บทนำ
ศาสตราจารย์ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต
หนังสือเรื่องฉฬาภิชาติพิไสยนี้ ปรากฏนามผู้แต่งว่า หม่อมเจ้าเพิ่ม แต่ง เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานเป็นของชำร่วยในงานพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอและพระอรรคชายาเธอ ณ พระเมรุสนามหลวง เมื่อปีกุน นพศก ๑๒๔๙ (พ.ศ. ๒๔๓๐) นับเป็นปีที่ ๒๐ แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หม่อมเจ้าเพิ่มพระองค์นี้ ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ เป็นพระโอรสกรมหลวงเสนีบริรักษ์ ในรัชกาลที่ ๑ สิ้นชีพิตักษัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ เมื่อพระชนมายุ ได้ ๖๖ พรรษา ตามข้อความในพระนิพนธ์ หน้า ๒ ว่า มิได้ทรงมีโอรส ธิดา จึงนิพนธ์เรื่องนี้ไว้ให้เป็นประหนึ่งผู้สืบตระกูล แม้ว่าท่านจะสิ้นชีพิตักษัยไปภายหน้า พระนามจะคงอยู่ “แม้มอดสูญกดูกเนื้อ ชื่อนั้นคงทน” อนึ่ง ขอให้ผู้อ่านเข้าใจด้วยว่า หนังสือนี้เป็นงานสนองพระคุณพระชนกชนนี เนื่องจากท่านเป็นคนยากจน และเป็น “อนุชาติบุตร”
ด้วยความตระหนักในความสำคัญของการเรียนรู้วิชาการ ขนบธรรมเนียม และแบบอย่างความประพฤติของผู้เป็นนักปราชญ์ ท่านจึงเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อ “สอนเสียม” คือ ชาวสยามทุกเหล่า ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ สูท ปุกกุส และจัณฑาล แต่ละเหล่าควรรู้วิชาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ ขนบประเพณี จริยธรรม และคุณธรรมของเหล่า เพื่อนำไปปฏิบัติให้เหมาะสม ให้เกิดคุณประโยชน์แก่ตน
ท่วงทำนองแต่งเป็นลิลิต แต่ใช้เพียงร่ายกับโคลงสี่เท่านั้น เป็นวรรณศิลป์ที่เพริศแพร้วด้วยสัมผัสสระ สัมผัสพยัญชนะ สัมผัสนอก และสัมผัสใน เช่น “ศุภสาสนสุนทรพิเศศ โอนอ่อนเกษอภิวาท” “สาธกยกแยกใน กูลหก เหล่าแฮ” “จงจำมั่นครันครบ” “ขบวนถ้อยร้อยกรองกลอน อ่อนหวานขานคำเพราะ” เมื่อ สิ้นความแต่ละตอน และจะขึ้นข้อความใหม่ โดยใช้คำประพันธ์แบบเดียวกันหรือมิใช่ วิธีปฏิบัติคือจะต้องให้คำสุดท้ายของข้อความแรก สัมผัสกับคำแรกของข้อความต่อไป ซึ่งอาจเป็นคำประพันธ์คนละแบบ ท่านผู้นิพนธ์ทรงปฏิบัติตามกลวิธีนี้โดยสม่ำเสมอ เช่น หน้า ๓๖
“...ทำโดยหาสินบนวิชาตนเสื่อมเสร้า คนขยาดเข็ดเข้า ขาดเบี้ยเสียผล...”
“นิพนธ์พิทยแพทยไว้ ควรการ”
หรือ หน้า ๓๗
“ชื่อว่าสูตรสืบให้ ปราชรู้โดยแสดง”
“แถลงสูทลำดับเรื่อง เบื้องพ่อครัวหัวปาก”
การเขียนร้อยกรองทำนองร่าย และโคลงสี่นั้นมีข้อบังคับซึ่งผู้ใช้ทำนองทั้งสองนี้ พึงปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างที่สุด แม้ว่าในบางกรณี เช่น เมื่อหาคำที่มีความหมายที่ต้องการได้แล้ว แต่คำนั้นไม่มีเสียงวรรณยุกต์ที่ต้องใช้ตรงที่บังคับไว้ ท่านนักปราชญ์แต่โบราณก็ได้ทำข้อยกเว้นอนุโลมให้ใช้ได้ วิธีนี้เรียกว่าการใช้เอกโทษโทโทษ ท่านผู้นิพนธ์ทรงพยายามที่จะไม่ใช้คำเกินกว่า ๕ คำ ในร่ายแต่ละวรรค และไม่ใช้เอกโทษ โทโทษ ในโคลงสี่ ยกเว้นจำเป็นจริงๆ เช่น โคลงพรรณนา การบังคับม้าให้ควบกรุยทาง (หน้า ๗)
“ทรมานอัศวเรื่อง | รณรงค์ |
ถีบกระทืบโกลนลง | เลศแส้ |
ควบขับใหญ่ให้ตรง | ตรุยถิ่น ทางนา |
สบัดย่างย่ำน้อยแหย้ | ย่างย้ายหลายกล” |
ศิลป์อีกประการหนึ่งของการเขียนร้อยกรอง คือ การเลือกเฟ้นถ้อยคำที่มีทั้งความหมายที่ต้องการอย่างชัดเจนที่สุด ให้มีเสียงสัมผัสและมีเสียงวรรณยุกต์ที่ตรงกับข้อบังคับมากที่สุด ไม่มีการใช้คำฟุ่มเฟือย ในเรื่องนี้ มีข้อความสั่งสอนเกี่ยวกับการเขียนร้อยกรอง ดังนี้
“...ลำนำฉันท์นั้นเล่า คำหนักเบาจึงประญัติ จำกัดถ้วนอักษร ระยะกลอนส่งรับ บังคับตามที่สถิตย์ กลอนลิลิตจำกัดห้า โดยตำรานั้นพึง รับที่หนึ่งสองสาม ตามเอกสัมผัศเอก เฉกโทสัมผัศโท...”
ได้กล่าวแล้วในคำชี้แจงว่า หนังสือเล่มนี้แต่งเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว การสะกดคำยังมิได้มีมาตรฐานแบบฉบับ สุดแต่ความรู้และประสบการณ์ในการอ่านหนังสือร่วมสมัยหรือก่อนนั้นของผู้เขียน คำที่น่าสนใจศึกษาอีกประเภทหนึ่ง คือ คำศัพท์เฉพาะวิชา เช่น สุริยาตรสารัมภ์ เลขกรณฑ์ฉวาง อินทภาษ ดาวโกเม็ด
ในด้านเนื้อหา อยากจะกล่าวด้วยความไม่แน่ใจนัก เพราะไม่ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับหนังสือสมัยรัชกาลที่ ๕ และก่อนนั้นให้ลึกซึ้งว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่กล่าวถึงชนชั้นต่างๆ แม้ว่าคตินี้เป็นคติทางฝ่ายอินเดีย ที่แบ่งกลุ่ม ฐานันดรศักดิ์ของบุคคลในสังคม เป็นกลุ่ม กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร และ จัณฑาล ส่วนกลุ่ม “ปุกกุส” ที่อยู่ในลำดับต่อจากศูทร และก่อนจัณฑาล ยังไม่พบในหนังสือเล่มไหนที่เคยอ่าน (ไม่ได้หมายความว่าไม่มี) ค้นดูในพจนานุกรมภาษาไทยหลายรุ่นก็ไม่ได้พบคำนี้ ตามความจริงในปัจจุบัน กลุ่มผู้ใช้แรงงาน (ปุกกุส) เป็นกลุ่มใหญ่ และเป็นกลุ่มที่มีส่วนสร้างโครงสร้างความเป็นเมือง คือสร้างอาคารบ้านเรือน ถนน ขุดคูคลอง เป็นต้น และปุกกุสที่รับจ้าง “...คือเต้นฟ้อนขับ ร้องรับดุริยดนตรี เครื่องดีดสีตีเป่า บางเหล่าเป็นจำอวด ประกวดเล่นให้ขัน หารางวัลกลหก ตลกตลบเจรจา วิชาเหล่านี้ใช้ อาไศรยปัญญาบ้าง ปัญญาอย่างเดียรฉาน...” นั้น ขณะนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับการยกย่องและดูแลเอาใจใส่จากรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มปุกกุส ซึ่งเป็นแรงงานมีกระทรวงแรงงานดูแลอยู่ ปุกกุสที่เป็นนักแสดงนักร้อง ก็ได้รับความนิยมจากสังคมปัจจุบัน ผู้ที่มีความสามารถดีเด่น ก็ได้รับการยกย่องจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็นศิลปินแห่งชาติ และผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม
ตอนท้ายเล่ม ตั้งแต่หน้า ๕๓ จนถึงหน้า ๕๗ เป็นการกล่าวถึงกลุ่มข้าราชการ: ขุน เป็นคำสั่งสอนข้าราชการ จริยธรรม และคุณธรรมควรปฏิบัติ
“เชิญสดับอนุสาสนข้อ | คำสอน |
เรียงเรียบรเบียบกลอน | กล่าวไว้ |
ควรขุนคิดสังวร | เวียรวากย เทอญพ่อ |
สำหรับข้าบาทไท้ | ท่านท้าวทรงธรรม” (หน้า ๕๓) |
วรรณกรรมไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยที่มีลักษณะเป็นคำสอน แนะนำวิธีปฏิบัติ ก็มี ไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์พระยาลิไทยกล่าวถึงโลกสาม คือ โลกมนุษย์ สวรรค์ และนรก บุคคลใดเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว จะไปสู่ภูมิใด ก็แล้วแต่การกระทำของตน มีบทที่กล่าวคุณสมบัติของพระมหาจักรพรรดิและธรรมราชา สมัยกรุงศรีอยุธยา มีเอกสารชื่อ “ปูมราชธรรม” ฉบับสมุดไทยขาว ตัวอักษรไทย ภาษาไทย เก็บอยู่ ณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส ฝรั่งเศส นายปรีดี พิศภูมิวิถี นักศึกษาหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาฝรั่งเศสศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้พบต้นฉบับ ขอถ่ายสำเนามามอบให้กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กรมศิลปากรมอบให้นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ข้าราชการกลุ่มวรรณกรรมตรวจชำระ และจัดพิมพ์เผยแพร่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕
หนังสือ “ปูมราชธรรม” เป็นประมวลข้อธรรมต่างๆ สำหรับ “พระมหากษัตริย์” เนื้อหาแบ่งเป็น ๓ ตอน คือ ตอนที่ ๑ ว่าด้วย ราชธรรม ที่พระมหากษัตริย์จึงทรงปฏิบัติ ตอนที่ ๒ ว่าด้วย ราชพยัตติธรรม หมายถึง ความฉลาดรู้แจ้ง ๙ ประการ ตอนที่ ๓ เป็นคำประพันธ์ว่าด้วย ราชวิจารธรรม หรือ วิธีเลือกใช้ข้าราชการที่ประกอบด้วยคุณธรรม และอุปนิสัยเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ แต่งเป็นร่ายเกือบตลอดทั้งตอน มีโคลงสี่แทรกอยู่สองบาท สรุปข้อความว่า
“จงรู้ดีร้ายสิ่ง | ขุนทำ |
แม้นสิ่งใดดียำ | แต่งตั้ง |
สิ่งร้ายเร่งจองจำ | นงโทษ |
เอามโนในยั้ง | หยั่งด้วยปรีชา” |
(จากหนังสือปูมราชธรรม หน้า ๙๙)
ในส่วนที่กล่าวถึง “ขุน” ทั้งสองฉบับนี้ อาจเปรียบเทียบคุณลักษณะที่ดีของ “ขุน” ได้ แตกต่างตรงที่ว่า ใน ปูมราชธรรม เป็นข้อความสำหรับพระมหากษัตริย์ ทรงพิจารณาคุณสมบัติที่ดีและจุดอ่อนของขุนนาง รวมทั้งความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น “อันว่าการควรจะสำเร็จด้วยผู้ใหญ่ และจะเอาผู้น้อยไปสำเร็จ การนั้นก็มิสำเร็จ อนึ่ง การอันจะสำเร็จด้วยผู้น้อย แลจะเอาผู้ใหญ่ไปให้สำเร็จมิสำเร็จ” มีการพรรณนาคุณสมบัติว่าข้าราชการ ผู้ใดเหมาะสมแก่งานใด เช่น คนที่จะว่าราชการคลัง ควรมีคุณสมบัติดังนี้
“ขุนใดปองแต่งค้า ขุนใดหน้าหลังตริ ขุนใดริรู้การ ขุนชำนาญรู้จ่าย ขุนใดบ่ายบให้เปลือง ขุนใดบ่ให้เคืองใจราษฎร์ ขุนใดบ่ให้ขาดสินรอง ขุนใดบ่ให้หมองใจไท้ ขุนใดให้คุณนัก ขุนใดชักพานิชประเทศ ขุนใดรู้เลศโวหาร ขุนใดชำนาญดังนี้ สิบสี่สิ่งบ่งชี้ ชอบตั้งขุนคลัง”
คำสอนแก่ขุนในเอกสาร “ฉฬาภิชาติพิไสย” มีตัวอย่างดังนี้
สำหรับ ขุนทหาร (หน้า ๕๔)
“...ขุนประกอบการแกล้ว ขุนคิดแผ้วข้าศึก ขุนอย่านึกไม่สู้ ขุนรู้มีมานะ ขุนอย่าละองอาจ ขุนเป็นชาติเชื้อชาย ขุนคิดอายแก่จิตร ขุนอย่าคิดครั่นคร้าม ขุนอย่าขามปฏิปักษ ขุนอย่ารักชีวิตร ขุนอย่าคิดกลัวตาย ขุนอย่าเสียดายครอบครัว...”
ขุนคลัง (หน้าเดียวกัน)
“...ขุนประมูลราชทรัพย ขุนอย่ากลับฉ้อหลวง ขุนจงหน่วงทางผิด ขุนจงคิดซื่อสัตย ขุนอย่าขัดทางชอบ...”
และโดยทั่วไป
“...แสวงหาชอบธรรม ขุนเชื่อกรรมเชื่อผล ขุนสร้างกุศลเป็นทุน ขุนหาบุญใส่ตัว...”
การเรียนรู้วิชาต่างๆ ที่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของแต่ละกลุ่ม พอจะสรุปได้ดังนี้
กษัตริย์
ตามธรรมดา กษัตริย์ย่อมสืบสานสันตติวงศ์จึงมีพระราชสมบัติที่สืบทอดกันมามากมายแล้ว ไม่จำเป็นต้องขวนขวายหามา วิชาความรู้ที่ควรเริ่มศึกษาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ คือ
๑) วิชาหนังสือ ต้องให้รู้แตกฉาน ตามตำราจินดามณี ต้องรู้จักวจีวิพากษ์ วายกสัมพันธ์ และฉันทลักษณ์: แต่งได้ไพเราะรู้ภาษาต่างประเทศร่วมสมัย และภาษาวรรณกรรมในอดีต คือ ภาษาบาลี และสันสกฤต
๒) วิชาโหราศาสตร์ และดาราศาสตร์ตามแบบชาวตะวันตก เช่น ต้องรู้จักดาวโกเม็ด (Comet - ดาวหาง) รู้จักดูฤกษ์ยาม
๓) วิชาการศึก รู้จักบังคับม้าศึก ช้างศึก การใช้อาวุธ รวมทั้งปืนไฟ รู้ตำราพิชัยสงคราม รู้กลศึกทุกประเภท และข้อสำคัญ จะต้อง
“อย่าหาญหมิ่นศึกเสี้ยน | เสียผล |
ยามประชิดกิจอื่นปน | ป่นปี้ |
กลางศึกอย่าทำงน | เหงาง่วง นอนนา |
คิดล่าอย่านัดลี้ | เหล่าแกล้วใจแสยง” |
๔) วิชาการปกครอง ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ต้องรู้จักบุคคลต่างๆ คนดี คนซื่อสัตย์ คนประจบสอพลอ ต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน “...จงการุญประชาชน เล็งเหนจนคนไพร เล็งเห็นใจคนยาก... อย่าซุบซิบสินบน อย่าหวังผลบำรุงพาล การใดผิดว่าผิด กิจใดชอบว่าชอบ.... จะกล่าวถ้อยจงตฤก นึกน่าหลังก่อนเยื้อน เอื้อนโอษฐ์ออกวาจา ดุจงาอัยราพรต ไม่เหี้ยนหดงอกงาม...”
๕) หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ความหยั่งรู้ และการยอมรับความไม่เที่ยงแท้ของโลก อาจมีเวลาเสื่อมยศเสื่อมลาภ แต่ถ้ามีความรู้ก็จะเอาชีวิตรอดได้
“กาลเกิดวิบัติบ้าง | บางที |
สรรพทรัพยศุขศักดิศรี | เสื่อมเศร้า |
คงแต่วิชามี | อยู่ติด ตนนา |
ใช้ถูกทุกค่ำเช้า | ช่วยเลี้ยงชนมาน” |
พราหมณ์
ตามตำนานเล่าขานแต่โบราณว่า พราหมณ์นั้นเป็นวงศ์พรหมซึ่งเป็นพระสยัมภู คือ เป็นเอง ไม่มีผู้ใดสร้าง กาลครั้งหนึ่งเกิดอาเพศ พระพรหมจุติมาสู่มนุษยโลก เกิดเป็นพราหมณ์มีลูกหลานสืบต่อกันมา มีหน้าที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ ทั้งสิบสองเดือน และพิธีอื่นๆ อันเป็นมงคล
เรื่องที่พราหมณ์จะต้องเรียนรู้ คือ
๑) เรื่องเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่กว่าเทพทั้งปวง คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม
๒) เวทมนต์ ที่จะชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์
๓) รู้การประกอบพระราชพิธี แต่ละเดือนทั้งสิบสองเดือน พราหมณ์นั้นได้ชื่อว่า ทวิชาติ คือ เกิดสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อออกจากครรภ์มารดา ครั้งที่ ๒ คือ บวชเป็นพราหมณ์ หลังจากได้เล่าเรียนเวทมนต์ การบำเพ็ญตบะ และรู้วิธีการประกอบพระราชพิธีต่างๆ เมื่อรู้ “...เกลียดชั่วกลัวจันไร จึงเกิดไสยกิจกรรม สรวมคุหร่ำประจำกาย เป็นเครื่องหมายว่าผนวช ตรวจนับสายกำหนดศิล กินแต่ผลมูลโภชน์ บำบัดโทษอุบาทว์ สรรพไสยสาตรเวทมนต์...”
แพทย์
มีตำนานว่า ครั้งหนึ่งพรหมองค์หนึ่งบำเพ็ญญาณว่า นรชาติหรือมนุษย์นั้นย่อมมีโรคเบียดเบียนเป็นอาจินต์ ไม่มีผู้ใดรักษาประกอบกับถึงเวลาสิ้นสังขาร จึงไปขอประทานพรจากพระพรหมชาดา ว่าให้มีวิชารักษาโรคต่างๆ ของมนุษย์ได้ เมื่อจุติมาสู่โลกมนุษย์เป็นผู้รู้เรื่องโรค และการรักษาโรค แต่ไม่ได้ถ่ายทอดวิชาให้แก่ผู้ใด จนกระทั่งวันหนึ่ง โกมารภัจจ์ (แพทย์หลวงประจำพระองค์พระเจ้าพิมพิสาร - สมัยพุทธกาล) ปลอมตัวเป็นคนบ้าใบ้ อาสาเป็นศิษย์รับใช้เก็บตัวยา ประสมยา จนรู้วิชาหลายประการ จึงแจ้งให้อาจารย์ทราบว่าตนเป็นใคร ตั้งแต่นั้นมา อาจารย์ถ่ายทอดวิชาให้ทั้งหมดแล้วจึงเสด็จคืนสู่สวรรค์
แพทย์ต้องเรียนรู้วิชาจากตำราหลัก คือ
๑) ฉันท์สาตร คัมภีร์พรหมปโรหิต ว่าด้วยการปฏิสนธิ และการคลอด จากครรภ์มารดา
๒) วิชาว่าด้วยโรคที่เกิดแก่เด็ก จำพวกทราง และตาน
๓) วิชาว่าโรคที่เกิดแก่ผู้ใหญ่ เช่น ไข้พิษ ธาตุพิการ
๔) วิชาว่าด้วยยาต่างๆ
๕) คุณธรรมหรือจรรยาแพทย์ เช่น “...ตั้งเมตตาจิตรไว้ อย่ากดไข้หาโชค อ้างโรคหาสินบน ชีพตนตนรักเล่า ชีวิตรเขาเขารัก ยามไข้หนักอยากหาย หมายจิตรคิดปูนปอง แต่เงินทองหายาก คนจนมากกว่ามี จงปรานีสังเวช…”
สูท
วิชาสำหรับสูทหรือคนครัว หรือที่เคยเรียกกันว่า พ่อครัวหัวป่า หรือ หัวปาก
๑) วิชาประกอบอาหารคาว เช่น พะแนง ฉู่ฉี่ พล่า
๒) วิชาประกอบอาหารหวาน ทั้งขนมไทยที่มีแต่เดิม และขนมฝรั่งซึ่ง “...เพิ่มเติมประดิฐใหม่ ด้วยไข่น้ำตาลแป้ง”
๓) วิชาการคำนวณค่าใช้จ่าย บริหารการเงินสำหรับอาหารให้สอดคล้องกับจำนวนผู้บริโภค “คเณคนควรสรรพ คเณทรัพยควรจ่าย...”
๔) วิชาการช่าง การปั้น กลึง แกะ สลัก ทำให้สวยงามพอดี ไม่ทราบแน่ชัดว่า เป็นการแกะสลักผักผลไม้ ซึ่งเป็นการช่างประเภทหนึ่ง ในการจัดจานอาหารไทย บางอย่างก็เป็นอาหาร เช่น การแกะฟักทอง หรือเผือกใส่สังขยา การแกะสลักชิ้นฟักเป็นเรื่องราวที่น่าพิศวงที่สุด คือ การแกะสลักฟักทองในพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทอง
๕) จริยธรรม อย่าทำการโดยมักง่าย ต้องมีความเมตตาต่อผู้บริโภค อย่าโลภมาก ต้องซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค “...เมตตามั่นสันดานอาหารเลี้ยงชีพสัตว ให้วัฒนาร่างกาย อย่าหมายกำไรโลภ ลโมภมากเหลือการ ประมาณได้แต่ควร โดยขบวนสัตยซื่อ...”
ปุกกุส
ปุกกุสเป็นผู้เลี้ยงชีพด้วยการใช้แรง “...ขุดขนแบกหาบหาม...” เลี้ยงวัวควาย รับจ้างเกี่ยวข้าว เลื่อยไม้ นับว่าเป็นงานหยาบ “...ห่อนอาไศรยปัญญา เป็นวิชาทารุณ...” แต่ก็ยังนับว่า ได้ประโยชน์ทั้งผู้จ้างและผู้รับจ้าง
นอกจากการใช้แรงงานแล้ว ปุกกุสยังมีความสามารถอีกประเภทหนึ่ง ซึ่ง “...อาไศรยปัญญาบ้าง ปัญญาอย่างเดียรฉาน...” และเป็นโทษแก่ผู้ดู วิชานี้คือ การละเล่น “...คือรำเต้นฟ้อนขับ ร้องรับดุริยดนตรี เครื่องดีดสีตีเป่า บางเหล่าเป็นจำอวด ประกวดเล่นให้ขัน...”
วิชาปุกกุสชาติ จึงเป็นที่เกลียดชังของนักปราชญ์ไม่มีประโยชน์แก่ผู้ฟังเสียงขับร้องดนตรี แม้จะไพเราะพอหยุดเล่นหยุดร้องแล้ว ก็ไม่มีเสียงอีก การฟ้อนรำแม้จะงาม เลิกฟ้อนแล้ว ก็มีแต่ความว่างเปล่า
จัณฑาล
จัณฑาลเป็นคนเกียจคร้าน ดีแต่ขอเขากิน พูดจาประจบสอพลอ บางคนเต้นกินรำกิน บางคนแกล้งทำเป็นเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เพื่อให้คนอื่นสงสาร
จัณฑาลไม่มีวิชาความรู้ใดใด จะให้ทำงานก็ไม่มีความอดทน งานรับจ้างที่พอจะทำได้ “...ก็แต่อย่างเฝ้าทวาร...”
บทสรุป
ท่านผู้นิพนธ์ทรงเห็นว่าสี่เหล่าในหกเหล่า คือ แพทย์ สูท ปุกกุส และจัณฑาลนั้น ถ้าหากว่าในอดีตเคยทำกรรมดีไว้กุศลจะส่งสนองให้เป็นคฤหบดีได้ แม้ในปัจจุบัน บางเหล่าก็มีประโยชน์มีคุณแก่ผู้อื่น เช่น แพทย์ก็รักษาคนไข้ สูท ก็ได้ทำอาหารให้ผู้อื่นรับประทาน ปุกกุสก็ได้ใช้แรงงานให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
ลำดับสุดท้ายในเล่ม เป็นเรื่องคำสอนให้แก่ขุนนางที่ปฏิบัติราชกิจในหน้าที่ต่างๆ เขียนเป็นร่ายยาวตลอด ส่วนใหญ่เน้นคุณธรรม ไม่ได้กล่าวถึงวิชาที่ขุนนางควรรู้ เช่น ขุนทหารต้องไม่กลัวข้าศึก ขุนคลังต้องไม่ฉ้อหลวง ขุนเมืองอย่าพูดมาก ขุนศาลบังคับคดี อย่ามีใจละโมบ อย่ารับสินบน
โดยทั่วไป ขุนนางต้องจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ต้องรักษาบ้านเมือง ต้องมีใจกรุณาแก่ราษฎร ต้องรู้จักเลี้ยงคนฉลาด ต้องสร้างบุญสร้างกุศล ต้องสงเคราะห์เพื่อนฝูง ต้องซื่อสัตย์และต้องรู้จัก “...คัดทิ้งเปลือก ขุนจงเลือกซึ่งกะพี้...” อนึ่งจะต้องระมัดระวังเรื่องกามคุณ เพราะ “...หญิงเป็นข้าศึกสู้ ต่อความรู้แห่งปราช...”
คุณค่า
หนังสือเรื่อง “ฉฬาภิชาติพิไสย” มีคุณค่าอเนกประการ ที่สำคัญๆ มีดังนี้
๑. คุณค่าในด้านที่เป็นหนังสือหายาก
นับแต่วันพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นของชำร่วยในงานพระศพ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และอรรคชายาเธอ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาถึง ๑๑๘ ปีแล้ว ฉบับพิมพ์ก่อนการถ่ายสำเนาเพื่อพิมพ์นับว่าอยู่ในสภาพดีมาก เปรียบเทียบกับหนังสืออื่นๆ ซึ่งพิมพ์ภายหลัง ทั้งนี้เพราะคุณภาพของกระดาษที่ใช้พิมพ์ และหมึกพิมพ์รวมกับการเก็บรักษาของท่านที่เป็นเจ้าของ เพื่อให้มีอายุยืนยาวต่อไปภายหน้า ควรได้รับการดำเนินการอนุรักษ์สภาพ และน่าจะมีการเสนอให้เป็นเอกสารมรดกของชาติฉบับหนึ่ง
๒. คุณค่าทางวรรณศิลป์
ได้กล่าวชี้แจงไว้แล้วว่ามีคุณค่าทางวรรณศิลป์อย่างไร บทนิพนธ์นี้เป็นงานชิ้นเล็ก ไม่อาจเปรียบเทียบกับงานอลังการ เช่น พระนิพนธ์ลิลิตตะเลงพ่าย ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งเปรียบเสมือนเพชรเม็ดใหญ่หลายกะรัต ได้รับการเจียระไนอย่างดียิ่ง ฉฬาภิชาติพิไสยเป็นงานเล็ก แต่ก็เป็นเพชรน้ำดี และได้รับการเจียระไน
๓. คุณค่าทางความคิด
มีความคิดรวบยอดล้ำสมัย คือ ความสำคัญของการเรียนรู้คู่คุณธรรม ทุกตระกูลทุกเหล่าต้องเรียนรู้วิชาหลัก เพื่อประกอบอาชีพให้เกิดผลดี และเพื่อปฏิบัติตนให้ถูกต้องทำนองคลองธรรม ในสมัยนั้นไม่มีโรงเรียน การเรียนจึงเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองต่อเนื่องตลอดชีวิต เรียนรู้จากประสบการณ์และการปฏิบัติงาน
ข้อควรสังเกต และพยายามศึกษาต่อไป
๑. ประวัติและเรื่องราวเกี่ยวกับหม่อมเจ้าเพิ่ม ผู้ทรงนิพนธ์ ท่านได้ทรงนิพนธ์งานอื่นๆ อีกหรือไม่ ท่านได้ทรงรับราชการหรือไม่ ทรงทราบเรื่องการแบ่งส่วนราชการ การกำหนดตำแหน่ง และความรับผิดชอบในหน้าที่ของ ขุนนางต่างๆ ได้อย่างไร
๒. เหตุไรท่านจึงใช้คติทางอารยธรรมอินเดียโบราณในการแบ่งกลุ่มบุคคลเป็นหกเหล่า (ยกเว้นกลุ่มปุกกุส) ซึ่งไม่มีในคติการแบ่งกลุ่มของอินเดียโบราณ เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ท่านจะได้อ้างพระพุทธวจนะและหลักศีลธรรมทางพระพุทธศาสนา แต่ท่านมิได้กล่าวถึงวัดและพระสงฆ์
๓. หนังสือเล่มนี้มีคำโบราณ คำที่เลิกใช้แล้ว หรือยังใช้อยู่ แต่ความหมายเปลี่ยนไปหลายคำ ถ้าจะให้เข้าใจชัดเจน จะต้องใช้พจนานุกรมที่ตีพิมพ์ร่วมสมัยหรือใกล้เคียงมาช่วยด้วย บางเล่มเป็นหนังสืออ้างอิงตีพิมพ์มานานแล้ว แต่ก็ได้มีสำนักพิมพ์นำมาตีพิมพ์ใหม่ เช่น อักขราภิธานศรับท์ ซึ่งอาจารย์ทัด (เปรียญ) เป็นผู้รวบรวม หมอบรัดเลย์จัดพิมพ์เผยแพร่ และสำนักพิมพ์องค์การค้าคุรุสภานำมาพิมพ์ใหม่
ข้อความที่น่าคิดน่าจำ
หน้า ๑๔
“...เพื่อนยากนั้นมีน้อย นับสักร้อยสักพัน เลือกสรรได้สักคน...”
“...ดูคนดูให้แน่ เขารักแท้รักตอบ เขาชอบขอบคุณเขา อย่าเบาจง หนักแน่น แกว่นรู้ด้วยปรีชา...”
หน้า ๑๕
“...คนมั่งมีสิบดุลย คนจนทุนสิบมาศก ยกออกหนึ่งต่อหนึ่ง พึ่งโทรมเศร้าเท่ากัน อย่าสำคัญว่าน้อย ไม่ถึงร้อยถึงสิบ...”
ดุลย เท่ากัน ในที่นี้น่าจะหมายถึง “ดุล” มาตราชั่งน้ำหนักสมัยโบราณ (ดุลหนึ่งเท่ากับทองคำหนักสิบชั่ง)
มาศก ปัจจุบันเขียน มาสก ชื่อมาตราเงินโบราณ (ห้ามาสกเท่ากับ หนึ่งบาท)
หน้า ๑๖
“...จะกล่าวถ้อยจงตฤก นึกน่าหลังก่อนเยื้อน เอื้อนโอฐออกวาจา ดุจงาอัยราพรต ไม่เหี้ยนหดงอกงาม…”
หน้า ๑๘
๏ ผู้เรียนศิลปสาตรทั้ง | โลกยวัตร |
คราวเมื่อกาลสมบัติ | ผ่องแผ้ว |
เจริญผลเพียบภูลสวัสดิ์ | เนื่องนิจ |
ประเสริฐดุจได้แก้ว | ค่าล้ำเหลือประมาณ |
๏ กาลเกิดวิบัติบ้าง | บางที |
สรรพทรัพย์ศุขศักดิ์ศรี | เสื่อมเศร้า |
คงแต่วิชามี | อยู่ติด ตนนา |
ใช้ถูกทุกค่ำเช้า | ช่วยเลี้ยงชนมาน |
๏ ผู้ปรีชาญอย่าเศร้า | โทมนัส |
กรรมแต่ปางหลังซัด | ส่งให้ |
ตนเกิดเมื่อกาลวิบัติ | บุรพบาป ตนแฮ |
แม้ชาติหลังมีใช้ | ชาติหน้าไป่สูญ |
สำหรับข้าราชการ
หน้า ๕๕
“...ขุนจงคิดซื่อสัตย | ขุนอย่าขัดทางชอบ...” |
“...ขุนมีใจกรุณา | ขุนสัจจาถ้อยคำ” |
“...ขุนอย่ามีใจโลมภ | ขุนอย่าโลภเล็งทรัพย...” |
“...ขุนอย่าหลงหญิงงาม | ขุนอย่าตามใจเมีย...” |
“…ขุนอย่าเข้าคนผิด | ขุนจำปิดความอำ...” |
“...ขุนเลี้ยงคนที่ฉลาด | ขุนคาดด้วยปัญญา |
ขุนจงหาคนซื่อ | ขุนจงถือคนตรง...” |
“...ขุนแสวงหาชอบธรรม | ขุนเชื่อกรรมเชื่อผล |
ขุนสร้างกุศลเป็นทุน | ขุนหาบุญใส่ตัว...” |
“...ขุนสงเคราะห์เพื่อนฝูง | ขุนจงจูงเพื่อนข้า |
ขุนจงหาแต่แก่น | ขุนจงแกว่นแต่เนื้อ |
ขุนอย่าเชื่อคนอสัตย | ขุนจงคัดทิ้งเปลือก |
ขุนจงเลือกซึ่งกะพี้ | ขุนประพฤติดังนี้ |
ท่านนั้นควรขุน...” |