คำนำ
หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ ผู้จัดการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงแจ้งมายังกรมศิลปากรว่า มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความประสงค์จะขออนุญาตพิมพ์หนังสือลิลิตพายัพ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแจกเป็นที่ระลึกเนื่องในการที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี ทรงบำเพ็ญพระกุศลในวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๐ กรมศิลปากรยินดีอนุญาตให้พิมพ์ได้ดังประสงค์
หนังสือลิลิตพายัพนี้ ได้คีพิมพ์เป็นครังแรกในการบำเพ็ญกุศลปัญญาสมวารศพ พระตำรวจเอก เจ้าพระยาราชศุภมิตร พ.ศ. ๒๔๗๒ ถึงบัดนี้ก็หาฉบับได้ยาก มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้จัดพิมพ์ขึ้นอีก และเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว . และเผยแพร่วรรณกรรมของชาติให้แพร่หลายยิ่งขึ้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์อธิบายไว้ในคำนำฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ. ศ. ๒๔๗๒ ว่า
“หนังสือลิลิตพายัพนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ในปีนั้นการสร้างทางรถไฟสายเหนือสำเร็จตลอดถึงเมืองนครสวรรค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปเปิดทางรถไฟที่สถานีบ้านพาชี แล้วเลยเสด็จประพาสเมืองลพบุรีและมณฑลนครสวรรค์ อันเป็นที่สุดของทางรถไฟต่อไป ในการเสด็จเปิดทางรถไฟคราวนี้ ได้โปรด ฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จไปประพาสหัวเมืองมณฑลพายัพ โดยมีพระราชประสงค์จะให้ทรงคุ้นเคยกับราชการหัวเมืองประเทศราชที่ห่างไกลไว้ด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชกราบถวายบังคมลาที่สถานีปากน้ำโพ เสด็จทางชลมารคไปขึ้นบกที่อุตรดิตถ์ แล้วเสด็จโดยกระบวนม้าและช้างต่อไป จึงเป็นโอกาสที่ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้ พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) เวลานั้นเป็นที่หลวงอภิรักษราชฤทธิ์ รับราชการเป็นตำแหน่งเลขานุการในพระองค์ตามเสด็จไปด้วย เล่าว่าพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ทรงในเวลาว่าง เช่นเสด็จไปถึงที่ประทับแรม พอเสวยค่ำแล้วก็ทรงพระราชนิพนธ์ต่อไปทุกวัน ตั้งแต่เสด็จออกจากกรุงเทพฯไปจนเสด็จกลับ มาทรงพระราชนิพนธ์ในกรุงเทพฯ แต่เล็กน้อย แต่เมื่อพิมพ์นั้น มีพระราชประสงค์จะมิให้คนทั้งหลายถือว่าเป็นหนังสือทรงแต่งในทางราชการ จึ่งใช้พระนามแฝงว่า “หนานแก้วเมืองบูรพ์” (“หนาน” ตามภาษาในมณฑลพายัพ หมายความว่าเป็นผู้ได้เคยอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว “แก้ว” หมายความว่า “วชิราวุธ” “เมืองบูรพ์” หมายความว่า ทรงกรมเทพทวาราวดี) ในพระราชนิพนธ์ได้ทรงระบุนามข้าหลวงเดิมซึ่งได้ตามเสด็จในครั้งนั้น เป็นผู้ช่วยแต่งไว้อีก ๓ คน “น้อย สบจินดา” คือ หม่อมเจ้าถูกถวิล สุขสวัสดิ์ฯ ซึ่งได้เคยแต่บวชเป็นสามเณร จึ่งเรียกว่า “น้อย” คน ๑ “หนานขวาย” คือพระยาบำเรอบริรักษ์ ชื่อสาย คน ๑ “นายมยูร” คือพระยาสุรินทราชา ชื่อนกยูง คน ๑ แจ้งนามอยู่ในโคลงพระราชนิพนธ์ข้างท้ายดังนี้
“เรื่องนี้หนานชื่อแก้ว | เมืองบูรพ์ เริ่มแฮ |
น้อยสบจินดาภูล | เพิ่มถ้อย |
หนานขวายอีกนายมยูร | รวมสี่ |
ตริแต่งคนละน้อย | รวบร้อยกรองสาร ฯ” |
อนึ่ง ในการจัดพิมพ์ครั้งแรกยังมีข้อผิดพลาดบกพร่องอยู่บ้าง พระปฏิเวทย์วิศิษฏ์ (สาย เลขยานนท์) ได้ช่วยตรวจสอบกับตันฉบับซึ่งมีอยู่ที่กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร และได้ชำระแก้ไขที่ผิดพลาดบกพร่องนั้น บางแห่งได้ทำเชิงอรรถเพิ่มเติมไว้ด้วย คือที่พิมพ์ด้วยตัวอักษรเอนเล็ก ส่วนเชิงอรรถเดิมให้พิมพ์ด้วยตัวจิ๋ว ทังนี้เพื่อให้เป็นที่สังเกตทราบได้
กรมศิลปากรขออนุโมทนาในกุศล ซึ่งมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดบำเพ็ญโดยจัดให้พิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นเผยแพร่เป็นวิทยาทาน ขออำนาจแห่งกุศลกิจนี้ จงสำเร็จเป็นหิตานุหิตประโยชน์สมตามความประสงค์ของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยทุกประการ เทอญ.
กรมศิลปากร
๑๖ สิงหาคม ๒๕๑๐