คำนำ (พิมพ์ครั้งแรก)

มหาเสวกตรี พระยาสมบัติบริหาร (เอื้อ ศุภมิตร) ผู้บุตร รับฉันทะท่านผู้หญิงแปลก ราชศุภมิตร ท.จ, ผู้เป็นหัวหน้าเจ้าภาพงานศพ พระตำรวจเอก เจ้าพระยาราชศุภมิตร มาหารือราชบัณฑิตยสภา ว่าปรารถนาจะพิมพ์หนังสือแจกเป็นที่ระลึกในวันทำบุญหน้าศพครบปัญญาสมวาร ใคร่จะพิมพ์เรื่องลิลิตพายัพ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อเสด็จยังดำรงพระยศเป็นต้มเต็จพระบรมโอรสาธิราช จะเห็นประการใด ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นความคิดชอบ ด้วยเจ้าพระยาราชศุภมิตร เมื่อยังเป็นที่พระยาราชวัลภานุสิษฐ ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตามเสด็จไปด้วย และหนังสือพระราชนิพนธ์ลิลิตเรื่องนี้แม้ได้พิมพ์แล้ว ก็เป็นแต่ตัดตอนพิมพ์ในหนังสือทวีปัญญาเป็นรายปักษ์และพิมพ์มาช้านานกว่า ๒๐ ปี จนหนังสือนั้นหาได้โดยยากแล้ว นอกจากหอพระสมุดสำหรับพระนคร เห็นจะมีฉะบับอยู่ที่อื่นบริบูรณ์ไม่กี่แห่ง เห็นจะมีผู้พอใจอ่านกันมาก และที่สุดการพิมพ์พระราชนิพนธ์ให้ปรากฎอยู่ยั่งยืนก็นับว่าเป็นการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยนัยอันหนึ่ง ข้าพเจ้าขออนุโมทนาด้วย

หนังสือลิลิตพายัพนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ในปีนั้นการสร้างรถไฟสายเหนือสำเร็จตลอดถึงเมืองนครสวรรค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปเปิดรถไฟที่สถานีบ้านพาชี แล้วเลยเสด็จประพาสเมืองลพบุรีและมณฑลนครสวรรค์ อันเป็นที่สุดของทางรถไฟต่อไป ในการเสด็จเปิดทางรถไฟคราวนี้ ได้โปรดฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จไปประพาสหัวเมืองมณฑลพายัพ โดยมีพระราชประสงค์จะให้ทรงคุ้นเคยกับราชการหัวเมืองประเทศราชที่ห่างไกลไว้ด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชกราบถวายบังคมลาที่สถานีปากน้ำโพธิ เสด็จทางชลมารคไปขึ้นบกที่อุตรดิฐ แล้วเสด็จโดยกระบวนม้าและช้างต่อไป จึงเป็นโอกาสที่ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้ พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) เวลานั้นเป็นที่หลวงอภิรักษราชฤทธิ์ รับราชการเป็นตำแหน่งเลขานุการในพระองค์ ตามเสด็จไปด้วย เล่าว่าพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ทรงในเวลาว่าง เช่นเสด็จไปถึงที่ประทับแรม พอเสวยค่ำแล้วก็ทรงพระราชนิพนธ์ต่อไปทุกวัน ตั้งแต่เสด็จออกจากกรุงเทพฯ ไปจนเสด็จกลับ มาทรงพระราชนิพนธ์ในกรุงเทพฯ แต่เล็กน้อย แต่เมื่อพิมพ์นั้น มีพระราชประสงค์จะมิให้คนทั้งหลายถือว่าเป็นหนังสือทรงแต่งในทางราชการ จึ่งใช้พระนามแฝงว่า “หนานแก้วเมืองบูรพ์” (“หนาน” ตามภาษาในมณฑลพายัพหมายความว่า เป็นผู้ได้เคยอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว “แก้ว” หมายความว่า “วชิราวุธ” “เมืองบูรพ์” หมายความว่าทรงกรมเทพทวาราวดี) ในพระราชนิพนธ์ได้ทรงระบุนามข้าหลวงเดิมซึ่งได้ตามเสด็จในครั้งนั้น เป็นผู้ช่วยแต่งไว้อีก ๓ คน “น้อยสบจินดา” คือ หม่อมเจ้าถูกถวิล สุขสวัสดิ์ฯ ซึ่งได้เคยแต่บวชเป็นสามเณร จึ่งเรียกว่า “น้อย” คน ๑ “หนานขวาย” คือพระยาบำเรอบริรักษ์ ชื่อสายคน ๑ “นายมยูร” คือพระยาสุรินทราชา ชื่อนกยูงคน ๑ แจ้งนามอยู่ในโคลงพระราชนิพนธ์ข้างท้ายดังนี้

“เรื่องนี้หนานชื่อแก้ว เมืองบูรพ์ เริ่มแฮ
น้อยสบจินดาภูล เพิ่มถ้อย
หนานขวายอีกนายมยูร รวมสี่
ตริแต่งคนละน้อย รวบร้อยกรองสาร ฯ”

ราชบัณฑิตยสภาขออนุโมทนาในกุศลจริยาของเจ้าภาพงานศพเจ้าพระยาราชศุภมิตร ซึ่งประกอบขึ้นด้วยกตัญญูจิตต์ในท่านผู้เป็นบุรพการี กับที่ได้รวมพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นเป็นที่ระลึกถึงพระเดชพระคุณในพระบาทสมเต็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการอุทิศถวายพระราชกุศลอีกส่วนหนึ่ง หวังว่าผู้ที่ได้รับไปอ่านจะพอใจแลอนุโมทนา.

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นายกราชบัณฑิตยสภา

วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๒

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ