจ |
วงละเจ็ดนารีมีกำหนด | ล้วนหมดจดภักตร์แอร่มแจ่มใส |
ทั้งเจ็ดวงตั้งเคียงเรียงกันไป | ดังนางในฟากฟ้าไม่ราคี |
เปรียบอับศรกัลยาวราทรง | บำรุงองค์เทวราชอันเรืองศรี |
เจียนจะปลื้มลืมตนด้วยดนตรี | แล้วจรลีเลยจรัลถึงชั้นใน |
ผนังพื้นทองบุฉลุลาย | ดูเกี่ยวก่ายก้านขดแสนสดใส |
ประดับเม็ดเพ็ชรัตน์เรือนอุไร | เปนช่อไม้รายริมทับทิมแกม |
มรกฎประดับใช้ใบพฤกษา | สอาดดาดูดิเรกม่วงเมฆแถม |
บุเปนดอกออกอ่อนซอกซ้อนแซม | เพทายแนมสอดสีมณีนิล |
ไพฑูรย์ดีมีสังวาลประสานแซก | ดูงามแปลกหลงชมอารมณ์ถวิล |
เปรียบดังทิพสถานพิมานอินทร์ | ประเสริฐสิ้นสารพัดไม่ขัดตา |
ดูเพดานที่ประดิษฐผิดกับก่อน | ดังจันทรที่สำหรับกับเวหา |
ที่รอบรายฉายช่วงดวงดารา | ทัศนารุ่งระยับประดับพลอย |
เม็ดใหญ่ ๆ ใสสว่างกระจ่างแจ่ม | วะวาบแวมวามจริงเหมือนหิ่งห้อย |
ไม่มัวหมองทองปลั่งดังจะย้อย | ดวงเพ็ชรพลอยพร้อยพรายประกายวับ |
พื้นปูพรมทองของสำคัญ | กรองด้วยไหมเบญจพรรณเปนมันขลับ |
แลปลาดลาดปูยี่ภู่พับ | ลายสลับเพราพริ้งแก้วชิงดวง |
เทียมเทพเทวัญมาสรรค์สร้าง | ถวายอย่างทิพสถานพิมานสรวง |
แม้นผู้ใดได้เห็นก็เย็นทรวง | จนเลยล่วงลืมกินยามยินดี |
ที่พระแกลแลสว่างกระจ่างใจ | ม่านสองไขโขมพัตรจรัสศรี |
มีภู่แก้วแกมทองของอย่างดี | ประจำที่พระสูตรสอาดตา |
มีเชิงเทียนระย้าแก้วแกมสุวรรณ | ตั้งเปนหลั่นเมลืองแจ้งแสงกล้า |
ขับพื้นขาววาวสดรจนา | ดูจัดจ้าจับสีมณีแนม |
มีโต๊ะตั้งหว่างกลางสำอางสอาด | ผ้าปูลาดลายกรองพื้นทองแถม |
พานทองปลั่งตั้งประทับประกับแกม | ดูแซกแซมเปนจังหวะระยะกัน |
แลเปนหลั่นชั้นล่างวางพานใหญ่ | ชั้นบนไว้ย่อมสมดูคมสัน |
มีนาคินทร์ค่อมคล้องประคองยัน | สี่เศียรผันสี่ทิศวิจิตรลาย |
เมื่อผันแปรแลเห็นเปนระเบียบ | ของหวานเทียบตั้งประดับสลับหลาย |
ผลไม้ต่าง ๆ จัดวางราย | ดูแยบคายเครื่องตระการแลลานตา |
ทั้งเจ็ดเครื่องเรืองรองของประเสริฐ | ประกอบเกิดปรากฎสมยศถา |
ริมผนังตั้งเรียงเคียง ๆ มา | มีสุราแลองุ่นไว้จุนใจ |
หะซันเล็งเพ่งพินิจจิตรนิวรณ์ | ว่าห้องก่อนสิ่งนี้หามีไม่ |
ว่าต้องห้ามยามอาทิตย์พึ่งอุไทย | ท่านมิให้เสพย์ซดรศสุรา |
แม้นเลยเที่ยงเบี่ยงบ่ายฝ่ายสายัณห์ | ไม่หวงกันตามจะปราถนา |
เวลานี้สุริยนต์สนธยา | จึ่งไม่ขัดจัดหามาสำรอง |
น้อยฤๅขวดมีฝาดูน่ารัก | ลายสลักเหลือดีไม่มีหมอง |
ถ้วยโมราลายเหลืองดูเรืองรอง | มีเชิงทองรองรับประดับพราย |
ของนา ๆ ปรากฎรศต่าง ๆ | แก้วกระจ่างเงาสอาดปลาดหลาย |
ล้วนดี ๆ มีค่าโมราลาย | อย่างแยบคายของกระษัตริย์ช่างจัดทำ |
แล้วเดินเลยแลมาเห็นนารี | ดรุณีน่าชมล้วนคมขำ |
ทั้งเจ็ดสาวขาวปลั่งนั่งประจำ | วิไลยล้ำดุจหล่อลออตา |
สองปรางเทียบเปรียบอย่างมะปรางเปล่ง | ภักตร์ดั่งเพ็งจันทร์กระจ่างกลางเวหา |
เมื่อแย้มเยื้อนเตือนมนัศทัศนา | สุดโสภาผิวผ่องดังทองคำ |
เมื่อพิศเนตร ๆ กลมคู่คมศร | เมื่อคมค้อนเขินขามก็งามขำ |
เหลือบแลพบหลบหนีท่วงทีทำ | เปนที่สำราญมนัศเมื่อทัศนา |
งามด้วยเครื่องประดับกายสายสมร | พัตรากรณ์หลากเล่ห์ลายเลขา |
เปนริ้วทองกรองกระหวัดเครือลัดา | คลุมกายาเว้นว่างไว้หว่างทรวง |
ช่างเฉิดฉายลายเลือดไม่เผือดสี | ดังจะชี้ชมประทุมที่หุ้มหวง |
เสียดายแท้แต่ไม่เห็นให้เด่นดวง | กระเพื่อมพวงอยู่ในห่อก็พอชม |
งามฉวีสีสันสุวรรณมาศ | เอี่ยมสอาดนาดนวยดูสวยสม |
เสงี่ยมงามยามพิศชิดชม | ปลื้มอารมณ์อิ่มอุราของอาซัน |
งามเครื่องประดับเกษวิเศษสวย | ดูพุ่งพวยเพ็ชรพรายเฉิดฉายฉัน |
ตุ้มหูเพ็ชรเม็ดระยับประดับกรรณ | กุณฑลสั้นเสียดปักสลักมวย |
สวมสร้อยสอิ้งเพริศพริ้งแพรว | ประกอบแก้วแกมสุวรรณคมสันสวย |
ทองกรแก้วแวววามงามสำรวย | ดูนาดนวยน่ารักลักขณา |
สวมประวิชติดเพ็ชรเจ็ดกะหรัด | ทุกนิ้วหัดถ์กรีดกรายทั้งซ้ายขวา |
แต่ล้วนเม็ดเพ็ชรนิลดวงจินดา | ทั่วกายาแลระยับจับแสงไฟ |
พร้อมจริตกิริยามารยาตร | สำเนียงนาฎเพราะพร้องสนองไข |
สมเปนศรีสาวสุรางค์แน่งนางใน | บำเรอไทธิบดินทร์ยั่วยินดี |
ช่างงามทรงวงวาดวิลาศลักษณ์ | งามผิวภักตร์ผ่องไม่มีไฝฝี |
งามจริตกิริยาเมื่อพาที | สุดอินทรีย์สวยสมล้วนคมคาย |
ความจริง ๆ หญิงงามทั้งสามห้อง | ออกแซ่ซ้องสาว ๆ ทุกเหล่าหลาย |
ล้วนนางในได้แบบอย่างแยบคาย | จะเฉิดฉายเช่นนี้มีเมื่อไร |
แม้นประสงค์ดวงวิเชียรพากเพียรหา | ไม่เนิ่นช้าคงจะกลั่นสรรมาได้ |
หากจะหานารีดังนี้ไซ้ | เปนยากใจสุดจะเสาะไม่เหมาะตา |
เว้นแต่นางอย่างวิไลยในสวรรค์ | ถึงกระนั้นถือว่านี่ยังดีกว่า |
โน่นมนุษย์สุดหมายสุดสายตา | นี่พบหน้าเช้าเย็นเห็นว่าดี |
นิ่งพินิจพิศวงทรงสอาด | ใจจะขาดเสียเพราะนางสำอางศรี |
ให้ปลื้มปลาบซาบสิ้นทั้งอินทรีย์ | ร้อนฤดีดาลจิตรให้ติดตา |
พลางหยุดพักกวักเรียกอนงค์นาฎ | มาเคียงอาศน์สองฝ่ายทั้งซ้ายขวา |
หัดถ์ขยับจับกรกัลยา | ชวนให้มานั่งใกล้ด้วยใจรัก ๚ |
๏ ครานั้นนารีศรีสมร | ประสานกรก้มยิ้มอยู่ริมตัก |
หะซันกริ่มยิ้มลไมปราไสซัก | ว่านงลักษณ์เหลืองามนี่นามใด |
จงเอ่ยออกบอกบ้างอย่าหมางจิตร | พี่ได้พิศผิวภักตร์นึกรักใคร่ |
จะอดสูดูอายพี่ชายไย | พอชื่นใจที่ประจักษ์ตระหนักนาม ๚ |
๏ นางนึกอายชม้ายชม้อยช้อยเนตร | จึงแจ้งเหตุเขินปนระคนขาม |
ว่าหม่อมฉันชั้นนี้ไม่ดีงาม | เปนทราม ๆ สาวใช้ชื่อไข่มุก |
เปนข้าบาทบงกชบทเรศ | พึ่งพระเดชเช้าเย็นพอเปนศุข |
ภูวไนยใช้อยู่เช่นยุนุก | ไม่อาจอุกเอื้อมประเมินให้เกินภักตร์ ๚ |
๏ หะซันชมสมงามนามเจ้า | ไฉนเฝ้าออมอดถ่อมยศศักดิ์ |
จะแกล้งกลั่นสรรทรงเช่นนงลักษณ์ | ทั่วทั้งจักรวาฬไม่พานทรง |
ผู้ขนานนามเจ้าเยาวลักษณ์ | ควรเปนศักดิ์อภิชาติราชหงษ์ |
คือเชื้อปราชญ์ปรีชาปัญญายง | จึ่งขนานนามอนงค์เสนาะนาม |
ว่าพลางทางกล่าววาที | แก้วพี่อย่าสเทินเขินขาม |
รินองุ่นให้พี่บ้างเถิดนางงาม | ได้มีความมิตใจเปนไมตรี |
จงชื่นช่วยถ้วยถือในมือน้อง | จะดื่มคล่องคอหอยอร่อยพี่ |
แล้วเชิญน้องลององุ่นที่ฉุนดี | พอเปนที่เบิกบานสำราญใจ ๚ |
๏ นางฟังถ้อยถอยจากสุพรรณอาศน์ | มาหยิบภาชน์ทองรองถ้วยผ่องใส |
รินองุ่นให้พลันด้วยทันใด | แล้วช้อยใช้หางตาให้อาซัน ๚ |
๏ หะซันรับจับถ้วยมาถือไว้ | แล้วปราไสเชิงชวนให้สรวลสันต์ |
แม้นพี่ดื่มหมดถ้วยลงด้วยพลัน | ขอให้ขวัญตาพี่มีมงคล |
ให้ได้ชมสมมาดสวาดิหวัง | เปนสัจจังสารพัดอย่าขัดสน |
กินองุ่นเสร็จสรรพขยับตน | แล้วกล่าวว่านฤมลจงปรานี |
นํ้าองุ่นฉุนดีไม่มีสอง | เชิญนวลน้องแม่จงรินกินกับพี่ |
โฉมยุพินรินมาไม่ช้าที | ตั้งลงที่ตรงหน้าของอาซัน |
แล้วประดิษฐคิดกลอนอักษรสาม | จำเรียงความไพเราะเหมาะขยัน |
ว่าดวงแก้วโกมุทบุษบัน | พึ่งชูชันตูมตั้งขึ้นบังใบ |
ภุมรินบินตอมเพราะหอมหวล | เรณูนวลยวนจิตรพิศมัย |
ก็เปรียบอย่างนางรุ่นเจริญไวย | ย่อมพึงใจแก่บุรุษสุดนิยม |
อันประทุมตูมตั้งกำลังแย้ม | ย่อมเกื้อแกมภุมรินบินมาสม |
แต่นางงามยามชายหมายภิรมย์ | ย่อมชวดชมอกช้ำระกำใจ |
เว้นแต่องค์พงษ์พรหมบรมนารถ | จะสมหวังดังพระราชอัชฌาไศรย |
อันชายอื่นหมื่นแสนในแดนไตร | เห็นไม่เสร็จสมอารมณ์ปอง ๚ |
๏ หะซันว่าฉากลอนงอนจริต | ช่างประดิษฐเหลือดีไม่มีสอง |
แจ้วสำเนียงเสียงเสนาะเพราะทำนอง | ช่างติดต้องดวงจิตรดังติดตัง |
อันตัวเจ้าเยาวยอดยุพเรศ | พระภูเบศร์โปรดพี่มีรับสั่ง |
ประทานพี่นี้ชัดเปนสัจจัง | ฤๅน้องยังจะขัดพระหัทยา |
ยิ้มพลางทางกล่าววาที | หล่อนคนนั้นมาข้างนี้ทีเถิดจ๋า |
พลางกุมกรสาวสรรค์กัลยา | มีวาจาปลอบถามนามอนงค์ |
นางยิ้มเยื้อนเอื้อนอำจำแถลง | ชี้แจงแจ้งนามตามประสงค์ |
ดาวพระศุกรสุกกํ่าที่จำนง | นั้นแลตรงกันกับนามไม่งามงอน ๚ |
๏ นิจาเจ้าเฝ้าถ่อมถนอมสวย | เจ้ารูปรวยเรือนจำรัสประภัศร |
ดาวพระศุกรซึ่งประจำในอัมพร | เนตรสมรงามกว่าดาราพราย |
เมื่อเหลือบเนตรสบเนตรขนิษฐ์นาฎ | ดังจะบาดตาพี่มิได้หาย |
พูดพลางยิ้มพลางทางภิปราย | เชิญโฉมฉายอย่าว่าใช้ขอไปที |
รินสุรามาให้พี่นี้สักถ้วย | ได้ดื่มด้วยมือนางสำอางศรี |
ชัณษาน่าจะยืนได้หมื่นปี | เพราะแก้วพี่มีจิตรมิตใจ |
นางน้อมรับวาทีมิได้ช้า | รินสุรามาประจงส่งให้ |
อาบูหะซันผันรับดื่มฉับไว | เอียงถ้วยให้นางดูให้รู้ที |
นางเห็นสิ้นรินเพิ่มเติมมาตั้ง | หะซันยังนึกอร่อยไม่ถอยหนี |
กำลังปลื้มดื่มสุราอวดนารี | เปรมปรีดิ์ประดิพัทธกำหนัดใน |
นางเห็นสิ้นรินเพิ่มเติมไม่ยั้ง | หะซันนั่งกินหมดหางดไม่ |
ออกมึนมัวทั่วกายวุ่นวายไป | อยากแต่ใคร่เย้ายวนทุกนวลนาง |
ทั้งเมาเหล้าเมารักเมานักหนา | จนภักตราแดงกํ่าดังนํ้าฝาง |
พูดพิไรใจปลื้มดื่มไปพลาง | จนท่าทางวิปริตด้วยฤทธิ์เมา |
จนถึงพวงไข่มุกอันสุกศรี | หะซันมีวาจาว่าโฉมเฉลา |
ขอเชิญยอดยุพยงนงเยาว์ | แม่รินเหล้ามาจะรับคำนับนาง ๚ |
๏ ครานั้นนวลลอองเจ้าฟองมุก | ก็เดินลุกออกมาลัดไม่ขัดขวาง |
รินสุรายารำพัดที่จัดวาง | ค่อยแก้พลางโรยใส่ในสุรา |
รีบดำเนินเดินตรงมาส่งให้ | แล้วนั่งใกล้หะซันด้วยหรรษา |
หะซันกริ่มยิ้มขยับรับสุรา | แล้วพูดจายั่วเย้าเยาวมาลย์ ๚ |
๏ ครานั้นสายใจไข่มุกน้อย | ทำชดช้อยกล่าวซํ้าล้วนคำหวาน |
เชิญพระองค์ทรงเสวยไชยบาน | ให้ชื่นฉํ่าสำราญหฤไทย |
ข้าจะช่วยอวยพรกลอนสุภาพ | ทำนองกาพยสารเคยขานไข |
ทรงอักษรกลอนสวัสดิสัมผัสใน | พระจะได้ดื่มสิ้นด้วยยินดี |
ได้ฟังคำซํ้าตอบว่าขอบจิตร | เชิญมิ่งมิตรกล่าวกลอนอักษรศรี |
นางกล่าวบทมธุรศวาที | อันเปนที่สรรเสริญเจริญยศ ๚ |
๏ พระเอยพระบารมี | พ้นที่พรรณาปรากฎ |
ควรโอนเกล้าบังคมประนมประนต | ด้วยทรงทศพิธไม่ผิดธรรม์ |
เปรียบดังพระศศิธรจรกระจ่าง | ส่องสว่างโลกแจ้งด้วยแสงฉัน |
ชาวธานีมีจิตรคิดสำคัญ | ล้วนหมายมั่นทรงฤทธิ์เปนบิตุรงค์ |
สมณะพราหมณาข้าพระบาท | อิกพระราชตระกูลประยูรหงษ์ |
พระสนมกรมในนํ้าใจจง | สติปลงจงรักเพิ่มภักดี |
ขอพระชนม์ยืนนานผ่านสมบัติ | ได้ดังอัฐพรเลิศประเสริฐศรี |
พระเคราะห์โศกโรคไภยอย่าได้มี | ได้เปนที่พึ่งพระเดชปกเกษเอย ๚ |
๏ หะซันฟังตั้งชมคารมสมร | เจ้ากล่าวกลอนเพราะพร้องนักน้องเอ๋ย |
จนซาบซ่านหวานใจกะไรเลย | แต่พอเอ่ยก็พเอิญเจริญรศ |
ว่าพลางหยิบฉวยถ้วยสุรา | เงยหน้าดื่มกักพักเดียวหมด |
เต็มชะงักภักตร์หงายกายระทด | พิศม์โอสถซ่านซบสลบไป |
ถ้วยสุราคามือยังถืออยู่ | กายอาบูแน่นิ่งไม่ติงไหว |
บรรดาเหล่าสาวสุรางค์นางใน | ต่างเข้าไปรับรองประคองกาย ๚ |
๏ ครานั้นเจ้านิเวศน์เขตรขัณฑ์ | เห็นหะซันเมาสมอารมณ์หมาย |
เสด็จจากฉากกั้นพรรณราย | แล้วผันผายออกไปใกล้หะซัน |
เห็นสมหวังดังตริดำริห์ไว้ | ชอบพระไทยเธอสำรวลทรงสรวลสันต์ |
จึงดำรัสตรัสสั่งคนทั้งนั้น | ให้ช่วยกันเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกาย |
เสื้อกังเกงของเขาเข้าสวมใส่ | ชอบพระไทยนึกนิยมด้วยสมหมาย |
จึงให้เรียกนายประตูคนผู้ชาย | มาธิบายบอกเล่าให้เข้าใจ |
จงอุ้มพาหะซันรีบผันผาย | อย่าวุ่นวายให้แซ่แพร่ไปได้ |
จงเร่งเร็วอย่าช้าพาเอาไป | วางไว้ในเคหาเวลานี้ |
อย่าอื้ออึงเอิกเกริกเบิกทวาร | ทั้งสองบานออกไว้เร่งไพร่หนี |
คนใช้รับอัภิวันท์ด้วยทันที | ไม่รอรีอำลารีบคลาไคล |
ถึงเคหาเวลาสักกึ่งยาม | เร่งทำตามรับสั่งไม่ยั้งได้ |
แล้วเร่งรีบคืนหลังเข้าวังใน | กราบทูลไทธิบดินทร์ด้วยยินดี ๚ |
จบท่อนที่ ๓
ท่อนที่ ๔
ขุนพินิจจัยแต่ง
๏ ครานั้นพระองค์วงษ์อาหรับ | ได้สดับโดยกระบวนถ้วนถี่ |
พระแย้มยิ้มอิ่มเอมทรงเปรมปรีดิ์ | โปรดปรานีอาบูอยู่มากนัก |
ด้วยใจเขาใคร่เปนปิ่นประเทศ | นฤเบศร์เรืองฤทธิ์สิทธิศักดิ์ |
เพื่อประหารพาลพวกทรลักษณ์ | หวังประจักษ์แก่เหล่าชาวประชา |
ยี่สิบสี่ชั่วโมงเมื่อวันวาน | ลงทัณฑ์พวกสาธารณ์อันหาญกล้า |
ที่เกลียดชังรังรุมกลุ้มอุรา | เจตนาสมเสร็จสำเร็จการ |
พอราตรีล่วงหลายนาฬิกา | เสด็จมาปรางมาศราชฐาน |
ประทับแท่นแน่นพธูน้อมอยู่งาน | บริบาลบาทาฝ่าลออง |
นวลอนงค์บรรจงดนตรีรับ | ประโคมขับประสานขานสนอง |
นางระบำทำท่าทีทำนอง | จำเรียงร้องบำเรอบาทนารถผธม |
ล่วงรัติกาลเวลาดาราดับ | ไถงถับถึงทิศอุไทยปฐม |
ประชาชนตื่นทั่วไม่มัวระงม | รื่นอารมณ์บรรเทิงเริงสกล |
บ้างซื้อขายรายเที่ยวจรจรัล | เหตุหะซันไม่แพร่งทุกแห่งหน |
เพราะทรงฤทธิ์ปิดเงื่อนงำยุบล | ใครทราบสนสื่อแส้เที่ยวแพร่พราย |
ได้ตัวจะลงทัณฑ์มันตรึงตราก | ให้ลำบากบอบอยู่ไม่รู้หาย |
กิติศัพท์ก็ห่อนขจรจาย | สมมาดหมายจอมจักรหลักชวา ๚ |
๏ ครานั้นอาบูนอนอยู่เย่า | พิศม์ยาเพลาเสื่อมส่างสว่างหน้า |
พอบ่ายควายชายลับบรรพตา | ตื่นนิทราหลับเนตรสังเกตใจ |
นึกว่าตนอยู่บนพิมานมาศ | เรียกนางนาฎโดยจิตรพิศมัย |
แม่ไข่มุกแม่พระศุกรดาราอุไร | มาไว ๆ ให้เรียมชื่นรื่นรำจวน |
แม่แสงจันทร์แจ่มฟ้าแม่อารุณ | จงเจือจุนเชษฐามาโดยด่วน |
พี่ร้อนจัดช่วยพัดกระพือนวล | ทรามสงวนแม่อย่าร้างหมางไมตรี |
เสียงอาบูถึงหูแห่งมารดา | ฟังกิจจาใคร่ครวญสิ้นถ้วนถี่ |
พลันรีบรุดสู่บุตรแล้วพาที | โอลูกแก้วแม่นี้เปนไรไป |
สิ่งอันใดเล่านะมาพะพาน | จึงเรียกขานอึงมี่นี่ไฉน |
อาบูเงยภักตร์ดูอดสูใจ | พลางตอบไขโดยการโกรธมารดา |
ผู้ใดเล่าเจ้าเรียกว่าลูกชาย | เร็ว ๆ ยายรีบแจ้งอย่าแสร้งว่า |
มารดาเอื้อนมธุรศพจนา | เจ้าลูกข้านามฤๅคือหะซัน |
เดี๋ยวนี้เล่าเจ้าหมายไม่ใช่บุตร | คำผรุศหลากแท้มาแปรผัน |
ไภยมล้างเพื่อลืมเร็วสกรรจ์ | โดยสำคัญพิปริตจิตรพรํ่าพรู |
อีหญิงเลวล่วงว่าข้าลูกเต้า | วาจาเจ้าเล่ห์ลดน่าอดสู |
เรานี้มิใช่ไอ้อาบู | คือองค์ภูมิบาลผ่านนคร |
มารดาสดับห้ามปรามหะซัน | จงนิ่งพลันฟังราวแม่กล่าวก่อน |
อย่าอาจเอื้อมยกตูเปนภูธร | จะขจรติฉินข้อนินทา |
เพราะเจ้ากล่าวเกินตัวไม่กลัวผิด | เสียจิตรคลั่งเพ้อละเมอบ้า |
หะซันย้อนตอบไปมิได้ช้า | ว่าข้าบ้า ๆ เองไม่เกรงใจ |
จักบอกอิกครั้งหนึ่งจงพึงจำ | เราพระเจ้าทรงธรรมเลิศล้ำใหญ่ |
นางว่ากรรมใดปิดมิดดวงใจ | พ่อจึงได้ไขว่กิจพูดผิดนัก |
กิริยาเจ้านั้นก็ฟั่นเฟือน | ใหลเลื่อนเปื้อนปานบ้าเห็นปราจักษ์ |
ดวงจิตรแม่กลัดกลุ้มด้วยรุมรัก | อกจะหักเพราะเจ้าคลั่งเพียงพังแด |
ลูกเอ๋ยจงหยุดยั้งฟังแม่ก่อน | คิดผันผ่อนคนึงดูให้รู้แน่ |
แรกพ่อเกิดมานั้นใช่ผันแปร | ตัวของแม่บำรุงผดุงไว้ |
แต่ยังเด็กเล็กอ่อนหย่อนพรรษา | จนวันน่ากายหนุ่มมาคุ้มใหญ่ |
ครั้นบิดรล่วงลับดับชีพไป | แม่ตามใจสารพัดไม่ขัดเลย |
ศุขทุกข์จะได้ช่วยกันผันแปร | เห็นหน้าแต่แม่ลูกนะเจ้าเอ๋ย |
เจ้าคบเพื่อนกินเล่นใช่เช่นเคย | แม่เพิกเฉยทรัพย์หย่อนผ่อนใจออม |
เปนแต่เตือนสติพ่อพอให้รู้ | เพื่อนมาสู่เจ้ายังหวังถนอม |
ด้วยรักลูกห่อนให้หฤไทยตรอม | แม่ประนอมตามเจ้าทุกเพรางาย |
เดี๋ยวนี้เจ้าคลั่งไคล้จิตรใหลหลง | ทรวงแม่คงครากแยกแตกสลาย |
ทุกเช้าคํ่าจะตรมระทมกาย | เพราะพ่อสายสวาดิพูดอาจอง |
จงมองดูเรือนเย่าเนาแต่น้อย | ไม่เคยคล้อยเคหาอย่างมหลง |
ผิดกันมากกับวังดังจำนง | ขอพ่อจงใคร่ครวญให้ควรการ |
หะซันสดับไขไหวจิตรนึก | นิ่งรฦกโดยชอบระบอบสาร |
เรื่องนี้เล่าเรารู้มาช้านาน | ตั้งศอกกรานคางนึกพลางตรึกตรา |
คลายคลั่งไคล้กลับได้สมประดี | อาการมีเสื่อมส่างสว่างหน้า |
จึงแถลงแจ้งการกับมารดา | ตัวลูกยาอยู่กับแม่มาแต่เยาว์ |
นั่นแม่นี่ลูกแท้คือหะซัน | ซึ่งเฟือนฟั่นแปรไปไฉนเล่า |
แม่สดับแสนศุขทุกข์บันเทา | ดังหยิบเอาจันทรามาให้พลัน |
ด้วยลูกเต้าเขาคงหลับหลงใหล | พเอิญให้เล็งเห็นดังเช่นฝัน |
เบือนหน้ามาจะถามความหะซัน | โดยนิมิตรผิดผันเหียนหันไป |
ถ้าทราบเรื่องระแวงแจ้งแจ่มข้อ | จะหัวร่อที่มัวลืมตัวใหล |
ยังมิทันจะถามตามนึกไว้ | ในทันใดอาบูขู่สำทับ |
อุเหม่มึงชั่วช้าช่างสามาญ | กลั่นกล่าวสารเสริมกิจประดิษฐประดับ |
จะโลมใจให้กูนี้นอบนับ | อีสับปลับเบื่อนักอย่าชักแช |
เรานี้ฤๅใช่ชื่ออ้ายหะซัน | มึงมุ่งมั่นหมายจิตรคิดเปนแม่ |
กูก็รู้ว่ากูกาหลิบแท้ | เองผันแปรมุสาแกล้งพาที |
ขณะนั้นมารดาแห่งอาบู | ใคร่ครวญดูผิดกระบวนถ้วนถี่ |
สลามมหะหมัดขึ้นทันที | พระปรานีโปรดด้วยช่วยลูกรา |
พลางห้ามปรามปลอบบุตรให้หยุดยั้ง | เจ้าจงฟังสุนทรมารดรว่า |
เราเปนไพร่อย่าได้อาจเจรจา | การหยาบช้าต่อไทไภยจักรณ |
แม่จะเล่าก่อนหนาเวลาวาน | นครบาลยาตรยั้งยังถนน |
นำอิแมนศิษย์ทั่วทุกตัวคน | มาเฆี่ยนป่นย่อยยับแล้วขับไป |
เพราะพูดพละการพาลคิดคด | ทรยศทุจริตผิดนิไสย |
จึ่งจวบโทษคับขันมหันตไภย | ตัวอย่างให้ตรึกตรองของจึงเปน |
แม้นยกตนว่าท้าวเจ้านิเวศน์ | จักเกิดเหตุใหญ่ยุคแรงขุกเข็ญ |
ด้วยพูดผิด ๆ นำให้ลำเค็ญ | จงพึงเห็นโทษร้ายจะป่ายปน |
ซึ่งมารดรวอนรํ่าคำฉนี้ | หวังจักชี้ไภยแจ้งแห่งนุสนธิ์ |
ให้หะซันครั่นคร้ามหวามกระมล | เหือดสกลคลั่งไคล้ใหลหลงงม |
ความกลับแชแปรปรวนสวนเข้าตัว | ยิ่งมืดมัวหมกเม้นไม่เห็นสม |
ชักภิปรายหมายคืนลูกฝืนลม | นางตรอมตรมรำพึงคนึงนาน |
อาบูรู้เรื่องต้นโดยหนหลัง | ตริถึงวังจริงจังเราสั่งสาร |
พลันประกอบตอบรศพจมาน | เองอย่าขานกูใช่ไอ้อาบู |
ยายอย่าหมายว่าข้าเปนลูกเต้า | หยุดนิ่งเนาจักแจ้งแห่งหูสู |
พระเจ้าทรงธรรมฤๅคือตัวกู | มั่นคงอยู่เที่ยงแท้แน่นอนนัก |
เองอย่าเอาอันใดมาไขแก้ | เรานี้แลคิดชอบระบอบหนัก |
ที่ลงโทษพาลก่อทรลักษณ์ | จงประจักษ์สั่งเขาให้เอามา |
คำเองกล่าวชี้แจงแสดงสาร | เปนพยานขานจังสมขั้งข้า |
ป่วยการเปล่าเราไม่เชื่อเบื่อวาจา | มึงมุสาโดยเดาพูดเปล่าดาย |
จะแจ้งให้ประจักษ์อิกสักครั้ง | นามเราตั้งเอกอรรคเปนหลักหลาย |
คือพระเจ้าทรงธรรม์มั่นคงยาย | บทธิบายแบบกิจไม่ผิดพรรค์ |
เปนสัจจังดังข้าว่าฉนี้ | เที่ยงมูลมีแท้เค้าใช่เราฝัน |
มิได้หลับนิทราตื่นตาชัน | ระเบียบบรรพ์บงชอบระบอบใน |
กูสดับข้อความตามเองขาน | นครบาลโบยผู้ผิดกิจใหญ่ |
ทำดังคำข้าสั่งบังคับไว้ | เกริกเกรียงไกรอำนาจสิทธิ์ขาดการ |
เราบรรเทิงหฤไทยได้ลงโทษ | แก่คนโฉดชั่วช้าอันกล้าหาญ |
พวกหลังหลอกหน้าไหว้ใจสาธารณ์ | เหล่าคนพาลเสร็จสิ้นสมจินดา |
ใครนำเราเนาสถานในบ้านนี้ | จงช่วยชี้ช่องแน่เที่ยงแท้ว่า |
อย่าเชือนแชแปรผันจำนรรจา | เร็ว ๆ หวาแสดงให้แจ้งใจ |
อนึ่งเล่าเราเชื่อกายเราชัด | แก่นกระษัตริย์ลํ้าเลิศประเสริฐใหญ่ |
เถลิงภพสวรรยาราไชย | จอมสุไธยปกหล้าประชากร ๚ |
๏ ครานั้นมารดาแห่งอาบู | มิได้รู้เรื่องปรุอนุสร |
เปนแต่คเนใจไม่แน่นอน | ฟังสุนทรบุตรกล่าวผิดราวความ |
เห็นจริตติดขวางไปข้างบ้า | พูดหยาบช้าโฉงเฉงไม่เกรงขาม |
ว่าเพลา ๆ เจ้าฟังแม่ห้ามปราม | พูดพลุ่มพล่ามพูดจะนำโทษจำตรึง |
พ่อสงบสติลงให้จงหนัก | จงเงยภักตร์ชลีพระที่พี่ง |
โปรดบันดาลคลั่งหายวายคนึง | เพื่อรำพึงผิดอย่างให้ห่างไป |
ผู้อื่นเล่าเขาไม่อาจเจรจา | เหมือนลูกยากล่าวกิจผิดนิไสย |
ถ้าการทราบถึงพระภูวไนย | จะเกิดไภยใหญ่ทั่วเข้าตัวตน |
เจ้าหมายจิตรคิดหวังได้ดังนั้น | แม่หวั่น ๆ ดูเห็นไม่เปนผล |
กำแพงย่อมมีบังฟังยุบล | ดีชั่วชนใช่อั้นคงพรรณา |
ปลอบลูกชายหมายจะให้สงบ | กลับทวนทบภิปรายร้ายนักหนา |
จึงอาจอหังการต่อมารดา | อีชราครวญครํ่าน่ารำคาญ |
กูยิ่งว่าเท่าไรก็ไม่ลื้น | ยังฝ่าฝืนก้าวร้าวมากล่าวสาร |
จงหยุดยั้งฟังข้าอย่าจัณฑาล | ขืนพูดจาสามาญคงม้วยมรณ์ |
พระปิ่นเกษชวาอาหรับนั้น | คือเรามั่นคงสิทธิ์มหิศร |
เลิศดิลกหล้าประชากร | โดยสุนทรจริงมึงจงพึงฟัง |
แม้นมิเชื่อกูจะทำให้หนำจิตร | ล้างชีพิตรม้วยสิ้นจนดินฝัง |
มารดาเห็นว่าบุตรไม่หยุดยั้ง | ยิ่งเพ้อคลั่งฟั่นเฟือนแชเชือนไป |
สำคัญตนวิกลวิปริต | เห็นการผิดประกอบหาชอบไม่ |
ห่อนกลับคืนเข้าเดิมหลงเคลิ้มใจ | นางโหยไห้ครวญครํ่าน้ำเนตรนอง |
รํ่าพลางยอกรข้อนอุระ | ชกศีศะรํ่าไรให้หม่นหมอง |
ยิ่งทุกข์ยิ่งโศกรํ่าระกำกอง | ยิ่งตรมตรองกระสันพรรณา |
อนิจาอาบูผู้ลูกรัก | อกแม่จักหักเศร้าเพื่อเจ้าบ้า |
แดอาดูรภูลเทวศอาทวา | ไยพ่อมาฝันเห็นการเช่นนี้ |
นับวันทรวงแม่จะทำลาย | ไม่อยากอยู่สู้ตายไปเมืองผี |
ขอลับหน้าลาลูกจรลี | ใช่ถึงที่แต่เปนกรรมจึงจำไกล |
บิดามรณาชีวาแล้ว | เห็นลูกแก้วยาจิตรพิศมัย |
ค่อยผาศุกมานานสำราญใจ | เจ้าคลั่งไคล้ใหลหลงแม่คงวาย |
สิ่งไรลูกหากจักอยากได้ | แม่หาให้เสร็จสมอารมณ์หมาย |
จะถูกแพงเท่าไรไม่เสียดาย | สิบชั่งขายให้ฤๅก็ซื้อเอา |
แม่เสาะหาอาหารคาวหวานสรรพ | อิกสำรับเสพแกมแกล้มกับเหล้า |
ลูกอยากกินสิ่งไรใจแม่เร้า | ผดุงเจ้าไม่ให้ขัดโดยอัชฌา |
หนึ่งจัดผ้านุ่งห่มสะสมไว้ | แม่ตามใจลูกรักนั้นนักหนา |
เจ้าเจ็บไข้ใจแม่อาทวา | ในอุราชอกช้ำระกำกอง |
รักลูกสุจริตดังจิตรแม่ | หมั่นดูแลไม่มีราคีหมอง |
สู้อดนอนอดกินถวิลปอง | แม่ประคองเลี้ยงเจ้าทุกเช้าเย็น |
มิได้คิดเหนื่อยยากลำบากใจ | ถึงพูดไปไหนลูกจะเล็งเห็น |
ขอแต่พ่อเสื่อมหายพอวายเว้น | ให้แม่เปนศุขชื่นรื่นสำราญ |
หมายจะฝากศพเจ้าให้เจ้าฝัง | เมื่อภายหลังก่อกุฎสุทธิ์สถาน |
ไม่สมหวังดังจิตรแม่คิดการ | จักประจานว้าเหว่เอกากาย |
ด้วยศพไม่ได้ฝังเหมือนดังเขา | ผีเปื่อยเน่าทิ้งไว้น่าใจหาย |
การแพร่ไปถึงไหนก็ได้อาย | โอ้ตนตายปะชั่วติดตัวไป |
แต่เพรงแม่อุ้มท้องประคองมา | จนลูกยารุ่นหนุ่มมาคุ้มใหญ่ |
ไม่ได้จากมารดรสัญจรไกล | เปนไฉนจึงหลงแม่สงกา |
ฤๅผีดงผีป่ามาประจำ | ผีส่อทำแสร้งผูกจิตรลูกข้า |
จึงนิมิตรคิดฝันผิดสัญญา | เพื่อผลาญพล่าเลือดเนื้อด้วยเหลือเกิน |
ขออะหล่าอาจองผู้ทรงฤทธิ์ | ขับผีพิศม์ให้สะทกระหกเหิน |
ออกจากทรวงหะซันพลันเจริญ | ข้าขอเชิญพระดับระงับไภย ๚ |
๏ ครานั้นหะซันเห็นมารดา | มาโศกาครํ่าครวญหวนโหยไห้ |
น่าที่จะระทดสลดใจ | กลับกลายไม่คิดคุณของมารดร |
สำคัญตนวิกลวิปริต | ฟั่นเฟือนจิตรหลงรุดไม่หยุดหย่อน |
ยิ่งเฉียวฉุนขุ่นใจดังไฟฟอน | ให้รุมร้อนอุราแห่งอาบู |
พิโรธเรี่ยวเกรี้ยวยิ่งสิงหนาท | แผดตวาดกร้าวขับสำทับขู่ |
หญิงกาลีอุบาทว์ประมาทกู | ทั้งลบหลู่พาทีพิรี้พิไร |
อันถ้อยคำของมึงซึ่งเอิบอ้าง | ฟังกระจ่างแสบกรรณกูมันไส้ |
ฉวยไม้ลุกขึ้นง่าทำท่าไว้ | เหวยบอกไปตามสัตย์ในบัดนี้ |
อันตัวกูผู้ใดให้เร่งว่า | เร็วอย่าช้าแจ้งไปให้ถ้วนถี่ |
มารดาเห็นบุตรเลอะเทอะเต็มที | ง่าจะตีโดยง่านขนานเบา |
นางไม่หวาดหวั่นไหวมิได้คร้าม | เพราะเห็นความตามถูกว่าลูกเต้า |
พลางตอบอรรถทัดห้ามไปตามเลา | ไฉนเจ้าจึงแหนงแคลงมารดา |
ไม่ทราบฤๅข้าแท้เปนแม่เจ้า | บังเกิดเกล้าลูกรักประจักษ์หล้า |
อุปถัมภ์เลี้ยงดูอาบูมา | จนใหญ่กล้าไม่คลาศมาตุรงค์ |
แม่คาดว่าเจ้าหาลืมแม่ไม่ | เดี๋ยวนี้ไคล้คลั่งเพ้อละเมอหลง |
กลับไม่รู้คุณเล่าเท่าใยยง | แม่เห็นคงป่นไปด้วยไภยพาล |
ลูกเอ๋ยเกรงภูวไนยจอมไตรจักร | อันเอกอรรคปกหล้ามหาศาล |
เราเปนแต่ไพร่ฟ้าคนสาธารณ์ | อย่าออกขานพระนามเอิบลามลวน |
เจ้าฤๅคืออาบูบุตรชายแม่ | บอกจริง ๆ โดยแท้ไม่แปรผวน |
เร่งรฦกตรึกไตรพึงใคร่ครวญ | ดามกระบวนแบบบทกฎชวา |
พ่ออย่าพูดอาจองเทียมทรงฤทธิ | อย่าคาดคิดเกินภักตร์ร้ายนักหนา |
ด้วยพระเดชปกเกล้าแห่งเรามา | จงตรึกตราตรองใจให้จงดี |
เพรงเผ่าพระการุญพระคุณครัน | ประจุบันบุญพระปกเกษี |
อนาคตพระยิ่งบารมี | ทรงปรานีชุบเลี้ยงโดยเที่ยงธรรม์ |
นางภิปรายหมายให้อาบูรู้ | พระคุณภูมิบาลผ่านสวรรค์ |
หวังจะให้ขาดคิดจิตรหะซัน | ที่มุ่งมั่นเปนท้าวเจ้านคร |
นี่แน่แม่จักเล่าให้เจ้าทราบ | ควรกรานกราบบาทไทมะไหศร |
จึงออกอ้างทรงเดชเกษนิกร | ถวายพรโดยพระอนุกูล |
พระโปรดให้ไกฟาหาแม่พบ | สมปรารภภูมินทร์นรินทร์สูร |
พระราชทานทองแด่แม่เพียบภูล | นับตามมูลพันแท่งแจ้งจำนวน |
เพื่อใจเราสัตย์ซื่อถือสุจริต | มิได้คิดเหียนหันแปรผันผวน |
ท้าวทรงทราบให้ลาภเรามากมวญ | นอบคำนวณคิดพระคุณการุญนัก |
แม่น้อมเกล้าคำนับอาราธนา | วอนอะหล่าพรเพิ่มเฉลิมศักดิ |
ทวยเทพธิบดีช่วยพิทักษ์ | บริรักษ์นฤเบศร์เกษชวา |
จักชี้แจงแจ้งการให้เห็นชัด | ทรัพย์สมบัติมั่งคั่งถั่งเคหา |
บริบูรณ์มูลมากอเนกา | แม่ชราจะอยู่เย่าสักเท่าไร |
ไม่ช้านักจักไปปรโลก | เครื่องอุปโภคสารพันอันน้อยใหญ่ |
คงตกพ่อผู้บุตรสุดสายใจ | จงครวญใคร่ตรองความให้งามดี |
พระคุณของภูเบนทร์นเรนทร์สูร | ทรงนุกูลจุนเจือเจ้าเหลือที่ |
หนักยิ่งกว่าพระเมรุคิรี | ยิ่งทวีคุณกว่ามารดานัก |
หากว่าแม่ชีวันบรรไลยลับ | สินทรัพย์ภูลเย่าตกเจ้าหนัก |
เร่งรฦกพระคุณการุญรัก | ควรพิทักษ์ภักดีภูมิบาล |
หะซันฟังคั่งแค้นแสนพิโรธ | ดังเพลิงโชติพลุ่งแรงรุ่งแสงฉาน |
ห่อนเหือดดังคำดับกลับเริงราน | เฟื่องฟุ้งซ่านสมซ้ำใจจำนง |
ซึ่งวิเซียสิรับคำสั่งเรา | ตรงโดยเลาเข้าความตามประสงค์ |
เปนหลักฐานอยู่อิกชั้นมั่นคง | เชิดยรรยงชัดแก่นกระษัตรา |
เหิมฮึกห้าวกล่าวสำทับถม | อีคารมแก่แรดแพศยา |
กูบอกมึงโดยสัตย์ขัติยา | ยังเจรจาถ้อยถ่อยดูถูกกู |
ชิชะมึงช่างเคียดคิดเดียดฉัน | สารพันแกล้วกล่าวฟังร้าวหู |
แสนเจ็บช้ำใช่น้อยมึงคอยดู | ที่ลบหลู่กูจะทำให้หนำใจ |
ไกฟาอำมาตย์ใหญ่กูใช้เขา | เบิกคลังเอาทองคำนำมาให้ |
แกมึงพันแท่งมึงรับไว้ | มึงมิได้คิดคุณกรุณา |
กูกาหลิบเที่ยงแท้ไม่แปรผัน | เห็นสำคัญสมจริงทุกสิ่งสา |
แต่มึงแสร้งเศกสรรจำนรรจา | กลับปรับว่ากูบ้าเสียอารมณ์ |
เพราะอยากเปนแม่จึงดูถูก | นับแม่ลูกผูกจิตรสนิทสนม |
ชะถ้อยคำสำนวนล้วนเล่ห์ลม | กูจักทำให้สมที่ดูแคลน |
พลางเงื้อไม้ไล่พาลตีมารดา | โดยโกรธาฟั่นเฝือจนเหลือแสน |
เสียงขวับ ๆ ไม่ยั้งกำลังแค้น | มารดาแล่นพัวพันหะซันตี |
แล้วถามว่าตัวกูคือผู้ใด | เร่งว่าไปโดยความจริงตามที่ |
อย่าปิดบังอำปลังดังคดี | อันกูนี้คือองค์พระทรงธรรม์ |
มึงรู้จักฤๅไม่อย่างไรหวา | คำกูว่าใช่แกล้งแสร้งเศกสรร |
มารดาฟังไม่ชอบจึงตอบพลัน | ตัวเจ้านั้นใช่ท้าวเจ้านคร |
เปนลูกชายของแม่แม่นแท้เที่ยง | ไม่พลาดเพลี่ยงจริงจังดังนุสร |
จงตรึกความตามกระแสให้แน่นอน | แต่ปางก่อนลํ้าฦกดึกดำบรรพ์ |
อาบูฟังคั่งแค้นแสนโกรธเกรี้ยว | ยิ่งฉุนเฉียวเชี่ยวโบยโดยมหันต์ |
จักให้คืนคำกลับไวฉับพลัน | ขืนดึงดันดื้อคงปลงชีวา |
หวด ๆ รวดเร็วมิได้หยุด | อุดตลุดขู่ขับสำทับว่า |
เห็นแลฤๅกูคือจอมโลกา | ไม่บอกมาตีเร้าเข้าทุกที |
มารดาคิดคลาศเคลื่อนไม่เหมือนหมาย | ว่าลูกชายคงเปนอย่างเช่นกี้ |
ห่อนอาจหาญพาลโพยทำโบยตี | เจ็บอินทรีย์ปิ้มนางแทบวางวาย |
จึงเรียกขานชาวบ้านให้ช่วยด้วย | เกือบจะม้วยชีพดับลับสูญหาย |
ลูกเขาเฆี่ยนตีซ้ำชอกชํ้ากาย | ทั้งหญิงชายเชิญช่วยฉันด้วยรา ๚ |
๏ จะกล่าวถึงเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียง | สดับเสียงกึงกังดังนักหนา |
ก็ชวนกันพรั่งพรูเกรียวกรูมา | ถึงเคหาเข้าขวางกั้นกางไว้ |
บางคนห้ามปรามให้อาบูหยุด | อุดตลุดแย่งชักบ้างผลักใส |
บ้างฉวยชิงไม้มาแล้วว่าไป | เหตุไฉนฉนี้นะหะซัน |
ทำไมจึงเฆี่ยนพาลตีมารดา | ผู้เกิดเกล้าเกษาเจ้ามานั่น |
มีคุณอุปการะยิ่งอนันต์ | ไม่กลัวพระบนสวรรค์บ้างฤๅรา |
เจ้ามละการุญเค้าคุณเดิม | กลับฮึกเหิมอหังการหาญกล้า |
ทำโพยโบยประจานเฆี่ยนมารดา | เห็นเปนบ้าไม่แคล้วแล้วดู ๆ |
หะซันสดับสารชาวบ้านกล่าว | ให้ร้อนร้าวแรงร้ายระคายหู |
ถามเขาทั้งหลายว่าใครอาบู | ชาวบ้านรู้ระบอบย้อนตอบไป |
ที่เฆี่ยนตีมิใช่มารดาฤๅ | เจ้ายังถือเคลือบแฝงแคลงไฉน |
อาบูว่าไม่ควรอย่ากวนใจ | การมิใช่กิจเจ้าอย่าเข้ามา |
อีเถ้านี้ชั่วช้าช่างสามาญ | มันคิดการอยากแก่เปนแม่ข้า |
ใช่หะซันที่มันเรียกว่าลูกยา | อีชราไม่รู้จักมักจี่มัน |
จอมภารากาหลิบแลตัวกู | มึงคอยดูโดยจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
จักทำให้เองแจ้งแห่งสำคัญ | จงชวนกันอภิวาทเบื้องบาทเรา |
ชาวบ้านดูรู้แจ้งไม่แคลงจิตร | เห็นจริตหะซันเฟือนฟั่นเขลา |
สำคัญตนวิกลบ้าบอเบา | เบื้องน่าเล่าจะเคี่ยวเที่ยวรังควาน |
จะตีผู้มาไปในถนน | อิกรื้อร้นระร้าวเหล่าชาวบ้าน |
เช่นกับทำมารดาอ้ายสาธารณ์ | เขาคิดการเสร็จจับสับปอมัด |
รวบศอกเท้าผูกพันมั่นแน่นหนา | คนรักษาดูแลอยู่แออัด |
หะซันนอนเหยียดขึงต้องรึงรัด | ยิ่งฮึดฮัดในใจไม่สบาย |
พวกชาวบ้านสู่หมอขอเชิญมา | กับศิษย์หาพร้อมพรั่งเขาทั้งหลาย |
จัดเครื่องจำหลายหลากมามากมาย | เชือกหนังควายตามอย่างต่างหวายดี |
อิกโซ่ตรวนขื่อจองสองข้อหัดถ์ | สารพัดครบจำนวนถ้วนถี่ |
หมอกับศิษย์จรจรัลไปทันที | ดลยังที่เคหะฐานบ้านหะซัน |
เขาเข้าไปแก้มัดจัดจำจอง | อาบูสองแขนสลัดไววัดผัน |
เหวี่ยงอึดอัดวายโวยเขาโบยรัน | ด้วยเชือกหนังดังสนั่นตึก ๆ ชา |
สองสามหนหะซันพลันสงบ | เขาจำครบตามกิจฤทธิบ้า |
นำอาบูไปสู่รัถยา | ชาวบ้านพากันดูออกกรูเกรียว |
อื้ออึงวิ่งปึง ๆ มาสอสอ | บ้างชกบอเข้าซ้ำฟกชํ้าเขียว |
บ้างโถมเข้าตบหะซันหลบไม่ทันเทียว | บ้างโกรธเกรี้ยวด่าว่าสารพัน |
ล้วนถ้อยคำซ้ำแถมทั้งแนมเหน็บ | อาบูเจ็บบอบกายระคายครั่น |
ปรับเปนบ้าขบถองค์พระทรงธรรม์ | ส่วนหะซันย่างคลอตามหมอไป |
พอถึงโรงพักสำนักบ้า | เข้าคร่าตัวขังยังกรงใหญ่ |
ซี่เหล็กลงสลักมั่นบังกั้นไว้ | หวังมิให้เห็นใครที่ไปมา |
เขาเฆี่ยนห้าสิบถ้วนจำนวนนับ | ขู่สำทับโบยซ้ำชํ้านักหนา |
หลังไหล่ลายแลทุเรศเวทนา | ถึงเวลาเขาถามตามลำเนา |
ว่ายามนี้เจ้าเห็นเปนไฉน | ค่อยคลายใจฤๅคลั่งเช่นดังเก่า |
ฤๅว่าจิตรยังคงดำรงเค้า | เปนพระเจ้าทรงธรรม์ฤๅฝันไป ๚ |
๏ ครานั้นอาบูได้สดับ | เขาบังคับข่มถามหยาบหยามใหญ่ |
สบัดหน้าสนองพลันไปทันใด | ข้าไม่ไยดีคำอย่านำมา |
เรามิใช่บ้าหลังยังปรกติ | ส่วนท่านสิว่าเรานี้เบาบ้า |
ไม่อยากโต้ตอบความตามอาญา | เพื่อเวราแรงนำทำเราเอง |
บันดาลดลจนท่านได้เฆี่ยนขับ | หลังไหล่ยับเหลือล้นทนข่มเหง |
เพราะเวรหลังเราสร้างแต่ปางเพรง | จึงห่อนเกรงตรึงข้าไม่ปรานี |
เรารับสิ้นทุกสิ่งนิ่งทุกเมื่อ | ตามเหตุเพื่อได้เห็นเปนถ้วนถี่ |
ถึงจักแจ้งจริงใจในคดี | ก็สุดที่จะเห็นอย่างเช่นเรา |
หะซันก้มหน้านึกตรึกฉงน | เล็งสกนธ์เขียวคล้ำชํ้าจิตรเศร้า |
ลางแห่งดังหมึกหมายไม่บันเทา | อุระเผาเผือดผอมด้วยตรอมใจ |
ทั่วสรรพางค์เจ็บยวดเมื่อยปวดร้าว | จะยกก้าวขัดข้องไม่ย่องได้ |
โคลงศีศะสุดปลํ้าชอกชํ้าใน | เจียนบรรไลยระกำตรากจำจอง |
พลางโศกาครวญครํ่ารํ่าทวี | คนดี ๆ ว่าบ้าว่าคล่อง ๆ |
ภูลเทวศชลเนตรลงเนืองนอง | ยิ่งหม่นหมองคับแคบแทบม้วยมรณ์ |
มิได้คิดรักกายเท่าปลายเผ้า | ตามพระเจ้ากรุณาอานุสร |
ปลงชีพถวายพระละอาวรณ์ | สิ้นทุกข์ร้อนสิ้นถวิลจินตนา |
ความจริงทุกสิ่งเล่าเช่นเขาทำ | ไม่กลับคำชีวังจักสังขาร์ |
ด้วยอำนาจบาตรใหญ่ในอาญา | พันธนาตรากตรำชอกชํ้ากาย |
แสนสงสารมารดาแห่งอาบู | อุส่าห์สู้ลีลาศไม่ขาดสาย |
หมั่นเวียนมาหาสู่ดูลูกชาย | นางฟูมฟายชลนาเฝ้าจาบัลย์ |
เห็นลูกนั่งเขาขังกรงเหล็กไว้ | ลห้อยไห้โหยห่วงทรวงกระสัน |
เพ่งพิศบุตรสุดผอมลงครามครัน | เจียนจักบรรไลยแล้วแก้วแม่รา |
สอึกสอื้นอ้อยอิ่งวิงวอนสนอง | โอ้ลูกต้องลำบากตรากนักหนา |
แดอาดูรภูลเทวศอาทวา | ไยพ่อมาคิดเห็นการเช่นนี้ |
ละเลิงตัวมัวเพ้อมะเมอหลง | ต้องธำรงทุกข์ทนจนป่นปี้ |
ไม่มิใครเมตตาคิดปรานี | แรมทวีโศกระทมตรมสกนธ์ |
เปนไฉนไยพ่อถือทิษฐิ | มิได้ปริปากแจ้งแห่งนุสนธิ์ |
อกจะหักก็เพราะเจ้าเศร้ากระมล | สำคัญตนวิปริตผิดเพศไป |
นางเวียนสู่ลูกแก้วแล้วสั่งสอน | จงผันผ่อนลืมพะวงที่หลงใหล |
อย่ายกตนว่าพระภูวไนย | พ่อจะได้พ้นโทษทรมาน |
เฝ้าวิงวอนสอนอาบูอยู่ทุกวัน | ลูกผินผันภักตร์พร้องสนองสาร |
แกอย่าว่าเลยหนาข้ารำคาญ | คำประมาณพูดมากไม่อยากฟัง |
จักขอตรึกตรองดูให้รู้กิจ | จะถูกผิดข้างไหนใครทราบมั่ง |
เดี๋ยวนี้ยังบอบชํ้าโหยกำลัง | พอประทังจะตริดำริห์เค้า |
แม่สดับกลับคืนมาเคหา | รุ่งทิวาจรสู่ดูลูกเล่า |
ปลอบพลางทางกระสันใช่บันเทา | ยิ่งโศกเศร้าอาดูรภูลทวี |
เฝ้าสั่งสอนบุตราสารพัด | ลูกสลัดขัดคำควํ่าหน้าหนี |
แม่ร่ำไห้ไม่ได้สมประดี | ผอยอินทรีย์ลมจับพับหลายคราว |
หญิงชายช่วยแก้ฟื้นคืนสติ | นางดำริห์เหลือละอกผะผ่าว |
แสนสงสารลูกยาน้ำตาพราว | ผินภักตร์ก้าวจรจรัลผายผันมา ๚ |
๏ ครานั้นอาบูต้องโทษทัณฑ์ | ลำบากครันทรมานนานนักหนา |
คเนการยังไม่แจ้งแห่งกิจจา | กอดอุราตรึกไตรไปหลายชนิด |
ฝ่ายข้างเปนจริงควรอิงอ้าง | แจ่มกระจ่างปางเปนราชสิทธิ์ |
ไสยาศน์เหนืออาศน์ชวลิต | ตื่นสถิตย์สถานพิมานรัตน์ |
นึกสงไสยไต่ถามยุบลนาง | น้อมทูลอย่างเยี่ยงเห็นเช่นกระษัตริย์ |
ถูกถ้อยคำสมหมดบทบันทัด | ปรากฎชัดอำนาจประกาศการ |
สั่งสิ่งไรเขาทำตามคำเรา | ทั้งน้อมเกล้านบนอบระบอบสาร |
แบบกาหลิบหยิบเห็นเปนพยาน | จักพิจารณ์ข้างฝันขันชอบกล |
เหล่าเสนางค์หลายนายก็หายหมด | ไม่ปรากฎตำแหน่งทุกแห่งหน |
ไกฟาเคยเคียงอาศน์บาทยุคล | อิกเหล่ามนตรีสรรพนับร้อยพัน |
หนึ่งวัลลภยุนุกแต่งสุกใส | สนมในแลเลิศงามเฉิดฉัน |
ติดตามพร้อมน้อมนบอภิวันท์ | อัศจรรย์ใจเห็นการเปนมา |
มาทแม้นเราเปนใหญ่ได้บังคับ | ไยจึงจับทำโพยโบยนักหนา |
เข้ากรงขังจำขึงแน่นตรึงตรา | กิริยาผิดเจ้าบ่าวกับนาย |
ทบเทาทอดธุระกะว่าฝัน | การลงทัณฑ์อิแมนสมแม่นหมาย |
พวกพาลรานรุกร้อนขจรจาย | เราภิปรายสั่งให้เขาไปทำ |
ใช้ไกฟานำทองมาให้แม่ | ได้จริงแน่เรื่องราวก็ขาวขำ |
จะว่าฝันฟั่นเฟือนใช่เงื่อนงำ | อัดอั้นอำปลังกิจคิดปรวนเปร |
สาวต้นหายปลายหลุดสุดค้นคว้า | ลืมหลังน่านึกได้ไถลเถล |
ใคร่ครวญเค้าเล่าเหตุเลศเลเพ | คาดคะเนคลาศเคลื่อนเลื่อนเปื้อนไป |
เรื่องนี้ใครจักช่วยชักแถลง | เชิดชี้แจงให้กระจ่างสว่างไสว |
จะว่าฝันฤๅใช่ฝันเปนฉันใด | ตรึกตรองไม่ตกลงจำนงคิด |
เวียนวนอนุสนธิ์เห็นฦกซึ้ง | ยิ่งอ้ำอึ้งอัดทรวงอันดวงจิตร |
ใครจะไขความขำแนะนำนิด | ถ้าทราบกิจไม่แพร่เซ่งแซ่นา |
เมื่ออาบูตรองตริดำริห์อยู่ | พอแม่สู่บุตรสุดเสนหา |
เล็งลูกรักภักตร์เผือดเลือดโรยรา | กิริยาอ่อนหิวหวิวฤไทย |
นางครวญครํ่ากำสรวญหวนลห้อย | น้ำเนตรย้อยถั่นถั่งหลั่งลามไหล |
อกจักครากเพราะลูกพันผูกใจ | แสนโศกไหม้หม่นคล้ำระกำกาย |
พลางยกกรข้อนทรวงเข้าฮัก ๆ | ด้วยความรักอาบูไม่รู้หาย |
เจ้าเจ็บนักแม่จักชีวาวาย | โอ้พ่อสายสุดที่รักแม่จักลา |
เจ้าจงจำภักตร์เพ่งเล็งแม่ไว้ | นางรํ่าไห้น้ำเนตรน่านนองหน้า |
อาบูเห็นวาบวับจับวิญญา | เวทนาแม่นักจักประไลย |
พลางสลามมารดรโอนอ่อนเกษ | ชลเนตรเผาะผอยลห้อยไห้ |
เสียวทรวงยอกชอกชํ้าระกำใจ | คิดแต่ไปลำบากตรึงตรากนาน |
ยี่สิบเอ็ดวันถ้วนจำนวนนับ | หะซันกลับคืนเรียบระเบียบสาร |
มารดาเห็นเย็นล้นพ้นประมาณ | แสนสำราญภักตราแผ้วพาที |
บุญมาช่วยตัวเจ้าบงเบาบาง | โรคเหือดห่างหายแล้วแผ้วผ่องศรี |
การผิดลูกลืมสิ้นแม่ยินดี | ตั้งแต่นี้วายทุกข์ค่อยศุขใจ |
อาบูตอบมารดรอ่อนหวานถ้อย | ทั้งเรียบร้อยกิริยาอัชฌาไศรย |
แม่เอ๋ยจิตรลูกเล่าเคลิ้มเขลาไป | อันโทษไภยกรรมกรณ์ผ่อนให้รา |
ซึ่งลูกผิดคิดเห็นว่าเปนชอบ | ซํ้าประกอบระรานชาวบ้านกล้า |
เพราะนิมิตรวอนวิงหมายจริงมา | จึงได้พามารดรร้อนระคาย |
อันเรื่องฝันฉันนี้อัศจรรย์ | เหมือนใช่ฝันเห็นจริงทุกสิ่งหมาย |
เปนสัจจังดุจดังลูกตื่นกาย | ใครทั้งหลายจะถูกยังลูกมี |
ก็จักร้ายเริงแรงกล้าแขงไป | ลูกสงไสยดังเห็นเปนถ้วนถี่ |
เฉกคนตื่นในทิวาราตรี | การเรื่องนี้แม่นแท้แน่เหมือนกัน |
ลูกไม่คิดค้นคว้าหาความใด | คะเนใจโดยว่าลูกยาฝัน |
มิได้คิดอาวรณ์เหมือนก่อนนั้น | แม่ ๆ ฉันอาบูผู้บุตรา |
ความแผกแรกลูกทำพลํ่าเผลอไผล | กำเริบใจโหมหักอาจนักหนา |
แต่นี้ไปไม่หาญขัดมารดา | โดยมรรคาเที่ยงตรงไม่หลงแนว |
จักนบนอบมารดรดังก่อนแน่ | เที่ยงแท้แม่ถ่องถูกนี่ลูกแก้ว |
จะผดุงปฏิบัติไม่ขัดแล้ว | ตามเทือกแถวอาหรับนับว่าดี |
นางสดับตามราวลูกกล่าวสาร | เย็นโสตรหวานเพราะพร้องถูกต้องที่ |
เสื่อมทุกข์กลับศุขเพิ่มเสริมทวี | โปร่งเปรมปรีดิ์เปรียบใดไม่เทียมทัน |
พลางปราไสลูกรักประจักษ์แม่ | ได้ยินแท้สมจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
แม่สิ้นโศกโศกาสิ้นจาบัลย์ | สิ้นรำพรรณวอนวุ่นสิ้นขุ่นเคือง |
เดชะมะหะหมัดป้องปัดเข็ญ | การลูกเปนสูญหมดไภยปลดเปลื้อง |
ตั้งแต่นี้จักชื่นรุ่งรื่นเรือง | จะบอกเบื้องบูรพ์เหตุเลศที่เปน |
ล้วนความจริงโดยเที่ยงใช่เพลี่ยงเค้า | แต่ว่าเจ้าไม่เห็นแม่แลเห็น |
วันเจ้าเลี้ยงพ่อค้าเวลาเย็น | แม่รู้เช่นดังกิจซึ่งผิดนา |
เขาไม่ทำตามคำของลูกแก้ว | เมื่อไปแล้วประตูเปิดอยู่ร่า |
ฝูงปิศาจจึงลอดดอดพาธา | สิงลูกยาเคลิ้มงงลืมหลงกาย |
ควรน้อมจอมมหิศร์ฤทธิไกร | ช่วยดับไภยโรคร้างเหือดห่างหาย |
พระทรงโปรดรักษาลูกยาคลาย | รอดบาปบ้ายบงเบาเพลาสกนธ์ |
อาบูฟังสุนทรมารดรแถลง | จึงแจ่มแจ้งจังใจในนุสนธิ์ |
พลางตอบความตามเหตุเลศยุบล | การเบื้องต้นพ่อค้ามาวันนั้น |
ลูกมิได้รำพึงจึงสงกา | สั่งกิจจาแก่เขาแม่นเค้ามั่น |
ถ้าจะไปให้หับทวารพลัน | คราวเมื่อวันตื่นได้ดูใบบาน |
เปิดอยู่หมู่ปิศาจจึงสิงลูก | มันพันผูกจิตรมะเมอไพล่เผลอขาน |
แม่คิดใช่ผิดถูกทุกประการ | ไม่กล่าวสารคงกล้ำอํ้าใจตาย |
นางสดับกิจแจ้งแห่งหะซัน | เกษมสันต์แสนสุดด้วยบุตรหาย |
รีบสู่หมอดลพลันบรรยาย | ว่าลูกคลายคลั่งแล้วแผ้วอินทรีย์ |
ฉันขอรับกลับคืนยังสถาน | ด้วยอาการไม่เปนดังเช่นกี้ |
หายสนิทจิตรปรกติดี | เขาพาทีถูกเรียบระเบียบบรรพ์ |
ไม่งวยงงหลงคลั่งดังแต่ก่อน | ค่อยโอนอ่อนนอบนบเคารพฉัน |
หมอติดใจจึงไวจรจรัล | ถึงหะซันพลันตรวจกิริยา |
เห็นทุกอย่างส่างสมอารมณ์รู้ | หมอเอนดูอาบูอยู่นักหนา |
จึงปลดเปลื้องเครื่องจำพันธนา | มอบมารดารับบุตรเข้ายุดกร |
พลางพยุงลูกยาจูงคลาคลาศ | ด่วนลีลาศรีบรุดไม่หยุดหย่อน |
โดยรักใคร่ห่อนให้อนาทร | ดลสถานมารดรประกอบยา |
ปฏิบัติพันผูกที่ลูกชาย | จนเสื่อมคลายบันเทาเบานักหนา |
พอล่วงการนานนับหลายทิวา | อันโรคาหะซันนั้นถอยไป |
ค่อยสบายเบิกบานสำราญภักตร์ | เปนที่รักมารดาอัชฌาไศรย |
เกษมศุขสวัสดิบำบัดไภย | วราไวยวัฒนาแห่งอาบู ๚ |
จบท่อนที่ ๔
ท่อนที่ ๕
หลวงบรรหารอรรถคดีแต่ง
๏ ครานั้นหะซันรู้สำนึก | ไม่เหิมฮึกดังก่อนด้วยอ่อนหู |
เจียมตนไม่ออกนอกประตู | อุส่าห์อยู่เคหารักษากาย |
ถึงคราวจะได้ดีมั่งมีใหญ่ | พเอิญให้หวลคิดหามิตรสหาย |
ร้างเพื่อนร่วมโภชน์สันโดษดาย | ไม่สบายตรมตรอมผ่ายผอมลง |
คิดจะใคร่ได้เพื่อนสู่เรือนบ้าน | รับประทานเล่นตามความประสงค์ |
เช่นแต่เดิมเหิมฮึกนึกทนง | เห็นมั่นคงเปนศุขสนุกครัน |
จึงจัดแจงแต่งเรือนเสร็จเหมือนหมาย | แล้วซื้อจ่ายจำกัดเลือกคัดสรร |
หวานคาวเหล้ายาสาระพัน | พอสู่กันกินต้องเพียงสองคน |
จัดสำเร็จเสร็จสมอารมณ์นึก | ออกจากตึกเดินกริ่มถึงริมถนน |
นั่งพักที่ตะพานบานกระมล | คอยดูคนชอบอัชฌาพามากิน ๚ |
๏ จะกล่าวถึงอิศรากาหลิบราช | สถิตย์อาศน์ทองทรงดำรงศิล |
จวบเดือนจวนเวลาตรวจธานินทร์ | เปนอาจิณมิได้เคลื่อนทุกเดือนมา |
พอรำไพลับไคลสนธเยศ | ทรงผันเพศพานิชผิดภาษา |
ลงจากแท่นทิพมาศลินลาศคลา | กับข้าคนสนิทเคยติดตาม |
บรรลุถึงท้ายตะพานบ้านหะซัน | พอเห็นกันถือจิตรไม่คิดขาม |
ทำเดินเฉยเมยมาสง่างาม | ประกอบความกรุณามาแต่เดิม ๚ |
๏ ฝ่ายอาบูดูคนต่างประเทศ | คอยสังเกตนั่งนึกจิตรฮึกเหิม |
แลเห็นชนมาไกลใจเจริญ | คอยจะเชิญชวนไปผูกไมตรี |
พอเกือบใกล้จำได้ถนัดแน่ | คนนี้แลชั่วนักเช่นยักษ์ผี |
กรรม ๆ ทำไฉนฉันใดดี | จะวิ่งหนีก็ไม่พ้นจนปัญญา |
ตัวสั่นเทิ้ม ๆ สิ้นเหิมฮึก | ใจเต้นตึก ๆ นึกประหม่า |
ลงคุ้ยดินสิ้นคิดหมดวิชชา | ร้องอาหล่าโปรดด้วยช่วยชีวิตร ๚ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงสวัสดิขัติเยศ | ทอดพระเนตรเห็นหะซันสำคัญผิด |
ระคายเคืองเรื่องเก่าที่เราคิด | จะมิดชิดสมหวังฤๅอย่างใด |
ด้วยโปรดปรานการสนุกเล่นซุกซิก | ไม่ถึงวิกคิดทรงเล่นจงได้ |
ต่าง ๆ อย่างยิ่งทุกสิ่งไป | ภูวไนยเห็นหะซันกลั้นสำรวล |
ดำริห์จะทดลองซึ่งของขำ | ที่เงื่อนงำท่วงทีให้ถี่ถ้วน |
ยังมั่นคงตรงกระแสฤๅแปรปรวน | จะไปยวนเย้าอาบูให้รู้กล |
กรายกรตรงไปไถลทัก | เออรู้จักแต่ตรึกนึกฉงน |
อ้อ ๆ อาบูน้องไยหมองมน | พี่เปนคนอยู่ไกลนานไปมา |
เออจำพี่ได้ฤๅไม่เจ้า | แต่เดิมเราผูกรักกันหนักหนา |
สลามพลางทางถามความสงกา | ทุกทิวามีศุขฤๅทุกข์ไภย ๚ |
๏ ฝ่ายอาบูหน้าบึ้งให้อึ้งอั้น | ขยาดขยั้นหน่ายแหนงแถลงไข |
ไม่รู้จักภักตรามาแต่ใด | เราก็ไม่รับสลามอย่าถามเลย ๚ |
๏ อพุทโธโอ้พ่ออาบูนี่ | ช่างลืมพี่ไปได้กะไรเหวย |
เมื่อเดือนก่อนพ่อคุณได้คุ้นเคย | สนุกเสบยลืมได้ยังไม่นาน ๚ |
๏ ไม่รู้จักรู้จี่พูดขี้ปด | ไม่ได้จดไม่ได้จำที่คำขาน |
เราไม่มีพี่น้องพวกพ้องพาล | เบื่อรำคาญหลีกไปเสียให้พ้น ๚ |
๏ จอมกระษัตริย์ตรัสปลอบตอบสนิท | เจ้ายอดมิตรกะไรฟังยังฉงน |
เชิญรำฦกตรึกตรองอย่าหมองมน | เมื่อแรกต้นตั้งรักผูกภักดี |
เจ้าเลี้ยงดูพูวายสบายนัก | ไม่ควรจักเคลือบแคลงหน่ายแหนงหนี |
ฤๅเจ้าต้องซาตานการกระลี | จึงเห็นพี่ชิงชังไปดังนั้น |
ไม่ทราบเหตุเพศไภยในใจเจ้า | ขอเชิญเล่าแจ้งจิตรอย่าบิดผัน |
พี่สัญญาว่าไว้ในวันนั้น | สารพันมิได้ขัดอัธยา |
ควรจะค้นต้นเหตุสังเกตบ้าง | ตามข้ออ้างจริงจังอย่ากังขา |
พี่คนซื่อถือสัตย์วัจนา | ซึ่งสัญญารับไว้แล้วไม่ทิ้ง ๚ |
๏ ชิๆไม่อดสูเบื่อหูเหือง | อย่ายักเยื้องอ้อยสร้อยพูดอ้อยอิ่ง |
ไม่ขอฟังไม่ขอตรองของไม่จริง | ท่านดียิ่งอย่างใดไม่รู้ละ |
คบเข้าก็ฉิบหายแทบตายโหง | จนตะโพงบ้าบอไม่ขอปะ |
เชิญเถิดรีบไปไว ๆ นะ | ไม่ธุระพูดด้วยให้ป่วยการ ๚ |
๏ ทรงสำรวลสรวลแสร้งทำแกล้งกอด | โอ้พ่อยอดเพื่อนชายหมายสมาน |
ไยสลัดตัดรักพูดหักราน | เคยพ้องพานปราโมทย์ร่วมโภชนา |
คราวจำเภาะเคราะห์ดีพี่พบเจ้า | ยินดีเท่าได้ยลหนเวหา |
ด้วยตั้งจิตรคิดตรงจำนงมา | หวังว่าพักเย่าเจ้าสักคืน |
รับประทานหวานคาวเหมือนคราวนั้น | เกษมสันต์ศุขาไม่ฝ่าฝืน |
แสนอร่อยน้อยฤๅไม่ครือกลืน | ที่อื่น ๆ ไม่ถูกฅอเหมือนพ่อน้อง ๚ |
๏ อย่ามายอไม่ขอฟังเสียทั้งสิ้น | ไม่ขอกินร่วมปนคนทั้งผอง |
เราถือตนกินทำแต่ลำลอง | เราไม่ต้องเกรงใครผู้ใดเลย |
คบร้ายภายหลังจนพลั้งพลาด | เข็ดขยาดรักษากายสบายเฉย |
บุราณท่านบรรยายภิปรายเปรย | ชะเง้อเงยยกกล้องที่ของตน |
มาเปรียบเทียบกับกายไม่คลายเคลื่อน | คงเห็นเงื่อนเงาชัดตัดฉงน |
ย่อมจะแจ่มแจ้งแห่งยุบล | ไม่ต้องคนอื่นมีมาชี้แจง |
เราบอกแล้วหลายครั้งไม่หวังคบ | อย่าประจบประแจงกินไม่สิ้นแหนง |
ไม่คบท่านนั้นหมายคนร้ายแรง | จนสูญแสงสุริยันต์พระจันทร ๚ |
๏ ทรงฟังคารมเรี่ยวเห็นเปรี้ยวจัด | ทรงกอดรัดลูบหลังแล้วสั่งสอน |
การควรโกรธโทษทัณฑ์คิดบั่นรอน | ค่อยผ่อน ๆ พูดจาวิสาสะ ๚ |
(ต้นฉบับขาด)
การจึงจะคลายเคลื่อนที่เงื่อนยุ่ง | |
ถ้าหุนหันพันแล่นมักแน่นนุง | คิดบำรุงอารมณ์ให้สมควร |
มีทุกข์โศกโรคไภยสิ่งใดแน่ | จงผันแปรเล่าคดีให้ถี่ถ้วน |
จะได้ช่วยแก้ไขในกระบวน | การทั้งมวญจะได้สิ้นมลทินพาล |
นํ้าจิตรพี่นี้ตั้งยังไม่เคลื่อน | อยากให้เพื่อนภูลศุขสนุกสนาน |
สิ่งเจริญเพลินจิตรพิศดาร | จะบรรหารโหมฮึกนี่นึกจริง |
แต่การนั้นผันผายกลายเปนโทษ | ก็ควรโกรธควรตรึกจะนึกกริ่ง |
เหลือนิไสยจะประมาณคัดค้านติง | จะอ้างอิงอาไศรยได้ใจต่อใจ ๚ |
๏ หะซันฟังคำขานหวานโสตร | ค่อยคลายโกรธผินหน้ามาปราไส |
เหตุชิงชังดังนี้เพราะมีไภย | เกิดการใหญ่เหลือล้นพ้นปัญญา |
ถึงท่านจักรักจริงต้องกริ่งจิตร | เพราะสุดคิดแทบชีวังจะสังขาร์ |
ถ้าท่านเปน ๆ เช่นฉันเปนมา | ถึงดินฟ้าก็ต้องทิ้งจริง ๆ ชัด |
อัศจรรย์ฝันเห็นเปนประหลาด | นอนเหนือราชบัลลังก์ดังกระษัตริย์ |
พอตื่นพลันนั้นมีนารีรัตน์ | ปรนิบัติพร้อมพริ้งทุกสิ่งอัน |
นึกสงไสยไต่ถามยุนุกเขา | บอกว่าเราจอมวังนรังสรรค์ |
สวมเครื่องทองของกระษัตริย์อัศจรรย์ | ออกยังบัลลังก์รัตน์ชัชวาลย์ |
มีเสนาข้าเฝ้าเข้ามาพร้อม | ห้อมล้อมปรีดิ์เปรมเกษมสานต์ |
เราได้สั่งดั่งจรพูดก่อนกาล | เอาอิแมนไปประจานทำโทษทัณฑ์ |
เก็บเอามานิมิตรด้วยจิตรมุ่ง | อารมณ์ฟุ้งหลงใหลจนใฝ่ฝัน |
กับให้ไกฟาเสนานั้น | เอาสุวรรณรีบไปให้มารดา |
แม่ก็ได้รับทองต้องกับฝัน | อิแมนนั้นก็ได้รับซึ่งโทษา |
การสมจริงดังฝันที่พรรณา | นี่แลข้าสงไสยในใจจริง |
ฤๅจะเปนอาหล่าต้าหล้าไซ้ | ดลพระไทยจอมพงษ์เข้าทรงสิง |
ให้สมกับนิมิตรจิตรประวิง | จะค้านติงก็ต้องขัดข้องใจ |
ใช่นิมิตรแน่แต่เท่านี้ | การยังมีฝันต่ออิกข้อใหญ่ |
กลับจากข้างน่ามาข้างใน | เขาพาไปสู่ห้องเที่ยวมองเพลิน |
นับห้อง ๆ มีถึงสี่แห่ง | ดูเครื่องแต่งเกินกำลังจะสรรเสริญ |
นางกำนัลสันทัดจัดสเทิน | งามเจริญยิ่งอย่างเหมือนนางฟ้า |
บอกชื่อเสียงเรียงนามได้ถามซัก | ว่ารู้จักจริงจังสิ้นกังขา |
สดุ้งตื่นแล้วยังชื่นในวิญญา | ทัศนานึกเห็นว่าเปนจริง |
จนคลั่งเพ้อเวอวาเปนบ้าบอ | ในใจคอป่นปี้ดังผีสิง |
มารดรสอนสั่งเฝ้าชังชิง | ไม่หยุดนิ่งออมอดละลดใคร |
ถือตนเปนกาหลิบธิบดี | หลงทุบตีมารดาไม่ปราไส |
เขาพากันจับกุมคุมตัวไป | เฆี่ยนหลังไหล่ตรากตรำขังจำจอง |
เดชะพระอาหล่าเมตตาโปรด | จึงพ้นโทษไภยพิบัติที่ขัดข้อง |
ถ้าไม่แปรจิตรคิดลำลอง | ก็จะต้องเปนบ้ากว่าจะตาย |
เหตุทั้งนี้พิเคราะห์ก็เพราะทั่น | แม่นมั่นเราสั่งช่างมักง่าย |
ไม่หับประตูวู่วามไปตามสบาย | ปิศาจร้ายนั้นจึงเข้าสิงใจ ๚ |
๏ พอหะซันบรรยายภิปรายจบ | พระทรงภพกลั้นพระสรวลมิใคร่ได้ |
ของเดิมทรง ๆ ซ้ำขำพระไทย | ภูวไนยทรงพระสรวลสำรวลแรง ๚ |
๏ อาบูนึกว่าท่านนั้นไม่เชื่อ | ขัดใจเหลือโก่งฅอเถียงขึ้นเสียงแขง |
ไม่เห็นจริงสิ่งใดจงได้แจง | อย่าทำแสร้งหัวเราะเยาะประจาน |
แน่ไม่เชื่อเนื้อเราเปนรอยอยู่ | จะให้ดูเห็นประจักษ์มีหลักฐาน |
พลางถอดเสื้อให้ดูคู่พยาน | เหลือประมาณมีรอยกว่าร้อยพัน ๚ |
๏ จอมกระษัตริย์ทัศนาแผลอาบู | พิเคราะห์ดูประจักษ์จริงทุกสิ่งสรรพ์ |
แสนสมเพชเวทนากลั้นจาบัลย์ | พระทรงธรรม์ปราไสให้รู้ |
ชิ ๆ เวรใดไฉนนี่ | ประหนึ่งพี่ทรยศน่าอดสู |
เลินเล่อเผลอไผลมิได้ดู | ลืมหับประตูเสียก่อนรีบร้อนไป |
เหมือนกับแสร้งแกล้งก่อจิตรจ่อจ้อง | ให้เจ้าต้องซาตานเกิดการใหญ่ |
ต้องถูกโพยโบยรันแทบบรรไลย | ควรถือใจขึ้งโกรธปรับโทษเรา |
รำพึงพลางทางสอื้นกลืนเทวศ | ชลเนตรย้อยหยดกำสรดเศร้า |
อัดอั้นตันอุระกอดพระเพลา | เสียงกระเส่ากระสันพรรณา ๚ |
๏ อาบูฟัง ๆ ไปก็ใจอ่อน | ที่แง่งอนแต่หลังสิ้นกังขา |
เพราะพระโอษฐโจทจัดวัฒนา | ผิดกับสามัญสัตว์มัธุรศ |
ถึงมีทุกข์ขุกแค้นฤๅแสนโกรธ | ยินพระโอษฐอิศราเห็นปรากฎ |
ถึงจะแขงแรงมั่นดังบรรพต | ก็คงลดทำลายกระจายพัง |
จึงหันหน้ามาพูดไม่บูดบึ้ง | เราสิ้นขึ้งสิ้นค้านการหลังหลัง |
เห็นจิตรท่านมั่นจริงไม่ชิงชัง | ฟ้าดินสังหรณ์ให้เปนไปเอง |
อย่าลห้อยน้อยจิตรที่ผิดนั้น | เราผ่อนผันพิเคราะห์เห็นเหมาะเหมง |
แท้บุญกรรมนำสร้างแต่ปางเพรง | จะข่มเหงจิตรใจไปไยมี ฯ |
๏ ทรงนั่งฟังคารมเห็นลมตก | จึงกล่าวยกยอส่งขึ้นตรงที่ |
ขอบคุณมิตรจิตรเหมือนเพื่อนชีวี | ตัดคดีถูกต้องทำนองการ |
พี่ขอเพิ่มเติมสติดำริห์ต้น | เปนพักผลภูลศุขสนุกสนาน |
ยังผูกพันมั่นแม่นแสนสำราญ | รับประทานเหมือนดังเลี้ยงครั้งนั้น ๚ |
๏ อาบูฟังไม่กริ่งเห็นจริงหมด | ที่สบถแต่ก่อนแบ่งผ่อนผัน |
ขอความสัตย์ปัฏิญาณสาบาลพลัน | ถ้าแม้นทั่นจักไปอย่าได้ละ |
จงช่วยหับทวารสถานข้า | ปิศาจกล้าไม่ด้นเข้าปนปะ |
ให้ผ่องพ้นมลทินสิ้นธุระ | เราจึงจะเชิญไปดังใจปอง ๚ |
๏ ฝ่ายกาหลิบธิบดีไม่หนีถ้อย | ชำนาญอ้อยอิ่งอรรถไม่ขัดข้อง |
พี่ถือสัตย์ปัฏิญาณมานานน้อง | กล่าวลำลองเล่ห์ว่าคำสาบาล |
เจ้าสดับรับคำจงจำจด | ไม่โป้ปดปองรักสมัคสมาน |
สิ่งเจริญเพลินจิตรพิศดาร | ไม่เนิ่นนานจะให้เห็นใจจริง ๚ |
๏ ไม่รับประทานการเพลินเจริญแล้ว | เปนหนึ่งแน่วหนีตัวกลัวผีสิง |
ต้องถูกรันพันธนาจนตาวิง | หน้าเปนลิงจุ่นไปอยู่ในกรง |
เข็ดขยาดท่านอย่าเอามากล่าว | ให้ยืดยาวไม่ธุระจะประสงค์ |
สิ่งสนุกศุขใหญ่ไม่จำนง | เปนมั่นคงไม่ขอพบต่อไป ๚ |
๏ กาหลิบธิบดีฟังถี่ถ้วน | ทรงพระสรวลสันต์ตรองสนองไข |
ความจริง ๆ จักห้ามก็ตามใจ | เราก็ไม่รำพรรณเลิกกันที ๚ |
๏ เออถ้าห้ามปรามฟังกันบ้างแล้ว | ค่อยผ่องแผ้วปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
สารพัดทั้งสิ้นไม่ยินดี | ขอแต่ที่สั่งไว้อย่าได้พลั้ง |
เราจะไขไส้พุงที่ยุ่งยิ่ง | ตามสัตย์จริงแท้ ๆ เหตุแต่หลัง |
ต้องรออิกสักหน่อยจึงค่อยฟัง | ความสัจจังอัศจรรย์ขันจริงจริง |
ต่างจับกรกันจูงบำรุงจิตร | เสน่ห์สนิทร่วมใจมิได้กริ่ง |
เดินพลางพูดพลางต่างอ้างอิง | ไม่เย่อหยิ่งสรวลสันต์จำนรรจา |
พอสุริยันต์ลับไม้ไพรพฤกษ์ | มาถึงตึกหะซันแสนหรรษา |
เชิญนั่งเหนืออาศน์ลออตา | สนทนาถูกต้องทำนองกัน |
เครื่องอาหารการเลี้ยงวางเรียงเรียบ | พอเต็มเทียบโต๊ะย่อม ๆ มีพร้อมสรรพ์ |
เชิญให้รับประทานสำราญครัน | สารพันกลืนคล่องจนพร่องชาม |
ของคาวเลิกเลื่อนลองของหวาน | สุราบานดื่มใหญ่มิได้ขาม |
สำรวลสนทนาเลยกว่ายาม | หลายเรื่องความต่าง ๆ วางกันเพลิน |
จอมกระษัตริย์ทัศนาเนตรอาบู | พิเคราะห์ดูเมาจัดไม่ขัดเขิน |
เห็นสุรารินวางอยู่ค้างเกิน | พระชวนเชิญส่งซ้ำกระหนํ่าไป |
แล้วจับกรหะซันสั่นสั่นซัก | เจ้านึกรักนารีอยู่ที่ไหน |
ที่ต้องจิตรคิดประสงค์จำนงใจ | ชนิดไหนบอกบ้างอย่าพรางกัน ๚ |
๏ ฝ่ายหะซันนั้นซื่อถือว่าเพื่อน | ไม่เฉเชือนแจ้งจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
การอย่างนี้จริงจิตรไม่ติดพัน | เพราะถือมั่นเชยชิดไม่พิศดาร |
จะขอสู่คู่ชมสมสู่ห้อง | ก็จะต้องวุ่นวายหลายสถาน |
เหมือนกับบ่าวเขาใช้ไม่ได้การ | น่ารำคาญแท้ ๆ มีแต่ไภย |
เฉย ๆ อยู่เช่นนี้คงดีชัด | เปนความสัตย์ไม่ปดสบถได้ |
ชอบแต่คบเพื่อนชายสบายใจ | เลี้ยงกันให้ครึกครื้นทุกคืนวัน |
สุราอย่างดี ๆ มีสำหรับ | ถูกสำรับร่วมจิตรไม่บิดผัน |
พอสนุกสบายเรานึกเท่านั้น | จึงห้ามหันจิตรยั้งสิ้นกังวล |
ตรงหญิงอื่นดื่นไปที่ได้พบ | ไม่ขอคบร่วมรักสืบพักผล |
ถ้าแม้นได้ดังฝันนั้นชอบกล | ถึงจะทนทุกข์ยากต้องฝากรัก |
ช่างงามขำสำอางเหมือนนางฟ้า | ลักขณาล้ำเลิศประเสริฐศักดิ์ |
ไม่ราคินลิ้นลมพอสมภักตร์ | แหลมหลักเย้ายวนน่าชวนชิด |
รู้เพลงดีดสีตีเป่าพร้อง | ขับร้องเต้นรำทำสนิท |
มือเท้ายาวเพรียวเรียว ๆ นิด | สมจิตรกิริยาพาที |
แม้นประสบพบเห็นคนเช่นนั้น | เหมือนดังฝันนึกหมายไม่หน่ายหนี |
จะรับแรงแต่งงานการไมตรี | คู่ชีวีกว่าชีวันจะบรรไลย |
ซึ่งสัตรีที่ฝันนั้นอย่านึก | เห็นเต็มฦกเหลือล้นพ้นวิไสย |
ตายแล้วเกิดเล่าสักเท่าใด | ก็ไม่ได้ชมชิดสนิทนั้น |
เกิดสำหรับรับรองฉลองบาท | บรมนารถจอมวังนรังสรรค์ |
ถึงเสนาบดีมั่งมีครัน | อย่านึกฝันตายเปล่าเขาไม่แล |
เชิญดื่มเหล้าดีกว่านึกบ้ากาม | ซึ่งตัดความข้อนี้ดีเปนแน่ |
คิดทำไมไม่ควรจิตรปรวนแปร | ควรคิดแต่การสนุกเปนศุขใจ ๚ |
๏ กาหลิบล้อยอว่าช่างสามารถ | มาตัดขาดคู่ชิดพิศมัย |
สันโดษอยู่ดูเจริญเพลิดเพลินใจ | เพลินก็ไม่เพลินเท่าเพลินเคล้าคลึง ๚ |
๏ หะซันซื่อดื้อแพ้พูดแก้เกี้ยว | ไม่อยากเหลียวแลนึกรำฦกถึง |
รุ่นราวสาวสวยสำรวยอึง | ไม่ฦกซึ้งยาวยืดหน่อยจืดไป |
ถูกหญิงร้ายหลายหลากลำบากนัก | ถ้าไม่รักทำรักไม่ยักได้ |
เหมือนหนามยอกชอกชํ้าระกำใจ | ถอนออกได้จึงจะค่อยสบาย |
บุราณว่าพาเสียมีเมียผิด | จะต้องคิดละเหี่ยจนเมียหาย |
ปลูกเรือนผิดคิดเชือนจนเรือนทลาย | เรามั่นหมายจดจำคำบุราณ |
ต่างตอบโต้โอ้เอ้หลายเล่ห์ถ้อย | ออกอร่อยเปนศุขสนุกสนาน |
จนถึงสองยามถ้วนเห็นควรการ | พระภูบาลถวิลหวังถึงวังใน |
คเนดูได้ท่าหยิบยาผง | รีบโรยลงถ้วยพลันไม่หวั่นไหว |
รินสุรายาร้ายละลายไว | จึงส่งให้หะซันดื่มทันที |
แล้วตรัสซ้ำคำไขให้สินพร | จงถาวรปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
เราจะสืบเสาะหาเลือกนารี | เหมือนอย่างที่นึกนิยมให้สมปอง ๚ |
๏ ฝ่ายอาบูบรรเทิงรื่นเริงรับ | ประจงจับถ้วยพลางทางสนอง |
ซึ่งการุญคุณลํ้าเหลือพรํ่าพร้อง | เหมือนพี่น้องร่วมครรภ์ตามกันมา |
ท่านจงจิตรคิดสรรกลั่นมาให้ | จะตั้งใจรับเล่ห์เสนหา |
ขอคำนับส่งไปมิได้ช้า | กัลยาอยู่ใดท่านไปพบ |
ให้ต้องดังวิญญาข้าประสงค์ | ขอจงหญิงนั้นพลันประสบ |
ศุขเกษมเปรมใจจงได้ครบ | อย่ารู้จบเจริญยิ่งทุกสิ่งเทอญ |
เสร็จสารการพร้องสนองพจน์ | ยกถ้วยซดดื่มถนัดไม่ขัดเขิน |
ลงถึงทรวงง่วงงันไม่ทันเมิน | ยาเมาเดินซ่านสิ้นทั้งอินทรีย์ |
วิงเวียนเศียรพับลงกับอาศน์ | น่าอนาถนอนสลบเหมือนศพผี |
ไม่หายใจไม่ตายวายชีวี | วิสัญญีคล้าย ๆ เช่นวายปราณ |
พระทรงธรรม์บัญชาสั่งข้าทั่น | แบกหะซันขึ้นบ่าด้วยกล้าหาญ |
รีบออกจากห้องผ่องสำราญ | ปิดทวารตามสัตย์วัจนัง |
สรรพเสร็จเสด็จยุรยาตร | มาถึงราชฐานทวารหลัง |
ทางลับลี้ที่ทำมีกำบัง | เสด็จยังห้องมณีศรีจรูญ |
กำนัลนางต่างคำนับอัภิวาท | บรมนารถธรณินทร์บดินทร์สูรย์ |
คอยสดับรับสั่งฟังเค้ามูล | บ้างคอยทูลฉลองสนองการ ๚ |